ผู้อำนวยการฯ : เรามีปัญหาอยู่ว่า แม้ว่าเจ้าตัวจะบริจาค แต่ในทางกฎหมายแล้วเราต้องขอจากญาติอีกครั้ง ซึ่งญาติเขาก็จะอยู่ในช่วงเศร้าโศก เราจะพูดอย่างไรให้เขาหายเศร้าโศกและเข้าใจถึงการบริจาคอวัยวะ และเข้าใจถึงหลักธรรมอันนี้ด้วย
พระธรรมปิฎก : ธรรมะก็มีหลายแง่
หนึ่ง หลักธรรมที่รู้กันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ คือ ให้รู้เท่าทันธรรมดาของชีวิต หรือธรรมดาของสังขาร หรือกฎธรรมชาติที่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีเกิดก็ต้องมีดับ มีเริ่มต้นก็ต้องมีสิ้นสุด เป็นธรรมดาอย่างนี้ และเราไม่สามารถกำหนดได้ว่า ใครจะมีจุดสิ้นสุดเมื่อไร แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราต้องรู้เท่าทันและยอมรับความเป็นจริงอันนี้ อย่างน้อยก็ได้ผ่อนคลาย แม้จะไม่หายเศร้าโศกโดยสิ้นเชิง
นอกจากนั้นก็แนะนำให้เขาปลงอีกอย่างหนึ่ง คือให้คิดว่า คนที่เขาจากไปนั้นก็เป็นเรื่องของผลกรรมของแต่ละคน แต่ละคนมีกรรมเป็นของตนเอง
ส่วนอีกแง่หนึ่งก็คือ ในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อคนตายนั้น เราจะไปเศร้าโศกอาลัยอยู่นั้นมันไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็ช่วยคนตายให้ฟื้นคืนมาไม่ได้ เราควรจะคิดถึงในแง่ที่ว่าเราจะทำอะไรให้เขาได้ ซึ่งตรงนี้ทางพระก็คือให้ทำบุญทำกุศล ถ้าเราเห็นว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา เราก็ทำและตั้งใจอุทิศให้เขา ก็จะไม่จมอยู่กับความเศร้าโศกหรือตันอยู่กับความคิดวนเวียน แต่มีอะไรก้าวไป และเราก็จะรู้สึกว่าเราก็ได้พยายามทำให้เขาอย่างดีที่สุดแล้ว เป็นการทำให้ความเศร้าโศกบรรเทาลง
เมื่อนึกในแง่ว่าเขาจากเราไปแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ทอดทิ้งเขา มีอะไรทำเพื่อเขาได้ เราก็ทำให้ ตอนอยู่เราก็อาจจะช่วยแบบหนึ่ง เช่น ให้สิ่งของเงินทองเป็นต้น แต่เมื่อเขาสิ้นไปหรือจากไปแล้ว เราจะไปช่วยอย่างนั้นไม่ได้ เราช่วยได้แต่การอุทิศส่วนกุศล แม้แต่การบริจาคอวัยวะนี้เราก็ไม่ใช่บริจาคเพื่อตัวเรา แต่เราบริจาคเพื่อให้เป็นบุญกุศลสมตามเจตนาของผู้ตายครั้งสุดท้ายที่ผู้อยู่ควรเอาใจใส่ให้ความสำคัญ เรื่องของร่างกายนี้เมื่อชีวิตแตกดับตายไปแล้ว มันก็เป็นของเน่าเปื่อยผุพังไปตามธรรมดา ไม่มีคุณค่าสาระอะไร เป็นแค่ซากหรือเหมือนกับเศษวัตถุ มีแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์ ถ้ามีทางใช้ประโยชน์ที่เป็นบุญกุศลได้ ก็เป็นการดี
คนสมัยก่อนเขามีบทโคลงกลอนที่ว่า พวกโค กระบือ มันตายไปแล้วก็ยังเหลือเขา หรือหนัง ให้เอามาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนมนุษย์นั้น ตายแล้วร่างกายทั้งหมดไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่จะเน่าเปื่อยอย่างเดียว โบราณเขาสอนไว้อย่างนี้ หลายคนจำกันได้ดีว่า
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
โคลงบทนี้คงจะยังจำกันได้ หมายความว่า โดยธรรมชาติที่รู้กัน ร่างกายของมนุษย์เรานี้ พอสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าทำให้เป็นประโยชน์ได้ก็กลับเป็นดี แสดงว่าตอนนี้เรานี่ก็ไม่ได้แพ้ช้าง ม้า วัว ควาย เราก็มีดีให้เหมือนกัน ถึงแม้ชีวิตเราแตกดับไปแล้ว ก็ยังฝากประโยชน์ไว้ พอตายร่างกายก็หมดความหมายทันที มันไม่เป็นของเราแล้ว จะหวงแหนไปทำไม พอเขาเอาไปเผามันก็หมดทุกอวัยวะไม่มีเหลือ
แต่ถ้าขืนคิดว่าบริจาคไปแล้ว เกิดมาใหม่ร่างกายจะบกพร่อง จะไม่มีอวัยวะนั้น คิดไปๆ ก็จะเกิดการยึดถือขึ้นมา แล้วก็จะกลายเป็นโทษ จิตจะเกิดเป็นอุปาทานขึ้นมา ยึดมั่นในภาพที่ขาดวิ่นบกพร่องนั้น ก็เป็นการปรุงแต่งที่ผิด กลายเป็นเสียเลย เพราะจะเอาภาพร้ายในอุปาทานนั้นไปปรุงแต่งใหม่ในทางที่ไม่ดี
จิตของเรานั้นคอยจะพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่ง เมื่อเราย้ำคิดอย่างไร มันก็โน้มเอียงไปในทางอย่างนั้น
สำหรับญาติของผู้ตายนั้น พูดสั้นๆ รวบรัดว่า ไม่ควรครุ่นคิดอยู่กับเรื่องว่า “เป็น” หรือ “จะเป็น” อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ควรคิดในเรื่องว่าจะ “ทำ” อันนั้นอันนี้เพื่อผู้ตาย หรือจะทำอะไรเพื่อสนองเจตนาของผู้จากไป