พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บริจาคอวัยวะแล้ว เกิดใหม่ร่างกายยิ่งดี

ผู้อำนวยการฯ : ปัญหาที่เราเจอ ในการทำการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ คือ บางคนก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าให้อวัยวะเขาไปแล้วในชาตินี้ เกิดมาชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ

พระธรรมปิฎก : อันนี้ไม่จริงเลย มีแง่พิจารณา ๒ อย่างด้วยกัน

๑. ในแง่หลักฐานทางคัมภีร์แสดงว่า พระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบริจาคนัยน์ตา ก็เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้สมันตจักษุ คือเป็นพระเนตรหรือดวงตาที่เป็นพิเศษสุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราแปลว่าเป็นดวงตาซึ่งมองเห็นโดยรอบ ไม่ใช่ดวงตาที่เป็นวัตถุอย่างเดียว แต่หมายถึงดวงตาทางปัญญาด้วย ในแง่พระคัมภีร์ก็สนับสนุนชัดเจนว่าชาติหน้ามีแต่ผลดี

๒. ในแง่เหตุผล ที่เข้าใจกันว่าบริจาคอวัยวะไปแล้ว เกิดมาอวัยวะจะบกพร่อง เหตุผลที่ถูกต้องไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องมองว่าชีวิตที่เกิดมานี้ จิตใจเป็นส่วนสำคัญในการปรุงแต่งสร้างสรรค์ อย่างเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรามีเมตตาคิดดีปรารถนาดีต่อผู้อื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อไปหน้าตาเราจะถูกปรุงแต่งให้แจ่มใสเบิกบาน ในทางกลับกันถ้าเราคิดร้ายต่อผู้อื่น มักโกรธ อยากจะทำร้ายรังแกเขาอยู่เรื่อย หน้าตาก็จะบึ้งตึง เครียด หรือถึงกับดูโหดเหี้ยม นี้เป็นผลมาจากสภาพจิตที่เคยชินในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในชาติปัจจุบันนี้เอง

ทีนี้ชีวิตที่จะเกิดต่อไป ก็จะต้องอาศัยจิตที่มีความสามารถในการปรุงแต่ง ขอให้คิดง่ายๆ ว่า คนที่จะบริจาคอวัยวะให้คนอื่น ก็คือปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ หายเจ็บป่วย อยากให้เขาเป็นสุข จิตอย่างนี้ในตอนคิดก็เป็นจิตที่ดี คือจิตใจยินดีเบิกบาน คิดถึงความสุขความดีงามความเจริญ จิตก็จะสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในด้านนี้

ถ้าคิดบ่อยๆ จิตก็จะยิ่งมีความสามารถและมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะปรุงแต่งให้ดี และคุณสมบัตินี้ก็จะฝังอยู่เป็นสมรรถภาพของจิต เพราะฉะนั้น ในการบริจาคเราจึงต้องทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตา ปรารถนาดี และอันนี้แหละที่จะทำให้เราได้บุญมาก

ตรงกันข้ามกับคนที่คิดร้ายอยู่เสมอ คิดแต่จะโกรธ คิดแต่จะรังแกสัตว์ อยากจะทำร้ายคนโน้นคนนี้ คนที่คิดทำร้ายเขานั้น จิตจะคิดจะนึกถึงการบุบสลาย ความเจ็บปวด อาการมีเลือดไหล สภาพแตกหัก แหว่งวิ่น บกพร่อง ขาดหาย และการสูญเสียที่ร้ายๆ ไม่ดีทั้งนั้น และเมื่อคิดอยู่เสมอจิตก็มีความโน้มเอียงที่จะคิดในแง่นี้ และก็จะพัฒนาความสามารถที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ในการทำลาย ในการแตกสลาย คิดถึงชีวิต คิดถึงคนเมื่อไร ก็จะมองเห็นแต่รูปร่างไม่ดี บุบสลาย แขนขาด ขาขาด เจ็บปวดทรมาน นานเข้าบ่อยเข้า คนอย่างนี้ก็จะหมดความสามารถในการปรุงแต่งในทางที่ดี

คนที่ทำร้ายคนอื่น ชอบรังแกข่มเหงคนอื่น หรือคิดร้ายอยู่เสมอ เมื่อไปเกิดใหม่ก็จะมีปัญหาเรื่องความบกพร่องของอวัยวะ มักเจ็บป่วยประสบอันตรายอะไรต่างๆ เพราะว่าจิตสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในทางไม่ดีจนฝังลึก เรียกว่าลงร่องอย่างนั้น แล้วมันก็ปรุงแต่งชีวิตร่างกายของตัวให้เป็นไปในทางนั้น หรือได้อย่างนั้น แค่นั้น

ในทางตรงข้าม จิตที่พัฒนาความสามารถในทางที่ดี เช่น เมื่อบริจาคอวัยวะ เราคิดถึงคนอื่นในทางที่ดีมีกรุณาธรรม การที่เราบริจาคอวัยวะให้เขานั้น ก็คือจะทำให้เขามีร่างกายมีอวัยวะสมบูรณ์ขึ้น พ้นจากความบกพร่อง ให้เขาหน้าตาผ่องใส ให้เขามีชีวิตอยู่กับครอบครัวญาติมิตรของเขาอย่างมีความสุข ความคิดอย่างนี้ ยิ่งจิตเราคิดบ่อยก็ยิ่งดี เมื่อเราคิดหรือนึกถึงบ่อยๆ จิตของเราก็จะมีความโน้มเอียง พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะปรุงแต่งให้ดี

พอไปเกิดใหม่จิตจะปรุงแต่งอะไรก่อนล่ะ จิตก็ต้องปรุงแต่งชีวิตของตัวเองนั่นแหละ เมื่อจิตสะสมมามีความโน้มเอียง และมีความสามารถในทางที่ดีอย่างนั้น มีแต่ภาพของร่างกายและอวัยวะที่สวยงามสมบูรณ์ซึ่งได้สะสมไว้ มันก็จะปรุงแต่งชีวิตร่างกายรูปร่างหน้าตาให้ดี ให้งาม ให้สมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นเหตุผลในเรื่องของกรรม คือหลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมตามธรรมชาตินั่นเอง

ในเรื่องของกรรมนั้น เจตนา เป็นตัวการสำคัญในการปรุงแต่ง และจุดแรกเมื่อคนเกิดคือเริ่มชีวิตขึ้น ก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องปรุงแต่งชีวิตของตนนั้นเอง มันไม่ปรุงแต่งที่ไหนอื่น มันก็ใช้ความสามารถนั้นปรุงแต่งชีวิตของตนเองนั่นแหละก่อนอื่น มันมีความโน้มเอียงและความสามารถอย่างไร ก็ปรุงแต่งอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงแน่นอนว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องการบริจาคอวัยวะ ไม่มีปัญหาขัดข้องทางพระพุทธศาสนาและเหตุผลตามกฎธรรมชาติ แต่มี เหตุผลในทางสนับสนุน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง