จริยธรรมนักการเมือง

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมาธิปไตย เป็นแกนจริยธรรมของประชาธิปไตย

ที่พูดเรื่องนี้ยืดยาว ก็เพราะต้องการย้ำให้มาก เนื่องจากเป็นจุดตัดสินอย่างที่กล่าวแล้ว ถ้าขาดความใฝ่ดีหรืออยากให้มันดีอันนี้ ก็จะไปมีความอยากที่ตรงกันข้าม อย่างที่กล่าวแล้ว คืออยากได้ผลประโยชน์ อยากใหญ่ อยากโต อยากมีอำนาจ อยากให้อะไรๆ ต้องเป็นไปตามความยึดถือของตัว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับจริยธรรม

ถ้าถูกตัณหา มานะ หรือทิฏฐิ ครอบงำ ก็แน่นอนว่าจริยธรรมเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีการพัฒนาความอยากให้มันดี และอยากทำให้มันดีนี้ ให้เข้มข้น ให้แรงกล้า ให้เป็นไปอย่างมุ่งมั่นที่สุด ให้ฝังลึกลงไปประจำอยู่ในจิตใจให้ได้

เมื่อมีความใฝ่ดี อยากให้มันดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ประชาชน และแก่บ้านเมืองอย่างนี้แล้ว ความปรารถนานี้ก็จะแผ่ขยายลึกซึ้งและครอบคลุมทั่วไป ซึ่งพูดด้วยคำสั้นๆ ว่า ความอยากให้ธรรมเกิดมีขึ้น หรือความใฝ่ธรรม คือ อยากให้ธรรม ความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง เกิดมีขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และตรงจุดหมาย

ทำไมจึงว่าตรงจุดมุ่งหมาย ก็เพราะว่า การที่มนุษย์มีการปกครอง มีการงานบ้านเมืองต่างๆ นี้ ก็เพื่อให้เกิดมีธรรมขึ้นในสังคมมนุษย์ หรือเพื่อดำรงธรรมให้คงอยู่ในสังคม

“ธรรม” นี้พูดง่ายๆ ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้จริง รวมทั้งหลักการที่จะให้เกิดความดีงาม ความถูกต้องเหล่านี้

การที่เราจัดตั้งวางหลักการต่างๆ เช่น หลักการทางรัฐศาสตร์ หลักการทางนิติศาสตร์ หลักการทางเศรษฐศาสตร์ หรือหลักการในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็เพื่อให้มีเกณฑ์มีมาตรฐานในการที่จะดำเนินงานเพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความดี ความงาม ความถูกต้อง และประโยชน์สุขที่แท้นั้น

เมื่อเราต้องการความดีงามประโยชน์สุขแก่บ้านเมือง เราก็ต้องยึดถือหลักการเหล่านี้ ซึ่งเรียกด้วยคำสั้นที่สุดคำเดียวว่า “ธรรม”

เพราะฉะนั้น นักการเมืองจะต้องมีจริยธรรมสำคัญขั้นต่อไป ต่อจากความอยากที่ถูกต้อง หรือความใฝ่ปรารถนาดี ที่เรียกว่าฉันทะนั้น ก็คือการที่จะต้องยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ ที่ทางพระเรียกว่า ธรรมาธิปไตย และใช้อำนาจตัดสินใจบนเกณฑ์แห่งธรรมาธิปไตย

ถ้าคนเราไม่ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ คือไม่ถือหลักการ ไม่เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้ เป็นเกณฑ์เป็นมาตรฐาน เป็นใหญ่ หรือเป็นที่ยึดถือ ก็จะเอนเอียงหรือเขวออกไป กลายเป็นยึดถือเอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาผลประโยชน์เป็นใหญ่ หรือเอาคะแนนนิยมเป็นใหญ่ เป็นต้น

ถ้าถือเอาตัวตน ผลประโยชน์ของตน ความยิ่งใหญ่ อำนาจของตน เป็นต้น เป็นใหญ่ ก็เรียกว่า อัตตาธิปไตย

ถ้าถือเอาความนิยม การเอาอกเอาใจกัน ความชอบใจพึงพอใจของคนจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์กัน ก็เรียกว่าเป็น โลกาธิปไตย

ผู้เป็นนักปกครอง เป็นนักการเมือง เป็นนักบริหาร ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญว่า ตอนนี้จะออกสู่ภาคปฏิบัติ ต้องตั้งหลักก่อน การที่จะตั้งหลัก ก็คือ จะต้องยึดถือธรรมเป็นใหญ่ คือถือหลักการ กฎกติกา กฎหมาย ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล ประโยชน์สุขที่แท้ เป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความจริง ความถูกต้องความดีงาม และยึดถือตามหลักการ กฎกติกา รวมทั้งกฎหมาย ตั้งธรรมาธิปไตยเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ก็จะไม่เอนเอียงไปข้างไหน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่เห็นแก่พรรคพวก ไม่เห็นแก่คะแนนนิยม เป็นต้น และจะมีความชัดเจนในการทำงาน

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.