ปรัชญาการศึกษาของไทย ภาคพุทธธรรม: แกนนำการศึกษา (ภาคต้นของหนังสือ ปรัชญาการศึกษาของไทย)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อนุโมทนา1

คุณสุรพล สัจจะรัตนะโชติ มีกุศลฉันทะที่จะพิมพ์บางส่วนบางตอนของหนังสือ ปรัชญาการศึกษาของไทย เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน และได้มีวริยะอุตสาหะพิมพ์ข้อมูลส่วนดังกล่าวนั้นขึ้นมาใหม่

หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว ว่าตามสภาพ แทบไม่มีใครในบัดนี้รู้จักหรือจำได้ คุณสุรพล สัจจะรัตนะโชติ จะได้อ่านโดยบังเอิญพบหรืออย่างไรก็ตาม ก็ขออนุโมทนาที่ได้ช่วยฟื้นชีพหนังสือเก่านั้นขึ้นมา แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งก็ตาม

ขอเล่าลึกลงไปอีกว่า นานมาแล้ว คงใกล้ถึง ๒๐ ปีก่อนนี้ คุณปรีชา ก้อนทอง (ร้านเบิกม่าน ใกล้พุทธมณฑล) คิดจะพิมพ์หนังสือปรัชญาการศึกษาของไทย นี้ขึ้นใหม่ ถึงกับได้ทำอาร์ตเวิร์คทั้งเล่มจนเรียบร้อย นำมาให้อาตมภาพตรวจดูขั้นสุดท้ายเสียก่อน แต่จนบัดนี้ทั้งที่อาตมภาพเองก็มิได้ลืม แต่อาร์ตวิร์คทั้งปึกก็ยังวางนอนเฉยอยู่ในตู้ เช่นเดียวกับต้นแบบต้นฉบับหนังสือเล่มอื่นอีกมากมาย ที่ค้างรออยู่ในตั้ง จนหมดยุดการพิมพ์แบบเก่านั้นไปแล้ว ที่เล่านี้ เป็นการถือโอกาสบอกขออภัยคุณปรีชา ก้อนทอง เป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสละเวลาและเรี่ยวแรงเสียเปล่าไปกับความเพียรนี้อย่างมากมาย

ในส่วนของข้อมูล ปรัชญาศึกษาของไทย ที่คุณสุรพล สัจจะรัตนะโชติ มีฉันทะพิมพ์ขึ้นใหม่ในระบบคอมพิวเตอร์นี้ อาตมภาพขอโอกาสว่าไม่ไหว จึงจะไม่อ่านไม่ตรวจ ทั้งที่ดูผ่านๆ ก็เห็นว่าอย่างน้อยน่าจะจัดซอยย่อหน้าถี่ให้อ่านง่ายขึ้น แต่ต้องขอปล่อย โดยให้ท่านผู้พิมพ์ช่วยดูแลเอง โดยคงไว้ตามของเดิม (อาร์ตเวิร์คของคุณปรีชา ก้อนทอง ถ้าเป็นสมัยนี้ อาตมภาพก็คงบอกว่าขอให้คุณปรีชาช่วยดูแลเองเถิด และเรื่องก็คงได้จบไปเร็วโดยง่าย)

ในครั้งนี้ คุณสุรพล สัจจะรัตนะโชติ แจ้งด้วยว่า ในการพิมพ์ขึ้นใหม่ ใคร่ขอเปลี่ยนชื่อหนังสือให้สื่อความหมายกว้างออกไป จะได้ครอบคลุมเนื้อหาสาระของหนังสือ ซึ่งมิใช่จำกัดแค่การศึกษาของไทยเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาของประดาชีวิตทั้งหมดทั้งปวง

อาตมภาพขออนุโมทนา แต่แม้จะแก้ไขชื่อ ก็คิดว่า ถ้ารักษาชื่อเดิมไว้เป็นต้นทุนก่อน น่าจะดี เพื่อจะได้มีความเชื่อมโยงให้ถึงกันในเชิงประวัติ แล้วขยายชื่อ ในทำนองชื่อรองต่อออกไป และก็จะสมกับที่พิมพ์เพียงส่วนหนึ่ง โดยใส่คำว่า "ภาค" คั่นไว้ คงจะได้ความหมายที่มุ่งประสงค์ แต่ถ้ายังคงชื่อเดิมไว้ กับทั้งมีชื่อใหม่ที่คุณสุรพลเสนอไปด้วย ชื่อหนังสือก็จะยืดยาว จนเรียกยาก จำยาก

เป็นอันว่า ตกลงคิดชื่อที่เลียนความเลียนคำตามข้อเสนอของคุณสุรพล ส่งไปให้หลายๆ ชื่อ สุดแต่จะเลือก ดังปรากฏผลเป็นชื่อบนหน้าปกหนังสือในบัดนี้

ขออนุโมทนาคุณสุรพล สัจจะรัตนะโชติ ที่ได้มีธรรมฉันทะดำเนินการให้หนังสือสื่อพุทธธรรมนี้สำเร็จออกมา ด้วยบุญเจตนาที่จะเผยแพร่พุทธธรรมนั้น ให้แผ่ขยายประโยชน์สุขที่ยั่งยืนเป็นแก่นสาร ขอร่วมใจหวังให้กุศลปณิธานบรรลุผล เพื่อสัมฤทธิ์ประโยชน์สุขให้มวลประชาประสบความเกษมศานติ์ ยืนนานสืบไป

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

กล่าวโดยทั่วไป ในปัจจุบัน ผู้ที่ใฝ่ในคุณค่าของพระพุทธศาสนามักตกอยู่ในภาวะที่ต้องทำงานสองอย่างพร้อมกันไปในเวลาเดียว คือ การศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ตนเองเข้าถึงความหมายและคุณค่าที่แท้ของหลักธรรม และการแสดงความหมายและคุณค่านั้นให้ผู้อื่นเห็นประโยชน์ในการใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้ คงต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาเท่าที่มีอยู่ ไม่ได้เตรียมบุคคลไว้ให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ กล่าวคือ ไม่สามารถผลิตบุคคลที่รู้เข้าใจธรรมแจ่มแจ้ง ซาบซึ้งในคุณค่าและสามารถนำธรรมมาแสดงให้คนปัจจุบันยอมรับได้ทั่วไป ผู้ที่ใฝ่ใจจึงมีภาระในการแสวงหาและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากกว่าที่ควร ครั้นเมื่อความสนใจในการศึกษาธรรมเกิดขึ้นแล้ว จะรอให้ตัวผู้ศึกษาเองเข้าถึงความหมายและคุณค่าอย่างพอเพียงเสียก่อน จึงจะเริ่มงานแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ก็ดูเหมือนว่าสภาวะของโลกปัจจุบัน บีบให้รออยู่ไม่ได้ กลายเป็นว่า ทั้งที่ศึกษาอยู่ ก็ต้องเป็นผู้แสดงไปด้วย ภาวะเช่นนี้มีประโยชน์ แต่ก็มีอันตรายควบอยู่ จะลดอันตราย ทำให้มีประโยชน์เหนือกว่าได้เท่าใด ย่อมขึ้นกับความซื่อตรง ความเคารพในธรรม และความไม่ประมาทในการศึกษาเป็นสำคัญ

ผู้เขียนหนังสือนี้ ก็ตกอยู่ในภาวะที่กล่าวข้างต้น คือ ทั้งที่ยังเป็นเพียงผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ได้หาญมาทำหน้าที่เป็นผู้แสดงคำสอนด้วย อย่างไรก็ดี มีความเบาใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ได้ทำการนี้ด้วยความเพียรพยายามจริงจังเท่าที่ตนจะกำหนดได้ว่าเป็นการกระทำโดยรอบคอบ มีหลักฐาน ตรงตามเหตุผลและความมุ่งหมายของธรรมอย่างยิ่ง กับทั้งพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นความเข้าใจของตนที่ยังบกพร่อง แต่สิ่งที่ผู้เขียนถือว่าสำคัญที่สุดก็คือ ความเพียรพยายามในการกระทำนี้ เกิดจากความมั่นใจที่เป็นแรงอยู่ภายในว่า เท่าที่สติปัญญาของตนพอจะหยั่งไปถึงและส่องนำให้เห็นได้ คำตอบขั้นสุดท้ายที่ครอบคลุมสำหรับปัญหาของมนุษย์มีอยู่ในพระพุทธศาสนา หรือแน่ชัดลงไปอีกว่า ในพุทธ­ธรรม ด้วยเหตุนี้หลักธรรมจึงมีค่าควรแก่การศึกษา และควรแก่การที่จะพยายามนำมาแสดงให้เห็นทางใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ ความมั่นใจนี้ยังไม่ได้จากแหล่งปัญญาอื่นๆ นอกจากคำตอบที่เป็นเพียงส่วนประกอบ หรือคำตอบเฉพาะกรณี หรือคำตอบที่เกื้อกูลในบางระดับของการแก้ปัญหาเท่านั้น การที่ขวนขวายศึกษาและพยายามแสดงหลักธรรมนี้ จึงมิใช่เป็นการกระทำให้สมฐานะที่มีชื่อว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธ­ศาสนา หรือโดยถือว่าเป็นหน้าที่ในฐานะที่เป็นพระภิกษุผู้พึงเล่าเรียนและสั่งสอนธรรม

ที่กล่าวมานั้นเป็นด้านศาสนธรรม ส่วนในด้านสถาบัน คือ วัด พระสงฆ์ และวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรากฐานและสืบต่อมาในสังคมไทย ผู้เขียนก็เห็นว่าคนทั่วไปยังสนใจและเข้าใจกันไม่เพียงพอ ทำให้มองเห็นภาพผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง ยึดติดในพฤติการณ์ที่เขวไปบ้าง อันจะเป็นโทษแก่สังคมได้มาก ผู้เขียนมั่นใจว่า สถาบันพุทธศาสนายังมีคุณค่าที่จะต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก และเมื่อเข้าใจแล้ว จะส่งผลสะท้อนเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยได้มากด้วย แม้ในส่วนที่เป็นโทษก็มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้แก้ไขได้ถูกแนวทาง มิใช่ซ้ำเติม หรือหลีกไปสร้างโทษใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ผู้เขียนได้เริ่มเขียนงานศึกษาค้นคว้า ด้านศาสนธรรมเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่า “พุทธธรรม” ตั้งใจว่าจะให้เป็นข้อเขียนที่แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหลายๆ ด้าน ให้ครอบคลุมหลักธรรมสำคัญๆ ทั้งหมด โดยเรียบเรียงเป็นระบบความคิดที่เสนอคุณค่าสำหรับปัญญาของมนุษย์ ในสมัยปัจจุบัน แต่เขียนได้เพียงสองตอนก็ค้างอยู่แต่นั้นมา แม้จะได้รับอาราธนาให้เขียนต่อจนจบก็มีงานอื่นบีบรัด ไม่มีโอกาสสืบต่องานนั้นอีกจนบัดนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาระหว่างนั้น ได้มีเหตุการณ์และกรณีต่างๆ บังคับโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง ให้ผู้เขียนต้องพูดหรือเขียนเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมต่างๆ ในรูปปาฐกถา คำบรรยาย และบทความต่างๆ บางเรื่องมีผู้นำไปตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ กระจายอยู่หลายแห่ง

บัดนี้ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในนามของสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ได้ขอให้รวบรวมปาฐกถาคำบรรยาย และบทความต่างๆ ของผู้เขียน ที่เกี่ยวกับการศึกษาและสังคม มาจัดพิมพ์เข้าไว้เป็นเล่มเดียวกันสักครั้งหนึ่ง ได้เรื่องตีพิมพ์คราวนี้ ๑๐ เรื่อง มีทั้งในด้านศาสนธรรมและในด้านสถาบัน เฉพาะในด้านศาสนธรรมนั้น กล่าวได้ว่าเป็นบางส่วนของเนื้อหาที่คิดไว้ว่าจะเขียนในเรื่องพุทธธรรมที่ค้างอยู่นั่นเอง ส่วนเรื่องต่างๆ ในด้านสถาบัน ก็ตั้งความหวังไว้ว่า ถ้ามีโอกาสจะเรียบเรียงปรับปรุงประมวลเข้าเป็นงานชิ้นเดียวกันในภายหลัง

การที่หนังสือนี้เกิดขึ้น ต้องนับว่าเป็นผลแห่งกุศลเจตนาของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์โดยแท้ ด้วยเป็นผู้ต้นคิดให้เรื่องที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ได้มารวมอยู่แห่งเดียวกัน และในบรรดาเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น บางเรื่องก็เกิดจากการอาราธนาของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์เอง จึงขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง

ในการจัดพิมพ์ คุณอนันต์ วิริยะพินิจ ได้เอาใจใส่ติดตามเป็นธุระตลอดมาด้วยดี และได้อาศัยเจ้าหน้าที่ผู้อื่นของสำนักพิมพ์เคล็ดไทยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ จึงขออนุโมทนาขอบใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย

อนึ่ง ในระยะเริ่มแรกที่งานแต่ละเรื่องจะสำเร็จเป็นรูปขึ้นนั้น ได้อาศัยคุณชลธีร์ ธรรมวรางกูร ช่วยเหลือพิมพ์ดีดต้นฉบับให้แทบทั้งสิ้น จึงขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้เป็นพิเศษ

พระราชวรมุนี
๒๘ ก.พ. ๒๕๑๘

ความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

ชีวิตเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มากมายมาประชุมกันขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้แยกประเภทใหญ่ๆ เป็น ๒ พวก คือ ทางร่างกายกับทางจิตใจ องค์ประกอบทุกส่วนทั้งทางร่างกายและทางจิตใจมีความเปลี่ยน​แปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนั้นมิได้เป็นไปโดยอิสระหรือเลื่อนลอย ต้องเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบภายในของชีวิตเองบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบภายในของชีวิต กับปัจจัยแวดล้อมภายนอกบ้าง

ในความสัมพันธ์นั้น ชีวิตพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่จะอำนวยประโยชน์แก่ตน และพยายามถือเอาประโยชน์จากปัจจัยที่ต้องเกี่ยวข้องหรือเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เพื่อให้เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ของตน ช่วยให้ชีวิตเจริญเติบโตขยายตัวออกไป พร้อมทั้งเพิ่มพูนความสามารถที่จะดำรงอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตจำกัดเท่าที่องค์ประกอบภายในและปัจจัยภายนอกจะอำนวยให้ เวลาชั่วชีวิตหนึ่งนับว่าไม่ยืนยาวนัก ชีวิตโดยทั่วไปจึงมีความเคลื่อนไหวสืบต่อตนเองอยู่ภายในวงจรสั้นๆ แคบๆ ซ้ำซากกับวงจรที่ผ่านล่วงไปแล้ว แม้จะมีความเพิ่มพูนขยายตัวแปลกออกไป ก็นับว่าอยู่ในขอบเขตจำกัดที่น้อยอย่างยิ่ง ไม่ว่าทางร่างกายหรือทางจิตใจก็ตาม

อนึ่ง องค์ประกอบของชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องรับสืบทอดจากชีวิตด้วยกันต่อๆ มา และองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสามารถจำกัด ไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากปัจจัยภายนอก ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้มากนัก ความเป็นไปของชีวิตโดยทั่วไปจึงต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ถูกปัจจัยต่างๆ ภายนอกกำหนดแนวทางความเปลี่ยนแปลง มากกว่าจะเป็นตัวกระทำหรือกำหนดความเปลี่ยนแปลงให้กับปัจจัยภายนอก เมื่อต้องขึ้นกับปัจจัยภายนอกอย่างมากมายเช่นนี้ อิสรภาพ คือความเป็นใหญ่ในตนเอง โดยหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำ ไม่ต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อสิ่งอื่น จึงมีน้อยเหลือเกินสำหรับชีวิตโดยทั่วไป

ชีวิตมนุษย์ก็เป็นชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยการถือเอาประโยชน์จากความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก เช่นเดียวกับชีวิตอย่างอื่น แต่ชีวิตมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้แตกต่างจากชีวิตแบบอื่นๆ คือมีองค์ประกอบภายในทางด้านจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้มนุษย์มีอิสรภาพ พ้นจากความครอบงำของปัจจัยภายนอกได้มาก และสามารถถือเอาประโยชน์จากปัจจัยภายนอกได้ อย่างแทบไม่มีขอบเขตจำกัด แม้ว่าองค์ประกอบอื่นๆ โดยเฉพาะด้านร่างกายของมนุษย์ ยังต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อปัจจัยภายนอกอย่างมาก และมีขอบเขตการเจริญขยายตัวจำกัด เช่นเดียวกับชีวิตอย่างอื่น แต่อิสรภาพที่องค์ประกอบข้อนี้อำนวยให้ ก็ทำให้มนุษย์สามารถทำการต่างๆ ขึ้นมาแก้ไขเสมือนจะกลับความอยู่ใต้อำนาจนั้นให้กลายเป็นความมีอิสรภาพโดยสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่า มนุษย์สามารถล่วงรู้เข้าไปถึงความจริงอันลี้ลับของปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายที่ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้อง มนุษย์สามารถนำความรู้นั้น มาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับผันแปรหรือจัดปัจจัยแวดล้อมทั้งหลาย ให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตของตน มนุษย์สามารถนำเอาความรู้ ความสามารถ ความชำนาญจัดเจนต่างๆ ที่มนุษย์รุ่นก่อนเรียนรู้ไว้ มาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์รุ่นต่อไปได้โดยตรงระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เอง เป็นวิธีการที่มนุษย์มีความเป็นอิสระในการกระทำอย่างมากที่สุด พึ่งอาศัยปัจจัยภายนอกน้อยที่สุด และทุ่นเวลาไม่ต้องให้มนุษย์รุ่นใหม่ต้องกลับไปเริ่มวงจรย้อนต้นซ้ำมาใหม่

มนุษย์มีจิตใจที่ประณีตละเอียดอ่อน ซึ่งสามารถที่จะซึมซาบในคุณค่า ความดี ความงาม ความรู้สึกนึกคิดของเพื่อนมนุษย์และสิ่งทั้งหลาย และที่สำคัญยิ่งคือมนุษย์สามารถเข้าใจเหตุผล รู้จักแยกระหว่างดีชั่ว คุณโทษ ส่วนตนส่วนสังคม เป็นต้น สามารถวินิจฉัย ตัดสินใจเลือกกระทำ หรืองดเว้นการกระทำต่างๆ ด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น หรือต่อสังคมได้ ความสามารถและความประณีตละเอียดอ่อนอันเป็นลักษณะพิเศษเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์เล่าเรียนถ่ายทอดกันได้ ฝึกฝนให้ถนัดจัดเจนได้ อบรมให้เกิดความนิยมชมชอบ โน้มเอียง เคยชิน และแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้

องค์ประกอบภายในทางจิตใจที่มนุษย์มีเป็นพิเศษ ต่างจากชีวิตแบบอื่นๆ และทำให้มนุษย์มีคุณลักษณะความสามารถเป็นพิเศษเหนือกว่าชีวิตอื่นๆ นั้น ก็คือกุศลธรรม ที่เรียกว่าสติปัญญา ส่วนการเล่าเรียน ฝึกฝน อบรม เพื่อนำสติปัญญาที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และทำให้แก่กล้ายิ่งขึ้น ก็คือ กระบวนการที่เรียกว่า การศึกษา ถ้ามนุษย์ปราศจากองค์ประกอบที่เรียกว่าสติปัญญา และขาดกระบวนการที่เรียกว่าการศึกษานี้เสียแล้ว ชีวิตมนุษย์ก็จะอยู่ใต้อำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมทั้งหลาย และหมุนเวียนอยู่ในวงจรสั้นๆ แคบๆ ซ้ำซากชั่วชีวิตแล้วชีวิตเล่า เช่นเดียวกับชีวิตสัตว์อื่นๆ

แต่ความมีสติปัญญาและการศึกษาได้ช่วยให้มนุษย์มีความเป็นใหญ่ในตนเอง ที่จะพ้นจากอำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมภายนอก สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตและสร้างสภาพที่เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ของตนได้อย่างมากมาย ซึ่งภาวะอันนี้ ถ้าจะหาศัพท์เรียกให้สั้น ก็คงจะได้แก่คำว่าอิสรภาพ ซึ่งมีความหมายใน ๒ ลักษณะ คือ ในทางลบได้แก่ความหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งอื่น และในทางบวกได้แก่ความเป็นใหญ่ในตนเอง

ความที่กล่าวมานี้ นอกจากให้คำตอบเกี่ยวกับความหมายของการศึกษาแล้ว อาจถือว่าเป็นการตอบปัญหาเกี่ยวกับความมุ่งหมายของการศึกษาไปด้วย โดยถือว่า การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพ คือทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุด และมีความเป็นใหญ่ในตัว ในการที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของตนให้ได้มากที่สุด วัตถุประสงค์เกี่ยวกับอิสรภาพนี้มองเห็นได้ชัด ถ้าแยกอิสรภาพนั้นออกพิจารณาเป็นแง่ๆ ไป เช่น

๑. ในแง่อิสรภาพพื้นฐานของชีวิต ตามปกติชีวิตต้องพึ่งอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่มีอยู่ในธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมของธรรมชาตินั้น มีอิทธิพลในการกำหนดความเป็นไปและวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตทั้งของมนุษย์และของชีวิตทุกๆ อย่างเป็นอย่างมาก บางครั้งปัจจัยแวดล้อมในธรรมชาติก็บีบคั้นให้ชีวิตเป็นอยู่โดยยาก หรือถึงกับจะให้สูญสลายไปเสียทีเดียว

นอกจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกแล้ว องค์ประกอบภายในของชีวิตเอง ก็อาจกลายเป็นเครื่องบีบคั้นตัดรอนชีวิตได้ เพราะการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต หมายถึงการสืบต่อประสานกันด้วยดีแห่งองค์ประกอบภายในทั้งหลายที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เรรวนไม่ประสานกัน ความกระทบกระเทือนก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ชีวิต สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ผู้ขาดการศึกษาย่อมขาดอิสรภาพในการดำรงชีวิตของตนอย่างนี้

แต่การศึกษาช่วยให้มนุษย์เข้าใจกลไกแห่งชีวิตของตน เข้าใจความจริงอันลี้ลับของธรรมชาติที่แวดล้อมตนอยู่ และรู้วิธีการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเหล่านั้น ในทางที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน หรือถือเอาประโยชน์แก่ตนได้ คือรู้จักปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้อย่างดีที่สุด นอกจากนั้น อาศัยความรู้ความเข้าใจและความถนัดจัดเจนในการใช้ความรู้นั้นอย่างถูกทาง แทนที่มนุษย์จะรอให้สิ่งแวดล้อมมากำหนดความเป็นอยู่ของตน มนุษย์กลับเป็นผู้จัดปัจจัยต่างๆ ในธรรมชาติให้เป็นไปตามประสงค์ของตนได้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ของตนได้

โดยความพยายามเพื่อเข้าถึงอิสรภาพข้อนี้ มนุษย์จึงกระทำการต่างๆ เพื่อกำจัดความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ ความหนาวร้อนจัด และภัยธรรมชาติต่างๆ พยายามสร้างสรรค์ความอุดมสมบูรณ์ บริการเกี่ยวกับสุขภาพ ความสนุกสนานบันเทิง และการพัฒนาบ้านเมืองในทางวัตถุทุกวิถีทาง

๒. ในแง่อิสรภาพทางสังคม มนุษย์อาจมีความสามารถที่จะจัดปัจจัยแวดล้อมทางธรรมชาติ พัฒนาสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและชีวิตแบบ อื่นๆ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้ ให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตของตนได้ แต่มนุษย์ด้วยกันก็เป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมนุษย์จะต้องเกี่ยวข้อง เรียกว่าเป็นปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ปัจจัยแวด​ล้อมทางสังคมนี้มีลักษณะของการที่จะต้องเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ แตกต่างไปจากปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นในธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือมนุษย์ด้วยกันตามความต้องการของตน เหมือนกับที่จัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างอื่น

มนุษย์แต่ละคนเป็นส่วนประกอบหน่วยหนึ่งของสังคม การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดอิสรภาพพื้นฐานของชีวิต เช่นความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุเป็นต้น และการเสวยผลของอิสรภาพเช่นนั้น มิใช่สิ่งที่มนุษย์ผู้เดียวจะกระทำหรือเสวยผลได้ แต่เป็นการกระทำร่วมกันของสังคม และมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเท่านั้นจึงทำได้

ยิ่งบุคคลแต่ละคนที่เป็นหน่วยของสังคม เกื้อกูลต่อกันเท่าใด กลุ่มนั้นหรือสังคมนั้นก็ยิ่งเข้มแข็งอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น เรื่องของมนุษย์ที่จะกระทำต่อปัจจัยแวดล้อมทางสังคม จึงมิใช่เรื่องของการจัดการตามความประสงค์ของตน แต่กลายเป็นการที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ดีมีคุณภาพ เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของบุคคลแต่ละคนที่เป็นหน่วยของสังคม แล้วเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน มนุษย์จึงต้องเรียนรู้วิธีการที่จะอยู่ร่วมกัน เรียนรู้การที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่กัน การที่จะทำตนให้อำนวยประโยชน์แก่สังคม การที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งต่างๆ และการที่จะสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยดี เมื่อสังคมบรรลุถึงภาวะเช่นนี้ก็เรียกได้ว่าสังคมมีอิสรภาพรอดพ้นจากความบีบคั้น มีความเป็นใหญ่ในการสร้างสรรค์และเสวยผลแห่งความสุขสมบูรณ์ของตน บุคคลแต่ละคนในสังคมนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิสรภาพทางสังคม

พิจารณาตามที่กล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าชีวิตเข้าถึงอิสรภาพทั้งในส่วนพื้นฐานและในทางสังคมอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะเป็นที่พอใจขนาดที่จะพูดได้ว่า เป็นชีวิตที่เข้าถึงจุดหมายแล้วอย่างแน่นอน และอิสรภาพอย่างนี้ ก็น่าจะเป็นจุดหมายของชีวิตได้ เมื่อเป็นจุดหมายของชีวิตแล้วก็ควรเป็นจุดหมายของการศึกษาด้วย

ดูตามนี้แล้วก็น่าจะเห็นอย่างนั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า คำว่า “ถ้า” ที่นำข้อความข้างต้นนั้น จะมีทางถูกตัดออกไปให้เป็นความจริงขึ้นมาได้หรือไม่ หรือจะต้องเป็น ถ้า อยู่เช่นนั้นตลอดไป ปัญหามีตามมาว่า อิสรภาพที่กล่าวมานั้น ควรเป็นจุดหมายที่แท้จริงของชีวิตและการศึกษาหรือไม่ และอิสรภาพเช่นนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงได้จริงหรือไม่ การพิจารณาเรื่องนี้ อาจจะต้องวนกลับไปมองย้อนขึ้นมาตั้งแต่ต้นใหม่อีก จึงขอยกไว้เป็นข้อพิจารณาต่อไป

การให้การศึกษาเพื่อจุดหมายของชีวิต

ถ้ามีใครถามว่า จะศึกษาไปเพื่ออะไร ก็เห็นจะตอบได้ง่ายๆ ว่า ศึกษาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต คำตอบนี้แม้จะกว้างสักหน่อยแต่เป็นคำตอบที่ไม่ผิด และช่วยเน้นสาระสำคัญให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต และทำเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตนั่นเอง ชีวิตมีจุดมุ่งหมายอย่างไร การศึกษาก็เพื่อให้ถึงจุดหมายอย่างนั้น หมายความว่า จุดหมายของการศึกษาเป็นสิ่งเดียวกับจุดหมายของชีวิต

ปัญหามีต่อไปว่า อะไรเป็นจุดหมายของชีวิต หรือถามอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร ปัญหานี้ ถ้าเชื่อในพระผู้สร้าง ก็ตอบไม่ยาก คือปัดไปให้พระผู้สร้างเสีย เพราะชีวิตจะเกิดมาเพื่ออะไร ก็แล้วแต่พระผู้สร้างนั้น เราไม่มีทางรู้ได้ ต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่าชีวิตนี้ทรงสร้างมาเพื่ออะไร แล้วไปถามองค์พระผู้สร้างเอาเอง แต่ถ้าไม่ยกปัญหานี้ไปให้พระผู้สร้างก็ต้องค้นหาคำตอบที่ตัวชีวิตเอง หันไปมองดูชีวิต ก็ไม่ปรากฏว่าชีวิตรู้ตัวเองในเรื่องนี้ และไม่ปรากฏว่าชีวิตเป็นตัวของตัวเองในการเกิดด้วยซ้ำ เรื่องจึงกลายเป็นว่า ชีวิตไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร คือชีวิตไม่มีจุดหมายในการเกิดนั่นเอง ซึ่งความจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น เสียเวลาที่จะมาค้นหาคำตอบว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร

ชีวิตมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีจุดหมายหรือวัตถุประสงค์ และจุดหมายก็มิใช่สิ่งที่มีติดมากับชีวิต แต่เป็นสิ่งที่ควรกำหนดให้แก่ชีวิต การศึกษานั่นเองคือการพยายามแสวงหาจุดหมายให้แก่ชีวิต ลำพังชีวิตเองก็คือความเป็นอยู่ ชีวิตที่มีจุดหมาย ก็คือชีวิตที่มีการศึกษา ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของชีวิตนั้น มิใช่การแสวงหาคำตอบว่า คือ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความควร แทนที่จะตั้งคำถามว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งไม่มีทางตอบได้ และไม่มีตัวสภาวะที่เป็นคำตอบ ควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไรและอย่างไร ซึ่งการศึกษาจะช่วยตอบปัญหาข้อนี้ และภาวะของชีวิตนี้เองที่มีความดิ้นรนอยู่ จะเป็นเครื่องชี้แนวทางแก่คำตอบ

ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างมาประชุมกันขึ้น และเป็นอยู่ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ความดำรงอยู่ของชีวิตอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ชีวิตจะเป็นอยู่ด้วยดีเพียงใด ย่อมแล้วแต่ความสัมพันธ์นั้นว่าจะเป็นไปด้วยดีเพียงใด

กล่าวโดยทั่วไป ชีวิตนอกจากมีภาระประจำในการควบคุมรักษาหล่อเลี้ยงองค์ประกอบภายในของตนเอง ให้คุมรูปและสืบต่อไปด้วยดีแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมภายนอกมากมาย ที่บีบคั้นเข้ามาด้วยการเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตเลยอีกด้วย ความสัมพันธ์ที่กล่าวข้างต้น จึงหมายถึงการที่ชีวิตปรับตัวและเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในทางที่จะให้ตัวของมันเป็นอยู่ได้ ภาวะเช่นนี้จะเห็นได้จากคำที่ใช้กันอยู่เป็นประจำเมื่อพูดถึงชีวิต เช่น คำว่า ดิ้นรน ต่อสู้ และ อยู่รอด เป็นต้น

ชีวิตที่ขาดการเรียนรู้และการฝึกฝนอบรม ย่อมเป็นชีวิตที่หย่อนสมรรถภาพและไร้ประสิทธิภาพ ทั้งในการควบคุมรักษาหล่อเลี้ยงองค์ประกอบภายในของตนเอง และในการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ส่วนชีวิตที่มีการศึกษา ย่อมมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการปรับตัวและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จนถึงขนาดที่สามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์แก่ตัวมันได้ การศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่จะทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นใหญ่ในตัวในการที่จะดำรงอยู่และเสวยประโยชน์จากการดำรงอยู่นั้น

ภาวะเช่นนี้เรียกเป็นคำศัพท์สั้นๆ ว่า อิสรภาพ ชีวิตที่บรรลุถึงภาวะเช่นนี้ย่อมมิใช่ชีวิตที่สักแต่ว่าเป็นอยู่ แต่กลายเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีหรืออย่างดีที่สุด ภาวะที่เป็นอยู่อย่างดีที่สุดนี้ คือสิ่งที่ควรกำหนดให้เป็นจุดหมายของชีวิต จึงสรุปได้ว่า จุดหมายของชีวิตก็คือความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การมีอิสรภาพ ซึ่งได้แก่การประสบความสำเร็จที่ทำให้อยู่รอดและหลุดพ้นอยู่เหนือภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการดิ้นรนต่อสู้

อนึ่ง สมรรถภาพและประสิทธิภาพนั้น เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังขึ้นในชีวิตแต่ละชีวิตด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนอบรม ที่ชีวิตนั้นประสบด้วยตัวของมันเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวแท้ของการศึกษา จึงเป็นภารกิจของชีวิตแต่ละชีวิต หรือการศึกษาเกิดขึ้นแก่ชีวิตด้วยการกระทำของชีวิตเอง พูดสั้นๆ ให้คลุมความว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมของชีวิต โดยชีวิต และเพื่อชีวิต

ตามที่กล่าวมา ทำให้เห็นได้ว่า ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพคือความหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นใหญ่ในตนเอง ด้วยการปรับเข้ากับสิ่งแวดล้อมบ้าง รู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวบ้าง และการกระทำให้เกิดความสามารถนี้นั่นเอง เรียกว่าการศึกษา อย่างไรก็ดี ความสามารถและการกระทำอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริงเสียก่อน ภารกิจข้อหลังนี้ เป็นหน้าที่ของปัญญา และมนุษย์อย่างเดียวเป็นสัตว์เจ้าปัญญา ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นภารกิจของปัญญา และเป็นกิจกรรมของมนุษย์

กล่าวโดยย่อ การกระทำต่อไปนี้จะต้องถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการศึกษาคือ

๑. การมีความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรปรับ ควรปรับที่ใด อย่างไร เป็นต้น

๒. การปรับตัวเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการดำรงอยู่ โดย

ก. พัฒนาองค์ประกอบภายในทางด้านร่างกายให้มีความสามารถและความพร้อมในการดำรงอยู่ด้วยดี เช่น ให้เจริญเติบโต แข็งแรง มีสุขภาพดีเป็นต้น

ข. พัฒนาองค์ประกอบภายในทางด้านจิตใจให้แข็งกล้าสามารถยิ่งขึ้น เช่นมีสติปัญญามากขึ้น มีคุณธรรมอื่นๆ เช่น เมตตา กรุณา สูงขึ้นเป็นต้น

๓. การรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์แก่ตน โดย

ก. รู้จักเลือกเกี่ยวข้องและถือเอาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเท่าที่มีอยู่

ข. ไม่ทำลายหรือทำตนให้เป็นอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลแก่ชีวิต

ค. ทำตนให้เกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตนเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง ซึ่งร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นประโยชน์ร่วมกัน

ง. รู้จักจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ และสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิต

ในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่กล่าวถึงในข้อที่ ๓ นั้น สิ่งแวดล้อมทางสังคมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก บุคคลจะมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ต่อเมื่อบุคคลอื่นๆ ทุกคนได้รับการศึกษาดีด้วย ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ช่วยคนอื่นๆ ที่ยังขาดการศึกษาให้ได้รับการศึกษา คนที่ขาดการศึกษานั้น พูดในวงกว้างที่เป็นจำนวนใหญ่ที่สุด ก็คือคนรุ่นใหม่ หรือคนที่เกิดภายหลัง แม้ว่าตัวการศึกษาที่แท้จะเป็นเรื่องของบุคคล แต่สังคมก็ยังสามารถจัดปัจจัยต่างๆ เพื่ออำนวยให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่บุคคลได้ การจัดปัจจัยต่างๆ เพื่ออำนวยให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่บุคคลนี้เอง เรียกว่า การให้การศึกษา ด้วยเหตุนี้สังคมจึงปฏิบัติภารกิจที่เรียกว่า การให้การศึกษา อย่างเป็นงานเป็นการ ทำการถ่ายทอดประสบการณ์ในอดีตที่รับสืบทอดต่อๆ กันมาของคนรุ่นเก่าให้แก่คนรุ่นใหม่ เตรียมผู้เยาว์ของสังคมให้เป็นผู้มีการศึกษาต่อไป

การศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล ย่อมทำให้ชีวิตบรรลุถึงอิสรภาพ คือหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นใหญ่ในตัว โดยเฉพาะในข้อที่ถือกันว่าสำคัญคือ

ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ มนุษย์จะหลุดพ้นจากอิทธิพลและอำนาจครอบงำของธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้ง โรคภัยไข้เจ็บ ความหนาวร้อนจัด เป็นต้น กลับเป็นผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติ จัดสรรพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่ความเป็นอยู่ของตนตามความประสงค์ ตลอดจนสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาดัดแปลงปรับปรุงสร้างสรรค์ให้เป็นไปต่างๆ เท่าที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่ตน ซึ่งเรียกกันว่าความเจริญ ทำให้มีสิ่งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ขึ้นคู่กับสิ่งที่มีตามธรรมชาติ เรียกง่ายๆ ว่า มนุษย์จะกลับเป็นนายของธรรมชาติ จากภาวะนี้ มนุษย์หวังว่าชีวิตจะได้เสวยความสุขความรื่นรมย์อย่างบริบูรณ์ไม่มีขีดจำกัด

ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม มนุษย์จะหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของมนุษย์ด้วยกัน จะมีความเป็นใหญ่ในตัวในการที่จะเสวยผลแห่งการมีชีวิต ทุกคนจะมีเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดร­ภาพซึ่งทำให้หลุดพ้นจากการเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงแข่งขันแย่งชิงในการดำรงชีพ และหลุดพ้นจากอำนาจบีบคั้นในการใช้สติปัญญาคิดริเริ่ม และแสดงออกต่างๆ โดยมีระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ มีระบบและสถาบันต่างๆ ในทางสังคมที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์

ชีวิตที่เป็นอย่างนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีที่สุด ถ้าทำได้จริงอย่างนี้ก็พูดได้ว่าการศึกษาได้นำชีวิตให้เข้าถึงจุดหมายได้สำเร็จ หรือมนุษย์ได้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา แต่ลองหันกลับไปพิจารณาดูภาวะข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ ความหวังที่ว่าไว้ข้างต้นอาจกลายเป็นเพียงความฝันที่น่าสงสัย ซึ่งไม่เคยทำได้จริงมาก่อน และไม่มีหลักประกันที่จะให้มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จจริงต่อไป ขอให้มาลองพิจารณาข้อสงสัยและเหตุผลฝ่ายหักล้างกันดู

พูดถึงอิสรภาพในด้านที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติก่อน มีข้อแย้งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ

๑. การจัดสรรดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสร้างสรรค์ความเจริญด้วยฝีมือมนุษย์ขึ้นมามากมาย ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ทำให้มนุษย์มีโอกาสดำรงอยู่และแสวงหาความสุขความรื่นรมย์ได้มากขึ้นก็จริง แต่ไม่อาจใช้เป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่า มนุษย์ที่เป็นอยู่อย่างพรั่งพร้อมด้วยความเจริญแบบนี้ บรรลุถึงความพึงพอใจในชีวิตยิ่งไปกว่ามนุษย์ที่ด้อยความเจริญกว่า หรือแม้แต่มนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะต่างโดยกาลสมัยก็ตาม

๒. การดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแล้วสร้างสรรค์ความเจริญแบบฝีมือมนุษย์ขึ้นมานั้น ต้องอาศัยการถ่ายทอดความสามารถและกระทำสืบต่อกันมาของมนุษย์หลายรุ่นชั่วคนแล้วคนเล่า และยังไม่มีที่กำหนดว่าจะเสร็จสิ้นลงเมื่อใด ถ้าความเป็นอยู่อย่างดีที่สุดจะต้องขึ้นต่อความเจริญแบบนี้แล้ว มนุษย์รุ่นก่อนๆ ก็ไม่มีทางเข้าถึงความมีชีวิตที่ดีที่สุดเป็นอันขาด แม้มนุษย์ปัจจุบันก็ยังหาได้เข้าถึงไม่ และไม่อาจทราบด้วยว่า เมื่อใดมนุษย์จะเข้าถึงจุดหมายอันนี้

๓. ที่ว่ามนุษย์จะหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของธรรมชาติ กลับมีอำนาจควบคุมเป็นนายของธรรมชาตินั้น มีทางเป็นไปได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น เท่าที่เป็นมาปัจจุบัน มองดูเผินๆ จะเห็นว่า มนุษย์ได้มีความสามารถควบคุมและจัดการกับธรรมชาติได้ตามต้องการแล้วเป็นอันมาก แต่เมื่อพูดในขอบเขตที่กว้างขวาง มนุษย์ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในธรรมชาติถึงขั้นพื้นฐาน เช่นดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องของชีวิต ที่ต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย อีกประการหนึ่งถึงอย่างไรๆ มนุษย์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ สิ่งทั้งปวงที่เรียกว่าเป็นความเจริญโดยฝีมือมนุษย์ ก็เป็นเพียงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปรมาปรากฏรูปอีกแบบหนึ่งเท่านั้น ยังคงเป็นไปตามกฎธรรมชาติและหมุนเวียนกลับไปสู่ธรรมชาติอีกในที่สุด

๔. ในการสร้างความเจริญตามแบบฝีมือมนุษย์นั้น มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติและทำให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นในธรรมชาติ ด้วยความเห็นแก่ตัวบ้าง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง ด้วยความรู้ไม่ทั่วถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของธรรมชาติ เกิดความผิดพลาดทั้งที่เข้าใจว่าตนฉลาดทำการต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วบ้าง นอกจากนั้นสิ่งทั้งหลายที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์นั้น แม้จะดูเสมือนเป็นของต่างหากจากธรรมชาติ แต่โดยภาวะก็ยังคงต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติอยู่นั่นเอง การทำให้เป็นของต่างหากจากธรรมชาติจึงเท่ากับเป็นการทำธรรมชาติให้วิปริตไป การหมุนเวียนต่างๆ ตามวงจรของธรรมชาติไม่ดำเนินไปตามปกติ เมื่อเกิดมีสิ่งแปลกใหม่ที่เกินแรงผลิตของธรรมชาติ ก็มีกากของเสียที่ธรรมชาติระบายให้ไม่ทันเช่นกัน

มนุษย์ผู้สนใจเรียนรู้แต่การสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ จึงประสบปัญหาใหม่ในการที่จะทำลายหรือระบายของเสียให้หมดไป ธรรมชาติที่ถูกทำลายหรือทำให้ผันแปรวิปริตไปด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ ย่อมสะท้อนกลับมาให้โทษเป็นพิษเป็นภัยแก่มนุษย์เองในภายหลัง การสร้างความเจริญด้วยฝีมือมนุษย์จึงกลับก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวว่า มนุษย์จะสามารถทำให้ความเจริญที่สร้างสรรค์ขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งการดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติได้หรือไม่ หรือว่ามนุษย์จะสร้างสรรค์ความเจริญเหล่านั้นขึ้นมา เพียงเพื่อเป็นเครื่องทำลายตนเองในระยะยาว
อิสรภาพในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
มีข้อแย้งที่สำคัญ

ทีนี้ ลองมาพิจารณาอิสรภาพในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่อไป มีข้อแย้งที่สำคัญดังนี้

๑. สังคมมนุษย์ได้เจริญและวิวัฒนาการมานานนักหนาแล้ว ยังไม่เคยปรากฏว่ามนุษย์ได้บรรลุอิสรภาพในด้านนี้แท้จริงเลย มนุษย์ยังไม่ได้หลุดพ้นจากการข่มเหง แข่งขัน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกันในเรื่องความเป็นอยู่ ดูเหมือนว่า ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเท่าใด การแข่งขัน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และมีมาในรูปที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น ยังไม่เห็นความหวังว่า มนุษย์จะบรรลุอิสรภาพในด้านนี้ได้เมื่อใด

๒. ในการสร้างสรรค์อิสรภาพดังนี้ มนุษย์ได้พยายามสร้างระบบต่างๆ ขึ้นเพื่อควบคุมและจัดความเป็นอยู่ของมนุษย์ มีทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรมต่างๆ เป็นต้น แต่ระบบเหล่านี้ไม่เคยเป็นอิสระจากตัวบุคคลโดยสมบูรณ์แท้จริงเลย ในเมื่อระบบไม่เป็นอิสระแท้จริงก็ย่อมไม่สามารถให้อิสรภาพแก่บุคคลอย่างแท้จริง เพราะระบบนั้นอาจเคลื่อนคลาดหรือแม้แต่สลายตัวไปได้เพราะบุคคล อิสรภาพทางสังคมนี้จึงไม่มีหลักประกันที่แน่นอน

๓. นอกจากอิสรภาพในการดำรงชีวิต ที่หลุดพ้นจากการเบียด​เบียนข่มเหงแย่งชิงแล้ว มนุษย์ต้องการความหลุดพ้นจากความบีบคั้นในการใช้สติปัญญา และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นผลแห่งสติปัญญานั้นด้วย เมื่อมนุษย์มีอิสรภาพทางสังคมแล้ว ก็หวังว่าจะสามารถใช้สติปัญญาคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และแสดงออกต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่การดำรงอยู่ร่วมกัน ทำให้สังคมมีอิสรภาพมากยิ่งขึ้น

แต่การณ์ไม่เป็นไปโดยง่ายอย่างนั้น ทั้งที่มีโอกาสใช้สติปัญญาและแสดงได้โดยเสรี แต่ความคิดและการแสดงออกนั้น มักไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ แต่มักเคลือบแฝงด้วยความปรารถนาส่วนตัวบ้าง บิดเบนไปตามความยึดมั่นส่วนตัวบ้าง ทำให้ไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน เป็นที่มาสำคัญของความขัดแย้งทั้งในระหว่างบุคคล หมู่คณะ กลุ่มชน ตลอดจนประเทศชาติ เป็นเครื่องบังคับอยู่ในตัวให้ต้องมีการบีบคั้นกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

พิจารณาตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าอิสรภาพที่ชีวิตต้องการ มีช่อง​โหว่หรือข้อติดขัดแฝงอยู่ด้วยทุกตอน ดูเหมือนว่ามนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงอิสรภาพและบรรลุความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ที่เป็นจุดหมายของชีวิตได้โดยสมบูรณ์เลย ข้อนี้จะเป็นปัญหาขั้นอับจนของมนุษย์ เว้นแต่จะสามารถค้นพบภาวะอะไรอย่างหนึ่งที่ปิดช่องโหว่นั้น ลบล้างข้อติดขัดให้หมดไปได้

ปัญหานี้ มีคำตอบว่า ช่องโหว่นั้นมีทางปิดได้ ข้อติดขัดมีทางแก้ได้ ถ้ามนุษย์จะไม่มัวหลงมองหาอิสรภาพแต่เพียงภายนอกตัวอย่างเดียว และรู้จักหันมาใส่ใจอิสรภาพภายในตนบ้าง เราจะไม่สามารถเคลื่อนไหวใช้โอกาสอันสะดวกให้เป็นประโยชน์ได้เลย แม้ว่าที่ที่เราปรากฏตัวอยู่ขณะนั้นจะราบเรียบและโล่งสบาย ถ้าเราถูกมัดติดอยู่กับที่ แต่ถ้าตัวไม่ถูกพันธนาการแล้ว แม้ที่แวดล้อมจะมีสิ่งกีดขวาง หรือคับแคบไปบ้าง ก็ยังมีทางเสวยภาวะที่เรียกว่าเป็นอิสรภาพได้ตามสมควร

เมื่อปิดช่องโหว่นั้นแล้ว ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด หรืออิสรภาพสมบูรณ์ จะต้องมีลักษณะเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาดไป ที่สำคัญๆ คือ

๑. แม้ว่าภารกิจในการจัดสรรสิ่งแวดล้อมและสร้างสรรค์ความเจริญ จะเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เรื่อยไปสืบทอดต่อกัน ทอดทิ้งไม่ได้ก็จริง แต่มนุษย์จะต้องถือว่าสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาแล้ว เป็นสิ่งอำนวยโอกาสสำหรับความมีชีวิตอย่างดีที่สุดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ความมีชีวิตอย่างดีที่สุดจะต้องขึ้นต่อภาวะเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง โอกาสที่มนุษย์จะเข้าถึงความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ย่อมมีอยู่เสมอไม่ว่ายุคใดสมัยใด หรือท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบใดๆ ไม่จำเป็นที่มนุษย์ผู้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จะได้รับความพึงพอใจจากชีวิตน้อยกว่ามนุษย์ผู้อยู่ท่ามกลางความเจริญแบบสมัยใหม่เสมอไป

๒. ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นนายของธรรมชาติ ในความหมายที่ว่า สามารถปรับปรุงจัดสรรสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวได้ตามความประสงค์อย่างเดียว และไม่ขึ้นอยู่กับความเจริญใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นนายเหนือธรรมชาติในตัว และความไม่ตกเป็นทาสของความเจริญที่ตนสร้างขึ้นนั้นด้วย มนุษย์จะต้องมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถเสวยประโยชน์จากความเจริญที่ตนสร้างขึ้นอย่างรู้จักประมาณ โดยมีความประสานกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นฐานรองรับในขั้นสุดท้าย

๓. สังคมจะหลุดพ้นจากการเบียดเบียน ข่มเหง แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกัน ต่อเมื่อจิตใจของบุคคลในสังคมหลุดพ้นจากกิเลสที่จะเป็นเหตุให้กระทำเช่นนั้น ระบบต่างๆ ทางสังคมจะให้อิสรภาพแก่บุคคลได้ ต่อเมื่อบุคคลผู้บริหารระบบ ผู้ปฏิบัติการตามระบบ ผู้ประกอบเข้าเป็นระบบ มีจิตใจเป็นอิสระสอดคล้องกับระบบ ความคิดเห็นและการแสดงออกของบุคคลจะไม่เคลือบแฝงบิดเบือน ต่อเมื่อจิตใจของบุคคลนั้นหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัวและความยึดมั่นลำพองตนเป็นต้น

๔. ในการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ชีวิตหวังในความสุขความรื่นรมย์ เพื่อเป็นเครื่องชดเชยและปิดบังความรู้สึกบีบคั้นต่างๆ ที่มันประสบอยู่ แต่ชีวิตจะไม่มีทางพบความสุขที่แท้จริงได้เลย ถ้าจิตใจยังถูกพันธนาการอยู่ด้วยกิเลส ยังถูกทรมานด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ มนุษย์จะไม่รู้จักวิธีวางใจให้ถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของเขาเอง วิธีแสวงหาความสุขของเขาจะเผ็ดร้อนยิ่งขึ้นทุกที จนกลายเป็นภัยอันตรายทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม พร้อมกับที่ตัวเขาก็ห่างไกลจากความสุขออกไปทุกทีด้วย การแก้ปัญหานี้จะต้องเริ่มที่การทำจิตให้หลุดพ้นจากพันธนาการเสียก่อน แล้วความสุขจะเป็นสิ่งที่หาพบได้เสมอทุกแห่งทุกเวลา

ที่กล่าวมานี้ คืออิสรภาพอีกด้านหนึ่ง เป็นอิสรภาพภายใน ไม่ใช่เป็นเพียงภาวะที่ปิดช่องโหว่ แต่เป็นภาวะพื้นฐานหรือแกนกลางทีเดียว ถ้าขาดอิสรภาพข้อนี้แล้ว อิสรภาพข้ออื่นๆ ก็ไร้ความหมาย และไม่มีทางเข้าถึงได้ ภาวะนี้ก็คือ การที่จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ความเป็นนายเหนือธรรมชาติภายในตัว หรืออิสรภาพทางจิตใจ (มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า วิมุตติ)

การศึกษาเพื่ออิสรภาพจากสิ่งแวดล้อม เป็นภารกิจของสังคมที่จะต้องทำสืบทอดกันเรื่อยไประหว่างคนต่างรุ่น แต่การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในของจิตใจ เป็นภารกิจที่แต่ละบุคคลจะทำให้สำเร็จได้ภายในชั่วชีวิตอันสั้นของตน การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายนอกเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีรายละเอียดและวิธีการแตกต่างออกไปตามปัจจัยแวดล้อม แต่การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในตนเป็นสิ่งยืนตัวแน่นอน เพราะเกี่ยวด้วยธรรมชาติภายในของบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นภาวะที่ยืนตัว

การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในนี้ ทำให้อิสรภาพภายนอกเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ และทำให้ชีวิตเข้าถึงจุดหมายคือความเป็นอยู่อย่างดีที่สุดได้จริง จึงเรียกว่าการศึกษาที่แท้ ระบบการศึกษาใดก็ตาม ที่ขาดการศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในเช่นนี้ จะเรียกว่าเป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ไม่ได้

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ แนวคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาไทย
(มองจากแง่ของพุทธธรรม)2

ก. กระบวนการของการศึกษา

๑. กระบวนการของการศึกษามองเห็นได้จากธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง ลักษณะของชีวิตตามธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่แล้วถึงภาวะที่ดิ้นรนเพื่อความหลุดพ้นจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่บีบคั้นขัดขวาง และแสวงหาความเป็นอิสระเพื่อจะเสวยผลแห่งความมีชีวิตของตนอย่างปลอดโปร่งโล่งเบา แม้ว่าชีวิตจะไม่ตระหนักถึงจุดหมายของตนเอง แต่จุดหมายนั้นก็ส่อชัดอยู่แล้วโดยภาวะแห่งการดิ้นรนนั่นเอง จุดเริ่มต้นแห่งการดิ้นรนนั้น ก็คือภาวะที่ถูกบีบคั้นขัดข้อง เรียกง่ายๆ ว่า ปัญหา หรือ ทุกข์ กระบวนการของชีวิตและการดำเนินชีวิตแต่ละขณะก็คือ การเผชิญปัญหาและพยายามแก้ปัญหา หรือการเผชิญทุกข์และหาทางออกจากทุกข์นั่นเอง

การดิ้นรนของชีวิต เป็นขั้นตอนสำคัญ คือเป็นช่วงที่เกิดมีกระบวน​การของการศึกษา ณ จุดเริ่มต้น คือปัญหาหรือความทุกข์นั้น ย่อมมีอวิชชาคือความไม่รู้ครอบงำอยู่ ทั้งความไม่รู้ในสภาวะของปัญหานั้น ไม่รู้เหตุปัจจัยของปัญหา ไม่รู้ที่หมายอันเป็นตำแหน่งที่พ้นไปได้จากปัญหา และไม่รู้ทางออกจากปัญหา ความแสวงอิสรภาพที่ถูกครอบงำด้วยความมืด คือความไม่รู้ไม่เข้าใจ ย่อมเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะหลุดพ้นและการดิ้นรนตามมา ยิ่งเกิดความหลงผิดในที่หมายด้วยแล้ว

ความเข้าใจผิดพลาดนั้นจะทำให้มองไม่เห็นชัดโดยปรุโปร่ง และจะยิ่งทำให้เกิดความดิ้นรนกระเสือกกระสนมากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความหวาดกลัวกระวนกระวาย และความยึดมั่นถือมั่นป้องกันตัวตนมากขึ้น ความมืดบอดด้วยความไม่รู้ ทำให้เกิดความกระวนกระวายประเภทหวาดผวา และยึดในภาพตัวตนที่ยกขึ้นมาปิดป้องไว้ ความหลงผิดในที่หมาย (แสดงอยู่ในตัวถึงการมองไม่เห็นชัดเจนทะลุปรุโปร่งตลอดสาย) ทำให้เกิดความกระวนกระวายประเภทดิ้นรนไขว่คว้าทะยานอย่างรุนแรง พร้อมกับที่ยึดมั่นในภาพตัวตนนั้นเหนียวแน่นยิ่งขึ้น ภาวะที่ทะยานอยากดิ้นรน เรียกว่า ตัณหา ภาวะทั้งสองอย่างสัมพันธ์เนื่องถึงกัน เป็นปัจจัยแก่กัน

ในทางตรงข้าม ถ้ากระแสความคิดดำเนินอย่างถูกต้องเกิดความรู้ความเข้าใจแต่เบื้องต้นก็ดี ในระหว่างที่ดิ้นรน กระแสความคิดดำเนินควบไปด้วย จนพบเงื่อนที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ ณ จุดหนึ่งจุดใดก็ดี ทันทีที่ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้น มองเห็นสภาวะของปัญหาตามที่มันเป็น มองเห็นเหตุปัจจัยแห่งความบีบคั้น ขัดข้อง มองเห็นที่หมายอันพ้นจากปัญหา และมองเห็นทางออกไปจากปัญหาเข้าสู่ที่หมาย ทันทีนั้นความกระวนกระวายจะระงับลง ความสงบจะเกิดขึ้น ยิ่งมองเห็นกระจ่างแจ้ง เห็นทางออกทุกแง่ทุกมุมเท่าใด ก็ยิ่งเกิดความมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อเห็นชัดเจนมีความมั่นใจโดยสมบูรณ์ ก็จะไม่มีความกระวน­กระวาย ไม่มีความดิ้นรน ความหวาดผวาห่วงกังวลคอยปิดป้องตัวตนจะหมดไป มีการปฏิบัติด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัยขึ้นมาแทน นอกจากความหวาดผวาห่วงกังวลในตัวตนจะหมดไปแล้ว ยังมีความรู้สึกปรารถนาจะเผื่อแผ่อิสรภาพนั้นออกไปให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจมองเห็นชัดเจนนี้เรียกว่าปัญญา ความรู้สึกที่คลี่คลายขยายตัวเผื่อแผ่อิสรภาพนั้นออกไปแก่ผู้อื่นเรียกว่ากรุณา

อนึ่ง เมื่อเริ่มเดินสายความคิดถูกต้อง เกิดปัญญามองเห็นทางออกก็ดี เกิดความกรุณาปรารถนาจะเผื่อแผ่อิสรภาพแก่ผู้อื่นก็ดี ก็จะเกิดแรงเร้าที่เรียกว่าฉันทะขึ้น ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นธรรมฉันทะ คือความใฝ่รู้ความ​จริงและเข้าถึงสาระหรือแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ และกัตตุกัมยตาฉันทะ คือความใฝ่ทำเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่มองเห็นนั้น ฉันทะคือความใฝ่รู้และใฝ่ทำนี้จะเป็นพลังสำคัญในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตรงข้ามกับตัณหาคือความอยากได้และทะยานอย่างไร้จุดหมาย ซึ่งเป็นพลังในการแก้ปัญหาที่ผิด หรือตัวการที่ชักให้เขวออกไปจากการแก้ปัญหา

ตามความที่กล่าวมา มีข้อควรพิจารณาดังนี้

๑.๑ กระบวนการของการศึกษา (กล่าวในแง่นี้) ก็คือ กระบวนการแก้ปัญหาหรือทุกข์ ปัญหาหรือทุกข์นั้นมีอยู่พร้อมด้วยอวิชชา การศึกษาเกิดขึ้น ณ จุดที่ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น ณ จุดที่แก้ปัญหาได้ (แก้ได้ในความคิดแล้วก็แก้ได้ในการกระทำ) การใช้ปัญญาคือวิธีแก้ปัญหาที่แท้

๑.๒ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น ก็จะเกิดการดิ้นรนกระวนกระวายทะยานไขว่คว้า คือพยายามแก้ปัญหาด้วยตัณหา การกระทำเช่นนี้ จะทำให้ห่วงกังวลปิดป้องตัวตนมากขึ้น (มีความเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้น) ตัณหากับอวิชชา จึงมาด้วยกันและช่วยเสริมกำลังแก่กัน การแก้ปัญหาหมายถึงการทำลายอวิชชา เมื่อแก้แล้วกลับทำให้อวิชชามากขึ้น การแก้ปัญหาด้วยการใช้ตัณหาก็ย่อมเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด หรือวิธีแก้ปัญหาเทียม ทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น

๑.๓ ถึงแม้การใช้ตัณหาจะเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างเทียม (คือไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับเพิ่มปัญหา) ก็จริง แต่ถ้าไม่ละทิ้งปัญญาเสียทีเดียว การดิ้นรนด้วยอำนาจตัณหาอาจช่วยให้ไปพบจุดหนึ่ง ที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ปัญญา ทำให้ปัญญาจับได้แม่นยำและดำเนินไปสู่การแก้ปัญหาได้สำเร็จ วิธีการนี้อาจนำมาใช้ในกรณีช่วยผู้อื่นแก้ปัญหาบ้างก็ได้ (คือในกรณีให้การศึกษาแก่ผู้อื่น) โดยการเร้าด้วยตัณหาให้ผู้นั้นดำเนินไปสู่จุดที่จะเกิดปัญญาตามต้องการ แต่ทั้งนี้ผู้ช่วยนั้นจะต้องมองเห็นจุดที่จะแก้ปัญหาด้วยปัญญาอย่างชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ ก็คงเป็นการแก้ปัญหาด้วยปัญญานั่นเอง เป็นแต่ซับซ้อนขึ้น การใช้ตัณหานั้นเรียกได้เพียงว่าเป็นกลวิธีขั้นหนึ่งในการแก้ปัญหา เป็นอุปกรณ์ของปัญญา หาใช่ตัวการแก้ปัญหาไม่

๑.๔ การแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง นอกจากทำลายอวิชชาแล้ว ยังเป็น การปิดกั้นและกำจัดตัณหาไปด้วย ความเจริญของปัญญาจึงทำลายความเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดแรงเร้าอย่างใหม่คือกรุณาเข้ามาแทนที่ พร้อมด้วยองค์ธรรมควบประสานคือ ฉันทะ การศึกษาจึงเป็นกระบวนการเปลี่ยนแรงเร้าจาก ตัณหา ให้กลายเป็น ฉันทะ และ กรุณา มากขึ้นโดยลำดับ

ในการสั่งสอนอบรม ควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาแท้และเทียม (การศึกษาที่ถูกและการศึกษาที่ผิด) นี้อยู่เสมอ ในหมู่มนุษย์นั้น การแสวงหาอิสรภาพจะมองเห็นชัดในเด็ก จะเห็นว่าเด็กมีความอยากรู้อยากเห็นและแสดงความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ การถามของเด็กเป็นสัญญาณของการใฝ่อิสรภาพ แสดงถึงการแสวงคำตอบคือการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถ้าผู้ปกครองแนะนำให้คำตอบถูกวิธี (ให้รู้ให้เข้าใจเกิดความใฝ่รู้ใฝ่ทำ) ปัญญาและการศึกษาก็จะเกิดขึ้น ถ้าผู้ปกครองแนะนำให้คำตอบผิดวิธี (ทำให้อยากได้และทะยานในการเสริมสนองตัวตน) ตัณหาและปัญหาก็จะเกิดขึ้น เป็นการศึกษาที่ผิด

สรุปความข้างต้นโดยย่ออีกครั้งหนึ่งว่า

ก. กระบวนการของการศึกษา คือกระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง หมายถึง กระบวนการทำลายอวิชชาและตัณหาพร้อมกับสร้างเสริมปัญญา ฉันทะ และกรุณา

ข. ตัณหา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเทียม อาจนำมาใช้เป็นกลวิธีขั้นหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาได้ ใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์ของปัญญาและมีปัญญาคอยกำกับ แต่เป็นวิธีการที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้
ปัญหาหรือทุกข์...ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมภายนอก

๒. ปัญหาหรือทุกข์นั้น เกิดจากการที่ชีวิตต้องดำรงอยู่และดำเนินไปท่าม​กลางปัจจัยแวดล้อมภายนอก ซึ่งชีวิตจะต้องพึ่งอาศัย กล่าวในแง่นี้ การที่ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ดี การจะแก้ปัญหาได้ก็ดี อยู่ที่การเข้าไปเกี่ยว​ข้อง หรือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ว่ากระทำด้วยตัณหาหรือด้วยปัญญา มนุษย์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นที่เนื้อหาแท้จริงของมัน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคุณค่าของมันตามที่มีความหมายแก่ตน กล่าวโดยทั่วไป คุณค่านั้นย่อมมีสองประเภท โดยสัมพันธ์กับลักษณะของการเกี่ยว​ข้อง (ระบบการตีค่า) ที่ใช้ปัญญาหรือตัณหา ซึ่งในที่นี้ขอบัญญัติคำเรียกเอาเองดังนี้

๒.๑ คุณค่าแท้ หมายถึงความหมายและประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนโดยตรง จัดเป็นการเกี่ยวข้องด้วยปัญญา เรียกได้ว่าคุณค่าที่สนองปัญญา เช่น อาหารมีคุณค่าสำหรับรับประทานหล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีกำลังมีสุขภาพ ดำรงชีวิตอยู่ได้ผาสุก ปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนได้ รถยนต์ช่วยให้เดินทางได้รวดเร็ว เกื้อกูลแก่การปฏิบัติหน้าที่การงานและความเป็นอยู่ ควรมุ่งเอาความสะดวก ปลอดภัย แข็งแรง ทนทาน

๒.๒ คุณค่าเสริม หรือคุณค่าเทียม หมายถึงความหมายและประโยชน์ที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อเสริมราคาของตัวตน ที่หลงผิดยึดไว้ จัดเป็นการเกี่ยวข้องด้วยตัณหา เรียกได้ว่า คุณค่าที่สนองตัณหา เช่น อาหารมีคุณค่าสำหรับรับประทานให้เอร็ดอร่อย แสดงฐานะความโก้หรูหรา เสริมความสนุกสนาน รถยนต์เป็นเครื่องแสดงฐานะ ความโก้ ความมั่งมี ควรให้สวยงามและเด่นที่สุด ดังนี้เป็นต้น

อาหารเพื่อคุณค่าแท้ในข้อ ๑ ราคาสิบบาทกับอาหารเพื่อคุณค่าเทียมในข้อ ๒ ราคาพันบาท อาจมีคุณค่าแท้เท่ากัน

เรื่องคุณค่าสองอย่างนี้ มีความสำคัญมาก นอกจากเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะกรณีโดยตรงแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องตัดสินเกี่ยวกับการใช้ประยุกตวิทยาใหม่ๆ ด้วย โดยเลือกทำและเลือกใช้แต่สิ่งที่ให้คุณค่าแท้ สนองปัญญาโดยตรง และระมัดระวังป้องกันภยันตรายซึ่งจะเกิดจากการทำลายตนเองของมนุษย์ ผู้มุ่งแต่จะแสวงหาความสุขสำราญสนองตัณหา

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับคุณค่าสองประการนี้ คือการให้​การศึกษาที่ถูกต้องและผิดพลาด ซึ่งจะมีผลดีและผลร้ายแก่สังคมอย่างมากมาย เช่น เด็กที่พบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดความอยากรู้อยากเห็น ได้รับ​คำแนะนำให้รู้จักเข้าใจสิ่งนั้นว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีส่วนประกอบอย่างไร นำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง จนเกิดความใฝ่รู้ใฝ่ทำขึ้น ย่อมได้รับการปลูกฝังนิสัยในการแก้ปัญหาที่แท้

แต่ถ้าได้รับคำแนะนำอีกอย่างหนึ่ง ในแง่ที่ให้เห็นเพียงว่า น่าอยากได้ อยากเล่น เป็นต้น โดยผู้แนะนำไม่มีจุดหมายทางปัญญาที่จะสืบเนื่องต่อไป ก็ย่อมได้รับการปลูกฝังนิสัยในการแก้ปัญหาแบบเทียม ชนิดสนองตัณหา การให้การศึกษาด้วยการส่งเสริมความใฝ่คุณค่าเทียม (สนองตัณหา) นี้ คือการศึกษาที่ผิด (ที่จริงคือไม่ใช่การศึกษา) ทำให้เกิดผลร้ายต่างๆ เช่น

ก. ทำให้มีนิสัยเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต

ข. ความผิวเผิน ไม่จริงจัง ตื่นเต้นของแปลกใหม่ง่ายๆ

ค. ทำให้เรียนเพื่อได้ประกาศนียบัตรมากกว่าเพื่อได้ความรู้

ง. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

จ. การไม่รู้จักรักษาถ่ายทอดของของตน ไม่รู้จักรับและเปลี่ยน​แปลงเข้ากับสิ่งใหม่ๆ อย่างรอบคอบ

ฉ. ความขาดระเบียบวินัย และขาดความรับผิดชอบ

ช. การเลือกเรียนและเลือกงาน โดยมีเงินเป็นแรงจูงใจ มากกว่า​ทำด้วยใจรัก อยากเห็นความก้าวหน้าของ

วิชาการและผลงาน

ญ. การทำงานแต่พอสำเร็จ พอให้ได้ผลตอบแทน มากกว่าความใฝ่ในผลสัมฤทธิ์ และความดีเลิศของงาน

ฎ. การขาดท่าทีแบบวิทยาศาสตร์

ฏ. การพัฒนาแบบปัญหา

ฯลฯ

๓. กระบวนการของการศึกษา เพื่อทำลายอวิชชา-ตัณหา และเสริมสร้างปัญญา-กรุณา นั้นแบ่งเป็นช่วงตอนสำคัญได้ ๒ ตอน คือ

๓.๑ ตัวการศึกษาที่แท้ คือมีมรรคมีองค์ ๘ หรือ ไตรสิกขา เป็นส่วนที่อยู่ในตัวบุคคล เกิดขึ้นที่ตัวบุคคลเอง (โดยการเหนี่ยวนำหรือชักจูง ๓.๒) การศึกษาเริ่มขึ้นเมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญาที่แท้เบื้องต้น

๓.๒ ตัวประกอบของการศึกษา คือ เครื่องเหนี่ยวนำชักจูงให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่บุคคล เป็นส่วนบุพภาคแห่งการศึกษา และสิ่งที่เกื้อหนุนประคับประคองการศึกษา คำกล่าวว่า “การให้​การศึกษา” ก็รวมอยู่ในความหมายของข้อนี้ ตัวประกอบนี้มี ๒ อย่าง คือ

๓.๒.๑ ตัวประกอบภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ คือ เครื่องชัก​จูงจากภายนอกฝ่ายที่ดี โดยเฉพาะคือ กัลยาณมิตร ทั้งผู้ที่เสวนาคบหาใกล้ชิด และที่นิยมเยี่ยงอย่าง หมายถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น บิดามารดา ครู อาจารย์ เพื่อน สื่อมวลชนที่ดี เป็นต้น

๓.๒.๒ ตัวประกอบภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิด หรือคิดถูกวิธี หมายถึงคิด แยกแยะวิเคราะห์ให้เห็นตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ สืบสาวหาเหตุผลแต่ต้นจนตลอด เป็นต้น
ตัวประกอบภายนอกของการศึกษาคือ กัลยาณมิตร

๔. ตัวประกอบภายนอกของการศึกษา คือ กัลยาณมิตร หรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีนั้น มีความสำคัญอย่างมาก แต่เป็นหลักที่ไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร แม้แต่ชาวพุทธเองก็มักละเลยมองข้ามไปเสีย เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามักถูกเพ่งเล็งไปในด้านเดียว ในแง่ที่เป็นคำสอนซึ่งเน้นปัจเจกบุคคล ความสำคัญของหลักข้อนี้มีมากถึงขนาดที่ควรแยกพิจารณาเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว เพราะตามหลักพุทธศาสนาถือว่า ความมีกัลยาณมิตรเท่ากับพรหมจรรย์ คือ การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หรือการดำเนินตามมรรคทั้งหมด

ข. ความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

เมื่อสำรวจดูกระบวนการศึกษาตามที่เป็นไปในชีวิตจริง และมองเห็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว จึงให้ความหมายและกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาได้ดังนี้

๑. ความหมายของการศึกษา

๑.๑ มองในแง่สภาพที่เผชิญ: การศึกษา คือการแก้ปัญหาของมนุษย์ หรือพูดให้ชัดว่า การทำให้ชีวิตแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่มีปัญหา การศึกษาก็ไม่มี (ทุกข์-ทุกขนิโรธ)

๑.๒ มองในแง่สภาพที่ประสบผล: การศึกษา คือการทำให้ชีวิต

๑.๒.๑ แง่ลบ: หลุดพ้นจากปัญหา ปราศจากสิ่งบีบคั้นขัดข้อง

๑.๒.๒ แง่บวก: เข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ประเสริฐหรือดีที่สุดที่ชีวิตพึงได้ มีอิสรภาพสมบูรณ์

๑.๓ มองในแง่ความสัมพันธ์ของชีวิตกับปัจจัยแวดล้อม: การศึกษา คือการทำให้มนุษย์ พ้นจากการต้องพึ่ง ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก มีความสมบูรณ์ในตัวเองมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ

๒. จุดหมายของการศึกษา

เป็นอันเดียวกับจุดหมายของชีวิต เรียกตามภาษาพระว่า ความหลุดพ้น (วิมุตติ = Freedom) ได้แก่ ความปลอดโปร่ง โล่ง เป็นอิสระ หมายถึงสภาพชีวิตที่พร้อมสำหรับใช้ประโยชน์ มากกว่าการใช้ประโยชน์นั้นเอง และอาจมองได้เป็น ๒ แง่

๒.๑ ในแง่ลบ หมายถึง ภาวะที่พ้นจากความบีบคั้น ผูกมัด ขัดข้อง ปราศจากข้อบกพร่อง

๒.๒ ในแง่บวก หมายถึง ภาวะที่มีความเป็นใหญ่ในตัว ซึ่งทำให้พร้อมที่จะทำ (และไม่ทำ) การใดๆ ได้ตามปรารถนา

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดหมายนี้บางประการคือ

๒.๓ จุดหมายสูงสุดแสดงด้วยภาษาลบ เพราะภาวะที่สมบูรณ์แท้ คือภาวะที่ปราศจากข้อบกพร่อง คือ ลบลบ (– –) มีค่าเหมือนบวก และสมบูรณ์กว่าบวก

๒.๔ จุดหมายสัมพันธ์แสดงด้วยภาษาบวก (+) ยังแสดงภาวะที่ต้องการเพิ่ม ซึ่งหมายถึงขาดแคลนอยู่ในตัว คือ ยังต้องถามว่า บวกด้วยอะไร

โดยนัยนี้ จึงมีข้อควรคำนึงในทางปฏิบัติว่า

๒.๕ ควรใช้ภาษาลบล้วน เฉพาะเมื่อเล็งถึงภาวะขั้นสุดท้าย

๒.๖ ส่วนขั้นที่อยู่ในระหว่าง ควรใช้ภาษาบวก หรือ ลบกับบวกควบกันไป เพื่อให้เห็นชัดว่า เพื่อให้บรรลุผลสมบูรณ์ในขั้นนั้นๆ ควรต้องแก้ไขกำจัดอะไร และเมื่อแก้ไขกำจัดสิ่งนั้นแล้ว จะต้องเพิ่มเติมเสริมด้วยอะไร การปฏิบัติจึงจะได้ผลแท้จริง การดำเนินชีวิตในโลกโดยปกติเป็นไปในขั้นจุดหมายสัมพันธ์ ควรทำให้ได้ครบตามนี้ และน่าจะย้ำว่าการปฏิบัติการต่างๆ ยังมักบกพร่องกันในข้อนี้มาก เช่น เพ่งแต่แง่บวกอย่างเดียว เป็นต้น

๒.๗ ความหมายซึ่งเพ่งไปในทางบวกมากแง่หนึ่งของจุดหมายสัมพันธ์นั้น ก็คือ เสรีภาพ ซึ่งนอกจากเป็นจุดหมายแล้ว ยังเป็นวิถีหรือมรรควิธีไปด้วยพร้อมกัน ความยากของเรื่องเสรีภาพนี้ อยู่ที่ว่าอะไรคือ ความหมายที่ถูกต้อง เมื่อพูดว่า เสรีภาพคือภาวะที่กระทำการต่างๆ ได้ตามความพอใจ ก็เกิดปัญหาในที่สุด ก็ต้องต่อด้วยคำที่แสดงความจำกัดว่า ภายในขอบเขตอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เสรีภาพที่ถูกจำกัดก็คือยังไม่ใช่เสรีภาพแท้จริงนั่น​เอง ความหมายของเสรีภาพน่าจะได้แก่ ความรู้จักพอใจและทำได้ตามพอใจในสิ่งที่ควรพอใจ จริงอยู่ คำลงท้ายว่า “ที่ควรพอใจ” แสดงถึงภาวะที่ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่เหมือนกัน แต่กินความไม่เหมือนกัน คำว่าภายในขอบเขต แสดงถึงความบีบคั้นปิดทาง ซึ่งอาจไม่เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่คำว่าในสิ่งที่ควรพอใจ แสดงถึงการใช้ปัญญา และการกระทำหรือยับยั้งการ​กระทำโดยสมัครใจ ตามที่เห็นชอบด้วยปัญญา ปรัชญาการศึกษาควรให้คำตอบได้ว่า เสรีภาพคืออะไร โดยเฉพาะที่ว่าอะไรควรพอใจไม่ควรพอใจ และการศึกษาควรทำให้บุคคลรู้จักพอใจ และทำได้ตามพอใจในสิ่งที่ควรพอใจนั้น

๓. คุณลักษณะของผู้ได้รับการศึกษา หรือผู้ได้รับผลตามความมุ่งหมายของการศึกษา

๓.๑ ในแง่คุณสมบัติประจำตน คุณธรรมที่เด่น คือ

๓.๑.๑ ปัญญา ซึ่งเจริญขึ้นโดยลำดับพร้อมกับการสูญสิ้นของอวิชชา

๓.๑.๒ กรุณา ซึ่งจะเป็นแรงเร้าในการกระทำมากโดยลำดับแทนที่ตัณหา

๓.๒ ในแง่การดำเนินชีวิต มีลักษณะสำคัญ คือ

๓.๒.๑ อัตตัตถะ หรือ อัตตหิตสมบัติ การบรรลุถึงประโยชน์ตน คือ ได้ฝึกฝนอบรมตัวเองดี พึ่งตนเองได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ (รวมทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม) ถึงความเจริญงอกงามแห่งสติปัญญาและคุณธรรมต่างๆ (เช่น สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ หรือประกอบด้วยทิฏฐธัมมิกัตถะและสัมปรายิกัตถะ เป็นต้น) ข้อนี้คุณธรรมที่เด่นคือ ปัญญา

๓.๒.๒ ปรัตถะ หรือ ปรหิตสมบัติ การบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น คือ สามารถช่วยเหลือผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ทางวัตถุก็ดี ทางจิตใจก็ดี (เช่น สังคหวัตถุ ๔ และ สาราณียธรรม ๖ เป็นต้น) ข้อนี้คุณธรรมที่เด่น คือ กรุณา

ในทางปฏิบัติ คุณสมบัติและคุณลักษณะ ๒ ฝ่ายนี้มีความสัมพันธ์อิงกันอยู่ เช่น เมื่อปัญญาที่แท้จริงเจริญขึ้น จะต้องทำให้กรุณางอกงามขึ้นด้วย การจะมีกรุณาที่แท้จริงได้ ก็ต้องมีปัญญาสูงขึ้น ดังนี้

ค. พุทธธรรมที่เป็นสาระสำคัญของการศึกษา

หลักธรรมที่ช่วยให้มองเห็นกระบวนการของชีวิต ตลอดจนสามารถวางหลักการศึกษาได้สำเร็จ มีดังนี้

๑. หลักธรรมที่พึงวิเคราะห์เพื่อแสวงพุทธปรัชญาการศึกษา

๑.๑ หลักธรรมที่สรุปเนื้อหาแห่งการตรัสรู้ทั้งหมด

๑.๑.๑ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน (ตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเมื่อจะทรงประกาศธรรม)

๑.๑.๒ อริยสัจจ์ ๔ (ตามแนวแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)

ทั้งสองอย่างนี้ โดยสาระสำคัญ คือสิ่งเดียวกัน ต่างโดยแง่ที่เป็นหลักวิชากับการนำเสนอเพื่อผลในทางปฏิบัติ

๑.๒ หลักธรรมสำคัญ แสดงสาระสำคัญที่แฝงอยู่ในหลักธรรมตามข้อ ๑.๑

๑.๒.๑ ขันธ์ ๕

๑.๒.๒ ไตรลักษณ์

๑.๒.๓ กรรม (กรรมและวิบาก)

๑.๒.๔ ไตรสิกขา หรือ มัชฌิมาปฏิปทา

๒. แนวคิดและทัศนคติบางประการ ที่แสดงออกจากหลักธรรมสำคัญในข้อ ๑ (ตัวอย่าง)

๒.๑ ปฏิจจสมุปบาท แสดงว่า

๒.๑.๑ ความจริงหรือสัจธรรม คือกฎแห่งเหตุผลที่มีอยู่ในธรรมชาติธรรมดา ไม่ขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้า หรือการอุบัติของศาสดา ฐานะของศาสดาก็คือเป็นผู้ค้นพบและนำมาเปิดเผยแสดง

๒.๑.๒ ปรากฏการณ์ หรือผลอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีเหตุ และมิใช่เหตุอย่างเดียวเท่านั้น ต้องมีปัจจัยต่างๆ สนับสนุนหรือเอื้ออำนวยด้วย

๒.๒ อริยสัจจ์ ๔ แสดงว่า

๒.๒.๑ สภาวะของชีวิตนี้เป็นอย่างไร และประโยชน์สูงสุดที่จะพึงได้จากชีวิตนี้คืออะไร

๒.๒.๒ ปัญหาของมนุษย์แก้ไขได้ และเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องแก้ไขด้วยปัญญาและการกระทำของมนุษย์เอง ไม่เกี่ยวกับเทพเจ้าหรืออำนาจพิเศษใดๆ

๒.๓ ขันธ์ ๕ แสดงว่า

๒.๓.๑ ชีวิตนี้ มีสภาวะเป็นที่ประชุมขององค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามเหตุปัจจัย (dynamic)

๒.๔ ไตรลักษณ์ แสดงว่า

๒.๔.๑ (เหมือน ๒.๑.๑)

๒.๔.๒ ให้มองสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ยอมรับและกล้าเผชิญหน้าความจริงนั้นๆ ทั้งที่น่าพอใจและไม่พอใจ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต

๒.๕ กรรม แสดงว่า

๒.๕.๑ ความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ (ทั้งบุคคลและสังคม) ดำเนินไปตามกฎแห่งเหตุและผล เริ่มแต่ความคิดและคุณค่าต่างๆ ในจิตใจ มีทัศนคติและค่านิยมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่ามโนกรรม และมโนกรรมนี้มีความสำคัญที่สุด (ในบรรดากรรมด้วยกัน) และเป็นเรื่องที่การศึกษาควรเกี่ยวข้องมากที่สุด (กมฺมุนา วตฺตตี โลโก)

๒.๕.๒ มนุษย์มีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่พึงแบ่งแยกโดยชาติกำเนิด และชีวิตความเป็นอยู่นั้น แก้ไขปรับปรุงได้ตามกฎแห่งเหตุปัจจัย

๒.๕.๓ ผลสำเร็จที่ต้องการหรือจุดหมาย จะเข้าถึงได้ด้วยการกระทำหรือลงมือปฏิบัติด้วยความเพียรพยายามอย่างจริงจัง มิใช่ด้วยการปรารถนา การอ้อนวอนหรือนอนรอคอย

๒.๖ มรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ไตรสิกขา แสดงว่า

๒.๖.๑ การศึกษาในความหมายที่แท้ มีพุทธศึกษาและ จริย­ศึกษาควบไปด้วย มิใช่เป็นต่างหากกัน

๒.๖.๒ ขอบเขตของการศึกษา จะต้องไม่ละเลยชีวิตด้านร่าง​กาย คือสุขภาพอนามัย แต่ในเวลาเดียวกัน ต้องไม่ให้เกินขอบเขตจนเป็นการปรนเปรอสนองตัณหาภายใต้ความมืดของอวิชชา

๒.๗ นิพพาน แสดงถึง

๒.๗.๑ สภาวะที่เข้าถึงเมื่อแก้ปัญหาแท้ของมนุษย์ได้แล้ว และประโยชน์สูงสุดที่พึงได้จากการมีชีวิต

๒.๗.๒ ความมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์

พระพุทธศาสนาและการนำธรรมมาพัฒนาหลักสูตร3

คำนำ

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เรารู้จักกันดี แต่การนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ในด้านอื่น เช่น การศึกษา ถือว่าเป็นของใหม่ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ การประยุกต์อาจจะมุ่งไปในด้านวัฒนธรรมประเพณี หรือตัวแกนกลางคือ พุทธธรรม ซึ่งเรียกว่าพุทธปรัชญา ก็ได้ ในที่นี้จะพูดในแง่หลักคือ พุทธธรรม

พุทธธรรมหรือพุทธปรัชญา เราถือว่านับถือมาพร้อมๆ กับพระ​พุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ แต่หลักธรรมและความเชื่อถือที่พุทธศาสนิกชนไทยนับถือปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่หลักแท้ของพระพุทธศาสนาไปทั้งหมด อาจมีลัทธิผีสางเทวดาและศาสนาพราหมณ์เป็นต้น ปะปนอยู่ด้วย โดยเป็นความเชื่อถือเดิมก่อนนับถือพุทธศาสนาบ้าง นับถือพร้อมๆ กันมาบ้าง

การวิเคราะห์พุทธศาสนา

เราต้องวิเคราะห์พระพุทธศาสนาที่เรานับถือ ว่าอะไรเป็นหลักแท้ ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาแบบไทย ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเราเอง และได้เจริญควบคู่มากับประวัติศาสตร์ของชาติไทย บางสมัยพุทธ­ศาสนาก็เจริญ บางสมัยก็เสื่อมลง ดังนั้น การที่จะบอกว่าพุทธศาสนาที่เรานับถือปัจจุบันเป็นพุทธศาสนาตัวแท้หรือไม่ ครั้งแรกเราต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะยอมรับทันที จริงอยู่เมื่อเริ่มต้นเรายอมรับว่า พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เราจึงเกิดศรัทธาและยอมรับมา แต่การที่เรายอมรับมา ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเข้าถึงพระพุทธศาสนา ในบางสมัยเราอาจจะได้มีการศึกษา มีการค้นคว้า และมีผู้มีความสามารถในการที่จะถ่ายทอดสั่งสอนทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงพุทธศาสนาได้จริงๆ แต่บางสมัยก็เสื่อมทรามลงไป เพราะฉะนั้น การวิเคราะห์ว่าพระพุทธศาสนาตัวแท้จะอยู่ที่ไหน เราต้องแยกศึกษาเป็นส่วนๆ ไป

ประการแรก เราต้องศึกษาหลักแท้ของพระพุทธศาสนา โดยแยกจากความเชื่อถือที่ปะปนหรือเคลื่อนคลาดในสังคมไทย

ประการที่สอง จะต้องศึกษาพุทธธรรมที่แท้ โดยแยกจากความเชื่อถือในศาสนาที่มีอยู่ในดินแดนที่พุทธศาสนาเกิดขึ้น โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ เหตุสำคัญที่ต้องแยก เพราะพระพุทธศาสนาเกิดในประเทศที่มีการนับถือศาสนาอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า คนเหล่านั้นนับถือไม่ถูกต้องหรือผู้ที่นำศาสนานั้นๆ สืบต่อกันมาได้ปฏิบัติผิดพลาดไป พระพุทธเจ้าจึงทรงพยายามแก้ไข เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของพระพุทธ­ศาสนาจึงหมายถึงการแก้ไขความเชื่อผิดๆ เหล่านั้น

พระพุทธเจ้าแม้จะทรงอุบัติขึ้นในที่นั้นและต้องการจะแก้ไข แต่เวลาจะทรงสั่งสอนจะต้องอาศัยภาษาที่เขาพูดกันมาแต่เดิม จะต้องพูดกับคนที่เขานับถือศาสนาเดิมนั้น เพราะฉะนั้น คำศัพท์ต่างๆ ก็ต้องใช้คำศัพท์อย่างเดียวกันเป็นส่วนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะคำพูดอย่างเดียวกันที่มีในพุทธศาสนาและศาสนาเดิมนั้น อาจมีความหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคำอะไรก็ตามที่มีใช้ทั้งสองศาสนา ต้องตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องใช้คนละความหมาย เช่นคำว่า “กรรม” เป็นต้น

ประการที่สาม จะต้องแยกพุทธธรรมจากคติของศาสนาทั่วๆ ไป เช่นเรื่องศีล ในศาสนาทั่วๆ ไป คติที่เป็นรากฐานของเขาคือมีองค์พระผู้เป็นเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างและผู้บันดาล ศีลในลักษณะของศาสนาแบบนี้ก็จะอยู่ในรูปที่ว่า เป็นคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นผู้ตัดสิน มีการลงโทษและให้รางวัล ถ้าทำผิดก็ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งขององค์พระผู้เป็นเจ้า และจะถูกลงโทษให้ไปนรก ถ้าทำดีปฏิบัติตามพระองค์ ก็ให้ไปเกิดในสวรรค์ นี่คือคติของศาสนาที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งกำหนดว่าความหมายของศาสนาต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่มีอำนาจพิเศษเหนือธรรม­ชาติ คือ องค์พระผู้เป็นเจ้า

ศีลในแง่ของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เราต้องตั้งข้อสังเกตตามพื้นฐานของศาสนาว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนหลักธรรม หลักธรรมโดยทั่วๆ ไปก็คือ หลักความจริงที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นกฎแห่งเหตุและผล พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า กฎเกณฑ์ธรรมชาติแห่งเหตุและผลนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าพระพุทธองค์จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระองค์เป็นเพียงผู้ค้นพบและนำมาประกาศสั่งสอน อาศัยความสามารถในทางสติปัญญาและความสามารถในการสั่งสอนให้ผู้อื่นเข้าใจ โดยวางเป็นหลักเป็นข้อให้เข้าใจง่ายขึ้น พระองค์ไม่ตัดสินลงโทษหรือให้รางวัลแก่ผู้ใด เป็นแต่เพียงแนะนำว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ ควรทำหรือไม่ควรทำ ผู้ที่เป็นเวไนย­สัตว์รับฟังแล้วก็ทำความเข้าใจตาม และประพฤติได้ถูกต้อง ก็จะได้รับผลดีอันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ลักษณะทั่วๆ ไปของพระพุทธศาสนา

เราจะพิจารณาลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนา จากข้อสังเกต ๓ ข้อ คือ

๑. ฐานะขององค์พระศาสดา ซึ่งเป็นผู้ค้นพบหลักความจริง และนำสิ่งที่ค้นพบมาสั่งสอน โดยถือว่าความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว ความเข้าใจในฐานะนี้จะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้ประยุกต์ต่อไป

๒. หลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและสั่งสอนสรุปได้ด้วยข้อความสั้นๆ ดังปรากฏในศิลาจารึกสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งพบในคราวเดียวกับพระธรรมจักรที่นครปฐม มีจารึกคาถา เย ธมฺมาเหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต คือ คาถาที่บอกหลักของพระพุทธศาสนาโดยย่อว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุเกิดของธรรมเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับไปของธรรมเหล่านั้น ข้อนี้แสดงว่าพุทธธรรมก็คือหลักแห่งเหตุและผลนั่นเอง

๓. ธรรมะที่มาเกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์ ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ด้วยวิธีการและสติปัญญาของมนุษย์เอง ไม่ใช่เกิดจากการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า

หลักธรรมที่จะนำมาประยุกต์

สิ่งที่เราจะพิจารณาต่อไปก็คือ หลักธรรมอะไรที่ถือว่าเป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนา ถ้าจะกล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้วจะมีอยู่ ๕ ข้อใหญ่ๆ คือ

๑. หลักอริยสัจจ์ ๔

๒. หลักขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์

๓. หลักปฏิจจสมุปบาท

๔. หลักไตรลักษณ์

๕. หลักมัชฌิมาปฏิปทา = ไตรสิกขา = โอวาทปาฏิโมกข์ = มรรค ๘

ผู้ที่เข้าใจหลักธรรมดังกล่าวจะได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

หลักอริยสัจจ์ คือหลักที่แสดงถึงสภาพของชีวิตมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์จะสามารถหาได้จากชีวิตนี้ ให้มนุษย์จัดการกับปัญหาของมนุษย์ด้วยหลักการและสติปัญญาของมนุษย์เอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ ทุกข์ คือปัญหาของมนุษย์เอง สมุทัย คือเหตุเกิดของทุกข์ นิโรธ คือความดับทุกข์ มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หลักนี้เป็นหลักสำคัญของพระ​พุทธศาสนา เป็นเรื่องปัญหาของมนุษย์และการแก้ปัญหาของมนุษย์ โดยมนุษย์เองทั้งสิ้น

หลักเบญจขันธ์ คือหลักที่แสดงถึงภาวะของชีวิตว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สุดแต่ว่าองค์ประกอบเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

หลักปฏิจจสมุปบาท คือหลักแห่งเหตุและผล ที่แสดงกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ตามกระแสความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย เหตุหมายถึงตัวการใหญ่ที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ปัจจัยหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ช่วยหนุนให้เกิด เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมิใช่มีแต่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยด้วย ปัจจัยแวดล้อมนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

หลักไตรลักษณ์ คือหลักที่มุ่งให้มนุษย์มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หลักนี้กล่าวถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และนำมาใช้เพื่อวัตถุ​ประสงค์ในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก

หลักมัชฌิมาปฏิปทา คือหลักที่มุ่งให้มนุษย์เว้นจากการหมกมุ่นมัวเมาและการทรมานตัวเองให้ลำบาก โดยเว้นจากการประพฤติที่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป มรรคนั้นเป็นทางสายเดียวแต่ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ ส่วน ถ้าออกมาในรูปการอบรมก็เป็นไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา

ถ้าเราจะนำพุทธศาสนามาประยุกต์ในทางปฏิบัติ เราต้องนำหลักใหญ่ทั้งห้าอย่างมาพิจารณา หลักบางหลักแม้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เราพิจารณาคนละแง่ เช่น หลักมัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นส่วนหนึ่งของหลักอริยสัจจ์ ๔ แต่เราแยกออกมาพิจารณาต่างหาก เพราะเป็นที่รวมของข้อปฏิบัติหรือจริยธรรมของพระพุทธศาสนา

แนวทางประยุกต์พุทธธรรมในด้านการศึกษา

ก. แนวความเข้าใจเกี่ยวกับเบญจขันธ์

ชีวิตประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งจัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ๕ ประเภท เรียกว่าขันธ์ ๕ คือ

๑. รูป องค์ประกอบฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายร่างกายทั้งหมดรวมทั้งคุณสมบัติและพฤติการณ์ทั้งปวงของมัน

๒. เวทนา เรื่องของอารมณ์ทุกข์และสุขของมนุษย์ ปัญหาของมนุษย์จะเริ่มจากจุดนี้ และจะพัวพันกับจริยธรรมมาก

๓. สัญญา ความหมายรู้ต่างๆ เช่น เสียงทุ้ม แหลม ดัง เบา เป็นตัวสร้างความจำและวัตถุดิบของความคิด มีความสำคัญมากในกระบวน​การเรียนรู้ สัญญาที่ดีย่อมให้เกิดความจำที่ดี

๔. สังขาร เป็นนามธรรม แปลว่าปรุงแต่ง หมายถึงปรุงแต่งจิตให้ดีให้ชั่ว ซึ่งเราเรียกว่ากุศลบ้างอกุศลบ้าง มีองค์ประกอบของจิตถึง ๕๐ อย่าง ที่เป็นตัวนำคือ เจตนา ฝ่ายดีมี เมตตา สติ ปัญญา ฯลฯ ฝ่ายชั่วมี โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ

กระบวนการของความคิดและพฤติกรรมอยู่ที่นี่ มนุษย์สร้างกรรมที่จุดนี้

5. วิญญาณ การรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสโดยตรง วิญญาณประเภทที่ปรากฏในอาการรู้ตัวเรียกว่า วิถีวิญญาณ วิญญาณประเภททำหน้าที่สืบเนื่องโดยอาการไม่รู้ตัวเรียกว่า ภวังควิญญาณ

ส่วนประกอบทั้งห้าต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ชีวิตขึ้นกับสิ่งทั้งห้า ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวไม่คงที่ อยู่ในกระแสแห่งความเกิดดับสืบเนื่องอยู่ตลอดเวลา แม้ในทางจิตการปรุงแต่งก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคนแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ข. แนวความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท

๑. อวิชชา

๒. สังขาร

๓. วิญญาณ

๔. นามรูป

๕. สฬายตนะ

๖. ผัสสะ

๗. เวทนา

๘. ตัณหา

๙. อุปาทาน

๑๐. ภพ

๑๑. ชาติ

๑๒. ชรามรณะ

องค์ประกอบ ๑๒ ข้อดังกล่าว อาจเขียนแสดงเป็นวงจรได้ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท

องค์ประกอบในปฏิจจสมุปบาท มีความสัมพันธ์กัน และเป็นวงจรของการเกิดความทุกข์ แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้ ๓ หมวด คือ กิเลส กรรม และวิบาก

๏ องค์ประกอบที่เป็นกิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

๏ องค์ประกอบที่เป็นกรรมคือ สังขาร และภพ

๏ องค์ประกอบที่เป็นวิบากคือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ และชรามรณะ

ตัณหา เป็นตัวที่แสดงบทบาทสำคัญในวงจร มีทั้งที่เป็นกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา กามตัณหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยากได้สิ่งที่ทำให้เราเกิดความสุขความสบาย ภวตัณหาคือความอยากได้ภาวะชีวิตที่จะได้เสวยความสุขสบายนั้น อยากให้ตนดำรงอยู่ในภาวะชีวิตที่จะเสวยสิ่งที่พอใจนั้น ส่วนวิภวตัณหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการให้สิ่งที่เราไม่ชอบ พ้นไป หมดไป สลายไปเสีย ตัณหาเหล่านี้เกิดมาจากเวทนา เวทนาเป็นสุข ก็ชอบใจอยากได้ เวทนาเป็นทุกข์ ก็ไม่ชอบใจ อยากพ้นหรือให้พ้นไปเสีย

เวทนาเกิดจากอะไร เวทนาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผัสสะก่อน ผัสสะคือการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือแม้แต่ผัสสะทางใจ ซึ่งเป็นการคิดถึงอารมณ์ต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ต่อๆ ไปอีก เช่น สฬายตนะ (อินทรีย์ทั้งหกที่รับรู้สิ่งเร้าต่างๆ) นามรูป วิญญาณ สังขาร และอวิชชา

อวิชชา เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะว่ามนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง จึงมีความหลงผิดว่ามีตัวตนอันหนึ่ง และจากตัวตนอันหนึ่งที่เราหลงผิดว่าเรามี จะทำให้เรายึดมั่นในตัวตนอันนั้น ความหลงผิดนี้จะเป็นต้นตอของความดีความชั่วต่อๆ ไป เพราะว่าเมื่อเรามีความยึดมั่นในตัวตนที่เราหลงรู้สึกคลุมๆ เครือๆ ไว้ว่ามีอยู่ จะทำให้เราเกิดตัณหา อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อสนองความต้องการของตัวตนอันนี้ และต้องการให้สิ่งที่ไม่ชอบพ้นไปเสีย เพราะเราต้องการทำให้ตัวตนอันที่เรายึดไว้พ้นไปจากภาวะอันนั้น

ในเวลาเดียวกัน ความไม่รู้เข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ย่อมหมายถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไปด้วย เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ความหลงผิดที่มีอยู่นั้น ก็ทำให้ความคิดปรุงแต่งต่างๆ เป็นไปตามแนวทางของมัน หลงผิดอย่างใด มีความเชื่อความเข้าใจอย่างใด ก็ตั้งเจตจำนงคิดปรุงแต่ง คิดวินิจฉัย และคิดแสดงออกไปตามความหลงผิด ตามความเชื่อความเข้าใจอย่างนั้น

ความคิดปรุงแต่งทั้งหมดนี้เรียกว่า สังขาร และสังขารนี้ก็จะประสานเข้าแนวเดียวกับตัณหา ซึ่งมีมูลรากมาจากอวิชชาเช่นเดียวกัน กล่าวคือจะตั้งเจตจำนง คิดปรุงแต่งไปในแนวทางที่จะสนองตัณหา สนองความต้องการของตัวตน ในทางบวกบ้าง ในทางลบบ้าง แล้วแต่กรณี โดยนัยนี้ อวิชชาจึงเป็นต้นตอของสังขารและทำให้เกิดตัณหา อุปาทาน พร้อมทั้งองค์ประกอบข้ออื่นๆ ตามมา

ภพ คือภาวะชีวิตที่เราอยู่ในขณะนั้น เราเกิดความยึดมั่นในสิ่งใด เราก็เกิดภาวะในจิตใจหรือภาวะแห่งชีวิตของเราในสภาพอย่างนั้น เช่นบางคนอยากเป็นเศรษฐี ยึดมั่นในความเป็นเศรษฐี ใจก็คิดถึงแต่เรื่องเงินเรื่องทอง และภาพของความเป็นเศรษฐี ภาวะของจิตของเขาที่เป็นอยู่ขณะนั้นเป็นภพหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นจากความคิดนึกของเขา ถ้าคนเราเกิดความปรารถนาและยึดมั่นอะไรก็ตาม จิตในขณะนั้นก็จะมีสภาพของมันเป็นอย่างหนึ่งๆ โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าภพหนึ่งๆ ภพมีสองอย่างคือ กรรมภพและอุปปัตติภพ

กรรมภพ เป็นตัวกรรมหมายถึงกระบวนพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล ตามปกติบุคคลย่อมมีความยึดมั่นในความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะมีภาวะชีวิตอันหนึ่งขึ้นมาโดยเฉพาะตามภาวะที่ยึดไว้นั้น ภาวะชีวิตจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมทั้งหมดของเรา เช่นบุคคลผู้ซึ่งยึดมั่นในความเป็นเศรษฐี ในความเป็นคนมีเงิน ภาวะชีวิตในรูปของกรรมภพก็คือกระบวนพฤติกรรมของเขา ซึ่งเขาจะแสดงออกในรูปแบบของความเป็นเศรษฐีตามที่เขาเข้าใจ ถ้าเขาไม่เป็นเศรษฐีจริงเขาก็จะแสดงท่าทางอาการต่างๆ ออกมา ซึ่งเป็นอาการเทียมและมักเกินความจริง ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง อันเนื่องมาจากแรงกระตุ้นของจิตใต้สำนึกของเขา

อุปปัตติภพ เป็นภาวะชีวิตที่ไม่ใช่ส่วนพฤติกรรม แต่เป็นภาวะในทางจิต คือการที่จิตใจของเขาได้เข้าสู่สภาพที่มีลักษณะอย่างหนึ่งตามภาวะชีวิตที่เขายึดมั่นไว้นั้น

องค์ประกอบทั้งสามหมวดของปฏิจจสมุปบาทมีความเกี่ยวเนื่องกันคือ กิเลสทำให้เกิดกรรม และกรรมทำให้เกิดวิบาก วิบากเป็นส่วนผล กิเลสเป็นเหตุเดิมกระตุ้นทำให้เราทำกรรมต่างๆ ให้มีพฤติกรรมต่างๆ ผลที่เรียกว่าวิบากนั้น ไม่มีความดีความชั่วในตัวเอง ท่านไม่เรียกว่าดีว่าชั่ว

เพราะฉะนั้นส่วนที่เรียกว่า เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ ชรามรณะ และ ชาติ ไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวของมันเอง แต่ว่าเป็นเหตุให้เกิดกิเลสต่อไป พอเกิดกรรมคือกรรมภพแล้ว วิบากคือ ชาติและชรามรณะ ก็เกิดตามมา พอเกิดชรามรณะแล้ว ก็เกิดปฏิกิริยาในจิตใจขึ้นมา พอใจหรือไม่พอใจก็สัมพันธ์กับกิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานของเรา เมื่อวงจรเวียนมาถึงกิเลสแล้ว ก็หมุนให้เกิดกรรมและวิบากสืบเนื่องต่อไปอีก สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจตอนนี้คือ ชาติ และชรามรณะ

ตัวเราคืออะไร บางคนก็ตอบว่าร่างกาย บางคนก็ตอบว่าจิตใจ แท้จริงแล้วตัวเรานั้นไม่ใช่ร่างกายหรือจิตใจ ตัวเราคือภาพลวงของตัวตน ซึ่งเรายึดถือไว้อย่างคลุมเครือ โดยสัมพันธ์กับภาวะชีวิตอันใดอันหนึ่ง การที่ตัวตนที่เรายึดถือไว้นั้น เข้าอยู่ในภาวะชีวิตหรือภาพชีวิตอันใดอันหนึ่ง นั่นคือความหมายของคำว่าชาติ เมื่อเกิดมีตัวเราที่ได้เข้าไปเสวยภาพชีวิตอันหนึ่งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะต้องเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การเคลื่อนคลายและการแยกหรือการพรากกันออกไประหว่างตัวตนกับภาพชีวิตอันนั้น ซึ่งเรียกว่า ชรามรณะ

ถึงตอนนี้ ถ้ามีกิเลส ผลคือความทุกข์ก็จะเกิดตามมา พร้อมทั้งปฏิกิริยาและแรงสะท้อนอื่นๆ ตามสัดส่วนของกิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ คนทำดีก็อาจจะเกิดความทุกข์ได้

สมมติว่าเราทำความดีอันหนึ่ง แล้วเราหวังว่าคงจะได้รับความชื่นชม คงจะเห็นคนอื่นๆ แสดงอาการชื่นชมยินดีแล้วเราจะได้รับความภูมิใจ สิ่งนี้คือตัณหา ต่อไปก็เกิดอุปาทานความยึดมั่นในภาพชีวิตอันนั้น ถึงแม้ว่าเราได้เสวยภาพชีวิตนั้นสมใจ แต่ภาวะเช่นนี้จะคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ จะมีการเสื่อมหรือสลายไป ทีนี้ถ้าเรามีตัณหาและยึดมั่นมาก เราก็จะเกิดความเสียดาย เกิดความเป็นทุกข์ว่า ความชื่นชมที่เราได้รับนั้น ขณะนี้เสื่อมลงไป ตัวเรากำลังเสื่อมไปจากภาพชีวิตที่ชื่นชมนั้น นี้คือองค์ประกอบที่เรียกว่าชรามรณะ คือการที่ตัวตนสลายหรือพลัดพรากไปจากภาวะชีวิตที่เคยเสวยหรือเคยเข้าครอง แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น จุดนี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้

แต่ถ้าเราปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องแล้ว จะไม่เกิดเป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเรา นี่คือตอนที่เป็นจริยธรรม คือการหาทางที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่ต้องมาทุกข์โดยใช่เหตุ ถ้าคนไหนมีความยึดมั่นมาก มีตัณหารุนแรงมีอุปาทานความยึดมั่นรุนแรง เกิดในภพต่างๆ เมื่อไร ก็จะเกิดการแก่การตายแบบนี้ ที่เต็มไปด้วยทุกข์เรื่อยๆ สำหรับคนธรรมดาสามัญ ทุกข์ที่จะเกิดอยู่เสมอตามวงจรนี้ก็คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

โสกะ คือ ความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจ

ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญร่ำไร

ทุกขะ คือ ความเจ็บปวดรวดร้าว

โทมนัส คือ ความเสียใจ น้อยใจ

อุปายาส คือ ความคับแค้นใจ สิ้นหวัง

ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้องเราก็จะมีความทุกข์มาก เราต้องหาทางแก้ไม่ให้ทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากเกิดทุกข์แล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาจริยธรรมด้วย เนื่องจากความทุกข์ประเภทต่างๆ เหล่านั้นเป็นส่วนสั่งสมในวงจรที่ไม่ได้ระบายออกไป กลายเป็นแรงกดดันอัดอั้นขึ้นภายใน ก่อให้เกิดแรงสะท้อนและปฏิกิริยาต่างๆ เช่น ความอยากได้ที่รุนแรงยิ่งขึ้น ความหวงและห่วงฐานะอำนาจ ความหวาดกลัวต่อความสูญเสีย ความระแวง ความเบื่อหน่าย ความเกลียดกลัวคิดทำลาย เป็นต้น (วิบากทำให้เกิดกิเลส) แล้วแสดงออกมาในรูปของปัญหาซับซ้อน อาชญากรรม และความชั่วร้ายต่างๆ ทั้งนี้เพราะมนุษย์ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่รู้จักหลักที่จะจัดการกับตนเองให้ถูกต้อง นี่คือวงจร ปฏิจจสมุปบาทในรูปหนึ่งที่นำมาใช้แก่ชีวิตในทางจริยธรรม

ค. สติและปัญญากับอวิชชา

ตัณหาเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดปัญหา ตัณหา คือความอยากที่จะสนองความต้องการของตัวตนอันใดอันหนึ่งที่เราหลงผิดยึดถือว่ามีอย่างคลุมเครือๆ บางท่านคิดว่าถ้าไม่มีตัณหาแล้วจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้อย่างไร ที่จริงแล้วตัณหาเป็นตัวการสั่งสมปัญหาในกระบวนการพัฒนา เมื่อเราทราบว่าตัณหาทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เราจะต้องมีสิ่งที่จะมาหักล้างตัณหาให้ลดลงหรือสลายไป ตัณหาจะแก้ได้อย่างไร เราจะไปทำลายตัณหาหรือ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเช่นนั้น เพราะบางครั้งการแก้ปัญหานั้น ท่านให้ใช้การสนับสนุนโดยอาศัยตัณหา ละตัณหาก็ได้ เนื่องจากตัณหาไม่ใช่ตัวการต้นเดิม มันเป็นเพียงตัวแสดงบทบาท

ดังนั้น การแก้ปัญหา เราจะไปแก้ที่ตัณหานั้นย่อมไม่ได้ผลจริง เพราะเป็นวิธีการกดมันไว้เท่านั้น เราต้องแก้ที่อวิชชา เพราะถ้ามนุษย์ไม่รู้เท่าทัน การเกิดทุกข์หรือปัญหาก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ แต่ถ้ามนุษย์รู้เท่าทันเรามีองค์ประกอบฝ่ายตรงข้ามมาตัดวงจรได้ องค์ประกอบที่สำคัญคือ สติกับปัญญา สติเกิดเมื่อไรจะช่วยให้ผู้นั้นยั้งได้และเปลี่ยนกระแสในวงจรได้ ปัญญาก็จะช่วยให้ผู้นั้นทำลายแรงกดดันสะสมภายในวงจรได้

ถ้าสติกับปัญญาไม่เกิด องค์ประกอบต่างๆ ก็จะหมุนไปตามวงจรเดิม พอเกิดชรามรณะขึ้นมา ก็เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วจะผลักดันให้กิเลสเกิด แล้วก็มีแรงสะท้อนให้กระทำการ คือ กรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาแก่ตนเองบ้างแก่ผู้อื่นบ้างต่อๆ ไป

ฉะนั้น ตามหลักพุทธธรรม เมื่อเราทราบว่าเหตุเกิดจากอวิชชา เราจะต้องแก้ที่อวิชชา โดยการสร้างปัญญาขึ้น ปัญญาที่สร้างขึ้นนี้ จะต้องเป็นปัญญาแบบเฉพาะที่มีความมุ่งหมาย เนื่องจากอวิชชาหมายถึงภาวะที่เราไม่รู้แท้จริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต ทำให้วางทัศนคติต่อโลกและชีวิตไม่ถูกต้อง ดังนั้นปัญญาที่เกิดจะมีลักษณะเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง และจะทำลายอวิชชา ซึ่งเป็นความหลงผิดเกี่ยวกับเรื่องตัวตนที่ยึดมั่นไว้อย่างคลุมเครือ

เพราะฉะนั้น ในการพัฒนาปัญญาเพื่อทำลายอวิชชา จะต้องมีการทำลายการเห็นแก่ตนนี้ออกไปเรื่อยๆ ด้วย และจริยธรรมที่จะได้ผลจะต้องสร้างปัญญา ถ้าปัญญามากขึ้นอวิชชาจะน้อยลง และตัณหาก็น้อยลงไปด้วย แต่ถ้าความรู้ที่สร้างนั้นไม่ทำลายการเห็นแก่ตัวให้น้อยลงไป ก็ไม่ใช่ปัญญาที่ถูก

ความรู้ของมนุษย์นั้น แบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ ๒ หมวด เรียกว่า สุตะ พวกหนึ่ง กับ ปัญญา พวกหนึ่ง สุตะ เป็นความรู้ประเภทเล่าเรียนศึกษา และความรู้ที่สั่งสมอย่างเดียว แต่ปัญญานั้นเป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ดังนั้น ความรู้ที่ได้จากการสั่งสมอย่างเดียว โดยไม่มีการกลั่นกรองจะไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตที่แท้จริง แต่เป็นเพียงเครื่องมือประกอบอาชีพและสิ่งที่จะนำมาอวดกัน ส่วนปัญญาที่สร้างขึ้นจะเป็นของชีวิตเราและจะเป็นผลแก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง

พัฒนาการของปัญญาจะมีหลายชั้น เมื่อไปถึงระดับหนึ่งๆ จะมีชื่อเรียกเปลี่ยนไปเฉพาะแต่ละระดับ เช่น ที่เรียกว่า ญาณ เป็นต้น การสร้างปัญญาโดยการกลั่นกรองเชื่อมสัมพันธ์ความรู้ มีหลักสำคัญอยู่ที่การเข้าใจสภาวะของสิ่งต่างๆ ซึ่งจะกล่าวในกระบวนการสร้างปัญญา

ง. กระบวนการสร้างปัญญา

เราทราบแล้วว่าการสร้างปัญญาจะทำให้อวิชชาลดน้อยลง และในเวลาเดียวกันจะช่วยทำลายการเห็นแก่ตัวลงไปด้วย เพราะฉะนั้น ตัณหาจะลดไปด้วย ปัญญาที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นคู่ปฏิปักษ์กับอวิชชา แต่คุณธรรมอันใดที่เราจะสร้างคู่กับปัญญา ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์กับตัณหา เราลองพิจารณาจากตัวอย่างต่อไปนี้

สมมติว่ามีเด็กนักเรียน ๒ คน เป็นเพื่อนรักใคร่ชอบพอกัน วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งหน้าบึ้ง คนที่เป็นเพื่อนเข้าไปทักทายก็ไม่ยอมพูดด้วย เด็กคนหลังจะมีปฏิกิริยาเข้าวงจร คือ เกิดตัณหา (วิภวตัณหา) เพราะการไม่พูดตอบของเพื่อนนั้นขัดกับความปรารถนาของตนเอง บีบคั้นอัตตาของตน ถ้าเด็กคนหลังโกรธตอบก็จะก่อตัณหามากขึ้น โดยมีอวิชชาครอบคลุมอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กคนหลังไม่ได้เกิดสติฉุกคิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลว่า เพื่อนของตนหน้าบึ้งอาจมีสาเหตุอะไร วงจรของปัญหาก็หมุนต่อไป

แต่ถ้าเด็กมีสติใช้ปัญญา เขาจะคิดว่าเพื่อนเรารักใคร่กัน วันนี้เขาหน้าบึ้ง คงจะมีเหตุไม่สบายใจ อาจถูกผู้ปกครองดุ หรือมีเหตุไม่สบายใจอื่นๆ เราควรเป็นที่พึ่งช่วยปลอบใจเขา เมื่อเด็กเกิดปัญญาคิดเหตุผล ความกรุณาก็จะเกิดขึ้นมาด้วย เป็นการเข้าใจในชีวิตผู้อื่น และต้องการจะเผื่อแผ่อิสรภาพแก่ผู้อื่น (เพราะตนไม่ถูกบีบคั้น อิสรภาพยังคงอยู่) วงจรปัญหาจะถูกตัดขาดลง เพราะฉะนั้น องค์ประกอบหรือคุณธรรมที่จะมาลบล้างตัณหาก็คือ กรุณา โดยนัยนี้การสร้างปัญญาที่ถูกวิธีจะเกิดความกรุณาควบคู่ไปด้วย

อนึ่ง ในท่ามกลางกระบวนการนี้ เมื่อเริ่มใช้ปัญญาความคิดตั้งต้นถูกทางแล้ว จะเกิดฉันทะที่เป็นธรรมฉันทะขึ้น คือเกิดความใฝ่รู้ ต้องการจะสืบสาวให้เข้าถึงความจริงที่เป็นแก่นแท้หรือต้นตอของเรื่อง และเมื่อเกิดกรุณาแล้ว จะมีฉันทะที่เป็นกัตตุกัมยตาฉันทะ คือต้องการจะทำการแก้ไขช่วยเหลือ ฉันทะเหล่านี้คือ แรงเร้าที่ต้องการตามหลักพุทธธรรม เป็นตัวผลักดันการกระทำที่ตรงข้ามกับตัณหา เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังสร้างเสริม และเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในการพัฒนาที่ดี

ปัญญาเป็นคุณสมบัติฝ่ายตน กรุณาเป็นคุณสมบัติที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ดังนั้นคนเราควรจะพัฒนาสร้างปัญญาให้เจริญขึ้น พร้อมกับที่กระทำการต่างๆ โดยใช้กรุณาเป็นแรงจูงใจให้มากขึ้น เมื่อพูดในแง่ของการศึกษา ถ้าเราจะสร้างคนตามหลักการนี้ กระบวนการให้​การศึกษาของเราจะต้องสร้างคนตามคุณสมบัติที่พึงต้องการ ๒ อย่างคือ อัตตัตถสมบัติ และปรัตถปฏิบัติ

อัตตัตถสมบัติ หรือ อัตตหิตสมบัติ คือ ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ของตน หรืออัตถะของตน

ปรัตถปฏิบัติ หรือ ปรหิตปฏิบัติ คือ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

องค์ประกอบที่สำคัญของอัตตัตถสมบัติ คือ ปัญญา ปัญญาเป็นตัว นำเพื่อให้ทำกิจการสำเร็จ ให้สำเร็จพุทธภาวะ คือความเป็นพระพุทธเจ้า และให้สำเร็จอัตตนาถะ คือความเป็นที่พึ่งของตนเองได้

องค์ประกอบที่สำคัญของปรัตถปฏิบัติ คือ กรุณา บุคคลที่สมบูรณ์อย่างพระพุทธเจ้าต้องมีคุณสมบัติประการที่สองด้วย คือเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ปฏิบัติเพื่อผู้อื่น พระพุทธเจ้าอาศัยพระคุณสำคัญคือกรุณาเป็นตัวนำให้สำเร็จพุทธกิจ คือบำเพ็ญหน้าที่ของพระพุทธเจ้าได้ และสำเร็จโลกนาถะ คือความเป็นที่พึ่งของชาวโลกได้

แนวความเข้าใจเกี่ยวกับไตรสิกขา

ไตรสิกขา คือหลักการศึกษาหรือการฝึกฝนอบรม ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือทำความปลอดทุกข์ให้สำเร็จผลตามหลักปฏิจจสมุป­บาท ไตรสิกขา เป็นกระบวนการศึกษาที่มีองค์ประกอบ ๓ ขั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

องค์ประกอบ ๓ ขั้นนี้มิได้แบ่งเป็นขั้นตอนต่างหากกัน แต่คาบเกี่ยวกันไปโดยตลอด ที่เป็นขั้นเพราะเป็นปัจจัยส่งทอดแก่กัน เรียงลำดับตามหน้าที่ที่ทำให้เข้าถึงจุดหมาย คือ การแก้ปัญหา หรือให้เกิดตัวการศึกษาที่แท้ ปัญญาเป็นตัวให้สำเร็จกิจของการศึกษา คือเป็นตัวการให้แก้ปัญหาได้ หรือทำให้พ้นทุกข์ได้ จึงเรียงไว้ลำดับท้าย เพราะต่อจากปัญญาก็คือวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากปัญหา ความเป็นอิสระ ปลอดจากทุกข์) และจึงกล่าวว่า การศึกษาคือกระบวนการสร้างปัญญา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระบวนนั้น องค์ประกอบทั้งสามเป็นปัจจัยสนับสนุนกันและกัน ไม่เฉพาะแต่ศีลเป็นปัจจัยแก่สมาธิ และสมาธิเป็นปัจจัยแก่ปัญญาเท่านั้น แต่องค์ประกอบข้อท้ายๆ ก็เป็นปัจจัยแก่องค์ประกอบข้อต้นๆ ด้วย ทุกข้อเป็นปัจจัยแก่กันเชื่อมโยงไปมา เช่น จะมีพฤติกรรมการแสดงออกทางกายและวาจาถูกทางยิ่งขึ้น ในเมื่อรู้วิธีแก้ปัญหาดีขึ้น และพฤติกรรมที่ดีถูกทางยิ่งขึ้น ก็เกื้อกูลแก่การแก้ปัญหาคราวต่อๆ ไป

ศีล คือ ภาวะของผู้ที่มีหลักความประพฤติถูกต้อง คือมีความประพฤติดีทางกาย วาจา และสัมมาชีพ ศีลไม่ใช่ตัวการให้เกิดปัญญาโดยตรง ภารกิจของศีลในกระบวนการสร้างปัญญาคือ การสร้างภาวะเกื้อกูลแก่การกำจัดอวิชชา และเป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างปัญญา ด้วยระบบความประพฤติและการดำเนินชีวิตที่

๑. ยับยั้งควบคุมตัณหาให้อยู่ในขอบเขต ปิดช่องทางไม่ให้โอกาสขยายตัวแก่ตัณหา ซึ่งเป็นตัวการให้แก้ปัญหาผิดและเพิ่มปัญหา

๒. สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ความอยู่ดี และภาวะปลอดโปร่งโล่งใจ ซึ่งอำนวยโอกาสให้ใช้พลังจิตมุ่งไปในทางใช้ความคิดสร้างปัญญาได้มากขึ้น

ระบบของศีลจะเป็นอย่างใด มองดูเคร่งครัดเข้มงวดเพียงใดย่อมขึ้นต่อวัตถุประสงค์ของระบบการครองชีวิตแบบนั้นๆ โดยสัมพันธ์กับจุดหมายของการศึกษา อัตราเร่งในการเข้าถึงจุดหมายพร้อมทั้งอัตราส่วนเพิ่มลดของการควบคุมตัณหา และการใช้พลังทางจิตที่ต้องการในกรณีนั้นๆ ซึ่งทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความพร้อมของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยปกติถือว่าศีล ๕ เป็นหลักความประพฤติสามัญสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะครองชีวิตอยู่ในระดับใดๆ คือเป็นหลักความประพฤติพื้นฐานของบุคคลแต่ละคนในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จึงเรียกว่า มนุษยธรรม ต่อจากนั้น จึงมีหลักความประพฤติจำเพาะสำหรับระบบการครองชีวิตที่มีวัตถุประสงค์จำเพาะแต่ละระบบ ซึ่งผู้สมัครเข้าสู่ระบบนั้นๆ หรือเข้าสู่ฐานะในระบบนั้นๆ จะต้องประพฤติเป็นพิเศษออกไปอีก เช่น ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ ศีล ๓๑๑ สำหรับภิกษุณีเป็นต้น

หรืออย่างนักเรียน นอกจากศีล ๕ ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีศีลนักเรียน ศีลเด็กในครอบครัว กล่าวคือวินัยเพื่อความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลแก่วัตถุประสงค์ของการดำเนินชีวิตในโรงเรียนและในครอบครัวอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเรื่องจำเพาะตัวและใกล้ชิดตัวที่จะต้องรับผิดชอบ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องศีล ที่ควรคำนึงถึงไว้ให้มาก

ศีล เป็นคำที่ใช้บ่อยในภาษาไทย แต่ความหมายที่ใช้ส่วนมากเป็นความหมายตามรูปแบบเท่านั้น มักไม่ได้คำนึงถึงสาระสำคัญที่แท้จริง ดังนั้น เมื่อพูดถึงคำว่าศีล เราจึงมักนึกถึงศีลเป็นข้อๆ เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ ซึ่งเป็นเพียงหลักปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมให้เป็นผู้มีศีล (เรียกคำบาลีว่าสิกขาบท)

การติดในรูปแบบทำให้เรามักลืมนึกถึงระเบียบวินัยทั่วๆ ไป ถ้าจะเป็นคนมีศีลจริง ก็ต้องรู้จักรักษาระเบียบวินัยใกล้ๆ ตัวให้ได้ เช่น ระเบียบวินัยในครอบครัวและในโรงเรียน เป็นต้น ถ้าเด็กไม่ได้ฝึกในเรื่องวินัยทั่วๆ ไปที่ใกล้ตัวแล้ว จะหวังอะไรในระยะยาวให้เด็กรักษาศีลได้ ศีลสำหรับระบบชีวิตแต่ละอย่าง ต้องมีวินัยจำเพาะสำหรับฝึก เมื่อแยกเป็นข้อๆ ก็เรียกว่าสิกขาบท ถ้าเด็กไม่มีระเบียบวินัย อยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ ตัณหาก็พอกพูนขึ้น จิตใจก็ส่ายพร่ามากขึ้น มุ่งแต่จะหาสิ่งสนองความอยากปรนเปรอตัวตน เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายแต่เพียงฉาบ​ฉวย ผิวเผิน ไม่เกิดฉันทะที่จะระดมพลังจิตให้มุ่งไปในการใช้ความคิดแสวงปัญญา พูดง่ายๆ ว่าไม่เกิดสมาธิ

ตรงข้าม ถ้ารักษาระเบียบวินัยดี มีศีลแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะผูกจิตให้มุ่งแน่วแน่อยู่กับคุณธรรมความดีงาม เช่น ให้ยึดมั่นในอุดมคติ ให้มีสติรู้จักยั้งคิด และมีความเพียรพยายามแน่วแน่ในจุดหมาย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของสมาธิทั้งสิ้น ในเวลาเดียวกันเมื่อผูกจิตให้คุ้นและแน่วแน่อยู่กับความดี เช่น ให้ยึดมั่นในอุดมคติได้แล้ว ก็จะช่วยให้ความมีระเบียบวินัยแน่นแฟ้นมั่นคงขึ้นด้วย สมาธิจึงกลับเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่ศีลอีกต่อหนึ่ง

ตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์ระหว่างศีล สมาธิ และปัญญาที่หยาบๆ ง่ายๆ กว่าข้างต้นนี้ เช่น บุคคลหนึ่งไปลักทรัพย์ของคนอื่นมา แล้วเข้าไปนั่งฟังการสนทนาในสมาคมแห่งใดแห่งหนึ่ง บุคคลผู้นั้นจะไม่สงบ ไม่มีสมาธิ จิตใจกระสับกระส่าย ฟุ้ง ไม่แน่วแน่ รับฟังอะไรไม่ชัด ไม่มีความเข้าใจและปัญญาก็จะไม่เกิด

โดยนัยนี้ เมื่อศีลขาดไป จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิ ก็ไม่สามารถพัฒนาความคิดให้เกิดปัญญา ถ้าต้องการสมาธิความแน่วแน่ของจิตและกำลังใจในขั้นสูงขึ้นไป ก็ต้องใช้กำลังศีลที่บริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น เพราะต้องมีการควบคุมตน ให้อยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยแก่การมีสมาธิ และมีความมั่นใจในตัวมากยิ่งขึ้น ศีลนั้นมีทั้งศีลฝ่ายตนเองและฝ่ายสังคม มีทั้งศีลในทางลบและศีลในทางบวก ศีลในทางลบ เช่น ศีลห้า การเว้นอบายมุข ศีลในทางบวก เช่น สาราณียธรรม สังคหวัตถุ ทิศ ๖ เป็นต้น

สมาธิ คือความแน่วแน่มั่นคงหนักแน่นของจิตใจ ส่วนมากเรามักนึกถึงสมาธิในรูปแบบมากเกินไป นึกไปในแง่การนั่งนิ่ง ซึ่งเป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่งที่ยอมรับกันว่าได้ผลดีในการเตรียมตัวสร้างสมาธิ คนบางคนอาจจะเก่งกว่าคนที่ไปนั่งนิ่งๆ และมีสมาธิที่ดีกว่า การนั่งนิ่งๆ ไม่ใช่ตัวสมาธิ สมาธินั้นจะต้องมีองค์ประกอบที่เป็นความแน่วแน่มั่นคงหนักแน่นของจิตใจที่จะนำไปใช้ในการกระทำกิจทุกๆ อย่าง โดยเฉพาะสติและวิริยะ เด็กจะรักษาระเบียบวินัยได้ดี เราต้องฝึกในเรื่องสมาธิ ให้เขาเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง สามารถจะควบคุมยับยั้งตนเองได้ดี มีความเพียรพยายามตั้งใจแน่วแน่

วิธีฝึกคนในขั้นสมาธิมีหลายอย่างเช่น วิธีฝึกคนให้ยุ่งกับกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ให้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับความชั่ว วิธีเอาความดีเข้ามาข่มความชั่ว หรือฝึกให้คุ้นกับสิ่งที่ดีงามจนมีคุณธรรมเป็นภูมิต้านทาน หรือผูกมัดจิตไว้กับสิ่งที่ดีงามบางอย่างแบบที่เรียกว่าให้มีอุดมคติ และวิธีฝึกสมาธิโดยมุ่งความเข้มแข็งของจิตใจเป็นสำคัญ แต่การฝึกด้วยวิธีของสมาธิไม่ได้ผลถาวร ขั้นที่ได้ผลแท้จริงและเด็ดขาด จะต้องเป็นขั้นปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนา คือขั้นที่เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงจนเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนค่านิยม มีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ได้

ระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ จะต้องมีองค์ประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าขาดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะกลายเป็นระบบการศึกษาที่ทำลายการศึกษาเสียเอง และนำความหายนะมาสู่สังคม เช่น ระบบการศึกษาที่หย่อนในศีล ขาดการฝึกอบรมในเรื่องระเบียบวินัย จะกลายเป็นเครื่องผลาญประโยชน์ของปัญญาเสียเอง

อธิบายอย่างง่ายๆ ปัญญาเป็นตัวแกนของการศึกษา เพราะทำให้รู้ทางออกจากปัญหา ซึ่งหมายถึงการรู้ทางเลือกมากขึ้นในแต่ละกรณีๆ ด้วย แต่สำหรับปัญญาขั้นต้นๆ (โลกียปัญญา) ที่ยังไม่เข้าถึงความรู้พื้นฐานถึงขนาดมีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ ปัญญานั้นยังอาจเปิดช่องให้แก่ตัณหาได้ คือ เมื่อเกิดปัญญาเห็นทางเลือกขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าทางเลือกใดนำไปสู่อิสรภาพของชีวิต เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ด้วยดีร่วมกัน ทางเลือกใดสนองความอยากให้ความปรนเปรอแก่ตัวตนชั่วระยะเวลาสั้น แต่สร้างความสับสนและความทุกข์แก่สังคมในระยะยาวและกว้างไกล ทั้งที่รู้อยู่เช่นนี้แต่เพราะยอมตกเป็นทาส ดำเนินไปตามอำนาจของตัณหาคือความเห็นแก่ตน กลับเลือกเอาทางเลือกที่สนองตัณหา การถือเอาทางเลือกนี้ สำหรับปุถุชนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมากมาย

ในเมื่อขาดศีล ไม่มีระเบียบวินัยหรือระบบควบคุมความประพฤติสำหรับปิดโอกาสในการทำความชั่วหรือตะล่อมไว้ในทางดีได้ ยิ่งขาดสมาธิเช่นความแน่วแน่เข้มแข็งที่จะยืนหยัดในอุดมคติเป็นต้นด้วยแล้ว ก็ทำความชั่วได้ง่ายอย่างยิ่ง ในกรณีเช่นนี้เสรีภาพก็จะมีความหมายเป็นเพียงการทำได้ตามใจชอบ หรือการสมัครใจเป็นทาสของตัณหาเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นเพียงภาวะที่ตรงข้ามกับศีล หรือความมีระเบียบวินัยเท่านั้นเอง

องค์ประกอบที่จะช่วยให้เกิดไตรสิกขา

ก่อนจะถึงไตรสิกขา จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ช่วยในการฝึกอบรม ทั้งที่เป็นองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบภายในบุคคล คือ

๑. กัลยาณมิตร เป็นองค์ประกอบภายนอก ได้แก่สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี

๒. โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน ซึ่งควบคู่ไปกับองค์­ประกอบภายนอก ได้แก่การใช้ความคิดถูกวิธี คือ คิดสืบสาวให้ถึงต้นตอ ตามหลักความสัมพันธ์แห่งองค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ

ในการศึกษา ครูนอกจากเป็นสิปปทายก (ผู้ให้หรือถ่ายทอดศิลปวิทยา) แล้ว จะต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรด้วย ช่วยให้เด็กใช้ความคิดที่ถูกวิธี และช่วยให้รู้จักคิดรู้จักหาเหตุผลก็คือช่วยให้เด็กเกิดโยนิโสมนสิการ ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยสร้างโยนิโสมนสิการให้เกิดขึ้นแก่เด็ก เด็กจะถูกชักจูงไปในทางไม่ดีได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจากการที่ตนเองไม่รู้จักคิดก็ตามหรือปัจจัยภายนอกเหนี่ยวนำก็ตาม

ในทางปฏิบัติ การสร้างคุณธรรมตามระบบ จึงต้องขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่งและการสร้างสมคุณธรรมภายใน โดยเฉพาะการรู้จักคิดรู้จักวางใจต่อสิ่งต่างๆ ของเด็กเองส่วนหนึ่ง หลักที่กล่าวนี้จะเห็นได้จากข้อธรรมต่างๆ ที่นำมาประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับบุคคลและสถาน­การณ์ที่จะนำไปปฏิบัติ เช่น จักร ๔, มงคล ๓๘ เป็นต้น

การปฏิบัติทั้งปวงมุ่งเพื่อไปสู่จุดหมายที่เรียกว่า วิมุตติ คือภาวะที่เป็นอิสระเสรีอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้บุคคลหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ทั้งทางสังคมและส่วนบุคคล มีความพร้อมอย่างแท้จริง ที่จะเสวยผลของความมีชีวิตโดยสมบูรณ์ มีคุณสมบัติครบทั้งอัตตัตถสมบัติและปรัตถปฏิบัติ

1หมายเหตุ: ในการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะดำเนินการได้ซอยย่อหน้าและใส่หัวข้อในสารบัญเพิ่มขึ้น
2บรรยายในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “แนวคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาไทย” ณ คณะศึกษา­ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๑๓ กันยายน ๒๕๑๗
3แก้ไขเพิ่มเติมจากบทสรุปคำบรรยาย เรื่องพุทธศาสนาและการนำธรรมมาพัฒนาหลักสูตรไทย ที่กองพัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง