รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หันมาดูศักยภาพของไทย

ได้พูดเรื่องอเมริกามายืดยาวเกินไปหน่อย ทั้งที่ตั้งใจสรุปให้สั้น แต่ก็ค่อนข้างจำเป็นว่าจะให้สั้นนักไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องห่างไกลตัว ไม่พูดให้เพียงพอก็จะไม่เข้าใจ

ทีนี้ก็หันกลับมาพูดถึงสังคมไทยของเรา ซึ่งที่จริงมีอดีตยาวนานกว่าอเมริกามาก แต่มีประวัติศาสตร์ที่นับว่าราบรื่น มีเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงไม่มาก แม้จะมีเหตุการเมืองวุ่นวายเป็นครั้งคราว ก็จำกัดอยู่แต่ในเมืองหลวงแทบทั้งสิ้น นานนักหนาจะมีทัพพม่าหรือต่างชาติอื่นผ่านมาสักครั้ง หลายถิ่นก็ไม่เคยพบเห็นเลย คนส่วนใหญ่อยู่สงบสุขสบายสืบกันมาในถิ่นของตนๆ ชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า มิใช่เป็นดินแดนแห่งการผจญทุกข์เผชิญภัยเคลื่อนขยายย้ายไปเรื่อยๆ อย่างอเมริกา อีกทั้งเป็นบรรยากาศที่อยู่รอบตัวเรา ถึงแม้จะไม่รู้ลำดับเรื่องราวมากนัก พูดจี้จุดขึ้นมาก็มองเห็นภาพได้ง่ายกว่า ดังนั้นในตอนว่าด้วยสังคมไทย จึงจะไม่พูดให้ยืดยาว

มีศักยภาพดี ถ้าไม่รู้จักใช้ ก็อาจกลายเป็นโทษ

ฝรั่งรีบร้อน ว่าอย่าล้ำเส้น ไทยเรื่อยๆ ว่าไม่เป็นไร

ได้กล่าวแล้วว่า คติที่แสดงภูมิลักษณ์ของไทย ซึ่งคนไทยพูดสืบกันมายาวนาน ด้วยความภูมิใจอย่างมากว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั้น แสดงถึงภาวะจิตและวิถีชีวิตที่เหมือนตรงข้ามกับคติบุกฝ่าพรมแดน หรือ frontier ของอเมริกันเลยทีเดียว

ขณะที่คติอเมริกันบอกว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ดี ยังไม่มี ต้องไปหามื้อใหม่ข้างหน้า แต่คติไทยบอกว่า ที่นี่ดี เดี๋ยวนี้มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปไหน หรือไม่อยากไปไหน หรืออาจจะถึงกับว่าไม่ยอมไปไหน

จากท่าทีของจิตใจในด้านเทศะว่าไม่ต้องไปไหน ก็พ่วงมาด้วยท่าทีในด้านกาละว่า เมื่อไรก็ได้ หรือพรุ่งนี้-เดือนหน้า-ปีหน้าก็ได้ เพราะในความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่นั้น ก็มีสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เอื้ออำนวย ไม่บีบคั้น เมื่อไรๆ ก็เหมือนๆ กัน เช่นบ้านเรือนข้างฝาผุแตก อเมริกันพูดว่า ต้องซ่อมก่อนถึงฤดูหนาวปีนี้ แต่คนไทยอาจพูดว่า เอาไว้ซ่อมปีหน้าก็ได้

พร้อมกันนั้น ในทางสังคม คนที่อยู่ร่วมกัน เมื่อรอบตัวมีกินมีใช้อุดมสมบูรณ์ ก็ไม่เป็นเหตุบีบคั้นให้ต้องระวังระแวงแย่งชิงกันมาก แต่สามารถเอื้อเผื่อแผ่แก่กัน และไม่ค่อยถือสาเพ่งจ้องกันในเรื่องสิทธิ จึงมักพูดว่า “ไม่เป็นไร” ในขณะที่อเมริกันเป็นสังคมแห่งการปกป้องพิทักษ์สิทธิของตัว อย่าล้ำเส้นกัน “ซู (sue) มันซะเลย”

ในเมืองไทย คุณหมอรักษาผิดพลาดไป คนไข้ตาย ญาติทั้งหลายทั้งที่แสนจะเศร้าเสียใจ บอกคุณหมอว่าคุณหมอมีเมตตา ไม่ได้ตั้งใจหรอก ไม่เป็นไร แต่ในอเมริกา ถ้าหมอพลาด คนไข้ตาย ญาติอาจจะไม่เศร้ามากเท่าไร หมอจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฉันไม่รู้ด้วย ญาติจะซู (sue=ฟ้องเรียกค่าเสียหาย) ก็แล้วกัน

สุขสบาย คือทางสองแพร่ง
สู่ประมาทแล้วเสื่อม หรือเป็นฐานที่จะก้าวสูงขึ้นไป

แต่ก็อย่างที่ว่า มนุษย์ปุถุชนนั้น เมื่ออยู่สุขสบาย มีกินมีใช้พรั่งพร้อม ไม่มีอะไรบีบคั้นเร่งรัดให้ต้องรีบไปทำ ก็มีความโน้มเอียงที่จะ

1. เฉื่อยชา ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย ย่อหย่อน อ่อนแอ ปล่อยปละละเลย

2. สำรวย ฟุ้งเฟ้อ ลุ่มหลง หมกมุ่น มัวเมา ระเริงในกามและอามิส

สังคมที่มีวัตถุมั่งคั่งพรั่งพร้อม ไม่มีความบีบรัดทางเศรษฐกิจ จึงเสี่ยงต่อความเสื่อม ดังจะเห็นได้ว่า อารยธรรมมากมาย เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้ว ก็เสื่อมทรามและร่วงหล่นลงสู่ความวิบัติพินาศ เนื่องจากอาการของความสุขสำราญที่พ่วงมาสองอย่างนั้น

ดังนั้น สังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ จะต้องจัดวางระบบอันมั่นคงรัดกุม ที่จะป้องกันไม่ให้คนย่อหย่อนอ่อนแอประมาทมัวเมา และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องมีจุดหมาย ที่ทำให้มองเห็นทางที่จะมุ่งหน้าไปเอาหรือไปถึงต่อไป

ศักยภาพของมนุษย์นั้น มิใช่อยู่แค่ทำให้มีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมที่จะบำรุงบำเรอร่างกาย แล้วก็หมกจมอยู่แค่นั้น การมีวัตถุอุปกรณ์พรั่งพร้อมและภาวะทางกายที่คล่องสบายนั้น เป็นเพียงฐานหรือการตระเตรียมตัวให้พร้อมที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายที่แท้จริงแห่งศักยภาพของมนุษย์ จุดหมายสูงกว่าที่จะก้าวหน้าไปให้ถึงนั้น คือจุดหมายทางจิตใจและจุดหมายทางปัญญา แต่ถ้าไม่มีและมองไม่เห็นก็ต้องวนเวียนและติดจมอยู่กับกองวัตถุที่เตรียมมาไว้เป็นฐานนั้น และทำลายศักยภาพของมนุษย์ให้สูญไปเสียเปล่า

วัฒนธรรมขาดตอนไป สังคมไทยเลื่อนลอยเคว้งคว้าง

“สนุก” บอกจุดพอที่สมหมาย
“บุญ” บอกที่จะก้าวต่อออกไป

สังคมไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ได้มีท่าทีและแนวทางปฏิบัติต่อสภาพนี้อย่างไร คงจะพอมองเห็นได้จากถ้อยคำที่แสดงคติและค่านิยม ที่สังคมได้ยึดถือกันมาเป็นหลัก หรือเชิดชูเด่นอยู่ในชีวิตจิตใจ

ขอพูดอย่างรวบรัดว่า มีคำไทย ๒ คำที่แสดงคตินิยมและวิถีชีวิตของคนไทยได้นับว่าชัดเจน คือ คำว่า “สนุก” และคำว่า “บุญ

สนุก” เป็นอาการของความรื่นเริงพอใจและเสวยผลแห่งความพรั่งพร้อมสุขสบาย ทางวัตถุและทางสังคม คือความพึงพอใจร่าเริงร่วมกัน

สังคมที่อุดมสมบูรณ์อยู่สุขสบาย จะไม่ค่อยมีเรื่องราวให้ตระหนกตกใจ และภัยอันตรายให้ตื่นเต้นบ่อยนัก จึงเป็นสังคมที่ค่อนข้างเฉื่อยๆ เรื่อยๆ เรียบๆ มีความสนุกบันเทิงใจที่ไม่เป็นแบบปฏิกิริยาให้กรี๊ดกราด หรือลิงโลดสุดขีดแบบผจญภัย

ความสนุกเป็นจุดต่อระหว่างความร่าเริงบันเทิงพอใจต่อวัตถุ และสถานการณ์ที่ประสบ กับการที่จะเลยเถิดออกไปเป็นความละเลย ไม่รับผิดชอบและความมัวเมาหลงละเลิง

พร้อมกับความสนุกซึ่งเป็นอาการแสดงออกด้านรูปธรรม คนไทยมีคำว่า “บุญ” เป็นหลักเชิดชูทางนามธรรม เป็นทั้งความหวัง และใฝ่นิยมทางจิตใจ “บุญ” นี่แหละเป็นจุดหมายที่คนไทยมุ่งไปเอา หรือไปให้ถึง “บุญ” เชื่อมโยงลงไปถึง “กรรม” และ “ธรรม” ที่เป็นฐานลึกลงไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็หวังจะได้บุญ และบุญนี้มาประสานเข้าดุลกับความสนุก ควบคุมความสนุกให้ไม่เลยเถิดไปจนกลายเป็นความลุ่มหลงมัวเมา และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม

“บุญ” เป็นแดนนามธรรมที่กว้างใหญ่ไพศาล ทุกคนสามารถเจริญพัฒนาต่อๆ ยิ่งๆ และสูงๆ ขึ้นไปได้มากมายในแดนแห่งบุญนั้น จะเรียกว่าเป็นพรมแดน หรือ frontier ทางจิตปัญญาก็ได้ แต่เพราะเป็นเรื่องนามธรรม มองไม่เห็นชัดเจน การก้าวหน้าไปในบุญนั้นบางทีจึงเป็นเรื่องยาก มีโอกาสที่จะหลงผิดเข้าใจไขว้เขวได้มาก

เรารู้กันดีว่า คติแห่งบุญนี้มาจากพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิตแห่งการศึกษา (ดังที่ต้องรู้กันอยู่แล้วว่า “สิกขา” คือการศึกษาหรือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เป็นเนื้อตัวของพุทธศาสนาภาคปฏิบัติการทั้งหมด) และพระพุทธศาสนาเปิดโอกาสแก่เสรีภาพทางปัญญา คนจะต้องก้าวหน้าไปในความมีชีวิตที่เจริญงอกงามประณีตยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ที่เรียกง่ายๆ ว่าในบุญนั้น บุญจึงไม่เป็นข้อกำหนดบังคับในการเชื่อและปฏิบัติที่ตายตัว ด้วยเหตุนี้ เรื่องบุญนั้นจึงจะต้องมีการทบทวนตรวจสอบหรือเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นไปตลอดเวลา ถ้าขาดสิกขาคือการศึกษาฝึกฝนเรียนรู้แล้ว ความคลาดเคลื่อนพลาดเพี้ยนก็เกิดขึ้นได้ง่าย เช่นเล่าต่อๆ กันมา ทำตามๆ กันมา หรือเหลือเพียงรูปแบบ

น่าเสียดายว่า นักสังคมวิทยาหลายท่าน เมื่อศึกษาคติความเชื่อและถ้อยคำต่างๆ ทางพุทธศาสนาในสังคมไทย ได้ไปสำรวจรวบรวมข้อมูลเพียงจากความเชื่อถือปฏิบัติ และความเข้าใจของชาวบ้าน แล้วเอามาสรุปว่าเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากผิดพลาดแล้ว ก็ทำให้เสียประโยชน์ แทนที่จะศึกษาสองด้านมาบรรจบกันว่าหลักที่แท้ของพุทธศาสนาสอนว่าอย่างนี้ ส่วนที่ชาวบ้านยึดถือเชื่อและเข้าใจกันมาว่าอย่างนี้แค่นี้ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาที่จะให้ได้ความรู้ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความจริง และเป็นทางที่จะแก้ไขปรับปรุงพัฒนาคนพัฒนาสังคมให้ได้ผลด้วย

“สนุก” กับ “บุญ” พรากจากกัน:
สนุกบานปลายหยาบคายขึ้น บุญจางห่างแคบลงไป

บุญนั้นโดยทั่วไปมีการปฏิบัติ ๒ ด้าน คือ การแก้ไข ละเลิก ดึงให้พ้นขึ้นมาจากบาป และป้องกันห้ามกั้นไว้ไม่ให้ตกจมลงไปในบาปนั้น ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งคือ การส่งเสริมสนับสนุนกระตุ้นเร้าเตือนให้ไม่ประมาท ในการที่จะก้าวหน้าไปในบุญที่ขยายกว้างขวางและสูงยิ่งขึ้นไป

ในวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของคนไทย จะเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ในชีวิตประจำวันที่ความคิดและกิจกรรมทั้งหลายสื่อออกมาผ่านคำว่า “สนุก” กับ “บุญ” ทั้ง “ทำบุญ” “เป็นบุญ” “มีบุญ” “ได้บุญ” และแม้กระทั่ง “เอาบุญ” ไม่ต้องพูดถึงชื่อบุคคล ทั้งหญิงและชาย ที่นิยมให้มีคำว่า “บุญ” รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะมีคำว่า “บุญ” นำหน้า ซึ่งนับไม่ถ้วน

ไปวัดนำอาหารไปถวายพระ ก็ว่าไปทำบุญ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งแล้วลุกไม่ไหว หนุ่มสาวมาช่วยพยุง ก็ว่าพ่อคุณแม่คุณนึกว่าทำบุญกับคนแก่เถิดนะ ไปช่วยกันขุดบ่อ ทำถนน สร้างสะพาน ซ่อมสาธารณสถาน ก็ว่าเป็นการทำบุญ ได้มาดูมาเห็นสิ่งที่ดีงามน่าชื่นชม ก็ว่าเป็นบุญ เห็นเด็กหน้าตาดีมีผิวพรรณผ่องใสหรือ ทำอะไรสำเร็จ ได้รับการส่งเสริม ก็ว่าเด็กนั้นมีบุญ เห็นสุนัขบาดเจ็บช่วยรักษา ก็ว่าได้บุญ ไปอุ้มแมวออกมาให้พ้นจากโดนสุนัขรุมกัด ก็ว่าได้บุญ เห็นมดเดินมาตกลงไปในตุ่มน้ำ เกิดความสงสาร ใช้ไม้แตะให้มันเกาะขึ้นมา ก็ว่าช่วยไว้เอาบุญ

มองกว้างออกไป กาลเวลาแห่งชีวิตและชุมชมของคนไทยดำเนินไปโดยผ่าน “งาน” ต่างๆ มากมาย และงานเหล่านั้นล้วนเป็นงานบุญ และงานสนุกสนาน ซึ่งตามปกติ ทั้ง บุญ และ สนุก จะมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานโกนผมไฟ งานตัดจุก งานบวชนาค งานแต่งงาน งานเผาศพ งานเทศกาลทุกครั้ง งานประเพณีทุกอย่าง คำว่า “สนุก” กับ “บุญ” จะมีบทบาทสำคัญที่สุด มาด้วยกัน เป็นคู่กัน โดยทำหน้าที่คนละด้านมาประสานกัน

นับเป็นความวิเศษอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ที่สามารถบูรณาการความสนุกกับบุญเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น งานสงกรานต์ ทั้งคำว่า สนุก และบุญ จะเด่นทั้งคู่ โอกาสแห่งความสนุกเป็นความหวังที่กระหยิ่มใจของทุกคน โดยเฉพาะหนุ่มสาวและเด็กทั้งหลาย แต่เมื่อนึกถึงสนุกก็มองโอกาสนั้นในแง่บุญด้าย นึกถึงการที่จะได้บำเพ็ญทาน ที่จะทำขนมข้าวของมาเผื่อแผ่แบ่งปันให้แก่กัน แสดงน้ำใจปรารถนาดีต่อครอบครัว ต่อเพื่อนบ้าน ต่อบรรพบุรุษ และผู้ร่วมสังคม ที่จะรักษาศีล แม้จะสนุกอย่างไร ก็ยับยั้งใจไม่มัวเมาและมิให้มีการทำร้ายรังแกละเมิดต่อกัน พร้อมทั้งฟื้นฟูอบรมจิตใจ ได้ทำความดีต่างๆ ที่จะเป็นทุนให้ระลึกขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ปีติสุขต่อเนื่องไปในระยะยาว

ครั้นถึงสมัยปัจจุบัน ที่วิถีชีวิตตามวัฒนธรรมไทยเลือนลางจางลง และคตินิยมบางอย่างเสื่อมหายขาดตอนไป กิจกรรมที่อาศัยประเพณีสืบกันมาหลายอย่าง เหลือแต่รูปแบบ และมีความหมายคลาดเคลื่อนแปรเปลี่ยนเพี้ยนไป เช่น สงกรานต์นั่นแหละ เวลานี้เห็นชัดว่า บุญหายไป แต่ความสนุกเลวร้ายขึ้น

คำว่า บุญ แทบจะเหลือแต่ซาก คนไม่เข้าใจความหมาย ไม่ซาบซึ้ง และไม่ใส่ใจ แม้แต่จะตั้งชื่อก็แทบไม่มีใครนึกจะใช้คำว่าบุญ

ในขณะที่ความสนุกเข้ากันได้กับรสนิยมของสังคมบริโภค จึงมีปรากฏการณ์วันสงกรานต์ที่คนเอามาเป็นโอกาส ใช้ความสนุกเป็นเครื่องสนองความเห็นแก่ตัว ที่จะเสพบริโภค และแสดงความเมามันให้เต็มที่ โดยไม่คำนึงว่าจะก่อความเดือดร้อนเสียหายเบียดเบียนใคร ความคิดคำนึงในทางบุญ ที่จะแสดงน้ำใจเมตตาไมตรี เผื่อแผ่แบ่งปัน บำเพ็ญทาน รักษาศีล เว้นจากการเบียดเบียนทำร้าย และการฟื้นฟูจิตใจ แสวงปัญญา เป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึง

งานวัดซึ่งเคยเป็นแหล่งประสาน ที่บูรณาการความสนุกกับบุญได้อย่างดี เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพของสังคมไทย มาบัดนี้ดูเหมือนว่า แม้แต่ที่นั่น ความสนุกกับบุญก็ได้แปลกแยกแตกกระจายกันไปคนละทาง โดยต่างก็มีความหมายแคบเคลื่อนหรือเพี้ยนไป

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกี่ยวกับความเข้าใจและการปฏิบัติต่อความสนุกและบุญ ซึ่งเป็นคำใหญ่และเป็นคติหลักนี้ เป็นตัวอย่างอันชัดเจน ที่แสดงถึงความเพี้ยน คลาดเคลื่อน เสื่อมสลาย และขาดตอน ของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

อุดมคติหายไป ไม่มีคำสื่อใจที่จะรวมพลังสู่จุดหมาย

สังคมไทยจะหลุดจากฐาน ทั้งด้านรูปและนามธรรม

บุญ” คือคุณสมบัติที่ทำให้ชีวิตเฟื่องฟูดีงามมีความสุข ซึ่งประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนานั้น แยกได้เป็น ๓ ระดับ คือ ระดับพฤติกรรม ระดับจิตใจ และระดับปัญญา ในที่นี้เมื่อพูดถึงระดับนามธรรม ก็คือพูดในขั้นของจิตใจ และปัญญา

ได้บอกแล้วว่า พรมแดนแห่งบุญนั้นกว้างไกลไพศาลมาก คนไทยเราเมื่อพูดถึงบุญ ก็มักมองในระดับจิตใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนามีหลักว่า บุญระดับจิตใจเป็นการเตรียมพื้นฐานที่จะก้าวต่อไปในบุญระดับปัญญา ปัญญานี้เป็นบุญพิเศษที่ทำให้บุญทุกอย่างทุกระดับถูกต้องพอดีและนำชีวิตสู่จุดหมายสูงสุด คือสุขสันติอิสรภาพที่ศักยภาพของมนุษย์จะให้เข้าถึงได้ ถ้าก้าวขึ้นไปได้ถึงขั้นนามธรรม แต่หยุดอยู่แค่บุญระดับจิตใจ ก็วนเวียนและติดจมได้อีกระดับหนึ่ง ไม่โปร่งโล่งทะลุรอดตลอดไปได้

พรมแดนแห่งปัญญานั้น เป็นบุญที่ต้องใช้ความเพียรพยายามและความเข้มแข็งมาก จึงจะก้าวไปได้ คนที่มีพื้นเพแห่งการบุกฝ่าเป็นทุนอยู่ ถ้าหันเข้ามาทางนี้ ก็มีทางที่จะคืบหน้าไปได้อย่างดี ส่วนคนในสังคมที่ขาดพื้นฐานทุนด้านนี้ ก็ต้องหาทางปรับปรุงตัวขึ้นมา

เมื่อว่าโดยรวม สังคมไทยจะได้ก้าวไปในการบุกฝ่าพรมแดนแห่งบุญนี้ไปได้แค่ไหนเพียงไร คงพูดได้ยาก เพราะมีความแตกต่างขึ้นลงตามยุคสมัย แต่ที่ชัดเจนก็คือ “บุญ” เป็นคำชู ที่หัวหน้าหมู่ชน หรือผู้นำ สามารถยกขึ้นมาเอ่ยอ้าง ที่เมื่อพูดขึ้นแล้วก็ซาบซึ้งเข้าไปในส่วนลึกของจิตใจของประชาชน นำใจให้มารวมกัน และมีแรงกำลังที่จะทำกิจกรรมหรือดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เวลานี้ คำว่า “บุญ” แม้จะยังใช้กันบ้าง แต่ความหมายที่เหลืออยู่ในใจของคนก็พร่ามัว สับสนปนเป หรือแม้กระทั่งเพี้ยนไป น่าเสียดายว่า คติแห่งบุญได้เรียวลงจนแทบจะขาดตอนไปเสียแล้ว

ปัจจุบันในสังคมไทย ผู้นำของหมู่ชนไม่มีคำชู ซึ่งแสดงคติของสังคม ที่จะใช้สื่อใจกับประชาชน ไม่ว่าจะเทียบกับ frontier และ freedom เป็นต้นของอเมริกัน หรือกับบุญของไทยแต่เดิม ข้อนี้คงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนไทยกระจัดกระจาย ไม่มีกำลัง หรือแม้กระทั่งเคว้งคว้างเลื่อนลอย

แม้บางท่านที่เถียงว่าเรามีอุดมการณ์ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ก็ต้องยอบรับความจริงว่า คติหรืออุดมการณ์นี้คนส่วนมากอ้างกันไปอย่างผิวเผิน ไม่กินใจและไม่ค่อยได้ผลจริง เพราะเราไม่สามารถจับตัวแกนที่จะหยั่งลงไปเชื่อมกับคุณค่าทางจิตใจและวัฒนธรรมที่อยู่ลึกลงไป เช่น อย่างน้อยเราไม่สามารถนำสาระของคำว่า “บุญญาธิการ” แห่งองค์พระมหากษัตริย์ มาปรับโยงเข้ากับความหมายที่ประจักษ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน

จะยอมรับหรือไม่ว่า สังคมไทยได้มาถึงภาวะขาดตอนทางวัฒนธรรม และแม้แต่ภูมิหลังด้านสิ่งแวดล้อม คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แม้จะยังพูดกันอยู่ ก็ไม่สื่อภาวะที่แท้จริงอย่างที่เคยภูมิใจ

ภาวะที่ขาดตอนอย่างนี้ ย่อมเกี่ยวโยงกับการหันไปตามรับกระแสโลกาภิวัตน์ เทิดทูนบริโภคนิยม หลงใหลไปกับการเสพบริโภค นิยมความเป็นเสรีทางกาม โดยเฉพาะก็ตื่นกระแสจากอเมริกานั่นเอง แต่เป็นการรู้และรับจากเขามาได้เพียงส่วนที่เป็นผลและผิวเผิน ไม่เข้าถึงเหตุ ไหลไปตามความรู้สึก เอาแค่ตื่นเต้น ไม่มีความตื่นตัวทางปัญญา

ยิ่งกว่านั้น เมื่อจะเข้าไปในกระแสของเขา พื้นฐานแห่งการเพียรบุกฝ่าเป็นนักผลิตผู้บากบั่นอย่างเขาก็ไม่มี ระบบที่จะบีบให้เข้มแข็งต้องพึ่งตัวเองก็ไม่มี ในสภาพอย่างนี้ ความลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมาระเริงในกามและอามิสก็จะไม่มีเครื่องยับยั้ง ก็จะเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรามได้สุดเหวี่ยงสุดขั้วยิ่งกว่าชนชาติต้นกระแสนั้นด้วยซ้ำไป

เวลานี้ คติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็แทบจะกลายเป็นคำแห่งความทรงจำในอดีต ซึ่งจะมัวใช้กล่อมใจกันอยู่ไม่ได้

คนไทยจะต้องรู้ทันเขา และรู้ตัวของเรา แล้วตื่นและลุกขึ้นมา ไม่ปล่อยตัวเหมือนปลาตายที่ไหลไปตามกระแส แต่ต้องตั้งหลักขึ้นมาให้ได้ในท่ามกลางกระแสนั้น มองให้เห็นความเป็นจริงของสถานการณ์ ไม่อยู่แค่ในอาการสนองความรู้สึก แต่ต้องรู้จักคิด และใช้ปัญญาที่ประกอบด้วยความเพียร มุ่งมั่นในการแก้ปัญหา โดยมีจุดหมายที่แน่วแน่ชัดเจน

จะเอาของเขา ก็มองไปติดแค่ที่ล่อตา เลยจับสาระไม่ได้

สังคมไทยได้ตั้งความหวังว่า จะพัฒนาตัวให้เป็นสังคมอุตสาห-กรรม วิถีของสังคมนี้ได้ผลักดันให้ชาวชนบทมากมายต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เข้ามาหาเลี้ยงชีพในกรุงในเมือง และมีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมเทียมอุตสาหกรรม กำลังคนมีคุณภาพที่จะสร้างสรรค์ชุมชนหายไปจากชนบท แต่กลับเข้ามาเป็นแรงงานด้อยคุณภาพในเมืองในกรุง ทำให้เกิดมีชุมชนใหม่แออัดที่เป็นปัญหาในเมืองในกรุงนั้น เป็นการพัฒนาที่ทำให้ทั้งเมืองและชนบทยิ่งเกิดปัญหา

ในประวัติศาสตร์ของชนชาติอเมริกัน ชีวิตที่เสี่ยงภัยท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์แปลกใหม่ที่คาดหมายยาก ซึ่งทุกคนต้องเผชิญด้วยกัน เป็นเครื่องกระตุ้นเร้าและเค้นให้เกิดคตินิยม จินตนาการ ความใฝ่ฝัน และการตั้งจุดหมายที่ยาวไกล

แต่สำหรับคนไทยชาวชนบทที่จากถิ่นเดิมมาหางานทำในเมือง สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ทั้งหลายไม่มีอะไรแปลกแตกต่าง ห่างไกล และเสี่ยงมากมายอะไร ที่จะปลุกเร้าให้เกิดคติและจุดหมายเช่นนั้น อีกทั้งยังมีคติแห่งความสนุกของตัวที่ติดมาขวางไว้อีกด้วย โดยทำให้สัมผัสสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์เหล่านั้นแบบผ่านๆ ไม่จริงจัง จึงพอจะเห็นได้ว่า คนไทยที่จากถิ่นมาไกลมากมายนั้นไม่มีคติอะไรที่ยึดถือชัดเจนออกมา และไม่มีจุดหมายยาวไกลที่ร่วมกัน แต่ละคนมีเพียงวัตถุประสงค์ในการหาเงินเฉพาะส่วนตัว ส่วนครอบครัว เฉพาะหน้า

นับจาก ๒๐–๓๐ ปี ที่ผ่านมาย้อนหลังไป เมืองไทยเต็มไปด้วยกรรมกร - คนงานชาวจีน เวลาผ่านมาถึงปัจจุบันไม่นานนัก กรรมกรจับกังชาวจีนบัดนี้หาได้ยาก ส่วนมากกรรมกรเหล่านั้นได้เปลี่ยนฐานะขึ้นเป็นเศรษฐีหรือบรรพบุรุษของคนชั้นกลาง ภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ผู้ที่เข้าครองอาชีพคนงานกรรมกรเวลานี้คือชาวชนบท ที่ออกจากถิ่นมาหากินในเมือง วันที่กรุงเทพฯ เงียบเหงา เปลี่ยนจากตรุษจีนมาเป็นสงกรานต์

แต่ดูเหมือนว่าชาวชนบทที่เข้ามาทำงานในกรุงยุคนี้ จะไม่มีแม้แต่คำติดปาก อย่างที่ได้ยินกันทั่วไปในยุคสร้างเนื้อสร้างตัวของชาวจีนที่ว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” ซึ่งแม้จะไม่ถึงขั้นเป็นคติ ก็ยังสื่อความหมายที่เตือนใจแฝงอยู่ด้วยว่า ให้มีความขยันอดทนบากบั่นพากเพียรทำงาน เพื่อความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ในวันหน้า

ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านราษฎรทั่วไป แม้แต่นักศึกษาที่ไปเรียนต่อบัณฑิตศึกษา คือ ปริญญาโท - เอก ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา ก็เห็นได้ว่าไม่มีคติอะไรที่แสดงถึงความมีจุดหมายร่วมและยาวไกลของสังคมไทย

ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยได้ก้าวข้ามขั้นตอนของสังคมอุตสาห-กรรมขึ้นไป คือแทนที่จะมีวิถีชีวิตแบบนักผลิตของสังคมอุตสาห-กรรม ก็เลยเถิดไปใช้วิถีชีวิตแบบสังคมบริโภคนิยม ทั้งคนกรุงคนเมืองและคนที่เข้ามาสนองลัทธิบริโภคนิยมในเมืองในกรุงนั้น เหมือนกับสมคบกันซ้ำเติมสังคมของตนให้เสื่อมโทรมเละเทะและอ่อนแอหนักลงไป

ภาวะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ก็จะหมดไป พื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนก็ถึงขั้นขาดตอน วัฒนธรรมข้างนอกที่ตนชื่นชม คอยรับคอยตาม ก็มองเห็นแค่เปลือกผิว เข้าไม่ถึงเนื้อตัวที่เป็นทุนรากเหง้าแห่งสังคมของเขา ในภาวะอย่างนี้ ถ้าจะให้สังคมไทยก้าวขึ้นสู่สถานะของผู้นำหรือแม้แต่ทรงตัวอยู่ได้ จะต้องมีคติของชาติด้านการสร้างสรรค์ตั้งแต่การผลิตวัตถุเพิ่มขึ้นมา พร้อมกับฟื้นฟูคติทางนามธรรมที่แสดงจุดหมายทางจิตใจและปัญญาร่วมกันระยะยาว

จะต้องค้นหาและนำเอาศักยภาพของตนขึ้นมาประสานใช้ให้เกิดผลในสภาพปัจจุบันอย่างเป็นตัวของตัวเองให้ได้

คนไทยจะพัฒนาศักยภาพขึ้นมา
พาสังคมไทยให้ก้าวไปได้หรือไม่

อยู่ใต้ภาพของเขา
จนมองไม่เห็นทั้งตัวจริงของเขาและเนื้อตัวของเราเอง

การที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม จะต้องมีการปลูกฝังสั่งสมคุณสมบัติต่างๆ ที่เป็นทุนมนุษย์ขั้นพื้นฐาน และมีแนวคิดคติความเชื่อที่จะบ่งชี้จุดหมายและเป็นแนวทางให้เกิดวิถีชีวิตแห่งการสร้างสรรค์ที่มั่นคงยืนยาว

การที่จะพูดง่ายๆ เพียงว่าให้คนมีความโลภจะได้ทำงานหาเงิน หรือเข้าใจเอาง่ายๆ ว่าฝรั่งเจริญก้าวหน้าสร้างเศรษฐกิจมาด้วยความโลภนั้น เป็นความคิดผิวเผิน ซึ่งจะได้ผลจริงก็แต่ในด้านการเพิ่มปัญหาจากการหาทางที่จะได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน เช่น การทุจริต การกู้หนี้ยืมสิน การลักขโมย การขอหวย การพนัน การปั่นตัวเลขในรูปแบบต่างๆ อันล้วนนำสังคมไปสู่ความหลงผิดก้าวพลาด ที่ควรได้บทเรียนกันแล้ว ควรจะศึกษาความเป็นไปของสังคมต่างๆ และเหตุปัจจัยทั้งหลายให้จริงจังและชัดเจน

สังคมอเมริกันนั้นเหมือนกับได้เปรียบในแง่ที่ว่า คนของเขาได้ผ่านอดีตแห่งการตกอยู่ใต้สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์บีบคั้นร่วมกัน ซึ่งชัดเจนและยาวนานเพียงพอที่จะหล่อหลอมให้เกิดอุดมคติแห่งชาติ ที่ช่วยชี้จุดหมายและให้ทิศทางแก่สังคม ครั้นถึงบัดนี้ เมื่อสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์เปลี่ยนไปเหมือนถึงจุดหมายนั้นแล้ว ปัญหาที่เขาต้องประสบจึงเกิดขึ้นว่า จะให้คนอเมริกันรุ่นใหม่ดำรงรักษาคตินิยมและอุดมการณ์ของชาติไว้ได้อย่างไร

ส่วนสังคมไทยนี้ก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบันโดยตกลงไปในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งหมายถึงอิทธิพลวัฒนธรรมวัตถุนิยมแบบตะวันตก โดยเฉพาะของอเมริกัน ที่แผ่ไปครอบคลุมและค่อนข้างครอบงำโลก ในขณะที่อุดมคติซึ่งเป็นสาระแห่งวัฒนธรรมไทยของตนเองอยู่ในภาวะที่ถือได้ว่าขาดตอนไป และสภาพภูมิลักษณ์เดิมของถิ่นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแทบจะหายสิ้นแล้ว ถ้าสังคมไทยจะฟื้นตัวได้ จะต้องฟื้นฟูและสร้างอุดมคติของชาติขึ้นมานำสังคมกันใหม่

แต่สภาพโลกาภิวัตน์ ที่มิใช่เป็นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์แท้จริงของตนเอง กำลังแผ่ครอบคลุมสังคมไทย และได้ปกคลุมปิดบังภาวะและสถานการณ์ที่แท้จริงของสังคมของตนเอง ขณะที่คนไทยซึ่งไม่รู้ตัวตระหนักและมองลงไปไม่ถึงภาวะและสถานการณ์ที่แท้จริงของสังคมของตนเอง ได้แต่หลงระเริงอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั้งมิใช่เป็นภาวะและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตนเอง และมิใช่เป็นสาระแท้ของวัฒนธรรมต้นทางของอเมริกันเป็นต้นนั้น

ในภาวะเช่นนี้ การที่จะรื้อฟื้นหรือสร้างอุดมคติของชาติขึ้นมาย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะทั้งย้อนกระแสและไม่มีปัจจัยเอื้อ

ไม่ติดแค่ภาพที่ตั้งไว้ ดูชีวิตที่ได้เป็นอยู่จริง
จึงจะรู้เราเขา และเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง

อย่างในเรื่องระบบแข่งขันที่เป็นโลกาภิวัตน์หลักอยู่ขณะนี้ ประสบการณ์ของสังคมอเมริกันมีภูมิหลังที่เต็มไปด้วยการข่มเหงรังแกกัน การบีบคั้นกดดัน การเข่นฆ่าทำสงคราม การขัดแย้งที่รุนแรง และยืดเยื้อยาวนาน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ถิ่นเดิมในยุโรป จนกระทั่งเมื่อหนีมาถึงโลกใหม่แล้ว ก็เข้าสู่ยุคแห่งการบุกฝ่าที่มีการดิ้นรนต่อสู้บุกรุกแย่งชิงกันเข้มข้นยิ่งขึ้น จากการเป็นผู้ถูกกระทำในยุโรป ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้กระทำต่อคนพื้นเมืองเจ้าถิ่นเดิม และแข่งขันแย่งชิงกันเอง บนผืนแผ่นดินใหม่ที่กว้างใหญ่ไพศาลที่ต่างคนมองหาโอกาส (opportunity) ให้แก่ตน

การข่มเหงรังแกและดิ้นรนต่อสู้กัน ก็ดี วิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมันหรือปัจเจกนิยม (individualism) และการมุ่งหน้าแข่งขันกัน (competition) โดยที่ทุกคนมุ่งหาและใช้โอกาส (opportunity) ให้ตนเหนือกว่า เพื่อสร้างความสำเร็จ (success) ของตน ก็ดี บังคับและเรียกร้องให้ต้องสร้างกฎกติกาขึ้นมาเป็นเครื่องมือที่จะปกป้องตัว และเป็นขีดขั้นที่จะป้องกันการละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบกัน

ประสบการณ์สังคมข้อนี้ ทำให้คนอเมริกัน และชนชาติตะวันตกจำนวนมาก มีความถนัดจัดเจนในการจัดตั้งและรักษากฎกติกา โดยที่ต้องยึดถือกฎหมายเป็นมาตรฐาน ต้องมีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ปกครองกันด้วยกฎหมาย หรืออยู่กันด้วยหลักนิติธรรม (the rule of law) เพื่อให้คนเอารัดเอาเปรียบข่มเหงรังแกกันไม่ได้ หรือได้ยาก คติต่างๆ ที่คนนับถือจะได้มีหลักประกันให้เกิดผลเป็นจริง และดำรงรักษาความมั่นคงของสังคมไว้ได้

ครั้นตกมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ระเบียบทางสังคมที่เกิดจากความจำเป็นในการอยู่รอดบังคับนี้ ก็กลายเป็นจุดแข็งของอารยธรรม ดังที่คนอเมริกันเวลานี้ภูมิใจในคติ rule of law เป็นอย่างยิ่ง

ในสังคมแบบอเมริกันนี้ แม้ว่ามองด้านหนึ่งชีวิตจะเครียด แต่การปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายและกฎกติกาทั้งหลาย จะดำเนินไปอย่างชัดเจนและเข้มงวดจริงจัง ต่างกับสังคมที่คนอยู่อย่างกลมกลืนเกื้อกูลอะลุ่มอล่วยกัน หรืออยู่กันมาแบบเรื่อยๆ สบายๆ อย่างสังคมไทยนี้ คนจะไม่ค่อยนึกถึงเรื่องกฎกติกา และการนำกฎเกณฑ์หรือกฎหมายมาใช้หรือปฏิบัติ ก็เอียงไปข้างจะหละหลวม ไม่เคร่งครัด กลายเป็นสังคมที่อ่อน และภาวะนี้ก็กลายเป็นจุดด้อย

มองอีกระดับหนึ่ง ในระบบที่ถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ คติ rule of law ก็มิใช่จะประกันความเป็นธรรมได้แน่นอน ดังที่มีการเอาเปรียบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบโดยเลี่ยงกฎหมาย ตลอดจนตั้งกฎกติกาหรือสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ตนได้เปรียบหรือเพื่อเอื้อโอกาสที่จะเอาเปรียบ นิติธรรมนั้นจะเป็นหลักประกันได้จริง ก็ต่อเมื่อมันประสานกับจิตใจที่ได้พัฒนาให้รักความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกปัจจุบันมาตกอยู่ใต้อิทธิพลโลกาภิวัตน์ของระบบแข่งขันแบบตะวันตก การที่จะก้าวไปด้วยดีหรือทันเขาในระบบนี้ สังคมจะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบแห่งนิติธรรมที่เคร่งครัดด้วย แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎกติกาในสังคมที่มีภูมิหลังอย่างไทยนี้ จะหวังหรือรอให้ความจำเป็นเรียกร้องบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการมีปัญญารู้ตระหนักต่อสถานการณ์ และมีคติที่จะปลุกเร้าพลังรวมใจให้มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จลุจุดหมาย แล้วฝึกคนขึ้นมาด้วยการศึกษาพัฒนาอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะเมื่อสังคมมีภูมิหลังที่ต่างกันมากเหมือนอย่างตรงกันข้าม การที่เราเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์อย่างเขา ก็จะมีภาวะแบบก้ำกึ่งครึ่งกลางเกิดขึ้น เช่นมีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบระบบแข่งขันตัวใครตัวมัน แต่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบโอนอ่อนอะลุ่ม อล่วยกัน จนเกิดภาวะที่ว่า ลักษณะที่ดีในระบบหนึ่งกลายมาเป็นข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนที่แทรกขวางในอีกระบบหนึ่ง คนในสังคมอย่างนี้ โดยเฉพาะผู้นำ จะต้องฉลาดอย่างทันการณ์ ที่จะไม่มัวแข็งขืนฝืนสภาพ หรือเอาแต่จะทำตามมัวคิดจะเลียนแบบเขา แต่จากการรู้เขาถึงรากเหง้า และเข้าใจตัวเราถึงรากฐาน ควรจะเอาลักษณะที่ดีในภูมิหลังของตัวขึ้นมาปรับใช้ ผันจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง สร้างแนวทางและระบบที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมา

จากเรื่องเดียวกันนี้จะสังเกตเห็นด้วยว่า เสรีภาพที่อเมริกันต่อสู้ได้มาด้วยความยากลำบากและภูมิใจนักหนานั้น เป็นเพียงเสรีภาพเชิงลบ ซึ่งเกิดขึ้นจากภูมิหลังที่จะดิ้นรนให้พ้นจากการกดขี่บีบคั้น ข่มเหงและการเอาเปรียบกัน ต้องอาศัยกฎเกณฑ์กติกามาบังคับควบคุมเป็นขีดขั้น โดยบัญญัติห้าม และตั้งข้อกำหนดต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นเรื่องของการที่จะไม่รุกล้ำ ไม่ละเมิดกัน แต่แล้วก็ยังระแวงกัน หวาดกัน ต้องคอยระวังจ้องที่จะปกป้องสิทธิของตน จะซูกัน ไม่ใช่เกิดจากใจที่กว้างหรือรักกัน

ในทางตรงข้าม คนไทยมิใช่ไม่มีเสรีภาพ แต่เราขาดเหตุกดดันบีบคั้นที่จะทำให้ต้องครุ่นคิดคำนึงถึงและเรียกร้องเสรีภาพ เรามีเสรีภาพเชิงบวก ในรูปของการเอื้อ โอนอ่อน อภัย อะลุ่มอล่วย ปล่อยตามสบาย จนจะกลายเป็นปล่อยปละละเลย คือหละหลวมและประมาท ซึ่งเป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเรามีปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่างกับเขา เป็นคนละแบบกัน

แม้แต่ในสิ่งที่เราเรียกตามฝรั่งว่า “จริยธรรม” โดยบัญญัติขึ้นจากคำว่า ethics นั้น สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในสภาพโลกาภิวัตน์เดียวกัน ก็ต่างกันไกล เช่น เราอาจพูดสั้นๆ ว่า

อเมริกามีแต่จริยธรรมสำหรับสังคมยุคบุกฝ่า พอสังคมถึงที่หมาย อยู่สบาย ก็ไม่มีจริยธรรมที่จะรับช่วงต่อไป ประเทศของเขาแม้จะก้าวหน้าด้านวัตถุเทคโนโลยีและอำนาจ แต่ชีวิตและภายในสังคมของตนเองฟอนเฟะดังที่เขาเองก็วิตกกังวลกันอยู่นักหนา

ส่วนสังคมของเรานั้นตรงกันข้าม กล่าวคือ สังคมไทยเคยมี จริยธรรมเหมาะกับยามสุขสบาย แต่พอถึงยุคต้องบุกฝ่า จริยธรรมถึงจะมี ก็ค้นขึ้นมาใช้ไม่ทัน

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เข้าใจชนิดที่จำแนกแยกแยะได้ชัดเจน แล้วแก้ไขจัดทำให้ถูกจุดตรงเรื่องกัน

สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้หรือไม่
อยู่ที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งปัญญาไหวไหม

ในภาวะเช่นนี้ คนไทยที่รู้ตัวตื่นขึ้นมา โดยเฉพาะผู้นำของสังคม จะต้องใช้ความสามารถสองชั้น ที่จะรู้เข้าใจทั้งเขาทั้งเราและทั้งโลกให้ชัด แล้วสร้างกระแสความคิดกระแสปัญญาขึ้นมานำคนไทย ให้มีคติของสังคมและอุดมการณ์ของชาติ ที่จะพากันมุ่งหน้าไปในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตน อย่างมีพลังที่ถึงขั้นสามารถสวนทางไปได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ไหลแรงด้วยกำลังความหลง อันเป็นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เทียมที่ครอบงำสังคมของตนอยู่เวลานี้

หลักที่เรียกว่าเป็นคติของสังคมและอุดมการณ์ของชาตินี้ มีบทบาทที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. ให้จุดหมายและทิศทาง คือ ทำให้สังคมมีจุดหมายและทิศทางที่จะมุ่งหน้าไป และเกิดพลังที่จะพุ่งแล่นไปอย่างแรงเข้มและแน่วแน่

๒. ให้เกิดเอกภาพและสามัคคี คือ เป็นแกนและเป็นจุดอ้างอิงที่จะรวมแรงรวมใจคนในสังคม ให้พร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้โดยไม่รู้ตัว ที่จะมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันสู่จุดหมาย

๓. ให้จุดอุทิศตัวที่จะข้ามพ้นอัตตา คือ สร้างเป้าหรือจุดยึดใหม่ที่ใหญ่กว่าและอยู่นอกตัวตนของแต่ละคน ซึ่งจะทำให้บุคคลสยบยอมสละหรือข้ามพ้นความยึดมั่นในตัวตนและผลประโยชน์หรืออำนาจของตนไป แล้วทำการเพื่ออุดมคติเป็นต้นที่ยิ่งใหญ่นั้นได้

บทบาทที่ ๓ นี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าขาดคตินิยมอุดมการณ์นี้แล้ว ตัวตนหรืออัตตาที่ยึดถือสูงสุดของแต่ละคน ก็จะเด่นขึ้นมาขัดแย้งและปะทะกัน หรือต่างก็จะดึงทุกอย่างเข้าหาตัว ทำให้สังคมนั้นนัวเนียอยู่กับที่ ไม่อาจก้าวไปไหนได้ สังคมที่จะเจริญวัฒนาจึงต้องสร้างคตินิยมอุดมการณ์ที่บุคคลแต่ละคนยอมรับให้เป็นใหญ่เหนือกว่าอัตตาของตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งเมื่อยกขึ้นมาเอ่ยอ้างแล้ว จะสยบตัวตนของทุกคน และทุกคนจะยอมตัวเพื่อเห็นแก่สิ่งนั้นได้

นอกจากผลต่อสังคมแล้ว บุคคลแต่ละคนที่ยึดถือคตินิยมอุดมการณ์นั้น ก็จะมีกำลังใจ ที่จะชุบชูใจให้สดชื่น และปลุกปลอบใจให้มีความหวัง ไม่ระย่อท้อถอย คือมีศรัทธาเป็นเพื่อนใจ พร้อมนั้นอีกด้านหนึ่ง เมื่อมีความมุ่งสู่เป้าหมายและทิศทางที่จะไปครองใจอยู่ คนก็จะไม่ใส่ใจกับอะไรๆ ที่นอกเรื่อง และมีพลังในตัวที่ช่วยให้พ้นจากอำนาจชักจูงของสิ่งล่อเร้าเย้ายวนที่จะทำให้เขวออกไปจากทาง ตลอดจนไม่หมกมุ่นจมอยู่กับเรื่องของความใฝ่ต่ำต่างๆ

สังคมไทยในอดีต ที่มีความราบรื่นเรื่อยๆ ด้านรูปธรรม ได้ยึดถือคติหรืออุดมการณ์แห่งบุญสืบต่อกันมาแสนนาน แต่คติแห่งบุญนี้เป็นนามธรรม และมีพรมแดนกว้างใหญ่ไพศาล สังคมไทยจะถอยๆ ก้าวๆ ไปในพรมแดนแห่งบุญนี้ได้แค่ไหนเพียงไร ก่อนที่จะละทิ้งไปเพื่อหยิบฉวยเอาผลแห่งความเจริญของตะวันตกที่ลอยมาในกระแสโลกาภิวัตน์ คนไทยก็ไม่รู้ตัวและไม่เข้าใจ

แต่พูดได้ตามหลักว่า คนจะก้าวไปในคติแห่งบุญนี้โดยไม่หลงทาง ไม่เพี้ยนพลาดหรือติดวังวน ก็ต่อเมื่อมีบุญระดับปัญญามานำต่อไป สังคมจะหยุดอยู่กับบุญเพียงในระดับจิตใจหาพอไม่ แต่จะต้องก้าวไปให้ถึงระดับปัญญา และสิ่งซึ่งเป็นแกนที่จะเชื่อมประสานจิตใจและทุกอย่างเข้ากับปัญญา ก็คือธรรม

คนไทยจะเลือกคติหรืออุดมการณ์ใดก็ตาม แต่หลักหนึ่งที่ยกขึ้นมาได้ทันที ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง และทั้งประสานกับพื้นฐานแห่งวัฒนธรรมของตนเอง ก็คืออุดมการณ์แห่งธรรม

อุดมการณ์แห่งธรรมนั้น คือความมุ่งมั่นแน่วไปในปัญญาที่อยู่กับความเป็นจริง มองเห็นระบบความสัมพันธ์ที่จะโยงกฎมนุษย์ถึงกฎธรรมชาติได้ และรู้ตระหนักว่าอะไรเป็นประโยชน์แท้ ที่ชีวิต สังคม และโลกนี้ต้องการ แล้วถือธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงาม และประโยชน์สุขที่ชอบธรรมเป็นธรรม เพื่อชีวิต สังคม และทั้งโลก เป็นใหญ่ เป็นมาตรฐาน นี้คืออุดมการณ์ตัวเลือกหลักของสังคมไทย ที่จะมุ่งหน้าต่อไปได้บนฐานแห่งวัฒนธรรมที่สืบมา

โลกเจริญมาถึงยุคปัจจุบัน ที่เรียกว่าเป็น Information Age ซึ่งแปลกันว่า ยุคสารสนเทศ หรือยุคข่าวสารข้อมูล และ “ไอที” คือ Information Technology ก็เป็นโลกาภิวัตน์พื้นฐาน ที่กำหนดความรุ่งเรืองหรือความล้มเหลว และชะตากรรมของชีวิตและสังคม

บนฐานแห่งข่าวสารข้อมูล/information นี้ คนชั้นนำยุคปัจจุบันพูดกันถึงสังคมที่พึงปรารถนาว่า เป็นสังคมแห่งความรู้/knowledge society บ้าง สังคมแห่งการเรียนรู้/learning society บ้าง

สังคมใดหาหลักของตนไม่ได้ ข่าวสารข้อมูลถูกใช้สนองความต้องการเพียงเป็นสะพานนำไปสู่ผลประโยชน์ และเป็นกับดักให้คนลุ่มหลงหมกมุ่นในการเสพบริโภค สังคมนั้นย่อมตกเป็นเหยื่อและจมลงใต้กระแสโลกาภิวัตน์ “ไอที” จะกลายเป็นเครื่องมือขยายพรมแดนอย่างใหม่ของสังคมต้นกระแส ผ่าน cyberspace frontier เข้ามาครอบงำ ทำให้สังคมนั้นเป็นอาณานิคมเบ็ดเสร็จ ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม และทางปัญญา

แต่ในสังคมใด คนมีหลัก รู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลให้เป็นสื่อสู่การพัฒนาคุณค่าของชีวิต เป็นฐานแห่งการสร้างสรรค์ และเป็นปัจจัยแห่งความเจริญปัญญา โดยรู้จักบริหารข่าวสารข้อมูล/information สามารถสร้างความรู้/knowledge และสรรค์ปัญญา/wisdom ขึ้นได้ สังคมนั้นจึงจะนำชีวิตและโลกไปสู่สันติสุขและอารยธรรมได้จริง

ทุกคนคงยอมรับว่า สังคมไทยไม่อาจจะจมอยู่กับสภาพปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะไหลต่ำลงไปทุกที จึงถึงเวลาที่จะยืนหยัดตั้งตัวขึ้นมา ก้าวขึ้นไปเหนือการครอบงำของโลกาภิวัตน์ เดินหน้าและเดินนำไปในวิถีแห่งปัญญาให้ได้ ซึ่งถ้าปัญญานั้นรู้จักและรักธรรม ก็แน่นอนว่าสังคมไทยจะตั้งจุดหมายที่ถูกต้องได้ และสามารถก้าวไปให้ถึงจุดหมายนั้นได้แน่นอน

การที่จะก้าวไปในวิถีแห่งปัญญาให้ถึงธรรมและทำตามธรรมนั้นได้ คนไทยจะฟื้นคติแห่งบุญบนฐานแห่งวัฒนธรรมที่สืบมา และเดินหน้าขยายพรมแดนแห่งบุญนั้นต่อไป หรือจะสร้างคติอะไรในทางชาตินิยมขึ้นมาใหม่ก็ตาม ก็จะต้องทำให้ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างน้อย เมื่อเป็นมนุษย์ปุถุชน สำหรับคนหมู่ใหญ่ ถ้าจะให้มีเรี่ยวแรงทำความดีที่จะสร้างสรรค์สังคม จะต้องมีจุดยึดหรือคติหนึ่งใดที่จะให้ภูมิใจในชาติของตน และมีแก่นสารในวัฒนธรรมที่ใจรับและระลึกนึกถึงด้วยศรัทธา

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้นำและผู้มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของชาติ จะต้องรู้ตระหนักว่า ถึงเวลานานแล้วที่จะเลิกเป็นอยู่อย่างผู้ดูถูกตัวเอง รู้จักเรียนรู้ให้เท่าทันถึงต้นตอแหล่งที่มาแห่งกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ไหลมาพัดพาสังคมของตน พร้อมทั้งสืบค้นนำเอาศักยภาพที่ตัวมีขึ้นมาพัฒนา เพื่อฟื้นฟูสังคมของตน ผันตัวเองขึ้นไปให้ตั้งหลักได้ในกระแส มีจิตใจเข้มแข็งแน่วแน่มั่นคง และสร้างปัญญาขึ้นมาแก้ปัญหา เพิ่มพูนพลังความสามารถที่จะก้าวหน้าต่อไป สู่จุดหมายแห่งการสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลก ให้ดีงามมีสันติสุข อย่างแท้จริงและยั่งยืนนาน
รู้จักอเมริกา
หันมาดูศักยภาพของไทย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง