เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (ฉบับย่อ-เพิ่มเติม)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๒. มุทิตา แปลกันมาว่า ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นประสบความสุขหรือความสำเร็จ เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ประการ คือ เป็นธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐซึ่งมีจิตใจกว้างขวางยิ่งใหญ่ แสดงถึงความปราศจากริษยา พระพุทธเจ้าก็ทรงประกอบด้วยมุทิตาจิต และทรงบำเพ็ญมุทิตาธรรม

ท่านโพธิรักษ์ เมื่ออธิบายหลักธรรมข้อมุทิตานี้ ก็แสดงรากศัพท์ขึ้นมาว่า มุทิตา มาจาก มุท ซึ่งแปลว่า ยินดี หรือมาจาก มท อีกที อันแปลว่า ความมัวเมา หรือความหลงที่เหลืออยู่ หรือความติด มุทิตาจึงหมายถึงการที่ยังมีความหลงใน“ดี” หรือมีความติด“ดี” นั้นๆ อยู่ เมื่อได้เห็นได้ยินได้สัมผัส“ดี” จึงมีอาการชื่นชอบใจ ลิงโลดฟูใจ ดีใจ

การแสดงรากศัพท์ของท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไขว้เขว เหมือนกับว่า เมื่อเขากำลังพูดถึงเรื่องโลกปัจจุบัน กลับไพล่ไปพูดเรื่องโรคปัจจุบัน เขากำลังพูดเรื่องเสื้อเก่า กลับไพล่ไปพูดเรื่องเสือเก่า เขากำลังพูดเรื่องจีนแคะ กลับไพล่ไปพูดเรื่องคนแคระ ยิ่งเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นนามธรรม ความเข้าใจผิดพลาดก็ทำให้เกิดความเสียหายที่ลึกซึ้งกว้างไกล

เมื่อท่านโพธิรักษ์อธิบาย มุทิตา ให้มาจากรากศัพท์ว่า “มท” แล้ว ในแง่ภาษา ความหมายของมุทิตาก็ผิดไปกลายเป็นภาวะที่ประกอบด้วยความหลงหรือมัวเมา และในแง่หลักธรรม ก็เกิดความฟั่นเฟือน กลายเป็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีกิเลสคือความหลงใหลมัวเมาอยู่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง