อาตมาได้พูดมายาวนานแล้ว ความประสงค์ก็คือต้องการที่จะให้เข้าใจความมุ่งหมายของการบำเพ็ญกุศลที่เรียกว่าทักษิณานุประทานว่า การจัดงานศพนี้ เราต้องทำด้วยปัญญาที่รู้และเข้าใจ ว่าเราทำเพื่ออะไร แล้วเราจะได้สำรวจให้ถูกต้องว่าเราทำครบตามวัตถุประสงค์ ๕ ประการหรือไม่ คือ
ประการที่ ๑ บำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ท่านผู้ล่วงลับ
ประการที่ ๒ ทำหน้าที่ของญาติเช่นในฐานะลูกก็แสดงความกตัญญูกตเวที
ประการที่ ๓ บูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ ประกาศความดียกย่องคุณของท่านให้ปรากฏ
ประการที่ ๔ ถวายกำลังแก่พระสงฆ์ เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ประการที่ ๕ ทำความดี คือทำบุญให้แก่ตนเอง
โดยเฉพาะในด้านทำบุญให้กับตนเองนี่ ควรสำรวจทุกระดับ ตั้งแต่ด้านทาน ศีล และภาวนา ภาวนาก็แยกว่าภาวนาทางจิตใจได้บ้างไหม ในทางปัญญาพัฒนาความรู้ความเข้าใจได้แค่ไหน โดยโยงถึงหลัก อย่างน้อยก็ให้ได้การพัฒนาจิตใจในแง่ที่ว่าเผชิญหน้ากับความตายด้วยความรู้สึกอย่างไร เราพบเห็นนึกถึงความตายด้วยอารมณ์หดหู่ จิตใจเสื่อมลง มีความเศร้า ความเสียใจ และความหวาดกลัว หรือว่าเผชิญด้วยความรู้เท่าทันความจริง และกระตุ้นเตือนตนเองให้ไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำหน้าที่หรือทำความดีงามยิ่งขึ้นไป
ท่านสาธุชนทั้งหลายที่ได้มาร่วมพิธีในงานนี้ เมื่อจะมาก็คงจะได้ตั้งจิตใจเอาไว้ดีแล้ว ทุกท่านมีจิตใจเป็นกุศลก่อนจะมาที่นี่ คือมีความระลึกถึงผู้ตาย อยากจะมาเยี่ยมแสดงความเคารพท่านผู้จากไป และนึกถึงเจ้าภาพด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ เป็นเมตตาธรรม จิตใจของท่านจึงเป็นจิตใจที่ดี เป็นบุญกุศลมาแล้ว ก็ขอให้บุญกุศลนั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เป็นการพัฒนาชีวิตของเราให้มีความงอกงาม และความงอกงามในจิตใจของแต่ละคน ก็จะมีผลส่งออกไปในการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ ทำให้สังคมของเรามีความสงบสุขและพัฒนาสถาพรยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย
หมายเหตุ: ธรรมกถาในวันที่ ๓ แห่งการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอุทิศ คุณพ่อคุนเกา แซ่ตั้ง ๗ มกราคม ๒๕๓๕