หลักกรรมอีกแง่หนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจมาก คือ กรรมที่แยกได้เป็น ๒ ระดับ ได้แก่
๑. กรรมระดับปัจเจกบุคคล ตามนัยพุทธพจน์เช่นว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย”1 เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ไปต่างๆ คือ ให้ทรามและประณีต
กรรมระดับปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของส่วนย่อย จึงเป็นส่วนฐานและเป็นแกนของหลักกรรมทั้งหมด เรื่องกรรมที่ได้อธิบายมาแล้วเน้นในระดับนี้
๒. กรรมในระดับสังคม ตามนัยพุทธพจน์ เช่นว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก กมฺมุนา วตฺตตี ปชา” 2 แปลความว่า โลก (คือสังคมมนุษย์) เป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
กรรมในระดับนี้ ซึ่งเป็นกระแสร่วมกัน ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คืออาชีพการงาน ซึ่งทำให้หมู่มนุษย์มีวิถีชีวิตเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดสภาวะและวิถีของสังคมนั้นๆ ด้วย
แต่กรรมที่ลึกซึ้งและมีกำลังนำสังคมมากที่สุด ก็คือมโนกรรม เริ่มด้วยค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนกิจกรรมและวิธีการในการแสวงหาความสุขของเขา
แต่มโนกรรมที่มีกำลังอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ ทิฏฐิต่างๆ ซึ่งรวมถึงทฤษฎี ลัทธินิยม อุดมการณ์ต่างๆ อันประณีตลึกลงไปและฝังแน่น แล้วกำหนดนำชะตาของสังคมหรือของโลก สร้างประวัติศาสตร์ ตลอดจนวิถีแห่งอารยธรรม เช่น ทิฏฐิที่เชื่อและเห็นว่ามนุษยชาติจะบรรลุความสำเร็จมีความสุขสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งได้เป็นแกนนำขับดันอารยธรรมตะวันตกมาสู่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรรมระดับสังคมนี้เป็นเรื่องใหญ่มากอีกแง่หนึ่ง ขอพูดไว้เป็นแนวเพียงเท่านี้