มีคำพูดในภาษาไทยจะเอามาจากคติของเมืองไหนก็ไม่ทราบ ทำนองว่า ปลาที่มันปล่อยตัวลอยไปตามกระแสน้ำเป็นปลาตาย ส่วนปลาที่มันว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปเป็นปลาเป็น
คตินี้เอามาใช้กับโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมได้ เราบอกได้ว่าปลาตายก็ปล่อยตัวไหลไปตามโลกียธรรม ไหลเรื่อยไป เช่น ติดอยู่ในอบายมุขชั้นต้นๆ ติดกามคุณต่างๆ ตลอดถึงฌานสมาบัติที่เป็นโลกีย์ ติดในสมาธิอะไรต่างๆ ติดหลงตัวเองในการถือวัตรปฏิบัติเคร่งครัดเข้มงวดในเรื่องต่างๆ อันนี้เรายังถือว่าเป็นเรื่องโลกียธรรม ส่วนปลาเป็นก็ว่ายทวนกระแสไปหาโลกุตตรธรรม อันนั้นเป็นลักษณะของชาวพุทธ คือว่าจะต้องพยายามไปหาโลกุตตรธรรม
แต่ว่าเรื่องโลกียธรรม โลกุตตรธรรมนี่ อาตมาว่ามันมีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจกันอยู่มาก เมื่อกี้ก็ได้พูดทีหนึ่งแล้ว ขอยกมาย้ำเช่นว่า คฤหัสถ์ที่อยู่ครองเรือนมีบุตรภรรยานี้ แกอาจจะเป็นโสดาบัน แกได้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว ส่วนบางท่านไปอยู่ป่าบำเพ็ญฌานสมาบัติ ได้สมาธิขั้นสูงจนกระทั่งได้ฌานสมาบัติ ก็ยังเป็นโลกียธรรมอยู่นั่นแหละ เรื่องนี้มีมาก่อนพุทธกาลตั้งนาน ฤาษีชีไพรในสมัยก่อนพุทธกาลในชาดกมีมากมายไม่รู้กี่ร้อยๆ พวกฤาษีโยคีเหล่านี้ได้ฌานสมาบัติกัน ได้อภิญญา แต่ก็เป็นโลกียะ พวกนี้จะติดอยู่ในฌานในสมาบัติ มีฌานเป็นกีฬา คำว่า ฌานกีฬา ท่านใช้บ่อย คือ เล่นฌานเพราะสนุกกับฌาน ติด พอได้ฌานแล้วก็มีความสุข แกก็เลยติดฌานเพลินฌาน
พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ก็ได้ไปเรียนในสำนักโยคะ อย่างพวกอาฬารดาบสกาลามโคตร อุททกดาบสรามบุตร อาฬารดาบสนี่ท่านได้ถึงฌานสมาบัติขั้นที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะฌาน ท่านอุททกดาบสรามบุตรก็ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สมาบัติ ๘ ครบถ้วน พระพุทธเจ้าไปถึงสำนักเหล่านี้เรียนจบแล้ว ก็บอกว่าไม่เป็นทางแห่งความตรัสรู้ แล้วก็ละไป อันนี้เป็นคติที่เราจะต้องเอาไว้ระวังตัว แยกให้ถูกโลกียธรรม โลกุตตรธรรม
ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ไปกันถึงขนาดว่า โลกียธรรมเป็นธรรมสำหรับชาวบ้านอยู่ครองเรือน แล้วก็สำหรับพัฒนาประเทศชาติ โลกุตตรธรรมเป็นธรรมสำหรับผู้ปลีกตัวออกจากบ้านเรือนไป ซึ่งนี่มันห่างไกลไปจากหลักมาก ที่จริงตรวจสอบหลักเพียงนิดเดียวก็รู้ มันไม่ใช่หลักที่หายากอะไร ในหลักธรรมท่านก็แสดงไว้มากมาย ไปๆ มาๆ จะต้องแยกความหมายเป็น ๒ อย่าง เป็นโลกุตตรธรรมภาษาไทยอย่างหนึ่ง ภาษาพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง
เหมือนอย่างที่เดี๋ยวนี้ เรามีคำว่า ‘มานะ’ ในภาษาไทย หมายถึงความเพียร ศัพท์ธรรมะหมายถึง ความถือตัว หรืออิจฉาแทนที่ จะแปลว่า ความอยาก ก็กลายเป็นความริษยา อะไรทำนองนี้ ต่อไปก็จะกลายเป็นว่าศัพท์ในภาษาไทยกับศัพท์ในภาษาธรรมห่างกันไปทุกที หลักการเหล่านี้ควรจะได้ตรวจสอบกันไว้
ทีนี้ ท่านบอกว่า ในเรื่องโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมนี้ สำหรับโลกียธรรมน่ะ จิตเป็นใหญ่ เราคงจะได้เคยได้ยินพระพุทธภาษิตบอกว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา--ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน สำเร็จด้วยใจ อะไรทำนองนี้ มีในธรรมบทคาถาแรกทีเดียว ใจเป็นใหญ่
แต่ในธรรมขั้นสูง ท่านบอกว่า
สพฺเพ ธมฺมา ปญฺญุตฺตรา
ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นเยี่ยมยอด
อันนี้ท่านก็อธิบายบอกว่า นี่นะที่ว่าจิตเป็นใหญ่ คือ ในระดับโลกียธรรม จิตเป็นใหญ่ตามหลักของโลกียธรรม มนุษย์อาศัยจิตชักนำ อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากดี อยากทำในสิ่งที่ไม่ดี สนองปรนเปรอตน หรือว่าอะไรก็ตาม แต่ว่ามันอยู่ในขั้นโลกียธรรม จิตเป็นใหญ่ ส่วนในโลกุตตรธรรมลอยพ้นอำนาจความอยากนี้ต้องใช้ปัญญา ฉะนั้นในขั้นโลกุตตรธรรมนั้น ปัญญาเป็นใหญ่ เอาละ...นี่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตเอามาพูดกัน