การศึกษาฉบับง่าย-Education Made Easy

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน

ในเมื่อการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต คือการที่ชีวิตต้องพยายามเป็นอยู่ให้ดี และชีวิตก็ต้องเป็นอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ว่ามานั้น มันก็เลยเป็นเรื่องของชีวิตทั้งกระบวนที่เป็นอยู่ ซึ่งเราจะแยกกระจัดกระจายออกไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นเวลานี้จึงต้องย้ำบ่อยว่า ไตรสิกขาก็อยู่ที่ชีวิตของเราทั้งหมดนี่แหละ การที่ไตรสิกขามี ๓ อย่าง ก็เพราะตรัสไปตาม ๓ ด้านของชีวิต ที่เรียกง่ายๆ โดยใช้ศัพท์สมัยปัจจุบันมาเทียบ ว่าเป็นเรื่องของ พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา

แต่ในเรื่องพฤติกรรม ขอย้ำว่า ความจริงมันเป็นศัพท์ที่อาจจะเข้าใจไม่ถึงกับตรงกันทีเดียว เพราะเป็นการเอาคำสมัยใหม่มาเทียบเท่านั้น

ที่ว่าพฤติกรรมนั้น ของพระหมายถึงการที่เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งรอบตัวทั้งหมด ซึ่งบางอย่างเราอาจจะใช้ศัพท์ปัจจุบันว่าพฤติกรรมไม่ถนัด เช่นการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น คือใช้ตาดู – หูฟัง เป็นต้นนี้ เราจะเรียกว่าพฤติกรรมก็คงไม่ถนัด แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการสัมพันธ์กับโลก ถ้าใช้ภาษาแบบพระก็ว่าสัมพันธ์กับโลก แต่เดี๋ยวนี้เขาใช้คำว่า “สิ่งแวดล้อม”

โลกก็คือทุกอย่างรอบชีวิต เดี๋ยวนี้โลกนั้นเรามาเรียกเป็นสิ่งแวดล้อม แยกเป็นสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง แต่ภาษาพระเรียกว่าโลกหมดเลย

ชีวิตของเราสัมพันธ์กับโลก เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และใช้กายกับวาจาสัมพันธ์กับโลกนั้น ด้านนี้เราเรียกไปพลางก่อนว่า พฤติกรรม

เรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือโลกทั้งหมดนี่ เราจะต้องสัมพันธ์ให้ดีให้ได้ผล เป็นด้านที่ ๑ ของชีวิต แน่นอนว่าชีวิตของเราด้านที่ ๑ คือการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือโลก หรือสิ่งภายนอก ทั้งมนุษย์ ทั้งวัตถุสิ่งของเครื่องใช้และธรรมชาติต่างๆ เราต้องสัมพันธ์แน่นอน จึงต้องสัมพันธ์อย่างดี อย่างได้ผล

ลึกลงไป การที่เราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้และจะสัมพันธ์อย่างไรก็ขึ้นต่อเจตนา คือเจตจำนงของเรา ซึ่งประกอบด้วยแรงจูงใจ คุณภาพของจิตใจ และสภาพจิตใจที่มีความสุข-ความทุกข์เป็นต้น โดยเฉพาะความสุข และความทุกข์จะเป็นจุดหมายหลักในความสัมพันธ์ของเรา

การที่เรามีพฤติกรรม ทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม การที่เราใช้ตาดู - หูฟังก็ตาม ลึกลงไปเรามักจะมุ่งเพื่อสนองความต้องการในแง่ของการหนีทุกข์และหาสุข ภาวะด้านจิตใจจึงมีอิทธิพลต่อการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา คือเรามีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า จิตใจมีบทบาทตลอดเวลาที่เรามีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยพฤติกรรมและอินทรีย์

ต่อไปอีกด้านหนึ่ง คือ พร้อมกันนั้นเอง เราจะมีความสัมพันธ์ได้แค่ไหน ก็อยู่ในขอบเขตที่เรามีความรู้ คือ ปัญญาของเรารู้เข้าใจเท่าไรอย่างไร และเรามีความเห็นอย่างไร เราก็สัมพันธ์ไปตามนั้นแค่นั้น เราเข้าใจว่าถ้าเราทำอย่างนี้จะเกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา จะช่วยให้เราหนีทุกข์ หรือได้รับความสุข แล้วเราก็มีพฤติกรรมไปอย่างนั้นหรือสัมพันธ์อย่างนั้น เช่น เราคิดเห็นเข้าใจว่า ดูสิ่งนี้แล้วเราจะมีความสุข เราก็มีพฤติกรรมและใช้อินทรีย์ที่จะดูสิ่งนั้น อย่างนี้เป็นต้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง