ต่อไปนอกจากดุลยภาพในเรื่องร่างกายแล้ว ชีวิตมนุษย์เรานี้ที่จะดำรงอยู่ด้วยดีจะต้องอาศัยดุลยภาพอีกหลายอย่าง ตอนนี้เรามองออกไปจากตัวมนุษย์ เราไม่ได้มองจากโลกเข้ามา ไม่ว่าจะมองจากด้านไหนเป็นหลักก็ตาม ก็จะมองเห็นดุลยภาพ แต่ตอนนี้เราเอาชีวิตของมนุษย์เป็นหลัก เอาตัวมนุษย์เป็นแกนกลางแล้วมองออกไป เมื่อกี้นี้เริ่มจากร่างกายของเราก็บอกว่าสุขภาพนี้ต้องอาศัยดุลยภาพ
ทีนี้ต่อไปด้านที่สองที่ง่ายๆ ในการดำเนินชีวิตของเรานี้ เรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความเป็นอยู่หรือเรื่องเศรษฐกิจ อันนี้ก็ต้องมีดุลยภาพเหมือนกัน ดุลยภาพอย่างง่ายที่สุด ก็คือ ดุลยภาพระหว่างการใช้จ่ายกับรายรับ รายได้กับรายจ่ายจะต้องได้ดุลกัน ถ้ารายได้น้อยแต่จ่ายมากก็ต้องเกิดปัญหา เกิดความบกพร่อง ชีวิตในด้านเศรษฐกิจก็เป็นโรค คือจะเป็นปัญหานั่นเอง
โรค แปลว่า สิ่งที่เสียดแทง สิ่งที่ทำให้ไม่สบาย เพราะฉะนั้น ถ้าชีวิตในด้านเศรษฐกิจของเราไม่มีสมดุลหรือไม่มีดุลยภาพ ชีวิตด้านเศรษฐกิจของเราก็จะต้องไม่สบาย มีความขัดข้อง เพราะฉะนั้น อย่างน้อยก็ต้องให้มีดุลยภาพระหว่างรายได้กับรายจ่าย
แต่ดุลยภาพระหว่างรายได้กับรายจ่ายนั้น ไม่ใช่แค่เพียงรายได้รายจ่ายเฉพาะที่มองเห็นว่าได้มาเท่าไรจ่ายไปเท่าไร แต่ดุลยภาพนั้นจะต้องมองไปถึงภาวะสมดุลอื่นๆ ด้วย เช่น การวางแผนเพื่ออนาคตเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงของชีวิต
ยกตัวอย่าง เช่น เรานี้มิใช่จะมีกำลังร่างกายแข็งแรงอยู่เรื่อยไปตลอดเวลาบางครั้งเราอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออาจจะประสบเหตุภยันตราย หรือมีเหตุเร่งด่วนบางอย่างต้องใช้เงินจำนวนมากเกินกว่าที่ใช้ในขณะนี้ หรือเวลานั้นเราไม่สามารถจะทำงานหาเงินได้ก็จะต้องมีดุลยภาพในแบบที่ว่าเตรียมการเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต จึงต้องจัดเตรียมเงินไว้อีกส่วนหนึ่งที่เก็บไว้เป็นเงินสะสมสำหรับป้องกันภัยข้างหน้า อันนี้เป็นส่วนอนาคตฝ่ายรายได้ หรือฝ่ายเก็บรักษา เพื่อให้สมดุลกับส่วนที่จะใช้จ่ายที่เป็นอนาคตเหมือนกัน นี่ก็เป็นดุลยภาพอีกแบบหนึ่งคือดุลยภาพที่เป็นเรื่องของอนาคต
แม้ตลอดจนเรื่องการทำงานก็เช่นเดียวกัน คือต้องมีการวางแผน หมายความว่า จะต้องมีการสะสมทุน เพื่อจะได้นำเอาทุนนั้นมาใช้ในการประกอบกิจการงาน
เพราะฉะนั้น ในทางพระศาสนาท่านจึงพูดถึงดุลยภาพในเรื่องรายได้ รายจ่าย ดังจะเห็นได้ชัด เช่นในหลักธรรมหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่าการใช้จ่ายเงินของคนเรานี้ต้องให้มีภาวะที่เรียกว่า รายได้เหนือรายจ่าย หรือให้ได้ดุลกันในแง่ที่ว่าไม่ลบ คือไม่ให้ติดลบ แต่ถ้าบวกไม่เป็นไร อย่างน้อยไม่ให้ลบ
ท่านบอกว่าเปรียบเหมือนอย่างอ่างเก็บน้ำอ่างหนึ่ง ที่มีช่องน้ำเข้าสี่ช่อง และมีช่องน้ำออกสี่ช่อง เหมือนกับมีรายได้รายจ่ายพอเท่ากัน ก็พอเป็นไปได้ แต่ถ้าหากว่าช่องทางน้ำเข้าน้อย แต่มีช่องทางน้ำไหลออกมาก ก็จะเกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้
ช่องทางน้ำออกก็คือพวกอบายมุข อบายมุขนี้มิใช่แค่เป็นทางน้ำออกในการใช้จ่ายเท่านั้น แต่เป็นทางน้ำรั่วเลยทีเดียว คือเป็นทางรั่วไหลหมดไปเปล่าของรายได้ ถ้ามีทางรั่วคืออบายมุขมากมาย เช่นหมกมุ่นในเรื่องสุรา การพนัน หรือในเรื่องการเอาแต่เที่ยวเป็นต้น อย่างนี้แหละคือทางรั่วไหลของรายได้ ถ้ารั่วไหลอย่างนี้ก็จะไปไม่ไหว
ส่วนในด้านทางเข้าท่านวางเป็นหลักไว้เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม คือธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบันมีดังนี้
๑. ต้องมีความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัดการงานในการหาทรัพย์
๒. ต้องรู้จักเก็บรักษาทรัพย์ และป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
๓. ต้องรู้จักคบคน รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในทางที่เกื้อกูลแก่กิจการงาน และในการที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความดีงามเจริญก้าวหน้า
๔. หลักการใช้จ่ายที่ว่าใช้จ่ายแต่พอดีเรียกว่า สมชีวิตา
ข้อที่ ๔ นี่แหละคือเรื่องสมดุลหรือดุลยภาพ ซึ่งในที่นี้เป็นเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ
นี้เป็นตัวอย่างของดุลยภาพที่เราจะต้องนำมาใช้จัดการกับด้านเศรษฐกิจ คือชีวิตของการดำรงอยู่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ถ้าหากว่าเราทำได้ดีมีดุลยภาพ ชีวิตของเราก็จะเป็นอยู่ได้ด้วยดี นี้ก็เป็นดุลยภาพอีกด้านหนึ่ง