ผู้สัมภาษณ์ : ขอโอกาสกราบนมัสการสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ประเด็นแรกที่อยากจะถามคือ มีข้อสังเกตว่าในช่วงนี้ งานเขียนของท่านเจ้าคุณออกมาค่อนข้างมาก เป็นข้อสังเกตที่ใช้ได้หรือไม่เจ้าคะที่ว่า ในปี ๒๕๓๑ ท่านผลิตงานออกมาได้มากกว่าปีอื่นๆ
พระเทพเวที : อาตมาเองก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร คือว่าในส่วนของอาตมาเอง อาตมาก็ทำงานของตนเองไปเรื่อยๆ ตามปกติ เสมอกับเท่าที่เป็นมาในปีก่อนๆ เพียงแต่ว่า งานที่ปรากฏออกมาเป็นหนังสือเล่มมีมากหน่อย เหตุที่มากก็เพราะเป็นหนังสือเล่มเล็กเล่มน้อยเสียหลายเล่ม และอีกอย่างหนึ่งคือมีผู้นำเอาเรื่องเก่าๆ มาพิมพ์ซ้ำอีก และมักเป็นการนำเอาหนังสือใหญ่มาซอยพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ เป็นเหตุให้รู้สึกว่ามีหนังสือออกมามาก งานรุ่นก่อนนั้นบางทีออกมาเป็นหนังสือเล่มใหญ่ อย่างเช่น พุทธธรรม ซึ่งใช้เวลาเขียนนาน ออกมาเล่มเดียวก็กินเวลามากกว่าเล่มอื่นหลายเล่ม และอีกอย่างหนึ่งก็คือ งานที่ไปพูดบรรยายหรือแสดงปาฐกถาไว้ มีผู้ลอกเทปแล้วนำมาให้ตรวจแก้ไขปรับปรุง แล้วพิมพ์เป็นเล่ม อันนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีงานออกมามาก ข้อนี้แปลกจากสมัยก่อนๆ ในสมัยก่อนนั้น ก็มีงานพูดอยู่เหมือนกัน แต่หลายเรื่องที่พูดไปแล้วไม่ได้บันทึกไว้ บางเรื่องแม้จะบันทึกไว้ก็เก็บไว้เฉยๆ ไม่เหมือนในช่วงหลังๆ นี่ แทบทุกครั้งที่ไปพูดจะออกมาเป็นหนังสือ ก็เลยทำให้มีงานมาก
ผู้สัมภาษณ์ : แสดงว่างานนิพนธ์ของท่าน แม้ว่าจะเป็นงานจากปาฐกถา ก็ได้รับความนิยมมาก จะเป็นได้ไหมเจ้าคะว่า งานที่ออกมามากจะเป็นไปกับข้อสังเกตนี้
พระเทพเวที : อันนี้ อาตมาว่าอยู่ที่คนที่ขอไปพิมพ์ อาจจะเห็นว่ามีผู้ต้องการอ่าน
ผู้สัมภาษณ์ : อยากทราบว่า งานอะไรบ้างที่มีการพิมพ์ซ้ำค่อนข้างบ่อย นอกจาก ธรรมนูญชีวิต แล้ว
พระเทพเวที : ธรรมนูญชีวิต ก่อนนี้ก็พิมพ์บ่อย แต่มาช่วงปลายนี่ก็ชักจะห่างไป สำหรับงานเล่มอื่นก็ยังไม่ได้มองให้ชัดเจน
ผู้สัมภาษณ์ : อย่างหนังสือ มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย
พระเทพเวที : ก็พิมพ์ใหม่บ้าง แต่ไม่ได้มีสถิติพิเศษ เล่มเล็กๆ อย่าง ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น ก็ได้ทราบว่ามีการพิมพ์บ่อย ทางมูลนิธิโกมลคีมทอง ก็ดำเนินการพิมพ์แล้วมาบอกให้ทราบเป็นครั้งคราว และพิมพ์ทีละมากๆ
หมายเหตุ: ทางเว็บไซต์เป็นผู้จัดแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ และตั้งชื่อหัวข้อแต่ละส่วน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอบนเว็บ หนังสือต้นฉบับไม่มีการจัดแบ่งหัวข้อแต่อย่างใด
ผู้สัมภาษณ์ : จะกราบนมัสการถามในข้อต่อไปเจ้าค่ะว่า งานเขียนที่ได้รับความสนใจมากตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ดูจากจำนวนพิมพ์ เท่าที่ระบุไว้มีถึงเกือบ ๓๐,๐๐๐ เล่ม คือ ๒๙,๕๐๐ เล่ม และจากการที่ดิฉันมีโอกาสติดตามการวิพากษ์วิจารณ์จากคอลัมน์ทางหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็มีติดต่อกันในระยะสามเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่สื่อมวลชนเขียนถึงและที่มีผู้สนใจเขียนโต้ตอบกับสื่อมวลชน ประมาณแล้วจะมีหลายสิบครั้งที่เขียนถึงงานชิ้นนี้ของท่านเจ้าคุณ คือ เรื่อง กรณีสันติอโศก ทางกองบรรณาธิการศึกษาศาสตร์ปริทัศน์จึงอยากให้ดิฉันมาเรียนถามท่านเจ้าคุณอาจารย์ ในสองประเด็นต่อเนื่องไปเลยว่า อะไรเป็นเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจที่ทำให้ท่านเขียนกรณีสันติอโศก ทั้งๆ ที่ระยะนั้นหลายคนทราบว่า ท่านเจ้าคุณมีภารกิจมากที่ต้องเร่งทำ แต่ท่านเจ้าคุณก็กลับสละเวลามาเขียน กรณีสันติอโศก และมีอีกประเด็นที่ขอกราบนมัสการให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ตอบต่อเนื่องกันไปเลย ก็คือว่า ทำไมจึงเลือกพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ใน วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งพอดี ขอกราบนมัสการถามทั้งสองคำถามเจ้าค่ะ
พระเทพเวที : อาตมาจะขอวกกลับไปเมื่อกี้นี้นิดหนึ่ง พอดีตอบยังไม่หมด คือ หนังสือที่เป็นผลงานออกมาในระยะหลังนี้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าเป็นงานที่สืบเนื่องมาจากการพูดแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะงานที่ออกมาจะแปลกไป ส่วนงานในยุคก่อนๆ เป็นเรื่องที่เกิดจากการเขียนโดยตรง ในแง่หนึ่งก็คิดว่าดีเหมือนกันที่งานออกมา แต่งานที่มาจากการพูดจะไม่ประณีตเท่างานเขียน เอาละเรื่องนี้ก็ผ่านไป
ทีนี้มาถึงเรื่อง กรณีสันติอโศก อาตมาอยากจะขอให้ย้อนกลับไปดูสภาพก่อนที่อาตมาจะเขียนหนังสือเล่มนี้ ถ้าหากย้อนไประลึกถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง คือในระยะหาเสียงซึ่งยาวนานเป็นเดือนๆ หนังสือพิมพ์ลงข่าวโต้ตอบกันในเรื่องสันติอโศก มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว ที่ออกเป็นหนังสือเล่มก็มี และการโต้ตอบกันไปมานั้น ก็เกี่ยวพันกับการเมืองการเลือกตั้งด้วย แม้ว่าตามปกติอาตมาจะอ่านหนังสือพิมพ์น้อยอย่างยิ่ง แต่จากการที่ได้เห็นเป็นระยะๆ ในหนังสือพิมพ์ที่ท่านองค์อื่นรับมาที่ศาลา ก็มองเห็นสภาพนี้ชัดเจน จุดที่อาตมาสะดุดใจอยู่ที่ลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกัน คือได้สังเกตเห็นว่า การพูดกันไปกันมา ส่วนมากไม่ตรงประเด็น มักหยิบยกเอาปัญหานอกเรื่องมาพูด และพูดแบบเฉไฉ ทำให้ประชาชนสับสนจนไม่รู้ว่าตัวเรื่องอยู่ที่ไหนและปัญหาคืออะไร อีกอย่างหนึ่งก็คือ การพูดนั้นมิได้เป็นไปตามเหตุตามผล แต่ใช้คำพูดที่แสดงอารมณ์กันมาก และบางทีก็ใช้วาจารุนแรงหยาบคายอย่างยิ่ง จนทำให้รู้สึกเหมือนว่าจะมีการประหัตประหารกัน สภาพนี้หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว ขอให้นึกย้อนไปดู ตอนนั้นเป็นอย่างนี้มาก
อาตมาก็มาคิดว่า น่าจะได้มีการพูดกันด้วยวิธีการของเหตุผล และโดยเฉพาะให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง ให้รู้ว่าประเด็นปัญหานั้นคืออะไร จึงคิดว่าน่าจะเขียนชี้แจงบ้าง แต่ในเวลาเดียวกันอาตมาก็มีงานติดค้างและเร่งมาก ความคิดที่ว่าจะเขียนก็ถูกต้านไว้ด้วยความรู้สึกว่างานมากเหลือเกิน ถ้าจะเขียนก็ต้องสละเวลาสำหรับงานที่เร่งรีบอยู่อย่างน้อยก็หลายวัน จึงต้องเร่งงานต่อไปตามปกติ จนกระทั่งมาถึงตอนใกล้เลือกตั้ง ก็ได้เห็นวารสารบางเล่มของสันติอโศก ซึ่งที่จริงก็มีอยู่แล้ว แต่อาตมาไม่ได้ตาม มีผู้นำหนังสือมาที่นี่ อาตมาก็เลยได้อ่านดู ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ อาจจะชื่อดอกหญ้าหรืออะไรสักอย่าง ในนั้นมีคำให้สัมภาษณ์ของท่านโพธิรักษ์ ให้การสนับสนุนพรรคพลังธรรมถึงขนาดร่วมคิดการในการที่จะตั้งพรรค ตลอดจนการหาเสียง อาตมาอ่านดูคำให้สัมภาษณ์แล้ว ก็มีความเห็นว่า ท่านลงมาในวงการเมืองมากเกินไป เกินขอบเขตของสถาบันพระสงฆ์ ทำตัวเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง คือ พระสงฆ์นี้ต้องมีหลักการในการเกี่ยวข้องกับการเมืองว่า ฐานะและบทบาทของตนมีแค่ไหน ซึ่งเมื่อรักษาขอบเขตของเราได้ดีทำหน้าที่ทางการเมืองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้สถาบันดำรงอยู่ได้ด้วยความเป็นอิสระ แต่ถ้าหากเกินขอบเขต โดยลงไปคลุกเสียเองในวงการเมือง ก็เสียหลักการของสถาบัน คือทำให้ตัวเองตกลงไปอยู่ในวงการเมืองด้วย แล้วก็จะมีพระของนักการเมืองฝ่ายโน้น พระของนักการเมืองฝ่ายนี้ แล้วพระก็จะทะเลาะกันเองและลงไปร่วมวงทะเลาะกับเขาในสนามของการเมือง ไม่สามารถพูดธรรมอย่างเป็นกลางๆ อาตมาเห็นว่า จะไปกันใหญ่แล้ว น่าจะต้องเขียน แต่ก็ติดงานอยู่
จนมาท้ายสุด เห็นหนังสือของสันติอโศกอีกเล่มหนึ่ง ตามปกติสันติอโศกนั้นเวลามีหนังสือออกมาก็จะส่งมาให้อาตมา แต่จะส่งไปที่วัดพระพิเรนทร์ อาตมาไปวัดก็ไม่ได้อ่านเพราะไม่มีเวลาจริงๆ ได้แค่เก็บๆ ไว้ แต่ไม่ทราบว่าอย่างไร ทางสันติอโศกได้ส่งหนังสือ ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวที่กำลังเป็นไปตอนนั้น มาที่ศาลากลางสระนี่ เป็นเล่มเล็กนิดเดียว อาตมาก็เลยอ่าน พออ่านไปแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ท่านโพธิรักษ์มีความไม่ชัดเจน และเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนหลายอย่างในเรื่องต่างๆ ที่ท่านพูดถึง โดยเฉพาะท่านตีความกฎหมายอะไรต่ออะไรวุ่นวายไปหมด ทำไมไม่มองตามสภาพความเป็นจริง ยอมรับกันตามจริง แล้วเรามีความเห็นอย่างไร ก็แสดงออกมา ถ้าคิดว่ากฎหมายไม่ดี ไม่เห็นด้วย ก็ว่าไปตรงๆ แต่นี่ไปตีความเฉไฉเลี่ยงไปเลี่ยงมา ไม่สมเหตุผล ยิ่งกว่านั้น ยังพูดเสียด้วยว่าคณะของท่านพยายามเป็นพลเมืองดี ย่อมไม่ละเมิด ไม่ผิดกฎหมาย แม้แต่ศีลธรรมมากมายที่ยากกว่ากฎหมาย ก็ยังทำกันได้ การที่ท่านทำอย่างนี้พูดอย่างนี้ คือ ทั้งๆ ที่ฝ่าฝืนละเมิดกฎหมาย แต่บอกว่าไม่ได้ฝ่าฝืน โดยพูดจาเลี่ยงหลบไปต่างๆ นับว่าเป็นการเสียหายหลายชั้น ถ้าหากจะฝ่าฝืน ตนมีเหตุผลอย่างไรที่ทำให้ต้องฝ่าฝืนก็ชี้แจงมาตรงๆ ก็ยังจะควรแก่การรับฟัง และมีทางเป็นประโยชน์แก่สังคมได้บ้าง วิธีการเลี่ยงหลบเฉไฉเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเด่นในแง่ว่าเป็นความไม่ตรงไปตรงมา และทำให้สูญเสียความเชื่อถือทางจริยธรรม พร้อมกันนั้น ก็ทำให้นึกต่อไปว่า ถ้าพระโพธิรักษ์ใช้วิธีตีความกฎหมายอย่างนี้ แล้วเอาวิธีตีความอย่างนี้ไปใช้กับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักการของพระศาสนา จะทำให้เกิดความผิดเพี้ยนสับสนเพียงใด พอถึงตอนนี้ อาตมาก็มีความเห็นว่าจะต้องเขียน เพื่อสร้างความเข้าใจและดึงเข้าประเด็น ก็เลยตัดสินใจจากการที่ได้อ่านหนังสือ ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง นั่นเอง
เมื่อเขียนนั้น ก็เป็นตอนที่กำลังจะหมดระยะหาเสียง อาตมามองดูว่า ถ้าจะให้หนังสือออกไปในระยะหาเสียงก็จะไม่เหมาะ จะกลายเป็นว่าเราไปเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อการหาเสียงของเขาด้วย ก็มานึกว่าวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เป็นวันเลือกตั้ง เป็นวันที่พ้นการหาเสียง เพราะกฎหมายห้าม และถ้าเลยวันที่ ๒๔ ไป ไปถึงวันที่ ๒๕ ก็จะรู้ผลการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองไหนได้มากได้น้อย ก็จะไม่ดีอีกเพราะเขาอาจจะคิดว่า เราไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดในทางที่จะต่อต้านหรือซ้ำเติม เพื่อไม่ให้มีการสร้างความรู้สึกเช่นนั้น ก็เลือกวันที่เป็นกลางที่สุด จึงเลือกเอาวันที่ ๒๔ แต่จะทำอย่างไรให้หนังสือเล่มนั้นได้ออกทันวันที่ ๒๔ เราก็อยู่ที่นี่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ห่างจากโรงพิมพ์ และวันนั้นก็พอดีเป็นวันอาทิตย์ ได้ติดต่อจะส่งต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์ในวันนั้น คือ วันที่ ๒๔ แต่ทางโรงพิมพ์ปิดไม่มีคนทำงาน และเราก็ต้องเร่ง เพราะได้ตั้งใจและบอกกันเองไว้ว่าจะออกในวันที่ ๒๔ ในที่สุดก็จึงใช้วิธีถ่ายเอกสาร แล้วก็ทำเป็นเล่มได้ ๑๐ เล่ม พอดีมีญาติโยมมาเยี่ยมก็ได้แจกไปในเย็นวันนั้น ๖ เล่ม กว่าจะเสร็จออกมาแจกเขาได้ก็บ่าย ๔ โมง หลังเวลาปิดหีบลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไป ๑ ชม. หนังสือที่เหลืออีก ๔ เล่ม ก็ใช้เป็นต้นฉบับส่งโรงพิมพ์บ้าง เก็บไว้เป็นตัวอย่างบ้าง
ผู้สัมภาษณ์ : การที่ท่านเจ้าคุณพิจารณาเผยแพร่หนังสือในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ก็เพราะเป็นวันที่เป็นกลางที่สุดแล้ว หมายความว่า ถ้ารู้ผลหลังวันเลือกตั้ง พรรคไหนเกิดได้เสียงมากได้เสียงน้อย ถ้าพรรคเขาได้เสียงน้อย ก็เหมือนกับไปโจมตีเขา
พระเทพเวที : ก็เหมือนกับไปซ้ำเติม ที่หนังสือออกมา ๔ โมงเย็น หลังปิดหีบบัตรเลือกตั้งแล้วนั้น ก็เป็นการบังเอิญ ไม่ได้ตั้งใจไว้ คิดแต่เพียงให้ออกในวันที่ ๒๔ ก็แล้วกัน ถึงแม้ถ้าทันออกแต่เช้า ก็ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อการเลือกตั้ง เพราะอาตมาก็อยู่ไกลคงแจกได้ไม่กี่เล่ม และก็ไม่ได้เตรียมใครไว้ช่วยแจก คิดแต่เพียงว่าวันนั้นไม่มีการหาเสียงแล้ว และยังไม่รู้ผล คิดไว้แค่นั้น
ผู้สัมภาษณ์ : แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการเผยแพร่ได้แค่ ๖ เล่มในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม จากการถ่ายเอกสาร แล้วหนังสือที่พิมพ์เสร็จออกจากโรงพิมพ์มาเมื่อไรเจ้าคะ
พระเทพเวที : วันรุ่งขึ้นก็ได้ส่งโรงพิมพ์ กว่าจะออกจากโรงพิมพ์ได้มารุ่นแรก ๑,๐๐๐ เล่ม ก็เป็นวันที่ ๒๖ ตอนเช้า
ตอนบ่ายพอดีมีพิธีถวายปริญญา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระท่านก็เลยเอาไปแจกรวมกับหนังสืออื่นด้วย หนังสือพิมพ์บางฉบับเอาไปลงพิมพ์ว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์สำหรับโอกาสนั้น ซึ่งที่จริงไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เอาไปแจกในงานนั้น เหมือนกับหนังสืออื่นๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ตกลงว่าหนังสือออกจากโรงพิมพ์ตอนเช้าวันที่ ๒๖ กรกฎาคม แล้วท่านเจ้าคุณแจกในตอนบ่าย ซึ่งตรงกับวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ท่านเจ้าคุณ
พระเทพเวที : ใครต้องการก็แจก อาตมาแจกเฉพาะที่เขาจัดมารวมกับหนังสืออื่นในพิธี นอกนั้นพระท่านแจกทั่วไป
ผู้สัมภาษณ์ : ในวันนั้นแจกไปทั้งหมดประมาณกี่เล่มเจ้าคะ
พระเทพเวที : ทั้งหมดเกือบ ๑,๐๐๐ เล่ม คนนั้นเอาไป คนนี้เอาไป บางคนเอาไปเป็นร้อย จึงได้หมดเร็ว วันนั้นวันเดียวก็เกือบหมด วันรุ่งขึ้นก็รีบส่งไปพิมพ์เพิ่ม คราวนี้เป็นรายการมีเจ้าภาพขอพิมพ์ทั้งนั้น หลายรายรวมแล้วดูเหมือนจะ ๖,๐๐๐ เล่ม แม้แต่ ๑,๐๐๐ แรก ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากโรงพิมพ์ ไม่คิดเงินเลย
ผู้สัมภาษณ์ : แรงจูงใจในการเขียนคงสรุปได้ว่า ท่านเจ้าคุณพิจารณาเห็นว่า บทบาทของพระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป นั่นคือแรงจูงใจ ประการหนึ่ง และในช่วงของการเลือกตั้ง เมื่อย้อนกลับไป มีการหาเสียงใช้วาจาโต้ตอบกันระหว่างสองฝ่าย เป็นไปในทางที่ไม่ค่อยจะดีนัก เป็นเหตุจูงใจที่ให้ท่านเจ้าคุณอยากจะระบุให้ตรงประเด็นว่าอะไรเป็นปัญหาแท้จริงที่ต้องแก้ไข จะมีประเด็นที่นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่เจ้าคะ ที่ทำให้ท่านเจ้าคุณเขียนกรณีสันติอโศก
พระเทพเวที : ความมุ่งหมายที่ชัดก็คือ
๑. ทำอย่างไรจะให้คนเข้าใจเรื่องราวให้ชัดเจนว่า ตัวประเด็นอยู่ที่ไหน ปัญหาคืออะไร ซึ่งตอนนั้นประชาชนสับสนมาก และการที่ประชาชนสับสนมากก็เพราะสื่อมวลชน เป็นต้น ตลอดจนผู้ที่ออกหนังสือต่างๆ โต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์กันนอกเรื่อง ทำให้ไปยุ่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
๒. เนื่องจากในการวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กันนั้น มักแสดงอารมณ์ พูดหยาบคายรุนแรง ใช้คำพูดด่ากันให้เสียๆ หายๆ จึงอยากจะชักกลับให้หันมาพูดจาพิจารณาและปฏิบัติต่อเรื่องนี้ด้วยวิธีการของเหตุผล
๓. อีกอย่างหนึ่งที่อาตมากับพระที่ศาลากลางสระปรารภกันอยู่แทบทุกวันก่อนหน้านั้น ในเวลามาทำวัตรบ้าง ฉันอาหารบ้าง ซึ่งเป็นเวลาที่เราจะพบพร้อมๆ กัน ก็คือได้ปรารภกันว่า ทำไมผู้ที่มีหน้าที่จึงไม่ทำหน้าที่ พากันปล่อยปละละเลยเรื่องนี้จนประชาชนสับสนกันมากแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ปัญหาที่ควรแก้ไขก็ไม่แก้ไข เรามีความรู้สึกติเตียนผู้ที่มีหน้าที่แล้วไม่ทำหน้าที่ และในเมื่อผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงไม่ทำหน้าที่ เราพระสงฆ์ทุกองค์ก็มีหน้าที่ตามหลักพระธรรมวินัยอยู่แล้วว่า เมื่อมีเรื่องราวที่กระทบกระเทือนต่อส่วนรวม เป็นอันตรายต่อพระศาสนา จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย จะต้องขวนขวายหาทางช่วยกันแก้ไข ไม่นิ่งดูดาย นี่เป็นหลักซึ่งอาตมาได้บอกไว้ในหนังสือกรณีสันติอโศกนั้นแล้ว ดังที่ได้อ้างหลักอปริหานิยธรรมว่า เมื่อมีอะไรที่เป็นเหตุเสื่อมเสียเกิดขึ้น มีอะไรเป็นปัญหาเกิดขึ้น ต้องร่วมกันแก้ไข แต่ตามปกติเราต้องหวังจากผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงก่อน แต่ถ้าเขาไม่ทำ เราก็ต้องถือเป็นหน้าที่ของเรา แต่การทำหน้าที่ของเราจำกัดอยู่ในขอบเขตเพียงว่า จะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น พูดกันในปัญหา และว่ากันตรงไปตรงมาให้ชัดเจน เราไม่สามารถทำอะไรเลยไปกว่านั้น คือไม่สามารถไปจัดการอะไรได้ เหตุผลที่ว่า ทำไมอาตมาจึงคิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ และออกในวันที่ ๒๔ ก็ได้เขียนชี้แจงไว้ในหนังสือกรณีสันติอโศกแล้ว เข้าใจว่าอยู่ในคำปรารภ
อาตมาอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือพิจารณาเรื่องนี้ ย้อนกลับไประลึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ บางทีเราลืมง่ายว่า ในช่วงก่อนหนังสือกรณีสันติอโศกออกมาโน้น เหตุการณ์ที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าเราหันกลับไปดู ก็จะเห็นชัดเจนว่า ช่วงเวลานั้น ซึ่งนานเป็นเดือนๆ เป็นระยะเวลาที่เขาออกหาเสียงกัน มีการออกเอกสารและพูดวิพากษ์วิจารณ์ ตอบโต้กันรุนแรงแค่ไหน ตอนนั้นรุนแรงมากอย่างที่อาตมาพูดเมื่อกี้นี้ว่าเหมือนกับจะมีการประหัตประหารกัน อาตมาจึงคิดว่าเราจะต้องชักคนดึงคนเข้าหาเหตุผลและพูดกันในประเด็นความมุ่งหมายในการเขียนนั้น อาจแยกได้เป็นด้านๆ คือ
ในด้านประชาชน นอกจากต้องการให้เข้าใจเรื่องได้ถูกต้องว่าปัญหาคืออะไร ตัวประเด็นอยู่ที่ไหนแล้ว ก็มีข้อที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งไม่ใช่ความคิดเดิม แต่อยากให้มีขึ้นด้วย คือ อยากให้คนในสังคมของเรามีความตระหนักในความรับผิดชอบต่อเรื่องของส่วนรวม โดยเฉพาะชาวพุทธที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา เอาใจใส่ต่อความเสื่อมความเจริญของพระศาสนา ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่คอยดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็เฮกันไป ไม่ได้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดเจน และไตร่ตรองด้วยเหตุผลที่แท้จริง แล้วก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วม ทีนี้ ท่าทีของชาวพุทธจำนวนมากในปัจจุบัน มักจะเป็นแบบวางเฉย ไม่เอาเรื่อง ซึ่งควรจะได้หันมาปรับกันใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งอาตมาได้ย้ำอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า บุคคลที่เป็นผู้นำของพระศาสนา เป็นพระสงฆ์ พระเถระผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพระอรหันต์ จะต้องรับผิดชอบและเอาใจใส่ ด้วยความไม่ประมาทในเรื่องราวต่างๆ ที่จะเป็นเหตุของความเสื่อมและความเจริญ อะไรที่จะเป็นเหตุของความเสื่อมต้องระมัดระวังช่วยกันป้องกัน อะไรที่เป็นปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข อะไรที่จะเป็นเหตุของความเจริญต้องเร่งสร้างเสริมสนับสนุน
ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ แต่ไม่ค่อยได้คิดกัน ก็คือ เรื่องของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ใหญ่ ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นพระป่า ชอบอยู่วิเวก และสูงอายุมาก เมื่อท่านพบว่ามีเรื่องราวที่กระทบกระเทือน อาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงแก่พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ท่านก็เป็นผู้นำยกเรื่องนั้นมาปรารภและชักชวนให้ทำสังคายนา การสังคายนาก็เกิดขึ้นเพราะความตื่นตัวขวนขวายไม่ประมาทนี้ สังคายนาครั้งต่อมาก็เกิดจากพระอรหันต์ที่ได้เห็นว่ามีการทำอะไรต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย แล้วก็ยกเรื่องขึ้นมาปรารภ และชวนกันทำสังคายนา การประชุมกัน ทำงานส่วนรวมอย่างนี้ มีมาเรื่อยในประวัติศาสตร์ ถือกันว่าพระอรหันต์เป็นผู้นำในเรื่องความขวนขวายไม่ประมาท และเอาใจใส่เอาธุระในกิจการของส่วนรวม ตามหลักการที่เรียกว่าเป็นการเคารพสงฆ์ ถือสงฆ์คือส่วนรวมเป็นใหญ่ ถ้าพระอรหันต์และพระเถระผู้นำในอดีตไม่ปฏิบัติกันมาอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็คงไม่เหลืออยู่มาถึงเราในบัดนี้ แต่ในเมืองไทยเป็นเรื่องน่าเสียดาย ระยะหลังนี้เรามีความรู้สึกเหมือนว่า ใครก็ตามที่เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราว เฉย ไม่เอาใจใส่ ก็เห็นไปว่าเป็นคนไม่มีกิเลส ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นท่าทีที่ผิด ซึ่งจะต้องแก้ไข เมื่อมีท่าทีที่ผิดและถือผิดกันมาก ก็เลยต้องพูดเรื่องนี้บ่อยๆ เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับสันติอโศกนี้เกิดขึ้น ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนสภาพปัญหาของสังคมไทย และแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของการมีท่าทีเช่นนี้ ซึ่งเราควรจะถือเป็นโอกาสที่จะปรับท่าทีของคนให้มีความรู้สึกว่า จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ถ้ามองเห็นไปว่าพระดีคือพระที่ไม่เอาเรื่องเอาราว วางเฉย อย่างนี้พระศาสนาก็อยู่ไม่ได้ ตามหลักพระศาสนาถือว่า ปัญหาอย่างนี้เป็นเรื่องของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันแก้ไข เรียกว่าเป็นกิจของสงฆ์ และทางวินัยก็มีศัพท์เฉพาะเรียกว่าเป็นอธิกรณ์ และนี่ก็เป็นผลพลอยได้ คือการที่จะกระตุ้นเตือนให้คนมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ด้านต่อไปคือผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องโดยตรง หรือผู้ที่ต้องการเกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสันติอโศก ก็ต้องกลับมามองที่ผู้มีหน้าที่โดยตรงก่อน ซึ่งเราต้องการให้ทำหน้าที่ของตนให้จริงจัง ไม่เลี่ยงหนีเรื่อง ส่วนผู้ที่ถึงแม้จะไม่มีหน้าที่โดยตรงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น สื่อมวลชนที่หวังดี ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อยากจะช่วยแก้ไข เราก็ต้องการให้เขาทำให้ตรงประเด็นของปัญหา และใช้วิธีการของเหตุผล
ด้านต่อไป ความมุ่งหมายอีกส่วนหนึ่งโยงไปถึงทางสำนักสันติอโศกเอง คือต้องการให้เขาทบทวนว่า ตัวเขาเองได้พิจารณาปัญหาของตนเอง ตรงไปตรงมาและชัดเจนพอหรือเปล่า การพิจารณาก็ขอให้ทำอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถ้าพิจารณาเห็นว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะได้แก้ไขโดยวิธีที่ชอบธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็ไม่ได้ไปว่ากล่าวอะไร แต่ให้มองเห็นตามความเป็นจริง
ด้านที่สี่ นักการเมือง ที่จะมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองหลังการเลือกตั้ง สำหรับข้อนี้ได้เขียนบ่งไว้อย่างชัดเจนในคำปรารภของหนังสือ “กรณีสันติอโศก” นั้นว่า “... มุ่งหมายว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการรับผิดชอบต่อชะตากรรมของสังคม และประเทศชาติ ควรจะรู้เข้าใจเรื่องราวที่มีความสำคัญต่อสังคมของตนตามความเป็นจริง เมื่อรู้เข้าใจแล้ว หากมีจิตใจเป็นธรรมและรักความชอบธรรม จักได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงนั้น” (กรณีสันติอโศก หน้า ๒) นักการเมืองและผู้ปกครองบ้านเมืองควรรู้เข้าใจให้ชัดเจนถูกต้อง เพราะเรื่องนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของประชาชน และเป็นปัญหาที่มีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะนักการเมือง ที่คิดว่าควรสนใจและเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้องที่สุด ก็คือ นักการเมืองในพรรคพลังธรรม เพราะเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า พรรคพลังธรรมนั้นก่อตั้งขึ้นมาด้วยการร่วมคิดร่วมสนับสนุนของท่านโพธิรักษ์และสันติอโศก และในช่วงก่อนเลือกตั้งนั้น ก็มีผู้คาดหมายกันมากว่าพรรคนี้จะชนะการเลือกตั้งได้ผู้แทนเข้ามามาก อาจถึงขั้นมีเสียงข้างมากสามารถเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังธรรมนั้น มีความเกี่ยวข้องกับพระศาสนา ทั้งในแง่ที่ผูกพันโดยตรงกับสำนักสันติอโศกที่เป็นกิจการทางศาสนาโดยตรง และผู้นำของพรรค คือหัวหน้าพรรคก็ได้แสดงตนอยู่ว่าเป็นผู้ใส่ใจในเรื่องศาสนา ถือปฏิบัติเคร่งครัดในทางศาสนา ในกรณีที่จะมาเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง นักการเมืองในพรรคนี้ ย่อมมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา ซึ่งถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะมีผลดีมาก แต่ถ้าปฏิบัติผิดพลาดไป เช่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะเป็นโทษอย่างมาก จึงสมควรจะรู้เข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้องชัดเจนที่สุด เพื่อทำงานได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด และงานสร้างความเข้าใจในเรื่องเช่นนี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของพระโดยตรง และในเมื่อเราเห็นว่านักการเมืองส่วนมากในหมู่นั้น อาจจะสนใจโดยไม่มีความเข้าใจ หรืออาจจะพลอยร่วมทำอะไรไปโดยไม่มีทั้งความสนใจและความเข้าใจ การสร้างความเข้าใจก็เป็นงานที่ควรเริ่มต้นทำตั้งแต่วาระแรกที่เห็นว่าเขาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคม และนี่คือด้านหนึ่งของจุดที่พระสงฆ์จะพบกับนักการเมืองได้อย่างชอบธรรม โดยไม่ก้าวลงไปในฐานะผู้เล่นฝ่ายไหนในสนามการเมืองเสียเอง
เหตุผลและความมุ่งหมายทั้งหมดที่พูดมานั้น ในขั้นสุดท้าย ก็มารวมที่ความมุ่งหมาย ข้อสำคัญที่สุด คือ การรักษาธรรมวินัย อย่างที่พิมพ์ไว้ด้านล่างของปกหนังสือว่า “งานรักษาพระธรรมวินัย” ในขณะที่การตีความธรรมวินัยยังเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งขึ้นไป ซึ่งจะต้องพิจารณากันละเอียดยิ่งขึ้นไปนั้น พฤติกรรมต่างๆ ในขั้นต้นๆ ที่แสดงถึงความตรงไปตรงมาหรือไม่ และการมีเจตนาที่ชัดเจนหรือน่าเคลือบแคลงหรือไม่ ย่อมเป็นเครื่องช่วยชี้บ่งอย่างดีว่าการปฏิบัติต่อธรรมวินัย ในขั้นลึกละเอียดลงไปน่าจะเป็นไปในทิศทางใด แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก เมื่อสรุปให้สั้นก็คือ จุดตัดสินใจที่จะเขียนได้แก่ การที่ได้อ่านหนังสือ “ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง” ซึ่งทำให้เห็นว่าท่านโพธิรักษ์มีความสับสนไม่ชัดเจน ในการพิจารณา ในการพูด และในการตีความกฎหมายและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนน่าเคลือบแคลงว่า ท่านจะทำด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือมีเจตนาอย่างไร น่าเป็นห่วงว่าคนจำนวนมากที่ได้อ่านจะพลอยสับสนหลงเข้าใจผิดไปด้วย และเห็นว่าควรจะชี้แจงให้เกิดความเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจน ส่วนความมุ่งหมายสำคัญขั้นสุดท้าย ก็คือ การดำรงรักษาพระธรรมวินัย ทั้งพระธรรมวินัยที่เป็นรูปแบบ ซึ่งเป็นที่บรรจุของเนื้อหาสาระ และพระธรรมวินัยที่เป็นเนื้อหาสาระ ซึ่งปรากฏออกมาเป็นความเป็นธรรม ชอบธรรม ความมีหลักเกณฑ์ ความจริง ความถูกต้องดีงาม
ผู้สัมภาษณ์ : ที่กราบนมัสการถามเกี่ยวกับการที่ท่านเจ้าคุณเลือกวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เพราะอ่านพบว่าสื่อมวลชนมาตีความว่า วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ที่ท่านออกหนังสือนั้นเป็นเพราะว่าครั้งหนึ่งหลังจากสอบได้เปรียญเก้าแล้ว ท่านได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม สื่อมวลชนจึงเข้าใจว่า วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เป็นวันที่มีความสำคัญต่อท่านเจ้าคุณไป
ขอกราบนมัสการถามอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ท่านเจ้าคุณชี้แจงให้ทราบถึงห้าประเด็นว่า อยากให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจ และเป็นผลพลอยได้เกี่ยวกับท่าทีที่ถูกต้องของชาวพุทธ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือต้องการเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ปฏิบัติด้วยวิธีที่ถูกต้อง ให้สำนักสันติอโศกได้มองดูในแง่แนวปฏิบัติของตนเอง ให้นักการเมืองที่จะมารับผิดชอบสังคม มีความเข้าใจต่อการพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องชัดเจน และประเด็นที่สำคัญคือเพื่อการรักษาพระธรรมวินัย แต่หลังจากที่หนังสือกรณีสันติอโศกเผยแพร่ออกไปแล้ว ท่านเจ้าคุณได้เห็นผลตามความมุ่งหมายที่ท่านเจ้าคุณพูดมานั้นหรือไม่เจ้าคะ
พระเทพเวที : เรื่องวันที่ ๒๔ ที่ออกหนังสือจะเกี่ยวกับวันบวชของอาตมานั้น อาตมาเองไม่ได้นึกถึงเลย อาตมาจำวันบวชของตนเองไม่ได้ด้วยซ้ำไป ถ้าจะมีคนถามเกี่ยวกับวันบวช อาตมาเองก็ยังต้องไปค้น แสดงว่าท่านผู้นั้นจำได้ดีกว่าอาตมา อาตมาไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้และไม่ได้มองเห็นว่า เรื่องนี้จะมีความหมายสำคัญต่อชีวิตการบวชของอาตมา เพียงแต่นึกถึงวันที่เป็นกลางที่สุด ส่วนในเรื่องของเวลาก็เพียงแต่จะให้ออกในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เท่านั้น เพราะอาตมาอยู่ห่างไกลถึงลำลูกกา จะแจกใครได้สักกี่คน ไม่ได้คิดว่าเวลาจะมีผลอย่างไรถ้าออกมาทันตอนเช้า แต่นี่ก็บังเอิญว่ากว่าจะออกได้ก็เย็น เพราะทำไม่ทัน ไม่ใช่ว่าอาตมาจะมีเจตนาให้ออกเย็น
ทีนี้ ในแง่ผลที่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบก็มีผลบ้าง คือได้ฟังบางท่านโทรศัพท์มาว่า หนังสือนี้ได้ทำให้ท่านเกิดความเข้าใจขึ้นว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร หรือเล่าว่าคนอื่นก็เริ่มเข้าใจได้ดีขึ้น บ้างก็เขียนจดหมายมา แต่ก็มีไม่มากเท่าไร ส่วนมากเป็นจดหมายที่แสดงความพอใจ นอกจากฉบับเดียว ที่เป็นบัตรสนเท่ห์ใช้สำนวนเรียกพ่อท่านแบบชาวสันติอโศก แต่พูดจาไม่ไพเราะเลย อีกฉบับหนึ่งมาจากชาวสันติอโศกที่เลื่อมใสมาก แต่ก็บอกว่านับถืออาตมาอยู่ด้วย และปกติก็เคยเขียนมาถามเกี่ยวกับปัญหาธรรมอยู่แล้ว ได้เขียนมาแสดงความคิดเห็นในเชิงขัดแย้งว่า ทางสันติอโศกไม่ผิด เขียนมาโดยสุภาพ อาตมาก็ยังไม่มีเวลาตอบ ว่าจะตอบ แต่ไม่มีเวลาจริงๆ อย่างจดหมายฉบับก่อนที่เขียนมาถามธรรม กว่าอาตมาจะเขียนตอบก็หลายเดือน แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องปฏิกิริยา ไม่มีอะไรมาก ส่วนที่ออกทางหนังสือพิมพ์ก็แสดงความเห็นด้วยหลายครั้ง แต่ก็มีบ้างในบางฉบับ ที่เขียนทำนองว่าไม่เห็นด้วย แต่มักกลายเป็นการแสดงความไม่พอใจ บางรายก็เขียนออกมาจากการจับความหมายผิดๆ
ว่าถึงผลที่อาตมาต้องการ ก็ได้บ้าง ในด้านที่มีผู้พูดหรือบอกมาว่า ทำให้เขาเข้าใจเรื่องราวดีขึ้น และโดยมากคนที่พูดอย่างนี้ ก็อาจจะพอใจในแง่ของความเป็นเหตุเป็นผล ส่วนทางด้านสื่อมวลชน และการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยทั่วไป อาตมายังไม่ค่อยเห็นว่าจะได้ผล ในการปฏิบัติก็ยังเห็นอยู่ว่าเขายังจับประเด็นไม่ค่อยถูก ไม่ชัดเจน และยังสับสนกันอยู่ คล้ายๆ กับเดิมนั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สื่อมวลชน จะเป็นวิทยุก็ตาม โทรทัศน์ก็ตาม รวมทั้งสำนักสันติอโศกเองด้วย มักพูดและเขียนในทำนองสร้างภาพที่ทำให้คนมองเห็นเป็นว่า มีการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างกลุ่ม ๒ กลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มสันติอโศกกับพระอื่น อันนี้เป็นภาพที่ผิดมาก เราต้องมองตามเป็นจริงว่า เรื่องมีอยู่ว่า คณะสงฆ์ก็อยู่มาอย่างนี้ มีปัญหาต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขมากมาย ซึ่งเราก็มองเห็นว่าจะต้องปรับปรุงอยู่แล้ว แต่ทีนี้ก็เกิดมีเรื่องกรณีสันติอโศกขึ้นมา และมาสัมพันธ์กับการเมือง เลยเป็นเรื่องโด่งดังขึ้นมา เมื่อโด่งดังก็มีการสนใจ เมื่อมีการสนใจและเข้าใจผิด ก็ต้องการการทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี่ก็คือเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อเป็นปัญหาขึ้นมาเป็นกรณีขึ้นแก่สังคมนี้ เราก็ควรจะมาช่วยกันแก้ปัญหา เรื่องก็มีเท่านั้น คือเรื่องสันติอโศกเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว ในสังคมไทยหรือในพระศาสนา เราจะแก้ปัญหาอย่างไร คนที่แก้ปัญหาหรือเสนอวิธีการแก้ปัญหาอาจจะขัดแย้งกันได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่การขัดแย้งนั้นไม่ใช่ตัวปัญหา เป็นเพียงความเห็นขัดแย้งกันในการแก้ปัญหา แต่เขาไปสร้างภาพเป็นว่ามีการขัดแย้งกันขึ้น แล้วเบนความสนใจและความเข้าใจของคนออกไปให้เห็นว่า ตัวกรณีหรือตัวเรื่องหรือตัวปัญหา คือการขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม สร้างภาพแม้กระทั่งว่ามีกลุ่มสันติอโศกกับกลุ่มมหาเถรสมาคม นี้เป็นการสร้างภาพที่ผิด และเมื่อคนได้ภาพผิดไปแล้ว การคิดพิจารณาเรื่องก็ผิด นับว่าเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยามวลชนที่ได้ผล แต่กลายเป็นเรื่องของเล่ห์กล ซึ่งทำให้สงสัยในความสุจริตใจว่าทำไมต้องหาทางเลี่ยง ไม่พิจารณาปัญหากันอย่างตรงไปตรงมา
อีกอย่างหนึ่ง การที่มองเป็นว่า มีกลุ่มสันติอโศกกลุ่มหนึ่งกับกลุ่มมหาเถรสมาคมกลุ่มหนึ่ง นี้เป็นภาพที่ผิดความจริงพื้นฐาน คล้ายกับพูดว่า มีกลุ่มหมู่บ้านเขาย้อยกับกลุ่มรัฐบาลไทย ซึ่งความจริงนั้นภาพรวมก็คือมีคณะสงฆ์ไทยเป็นองค์รวมอยู่อันหนึ่ง ซึ่งมีพระสงฆ์มากมาย แต่ปัจจุบันนี้ ในขณะที่การคณะสงฆ์กำลังเสื่อมโทรมอยู่ ซึ่งต้องการการแก้ไขปรับปรุง ก็ได้มีพระที่ไม่ดีเกิดขึ้นมาก ประพฤติเสียหายอะไรต่างๆ แต่คณะสงฆ์ก็ยังคงเป็นที่รวมของพระจำนวนมากมายอยู่นั่นแหละ ซึ่งมีทั้งพระดีและพระไม่ดี ซึ่งทั้งหมดก็เป็นพระไทยด้วยกัน แต่ในสภาพเช่นนี้ พระดีอาจจะน้อยลง และพระไม่ดีก็อาจจะมากขึ้น และในคณะสงฆ์ไทยนั้น ถ้าเราจะแยกไปพูดถึงสำนักต่างๆ ก็มีเยอะแยะ มีสำนักอาจารย์ชา สำนักอาจารย์บัว สำนักอะไรๆ สายอาจารย์มั่นอีกเยอะแยะ สำนักท่านพุทธทาส หรืออาจจะแยกแม้กระทั่งว่า สำนักท่านปัญญานันทะ ท่านอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งก็มีคำสั่งสอนและการปฏิบัติในแนวของท่านนั้นๆ หลายสำนักก็มีคนเลื่อมใสมาก เพราะเห็นว่าท่านปฏิบัติดี แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมตามกฎหมาย รวมทั้งสำนักสันติอโศกด้วย ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ทั้งหมด ไม่ได้มีภาพอะไรพิเศษออกไปที่จะมาเป็นสองกลุ่มขึ้นได้ ทีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็เป็นเพียงว่า สำนักที่ชื่อว่าสันติอโศก ได้มีเรื่องราวขึ้นมาให้สังคมพิจารณา เพราะท่านประกาศตัวลาออกจากมหาเถรสมาคม ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณากันว่า การลาออกนั้นเป็นไปได้จริงหรือเปล่า ก็กลายเป็นปัญหาเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา นี่ก็เป็นภาพที่ควรจะสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง
ทีนี้ ภาพนั้นยังมีการวาดต่อไปอีก คือ สร้างให้เห็นเป็นภาพว่า มีกลุ่มสันติอโศกที่มีความประพฤติปฏิบัติที่วางไว้จำเพาะแบบนี้ กับกลุ่มพระอื่นที่เรียกว่าพระของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีการประพฤติใบ้หวย มีการทำเดรัจฉานวิชา ทำไสยศาสตร์ต่างๆ มากมาย พูดจูงไปจนกลายเป็นว่า พระมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มสันติอโศกที่ประพฤติดีงาม กับกลุ่มพระอื่นที่อยู่กับมหาเถรสมาคมที่ประพฤติเหลวไหล ซึ่งเป็นภาพที่ผิดเต็มที่เลย เพราะว่าพระอย่างสำนักพระอาจารย์ชา สำนักอาจารย์บัว สำนักท่านพุทธทาสก็อยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม ดังนั้น การพูดถึงพระในคณะสงฆ์ไทยทั้งหมดที่นอกเหนือจากกลุ่มสำนักสันติอโศก โดยยกเอาภาพของพระที่ประพฤติเดรัจฉานวิชาขึ้นมาตั้ง ทำให้เกิดการสร้างภาพต่อคณะสงฆ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันนี้ถ้าไม่ใช่เป็นการพูดด้วยเจตนาสร้างภาพลวงตา ก็เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข จะเห็นว่าสื่อมวลชนต่างๆ ไม่น้อยทีเดียวก็ไม่เข้าใจ กลับไปมองแบบเดียวกับที่ว่ามานั้น
ในการพูดชักจูงให้เกิดภาพนี้ขึ้นนั้น ก็มีพฤติการณ์และเหตุผลให้มองได้ว่า ทางสันติอโศกคงจะได้พยายามทำให้เกิดภาพนี้ขึ้นด้วย คือเมื่อสร้างภาพให้เห็นว่ามีพระอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มสันติอโศกกับกลุ่มมหาเถรสมาคม แล้วก็สร้างภาพให้เห็นต่อไปอีกว่า พระสันติอโศกเป็นพระที่ประพฤติดี ส่วนพระฝ่ายมหาเถรสมาคมเป็นพระที่ประพฤติเหลวไหล ใบ้หวย เล่นไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีเปรียบเทียบเพื่อทำให้ตัวเองเด่นขึ้นมา ทำไมไม่เปรียบเทียบกับพระไทยอื่นๆ ที่ดีๆ อย่างสำนักสวนโมกข์ สำนักวัดหนองป่าพง สำนักวัดเขื่อน หรือสำนักอะไรต่างๆ อีกมากที่ท่านมีความประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางที่เคร่งครัด ที่ท่านดีแต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงปรากฏ
ความจริง ถ้าจะพูดว่ามีสองกลุ่มก็ได้ แต่จะเป็นสองกลุ่มอีกแบบหนึ่ง คือ ในขณะที่การพระศาสนากำลังเสื่อมโทรมอ่อนแอ และต้องการการปรับปรุงอย่างยิ่งนี้ ก็มีกลุ่มที่เด่นเป็นปัญหาขึ้นมา ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ทำวิปริตจากพระธรรมวินัย กับ กลุ่มที่ทำธรรมวินัยให้วิปริต พระใบ้หวย ทำเดรัจฉานวิชา หากินด้วยไสยศาสตร์ ที่ทางสันติอโศกยกขึ้นมาโจมตีมากจนเด่น เหมือนจะให้เป็นภาพรวมของคณะสงฆ์ไทยนั้น เป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ทำวิปริตจากพระธรรมวินัย คือ ประพฤติวิปริตคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมคำสอนและวินัยที่เป็นบทบัญญัติของพระพุทธเจ้า ส่วนปัญหาที่กำลังเป็นอยู่กับสันติอโศกนั้นเป็นปัญหาที่มาเด่นในกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ทำธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งกำลังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่ว่า จะสอนสิ่งที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากหลักธรรมวินัย จะด้วยเจตนาหรือความหลงผิดก็ตาม ซึ่งคนที่มีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา ต่อพระธรรมวินัย จะต้องเอาใจใส่ มาดูกันให้ชัดเจน และช่วยกันแก้ไข ซึ่งก็ควรทำด้วยหวังดีทั้งต่อพระศาสนา และต่อสันติอโศกเองด้วย แต่รวมความก็คือว่า เป็นปัญหา จะต้องแก้ไขทั้งสองกลุ่ม คือ ทั้งกลุ่มที่ทำวิปริตจากธรรมวินัย และกลุ่มที่ทำธรรมวินัยให้วิปริต จะเอาแต่ปัญหาพระไสยศาสตร์ ใบ้หวย ไม่แก้ปัญหาสันติอโศกก็ไม่ถูก จะแก้แต่ปัญหาสันติอโศก ละเลยปัญหาพระย่อหย่อนมิจฉาชีพก็ไม่สมควร อย่างไรก็ตาม เหนือกว่านั้นขึ้นไป ก็มีจุดรวมของการเกิดปัญหา และการแก้ปัญหาอยู่อย่างน้อยจุดหนึ่ง ถ้ายังไม่มองเหตุปัจจัยและองค์ประกอบที่ลึกซึ้งกว่านั้นไป จุดรวมนั้น ก็คือการบริหารการคณะสงฆ์ ซึ่งถ้าไม่แก้ไขปรับปรุง นอกจากจะแก้ปัญหาที่มีอยู่ทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ไหวแล้ว ก็จะมีแต่การสั่งสมปัญหามากขึ้น และร้ายแรงยิ่งขึ้นไปในระยะยาว
ในการพิจารณาเรื่องสันติอโศกนั้น ไม่ควรยกเรื่องพระประพฤติย่อหย่อนวิปริตขึ้นมาเทียบ เพื่อปัดประเด็นปัญหาสันติอโศก อย่างที่บางท่านเคยทำมาแล้วอีก นอกจากจะยกขึ้นมาพูดในทางกระตุ้นเตือนให้เร่งพิจารณาแก้ไขเพิ่มเข้ามาอีกเรื่องหนึ่งด้วย ยิ่งการที่จะยกขึ้นมาพูดเพื่อโต้เถียงหนังสือกรณีสันติอโศกก็ยิ่งเป็นการไม่สมควร และจะเป็นการเฉไฉไปไกล หนังสือกรณีสันติอโศกนี้ มิได้เขียนขึ้นเพื่อพระที่ประพฤติวิปริตผิดเพี้ยน ที่ท่านโพธิรักษ์ชอบยกขึ้นมาติเตียน และมิได้เขียนขึ้นเพื่อส่งเสริมการปกครองคณะสงฆ์ที่ย่อหย่อนอ่อนแอ แต่เขียนขึ้นเพื่อชี้ชวนให้ช่วยกันแก้ไขปรับปรุง แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้ที่เบื่อหน่ายและอยากให้มีการแก้ไขปรับปรุง ก็ไม่ควรดีใจชอบใจ เพียงเพราะเห็นว่าได้มีการฝ่าฝืนแข็งขืนต่ออำนาจการปกครองของคณะสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว เพราะจะเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดจากความน้อยใจ หรือเพียงได้ทำให้สาสมแก่ใจของตน แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง จะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาซ้อนปัญหาด้วยซ้ำ ควรจะแก้ปัญหากันด้วยสติปัญญาตามทางของเหตุผลต่อไป ด้วยจิตใจที่เป็นปกติ นอกจากนั้น ควรคำนึงด้วยถึงความจริงที่ว่า พระที่ประพฤติเหลวไหลวิปริตต่างๆ นั้น แม้จะเป็นการเสียหายแก่ส่วนรวม ซึ่งบางทีก็รุนแรง แต่ก็เป็นการเสียหายเฉพาะกรณี และทำลายพระศาสนาที่เปลือกผิวเข้าไป ส่วนพระที่แปลธรรมวินัยให้วิปริตผิดเพี้ยน ย่อมก่อความเสียหายในวงกว้าง ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจคลาดเคลื่อนหลงผิด เป็นการก่อความเสียหายแก่มหาชน และสามารถทำลายได้ถึงเนื้อตัวของพระศาสนาในทันที
ลึกลงไปอีก ขอให้มองดูการใช้ถ้อยคำต่างๆ โดยเฉพาะการใช้คำพูดที่เป็นการสร้างภาพไปด้วยในตัว เช่น การพูดถึงคนนั้นคนนี้ ว่าเป็นพระของมหาเถรสมาคม ก็เป็นภาพลวงอย่างสำคัญ อันนี้จะขออุปมาให้ฟัง เหมือนอย่างว่า อาจารย์ไปพบคนไทยคนหนึ่ง แล้วอาจารย์ก็บอกว่าเขาเป็นคนของประเทศไทย เป็นคนที่ต้องขึ้นกับรัฐบาลไทย อย่างนี้ถูกใช่ไหม แต่ถ้าอาจารย์จะพูดว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล จะถูกไหม การบอกว่าคนไทยคนนั้นเป็นคนของรัฐบาล อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ใช่ไหม คำพูดนี้มีความหมายคนละอย่าง ทีนี้ พระทั้งหลายรวมทั้งอาตมาด้วย ยอมรับตามกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นข้อเท็จจริงว่า เมื่อเราเป็นพระสงฆ์ไทย เราก็ต้องขึ้นกับมหาเถรสมาคม แต่จะมาบอกว่าอาตมาเป็นพระของมหาเถรสมาคม จะได้หรือเปล่า ย่อมไม่ได้ เหมือนอย่างบอกว่าคนไทยคนนั้นเป็นคนของรัฐบาล อย่างนี้ย่อมให้ความรู้สึกที่ผิด ถ้าพูดว่าเป็นคนของมหาเถรสมาคม คนก็เข้าใจว่าเป็นคนที่ทำงานอะไรต่างๆ ตามความประสงค์ หรือตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม หรือแม้กระทั่งว่ารับใช้มหาเถรสมาคม แต่ที่จริงอาตมาเพียงแต่ว่าตามข้อเท็จจริงของกฎหมายนั้นๆ ว่า อาตมาอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมในด้านการปกครอง แต่ไม่จำเป็นว่า อาตมาจะต้องเห็นด้วยกับมหาเถรสมาคม เหมือนกับที่ว่าคนไทยคนนั้น ซึ่งอยู่ในประเทศไทย เขาขึ้นกับรัฐบาลไทยจริง แต่เขาอาจไม่พอใจในรัฐบาลนั้นก็ได้ และเขาอาจจะต้องการให้รัฐบาลนั้นออกไป ต้องการเปลี่ยนแปลงแม้แต่กฎหมายที่บังคับเขาอยู่ เขาย่อมไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล การที่ไปพูดตราพระทั้งหลายให้เป็นพระของมหาเถรสมาคมนั้น เป็นการสร้างภาพที่ผิดพลาด และไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ท่าน อาตมาอาจจะไม่ชอบมหาเถรสมาคมเลยก็ได้ แต่อาตมาก็พูดตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าเป็นอย่างนี้ แม้แต่การเขียนหนังสือกรณีสันติอโศกขึ้น ก็เป็นการชี้แจงตามข้อเท็จจริง ตามที่เราเห็นว่ากฎหมายว่าไว้อย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นด้วยกับมหาเถรสมาคมหรือแม้แต่กฎหมายนั้น มันเป็นคนละประเด็นกันเลย อาตมาว่าเขาแยกไม่ถูก หรือจะเจตนาพูดให้คนเห็นภาพเป็นอย่างนั้น
บางท่านอาจจะเห็นไปว่า ถ้อยคำผิดพลาดเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะต้องมองตามเป็นจริงว่า ภาษาเป็นทั้งสื่อนำความเข้าใจของผู้ฟัง และเป็นสื่อแสดงเจตนาของผู้พูด ถ้ามองให้ลึกลงไป การใช้ถ้อยคำอย่างมีแผน จะเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยามวลชนที่สำคัญ คนส่วนมากจะรู้ตัวไม่ทัน และมองเห็นภาพตามไป เท่าที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า คณะสันติอโศกฉลาดในการจัดตั้ง ฉลาดในวิธีการใช้คำพูดเลี่ยงหลบวกวน และสามารถสร้างภาพอย่างที่พูดถึงข้างต้นนั้น ให้แก่ประชาชนได้อย่างสำเร็จผลไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จด้วยวิธีการเช่นนั้น ถ้าจะมีการยอมรับชื่นชมกัน ก็ควรจะให้จำกัดอยู่เฉพาะในวงการเมือง ไม่ควรให้นำมาใช้ในวงการศาสนา โดยเฉพาะในการเกี่ยวข้องกับสัจธรรมและจริยธรรม ในวงการของศาสนธรรมที่แท้จริง ย่อมต้องการความตรงไปตรงมา และความชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น อาตมาได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า จุดที่ทำให้อาตมาตัดสินใจเขียน “กรณีสันติอโศก” ก็คือความเป็นห่วงที่เกิดขึ้นเมื่ออ่านหนังสือของสันติอโศก เรื่อง ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ท่านโพธิรักษ์จะเขียนด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ มีความเข้าใจเรื่องต่างๆ พร่ามัวสับสน หรือว่าจะมีเจตนาเลี่ยงหลบเฉไฉ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นว่าท่านอาจจะใช้วิธีการนี้กับธรรมวินัย ที่เป็นหลักการหรือเนื้อหาของพระศาสนาด้วย ถ้าถึงขั้นนั้น ก็จะยิ่งต้องเป็นห่วงต่อไปอีกว่า ท่านคิดและปฏิบัติการต่างๆ เพื่อสนองรับใช้หลักการของพระธรรมวินัย หรือเข้ามาเอาพระธรรมวินัย เป็นเครื่องสนองรับใช้แนวความคิดหรืออุดมการณ์ของท่าน ความสงสัยนี้ย่อมจะนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อถือ และความไว้วางใจในกิจการของท่านโพธิรักษ์ การเขียน “กรณีสันติอโศก” จึงเริ่มต้นด้วยประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องแรก เป็นการเชิญชวนให้มาทบทวนตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ ที่ท่านโพธิรักษ์เขียนไว้ใน “ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง” โดยขอให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา และให้เกิดความชัดเจน ปฏิกิริยาที่ตามมาหลังจากนั้น จะช่วยพิสูจน์ได้ชัดยิ่งขึ้นอีกว่า การแสดงออกของท่านโพธิรักษ์เกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดหรือเจตนาอย่างไร และข้อพิสูจน์นี้จะมีความหมายสำคัญยิ่งไปกว่าการได้ข้อยุติว่า ท่านโพธิรักษ์ทำผิดกฎหมายหรือไม่ หลังจากหนังสือกรณีสันติอโศกออกไปแล้ว ก็ปรากฏว่าได้มีปฏิกิริยาทางคำพูดบ้าง ข้อเขียนและเอกสารต่างๆ ออกจากสันติอโศก ซึ่งให้เกิดความรู้สึกว่า มีการพยายามเลี่ยงหลบเฉไฉ และสร้างภาพอำพรางต่อมาอีกหรือยิ่งขึ้นไปอีก การกระทำเช่นนี้ ไม่ว่าจะได้สำเร็จผลในทางจิตวิทยามวลชนและในทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะที่อาตมาได้เคยมีความรู้สึกในทางดี ต่อชาวสันติอโศกมาก่อนไม่น้อย สิ่งที่อาตมาเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่าผลในทางจิตวิทยา และในทางการเมืองเป็นอันมาก ก็คือ การสูญเสียความไว้วางใจต่อเจตนาและความซื่อสัตย์ของคณะสันติอโศกไปอย่างยากที่จะกู้กลับคืน และเห็นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องตามดูด้วยความระมัดระวัง
ผู้สัมภาษณ์ : ขอกราบนมัสการถามต่อไปเรื่องประเพณีการบวช พระภิกษุที่อุปสมบทอยู่ในพระบวรพุทธศาสนาในประเทศไทย ต้องขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ไทยใช่ไหมเจ้าคะ ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามแบบอย่างของคณะสงฆ์ไทย ทีนี้การบวชของพระในสำนักสันติอโศกเท่าที่ทำกันอยู่นี้ถือว่าถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ หลายครั้งที่สื่อมวลชนตีความไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่มีใครสามารถชี้ให้ชัดเจนว่า ท่านพ้นสภาพการเป็นพระภิกษุ
พระเทพเวที : อันนี้ เราต้องมองก่อนว่า ท่านโพธิรักษ์บวชในคณะสงฆ์ไทย ตามแบบแผนวิธีบวชของไทยโดยสมบูรณ์ เพราะอุปัชฌาย์ของท่านเป็นพระในคณะสงฆ์ไทย เพราะฉะนั้น เราพูดได้เต็มปากว่าท่านบวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทย เมื่อท่านบวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทย กฎหมายก็บอกไว้เลยว่า ต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ ก็กำหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ พระสงฆ์ไทยจึงขึ้นต่อมหาเถรสมาคม ทีนี้ในเมื่อท่านมาบวชตามวิธีนี้ แม้แต่ตัวท่านเอง ก็เกิดขึ้นจากการบวชแบบนี้ ถ้าท่านบอกว่าการบวชที่พระสงฆ์ไทยทำกันอยู่นี้ผิด ท่านก็บวชในวิธีที่ผิดด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ท่านเคยชี้แจงว่าท่านลาออกไปแล้ว
พระเทพเวที : ท่านจะลาออกอย่างไรก็ตาม ในเมื่อท่านยังไม่ได้สึก การบวชนั้นก็ยังติดตัวท่านอยู่ ความเป็นพระไทยก็ยังติดตัวท่านอยู่ ถึงลาออกก็จะพ้นไปได้อย่างไร ในเมื่อท่านบวชเข้ามาโดยวิธีการบวชแบบนั้น ถ้าท่านจะสละการบวชแบบนั้น ท่านก็ต้องสึกไปก่อน สึกให้พ้นจากภาวะการบวชแบบนั้นที่ติดตัวท่านมา ทีนี้ประเด็นก็คือท่านยังไม่สละการบวชแบบนี้
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางธรรมวินัยอีก คือในประวัติของท่านซึ่งจะต้องดูให้ชัด และอาจจะต้องมีการสอบถามแม้แต่ตัวท่านเอง ว่าท่านได้ปฏิบัติอย่างไรต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน ตามประวัติบอกว่าท่านได้คืนหนังสือสุทธิ ทีนี้การคืนหนังสือสุทธินั้นในเวลาคืนได้พูดจากันว่าอย่างไรบ้าง ในพระวินัยกำหนดไว้ว่า ถ้าพระภิกษุบอกคืนอุปัชฌาย์หรือบอกคืนอาจารย์ถือว่าลาสิกขา ก็ถือว่าสึก ถ้าท่านได้กล่าวคำบอกคืนอุปัชฌาย์อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เลิกแล้วกันไปไม่เอาด้วย ขอให้ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกัน ท่านก็สึก เมื่อท่านสึกแล้วก็จะต้องเปลี่ยนเพศ ลาออกจากระเบียบแบบแผนธรรมเนียมของคณะสงฆ์ไทย เลิกนุ่งห่มอย่างพระ ต้องแต่งกายเป็นคฤหัสถ์ ถ้าท่านต้องการจะบวชแบบอื่น ท่านก็ต้องไปบวชใหม่ จะไปบวชในคณะสงฆ์จีนหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ท่านจะบวชตัวเองไม่ได้ ถ้าบวชตัวเองห่มผ้าจีวร ก็กลายเป็นคฤหัสถ์ที่มาแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ก็ผิดกฎหมายอาญาไป กลายเป็นคนละปัญหา ออกจากประเด็นนี้ไปกลายเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณากันเป็นประเด็นๆ ทีนี้ ในการพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้ ข้อที่น่าเสียดายก็คือ คนที่เกี่ยวข้องอย่างสื่อมวลชน ยังเอาประเด็นต่างๆ มาปนกันสับสนจนยุ่งไปหมด เรื่องความดีของสันติอโศกที่มีอยู่เราก็ยอมรับในส่วนนั้น เราก็ยกย่องชมเชยด้วย แต่ในส่วนอะไรที่ยังผิดอยู่ก็ควรต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของส่วนรวมที่กว้าง สันติอโศกไม่ได้อยู่ลำพังสำนักเดียว หลักการที่เป็นของส่วนรวม ซึ่งเป็นวงกว้างก็ต้องรักษาด้วย จะเอาตัวเองไปเป็นเกณฑ์ ทำเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้อย่างเดียว สังคมและสงฆ์ส่วนรวมจะเป็นอย่างไรก็ช่าง อย่างนี้ก็ไม่ถูก แม้แต่การเป็นตัวอย่างฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคม ถ้าคนอื่นพากันฝ่าฝืน โดยที่หลายคนที่ฝ่าฝืนอาจจะไม่ได้อยู่ในแนวทางของความประพฤติที่เป็นหลักอันดีงาม เป็นเพียงเอาตัวอย่างในการที่จะฝ่าฝืน ก็เกิดโทษแก่สังคม แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลักการของพระศาสนาซึ่งอาตมาห่วงยิ่งกว่านั้น ประเด็นที่อาตมาเขียนไว้ในกรณีสันติอโศกนั้น ได้แยกไว้แล้วสามด้าน ด้านที่ ๑ เรื่องกฎหมาย ด้านที่ ๒ เรื่องการเมือง และด้านที่ ๓ เรื่องธรรมวินัย
เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ธรรมวินัย เพราะเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา การที่พระอรหันต์ทั้งหลายต้องทำสังคายนาเพราะอะไร ก็เพราะมีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจธรรมวินัย ถ้าพระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนไป สอนผิดสอนพลาดก็คือพระศาสนาไม่อยู่ พระพุทธศาสนาก็หมด จะมีความหมายอะไร การประพฤติดีปฏิบัติชอบในระดับศีล ก็เป็นหลักในระดับหนึ่ง แต่พุทธศาสนาไม่ใช่แค่นี้ ศีลนั้นในศาสนาไหนก็มี ที่เราเรียกว่าพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่อะไร ก็อยู่ที่หลักคำสอน ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่รองรับศีลและต่อขึ้นไปจากศีล สันติอโศกมีปัญหาในเรื่องนี้เป็นข้อสำคัญ แม้แต่ปัญหากฎหมายก็โยงมาที่เรื่องธรรมวินัยนี้ เวลาอ่าน ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง อาตมามองดูท่านโพธิรักษ์เห็นท่านตีความกฎหมายแล้ว อาตมาก็หันมาเป็นห่วงพระธรรมวินัย ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่กฎหมายมากนัก กฎหมายก็สำคัญในแง่เป็นหลักของสังคม ซึ่งเราจะต้องยึดถือและปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่กฎหมายที่ไม่ดี ไม่เป็นธรรม ก็มีเหมือนกัน ซึ่งอาตมาก็เขียนไว้ใน “กรณีสันติอโศก” นั้นว่า เป็นความจริงที่ว่า กฎหมายบางทีก็ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมเท่าที่ควร ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข ถ้าท่านโพธิรักษ์เห็นว่ากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ไม่ดี ก็ควรจะบอกมาตรงๆ ว่ากฎหมายนี้ไม่ดี ไม่ให้ความเป็นธรรม หรือ ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างประโยชน์สุขของส่วนรวม อย่างไรก็ว่าไป ไม่ใช่เลี่ยงไปว่า ฉันไม่ขึ้นต่อกฎหมายนี้ ฉันลาออกจากกฎหมายนี้แล้ว ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุเป็นผล เมื่อเห็นท่านโพธิรักษ์เป็นอย่างนี้ อาตมาก็มาเป็นห่วงว่า ถ้าท่านตีความกฎหมายแบบนี้ แล้วท่านใช้วิธีนี้ในการตีความพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยจะวิปริตผิดเพี้ยนไปอย่างไร อาตมาห่วงจุดนี้มาก เพราะฉะนั้นก็จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาพูดทำความเข้าใจกัน
การตีความกฎหมายนั้น นอกจากการดูตัวบท ถ้อยคำ ตามตัวอักษรแล้ว ก็ต้องมีหลักในการพิจารณา ซึ่งถ้าพูดกันให้เข้าใจง่าย ก็พอแยกได้เป็น ๓ อย่างคือ
๑. ตีความตามหลักของความเป็นเหตุเป็นผลทั่วไป ซึ่งตามปกติ ย่อมใช้ได้กับเรื่องราว กิจกรรม วิชาการทุกอย่าง รวมทั้งกฎหมายด้วย ถ้ากฎหมายไม่ตั้งอยู่บนหลักการนี้ ก็จะเป็นกฎหมายที่ดีไม่ได้ เพราะความเป็นเหตุเป็นผลนั้น เป็นเรื่องของหลักความจริงทั่วไป ธรรมของพระพุทธเจ้าที่เรานับถือ ก็เพราะมีความเป็นเหตุเป็นผลเป็นหลักพื้นฐาน
๒. ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การบัญญัติกฎหมายขึ้น แต่ละเรื่องแต่ละฉบับ ก็ย่อมมีความมุ่งหมายจำเพาะของเรื่องนั้นๆ ในการดูตัวบท ถ้อยคำ และพิจารณาเหตุผลทั่วไปนั้น ก็ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย และเจตนารมณ์ของกฎหมายจะช่วยให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อการพิจารณาตามถ้อยคำและเหตุผลทั่วไปนั้นยังไม่แจ่มแจ้ง
๓. ตีความแบบหาช่องเลี่ยงหลบ เช่นที่ทนายความหลายคนมักจะทำให้กับลูกความของตน โดยหาช่องโหว่ของกฎหมายตีความให้คนฝ่ายตนเลี่ยงหลบพ้นบทบัญญัติ หรืออำนาจบังคับของกฎหมายนั้นไป เพื่อไม่ต้องถูกลงโทษเป็นต้น หรือหาแง่ของกฎหมายนั้นมาตีความในทางที่จะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายของตน
การตีความแบบที่ ๑ และ ๒ นั้น นอกจากสอดคล้องกับความเป็นจริงทั่วไปแล้ว ก็สอดคล้องกับเหตุผลในการที่จะให้เกิดให้มีกฎหมายนั้นด้วย จึงเป็นที่ยอมรับในความสุจริต แต่การตีความแบบที่ ๓ เป็นการชักให้เขวและหลีกหลบออกไปจากตัวหลัก ผู้ที่ทำได้อาจได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นคนฉลาด เป็นคนเก่ง แต่ในคำกล่าวขวัญเช่นนั้น ก็บ่งบอกไปด้วยถึงความไม่ตรงไปตรงมา ความเห็นแก่ผลประโยชน์ของบุคคล ไม่ใช่เห็นแก่ส่วนรวมหรือเห็นแก่ธรรม ยิ่งกว่านั้น ยังชวนให้เกิดความน่าระแวงสงสัยในเจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต่างๆ ทั้งที่ทำแล้ว กำลังทำอยู่ และจะทำต่อๆ ไปด้วย
เมื่อได้มีการชี้ชวนให้มายอมรับความจริงกันตรงๆ แล้ว ก็ปรากฏต่อมาว่ามีการพยายามตีความเลี่ยงหลบมากขึ้นไปอีก การทำเช่นนี้ สมมติว่าจะช่วยให้คณะสันติอโศกหลบพ้นอำนาจบังคับของตัวบทกฎหมายไปได้สำเร็จ (แต่เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ตีความกฎหมายและมีมติออกมาแล้ว ซึ่งมีใจความว่า พระโพธิรักษ์อยู่ใต้บังคับของกฎหมายคณะสงฆ์ ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม การลาออกของท่านไม่ได้มีผลอย่างใด) แต่ในความรู้สึกของอาตมาแล้ว เห็นว่าเป็นการสูญเสียในทางธรรมอย่างสำคัญ วิธีที่ดีที่สุดคือ ความตรงไปตรงมาอย่างที่กล่าวมาแล้ว มายอมรับกันตามจริงตามตรงดีกว่า แล้วก็ชี้แจงมาว่าฉันเห็นว่า กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้ไม่ดี การปกครองระบบนี้ไม่ดีอย่างไรๆ น่าจะแก้ไขอย่างไร ถ้ากฎหมายและการปกครองนั้นไม่ดีจริง เมื่อแก้ไขแล้ว ก็จะได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่พระสงฆ์ทั้งหมด แก่สังคมทั้งประเทศ เพราะกฎหมายนั้นมีผลดีผลร้ายแก่พระสงฆ์ทั่วทั้งหมด ไม่ใช่สำหรับสันติอโศกจะมาหลีกหลบอยู่คณะเดียว
ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันขอกราบนมัสการย้อนกลับไปว่า ท่านเจ้าคุณคิดว่า ผลที่ท่านคาดว่าจะได้จากการเขียนกรณีสันติอโศกนี้มีประเด็นต่างๆ ที่โยงไปถึงว่า ท่านอยากให้ทางสำนักสันติอโศกได้มีโอกาสพิจารณา ได้ข้อคิด ได้สำรวจเรื่องการปฏิบัติและการเผยแพร่พระธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องนั้น ในข้อนี้ดิฉันอยากจะกราบนมัสการถาม ไม่ทราบว่าจะเป็นการสมควรหรือไม่ว่า เมื่อหนังสือออกไปแล้ว มีผลอย่างไรบ้าง ในแง่ของท่านโพธิรักษ์โดยตรงว่า ในฐานะที่ท่านเป็นที่นับถือของสำนักสันติอโศก ท่านโพธิรักษ์เห็นประโยชน์ในข้อเขียนของท่านเจ้าคุณหรือไม่ ท่านได้เห็นไหมเจ้าคะว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีของท่าน กลับเป็นการเสริมปัญหาของคณะสงฆ์ไทยให้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด คือดิฉันไม่ทราบว่าสมควรจะถามหรือไม่ แต่ว่าท่านเจ้าคุณอาจจะเมตตาตอบในขอบเขตที่ท่านเจ้าคุณเห็นว่าสมควรจะตอบกับวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์
พระเทพเวที : ในแง่สมควร ก็สมควรแน่ แต่ในการตอบนั้น อาตมายังหาข้อมูลไม่พอที่จะพูดว่า ทางสันติอโศกได้ประโยชน์แค่ไหน อย่างไรก็ตามได้มีผู้นำจดหมายจากท่านโพธิรักษ์ฝากมาถึงอาตมา เป็นจดหมายฉบับที่ท่านไปพูดถึงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ว่าตอบอาตมา ที่จริงท่านใช้คำไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าอาตมาเคยเขียนจดหมายถึงท่าน แต่ความหมายของท่านก็คือท่านคงเข้าใจว่าท่านตอบหนังสือกรณีสันติอโศก ความจริงหนังสือเล่มนั้นไม่ใช่เขียนไปถึงท่านโพธิรักษ์ แต่เป็นหนังสือที่ชี้แจงแก่คนทั่วไป เป็นกลางๆ ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่านบอกว่าท่านเขียนตอบขอบคุณ แต่ความจริงถ้าจะเรียกให้ถูกก็เป็นเพียงแค่ว่าท่านเขียนขอบคุณ ไม่ใช่ตอบขอบคุณ ในจดหมายของท่านนั้น ท่านก็ขอบคุณอาตมา ที่ได้เขียนเรื่องนี้ขึ้น และพูดว่าท่านได้ประโยชน์จากหนังสือนี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้บอกชัดว่าได้ประโยชน์อะไร ไปๆ มาๆ ท่านก็ไปพูดถึงว่ามีคนว่า ท่านดื้อด้าน แล้วท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้ดื้อด้าน แต่ท่านยืนหยัด หลังจากนั้นท่านก็พูดย้ำข้อความทำนองนี้ว่า ท่านไม่ได้ดื้อด้าน แต่ท่านยืนหยัด ไปอีกหลายย่อหน้า ฉะนั้น ในแง่ผลที่เกิดแก่พระโพธิรักษ์ ถ้าดูตามคำพูดของท่าน ท่านก็ไม่ได้ยอมรับอะไรเลย
ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ หลังจากหนังสือกรณีสันติอโศกออกไปแล้ว ระยะหนึ่ง ทางสันติอโศกก็ได้จัดให้มีรายการตอบข้อซักถาม ในสมุดปกขาว กรณีสันติอโศก (วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๑) ขึ้น โดยจัดเป็นคำถามขึ้นมา ๑๙ ข้อ และพระโพธิรักษ์เป็นผู้ตอบทั้งหมด ข้อสังเกตก็คือ คำถาม ๑๙ ข้อนั้น ทางสำนักพูดเป็นทำนองว่าเป็นคำถามที่อยู่ในหนังสือกรณีสันติอโศก หรือสรุปมาจากหนังสือนั้น แต่เมื่อฟังดูแล้ว ก็ปรากฏว่าคำถามจำนวนมากไม่ได้เป็นเนื้อความในหนังสือกรณีสันติอโศก ไม่ใช่เป็นข้อพิจารณาหรือความเห็นของอาตมาที่เขียนไว้ในหนังสือนั้น คือเนื้อความในหนังสือเป็นอย่างหนึ่ง แต่ผู้สรุปนำมาตั้งเป็นคำถามอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับในหนังสือ จึงมีทางทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้มาก ถ้ามุ่งให้เข้าใจว่าเป็นคำถามที่มีอยู่ในหนังสือ ก็นับว่าผิดเต็มที่ ถ้าเป็นการสรุปมาตั้งเป็นคำถาม ก็อาจจะทำโดยเข้าใจผิด เลยพลอยให้สรุปผิด ดังนั้น คำตอบของท่านโพธิรักษ์ส่วนมากจึงไม่เป็นการตอบต่อเนื้อความในหนังสือกรณีสันติอโศก แต่เป็นเพียงการนำเอาสิ่งหรือเรื่องที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือนั้นขึ้นมาจับแง่ตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ เป็นคำถามของตนเอง ซึ่งทำให้มองได้ว่า เป็นการตั้งคำถามตามที่ตนต้องการจะตอบ เช่น คำถามหนึ่งตั้งขึ้นมาว่า “เมื่อได้รับการพิจารณาความผิด ทำไม (สันติอโศก) ไม่ยอมรับผิดเสียจะได้หมดปัญหา” เมื่อดูในหนังสือกรณีสันติอโศกก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีเนื้อความอย่างนี้ เพราะเป็นการไม่มีเหตุผลที่จะไปตั้งคำถามเช่นนั้น แต่ในหนังสือจะมีเนื้อความที่ถ้าจะตั้งเป็นคำถาม ก็ต้องพูดว่า เมื่อสันติอโศกถูกพิจารณาความผิด ทำไมไม่พูดกันในเรื่องที่กำลังพิจารณา แต่กลับไปยกเอาเรื่องความผิดของพระพวกอื่นขึ้นมาเกี่ยง อีกคำถามหนึ่งว่า “ชาวอโศกเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติดี ทำไมจึงมีความเห็นผิด” เมื่อดูในหนังสือเนื้อความไม่เป็นอย่างนั้น คือไม่ได้ยอมรับว่าสันติอโศกปฏิบัติดีจริงในความหมายที่พระโพธิรักษ์นำไปใช้พูดตอบ แต่พูดว่า ชาวสันติอโศกตามที่ปรากฏและเท่าที่อาตมารู้จัก มีคุณสมบัติดี เป็นข้อดีบางอย่างหรือหลายอย่าง เช่น กิริยามารยาทเรียบร้อย เคร่งวินัย แต่ถ้าถือผิดหรือหลงผิดไป ก็น่าเสียดาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร คนที่เรียบร้อยประพฤติดี ในบางระดับ แต่ทำไปโดยปราศจากความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง ก็มีได้มากมาย อีกสองคำถาม คล้ายๆ กันว่า “ทำไมพระอโศกไม่โกนคิ้ว” และ “ทำไมพระอโศกไม่ใช้จีวรสีเหลืองหรือแดงกึ่งเหลือง ทำไมใช้จีวรสีกรัก” และยังพูดด้วยว่า ทำไมมาติดใจนักหนากับเรื่อง (เล็กๆ น้อยๆ) เหล่านี้ เนื้อความในหนังสือไม่ได้ตั้งเป็นข้อสงสัย หรือคำถามให้ชี้แจงเลย แต่ในหนังสือได้พูดชี้แจงเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่สันติอโศกเองมักยกขึ้นมาอ้าง สำหรับติเตียนผู้อื่นบ้าง สำหรับเป็นเหตุผลในการอยู่ต่างหากของตนเองบ้าง คำพูดที่ว่า ทำไมติดใจนักหนากับเรื่องโกนคิ้ว และห่มจีวรสีกรักนี้ ไม่ใช่เป็นคำที่พระโพธิรักษ์ควรจะพูดออกมา แต่ควรเป็นคำที่คนอื่นจะกล่าวแก่พระโพธิรักษ์ อีกคำถามหนึ่งว่า “ธรรมกับวินัยต่างกันอย่างไร อโศกถือธรรมหรือวินัย” ในหนังสือไม่ได้มีคำถามอย่างนี้ แต่เป็นข้อพิจารณาที่โยงกับเรื่องอื่นๆ คือ คำว่า อุปสัมบัน ซึ่งเป็นศัพท์ในพระวินัย หมายถึงภิกษุและภิกษุณี แต่พระโพธิรักษ์แปลความหมายเอาเองใหม่ว่าเป็นผู้ได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น การกระทำของพระโพธิรักษ์เช่นนี้จะเป็นการส่อแสดงว่าท่านไม่รู้จักว่าอะไรเป็นธรรมอะไรเป็นวินัย แต่ท่านไม่ได้ตอบให้ตรงจุดของข้อพิจารณานี้ อีกข้อหนึ่งว่า “การแปลภาษาบาลี ทำไมพระโพธิรักษ์ แปลต่างจากหลักการทางวิชาการ” ข้อพิจารณาในหนังสือก็ไม่ได้พูดอย่างนี้ คือ ไม่ได้พูดว่าแปลตามหลักการทางวิชาการหรือไม่วิชาการ แต่สาระของข้อพิจารณานี้คือ หลักฐานต่างๆ ทำให้เห็นว่า พระโพธิรักษ์แปลคำบาลี ที่เป็นคำศัพท์ทางธรรมอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากพลอยหลงเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย แม้แต่คำถามว่า “ทำไมพระต้องเจาะจงอาหารมังสวิรัติ ซึ่งทำให้ญาติโยมต้องลำบากในการจัดอาหารถวาย” ก็เป็นการตั้งคำถามที่ไม่ตรงกับเนื้อความในหนังสือ และคำตอบของพระโพธิรักษ์ก็จับความในหนังสือไม่ถูกต้อง เช่น ขัดกับข้อความในหนังสือว่า “พระจะสนับสนุนชาวบ้านให้ถือมังสวิรัติก็ย่อมได้” อย่างเรื่องศีล หลักของศีลก็อยู่ที่เจตนาในใจ เป็นความรู้เบื้องต้นที่เข้าใจกันอยู่ แต่เจตนานั้นแสดงออกทางกายและวาจา พร้อมทั้งอาชีวะ เช่น เว้นจากการฆ่า จากการลักทรัพย์ จากการพูดเท็จ เป็นต้น โดยทั่วไป จึงพูดถึงศีลกันในแง่ความประพฤติทางกาย วาจา ท่านโพธิรักษ์จับเอาที่จุดนี้ แล้วก็พูดว่าพระอื่นเข้าใจเรื่องศีลแค่กายวาจา ไม่ถูกต้อง ศีลต้องอยู่ที่จิตใจ นี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าพูดให้ละเอียดชัดเจน ก็จะกลายเป็นหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง แม้แต่ชื่อรายการที่ได้ตั้งขึ้นมาว่า “ตอบข้อซักถาม ในสมุดปกขาว” ก็ไม่ตรงตามเรื่องที่เป็นจริง หนังสือกรณีสันติอโศกไม่ได้เขียนขึ้นมาเป็นข้อซักถาม แต่เป็นการเสนอแนวทางการพิจารณาปัญหาและสร้างความเข้าใจ นอกจากนั้น ลักษณะการพูดของพระโพธิรักษ์ที่ว่าเป็นการตอบนั้น ก็มีลักษณะที่เบนมาให้เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเหมือนจะทำให้เป็นคู่กรณี แทนที่จะพูดแก้ปัญหาหรือชี้แจงไปตามเนื้อหาหรือโดยธรรม อย่างไรก็ดี ชาวสันติอโศกเอง ถ้าได้อ่านหนังสือกรณีสันติอโศกและเข้าใจเนื้อความดี ก็จะเห็นได้ชัดว่าคำตอบของท่านโพธิรักษ์ ไม่ตรงกับเนื้อความในหนังสืออย่างไร และอาจจะรู้ตัวตระหนักได้ว่า ถ้ายอมรับว่า วิธีพูดอย่างที่ตั้งคำถามและตอบคำถามในกรณีนี้ เป็นวิธีพูดแบบสำนักของตน ก็ไม่ใช่เป็นวิธีพูดที่ควรใช้ในการสื่อความจริง
ทีนี้ ในฝ่ายสำนักสันติอโศกเอง นอกจากที่เขียนจดหมายมาโดยสุภาพฉบับหนึ่งและเป็นบัตรสนเท่ห์อีกฉบับหนึ่งแล้ว อาตมาก็ไม่ทราบว่า ลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปจะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง แต่มีลูกศิษย์ของสำนักสันติอโศกมาหา กลุ่มแรกมาโดยไม่แสดงตัวว่าเป็นชาวสันติอโศก คือคนหนึ่งในกลุ่มนั้น ติดต่อขอมาพบโดยบอกว่าชอบอ่านหนังสือของอาตมา เขาพากันมาหลายคน คุยอยู่ตั้งนาน สนทนาเรื่องอื่นๆ แล้วก็วกมาถามเรื่อง สันติอโศก แล้วหลังจากนั้นก็มาอีกหนหนึ่ง โดยนำจดหมายของท่านโพธิรักษ์มาด้วย เขาบอกว่าหลังจากมาพบอาตมาแล้ว เขาก็ได้ไปหาท่านโพธิรักษ์ ได้ไปคุยกับท่านแล้ว ท่านก็ฝากจดหมายมา อาตมาก็ไม่ทราบว่าเป็นชาวสันติอโศก จนกระทั่งหลังจากนั้นอีกราว ๑๐ วัน มาเห็นชื่อในข่าวหนังสือพิมพ์ ปรากฏว่า เป็นผู้มีตำแหน่งในสันติอโศกในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ และเป็นตัวแทนฝ่ายสันติอโศก ในการเจรจากับฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาก็มีมาอีกคนหนึ่ง เป็นระดับผู้ใหญ่เหมือนกัน แต่ท่านนี้รู้จักกันอยู่แล้ว แกก็มาถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับกรณีสันติอโศก และเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่หนังสือกรณีสันติอโศกออกไป คราวนี้ท่านโพธิรักษ์ก็ใช้หนังสือพุทธธรรม แต่จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ดูเหมือนจะยังคลุมเครืออยู่ รวมความว่า ถ้าจะมองว่าเป็นผลก็มีผลบ้างเหมือนกันในแง่ที่ว่า ฝ่ายสันติอโศกได้ขวนขวายพิจารณาหาทาง
ทีนี้มาว่ากันในแง่ที่ปรากฏทางด้านสังคมทั่วไปนี้ ก็มองเห็นว่ายังสับสนกันอยู่ ยังพูดไม่ตรงประเด็น และไม่เข้ามาในสนามของการพิจารณาปัญหา มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าระหว่างที่กำลังสับสนชุลมุนวุ่นวายกัน อาตมาได้เปิดสนามหรือเวที ขอเชิญให้มาพูดกันในประเด็นเหล่านี้ แล้วก็มาพิจารณาเรื่องเหล่านี้กันด้วยเหตุด้วยผล หาข้อเท็จจริง แล้วเอาเหตุผลมาว่ากันดูว่าเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่เห็นจะมีใครเข้ามา คงมีแต่การพูดเหน็บแนมบ้าง ประชดประชันบ้าง แสดงอารมณ์และความไม่พอใจกันต่างๆ ซึ่งอาตมาว่าไม่เข้าเรื่อง นี้แสดงว่าในแง่นี้ยังไม่ได้ผล แต่อาตมาก็ได้มองไปอีกแง่หนึ่งว่า ในเมื่อมีเรื่องราวอย่างนี้ขึ้นมา ก็มีประโยชน์ในการพิจารณาศึกษาสังคมอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อศึกษาความเป็นไปในสังคมในเวลาที่มีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น เราก็ได้เห็นว่า ประชาชนและคนที่เกี่ยวข้องมีวิธีแสวงหา ศึกษา และพิจารณาข่าวสารข้อมูลกันอย่างไร มีท่าทีและวิธีปฏิบัติอย่างไร มีความเข้าใจเรื่องดีไหม ตรงประเด็นไหม ซึ่งถ้าทำไม่ได้ดี ไม่เข้าใจปัญหา ไม่เข้าใจประเด็น ก็นับว่าเป็นปัญหาของสังคมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคของข่าวสารข้อมูล นี้ก็คือการที่บททดสอบตัวจริงได้เกิดขึ้นแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : คนที่ท่านเจ้าคุณกล่าวว่าเป็นศิษย์ของสำนักสันติอโศก แต่มาอย่างไม่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นชาวสันติอโศกในตอนแรก ตอนหลังนำจดหมายของท่านโพธิรักษ์มา การที่เขาไม่อยากจะเปิดเผยว่าเป็นชาวสันติอโศก เป็นเพราะว่าเขาอยากจะมาศึกษาในลักษณะที่เป็นกลางๆ หรือในลักษณะว่าเขาอยากจะมาสังเกต ตรวจสอบท่านเจ้าคุณ จะเป็นในแง่ไหนมากกว่าเจ้าคะ
พระเทพเวที : เรื่องนี้อาตมาก็ไม่รู้ใจเขา อาตมาก็มองในแง่ดีไว้ก่อน ฉะนั้น เมื่ออาตมาเห็นชื่อของท่านผู้นั้นในหนังสือพิมพ์ว่าเป็นใครแล้ว อาตมาก็เพียงแต่แปลกใจ แม้จะนึกสงสัยในเจตนาบ้าง แต่ก็คิดในทางเห็นใจไว้ก่อน อาตมาจึงเฉยๆ ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรเลย เราอาจจะต้องดูเขาไป และก็มองเขาในแง่ดีว่า เขาอาจจะต้องการความรู้แบบกลางๆ คือ เมื่ออาตมาไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ก็จะได้พูดไปอย่างเต็มที่ ตามที่อาตมามีความรู้สึกนึกคิด เหมือนกับที่พูดกับคนอื่นๆ เขาคงคิดว่า ถ้าอาตมารู้ว่าเขาเป็นใครเสียก่อน ท่าทีของอาตมาอาจจะเปลี่ยนไป บางทีเขาอาจจะคิดมากไปถึงกับว่า ในเวลาที่อาตมาพูดกับคนอื่นๆ อาจจะพูดถึงท่านโพธิรักษ์และสันติอโศกในทางร้ายๆ มากๆ เมื่อเขามาโดยไม่ให้อาตมารู้ตัวอย่างนี้ เขาจะได้รู้ว่าอาตมาพูดว่าเขาขนาดไหน การที่เขาเอาวีดีโอมาถ่ายภาพไปด้วย ก็คงเป็นเพราะเขามีความรู้สึกตั้งใจจริงจังในเรื่องนี้มาก ซึ่งในแง่นี้ชาวสันติอโศกก็ควรสบายใจว่า ถึงจะมาอย่างเปิดเผยตัวก็จะได้พูดจากันเต็มที่ เพราะการที่ว่ากล่าวกันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเป็นปฏิปักษ์กัน แต่เป็นการพยายามให้เกิดความจริงความถูกต้องดีงาม คนในสันติอโศกที่อาตมารู้จัก เคยหวังดีต่อเขาอย่างไร ก็คงหวังดีอย่างนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ผู้สัมภาษณ์ : ถ่ายวีดีโอในระหว่างที่ท่านสนทนาธรรมหรือว่าถ่ายวีดีโอในลักษณะไหนเจ้าคะ
พระเทพเวที : เขาได้เตรียมกล้องถ่ายและคนถ่ายมาพร้อมไว้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจู่ๆ คนถ่ายจะเข้ามาถ่าย หรือจู่โจมถ่ายเอาไป เขาก็ขออนุญาตก่อนด้วย แต่ถ้าจะให้ชัดว่าเขาขออนุญาตว่าอย่างไร อ้างเหตุผลในการขอถ่ายว่าอย่างไร ก็จะต้องเล่าเรื่องมาตามลำดับให้ละเอียดขึ้นสักหน่อยแล้วก็จะเสียเวลา และกินเนื้อที่คำสัมภาษณ์มากขึ้นอีก แต่ที่สำคัญก็คือจะทำให้เกิดความรู้สึกในทางที่ไม่ดี ทำไปทำมาเรื่องก็จะเอียงมาทางเป็นการเพ่งจ้องกันในทางส่วนตัวไปเสีย หรือร้ายกว่านั้น ก็จะมองเห็นกันเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งจะเป็นการไม่ดีและผิดวัตถุประสงค์อย่างมาก เพราะการที่อาตมาเขียนหนังสือนี้ หรือมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็มุ่งจะสร้างความเข้าใจและความชัดเจน ที่จะให้เกิดความถูกต้องชอบธรรม โดยทางของความจริงและตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งของพระศาสนา และของสังคมทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้น ก็ขอให้วางใจ วางท่าทีในเรื่องนี้กันไว้ให้ถูกต้อง
สิ่งที่เขาถ่ายนั้น ก็คือ ขณะที่กลุ่มสนทนากับอาตมาอยู่ในศาลา คนถ่ายก็ถ่ายบริเวณนอกศาลา แต่จะถ่ายที่ไหนบ้าง ก็ไม่ทราบ เพราะสนทนากันอยู่ไม่ได้มองดู หลังจากถ่ายข้างนอกแล้ว เขาก็มาถ่ายอาตมา ขณะที่สนทนาอยู่ ดูเหมือนว่าเขาจะถ่ายเฉพาะอาตมากับพระที่นั่งอยู่ด้วย ไม่ได้ถ่ายภาพคณะของเขาเองที่มาสนทนา มีญาติโยมบางท่าน เมื่อทราบว่าเขาถ่ายวีดีโอเอาไปด้วย ก็เป็นห่วงและเตือนว่าควรจะระวัง เพราะเวลานี้เทคนิคด้านนี้เจริญก้าวหน้ามาก เขาอาจจะเอาไปตัดต่อทำอย่างไรก็ได้ จะเกิดความเสียหายได้ อาตมาก็ขอให้มองในแง่ดีไว้ก่อน และก็เงียบๆ เฉยๆ เรื่อยมา อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ก็เห็นว่าถ้าได้สำเนาวีดิโอนั้นมาเก็บไว้ ก็จะเป็นการดีอย่างหนึ่ง ก็จึงได้เขียนจดหมายไปขอถ่ายสำเนาวีดีโอ แต่จดหมายถูกไปรษณีย์ตีกลับมา ไม่มีที่ผู้รับ หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้พยายามอะไรอีก ถึงแม้เวลานี้อาตมาจะมีความรู้สึกแคลงใจในเจตนาของเขามากขึ้นจากเรื่องที่ปรากฏต่อๆ มา เช่น หนังสือต่างๆ ที่ออกมา แต่ก็ยังมีความรู้สึกในทางดีแง่อื่นๆ อยู่อีก และยังหวังว่าคนที่มีความตั้งใจจริงจังอย่างนี้ ถ้าหันมาพูดกันตรงๆ ปรับความเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องพอดี แล้วมาร่วมมือกันทำงาน ก็จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและสังคมได้มาก เพราะคนที่ตั้งใจทำอะไรจริงจังนั้น ถ้าไม่ใช่ทำด้วยคลั่งไคล้หลงไป ก็เป็นคนที่สังคมของเรากำลังขาดแคลนและต้องการมาก
ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันขอกราบนมัสการโยงกลับไปที่ประเด็นที่น่าสนใจ ตามที่ท่านเจ้าคุณระบุว่าผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ควรจะแก้ไขปัญหา จึงขอกราบนมัสการถามว่า ฝ่ายที่มีความรับผิดชอบโดยตรง ที่จะแก้ปัญหานี้ได้ผลไหมเจ้าคะ จากการเขียนกรณีสันติอโศกของท่านเจ้าคุณ กระตุ้นให้เกิดการตอบรับในการรีบแก้ไขปัญหาได้หรือไม่เจ้าคะ
พระเทพเวที : ก็ไม่เห็นอะไรเกิดขึ้น อะไรๆ ก็เดินไปอย่างเก่า เราก็ยังพูดปรารภกันอยู่เรื่อยจนบัดนี้ว่า ทำไมมหาเถรสมาคมจึงนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร ปล่อยให้เรื่องราวเป็นอย่างนี้ ประชาชนก็ไม่รู้จะฟังใคร ไม่รู้ว่าปัญหานี้ที่จริงเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้น ปรับใจไม่ถูก
ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อพิจารณาโดยโยงกับเรื่องเมื่อกี้ที่ท่านเจ้าคุณกรุณาเล่าให้ฟัง ก็ทำให้มองเห็นว่า ตอนนี้กลับเป็นว่า เมื่อหนังสือกรณีสันติอโศกออกไป และข้อเขียนของท่านเจ้าคุณเขียนโดยลักษณะที่มีการอ้างอิงเป็นเหตุเป็นผล และเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ก็เลยกลายเป็นว่าฝ่ายสันติอโศกมีเป้ามุ่งมาที่ท่านเจ้าคุณ และมหาเถรสมาคม แทนที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางด้านคณะสงฆ์ และรีบแก้ไขเรื่องสำนักสันติอโศก กลับมุ่งประเด็นในการแก้ไข โดยเอางานเขียนกรณีสันติอโศกของท่านเจ้าคุณเป็นประเด็นในการตอบโต้กับสำนักนั้น ระยะหลังเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการผิดไปจากประเด็นที่ท่านเจ้าคุณต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง เมื่อผิดประเด็นอย่างนี้แล้ว และสื่อมวลชนเองก็ไม่ได้จับประเด็นให้ถูก มันก็ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับว่า สถาบันสงฆ์ตอนนี้เกิดการแตกแยกกันขึ้น ท่านเจ้าคุณคิดว่าหลังจากนี้แล้ว ท่านเจ้าคุณจะสละเวลาเพื่อที่จะดำเนินเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เพื่อให้เกิดความถูกต้องเจ้าค่ะ ซึ่งจะเป็นผลต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาด้วย
พระเทพเวที : อาตมาไม่เห็นว่ามีอะไรแปลกไปเลย ที่ว่าคณะสงฆ์จะแตกแยกหรืออะไรนั้น ไม่เห็นอะไรเกิดขึ้น มหาเถรสมาคมก็อยู่อย่างนั้น เป็นอย่างเดิม เหมือนอย่างที่เราว่า คือไปเรื่อยๆ จะทำอะไรก็ไม่ทำ ไม่มีอะไรแปลก ทีนี้ ในแง่ของอาตมาว่าจะทำอะไร สำหรับอาตมาเรื่องก็มีเพียงว่า เมื่อมีจดหมายมา ถ้ามีเวลาอาตมาก็จะตอบ แต่ช่วงนี้ยังไม่มีเวลา งานเต็มแน่นและมีงานเร่งเฉพาะหน้าอยู่ อาตมาไม่มีหน้าที่โดยตรง เราไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ หน้าที่ที่ทำได้ก็คือ สร้างความเข้าใจแก่คน หนังสือกรณีสันติอโศกนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจจะรวมตลอดไปถึงแม้แต่ท่านโพธิรักษ์ด้วย และชักชวนให้หันมาพูดจากันให้ตรงประเด็น ตรงปัญหา แล้วก็พูดกันโดยวิธีของเหตุผลและข้อเท็จจริง เราทำได้แค่นี้ ถึงแม้จะถือว่าอาตมามีหน้าที่ในแง่ที่เป็นพระสงฆ์ ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อพระศาสนา แต่เราไม่มีหน้าที่ในฝ่ายปฏิบัติการ จะไปดำเนินอะไรก็ยาก
ผู้สัมภาษณ์ : แต่มีข้อสังเกตว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาจับประเด็นกัน อย่างที่สื่อมวลชนเสนอนั้น มักจะไม่เป็นไปตามที่ท่านเจ้าคุณตั้งประเด็นเอาไว้ คือเป็นอย่างที่ท่านว่า ได้แต่กล่าวเหน็บแนมบ้าง พูดไม่ตรงจุดบ้าง กลับไปเอาเรื่องอื่นมาเป็นจุดสนใจในการโต้ตอบโจมตีกันบ้าง อะไรอย่างนี้ อยากกราบนมัสการถามว่า ในระยะที่สื่อมวลชนมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องกรณีสันติอโศกนี้มาก ไม่ฉบับนี้ลงก็ฉบับโน้นลง เห็นได้ในระยะสามเดือนนี้แทบจะทุกวันนะคะ ขอกราบนมัสการถามว่า สื่อมวลชนที่พยายามติดต่อเพื่อที่จะสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณมีบ้างไหมเจ้าคะ
พระเทพเวที : มีบ้างแต่น้อยและอาตมาก็ไม่ให้สัมภาษณ์เลย เพราะอาตมาถือว่าหนังสือออกไปแล้ว ก็ขอให้อ่านไปตามนั้น หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ก็เคยติดต่อขอสัมภาษณ์ ต่อมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็เคยส่งคนมาสัมภาษณ์ แต่อาตมาก็บอกว่ามีหนังสืออยู่แล้ว และอาตมาก็ให้หนังสือกรณีสันติอโศกไป สำหรับ Bangkok Post ไม่ทราบว่าได้ลงหรือเปล่า อาตมาไม่ได้ติดตาม แต่คุณที่มาจากไทยรัฐแกก็บอกว่าจะไปอ่านแล้วสรุปลง แต่แล้วก็เห็นเงียบไป ไม่เห็นสรุป เดลิมิเรอร์ก็เคยติดต่อมาผ่านทางคนรู้จักจะขอสัมภาษณ์ อาตมาก็ไม่ให้ เพราะเดี๋ยวจะเข้าไปเกี่ยวข้องในวงการเมือง เขาก็เปลี่ยนเป็นว่าให้ช่วยเขียนเรื่องลง อาตมาก็ขอตัวว่าไม่มีเวลาจริงๆ อาตมาถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราไปดีแล้ว และก็ท้ายสุด สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ก็มาสัมภาษณ์เรื่องอื่น ว่าจะทำสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ฉบับพิเศษ ครบรอบตั้งมาได้ ๓๕ ปี ขอสัมภาษณ์อาตมาในเรื่องเกี่ยวกับ ทางออกของสังคมไทย ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถามจากหลายท่าน ในแง่นี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสันติอโศก เป็นเรื่องในทางวิชาการ แต่ในเวลามาสัมภาษณ์จริงก็ถามเรื่องนี้ด้วย อาตมาก็ให้คำตอบไปเพราะถือเป็นเรื่องแทรก
ผู้สัมภาษณ์ : หลายประเด็นไหมเจ้าคะที่เขามาถามเกี่ยวโยงไปถึงความคิดเห็นเรื่องสันติอโศก
พระเทพเวที : ก็ตอบไปมาก ยาวเหมือนกัน มีอยู่ในเทป และพิมพ์ออกมาแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : อีกเรื่องหนึ่งเจ้าค่ะ ขอกราบนมัสการถามว่า คงไม่ใช่จะมีแต่สำนักสันติอโศกเท่านั้นที่มีแนวปฏิบัติ และแนวคำสอนต่างๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัยหรือแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ยังมีสำนักอื่นๆ อีกมากมายดังที่เราเห็นกันอยู่ และบางสำนัก สื่อมวลชนก็เริ่มเข้าไปคล้ายๆ ว่าจะหาข่าวมาตีแผ่ ทีนี้การสร้างสำนักสงฆ์ในลักษณะนี้ ผู้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาหลายท่านก็วิจารณ์ว่า อีกหน่อยสังคมไทยจะไม่มีแกนรวมของพระพุทธศาสนา จะมีก็แต่ลัทธิต่างๆ ท่านเจ้าคุณมีความเห็นอย่างไรบ้างเจ้าคะ
พระเทพเวที : นี่ก็เรื่องยาว ซึ่งอาตมาก็ได้พูดไปกับสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ด้วย ความจริงอาตมาพูดมานานแล้วว่า การพระศาสนาในช่วงนี้เสื่อมโทรมและอ่อนแอมาก ปัญหาเรื่องสำนักต่างๆ จึงเกิดขึ้นมาได้ เราต้องการการปรับปรุงแก้ไข แต่การปรับปรุงแก้ไขจะทำได้อย่างไร ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองจะต้องคิดดำเนินการ ในกรณีนี้ ถ้าเราไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ผู้ปกครองเอง ก็ยากที่จะทำอะไรได้ ก็ได้แต่พูดพยายามให้เขาเห็นความสำคัญและตื่นขึ้นมาทำ ส่วนที่เราจะทำได้ก็เป็นเรื่องกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในขอบเขตเท่าที่เราพร้อม ซึ่งเราก็พยายามทำของเราไป การที่พระทั่วไปในระดับล่างลงมานี้ ได้เกิดความตื่นตัว เกิดความสำนึกกันขึ้นมาเอง แล้วมาช่วยกันปรับปรุงก็ยังดี
เรื่องที่อาตมาว่าสำคัญและเป็นห่วงมาก คือพระพุทธศาสนาในชนบท ซึ่งขณะนี้เสื่อมโทรมและอ่อนแอมาก พระที่บวชเข้ามาส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา เมื่อไม่ได้รับการศึกษา ก็ไม่มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างพระ ในการที่จะบำรุงรักษาวัดทำกิจพระศาสนา หรือแม้แต่จะประคับประคองตัวเองให้อยู่ในความประพฤติที่ดีงามถูกต้อง บวชเข้ามาแล้วก็ได้แต่ทำพิธีกรรม บางทีแม้แต่พิธีกรรมก็ไม่รู้ ต้องอาศัยมรรคนายกและชาวบ้านมาสอนให้อีกที กลายเป็นเพียงปฏิบัติพิธีกรรมไปตามที่ชาวบ้านเขาสอนให้ และทำหน้าที่นั่งเป็นประธานให้เขา ทีนี้เมื่อมีกลุ่ม มีสำนักอะไรเกิดขึ้น ถึงแม้เขาจะสอนผิดๆ เพี้ยนๆ ไป ประการที่หนึ่ง ตัวพระเหล่านี้เองก็ไม่มีกำลัง ไม่มีความรู้ที่จะไปตอบไปชี้แจงอะไรได้ ประการที่สอง ซ้ำร้ายกว่านั้น ตัวเองก็กลายเป็นจุดอ่อน ที่สำนักเหล่านั้นมาหยิบยกเอาไปเป็นเป้าโจมตี เพื่อทำให้ตัวเขาเด่นขึ้นมา
น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ชนบทของเราตอนนี้ กำลังทรุด การศึกษาไม่ได้รับการเอาใจใส่ และคนที่บวชตอนนี้โดยมากก็เป็นคนสูงอายุเข้ามาบวช บางคนที่ไม่มีทางไปแล้ว ก็บวชเข้ามา เพื่อหาเลี้ยงชีพเป็นอยู่ ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นพวกที่อายุมาก ต้องการพักผ่อน งานการอาชีพควรจะหยุด ก็เข้ามาบวช เพื่อพักผ่อน สองพวกนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเล่าเรียนศึกษา และก็ไม่มีที่จะให้เล่าเรียนด้วย ก็สักแต่ว่ามาอยู่กับวัด เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้มีวัดหลวงตาเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศไทย ซึ่งพระที่อยู่อายุมาก แต่เมื่อไปถามแล้ว ก็เพิ่งบวชได้แค่พรรษาสองพรรษา ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะปฏิบัติกิจการศาสนาอะไรเลย เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดปัญหามากกว่าจะมีผลดี แต่ก็ขอบคุณท่านอยู่หน่อยที่รักษาวัดไว้ให้ ในขณะที่เราขาดแคลนพระที่มีคุณภาพ สำหรับผู้ที่บวชมาเพื่อพักผ่อนก็ยังดีกว่าพวกที่บวชเข้ามาเพราะไม่มีทางไปในการเลี้ยงชีพ พวกหลังนี้จะทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อมาบวชแล้ว แกก็ต้องการหาเลี้ยงชีพ ประชาชนก็ไม่มีความรู้ แกก็อาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเหยื่อ ในการที่จะประกอบสิ่งที่เรียกว่าเดียรัจฉานวิชา และไสยศาสตร์ เมื่อชาวบ้านมาเชื่อถืองมงาย พระพวกนี้ก็ได้ลาภได้ผลส่วนตัวไป แต่ทำให้พระพุทธศาสนา ส่วนรวมเสื่อมเสีย และไม่เสื่อมเสียเพียงแค่นั้น กลุ่มอื่นก็เข้ามายกเอาเป็นจุดอ่อนโจมตี เวลานี้ ยิ่งหนักไปกว่านั้นอีก มีคนปลอมตัวเป็นพระเป็นชี ลงมาจากต่างจังหวัด เข้ามาเรี่ยไรและหาเงินด้วยวิธีการต่างๆ ในกรุงเทพฯ มากมาย เฉพาะจากจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ใกล้ชิดเรื่องให้ตัวเลขว่า มีคนปลอมเป็นพระและเป็นชีเพื่อมาหาเงินในกรุงเทพฯ ถึงประมาณ ๑,๖๐๐ คน ทีนี้ อาตมาก็มองว่า ทำไมคณะสงฆ์ผู้บริหารจึงไม่แก้ไขปรับปรุงอะไรต่างๆ ซึ่งอาตมาและพระข้างเคียงจะพูดกันในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา และเราก็มองว่า แม้แต่กฎหมายคณะสงฆ์ที่มีอยู่ คือ พระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันนี้ ก็เป็นตัวเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารคณะสงฆ์ไม่ได้ผล รวมความก็คือต้องแยกประเด็น การที่อาตมาชี้แจงความเป็นจริงในแง่ของตัวบทกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะถามว่าอาตมาเป็นพวกของกฎหมายนั้นหรือเปล่า เห็นด้วยกับกฎหมายนั้นหรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น คนโดยมากเข้าใจไม่ถูก แยกไม่เป็น ซึ่งจะเห็นได้ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ พยายามเขียนให้เห็นว่าอาตมาเป็นพระของมหาเถรสมาคมก็มี ก็อย่างที่ได้พูดแล้วข้างต้นว่า ความจริงเป็นคนละเรื่อง คนไทยทุกคนย่อมขึ้นต่อกฎหมายไทย และขึ้นต่อการปกครองของรัฐบาลไทย แต่เราพูดไม่ได้ว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล ในแง่ความคิดเห็นเขาอาจจะไม่ชอบนโยบายของรัฐบาลนั้นก็ได้ แต่ในแง่ข้อเท็จจริงเขาจำเป็นต้องขึ้นต่อรัฐบาลในแง่ของการปกครองตามกฎหมาย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเขาจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยนั้นก็ไม่ได้ใช่ไหมเจ้าคะ
พระเทพเวที : ไม่ได้ นั่นเป็นการชี้แจงความจริง สมมติว่าคนไทยคนหนึ่งไม่ชอบรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน แล้วเขาไปเจอคนไทยอีกคนหนึ่ง ซึ่งพูดว่าผมไม่ขึ้นกับกฎหมายไทย ผมลาออกแล้ว คนไทยคนแรกนั้นทั้งๆ ที่ไม่ชอบรัฐบาลไทยเลย แต่ก็ต้องชี้แจงว่าคนไทยคนหลังนี้พูดไม่ถูก จะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ นี้เป็นการชี้แจงตามข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล เหตุการณ์ที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ก็ตาม คนทั่วไปก็ตาม จำนวนมากทีเดียว ไม่สามารถแยกความเข้าใจอันนี้ได้เลย เมื่อสองสามวันนี้ก็มีโยมท่านหนึ่งมีปัญหากับหน่วยราชการ และบ่นว่า “แหม! ฉันอยากจะลาออกจากความเป็นราษฎรไทยเหลือเกิน” ท่านอายุตั้งเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว ถ้ามองในแง่ของการวิเคราะห์สังคมก็แสดงว่า เดี๋ยวนี้มีคนไทยไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมือง แต่ไม่ได้แสดงว่าท่านจะลาออกได้จริง เว้นแต่จะออกจากประเทศไทยไปโอนสัญชาติที่อื่น
ผู้สัมภาษณ์ : เหตุปัจจัยบางอย่างเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าเราเกิด ก็ต้องระบุสัญชาติโดยอัตโนมัติ เป็นคนไทยก็ขึ้นต่อกฎหมายไทย เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เราก็ต้องอยู่ภายใต้กฏของข้าราชการพลเรือนเป็นต้น ฉะนั้นเมื่อบวชเป็นพระไทยก็ต้องขึ้นกับกฎหมายคณะสงฆ์ไทย ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่ง ที่ท่านเจ้าคุณอยากให้เกิดการเข้าใจอย่างกระจ่างใช่ไหมเจ้าคะ
พระเทพเวที : อย่างเช่นเป็นทหาร ถ้ายังเป็นทหารอยู่ จะบอกว่าฉันลาออกจากกฎหมายสำหรับทหารแล้ว ก็ไม่มีผลอะไร ถ้ายังเป็นพระไทย ก็ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จะลาออกจากกฎหมายไม่ได้ ต้องลาออกจากความเป็นพระ การเป็นพระเกิดขึ้นเพราะการบวช เมื่อจะพ้นจากความเป็นพระก็ต้องสึก เมื่อเกิดเป็นพระขึ้นมาแล้วก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ปกครองพระ อาตมาก็พยายามชี้แจงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่เรื่องที่เราจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมายนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่นี้ก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงเข้าใจกันยาก
ผู้สัมภาษณ์ : อาจจะเป็นได้ไหมเจ้าคะว่า เวลาจับประเด็นต่างๆ อาจมองประเด็นกันไม่แจ่มแจ้ง และในการติดตามข่าวจากสื่อมวลชน บางครั้งการตีความบางอย่างก็เอียงไป ดิฉันมีความเห็นว่าสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก เช่นการเสนอข่าวทางโทรทัศน์ บางครั้งมีการพูดพาดพิงให้เห็นเหมือนกับว่าเกิดการแตกแยกในคณะสงฆ์ไทย แต่ไม่ช่วยชี้วิธีการให้พิจารณาว่าการแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้ เมื่อมีส่วนที่เข้าใจไม่ตรงกัน มาพูดจาโต้แย้งกัน น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา อันนั้นไม่ใช่เรื่องของความแตกแยก แต่กลับจับประเด็นว่า เมื่อมีการโต้แย้งกัน ก็มีความแตกแยกกันขึ้น
อีกข้อหนึ่ง จะขอกราบนมัสการถามท่านเจ้าคุณต่อไปเลยว่า ท่านได้ชี้ให้เห็นปัญหาว่า ตอนนี้พระพุทธศาสนาอ่อนแอมาก อย่างเช่นที่ยกตัวอย่างว่า คนที่เข้ามาบวช ขาดคุณสมบัติต่างๆ เช่น ทางด้านการศึกษา ทำให้ผู้สืบต่อพระศาสนาไม่มีคุณภาพ เพราะว่าการคัดสรรคนที่เข้ามาเป็นพระ ได้ถูกปล่อยปละละเลย เช่น เป็นการบวชตามประเพณีบ้าง บวชเพื่อพิธีกรรมบ้าง อยากให้ท่านเจ้าคุณกรุณาให้คำตอบกับปัญหาที่ว่า เมื่อมาถึงจุดที่อ่อนแออย่างนี้แล้ว สถาบันสงฆ์จะมีวิธีการใด ที่จะฟื้นฟูสถาบันสงฆ์ให้เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะศรัทธาที่ผนวกด้วยปัญญา เพราะดิฉันมองเห็นว่า สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่ก่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติ
พระเทพเวที : เรื่องนี้อาตมาได้เน้นแล้วว่า เป็นห่วงชนบทมาก ห่วงพระที่ไม่มีการศึกษา จุดที่อาตมาสนใจมากคือ ทำอย่างไรจึงจะให้การศึกษาแก่พระได้อย่างเพียงพอ อย่างน้อยให้มีความรู้พื้นฐานระดับหนึ่ง ที่พอไว้วางใจได้ว่าท่านจะรักษาตัวได้ พอที่จะชี้แจงกับชาวบ้านได้ พระในชนบทมีความหมายยิ่งกว่าเป็นพระในศาสนา คนในชนบทนั้นเขานับถือพระ พระได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของชนบทหรือท้องถิ่น และเป็นผู้นำในอันดับแรกด้วย ชาวบ้านจะมองพระเป็นอันดับหนึ่งก่อนแล้วจึงมองผู้นำคนอื่น เพราะฉะนั้น เรื่องของพระจึงไม่ใช่จะเป็นแต่เรื่องของศาสนา จะต้องมองในแง่ของสังคม เมื่อพระเป็นผู้นำของชุมชน เราก็จำเป็นต้องทำให้พระเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ ชนบทจึงจะอยู่ได้ดีขึ้น ชนบทจึงจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ขณะนี้ ในเมื่อผู้นำไม่มีคุณภาพ ชนบทก็ยิ่งทรุดโทรม การแก้ปัญหาด้านศาสนาโดยเฉพาะการศึกษาของพระสงฆ์ในชนบท ไม่ได้มีความหมายเฉพาะว่าเป็นการปรับปรุงแก้ไขการพระศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของสังคมไทยด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันติดตามงานเขียนของท่านเจ้าคุณที่ชี้ประเด็นเรื่องการบวชและการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ว่ามีปัญหาต่างๆ มากมายนั้น คิดว่าข้อประเด็นต่างๆ เหล่านั้นท่านเจ้าคุณก็ได้กล่าวมานานมากแล้ว แต่ช่องทางและการร่วมมือในส่วนของรัฐ ในการจัดการศึกษาของพระสงฆ์ ที่จะให้มีการเพิ่มพูนขึ้นนั้น รู้สึกว่าเป็นไปได้ช้าเหลือเกิน ท่านเจ้าคุณอยากจะฝากข้อคิดอะไรไว้บ้างเจ้าคะ
พระเทพเวที : ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือช้ามากเหลือเกิน และไม่ค่อยได้ผลอะไร แต่เวลานี้ก็ได้ผลขึ้นบ้างเหมือนกัน กล่าวคือ ทางฝ่ายบ้านเมือง ตอนนี้ก็ได้ให้ความสนใจมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เห็นว่าจะมีผลจริงจังแค่ไหน แต่ในด้านความสนใจเชิงวิชาการทางฝ่ายพระสงฆ์เอง พระสงฆ์รุ่นใหม่ๆ ก็มีความตระหนักเข้าใจปัญหามากขึ้น อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์รุ่นใหม่ก็มีปัญหาของท่านเอง ซึ่งทำให้ติดขัดในการจะมาร่วมทำงานกันได้ จึงยังหวังได้ยาก ถ้าจะให้ได้ผลจริง ต้องออกมาจากฝ่ายบริหารซึ่งมีหน้าที่โดยตรง แต่ก็ยังมีอีกทางหนึ่ง คือ โอกาสในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของคณะสงฆ์ เวลานี้ก็กำลังจะมีแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งอาตมาก็ได้ร่างให้และได้รับการเห็นชอบแล้ว คิดว่าอีกสักวันสองวัน ก็อาจจะเซ็นประกาศ เป็นประกาศที่เรียกว่า นโยบายและแผนการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงการประกาศเป็นทางการออกมาเท่านั้น ในทางปฏิบัติก็อยู่ที่ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญ และเอาจริงเอาจังด้วย จึงจะเกิดผล แต่ถ้าเป็นเพียงการยอมรับตามที่กรรมการแจ้งมา เพราะเป็นอำนาจตามกฎหมายแล้ว ก็เซ็นผ่านๆ ไป เสร็จแล้วก็ไม่มีแรงในการผลักดันให้เกิดผลทางปฏิบัติขึ้น ก็จะหวังอะไรไม่ได้มากมาย
ผู้สัมภาษณ์ : อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณเคยแสดงธรรมเทศนาว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าศาสนาจะดำรงอยู่ได้นั้น พุทธบริษัทสี่ต้องช่วยกันทะนุบำรุง แต่ไปๆ มาๆ พอศาสนาเสื่อม ฝ่ายต่างๆ ก็มักมาโทษพระเป็นจุดแรก ดิฉันอยากจะทราบว่า ท่าทีที่ถูกต้องต่อการทะนุบำรุงพระศาสนาให้เป็นสถาบันที่ก่อความศรัทธา พุทธบริษัทอีกสามส่วนควรจะร่วมมือกันอย่างไรบ้างเจ้าค่ะ และประเด็นที่ท่านเจ้าคุณ กล่าวไว้ในกรณีสันติอโศกว่า อยากให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง ขอกราบนมัสการให้ท่านเจ้าคุณให้แนวคิดเจ้าค่ะ
พระเทพเวที : อันนี้ก็แน่นอนละที่ว่า พระศาสนาจะอยู่ได้ก็ด้วยพุทธบริษัททั้งสี่ ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในบางสมัยพระสงฆ์อ่อนแอ ฝ่ายคฤหัสถ์ก็เข้ามาช่วยเป็นฐานกำลังให้ เหมือนกับว่าเป็นกำแพงล้อมรอบ มาช่วยรักษาประคับประคองไว้ ตลอดจนมาช่วยกระตุ้นเนื้อในให้ปรับปรุงตัวขึ้น ทีนี้ฝ่ายคฤหัสถ์ที่เป็นผู้นำเป็นตัวแทนของอุบาสกอุบาสิกา ถ้ามองในระดับที่หนึ่งก็คือผู้บริหารประเทศ จะต้องเข้าใจหลักการและสภาพทั่วไปของพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมให้ชัดเจน ว่าจะแก้ไขอะไรที่จุดไหน
แต่ถ้าฝ่ายคณะสงฆ์ก็อ่อนแอ ฝ่ายตัวแทนของอุบาสกอุบาสิกา คือผู้บริหารประเทศก็อ่อนแอ ก็เหลือแต่พระสงฆ์ทั่วไป และอุบาสกอุบาสิกาอื่นๆ ที่มีกำลังคนละเล็กละน้อยกระจัดกระจายอยู่ ก็ต้องมาร่วมกันคิดแก้ไข ซึ่งตอนนี้เราก็จะเห็นว่า พระศาสนาฝ่ายพระสงฆ์ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคม เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้ มีองค์กรหรือกลุ่มบุคคลหรือแม้แต่เอกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ได้มาช่วยทำหน้าที่ในการเผยแผ่อะไรต่างๆ ที่ได้รับความนิยมเชื่อถือก็มีมิใช่น้อยเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา แต่ก็เป็นการช่วยไว้เพียงบางส่วน คือเป็นกิจกรรมของบุคคลหรือเอกชนที่เข้ามาช่วยพยุงไว้เป็นจุดๆ หย่อมๆ ในงานเผยแผ่พระศาสนา ที่เป็นเรื่องของตัวธรรมะโดยตรง ซึ่งไม่มีหลักประกันการทำงานในระยะยาว แต่การดำรงสถาบันหรือองค์กรในระยะยาวจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยมองกัน อุบาสกอุบาสิกาจึงควรหันมาสนใจในเรื่องนี้ อย่างน้อยต้องสร้างความเข้าใจขึ้นมาก่อน เพราะขณะนี้เราประสบปัญหาแม้แต่ในขั้นความเข้าใจ นั่นคือ ความรู้ความเข้าใจว่า ปัญหาของคณะสงฆ์อยู่ที่ไหน และตัวปัจจัยสำคัญที่จะให้ศาสนาดำรงอยู่ได้คืออะไร ถ้าเราจับประเด็นถูกต้องและร่วมมือกันแก้ไข เช่นว่า การศึกษาในคณะสงฆ์เราจะช่วยสนับสนุนได้อย่างไร อาจจะต้องมีพระที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทางศาสนาหันมาทำงานในด้านนี้ และประชาชนก็เข้ามาช่วย
ปัจจุบันนี้ ยังมีความคลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทัศนคติในการทำบุญของประชาชน เรามุ่งแต่การทำบุญถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์มีฉัน เรามองข้ามไปว่า พระที่ฉันแล้วควรจะทำอะไร และเราควรจะช่วยสนับสนุนได้อย่างไร เราลืมการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาแก่พระ ถ้าเรามองย้อนกลับไป แม้เพียงในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เห็นชัดเลยว่าในรัชกาลที่หนึ่ง มีการทำบุญด้วยการให้การศึกษาแก่พระสงฆ์มาก โดยที่ในหลวงทรงทำเป็นตัวอย่าง คือ ในพระราชวังมีการจัดชั้นเรียนให้พระ พระมาเรียนในวัง แล้วจัดราชบัณฑิตมาถวายความรู้ และปรากฏว่า ตามวังของเจ้านายทั้งหลายก็เอาอย่าง มีการจัดว่าจ้างครูอาจารย์มาสอน และเลยไปถึงพวกขุนนางข้าราชการก็พลอยทำตามกัน นอกจากนั้น ก็เป็นประเพณีว่า เมื่อมีการจัดสอบของพระ ในหลวงจะทรงเป็นประธาน ดังตัวอย่างในรัชกาลที่ห้า เวลาสอบ ในหลวงจะเสด็จมา ทำกันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นประกาศของในหลวงเองว่าให้ดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งได้อ่านพบว่า การจัดการศึกษาของพระสงฆ์นี้ให้ถือเป็นพระราชกิจ
ในปัจจุบัน ทางบ้านเมืองไม่เข้าใจประเพณีนี้เลย ท่านที่เป็นผู้บริหารประเทศไม่เข้าใจ เห็นว่า การศึกษาของพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็จัดไป ก็เลยไม่ได้เหลียวแล และทางด้านพระสงฆ์เอง ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจในการจัดการศึกษาให้กับคนของตัวเอง ไม่รู้ว่าพระเณรที่มาบวช มาเป็นนักเรียนในความรับผิดชอบของตน เป็นใครมาจากไหน เมื่อเข้ามาอยู่ในวัดจะให้การศึกษาอย่างไร เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจก็จัดไม่ตรงกับความต้องการของบุคคล และไม่รู้ว่าสังคมต้องการอะไร เมื่อไม่รู้ความต้องการของสังคม ไม่รู้ความต้องการของพระศาสนา ก็เลยสนองความต้องการของสังคมไม่ได้ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ผู้บริหารการพระศาสนามองไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา บางท่านดูเหมือนจะถึงกับรังเกียจการศึกษาด้วยซ้ำ เพราะอย่างนี้ จึงเป็นปัญหาไปหมด ยุคนี้ก็เลยติดตันอยู่แค่ขั้นต้นที่สุดว่า ทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจขึ้นมาได้ก่อน แล้วมาช่วยกัน ร่วมมือในตัวหลักตัวที่เป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา
ผู้สัมภาษณ์ : ขอโยงเรื่องนี้เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐสักนิดหนึ่ง จากที่ท่านเจ้าคุณ พูดถึงการศึกษาของพระสงฆ์ แล้วพูดถึงอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งก็รวมถึงผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ และนักวิชาการด้วย ตอนนี้รู้สึกว่า นักการศึกษาที่อยู่ในวงการศึกษาส่วนใหญ่ได้ร่ำเรียนจากประเทศตะวันตก การที่จะมีความรู้ความสนใจทางพระพุทธศาสนาก็มีน้อย แต่จะมีความสนใจในวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นวิทยาการจากต่างประเทศอย่างยิ่ง ในระบบการศึกษานี้ อยากให้ท่านเจ้าคุณฝากข้อคิดไว้สักนิดเจ้าค่ะ ในแง่ที่ว่า จะนำหลักพุทธธรรมมาปรับอย่างไร เพื่อให้คนมีความรู้ถึงแก่นพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เกิดปัญญาสามารถนำไปเผยแพร่และดำรงชีวิตให้เกิดความสงบและสันติสุข
พระเทพเวที : คำถามนี้เป็นเรื่องที่กว้างมาก ในที่นี้จะยังไม่ตอบโดยตรง แต่จะพูดถึงเพียงเหตุผลหรือความจำเป็นที่นักวิชาการไทยจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งก็มีข้อคิดอยู่บางอย่าง ในแง่ของพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมและจิตใจของประชาชน ซึ่งเป็นเนื้อตัวของเราเองที่มีอยู่ ในการที่จะพัฒนาอะไรขึ้นไป ก็ย่อมมีเนื้อตัวของตนเองซึ่งเป็นทุนเดิมเป็นรากฐานอยู่ก่อน และเนื้อตัวของเรานี้ก็ย่อมมีบทบาทเป็นปัจจัยส่งผลต่อการพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม การรู้จักตัวเองจึงมีความสำคัญ ทีนี้มามองดูที่วัฒนธรรมไทยของเรา ก็จะเห็นว่ามีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนามาก ถ้าเราจะเข้าใจตัวเอง เราจำเป็นต้องเรียนรู้พุทธศาสนาด้วย นอกจากเพื่อเข้าใจตนเอง และเพื่อรู้ว่าจะเอาเนื้อตัวที่มีอยู่เป็นทุนเดิมนั้นมาใช้อย่างไรแล้ว ก็เพื่อว่าเวลาไปรับของเขามา จะได้เอามาปรับให้เป็นของเราอย่างเข้ากันกลมกลืนสนิทได้ ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นเรื่องของความจำเป็นทีเดียว ไม่ใช่เป็นเพียงคำถามหรือทางเลือกว่า เราจะเรียนรู้เข้าใจพุทธศาสนา และเราจะใช้ดีหรือไม่ใช้ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเราจะนำมาใช้ให้ได้ผลดี เราจะต้องเข้าใจและใช้ให้ถูก จึงเป็นความจำเป็นที่ว่าเราต้องทำความเข้าใจ เพื่อปรับเนื้อตัวที่เป็นทุนเดิมมาจากวัฒนธรรมที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐานนั้น ให้เข้ากับความต้องการ หรือแม้แต่ให้เข้ากับหลักวิชาของตะวันตกได้
ถึงแม้ว่าเราจะชอบวิชาการตะวันตกก็ไม่มีปัญหาอะไร ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าจะปรับอย่างไรให้วิชาการของตะวันตกนั้นเข้ากับตัวเราได้ หรือแม้แต่ถ้าว่าเราไม่ชอบเนื้อตัวของเราเองที่มีอยู่ เราก็ต้องหาทางชำระล้างเนื้อตัวของเราเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการรับของใหม่นั้นออกไปเสีย แม้แต่มองในแง่ลบ ถ้าจะต้องชำระเอาเนื้อตัวที่ติดมาแต่เดิมออกไป เราก็ต้องศึกษาอีกว่า อะไรที่เราจะต้องเอาออก และจะเอาออกได้อย่างไร จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้เราได้ก้าวมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว ถึงจุดที่มองเห็นกันว่า วิชาการตะวันตกก็เกิดปัญหาขึ้นมา พอเกิดปัญหาอย่างนี้เราก็แสวงหาทางออก ก็เลยมาคิดทบทวนหาสิ่งที่เป็นคุณค่าของเราเองที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นการได้ทางออกเข้าพอดีในขณะที่เรากำลังพยายามเข้าใจตนเอง เพื่อทำการปรับตนเองให้ได้ดีนั้น เราศึกษาไปๆ ก็อาจจะได้ข้อสรุปที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาทางการศึกษาที่ตะวันตกติดตันอยู่ได้ด้วย ถ้าได้อย่างนี้ก็จะเป็นผลดียิ่งขึ้น
ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันในนามของฝ่ายบรรณาธิการวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งเป็นตัวแทนมาสัมภาษณ์ ขอกราบนมัสการขอบพระคุณในความเมตตาของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ ที่เมตตาสละเวลาตอบข้อสัมภาษณ์ต่างๆ อันเป็นธรรมทานก่อให้เกิดความกระจ่างในแง่วิชาการอย่างดียิ่งเจ้าค่ะ ขอน้อมนมัสการด้วยจิตสำนึกในเมตตาธรรมที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีต่อคณะศึกษาศาสตร์ตลอดมาด้วยเจ้าค่ะ
เนื้อหาส่วนนี้นำมาจาก ภาคผนวก ในหนังสือ ทางออกของสังคมไทย
th/book-reading/67/7
วารสารฉบับหนึ่งได้ไปขอสัมภาษณ์พระเทพเวที เกี่ยวกับเรื่องทางวิชาการอย่างหนึ่ง ตอนท้ายได้ถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสันติอโศก และบอกว่าอยากจะนำไปลงพิมพ์ด้วย แต่ต่อมาผู้สัมภาษณ์แจ้งว่าไม่กล้านำลงตีพิมพ์ เพราะเกรงว่าผู้ใหญ่ในวงงานของตนจะไม่พอใจ ในที่นี้เห็นว่าน่าจะนำมารวมพิมพ์ไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน จึงปรับปรุงคำให้สัมภาษณ์ให้กะทัดรัดได้ความยิ่งขึ้น และนำมาลงพิมพ์ไว้ ดังต่อไปนี้
ผู้สัมภาษณ์: ตอนนี้ทราบว่าทางสันติอโศกได้ขอกลับมาอยู่ภายใต้มหาเถรสมาคม ไม่ทราบว่าอาจารย์มองปัญหานี้อย่างไรบ้าง จะมีปัญหาไหม? ยังมีพวกต่อต้านอยู่อะไรอยู่ ความจริงไม่น่าจะต่อต้านนะในเมื่อเขาจะขอกลับเข้ามา นี้เป็นความเห็นของกระผมนะครับ
พระเทพเวที: คำถามนี้ ตรงกับที่หลายคนพูด กล่าวคือตอนนี้มีการพูดกันว่า พระโพธิรักษ์ ซึ่งได้ลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ได้ตกลงยอมที่จะกลับเข้ามหาเถรสมาคม แต่มหาเถรสมาคมกลับไม่ยอม หมายความว่า พระโพธิรักษ์นี้ยอมหมดแล้ว จะเอาอย่างไรก็ได้ แต่เสร็จแล้วทางคณะสงฆ์กลับไม่ยอม หลายคนพูด หรือพยายามพูดให้เกิดความเข้าใจทำนองนี้ แต่อาตมาไม่ได้เห็นปัญหาในแง่นั้น คือ เมื่อพูดให้ถูกต้องแล้ว ไม่มีคำว่าออกไปและเข้ามา ต้องมองภาพให้ถูกก่อน อย่าไปติดอยู่ในถ้อยคำ คนเรานี้ไปติดหรือถูกหลอกด้วยถ้อยคำได้ง่าย ที่พูดว่าออกจากมหาเถรสมาคม รับเข้ามหาเถรสมาคมนั้น เป็นการใช้คำพูดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วคนก็หลงไปตามถ้อยคำ ถ้าเราวิเคราะห์คำพูดและใช้ถ้อยคำให้ถูกตรง แล้วคนก็จะหายสงสัย แล้วก็จะมองอะไรชัดขึ้น
ที่พูดว่า ออกจากมหาเถรสมาคม รับเข้ามหาเถรสมาคม นั้น ถ้าถามนิดเดียวก็จะตัน มหาเถรสมาคมมีสิทธิอะไรให้ใครออกไป และมีสิทธิอะไรที่จะรับใครเข้ามา ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจเลย มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่รัฐตราขึ้น รัฐตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น โดยกำหนดให้มีมหาเถรสมาคม และบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจ และทำหน้าที่ไปตามกฎหมายเท่านั้น มหาเถรสมาคมไม่มีสิทธิ และไม่มีหน้าที่จะไปรับใครเข้าหรือเอาใครออกจากกฎหมาย จริงหรือไม่จริง เขากำหนดและตั้งขึ้นมาให้มีหน้าที่บริหารกิจการพระศาสนา คณะสงฆ์ที่เขามีอยู่แล้วนั้น ตัวจะต้องปกครองให้ดี แต่ตัวไม่มีสิทธิรับใครเข้าในกฎหมาย หรืออนุญาตให้ใครออกจากกฎหมาย ไม่มีอำนาจ ไม่มีหน้าที่ที่จะทำอย่างนั้น อำนาจก็ไม่มี หน้าที่ก็ไม่มี เมื่อกฎหมายออกมา ปัญหาก็มีเพียงว่า ใครบ้างที่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย ปัญหามีแค่นั้น ใครอยู่ใต้กฎหมายคณะสงฆ์นี้ไหม ข้อที่จะต้องวินิจฉัยมีอยู่เท่านั้น ใครอยู่ในคณะสงฆ์ไทย อยู่ใต้กฎหมายนี้ มหาเถรสมาคมก็มีหน้าที่ปกครองคนเหล่านั้นให้อยู่ด้วยดีตามที่กฎหมายวางไว้ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก็จบแค่นั้น ถ้าไม่อยู่ใต้กฎหมาย มหาเถรสมาคมก็ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องไปขอเข้า ไม่ต้องไปลาออก
ทีนี้ ปัญหาของท่านโพธิรักษ์นี้ ท่านบอกว่าท่านลาออกจากมหาเถรสมาคม คำว่า “ลาออกจากมหาเถรสมาคม” นี้ ท่านมุ่งให้มีความหมายว่า ลาออกจากคณะสงฆ์ไทย พ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคม และพ้นจากอำนาจควบคุมของกฎหมายที่รัฐตราไว้สำหรับคณะสงฆ์ แล้วตอนนี้ท่านบอกว่าท่านยอมจะกลับเข้าในมหาเถรสมาคมอีก และทำเป็นทีคล้ายๆ รออยู่ว่า มหาเถรสมาคมจะยอมรับท่านกลับเข้าไปอีกหรือไม่ ทีนี้ ข้อที่จะต้องพิจารณาก็คือ มหาเถรสมาคมมีอะไรจะต้องเกี่ยวข้องหรือต้องทำ เกี่ยวกับการลาออกและการขอกลับเข้ามาของพระโพธิรักษ์ การลาออกและการขอกลับเข้ามาของพระโพธิรักษ์นั้นมีความหมายว่าอย่างไร
ถ้าดูตามนี้ ก็จะประมวลข้อพิจารณาได้ดังนี้
ประการที่ ๑ มหาเถรสมาคมนี้ เป็นองค์กรที่กฎหมายตั้งขึ้น มีขึ้นมาโดยกฎหมาย และมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีหน้าที่ปกครองผู้ที่อยู่ใต้อำนาจกฎหมาย ไม่มีสิทธิที่จะไปเอาใครเข้ามาอยู่ในกฎหมาย หรือเอาใครออกไปจากกฎหมายนี้ มหาเถรสมาคมนี้จึงไม่มีสิทธิรับใครเข้าหรือไล่ใครออก ทั้งโดยบทบัญญัติก็ไม่มี และโดยลักษณะหรือหลักการของกฎหมายก็ไม่มีทางเป็นไปได้
ประการที่ ๒ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องของพระโพธิรักษ์นี้ก็คือว่า แต่ก่อนนี้พระโพธิรักษ์บวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทย แล้วตอนนั้นตัวท่านเองก็ยอมรับว่าท่านอยู่ในคณะสงฆ์จริง อยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วต่อมาท่านบอกว่า ท่านลาออก เมื่อลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ท่านว่าท่านไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งอันนี้ท่านพูดทำนองว่าท่านได้รับอนุมัติจากทางมหาเถรสมาคม ก็ขัดกับความจริง มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปอนุมัติให้ใครออกไปได้ ไม่มีสิทธิเลย เป็นไปไม่ได้ ถึงจะประกาศอนุมัติออกมา ก็ไม่มีผล ถ้าท่านจะออกจากคณะสงฆ์ ท่านไปทำตามกระบวนวิธีออกด้วยตนเอง เช่น ลาสิกขาเป็นต้น ท่านก็ออกไปเอง ไม่ต้องมาพูดว่า ลาออก ซึ่งไม่มีใครจะอนุมัติให้ท่านได้ เหมือนคนไทยอยากจะออกจากความเป็นราษฎรไทย ก็ไปทำตามกระบวนวิธีโอนสัญชาติเสีย ก็ออกไปได้เอง แต่ถ้าไม่ทำตามนั้น จะมาประกาศลาออกจากคณะรัฐมนตรีอย่างไร ก็ไม่มีใครอนุมัติให้เขาได้
ถ้าพระโพธิรักษ์จะออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม ไม่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย และไม่อยู่ใต้กฎหมาย (ที่รัฐตราไว้สำหรับ) คณะสงฆ์ การออกหรือการไม่อยู่ของท่าน ย่อมจะไม่เกิดจากการลาออก แต่จะเกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้
๑. พระโพธิรักษ์ไม่อยู่ใต้อำนาจกฎหมายคณะสงฆ์มาแต่ต้น เพราะกฎหมายคณะสงฆ์ กล่าวคือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นโมฆะด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้จริง พระโพธิรักษ์ก็ไม่จำเป็นจะต้องประกาศลาออกไป หรือขอกลับเข้ามาอย่างใดทั้งสิ้น เพราะไม่ขึ้นต่อกฎหมายนั้น และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่พระโพธิรักษ์กล่าวว่า ท่านได้ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ก่อนนั้นท่านยอมรับว่าท่านอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ภายใต้กฎหมายคณะสงฆ์ ถ้ากฎหมายคณะสงฆ์เป็นโมฆะ การกระทำของพระโพธิรักษ์ในกรณีนี้ก็เป็นเรื่องเปล่าๆ ปลี้ๆ หรือทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ
๒. พระโพธิรักษ์พ้นจากความเป็นพระภิกษุ โดย
ก. ลาสิกขา คือ สึก ด้วยการบอกคืนสิกขาบท หรือบอกคืนอุปัชฌาย์ บอกคืนอาจารย์ (= บอกเลิกอุปัชฌาย์ บอกเลิกอาจารย์) เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นวิธีปฏิบัติตามพระวินัยในการลาออกจากเพศภิกษุ
สำหรับกรณีนี้ ยังเป็นเรื่องที่จะต้องสอบสวนและวินิจฉัยให้แน่นอนชัดเจน เพราะในประวัติของพระโพธิรักษ์มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการลาสิกขาและการบอกเลิกอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นข้อที่ถือได้ว่ายังค้างพิจารณา
ข. ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เพราะทำความผิดละเมิดพระวินัยขั้นร้ายแรง เช่น จงใจอวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริงในตน
ถ้าเป็นไปตามข้อ ๒ นี้ การที่พระโพธิรักษ์จะลาออก หรือจะขอกลับเข้ามาก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะท่านไม่มีสิทธิในฐานะอยู่แล้ว แต่ปัญหาจะเปลี่ยนไปเป็นว่า ท่านพ้นจากความเป็นภิกษุแล้ว แต่ยังไม่ยอมสละสมณเพศ หรือแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุ และก็จะมีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นไม่เป็นโมฆะ
พระโพธิรักษ์นั้นท่านบวชตามแบบของพระสงฆ์ไทย ก็เลยเข้าข่ายอยู่ในคณะสงฆ์ไทย (ซึ่งในระยะแรกท่านเองก็ยอมรับและถืออย่างนั้น) เมื่ออยู่ในคณะสงฆ์ไทย ก็อยู่ภายใต้อำนาจบังคับของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้ปกครอง ทีนี้ เรื่องมันก็มีมาว่า ถึงตอนหนึ่งนี้ ท่านโพธิรักษ์ท่านไม่เห็นด้วยกับการปกครองคณะสงฆ์นี้ ท่านก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่ปฏิบัติตามก็คือฝ่าฝืนหรือละเมิด เราจะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ท่านก็ทำของท่านมาอย่างนี้
ฉะนั้น สิ่งที่เราจะพูดได้ให้ตรงตามความหมายก็คือว่า พระโพธิรักษ์ได้ประกาศฝ่าฝืนละเมิดไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ นี้เป็นคำพูดที่ถูกตรงที่สุด คือตอนหนึ่งท่านยอมรับการบวชเข้ามาอยู่ใต้กฎหมายแล้ว อยู่ๆ ท่านก็ประกาศว่า ต่อไปนี้ ฉันจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ถ้าใช้คำพูดอย่างนี้ก็จะถูก แล้วต่อมาถึงตอนนี้ก็มีการเจรจากันเกิดขึ้น ทางกระทรวงศึกษาธิการไปเจรจากับท่าน การเจรจาที่ว่า ให้ยอมกลับเข้ามหาเถรสมาคมนี้ ถ้าพูดให้เป็นสำนวนภาษาที่ถูกต้อง ก็มีความหมายเท่ากับพูดว่า อย่าเลยนะ อย่าไปฝ่าฝืน อย่าไปละเมิดเลย เลิกฝ่าฝืน เลิกละเมิดเสีย ยอมกลับมาปฏิบัติตามเถอะ แล้วท่านก็บอกว่าฉันจะยอม คำว่ายอมของท่านที่ว่าจะกลับเข้ามหาเถรสมาคมนี้ ถ้าพูดให้ตรงตามสาระหรือตามหลักการของกฎหมายก็คือพูดว่า ต่อไปนี้จะเลิกฝ่าฝืน จะหันกลับมาปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ต่อไป สาระสำคัญของคำพูดก็มีเท่านี้ เมื่อท่านยอม ก็คือเลิกละเมิด เลิกฝ่าฝืน และยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้นต่อไป เรื่องก็จบ ถูกไหม จะมีไหมการรับเข้า และเอาออก ไม่มีอะไรเลย เป็นคำพูดลวงสมอง เป็นคำพูดลวงให้เข้าใจผิด ท่านโพธิรักษ์นี้ ที่บอกว่าจะกลับเข้ามาอยู่ในมหาเถรสมาคมนั้น ถ้าเปลี่ยนสำนวนใหม่ให้ตรงความจริง ก็เท่ากับพูดว่าจะเลิกฝ่าฝืนกฎหมาย ก็จะต้องถามว่าเลิกจริงไหม ถ้าท่านยอมเลิก ยอมปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ต่อไปไม่ฝ่าฝืนอีก เรื่องก็จบ เมื่อท่านพูดอย่างนี้แล้ว ท่านจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวท่าน ไม่เห็นเกี่ยวอะไรที่ใครจะต้องมารับรองให้ท่าน ที่ว่ามหาเถรสมาคมจะรับเข้าหรือไม่รับเข้านั้น ไม่อาจจะเป็นคำถามขึ้นมาได้ คำถามมีได้เพียงว่า ที่ท่านโพธิรักษ์พูดว่า จะเลิกฝ่าฝืน จะกลับยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ท่านจะปฏิบัติจริงหรือไม่ แล้วก็คอยดูกันต่อไปสิว่า ท่านโพธิรักษ์นี้จะปฏิบัติตามหรือไม่ ถ้าท่านไม่ปฏิบัติตาม ท่านก็พูดไม่จริง ท่านก็ไม่ปฏิบัติตามที่ท่านพูด คำที่ท่านพูดว่า จะกลับเข้ามหาเถรสมาคมก็หมายความตรงไปตรงมาว่า จะยอมปฏิบัติตามกฎหมายต่อไปเท่านั้นเอง จะปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ก็เป็นเรื่องของตนเอง จะบอกคนอื่นก็เพียงให้เขารับรู้หรือสัญญากับเขา ไม่ต้องไปรอให้ใครรับเข้าที่ไหนอีก จึงไม่ต้องมีใครไปรับเข้าหรือให้ออก เท่านี้เอง อาตมาก็แปลกใจว่า ทำไมไปงงกัน แม้แต่ผู้ใหญ่ที่บริหารบ้านเมืองก็พลอยเป็นไป จะต้องมารอให้มหาเถรสมาคมรับพระโพธิรักษ์เข้า นี่เรื่องอะไรกัน มันไม่มีเหตุมีผลอะไร ก็เพียงแต่ว่าพระโพธิรักษ์บอกว่าฉันจะปฏิบัติตามก็จบ ก็อยู่ที่ว่า จะปฏิบัติตามหรือไม่ จะทำจริงหรือไม่
ถ้าท่านยอมทำตามจริง ปัญหาก็จะมีต่อไปว่า ถ้าหากว่าสิ่งที่ท่านโพธิรักษ์ทำผ่านๆ มานี้ เป็นความผิด ก็เป็นปัญหาที่คณะสงฆ์ในฐานะผู้ปกครองตามกฎหมาย จะต้องดำเนินการ จะต้องพิจารณาสอบสวนเป็นต้น ถ้าไม่ทำก็ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แม้เท่าที่ผ่านมา ถ้าพระโพธิรักษ์มีความผิดแล้วคณะสงฆ์ไม่ปฏิบัติการไม่ดำเนินการ ก็ต้องถือว่ามหาเถรสมาคมบกพร่องต่อหน้าที่ ตอนนี้ ถ้าพระโพธิรักษ์ยอมปฏิบัติตาม ก็ต้องดำเนินการ ต้องสอบสวนให้เรื่องเสร็จสิ้นเรียบร้อยไป ถ้าตกลงจะดำเนินการ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็มีเพียงว่า ที่พระโพธิรักษ์บอกว่าจะเลิกฝ่าฝืนและปฏิบัติตามนั้น จะยอมปฏิบัติจริงไหม ปัญหาอยู่ที่นี่ต่างหาก ปัญหาตอนนี้ก็คือ หนึ่ง ที่พระโพธิรักษ์บอกว่า จะเลิกฝ่าฝืนกฎหมายคณะสงฆ์ ยอมปฏิบัติตามนั้น ท่านจะทำตามนั้นจริงไหม และ สอง ถ้ามหาเถรสมาคมดำเนินการสอบสวนและมีการลงโทษเป็นต้น ท่านจะยอมรับการสอบสวนและการลงโทษนั้นไหม การยอมนั้นจะจริงหรือไม่ก็อยู่ที่นี่แค่นี้ เพราะฉะนั้น อาตมามองว่า ไม่มีคำถามที่ว่า จะรับกลับเข้าไหม มีแต่คำถามว่า ที่ท่านโพธิรักษ์บอกว่า จะยอมกลับปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์นั้น จะยอมปฏิบัติตามจริงไหม เท่านั้น
ที่พูดกันมานี้ เป็นการพูดประเภทที่ว่า ใช้ถ้อยคำผิด พอใช้คำผิดก็เลยลวงตัวเองให้ยุ่งไปหมด ก็เลยไปมีปัญหาว่า จะรับเข้าเอาออก การที่กระทรวงศึกษาธิการไปเจรจา ว่าให้ยอมเข้ามหาเถรสมาคมนั้น ถ้าเปลี่ยนสำนวนเสียให้เป็นคำพูดที่ตรงความหมายเสียก็หมดเรื่อง คือไปเจรจาว่า ต่อไปนี้ ขอให้ยอมเลิกฝ่าฝืน หันมาปฏิบัติตามต่อไป เมื่อท่านโพธิรักษ์บอกว่า ยอมเลิกละเมิดฝ่าฝืนและจะกลับปฏิบัติตามต่อไป ก็จบ ต่อจากนั้น ก็มาดูกันว่า ท่านโพธิรักษ์จะทำตามที่ท่านพูดจริงหรือไม่ ไม่มีอะไรที่จะต้องมาพูดกันว่า มหาเถรสมาคมจะยอมรับท่านโพธิรักษ์กลับเข้าไปหรือไม่ ยิ่งบอกว่า มีการต่อต้านอะไร ก็ยิ่งเป็นคำพูดเหลวไหล แสดงว่าไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น ในแง่ของกระทรวงเองนี่ก็พลาด แล้วในแง่ของคณะสงฆ์เองนั้น ก็หย่อนมาแต่เดิมละ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทีนี้ พอกระทรวงไปทำอย่างนี้อีก ก็เกิดปัญหา เพราะว่าใช้คำพูดที่ผิด มหาเถรสมาคมก็อยู่ในภาวะลำบาก ไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร ก็เลยออกในรูปที่บอกว่า ที่กระทรวงทำไปก็เป็นส่วนของกระทรวง ปัญหาก็จบไม่ลง ก็ไม่มีอะไรจบ ตอนนี้ก็คล้ายๆ ว่าเป็นไฟที่ใช้ขี้เถ้ากลบอยู่
การที่อาตมาได้พูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องกรณีระหว่างพระโพธิรักษ์กับมหาเถรสมาคม ถ้าพระโพธิรักษ์หรือสันติอโศกจะมีปัญหาอะไรกับมหาเถรสมาคม หรือจะเป็นปฏิปักษ์ต่อมหาเถรสมาคม ก็เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคมหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะพึงดำเนินการกับพระโพธิรักษ์หรือสันติอโศกนั้น อาตมาย่อมไม่ไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย แต่ที่อาตมาต้องพูดและเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เพราะได้มองเห็นว่า พฤติการณ์ของพระโพธิรักษ์ล้ำแดนออกไป ดูน่าจะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อความจริงหรือสัจจธรรม และย่อมจะกลายเป็นกรณีระหว่างพระโพธิรักษ์ กับผู้ที่รักความจริง หรือผู้ที่ต้องการสัจจะโดยทั่วไป ซึ่งทุกคนที่รักความจริงจะต้องสนใจรักษา
สิ่งที่ต้องการก็คือ ขอให้ท่านเผชิญกับความจริง และแสดงออกตรงตามความจริง พิจารณาเรื่องตรงหลักตรงประเด็น ไม่ใช่เฉไฉ ตลอดจนมีท่าทีที่น่าสงสัยว่าจะถึงกับบิดเบือนหลักธรรมวินัย สิ่งที่เราจะต้องดูก็คือ ท่านทำอย่างนั้น เพราะจงใจไม่ซื่อตรง หรือเข้าใจผิดพลาดไป เรื่องนี้สำคัญมาก และสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้ทำงานเกี่ยวกับธรรม โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้นำคนหมู่ใหญ่ ซึ่งการกระทำมีผลกว้างไกล เพราะการทำความดีของผู้ไร้สัจจะ ย่อมควรแก่การสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงมากกว่าเป็นความดีที่แท้จริง และถ้าเป็นความดีที่ทำโดยมุ่งหลอกลวงหรือมีเจตนาไม่สุจริตแอบแฝง ก็ย่อมน่ากลัวว่าจะนำไปสู่ความพินาศมากกว่าสันติสุข แต่เรื่องนี้ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นหาความชัดเจนและทำความเข้าใจ ซึ่งจะต้องดูกันต่อไป โดยใช้ปัญญา มีสติรอบคอบ จริงใจ และมุ่งต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
คณะพุทธบริษัท ได้แจ้งความประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "แรงจูงใจในการเขียน กรณีสันติอโศก” เพื่อเผยแพร่ออกไปในสังคมวงกว้าง ผู้เรียบเรียงยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ เพราะเป็นการช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในทางวิชาการตามหลักพระพุทธศาสนา ให้เป็นประโยชน์แก่สาธุชนจำนวนมาก
"แรงจูงใจในการเขียน กรณีสันติอโศก" นี้ เป็นบทสัมภาษณ์ ที่ ผศ.ดร.อาภา จันทรสกุล ในนามของคณะผู้จัดทำวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ได้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๑ ณ สถานพำนักสงฆ์ศาลากลางสระ ลำลูกกา ปทุมธานี โดยได้มีการตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารดังกล่าว
ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ เป็นเล่มหนังสือเฉพาะเรื่องนี้ ผู้ขอพิมพ์บางรายแสดงความประสงค์ให้นำภาคผนวกในหนังสือ "ทางออกของสังคมไทย" มารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกันนี้ด้วย เพราะมีเนื้อหาที่เข้ากันและเสริมกันได้ ผู้เรียบเรียงเห็นด้วยและอนุวัตรตามความประสงค์ นอกจากนั้น ได้นำคำให้สัมภาษณ์แก่วารสารฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๑ เกี่ยวกับ "พระโพธิรักษ์ยอมกลับเข้ามหาเถรสมาคม” มารวมเข้าด้วยเป็นภาคผนวก ๒ โดยเหตุผลทำนองเดียวกัน
ในขั้นเตรียมการ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโ ได้ช่วยพิมพ์ต้นแบบหนังสือด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความสะดวกในการตีพิมพ์และประหยัดทุน แรงงาน และเวลาเป็นอันมาก
ขอธรรมฉันทะและกุศลเจตนาของทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ จงอำนวยผลเพื่อความเจริญงอกงามแห่งสัมมาทัศนะ และความแผ่ขยายแห่งประโยชน์สุขของพหูชน ตลอดกาลนาน
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๑ มี.ค. ๒๕๓๒