การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าเข้าถึงธรรมชาติ จะไม่ขาดความสุข

อาจารย์ถาม: เมื่อสักครู่ได้ฟังพระเดชพระคุณพูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตที่กลมกลืนสอดคล้องกับธรรมชาติ ทีนี้อยากจะเรียนถามว่า ในพุทธประวัติที่ชัดๆ มีกล่าวถึงตอนไหน อย่างไรบ้าง เป็นคำสอน เป็นจริยวัตรของพระพุทธองค์ จะได้นำไปกล่าวอ้างได้ถูกต้องขอรับ

ท่านเจ้าคุณ: ก็จะเป็นทำนองพุทธพจน์ที่ตรัสถึงสถานที่ต่างๆ ด้วยความชื่นชม ตรัสถึงธรรมชาติที่เป็นรมณีย์ ตรัสถึงที่นั่นที่นี่ว่าเป็นรมณีย์ คำว่า “รมณีย์” ที่แปลว่า น่ารื่นรมย์ นี่แหละ เป็นคำเด่น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เยอะ ป่านั้นป่านี้ สถานที่นั้นที่นี้ เป็นรมณีย์ในพุทธประวัติ เริ่มตั้งแต่เสด็จออกบรรพชา หาที่เหมาะในการบำเพ็ญเพียร ทรงเล่าว่า เมื่อเสด็จมาถึงอุรุเวลาเสนานิคม แถบชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงพบที่เหมาะ มีพระดำริว่า “รมณีโย วต ภูมิภาโค...” — “ภาคพื้นถิ่นนี้ น่ารื่นรมย์หนอ มีไพรสณฑ์ที่ชื่นบานใจ มีแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย ชายฝั่งน้ำก็งามใสสะอาด น่ารื่นรมย์ ... เป็นที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร” (ม.มู.๑๒/๓๑๙/๓๒๒)

ข้ามไปตอนท้าย ใกล้จะปรินิพพาน ก็ตรัสมากมายถึงป่า ถึงประดาสถานที่ที่รื่นรมย์ เช่นว่า “รมณีโย คิชฺฌกูโฏ ปพฺพโต ... รมณียาเวสาลี ... รมณียํ ชีวกมฺพวนํ” อันนี้เข้าใจง่าย ไม่ต้องให้คำแปลก็ได้ (เช่น ที.ม.๑๐/๑๐๔/๑๓๖)

ที่เป็นเรื่องยาวก็มี อย่างที่ว่า เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะจะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปแคว้นศากยะ ส่งอำมาตย์มาหลายท่านแล้วก็ไม่กลับไป ทีนี้ พระกาฬุทายี อำมาตย์เก่า บรรลุอรหัตตผลแล้ว ไม่ลืมเรื่องนี้ ในที่สุดก็ได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์

ในการอาราธนาพระพุทธเจ้านั้น เรื่องเป็นวรรณกรรมร้อยกรองมาเลยว่า พระกาฬุทายีได้พรรณนาความงามของธรรมชาติในป่าบนเส้นทางเสด็จตลอด ตั้งแต่ที่นั่นไปถึงกบิลพัสดุ์ ว่าสวยงามอย่างไร ว่าเป็นคำฉันท์ประมาณ ๖๐ คาถา เช่นว่า (ขุ.เถร. ๒๖/๓๗๐/๓๔๖)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ถึงฤดูที่ประดาต้นไม้ ซึ่งได้ผลัดใบเก่าทิ้งไป ต่างผลิดอกออกผลใหม่ ดอกสีแดงจัดจ้า สดใสวะวาวราวกะมีเปลวส่องประกาย ข้าแต่องค์พระมหาวีระ เป็นกาละอันเหมาะแล้วที่จะทรงอนุเคราะห์หมู่พระญาติวงศ์

ข้าแต่องค์พระวีระเจ้า หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกบานสะพรั่ง น่ารื่นรมย์ใจ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตระหลบไปทั่วทิศโดยรอบ ทิ้งใบเก่าแล้ว กำลังออกผลใหม่ เป็นกาลสมัยอันเหมาะที่จะเสด็จจากที่นี้ออกทรงดำเนิน ...

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ เถรคาถา คือ คาถาของพระเถระที่ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว กล่าวถึงการปฏิบัติของท่านในระหว่างที่ก้าวไปสู่การบรรลุธรรม และหลังจากบรรลุธรรมแล้ว เกิดปีติ มีความเอิบอิ่มใจ ท่านก็กล่าวคำประพันธ์ที่แสดงความปลาบปลื้มปีติเหล่านี้ขึ้นมา หลายท่านกล่าวถึงความงามของธรรมชาติ กล่าวถึงฝน ถึงเมฆ ถึงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ถึงป่า ถึงเขา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ในเถรคาถามีเยอะ นี่ก็คือคำฉันท์ ที่เกิดจากฉันทะนั่นเอง ขอยกคาถาของพระมหากัสสปะมาให้ดูนิดหนึ่ง เป็นตัวอย่าง (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๘/๔๑๐)

ภาคพื้นภูผา เป็นที่ร่าเริงใจ มีต้นกุ่มมากมายเรียงรายเป็นทิวแถว มีเสียงช้างร้องก้องกังวาน เป็นรมยสถาน ถิ่นขุนเขาทำใจเราให้รื่นรมย์

ขุนเขาสีทะมึนดุจเมฆ งามเด่น มีธารน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษด้วยผืนหญ้าแผ่คลุม มีสีเหมือนแมลงค่อมทอง ถิ่นขุนเขาทำใจเราให้รื่นรมย์ ...

นี่ก็แสดงว่า ท่านผู้ตรัสรู้หมดกิเลสแล้วนั้น ท่านมีความสุขกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของฉันทะ แต่คนไม่รู้ก็อาจจะนึกไปว่า อ้าว... ทำไมพระอรหันต์ยังไปชื่นชมติดใจอะไรกับเรื่องต้นไม้สวยๆ งามๆ มันคนละอย่าง ต้องแยกตัณหา กับฉันทะ ให้เป็น ว่าต่างกันอย่างไร

ตัณหามันมีตัวตน และเพื่อตัวตน จะได้ จะเอา แต่ฉันทะเป็นความชื่นชมในความดี ความงาม ความสมบูรณ์ เป็นต้น ของสิ่งนั้น หรือปรารถนาความดี ความงาม ความสมบูรณ์ เป็นต้น เพื่อสิ่งนั้น มันไม่มีตัวตนเกิดขึ้น ต้องแยกให้ดี

เคยยกตัวอย่างมาเทียบบ่อยๆ เช่น เราไปที่ไหน ได้เห็นกระรอกมันเต้นไปเต้นมา มันทำท่าโน้นท่านี้ ก็ดูสวยงามดี ทีนี้ มีคน ๒ คนไปเห็นกระรอก

คนหนึ่งบอกว่า ไอ้กระรอกตัวนี้ ถ้าเราเอาไปลงหม้อแกงได้ คงจะอร่อยดี นี่คือจะหาสุขจากเสพ เรียกว่า ตัณหา คือ มีตัวตนเกิดแล้ว จะเอาไปเพื่อให้ตัวได้กินได้เสพ

แต่ทีนี้ อีกคนหนึ่งชื่นชมว่า เจ้ากระรอกนี้น่ารัก มันอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์ ดูสมกลมกลืนกันดี ขอให้เจ้ากระรอกนี้ จงมีร่างกายแข็งแรงคล่องแคล่วปราดเปรียวสวยงาม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามอย่างนี้ต่อไปเถิด นี่เป็นความสุขจากฉันทะ เป็นความรู้สึกชื่นชม ปรารถนาดีต่อสัตว์ หรือต่อธรรมชาตินั้นตามสภาพของมันเอง เพื่อมันเอง ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับตัวตนของคนที่ดูนั้น

ถ้าเป็นตัณหา ก็จะมีตัวตนเกิดขึ้นมา แต่ถ้าเป็นฉันทะ ก็จะเป็นความปรารถนาดีงามต่อสิ่งนั้นๆ เพื่อสิ่งนั้นๆ เอง ตามสภาวะของมัน เหมือนเราไปเห็นต้นไม้งาม เราก็ชื่นชมความงาม ความดีของมัน ก็จบและก็มีความสุขแก่เราด้วย มีทั้งความสุขและความชื่นชม แล้วถ้ามันเกิดบกพร่องเสียหายขึ้นมา เราก็เกิดความปรารถนาให้มันดี และอยากจะทำให้มันดีอีก ก็ดีของมัน และเพื่อมันนั้นอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ฉันทะจึงไม่เกี่ยวกับตัวตน ตรงข้ามกับตัณหาที่มีตัวตนเกิดขึ้นมาทันที

ในพระไตรปิฎกมีคำพรรณนาความงามน่ารื่นรมย์ของธรรมชาติอีกหลายแห่ง บางท่านที่คุ้นกับมหาเวสสันดรชาดก ก็คงรู้จัก จุลพนและมหาพน แม้ในชาดกทั่วไป และในคัมภีร์อปทาน ก็มีคำพรรณนาอย่างนั้นกระจายอยู่ในเรื่องต่างๆ เป็นอันมาก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง