คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะเป็นคู่สร้างคู่สม
เมื่อมีสมธรรม ๔ ประการ

ชีวิตคู่ครองนี้ มีคำเรียกตามนิยมว่า ชีวิตสมรส ในทางพระพุทธศาสนา มีคำสอนว่า ชีวิตสมรสที่จะมีความสุข ราบรื่น มั่นคงยืนยาวได้นั้น คู่สมรสควรมีคู่ธรรมที่สมหรือสม่ำเสมอกัน อันจะพึงเรียกได้ว่า สมธรรม ๔ ประการ คือ สมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และสมปัญญา สมธรรม ๔ ประการนี้ เป็นฐานรองรับชีวิตคู่ครองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าฆราวาสธรรม ๔ อย่าง ที่กล่าวมาแล้ว เพราะแสดงถึงความมีคุณสมบัติสมกันและความมีลักษณะนิสัยสม่ำเสมอกันของคู่ครอง ซึ่งจะทำให้คู่สมรสทั้งสองสมชีพหรือสมชีวี คือ มีชีวิตที่สมหรือเสมอกัน สมธรรม ๔ ประการนั้น คือ

๑. สมศรัทธา มีศรัทธาสมหรือเสมอกัน ศรัทธานั้น หมายถึงความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือความใฝ่นิยม เช่น ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และความใฝ่นิยมในคุณค่า หรือสิ่งที่ยึดถือเข้าใจว่าเป็นความดีงามต่างๆ ความมีศรัทธาสมกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญ เบื้องแรกที่จะทำให้ชีวิตครองเรือนกลมกลืนสนิทสนมแน่นแฟ้น เพราะศรัทธาเป็นเครื่องหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และเป็นพลังชักจูงใจในการดำเนินชีวิต และกระทำกิจการต่างๆ ความมีศรัทธาสมกัน ตั้งต้นแต่ความเชื่อถือในลัทธิศาสนาอย่างเดียวกัน ตลอดจนการมีรสนิยมแนวเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตสมรส ถ้าศรัทธาเบื้องต้นไม่เป็นอย่างเดียวกัน ก็ต้องตกลงปรับให้เป็นไปด้วยความเข้าใจต่อกัน

๒. สมศีลา มีศีลคือความประพฤติสมหรือเสมอกัน คือ มีความประพฤติที่เข้ากันได้ อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจ ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือขัดแย้งรุนแรงต่อกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งปากร้าย ชอบกล่าวคำหยาบคาย อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการอบรมกวดขันมาทางด้านการพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ทนฟังคำหยาบไม่ได้ หรือฝ่ายหนึ่งชอบเป็นนักเลงหัวไม้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบชีวิตสงบไม่วุ่นวาย ก็อาจเป็นทางเบื่อหน่ายร้าวฉานเลิกร้างกัน หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน

๓. สมจาคา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละสมหรือเสมอกัน ในชีวิตของบุคคลที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เริ่มแต่ญาติมิตรสหายเป็นต้นไปนั้น ธรรมข้อสำคัญที่จะต้องแสดงออกอยู่เสมอก็คือ ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีใจกว้างขวาง การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน หรือในทางตรงข้าม ก็เป็นความตระหนี่ ความมีใจคับแคบ กระด้าง คู่ครองที่มีจาคะไม่สมกัน ย่อมมีโอกาสเกิดความขัดแย้งกระทบกระเทือนจิตใจกันอยู่เรื่อยไป ทำให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตที่เปราะ มีทางที่จะแตกร้าวได้ง่าย

๔. สมปัญญา มีปัญญาสมหรือเสมอกัน ปัญญาหมายถึงความรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักดีชั่ว รู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ความรู้จักคิด ความสามารถในการใช้ความคิด และเข้าใจในเหตุผล ความมีปัญญาสมกันมิได้หมายความว่าคู่ครองทั้งสองฝ่ายจะต้องได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการ ทรงความรู้เชี่ยวชาญเหมือนๆ กัน แต่หมายถึงการมีความคิด การรู้จักรับฟังและเข้าใจในเหตุผลของกันและกัน และการช่วยเป็นคู่คิดของกันและกันได้ อย่างที่กล่าวกันง่ายๆ ว่าพูดกันรู้เรื่อง คุณธรรมข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะสามีภรรยาเป็นผู้อยู่ร่วมใกล้ชิดกันทุกเวลา จำต้องมีความเข้าใจกัน ร่วมคิดร่วมปรึกษาหารือกัน บรรเทาข้อหนักใจและช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นกำลังแก่กันและกันได้ ความมีปัญญาสมกันนี้ นอกจากเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจทำให้มีความสนิทสนมกันด้วยดีแล้ว ยังทำให้ชีวิตของคู่ครองทั้งสองฝ่าย เป็นชีวิตที่ส่งเสริมคุณค่าเพิ่มกำลังแก่กันและกันอีกด้วย

พระบรมศาสดาตรัสแสดงว่า สมธรรม ๔ ประการนี้ จะเป็นเหตุให้คู่สามีภรรยาได้พบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้าตามความประสงค์ สมดังพุทธพจน์ที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า “อากังเขยยุง เจ คะหะปะตะโย อุโภ ชานิปะตะโย” ดังนี้เป็นต้น แปลความว่า ถ้าคู่สามีภรรยาหวังจะได้พบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้าแล้วไซร้ ทั้งสองพึงเป็นผู้มีศรัทธาสมกัน มีศีลสมกัน มีจาคะสมกัน มีปัญญาสมกัน ดังนี้
ความสมหรือเสมอกันของคู่ครองตามหลักธรรม ๔ ประการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะบุคคลทั้งสองมามีชีวิตอยู่ร่วมกันใกล้ชิดยิ่งกว่าใครๆ จนในทางโลกกล่าวว่าเป็นบุคคลเดียวกัน การที่จะมารวมเข้าด้วยกัน จึงต้องอาศัยความประสานกลมกลืนเหมาะสมกันตามทางธรรมดังกล่าวมา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง