พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ครอบงำสังคมและหล่อหลอมใจคน

สภาพโลกาภิวัตน์ข้อที่สามคือระบบเศรษฐกิจ เวลานี้เศรษฐกิจก็มาถึงสภาพโลกาภิวัตน์ ที่ว่าเป็น global economy เวลานี้เศรษฐกิจแบบไหนเป็น global economy ระยะที่แล้วมานี้มีการแข่งขัน ระหว่างสังคมสองฝ่ายหรือโลกสองค่าย คือค่ายตะวันตกกับตะวันออก หรือค่ายโซเวียตกับค่ายอเมริกา อเมริกาเป็นผู้นำค่ายเสรีนิยม ทีนี้พอค่ายเสรีนิยมชนะ ลัทธิเศรษฐกิจหรือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เลยพลอยมีหน้ามีตา ได้รับความนิยมมากขึ้น เวลานี้ก็แพร่ไปทั่วโลกจนกระทั่งคนอเมริกันยกเป็นข้อภูมิใจอย่างหนึ่งของตน

ขอให้สังเกตว่า เมื่อประธานาธิบดีคลินตันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งแสดงความภูมิใจแก่คนอเมริกันเพื่อนร่วมชาติของตนเองว่า เวลานี้ American idea คือภูมิปัญญาอเมริกันได้รับการยอมรับไปทั่วโลก สิ่งที่ภูมิใจในคำประกาศของประธานาธิบดีคลินตันคืออะไร ก็คือ democracy and free-market economy (ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีคือทุนนิยม) นี่เขาเอาเป็น American idea เป็นภูมิปัญญาอเมริกันเลยนะ ที่จริง democracy คือประชาธิปไตยนั้นเกิดที่อื่นมาก่อนด้วยซ้ำ มันมาจากแถวฝรั่งเศสและอังกฤษโน่น แต่เขาถือว่าระบบประชาธิปไตยแบบอเมริกันได้รับความนิยมพร้อมไปด้วยกันกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market) ซึ่งก็คือ capitalism หรือทุนนิยมนั่นเอง ประธานาธิบดีอเมริกันแสดงความชื่นชมพูดให้คนอเมริกันภูมิใจด้วยว่า ชาติของเรานี้มีฐานะที่ยิ่งใหญ่ คนยอมรับ idea คือภูมิปัญญาความคิดกันทั่วโลกแล้ว

ระบบเศรษฐกิจแบบนี้กำลังเป็นสภาพโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เราจะต้องรู้เข้าใจว่าระบบนี้เป็นระบบผลประโยชน์ และหัวใจสำคัญของมันคือการแข่งขัน (competition) เวลานี้อเมริกันกำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ในโลกไป ก็เพราะชักจะพ่ายแพ้ในการแข่งขัน และที่ชักจะพ่ายแพ้มากขึ้นๆ เขาเองก็เชื่อว่าเป็นเพราะคนอเมริกันกำลังสูญเสียสิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า competitiveness คือความใฝ่แข่งขันและพร้อมที่จะแข่งขัน หรือความสามารถในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นจึงจะต้องสร้าง ต้องฟื้นพลังแรงที่จะแข่งขัน (competitiveness) นี้ กลับคืนมาให้ได้

เวลานี้ ลัทธิทุนนิยม ในระบบแข่งขัน แบบตัวใครตัวมัน กำลังจะเป็นโลกาภิวัตน์ และสังคมของเราก็มีแนวโน้มแห่งความนิยมที่จะหมุนตามระบบนี้และผลักดันให้คนของเราเข้าสู่ยุคของการแข่งขันด้วย แต่เราจะต้องมองทั้งข้อดี และข้อด้อย ทั้งส่วนดีและส่วนเสียของมัน เพราะที่จริงนั้น ระบบเศรษฐกิจนี้ก็เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่ว่ามาแล้ว กล่าวคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญมาในทิศทางที่นำโลกมาสู่ปัญหาสำคัญคือธรรมชาติแวดล้อมเสียฉันใด ระบบเศรษฐกิจตามลัทธิทุนนิยมแบบแข่งขันที่มุ่งหาผลประโยชน์นี้ก็ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำมนุษย์มาประสบปัญหาต่างๆ ของโลก ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียและปัญหาความขัดแย้งในสังคม ตลอดจนสงคราม คือปัญหาทั้งสังคมและสภาพแวดล้อม ตลอดจนสภาพจิตใจของมนุษย์ที่มีความเครียด มีปัญหาโรคจิต โรคประสาทมาก ฉันนั้น ว่าที่จริง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือในการก่อปัญหา แต่ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ต่างหากที่เป็นตัวการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการก่อปัญหาเหล่านั้น

เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้ใช้การแข่งขันเป็นหัวใจ จึงผลักดันให้มนุษย์มีความสัมพันธ์เชิงไมตรีต่อกันน้อยลง มนุษย์มีน้ำใจต่อกันน้อยลง และสภาพตัวใครตัวมันเด่นชัดมากขึ้น และยิ่งกว่านั้นสังคมจะผลักดันให้มนุษย์เกิดสภาพจิตขึ้นอย่างหนึ่ง คือสภาพจิตของการมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ มนุษย์นั้นถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมด้วย เรื่องนี้เราจะต้องรู้เท่าทัน สภาพเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมเป็นแบบนี้แล้วก็ผลักดันสภาพจิตใจให้เป็นไปตามและสอดคล้องกับมันด้วย

พูดง่ายๆ ว่าคนเรานี้มีความสัมพันธ์สองอย่างเกี่ยวกับเรื่องวัตถุ หรือสิ่งเสพบริโภคอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ คือ ได้ กับ เสีย แต่ “เสีย” นั้นถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ดีเราเปลี่ยนคำใช้เป็น “ให้” จึงเป็น ได้ กับ ให้ ให้ก็คือเสียนั่นแหละ แต่เราใช้ว่าให้ โดยเปลี่ยนไปตามคุณธรรมและเจตนา ได้กับให้นี่จะเห็นว่าเป็นคู่กัน เมื่อมนุษย์สัมพันธ์กันเกี่ยวกับวัตถุก็จะมีความสัมพันธ์แบบได้กับให้

ในระบบสังคมภายใต้เศรษฐกิจแบบมุ่งหาผลประโยชน์ การแข่งขันเพื่อแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์จะผลักดันให้มนุษย์เน้นหนักหรือมีความโน้มเอียงของจิตใจไปในทางที่มุ่งจะได้จะเอา คือคิดถึงการได้อยู่เสมอ และการคิดจะได้ก็คือคิดจะเอา

เมื่อระบบสังคมแวดล้อมและผลักดันอยู่อย่างนี้ มนุษย์ก็เหมือนกับฝึกจิตของตัวเอง คือจะเกิดเป็นความเคยชิน เพราะแต่ละวันตื่นขึ้นมาก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้ ทำอย่างไรจะได้ เราจะได้อะไร เราจะเอาที่ไหนมา จะเอาจากใคร คิดทำนองนี้ตลอดเวลา เมื่อคิดอย่างนี้สภาพจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นสภาพจิตที่มองไปที่วัตถุ แต่มนุษย์นั้นอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เขามีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นในการที่เขามีความสัมพันธ์กับวัตถุนี้ ก็โยงไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วย เวลาเขามองวัตถุด้วยความคิดว่าเขาจะได้จะเอา เขาจะมีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกันนั้นโดยไม่รู้สึกตัว คือความรู้สึกว่าเพื่อนมนุษย์คนอื่นเป็นคู่แข่ง เพราะโดยสัญชาตญาณ เมื่อมองว่าเราอยากจะได้ ก็รู้สึกว่าคนอื่นก็อยากจะได้ เราจะเอา คนอื่นก็จะเอา เราก็เกิดความระแวงขึ้นมา เพราะฉะนั้น เมื่อมนุษย์คิดจะได้ ความรู้สึกที่มองเพื่อนมนุษย์ก็จะเป็นไปในแบบเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง การเป็นคู่แข่งก็คือความเป็นปฏิปักษ์อย่างหนึ่ง พร้อมกันนั้น ความรู้สึกหวาดและระแวง ความหวงแหนกีดกัน ความไม่ไว้วางใจ ความไม่จริงใจต่อกัน ก็จะแฝงนอนอยู่ในจิตใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ต่อมา เมื่อมีความสามารถมากขึ้น มนุษย์ที่ชำนาญในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ก็จะมองเพื่อนมนุษย์ก้าวข้ามขั้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ ขอให้สังเกตดู ในระบบผลประโยชน์ เมื่อเราสะสมระบบนี้ไปและมีวิถีชีวิตเป็นอย่างนี้ มนุษย์จะมองกันแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ คือมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความคิดว่า ทำอย่างไรเราจะได้อะไรจากเขา ทำอย่างไรจะใช้เขาเป็นทาง เป็นหนทาง เป็นเครื่องมือในการที่เราจะได้เงินได้ผลประโยชน์ หรือจะเอาผลประโยชน์จากเขาได้อย่างไร อันนี้จะเป็นสภาพจิตที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมแบบแข่งขันหาผลประโยชน์

ในทางตรงข้าม ถ้ามนุษย์คิดจะให้แล้วสภาพจิตอะไรจะเกิดขึ้น พอเราคิดตั้งใจว่าจะให้ จุดสนใจของเราไม่อยู่ที่วัตถุ แต่ไปอยู่ที่คน พอจุดสนใจของเราไปอยู่ที่คน เราจะมองหน้ามองตาเขา เราจะเห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา แล้วเราก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจตลอดจนเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เขามีทุกข์เราก็สงสาร รู้ความต้องการแล้วเราก็อยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ความรู้สึกที่เป็นคุณธรรมคือเมตตากรุณาก็เกิดขึ้นมา ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ความเห็นใจและความสงสารที่เกิดขึ้นมานี้เป็นสภาพจิตที่ทำให้เรามีความต้องการใหม่เกิดขึ้น คือต้องการจะให้ ที่ต้องการจะให้ก็เพราะต้องการจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ แล้วเราก็เอาของไปให้ พอให้แก่เขา เราเห็นเขาหายทุกข์หายเศร้า เป็นสุขขึ้นมา เราได้สนองความต้องการนั้น เราก็พลอยดีใจเป็นสุขด้วย เพราะฉะนั้น เราก็จะได้ความสุขจากการให้

ถ้ามนุษย์มีสภาพจิตแบบนี้ด้วย ชีวิตก็จะมีดุลยภาพ แต่สังคมภายใต้ระบบผลประโยชน์จะบีบบังคับหล่อหลอมสภาพจิตของมนุษย์ และถ้าเราไม่รู้ตัวเราก็จะเอียงไปข้างเดียวในทางจะได้จะเอาดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในระบบสังคมทุนนิยมนั้น นานไปๆ ก็เป็นสภาพจิตอย่างที่ว่า คือมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ เรื่องนี้ขอให้สังเกตไว้ให้ดี การศึกษาจะต้องมาช่วยแก้ อย่างน้อยต้องช่วยสร้างดุลยภาพให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับวัตถุทั้งในเชิงได้ และในเชิงให้ เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติมันเป็นของมัน กล่าวคือในโลกของธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้าอะไรต่างๆ ทุกอย่างต้องมีทั้งการได้และการให้ทั้งนั้น ชีวิตจะมีดุลยภาพ สังคมจะมีดุลยภาพ ธรรมชาติแวดล้อมจะมีดุลยภาพ ด้วยการที่มีความสัมพันธ์สองด้าน คือได้กับให้เป็นคู่กัน แต่มนุษย์ในระบบทุนนิยมนี้กำลังจะเอาอย่างเดียว คิดจะได้อย่างเดียว จึงย่อมจะเกิดปัญหาทั้งในชีวิตจิตใจ ทั้งในสังคม และในสิ่งแวดล้อม นี้เป็นจุดที่ต้องการเอามาให้มอง

เป็นอันว่า บัดนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้การแข่งขันมุ่งหาผลประโยชน์ ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโลกนี้ให้เข้าสู่ระบบของมัน จนกระทั่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กลายเป็นทาสรับใช้ระบบเศรษฐกิจไป โดยแสดงออกทางระบบอุตสาหกรรมเป็นต้น แล้วก็ได้ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเครื่องทำลายสิ่งแวดล้อมไป ที่จริงไม่ใช่ตัววิทยาศาสตร์ทำลายแต่เป็นเทคโนโลยีทำลาย แต่เพราะเทคโนโลยีต้องอาศัยวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาขึ้นมาได้ ก็เลยกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ถูกโทษว่าได้ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาชีวิตจิตใจมากมาย อันสืบเนื่องมาจากการแข่งขันแย่งชิง อันนี้เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ที่สาม

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความเป็นไปและบทบาทของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมทั่วไปหมด โดยมีอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือ พร้อมด้วยแรงหนุนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น เหตุปัจจัยที่ลึกลงไปก็คือความคิด ความเชื่อและความใฝ่ปรารถนาต่างๆ ที่มาจากเจตจำนงของมนุษย์ การแก้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องลงลึกไปถึงขั้นนี้ ปรัชญาการศึกษาจะต้องสามารถให้ปัญญาที่จะวิเคราะห์วินิจฉัยสิ่งเหล่านี้และบอกแนวทางพัฒนามนุษย์ที่จะแก้ปัญหาถึงขั้นนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพูดกันในตอนต่อไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง