ในการสัมมนานี้ ทางฝ่ายผู้จัดแจ้งไว้ว่า แม้ในสังคมไทยจะไม่นิยมการพูด แสดง หรือเปิดเผยคุณความดีของตนเอง แต่ผู้จัดสัมมนาประสงค์ให้การสัมมนาครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ ที่ต้องการให้ผู้พูดเปิดเผยเรื่องราวของตนและคุณสมบัติส่วนตัวที่ตนชอบใจแก่ผู้ร่วม เพื่อเป็นข้อคิดหรือคติแก่ผู้ร่วมสัมมนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้พูดนี้ขอโอกาสที่จะแสดงในเอกสารเฉพาะข้อคิดเห็นบางประการ ที่ต้องการจะเสนอให้ผู้ร่วมสัมมนาพิจารณา ส่วนเรื่องเกี่ยวกับตนเองหากมีจะยกไว้ต่างหาก
ต่อไปนี้คือ ข้อคิดเห็นบางประการ ที่เสนอแก่คนหนุ่มสาวสมัยปัจจุบันเพื่อพิจารณา โดยหวังว่าอาจเป็นประโยชน์บ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่าอุดมคติ ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่ใช่คำไทยแต่เดิม เป็นคำบัญญัติขึ้นเพื่อแทนคำต่างประเทศในภายหลัง เมื่อถือความเทียบเคียงจากคำต่างประเทศคำนั้น (คือ ideal) น่าจะได้ความว่าหลักการ แนวทาง หรือแบบอย่างการดำรงชีวิต ที่ถือว่าดีที่สุด หรือสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งยึดถือเอาเป็นหลัก เป็นแนวทาง หรือเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ที่ต้องมีคำว่าถือหรือยึดถือ ก็เพราะไม่ใช่ของที่เป็นไปอย่างนั้นเองโดยธรรมดา หรือเป็นหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของความควร ซึ่งขึ้นต่อความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ คำว่า ถือหรือยึดถือ อาจเปลี่ยนเป็น เชื่อ เห็น เข้าใจหรือยอมรับ เป็นต้นก็ได้ นอกจากนั้น บางทีคำว่าอุดมคติ มีความหมายเป็นจุดหมายหรือที่หมายไปก็มีคือหมายถึง สิ่งที่ยึดเอาเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต
ความคิดเห็นที่เสนอในที่นี้มีเพียงว่า ท่าทีของบุคคลต่ออุดมคติที่ยึดไว้นั้นน่าจะมีสองแบบ คือ แบบที่ชอบใจถูกใจแล้วรับเอามายึดถือไว้ตนเอง ได้แต่เพียงมุ่งมั่นปฏิบัติให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างเดียว พวกหนึ่ง กับแบบพิจารณามองเห็นเหตุผลด้วยตัวเอง เข้าใจชัดเจน แน่ใจ แล้วจึงยึดถือปฏิบัติตาม พวกหนึ่ง แบบแรก เรียกได้ว่าพวกศรัทธาบอด แบบหลังเป็นศรัทธาที่มีปัญญากำกับ ขอเสนอว่าอุดมคติ หรือคติใดๆ ก็ตามควรเป็นไปตามแบบหลัง ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นการถือรั้น ไม่เป็นเหตุให้เที่ยวเบียดเบียนบีบคั้นคนอื่น และไม่เป็นเครื่องถ่วงปิดกั้นขัดขวางความก้าวหน้าทางปัญญาของตนเอง
ข้อเสนอที่ว่านี้ ดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ใครๆ ก็ทราบ ไม่น่าจะต้องพูดไว้ แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ยึดถือไว้นี่แหละ มักกลับเป็นตัวการสำคัญที่กลับมาผูกมัดตัวเองไว้ หรือถ่วงขัดขวางไม่ให้สามารถก้าวหน้าต่อไปได้ จึงควรเป็นผู้พร้อมที่จะพิจารณาตรวจสอบคติ อุดมคติของตนได้เสมอ เพราะแท้จริงแล้ว อุดมคติที่ยึดไว้ก็เพื่อการก้าวหน้าไปหรือเพื่อให้ถึงความเป็นอิสระนั่นเอง
บางคราวอุดมคติกลับเป็นเครื่องผูกมัดหรือขัดขวางตนเองได้ ทำให้ดูเหมือนว่า อยู่โดยไม่มีอุดมคติหรือคติเลยจะดีกว่า ดูเผินๆ อาจจะเห็นอย่างนั้น แต่ความจริง มนุษย์ปุถุชนทุกคน ถ้าไม่ใช่คนเสียสติ ย่อมยึดถืออะไรบางอย่างเป็นเครื่องจูงใจในการดำเนินชีวิต และยึดถืออะไรบางอย่างเป็นตัวนำในการกระทำทุกๆ อย่าง แต่สิ่งหรือคตินี้เขายึดไว้อย่างมืดๆ มัวๆ ไม่ได้นำขึ้นมาสู่ความคิดหรือการใช้ปัญญา เช่นยึดเอาแต่ที่ตัวได้เข้าว่า ผลที่ออกไปนอกตัวใครๆ เป็นอย่างไรไม่ต้องคำนึง จึงกลับเป็นสิ่งที่เลวร้ายและก่อผลเสียหายได้มาก แม้แต่คนที่มีชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอยที่สุด ก็ไม่ใช่ลอยเรื่อยไปเฉยๆ เมื่อยังมีชีวิต คนก็ย่อมทำการต่างๆ ถ้าเฉยเลยหรือลอยเลย ก็ไม่มีชีวิต ไม่ใช่คน พวกที่อยู่อย่างเลื่อนลอยก็คือพวกที่ฉวยเอาคว้าเอาไปคราวๆ ทีๆ คือ ยึดถือเอาตามความรู้สึกไม่ใช่อยู่ด้วยความคิด ไม่ใช้ปัญญา สองพวกนี้อาจจะเรียกว่ามีคติได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่คติที่ดี ไม่ยอมรับกันว่าเป็นอุดมคติ ชีวิตที่ขาดแนวทางและกระทำการต่างๆ โดยมิได้คิดกะไว้ด้วยสติปัญญา ย่อมไม่เป็นระเบียบ จึงสับสนยุ่งเหยิง ว้าวุ่น ทั้งภายในและภายนอก เมื่อภายในใจแต่ละคนวุ่น สังคมก็ย่อมวุ่น และเมื่อสังคมวุ่นแต่ละคนก็ยิ่งวุ่นหนักขึ้นเป็นธรรมดา
ปัจจุบัน มีความรู้สึกทั่วไปในหมู่คนรุ่นใหม่ว่า ควรมีการแสดงออกอย่างเสรี คือใครมีความรู้สึกมีความคิดเห็นอย่างไร ก็ควรมีโอกาสแสดงออกภายในขอบเขตอันควร ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติชอบด้วยหลักประชาธิปไตย และจะเป็นทางส่งเสริมความก้าวหน้าแห่งวิทยาการเป็นต้น ในเรื่องนี้ ขอเสนอความคิดเห็นว่า การแสดงออกเสรีเช่นนี้ในรูปใดๆ ก็ตาม ถ้าขาดรากฐานที่อยู่ลึกซึ้งลงไปเป็นที่มาแล้ว ก็น่าจะไม่ให้เกิดผลสำเร็จที่ควรมุ่งหมาย แต่จะกลายเป็นการกระทำที่เลื่อนลอย หรือเป็นเพียงการแสดงด้วยอยากเด่น อวดโก้ แสดงปมเป็นต้นไป รากฐานที่ว่านี้ก็คือ การแสวงปัญญา ความใฝ่ธรรม หรือความใฝ่แสวงคุณค่าที่แท้จริง รากฐานอันนี้นอกจากจะทำให้การแสดงออกเสรีนั้น เป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ มั่นคง และนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันอยู่ในตัวที่จะให้การแสดงออกอย่างเสรีนั้นเกิดมีขึ้นจนได้อีกด้วย
ถัดจากความใฝ่แสวงธรรม - สัจจะ - ปัญญา หรือคุณค่าที่แท้จริงซึ่งเป็นรากฐานนั้นขึ้นมา ยังมีองค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวกำกับการกระทำและการแสดงออกต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง คือ การคิด การค้น และการทำอย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึง การใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลโดยรอบคอบ เที่ยงธรรม การศึกษา ค้นคว้าสอบสวนข้อเท็จจริงและความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และการลงมือกระทำการที่มั่นใจแล้ว ด้วยความแข็งขันแน่วแน่จริงจัง องค์ประกอบสามอย่างนี้น่าจะนำมาใช้กำกับการแสดงออกอย่างเสรีทั้งหลาย หรือควรสร้างขึ้นให้พร้อมก่อนจะมีการแสดงออกอย่างเสรีด้วยซ้ำไป เพราะเท่าที่มองเห็น การคิดค้น และทำอย่างจริงจังนี้ เป็นสิ่งที่เรายังขาดกันอยู่มาก ขาดเสียยิ่งกว่าการแสดงออกที่เข้าใจกันว่าเป็นความเสรีนั้นอีกเป็นไหนๆ
สิ่งที่พบเห็นบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในสมัยปัจจุบัน คือ การตำหนิติเตียนทัศนะที่ขัดแย้งตลอดจนถึงการโจมตี จากบุคคลต่อบุคคล หรือต่อคนอีกพวกหนึ่ง หรือต่อสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ การตำหนิและการแสดงทัศนะเหล่านี้ เมื่อเกิดจากความหวังดีเป็นการเตือนสติ เสนอแนะ แนะนำชี้ช่องทางให้ ตลอดถึงทำให้สำนึกโดยต้องให้มีการปรับปรุง ทำให้ดีขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์และมีส่วนดีอยู่มาก แต่ถ้าจะให้ดีจริง เป็นประโยชน์ และเกิดผลสำเร็จจริง ควรจะมีความเอาจริงเอาจังกับปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งและแน่วแน่ในใจจริงไม่ใช่เพียงการโวยวายชั่วผ่านเผินหรือพ้นตา
เรื่องที่ติเตียน ขัดแย้ง โจมตีกันนั้น รวมแล้วคงมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ประเภทที่ ๑ คือความเห็นที่ไม่ลงรอยในเรื่องเดียวกัน หรือความรู้สึกขัดกันในสิ่งเดียวกัน เพราะมองเห็นสิ่งนั้น หรือเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นสิ่งนั้น ด้วยสายตาและทัศนคติของผู้ผ่านประสบการณ์และได้รับการปลูกฝังอบรมมาคนละอย่าง ความจริงจังที่ต้องการเพื่อแก้ปัญหาในกรณีนี้ก็คือการศึกษาวิจัยปัญหาอย่างจริงจัง แสวงหาสืบค้นข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างละเอียดด้วยความมุ่งมั่นอดทน และนำมาพิจารณาไตร่ตรองใช้ความคิดมองหาเหตุผลวินิจฉัยด้วยใจเป็นกลาง อาจลงเอยด้วยถือเอาข้างใดข้างหนึ่ง หรือประนีประนอมออมชอมกันสุดแต่จะสำเร็จประโยชน์เป็นผลดีทางใด
เรื่องประเภทที่ ๒ ที่ตำหนิติเตียน โจมตีกันอยู่เสมอ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ทุกคนรู้และเข้าใจ มองเห็นอย่างเดียวกัน ว่าอย่างไรผิด ดีชั่ว ควรไม่ควร เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ ความสุจริตทุจริต และความผิดพลาดต่างๆ ว่าทำไมคนนั้น พวกนั้น สถาบันนั้น ทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ การติเตียนโจมตีประเภทนี้ เป็นภาพและเสียงชินหูชินตาในชีวิตประจำวัน จนดูเหมือนทุกคนเป็นเจ้าทุกข์ มีคนอื่นสิ่งอื่นสถาบันอื่นเป็นจำเลยเรื่อยไป เมื่อทุกคนเป็นเจ้าทุกข์ ผู้อื่นที่เป็นจำเลยจึงหาตัวไม่ได้ การลงมือทำหรือลงมือแก้ไขจึงไม่มี การกระทำอย่างนี้ก็คือการเกี่ยงกัน และการซัดทอดกัน ซึ่งแสดงว่าสังคมนั้นประกอบด้วยผู้ไม่มีความสำนึกในความรับผิดชอบทั้งสิ้น หรือไม่ก็เป็นสังคมของคนใจแคบที่ทุกคนไม่มีใครยอมทำก่อน เพราะกลัวตนเองจะเสียเปรียบ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่น่าละอาย ความจริงทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาทุกอย่างที่กระทบกระเทือนสังคม หรืออาจพูดได้ว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้ปัญหาแต่ละอย่างนั้นเกิดขึ้น ตามระดับและอัตราที่สัมพันธ์ใกล้หรือห่าง ตรงหรืออ้อมของแต่ละคนๆ ความจริงจังที่ต้องการในเรื่องนี้ก็คือการคิด สำรวจความรับผิดชอบนั้น ก่อนที่จะมองหาหรือบอกแก่ใครอื่นเพราะเมื่อว่าให้ธรรมดาแล้ว ใครรู้ สำนึก และเข้าใจก่อน คนนั้นต้องทำก่อน การกระทำต้องเริ่มต้นที่คนนั้น ก่อนจะเตือน ต่อว่า หรือตำหนิใครอื่น ต้องได้สำรวจแล้วว่า บทบาทในส่วนที่ตนจะพึงเกี่ยวข้องนั้นมีพร้อมอยู่แล้ว หรือได้เริ่มขึ้นแล้วด้วย ใครรู้ คนนั้นต้องเริ่ม ใครตระหนัก คนนั้นต้องลงมือ ผู้ที่รู้แล้วไม่ริเริ่มก่อน ย่อมควรได้รับการตำหนิมากที่สุด และก่อนคนอื่น เพราะถ้าไม่เริ่มที่ผู้รู้ตัวก่อน แล้วเมื่อไรใครจะเริ่ม จุดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบันน่าจะเป็นข้อนี้คือ ทุกคนรู้แต่ไม่มีใครเริ่ม ในกรณีคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ สมมติว่าถ้าคิดว่าคนรุ่นเก่านั้นหมดหวังสิ้นทางแก้ไขปรับปรุงแล้ว ความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ก็ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ และเป็นความหวังที่คาดผลสำเร็จได้แน่นอนที่สุด คือ เริ่มที่ตนเอง การสร้างรุ่นของพวกตนไว้ให้พร้อมก่อนจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะเป็นวิธีที่แน่ใจที่สุด และถึงอย่างไรก็ต้องทำอยู่ดี เพราะผู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ก็ต้องทำตนให้เป็นผู้พร้อมที่จะรับผิดชอบเสียก่อน
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของยุคปัจจุบัน ก็คือ คนรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความระคนปนเประหว่างของเก่ากับของใหม่ ระหว่างสิ่งภายในที่คงเหลือจากอดีตกับสิ่งใหม่ที่หลั่งไหลมาจากภายนอก ทำให้ยากที่จะแยกแยะทำความเข้าใจได้ทั่วถึงและทันการที่จะเลือกเฟ้นยึดถือ และปรับตัวเข้าได้อย่างฉลาด จึงเป็นปัญหาหนักมาก ท่ามกลางความสับสนนั้น ถ้าไม่มีหลัก ก็จะไม่มีโอกาสตรวจดูสิ่งใดอย่างลึกซึ้งเพียงพอที่จะมองเห็นคุณค่าและความหมายที่แท้จริงได้ การมีชีวิตอยู่อย่างเลื่อยลอยแบบไขว่คว้าและยึดฉวยสิ่งที่สนองความต้องการ แบบพอให้ตื่นเต้นผ่านไปทีหนึ่งคราวหนึ่ง จึงเป็นสภาพที่ดาษดื่นจนเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสมัยปัจจุบัน เมื่อเวลาที่จะคิดตกลงกับตนเองก็ไม่พอเสียแล้วจะไปคิดเผื่อคนอื่นอย่างไร จึงตัวใครตัวมันมากขึ้น หรือแล้วแต่ตัวฉันรู้สึกหรือจะเอาอย่างไร ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ของตนเองที่มีภายในก็มีแต่ของเก่าแก่ที่เหลือจากอดีต ส่วนของใหม่ ก็มีแต่ของมาจากภายนอก น่าสงสัยว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของตนเองที่ควรยกขึ้นชูอวดได้ จะมีบ้างสักเท่าไร
สำหรับของภายในของตนเองนั้น ในเมื่อไม่มีหรือแทบไม่มีสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเองใหม่ ก็มีแต่ของที่เหลือมาจากอดีต ของที่เหลือมาจากอดีตนั้นเมื่อเวลาผ่านไปๆ และมีสิ่งใหม่ๆ จากภายนอกหนุนเนื่องเข้ามา ก็ย่อมเลือนลางสลายตัวไปเรื่อยๆ ที่คงรอดอยู่ได้ทั้งรูปร่างและแก่นสารโดยสมบูรณ์นั้นน้อยนัก ส่วนมากแม้เหลืออยู่ก็เป็นเพียงซากของอดีต ซากนั้นคือสิ่งที่หมดชีวิตสูญคุณค่าและความหมายเดิมที่แท้จริงของมันไปแล้ว บางทีก็มีคุณค่าและความหมายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะไม่เป็นไปในทางที่ดีงามอย่างของเดิม หรือเหลือแต่ความหมายที่ผิวเผินชวนให้เข้าใจผิดและนำไปใช้ในทางที่ผิด ภาพที่คนรุ่นใหม่มองเห็นสำหรับของภายในของตนเองเหล่านี้ จึงมักเป็นเพียงซากของอดีต หรือความหมายที่ไขว้เขวเลือนราง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดพลาดอย่างมากมาย ยิ่งความรู้สึกว่าเก่าทึมไม่น่าสนใจเข้าผสมด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดทัศนคติในทางผละหนี ทำให้ไม่มีโอกาสค้นหา และห่างเหินจากความหมายเดิมที่แท้จริงมากขึ้น
ส่วนของที่ประดังเข้ามาจากภายนอกนั้น หลายอย่างมีความใหม่ผสมจี้จุดความต้องการบางอย่างจึงมักทำให้ตื่นเต้นรับเอา โดยลืมที่จะตรวจดูคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของมัน พร้อมกันนั้นของอีกหลายอย่างซึ่งละเอียดลึกซึ้งที่เข้ามาพร้อมๆ กันก็ถูกมองข้ามไป
ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีลักษณะอาการหลายอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรากำลังเป็นที่สั่งสมของเสีย หรือสิ่งที่ต่ำทรามจากหนทางทั้งสองสาย คือ ด้านภายในก็รับช่วงมาแต่เพียงสิ่งที่เป็นซากพร้อมทั้งความหมายที่ผิวเผินและผิดเพี้ยนของอดีต ส่วนภายนอก ก็รับเข้ามาแต่รูปร่างที่เป็นเปลือกแห่งความจริง หรือพูดสั้นๆ ว่าได้แต่ซากเก่าของพวกตนกับเปลือกใหม่จากพวกอื่น
ความหวังสำหรับอนาคต อยู่ที่ว่าจะต้องสามารถสร้างสรรค์ปรุงแต่งสิ่งใหม่ หรือดัดแปลงสิ่งเก่าขึ้นมา ให้ตนอยู่ได้อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ซึ่งเหมาะสมกับตน การจะทำอย่างนี้ได้ต้องขึ้นกับความสามารถที่จะแยกแยะค้นหาและเลือกเฟ้นคุณค่าและความหมายต่างๆ อย่างถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นข้อเสนออย่างหนึ่ง สำหรับบำรุงสติให้เกิดความยั้งคิดที่จะพิจารณาแยกระหว่างสิ่งเทียมกับสิ่งแท้ส่วนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่จะต้องย้ำไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นหลักในการดำรงอยู่ท่ามกลางความสับสนนี้ได้ ก็คือการคิด ค้น และลงมือทำอย่างจริงจัง โดยมีความใฝ่แสวงธรรม-สัจจะ-ปัญญาเป็นรากฐานอย่างมั่นคง
บรรดาซากแห่งอดีตของพวกเรานั้น พูดถึงเฉพาะในด้านพระพุทธศาสนาอย่างเดียวก็มีมากมาย แง่ที่ต้องการกล่าวถึงก็คือภาพที่ปรากฏในทางความประพฤติปฏิบัติ ความประพฤติปฏิบัติที่เห็นๆ กันอยู่ ซึ่งเรียกรวมๆ กันไปในนามว่าพระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมาก แต่จะต้องชะงักใจไว้ก่อนแต่ต้นว่า ภาพที่มองเห็นอาจจะไม่แสดงถึงตัวจริงหรือเนื้อแท้ก็ได้ หลายอย่างความหมายเดิมจวนจะหมดไป และจวนจะกลายเป็นซาก หลายอย่างกลายเป็นซากซึ่งคุณค่าและความหมายเดิมหมดไปนานแล้ว บางอย่างไม่ใช่แม้แต่ซากของตัว แต่เป็นซากอื่นแปลกปลอมเข้ามา ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะความประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไป แต่รวมถึงความหมายของหลักด้วย ตามธรรมดาใครจะพูดว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไรก็ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจสิ่งนั้นให้ชัดเสียก่อน แต่หลักธรรมต่างๆ ถูกคนทั้งหลายอ้างชื่อ ใช้เรียกและพูดถึงกันเป็นคำสามัญและบางคราวก็พร่ำเพรื่อ ถ้าผู้ใช้คำนั้นๆ จะหวนคิดสำรวจตนเองขึ้นมาว่า ศัพท์ธรรมที่ตนใช้อยู่ในความหมายที่ต้องการขณะนั้น ตนได้ศึกษาทำความเข้าใจในความหมายโดยวิธีการและจากแหล่งที่แน่ใจว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือนึกเพียงว่าตนเข้าใจความหมายจริงๆ หรือไม่ ก็อาจจะต้องชะงักขึ้นมาทันที ถ้าปรากฏว่าเราไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจ หรือเข้าใจเลื่อนลอยตามๆ กันมาก็หมายความว่า เรายังไม่ได้ก้าวไปไหนเลย ในด้านทัศนคติมูลฐานเกี่ยวกับการใช้สติปัญญาซึ่งจะเป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการ เพราะแสดงว่าเรายังคงติดอยู่พอใจอยู่แค่ส่วนที่ผิวเผินของสิ่งทั้งหลายแม้แต่ที่ตนต้องเกี่ยวข้องใช้อยู่เป็นประจำ ความใฝ่ในตัวปัญญาที่แทงซึ้งถึงตัวความจริงยังไม่มี หลักธรรมเหล่านี้ติดพันมากับประวัติของตัวเรา (ชาติเรา) แทรกอยู่ในวัฒนธรรมของเรา ถ้าจะเข้าใจตัวเราให้ชัดก็ต้องเข้าใจความหมายของหลักธรรมเหล่านี้ด้วย เราจะดำเนินต่อไปได้ดีที่สุดก็ต้องจัดการกับตัวเราเองให้ดีที่สุด จะจัดการกับตัวเราได้ดีที่สุด ก็ต้องรู้จักเข้าใจตัวเองให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งรวมถึงเข้าใจหลักธรรมที่เรายึดถือกันมาด้วย
ชาวต่างประเทศที่เข้ามาวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมไทยนั้นมีมาก เป็นธรรมดาที่การวิจัยนั้นมักพาดพิงถึงเรื่องหลักธรรมที่คนไทยยึดถือด้วย ผลก็คือหลักธรรมที่เข้าไปรวมอยู่ในเรื่องที่วิจัยนั้น ถูกพิจารณาในความหมายที่อ้างกันอย่างผิวเผินทั่วไป จริงอยู่ผู้อื่นย่อมมองเห็นตัวเราชัดกว่าในบางกรณี และวิธีการวิจัยของเขาทำอย่างระเบียบและมีเหตุผล แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเขาวิจัยนั้น เขามักเอาตัวเขาเข้ามาเทียบ บางทีตัวของเขาเองนั้นเขาก็ไม่เข้าใจจริง อีกอย่างหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องเดินไปสู่จุดหมายเดียวกันด้วยวิธีเดียวกัน นอกจากนั้น ในเมื่อมีผู้อื่นชี้จุดให้ ครั้นสะดุดใจแล้วตัวเราเองย่อมจะศึกษาจุดนั้นต่อไปได้ละเอียดชัดเจนกว่าผู้ชี้ การวิจัยของชาวต่างประเทศนั้นมีประโยชน์ การที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือ เราควรจะวิจัยต่อให้เลยออกไปลึกซึ้งละเอียดแน่ชัดยิ่งขึ้นไป แต่ภาพที่มองเห็นบ่อยก็คือ คนของเราเอ่ยอ้างถึงความคิดเห็นซึ่งเป็นผลจากการวิจัยของชาวต่างชาตินั้น โดยที่อาการแสดงออกมิได้ส่อให้เห็นว่าได้ใช้ความคิดอย่างจริงจังในเรื่องที่ตนเอ่ยอ้างถึงเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ เราก็คงจะต้องเป็นผู้ตามหรือพูดให้แรงว่าเป็นทาสทางปัญญาอยู่เรื่อยไป
มีตัวอย่างหลักธรรมหลายข้อที่อ้างหรือพูดถึงกันบ่อยๆ โดยมิได้ศึกษาความหมายให้แน่ชัดลงไปก่อน และความหมายที่เข้าใจหรือนึกถึงในเวลาอ้างนั้น ไม่ค่อยถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้เกิดทัศนคติไม่ดีต่อธรรมเหล่านั้น และเป็นเหตุให้ยกเป็นข้อโจมตีกันได้ เช่น
เมตตา แทนที่จะรู้ว่าเป็นหลักธรรมสำหรับปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อกันเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีในระหว่างเพื่อนมนุษย์ กลับเป็นเรื่องสำหรับปัดความรับผิดชอบไปให้ผู้ใหญ่หรือสำหรับอ้างเพื่อช่วยลูกน้อง
อุเบกขา แทนที่จะรู้ว่าเป็นหลักธรรมสำหรับธำรงความเที่ยงธรรมและความหนักแน่นมั่นคง กลับเป็นเครื่องอ้างสำหรับการนิ่งเฉย ไม่สนใจ หรือปัดความรับผิดชอบ
กตัญญู แทนที่จะรู้ว่าเป็นธรรมสำหรับรู้จักคุณค่าแห่งความดีของผู้อื่นแล้วช่วยต่อเติมเสริมความดีหรือคุณค่านั้นให้เพิ่มยิ่งขึ้น บางทีก็กลายเป็นเครื่องมือสมคบกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้
สันโดษ แทนที่จะรู้ว่าเป็นธรรมสำหรับตัดความฟุ้งเฟ้อสำรวย ป้องกันความฟุ้งซ่านเหินห่างจากหน้าที่และความทุจริต กลับเป็นเครื่องอ้างสำหรับละเลยภารกิจ และไม่เคยรู้เลยว่าอีกด้านหนึ่ง ความไม่สันโดษก็เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งเหมือนกัน
ผู้ที่อ้างถึงสิ่งใดโดยไม่ได้ตระหนักว่าตนได้ศึกษาสิ่งนั้นอย่างสมควรแล้ว ย่อมแสดงถึงการขาดความรู้สึกรับผิดชอบ และขาดความใฝ่ปัญญาที่แท้จริง นอกจากนี้ ขอเสนอให้ศึกษาคิดค้นอย่างจริงจังถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดคำปรัมปราพร้อมทั้งความหมายของมัน เช่น
"คนธัมมะธัมโม" แทนที่จะหมายถึงคนที่ดำรงธรรม ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนไม่บกพร่อง กลับกลายเป็นหมายถึงคนคร่ำครึ ถอนตัวหรือประพฤติธรรมด้วยปาก
"แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร" มุ่งความหมายแท้จริงอย่างไร การนำมาใช้อ้างกันมีผลดีผลเสียอย่างไร ควรแก้ทัศนคติอย่างไร เพราะพระพุทธเจ้ามีแต่ทรงชนะมาร ไม่เคยแพ้ มารเป็นผู้แพ้ฝ่ายเดียว
"แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้" เกิดมาอย่างไรควรใช้เพียงใด เพราะตามหลักกรรมมุ่งให้เพียรพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเอง เข้าสู่ผลสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ มุ่งให้แข่งกับงานและแข่งกับตนเอง ไม่ได้มุ่งให้คนคอยคิดแข่งคน
ข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักธรรม นอกจากการศึกษาให้รู้ความหมายที่ถูกต้อง ก็คือการคำนึงถึงวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของการปฎิบัติธรรมข้อนั้นๆ เพราะหลักจริยธรมทุกข้อสอนไว้เพื่อนำไปสู่จุดหมาย ถ้าปฎิบัติโดยขาดความตระหนักในจุดหมาย ย่อมกลายเป็นความงมงายและเกิดผลเสียหายได้ เช่น อดทน ก็ไม่ใช่อดทนเข้าไว้เฉยๆ แต่อดทนต้องมีเพื่ออะไรด้วย เช่น เพื่อให้นำตนเข้าถึงผลสำเร็จที่ต้องการได้ในที่สุด เป็นต้น
ปัจจุบันดูเหมือนจะตระหนักกันแล้วว่า อารยธรรมตะวันตกถ้ายังแล่นต่อไปในอาการและทิศทางเช่นนี้ จะไปสู่หายนะ ในเวลาเดียวกันทางฝ่ายเราเองก็รู้สึกว่าเท่าที่เป็นมา ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร อะไรเป็นความผิดพลาดหรือสาเหตุของความล้มเหลวของทางสองสายนี้ ในความเห็นของผู้เขียนว่า อารยธรรมตะวันตกล้มเหลวในส่วนที่เน้นเอาตัณหาเป็นแรงจูงใจในการกระทำหรือในการสร้างสรรค์ต่างๆ และผิดหวังในการใฝ่แสวงธรรมปัญญา ส่วนความผิดพลาดฝ่ายเราได้แก่การไม่นำเอาเป้าหมายของจริยธรรมออกมาแสดงให้ชัด ความคลุมเครือในเรื่องจุดหมายปลายทางของจริยธรรม ทำให้ขาดแรงจูงใจในการกระทำ เรามักพูดถึงความมุ่งหมายของการประพฤติศีลธรรมกันเพียงเพื่อความสงบสุขของสังคม จริงอยู่ ความสงบสุขในสังคมจะมีได้คนจะต้องมีศีลธรรม แต่จุดมุ่งหมายของการประพฤติศีลธรรมจะต้องไม่อยู่เพียงแค่นั้น เมื่อวินิจฉัยตามหลักพุทธศาสนา ศีลย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ และนำไปสู่ปัญญา จุดหมายอันสูงที่ทำให้เกิดความใฝ่ธรรม ใฝ่แสวงปัญญา และสัจจะเพื่อคุณค่าที่แท้จริงนี้แหละ จึงจะเป็นแรงจูงใจให้รุดหน้าต่อไปจากขั้นศีลธรรม และช่วยให้ศีลธรรมเองมั่นคงด้วย แต่เพราะไม่มีแรงจูงใจนี้ ในที่สุดแม้แต่การประพฤติศีลเอง ก็มีแต่การเน้นการย้ำตัวพยัญชนะในพิธีหาได้มีการปฏิบัติเคร่งครัดจริงไม่ ภาพนี้เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องบรรยาย
คนสมัยนี้จำนวนมากคงบอกว่า ความสุขเป็นที่หมายของชีวิต แต่ในทัศนะของผู้เขียนบทความนี้เห็นว่า ถ้าหมายถึงความสุขอย่างที่เข้าใจกันทั่วไปแล้ว อันนั้น ไม่ใช่ที่หมายของชีวิต เพราะทั้งไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง และไปได้ไม่ตลอด หรือไม่มีทางสำเร็จทั้งชีวิตบุคคลและสังคม สิ่งที่จะต้องแสวงหาหรือที่หมายอันถูกต้องของชีวิต คือความเป็นอิสระของบุคคลและของสังคม ที่ทำให้พร้อมที่จะเสวยสุขหรือไม่เสวยได้ตามความต้องการ และดำรงอยู่ได้อย่างดีอย่างไม่มีทุกข์ โดยไม่ต้องขึ้นต่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยได้ หรือผลได้ในระหว่าง และผลที่ขึ้นต่อความพอใจ ความเป็นอิสระอันเกิดจากธรรมปัญญา ทำให้สร้างสุขเสวยสุขได้อย่างดี และไม่ทำให้ความสุขกลายเป็นทุกข์โทษ เรื่องนี้จะต้องพูดกันอีก