จริยธรรมนักการเมือง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จิตใจที่มุ่งมั่นต่อจุดหมายและใฝ่ดีต่อสังคม

พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่งคือ ด้านจิตใจ ภาวะด้านจิตใจที่คู่กับความรู้ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการเมืองการปกครองและการบริหารงานแผ่นดินนี้ ก็คือจิตใจที่ใฝ่ปรารถนาอยากจะบรรลุจุดหมายนั้น

ความอยากนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นแรงจูงใจ และเป็นพลังที่จะผลักดันให้นักการเมืองก้าวไปในจริยธรรม ที่เป็นวิถีแห่งชีวิตและหน้าที่การงานของตน ยิ่งความใฝ่ปรารถนาหรือความอยากตัวนี้แรงเข้มเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลเท่านั้น

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าขาดตัวความใฝ่ความอยากความปรารถนาต่อจุดหมายนี้แล้ว ก็พร้อมที่จะเขวได้ทันที

ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องของแรงจูงใจ คือความอยากความใฝ่ปรารถนานี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องแยกเป็น ๒ อย่าง

ความอยากประเภทที่ ๑ คือความอยากที่เราพึงมีต่อสิ่งนั้นๆ เอง ได้แก่อยากให้สิ่งนั้นๆ มันดี หรือให้มันเจริญก้าวหน้างอกงาม พูดง่ายๆ ว่า “อยากให้มันดี” เช่นอยากให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข อยากให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ว่าจะทำงานใดหรือสิ่งใดก็ตาม ก็มีความใฝ่ปรารถนาให้งานนั้นสิ่งนั้นดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุดของมัน เป็นความปรารถนาต่อสิ่งนั้นเอง

ส่วนความอยากประเภทที่ ๒ นั้น ตรงข้าม คือ ความปรารถนา ความอยาก ที่โยงเข้ามาหาตัวตน อยากเพื่อตนเอง คืออยากได้อยากเอา อยากให้ผลเกิดขึ้นแก่ตนเอง ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งใด ก็เพื่อให้สิ่งนั้นอำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตน ความอยากประเภทนี้ เรียกว่า “ตัณหา”

ความอยากประเภทที่หนึ่ง เป็นความอยากที่เป็นกุศล มีชื่อเฉพาะว่า “ฉันทะ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอยาก ที่เรียกว่าฉันทะนี้ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือเป็นแสงอรุณ และเป็นจุดเริ่มที่สำคัญของวิถีชีวิตที่ดี

นักการเมืองจะต้องมีฉันทะตัวนี้ คือต้องมีความอยากความใฝ่ปรารถนาที่ดีต่อสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้ก็คืองานการเมือง เริ่มด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายของการเมืองการปกครองที่ว่ามาแล้วนั้น มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว อยากให้จุดหมายนั้นสำเร็จผลอย่างแท้จริง

ความอยาก ๒ ประเภทนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นตัวตัดสินทีเดียวว่า นักการเมืองจะเดินไปในจริยธรรมได้หรือไม่

ความอยากประเภทหลัง ที่โยงเข้ามาหาตัวเองนี้ เรียกง่ายๆ ว่า ความเห็นแก่ตัว แยกย่อยเป็น ๓ อย่าง

๑. ความอยากเพื่อตัวเองจะได้จะเอา เช่น ความอยากได้ผลประโยชน์ ความอยากได้รับการบำรุงบำเรอ ความอยากเสพบริโภค เรียกว่า ตัณหา

๒. ความอยากให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ความอยากได้อำนาจ เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า มานะ

๓. ความอยากที่ต้องการสนองความยึดถือของตัวเอง ตัวเองยึดถืออย่างไรก็จะต้องให้เป็นอย่างนั้นให้ได้ เอาแต่ความคิดเห็นของตัว ไม่ฟังใคร รวมทั้งความคลั่งลัทธิ และการยึดถืออุดมการณ์อย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้เรียกว่า ทิฏฐิ

ข้อที่ ๓ คือ ทิฏฐินี้ ต้องระวังแยกให้ดี ทิฏฐิเป็นการยึดถือติดอยู่กับความเชื่อและเอาความเชื่อของตนเองเป็นความจริง ซึ่งตรงข้ามกับการเอาความเชื่อเป็นเครื่องช่วยในการเข้าถึงความจริง อันจะต้องคอยพิจารณาตามดูโดยคำนึงถึงผลต่อความดีงามประโยชน์สุขของประชาชน หรือของชีวิตและสังคม

ถ้าคนตกอยู่ใต้ความอยากประเภทหลัง ที่เรียกว่าตัณหา มานะ และทิฏฐิแล้ว สันติสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีแรงจูงใจเบื้องต้น ที่เรียกว่าความอยากที่เป็นกุศล คือฉันทะนี้ ความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นที่จะนำเข้าสู่จริยธรรม ซึ่งจะต้องแยกให้เห็นชัดลงไป อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า ฉันทะ คือความอยากต่อสิ่งนั้นๆ เพื่อความดีงามหรือความสุขเป็นต้นของสิ่งนั้นๆ คนนั้นๆ เอง ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ ความอยากให้มันดี ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอะไร ทำอะไร ก็อยากให้สิ่งนั้นมันดี หรือดีที่สุดของมัน

เมื่ออยากให้มันดี ก็จะต้องก้าวต่อไป คือ อยากทำให้มันดี เพราะว่า เมื่ออยากให้มันดี แต่ถ้ามันยังไม่ดี ก็อยากทำให้มันดี แล้วก็จะก้าวต่อไปอีกว่า เมื่ออยากทำให้มันดี ก็ต้องรู้ว่าทำอย่างไรมันจึงจะดีได้ คืออยากรู้ ซึ่งนำไปสู่การศึกษา การหาความรู้ การพัฒนาสติปัญญา

ฉะนั้น ความอยากให้มันดี หรือใฝ่ดี กับความอยากรู้ หรือใฝ่รู้ จึงเป็นความหมายสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าฉันทะ

จะมองเห็นความแตกต่างกันได้ชัดเจนว่า ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย ด้วยความอยาก ๒ ประเภทนี้ จะมีผลต่างกันอย่างไร คือเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร โดยอยากให้มันดี กับเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร โดยอยากให้มันอำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตน

ถ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ โดยอยากให้มันดี ก็แน่นอนว่า จะมีจริยธรรม เพราะนี่คือจุดเริ่มของจริยธรรม

ต่อจากนั้นเราก็จะคิด เราก็จะพยายาม เราก็จะทำการต่างๆ เพื่อให้สิ่งนั้นมันดี เพื่อให้ผลดีเกิดแก่สิ่งนั้นเอง

ฉันทะนี้ใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งกับคน หรือประชาชน แต่ถ้านำมาใช้กับคนหรือประชาชน คำว่าอยากให้มันดี จะมีความหมายเน้นไปที่ความอยากให้เขามีความสุข คืออยากให้เขามีชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนมีความสุข ความอยากให้มันดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อคนหรือต่อประชาชนนี้ มีศัพท์เรียกพิเศษว่า เมตตากรุณา

ฉะนั้น เมตตากรุณา ก็คือฉันทะ หรือความอยากความใฝ่ดีนั่นเอง ที่แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ นักการเมืองการปกครองจำเป็นจะต้องมีความใฝ่ดีปรารถนาดี อยากให้มันดีอันนี้ ต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ หรือต่อประชาชน

เนื่องจากความมุ่งหมายของการปกครอง ในที่สุดก็ไปรวมที่ประชาชน คือการจัดการบ้านเมืองให้ดี และดำเนินกิจการต่างๆ ให้ได้ผลดีนั้น ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้สภาพเอื้อและมีโอกาสมากที่สุดที่จะพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมของตน ดังนั้น ท่าทีแห่งจิตใจของนักการเมืองต่อประชาชน จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เริ่มแต่ว่านักการเมืองมองประชาชนด้วยสายตาอย่างไร อย่างน้อยคือ มองเพื่อจะเอาจากประชาชน หรือมองเพื่อจะทำให้แก่ประชาชน

การมีเมตตากรุณา ก็ทำนองเดียวกันกับฉันทะ คือ เมื่อมีฉันทะ ก็อยากให้สิ่งที่ตนไปเกี่ยวข้องนั้นดีงามสมบูรณ์ เมื่ออยากให้มันดี ก็อยากทำให้มันดี และเมื่อทำให้มันดีได้แล้ว ก็สมใจตัว เกิดความพึงพอใจ คือมีความสุข

เมื่อมีเมตตากรุณาคือรักประชาชน ก็อยากให้ประชาชนเป็นอยู่ดีมีความสุข อยากเห็นประชาชนมีความสุข แล้วก็อยากทำให้ประชาชนมีความสุข และเมื่อทำให้ประชาชนมีความสุขได้แล้ว ก็เกิดความพึงพอใจ มีความสุข

ถ้านักการเมืองมีจิตใจใหญ่กว้างจริงๆ เป็นนักการเมืองที่แท้ก็คือจะทำงานเพื่อบ้านเมือง อย่างแท้จริง ใจอยู่ที่นั่น ไม่คิดถึงตัวเอง ก็จะอยากเห็นประชาชนมีความสุขด้วยใจจริง จนกระทั่งเหมือนกับ เอาความสุขของตนไปฝากไว้กับประชาชน เหมือนกับต้องพูดว่า “ข้าพเจ้าจะมีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อได้เห็นประชาชนอยู่ดีมีความสุข”

ถ้านักการเมืองมีความรู้สึกอย่างนี้ด้วยความจริงใจ ก็เรียกว่ามีจิตใจอย่างมหาบุรุษ

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง