มองวิสาขบูชา หยั่งถึงอารยธรรมโลก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

-๑-

วันวิสาขบูชา

รู้ความหมาย และได้คติที่จะทำ

คำว่า วิสาขบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่ปรารภ วันประสูติ วันตรัสรู้ และ วันปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

คำว่า วิสาขบูชา เป็นคำเรียกสั้นที่ตัดมาจากคำภาษาบาลีว่า วิสาขปุณณมีปูชา บางทีก็เขียนเป็น วิศาขบูชา ซึ่งเป็นรูปที่ตัดมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า วิศาขปูรณมีปูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๖

วันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้งสามร่วมกันในวันนี้เป็นมหัศจรรย์

 

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

บรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประเภทรำลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในอดีต วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญที่สุด ทั้งในแง่ที่เป็นวันเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ และในแง่ที่เป็นสากล คือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีการจัดงานฉลองกันทั่วไปในประเทศทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา

ว่าถึงเฉพาะในประเทศไทย การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชา คงจะได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยอาจจะสืบมาจากการติดต่อกับลังกาทวีป ที่มีงานวิสาขบูชามานานแล้ว และหนังสือเรื่องนางนพมาศ ก็เล่าเรื่องพิธีวันวิสาขบูชาในกรุงสุโขทัยไว้ด้วย ในสมัยอยุธยาก็เข้าใจว่ามีการฉลองใหญ่ ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ครั้นกรุงแตกแล้ว ประเพณีจึงเสื่อมทรามไป จนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระราชโองการ เมื่อ จ.ศ. ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๖๐) กำหนดให้มีงานสมโภชประจำปีเป็นการใหญ่ยิ่งกว่างานใดๆ อื่น1

ความในพระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา จ.ศ. ๑๑๗๙ ว่าทรงมีพระทัยปรารถนาจะบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษยิ่งกว่าที่ได้ทรงกระทำมา จึงมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นประธาน ซึ่งได้ถวายพระพรถึงโบราณราชประเพณีงานวิสาขบูชาดังสมัยพระเจ้าภาติกราช แห่งลังกาทวีป2 เป็นเหตุให้ทรงมีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ ครั้งละ ๓ วัน สืบมา

อย่างไรก็ตาม ครั้นกาลล่วงนานมา สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานวันวิสาขบูชาก็ค่อยซบเซาลงอีกโดยลำดับ

ในรัชกาลที่ ๔ คือประมาณ ๑๐๐ ปีเศษล่วงแล้ว เมื่อประชาชนยังยึดมั่นในประเพณีดีอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริถึงความสำคัญของการประชุมใหญ่แห่งพระมหาสาวกของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต จึงได้ทรงจัดงาน วันมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง

เวลาล่วงมาอีกนานจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นงานสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ หลังเสร็จงานแล้ว คณะสงฆ์ไทยครั้งนั้น ได้ประชุมกันมีมติว่า วันเพ็ญเดือน ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ เป็นวันที่สำคัญมาก เพราะเป็นการประดิษฐานพระพุทธศาสนา สมควรจัดขึ้นเป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาอีกวันหนึ่ง วันอาสาฬหบูชา จึงได้เกิดมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ยังมีวันสำคัญประเภทบูชาอีกวันหนึ่ง คือ วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ระลึกงานถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้า วันอัฏฐมีบูชานี้ แม้ว่าคงจะได้มีมาแต่โบราณใกล้เคียงกับวันวิสาขบูชา แต่ไม่มีประวัติเด่นชัด ทั้งไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และในปัจจุบันก็ไม่จัดเข้าเป็นวันสำคัญในทางราชการ จึงไม่จำต้องนำมาเปรียบเทียบด้วย

ส่วนในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ วันสำคัญที่รู้จักกันทั่วไปมีเพียงวันเดียว คือ วันวิสาขบูชา แม้ว่าการคำนวณวันเวลา และการเรียกชื่อวันจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ประเทศพุทธศาสนาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานตามปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือน ๖ แต่ชาวพุทธญี่ปุ่นจัดงานฉลองวันประสูติพระพุทธเจ้าตามปฏิทินสุริยคติในวันที่ ๘ เมษายน คนไทยเรียก วิสาขบูชา คนลังกาเรียกเพี้ยนไปว่า วีสัค หรือ วีซัค (Vesak หรือ Wesak) ดังนี้ เป็นต้น แต่สาระสำคัญของงานก็คงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัจจุบันในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ได้มีการพยายามชักชวนให้ชาวพุทธทุกประเทศจัดงานวันวิสาขบูชา พร้อมตรงในวันเดียวกัน คือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเรียกชื่อวันนั้นว่า “The Buddha Day”

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดา ผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยตรง เมื่อมีวันวิสาขบูชาแล้ว จึงมีวันอาสาฬหบูชา และมาฆบูชา เป็นต้นได้ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้ว มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เหตุการณ์อื่นๆ เช่นการแสดงธรรม และการประชุมพระสาวกจึงติดตามมา แม้พิจารณาในแง่นี้ ก็ต้องนับว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด

การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ปรากฏขึ้นตรงในวันเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นความประจวบพอดีที่หาได้ยากยิ่งนัก หรืออาจจะหาไม่ได้อีกเลย นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ทำให้วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดทั้ง ๓ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระพุทธเจ้า ทั้งวันที่พระองค์อุบัติเป็นมนุษย์ ทั้งวันที่อุบัติเป็นพระพุทธเจ้า และวันที่สิ้นสุดพระชนมชีพ วันวิสาขบูชาจึงมิใช่แต่เพียงเป็นวันที่สำคัญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่น่าอัศจรรย์อีกด้วย และความมหัศจรรย์ข้อนี้จัดได้ว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งแห่งความเป็นอัจฉริยบุรุษของพระพุทธองค์

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในวันวิสาขบูชานี้ แม้ว่าจะสำคัญและน่าอัศจรรย์เพียงใด ก็เป็นคุณวิเศษจำเพาะของพระพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว คุณค่าที่พุทธศาสนิกชนจะรับมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ก็เพียงแต่ให้บังเกิดความภาคภูมิใจในองค์พระบรมศาสดา และเป็นเครื่องเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาให้แน่นแฟ้น แต่ก็คงสุดวิสัยที่จะนำมาเป็นแบบอย่างสำหรับปฏิบัติตาม

ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่เป็นสิ่งซึ่งนำมาปฏิบัติได้ ให้ผลสมจริง เหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชา มีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ในทางปฏิบัติเช่นนี้ด้วย จึงนับได้ว่า เป็นความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ที่แท้จริง ยิ่งใหญ่กว่าความสำคัญและความน่าอัศจรรย์อย่างที่กล่าวมาในตอนแรกเสียอีก ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์เช่นว่านี้ ก็คือความสำคัญและความน่าอัศจรรย์แห่งความหมาย ซึ่งเราทั้งหลายสามารถถือเป็นแบบอย่าง นำไปประพฤติปฏิบัติตามได้

ความประจวบพอดีกันของเหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชา มีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ และความเลื่อมใสศรัทธา แล้วกระทำอามิสบูชาต่อพระรัตนตรัย แต่ความหมายอันลึกซึ้งที่ประสานกันของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นมีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยเป็นอนุสติเตือนใจให้เราระลึกถึงหลักธรรมแล้วกระทำปฏิบัติบูชา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหาร แม้จะสำคัญก็ยังเป็นรอง ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมจึงจะสูงสุดและสำคัญอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ทั้งแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ทั้งแก่สันติสุขของพหูชน และเป็นเครื่องสืบต่ออายุพระศาสนาที่มั่นคงแน่นอน เมื่อปฏิบัติบูชามีอยู่ อามิสบูชาก็เป็นกำลังสนับสนุนและพลอยมีความสำคัญ แต่ถ้าไร้ปฏิบัติบูชา อามิสบูชาก็หมดความหมาย

ความหมายของวันวิสาขบูชา
ในแง่คติจากพระชนมชีพของพระบรมศาสดา

การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นตรงกันในวันเดียว ความหมายของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นก็เกี่ยวพันประสานกันเป็นอันเดียว

การประสูติ ของพระองค์ มีความหมายเตือนให้เราระลึกว่า คนทุกคนแม้จะเริ่มต้นชีวิตโดยความเป็นมนุษย์มีกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่ต่อจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว มนุษย์ก็แสดงความเป็นสัตว์ประเสริฐออกมา ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะฝึกฝนอบรม บุคคลผู้มีจุดหมายอันสูงส่ง มุ่งบำเพ็ญความดีงามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา อาศัยความเพียรและสติปัญญาฝึกฝนตนให้บรรลุความเป็นมนุษย์ผู้เยี่ยมยอดได้ กลายเป็นศาสดาที่เคารพบูชาของปวงเทพและหมู่มนุษย์ นำประโยชน์สุขมาให้ไม่เฉพาะแต่ตนเองผู้เดียว แต่เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดด้วย พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างแสดงประจักษ์พยานของภาวะเช่นนี้ ทุกคนจึงควรมีกำลังใจเพียรพยายามใช้สติปัญญาพิจารณา บำเพ็ญความดีงาม ฝึกฝนปรับปรุงตนให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

การตรัสรู้ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า สิ่งสำคัญที่เป็นผลสำเร็จ และเป็นจุดมุ่งหมายแห่งความเพียรพยายามและการใช้สติปัญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้พระชนมชีพของพระองค์กลายเป็นสิ่งมีคุณค่าอย่างสูงสุดนั้น หาใช่การได้มาซึ่งสิ่งสำหรับปรนเปรอบำรุงบำเรอความสุขส่วนตนไม่ แต่เป็นการเข้าถึงความดีงามอย่างสูงสุดที่ทำให้พระชนมชีพของพระองค์เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเผื่อแผ่ขยายความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์นั้นออกไปให้แก่ชีวิตอื่นๆ ด้วย เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลก การเข้าถึงความดีงามนี้เอง ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นมนุษย์ กลายเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ความดีงามที่ว่านี้ คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม”

การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทำให้ธรรมปรากฏขึ้นในโลก ธรรมปรากฏขึ้นแล้ว ก็กระจายความดีงามออกไป ด้วยคำสอนที่สาดแสงสว่างส่องทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงาม นำไปสู่ประโยชน์สุขและความอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น

นอกจากนี้ การตรัสรู้ยังสอนเราด้วยว่า การบรรลุผลสำเร็จที่ดีงามนั้น มิใช่จะกระทำได้ง่าย พระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ได้ ต้องทรงบำเพ็ญเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาแสวงหาค้นคว้าทดลองด้วยความเด็ดเดี่ยวและอดทน จนบางคราวแทบจะสิ้นพระชนมชีพตลอดเวลายาวนานถึง ๖ ปี ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อทรงนำธรรมอันเป็นหลักแห่งความจริงความดีงามนั้น ไปสั่งสอนผู้อื่น ก็ต้องทรงเสียสละลำบากพระกาย เสด็จเที่ยวไปทุกถิ่น แม้ที่แสนจะกันดารและฝ่าภยันตราย บุคคลที่จะทำความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่หมู่ชน ก็ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทา โดยการเพียรพยายามด้วยความเสียสละ อดทน ไม่ยอมท้อถอย

การปรินิพพาน มีความหมายที่เป็นอนุสติ ให้ระลึกว่า พระชนมชีพของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นชีวิตมนุษย์ เมื่อถึงคราวสิ้นสุด ก็ดับสิ้นไปตามกาลเวลา แต่พระธรรมที่ได้ทรงค้นพบ เปิดเผยไว้ ทำให้ปรากฏในโลกแล้ว เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงามอันอมตะ ไม่เคลื่อนคลาดแตกดับ เป็นสิ่งไม่ตาย ยังคงส่องทางแห่งปัญญาเพื่อบรรลุประโยชน์สุขแก่หมู่มนุษย์สืบต่อไป และทั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ไว้ทำหน้าที่รักษาสืบทอดส่งต่อประทีปแห่งธรรมแทนพระองค์ต่อๆ มาอีกด้วย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงหยุดเลิกพุทธกิจ ก็ได้ทรงหยุดเลิกในเมื่อมีอมตธรรมสำหรับอำนวยอมตประโยชน์สืบต่อมา การปรินิพพานเป็นการดับสนิทในเมื่อกิจสำเร็จ การดำเนินให้เข้าถึงอมตธรรมและบรรลุอมตประโยชน์เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ทั้งที่จะต่างคนต่างทำ และร่วมกันช่วยกันทำต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากจะมองความหมายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมเห็นได้ว่า บรรดาเหตุการณ์สำคัญ ๓ อย่าง ในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้านั้น การตรัสรู้ ต้องนับว่ามีความสำคัญสุดยอด การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของชีวิตที่เรียกว่าการเกิด การตายนั้น มนุษย์ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน แต่ข้อพิเศษอยู่ที่ชีวิต ซึ่งเป็นไปในระหว่างจุดต้นและสุดทั้งสองนี้

สิ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า และทำให้เราเคารพบูชาพระองค์ ก็คือการตรัสรู้อันพ่วงพร้อมมาด้วยการกระทำต่างๆ เพื่อการตรัสรู้ และพุทธกิจต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรัสรู้ แต่เพราะพระชนมชีพของพระองค์ เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยแห่งการตรัสรู้และการบำเพ็ญพุทธกิจเหล่านั้น วันประสูติ และวันปรินิพพานของพระองค์จึงย่อมพลอยมีความสำคัญตามไปด้วย

ความเป็นพระพุทธเจ้าอันเกิดจากการตรัสรู้ และการทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ ที่เรียกว่า “พุทธกิจ” นี้โดยแท้ ที่เป็นฐานรองรับความสำคัญ และความน่าอัศจรรย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระองค์ เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระองค์ และเป็นส่วนสาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะพึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระองค์ ดังคำพรรณนาแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่คนหลายราย หลายพวก หลายหมู่ ได้กล่าว และบันทึกเอาไว้เป็นประจักษ์หลักฐาน

ความหมายของวันวิสาขบูชา
ในแง่ปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติแห่งมนุษยชาติ

ความหมายของวันวิสาขบูชาที่ได้กล่าวมานั้น แม้จะลึกซึ้งและสำคัญ ก็ยังจำกัดแคบ เป็นเชิงคติเกี่ยวกับชีวิตบุคคล คือพระชนมชีพของพระบรมศาสดา วันวิสาขบูชายังมีความหมายที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้น ซึ่งเป็นความหมายในขั้นหลักการของพระพุทธศาสนา ตรงกับความจริงที่ว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา และในแง่นี้ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา เป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษ ถือได้ว่าเป็นการขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยที่การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มีความหมายเชิงหลักการ ดังนี้

๑. การประสูติของพระพุทธเจ้า คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าด้วย เป็นความหมายที่โยงถึงกันอยู่ในตัว

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีสัญลักษณ์อยู่ที่การทรงประกาศการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ด้วยพระดำรัสที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” (วาจาอาจหาญ) ว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส”3 แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก”

พระวาจานี้ทรงประกาศท่ามกลางสังคมมนุษย์ที่มีอิทธิพลของการนับถือเทพเจ้าครอบคลุมและครอบงำไปทั่วทั้งหมด คำว่า “เชฏฐ” เป็นต้นนั้น เป็นคำแสดงฐานะของพระพรหมผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด มนุษย์ยุคนั้นเชื่อว่าชีวิตและสังคมของตนจะดีร้ายเป็นไปอย่างไร ย่อมขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้าที่จะลงโทษหรือโปรดปรานดลบันดาลให้เป็นอย่างไร สิ่งที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อนำผลดีมาสู่ชีวิต ครอบครัว และสังคมของตน ก็คือการยอมสยบต่อเทวบัญชา และการอ้อนวอนบูชาขอผลที่ปรารถนา ด้วยการเซ่นสรวงสังเวย และการบูชายัญ

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ประกาศหลักการที่เป็นการปฏิวัติความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตของมนุษย์ว่า มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มีศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาให้ดีเลิศประเสริฐสูงสุดได้ เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีคุณความดีและมีปัญญาญาณสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นบุคคลผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด ที่เรียกว่า “พุทธะ” ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลายตลอดแม้กระทั่งพระพรหมก็จะน้อมนบบูชา ฉะนั้น มนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนสูงสุด คือ พุทธะนี้ต่างหาก ที่เป็น “อัคคะ” (ผู้เลิศ) เป็น “เชฏฐะ” (ผู้เป็นใหญ่) เป็น “เสฏฐะ” (ผู้ประเสริฐ) หาใช่เทพเจ้า แม้แต่พระพรหมผู้เป็นเจ้าไม่

ด้วยหลักการนี้ พระพุทธศาสนาได้กระตุ้นและกระตุกมนุษย์ให้หันมาใส่ใจในศักยภาพแห่งมนุษย์ที่มีอยู่ในตนเอง และเกิดความสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ พฤติกรรม ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของตน ด้วยความตระหนักรู้ว่า สันติ สุข และอิสรภาพ แห่งชีวิตและสังคมของตนจะสัมฤทธิ์หรือไม่ และแค่ไหนเพียงใด อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตัวของมนุษย์เอง หาใช่อยู่ที่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่ มนุษย์ไม่ควรจะมัวคิดหาทางพะเน้าพะนออ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้า แต่ควรหันมาเพียรพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จด้วยสติปัญญาของตน

การประสูติของพระพุทธเจ้า หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิวัติในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ด้วยการประกาศว่า อำนาจสูงสุดที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตน และการกระทำด้วยปัญญาที่พัฒนาขึ้นมาให้รู้ความจริงของธรรมชาติ หาใช่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่

๒. การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือการปรากฏแห่งธรรมขึ้นมาเป็นใหญ่สูงสุด

อิสรภาพของมนุษย์ ที่ทรงประกาศในการประสูตินั้น จะบรรลุผลเป็นจริงก็เพราะมีการตรัสรู้ กล่าวคือเมื่อมนุษย์รู้เข้าใจมองเห็นความจริงของธรรมชาติแล้วปฏิบัติการทั้งหลายได้ถูกต้องตามธรรม โดยฝึกฝนพัฒนาตนให้มีปัญญาญาณจนตรัสรู้เข้าถึงธรรมแล้ว มนุษย์จึงเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด

การตรัสรู้ คือการบรรจบประสานระหว่างปัญญาของมนุษย์ กับธรรม คือความจริงของธรรมชาติ เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น4 มีใจความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่บุคคลประเสริฐ ผู้เพียรพยายามเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นปวงความสงสัย ย่อมมลายไป เพราะมารู้เข้าใจถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุของมัน . . . เพราะได้รู้ถึงภาวะที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย . . . ขจัดมารและเสนาเสียได้ ดังตะวันส่องฟ้าทอแสงจ้าอยู่ ฉะนั้น”

ธรรมคือความจริงของธรรมชาตินั่นแหละยิ่งใหญ่สูงสุด หาใช่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลอันใดไม่ แม้แต่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจของธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นในธรรมชาตินั่นเอง ธรรมย่อมเหนือเทพ เทพจะเหนือธรรมไปไม่ได้ เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะได้เพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรม เพราะมนุษย์มีปัญญาที่สามารถพัฒนาให้ลุถึงธรรมได้

เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว ก็มีความเป็นอิสระที่จะเป็นอยู่และทำการอย่างประสานกับธรรม ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้น ซึ่งมีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ต้องคอยเอาอกเอาใจคอยรอคำสั่งบัญชาของเทพยดาพรหมเจ้า ที่ไม่รู้ว่าจะต้องประสงค์อย่างใด และจะขัดเคืองหรือโปรดปรานอย่างไหน เมื่อใด

๓. การปรินิพพาน คือการเตือนจิตสำนึกในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท

ด้านหนึ่งของธรรมหรือความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ก็คือความไม่เที่ยงแท้คงทน และความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ของสิ่งทั้งหลาย ธรรมคือความจริงนี้มีอยู่ หรือกำกับอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะการที่ชีวิตนั้นจะต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย

ในขณะที่ความเป็นจริงของธรรมบอกเราว่า เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติ มีความสามารถ และมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรมคือกฎธรรมชาติ ชีวิตของเราจะดีงามเลิศประเสริฐ บรรลุสันติสุขและอิสรภาพแท้จริง ก็ต่อเมื่อมีปัญญาเข้าถึงธรรมและสามารถทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดำเนินตามธรรม แต่พร้อมกันนั้นธรรมนั่นเองก็กำกับความจริงไว้ว่า ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราทุกอย่างไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไป จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะนิ่งนอนใจประมาทอยู่ไม่ได้ เพราะถ้ามัวประมาทผัดเพี้ยนละเลย ชีวิตของเราอาจหมดโอกาสที่จะพัฒนาให้เข้าถึงคุณค่าและประโยชน์ที่พึงได้จากธรรม

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และประกาศแก่โลกแล้วนั้น มาปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเรา และเพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราดำเนินไปสู่ความดีงาม ความมีสันติสุขและอิสรภาพ อันพึงได้จากธรรมนั้น เราจึงจะต้องเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท หรือดำเนินไปในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท

เพราะฉะนั้น เมื่อจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระวาจาสุดท้ายที่เรียกว่า “ปัจฉิมวาจา” อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายและความหมายแห่งการปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”5 แปลว่า “สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงประกอบขึ้น ล้วนมีอันจะต้องเสื่อมสลายไป เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

ทำการบูชาให้สมค่าของวันวิสาขะ

ถ้าวันวิสาขบูชาจะช่วยให้เราระลึกถึงความหมายของการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อย่างเข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และเตือนใจให้เรานำหลักการนั้นมาใช้ประโยชน์กันอย่างจริงจัง การบูชาของเราก็จะเกิดคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม อย่างสมคุณค่าของวันวิสาขบูชาโดยแท้จริง และจะช่วยให้มนุษยชาติก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนามนุษย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศนำไว้นานแล้ว ได้จริงจังเสียที แต่ถ้าจะคิดเอาง่ายๆ อย่างน้อยก็ควรจะระลึกพิจารณาดังที่จะกล่าวต่อไป

ในวันเกิดบ้าง ในวันตายบ้าง ของบรรพบุรุษ บุรพการีชน คนที่เราเคารพนับถือ ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย คนทั้งหลายนิยมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงความเคารพนับถือและความมีน้ำใจต่อบุคคลผู้นั้น ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชา อันเป็นวันที่ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจะไม่พึงทำการแสดงออกอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นการแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดาของตน

ในวันที่ระลึกถึงบุคคลผู้มีความสำคัญของวงศ์ตระกูล ของกลุ่มชน หรือท้องถิ่นหนึ่ง ก็ยังมีการจัดพิธีที่ระลึกหรืองานเฉลิมฉลองกัน ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชาที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ประชาชนจะไม่พึงจัดพิธีสมโภชหรืองานมหาบูชา

พุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดา อย่างน้อย หากจะสงบจิต ระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าสักข้อหนึ่ง ก็คงจะพอชื่อว่าได้ทำอะไรอย่างหนึ่งเป็นพุทธบูชา

ถ้าสามารถพิจารณาตั้งจิตคิดไปตามให้เห็นความหมายด้วย ก็จะชื่อว่าได้กระทำพุทธบูชาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

หากมองเห็นความหมายที่จะพึงปฏิบัติได้แล้วนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับประพฤติตาม ก็ย่อมจะได้ชื่อว่า เป็นผู้กระทำปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาอย่างสูงสุด ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงแสดงออกได้ต่อพระบรมศาสดาของตน นับว่าเป็นอานิสงส์อย่างสูงสุดของวันวิสาขบูชา

แท้จริง การที่เราบูชาพระพุทธเจ้านั้น มิใช่เป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงต้องการได้รับผลประโยชน์อะไรจากเรา แต่เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ผลดีหรือประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวเราผู้บูชานั้นเอง ทั้งแก่ชีวิตของเรา และแก่สังคมของเราทั้งหมด

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า จิตใจของเราก็โน้มน้อมไปในทางแห่งความดีงาม ทำให้จิตใจเจริญงอกงาม เอิบอิ่ม เป็นสุข

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า เราก็น้อมนำเอาพระคุณความดีของพระพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในจิตใจของเรา ทำให้เรามั่นใจที่จะดำเนินต่อไปในวิถีทางแห่งความดีงาม และประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระพุทธจริยาของพระองค์

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ก็เป็นการเตือนใจตัวเราเองให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงสั่งสอน ซึ่งเราจะต้องเพียรพยายามปฏิบัติบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะจบสิ้นสมบูรณ์

เมื่อเราทั้งหลายพากันบูชาพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นสัญญาณของการที่เราเคารพยกย่องนิยมบุคคลที่ดีมีธรรม และการเคารพเชิดชูธรรมที่เป็นความดีและความจริง ซึ่งหากสังคมยังยึดถือในการบูชาอย่างนี้ สังคมก็จะดำรงรักษาธรรมไว้ได้ และธรรมก็จะคุ้มครองรักษาสังคมให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน

หากระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนใดๆ ไม่ได้เลย และไม่สามารถทำอะไรอื่นอีกได้ ก็พึงสละเวลาทำใจให้สงบ แล้วอ่านหรือฟังคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าสักท่อนหนึ่งตอนหนึ่ง ถ้าในขณะที่อ่านหรือฟัง จิตใจเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น หรือมีใจปลอดโปร่งโล่งเบาเบิกบานผ่องใส ก็นับว่าได้มีส่วนร่วมฉลองวันวิสาขบูชา และกระทำพุทธบูชาในวันสำคัญนี้ด้วย

 

- ๒ -

มองวันวิสาขบูชา
หยั่งให้ถึงอารยธรรมของโลก6

 

วิสาขบูชา ที่เป็นมาในหมู่ชาวพุทธ

ถาม กราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์ เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้มีมติยอมรับวันวิสาขบูชาเป็นวันสากลของโลก การที่สหประชาชาติให้การยอมรับครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า วันวิสาขบูชานั้น ไม่เพียงแต่เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อชาวโลกด้วย จึงขอกราบเรียนท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา

ขอเริ่มด้วยคำถามว่า วันวิสาขบูชานี้คือวันอะไร

ตอบ วิสาขบูชา พูดง่ายๆ ก็คือ “วันพระพุทธเจ้า” เพราะเป็นวันที่เราจัดพิธีบูชา เพื่อแสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นการประกาศว่าเรามองเห็นคุณประโยชน์ที่พระองค์ได้กระทำไว้ต่อพระพุทธศาสนาและต่อสังคมมนุษย์

ที่ว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า ก็เพราะว่าเป็นวัน “ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ของพระองค์ เมื่อเป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็เป็นวันพระพุทธเจ้า และถือได้ว่าเป็น “วันเกิดของพระพุทธศาสนา” ด้วย เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งหรือประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น

เพราะฉะนั้นจึงพูดรวมกันได้ว่า วันวิสาขบูชา ก็คือ วันที่เรามาแสดงความเคารพบูชา ระลึกในพระคุณความดีและประโยชน์ที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญไว้ให้แก่มวลมนุษย์ โดยเฉพาะในการที่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชาวโลก

เนื่องจากวัน ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เพราะฉะนั้นการบูชาหรือพิธีนี้จึงจัดในเดือนวิสาขะ ที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าเดือนหก และจึงเรียกว่า วิสาขบูชา

ถาม วันวิสาขบูชามีความเป็นมาอย่างไร

ตอบ ในเรื่องความเป็นมานั้น บางส่วนเราอาจจะไม่ชัดเจน คือ เป็นเรื่องของเหตุการณ์และกิจกรรมของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ บางตอนมีหลักฐาน เราก็รู้ชัดเจน บางตอนไม่มีหลักฐาน ทั้งๆ ที่มีการปฏิบัติหรือกิจกรรม แต่เราก็ไม่สามารถยกมาพูดได้

วันวิสาขบูชาเกิดจากการที่ชาวพุทธต้องการแสดงออก โดยมารวมตัวกัน แสดงความระลึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า มีการทำกิจกรรมที่เรียกว่าบุญกุศลต่างๆ โดยเฉพาะก็คือการบูชา การจัดกิจกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไรคงยากที่จะบอก เพราะยังไม่เห็นหลักฐานชัดเจน

ถ้าพูดถึงเฉพาะในประเทศไทย เราก็บอกได้เท่าที่รู้ว่ามีขึ้นตั้งแต่ครั้งสุโขทัย สืบทอดมาเรื่อยๆ แต่ในสมัยอยุธยาจะมีแค่ไหนก็ไม่ชัดเจนนัก เพราะขาดตอนลงในช่วงปลายที่กรุงศรีอยุธยามีเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวายสับสน บางท่านก็ว่าหยุดชะงักไป แล้วมาฟื้นฟูอีกเมื่อตั้งกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาโดยทำเป็นการใหญ่ สมเด็จพระสังฆราชมีเป็นเจ้าของความคิดในฐานะที่ท่านเป็นประมุขสงฆ์ในประเทศไทยเวลานั้น

ครั้งนั้น ทางการบ้านเมือง ได้ประกาศให้ทำพิธีเฉลิมฉลอง โดยทำเป็นกิจกรรมใหญ่ถึง ๓ วันด้วยกัน การเฉลิมฉลองนี้เป็นไปในเรื่องของบุญกุศล ไม่ได้สนุกสนานแบบมีการกินเหล้าเมายาอะไร ตรงข้ามก็คือ ให้ทำความดี เว้นจากความชั่ว ไม่ให้มีอบายมุข ไม่ให้มีสุราการพนัน และส่งเสริมกิจกรรมในการทำความดีต่างๆ

ที่พูดมานี้เป็นเรื่องของวันวิสาขบูชาที่ปฏิบัติกันมาในประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เท่าที่เรารู้ว่ามีในประเทศไทย ก็เป็นมาอย่างนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ มีการจัดประเพณีวันวิสาขาบูชาต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

แต่ปัจจุบันนี้การจัดงานหดลงไปเหลือวันเดียว และยิ่งกว่านั้นวันเดียวบางทีก็เหลือเพียงส่วนของวัน ไม่ได้เต็มวัน แต่ก็มีผู้พยายามที่จะให้ความสำคัญอย่างที่มีการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่สนามหลวง ซึ่งจัดกันมาเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ ๑๗ เมื่อมีพุทธมณฑลขึ้นมา ก็จัดที่พุทธมณฑลด้วย แล้วก็จัดตามวัดต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดงานวันวิสาขบูชาทั่วไป สำหรับประชาชนแต่ละท้องถิ่น

ถาม ประเทศอื่นๆ มีการจัดงานวันวิสาขบูชากันอย่างไรบ้าง

ตอบ ประเทศอื่นก็ถือวันเกิดของพระพุทธเจ้า คือวันประสูติเป็นวันสำคัญ อย่างญี่ปุ่นก็มีวันประสูติของพระพุทธเจ้า เท่าที่ทราบเวลานี้เขาใช้วันสุริยคติ โดยกำหนดแน่นอนลงไปว่าเป็นวันที่ ๘ เมษายน ของทุกปี

ที่ศรีลังกาเขาจัดงานใหญ่มาก ปัจจุบันนี้ก็ยังใหญ่อยู่ เขาเอาจริงเอาจังมาก ราชการหยุด ๒ วัน ชาวบ้านนุ่งขาวห่มขาวมาอยู่วัดถือศีล ๕ วัน ตั้งโรงทานและจัดการแสดงทางธรรม ๑ เดือน แสดงว่าเขาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเห็นความสำคัญของวันวิสาขบูชา ก็แสดงว่าเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า ก็คือ เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา อันนี้เนื่องอยู่ด้วยกันเป็นธรรมดา

 

มองวันวิสาขบูชา ด้วยปัญญาที่รู้ตระหนัก

ถาม วันวิสาขบูชามีความสำคัญต่อชาวพุทธอย่างไร

ตอบ วันวิสาขบูชาสำคัญต่อชาวพุทธ เพราะว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เราจึงเรียกพระองค์ว่า “พระบรมศาสดา”

เมื่อพระพุทธศาสนาสำคัญต่อเรา พระพุทธเจ้าก็สำคัญต่อเราชาวพุทธทั้งหลาย นี้เป็นการพูดในแง่หลักทั่วไป

ถ้าจะพูดในความหมายที่ลึกลงไป วันวิสาขบูชาก็มีความสำคัญในแง่ที่ว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้เรานำเอาหลักพระพุทธศาสนาขึ้นมาประพฤติปฏิบัติ อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยเตือนใจให้เราไม่ลืมที่จะมองความหมายว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร แล้วก็เป็นโอกาสสำหรับการทำความดีงามต่างๆ เริ่มตั้งแต่การมาระลึก ทบทวนความหมาย ตรวจสอบความเข้าใจ และขวนขวายศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเราใช้โอกาสนี้มาเตือนใจกัน แล้วส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจ และชวนกันประพฤติปฏิบัติ ก็จะเป็นผลดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคมส่วนรวม

แต่ละปีเราอาจจะมาตกลงกันว่า ปีนี้จะเน้นอะไรสำหรับชาวพุทธ เช่น เน้นเรื่องที่สัมพันธ์กับสภาพสังคม โดยพิจารณาว่าสังคมไทยเวลานี้มีสภาพเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งในแง่ไหน มีปัญหาทางด้านสังคม เช่น อบายมุข ยาบ้า ยาเสพติด การพนัน ที่หนักมาก ประชาชนลุ่มหลงในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และการอ้อนวอนหวังผลจากการดลบันดาล การบ้านการเมืองก็มีปัญหาจากความไม่สามัคคี เป็นต้น ตลอดจนเรื่องของความไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ไม่สุจริตต่างๆ ดังที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย เป็นเหตุการณ์ความเป็นไปของสังคม ซึ่งชาวพุทธก็คือคนไทยทั่วๆ ไปนี่แหละ ต้องมีความรับผิดชอบ

โดยเฉพาะความรับผิดชอบในฐานะชาวพุทธนี่ต้องสูง เพราะพฤติกรรมเสื่อมทรามเสียหายเหล่านี้ จะเป็นอบายมุขก็ดี ความไม่สุจริตในการบริหารดำเนินกิจการต่างๆ ก็ดี เป็นเรื่องที่ผิดหลักพระพุทธศาสนามาก ถ้าเราจะให้พระพุทธศาสนามีความหมาย และแสดงว่าคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาจริง ก็ต้องให้คนไทยแสดงตัวออกมาด้วยพฤติกรรมหรือการกระทำ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

เมื่อชีวิตและสังคมของเรามีสภาพอย่างนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ก็เป็นเครื่องฟ้องตัวเอง ที่เราจะต้องมาทบทวนพิจารณากัน แล้วก็วิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไข

วันวิสาขบูชาก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้มาเอาจริงเอาจัง โดยมารวมใจกัน ประชุมกัน หรือร่วมมือกัน ในการวางแนวทางนโยบาย เริ่มตั้งแต่หยิบยกปัญหาขึ้นมาถกเถียง แล้วตั้งประเด็นเป็นจุดกำหนด และวางเป้าหมายใหญ่ๆ ที่เราจะเอาจริงเอาจังเพื่อปรับปรุงกิจการพระศาสนา พัฒนาชีวิตและสังคม เมื่อได้จุดหมายชัดเจนแล้ว ก็วางวิธีการในการแก้ปัญหาให้เป็นเรื่องที่จะทำกันให้จริงจังต่อไป

ถาม อยากทราบว่า วันวิสาขบูชามีความสำคัญต่อชาวโลก อย่างไร

ตอบ พระพุทธศาสนาสำคัญต่อโลก ก็คือในแง่ที่ “เป็นบ่อเกิดสำคัญของอารยธรรมมนุษย์” ซึ่งจะพูดตามภาวะที่เป็นอยู่ในบางแถบของโลกก็ได้ หรือจะพูดในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโลกทั้งหมดก็ได้

อารยธรรมมนุษย์นั้นเป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ในถิ่นต่างๆ เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์ในส่วนต่างๆ ของโลก ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ละภูมิภาค หรือแต่ละประเทศก็ดี หรือในส่วนรวมของโลกก็ดี ถ้าเราศึกษาดูให้ดี ก็จะเห็นส่วนร่วมและบทบาทสำคัญของบุคคลในพระพุทธศาสนาและของตัวสถาบันพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

เมื่อมีบุคคลมานับถือหรือนำหลักธรรมในพุทธศาสนาไปใช้ ความเปลี่ยนแปลงในทางพฤติกรรม จิตใจ และความรู้ความคิดก็เกิดขึ้น เมื่อความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติ และความคิดความเข้าใจแพร่ขยายกว้างออกไป และอยู่ตัว ก็กลายเป็นวิถีชีวิต วิถีสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างสรรค์ต่างๆ ตามแนวทางนั้น เรียกว่าอารยธรรมเกิดขึ้น

เหมือนอย่างประเทศไทยเราก็เป็นตัวอย่างของท้องถิ่นหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง ที่วัฒนธรรมมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา ความเจริญก้าวหน้าและความเป็นมาของสังคม ย่อมสืบเนื่องมาจากหลักการต่างๆ ที่นำมาใช้ ไม่ว่าหลักการคือหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเราจะเอามาใช้ได้แค่ไหนและใช้ได้ถูกต้องเพียงใดก็ตาม แต่แน่นอนว่าเราเอามาจากพระพุทธศาสนามากมาย

ถ้าจะวิเคราะห์ในแง่ของตัววัฒนธรรมกว้างๆ ก็แยกออกไปได้หลายเรื่อง เช่น ศิลปวัตถุสถาน ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ภาษา วรรณคดี นิติธรรม แม้แต่ในด้านรัฐ เรื่องของการบ้านการเมือง การปกครอง ก็ได้รับอิทธิพลจากคำสอนของพระพุทธศาสนา แล้วก็เรื่องของวิถีชีวิต เรื่องของภาวะจิตใจอะไรต่างๆ เช่นความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ ก็เห็นกันได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นเรื่องที่ยังต้องวิเคราะห์กันว่าเรานำมาใช้ได้สำเร็จผลดีมากน้อยแค่ไหน แต่พูดรวมๆ ว่าในการนำมาใช้นั้นเราก็ได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะรับนับถือพระพุทธศาสนา และแม้แต่เมื่อพูดว่าเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คนไทยเราก็มีพื้นเพจิตใจของตัวเอง ที่มีฐานภูมิหลังมาเก่า เมื่อนำหลักพุทธศาสนามาใช้ เราก็อาจจะเลือกเอาส่วนที่สนองความต้องการของเราตามกาลเทศะ

เรื่องนี้มองได้หลายอย่าง เช่น อาจมองว่าการนำพระพุทธศาสนามาใช้นั้น เป็นการที่เราพยายามก้าวเข้าไปสู่หลักการของพุทธศาสนา สังคมนั้นมีการพัฒนา และพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ถ้าเราไม่ประมาท เราก็จะคอยตรวจสอบวัดผลว่าเรานำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ได้เท่านี้และเราคืบหน้าไปได้เท่านี้ แต่หลักพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีเท่านี้ เราจึงต้องก้าวต่อไป

เราอย่ามองในแง่เหมือนกับว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมไทยของเราแล้ว สังคมไทยของเราเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว หลักมีอยู่เท่านี้ เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่แน่นอน แม้แต่ส่วนที่นำมาใช้แล้ว นานๆ ไปเมื่อเป็นของส่วนรวม สังคมใหญ่ๆ ก็มีการคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปได้ จึงต้องมีการตรวจสอบ ปรับตัวแก้ไข โดยนำเอาหลักแท้ๆ มาเป็นมาตรฐาน คือปรับตัวเข้ากับหลักการที่ถูกต้องจริงแท้ให้ได้

ยิ่งโดยเหตุผลสำคัญ คือพุทธศาสนาเป็น ศาสนาแห่งปัญญา ก็ยิ่งทำให้การที่จะต้องทบทวนตรวจสอบตัวเองกับหลักการเป็นเรื่องสำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องมีการศึกษานั่นเอง เพราะว่าศาสนาแห่งปัญญานั้น คนจะต้องศึกษาจึงจะนำหลักมาใช้ได้ถูกต้อง

ถ้าเป็นศาสนาแห่งศรัทธา ก็จะวางหลักความเชื่อและข้อปฏิบัติมาตายตัว ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถาม ต้องเชื่อตามและทำตามแน่นอนลงไป เช่น บอกว่า นี่นะ คุณเป็นศาสนิก คุณจะต้องเชื่ออย่างนี้ๆ คุณจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ วางมาให้เลย ๑-๒-๓-๔-๕ ตายตัว ไม่ต้องรู้เหตุผล ไม่ต้องเข้าใจอะไรก็ได้

แต่ในพุทธศาสนา เพราะเหตุที่ว่าการจะประพฤติปฏิบัติถูกต้องไม่ผิดพลาด อยู่ที่ต้องรู้เข้าใจโดยใช้ปัญญา ต้องเรียนรู้ว่าหลักเป็นอย่างไร จะต้องก้าวต่อไปอย่างไร การที่จะนำมาใช้ได้แค่ไหน อยู่ที่เรามีปัญญา รู้ เข้าใจ และมีความสามารถที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ต่อตัวบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นเองและต่อกาลเทศะ เพื่อให้บรรลุจุดหมายของพระศาสนา

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ว่าในแง่หนึ่งก็เสี่ยง คือเสี่ยงต่อการคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน ซึ่งก็แน่นอนว่าได้เกิดการคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนขึ้นมากมายแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ถือว่าถ้ามนุษย์จะมีการพัฒนาได้จริง ก็จะต้องให้คนพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะในการใช้ปัญญา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำให้พุทธศาสนามีลักษณะพิเศษ ที่ว่าให้เสรีภาพในทางความคิด และส่งเสริมการศึกษาที่เน้นปัญญา

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมา
โฉมหน้าของอารยธรรมก็เปลี่ยนไป

ถาม หลักการของพระพุทธศาสนา ช่วยสังคมและโลกอย่างไร

ตอบ พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของอารยธรรมที่สำคัญ อย่างง่ายๆ เช่น เมื่อเราพูดว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป เราจะยกประวัติศาสตร์เพียงบางส่วนมาพูด ก็มองเห็นความสำคัญนี้ได้ เช่น เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย

สังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเจ้าสูงสุด ผู้สร้าง ผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเพื่อเอาอกเอาใจเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์เป็นวรรณะต่างๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า กับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำเรียนไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่องวรรณะ ๔ พุทธศาสนาก็ไม่ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า คนมิใช่ประเสริฐหรือทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามก็เพราะการกระทำ แล้วก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ที่หวังผลสำเร็จจากการโปรดปรานบันดาลให้ เปลี่ยนให้หันมาหวังผลจากการกระทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น

เมื่อถือว่ามนุษย์จะดีจะประเสริฐอยู่ที่การกระทำ มนุษย์ก็ต้องพัฒนาชีวิตของตน ทั้งพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาขึ้นไป มนุษย์จึงประเสริฐได้ ดีงามได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องส่งเสริมปัญญา มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า การศึกษามวลชน

ในประเทศอินเดียเราพูดได้ว่า การศึกษากลายเป็นการศึกษามวลชนได้เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เพียงแค่นี้ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่ออารยธรรมของโลก เพราะว่าเมื่ออินเดียเจริญขึ้นมาแล้ว อินเดียก็เป็นแหล่งกลางแห่งหนึ่งของอารยธรรมของโลก

ในด้านการศึกษามวลชนนี้ Encyclopedia Britannica ของฝรั่งเอง ก็เขียนไว้ว่า อินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมีสถิติผู้รู้หนังสือสูงกว่าสังคมอินเดียปัจจุบันด้วยซ้ำ เพราะว่าสังคมอินเดียได้ละทิ้งพระพุทธศาสนาไปนาน คือพุทธศาสนาถูกกำจัดหมดจากประเทศอินเดียไปเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐ เมื่อเป็นสังคมฮินดูตามระบบวรรณะ การผูกขาดการศึกษาก็ย่อมกลับมา

นอกจากนั้น พระเจ้าอโศกได้นำหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ มีการริเริ่มใหม่ คือการถือหลักการอยู่ร่วมกันโดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่างๆ พูดอย่างปัจจุบันว่าพระเจ้าอโศกให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นราชาแบบสมัยโบราณซึ่งมีอำนาจเต็มที่ เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกในศาสนาต่างๆ อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน ฟังหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง

ฝรั่งได้พยายามสู้เพื่อสร้างหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศตะวันตกนั้นเป็นดินแดนของการรบราฆ่าฟันทางศาสนา มีการข่มเหง เบียดเบียนบีฑาเพราะนับถือศาสนาต่างกัน ที่เรียกว่า persecution และมีสงครามศาสนา คือ religious wars มากมาย เขาได้พยายามดิ้นรนที่จะให้เกิด tolerance หรือขันติธรรมขึ้นมา แต่เพียงแค่นั้นก็ยากแสนเข็ญ ต่างจากของอินเดียที่ง่ายเหลือเกิน พระเจ้าอโศกมหาราชประกาศให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน ในดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล คืออาณาจักรของพระเจ้าอโศกนั้น ซึ่งกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ที่นักประวัติศาสตร์โลกมาศึกษา ซึ่งก็เป็นพวกฝรั่งนั้นแหละ เพราะว่าประเทศอินเดียก็เหมือนกับอารยธรรมโบราณต่างๆ

ทางเมืองฝรั่ง พวกกรีกล่มไป โรมันก็ขึ้นมา แล้วโรมันก็ล่มไป พวกฝรั่งบาเบเรี่ยน ซึ่งเป็นคนป่าเถื่อนที่เจริญขึ้นในปัจจุบันก็เข้ามาครอง ก็เป็นกันมาอย่างนี้

ในอินเดีย อารยธรรมเก่าแก่ก็ล่มสลายไป แล้วก็กลายเป็นว่าพวกโน้นมาครอง พวกนี้มาครอง สมัยราชวงศ์นันทะผ่านไป ต่อมายุคราชวงศ์โมริยะก็ผ่านอีก พวกศกะมาตีพวกเชื้อสายกรีกลง พวกกุษาณมาตีศกะได้ พวกคุปตะเรืองอำนาจขึ้นมา พวกฮั่นเข้ามาโค่นคุปตะลง เวลาผ่านไปๆ พวกมุสลิมเตอร์กเข้ามา พวกโมกุลขึ้นครอง ต่อมาก็ฝรั่งเข้ามา จนกระทั่งพวกอังกฤษยึดเป็นอาณานิคม ปกครองอยู่นาน

อังกฤษเป็นผู้ค้นพบประวัติศาสตร์ของอินเดีย ค้นพบเรื่องพระเจ้าอโศก แล้วนำไปยกย่อง หนังสือของฝรั่งมีการตีพิมพ์เรื่องของพระเจ้าอโศกมากมาย แม้แต่คนไทยก็ไปรู้จักเรื่องอินเดียจากหนังสือของฝรั่งกันมาก การที่พวกฝรั่งพากันยกย่องสรรเสริญ ก็เพราะเขารู้ตระหนักว่า พุทธศาสนาได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอารยธรรมของโลกอย่างไร และพระเจ้าอโศกเมื่อได้เปลี่ยนมาเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาแล้ว

หนึ่ง ได้ทำให้อินเดียเป็นแดนของเสรีภาพทางศาสนา ให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างประสานสามัคคี

สอง ทำให้เกิดการศึกษามวลชน โดยใช้ระบบของพุทธศาสนา คือใช้วัดวาอารามเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรียน

 

จากการศึกษามวลชน
สู่การศึกษานานาชาติ

พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างวัดขึ้นทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ วัด เรียกว่า วิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง วิหารในที่นี้หมายถึงวัด อย่างที่คนไทยเรานำคำว่าวิหารมาใช้เรียกชื่อวัดมากมาย แม้แต่วัดสมัยพุทธกาลต่อมาก็เรียกว่าวิหาร เช่น เชตวันมหาวิหาร

วัดที่พระเจ้าอโศกสร้างขึ้นรวมทั้งวัดที่เกิดมีตั้งแต่ก่อนนั้น ในเวลาต่อมา หลังจากสมัยพระเจ้าอโศกแล้ว วัดซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาก็มีการพัฒนาต่อมา เช่นมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ จนบางแห่งหลายวัดมารวมกันเข้าเป็นวัดใหญ่เรียกว่า “มหาวิหาร” อย่างเช่นวัดที่พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็เกิดจาก ๖ วัดอยู่ในเขตใกล้เคียงกัน ร่วมมือช่วยกันในการศึกษา ก็เลยมารวมกันเข้าเป็นวัดเดียว จากวัดต่างๆ ๖ วัด มาเป็นวัดเดียว แล้วพัฒนาต่อมาเป็นนาลันทามหาวิหาร

นาลันทามหาวิหาร ที่ตำราฝรั่งมักเรียกว่า University of Nalanda นี้ มีการเล่าเรียนวิชาการต่างๆ มากมาย เป็นศูนย์กลางการศึกษาระหว่างชาติ มีคนจากประเทศต่างๆ ไปเล่าเรียน เช่นจากอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย พระถังซัมจั๋งจากประเทศจีน ก็มาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา มีนักศึกษาเป็นหมื่น

มหาวิทยาลัยต่างๆ ของอินเดียโบราณ เช่นอย่างนาลันทาเหล่านี้ ทำให้การศึกษาของอินเดียเจริญมาก ทำให้วิชาความรู้พัฒนาไปมากมาย เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ

ส่วนทางตะวันตก ชาวมุสลิมที่ขยายอำนาจตีเข้ามาในอินเดียก็ดี มาโดยการค้าก็ดี โดยการเข้ามาติดต่อด้วยวิธีต่างๆ ก็ดี ก็ได้รับเอาความรู้ไป แล้วนำไปสู่ตะวันตก พวกตะวันตกก็ได้รับความรู้จากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาสมัยโบราณ เช่น นาลันทา วิกรมศิลา โอทันตปุรี ชคัททละ วาเรนทรี เป็นต้น ได้เจริญมายาวนาน

เป็นที่รู้กันว่าความรู้ต่างๆ ที่ได้จากอินเดีย ผ่านไปทางมุสลิมแล้วจึงไปถึงตะวันตก อย่างตัวเลขอารบิก คือ ตัวเลขที่เราใช้กันปัจจุบัน ซึ่งบางคนเรียกว่าเลขฝรั่ง ที่เขียน 1-2-3-4-5-6-7-8-9-0 นั้น ฝรั่งเรียกกันมาว่าเลขอารบิก เพราะเข้าใจว่าเป็นเลขอาหรับ แต่ตอนหลังฝรั่งจึงค้นพบว่า ไม่ใช่ตัวเลขของอาหรับ แต่อาหรับนั้นรับมาจากอินเดียอีกที ก็เลยกลายเป็นว่าที่จริงเป็นเลขอินเดีย

ตำราบางเล่มของฝรั่งปัจจุบันก็ไม่เรียกเลขอารบิกแล้ว แต่เรียกเป็นฮินดู-อารบิก นิวเมอรัล (Hindu-Arabic numerals) คือเป็นตัวเลขอินเดีย-อาหรับ หมายความว่า จากอาหรับนั้นมาถึงฝรั่ง แต่จากอินเดียจึงไปถึงพวกอาหรับอีกทีหนึ่ง รับต่อกันไป ซึ่งเป็นเรื่องของอารยธรรมที่ต่อเชื่อมถึงกัน

ระยะที่ชาวมุสลิมมาถึงอินเดียนั้นก็ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา ซึ่งตอนนั้น มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในอินเดียกำลังอยู่ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4

เรื่องอย่างนี้พวกฝรั่งยอมรับกันดี เพราะฝรั่งเองนั้นแหละมาสืบรู้เรื่องเก่าๆ อย่างในเรื่องคณิตศาสตร์ ตำราฝรั่งเขียนว่า (ดู “India” ตอนว่าด้วย Society and culture ใน Encyclopedia Britannica, 2000)

“(ในอินเดีย) คณิตศาสตร์เจริญก้าวหน้าเป็นพิเศษ น่าจะยิ่งกว่าดินแดนใดๆ ในโลกเวลานั้น”

ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีนักคณิตศาสตร์สำคัญของอินเดียที่โด่งดังมาก โดยเฉพาะอารยภัฏ ที่ ๑ และต่อมาลูกศิษย์ของเขาชื่อภาสกร ที่ ๑ นักคณิตศาสตร์อินเดียเหล่านี้ เป็นผู้ริเริ่มใช้เลข O และระบบทศนิยม ตลอดจนเริ่มใช้วิชาพีชคณิตที่ยุโรปเรียกว่า algebra ตามคำที่นักคณิตศาสตร์มุสลิมใช้ว่า al-jabr

อารยภัฏเป็นผู้คำนวณค่าของ “pi” ให้ถูกต้องลงไปได้ว่า = 3.1416

จากอินเดีย ระบบทศนิยมมาถึงเมโสโปเตเมีย ราว ค.ศ. 670 แล้วจึงมาถึงยุโรป ระบบทศนิยมนี้ช่วยให้คณิตศาสตร์ก้าวหน้าไปได้อย่างก้าวกระโดด มีผู้ยกย่องว่าประดิษฐกรรมของอินเดียคือระบบทศนิยมนี้ เป็นการค้นพบสำคัญที่ชาญฉลาดกว่าของกรีก

ผลงานทางคณิตศาสตร์ของปราชญ์ยุโรป เพิ่งจะเริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 13 คือ ต่อพอดีกับการเสื่อมสูญสิ้นยุคมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในอินเดีย

ในทางดาราศาสตร์ อารยภัฏก็เป็นผู้คำนวณจำนวนวันในปีสุริยคติว่า ๑ ปี = ๓๖๕.๓๕๘๖ วัน

อารยภัฏเช่นกันได้สอนไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ว่าโลกเป็นลูกกลม หมุนรอบแกนของมันเอง และเคลื่อนที่วนไปรอบดวงอาทิตย์ กับทั้งได้พัฒนาทฤษฎีว่าด้วยอุปราคา (จันทรคราส และสุริยคราส)

ต่อมา หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เมื่อสิ้นยุคมืด เข้าสู่ยุคคืนชีพ (Renaissance) ในยุโรปแล้ว โคเปอร์นิคัส (Copernicus, ค.ศ. 1473-1543) ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโบโลญญา จึงได้ประกาศทฤษฎีที่เป็นการปฏิวัติความคิดความเชื่อของโลกตะวันตก ในหนังสือ “De revolutionibus orbium coelestium” ที่พิมพ์ออกมาในปีที่เขาสิ้นชีวิต ว่าโลกหาใช่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลไม่ ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล และโลกหมุนไปรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเหตุให้กาลิเลโอ (Galileo, ค.ศ. 1564-1642) ผู้เผยแพร่ความคิดนี้ ถูกจับขึ้นไต่สวนในศาล Inquisition และถูกคริสต์ศาสนจักรบังคับให้สละความเชื่อต่อทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส แล้วลงโทษอย่างเบาให้ขังตัวอยู่แต่ในบ้านจนตาย

ในทางการแพทย์ อินเดียยุคนั้นได้มีการผ่าตัดเสริมแต่ง (plastic surgery) ขึ้นแล้ว (การผ่าตัดแม้แต่สมอง มีเรื่องปรากฏมาก่อนแล้วว่า หมอชีวกโกมารภัจได้กระทำตั้งแต่ครั้งพุทธกาล)

ในด้านโลหศาสตร์ ก็มีความก้าวหน้ามากมาย เช่น ทำเหล็กที่ไม่เป็นสนิมได้ ดังปรากฏหลักฐานเป็นพยานชัดเจน คงอยู่ถึงปัจจุบัน คือเสาเหล็กสูง ๗ เมตรใกล้กรุงนิวเดลี ที่ Qutb Minar ซึ่งนับแต่สร้างมาเมื่อประมาณ ค.ศ. 400 ไม่เคยมีสนิมขึ้นแต่อย่างใดเลย

เมื่อทัพเตอร์กส์มุสลิมยกเข้าทำลายสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา (รวมทั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่ง) ในระยะ ค.ศ. 1200 (พ.ศ. ๑๗๐๐) นั้น เขาเขียนเล่าไว้ว่า หอสมุดของมหาวิหาร หรือมหาวิทยาลัยบางแห่ง ใช้เวลาเผากว่าจะไหม้หมดถึง ๓ เดือน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นเรื่องรูปธรรม ซึ่งมองเห็นง่ายหน่อย แต่คนก็ไม่ค่อยรู้กัน เพราะผลที่ปรากฏย่อมมารวมอยู่ในอารยธรรมที่รับทอดต่อมา ซึ่งคนจำนวนมากก็จะรู้จักเฉพาะอารยธรรมที่ล่าสุด

แม้ว่าอารยธรรมชมพูทวีปยุคโบราณจะล่มสลายไปแล้ว และผลงานสร้างสรรค์มากมายจะเลือนลางหายไป แต่ก็ได้ส่งผลโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ต่ออารยธรรมยุคต่อมา เช่นส่วนที่ชาวมุสลิมรับทอดนำเข้ามาสู่ยุโรป ซึ่งในที่สุดก็เข้ารวมอยู่ในกระแสธารแห่งอารยธรรมของโลก

เรื่องอย่างนี้ถ้าสืบกันไปจะเห็นว่าพระพุทธศาสนามีบทบาทมาก แต่ถ้ามองกว้างๆ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมอินเดียที่เขาอาจจะไม่พูดแยกออกไปเป็นเรื่องศาสนา แต่พูดรวมๆ ว่าเป็นอารยธรรมอินเดีย ซึ่งมีมาจากฮินดูด้วย และโดยทั่วไปนั้นฝรั่งพอพูดถึงอินเดีย ก็นึกว่าเป็นฮินดู จึงใช้คำว่าฮินดูไปหมด

ศาสตร์บางอย่างก็อาจจะมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้น เพราะเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการศึกษา จึงทำให้พัฒนาวิชาความรู้เหล่านั้นขึ้นมา สหประชาชาติเมื่อมาพิจารณาเรื่องนี้ ก็ต้องมองเห็นว่า อารยธรรมของโลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร อินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกอย่างไร พุทธศาสนามีบทบาทอย่างไรในการทำให้อารยธรรมอินเดียเจริญขึ้นมา

มนุษย์ที่เจริญแล้ว เขาจะมองภูมิหลังความเป็นมาต่างๆ ของอารยธรรม เพื่อให้เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะว่าผลรวมของอารยธรรม ก็คือการกระทำของมนุษย์ที่สร้างสมเป็นเหตุปัจจัยมา ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ

ฉะนั้น คนมีปัญญาที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ จึงไม่ใช่คนที่มัวแต่มองแบบนักเสวยผล ที่คอยดูปรากฏการณ์ว่ามีความเจริญที่นั่นที่นี่ มีอะไรจะเสพบริโภค แล้วก็ไปตื่นเต้นอยู่แค่นั้น ถ้าคนเป็นอย่างนี้ การที่จะพัฒนาก็หวังได้ยาก แต่ถ้ามองด้วยความคิดว่า พวกมนุษย์เหล่านั้นๆ สร้างสรรค์ความเจริญมาอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องใช้สติปัญญาศึกษา การที่จะพัฒนาก็มีทางเป็นไปได้

คนโง่มัวตื่นเต้นอยู่กับภาพความเจริญที่มองเห็นต่อหน้า แต่คนฉลาดมองหาประโยชน์จากเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องตลอดมาแต่อดีต

พระเจ้าอโศกนี้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด แต่ที่จริงนั้นมีบุคคลอื่นมากหลายตลอดจนสถาบันองค์กรต่างๆ มากมาย ที่มีส่วนร่วมในการทำให้พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไทยหรือจะเป็นรากฐานของอารยธรรมภาคตะวันออกในเอเซีย หรือของโลก

การปกครองโดยมีเสรีภาพทางศาสนา
ต้องมากับการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาของคน

ตัวอย่างที่พระเจ้าอโศกได้ใช้ความรู้ทางพุทธศาสนาในการสร้างอารยธรรมนั้นมีมากมาย อย่างเมื่อกี้ที่พูดถึงเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ก็เป็นวิวัฒนาการสำคัญของสังคมมนุษย์ เรื่องการเกิดขึ้นของการศึกษามวลชน การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัย แล้วก็เรื่องของการปกครองรัฐให้มีความหมายในทางสร้างสรรค์ความสุขความเจริญ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ใช่มัวแต่ยุ่งกับทรัพย์และอำนาจ ก็เป็นคติตามหลักพระพุทธศาสนา

แต่ก่อนนั้นพระเจ้าอโศกก็ลุ่มหลงมัวเมา ต้องการความยิ่งใหญ่ จึงยกทัพไปปราบดินแดนต่างๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในชมพูทวีป กษัตริย์ทั้งหลายในสมัยโบราณมักปรารถนาจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือได้ครอบครองทั้งโลก เมื่อได้ความยิ่งใหญ่ก็หาความสุขมาบำรุงบำเรอตัวเอง

พระเจ้าอโศกเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา ทรงมองเห็นเรื่องนี้แล้วทรงได้คิดและสลดพระทัย จึงทรงเปลี่ยนนโยบาย จากที่เรียกว่า “สังคามวิชัย” เอาชนะด้วยสงคราม มาเป็น “ธรรมวิชัย” เอาชนะด้วยธรรม คือปราบความทุกข์ยากเดือดร้อน เอาชนะปัญหาด้วยการใช้หลักธรรม ที่สั่งสอนแนะนำให้สร้างสรรค์ประโยชน์ ทำความดี ฉะนั้น แทนที่จะแผ่อำนาจ พระองค์ก็ใช้อำนาจและใช้โภคสมบัติหรือทรัพย์นั่นแหละ สร้างสรรค์ความดีงามให้แก่ประชาชน

การปกครองสมัยพระเจ้าอโศกจึงขึ้นชื่อลือเลื่องมาก เพราะว่าทั้งขยายการศึกษา ทำศิลาจารึกไปวางไว้ในท้องถิ่นต่างๆ บอกนโยบายของรัฐและสั่งสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชนไปในตัว แล้วก็สร้างถนนหนทาง สร้างโรงพยาบาลคน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ สร้างอ่างเก็บน้ำ ช่วยให้ประชาชนได้ปลูกพืชพรรณธัญญาหารอยู่กันด้วยดี แล้วก็ปลูกสวนปลูกป่า สร้างที่พักคนเดินทาง พร้อมทั้งทำนุบำรุงพระศาสนา อุปถัมภ์การสังคายนา ส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ

ที่พูดมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมที่สำคัญ รวมทั้งการที่พระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนา ในท้องถิ่นดินแดนต่างๆ ทั้ง ๙ สาย สายหนึ่งมาสุวรรณภูมิ ที่รวมทั้งไทย ทั้งพม่า และดินแดนในแถบนี้ สายหนึ่งไปลังกา สายอื่นๆ ไปทางด้านอาเซียน้อย ไปทางกรีก ทางอิยิปต์ ก็คือทำให้อารยธรรมมนุษย์แผ่ไปนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบต่อมา หลายอย่างก็จมอยู่ในความลึกลับของประวัติศาสตร์ จนกระทั่งไปค้นพบศิลปวัตถุโบราณทางโบราณคดี จึงได้รู้ว่าพระพุทธศาสนาไปถึงที่นั้นๆ

อันนั้นก็เป็นรากฐานของความเจริญที่สืบมาในดินแดนต่างๆ เรื่องเหล่านี้ยิ่งสืบไปก็ยิ่งมาก จึงเป็นที่แน่นอนว่าพุทธศาสนาได้มีความสำคัญเป็นรากฐานของอารยธรรมของโลก ที่มวลมนุษย์ได้สะสมเหตุปัจจัยกันมา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการพูดเพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายๆ

ถาม การที่พระเจ้าอโศกมหาราชประกาศการอยู่ร่วมระหว่างศาสนา แนวคิดนี้เกิดจากพระเจ้าอโศกมานับถือพุทธ และก็ได้นำความคิดทางพุทธไปใช้ ใช่ไหม

ตอบ แน่นอน พระพุทธศาสนาไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องศาสนาต่างๆ แต่ถือเสมอเหมือนกันว่ามนุษย์ก็เป็นมนุษย์ หลักการของพุทธศาสนาเราไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องนี้อยู่แล้ว หลักพุทธศาสนาบอกว่าพระไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้มีคำบอกว่าให้ไปเปลี่ยนศาสนาของเขา อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “คอนเวิร์ต” (convert) มีแต่คำว่า

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย”

เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ความสุขความร่มเย็นของชาวโลก

หมายความว่า ไปเพื่อทำประโยชน์แก่เขา ไปสอนธรรม ให้รู้หลักรู้ความจริง เมื่อเขาเข้าใจแล้ว เขาพัฒนาขึ้นมา เขาก็เปลี่ยนความคิดของเขาได้ เกิดความเห็นถูกต้องไปเอง สอดคล้องกับหลักการของอารยชนที่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องมี persecution คือไม่ต้องมีการใช้กำลังบังคับ คือเป็นไปเองโดยธรรมชาติ

พุทธศาสนาถือหลักของธรรมชาติว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาให้เกิดความดีงามและปัญญา คุณสมบัติต่างๆ ในตัวมนุษย์นั้น เอาไปยัดเยียดใส่ให้ไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็ต้องให้เขาพัฒนาตัวเอง โดยศึกษาเรียนรู้ขึ้นมา เราจะช่วยได้ก็ด้วยการเข้าไปเป็นเพื่อนที่ดี หรือเป็นกัลยาณมิตร ไปแนะนำให้ความรู้ ไปช่วยจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อหนุน ช่วยให้เขาพัฒนาตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ร่วมกันด้วยเมตตา

หลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือเสรีภาพทางปัญญา จึงมาคู่กับหลักเมตตา ให้มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ที่ปรารถนาดีต่อกัน การเผยแผ่ศาสนาเป็นไปตามหลักการคู่นี้ คือ การให้เสรีภาพทางปัญญา พร้อมกับมีเมตตาที่จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อเขาจะได้พัฒนาปัญญานั้นได้ในตนเอง

เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ คือถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงเป็นไปเองที่พระเจ้าอโศกมหาราชผู้นับถือพุทธศาสนาจะไม่ไปเบียดเบียนบังคับใคร เพราะมองว่ามนุษย์ ก็คือมนุษย์ ท่านไม่ได้ไปแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใด เมื่อฆ่ามนุษย์ไม่ว่าคนไหนก็เป็นบาป อย่าว่าแต่ฆ่ามนุษย์เลย สัตว์อื่น ก็ไม่ควรไปเบียดเบียน ไม่ควรไปรังแกอยู่แล้ว

 

ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา
เข้าคู่กันดีกับการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ถาม เมื่อกี้ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พูดถึงการศึกษามวลชน ก็แสดงว่ามหาวิทยาลัยนาลันทานี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการศึกษามวลชนใช่ไหม

ตอบ นาลันทาอยู่ในระยะที่วัดขยายตัวออกไปมากแล้ว กลายเป็นแหล่งการศึกษาระดับสูง ที่จริงการศึกษามวลชนก็อยู่ที่วัดทั่วไปทุกวัดนั่นแหละ หมายความว่าวัดแต่เดิมมาเป็นแหล่งที่ประชาชนทุกชั้น เพศ วัย ได้เล่าเรียนศึกษา

วัดเกิดขึ้นมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องตามหลักการ คือเมื่อพระพุทธเจ้าสอนคน มีผู้ที่ฟังพระพุทธเจ้าแล้วอยากจะรู้ยิ่งขึ้น เกิดความเลื่อมใสว่าพระพุทธเจ้ามีความจริง มีปัญญา มีความดีงามมาให้เขา ถ้าเขาศึกษา ฟังพระองค์มากขึ้น เขาจะได้ความรู้ ได้ปัญญามากขึ้น ก็อยากอยู่กับพระองค์ คืออยากศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป จึงมาขออยู่ด้วย ก็เลยเกิดเป็นชุมชน เกิดเป็นวัดขึ้นมา

พระที่เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีคนฟังคำสอนของท่านแล้วเลื่อมใส ก็ขอมาศึกษาคำสอน มาศึกษาหาปัญญา มาเพื่ออาศัยท่านในการพัฒนาตัวเขาเอง ก็เลยเกิดมีสงฆ์และวัดที่

๑. มีคนมาขอบวชอยู่ศึกษา คือเล่าเรียนและปฏิบัติ

๒. พระที่อยู่ในชุมชนสงฆ์นั้นก็ได้สั่งสอนประชาชนโดยรอบวัด

กาลเวลาผ่านมาก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ คือวัดกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา

เมื่อวัดแต่ละวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของแต่ละชุมชนแล้ว ต่อมาบางวัดมีการร่วมมือกันและมีคนมาศึกษามาก หลายวัดก็เลยรวมเข้าเป็นวัดเดียว อย่างเรื่องประวัติของนาลันทาก็คือ เกิดจาก ๖ วัดมารวมกัน รวมอยู่ในกำแพงเดียวกัน แล้วใหญ่ขึ้นมาก็เป็นมหาวิหาร จากวิหารที่แปลว่าวัดธรรมดา ก็เป็นมหาวิหารคือวัดใหญ่

มหาวิหารนั้นเจริญขึ้นมาจนมีลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่ามหาวิทยาลัย (University) ความจริงชาวพุทธเราเรียกตามชื่อเดิมว่านาลันทามหาวิหาร แต่เวลาฝรั่งเขียนเรื่องนาลันทา เขาเรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา แต่เป็นมหาวิทยาลัยสมัยโบราณ ซึ่งได้ถูกทำลายไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ประมาณ ๑๗๐๐ ลองคิดดูว่านานเท่าไรแล้ว

ถ้าอยากได้ความรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับมหาวิหาร หรือ universities เหล่านี้ ก็หาอ่านได้ง่าย เช่น หัวข้อ “History of Education” ตอนที่ว่าด้วย Ancient India: Classical India ใน Encyclopaedia Britannica ปี 1999 หรือ 2000 ก็ได้

ถาม ถือว่านาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก ได้หรือเปล่า

ตอบ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ฝรั่งเขาอยู่ในฝ่ายโน้นเขาศึกษาเรื่องของเขาก่อน เขามีเรื่องมหาวิทยาลัยโบโลญญา ที่ตั้งขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 และมหาวิทยาลัยปารีส ที่ตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เขาเพิ่งมีการศึกษาระดับนี้ และขนาดนี้ ก็เลยเอาพวกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก แต่พอมาเจอเรื่องนาลันทาเป็นต้นนี้ ซึ่งเกิดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ที่จริงต้องถามใหม่แล้วว่า มหาวิทยาลัยที่ไหนเป็นแห่งแรกในโลกกันแน่ อาจจะต้องจำกัดสั้นลงไปว่า โบโลญญา ปารีส นี่เป็นมหาวิทยาลัยแรกของยุโรป และของยุโรปภาคเหนือตามลำดับ

ถาม เราจะพูดได้หรือไม่ว่า การศึกษามวลชนเริ่มต้นตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้เผยแพร่พระพุทธศาสนา

ตอบ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ คือ ก่อนหน้านั้นศาสนาพราหมณ์จำกัดการศึกษา โดยผูกขาดอยู่ในวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ พวกวรรณะต่ำชั้นศูทรจะมาเรียน แม้แต่ฟังพระเวทไม่ได้ คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ที่คนไทยเอามาใช้เป็นหลักในเรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ของฝ่ายฮินดู ที่ถือวรรณะ ก็จึงมีกฎเกณฑ์เรื่องนี้ด้วย มีการออกกฎ ซึ่งเราเห็นชัดว่าเป็นการกีดกันในเรื่องการศึกษา

มีกฎในมนูธรรมศาสตร์ว่า คนวรรณะศูทรจะฟังสาธยายพระเวทไม่ได้ ถ้าคนศูทรฟังสาธยายพระเวท จะต้องให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหูมัน ถ้าคนวรรณะศูทรสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมันเสีย ถ้ามันเรียนพระเวท ให้ผ่ากายมันเป็นสองซีก ก็คือฆ่า รวมความก็เป็นการกีดกันไม่ให้ศึกษานั่นเอง

ระบบวรรณะทำให้คนชั้นต่ำในอินเดียถูกกีดกันและขาดการศึกษา เมื่อพระพุทธศาสนาล่มสลาย ถูกกำจัดสูญสิ้นจากอินเดียไปแล้ว ระบบวรรณะก็กลับเฟื่องฟูขึ้นมาอีก พราหมณ์ก็ยิ่งต้องเอาระบบวรรณะมาผูกมัดคนของตนเองไว้ เพื่อกีดกั้นพุทธศาสนาเป็นต้น เพราะฉะนั้นระบบวรรณะตอนหลังก็ยิ่งแน่นหนักเข้าไปอีก การศึกษาก็เสื่อมโทรม คนวรรณะต่ำไม่มีโอกาสได้เล่าเรียน

ให้ดูแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ คนที่เคยไปอยู่ในอินเดียบอกว่า คนวรรณะศูทรอยู่กันอย่างกับสัตว์ อันนี้ก็แสดงถึงบทบาทของพระพุทธศาสนาในการพัฒนาอารยธรรม ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า เมื่อสังคมมีและไม่มีพระพุทธศาสนาจะมีสภาพต่างกันอย่างไร

ถาม ถ้าพูดถึงเรื่องการปกครอง หมายความว่าหลังจากพระเจ้าอโศกมหาราช ถือพุทธแล้ว ก็เปลี่ยนจากการปกครองเพื่อแสวงหาอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ทรัพย์สิน หันมาใช้การปกครองเพื่อให้แก่ประชาชน

ตอบ ต้องเข้าใจว่าสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นยังเป็นการปกครองแบบโบราณ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นราชาธิปไตย แต่มีแนวคิดและวิธีการปกครองที่ต่างออกไปจากเดิม กลายเป็นว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์สุขของประชาชน

เมื่อเป้าหมายเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติการต่างๆ ก็ต้องมาสนองเป้าหมายนั้น แม้ว่าตัวระบอบการปกครองจะยังเป็นระบอบแบบเดิม แต่การที่มุ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั้นเป็นตัวจำกัดพฤติกรรม และจำกัดวิธีการ หรือว่ามันให้ทิศทางแก่วิธีปฏิบัติ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร คือราชาผู้ปกครองจะทำทุกอย่างเพื่อสนองวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน

เราควรได้อะไร
เพื่อให้เป็นกำไรจากวิสาขบูชา

ถาม มีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่เกี่ยวพันกับวันวิสาขบูชา คือ วันอัฏฐมีบูชา ขอให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์ช่วยอธิบาย

ตอบ วันอัฏฐมีบูชา เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากวันวิสาขบูชา คือในวันวิสาขบูชานั้น เราทำพิธีบูชาระลึกพระคุณของพระพุทธเจ้า ในการที่พระองค์ได้ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เหตุการณ์สามอย่างนี้มาลงในวันเดียวกัน เหตุการณ์สุดท้าย ก็คือปรินิพพาน เพราะฉะนั้นวันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่รวมพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าทั้งหมด

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว มีเรื่องกล่าวถึงในพระไตรปิฎก เล่าถึงการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ พูดอย่างชาวบ้านก็คือการเผาพระบรมศพหรือพระสรีระของพระองค์ ซึ่งจัดขึ้นหลังจากนั้นไปแล้ว ๗ วัน ตรงกับวันที่เราเรียกว่า วันแรม ๘ ค่ำ ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่าวันอัฏฐมี เราก็เลยมีการบูชา ทำพิธีระลึกพระคุณของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ในการถวายพระเพลิงพุทธสรีระนั้นด้วย

คนโบราณในเมืองไทยเราจัดพิธีวันอัฏฐมีบูชา ก็คือจัดพิธีบูชาพระพุทธเจ้า เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญคือการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แต่ต่อมาระยะหลังนี้ พิธีวันอัฏฐมีบูชานี้เสื่อมจางหายไป เพราะว่าพวกเราชาวพุทธรุ่นใหม่นี้ เพียงจะรักษาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่เดิมให้เหลืออยู่ก็ยากเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเลือกเอาวันที่สำคัญมากๆ ไว้ วันอัฏฐมีนั้นมีความสำคัญน้อยกว่า ก็เลยค่อยๆ จางไป

เรื่องนี้ก็คล้ายว่า เมื่อพุทธศาสนาได้รับความสนใจเอาใจใส่จากประชาชนมาก คนทำการบูชาในวันวิสาขบูชายังไม่พอ ก็ขยายมาวันอัฏฐมีต่อ เมื่อรักษาไว้ไม่ไหว วันอัฏฐมีก็หดหายไป ก็เหลือวันวิสาขบูชา แล้วก็ยังมีวันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชาด้วย วันอัฏฐมีบูชาพูดง่ายๆ ก็เป็นวันพ่วงมากับวันวิสาขบูชา

ถาม ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ก็ยังห่วงชาวโลกอยู่ ไม่ทราบว่าได้ทรงกล่าวอะไรให้กับชาวโลกบ้าง

ตอบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักการ ถ้าว่าตามปัจฉิมวาจาหรือวาจาสุดท้าย ก็ตรัสบอกว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง คือสังขารทั้งหลาย มีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์ก็ตาม หรือสังคมอารยธรรมอะไรต่างๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการแตกสลายกันไปตามเหตุปัจจัย สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือ ต้องไม่ประมาท ดังนั้นก็ตรัสฝากไว้ว่า ให้ไม่ประมาท

เมื่อเราไม่ประมาท เราก็จะใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง ว่าในขณะที่สิ่งทั้งหลายเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไป

หนึ่ง ตัวเราเองไม่นิ่งนอนใจ เรากระตือรือร้นในการที่จะพัฒนาชีวิตของตน ให้วันเวลาผ่านไปอย่างดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด

สอง คือสังคม ประเทศชาติ ตลอดจนอารยธรรมของโลก ก็ต้องศึกษาวิเคราะห์เหตุปัจจัยเพื่อให้ไม่ประมาทว่า อะไรจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม แล้วก็แก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยเหล่านั้น อะไรที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงาม ก็ชวนกันรีบสร้างสรรค์ขึ้น

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติในการเป็นอยู่โดยไม่ประมาท

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอนิจจัง คือเรื่องไม่เที่ยง มักจะตรัสควบกับความไม่ประมาท นั่นคือมนุษย์จะได้ประโยชน์จากความไม่เที่ยง และจากเรื่องของการแตกสลายเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มันไม่คงทนอยู่ตลอดไป แต่ที่สำคัญก็คือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า การที่สิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะอยู่ได้ดีที่สุดก็ต้องไม่ประมาท ไม่ประมาทอย่างไร

หนึ่ง ในการศึกษาเรียนรู้ ให้เข้าใจเหตุปัจจัย

สอง นำความรู้นั้นมาปฏิบัติแก้ไขเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ อย่างน้อยก็ดำรงรักษาเหตุปัจจัยในฝ่ายดีไว้

อย่างสังคมไทยเราปัจจุบันนี้ ควรจะพิจารณาตรวจสอบดูว่าชีวิตและสังคมของเราตั้งอยู่ในความประมาทไหม และมีสภาพของความเสื่อมมากมายหรือเปล่า พวกเรากำลังทำเหตุปัจจัยของความเสื่อมกันอยู่มากมายหรือเปล่า

ในแง่ของความเจริญ เราเจริญจริงหรือเปล่า และเราทำเหตุปัจจัยของความเจริญกันบ้างหรือเปล่า หรือว่าเราได้เพียงแค่รับเอาภาพของความเจริญมา แต่เราไม่ได้ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราอาศัยเหตุปัจจัยของความเจริญจากที่อื่นและรับเอาแต่เพียงผลจากเขาใช่หรือไม่

ถ้าเราไม่ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราจะเจริญงอกงามได้ยาก สิ่งที่เอามานั้นเป็นเหมือนของยืม หรือเป็นของที่ถูกหลอกถูกล่อให้เอามาใช้หลอกตัวเองเท่านั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์ตรวจสอบตัวเองกันบ้าง

ตามหลักพุทธศาสนา สังคมพุทธต้องเป็นสังคมแห่งปัญญา เมื่อจะมีศรัทธาก็ต้องมีปัญญาควบคู่และควบคุมว่า

หนึ่ง ที่ว่าเรามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นเรามีศรัทธาถูกต้องหรือเปล่า ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่แท้หรือไม่

สอง ศรัทธาที่จะถูกต้องก็คือต้องมีปัญญา เรามีปัญญาประกอบหรือไม่

สาม เรามีการพัฒนาในเรื่องศรัทธาและปัญญานี้หรือไม่

เราได้มีการวิเคราะห์สภาวะสถานการณ์และใช้ปัญญากันจริงจังหรือเปล่า แม้แต่จะสร้างวิถีชีวิตแห่งปัญญาให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญา เช่นมีความใฝ่รู้ ชอบศึกษา เราทำกันบ้างไหม การใฝ่รู้ชอบศึกษาทำให้เกิดความเจริญปัญญาในตนเอง แต่นอกจากนั้นยังทำให้เรารู้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิตและเหตุการณ์ของโลก ซึ่งจะทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้เท่าทันว่าโลกที่เจริญอย่างปัจจุบันนี้ เจริญจริงหรือเปล่า เจริญในแง่ไหน มีความเสื่อมพ่วงอยู่ หรือซ่อนอยู่อย่างไร มีเหตุปัจจัยมาอย่างไร เราควรจะเลือกรับส่วนไหน และจะนำมาปรับใช้ จะแก้ไข จะพัฒนาต่อไปอย่างไร

มนุษย์ที่มีปัญญา เป็นชาวพุทธ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาและแก้ไข ไม่ใช่ตื่นไปกับภาพของสิ่งที่จะมาบำรุงบำเรอฉาบฉวยผิวเผินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีหลัก คติพระพุทธศาสนาที่จะนำมาใช้ปฏิบัติได้มีมากมาย อยู่ที่เราจะใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาหรือไม่

การเวียนมาถึงของวันวิสาขบูชา ก็คือเป็นการเตือนใจเรา และเป็นโอกาสสำหรับเราจะได้มาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วศึกษาให้เข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อทำอย่างนี้อารยธรรมมนุษย์ก็จะพัฒนาได้ต่อไป ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นเพียงผู้เสวยผลที่มีมาในอดีต ไม่รู้จักสร้างสรรค์อะไรเลย โดยแม้แต่จะรับก็อาจจะเลือกไม่เป็น เพราะไม่ใช้ปัญญา บางทีก็ไปเอาส่วนเสื่อมโทรมในที่ต่างๆ มารวมไว้กับตัวเอง

ฉะนั้นเมื่อถึงวันวิสาขบูชา อย่างน้อยก็ควรถือเอาประโยชน์จากการที่พระพุทธเจ้าได้สอนเราให้มีความไม่ประมาท ในการที่จะใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัย แล้วก็ใช้เรี่ยวแรงความเพียรในการกระทำของตนเอง ทำการแก้ไขและสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็จะมีความเจริญได้อย่างแท้จริง

วันวิสาขบูชาจะเป็นวันสำคัญของโลกได้ ก็ต้องมีความสำคัญเริ่มตั้งแต่ที่ตัวของแต่ละคน แต่ละชีวิต แต่ละท้องถิ่น แล้วก็แต่ละสังคม ถ้าเราสามารถทำให้พระพุทธศาสนามีความหมาย ความสำคัญต่อประเทศไทยได้ ก็จะเกิดความสำคัญต่อโลกพ่วงมาด้วย และจะให้สำคัญต่อโลกแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนไทยรู้จักนำเอาหลักพุทธศาสนามาใช้สร้างสรรค์แก้ไขปัญหาของสังคมตนเอง แล้วก้าวไปแก้ไขปัญหาของโลกด้วย

ที่พูดมานี้เป็นบทบาทที่แท้จริงของพุทธศาสนาที่ควรจะมี คือสามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาโลกไปในทางที่ถูกต้อง

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เวลานี้โลกมีปัญหามากมายเพียงไร เราก็เอาภาพความฟุ้งเฟ้อผิวเผินอะไรบางอย่างมากลบๆ กันไว้ ลึกลงไปใต้นั้นก็ซ่อนเต็มไปด้วยปัญหาทั้งนั้น ประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ล้าหลังก็ตาม เวลานี้มีปัญหาอะไรก็รู้กันอยู่แล้ว เจริญกันมาพัฒนากันไปเดี๋ยวก็บอกว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน โลกนี้ถูกคุกคามด้วยปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม

สังคมที่พัฒนาแล้วหรือประเทศเจริญมากอย่างอเมริกา มีปัญหาตั้งแต่ชีวิตจิตใจเครียด มีความทุกข์มาก ฆ่าตัวตายมาก ฆ่ากันตายมาก ปัญหาความรุนแรง เด็กนักเรียนประถมเอาปืนไปยิงเพื่อนนักเรียนบ้าง ยิงครูที่โรงเรียนบ้าง ติดยาเสพติด ยาบ้า ยาม้า ยาอี โคเคน ครอบครัวก็แตกสลาย เด็กหญิงยังไม่ได้แต่งงานมีลูกตั้งแต่อายุ ๑๒ ลูกก็ไม่มีพ่อ ตัวเองก็ยังเลี้ยงลูกไม่เป็น เด็กก็เจริญเติบโตมา เป็นส่วนประกอบของสังคมที่เป็นปัญหา ซึ่งจะทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงระยะยาว ไหนจะมีความแบ่งแยกรังเกียจเหยียดผิวกันเรื้อรังมาเป็นศตวรรษ

ล่าสุด วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓ นี้ ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม เป็นวันแม่ (Mother's Day) ของอเมริกา ในวันแม่ปีนี้ คุณแม่ทั้งหลายทั่วประเทศอเมริกา ๑ ล้านคน ตกลงกันออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาอเมริกันออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดจริงจังขึ้น เพราะเวลานี้เด็กอเมริกันตายเพราะปืนเฉลี่ยวันละ ๑๒ คน

วันแม่ แทนที่จะเป็นวันแห่งความสุขของครอบครัว ที่แม่จะได้ชื่นชมยินดีปลาบปลื้มซาบซึ้งกับการแสดงน้ำใจกตัญญูของลูก กลับกลายเป็นวันที่แม่ต้องออกมาระบายความทุกข์เพราะปัญหาของลูก พร้อมกับที่วันแม่ที่ควรจะเป็นวันแห่งกิจกรรมทั้งหลายที่เป็นมงคล กลับกลายเป็นวันที่สะท้อนอาการโรคของสังคม ที่ความรุนแรงได้ระบาดทั่วลงมาถึงแม้แต่ในหมู่เด็กน้อยที่เยาว์วัย

นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่นประเทศไทยเรา ที่จะไตร่ตรองว่าจะตามอย่างประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วกันอย่างไร

มองกว้างออกไปก็มีการแย่งชิงทรัพยากรกันในหมู่ประเทศต่างๆ ประเทศที่มีอำนาจมากก็แข่งขันกันในการที่จะแผ่อำนาจทางเศรษฐกิจ หาผลประโยชน์ หาแหล่งทรัพยากร มีการขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างประเทศร่ำรวยด้วยกัน มีความหวั่นกลัวต่อการครอบงำและเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศที่มั่งคั่ง กับประเทศที่ขาดแคลน ระบบและองค์กรที่ว่าตั้งขึ้นเพื่อการค้าขายที่เสรีมีความเสมอภาค ก็เป็นที่สงสัยว่าจะไม่เกิดจากวัตถุประสงค์ที่จริงใจ ฯลฯ ถ้าสนใจเอาจริงเอาจัง รู้จักรับฟัง ก็จะมองเห็นสภาพปัญหาเหล่านี้

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นภาพทั่วไป ก็คือการมองไปที่สิ่งเสพบริโภคซึ่งมาล่อให้ตื่นเต้น โดยบางทีเราก็ไม่ได้มองว่า เบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้มีอะไร

คนที่มีปัญญาจะอยู่เพียงกับภาพที่ปรากฏผิวเผินภายนอกไม่ได้ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาวิเคราะห์ ถ้าเราจะต้องการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตสังคมและอารยธรรมของโลกกันจริงๆ ก็เป็นโอกาสที่ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชาทีหนึ่ง ก็มาทบทวน ตรวจสอบ วิเคราะห์ แล้วก็พยายามที่จะนำเอาหลักการของพระพุทธศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหา

ถาม ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์อย่างสูง ที่ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องวันวิสาขบูชาและช่วยเชื่อมโยงไปกับหลักการของพระพุทธศาสนา ที่จะช่วยสร้างอารยธรรมและช่วยชาวโลกได้อย่างไร

ตอบ ขออนุโมทนา เจริญพร

1ประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ ตามคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาเล่าไว้
2ประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ ตามคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาเล่าไว้
3อาสภิวาจา ในคราวประสูติ ดู ที.ม.๑๐/๒๖ (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๒๖); ม.อุ.๑๔/๓๗๗ (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๓๗๗)
4พุทธอุทาน เมื่อแรกตรัสรู้นี้ ดู วินย.๔/๑-๓ (วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑-๓); ขุ.อุ.๒๕/๓๘-๔๐ (ขุททกนิกาย อุทาน พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๘-๔๐)
5ปัจฉิมวาจา คราวปรินิพพาน ดู ที.ม.๑๐/๑๔๓ (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๓); สํ.ส.๑๕/๖๒๐ (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๖๒๐)
6พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์แก่มูลนิธิพุทธธรรม เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ณ วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง