ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ โพชฌงค์ สวดก็ได้ แต่ถ้าใช้ จะยิ่งดี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เรานี้ก็มีเรี่ยวแรงสู้ปัญหา มีปัญญาดับทุกข์ได้

ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงอย่างนี้ อย่ามัวติดจมอยู่กับความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวายว้าวุ่นขุ่นมัว ที่อะไรๆ ไม่ได้ไม่เป็นอย่างใจ อย่ามัวเจ็บใจอยู่ในความทุกข์

คนเราที่เกิดความตระหนกตกใจ เกิดความคับข้องขัดใจว่าทำอะไรไม่ได้อย่างใจ เช่นว่าจะไปเที่ยวเล่นสนุกสนานบันเทิง ก็ทำไม่ได้นั้น ก็ได้แต่ขุ่นมัว ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ดี เป็นจิตใจที่เสียหาย เสื่อมคุณภาพ จมอยู่ใต้ความทุกข์ความเดือดร้อน นอกจากเป็นจิตใจที่มีทุกข์แล้ว ก็เป็นจิตใจที่เจ็บป่วย ไม่เหมาะไม่พร้อมที่จะทำงานหรือเอาไปใช้งาน

ลองคิดกันดู เมื่อมีเรื่องทุกข์มาแล้ว เราจะทำอย่างไร?

ถ้ามองตรงไปตรงมา ก็จะเห็นว่า เออ... เจ้าโควิด-19 นี่มันเป็นโรคร้าย ถ้ามันเข้ามาถึงตัวถึงกายก็จะเป็นอันตรายร้ายแรง จะทำให้คนเจ็บป่วยถึงตาย เราต้องป้องกันไม่ให้มันมาถึงตัว แต่นี่ คนเหล่านี้ ทั้งที่ก็ยังอยู่กันดีๆ โรคก็ยังไม่มาถึงตัว ตัวก็ยังไม่เป็นโรค ก็หงุดหงิดขัดเคืองเดือดร้อนใจว่ากันให้สับสนวุ่นวายไปหมด แล้วตัวเองอยู่กับความทุกข์เท่านั้นไม่พอ ยังทำให้คนกับคนวุ่นวายกันไปด้วย นี่มันเรื่องอะไร กลายเป็นว่าทั้งที่โรคนั้นก็ยังไม่มาถึงตัว แต่มันเก่ง มันทำร้ายถึงใจได้เลย มันมาถึง ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงกันกับมัน

นี่มองในแง่หนึ่ง ก็กลายเป็นว่า คนเหล่านี้ทำร้ายตัวเอง เอาเรื่องที่คิดไม่ถูกต้อง คิดผิดทาง เอามาทำร้ายใจตัวเอง ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์

ทีนี้ ถ้าตั้งสติตั้งหลักได้ วางใจให้ถูก อย่างน้อยก็คิดว่า เออ... นี่อะไรกัน โควิดก็เป็นของมัน มันทำให้เกิดสถานการณ์ร้าย มันสามารถทำร้ายเราได้ เราจะต้องคิดป้องกันแก้ไข ให้เราอยู่ของเราได้ ให้พวกเราอยู่กันได้อย่างดี แต่นี่เรามาคิดวุ่นอยู่กับเรื่องตัวเอง ทำกับใจของตัว มัวแต่คิดวิตกกังวลขัดเคืองวุ่นวายใจ นี่เราเองเอามันมาทำร้ายตัวเรา เรากลายเป็นผู้ถูกกระทำ คนที่เก่งจริง ต้องเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่เป็นผู้ถูกกระทำ ตอนนี้เราเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกกระทำอย่างไร เราเอาเรื่องมาคิดให้เป็นปัญหาเดือดร้อนใจตัวเอง โดยไม่ได้คิดที่จะแก้ปัญหาตัวจริงเลย

เรื่องนี้บอกว่า คนที่ปฏิบัติถูกต้อง คนที่เก่งจริง ก็คือ จากการเป็นผู้ถูกกระทำ ต้องเปลี่ยนให้ตัวเป็นผู้กระทำ จากการถูกปัญหามาบีบคั้น ถูกความทุกข์มากดทับตัว ต้องพลิกตัวกลับขึ้นเป็นผู้แก้ปัญหา เป็นผู้ดับทุกข์

สติจะบอกเลยว่า คุณทำผิดแล้ว โรคก็ยังไม่เป็น แต่มันทำให้ตัวเราเกิดความวุ่นวาย กลายเป็นการซ้ำเติมทำกับตัวเอง อย่างนี้ไม่ได้เรื่อง เอาใหม่ ต้องเปลี่ยน เราต้องพลิกตัวขึ้นเป็นผู้กระทำ แล้วก็เป็นผู้แก้ปัญหา เป็นผู้ดับทุกข์

ตอนนี้คือสติมาแล้ว ปัญญาก็ตามมาได้เลย พอปัญญามา ก็เดินหน้าได้ ถึงตอนนี้ก็คิดว่า เราจะจัดจะทำอะไรๆ จะดำเนินชีวิตของเราอย่างไร ให้ดีที่สุด แล้วพวกเรา เพื่อนเรา ครอบครัวพี่น้องเรา จะอยู่จะทำอะไรกันอย่างไร ให้ดีที่สุด ที่จะแก้ไขเอาชนะมันได้

ที่ว่ามานี้ก็คือ เริ่มจากว่า ถ้าเรารู้จักสวดมนต์ให้ถูกต้อง ให้ได้ผลเป็นประโยชน์ ก็จัดตั้งวางฐานให้แก่ชีวิตและสังคมได้ คนเรานั้นมีฐานอยู่ที่จิต ถ้าจัดวางจิตให้ถูกต้องแล้ว เมื่อจิตนั้นดี มีความมั่นใจ มั่นคงแล้ว ก็มีสติ เมื่อจิตมีสติ สติก็ตั้งหลักให้เดินหน้าเดินงานได้ ทีนี้ปัญญาก็มา คนก็กลายเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ งานการก็เดินหน้าไป ก็แก้ไขปัญหาและทำสิ่งที่พึงต้องการได้ อย่างน้อยก็พาให้ผ่านสถานการณ์ไปได้อย่างดีที่สุด

แต่จะให้สำเร็จผลอย่างดี คนต้องสามัคคีกัน สวดมนต์พาให้ทั้งกายและใจคนมาสามัคคีกัน สามัคคีที่แท้ที่มีผลแน่ คือสามัคคีของจิตใจ เมื่อมีจิตสามัคคีแล้ว ความสามัคคีในการงานกิจการและการกระทำทางกายก็ออกมาด้วย คนก็ไปด้วยกัน เดินทางเดียวกันไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้น เรื่องสวดมนต์นี่ ถ้าใช้ให้ถูกให้เป็น ก็เป็นประโยชน์ได้มาก

ก็เอาเป็นว่า เราใช้สวดมนต์เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ด้วยการที่คนมีศรัทธามานำ ทำให้จิตใจมารวมกัน เมื่อใจคนรวมกันในความดีงาม มีความสงบพร้อมกันดี มีสติตั้งหลักได้ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยการใช้ปัญญา

ตอนนี้ละที่ว่า พอสวดมนต์มีใจสงบ (ไม่ใช่สวดกล่อมใจให้เคลิบเคลิ้ม) จบสวดมนต์ ออกจากสวดมนต์แล้ว ก็มีการฟังธรรม มีการพูดจาบอกเล่าให้ความรู้ให้คติแนะนำอะไรต่างๆ หรือพร้อมใจกันทำอะไรๆ นี่คือศรัทธาที่ปฏิบัติถูกต้อง ก็มาต่อกับปัญญา

ในระดับปัญญา ก็คือใช้โพชฌงค์ในปฏิบัติการ ที่จะพูดกันต่อไป ตอนนี้พูดเรื่องของศรัทธาในระดับจิตใจแทรกเข้ามาให้เข้าใจไว้ก่อน

ในเรื่องของศรัทธา เรื่องของจิตใจนั้น ได้บอกแล้วว่า กำลังใจเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญ ควรย้ำเรื่องนี้ไว้ด้วย

มีพุทธพจน์ที่พึงถือเป็นคติว่า “อาปทาสุ...ถาโม เวทิตพฺโพ” มีความหมายว่า เรี่ยวแรงกำลังของคนนั้น พึงรู้ได้ในคราวมีภัยอันตราย เริ่มแต่กำลังใจ พอมีภัยอันตรายเกิดขึ้น เราจะรู้เลยว่าคนมีกำลังใจไหม อย่างที่พูดสั้นๆ ว่า “กำลังใจ รู้ได้เมื่อภัยมา

เราจะต้องพิสูจน์ว่าเรามีความเข้มแข็ง มีกำลัง ตัวเราเองนี่มีกำลังใจ และประเทศชาติ สังคมของเรามีกำลังที่จะผจญต่อสู้แก้ไขปัญหานี้ได้

นี่เป็นเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเอง ต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีกำลังเข้มแข็งพอที่จะเอาชนะ ที่จะทำการให้สำเร็จ อย่างที่ท่านว่า “อาปทาสุ...ถาโม เวทิตพฺโพเรี่ยวแรงกำลัง รู้ได้เมื่อมีภัยอันตราย

ทีนี้ ในยามมีเรื่องร้าย มีภัยอันตรายเกิดขึ้นนี้ ก็มีคติสำหรับสถานการณ์ของแต่ละคน ที่ท่านให้ไว้อีกว่า คนที่เก่งจริง คนที่ดำเนินชีวิตได้ดีนั้น ถึงทีได้ประโยชน์สมหมาย ไม่เหลิงลอย ถึงคราวสูญเสียประโยชน์ ก็ไม่หมดกำลังใจ

คนจำนวนมากนั้น สติไม่อยู่ ปัญญาไม่บอกให้ พอได้อะไรสำเร็จดี ได้ลาภโน่นนี่ ก็เหลิง นี่คือพลาดไปแล้ว เรียกได้ว่า เสียสติ

ทีนี้ พอสูญเสียบ้าง มีเรื่องร้าย เจอภัยพิบัติเข้า ก็หมดกำลังใจอีก อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ ก็คือ หมดสติ

ฉะนั้น ต้องเอาคตินี้ไว้ จะได้เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเอง ดังที่ว่า ถึงทีได้ผลสำเร็จสมหมาย ไม่เหลิงลอย ถึงคราวเสียประโยชน์ ก็ไม่หมดกำลังใจ อันนี้จะเป็นการพิสูจน์ตัวเราเอง แล้วก็เข้ากับหลักที่ว่า เรี่ยวแรงกำลังที่มี จะรู้ได้เมื่อมีภัยอันตราย

ที่ว่าสวดมนต์จบแล้ว ให้ฟังธรรม อย่างง่ายๆ ก็สามารถแนะนำธรรมคติอย่างนี้ หรือบอกธรรมบทสั้นๆ พอให้จิตที่สงบมั่นพร้อมดีแล้วนั้น ได้งานที่จะทำด้วยปัญญาต่อไป

เป็นอันว่า การสวดมนต์ที่เป็นการปฏิบัติเบื้องต้นด้วยศรัทธา ก็สามารถใช้เป็นเครื่องเตรียมจิตใจ ช่วยให้สงบมั่นคงเกิดมีเรี่ยวแรงกำลัง ตั้งสติได้ดี เป็นจิตที่เหมาะที่พร้อมจะใช้ทำงาน และนำให้เกิดความสามัคคีที่จะให้คนเดินหน้าไปด้วยกัน

ถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ได้ ถึงแม้ต้องผจญวิกฤติภัย ก็หวังได้ว่าจะชนะ จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี อย่างน้อยแม้แต่ในระหว่างที่ยังดำเนินงานในการที่จะแก้ปัญหา คนก็มีจิตใจที่ดี มีสติ มีกำลังใจที่จะก้าวไปข้างหน้า

เอาละ นี้คือการสวดพระปริตร ที่นำธรรมมาใช้ในขั้นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของศรัทธา ว่ากันแค่นี้ก่อน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง