ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


การศึกษาศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน

ตอนแรกได้เริ่มบรรยายเกี่ยวกับถ้อยคำเพื่อให้เห็นความเป็นมาของคำว่าศิลปศาสตร์ แล้วต่อมาก็ได้ยุติที่คำว่าศิลปศาสตร์อย่างที่ใช้ในความหมายปัจจุบัน คือ ที่ใช้สำหรับเรียกวิชาการ อย่างที่กำหนดให้เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ คือ เป็นวิชาจำพวก Liberal Arts เป็นอันว่าเราก็หวนกลับมาหาความหมายในปัจจุบันตามแนวคิดที่รับมาจากตะวันตก ซึ่งหมายถึงการศึกษาเล่าเรียนวิชาการที่เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะเล่าเรียนวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม การที่พูดว่าเป็นวิชาพื้นฐานนั้น คำว่า วิชาพื้นฐาน ก็เป็นคำที่น่าสงสัยว่าจะมีความหมายอย่างไร ที่ว่าเป็นพื้นฐานของการศึกษาวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น เป็นพื้นฐานอย่างไร

มีหลายคนทีเดียวเข้าใจคำว่าพื้นฐานในแง่ที่ว่าเป็นวิชาเบื้องต้น ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปเรียนวิชาชั้นสูง คือวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นวิชาที่สูงขึ้นไป การเข้าใจเช่นนี้ เป็นการมองอย่างง่ายเกินไป

ที่จริง คำว่า วิชาพื้นฐาน มีความหมายอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือเป็นวิชาที่เป็นพื้นฐานรองรับวิชาการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การเล่าเรียนวิชาอื่นๆ มั่นคง เป็นไปได้ ถูกทิศถูกทาง โดยมีผลจริงและมีผลดีตามความมุ่งหมาย หมายความว่า ถ้าไม่มีวิชาการเหล่านี้เป็นพื้นฐานแล้ว วิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาจะไม่มีความมั่นคง จะไม่ได้ผลดี ไม่ได้ผลจริงตามความมุ่งหมาย ตลอดจนอาจจะพูดว่า วิชาพื้นฐานนั้น เป็นวิชาการซึ่งให้ความหมายที่แท้จริงแก่การเรียนวิชาการอื่นๆ ทีเดียว

ถ้ามองในความหมายแง่ที่ ๒ นี้ การเป็นวิชาพื้นฐานนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดพื้นฐานเสียแล้ว การศึกษาวิชาอื่นๆ ที่เป็นวิชาชีพ และวิชาเฉพาะ ก็เท่ากับขาดรากฐาน ง่อนแง่น คลอนแคลน เลื่อนลอย ไม่มีเครื่องรองรับ แล้วก็จะไม่สัมฤทธิผลตามความมุ่งหมายของมัน

ที่ว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน โดยมีความหมายต่างๆ อย่างน้อย ๒ ประการนี้ ก็ต้องเน้นในความหมายที่ ๒ ซึ่งที่จริงแล้วเรียกได้ว่าเป็นความหมายที่แท้จริงของมัน และเป็นความหมายที่ทำให้การเป็นพื้นฐานนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ความสำคัญของการเป็นวิชาพื้นฐานนี้มีอย่างไรบ้าง ขอให้มองดูในแง่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง