ความสุขที่สมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แย่งความสุข ก็เลยทุกข์ด้วยกัน
แบ่งความสุข ก็จะสุขทั่วกัน

ข้อที่ ๒ ท่านว่า “ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม” สุขที่ชอบธรรม คือสุขที่เราควรได้ควรมีตามเหตุปัจจัย มีหลายขั้นหลายระดับ เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับความสุขเหล่านั้น แต่ให้เป็นไปโดยชอบธรรม เช่นถ้าเป็นความสุขทางวัตถุ ก็ไม่ให้เป็นความสุขที่เบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แต่ควรจะเป็นความสุขที่เผื่อแผ่ ซึ่งช่วยให้เกิดความสุขขยายกว้างขวางออกไป

ถ้าสุขของเราเกิดขึ้นโดยตั้งอยู่บนความทุกข์ของผู้อื่น ก็ไม่ดี ไม่ชอบธรรม เพราะฉะนั้น จึงต้องให้เป็นความสุขที่ชอบธรรม เราสุขผู้อื่นก็ไม่ทุกข์ ถ้าให้ดียิ่งกว่านั้น ก็ให้เป็นสุขด้วยกัน

สุขนี้มีหลายแบบ หรือหลายระดับ คือ

๑. สุขแบบแย่งกัน

๒. สุขแบบไปด้วยกัน หรือสุขแบบประสานกัน

๓. สุขแบบอิสระ

สุขแบบแย่งกันก็คือ ถ้าเขาสุขเราก็ทุกข์ ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์ โดยมากจะเป็นความสุขประเภทที่เกี่ยวกับวัตถุ

ความสุขที่เกี่ยวกับวัตถุนั้น ต้องได้ต้องเอา พอเราได้มา เราสุข คนอื่นเสีย หรือไม่ได้ เขาก็เกิดความทุกข์ แต่พอเขาได้ เราเสียเราไม่ได้ เขาสุข เราก็ทุกข์ ความสุขอย่างนี้ไม่เอื้อต่อกัน ยังก่อปัญหา

ยิ่งมองกว้างออกไปในสังคม เมื่อมนุษย์ทั้งหลายต่างก็หาความสุขจากการได้และการเอา ก็แย่งชิงเบียดเบียนกัน สังคมก็เดือนร้อนวุ่นวาย ในที่สุด ก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนแผ่ไปทั่ว ทุกคนแย่งกันสุข เลยต้องทุกข์กันทั่วไปหมด ไม่มีใครได้ความสุข เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสุขที่พัฒนาต่อไป

ความสุขขั้นที่สอง คือความสุขที่ประสานกัน ช่วยกันสุข ถ้าเราสุข ก็ทำให้เขาสุขด้วย นี่ก็คือความสุขที่เกิดจากการพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะก็คือ ความรักแท้

ความรักแท้คือ ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข แต่ต้องระวังแยกให้ดี เพราะความรักนี้เป็นศัพท์ที่คลุมเครือหน่อย

ความรักนั้นมี ๒ อย่าง คือ รักแท้ กับรักเทียม ความรักประเภทที่เราต้องการคือ ความรักแท้ ได้แก่ ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข อันนี้เป็นความหมายที่สำคัญของคำว่าความรัก และความรักประเภทนี้มีชื่อพิเศษเรียกว่า “เมตตา” เมตตา หรือความรักที่ต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุข

ส่วนความรักอีกอย่างหนึ่งนั้นตรงข้าม คือ ความรักที่อยากเอาคนอื่นมาบำเรอความสุขของเรา ความรักที่ต้องการเอาคนอื่นมาทำให้เราเป็นสุข ความรักที่ต้องการครอบครอง อันนี้ก็จัดเข้าในจำพวกความสุขจากการที่ต้องได้ต้องเอา เป็นความสุขแบบแย่งกันเหมือนกับที่พูดมาแล้ว

ความรักแท้ที่ต้องการให้คนอื่นเป็นสุข จะเห็นได้ง่ายๆ เหมือนความรักของพ่อแม่

พ่อแม่รักลูก ก็คือ อยากให้ลูกเป็นสุข ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นสุข เราก็ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นสุข เพื่อจะได้เห็นลูกมีความสุข พอเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย

จะเห็นว่า พ่อแม่อยากเห็นลูกเป็นสุข ก็เลยต้องพยายามทำให้ลูกเป็นสุข ตอนแรกลูกก็ต้องการวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร หรือสิ่งที่จะดู จะฟัง เป็นต้น พ่อแม่ก็หาวัตถุเหล่านั้นมาให้แก่ลูก

เมื่อให้แก่ลูก พ่อแม่ก็ต้องสละ การสละนั้น ตามปกติจะทำให้ไม่สบายเป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าเราเสีย แต่พ่อแม่ให้แก่ลูกก็ไม่ทุกข์ พ่อแม่ไม่ทุกข์ แต่กลับสุขด้วย เพราะอะไร เพราะอยากให้ลูกเป็นสุข และอยากเห็นลูกเป็นสุข พอสละให้เงินให้ทองให้ของแก่ลูกแล้ว เห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า การให้ หรือการสละนี่ เป็นความสุขได้เหมือนกัน

ตามปกติคนเรานี้ จะต้องได้ต้องเอา จึงจะเป็นสุข ถ้าให้ต้องเสียก็ทุกข์ แต่พอมีความรัก คือเมตตาขึ้นแล้ว การให้ก็กลายเป็นความสุขได้

ทีนี้ พอเราให้ เขาก็เป็นสุข เราเห็นเขาเป็นสุขสมใจเรา เราก็สุขด้วย แสดงว่าความสุขของบุคคลทั้งสองนี้ อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นความสุขแบบประสาน คือ ร่วมกันสุข หรือสุขด้วยกัน ไม่ใช่ความสุขแบบแย่งกัน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง