Vision of the Dhamma: A Collection of Buddhist Writings in English

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อนุโมทนา

ข้อเขียนทั้งหลายในหนังสือนี้ ที่เกิดเป็นเล่มหนังสือขึ้นดังปรากฏ กล่าวได้เต็มปากว่า สำเร็จด้วยน้ำใจปรารถนาดีของ รศ. ดร. สมศีล ฌานวังศะ ราชบัณฑิต ซึ่งได้แสดงออกตั้งแต่คิดริเริ่ม รวบรวม จัดการ และดำเนินการ จนเสร็จเป็นเล่มสมบูรณ์

ข้อเขียนที่กล่าวเหล่านั้น เกิดขึ้นในโอกาสต่างๆ กระจายกว้างในช่วงเวลายาวมากถึง ๒๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๓๗ หรือ ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๙๔) แต่ส่วนมากเขียนเมื่อไปบรรยายในอเมริกา ในบางช่วงของเวลา ๙ ปี ระหว่างพ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๒๓ เมื่อใช้งานในคราวนั้นๆ แล้ว ก็เหมือนปล่อยทิ้งไปเลย แม้บางเรื่องจะมีการตีพิมพ์บ้าง ก็เป็นการริเริ่มของผู้อื่น เช่นเรื่อง "Foundations of Buddhist Social Ethics" ที่ University of South Carolina Press นำไปจัดพิมพ์รวมในหนังสือ Ethics, Wealth and Salvation: A Study in Buddhist Social Ethics เมื่อปี ๑๙๙๙ (เรื่องเดียวกันนี้ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยนำไปเผยแพร่ในขอบเขตหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๒๖) งานส่วนใหญ่ยังคงนอนเงียบและกระจัดกระจายอยู่จนกระทั่ง ดร. สมศีล ฌานวังศะ รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นคราวนี้

แท้จริง ผู้เขียนเองมิใช่จะไม่ใส่ใจงานเหล่านี้เสียเลย ได้นึกไว้ตั้งแต่แรกว่าควรจะยกขึ้นมาปรับปรุงและใช้งานหรือพิมพ์เผยแพร่ แต่แล้วเวลาก็ผ่านล่วงไปกับงานด้านอื่นอย่างรวดเร็ว ไม่มีเวลานึกถึงอีก ครั้นนานเข้าก็ค่อนข้างจะลืม เหมือนว่าละทิ้ง ดีแต่ว่าได้เก็บใส่แฟ้มไว้และยังคงอยู่อย่างเดิม

การที่ผู้เขียนเองวางทิ้งงานเหล่านี้เสียนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปเอง เนื่องจากใจมุ่งอยู่แต่จะทำงานหนังสือธรรมที่คิดไว้เดิมเป็นหลัก โดยเฉพาะสารานุกรมพุทธศาสน์ ซึ่งเมื่อทำไปๆ พอเห็นว่ายาวนักจะไม่อาจให้จบได้ ก็หันกลับมาตั้งรูปแบบใหม่และตั้งต้นอีกแล้วๆ เล่าๆ ๓ ครั้งแล้ว ก็ยังไม่จบสักฉบับเดียว งานนี้ทำให้ถืองานอื่น รวมทั้งการไปบรรยายต่างประเทศ เป็นเรื่องแทรกผ่าน พอให้เสร็จไปคราวหนึ่งๆ

แม้แต่ระหว่างไปอยู่ทำงานตามที่เขานิมนต์ในต่างประเทศ ก็กลายเป็นคอยหาเวลาอิสระที่นั่น มาใช้ทำงานหลักที่ติดค้างในเมืองไทย ทำไปทำมา งานค้างในเมืองไทยเอง ก็ได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ดังที่ สารานุกรมพุทธศาสน์ ยังค้างเติ่งอยู่จนบัดนี้ (ฉบับแรกจบ "บ" ฉบับที่ ๒ จบ "ต" ฉบับที่ ๓ จบ "ก") เสร็จออกมาเพียงงานแทรกที่คิดว่าพอจะใช้กันไปพลางๆ คือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม และพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ กับหนังสือ พุทธธรรม ที่รอเวลามา ๒๐ กว่าปี ว่าจะเพิ่มเติมอีก ๔ บท

งานค้างทางเมืองไทยไม่เพียงทำให้ไม่ตั้งใจทำงานเมืองนอกเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ตัดขาดงานด้านต่างประเทศไปทั้งหมด เพราะหลังจากไป Harvard ในพ.ศ. ๒๕๒๔ (ค.ศ. ๑๙๘๑) แล้ว ปีต่อมา ๒๕๒๕ เมื่อทาง Harvard ติดต่อจะนิมนต์อีก ก็ได้อ้างว่างานค้างมาก ยังไปไม่ได้ ปี ๒๖ ปี ๒๗ จะนิมนต์อีก งานไทยก็ยังค้างอีก เลยตกลงกันล่วงหน้าว่าคงจะไปได้ในปี ๒๕๓๐ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ก็ได้แค่บอกว่างานไม่เสร็จ ยังไปไม่ได้ และมาถึงบัดนี้ อีก ๒๐ ปี ถึงพ.ศ. ๒๕๕๐ งานเมืองไทยก็ยังค้างอยู่นั่นเอง

ญาติโยมช่วยกันสร้างวัดญาณเวศกวันถวายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้มีกำลังมีเวลา กับทั้งสภาพแวดล้อมอันเป็นสัปปายะที่จะทำงานค้างตามปรารถนาได้เต็มที่ งานเล็กงานน้อยอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาตามกาลเวลา ก็ได้เตือนกันให้ระวัง มิให้ไปหลงทำงาน สุครีพถอนต้นรัง แต่เวลาก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง

งานด้านต่างประเทศนั้น ไม่เพียงหยุดเลิกไปเท่านั้น แม้แต่เวลาที่จะเล่าหรือพูดถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาก็ไม่มี ทั้งที่นึกอยู่ว่ามีอะไรน่าคิดมากมายที่ควรเล่าให้ญาติโยมและคนไทยฟัง มีหลุดออกมาเพราะมีเหตุจำเพาะให้พูดเพียง ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรก ดร. ชาย โพธิสิตา ขอสัมภาษณ์ลงตีพิมพ์ในนิตยสารพุทธจักร ในชื่อเรื่องว่า "ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา" (พ.ศ. ๒๕๑๕) กับอีกครั้งหนึ่ง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิมนต์ไปพูด เกิดเป็นหนังสือชื่อ มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย (บรรยายในวันคล้ายวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ ๒๕ ปี ๑๐ ก.ค. ๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๖)

สิ่งที่พลอยเงียบหายไปด้วยเพราะการมองแต่งานทางเมืองไทย ก็คือการติดต่อสื่อสาร พอกลับถึงเมืองไทย หันมามุ่งทำงานที่ค้างเต็มเวลา ก็เหมือนตัดทุกอย่างทางต่างประเทศไปทันทีและตลอดไป ยิ่งกว่านั้น แม้ในเมืองไทยเอง นับแต่พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา เมื่อผ่าตัดเส้นเลือดใหญ่สู่สมอง (carotid artery) เส้นข้างซ้ายแล้ว ก็ตัดการออกไปแสดงธรรมหรือบรรยายนอกวัดหมดสิ้น

แท้จริงนั้น เมื่อไปพักในต่างประเทศ นอกจากศาสนกิจคืองานแล้ว อีกด้านหนึ่งที่ต้องเกี่ยวข้องเคียงคู่กัน ก็คือบุคคล ทั้งผู้เดินทางไปด้วยจากเมืองไทย ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์ และผู้อยู่ที่นั่นอันเรียกได้ว่าเป็นเจ้าถิ่น ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนอเมริกัน

ผู้ที่เรียกว่าเป็นลูกศิษย์จากเมืองไทย ครั้งไป Swarthmore (พ.ศ. ๒๕๑๙) คือ คุณบุญเลิศ โพธินี และครั้งไป Harvard (พ.ศ. ๒๕๒๔) คือ อาจารย์โสม ได้รัตน์ (ครั้งแรก เมื่อไปที่ Pennsylvania พ.ศ. ๒๕๑๕ ทางฝ่ายเจ้าถิ่นมอบหมายให้คุณ Mike อดีต Peace Corps volunteer ที่เมืองไทย ทำหน้าที่ติดตามดูแล จึงไม่ต้องเตรียมลูกศิษย์จากเมืองไทย) คุณบุญเลิศ โพธินี มีอายุแก่กว่าผู้เขียนเพียงเล็กน้อย แต่อาจารย์ โสม ได้รัตน์ แก่กว่าผู้เขียนประมาณ ๒๐ ปี

สำหรับการไปครั้งแรก ที่ Philadelphia (พ.ศ. ๒๕๑๕) จำได้เพียงว่าถูกผู้ใหญ่กำหนดตัว แต่แน่นอนว่า บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ตลอดกระบวนการ ก็คือ อาจารย์คลอสเนอร์ (Mr. William J. Klausner) แห่งมูลนิธิเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์ตลอดเวลายาวนานในระยะที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากราชการไทย

เวลาตลอดทั้งหมดแห่งศาสนกิจในอเมริกานั้น เป็นช่วงกาลแห่งความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ในบรรยากาศแห่งความมีน้ำใจไมตรี ที่ระลึกถึงด้วยความชื่นบานสดใสและรื่นเย็นสบายอบอุ่นใจ

ใกล้ที่สุด คือ Professor Dr. Donald K. Swearer ซึ่งเป็นผู้มีน้ำใจงามยิ่ง นอกจากเอาใจใส่จัดเตรียมความเป็นอยู่ทั่วไปให้เป็นสัปปายะแล้ว ก็ติดตามดูแลให้ได้รับความสะดวกทุกอย่าง ไม่เพียงพาลูกศิษย์พระไปให้รู้จักตลาดที่จะซื้อหาข้าวของตั้งแต่ต้น ต่อนั้นยังนัดพาไปหาซื้อของที่ต้องการเป็นประจำ แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เมื่อผู้เขียนยกเรื่องที่ค้างจากเมืองไทยขึ้นมาทำ Dr. Swearer ก็นำลูกศิษย์ (ฝรั่ง) พากันไปยืมและขนพระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ เกือบทั้งชุด จาก Harvard University Library มาไว้ในที่พัก เพื่อให้ผู้เขียนใช้ได้สะดวก

ในทางวิชาการ Dr. Swearer ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้จักกันดีที่สุดท่านหนึ่งในวงการการศึกษาพระพุทธศาสนาในอเมริกา (ปัจจุบันเป็น Director of the Center for the Study of World Religions, Harvard University) ได้แสดงความปรารถนาดีโดยเป็นสื่อความรู้จัก และเป็นจุดเริ่มความสนใจที่ทำให้มีการนิมนต์ผู้เขียนไปแสดงปาฐกถาในที่ต่างๆ เช่น Oberlin College ใน Ohio, Haverford College ใน Philadelphia ตลอดจน Asia Society ใน New York City

ข้างนอกออกไป ในถิ่นใกล้เคียงโดยรอบวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ญาติโยมคนไทยและนักศึกษาไทยหลายคนหมั่นมาเยี่ยมเยียน นำภัตตาหารมาถวายสม่ำเสมอ ถึงวันหยุด บ้างก็มาพาลูกศิษย์ไปเที่ยวชมให้รู้จักสถานที่และการเดินทาง บางท่านอุปถัมภ์จริงจังมาก พอจะมีการเดินทางไกลไปที่ไหน ก็ส่งตั๋วเครื่องบินมาทั้งสำหรับถวายพระคือผู้เขียน และให้แก่ลูกศิษย์

เมื่อไปพักที่วัด ทั้งที่วัดวชิรธรรมปทีป เมืองนิวยอร์ก และที่วัดธรรมาราม เมืองชิคาโก พระก็เต็มใจช่วยงาน ญาติโยมก็อุปถัมภ์บำรุง ถึงพักอยู่ไกลก็ขวนขวายไปรับมาเทศน์ โดยเฉพาะในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ไม่ขาดไม่เว้น

ทั้งที่มีศรัทธาเปี่ยมน้ำใจไมตรีและเกื้อกูลอย่างดีถึงเพียงนี้ แต่พอนิมนต์อีก ก็ผัดเพี้ยนอยู่นั่นจนเลิกราไปเองในที่สุด ทั้งหมดนี้ก็อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่ามัวมุ่งรอทำงานค้างทางเมืองไทยให้เสร็จ ซึ่งก็คือมองไม่เห็นวันที่จะเสร็จเลยนั่นอง แต่ก็บอกได้ว่า แท้จริงนั้น ได้ตระหนักดีถึงน้ำใจและมองเห็นความสำคัญแห่งความปรารถนาดีของทุกท่าน

เมื่อทุกอย่างเงียบอยู่ ก็ปล่อยอะไรๆ เรื่อยไปก่อนได้ แต่เมื่อในด้านงานมีการจัดทำขึ้น แล้วงานปรากฏตัวเป็นหนังสือออกมา เหมือนทำลายความเงียบ เรื่องเดิมที่พ่วงกันอยู่ คือด้านบุคคล ก็ควรมีการแสดงออกพร้อมด้วย

จึงเห็นว่าหนังสือนี้จะสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้กล่าวโยงไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องและบรรยากาศที่งานเกิดขึ้น โดยขออภัยในส่วนที่เป็นการรีรอขัดข้อง และขออนุโมทนาความมีน้ำใจอุปถัมภ์เกื้อกูลอย่างจริงจัง อันช่วยให้ศาสนกิจสัมฤทธิ์ผลลุล่วงไปได้ และขอให้ทุกท่านเจริญกุศลประสบจตุรพิธพรทั่วกัน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๑๖ กันยายน ๒๕๕๐

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง