เริ่มแรก ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “จริยธรรม” จริยธรรมในที่นี้ มิใช่หมายถึงจริยธรรมในความหมายแคบๆ ตามที่เราใช้กันปัจจุบันแบบตะวันตก ซึ่งเน้นที่พฤติกรรมทางสังคม แต่จริยธรรมในความหมายทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ การดำเนินชีวิต หรือกระบวนการแห่งชีวิตที่ดำเนินไปทั้งหมด คือความเป็นอยู่ การแสดงออก ความรู้สึกนึกคิด และคุณสมบัติต่างๆ ทั้งจิตใจ ทั้งปัญญา ทั้งพฤติกรรม
ในที่นี้ เราพูดกันถึงพฤติกรรมของนักการเมือง เมื่อพูดถึงจริยธรรมในระดับของคนชั้นนำอย่างนักการเมืองนี้ ก็ขอข้ามเรื่องจริยธรรมสามัญสำหรับคนทั่วไป ซึ่งถือว่าทุกคนควรจะมีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างเรื่องของการมีศีล ๕ การไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายร่างกาย ไม่ทำลายชีวิตผู้อื่น การไม่ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น การไม่ประพฤติผิดทางเพศ การไม่พูดเท็จ ไม่โกหกหลอกลวง การไม่ดื่มสุรายาเมา สิ่งเสพติด และการงดเว้นอบายมุข เหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องของ จริยธรรมพื้นฐาน ซึ่งทุกคนควรจะมีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ในระดับของนักการเมือง ซึ่งถือว่าต้องมีจริยธรรมพื้นฐานสำหรับคนทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีก แต่เมื่อพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง จะหมายถึงการดำเนินชีวิต ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ และสติปัญญา ของผู้ที่จะไปบริหารบ้านเมือง หรือเป็นผู้นำของประชาชน ที่จะพาประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญงอกงามและสันติสุข