การที่ศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างเดียวนั้นไม่ปลอดภัย อย่างที่ว่ามีคุณนิดหน่อยแต่มีโทษมากมาย แม้แต่ความมั่นใจที่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นความมั่นใจที่ไม่เด็ดขาด ยังง่อนแง่นและมีภัย
ความมั่นใจนั้นมี ๒ แบบ คือ
๑. ความมั่นใจด้วยศรัทธาคือความเชื่อต่อสิ่งภายนอก
๒. ความมั่นใจด้วยปัญญาของตนเองที่รู้ความจริง
ความมั่นใจที่เกิดจากศรัทธานั้นก็แข็งแรงมาก บางทีแข็งไม่ลืมหูลืมตา จนถูกเขาจูงเอาไปรบราฆ่าฟันกัน แต่เป็นการเชื่อต่อสิ่งภายนอกมาช่วยทำให้ ไม่ใช่ตัวเราทำเอง ต่างกับมั่นใจด้วยปัญญาที่เรามองเห็นความจริง เราทำเองได้ อันนี้เทียบได้กับความมั่นใจของคนตาบอดหรืออย่างน้อยความมั่นใจของคนที่หลับตา กับความมั่นใจของคนที่ลืมตาหรือตาดี
ความมั่นใจของคนที่ศรัทธา ก็เหมือนความมั่นใจของคนตาบอดหรือหลับตา มีราวมีที่เกาะ ก็เกิดความมั่นใจว่า โอ้เราได้ที่เกาะแล้ว เราจะไปได้ มั่นใจอันนี้ แต่มองไม่เห็นว่ารอบนอกข้างๆ ตัว และข้างๆ ราวนั้นมีอะไร มองไม่รู้เรื่อง แต่ได้ความมั่นใจขึ้นมาว่าเราอาศัยราวนี้จะเดินไปถึงที่หมายได้ หรือมั่นใจว่ามีท่านผู้มีกำลังมาช่วยอยู่ ท่านจะช่วยพาเราไป แต่ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเป็นความมั่นใจด้วยปัญญา จะเป็นความมั่นใจของคนตาดีหรือลืมตา ซึ่งมองเห็นหมด อะไรเป็นอะไร จะสำเร็จได้อย่างไร ตัวเองจะต้องทำอะไร ตรงไหนที่ใด เห็นโล่งไปตลอด
เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนานี้เบื้องแรกท่านก็ยอมให้มั่นใจด้วยศรัทธาแต่ต้องมีปัญญาประกอบให้เห็นเหตุเห็นผล แล้วสุดท้ายต้องพัฒนาให้เป็นความมั่นใจด้วยปัญญา คือด้วยการที่ตัวเองรู้เข้าใจความจริง มองเห็นเหตุผลในสิ่งนั้นแล้วทำด้วยตนเองได้
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนหลักการไว้หลายขั้นหลายตอน ชาวพุทธจะต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องไสยศาสตร์ผีสางเทวดาอะไรต่ออะไรนี่ ถ้ายังถืออยู่ ก็เอาเพียงว่าช่วยให้มั่นใจ จิตใจรวมได้ ในขณะที่เรายังอ่อนแออยู่ เอามาเป็นขั้นต้นในการเกาะให้ทรงตัวตั้งตัวอยู่ได้ก่อน แต่จะหยุดอยู่แค่นั้นเท่านั้นไม่ได้ ต้องก้าวต่อไป ถึงแม้ถ้าเชื่อสิ่งเหล่านั้นก็อย่าให้เสียหลัก ๔ ประการที่ว่าไปแล้ว
อย่าให้เสียหลักที่ หนึ่ง คือการกระทำการด้วยความเพียรพยายามของตน คือเชื่อแล้วจะต้องให้เข้มแข็งในการกระทำยิ่งขึ้น อย่าไปเชื่อแล้วก็เลยสบายใจนอนใจว่าท่านจะทำให้ บันดาลให้ แล้วก็นอนรอ อย่างนี้ผิดหลัก ท่านเรียกว่าผิดหลักกรรม หลุดจากพระพุทธศาสนาเลย
อย่าให้เสียหลักที่ สอง คือจะต้องไม่ให้ผิดหลักฝึกฝนพัฒนาตนเอง จะต้องคิดต้องพิจารณาต้องหาทางแก้ปัญหาฝึกปรือตัวเองให้เข้มแข็ง ทำอะไรต่ออะไรให้เก่งให้ดียิ่งขึ้น
อย่าให้เสียหลักที่ สาม คือต้องให้เป็นอิสระพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ไปฝากความหวังให้ท่านช่วยแล้วแต่ท่าน หมดอิสรภาพของตัวเอง
แล้วก็อย่าให้เสียหลักที่ สี่ คือต้องไม่ให้ผิดหลักความไม่ประมาท ถ้าไปประมาทเสีย ปล่อยปละละเลย ให้เวลาผ่านไปเปล่าๆ ผิดแน่ๆ
เป็นอันว่า ถ้าเชื่อก็อย่าให้ผิดหลัก ๔ ประการนี้ แล้วก็อาศัยพอให้เกิดกำลังใจมั่นใจ แล้วก้าวต่อไป ถ้าตัวเองพัฒนาต่อไปแล้วก็จะพ้นจากสิ่งเหล่านี้เอง เมื่อเราเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต่อไปเราก็ไม่ต้องอาศัย แล้วเราจะพ้นจากความมั่นใจแบบคนตาบอดหรือคนหลับตา ไปสู่ความมั่นใจของคนที่ลืมตาหรือตาดี คือมั่นใจด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงด้วยศรัทธา
พระพุทธเจ้าที่ทรงสำเร็จบรรลุโพธิญาณนั้น ทรงผ่านมาแล้วอย่างหนักหนา ทั้งโชคและเคราะห์ ถึงคราวโชคพระองค์ก็ใช้มันเป็นปัจจัยในการทำประโยชน์ทำความดียิ่งขึ้นไป ถึงคราวเคราะห์ พระองค์ก็ไม่หนี ทรงเผชิญเคราะห์และจัดการกับเคราะห์ แก้ไขผันแปรมัน พระองค์จึงมีพระบารมีแก่กล้าขึ้นมา พระองค์บำเพ็ญบารมีมากมายจากการจัดการกับเคราะห์นี่แหละ แล้วทำไมชาวพุทธ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจะคอยรอเอาแต่โชค พอเจอเคราะห์ก็จะหนีอย่างเดียว ไม่รู้จักจัดการเอาประโยชน์จากเคราะห์ และใช้เคราะห์เป็นที่พัฒนาบารมีของตนบ้าง
คนนับถือศาสนาแบบไสยศาสตร์เพื่อขอให้ช่วยบันดาล ให้มีโชคดีหนีเคราะห์ร้าย เวลามานับถือพระพุทธศาสนาก็เลยจะนับถือแบบนั้น เอาแค่นั้น เรียกว่าไม่พัฒนาการนับถือศาสนา หรือเลยพลอยทำให้พระพุทธศาสนามีความหมายแค่นั้น
คนจำนวนมากนับถือศาสนาเพียงเพื่อหวังจะหนีเคราะห์และขอโชค แต่ชาวพุทธแท้นับถือศาสนาเพื่อช่วยให้เราพัฒนาความสามารถที่จะเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค
พระพุทธศาสนามิใช่มีไว้เพื่อให้เราขอโชคและขอให้ช่วยหนีเคราะห์ แต่ประโยชน์ที่เราควรจะได้จากพระพุทธศาสนา ก็คือความสามารถที่จะชนะเคราะห์และสร้างโชค ท่านสอนให้เรารู้จักเผชิญ และจัดการกับเคราะห์ เพื่อให้ตัวเราเองพัฒนาดีขึ้น และรู้จักใช้โชคให้นำโชคยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ไม่ใช่เอาแต่จะหนีเคราะห์ กลายเป็นคนอ่อนแอ จะถอยอยู่เรื่อย แล้วเวลามีโชคก็หลงระเริงเพลิดเพลินจนโชคหมดหายกลายเป็นเคราะห์ ไม่รู้จักพัฒนาโชคต่อไป