รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถาม มียุคไหนบ้างที่ทางรัฐกับศาสนาเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดผลเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย

ตอบ เรื่องนี้จะต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ดูให้ดีอีกทีหนึ่ง แต่ก็มีตัวอย่าง เช่นในสมัยพระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีเรื่องเล่า แต่เท็จจริงประการใดไม่ทราบ ว่าไปตามพงศาวดาร ท่านเล่าว่าในปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พระองค์ทรงพระสติฟั่นเฟือน และทรงเข้าพระทัยว่าพระองค์เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล ก็จะให้พระสงฆ์ไหว้ ได้ตรัสถามพระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชได้ทูลว่าพระสงฆ์ไหว้คฤหัสถ์ไม่ได้ แม้คฤหัสถ์จะเป็นอริยะ พระจะเป็นปุถุชนก็ไหว้คฤหัสถ์นั้นไม่ได้ และก็มีพระผู้ใหญ่องค์อื่นตอบว่าได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ถอดสมเด็จพระสังฆราชและพระอื่นที่ได้ตอบอย่างเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างความขัดแย้งอันหนึ่ง ที่นำมาซึ่งผลเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะว่าเมื่อถอดสมเด็จพระสังฆราช ก็แน่นอนว่า ประชาชนที่เคารพเลื่อมใสพระสังฆราช ขุนนางผู้ใหญ่อะไรต่างๆ จำนวนมากก็กระทบกระเทือนใจ ก็ทำให้เสียความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ส่วนผลเสียหายต่อคณะสงฆ์ก็แน่นอนว่า อย่างหนึ่งละที่พระสงฆ์ขัดแย้งกันเอง อย่างที่ ๒ ก็เกิดขัดกับทางรัฐ ความสัมพันธ์และอุปถัมภ์บำรุงก็ไม่เป็นไปอย่างที่เคยเป็น เหตุการณ์ก็ไม่ราบรื่น ก็ทำให้ผลเสียหายเกิดแก่บ้านเมือง แก่ประชาชน และก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแผ่นดิน หรือสิ้นสุดแผ่นดินพระเจ้าตากสิน ก้าวเข้าสู่ยุคกรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง