การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หน้าที่และเหตุผลที่แท้ของการศึกษา

เวลานี้อารยธรรมของมนุษย์ได้มาถึงจุดติดตัน โดยเริ่มจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายซึ่งมาถึงจุดติดตันนี้ก่อน เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องเน้นความสำคัญในหน้าที่และบทบาทหลังนี้ คือการพัฒนามนุษย์จนกระทั่งมีความสามารถที่จะมาแก้ไขสังคม เปลี่ยนวิถีของสังคมที่ผิดพลาด และช่วยแก้ไขปัญหาความติดตันของอารยธรรมมนุษย์ หาทางออกให้แก่มนุษยชาติให้ได้ นี่คือจุดมุ่งหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จในยุคปัจจุบัน

เมื่อมองลึกเข้าไปในการที่จะทำหน้าที่ตามบทบาทเหล่านี้ให้สำเร็จนั้น การศึกษาทำหน้าที่แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. การศึกษาทำหน้าที่ดำรงรักษาและถ่ายทอดศิลปวิทยาการ หรือจะเรียกว่าวิชาการ ตลอดจนวัฒนธรรมให้แก่สังคม ถ้ามองในแง่แคบๆ ก็เริ่มตั้งแต่ ครูทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้หรือศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์ และแคบเข้ามาอีกก็คือ ถ่ายทอดวิชาชีพ หรือวิชาทำมาหากิน ทำให้ลูกศิษย์ได้ความรู้ไปทำมาหาเลี้ยงชีพให้แก่ตนเอง

เป็นอันว่าทั้งสองระดับคือ ในระดับบุคคล ครูบาอาจารย์ก็ทำหน้าที่นี้และการศึกษาก็ทำหน้าที่นี้ด้วย คือทำให้บุคคลมีวิชาชีพที่จะไปหาเลี้ยงชีพสำหรับตนเอง และมองกว้างในระดับสังคม การศึกษา รวมทั้งตัวครู ก็ทำหน้าที่ช่วยดำรงรักษาสืบทอดศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของสังคม อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ที่สำคัญ เราถือว่าเป็นบทบาทที่น่าภาคภูมิใจของการศึกษา ซึ่งทำให้อารยธรรมของมนุษยชาติเจริญรุ่งเรืองสืบมา

๒. การศึกษาทำหน้าที่พัฒนาคน ในแง่นี้ความหมายที่เป็นรูปธรรมคือ ครูช่วยให้บุคคลได้พัฒนาตัวของเขาให้มีชีวิตที่ดีและเป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์สังคม หน้าที่นี้ก็แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ พัฒนาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีอย่างหนึ่ง และความหมายที่กว้างกว่าคือ พัฒนาตัวคนหรือพัฒนาความเป็นมนุษย์

ถ้าให้เป็นรูปธรรมก็พูดได้ว่า หน้าที่ของการศึกษาคือ การสร้างคนให้เป็นบัณฑิต และเราก็ยอมรับศัพท์นี้ด้วย ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เราจึงให้เรียกว่า “บัณฑิต” จบปริญญาโทก็ให้เป็น “มหาบัณฑิต” จบปริญญาเอกก็ให้เป็น “ดุษฎีบัณฑิต” รวมแล้วก็คือเป็น “บัณฑิต” ซึ่งเราถือว่าจบการศึกษาแล้ว ในทางพุทธศาสนาก็ใช้ศัพท์นี้ ท่านเรียกว่า “พุทธาทิบัณฑิต” แปลว่า บัณฑิตมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น บัณฑิตมีฐานะเริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้นลงมาทีเดียว พระพุทธเจ้าก็เป็นบัณฑิตท่านหนึ่งด้วย หรือเป็นบัณฑิตตัวอย่าง เราถือว่าบัณฑิตเป็นบุคคลที่พัฒนาแล้วอย่างดี เราให้การศึกษาเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต

บัณฑิตนี้ต้องไปทำหน้าที่โดยไปดำเนินชีวิตของเขา ให้เป็นชีวิตที่ดีงามและช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ นอกจากนั้น ในการสร้างสรรค์สังคมและดำเนินชีวิตของตนให้ดีมีสุขนั้น เขาก็จะนำสิ่งหนึ่งคือ วิชาการและวิชาชีพไปใช้ในการทำงานและหาเลี้ยงชีพ เพราะฉะนั้นในการสร้างบัณฑิตนี้ เราไม่ใช่สร้างแต่คนให้เป็นบัณฑิตเฉยๆ เรายังให้เครื่องมือแก่บัณฑิตด้วย คือเครื่องมือที่จะใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลก และใช้ในการช่วยสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคม

เมื่อพิจารณาดูหน้าที่ ๒ อย่างข้างต้น จะเห็นว่า ควรเรียงลำดับใหม่ ข้อ ๒. เป็นข้อ ๑. และข้อ ๑. เป็นข้อ ๒. แต่โดยทั่วไปคนจะมองหน้าที่ของการศึกษาในแง่ของการถ่ายทอดและสืบทอดหรือสืบต่อศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ (เพราะตะวันตกยุคใหม่เน้นด้านสังคม จนแทบลืมความเป็นคน) ในที่นี้จึงพูดไปตามความนิยมอย่างนั้น แต่เมื่อจะเอาจริงควรเรียงลำดับใหม่ให้ถูกต้อง โดยเอาข้อ ๒. ขึ้นก่อน

กล่าวโดยสรุป การทำหน้าที่ที่แบ่งตามความมุ่งหมายของการศึกษา สามารถแยกออกได้เป็น ๒ ส่วน

ส่วนที่ ๑ คือ การศึกษาสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต” ผู้มีชีวิตที่ดีงาม ดำเนินชีวิตถูกต้องและเกื้อกูลแก่สังคม

ส่วนที่ ๒ คือ การศึกษาให้“เครื่องมือ”แก่บัณฑิต เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจแก่สังคม

ส่วนที่หนึ่งคือการสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต” เป็นภารกิจหลักของการศึกษา ถ้าลำพังจะให้แต่เครื่องมืออย่างเดียว ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าให้เครื่องมือแก่คนที่ไม่เป็นบัณฑิต บุคคลนั้นอาจจะเป็นโจร เป็นคนร้าย และอาจจะนำเครื่องมือไปใช้ในทางที่เกิดโทษ ก่อความเสียหายก็ได้ ซึ่งจะเกิดผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม การศึกษาประเภทที่ถ่ายทอดศิลปวิทยา ความรู้ความชำนาญ วิชาชีพต่างๆ เป็นเพียงการให้เครื่องมือเท่านั้น เราจะไม่รู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้เลย ถ้ายังไม่สามารถทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นบัณฑิต

เพราะฉะนั้นจะมองข้ามบทบาทของการศึกษาในการสร้างคนให้เป็นบัณฑิตไปไม่ได้ ถ้าคนเป็นบัณฑิตแล้วเขาก็พร้อมที่จะนำเครื่องมือไปใช้ในทางสร้างสรรค์ โดยนัยนี้ เราจึงต้องถือว่าหน้าที่พื้นฐานของการศึกษา คือ การสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต” กล่าวคือ การช่วยให้บุคคลพัฒนาชีวิตที่ดีงาม เป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์สังคม

ในส่วนที่สอง เมื่อเราให้เครื่องมือแก่บัณฑิตโดยการถ่ายทอดศิลปวิทยาเป็นอย่างดีแล้ว บัณฑิตนั้นก็จะดำเนินชีวิตที่ดีงามอย่างได้ผลดี และสร้างสรรค์พัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อถือตามหน้าที่ ๒ อย่างนี้ ครู ผู้สอน หรือที่เรียกกันว่าผู้ให้การศึกษา ก็มีฐานะ ๒ อย่าง คือ

๑. เป็นกัลยาณมิตร คือเป็นผู้แนะหรือเป็นสื่อนำที่ช่วยให้บุคคลนั้นๆ ศึกษาพัฒนาตนขึ้นไปเพื่อให้เขาเป็นบัณฑิต ในฐานะนี้ครูเองก็ต้องเป็นบัณฑิต หรือเป็นนักปราชญ์

๒. เป็นสิปปทายก หรือศิลปทายก คือเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการ ความชำนิชำนาญ ฝีมือ และวิชาชีพต่างๆ ในฐานะนี้ ครูควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ

อนึ่ง คำว่า “สร้างคนให้เป็นบัณฑิต” จะใช้คำอย่างอื่นอีกก็ได้ เช่น แทนที่จะใช้ว่า “เป็นบัณฑิต” เราก็ใช้คำว่า “เป็นอารยชน” ซึ่งในสมัยโบราณตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นคำที่เขาใช้เรียกคนในวรรณะสูง คือ กษัตริย์ (นักปกครอง นักรบ) พราหมณ์ (นักบวช นักวิชาการ) และแพศย์ (พ่อค้า) คำบาลีเรียกว่า “อริยกะ” หรือ “อริย” แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ความเป็นอริยะหรืออารยชนมิใช่อยู่ที่การมีชาติกำเนิดสูง หรือเป็นชนชั้นสูงชั้นต่ำ แต่อยู่ที่การศึกษา คนที่พัฒนาฝึกฝนอบรมตนเป็นอย่างดีแล้ว มีชีวิตที่ดีงาม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นอารยชน

ฝรั่งเวลาเขาเรียกอารยชน เขาใช้คำว่า civilized ซึ่งหมายความว่า เป็นคนเมือง เขาวัดความเจริญด้วยการเป็นชาวนคร แต่ถ้ามองในความหมายที่เป็นสาระแท้แล้ว อันนั้นหาใช่เป็นมาตรฐานที่แท้จริงไม่ มาตรฐานที่แท้จริงอยู่ที่ “การศึกษา” นี้เอง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเน้นการศึกษา ตามคำบาลีว่า “สิกฺขา” แต่เราถือตามภาษาสันสกฤตว่า “ศิกฺษา” ทั้ง สิกฺขา ศิกฺษา และศึกษา เป็นคำเดียวกัน

ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอยู่ใน “สิกขา” ทั้งนั้น เราถือว่ามนุษย์เกิดมาแล้วต้องมีสิกขา เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา หรือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝนพัฒนา ถ้าไม่ศึกษา มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นอย่างนั้นเอง มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นในข้อที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษา และฝึกได้ศึกษาได้ มีหลักการที่ควรสังเกตสำคัญในเรื่องนี้ ๒ อย่าง คือ

๑. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หมายความว่า การดำเนินชีวิตอยู่ได้ตลอดจนอยู่ดีของมนุษย์แทบไม่มีอะไรเลยที่ได้มาเปล่าๆ แต่ล้วนได้มาด้วยการศึกษาคือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้น ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่ดำเนินชีวิตได้ด้วยสัญชาตญาณ แทบไม่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา

๒. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หมายความว่า การที่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้นี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เลิศล้ำ จนแทบจะเป็นอะไรได้ทุกอย่าง อย่างที่ท่านว่าฝึกตนจนประเสริฐเลิศกว่าเทวดา กระทั่งแม้แต่พระพรหมก็เคารพนบไหว้ ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่เกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น

เมื่อธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ มนุษย์จะต้องเอาการศึกษาคือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานี้เป็นหลักของการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เรียนรู้ฝึกหัดแค่เท่าที่จำเป็นพอดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ต้องศึกษาพัฒนาตนยิ่งขึ้นไปตลอดเวลา เพราะความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาหรือการศึกษานี้เท่านั้น การดำเนินชีวิตให้ดีของมนุษย์ทั้งหมดเรียกว่า สิกขา ทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็จะต้องอยู่ในการสิกขาทุกคนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น บุคคลที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาก้าวหน้าไป จนกระทั่งเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ที่เรานิยมเรียกว่า อริยบุคคลนั้น จึงมีศัพท์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เสกขะ” หรือ “เสขะ” ซึ่งมาจากคำว่า “สิกขา” แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา แม้แต่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังต้องศึกษา จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ จึงเรียกว่า “อเสกขะ” หรือ “อเสขะ” แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษาอีก นั่นคือสำเร็จการศึกษา บรรลุจุดหมายของชีวิตมนุษย์ หรือจบการประพฤติปฏิบัติหรือการฝึกฝนอบรมในหมู่มนุษย์แล้ว เป็นอันว่าชีวิตตามหลักพุทธศาสนาเป็นชีวิตแห่งการศึกษาทั้งสิ้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง