ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ผู้มีดุลยภาพทางใจ แม้แต่ความตายก็ดึงขึ้นมาเข้าดุลได้

อาตมภาพก็เลยคิดว่าการที่คุณหมอพูดถึงดุลยภาพบำบัด ประการที่ ๑ คือเริ่มด้วยดุลยภาพบำบัดทางด้านร่างกาย ก็เพราะว่าเกี่ยวข้องกับโรคทางกาย แต่แท้จริงนั้น ท่านคงมีความหมายลึกซึ้งลงไปถึงดุลยภาพทางจิตใจด้วย คือคำนึงถึงความเมตตาปรารถนาดีต่อคนไข้ รักษาด้วยน้ำใจ ปฏิบัติด้วยความเอื้ออาทร

ส่วนทางฝ่ายคนไข้เมื่อสบายใจและวางใจว่า เราไว้ใจต่อคุณหมอ และทางคุณพยาบาล ว่าท่านมารักษาพยาบาลให้เราแล้ว ก็ยกให้ท่านช่วยรักษาดุลยภาพทางด้านร่างกายของเรา ส่วนตัวเราเองก็ต้องรักษาดุลยภาพทางใจของเรา เพราะฉะนั้น จึงจะต้องเอาหลักธรรมมาช่วย เมื่อเอาธรรมมาช่วยแล้ว รักษาดุลยภาพใจไว้ได้ เราก็สบาย อย่างที่อาตมภาพว่าเมื่อกี้นี้

เราต้องพยายามใช้สถานการณ์ทุกอย่างให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตหมด มองทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ ท่านบอกว่า คนที่เก่ง มีปัญญามาก ก็คือคนที่สามารถมองสิ่งที่เลวร้ายที่สุดให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์ไหนเราต้องได้ประโยชน์ อย่างที่บอกว่า แม้แต่คนที่แย่ที่สุด จะตายอยู่แล้ว ยังสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น แม้แต่ความตายที่เราถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี น่าเกลียดน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ยังทรงสอนให้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ท่านให้เจริญมรณสติ ให้พิจารณาความตายในแง่ที่ทำจิตใจของเราให้สดใส เบิกบานได้

คนที่มองความตายไม่เป็น ใจจะหดหู่เศร้ากลัวใช่หรือเปล่า ยิ่งคนไม่เคยมอง บางทีเจอไม่ได้ พูดถึงไม่ได้เลย บางคนใครมาพูดถึงความตายไม่ได้เลยนะ อยากจะหนีไปให้พ้น หรือไล่คนพูดไปเลย

แต่ในทางพระท่านบอกว่า ถ้าฝึกตัวดีแล้ว สบายมากเลย แม้จะนึกถึงความตายตลอดเวลาก็หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส นึกถึงความตายด้วยใจเป็นสุข อย่างนี้ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น บางท่านเอาความตายมาใช้พิจารณา สามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ไปเลย มีความสุขยิ้มแย้มได้ตลอดกาล จิตใจเบิกบานผ่องใส เป็นพุทธะอยู่ด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง