สัจจธรรมกับจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความหมาย คุณค่า และขอบเขตของจริยธรรม

เมื่อได้พูดโยงจากสัจจธรรมมาหาจริยธรรมแล้ว ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงตัวจริยธรรม ขอแยกแยะความหมายของคำว่าจริยธรรมก่อน โดยมาดูในทางศัพท์ว่าจริยธรรมมีความหมายอย่างไร จริยธรรมเป็นศัพท์หนึ่งที่เรามักจะมีปัญหากันว่าจะให้ความหมายอย่างไร เช่น อาจจะให้ความหมายว่า เป็นหลักของความประพฤติ เพราะเราแปล จริย ว่าความประพฤติ และแปล ธรรม ว่าหลัก จึงแปลรวมว่าหลักความประพฤติ ทีนี้ปัญหาเกิดขึ้นในแง่ภาษาว่า คำว่าความประพฤตินั้นในภาษาไทย มีความหมายคับแคบ ต่างจากในภาษาบาลีเดิม ซึ่งความประพฤติแปลว่าความเป็นไป หมายถึงความเป็นไปของชีวิต แต่เวลาเรามองความหมายของความประพฤติในภาษาไทยปัจจุบันนี้ จะได้ความรู้สึกแคบลงมาเป็นการแสดงออก การปฏิบัติตัวในสังคม ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ในการสัมพันธ์กับผู้อื่น

ทีนี้กลับไปดูความหมายเดิมของคำว่า จริยะ ว่าคืออะไร จริยะนี้มาจากภาษาบาลี รากศัพท์คือ จรฺ ธาตุ + ณิย ปัจจัย ไม่ต้องสนใจปัจจัย ดูแต่รากศัพท์ หรือธาตุ คือ จรฺ หรือ จร แปลว่า เที่ยวไป หรือเดินทาง ณิย เป็นเพียงตัวที่ทำให้เป็นนามศัพท์ จริยจึงแปลว่า การเที่ยวไป การดำเนินไป หรือการเดินทางนั่นเอง นอกจากนี้ ท่านมักให้คำไวพจน์ของ คำว่า จระ ไว้หลายตัว ได้แก่ คำว่า วิหระ แปลว่า อยู่ อิริยะ แปลว่าเป็นไป เช่น ในคำว่า อิริยาบถ ซึ่งหมายถึง ความเป็นไป หรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย วัตตะ แปลว่าเป็นไป ปาละ แปลว่าครอง ได้แก่ครองชีวิต ยปะ แปลว่า เป็นไป ยาปะ แปลว่าให้เป็นไป คือยังชีวิตให้เป็นไป ถ้าเรามาเทียบดูกับความหมายของคำว่า จระ ในทางรูปธรรม ซึ่งหมายถึงเดินทาง หรือท่องเที่ยว เมื่อนำมาใช้กับ ชีวิตในทางนามธรรม ก็หมายถึง เดินทางชีวิต คือ ดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น จริยะในความหมายที่แท้ ก็คือการดำเนินชีวิตนั่นเอง และจริยธรรมก็แปลได้ว่า หลักการดำเนินชีวิต

ได้พูดมาแล้วว่า จริยธรรมเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติหรือสัจจธรรม การปฏิบัติในกรณีนี้ก็คือการดำเนินชีวิต แต่เราจะต้องมาดูว่า ในการปฏิบัติอย่างนี้หรือในการดำเนินชีวิตอย่างนี้นั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง คือจะต้องมีคำถามว่า ที่ว่าปฏิบัติสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติหรือสัจจธรรมนั้นปฏิบัติต่ออะไร ถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งจำแนกได้ดังนี้ คือ

๑. ชีวิตของมนุษย์เอง

๒. สังคม

๓. ธรรมชาติแวดล้อม

และอาจจะเพิ่ม ๔ ขึ้นมา คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งอาจจะรวมเข้าในข้อแรก คือ เป็นสิ่งที่พ่วงมากับและงอกออกมาจากตัวมนุษย์เอง ทีนี้ ในการที่จะปฏิบัติให้สอดคล้องกับสัจจธรรมหรือกฎของธรรมชาตินั้น เราก็ต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง คือ ปฏิบัติต่อชีวิตของตนเอง ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อมให้ถูกต้อง ดังนั้น ความหมายของจริยธรรมจึงพูดได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้องต่อสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น นี่คือจริยธรรม

ตอนนี้ คงจะมองเห็นว่าความหมายของจริยธรรมได้ขยายกว้างออกไป แต่ความหมายที่แท้จริงของจริยธรรมก็ควรจะเป็นอย่างนี้ จะยกตัวอย่างที่ว่าจริยธรรมเป็นการปฏิบัติโดยสอดคล้องกับธรรมชาติโดยอาศัยความรู้ในกฎของธรรมชาติ เช่น กฎธรรมชาติที่ยกขึ้นมาให้เห็นตอนต้น คือ ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี้เป็นกฎธรรมดา ที่ได้บอกข้างต้นแล้วว่ามีอยู่ตามปกติของมัน มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง โดยไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือใครๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อกฎธรรมดามีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อเรามีความรู้ในกฎนี้แล้ว อย่างน้อยในประการที่หนึ่งว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เราก็นำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตของเรา ตอนนี้ก็จะเกิดเป็นจริยธรรมขึ้น เบื้องแรกที่สุดที่เราอาจจะนำความรู้นี้มาใช้เพื่อดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ก็คือ

ประการแรก เราก็ได้คติว่า สิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่ยั่งยืน สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์เรานี้ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน อาจจะแตกสลายไปเมื่อใดก็ได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรจะดำเนินชีวิต ด้วยความไม่ประมาท สิ่งทั้งหลายที่ควรทำ ความดีที่ควรทำ กิจที่ควรทำ เราจะต้องเร่งทำ เพราะไม่รู้ว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อใด ความเสื่อมอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องไม่ประมาทในเหตุของความเสื่อม โดยระวังป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อม และไม่ประมาทในเหตุของความเจริญ โดยเร่งสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความเจริญนั้นขึ้น เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ความรู้ในสัจจธรรมนั้นก็ทำให้เกิดจริยธรรมคือความไม่ประมาท

ประการที่สอง หลักอนิจจังหรือความไม่เที่ยงนั้นสอนต่อไป ทำให้เรารู้ว่า การที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว เราก็นำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ตลอดจนการปฏิบัติต่อสังคมและธรรมชาติแวดล้อม คือ ทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ และทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรู้เหตุปัจจัย ทำตามเหตุปัจจัย เมื่อต้องการผลอย่างไรก็ต้องศึกษาว่าเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เกิดผลอย่างนั้น แล้วทำเหตุปัจจัยนั้นๆ ขึ้น

ที่เหนือขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือ เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความแตกสลายและเกิดขึ้นใหม่ ตามเหตุปัจจัยนั้น ไม่ขึ้นกับความปรารถนาของเรา เราจะเอาความปรารถนาที่เรียกว่าตัณหา และความยึดมั่นถือมั่นที่เรียกว่า อุปาทาน ของเราไปใช้เป็นตัวสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์ เพราะเราเอาความอยากและความยึดถือของเราไปบังคับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ตัวสัมพันธ์ที่ถูกต้องของเรากับสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ก็คือการรู้เข้าใจและทำตามเหตุปัจจัย พอเราเกิดความรู้นี้ขึ้น จิตของเราที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ถอนออกมาได้ ก็แยกจิตเป็นอิสระ จิตใจของเราก็เป็นอิสระออกมา มีความปลอดโปร่งโล่งเบา ต่อจากนั้นเราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยใช้ความรู้ในเหตุปัจจัยนั้นมากระทำ ก็เกิดการพ้นทุกข์ขึ้น จิตใจเป็นอิสระ ไม่ทุกข์เพราะความปรวนแปรไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งปฏิบัติอย่างได้ผลคือทำผลสำเร็จให้เกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัยด้วย นี้คือการนำความรู้ในสัจจธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเรียกว่าเป็นจริยธรรม

อีกกฎหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทกล่าวถึงความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งไม่ดำรงอยู่เสร็จสิ้นในตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่หรืออิงอาศัยกันกับสิ่งอื่นๆ จากความรู้นี้ก็ทำให้เราพัฒนาวิธีคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ขึ้นมาใช้ปฏิบัติต่อโลกและชีวิต โยนิโสมนสิการ คือวิธีคิดโดยแยบคาย เช่นเมื่อมองสิ่งต่างๆ ก็ให้มองด้วยวิธีพิจารณาแยกแยะดูว่า สิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ เกิดจากองค์ประกอบอะไรมารวมกัน หรือมาประชุมกันบ้าง มองหาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สืบสาวให้ได้ว่ามันสัมพันธ์เชื่อมโยง ตกทอด สืบเนื่องกันมาอย่างไร เมื่อเรานำความรู้ในปฏิจจสมุปบาทมาใช้ในการคิดพิจารณา ก็เกิดปฏิบัติการทางจริยธรรมที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ นี่ก็เป็นจุดที่สัจจธรรมกับจริยธรรมมาเชื่อมโยงกัน

จะขอยกตัวอย่างในทางรูปธรรม เมื่อเรารู้เหตุปัจจัยในด้านวัตถุหรือมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แล้วเรานำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ ก็สามารถทำให้เกิดผลดีตามที่เราต้องการ ตัวอย่างที่ยกง่ายๆ บ่อยๆ ก็คือ เรื่องไฟ เมื่อไฟไหม้ขึ้นมา เราก็ต้องการจะดับไฟ แต่ทำอย่างไรเราจึงจะดับไฟได้ เราก็ต้องมีความรู้เรื่องไฟ รู้เหตุปัจจัยของไฟว่า ไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะดับไปได้อย่างไร ถ้าเรามีความรู้น้อย เราก็ดับไฟได้ผลน้อย ถ้าเรามีความรู้เข้าใจมากเกี่ยวกับเรื่องไฟ เกี่ยวกับเหตุปัจจัยของไฟ เกี่ยวกับการเกิดและการดับของมัน เราก็สามารถทำการดับไฟให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาวิธีดับได้ เช่น เรารู้ปัจจัยของการลุกไหม้ของไฟว่าได้แก่ อุณหภูมิที่สูง เชื้อไฟ และออกซิเจน เราก็รู้ว่าไฟจะดับเมื่อมีอุณหภูมิลดต่ำ ไฟอาจจะดับได้โดยทำให้ขาดเชื้อ ถ้าไม่มีเชื้อไฟก็ดับ หรือไฟอาจจะดับได้โดยทำให้ขาดออกซิเจน ออกซิเจนเป็นตัวที่ไม่ติดไฟ แต่ช่วยให้ไฟติด ถ้าไม่มีออกซิเจน แม้จะมีเชื้อ มีอุณหภูมิสูง มันก็ไม่ติดเหมือนกัน ความรู้นี้เราได้จากธรรมชาติ เป็นความรู้ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งทำให้เรามีทางเลือกถึงสามด้านว่า ถ้าเราทำปัจจัยตัวไหนก็ได้ให้เกิดขึ้น คือ ทำให้อุณหภูมิลดต่ำก็ดี ทำให้ขาดเชื้อก็ดี หรือทำให้ขาดออกซิเจนก็ดี ไฟก็จะดับ อันนี้ก็คือความรู้ตามกระบวนการของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเราจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราก็ต้องทำตามนั้น คือ พยายามทำให้อุณหภูมิต่ำ ทำให้ขาดออกซิเจน หรือทำให้ขาดเชื้อ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง