ต่อไปคู่ที่สองได้แก่ วิริยะและสมาธิ วิริยะ คือความเพียรพยายามเห็นอะไรก็เป็นสิ่งท้าทายใจสู้ จะทำให้สำเร็จจะก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อย อีกด้านหนึ่งก็คือ สมาธิ ได้แก่ ความมีใจแน่วแน่ สงบ มั่นคง คนที่มีวิริยะ คือ ความเพียร เป็นคนที่เรียกว่าอยู่ไม่เป็นสุข ไม่อยู่นิ่ง นิ่งเฉยอยุ่ไม่ได้ จะทำโน่นทำนี่เรื่อยไป แต่ทีนี้ถ้าหากว่าวิริยะนั้นเกินไป ก็จะกลายเป็นพร่าหรือพล่านไปเลย วิริยะ เพียร แล้วก็เลยเถิดไปจนกระทั่งว่าไม่ได้อะไรจริงจัง
ส่วนคนที่มีสมาธินั้น ใจสงบอยู่กับสิ่งที่กำลังทำหรือกำลังเกี่ยวข้อง ใจจดใจจ่อ พอใจจดใจจ่อ ก็สบาย ก็เพลิน บางทีพอได้สมาธิอย่างที่ชอบพูดกันว่ามาปฏิบัติธรรมได้สมาธิแล้วใจสงบ นอกจากสงบแล้วก็ยังได้ความสุขด้วย พอทำสมาธิได้ความสุขบางทีก็เลยติดอยู่ในความสุขนั้น แล้วก็อยู่ตรงนั้นเอง ไม่ไปไหน ไม่อยากก้าวต่อไป หรือคืบเคลื่อนออกไปจากสภาพนั้น
ท่านว่าคนที่มีแต่สมาธินั้น ถ้าสมาธิแรงเกินไป ไม่เอาวิริยะมาช่วย ก็จะกลายเป็นคนเกียจคร้านไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าต้องปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน วิริยะกับสมาธิต้องปรับให้เสมอพอดีกัน
เหลือจากนี้ แล้วก็มีอินทรีย์อีกตัวหนึ่ง ยังไม่ครบ ๕ อินทรีย์อีกตัวหนึ่งนั้นก็คือ สติ ซึ่งอยู่ตรงกลาง สตินี้เป็นตัวที่คอยตรวจตราคอยดูว่า ศรัทธาแรงไปหรืออ่อนไป ปัญญาแรงไปหรืออ่อนไป ตรวจและคอยยับยั้ง คอยเหนี่ยวรั้ง คอยเตือนว่า ศรัทธาตอนนี้แรงไปแล้วนะ ปัญญาตอนนี้น้อยไป ต้องดึงขึ้นมาเสริมขึ้นมา หรือว่าวิริยะตอนนี้อ่อนไปหรือแรงไป สมาธิอ่อนไปหรือแรงไป อะไรทำนองนี้ สติเป็นตัวคอยตรวจตราและคอยควบคุมไว้ เพราะฉะนั้น สตินี้จึงต้องใช้ตลอดเวลา
เรื่องอินทรีย์ ๕ นี้อาตมภาพยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า แม้แต่ธรรมก็ต้องมีสมดุลหรือมีดุลยภาพ การปฏิบัติธรรมทุกอย่างต้องมีดุลยภาพ ถ้าไม่มีดุลยภาพ ก็เสียหลักไปทุกอย่าง เสียไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่ามีธรรมข้อหนึ่งแล้ว ปฏิบัติเรื่อยไปจะถูกต้องและได้ผลดีเสมอไป อย่างที่ว่าศรัทธาก็เป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าศรัทธาจะทำให้เกิดแต่ผลดีเสมอไป
แม้แต่อกุศลธรรม ท่านบอกว่าถ้าใช้เป็นก็เอามาเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมได้ แต่มีอันตรายนิดหน่อย เรียกว่ามีผลพ่วงในทางเสีย เหมือนกับใช้ยาที่ว่ามีสารซึ่งเป็นพิษอยู่บ้าง แต่เอามาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์บางประการ บางครั้งก็ต้องอาศัยมันเหมือนกัน