ธรรมะเพื่อผู้สูงอายุ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พอปัญญามาบรรจบ ให้วางใจถูก
ชีวิตและความสุขก็ถึงความสมบูรณ์

ขั้นที่ ๔ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง คนเรานี้มีความสามารถในการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ โดยเฉพาะที่เห็นเด่นชัดก็คือ ปรุงแต่งความคิดมาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ทำให้เกิดมีเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย

ที่สำคัญก็คือในใจของเราเอง เรามักจะใช้ความสามารถในทางที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง แทนที่จะปรุงแต่งความสุข เรามักจะปรุงแต่งทุกข์ คือเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ขัดใจ ขัดหู ขัดตา เอามาครุ่นคิดให้ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง โดยเฉพาะท่านที่สูงอายุนี่ต้องระวังมาก ใจคอยจะเก็บอารมณ์ที่กระทบกระเทือน ไม่สบาย แล้วก็มาปรุงแต่ง ให้เกิดความกลุ้มใจ ว้าเหว่ เหงา เรียกว่าใช้ความสามารถไม่เป็น

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักใช้ความสามารถในการปรุงแต่ง แทนที่จะปรุงแต่งทุกข์ ก็ปรุงแต่งสุข เก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดีมาปรุงแต่งใจให้สบาย

แม้แต่หายใจ ท่านยังให้ปรุงแต่งความสุขไปด้วย ลองฝึกดูก็ได้ เวลาหายใจเข้า ก็ทำใจให้เบิกบาน เวลาหายใจออก ก็ทำใจให้โล่งเบา

ท่านสอนไว้ว่า สภาพจิต ๕ อย่างนี่ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ

๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบาน ปลอดโปร่งโล่งใจ

๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ

๓. ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย เรียบรื่นกายใจ ไม่เครียด

๔. ความสุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ คล่องใจ สะดวกใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง และ

๕. สมาธิ ความมีใจมั่นแน่ว ใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน จิตอยู่ตัวของมัน

ขอย้ำว่า ๕ ตัวนี่สร้างไว้ประจำใจให้ได้ เป็นสภาพจิตที่ดีมาก ผู้ที่เจริญในธรรมจะมีคุณสมบัติของจิตใจ ๕ ประการนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ

(ผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว) มากด้วยปราโมทย์ (มีใจร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ) จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป

ฉะนั้น ท่านผู้จะเกษียณอายุนี้ ถึงเวลาแล้ว ควรจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถือเป็นโอกาสดี มาปรุงแต่งใจ แต่ก่อนนั้นคอยจะปรุงแต่งทุกข์ ทำให้ใจเครียด ขุ่นมัว เศร้าหมอง คราวนี้ ปรุงแต่งใจให้มีธรรม ๕ อย่างนี้ คือ ปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานใจ ปีติ อิ่มใจ ปัสสัทธิ ผ่อนคลาย มีความสุข มีสมาธิ ใจสงบมั่นแน่ว ไม่มีอะไรรบกวนได้ ก็สบายโล่งไปเลย ทำใจให้ได้อย่างนี้อยู่เสมอ

ท่องไว้เลย ๕ ตัวนี่ คือ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว ทำไมเราไม่เอามาใช้ นี่แหละความสามารถในการปรุงแต่งจิต เอามาใช้ สบายแน่ และก็จะเจริญงอกงามในธรรมด้วย

ธรรม ๕ ตัว ตั้งแต่ปราโมทย์นี้ เป็นตัวบอกความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมด้วย ใครบอกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ห้าตัวนี้จะบอกให้รู้ว่า ผู้นั้นได้ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมไปบ้างหรือยัง

โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุนั้น เป็นธรรมดาว่าจะต้องมีเวลาพัก และเวลาที่ว่างจากกิจกรรม มากกว่าคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ที่เขายังมีกำลังร่างกายแข็งแรงดี คนมีเรี่ยวแรงกายดีเหล่านั้น ว่างจากงาน เขาก็ไปเล่นไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มาก แต่ท่านที่สูงอายุ นอกจากออกกำลังบริหารร่างกายบ้างแล้ว ก็ต้องการเวลาพักผ่อนมากหน่อย จึงมีเวลาว่าง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ “กายว่าง แต่ใจวุ่น”

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่ว่าง ไม่มีอะไรจะทำ และก็ยังไม่พักผ่อนนอนหลับ หรือนอนแล้วก่อนจะหลับ ก็พักผ่อนจิตให้ใจสบาย

มีวิธีปฏิบัติง่ายๆ อย่างหนึ่งว่า ในเวลาที่ว่างอย่างนั้น ให้สูดลมหายใจเข้า และหายใจออก ยาวๆ ลึกๆ อย่างสบายๆ สม่ำเสมอ ให้ใจอยู่กับลมหายใจที่เข้าและออกนั้น พร้อมกันนั้น ก็พูดในใจไปด้วย ตามจังหวะลมหายใจเข้าและออกว่า

จิตเบิกบาน - หายใจเข้า

จิตโล่งเบา - หายใจออก

พูดในใจอย่างไร ก็ทำใจให้เป็นจริงอย่างนั้นด้วย

หรือจะเปลี่ยนสำนวนใหม่ก็ได้ว่า

หายใจเข้า สูดเอาความสดชื่น

หายใจออก ฟอกจิตให้สดใส

ถูกกับตัวแบบไหน ก็เลือกเอาแบบนั้น หรือจะแต่งคำใหม่อะไรๆ ที่สั้นๆ ง่ายๆ ให้ถูกกับใจตัวเอง เช่นว่า “หายใจเข้า - สบาย” “หายใจออก - แจ่มใส” ก็ได้

หายใจ พร้อมกับทำใจไปด้วยอย่างนี้ ตามแต่จะมีเวลาหรือพอใจ ทำได้อย่างนี้ก็คือเป็นการปฏิบัติธรรม และก็จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข อย่างที่จะพูดได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น แค่หายใจ ก็ได้ความสุข แล้วก็จะได้การพักผ่อนที่เสริมพลังทั้งร่างกายและจิตใจ ชีวิตจะมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสุขอยู่เรื่อยไป

ขั้นที่ ๕ สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คราวนี้ไม่ต้องปรุงแต่ง คืออยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบายกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอิสระ ลอยตัว อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต

สภาพจิตนี้เปรียบได้กับสารถีที่เจนจบการขับรถ สารถีผู้ชำนาญในการขับรถนั้น จะขับม้าให้พารถเข้าถนน และวิ่งด้วยความเร็วพอดี ตอนแรกต้องใช้ความพยายาม ใช้แซ่ ดึงบังเหียนอย่างคล่องแคล่วอยู่พักหนึ่ง แต่พอรถม้านั้นวิ่งเข้าที่เข้าทางดี ความเร็วพอดี อยู่ตัวแล้ว สารถีผู้เจนจบ ผู้ชำนาญแล้วนั้น จะนั่งนิ่งสงบสบายเลย แต่ตลอดเวลานั้น เขามีปัญญารู้และมีสติพร้อมอยู่เต็มที่ ถ้ามีอะไรผิดพลาด เขาจะแก้ไขได้ทันที และตลอดเวลานั้น เขาไม่มีความประหวั่น ไม่มีความหวาด ใจโล่งเรียบสนิท

ขอให้นึกดู ที่ว่ามานี้ ไม่เหมือนคนที่ยังไม่ชำนาญ เช่นคนหัดใหม่ จะขับรถนี่ ใจคอไม่ดี หวาด ใจคอยกังวลโน่นนี่ ไม่ลงตัว แต่พอรู้เข้าใจความจริงเจนจบดี ด้วยความรู้ความชำนาญนั้น ก็ปรับความคิดนึกความรู้สึกให้ลงตัว เป็นสภาพจิตที่เรียบสงบสบายที่สุด คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้เข้าใจความจริงเจนจบกับโลกและชีวิต วางจิตลงตัวพอดี ทุกอย่างเข้าที่อยู่ตัวสนิทอย่างนี้ เรียกว่าเป็นจิตอุเบกขา เป็นจิตที่สบาย ไม่มีอะไรกวนเลย เรียบสนิท เป็นตัวของมันเอง

เมื่อทุกสิ่งเข้าที่ของมันแล้ว คนที่จิตลงตัวถึงขั้นนี้ จะมีความสุขอยู่ประจำตัวตลอดเวลา เป็นสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมจะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตน และไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จะมองโลกด้วยปัญญาที่เข้าถึงความจริง และด้วยใจที่กว้างขวางรู้สึกเกื้อกูลไปทั่ว

คนที่พัฒนาความสุขมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วนี้ เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขทุกอย่างตลอดลงไปใน ๔ ขั้นแรกด้วย ไม่เหมือนคนไม่พัฒนา ที่ได้แต่หาความสุขประเภทแรกอย่างเดียว เมื่อหาไม่ได้ ก็มีแต่ความทุกข์เต็มที่ และในเวลาที่เสพความสุขนั้น จิตใจก็ไม่โปร่งไม่โล่ง มีความหวั่นใจ หวาด ระแวง ขุ่นมัว มีอะไรรบกวนอยู่ในใจ สุขไม่เต็มที่ แต่พอพัฒนาความสุขขึ้นมา ยิ่งพัฒนาถึงขั้นสูงขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสได้ความสุขเพิ่มขึ้นหลายทาง

กลายเป็นว่า ความสุขมีให้เลือกได้มากมาย และจิตที่พัฒนาดีแล้ว ช่วยให้เสวยความสุขทุกอย่างได้เต็มที่ โดยที่ในขณะนั้นๆ ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจให้ขุ่นข้องหมองมัว

เป็นอันว่า ธรรมะช่วยให้เรารู้จักความสุขในการดำเนินชีวิตมากยิ่งๆ ขึ้นไป สู่ความเป็นผู้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ จนกระทั่งความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ภายในตัวเองตลอดทุกเวลา ไม่ต้องหา ไม่ต้องรออีกต่อไป

ความสุข ๕ ขั้นนี้ ความจริงแต่ละข้อต้องอธิบายกันมาก แต่วันนี้พูดไว้พอให้ได้หัวข้อก่อน คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควร

ขออนุโมทนา ท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ขอตั้งจิตส่งเสริมกำลังใจ ขอให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัย มีปีติอิ่มใจ อย่างน้อยว่า ชีวิตส่วนที่ผ่านมา ได้ทำคุณความดี ได้บำเพ็ญประโยชน์ เกื้อกูลแก่ชีวิต และสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติไว้แล้ว ถือว่าได้บรรลุจุดหมายของชีวิตไปแล้วส่วนหนึ่ง

เพราะฉะนั้น จึงควรตั้งใจว่า เราจะเดินหน้าต่อไปอีกสู่จุดหมายชีวิตที่ควรจะได้ต่อไป เพราะยังมีสิ่งที่จะทำชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่นี้ ชีวิตนั้นยังมีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เต็มเปี่ยมได้ยิ่งกว่านี้

จึงขอให้ทุกท่านเข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นสืบต่อไป และขอให้ทุกท่านมีความร่มเย็นเป็นสุขในธรรมโดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง