ธรรมกับการศึกษาของไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ค่านิยม วัฒนธรรม: ผลและเหตุในการศึกษา

เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องสภาพของคนไทยปัจจุบัน เท่าที่มองเห็นกัน ซึ่งกล่าวขวัญกันอยู่ และนำมายกเป็นตัวอย่าง ในบรรดาลักษณะนิสัยที่ยกมาพูดนี้ มีหลายอย่างที่เรียกกันว่าเป็นค่านิยม ค่านิยมเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรม เป็นตัวกำหนดบรรดาพฤติกรรมของคน แล้วก็จะมีผลเป็นการบันดาลชะตากรรมของสังคมได้ด้วย ฉะนั้น ค่านิยมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่มาก และในเมื่อมีผลต่อชีวิตของคนและต่อสังคม ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพราะค่านิยมเข้ามาหล่อหลอม บันดาลชีวิตและพฤติกรรมของคนดังที่กล่าวมา เมื่อการศึกษาเอาใจใส่คน ก็ต้องเอาใจใส่ต่อค่านิยมด้วย การที่เราจะปล่อยให้ค่านิยมมากำหนดวิถีชีวิตของคน กำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม โดยปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องตามราว โดยไม่มีการควบคุมดูแลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าการศึกษาปล่อยในสิ่งเหล่านี้ การศึกษาก็ได้ชื่อว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบถ้วน การที่จะทำหน้าที่ของการศึกษาให้ถูกต้องก็คือ การเป็นฝ่ายกำหนด ควบคุมค่านิยม หมายความว่า การศึกษาจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องค่านิยมนี้ และเป็นผู้ควบคุมวางแผน พยายามที่จะผันแปร หันเห นำทางค่านิยมของสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีมีประโยชน์ และเอื้อต่อกันกับการศึกษา

การที่จะจัดการกับค่านิยมต่างๆ นี้ เราจะต้องรู้ว่าค่านิยมเกิดจากอะไร บางทีเราต้องการจะเข้าไปจัดการกับค่านิยมโดยตรง แต่เราจัดการไม่ได้ เราจะแก้ไขปรุงแต่งค่านิยมเอาตามชอบใจไม่ได้ เพราะค่านิยมเกิดจากเหตุปัจจัย เราต้องรู้ว่าเหตุปัจจัยของค่านิยมนั้นๆ คืออะไร แล้วก็ไปจัดสรรเหตุปัจจัย แก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้น แต่เหตุปัจจัยของค่านิยมมีหลายอย่าง ในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านั้น เหตุปัจจัยที่สำคัญมาก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานของค่านิยม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ของคนในสังคมนั้นเอง ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ก็คือ พื้นฐานจิตใจ พื้นฐานทางปัญญาของคนในสังคมนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ซึมซ่านไหลมาในกระแสวัฒนธรรม ภูมิจิต ภูมิใจ ภูมิธรรม และภูมิปัญญาของคนไทยก็ไหลมาในกระแสวัฒนธรรมไทย และภูมิจิต ภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่มาในกระแสวัฒนธรรม ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั่นเอง วัฒนธรรมทั้งหมดก็เป็นผลของการศึกษาในอดีต ทั้งการศึกษาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งการศึกษาโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว วัฒนธรรมของเราที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร มองให้ดีแล้ว มันก็คือผลรวมของการศึกษาของชาติไทยทั้งหมดในอดีตนั้นเอง ในที่นี้เรากำลังมองการศึกษาในวงกว้าง วงกว้างที่ไม่ใช่การศึกษาในห้องเรียนในชั้นเรียน ไม่ใช่การศึกษาในสถาบันเท่านั้น แต่เรามองการศึกษาของคนทั้งหมดทั้งชาติทั้งประเทศ เมื่อเรามองเห็นว่าวัฒนธรรมของเราเป็นอย่างไร อันนั้นก็คือผลรวมของการศึกษาของเรา ทีนี้ แม้ว่าวัฒนธรรมที่รวมถึงภูมิธรรม ภูมิปัญญาของเรานี้ จะเป็นผลจากการศึกษาของเราในอดีตก็จริง แต่มันกลายมาเป็นตัวปรุงแต่ง คือกลายเป็นเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งคนไทยในปัจจุบัน เป็นตัวให้การศึกษา การกระทบ หรือการบรรจบของกระแสวัฒนธรรม

โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ เรามาถึงยุคพิเศษดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า สิ่งที่แตกต่างทั้งในทางกาละและเทศะได้มาเผชิญกัน ในด้านกาละ วัฒนธรรมที่เป็นผลจากการศึกษาที่สืบมาจากอดีต ก็กำลังหล่อหลอมปรุงแต่งชีวิตจิตใจของเราอยู่ ซึ่งเรารู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่ไม่รู้ตัวเป็นส่วนมากกว่า อีกด้านหนึ่งก็คือในปัจจุบัน อย่างที่กล่าวข้างต้นว่ามีการสื่อสารคมนาคมถึงกันหมดทั่วโลก จนเกิดสังคมโลกขึ้นมา กระแสวัฒนธรรม จากต่างชาติ ต่างประเทศก็เข้ามามาก และก็มามีส่วนในการปรุงแต่งชีวิตจิตใจของเราด้วย เพราะฉะนั้น ยุคปัจจุบันจึงเป็นยุคที่มีการเผชิญกันระหว่างกระแส ๒ กระแส ซึ่งหมายถึงกระแสวัฒนธรรม ได้แก่ กระแสวัฒนธรรมจากภายในของเราในอดีตที่สืบกันมา กับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอก จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอันไหนเราชื่นชมมาก อันนั้นก็มีอิทธิพลมาก ปัจจุบันนี้กระแสที่มีอิทธิพลมากคงจะได้แก่ วัฒนธรรมจากตะวันตก

เมื่อวัฒนธรรม ๒ สายมาเผชิญกัน มากระทบกระแทกกัน เราจะต้องมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเรามีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เราอาจจะทำให้การเผชิญหรือการกระทบกระแทกนั้นกลายเป็นการประสานที่เกิดประโยชน์ อันนี้คือเทคนิคหรือวิธีการที่ว่าเราจะทำอย่างไร และนี่คือหน้าที่อย่างหนึ่งของการศึกษา การที่วัฒนธรรม ๒ สาย เข้ามาเผชิญและกระทบกันนี้ เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เมื่อเราอยู่ในสภาพบังคับ จำเป็นจำยอมแล้ว สิ่งที่เราทำได้ก็คือ จะทำอย่างไรให้ดีที่สุด การทำให้ดีที่สุดก็คือ การทำให้มันเกิดผลในทางที่ดี ถ้าเราทำไม่ถูกต้อง การเผชิญระหว่างวัฒนธรรม ๒ สาย หรือ ๒ กระแสนั้น ก็จะมีผลเป็นการกระทบกระแทก และลบล้างกัน อาจมีการต่อต้าน มีความสับสน ระส่ำระสาย วัฒนธรรมส่วนหนึ่งอาจจะถูกลบล้างไป อาจเป็นของภายในถูกลบล้างหรือถูกทำลายไปหรือถ้าเรามีแรงดี ฝ่ายภายนอกก็อาจจะถูกต่อต้านหรือปะทะไว้ ก็สุดแต่ว่าจะเป็นไปในรูปไหน แต่เป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้งนั้น ทางที่ดีก็คือ เราจะต้องประสานให้เกิดประโยชน์แก่เราให้มากที่สุด และการประสานนั้นก็เป็นเรื่องของการศึกษา คือจะทำได้ด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง แต่สภาพสังคมปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก การที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากนี้ ก็ทำให้กระบวนการศึกษาในสถาบันหรือการศึกษาที่เป็นระบบนี้ก้าวไม่ทัน เราจึงจะต้องสร้างการศึกษาให้เกิดมีขึ้นในตัวคน ให้ตัวคนนั้นมีการศึกษาที่จะทำให้เขามีความสามารถที่จะรับที่จะจัดการกับวัฒนธรรมต่างๆ ที่เข้ามาได้อย่างดี คือ ให้การศึกษาเกิดขึ้นในตัวคนเอง ให้การศึกษาที่อยู่ในตัวคนแต่ละคนนั้นแหละทำงานให้ได้ผลที่ต้องการ ไม่ใช่รอการศึกษาที่เป็นระบบงานอยู่ภายนอก ซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ก่อนที่จะพูดต่อไปในเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งได้พิจารณามาถึงวัฒนธรรม ๒ กระแสแล้ว คือ กระแสวัฒนธรรมภายในที่สืบจากอดีต กับกระแสวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก ก็ขอพูดแทรกสักหน่อยว่า คนไทยในปัจจุบันนี้เท่าที่มองเห็น มักจะมีท่าทีต่อวัฒนธรรม ๒ สายนั้นแยกได้เป็น ๒ พวก คือ โดยมากจะมีท่าทีที่เป็นไปในทางเอียงสุดหรือสุดโต่ง คือพวกหนึ่งนั้นหลงตัวเอง และอีกพวกหนึ่งก็คลั่งไคล้เขา แต่ทั้ง ๒ พวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นพวกที่หลงตัวเองคือ ยึดมั่น ติดในวัฒนธรรมของตัวเอง ยึดว่าของฉันดีที่สุด ไม่ยอมรับและต่อต้านวัฒนธรรมต่างประเทศโดยสิ้นเชิงก็ตาม หรือพวกที่สอง ซึ่งชื่นชมพอใจต่อวัฒนธรรมจากภายนอก จนกระทั่งถึงกับดูถูกวัฒนธรรมของตัวเองก็ตาม ทั้งสองพวกนี้มีลักษณะที่ร่วมกัน เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถึงจะต่างกันแต่ก็มีลักษณะที่เหมือนกัน ลักษณะที่เหมือนกันของสองพวกนี้คือ ไม่รู้จักตนเองและไม่รู้จักผู้อื่น ตามความเป็นจริง

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง