จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

โลกมนุษย์ในระบบของกฎธรรมชาติ

พุทธศาสนาถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เรียกว่าความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และในระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นแยกได้เป็นกฎย่อยๆ เพื่อความสะดวกเป็น ๕ กฎ ดังนี้ [ที.อ.๒/๓๔]

๑. อุตุนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกวัตถุ สิ่งทั้งหลายในโลกของวัตถุเป็นไปตามเหตุปัจจัยด้านกายภาพนี้ เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ฤดูกาล การเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนไปเท่านั้นกำหนดเป็นวันหนึ่ง หมุนไปเท่านี้กำหนดเป็นปีหนึ่ง ความเป็นไปอย่างนี้ถือว่าเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นเหตุปัจจัยที่ไม่มีเจตนา ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในโลกของวัตถุนี้จะมีความสม่ำเสมอค่อนข้างแน่นอน เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนเวียนไปตามกฎธรรมชาติค่อนข้างลงตัวและสม่ำเสมอ

๒. พีชนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ความเจริญเติบโตของต้นไม้ ตั้งแต่มีเมล็ดพืชมาปลูกแล้วก็งอกงามกลายเป็นต้นพืช เมล็ดพืชอะไรก็ออกผลเป็นพืชชนิดนั้น แล้วพืชชนิดนั้นก็จะมีความเป็นไปในชีวิตของมันอย่างนั้นๆ ตลอดจนเรื่องชีวิตของมนุษย์ การเกิดของมนุษย์ การแบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์

๓. จิตนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่นว่าจิตเป็นอย่างไร มีธรรมชาติเป็นอย่างไร มีการเกิดดับ มีการสืบต่ออย่างไร จิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เข้ามาประกอบแล้ว จะมีสภาพเป็นอย่างไร คุณสมบัติอย่างไหนเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ในขณะจิตเดียวกัน ถ้าจิตมีคุณสมบัตินี้เกิดขึ้นจะมีคุณสมบัติอื่นอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง หรือถ้าอันนี้เกิดแล้วอันนั้นเกิดขึ้นด้วยไม่ได้เลย เป็นต้น

๔. กรรมนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์หรือพูดให้กว้างว่าของสัตว์ทั้งหลาย หมายถึงกฎเกณฑ์แห่งเจตจำนง หรือความเป็นเหตุเป็นผลในด้านพฤติกรรมมนุษย์ ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การกระทำของมนุษย์ก็จึงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาติด้วย ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาก็เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามกฎข้อที่ ๑ คือ อุตุนิยาม แต่ถ้าการกระทำหรือเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากเจตนาก็เข้าในกฎข้อ ๔ คือกรรมนิยามนี้

พฤติกรรมที่ประกอบด้วยเจตนานี้เป็นเหตุปัจจัยส่วนที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง และเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่กำหนดเจตนาหรือกรรมของตนเองขึ้น แล้วเจตจำนงหรือกรรมของตนเองก็มากำหนดชีวิตตลอดจนสังคมมนุษย์เองด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสังคม เราตั้งจิตคิดหมาย มีเจตจำนงทำการอย่างไรแล้ว ตัวเจตจำนงหรือการกระทำต่างๆ นั้นก็ส่งผลกระทบต่อๆ กันออกไปในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งในที่สุดผลเหล่านั้นทั้งหมดก็กระทบถึงตัวเราในฐานะที่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยนั้นด้วย โลกมนุษย์นี้เป็นโลกแห่งเจตจำนง ความเป็นไปในชีวิต การประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ความเป็นไปในสังคม อารยธรรมของมนุษย์ ความเจริญและความเสื่อมต่างๆ เหล่านี้อยู่ในขอบข่ายของกฎแห่งกรรมที่มีลักษณะแตกต่างจากธรรมชาติส่วนอื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นกฎธรรมชาติส่วนหนึ่ง

๕. ธรรมนิยาม คือกฎทั่วไปแห่งความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ธรรมดาของสิ่งต่างๆ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชีวิตมนุษย์มีการเกิดขึ้น แล้วก็มีความตายในที่สุด การที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกฎใหญ่ที่ครอบคลุม

ในบรรดากฎทั้ง ๕ ที่กล่าวมานี้ กรรมนิยาม เป็นกฎข้อเดียวที่เราจะนำมาศึกษา เพราะกฎแห่งกรรมนี้เป็นกฎแห่งเจตจำนง ซึ่งเป็นส่วนพิเศษของมนุษย์ที่ธรรมชาติในโลกฝ่ายวัตถุไม่มี แม้แต่ชีวิตพวกพืชก็ไม่มีกฎนี้ สัตว์อื่นทั้งหลายมีส่วนในกฎนี้บ้างแต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก ไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์มีความพิเศษตรงที่มีเจตจำนงซึ่งเป็นเหมือนหัวหน้าที่นำหรือพาคุณสมบัติต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวมาปรุงแต่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ จัดทำสิ่งทั้งหลายและดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดจนก่อการทำลายได้อย่างมากมายมหาศาล

กฎแห่งกรรม เป็นกฎที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมมนุษย์มากที่สุด โดยที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ที่สร้างกรรมขึ้นมา เมื่อมนุษย์สร้างหรือกำหนดมันแล้วมันก็มาสร้างหรือกำหนดเราด้วย ทำให้ชีวิต สังคม และโลกมนุษย์เป็นไปตามวิถีของมัน เราจึงควรต้องเอาใจใส่กับกฎนี้ให้มาก ส่วนกฎอื่นๆ ก็เป็นไปตามธรรมดา อย่างชีวิตของเรา ร่างกายของเรา ก็เป็นไปตามกฎอุตุนิยาม ต้องขึ้นต่ออุณหภูมิของอากาศ มีเซลล์ที่จะต้องเกิดต้องดับ มีผิวพรรณรูปร่างลักษณะที่เป็นไปตามพีชนิยาม และกระบวนการทำงานของจิตของเราก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของจิตนิยาม กฎพวกนี้เราเพียงแต่รู้ แต่เราไม่ค่อยเกี่ยวข้องเท่าไรนัก จุดที่เราจะต้องเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ เจตนา หรือเจตจำนง ในกฎแห่งกรรมนี้ เพราะเราเป็นเจ้าของเรื่องเลยทีเดียว มันเป็นส่วนของมนุษย์แท้ๆ ที่มนุษย์จะเอามาใช้ประโยชน์หรือจะทำอย่างไรก็ได้ เราจะจัดการกับชีวิตของตนเองอย่างไร ก็อยู่ในแดนของกรรมทั้งนั้น ถ้าเรารู้เรื่องหรือฉลาดในเรื่องกรรมแล้ว เราก็นำกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยเอาเจตจำนงของเราไปจัดสรรเกี่ยวข้องกับกฎอื่น ใช้กฎอื่นให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์เรานี้ได้ทั้งหมด รวมความว่าเรื่องของมนุษย์และความพิเศษของมนุษย์นั้นอยู่ที่เรื่องของกรรม

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง