รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ระบบพุทธจริยศาสตร์

เราจะเข้าใจจริยศาสตร์ทางสังคมแบบพุทธได้ชัดขึ้น หากพิจารณาโดยโยงถึงระบบพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมด ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า พุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดนั้นประกอบด้วยอริยมรรคแปด และบุพภาคแห่งอริยมรรค อริยมรรคคงเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว แต่บุพภาคแห่งอริยมรรคเล่า คืออะไร ในเรื่องนี้ มีพระพุทธพจน์อยู่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย มีปัจจัยอยู่สองประการอันเป็นเครื่องยังให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ปัจจัยสองประการใดหรือ นั่นคือการชักนำโดยผู้อื่น และการทำในใจโดยแยบคาย”1

เงื่อนไขหรือปัจจัยประการแรก มักปรากฏในนามของการเสวนาสัตบุรุษหรือการมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) ซึ่งจัดว่าเป็นปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ในขณะที่ปัจจัยประการที่สอง เป็นปัจจัยส่วนบุคคลหรือปัจจัยภายใน พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจจัยหรือบุพภาคแห่งอริยมรรคนี้เสมอ

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค ฉันนั้น”2

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด การทำในใจโดยแยบคายก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค ฉันนั้น”3

โดยที่อริยอัษฎางคิกมรรค หรืออริยมรรคมีองค์แปดนี้ ท่านถือเป็นมรรค เราจึงอาจกำหนดเรียกบุพภาคแห่งมรรคนี้ได้ว่า “องค์คุณก่อนมรรค” จากนั้นจึงแยกแยะระบบพุทธจริยศาสตร์ได้ดังนี้

องค์คุณก่อนมรรค

๑. การมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา)

๒. การทำในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)

มรรค

๑. ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) --------- ปัญญา

๒. ความคิดชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

๓. วาจาชอบ (สัมมาวาจา) --------- ศีล

๔. ความประพฤติชอบ (สัมมากัมมันตะ)

๕. การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)

๖. ความพยายามชอบ (สัมมาวายามะ) ---------  สมาธิ

๗. ความมีสติชอบ (สัมมาสติ)

๘. ความมีสมาธิชอบ (สัมมาสมาธิ)

องค์มรรคทั้งแปดนั้น เป็นส่วนซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นคุณลักษณ์ส่วนบุคคล โดยบุคคลนั้นเองเป็นผู้กระทำ เพื่อให้บรรลุจุดหมายสูงสุด ในขณะที่องค์คุณก่อนมรรค เป็นเครื่องอาศัย ในการที่บุคคลจะเกี่ยวข้องกับโลกและสิ่งแวดล้อมภายนอก องค์มรรคทั้งแปดย่อมจัดประเภทได้เป็นธรรม ๓ หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ ปัญญา ศีล และสมาธิ

หมวดปัญญานั้น หมายเอาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนะที่มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจในธรรมชาติอันไม่เที่ยง ขัดแย้ง และไม่มีตัวตนของสิ่งต่างๆ ตลอดจนปัจจยาการของปรากฏการณ์ทั้งมวล ซึ่งมีนัยว่า สิ่งทั้งปวงย่อมขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของมัน ด้วยความเข้าใจดังนี้ การกระทำทั้งหลายจะเป็นไปอย่างรู้เท่าทัน และหนักแน่นจริงจัง ไม่เป็นไปในทางเชื่อโชคลาง หรือเลื่อนลอย หาหลักการอันใดมิได้ ปัญญานี่แหละ ที่เป็นแกนยึดโยงของระบบพุทธจริยศาสตร์ ซึ่งมีโลกุตตรธรรมเป็นส่วนสำเร็จ

หมวดสมาธินั้น ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพจิต และเป็นตัวการที่จะสรรค์สร้างความจริงจัง เด็ดเดี่ยว และมั่นคงในการดำเนินมรรคาแห่งจริยธรรม

หมวดที่สาม คือ หมวดศีลนั้น เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับกิจในความรับผิดชอบของบุคคลที่มีต่อสังคม

ในอีกแง่หนึ่ง องค์คุณก่อนมรรคทั้งสองประการ ย่อมเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการก่อให้เกิดองค์มรรคทั้งแปด และเป็นเครื่องหนุนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าหมวดศีลอันประกอบด้วย วาจาชอบ การกระทำชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ จะเป็นส่วนที่เกี่ยวพันกับสังคมโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนซึ่งแต่ละบุคคลจะต้องรับผิดชอบในความสัมพันธ์ของตนที่มีต่อสังคม มากกว่าจะเป็นไปในทางกลับกัน ในทางตรงกันข้าม องค์คุณก่อนมรรคทั้งสองประการ กลับเป็นส่วนซึ่งเกี่ยวข้องกับอิทธิพลและผลกระทบที่โลกและสังคมอาจมีต่อบุคคลโดยตรง จุดเน้นย่อมอยู่ที่สิ่งที่บุคคลอาจแสวงหาได้จากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะในทางธรรมชาติหรือในทางสังคม โดยอาศัยการรู้จักสัมพันธ์และเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างชาญฉลาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง องค์คุณทั้งสอง ก็คือ การรู้จักเกี่ยวข้องและเรียนรู้จากโลกและสังคมรอบข้าง โดยอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการคิดอย่างถูกทำนอง ระหว่างองค์คุณทั้งสองประการนั้น ในที่นี้ จุดเน้นย่อมอยู่ที่อันแรก อันได้แก่ การมีกัลยาณมิตร ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบด้านสังคม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การมีกัลยาณมิตรนั้น เป็นสิ่งสำคัญทั้งในระดับการบรรลุธรรมส่วนตน และในระดับชีวิตประจำวันของสามัญชน ดังในพระพุทธพจน์ต่อไปนี้

“ความมีกัลยาณมิตร...เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่าผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค”

“อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจาก (สิ่งเหล่านั้น)”4

“มิตรบางคนเป็นได้แค่เพื่อนร่วมขวดเหล้า บางคนก็ดีแต่กล่าวว่า เพื่อนรัก เพื่อนรัก (เมื่ออยู่ต่อหน้า) ส่วนผู้ที่ได้พิสูจน์ตนแล้วว่าเป็นเพื่อนในยามยาก ผู้นั้นแล จึงควรเรียกได้ว่า มิตรแท้”5

“ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาผู้ควรบูชา นี้แล คือมงคลอันอุดม ทั้งการอาศัยอยู่ในถิ่นฐานอันเหมาะสมเกื้อกูล...นี้แล คือมงคลอันอุดม”6

ดังนั้น การมีกัลยาณมิตร จึงหาได้เป็นเพียงบุพภาคของชีวิตที่ดีในพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมแต่ถ่ายเดียวไม่ หากเป็นบุพภาคของระบบพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดเลยทีเดียว

ความคิดหลักที่เกี่ยวข้องกับการแสวงและใช้จ่ายโภคทรัพย์ ย่อมจัดอยู่ในขั้นศีล กระนั้นก็ดี สมาธิและปัญญาย่อมมีบทบาทในประเด็นนี้ด้วย

การฝึกฝน (สิกขา) เพื่อให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปในศีล สมาธิ และปัญญา เป็นหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ การฝึกฝนนี้ เป็นที่รู้จักกันในนามของ ไตรสิกขา ซึ่งได้แก่ อธิศีลสิกขา (การฝึกฝนในศีลอันยิ่ง) อธิจิตตสิกขา (การฝึกฝนในจิตอันยิ่ง) และ อธิปัญญาสิกขา (การฝึกฝนในปัญญาอันยิ่ง)7

แต่สำหรับคฤหัสถ์ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ซึ่งได้แก่ ทาน ศีล และ ภาวนา เป็นหลักปฏิบัติที่สอนกันในประเทศฝ่ายเถรวาท เช่น เมืองไทย อย่างแพร่หลายมากกว่าไตรสิกขา โดยถือเป็นแนวปฏิบัติ หรือเป็นวิธีทำบุญสำหรับคนทั่วไป นอกจากนี้ ในพระบาลี ยังมีการกล่าวถึงบุญกิริยาวัตถุทั้งสามนี้ในอีกแบบหนึ่ง ประกอบด้วย ทาน สัญญมะ (การรู้จักควบคุมตนเมื่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งตรงกับศีล) และ ทมะ (การฝึกฝนปรับปรุงตน ซึ่งตรงกับภาวนา) ธรรมสามอย่างนี้ เรียกชื่อรวมกันว่า เป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ (บุญกิริยาวัตถุ) หรือเป็นการฝึกฝนในสิ่งที่ดีงาม (ปุญญสิกขา)8 อาจกล่าวได้ว่า ธรรมชุดนี้เป็นไตรสิกขาสำหรับคฤหัสถ์ เพราะเป็นเพียงการจัดปรับไตรสิกขาเสียใหม่ให้เหมาะแก่คฤหัสถ์

ความแตกต่างระหว่างไตรสิกขาสำหรับพระสงฆ์และสำหรับคฤหัสถ์นั้น อยู่ที่จุดเนันหรือแง่มุมที่ตอกย้ำ ในไตรสิกขาของพระสงฆ์ จุดเน้นอยู่ที่การบรรลุธรรมส่วนตน ในขณะที่สำหรับคฤหัสถ์ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมจะสำคัญกว่า ทั้งนี้เพราะคฤหัสถ์ย่อมต้องใส่ใจกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี และต้องการทำการเพื่อประโยชน์แก่สังคมในลักษณะที่เป็นการกระทำโดยตรง หรือเป็นรูปธรรมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ การบำเพ็ญศีล ซึ่งเป็นความรับผิดชอบทางสังคมประการเดียวของสงฆ์ จึงแยกเป็นทาน และศีลสำหรับคฤหัสถ์ เพื่อให้ชัดเจนและก่อผลต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้าม ส่วนที่เป็นการฝึกฝนด้านในเฉพาะตัว คือ สมาธิ และปัญญา ท่านจัดรวมกันไว้เป็นข้อเดียวสำหรับคฤหัสถ์ คือ จัดเป็นภาวนา จะเห็นได้ว่า ภาวนาในส่วนของคฤหัสถ์ ซึ่งเน้นย้ำที่การปลูกฝังเมตตา พร้อมทั้งทานและศีลนั้น มีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้โลกนี้เป็นสุขสงบ ปราศจากความเดือดร้อนระส่ำระสาย9 ยิ่งไปกว่านั้น ในเมื่อไตรสิกขาสำหรับพระสงฆ์นั้นมิได้รวมทาน หรือการให้เอาไว้ด้วย จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่ภิกษุจะสั่งสมโภคทรัพย์ แต่สำหรับคฤหัสถ์ การแสวงหาสั่งสมโภคทรัพย์ด้วยความอุตสาหะ ย่อมเป็นสิ่งเหมาะควร และได้รับการสรรเสริญ เมื่อรู้จักแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยใจเมตตา

บัญญัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ ธรรม-วินัย ซึ่งหมายถึง ตัวคำสอน และระเบียบในการประพฤติปฏิบัติ ระบบพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดย่อมประมวลลงได้ในบัญญัตินี้ ซึ่งก็หมายความว่า พุทธธรรม ย่อมประกอบด้วย ธรรมและวินัย ธรรมนั้น เป็นส่วนของความคิด อุดมคติ และหลักการ ส่วนวินัยนั้น ครอบคลุมส่วนที่เป็น กฎ เกณฑ์ และองค์กรทางสังคม หากพิจารณาในแง่จริยศาสตร์สังคม วินัยย่อมเป็นส่วนสำคัญยิ่ง เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตทางสังคมโดยเฉพาะ และเป็นการแปรความคิด อุดมคติ และหลักการให้เป็นการปฏิบัติ ธรรมนั้นเป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการพัฒนาการส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม วินัยนั้น เป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อความดีงามของสังคม วินัยย่อมต่อเนื่องกับธรรม และความดีงามของสังคมย่อมเข้ากันได้กับการบรรลุธรรมส่วนบุคคล ในแง่ที่ว่า วินัยจะต้องมีธรรมเป็นพื้นฐาน และสิ่งที่เป็นความดีงามของสังคม ย่อมเอื้อต่อพัฒนาการและการบรรลุธรรมส่วนบุคคลด้วยเสมอ ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า วินัยของสงฆ์อันเป็นส่วนเติมเต็มที่เป็นอิสระจากสังคมนั้น ย่อมตายตัวและค่อนข้างปิด ในขณะที่วินัยสำหรับสังคมคฤหัสถ์ที่กว้างกว่า ยังเปิดทางให้ปรับ ประยุกต์ได้ตามกาลและเทศะ วินัยสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น แต่วินัยสำหรับสังคมโดยรอบนั้น เป็นส่วนที่ชนผู้สามารถและชอบธรรมดังเช่น พระจักรพรรดิ จะเป็นผู้กำหนดจัดแจง โดยอาศัยแนวคิดและหลักการกว้างๆ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงปูทางไว้ให้ โดยหลักการ หรือโดยอุดมคติแล้ว วินัยคฤหัสถ์ควรก่อให้เกิดระบบองค์กรทางสังคม ซึ่งบำรุงรักษาหมู่กัลยาณมิตร โดยให้ประชาชนอยู่ร่วมกัน และอาศัยประโยชน์จากกันเยี่ยงมิตรที่ดีพึงกระทำต่อกัน หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ให้สังคมนั้นๆ มีกัลยาณมิตรอยู่ ทั้งสร้างสภาพแวดล้อมอันเอื้อต่อพัฒนาการ และการบรรลุธรรมส่วนบุคคลด้วย

บัญญัติและความคิดอื่นที่สำคัญในพุทธจริยศาสตร์ อันเห็นควรจะเอ่ยถึงไว้ในที่นี้ มีดังต่อไปนี้

๑. ถ้าจะให้ระบบจริยศาสตร์ยืดหยุ่นได้ ก็ต้องมีมาตรฐานหรือเกณฑ์กว้างๆ เป็นหลักไว้ด้วย ในทางพุทธ มาตรฐานดังกล่าวประกอบด้วย

ก. มาตรฐานด้านมรรควิธี โดยอาศัยแก่นคำสอนของ พระพุทธเจ้า อันได้แก่

๑) ไม่กระทำชั่วทั้งปวง

๒) กระทำความดีทั้งหลาย

๓) ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์

แน่ละ ยังมีมาตรฐานอื่นๆ อีกเป็นอันมาก แต่เนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด จึงต้องละไว้

ข. มาตรฐานทางด้านเป้าหมาย โดยอาศัยบัญญัติ ๒ หมวดที่ว่าด้วยประโยชน์ ๓ อันบุคคลพึงบรรลุให้ได้มากที่สุด ตามแต่สภาพการณ์ของชีวิตตน หมวดแรกประกอบด้วย เป้าหมายในระนาบดิ่ง ดังนี้

๑) ประโยชน์อันพึงได้ในปัจจุบัน หรือประโยชน์ที่ตาเห็น (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ตัวอย่างเช่น โภคทรัพย์ สุขภาพ เกียรติ ฐานะ ชื่อเสียง กัลยาณมิตร และ ชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข

๒) ประโยชน์อันพึงได้ในภายภาคหน้า หรือประโยชน์ทางจิตใจ (สัมปรายิกัตถะ) ข้อนี้หมายถึง ความสุข และสงบทางใจ ความมีชีวิตที่ไม่มีใครตำหนิได้ และความมั่นใจตนต่อชีวิตโลกหน้า

๓) ประโยชน์สูงสุด หรือประโยชน์อันมีในที่สุด (ปรมัตถะ) ซึ่งหมายถึงนิพพาน อันสงบ เป็นสุข และเป็นอิสระเยี่ยมยอด10

หมวดที่สองประกอบด้วยเป้าหมายระนาบนอนดังนี้

๑) ประโยชน์ส่วนตน (อัตตัตถะ)

๒) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)

๓) ประโยชน์ที่เป็นทั้งของตนและของผู้อื่น (อุภยัตถะ)11

๒. ความสัมพันธ์ระหว่างกุศลธรรมที่ได้รับการบ่มเพาะภายในใจ กับการแสดงออกภายนอก ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งเช่นกัน หากไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ย่อมทำให้สับสนและปฏิบัติผิดพลาดได้ ในประเด็นนี้ ตัวอย่างก็คือ ธรรม ๒ หมวด ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมเลยทีเดียว หมวดแรกได้แก่ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ (พรหมวิหาร) อันได้แก่

๑) เมตตา ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีสุข

๒) กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

๓) มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุข

๔) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่ถูกสิ่งแวดล้อมรัดรึง12

หมวดที่สอง เรียกว่า ธรรมเป็นเครื่องประสานให้เกิดความปรองดองในสังคม หรือหลัก ๔ ประการแห่งสามัคคีธรรม (สังคหวัตถุ) อันประกอบด้วย

๑) ทาน การให้ การแบ่งปัน การสงเคราะห์ด้วยทรัพย์

๒) ปิยวาจา การกล่าววาจาไพเราะอำนวยประโยชน์

๓) อัตถจริยา การช่วยเหลือรับใช้

๔) สมานัตตตา การมีตนเสมอ ไม่ลำเอียง และร่วมทุกข์ร่วมสุข13

ข้อแตกต่างระหว่างธรรม ๒ หมวดนี้ก็คือ หมวดแรกนั้นเป็นคุณภาพทางใจ อันเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุธรรมส่วนบุคคล และจัดอยู่ในหมวดสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา (การฝึกและพัฒนาคุณภาพจิต)14 ธรรมทั้ง ๔ ประการนั้น ล้วนเป็นลักษณะ หรือ คุณภาพทางใจ ซึ่งไม่ใช่การแสดงออกภายนอกต่อสังคม เราสามารถกระทำการโดยมีเมตตาเป็นเจ้าเรือนได้ แต่หามีการกระทำที่เรียกว่าเมตตาไม่ ในทางตรงกันข้าม ธรรมหมวดที่สองนั้นเป็นธรรมแห่งการกระทำ ที่ท่านประสงค์ให้ใช้ในการแสดงออกภายนอกต่อสังคม และจัดอยู่ในหมวดศีล ความสัมพันธ์และการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างธรรม ๒ หมวดนี้ อยู่ที่ว่า หากจะให้การกระทำทางสังคมนั้นเป็นไปอย่างจริงใจ เที่ยงแท้ สะอาด หนักแน่น และคงทนต่อการพิสูจน์แล้ว จะต้องกระทำการนั้นๆ โดยอาศัยคุณภาพทางใจทั้ง ๔ ประการ ในหมวดแรกเป็นพื้นฐาน เมตตา กรุณา และมุทิตานั้น ย่อมนำไปสู่ ทาน ปิยวาจา และอัตถจริยา ตามเงื่อนไขและโอกาสต่างๆ ในขณะที่อุเบกขาย่อมเป็นหัวใจของสมานัตตตาเลยทีเดียว

๓. แก่นของพุทธจริยศาสตร์ย่อมหมายถึง อัปปมาทธรรม คือ ความไม่ประมาทด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทไว้ว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง (เพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”15 อัปปมาทธรรมนี้ยังถือเป็นบาทฐานหรือที่ประชุมของกุศลธรรมทั้งมวลด้วย16 โดยธรรมเนียมแล้ว ความไม่ประมาทมักได้รับคำนิยามว่า เป็นอาการไม่ว่างจากสติ17 อันที่จริง ความไม่ประมาทนี้ เป็นทั้งสติ และวิริยะคือความหมั่นความเพียร ประกอบเข้าด้วยกันทีเดียว ความหมายของธรรมข้อนี้ อยู่ที่การไม่ปล่อยปละละเลย ทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ระมัดระวังไม่ปล่อยตนให้ตกไปสู่เหตุแห่งความเสื่อม หายนะภัย หรือความชั่วร้ายใดๆ กับทั้งระวังระไวไม่ให้เสียโอกาสในการทำดี หรือดำเนินการตามเป้าหมาย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่พระเจ้าโกศล ทรงสอนให้พระเจ้าโกศลบำเพ็ญความไม่ประมาทเป็นส่วนควบไปกับการคบกัลยาณมิตร เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น18 ธรรมข้อนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งดีงามทั้งหลาย อันเป็นข้อซึ่งควรจะได้รับการเน้นย้ำให้มากขึ้น อธิบายให้รัดกุมขึ้น และส่งเสริมกันให้มากด้วย ในระบบพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม

๔. ปัญหาเรื่องแรงจูงใจก็เป็นเรื่องสำคัญในทางพุทธ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลหรือทางสังคม กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ความปรารถนา (ฉันทะ) นั้นมีอยู่ ๒ แบบ แบบหนึ่งเป็นไปโดยธรรม อีกแบบหนึ่งเป็นไปโดยอธรรม แบบแรกท่านจัดให้เป็นความปรารถนาในทางที่ดีงาม หรือความปรารถนาที่จะทำดี (กุศลฉันทะ ธรรมฉันทะ หรือกุศลธรรมฉันทะ)19 แบบหลังรู้จักกันดีในนามของตัณหาหรืออกุศลฉันทะ ซึ่งนิยามได้ว่า เป็นความต้องการสนองความอยากได้ อยากมี อยากเป็นต่างๆ เป็นการพะนอความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน พุทธจริยศาสตร์ย่อมส่งเสริมกุศลฉันทะแน่นอน20 ประเด็นที่สำคัญนั้นอยู่ที่ว่า จะต้องแยกความปรารถนาทั้งสองแบบออกจากกันให้ชัด ส่วนที่เป็นธรรมพึงศึกษากันให้มากและสนับสนุนกันให้มาก

1องฺ.ทุก. ๒๐/๓๗๑/๑๑๐; เทียบ ม.มู. ๑๒/๔๙๗/๕๓๙
2สํ.ม. ๑๙/๑๒๙/๓๖; ๑๓๘/๓๗
3สํ.ม. ๑๙/๑๓๖/๓๗; ๑๔๕/๓๘
4สํ.ม. ๑๙/๗/๓
5ที.ปา. ๑๑/๑๘๕/๑๙๘
6ขุ.ขุ. ๒๕/๖/๓; ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๘/๓๗๖; พระพุทโธวาท และพระพุทธพจน์ ที่เน้นย้ำความสำคัญของการสมาคมและสภาพแวดล้อมนี้ อาจหาพบได้ทั่วไปในพระบาลี เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอุทาหรณ์ของความข้อนี้ ก็มีอยู่ทั่วไปในชาดก
7เช่น องฺ.ติก. ๒๐/๕๒๖/๒๙๗
8ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๐/๒๔๑; ๒๓๘/๒๗๐
9ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๐/๒๔๑; ๒๓๘/๒๗๐
10ขุ.จู. ๓๐/๖๗๓/๓๓๓; ๗๕๕/๓๘๙; ในพระบาลีรุ่นเก่า มักเอ่ยถึงประโยชน์สองประการแรกเป็นสำคัญ โดยรวมเอาประการที่สามไว้ในประการที่สอง ดูตัวอย่างเช่น สํ.ส. ๑๕/๓๖๗/๑๒๐; ๓๗๙/๑๒๖; องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๓/๕๓; ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๑/๒๔๒; และ พรหมายุสูตร ใน ม.ม. ๑๓/๕๙๖/๕๔๓
11ขุ.จู. ๓๐/๖๗๓/๓๓๓; ๗๕๕/๓๘๙; องฺ.ติก. ๒๐/๔๙๔/๒๐๑; ๕๑๑/๒๗๙; องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๕๑/๗๒; องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๖๙/๑๓๗
12ที.ม. ๑๐/๑๘๔/๒๒๕; ที.ปา. ๑๑/๒๒๐/๒๓๒; ฯลฯ
13ที.ปา. ๑๑/๑๔๐/๑๖๗; ๒๖๗/๒๔๔; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๒/๔๒; ๒๕๖/๓๓๕; องฺ.อฎฺฐก. ๒๓/๑๑๔/๒๒๒; ๒๐๙/๓๗๗
14ใน วิสุทธิมรรค ส่วนที่ว่าด้วยพรหมวิหารสี่นี้มีอยู่ถึง ๔๓ หน้า (ภาค ๒ หน้า ๘๕-๑๓๑) แต่หามีโบราณาจารย์ท่านใดแสดงเรื่อง สังคหวัตถุธรรม ที่เป็นคู่กันไว้ไม่
15ที.ม. ๑๐/๑๐๗/๑๔๑
16สํ.ม. ๑๙/๒๖๒/๖๖
17ตัวอย่างเช่น ที.อ. ๑/๑๓๖
18สํ.ส. ๑๕/๓๗๘-๓๘๐/๑๒๕-๖
19องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๖๗/๔๙๑
20ตัวอย่างเช่น อิทธิบาทสี่, ที.ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง