พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บริจาคอวัยวะ จะทำใจอย่างไร ให้เกิดใหม่ยิ่งงาม

ขอเพิ่มอีกหน่อย เรื่องบริจาคอวัยวะแล้วเกิดชาติหน้าจะไม่มีอวัยวะนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องมองไกลให้ยาก ดูง่ายๆ ที่ว่ามนุษย์เป็นไปตามกรรม คือเจตนาที่ตัวเองทำนั้น สิ่งเดียวกันเรื่องเดียวกัน คนวางใจถูกทางหรือวางใจผิดพลาด จิตปรุงแต่งยึดมั่นต่างกัน ผลก็ไปคนละทาง

อย่างเรื่องที่เล่าว่า คนผู้หนึ่ง ขณะกำลังจะสิ้นชีวิตจิตประหวัดมาคิดห่วง ใจติดข้องอยู่กับเสื้อผ้าของตัว เลยเกิดมาเป็นเล็นหรือสัตว์เล็กเกาะติดอยู่ที่เสื้อผ้านั้น แต่อีกคนหนึ่ง เอาเสื้อผ้าของตัวมากมายออกแจกจ่ายบริจาคออกไป ใจคิดไปถึงความดีที่ทำ และมองเห็นความสุขของคนทั้งหลายที่ได้รับเสื้อผ้านั้นไป แล้วเกิดความปลาบปลื้มใจ เมื่อตายใจระลึกถึงการสละบริจาคนี้ จิตเป็นกุศล ได้ไปเกิดในสุคติในภพภูมิอันสูง

คนหนึ่งหวงแหนเงินทอง เอาเงินทองไปฝังไว้ เวลาตายใจห่วงติดข้อง เลยไปเกิดเป็นงู หรือสัตว์อะไรที่ไปอยู่เฝ้าขุมทรัพย์นั้น แต่อีกคนหนึ่งเอาเงินของตัวมากมายบริจาคสละออกไป เวลาตายใจนึกถึงความดี และประโยชน์ที่ได้ทำอย่างนั้น จิตปีติผ่องใสเป็นกุศล กลับตรงข้าม ไปเกิดอย่างดีอย่างสูง นี่แหละเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่าอยู่ที่จิตวางถูกทาง ปรุงแต่งให้ถูกต้อง อย่าไปยึดถือผิดๆ ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามทางธรรมแล้วดีแน่นอน ทำไมจะไปห่วงใยเอาใจผูกติดกับร่างกายอวัยวะที่มันตายไปแล้ว ซึ่งก็จะเอาไปทิ้งไปเผาอยู่แล้ว พระโพธิสัตว์นั้นแม้แต่ร่างกาย อวัยวะขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านยังสละได้ไม่ติดข้อง ใจของท่านกว้างขวางออกไปอยู่กับความดี และมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

เรื่องของชีวิตที่แท้ก็อยู่ที่ปัจจัยที่ประกอบจิต คือถ้าจะไม่ให้ไปในทางชั่วร้ายตกต่ำเสียหาย ก็ต้องมีคุณสมบัติที่ดี โดยเฉพาะคุณธรรม เพราะฉะนั้นตามหลักพระพุทธศาสนาจึงเห็นได้ชัดเจน ถ้าเราไปคิดผิดเชื่อผิด ก็จะเป็นโทษกับตัวเอง ถ้าเราเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา เราก็มองและยึดเอาพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างของเรา

เมื่อพระพุทธเจ้าของเราเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีนั้น ในทานอุปบารมีก็ทรงบริจาคอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะดวงตา จึงได้มาสำเร็จโพธิญาณอย่างนี้ เราก็เลื่อมใสศรัทธาในพระคุณของพระองค์ นึกถึงพระองค์เมื่อใดเราก็ซาบซึ้งในพระคุณ แล้วจิตใจของเราก็สดใส เบิกบาน เกิดปีติ อิ่มใจ เราก็จะทำอย่างนั้นบ้าง

พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญบารมีอย่างนั้นได้ ทำมหาบริจาคได้นั้นก็เพราะมีมหากรุณา ทรงมีพระทัยปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ไม่เห็นแก่พระองค์ เพราะฉะนั้นจิตของพระองค์จึงโน้มเอียงไปในทางที่ดี คิดในเรื่องดีๆ ต่อผู้อื่น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ในเวลาบริจาคถ้าเราทำจิตใจให้ได้อย่างนั้น ก็ไม่มีโทษ มีแต่ดี

สรุปว่า หลักการก็คือการที่จะให้จิตโน้มเอียงไปในทางที่ดี เก็บภาพดีๆ ประทับใจไว้ เมื่อเราเป็นปุถุชน ยังอยู่ในขั้นปรุงแต่งก็ปรุงแต่งจิตใจให้ดี โดยเฉพาะปรุงแต่งด้วยเมตตากรุณา เมื่อบริจาคช่วยเขาด้วยใจเมตตากรุณา ใจอยากให้เขามีความสุข อยากให้เขาสมบูรณ์ อยากให้เขางดงาม ก็จะเกิดภาพเป้าหมายที่ดีประทับใจไว้ พอเกิดใหม่จิตก็จะปรุงแต่งชีวิตร่างกายให้ดีให้งามตามภาพเป้าหมายที่สะสมไว้นั้น

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่ต้องเป็นห่วง แต่ที่จริงนั้นเราจะต้องฝึกไว้ด้วยซ้ำ เป็นเรื่องที่ท่านสอนให้เราฝึก ให้เราหัดบริจาค โดยทำใจให้ถูกและทำด้วยปัญญา เวลาบริจาค ถ้ามัวคิดว่าเราจะได้บุญลอยๆ เราคิดไม่ออกว่าบุญนั้นหมายถึงอะไร ก็จะได้ผลน้อย จิตจะตัน จะไม่อิ่มเอิบเบิกบาน

เพราะฉะนั้น เวลาบริจาคเราจะต้องคิดว่า นี่เราจะช่วยให้เขามีความสุขนะ เช่น ถ้าให้เงิน ก็พิจารณาทำใจว่า คนนี้เขาได้เงินไปแล้ว เขามีลูก เขาจะไปช่วยให้ลูกเขามีความสุข ลูกของเขาจะได้ศึกษาเล่าเรียน เจริญงอกงาม เราคิดอย่างนี้เรียกว่าคิดด้วยเมตตากรุณา พอคิดอย่างนี้แล้วจิตก็จะพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่งเองโดยที่เราไม่ต้องรู้ตัว

สรุปอีกที คนที่กลัวว่าบริจาคอวัยวะแล้วเกิดใหม่จะขาดอวัยวะไปนั้น ก็เหมือนกับคนที่มีเสื้อผ้าแล้วหวงแหน กลัวว่าถ้าบริจาคเสื้อผ้าไปแล้ว เกิดมาชาติหน้าจะไม่มีเสื้อผ้าใส่ ซึ่งเป็นความคิดความเชื่อที่เหลวไหล

เมื่อเราตายไป ร่างกายอวัยวะทั้งหมดนี้ ก็ทิ้งไปเลิกใช้แล้ว กลายเป็นอดีต ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ไม่ต้องมัวอาลัยอาวรณ์อีก เกิดชาติหน้าต้องไปสร้างกันใหม่ เรื่องสำคัญที่ควรต้องทำก็คือ เตรียมความสามารถเอาไว้ เพื่อจะได้ปรุงแต่งสร้างเรือนร่างใหม่ให้สมบูรณ์สวยงามสดใส ทุนที่เราจะต้องเตรียมไปใช้ในการสร้างเรือนร่างชีวิตใหม่ที่ดีงาม ก็คือบุญกุศล

“บุญ” ก็คือคุณสมบัติต่างๆ ที่ดีงาม ที่เราได้ฝึกฝนสะสมพัฒนาสร้างขึ้นมา และประกอบอยู่กับจิตของเรา เป็นความโน้มเอียง ความเคยชิน ความชำนาญ ความสามารถเป็นต้น และเราก็จะอาศัยบุญนี้แหละในการสร้างชีวิตร่างกายของเราต่อไป ที่พูดว่า “บุญบันดาล” นั้น เป็นเพียงสำนวนภาษา ไม่มีอะไรข้างนอกจะมาบันดาลปุบปับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างนี้ แต่จิตของเราใช้บุญที่เป็นทุนสะสมของตัวเองนี่แหละปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกลัวหรอก ขอให้ทำใจให้ถูกต้อง และทำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จะเป็นการฝึกตัวเองของเราไปด้วย และพัฒนาความสามารถในการคิดปรุงแต่งในทางสร้างสรรค์ ให้เกิดผลดีงามที่ต้องการ ฉะนั้นรวมแล้วก็คือไม่มีปัญหา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.