พัฒนาปัญญา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ฉลาดไม่เข้าเรื่อง พาให้วอดวาย1

เจริญพร วันนี้อาตมภาพก็ว่าจะพูดเรื่องปัญญาต่อ ปัญญานั้นเป็นเรื่องกว้างขวางลึกซึ้งมาก มีหลายระดับด้วยกัน และก็ใช้งานได้ทุกระดับด้วย ตั้งแต่กิจธุระสามัญประจำวันไปจนกระทั่งการปฏิบัติธรรมถึงขั้นบรรลุมรรคผล

เป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นด้วยปัญญา เพราะคำว่า พุทธะ ก็แปลว่าผู้ตื่นแล้ว หมายถึงว่ามีปัญญา ตื่นจากโมหะ ตื่นจากความมืด หรือคำว่าโพธิ ก็หมายถึงปัญญาเหมือนกัน

นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งมีระดับต่างๆ มากมาย

สำหรับวันนี้ อาตมภาพคิดว่า จะเล่าแทรกเรื่องเบาๆ ให้เห็นว่าปัญญาที่นำมาใช้ในระดับต้นๆ ในกิจธุระธรรมดา แม้จนกระทั่งในการแข่งขันต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบกันนั้น เป็นอย่างไรจะได้เอามาเทียบ แล้วทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญญาโดยทั่วๆ ไป

สำหรับเรื่องที่จะเอามาเล่าแทรกวันนี้ ก็เอามาจากนิทานชาดก

ท่านเล่าให้ฟังว่า นานมาแล้ว มีคนสวนคนหนึ่งของพระราชา ทำหน้าที่รักษาพระราชอุทยาน อยู่มาวันหนึ่ง มีงานนักขัตฤกษ์ เขาก็อยากจะไปเที่ยวเล่นบ้าง แต่เขาจะละทิ้งสวนไปไม่มีคนดูแล ก็ไม่ได้

เขานึกขึ้นมาว่า ในสวนของเรานี่มีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง พอจะช่วยงานได้ ในระหว่างที่เราไม่อยู่นี่ เราจะมอบภาระเรื่องการดูแลสวนให้ลิงช่วยจัดการ เพราะว่าการดูแลในที่นี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่คอยรดน้ำต้นไม้เท่านั้นเอง

คนสวนคิดอย่างนั้นแล้ว ก็เรียกลิงจ่าฝูงมา แล้วก็บอกว่า “นี่นะ เธอทั้งหลาย บรรดาฝูงลิงก็ได้อาศัยสวนนี้เป็นที่อยู่สบายมานานแล้ว นี่ฉันจะให้ช่วยรับภาระดูแลสวนสักวันหนึ่งจะได้ไหม? ฉันจะเข้าไปธุระในเมืองไปดูการละเล่น ช่วยรดน้ำให้ที พาฝูงลิงทั้งหมดนี้ เอาน้ำมารดต้นไม้ในสวน”

ลิงจ่าฝูงก็บอกว่า “ได้จ้ะ” นายคนสวนก็เลยไปจัดการเอาพวกกระป๋องและถังน้ำมารวมไว้ให้

สั่งการเรียบร้อยดีแล้ว คนเฝ้าสวนของพระเจ้าแผ่นดินก็ไปเที่ยวเล่นในเมือง

ฝ่ายจ่าฝูงลิง ถึงเวลาที่จะรดน้ำต้นไม้ ก็บอกกับพวกลูกน้องลิงทั้งหลาย สั่งว่า “นี่พวกเราช่วยกันเอาถังน้ำเหล่านี้ไปตักน้ำในสระในแม่น้ำนั่นมารดต้นไม้”

บรรดาลิงทั้งหลายก็พากันฉวยเอาถังน้ำบ้างกระป๋องน้ำบ้าง และก็จะเริ่มไปตักน้ำมารดต้นไม้ตามคำสั่ง

แต่แล้วจ่าฝูงลิงก็บอกว่า “หยุด หยุด! หยุดก่อน หยุดก่อน! พวกเราต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เราจะทำอย่างไรจึงจะใช้น้ำอย่างประหยัด เราก็ต้องดูว่า ต้นไม้ต้นไหนต้องการน้ำมาก ต้นไหนต้องการน้ำน้อย แล้วรดให้พอดี ต้นไหนต้องการน้ำมาก เราก็รดน้ำมาก ต้นไหนต้องการน้ำน้อย ก็รดน้ำน้อย

“แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้นไหนต้องการน้ำมาก ต้นไหนต้องการน้ำน้อย ก็ต้องรู้ว่าต้นไหนรากยาว ต้นไหนรากสั้น ต้นไหนรากยาว ก็แสดงว่าต้องการน้ำมาก ต้นไหนรากสั้น ก็ต้องการน้ำน้อย เพราะฉะนั้น เรามาแบ่งงานกันนะ ลิง ๒ ตัว ตัวหนึ่งก็ดูรากต้นไม้ ตัวหนึ่งก็ไปเอาน้ำมารด”

ว่าแล้วก็ให้ลิงแบ่งงานกันเป็นคู่ๆ ลิงทั้งหลายก็ทำตาม ลิงตัวหนึ่งก็รออยู่ที่ต้นไม้ ลิงอีกตัวหนึ่งก็ไปตักน้ำมา พอจะรด ลิงตัวที่อยู่ที่ต้นไม้ก็ถอนต้นไม้ขึ้นมาดูราก บอกว่า “ต้นนี้รากยาว” แล้วก็ใส่กลับลงไปในดิน ลิงอีกตัวหนึ่งก็รดน้ำมาก เสร็จแล้วก็ไปถอนต้นอื่นดู บอกว่า “อ้าว! ต้นนี้รากสั้น” แล้วก็รดน้ำน้อย

ทำอย่างนี้จนกระทั่งหมดสวน ปรากฏว่าต้นไม้ในพระราชอุทยานตายหมด

นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญาลิง แสดงว่าลิงตัวนี้มีปัญญามาก แต่ว่าปัญญาไม่พอดี จะว่าปัญญาเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ คิดไปข้างเดียว จะเห็นว่ามันฉลาดนะ มันเข้าใจคิด รู้จักคิดว่า ต้นไม้นี่ต้องการน้ำไม่เท่ากัน กินน้ำมากบ้าง กินน้ำน้อยบ้าง แล้วแต่รากยาว หรือรากสั้น อะไรอย่างนี้ ก็คิดเป็นเหตุเป็นผล

แต่เหตุผลของลิงนี่มันไม่พอดี ไม่เต็ม ไม่ครบแง่ด้าน ก็เลยกลายเป็นโทษ

ดังนั้น จึงได้มีพุทธภาษิตสอนว่า “คนฉลาดไม่เข้าเรื่อง หรือฉลาดไม่เป็นเรื่อง ก็เหมือนลิงเฝ้าสวน ตัวนึกว่าจะทำประโยชน์ แต่กลับทำให้เสียหาย ทำลายประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดความสุข” คือทำให้เกิดโทษ กลายเป็นการทำลาย (ดูพุทธภาษิตที่ ขุ.ชา.๒๗/๔๖/๑๕)

เพราะฉะนั้น การใช้ปัญญาจึงต้องระมัดระวังเหมือนกัน อาจจะมีการผิดพลาด โดยเข้าใจว่า เรานี้ใช้ปัญญาหรือเรามีปัญญามากแล้ว แต่ปัญญาของเรานั้นอาจจะมีจุดบกพร่อง มีแง่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือใช้ผิดพลาด ทำให้เกิดโทษเกิดความเสียหายขึ้นมามากมาย นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง:

ฉลาดแก้กล พาให้พ้นอันตราย

คราวนี้ก็เป็นเรื่องลิงเหมือนกัน ลิงนั้นมีชื่อมากในบรรดาสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาด ทีนี้ลองมาดูกันว่าลิงอีกตัวหนึ่งจะทำให้เกิดเรื่องเสียหายหรือไม่

มีเรื่องในชาดกอีกแหละ เล่าว่า ที่แม่น้ำสายหนึ่ง มีจระเข้ผัวเมียคู่หนึ่ง อยู่มาจระเข้ตัวเมียเกิดแพ้ท้อง ก็บอกแก่จระเข้ตัวผัวว่า “ฉันแพ้ท้อง อยากจะกินหัวใจลิง”

จระเข้ตัวผัวก็คิดว่า เอ! เราจะทำอย่างไรดี เราจะต้องหาทางช่วยให้จระเข้ตัวเมียนี้ได้กินหัวใจลิง ในที่สุดก็คิดอุบายขึ้นมาได้

พอคิดอุบายได้แล้ว จระเข้ก็โผล่ขึ้นมาจากพื้นน้ำ แล้วว่ายเข้าไปที่ริมตลิ่ง ไปคุยกับลิงตัวหนึ่ง บังเอิญไปเจอตัวที่ฉลาด จระเข้ก็ทักทายลิง บอกว่า “นี่ท่านอยู่ที่นี่คงจะสบายดีนะ หากินได้ดีไหม”

ลิงก็บอกว่า “ต้นไม้แถวนี้ ลิงมันมาก แย่งกันกิน จนผลไม้เหลือน้อย รู้สึกจะขาดแคลนมากสักหน่อย หากินยาก”

จระเข้บอกว่า “นี่นะ ข้าพเจ้าเที่ยวไปในน่านน้ำนี้ เดี๋ยวก็มาฝั่งนี้ เดี๋ยวก็ไปฝั่งโน้น ข้าพเจ้าได้เห็นที่ฝั่งโน้น ฝั่งตรงข้ามนะ ต้นไม้มีผลไม้ดกเหลือเกิน ถ้าท่านได้ไปอยู่ที่นั่น คงจะอุดมสมบูรณ์” จระเข้พรรณนาจนกระทั่งลิงอยากจะไป

ลิงก็บอก “เอ! ฉันอยากจะไปฝั่งโน้นบ้างละ แต่ฉันไปไม่ได้ มันมีแม่น้ำกั้นอยู่ ไม่รู้จะไปยังไง”

จระเข้บอกว่า “ไม่เป็นไร ถ้าท่านอยากจะไปจริงๆ ข้าพเจ้าจะอาสาช่วยให้ท่านขี่หลังไปเลย ข้าพเจ้าจะว่ายพาไปถึงฝั่งโน้น” ลิงก็ตกลง

เมื่อตกลงกันอย่างนั้นแล้ว จระเข้ก็เข้ามาที่ฝั่ง แล้วก็ให้ลิงขึ้นหลัง จระเข้ก็ว่ายน้ำไปจนกระทั่งถึงกลางแม่น้ำ พอเห็นว่าถึงกลางแม่น้ำแล้ว จระเข้ก็มั่นใจว่าคราวนี้ได้หัวใจลิงแน่ จะเอาหัวใจลิงไปให้เมียของตนกิน ก็เลยเยาะเย้ยลิงขึ้นมาว่า “นี่ท่านเสียรู้เราแล้ว รู้ไหม เราจะเอาหัวใจของท่านไปให้เมียกิน”

ลิงก็ตกใจพูดว่า “อ้าว! ทำไมล่ะ ทำไมไม่พาข้าพเจ้าไปฝั่งโน้น” จระเข้ก็บอกว่า “เราไม่ต้องการจะพาท่านไปหรอก เราต้องการจะฆ่าท่านเอาหัวใจต่างหากล่ะ” ลิงก็ตกใจมาก

ถึงแม้ลิงจะกลัวมากก็จริง แต่เพราะมีปัญญา ก็เลยคิดอุบายซ้อนขึ้นมาในบัดนั้น บอกว่า “เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน นี่ท่านพาข้าพเจ้ามาโดยความเข้าใจผิด ข้าพเจ้าไม่ได้เอาหัวใจติดมาด้วยหรอก เวลาข้าพเจ้าจะมาอย่างนี้ ข้าพเจ้าเอาหัวใจออกไปเก็บไว้ที่อื่นแล้ว”

จระเข้สงสัยก็ถามว่า “ท่านเอาหัวใจไว้ที่ไหนล่ะ” ลิงก็ชี้กลับไปที่ฝั่งเดิมนั้น ชี้ไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง มีผลไม้สีแดงๆ ก็บอกว่า “นั่นแหละหัวใจของข้าพเจ้า แขวนไว้ที่ต้นไม้นั่น เห็นไหม”

จระเข้โง่ ก็เชื่อ คิดว่า เอ! ไม่รู้จะทำอย่างไรดี มีทางจะได้กินหัวใจลิงไหมหนอ ก็บอกลิงว่า “แกจะต้องเอาหัวใจมาให้ข้าฯ ไม่งั้นข้าฯ จะฆ่าแก”

ลิงก็บอกว่า “เอ้า! ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะเอามาให้ แต่จะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องพาข้าพเจ้ากลับไปที่ฝั่งเดิม แล้วจะขึ้นไปเอาหัวใจมาให้” จระเข้ก็คาดคั้นบอกว่า “ต้องไปเอามานะ ไม่งั้นฉันจะฆ่าแกให้ตาย” ลิงก็รับปากรับคำดี

จระเข้ก็หันหัวกลับ ว่ายน้ำมาเข้าฝั่ง พอเข้าถึงฝั่ง พอเอาหัวเกยตื้น ลิงก็กระโดดแผล็วขึ้นหัวจระเข้ไปข้ามขึ้นฝั่ง แล้วก็ขึ้นต้นไม้ไปเลย พอขึ้นต้นไม้ไปแล้ว ก็ไปขย่มต้นไม้ร้องเยาะเย้ยจระเข้ บอกว่า “จระเข้หน้าโง่ แกเสียรู้ข้าฯ แล้ว ข้าฯ เอาหัวใจไว้ที่ต้นไม้มีที่ไหน แกอดกินข้าฯ แล้ว”

จระเข้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เสียรู้เขาแล้วก็ไม่มีทางที่จะขึ้นไปจับลิงได้ ผลที่สุดก็เลยดำน้ำหายไป

เรื่องก็จบลง อันนี้ก็เป็นการใช้ปัญญา แต่เป็นปัญญาที่ใช้ในระดับกิจธุระธรรมดาสามัญ แม้จนกระทั่งเรื่องของกิเลส ที่มาต่อสู้ชิงไหวชิงพริบกัน อาตมภาพเอามาเล่าเพื่อให้เห็นเรื่องปัญญาที่ใช้ในแง่ในระดับต่างๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาตรัสไว้ในชาดก เพื่อเป็นการสอนคติธรรม

แม้จะเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาก็จริง แต่ก็มีคติธรรมอื่นๆ แทรกอยู่ด้วย

เรื่องแรก เป็นการใช้ปัญญาไม่ถูกเรื่อง หรือฉลาดไม่เป็นเรื่อง ไม่เข้าเรื่อง ซึ่งทำให้เกิดโทษได้

ส่วนเรื่องที่ ๒ เป็นพฤติกรรมของจระเข้ที่ต้องการจะทำความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น โดยใช้อุบายหลอกลวงเขา แต่คนที่ลวงเขา ก็อาจจะถูกเขาลวงตอบได้ และก็กลับได้รับทุกข์แสนสาหัส เหมือนอย่างจระเข้ตัวนี้

ส่วนคนที่รู้จักใช้ปัญญา ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ ทำให้หมดปัญหา ทำให้ตนเองรอดพ้นจากความทุกข์ไปได้ เหมือนอย่างลิงในเรื่องที่สองนั้น

วันนี้ อาตมภาพก็เอาเรื่องเบาๆ มาเล่าให้โยมฟัง จะค่อยๆ เล่าเรื่องปัญญาที่อาจจะลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับเท่าที่มีโอกาส ให้เห็นปัญญาในระดับต่างๆ ในหลายระดับ สำหรับวันนี้ ก็ได้ทั้งเรื่องปัญญาด้วย ทั้งคติธรรมที่แฝงมากับเรื่องในชาดกนั้นด้วย ก็ขออนุโมทนาโยมแต่เพียงเท่านี้ เจริญพร

สตรีผู้มีสติดี มีปัญญาเลิศ2

เจริญพร สำหรับรายการเล่าเรื่องให้โยมฟังในวันนี้ คิดว่าจะเล่าเรื่องการใช้ปัญญา

เรื่องการใช้ปัญญา สำหรับวันนี้ก็เป็นเรื่องในสมัยพุทธกาล จะขอเล่าเรื่องพระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระกุณฑลเกสีเถรี

พระเถรีต่างๆ ที่เข้ามาบวชในพระศาสนานั้น มีประวัติชีวิตเป็นมาต่างๆ กัน หลายท่านได้ประสบความทุกข์อย่างหนักมาก่อน แล้วก็สละโลกมาบวช เมื่อบวชแล้ว ก็ได้ศึกษาปฏิบัติและกลายเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้ที่ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นมาก และมีความสามารถพิเศษ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า

พระกุณฑลเกสีเถรีนี้ก็เป็นท่านหนึ่ง ที่ได้มาเป็นมหาสาวิกา หรือเป็นพระสาวิกา คือ สาวกฝ่ายหญิงที่มีความสำคัญมาก ตามประวัติเดิมของท่านว่า ท่านเป็นธิดาของเศรษฐี

ลูกเศรษฐีสมัยก่อนนั้น มักถูกเก็บตัวมาก กุณฑลเกสีนี้ก็เหมือนกัน บิดาเป็นคนร่ำรวยเป็นเศรษฐี ก็สร้างปราสาท แล้วให้ลูกสาวอยู่ในปราสาทนั้น และเธอก็อยู่บนปราสาทตลอดมา

วันหนึ่ง เมื่อกุณฑลเกสีอายุได้ ๑๖ ปี กำลังรุ่นสาว ได้เกิดมีเหตุการณ์สำคัญขึ้น ทางบ้านเมืองจับคนร้ายคนหนึ่งได้ และจะต้องประหารชีวิต

ในสมัยโบราณนั้น ก่อนที่จะประหารชีวิต เขาจะต้องนำตัวนักโทษมาตระเวนประจานไปตามถนนก่อนแล้ว จึงจะนำไปสู่ตะแลงแกง ในวันนั้นเขาก็เอาตัวผู้ร้ายคนนี้มาตระเวนประจาน

กุณฑลเกสีธิดาเศรษฐีอยู่บนปราสาท มองลงมาทางหน้าต่าง เห็นโจรร้ายคนนี้ ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ เสน่หาขึ้นมาอย่างแรงกล้า ถึงกับไม่กินอาหาร จะยอมตายถ้าไม่ได้โจรคนนั้น

ในที่สุด ท่านเศรษฐีบิดาต้องคิดหาอุบายเพื่อจะให้ได้โจรร้ายคนนี้มา โดยให้คนรับใช้นำเอาสินบนไปให้แก่พวกผู้คุม ผู้คุมนั้นได้เงินมาก ก็เลยปล่อยตัวโจรร้ายให้มา แล้วไปหานักโทษคนอื่นจับเอาไปประหารแทน

เป็นอันว่า โจรร้ายคนนี้ก็ได้มาอยู่กับธิดาของเศรษฐี เมื่อมาอยู่ด้วยกันสักระยะหนึ่ง เพราะความที่เป็นคนมีจิตใจโหดร้าย ไม่ทิ้งนิสัยเดิม ทั้งที่มาอยู่ในปราสาทอย่างสุขสบาย ก็ไม่ชอบ อยู่ไปสักพัก ก็เบื่อ อยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบโจรอีก จึงคิดจะหนี แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อยากจะได้สมบัติไปด้วย ก็เลยคิดหาอุบาย

วันหนึ่ง อดีตโจรร้ายคนนี้ก็ออกอุบายบอกกะธิดาเศรษฐีว่า “นี่นะน้อง การที่พี่จะได้มาอยู่กับน้องนี่ ก็เพราะว่า พี่ได้บนบานเทวดาไว้ คือ เมื่อตอนที่จะถูกจับ พี่บนเทพเจ้าแห่งหน้าผาที่ประหารโจรว่า ถ้าปลอดภัยได้พ้นโทษ จะเอาของแก้บนไปถวาย เวลานี้พี่พ้นโทษแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้แก้บน เทพเจ้าท่านอาจจะลงโทษเอาได้ เพราะฉะนั้นก็ควรจะทำพิธีแก้บนให้เสร็จสิ้นไปเสีย”

นางกุณฑลเกสีนี้ ด้วยความรักโจรนั้น ก็บอกว่าเอาสิ ตามใจพี่ จะเอาอย่างไร น้องจะทำตามทุกอย่าง แล้วก็บอกสั่งบริวารให้เตรียมของต่างๆ ที่จะไปแก้บน

เมื่อถึงวันจะไป โจรร้ายก็บอกว่า วันนี้ ขอให้น้องแต่งตัวให้ดีที่สุด มีเครื่องประดับอะไรๆ ก็แต่งให้เต็มที่ นางกุณฑลเกสีก็ตามใจเพราะความรักต่อสามี ก็แต่งตัวให้ดีแล้วก็ขึ้นรถไปด้วยกัน พร้อมกับบริวาร

พอไปถึงสถานที่นั้น ปรากฏว่าเป็นภูเขามีเนินสูงขึ้นไป สามีก็บอกอีกว่าให้พวกคนรับใช้ที่ตามมาในรถคันอื่นๆ รออยู่ข้างล่าง เราจอดรถแล้วขึ้นไปกันสองคนโดยเฉพาะเท่านั้น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้า ซึ่งอยู่บนภูเขา

ภูเขานั้นมีหน้าผาสูง เมื่อขึ้นไปแล้ว ก็เตรียมพิธีแก้บน ทั้งสองคนก็เดินขึ้นไปจนถึงตรงหน้าผาที่จะทำพิธี

ถึงตอนนี้ โจรร้ายจึงบอกให้ทราบว่า “นี่เป็นวันสุดท้ายที่เราจะอยู่ด้วยกัน ฉันต้องการทรัพย์สมบัติของเธอ ขอให้เธอถอดเครื่องแต่งตัวเสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ตลอดจนเพชรนิลจินดาที่ประดับมาทั้งหมดมอบให้ฉัน และฉันก็จำเป็นจะต้องฆ่าเธอเพื่อปิดปาก อำพรางให้เห็นว่าเธอประสบอุบัติเหตุตายไปหรืออะไรทำนองนั้น”

นางกุณฑลเกสีเป็นคนมีปัญญา และมีสติดี ในใจจริงนั้นก็รักสามีมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความเศร้าเสียใจว่า สามีของเรานี้เป็นคนที่มีจิตใจโหดร้ายมาก แม้ที่อยู่มาอย่างนี้เราก็ได้ช่วยเต็มที่ ช่วยแม้กระทั่งให้รอดชีวิตมาจากการที่จะถูกประหาร ทั้งที่เราได้ช่วยอย่างนี้ ก็ยังคิดทรยศอีก เราจำเป็นจะต้องรักษาชีวิตของตัวไว้

ด้วยความมีปัญญา กุณฑลเกสีก็เลยคิดอุบายขึ้นมา บอกว่า เอาละไหนๆ วันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายที่พี่กับน้องจะได้อยู่ร่วมกันแล้ว น้องรักพี่มาก ขอให้น้องได้ทำพิธีแสดงความจงรักภักดีต่อสามี ด้วยการรำถวายต่อองค์เทพเจ้าเถิด

แล้วกุณฑลเกสีก็ขอโอกาสฟ้อนรำชนิดหนึ่งให้ก่อน เป็นการแสดงความภักดีต่อสามีของตน สามีก็ตามใจให้รำ เพราะเห็นว่า ถึงไงก็ไม่รอดอยู่แล้ว นางกุณฑลเกสีธิดาของเศรษฐี ก็ฟ้อนรำไปฟ้อนรำมา ฟ้อนรำไปฟ้อนรำมา หลายรอบ รอบตัวสามีนั่นแหละ จนกระทั่งถึงจังหวะหนึ่ง พอสามีเผลอ ได้โอกาสที่เธออยู่ข้างหลัง และมีหน้าผาอยู่ด้านหน้า ก็ผลักสามีอย่างเต็มที่เลย ทีเดียวตกหน้าผาไป เป็นอันว่าตายอย่างไม่ต้องสงสัย โจรร้ายก็จบชีวิตไป

นี่แหละ ด้วยปัญญา นางกุณฑลเกสีก็รอดชีวิตมา เมื่อรอดชีวิตมาแล้ว ก็ลงจากภูเขา อันที่จริงจะกลับบ้านก็ได้ แต่มีความเศร้าเสียใจ และอายผู้คน

กุณฑลเกสีคิดไปว่า ถ้าเธอกลับไปบ้าน คนก็จะต้องถามว่าสามีหายไปไหน เมื่อเขารู้ว่าตนฆ่าสามีตาย ก็จะพากันพูดจาว่าร้ายว่าเป็นหญิงใจทราม ตอนแรกก็อยากได้สามีจนถึงกับยอมลงทุนให้สินบนเอามา แต่แล้วไม่ทันไร เกิดไม่พอใจเบื่อขึ้นมา ก็ฆ่าทิ้งเสีย ถึงจะเล่าความจริงให้ฟัง ก็ไม่มีหลักฐานให้เขาเชื่อ

จากเหตุการณ์นี้ นางก็มาคิดนึกถึงเรื่องชีวิตของมนุษย์ ว่าหาความแน่นอนมิได้ เรื่องที่คิดไม่ถึงว่าจะเกิด ก็เกิดขึ้น พิจารณาไป ก็มีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตครองเรือน จึงตัดสินใจว่า เราอย่าอยู่เลย กลับไปอยู่บ้าน ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เบื่อหน่ายเต็มที ออกบวชดีกว่า

คิดอย่างนั้นแล้ว ตอนแรกก็ไปบวชเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา เขาเรียกว่าเป็นปริพาชิกา คือนักบวชหญิงเร่ร่อน

นักบวชเร่ร่อนพวกปริพาชกนี้ชอบถกเถียงปัญหา หาความรู้ขัดเกลาสติปัญญา ไปที่ไหนก็จำเป็นจะต้องโต้วาทะกับพวกนักบวชอื่นๆ ถ้าหากว่าไปเจอนักบวชที่เขามีสติปัญญาสูงกว่า ตัวเองตอบปัญหาของเขาไม่ได้ เขาตอบปัญหาของตัวเองได้หมด แพ้เขา ก็อาจจะยอมเป็นสาวก

นางปริพาชิกาคนใหม่ คือ นางกุณฑลเกสีนี้ ก็เที่ยวเดินทางไปในที่ต่างๆ เที่ยวถกเถียงปัญหา โต้วาทะกะใครๆ เรื่อยไป และก็เป็นคนที่เก่งมาก มีปัญญาดี

ในที่สุด เพราะความที่มีปัญญาดี มีความสามารถ มีวาทะที่เก่งกล้า ก็เลยกลายเป็นผู้ท้าคนอื่น ถึงตอนนี้ก็ชักจะมีความทะนงตัว ไปไหนก็ไปท้าคนอื่น จนกระทั่งคราวหนึ่งก็มาพบกับพระสารีบุตร และก็ได้โต้วาทะกับพระสารีบุตร

พระสารีบุตรตอบปัญหาของนางได้หมด แต่ถึงคราวพระสารีบุตรถามปัญหาบ้าง นางตอบไม่ได้ ก็เลยยอมตัวขอบวช เพื่อจะได้มาเล่าเรียนศึกษาธรรมะที่พระสารีบุตรรู้ ซึ่งนางไม่รู้ และได้มาเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า ได้มาบวชเป็นพระภิกษุณี และต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล กลายเป็นพระเถรีชั้นผู้ใหญ่ ได้รับความยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ยอดเยี่ยมในบรรดาพระภิกษุณีที่ตรัสรู้ฉับพลัน เป็นอันว่าชีวิตของนางก็ลงเอยด้วยดี

นี้เป็นประวัติของนางกุณฑลเกสีเถรี จากประวัตินี้จุดที่เน้นสำคัญก็คือ ตอนที่นางแก้ปัญหาในชีวิตของตนเองให้รอดมาได้ โดยใช้สติปัญญา

ที่ว่าใช้สติปัญญา คือมีปัญญาทำให้คิดอุบายได้ และสติก็มีด้วย คือว่าถึงแม้ปัญญาจะมี แต่ถ้าสติไม่มา ก็ไม่ได้ใช้ปัญญานั้น ตอนที่นางถูกโจรจะฆ่านั้น นางมีสติไม่หลงใหลฟั่นเฟือน ไม่ได้มัวแต่หวาดกลัวตัวสั่นอะไร ถ้าเอาแต่หวาดกลัว ก็คงคิดอะไรไม่ออก ก็ต้องตายแน่ แต่เพราะนางมีสติ ก็ระลึกได้ และใช้ปัญญาต่อ ก็เลยแก้ปัญหาสำเร็จ

ที่ว่านี้ ก็เพื่อให้เห็นว่า สติ กับ ปัญญา นั้นมักจะมาคู่กัน สติเป็นตัวเริ่ม เป็นตัวที่จะทำให้ใช้ปัญญา แต่เมื่อจะใช้ปัญญา ก็ต้องมีปัญญาด้วย มีสติอย่างเดียว แต่ถ้าปัญญาไม่มี ก็อาจจะแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ

นางกุณฑลเกสีนั้น มีทั้งสติ มีทั้งปัญญา จึงแก้ปัญหานำชีวิตให้รอดพ้นไปได้

ส่วนโจรร้ายนั้นก็มีปัญญาเหมือนกัน คือคิดอุบายที่จะฆ่าเขา แต่ว่าปัญญาสู้เขาไม่ได้ เขาซ้อนกลเอา ตนเองก็เลยได้รับผลกรรมตอบสนอง คิดร้ายต่อเขา ก็เลยได้รับผลร้ายกลับมาถึงตัวเอง โจรร้ายก็จบชีวิตลง เพราะกรรมของตนเองนั่นเอง

นี่ก็เป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ที่ได้ทั้งประวัติของพระเถรี และได้ทั้งคติธรรม ทั้งคติทางด้านโจร ที่ไปคิดประทุษร้ายต่อผู้อื่นแล้วได้รับผลร้ายตอบสนอง และคติทางด้านพระเถรี ที่ใช้สติและปัญญาในการแก้ไขปัญหา ทำให้รอดพ้นจากภยันตราย

อาตมภาพคิดว่า วันนี้ ได้เล่าเรื่องนางกุณฑลเกสีเถรี เป็นเรื่องประกอบในหัวข้อธรรมคือปัญญาไว้ พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขออนุโมทนาโยม เจริญพร

เลี้ยงลูกดี ลูกมีปัญญา พาทุกคนสุขสันต์3

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ มาพอดีกับจะมีการถวายพจนานุกรมแด่ในหลวง อาตมภาพก็เลยมานึกถึงเรื่องชาดกเกี่ยวกับเรื่องถวายของ รับพระราชทานของ ในทำนองนี้ แต่เป็นเรื่องที่อาจจะขำๆ หน่อย ก็เลยนำมาเล่าให้โยมฟัง และก็เข้ากับหัวข้อธรรมที่กำลังพูดอยู่ด้วย คือเรื่องปัญญา ในชาดกนี้ก็เป็นเรื่องการใช้ปัญญาเหมือนกัน ก็ขอนำเรื่องเบาๆ มาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าว่า

ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เสด็จอุบัติเป็นลูกของพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์นี้เป็นคนยากจนมาก ทำอาชีพไถนา แต่แกก็มีความเพียรพยายามดี และอุตส่าห์เลี้ยงลูกอย่างดี ลูกคือพระโพธิสัตว์นี้ชื่อ โสมทัต

โสมทัตได้เล่าเรียนศึกษาวิชาการจนกระทั่งจบ แล้วก็ได้เข้ารับราชการ เมื่อรับราชการก็เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองมาก จนกระทั่งได้มียศมีตำแหน่งสูง ได้เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว

คราวหนึ่ง โสมทัตมาเยี่ยมพ่ออีกตามที่เคยมาเยี่ยม คราวนี้ พ่อพูดขึ้นมาว่า “นี่นะ โสมทัต เดี๋ยวนี้ลูกก็ไปเข้ารับราชการจนได้ดีแล้ว เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัวนี่ ลองหาโอกาสให้พ่อเข้าไปเฝ้าในหลวงสักครั้งสิ”

โสมทัต ก็บอกว่า “เอาสิ พ่อ ผมจะพาพ่อไปเข้าเฝ้าในหลวงสักทีหนึ่ง แต่พ่อต้องเตรียมตัวไว้นะ”

พ่อนึกอะไรขึ้นมาได้ก็บอกว่า “เอ้อ! ไหนๆ จะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสักที ก็ให้มันได้อะไรสักหน่อย พอดีนะ วัวที่พ่อใช้ไถนาคู่หนึ่ง มันตายเสียตัวหนึ่ง เราไปขอพระเจ้าอยู่หัวมาอีกตัวหนึ่ง จะได้มาเข้าคู่กันให้มันครบ”

โสมทัตก็บอกว่า “ตกลง แต่ว่าจะไปขอในหลวงเฉยๆ นี่ มันก็ไม่ค่อยดี พ่อไปครั้งนี้ครั้งแรก อึกอักจะไปขอ ก็ยังไงอยู่ เอาอย่างนี้ดีกว่า ให้มีชั้นเชิงหน่อย ผมจะแต่งเป็นโคลงกลอนให้พ่อท่องไว้แล้วก็เอาไปว่าให้ในหลวงฟัง ถ้าว่าเป็นกลอนเป็นโคลงอย่างนี้ละก็ ไม่น่าเกลียด”

ฝ่ายท่านพราหมณ์ไม่รู้หนังสือ ไม่เคยเล่าเรียนเลย ก็บอกว่า “เอ้อ! ข้าฯ ก็พูดไม่เป็นหรอก คำราชาศัพท์อะไรต่างๆ นี้ ลูกช่วยสอนหน่อยก็แล้วกัน” โสมทัตก็เลยแต่งเป็นคาถา คาถาภาษาบาลี ก็คือโคลงฉันท์กาพย์กลอนนี่เอง

โสมทัตแต่งให้พ่อท่องว่า

“โคของข้าพระพุทธเจ้าคู่หนึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าใช้ไถนาทุกวัน
บัดนี้ ตัวหนึ่งตายไป
ขอรับพระราชทานอีกตัวหนึ่ง จะได้ไปเข้าคู่กัน”

โสมทัตแต่งให้แล้วก็มอบให้พ่อ พ่อเป็นคนปัญญาทึบ และก็ไม่รู้หนังสือด้วย จึงให้ลูกสอนแล้วก็มาท่องๆ แล้วก็ทบทวนให้แม่น เพื่อความแน่ใจ

ท่านพราหมณ์นั้น ตัวเองก็ไม่เคยเข้าวัง คิดว่าต้องท่องให้แม่นยำที่สุด และขอเวลาลูก ปล่อยให้ลูกกลับไปรับราชการตามปกติก่อน รอให้แน่ใจแล้วค่อยพาเข้าเฝ้า ท่องกันมานานทีเดียว จนกระทั่งพราหมณ์นี่ก็แน่ใจว่า เอาละ คราวนี้แม่นแล้ว เข้าเฝ้าได้แน่ ก็เตรียมซักซ้อมวิธีเข้าเฝ้ากันอย่างดีทีเดียว บอกว่าให้เข้าไปอย่างนี้ๆ พอถึงตอนนั้นแล้วให้ว่าโคลงกลอนนี้ขึ้น

เมื่อถึงวันที่กำหนด โสมทัตก็พาพราหมณ์ผู้เป็นพ่อไปเข้าวัง เข้าเฝ้าในหลวง พิธีก็เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งถึงตอนที่จะว่าคาถาเป็นโคลงกลอน ท่านพราหมณ์นี้ไม่เคยเลยที่จะไปพูดกะในหลวง ก็ประหม่า เมื่อประหม่าก็ว่าลำบาก คาถานั้นก็ท่องไว้อย่างดีแล้ว แต่เวลาเอาเข้าจริง กลับนึกไม่ค่อยออก ว่าไปได้แต่ตอนแรก ก็ท่องออกมาว่า

“โคของข้าพระพุทธเจ้าคู่หนึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าใช้ไถนาทุกวัน
บัดนี้ ตัวหนึ่งตายไป...”

เอ! ต่อจากนี้ชักนึกไม่ออก มันเป็นคาถา เป็นคำโคลงคำกลอน ทีนี้ เมื่อตะกุกตะกักขึ้นมา ก็ยิ่งประหม่า แทนที่จะบอกว่า “ขอรับพระราชทานอีกตัวหนึ่ง จะได้เอาไปเข้าคู่กัน” นึกไม่ทัน ในที่สุดก็เลยว่าไปเสียอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นบอกว่า

“...ขอให้ทรงรับไว้อีกตัวหนึ่ง จะได้ไปเสียด้วยกัน”

ท่านพราหมณ์ว่าอย่างนี้ พระเจ้าแผ่นดินทรงรับฟัง ก็ทรงทราบ ทรงเข้าใจว่า พราหมณ์นี้คงจะต้องว่าผิดแน่ แต่ก็ทรงพระสรวล แล้วก็หันไปตรัสกะโสมทัตว่า “เออ! นี่ ที่บ้านพ่อของโสมทัตนี้คงจะมีโคมาก ใช่ไหม?” เป็นการหยอกล้อ

โสมทัตนั้นเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณดี พอในหลวงตรัสมาว่าอย่างนั้น ก็กราบบังคมทูลตอบไปทันทีว่า

“ถ้าในหลวงพระราชทานไป ก็มีมากพะย่ะค่ะ”

พอโสมทัตว่าอย่างนี้ พระเจ้าอยู่หัวก็ยิ่งโปรดปรานมาก ทรงพระสรวลเป็นการใหญ่ ตรัสว่า “เออ! ดี โสมทัต เธอนี่ฉลาดมาก เอาละ เราจะให้รางวัล” ก็เลยโปรดพระราชทานข้าวของมากมายให้แก่พ่อของโสมทัต รวมทั้งโคแถมมาเป็น ๑๖ ตัว

พ่อของโสมทัตแม้จะผิดพลาด แต่ได้อาศัยลูกฉลาดมีปัญญา ก็ช่วยไว้ จึงได้กลับไปบ้านด้วยความอิ่มเอมใจ ได้รับของพระราชทานมาเป็นอันมาก เรื่องนี้ก็จบลง

ที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องของการที่จะไปขอพระราชทานของ แต่กลับจะไปถวายเสีย แต่ข้อที่เป็นคติก็คือว่า การมีปฏิภาณจะช่วยกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้

โสมทัตนี่เป็นพระโพธิสัตว์นะ เป็นคนฉลาดมาก มีปฏิภาณ ปฏิภาณ ก็คือ การใช้ปัญญาแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที เพราะโสมทัตมีปฏิภาณ แม้ว่าพ่อของตัวเองจะว่าอะไรผิดๆ ถูกๆ แต่โสมทัตก็แก้ให้กลับกลายเป็นดีไปได้ อาตมภาพจึงนำมาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องประกอบเกี่ยวกับการใช้ปัญญา ให้เห็นว่าการใช้ปัญญานั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในแทบทุกสถานการณ์

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องใช้ปัญญาให้ถูกต้องด้วย อย่างที่ว่า ถ้าใช้อย่างลิงเฝ้าสวน ก็กลับเสียผลประโยชน์ไป ส่วนเรื่องนี้เป็นตัวอย่างในทางที่ดีงาม ก็เอามาเล่าประกอบไว้อีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับวันนี้ อาตมภาพคิดว่าเล่าแต่เรื่องโสมทัตเรื่องเดียวก็พอ ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร

ฉลาดแท้ แก้ฉลาดโกง4

รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ขอย้อนกลับไปพูดเรื่องปัญญาอีก เรื่องปัญญาตอนนี้ก็ยังจะพูดถึงปัญญาในระดับสามัญ คือการใช้งานใช้ประโยชน์ในกิจธุระทั่วๆ ไป และวันนี้ก็จะเอาเรื่องชาดกมาเล่าอีกสักเรื่องหนึ่ง จะให้เห็นว่าเขาใช้ปัญญาอย่างไร และปัญญานั้นช่วยให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา ในการดำเนินชีวิต ในการทำธุรกิจอย่างไร ท่านเล่าว่า

นานมาแล้ว มีสหายคู่หนึ่ง คนหนึ่งชื่อ ฉลาด อีกคนหนึ่งก็บังเอิญชื่อคล้ายๆ กัน แต่ยาวกว่านิดหนึ่งชื่อว่า นายยอดฉลาด ฉลาด กับ ยอดฉลาด บังเอิญมาเป็นเพื่อนกัน

อยู่มา สหายสองคนนี้ก็เกิดคิดทำการค้าขายด้วยกัน การค้าขายในสมัยโบราณนั้น เขาใช้วิธีเดินทางด้วยกองเกวียน สองคนนี้ก็จัดการซื้อพาหนะ ซื้อเกวียน ซื้อโคมา ทำเป็นอย่างกองคาราวานขึ้น เขาเรียกว่ากองเกวียน ไปค้าขายต่างเมือง แล้วทั้งสองคนก็ได้ดำเนินการค้าขายกันมาแบบเป็นหุ้นส่วน โดยแบ่งผลกำไรกัน

ในการเดินทางคราวหนึ่ง เมื่อไปค้าขายต่างเมืองเสร็จแล้ว ก็เดินทางกลับมายังเมืองของตน

เมื่อมาใกล้ตัวเมือง อยู่นอกเมือง สมัยโบราณก็ยังเป็นป่า ฃหรือคล้ายๆ ป่า ก็หยุดพักกองเกวียน สองคนก็มาคิดกันว่า “เออ! เราจะเข้าเมืองอยู่แล้ว มาแบ่งผลกำไรกันดีกว่า”

เมื่อคำนวณดู คิดกันไปคิดกันมา เพื่อแบ่งผลกำไรกัน ก็ตกลงกันไม่ได้ เกิดปัญหาขึ้น แทนที่จะแบ่งเท่าๆ กัน ก็ต้องคำนวณว่าใครลงทุนอะไรเท่าไร หรือใครทำผลประโยชน์อะไรได้มากได้น้อย ก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาคิดในการที่จะแบ่งผลกำไรด้วย

นายฉลาดน่ะไม่ว่าอะไร ก็คิดว่าควรจะแบ่งให้เท่าๆ กัน แต่นายยอดฉลาดไม่ยอม บอกว่า ฉันควรจะได้มากกว่า เถียงกันไปเถียงกันมา นายยอดฉลาดไม่รู้จะอ้างเหตุผลอะไร ในที่สุดก็เลยบอกว่า แกน่ะชื่อฉลาดเฉยๆ ฉันนี่มันยอดฉลาด ฉลาดได้ส่วนหนึ่ง ยอดฉลาดก็ควรจะได้ ๒ ส่วน เพราะชื่อมันยอด มันฉลาดกว่า แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายนายฉลาดก็ไม่ยอม

นายยอดฉลาดก็เลยคิดหาอุบาย เอาอย่างนี้ดีกว่า เรา ๒ คน ตกลงกันไม่ได้ ให้เทวดาท่านตัดสิน ต้องไปหารุกขเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่ จะไปถามรุกขเทวดากัน ยอดฉลาดคิดอุบายขึ้นแล้ว ก็ไปหาต้นไม้ใหญ่ไว้ก่อน เป็นการเตรียมการ ก็ไปเจอต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงกว้าง จึงให้พ่อตาของตัวเข้าไปอยู่ในโพรงของต้นไม้นั้น ซักซ้อมกันไว้ให้พ่อตาปลอมตัว ปลอมเสียงเป็นรุกขเทวดา แล้วก็มาชวนเอานายฉลาดไปที่ต้นไม้ ไปถามรุกขเทวดานั้น

เมื่อไปถึงแล้ว สองคนนั้นก็บนบานกราบไหว้ แล้วก็เล่าเรื่องให้รุกขเทวดาฟังว่า เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ๆ ข้าพเจ้าสองคนนี้ทำการค้าขายแบ่งผลประโยชน์ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงมาขอให้ท่านช่วยตัดสิน ตามเรื่องราว และเหตุผลที่กล่าวมา

พอเล่าเรื่องจบ ถามรุกขเทวดาแล้ว รุกขเทวดาก็ตอบลงมาว่า เจ้าสองคนนี่นะ คนหนึ่งมันชื่อฉลาดเฉยๆ อีกคนหนึ่งมันชื่อยอดฉลาด เจ้าฉลาดนี่ควรจะได้หนึ่งส่วน เจ้ายอดฉลาดควรได้สองส่วน ก็ต้องแบ่งเป็น ๓ ส่วน ให้นายฉลาด ๑ ส่วน ให้นายยอดฉลาด ๒ ส่วน

ฝ่ายนายฉลาดก็คิดสงสัย ใช้ปัญญาพิจารณาว่า อาจจะมีการใช้อุบายหรือเป็นกลอะไรสักอย่าง ก็เลยคิดจะทดสอบรุกขเทวดา จึงไปเอากิ่งไม้ใบหญ้ามาสุมที่โคนต้นไม้นั้น แล้วก็จุดไฟขึ้น ฝ่ายรุกขเทวดาปลอมนั้นโดนร้อนเข้า ทนไม่ไหว ก็เลยออกจากโพรงต้นไม้ ปีนต้นไม้ขึ้นไป แล้วกระโดดตุ้บลงมา กลอุบายก็เลยแตก รู้กันว่าเป็นรุกขเทวดาตัวปลอม

เมื่อรู้ว่าเป็นรุกขเทวดาตัวปลอม เพราะจับได้แล้ว นายยอดฉลาดก็ต้องยอม ผลสุดท้ายก็เลยแบ่งผลกำไรเท่าๆ กันทั้งสองฝ่ายเรื่องก็จบลงด้วยดี

เรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงการใช้ปัญญาของนายฉลาด ตอนต้น นายยอดฉลาดใช้ปัญญาก่อน ใช้ปัญญาในทางไม่ดี คือไปคิดกลอุบายหลอกลวงเขา โดยกะจะเอาเปรียบ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าคนอื่นเขาก็มีปัญญาเหมือนกัน

ส่วนนายฉลาดนั้นก็เป็นคนมีปัญญา รู้จักสงสัยในสิ่งที่ควรสงสัย ไม่ใช่ศรัทธาเรื่อยไป ถ้าหากมีแต่ศรัทธาอย่างเดียวก็เชื่อรุกขเทวดา ก็อาจจะยอมไปตามนั้น แต่เพราะรู้จักใช้ปัญญารู้จักสงสัย จึงตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน ก็เลยแก้ปัญหาทำให้เรื่องสิ้นสุดลงด้วยดี ทำให้ได้รับความยุติธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เรื่องนี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่ง เป็นคติทั้งในทางร้ายที่ว่า ไม่ควรใช้ปัญญาในการเอาเปรียบหลอกลวงเขา และก็เป็นตัวอย่างในทางดีที่ว่า ไม่ควรจะให้ศรัทธาชักจูงไปอย่างเดียว โดยไม่ใช้ปัญญา แต่ต้องใช้ปัญญาพิจารณา เมื่อรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาด้วยดีแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลดีขึ้น นำความสุขและการพ้นจากปัญหามาสู่ตน

ขอโอกาสชี้แจงนิดหน่อยว่า ตามเรื่องเดิมในภาษาบาลี นายฉลาดมีชื่อว่าบัณฑิต นายยอดฉลาด ชื่อว่า อติบัณฑิต ถ้าแปลตรงๆ ก็คงว่า นายบัณฑิต กับนายบัณฑิตยิ่งกว่า หรือนายเหนือบัณฑิต หรือนายบัณฑิตเลยเถิด แต่จะแปลอย่างนั้น ก็จะยาวเกินชื่อไป จึงแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า นายฉลาด กับ นายยอดฉลาด

วันนี้อาตมภาพได้เล่าเรื่องเบาๆ สมอง พอเป็นเครื่องประกอบในคุณธรรมข้อปัญญา ก็พอสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร

ปัญญาทันเกม ต้องให้ทันกาล5

เจริญพร อาตมภาพเคยพูดเรื่องปัญญาไว้ และได้เล่าเรื่องอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญญาหลายครั้ง ต่อมาก็เล่าออกไปถึงเรื่องอื่นๆ หลายครั้งแล้วเหมือนกัน คิดว่าคราวนี้จะวกกลับมาหาเรื่องปัญญาอีกที

คราวนี้ จะเล่าเรื่องตัวอย่างประกอบเกี่ยวกับการใช้ปัญญา คือว่า ปัญญานั้นใช้งานได้หลายระดับ ทั้งในระดับความเป็นอยู่ประจำวัน การทำธุระการงาน และการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น

คราวนี้ ก็จะเอาตัวอย่างที่เกี่ยวกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมาเล่าอีก เป็นเรื่องประเภทนิทานชาดก แสดงถึงการใช้ปัญญาเพื่อจะเอาชีวิตให้รอด ด้วยการรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องนก ๒ ชนิด คือ นกเหยี่ยว กับ นกมูลไถ นกมูลไถ เป็นนกเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ตามท้องนา เป็นนกที่เป็นเหยื่อของเหยี่ยวของกาได้

เรื่องนั้นเล่าว่า วันหนึ่ง ขณะที่นกมูลไถหากินอยู่ในท้องนา เหยี่ยวตัวหนึ่งได้มาโฉบเฉี่ยวเอาไป นกมูลไถนั้นได้รับความทุกข์เป็นอันมาก ระหว่างที่อยู่ในกรงเล็บของเหยี่ยวที่กำลังบินไปอยู่นั้น ก็มองเห็นความตายอยู่ข้างหน้า

แต่เพราะความที่เป็นสัตว์มีปัญญา นกมูลไถก็คิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเอาตัวรอดด้วยปฏิภาณไหวพริบ จึงแต่งเป็นอุบายขึ้นมา ทำเป็นร้องคร่ำครวญบ่นเพ้อว่า

“เอ้อ! นี่เราไม่น่าเลยนะ หากินอยู่ในถิ่นของตัวดีๆ ก็ไม่เอา ออกมาเที่ยวหากินนอกถิ่นนอกแดน ก็เลยถูกเหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปได้ นี่ถ้าเรายังอยู่ในถิ่นของเราละก็ อย่าว่าแต่เหยี่ยวอย่างนี้เลย ให้นกอะไรใหญ่กว่านี้ หรือเก่งกว่านี้ ก็ไม่มีทางจะทำอะไรเราได้” นกมูลไถพูดบ่นเพ้อทำนองนี้ไปเรื่อยๆ

ฝ่ายเหยี่ยว ได้ยินคำที่นกมูลไถว่ามากระทบตัวเอง คล้ายๆ ดูถูก ก็ชักฉุน จึงบอกว่า “เอ้! แกว่า ถ้าหากว่าแกอยู่ในถิ่นของแก ฉันจะทำอะไรแกไม่ได้ใช่มั้ย”

นกมูลไถ ก็บอกว่า “ฉันก็ว่าอย่างนั้นแหละท่าน”

เหยี่ยวก็เลยบอกว่า “เอ้า! ลองดูก็ได้ แกลองไปอยู่ในถิ่นของแกสิ ฉันจะเฉี่ยวให้ได้ ถ้าฉันเฉี่ยวไม่ได้ ก็ให้มันรู้ไป แกก็จะได้รอดชีวิต” นกมูลไถก็ตกลง

เหยี่ยวนั้น ด้วยความที่หยิ่งในความสามารถของตน จึงนึกไม่เท่าทันอุบายของนกมูลไถ ก็เอานกมูลไถกลับมาปล่อยที่ท้องนา และเอาไปปล่อยไว้ในที่ที่นกมูลไถบอกว่าเป็นถิ่นของตนด้วย

ธรรมดาสัตว์ที่หากินในถิ่นที่เขาเคยชิน ก็ย่อมชำนาญในที่นั้น สามารถหลบหลีกได้ดีกว่าที่จะไปหากินในถิ่นอื่น เมื่อนกมูลไถไปถึงถิ่นของตัวแล้ว ก็เตรียมพร้อมที่จะหลบหลีกเหยี่ยว ให้เหยี่ยวเฉี่ยวไม่ได้ จึงทำอุบายขึ้นไปเกาะบนก้อนดินใหญ่ๆ ก้อนหนึ่งที่สูงขึ้นมาเด่นเป็นพิเศษ เมื่อพร้อมแล้วเหยี่ยวก็โฉบลงมา

พอเหยี่ยวโฉบลงมาในกลางอากาศ ดิ่งใกล้เข้ามาจวนจะถึง นกมูลไถก็หลบลงไปในซอกดิน ฝ่ายเหยี่ยวตัวใหญ่นั้นโฉบลงมาด้วยกำลังแรงมาก แรงพุ่งทำให้ยั้งไม่ทัน เมื่อไม่มีตัวนกมูลไถอยู่บนก้อนดินใหญ่ ตัวของนกเหยี่ยวนั้นก็เลยลงมาปะทะที่ก้อนดินเต็มที่ ปรากฏว่าเหยี่ยวนั้นถึงแก่ความตายด้วยกำลังแรงโฉบพุ่งลงมาของตนเอง นกมูลไถจึงรอดชีวิต

นี้ก็เป็นนิทานชาดก ที่แสดงถึงคติธรรมในการใช้ปัญญา ถ้าหากว่ามีสติและใช้ปัญญา ก็อาจจะแก้ไขสถานการณ์ร้ายเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปได้เหมือนกับนกมูลไถนี้

ในทางตรงข้าม เหยี่ยวนั้น ก็ด้วยกิเลสของตนเองที่มัวแต่นึกคิดด้วยมานะว่าเขาดูถูกเหยียดหยามตน จึงไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าอาจจะเป็นอุบายของเขา รู้ไม่เท่าทัน ปล่อยให้กำลังโทสะครอบงำ ก็เลยพาตัวเองไปได้รับความทุกข์เดือดร้อนถึงแก่ความตาย นี้ก็เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงการใช้ปัญญาในระดับสามัญ

ดังที่อาตมภาพกล่าวมาแล้วว่า การใช้ปัญญานี้ ถ้าใช้ไปในทางที่ไม่ดี ก็กลายเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ถ้ารู้จักใช้ ก็คลี่คลายแก้ปัญหาให้สำเร็จได้

ดังจะเล่าตัวอย่างการใช้ปัญญาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ใช้ปัญญานั้น ก็คงจะมีความสามารถไม่แพ้นกมูลไถเมื่อกี้ แต่จะเป็นคุณหรือโทษ ก็แล้วแต่ว่าจะใช้ถูกหรือไม่

จึงขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง:

ปัญญาแก้เกม ต้องให้ทันกัน

มีเรื่องเล่ามาเกี่ยวกับพ่อค้าสองคน เป็นพ่อค้าบ้านนอกกับพ่อค้าชาวกรุง

พ่อค้าบ้านนอกคนหนึ่งเข้ามาค้าขายในกรุง นำเอาผาลไถมาฝากไว้ที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุง จำนวน ๕๐๐ อัน เมื่อฝากไว้แล้วก็ไปทำธุระอย่างอื่น ต่อมาเป็นเวลานาน ก็กลับมาที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงนั้น เพื่อทวงเอาผาลไถกลับคืน จะได้เอาไปค้าขายต่อ

ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงนั้นได้นำเอาผาลไถ ๕๐๐ อัน ไปขายเอาเงินหมดแล้ว เมื่อเขามาทวง ตัวเองก็ไม่มีจะให้ นึกอะไรไม่ทันก็เลยบอกว่า “หนูมันกินหมดแล้ว หนูกินผาลไถหมด”

ฝ่ายพ่อค้าชาวบ้านนอก เมื่อเขาบอกว่าอย่างนั้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ของมันไม่มีจะให้แล้ว ก็หมดทาง แต่คิดแค้นอยู่ในใจว่าจะต้องหาทางแก้เผ็ด

วันหนึ่งจึงมาชวนลูกชายเล็กๆ ของพ่อค้าชาวกรุงไปเที่ยวเล่น บอกว่า จะพาไปอาบน้ำ ไปเล่นน้ำในแม่น้ำ พอไปแล้ว ก็กลับมาคนเดียว ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงก็ถามว่า “อ้าว! ลูกฉันไปไหนล่ะ ไม่เห็นกลับมาด้วย”

พ่อค้าบ้านนอกก็ตอบว่า “โอ้! ต้องเสียใจด้วย ระหว่างที่ผมไปอาบน้ำ เล่นน้ำอยู่นั้นน่ะ ลูกของคุณถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป” ว่างั้น

ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงก็ค้านขึ้นว่า “เป็นไปไม่ได้ ลูกฉันตัวแค่นี้ เหยี่ยวมันจะมาเฉี่ยวไปได้ยังไง เหยี่ยวมันตัวเล็กนิดเดียว”

พ่อค้าชาวบ้าน ก็ว่า “ไม่ทราบซิครับ เหยี่ยวมันเฉี่ยวไปแล้ว ผมก็ทำอะไรไม่ได้”

พ่อค้าชาวกรุงก็เลยไปฟ้องเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่สมัยนั้นเขาเรียกว่า มหาอำมาตย์ คือเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมนั่นเอง ให้ช่วยตัดสินคดี โดยเล่าให้ฟังว่า นายคนนี้พาลูกของตนไปอาบน้ำ แล้วก็ทำให้ลูกของตนหายไป เขาบอกว่าเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ขอให้ช่วยตัดสินด้วย

ฝ่ายพ่อค้าชาวบ้านก็เล่าให้ฟังบ้างว่า “ผมก็เคยได้นำเอาผาลไถ ๕๐๐ อัน มาฝากไว้ที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงคนนี้ เสร็จแล้วเขาก็ทำหายหมด ก็คงจะโกงเอาไปนั่นแหละ แล้วเขาก็บอกว่าถูกหนูกินหมด ผมก็ขอให้ท่านช่วยตัดสินคดีให้ด้วย”

ฝ่ายอำมาตย์นั้นก็รู้เท่าทันว่า อันนี้ต้องเป็นเรื่องโกงกันแน่ๆ ถ้าหากว่าพ่อค้าคนแรกโกงเขาไป โดยใช้อุบาย บอกในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายนี้เขาก็ทำโดยอ้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ก็เลยบอกว่า

“เออ! ถ้าหากว่าหนูมันกินผาลไถได้ เหยี่ยวมันก็เฉี่ยวเด็กไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจงเอาผาลไถมาคืนเขาเสียเถิด เขาก็จะเอาลูกมาคืนท่านเอง”

ถึงตอนนี้ พ่อค้าชาวกรุงก็เลยหมดทางไป ต้องยินยอม ต้องไปซื้อหาผาลไถเอากลับมาคืน หรือชดใช้ค่าเสียหาย แล้วพ่อค้าชาวบ้านนอกนั้นจึงนำเด็กมาคืนให้ เรื่องก็จบลงไป

นี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา การใช้ปัญญาที่สำคัญในกรณีนี้ก็คือผู้ตัดสินคดี ซึ่งจะต้องรู้เท่าทันว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อจะตัดสินคดีให้ได้ผลโดยยุติธรรม

นี้ก็เป็นตัวอย่างต่างๆ ซึ่งในนิทานชาดกท่านเล่าไว้มากมายหลายเรื่อง เพื่อแสดงถึงการใช้ปัญญา พร้อมทั้งคติธรรมต่างๆ เพื่อสอนให้คนเราใช้ปัญญาในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เช่น ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นต้น และทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ในการช่วยเหลือสงเคราะห์ ไม่ใช้ไปในทางเสียหายเป็นโทษ หรือเบียดเบียนกัน

อาตมภาพคิดว่า วันนี้ ก็ได้เล่านิทานประกอบไว้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องคุณธรรมในหัวข้อว่าปัญญา พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ เจริญพร

เด็กน้อยโพธิสัตว์ ฉลาดสร้างสรรค์6

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็จะพูดในหัวข้อเรื่องปัญญาอีก และก็จะเป็นเรื่องแทรกแบบเบาๆ สมองอีกเหมือนกัน

ปัญญานี้เป็นพระบารมีอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็จะต้องบำเพ็ญบารมี ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ประการ และในบรรดาบารมี ๑๐ ประการนั้น ปัญญานี้ เป็นบารมีข้อที่ ๔ กล่าวคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา สิบข้อด้วยกัน

ปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ที่เป็นเรื่องเด่นก็คือสมัยที่เป็นมโหสถ และก็มีชาดกเรื่องหนึ่งชื่อว่า มโหสถชาดก อยู่ในทศชาติ หรือที่เราเรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า พระเจ้า ๑๐ ชาติ มโหสถชาดกนี้เป็นชาดกที่ยาวมาก

วันนี้ อาตมภาพก็จะปรารภเรื่องมโหสถชาดก เอามาพูดสั้นๆ เป็นตัวอย่างประกอบเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปัญญา เฉพาะเรื่องนี้เป็นปัญญาของพระโพธิสัตว์ในระหว่างบำเพ็ญบารมี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญญานั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นในการที่จะบรรลุโพธิญาณ และเป็นคุณธรรมที่ค่อยๆ เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับมโหสถชาดกนี้ ก็มีเรื่องเล่ามาว่า

ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในชมพูทวีป พระนามว่า พระเจ้าวิเทหะ ครองแผ่นดินอยู่ที่เมืองมิถิลา พระเจ้าวิเทหะนี้ มีบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาราชการ และเป็นผู้สั่งสอนขนบธรรมเนียมประเพณีในการบริหารกิจการแผ่นดินอยู่ ๔ ท่าน หัวหน้าของบัณฑิตทั้ง ๔ มีชื่อว่า เสนกะ

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหะบรรทมหลับไป และก็ได้ทรงพระสุบิน คือฝัน พระองค์ฝันไปว่า ที่พระลานหลวงของพระองค์นั้น มีกองไฟใหญ่ลุกโพลงอยู่ ๔ มุม และต่อมาก็มีแสงไฟเล็กๆ เหมือนกับแสงหิ่งห้อยเกิดขึ้นที่ตรงกลางพระลานนั้น

ท่ามกลางกองไฟทั้ง ๔ แสงไฟเล็กๆ นั้นค่อยๆ ลุกโพลงสว่างขึ้นๆ เรื่อยๆ จนในที่สุดก็สว่างเกินกว่ากองไฟทั้ง ๔ นั้น และสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าโพลงจ้าไปหมดทั่วทั้งฟ้าและแผ่นดิน แล้วพระองค์ก็ตื่นบรรทมขึ้นมา

เมื่อตื่นบรรทมแล้ว ก็ทรงวิตกกังวลว่า เอ! ที่เราฝันนั้น มันฝันร้ายหรือฝันดี เพราะว่าฝันเป็นไฟเสียด้วย ไฟลุกมาก ก็ไม่สบายพระทัย ต่อจากนั้นก็บรรทมไม่หลับ รอเวลาจนกระทั่งว่าบัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า บัณฑิตก็ทูลถามว่า พระองค์บรรทมหลับสบายดีหรือ พระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า จะสบายได้อย่างไรล่ะ ฝันเรื่องสำคัญขึ้นมา ไม่รู้ว่ามันจะร้ายหรือดี ก็เลยตรัสเล่าเรื่องที่ทรงฝันให้ฟัง

บัณฑิตทั้ง ๔ คนก็ทูลทำนายฝันว่า ที่พระองค์ฝันนั้นเป็นฝันดี มีความหมายว่า จะมีผู้มีปัญญายิ่งใหญ่เกิดขึ้น กองไฟใหญ่ทั้ง ๔ กองที่มุมพระลานหลวงนั้น ก็คือ ข้าพระองค์ทั้ง ๔ นี่แหละ แต่จะมีคนดีเกิดขึ้น คงจะเกิดขึ้นในวันนี้ ในวันที่พระองค์ฝันนี่แหละ แล้วคนมีปัญญาคนนั้นก็จะมีความยิ่งใหญ่ล้ำกว่าข้าพระองค์ทั้ง ๔ นี้มากมาย

พระเจ้าแผ่นดินก็ดีพระทัย ทรงจับเอาเป็นข้อสังเกตไว้ และรอกาลเวลา

ทีนี้ กล่าวถึงเหตุการณ์ทางด้านความเป็นจริง ที่ใกล้ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก มีหมู่บ้านหมู่หนึ่ง ที่หมู่บ้านนั้นมีเศรษฐีท่านหนึ่ง ชื่อว่า สิริวัฑฒกะ

ในเวลานั้น ก็พอดีที่บ้านของท่านเศรษฐีนี้ ภรรยาได้ตั้งครรภ์ขึ้น และต่อมาก็ได้คลอดบุตร และเมื่อคลอดบุตรคนนี้ ตามตำนานบอกว่า พระอินทร์มีความดีใจ ต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ของเด็กคนนี้ ที่เกิดมาจะมีปัญญามาก ก็ได้เหาะเอาขวดยามาใส่มือเด็กคนนี้ เมื่อตอนที่เกิดใหม่ๆ เลยกลายเป็นว่าเด็กคนนี้เกิดมาก็มีขวดยาติดมาด้วย

เศรษฐีอาศัยนิมิตที่ว่าเด็กนี้มียาติดมาด้วย ก็ตั้งชื่อว่าโอสถ แต่เติมคำว่ามหาเข้าไปด้วยก็เป็น มหาโอสถ รวมกันเป็น มโหสถ มโหสถก็แปลว่ายาขนานใหญ่ หรือยาที่มีคุณเป็นอันมาก มีประโยชน์มาก

เด็กชายมโหสถนี้เติบโตขึ้นมา จนกระทั่งอายุได้ ๗ ขวบ มีเพื่อนเล่นมากมาย มีความสามารถ มีสติปัญญาสูง

คราวหนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดความคิดว่า ที่เด็กๆ มาเล่นกันนี้ ถ้ามีศาลาหลังหนึ่งไว้ก็จะดี ก็ให้ช่างมาสร้าง เมื่อช่างกำลังสร้างอยู่นั้น เด็กคนนี้มีสติปัญญามาก เห็นช่างสร้าง ก็รู้ดีกว่าช่างที่สร้าง กลับไปสอนช่างว่าที่ท่านทำอย่างนั้น ถ้าทำอย่างโน้น จะดีกว่า ก็แนะนำช่าง เมื่อช่างทำตามก็ได้ผลดี และการสร้างศาลาก็ดำเนินต่อมาจนเสร็จ

ศาลาหลังนี้ เป็นศาลาใหญ่ มีที่พักคนเดินทาง และมีที่สงเคราะห์ในด้านการรักษาพยาบาลเป็นต้นด้วย พร้อมทั้งขุดสระโบกขรณีอะไรต่างๆ ให้เป็นที่ที่รื่นรมย์ ก็คงจะคล้ายๆ เป็นศาลาในปาร์ค หรือในอุทยาน และเพราะเหตุที่เป็นเด็กมีปัญญามาก มีคนเชื่อถือมาก มีเรื่องอะไรก็มาปรึกษา เด็กชายมโหสถก็เลยกลายเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ที่คนไปมาที่ศาลานี้เอามาปรึกษาความด้วย โดยใช้ศาลานี้เป็นศูนย์กลาง เป็นที่พักผ่อนและคล้ายๆ เป็นที่ทำงานไปด้วย

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระเจ้าวิเทหะนั้น เมื่อเวลาผ่านมาได้ ๗ ปีแล้ว ก็ทรงหวนระลึกถึงความหลังครั้งที่ได้ทรงพระสุบิน ก็ทรงพระดำริว่าน่าจะหาตัวเด็กคนนี้ได้แล้ว ถ้าเป็นคนมีปัญญาก็คงจะมีอะไรแสดงออกมา เพราะเมื่ออายุเด็กถึง ๗ ขวบ จะสามารถแสดงลักษณะพิเศษของตนออกมาได้ ก็จึงส่งอำมาตย์ออกไปลองหาดู ไปค้นหาดูตัวเด็กชายที่มีสติปัญญามาก ว่าอยู่ที่ไหน อำมาตย์ก็แยกย้ายกันออกไปในทิศทางต่างๆ

ในบรรดาอำมาตย์ที่ออกไปสืบค้นเหล่านั้น ก็มีคนหนึ่งมาทางด้านนี้ และได้มาถึงที่ศาลานี่ แล้วก็ได้เข้ามาพัก เมื่อเห็นสถานที่นั้นดีมาก ก็ถามคนแถวนั้นว่า ศาลานี้ใครสร้าง คนแถวนั้นก็เล่าให้ฟังถึงความอัศจรรย์ของเด็กชาย ๗ ขวบนี้ ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างศาลา

อำมาตย์คนนั้นก็เลยมีความมั่นใจว่าคงจะต้องเป็นเด็กคนนี้ ก็ถามว่า เขาเกิดเมื่อไร สืบได้ความว่า เกิดเมื่อ ๗ ปีมาแล้ว วันเวลาก็ตรงกัน ก็เลยยิ่งมั่นใจใหญ่ว่าคงจะใช่แน่ๆ

จากนั้น ท่านอำมาตย์จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าเด็กคนนี้ ที่เป็นลูกชายของสิริวัฑฒกเศรษฐีนั้น เป็นคนมีปัญญามาก และอายุก็พอดี ๗ ขวบ ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏในการสร้างศาลาหลังใหญ่ ซึ่งมีสถานที่ใช้งานเป็นประโยชน์ และมีสิ่งประกอบที่สวยงามรื่นรมย์

พระเจ้าแผ่นดินรับฟังคำกราบทูลรายงานแล้ว ก็ทรงปรึกษากับอำมาตย์บัณฑิตทั้ง ๔ นั้น

ตอนนี้ บัณฑิตทั้ง ๔ ชักจะเกิดความริษยา ชักจะไม่พอใจเพราะไม่อยากให้ใครมาล้ำหน้ากว่าตน ก็เลยกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า “อ๋อ ศาลาแค่นี้ใครๆ ก็สร้างได้ ไม่เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นบัณฑิตหรอก เพราะฉะนั้นควรจะให้รอไว้ก่อน”

พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตกลงว่าจะรอดูต่อไป จึงทรงส่งอำมาตย์กลับไปว่า “เอ้า ไปสังเกตดูซิ คอยติดตามพฤติกรรมของเด็กคนนี้ต่อไปว่าจะแสดงความสามารถอย่างไรอีก”

เรื่องราวต่อจากนั้นมา ก็เป็นคำเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งแสดงถึงการใช้สติปัญญาความสามารถของมโหสถนี้ มากมายหลายอย่าง อาตมภาพจะยกมาเล่าเป็นตัวอย่าง เช่นเรื่องหนึ่งว่า

ไล่เหยี่ยวบนฟ้า ก้มหน้ามองดิน

วันหนึ่ง เหยี่ยวตัวหนึ่งบินลงไปเฉี่ยวเอาชิ้นเนื้อที่เขียงของคนขายเนื้อ แล้วก็บินไปในอากาศ พวกเด็กๆ ทั้งหลายในบ้านนอกนี่ชอบไล่นก พอเห็นเหยี่ยวบินคาบเนื้อไป ก็พากันวิ่งไล่ เด็กเหล่านั้นวิ่งตามไป ตาก็มองดูเหยี่ยวบนอากาศ วิ่งไปก็สะดุดตอไม้บ้าง พลัดลงหลุมบ้าง หกล้มหกลุก เจ็บช้ำไปตามๆ กัน

ฝ่ายเด็กชายมโหสถไม่ทำอย่างนั้น ขาวิ่งตามเหยี่ยว แต่หน้าก้มตามองที่แผ่นดิน คือมองดูตามเงาเหยี่ยว ไม่ต้องดูฟ้าเลย วิ่งตามเงาไปเรื่อย พอทันเงา เท้าเหยียบทันเงา ก็เอามือปรบเสียงดังพร้อมกับร้องตะโกน เพื่อให้เหยี่ยวปล่อยเหยื่อ เหยี่ยวนั้นได้ยินเสียงดังตกใจก็ปล่อยชิ้นเนื้อลงมา เด็กชายมโหสถก็เอามือรับทันด้วย ประชาชนที่ได้มาเห็นเหตุการณ์ก็พากันโห่ร้องปรบมือให้ แสดงความชื่นชมยินดี นี้ก็เป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่แสดงถึงความมีสติปัญญาของมโหสถ

ใครเป็นเจ้าของวัว? ช่วยตัดสินทีเถอะ

อีกตัวอย่างหนึ่ง วันหนึ่งเจ้าของวัวรายหนึ่ง นำวัวออกไปไถนา ทำงานเหนื่อยแล้วก็ไปนั่งใต้ต้นไม้ และเพราะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ก็เลยหลับไป

คราวนั้น พอดีมีโจรมากัน ๒ คน เห็นเจ้าของวัวหลับอยู่ ได้โอกาส ก็เลยจูงเอาวัวนั้นไป ฝ่ายเจ้าของวัวตื่นขึ้นมา เห็นเข้า ก็รีบวิ่งติดตามไป พอทันก็เข้าแย่งวัว ฝ่ายโจรก็บอกว่า “เฮ้ย! วัวของข้าฯ แกจะมาเอาไปยังไง” ทางนี้ก็บอกว่า “วัวของฉัน ฉันนอนหลับ ผูกไว้ แกเอาไป” ก็เถียงกันอยู่อย่างนี้ตกลงกันไม่ได้ จนกระทั่งมาเจอเด็กชายมโหสถนี้ ซึ่งมีชื่อเสียงร่ำลือ เด็กชายมโหสถ ก็เลยรับอาสาตัดสินให้

เด็กชายมโหสถก็ถามทั้งสองฝ่าย ถามฝ่ายโจรก่อนว่า “เออนี่ ท่านเอาอะไรให้วัวกิน?” ฝ่ายโจรก็บอกว่า “ข้าพเจ้าเอางาเอาขนม (ขนมอินเดียเขาเรียกว่า กุมมาส) ให้มันกิน”

นี่คือ โจรคิดในใจว่าจะต้องบอกชื่ออาหารที่ดีที่สุด โดยกะว่า ต้องพูดให้เห็นว่าได้เลี้ยงวัวอย่างดีสมกับที่เป็นเจ้าของ

จากนั้นมโหสถก็หันมาถามเจ้าของวัวที่แท้บ้างว่า “เอ! ท่านล่ะ ท่านเอาอะไรให้วัวของท่านกิน” เจ้าของวัวก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนจนจะมีอาหารดีๆ อย่างนั้นที่ไหน ข้าพเจ้าเอาหญ้าให้มันกิน”

เด็กชายมโหสถก็ให้คนของตนเอง ไปเอาใบประยงค์มา (ต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อประยงค์) แล้วก็เอามาตำโขลกเข้า ขยำกับน้ำให้วัวกิน วัวกินใบไม้ชนิดนี้แล้วจะอาเจียน ดังนั้น เมื่อวัวตัวนี้กินใบประยงค์เข้าไปแล้ว ก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า

เด็กชายมโหสถก็ให้ประชาชนตัดสินเอง ว่าใครเป็นเจ้าของวัวที่แท้จริง ก็เป็นอันได้ความชัดเจน ประชาชนก็ตัดสินได้ถูกต้อง โดยดูจากประจักษ์พยานที่ปรากฏนั้น เจ้าของวัวเดิมก็ได้วัวกลับคืนไป และเด็กชายมโหสถก็ได้สั่งสอนโจรว่า ให้ตั้งตนเป็นคนดี ให้กลับตัวเสีย นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

คนไหนนางยักษ์ คนไหนเป็นแม่

ตัวอย่างต่อไปก็เรื่องแย่งลูกกัน แม่คนหนึ่ง พาลูกของตัวไปที่สระน้ำ สระน้ำอย่างดีสมัยก่อนเขาเรียกว่าสระโบกขรณี พอพาไปถึง ก็เอาลูกลงอาบน้ำ เสร็จแล้วก็เอาผ้าปูให้ลูกของตัวนั่ง ลูกยังตัวเล็กๆ ยังกินนมอยู่ เสร็จแล้วตัวเองก็ลงไปล้างหน้า

ทีนี้ นางยักษิณีตนหนึ่ง อยากจะกินเด็ก ก็แปลงตัวเป็นผู้หญิงเข้ามาใกล้ๆ แล้วทำท่าทำทางแสดงว่าเป็นคนมีความเมตตากรุณา รักเด็ก

นางยักษิณีแปลงนั้นเดินเข้ามาถามแม่เด็กว่า “เออนี่ ลูกของคุณใช่ไหม?” แม่เด็กก็บอกว่า “ใช่” นางยักษิณีก็ว่า “แหม น่ารักจังเลยนะ ขออุ้มสักหน่อย” ทางนี้ก็ให้อุ้ม พออุ้มได้ก็เล่นกับเด็กไป สักครู่หนึ่งแล้วก็พาหนี

พอนางยักษิณีแปลงพาเด็กหนี แม่เด็กก็ตกใจวิ่งไล่ตาม วิ่งไล่ทันแล้วก็ไปยื้อยุดฉุดแย่งกัน ฝ่ายนางยักษิณีก็บอกว่า นี่ลูกของฉัน ฝ่ายแม่ก็บอกว่า ลูกของฉัน ต่างคนต่างแย่ง ไม่รู้ว่าลูกของใครแน่ เรื่องก็ไปถึงเด็กชายมโหสถอีกตามเคย

เด็กชายมโหสถ ก็เลยช่วยตัดสิน แต่ขอความยินยอมก่อนว่า “เอานะ ถ้าท่านยอมรับ ข้าพเจ้าจะตัดสินให้” เขาก็ยอมรับ

เด็กชายมโหสถก็ขีดเส้นลงที่พื้นดินเส้นหนึ่ง แล้วก็เอาเด็กวางที่ตรงกลางเส้นนั้นบอกว่า “เอ้า! ท่านทั้งสองดึงกัน ใครดึงชนะก็เป็นแม่” ก็ให้แม่จับทางเท้า และนางยักษิณีแปลงจับทางมือ สองฝ่ายก็ฉุดกัน

นางยักษิณีนั้นไม่คิดถึงอะไรทั้งสิ้น ฉุดอย่างเต็มที่เลย เพราะว่าต้องการจะเอาไปกิน พอฉุดกันแรงๆ เด็กมีความเจ็บปวด ก็ร้องไห้จ้าขึ้น พอเด็กร้องไห้จ้าขึ้นมา ฝ่ายแม่นั้นมีจิตใจอ่อนโยน มีความรักลูกมาก ก็หัวใจแทบจะแตก ก็ทนไม่ไหว ต้องปล่อย ปล่อยแล้ว ก็ยืนร้องไห้

พอแม่ปล่อย ยืนร้องไห้ เด็กชายมโหสถก็บอกว่าหยุดได้แล้ว พอได้ยินดังนี้ นางยักษิณีก็จะเอาเด็กไป เพราะถือว่าตัวชนะแล้ว มโหสถก็บอกว่าหยุดก่อนๆ เดี๋ยวๆ ตัดสินเรื่องให้เสร็จเสียก่อน

แล้วมโหสถก็ถามประชาชนว่า “ท่านทั้งหลาย ธรรมดาจิตใจของผู้หญิง คนไหนจะใจอ่อนต่อลูกมากกว่ากัน แม่หรือว่าคนอื่น” ประชาชนก็บอกว่า “แม่สิ แม่ก็ย่อมรักลูกมาก”

มโหสถก็บอกว่า “นี่แสดงว่า คนที่ยอมปล่อยนี่เป็นแม่ เพราะว่ามีความรักลูกมาก ถึงแม้ว่าอยากจะได้ลูกก็จริง แต่กลัวลูกจะตาย กลัวลูกจะเจ็บ ก็ต้องปล่อย ทนไม่ไหวที่จะให้ลูกเจ็บปวด”

ในที่สุด เมื่อถามซักไปมา นางยักษิณีก็ยอมรับว่า ตนเองเป็นฝ่ายมาลักลูกเขาไป เรื่องก็ยุติลงด้วยดี

ทั้งท่อนเหมือนกัน ข้างไหนโคน ข้างไหนปลาย

ต่อมาก็มีเรื่องอื่นอีก อาตมภาพจะเล่าอีกสักเรื่องสองเรื่อง คราวนี้ พระเจ้าแผ่นดินต้องการจะทดสอบด้วยพระองค์เองว่า เด็กชายมโหสถนี่จะมีปัญญาจริงหรือไม่ ไม่เอาเรื่องที่เขาเล่า

พระองค์ได้ไม้ตะเคียนมาท่อนหนึ่ง ก็ให้เขากลึงอย่างดีเหลือแต่ข้างใน มองดูต้นปลายไม่ออก ทำเป็นท่อนยาวๆ สักหน่อย แล้วก็ส่งไปที่หมู่บ้านนี้ ส่งไปให้คนทั้งหมู่บ้านเลย บอกว่า ไม้ท่อนนี้พระเจ้าแผ่นดินส่งมา ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดนี่ บอกพระองค์ให้ได้ว่า ทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย ถ้าไม่มีใครบอกได้ จะปรับชาวบ้านนี้รวมกันทั้งหมดพันเหรียญ

ชาวบ้านก็มาประชุมกันหาวิธีว่า เอ! ทำอย่างไรจะบอกได้ว่าท่อนไม้ท่อนนี้ ซึ่งกลึงเรียบร้อยแล้ว ข้างไหนเป็นท่อนหัว ท่อนหาง ท่อนโคน ท่อนปลาย ก็บอกไม่ได้สักคน

เรื่องก็เข้ามาถึงมโหสถอีก มโหสถก็ให้ไปเอาเชือกมา ได้เชือกมาแล้วก็ผูกตรงกลางท่อนไม้ ผูกเสร็จก็เอาหย่อนลงน้ำ พอหย่อนลงน้ำ ท่อนโคนก็จมน้ำ ท่อนปลายก็กระดกขึ้น มโหสถก็ถามชาวบ้านว่า ธรรมดาท่อนไม้นี่ท่อนโคนหรือท่อนปลายหนักกว่ากัน ประชาชนก็บอกว่า ท่อนโคนต้องหนักกว่า ท่อนปลายก็เบากว่า

มโหสถก็บอกว่า นี่ท่านเห็นไหม ท่านบอกได้หรือยังว่าทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย ประชาชนก็บอกว่า ได้ ที่จมน้ำก็เป็นท่อนโคน ท่อนที่โผล่ขึ้นมาก็เป็นท่อนปลาย เสร็จแล้วก็ส่งเรื่องกลับไปให้พระเจ้าแผ่นดินๆ ก็พอพระทัย

ในระหว่างนี้ พระเจ้าแผ่นดินพอพระทัยหลายหนแล้ว และพยายามจะให้เอามโหสถเข้ามาในวัง แต่ก็ถูกเสนกบัณฑิตเป็นต้น คัดค้านทุกทีด้วยความริษยา บอกว่า “เอ้ย! ยังหรอก แค่นี้ยังไม่แสดงว่าเป็นบัณฑิต” ก็ค้านกันเรื่อยมา จนกระทั่งคราวนี้ พระเจ้าแผ่นดินก็พยายามที่จะเอาเข้ามาให้ได้

ในที่สุด พวกบัณฑิต ๔ คนนั้นคัดค้านไม่สำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินก็เอาเข้ามาในวังจนได้ เมื่อเข้ามาในวังแล้วก็เพียงแต่ให้อยู่ เหมือนกับรับให้เป็นลูก ยังไม่ได้รับราชการโดยตรง เพราะยังจะต้องปรึกษาให้ได้รับความเห็นชอบจากบัณฑิตเหล่านี้

ในสระน้ำก็เห็น ในถังน้ำก็มี แก้วมณีอยู่ไหนแน่?

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ตอนที่มาอยู่ในวังแล้ว คราวหนึ่งมีคนไปเห็นแก้วมณีอยู่ในกลางสระในพระราชวัง สุกปลั่งรัศมีงดงาม พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสว่า “เอ้า! ถ้าใครสามารถเอาแก้วมณีนี้ขึ้นมาได้ จะให้รางวัล” แล้วก็ทรงปรึกษากับบัณฑิต

บัณฑิตทั้ง ๔ ก็ให้คนมาช่วยกันวิดน้ำออกจากสระจนกระทั่งแห้ง ถึงโคลนถึงตมก็ยังไม่ได้แก้วมณี และไม่พบด้วย แต่พอน้ำกลับเข้ามาก็มองเห็นแก้วมณีเหมือนเดิมอีก วิดไปก็ไม่ปรากฏ ก็เลยไม่สำเร็จ

พอเรื่องถึงมโหสถ มโหสถมาเห็นก็บอกว่า แก้วมณีนี้ไม่ได้อยู่ในกลางสระ แต่อยู่ข้างบน อยู่บนยอดไม้

พระเจ้าแผ่นดินถามว่า เธอรู้ได้อย่างไร มโหสถก็ให้คนไปเอาภาชนะมาอันหนึ่งแล้วใส่น้ำ แล้วก็ถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร กราบทูลว่าในภาชนะนี้ก็มีแก้วมณีเหมือนกันใช่ไหม ไม่ใช่มีเฉพาะในสระเท่านั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงเห็น ก็ยอมรับ

แล้วมโหสถก็บอกว่านี่ แก้วมณีมันไม่ได้อยู่ในน้ำหรอก แต่มันอยู่บนยอดไม้ข้างบนโน่น เมื่อค้นต้นไม้ข้างบน ก็ได้พบแก้วมณีอยู่บนต้นตาล ที่ยอดตาลโน่น อยู่ในรังกา เข้าใจว่ากาคงจะไปคาบอะไรมา แล้วแก้วมณีติดมาด้วย

เมื่อเห็นปัญญาของมโหสถครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุด บัณฑิตทั้ง ๔ คนนั้นก็คัดค้านไว้ไม่ไหว มโหสถก็ได้เข้ารับราชการ และต่อจากนั้นก็ได้ช่วยในการแผ่นดินต่างๆ รวมทั้งช่วยในการสงครามด้วยสติปัญญาเป็นอันมาก

อาตมภาพยกเรื่องนี้มาเล่าเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงถึงการใช้สติปัญญา ที่ช่วยเหลือทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้เขาพ้นความเดือดร้อนต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิปทาอย่างหนึ่งของพระโพธิสัตว์ คือเป็นผู้มีปัญญา แต่ใช้ปัญญาในทางที่ดีงาม ไม่ได้ใช้ในทางเสียหาย

ไม่เหมือนอย่างเรื่องนายยอดบัณฑิตหรือนายยอดฉลาด ที่ใช้ปัญญาในการที่จะโกงคนอื่น แต่นี่เป็นการใช้ปัญญาในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นการบำเพ็ญบารมี

ขอให้สังเกตว่า การใช้ปัญญาของคนทั่วไปนั้น แม้จะใช้ในทางที่ดี ก็มักอยู่เพียงในขั้นของการทำกิจธุระหรือแก้ปัญหาส่วนตัว บางทีก็เป็นการหักล้างหรือชิงไหวชิงพริบกัน เพื่อช่วยให้ตนเองหลุดรอดชีวิตพ้นจากภัย ยังอยู่ในโลกแห่งการเบียดเบียน ดังจะเห็นได้จากเรื่องต่างๆ ที่ได้เล่ามาแล้ว

แต่พระโพธิสัตว์ และท่านผู้ดำเนินตามวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ มุ่งใช้ปัญญาในทางที่บริสุทธิ์ ช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงามโดยธรรม และใช้ปัญญานั้นในการช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประสบทุกข์โดยทั่วไป สร้างสรรค์ประโยชน์ เพียรพยายามแก้ไขให้โลกแห่งการเบียดเบียนนั้น เปลี่ยนไปเป็นโลกแห่งความเป็นสุขร่มเย็น

อย่างไรก็ดี เรื่องที่เล่ามานี้ยังเป็นเพียงส่วนที่แสดงให้เห็นปัญญาของมโหสถ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ ส่วนตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว คือตอนที่รับราชการได้ทำประโยชน์อย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องยืดยาว จะไม่นำมาเล่าในที่นี้

ปัญญามีคุณประโยชน์อย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงควรสั่งสมเจริญปัญญา ดำเนินตามพุทธปฏิปทา

การที่จะเจริญปัญญานั้น ก็เหมือนกับที่อาตมภาพจะได้กล่าวต่อไป ถึงทางเกิดของปัญญา ๓ ทาง คือ

สุตะ การสดับตรับฟัง เล่าเรียน อ่าน

จินตะ การคิด การใช้ความคิดพินิจพิจารณา แล้วก็

ภาวนา การลงมือทำ หรือปฏิบัติ

อาจจะใช้ ๓ อย่างนี้มาร่วมกัน คือฟัง เล่าเรียน อ่านให้มากด้วย แล้วก็ใช้ความคิด โดยรู้จักคิดให้ถูกวิธี และก็ลงมือนำมาใช้นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เห็นด้วยตนเองว่า มันจะเกิดผลจริงจังอย่างไร สติปัญญาก็จะเจริญยิ่งขึ้นไปตามลำดับ

อาตมภาพคิดว่า สำหรับวันนี้ เล่าเรื่องมาก็มาก พอสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาโยมเพียงเท่านี้ เจริญพร

สร้างปัญญาทางไหนดี7

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็จะพูดเรื่องปัญญาต่อ แต่จะวกกลับมาในเนื้อหาที่เป็นหลักวิชา คืออาตมภาพได้พูดแล้วว่า ปัญญานั้นมีอยู่หลายอย่าง วิธีแบ่งปัญญาก็มีหลายวิธี คราวนี้จะแบ่งตามทางเกิดของปัญญา

เมื่อว่าตามทางเกิดของปัญญา ท่านแบ่งปัญญาเป็น ๓ ชนิด คือ

๑. จินตมยปัญญา หรือเรามักจะเรียกกันยาวๆ ว่า จินตามยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากการคิด

๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง หรือการสดับเล่าเรียน

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ หรือลงมือทำ

รวมความว่าแหล่งเกิดปัญญาก็มี การคิด การสดับฟัง และการลงมือปฏิบัติ

ทีนี้ ปัญญาที่เกิดจากการคิดนั้น ท่านเรียงไว้เป็นอันดับที่ ๑ แต่ที่เราเอามาใช้ในเมืองไทย เรามักจะเรียงสุตมยปัญญาก่อน เพราะเราไปคิดในแง่ว่า น่าจะเริ่มต้นด้วยการสดับฟังคนอื่น สดับฟังแล้ว ก็เอามาคิด คิดแล้ว ก็ลงมือทำ

แต่ส่วนในพระบาลีนั้น ท่านเอาจินตมยปัญญาขึ้นก่อน ที่ท่านเริ่มอย่างนั้น ก็เพราะท่านมุ่งจะพูดถึงประเภทของคน คือคนบางพวก สามารถที่จะคิดหาเหตุผลเองแล้ว ก็เกิดปัญญามีความเข้าใจขึ้นมา ท่านบอกว่าคนประเภทนี้เป็นผู้ฉลาดมาก รู้จักคิดเองเป็นหรือรู้จักมนสิการ โดยเฉพาะก็ได้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้ด้วยตนเองได้

ท่านเหล่านี้รู้จักคิดหรือคิดเป็น ท่านเป็นผู้ค้นพบ มีความรู้ต่างๆ หลายอย่างโดยที่ท่านไม่ได้สดับเล่าเรียนเพราะยังไม่มีคนอื่นรู้เข้าใจมาก่อน ท่านคิดค้นพิจารณาจนมองเห็นชัดด้วยตนเอง ก็คือปัญญาตรัสรู้นี่แหละ ท่านรู้จักสังเกต พินิจ และรู้จักพิจารณา ก็ได้ปัญญา

อย่างคนบางคนไปอยู่ในที่สงบ ได้เห็นธรรมชาติแวดล้อมแล้ว เกิดความคิดพิจารณา เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิตของตน อันนี้ก็เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิด เป็นการคิดขึ้นมาจากสิ่งที่ตนได้เห็น โดยไม่ต้องมีคนอื่นสอนหรือบอกเล่า

ดังเช่นว่า ไปอยู่ในที่สงัด มองเห็นใบไม้ร่วงหล่น ใบไม้นั้นเป็นสีเหลือง เป็นใบไม้แก่ ก็สะกิดใจ น้อมคำนึงถึงความจริงแล้ว ก็มองเห็นธรรมดาของชีวิต ทำให้เกิดปัญญารู้เท่าทันความเป็นไปของสังขาร อย่างที่เรียกว่า รู้ไตรลักษณ์ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยตนเองนี้ เรียกว่า จินตมยปัญญา

แต่คนส่วนมากไม่สามารถในการคิดเอง ต้องอาศัยผู้อื่น เช่น มีครูอบรมสั่งสอนแนะนำ หรือมีท่านผู้รู้ที่จะบอกกล่าวเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะก็คือบุคคลที่หวังดี ที่เรียกว่า กัลยาณมิตร

ความรู้ที่เกิดจากการสดับตรับฟังเล่าเรียนมาจากผู้อื่นนี้ เมื่อเขาแนะนำชี้แจงดีจนเกิดความเข้าใจขึ้นมา เห็นตามนั้น รู้เท่าถึงความเป็นจริง ก็เกิดเป็นปัญญาขึ้น อันนี้เรียกว่า สุตมยปัญญา

ข้อสุดท้ายคือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ หรือลงมือทำ

ตามตัวอักษร "ภาวนา" แปลว่าทำให้เจริญ หรือการทำให้เกิดให้มีขึ้น หมายถึงการลงมือปฏิบัติ เหมือนอย่างบางคนได้ฝึกปรือในการงานอาชีพบางอย่างมา ด้วยการลงมือทำเอง เช่น เป็นช่างเครื่องยนต์ ทำไปก็เรียนรู้และทำเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะสมความรู้ความชำนาญมากขึ้น จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ได้เล่าเรียนในโรงเรียน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเราได้ยินเรื่องวิธีปลูกต้นไม้ คนอื่นเล่าให้ฟัง หรือสอนให้ บอกให้ ก็ได้สุตะมา แต่ปัญญานั้นก็ยังไม่แจ่มแจ้ง ต่อมาเมื่อได้ลงมือปลูกด้วยตนเองจึงจะรู้ รู้ชัดเจน ประจักษ์แก่ตัวเอง เป็นปัญญาที่แน่นอน เพราะว่าได้ยินได้สดับมานั้น บางทีก็เอามาทำเองไม่ได้ เรียนรู้ตามที่เขาบอกว่า ปลูกต้นไม้ต้องทำอย่างนั้นๆ แต่พอมาทำเอง ปรากฏว่าปลูกไม่สำเร็จ ต้นไม้ไม่งอก ไม่ขึ้น ไม่งาม ก็ต้องมาหัดทำ

เพราะฉะนั้น วิธีเรียนวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง ก็คือ ให้ลงมือทำหรือทำด้วยตนเอง อย่างนี้ ถ้าทำสำเร็จ เรียกว่าเป็น ภาวนามยปัญญา

ในการปฏิบัติธรรมทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ปัญญาที่เกิดจากภาวนา คือการลงมือปฏิบัติ จะทำให้เห็นประจักษ์ชัดแก่ตนเอง

ดังเช่น เรียนรู้สติปัฏฐาน ท่านบอกให้ว่า สติปัฏฐาน คือการตั้งสติ หรือมีสติกำหนดพิจารณารู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขารทั้งหลาย ว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มี ๔ ข้อ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และ ธัมมานุปัสสนา แต่ละอย่างเป็นอย่างนั้นๆ ทำอย่างนั้นๆ เราได้สดับมา แต่ไม่เคยปฏิบัติ ก็ไม่รู้ชัด ไม่เห็นผลจริง

ต่อเมื่อใดเอาไปลงมือปฏิบัติ ก็ได้เห็นประจักษ์แก่ตัวเอง และได้รับผลเป็นขั้นเป็นตอนไป ปัญญาที่เกิดด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา และโดยเฉพาะ ก็หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการที่จิตเคยได้สมาธิแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ท่านกล่าวว่า สมาธินั้นเป็นบาทฐานของปัญญา เมื่อจิตใจสงบ ตั้งมั่น มีสมาธิดีแล้ว ก็พิจารณาจนเห็นความจริง ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ตกลงว่าปัญญามี ๓ อย่าง แบ่งตามทางเกิด อย่างที่ได้กล่าวมานี้ ซึ่งสำหรับคนทั่วไป มักต้องใช้ให้สัมพันธ์กัน คือ

ตอนแรกก็ได้สดับเล่าเรียนจากผู้อื่น เพราะเราอาจจะยังไม่สามารถในการคิดได้โดยลำพัง ก็สดับตรับฟังจากท่านผู้รู้ ท่านผู้เป็นครูอาจารย์สั่งสอน

เมื่อสดับตรับฟังแล้ว ก็เอามาคิดมาพิจารณาสุตะ ก็เกิดเป็นจินตะ หรือเป็นจินตาขึ้น

เมื่อคิดพิจารณาแล้ว ก็ไม่ปล่อยให้เป็นเพียงความคิดอยู่ในสมอง แต่เอามาลงมือทำลงมือปฏิบัติด้วย ก็ได้เห็นผลประจักษ์จริงขึ้นมาเป็นลำดับ

เรียกว่า โดยทั่วไปแล้ว ก็ใช้ทั้ง ๓ อย่าง เป็นขั้นเป็นตอน

แต่บางที สำหรับผู้มีปัญญามาก พอได้สุตะ ก็เข้าใจที่สุตะนั้นทีเดียว หรืออย่างผู้มีจินตะ รู้จักคิด คิดเป็น ก็ได้ปัญญา รู้แจ่มแจ้งที่จินตะ และบางคนก็ได้ปัญญาต่อเมื่อมาทำภาวนา จึงจะรู้

เป็นอันว่า ทางเกิดของปัญญานี้ ทำให้เรารู้ลู่ทางในการที่จะสร้างสมเจริญปัญญาให้แก่ตนเอง ท่านแบ่งไว้เพื่อเป็นเครื่องกำหนดของพุทธศาสนิกชน ไม่ใช่เพียงแค่ให้เป็นความรู้เท่านั้น แต่เพื่อผลในทางปฏิบัติ ที่จะให้เกิดประโยชน์จริงจังด้วย

คำอธิบายตอนนี้ อาตมภาพนำมากล่าวเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมี พอให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญญาในแง่ต่างๆ มากขึ้น

คิดว่า วันนี้กล่าวธรรมกถา เป็นความรู้เพิ่มเติมในเรื่องปัญญา ก็พอสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร

หลักการพัฒนาปัญญา8

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็ยังอยู่ภายในหัวข้อธรรมเรื่องปัญญา

เรื่องปัญญานี้ ได้พูดมาหลายครั้งแล้ว ได้พูดถึงปัญญาในระดับของการใช้งานในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจการงานต่างๆ และในการแก้ปัญหาทั่วๆ ไป ให้เห็นว่า ปัญญามีคุณประโยชน์อย่างไร และจะใช้อย่างไร แต่ยังมีปัญหาว่า จะสร้างปัญญา หรือทำปัญญาให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังนั้น ในวันนี้ ก็จะเข้ามาสู่การปฏิบัติที่เป็นเนื้อหาสาระทางธรรมมากขึ้น โดยอยากจะพูดเรื่องการเจริญปัญญา วิธีเจริญปัญญา หรือใช้ภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า วิธีพัฒนาปัญญา

พระพุทธเจ้าตรัสหมวดธรรมไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม แปลว่า ธรรมะเครื่องเจริญปัญญา มี ๔ หัวข้อด้วยกัน ถ้าจะเรียกง่ายๆ โดยแปลว่า หลักการพัฒนาปัญญา ก็ได้ หัวข้อทั้ง ๔ นั้น มีดังนี้

๑. การคบหาสัตบุรุษ หรือการคบคนดี เสวนาคนดี เรียกเป็นศัพท์ทางพระว่า สัปปุริสสังเสวะ (สัปปุริสะ  = สัปบุรุษ และ สังเสวะ = การเสวนา การคบหา)

๒. การฟังคำแนะนำสั่งสอนของสัตบุรุษนั้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฟังธรรม ทางพระเรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ

๓. การพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย หรือรู้จักคิดให้ถูกวิธี เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

๔. การนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมาย ตามความสัมพันธ์ที่โยงกัน ส่งผลต่อกันเป็นระบบ เรียกเป็นศัพท์ว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ

ทั้งหมดนี้มี ๔ หัวข้อด้วยกัน ทบทวนหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง

๑. สัปปุริสสังเสวะ การเสวนาสัตบุรุษ คือการคบหาคนดี

๒. สัทธัมมัสสวนะ การฟังธรรมคำสั่งสอน

๓. โยนิโสมนสิการ การพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย

๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือการปฏิบัติธรรมให้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย ถูกระบบ

(เทียบในหลักการพัฒนาปัญญา: เสวนาสุตะจินตาภาวนา)

อาตมภาพจะอธิบายหลักทั้ง ๔ ข้อนี้โดยย่อ

ข้อ ๑ สัปปุริสสังเสวะ การคบหาคนดี หรือคบหาเสวนาสัตบุรุษ อันนี้เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่เรามักจะเรียกว่า การคบหากัลยาณมิตร หรือการมีมิตรดี

การคบหาคนนั้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าคบหาคนไม่ดี ก็พาให้ห่างไกลจากความเจริญงอกงาม ในทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความเสื่อม แทนที่จะได้ความดี ก็ได้ความชั่ว อย่างที่ท่านกล่าวว่า คบหาคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น

ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเอาใบไม้ไปห่อของ ถ้าเอาใบไม้ไปห่อของเหม็น ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นเหม็นไปด้วย ถ้าเอาใบไม้นั้นไปห่อของหอมอย่างเช่นไม้กฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย

ถ้าคบหาคนชั่ว ก็นำไปสู่ความชั่ว ความเสื่อมเสียหาย ถ้าคบหาคนดี ก็นำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า

ในทางธรรม การที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องคบหาบุคคลที่ดีก่อน คนดีที่ควรคบหาเรียกว่า สัตบุรุษ ซึ่งท่านยกตัวอย่างไว้ ยอดของสัตบุรุษก็ได้แก่พระพุทธเจ้า รองลงมาก็ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งพระสาวก ท่านผู้รู้ธรรม ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณธรรม หรือผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ถ้าผู้ใดประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ก็เรียกว่า เป็นสัตบุรุษ (คนเก่าๆ มักเรียกว่า สัปบุรุษ)

สัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้น ว่ากันแต่โดยหัวข้อว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน แต่ในโอกาสนี้ไม่มีเวลาที่จะอธิบายยาว ก็เอาแต่เพียงความหมายในที่นี้ว่า คือคบหาคนดี คนที่มีความรู้ คนที่ทรงคุณธรรม

อันนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอน และได้แบบอย่างที่ดี เพราะว่าท่านที่มีความรู้ ก็สามารถให้ความรู้ เมื่อมีการให้ความรู้ ได้รับการเล่าเรียนศึกษา ก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จผล ในทางพระพุทธศาสนาถือการคบหานี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านเล่าเป็นนิทานชาดกก็มี

อิทธิพลของเสวนา

อย่างเรื่องลูกนกแขกเต้า ที่ท่านเล่าว่า ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ตอนแรกก็อยู่ในรังเดียวกัน พอดีวันหนึ่งมีพายุใหญ่มา พัดเอารังกระจัดกระจาย ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ก็พลัดกันไป ตัวหนึ่งไปตกที่อาศรมพระฤษี อีกตัวหนึ่งไปตกที่ซ่องโจร นก ๒ ตัวนี้ก็เจริญเติบโตมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ตัวที่ไปอยู่ในอาศรมของพระฤษี พระฤษีก็เลี้ยงไว้ ก็ได้อยู่ในบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ได้เห็นสิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่ดีงาม พระฤษีท่านเกี่ยวข้องติดต่อกับใคร ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับตามแบบของผู้ที่มีคุณธรรม มีการปฏิสันถารต้อนรับด้วยความอ่อนหวานสุภาพ นกแขกเต้าก็จำเอาคำที่ท่านกล่าวไว้ เวลาใครมาหา ก็ต้อนรับทักทายด้วยคำที่สุภาพอ่อนหวาน

ตรงกันข้าม นกแขกเต้าที่ไปตกในซ่องโจร ก็ได้ยินถ้อยคำของโจรที่พูดแต่คำหยาบคาย พูดแสดงความโหดเหี้ยมดุร้าย ใครเข้ามาในเขต ก็จะทำร้าย ก็จำติดไว้ และพูดตามไปอย่างนั้น

ทีนี้ มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งหลงทางมา ตอนแรกก็มาถึงที่ซ่องโจรก่อน หลงเข้ามาในเขตของโจรโดยไม่รู้พระองค์ กำลังเหน็ดเหนื่อย

พอประทับนั่งพักเท่านั้น นกแขกเต้าตัวที่อยู่ในซ่องโจร ขณะนั้นโจรไม่อยู่ คงจะออกไปปล้นหรือไปอะไรข้างนอก นกแขกเต้าตัวนี้ก็ต้อนรับโดยการร้องคุกคาม พูดด้วยคำหยาบคายว่า “ไอ้นี่ เป็นใคร นี่พวกเรามาๆ มาช่วยกันจับเอาไปฆ่าเสีย” อะไรทำนองนี้ เป็นคำที่น่ากลัวทั้งนั้น

พระราชาทรงได้ยินอย่างนี้ ก็สะดุ้งตกพระทัย และเห็นว่าสถานที่นี้คงจะเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยเป็นแน่ ก็เลยเสด็จออกจากที่นั่นไป

พระราชาเสด็จต่อไป ก็ไปเข้าเขตอาศรมของพระฤษี พอเสด็จย่างเข้าเขตอาศรมพระฤษี ก็ทรงได้ยินเสียงของนกแขกเต้าตัวที่เติบโตมาในอาศรมของพระฤษีนั้นทักทายปราศรัยว่า “โอ้! ท่านผู้เจริญ เชิญเข้ามาในที่นี้เถิด ที่นี่เป็นสถานที่ร่มเย็น เชิญมาพักผ่อน ถ้าท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะเอามาต้อนรับ” อะไรต่างๆ ทำนองนี้

พระราชาทรงได้ยินแต่เสียงอ่อนหวาน ก็สบายพระทัย แล้วก็เลยเสด็จเข้าไป จนกระทั่งได้พบพระฤษี ก็ได้รับการต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี

เรื่องนี้ท่านเล่าไว้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของการคบหา หรือสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การคบหาจึงเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม

คนดี หรือ คนชั่ว ที่จะคบหานั้น ไม่ใช่เฉพาะเป็นคนที่พบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ยังมีคนที่พูดที่แสดงตัวออกมาให้เราคบทางหนังสือ และสิ่งตีพิมพ์ที่อ่าน วิทยุ เทปที่ฟัง ทีวี วีดิโอที่ชมที่ดู เป็นต้น อีกด้วย

เมื่อคบหาสัตบุรุษ คบหาคนดีแล้ว ต่อไปก็มาสู่หลักข้อที่ ๒ คือ สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำแนะนำสั่งสอนของท่าน

บุคคลที่อยู่กับคนที่ดีมีความรู้ ก็มีโอกาสมากที่จะรับฟังคำสั่งสอน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ท่านบอกว่าเหมือนทัพพี กับ ลิ้น ที่ต่างกัน

ทัพพี นั้นอยู่ในหม้อแกง แต่ไม่เคยรู้รสแกงเลย เปรียบเหมือนกับคนที่มาอยู่ใกล้บัณฑิต ใกล้นักปราชญ์ แต่ไม่รู้จักสดับตรับฟังหรือสังเกต แม้จะได้ไปบ้าง ก็เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมประดับตัว ถ้าไม่ได้ใส่ใจฟังคำแนะนำสั่งสอน ก็ไม่ได้รู้อะไรมาก เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง

นี่ต่างกับลิ้น ลิ้นนั้น ถ้าตักแกงเพียงช้อนเดียวใส่เข้าไปในปาก ก็รู้รสแกง ว่ามีรสอร่อยหรือไม่อร่อย เผ็ดเค็มเปรี้ยวอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ให้ทำตนเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกง ไม่ให้ทำตนเหมือนกับทัพพี

เมื่อทำตัวเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกงแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าหลักที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ คือฟังคำสอนของท่านผู้รู้ด้วย

เมื่อฟังธรรม สดับคำสอนของท่านแล้ว ก็มาสู่หลักที่สามข้อต่อไป คือ โยนิโสมนสิการ รู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วย คือฟังอย่างเดียวไม่พอ ฟังแล้วรู้จักคิดรู้จักพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์

อันนี้ก็มีข้อเปรียบเทียบอีก ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับเรื่องหู หูนั้นก็มีหูคน กับหูของ หูของ อย่างหูกา หูกระทะ ก็เรียกว่าหูเหมือนกัน แต่ว่าได้แค่คนจับ ดึงเอาไป เอาไปทำโน้น เอาไปทำนี่ แล้วแต่คนจะชักพาไป ไม่เหมือนหูคน หูคนนั้นฟัง ฟังแล้ว พินิจพิจารณาด้วย รู้จักคิดว่า อันนี้มีเหตุมีผลอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าเชื่อ น่าฟังหรือไม่ ไม่ถูกชักพาไปในความหลง

หมายความว่าหูคนนั้น จะชักพาเอาไปเหมือนอย่างหูกาหูกระทะไม่ได้ แต่รู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วย

การรู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ ก็คือการใช้โยนิโสมนสิการ การไตร่ตรองพิจารณาโดยใช้ปัญญา ว่าที่ท่านพูดมาแสดงมานั้น มีเหตุมีผลหรือไม่อย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะได้สืบสาวราวเรื่อง คิดแก้ไขให้ถูกจุดถูกขั้นตอน รู้จักนำความรู้มาใช้ให้ถูกจุดถูกแง่ จึงจะได้ประโยชน์ ตลอดจนรู้จักพิจารณา เช่นว่าหลักธรรมข้อนี้ ท่านกล่าวไว้นั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร นำไปใช้ในกรณีไหนจะถูกต้อง จึงจะเกิดผลเกิดประโยชน์

การพิจารณานี้ก็มีหลายอย่าง โยนิโสมนสิการนั้น พระพุทธเจ้าแสดงไว้หลายวิธีด้วยกัน ในโอกาสนี้ อาตมภาพพูดแต่เพียงหัวข้อให้เห็นว่า การไตร่ตรองพิจารณานั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายแล้วมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ก็นำไปปฏิบัติได้

หมายความว่า หลักธรรมแต่ละข้อๆ นี้ มีความต่อเนื่องกัน ตอนแรกก็คบหาคนดี คบหาแล้ว ก็สังเกต สดับรับฟังคำสอน เมื่อฟังคำสอน ก็พิจารณาไปด้วย เมื่อพิจารณาจับได้ถูกแง่ถูกมุมให้เข้ากับความมุ่งหมายที่จะใช้ แล้วก็นำไปปฏิบัติ

คราวนี้ก็มาถึงข้อที่ ๔ คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมาย การปฏิบัตินี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าสักว่าปฏิบัติไป บางทีก็ไม่ได้ผล เช่น คุณธรรมต่างๆ นี้ มีอยู่มากมาย ท่านสอนไว้หลากหลาย เช่น ความเพียร หรือวิริยะ

ความเพียรเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ แต่ถ้าเอาไปใช้โดยไม่ถูกหลักถูกเกณฑ์ บางทีความเพียรก็กลับเป็นโทษได้ อย่างน้อยก็เสียเปล่า ก็เลยจะยกตัวอย่าง เล่าเรื่องชาดกอีกเรื่องหนึ่ง ให้เห็นว่าเอาความเพียรไปใช้ไม่ถูกเรื่องถูกราว ก็ไม่ได้ผล เหนื่อยเปล่า

กาวิดน้ำทะเล ต้องเพียรแค่ไหน

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว ที่ริมทะเลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเขานำเครื่องเซ่นสรวงสังเวยมาบวงสรวงพญานาค อันเป็นประเพณีของคนอินเดียสมัยนั้น เหมือนอย่างที่คนไทยสมัยนี้บางทีก็ทำคล้ายอย่างนั้น ในเรื่องนี้เขาไปเซ่นสรวงบูชาพญานาค ก็เอาเครื่องเซ่นสรวงไปวางไว้ เมื่อบูชาเสร็จแล้ว ก็ทิ้งไว้ แล้วก็พากันไป

ทีนี้ มีกาคู่หนึ่ง เป็นสามีภรรยา บินมาเห็นเครื่องเซ่นเข้า ก็ลงมากินกัน กินปลา กินเนื้อ กินขนม แล้วก็เลยกินสุราเข้าไปด้วย

กาคู่นี้กินสุราเข้าไปมากมายจนเมาได้ที่ พอเมาและอิ่มดีแล้ว ก็บินไปจับที่ชายหาด ยืนอยู่ที่ชายหาด กะว่าเดี๋ยวเราจะเล่นน้ำทะเลกันให้สนุกเลย

ตอนนั้นก็พอดีมีคลื่นขนาดปานกลางลูกหนึ่งพัดเข้ามา พอดีมาตรงกับนางกา เลยซัดเอานางกาลงทะเลไป พอลงทะเลไปแล้ว ไปเจอปลาใหญ่เข้า ปลาใหญ่ก็เลยฮุบกินนางกาเสีย

ฝ่ายนายกาก็มีความเศร้าโศกเสียใจมาก ที่นางกาถูกพัดพาลงทะเลไป ร้องไห้เศร้าเสียใจ ไปๆ มาๆ ก็เจอเข้ากับฝูงกาจำนวนมาก นายกาก็แสดงความเศร้าโศกเสียใจ กาทั้งหลายก็ถามว่า “เอ้า! ท่านเศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไรกัน”

นายกาก็เล่าให้ฟังว่า “นี่แน่ะท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ากับภรรยามายืนอยู่ที่ชายหาด กำลังจะเล่นน้ำทะเลให้สนุกสนาน ก็พอดีโจรทะเลมาพาเอาภรรยาของข้าพเจ้าไปเสีย”

โจรทะเลในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่า โจรที่อยู่ในทะเล แต่หมายความว่า ทะเลนั้นแหละเป็นโจร ทะเลนี้มาเอาภรรยาของนายกาไป ก็ทำหน้าที่เท่ากับเป็นโจร โจรทะเลมาเอาภรรยาของข้าพเจ้าลงทะเลไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็เศร้าเสียใจเป็นอันมาก

บรรดากาทั้งหลายก็บอกว่า “โอ้! เราจะต้องช่วยกัน ก็แค่นี้ พวกเราตั้งฝูงใหญ่ คงจะช่วยกันได้หรอก น้ำทะเลแค่นี้จะต้องช่วยกันวิดให้แห้ง แล้วจะได้เอาแม่กานั้นขึ้นมา” เรียกว่าจะค้นหานางกากันแหละ ก็เลยช่วยกันวิดน้ำทะเลเป็นการใหญ่

ฝูงกานั้นแต่ละตัว ต่างก็ใช้จะงอยปากวิดน้ำทะเล วิดบ้าง ดื่มแล้ว ก็เอาไปพ่น เอาไปคายออกที่อื่นบ้าง พากันทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเหน็ดเหนื่อย จะงอยปากเมื่อยล้าไปตามๆ กัน ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าวิดไปเท่าไรๆ ทะเลก็ไม่ยุบ พอแหว่งลงไปนิดหน่อยมันก็กลับมาเต็มอย่างเดิม

เหล่ากาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันเป็นอันมาก ก็ได้แต่คร่ำครวญเศร้าเสียใจถึงนางกานั้น ร้องไห้กันระงม

จนกระทั่งในที่สุด เทวดาประจำมหาสมุทรคงจะรำคาญ แล้วก็อยากจะช่วยให้กาเหล่านี้พ้นจากการร้องไห้ทุกข์โศกคร่ำครวญเสียที ก็เลยมาเนรมิตเป็นรูปที่น่าสะพรึงกลัว ขับไล่ฝูงกานั้นกระจัดกระจายไปหมด ก็เลยหมดเรื่องหมดราวกันไป

มองให้ชัด ธัมมานุธัมมปฏิบัติ สำคัญเพียงใด

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นหลักที่ว่า แม้แต่คุณธรรมก็จะต้องใช้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่เป็นปฏิบัติไม่ถูก ก็ไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ ก็ไม่เกิดผล เหมือนอย่างฝูงกาที่ใช้ความเพียรพยายามเป็นอันมาก แต่ไร้ประโยชน์ จะเห็นว่ากาฝูงนี้ มีความเพียรอย่างมาก ไม่ได้ท้อถอยเลย พากันช่วยกันวิดน้ำทะเล แต่น้ำทะเลก็ไม่รู้จักแห้ง และถ้าขืนวิดต่อไป ก็ตายเปล่า เพราะฉะนั้น ความเพียรที่ใช้ไม่ถูกที่ถูกทาง ก็ไม่สำเร็จผล

หลักธรรมเรื่องอื่น ก็เช่นเดียวกัน อย่างเรื่องสันโดษ สันโดษนี้ก็ต้องใช้ให้มาสนับสนุนความเพียร ท่านให้สันโดษ ก็เพราะว่า จะได้ไม่มัวกังวลกับเรื่องการแสวงหาความสนุกสนานบันเทิงบำรุงบำเรอตนเอง จะได้เอาเวลาและแรงงาน ที่จะใช้ในการแสวงหาความสุขสำราญการบำรุงบำเรอนั้น มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทำความเพียรปฏิบัติธรรมได้เต็มที่

เมื่อใช้ถูกหลักตรงความมุ่งหมาย สันโดษก็เป็นตัวหนุนการเพียรพยายามทำหน้าที่การงานเจริญกุศลธรรมที่ท่านสอนให้ไม่สันโดษ และในเวลาที่ปฏิบัตินั้น ก็มีความสุขไปด้วย

แต่ถ้าใช้ไม่ถูก ไม่รู้ความมุ่งหมาย สันโดษก็อาจกลายเป็นความพอใจชนิดที่พาให้เกียจคร้าน แล้วก็สบายด้วย เมื่อเกียจคร้านติดสุขอยู่อย่างนั้น ก็กลายเป็นคนที่ไม่ทำอะไรให้ก้าวหน้า จะปฏิบัติธรรมก็ไม่มุ่งแน่วไป จะทำอะไรก็ไม่ทำ ก็มีความสุขแบบที่ว่าไม่ดิ้นรนขวนขวาย แต่ไปเกิดปัญหาทีหลัง เพราะว่าไม่ทำสิ่งที่ควรทำไว้ ถึงเวลามีเรื่องขึ้นมา ก็เดือดร้อนตัว กลายเป็นปัญหาบีบคั้น แก้ไขได้ยาก ทำให้เกิดทุกข์

หลัก ธัมมานุธัมมปฏิบัติ นี้ แปลตามศัพท์ว่า “ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่” ซึ่งต้องอธิบายกันมาก จึงจะมองความหมายออก และจะปฏิบัติได้ถูก ก็ต้องรู้เข้าใจความจริงของธรรม ที่เป็นเรื่องของธรรมดาในธรรมชาติ เช่นการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์ เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ข้อไหนโยงกับข้อไหน ถ้าจะให้เกิดผลอันนั้น จะต้องทำปัจจัยตัวไหนๆ บ้าง ให้พร้อมให้ครบและให้ถึงที่ ต้องจับความสัมพันธ์ให้ถูกและทำให้เต็มระบบครบกระบวน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้เป็นหมวดๆ เป็นชุดๆ ต้องใช้ให้เต็มหมวดให้ครบชุด จึงจะออกผลที่เป็นวัตถุประสงค์

ขอพูดให้เห็นเค้าอีกนิดหนึ่ง อย่างมรรคมีองค์ ๘ จะออกผลที่หมายอันเดียว ก็เมื่อทำได้ครบทั้ง ๘ ข้อ ครบชุดเต็มหมวด ไม่ใช่ปฏิบัติข้อเดียวจะบรรลุผล โพชฌงค์ มี ๗ ข้อ ก็คือสำเร็จผลเมื่อปฏิบัติส่งผลต่อลำดับกันจนเต็มระบบครบทั้ง ๗ ข้อนั้น

บางทีที่เป็นหมวดเป็นชุดนั้น นอกจากเป็นระบบองค์รวมแล้ว ก็เป็นระบบสมดุลด้วย ถ้าขาดปัญญาแล้วปฏิบัติไม่เป็น ไม่ครบ ไม่ถูกสถานการณ์ ไม่สมดุล บางทีกลายเป็นเสียหายหรือเกิดผลร้าย เช่น ในหลักพรหมวิหาร ๔ ถึงสถานการณ์ที่พึงมีอุเบกขา ไพล่ไปมีกรุณา ก็เสีย หรือตรงข้าม ในสถานการณ์ที่พึงมีกรุณา กลับวางอุเบกขา ก็กลายเป็นร้าย ดังนี้เป็นต้น

เอาง่ายๆ ท่านให้สันโดษในวัตถุปรนเปรอ และให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม กลับไปสันโดษในกุศลธรรม ไปสันโดษในการบำเพ็ญความดีเสียด้วย แทนที่จะก้าวไปในธรรม ก็เลยเสื่อมจากธรรม แค่นี้ก็คงพอเข้าใจหลักธัมมานุธัมมปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น พึงตระหนักว่า หลักธรรมทุกข้อ มีขอบเขต มีความมุ่งหมายที่จะต้องใช้ปฏิบัติให้ถูก จนถึงเต็มระบบ ครบกระบวน อาตมภาพนำมาเล่าไว้พอเป็นตัวอย่าง

ถ้าปฏิบัติธรรมได้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย เช่น ความเพียรก็นำมาใช้ปฏิบัติ ทำสิ่งที่เราเห็นชัดว่าเป็นไปได้ ทำให้ถูกทาง หรือ สันโดษ ก็นำมาใช้เป็นเครื่องสนับสนุนความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน โดยมีจิตใจสุขสบายพร้อมไปด้วย ก็จะเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

ว่าในแง่ของปัญญา เมื่อปฏิบัติตามหลักทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมา เริ่มแต่การคบหาคนดีมีความรู้ ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากท่าน นำมาพิจารณาไตร่ตรอง เลือกเฟ้นใช้ปฏิบัติให้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย ก็จะบรรลุประโยชน์สุข เป็นประโยชน์สุขส่วนตนเองเป็นเบื้องต้น และถ้านำไปใช้ในกิจการของส่วนรวม ก็จะเกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมนั้นกว้างขวางยิ่งขึ้นไป แล้วก็ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ตนปฏิบัติไปด้วย

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อนำธรรมมาปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจเห็นชัดขึ้นมาว่า ธรรมข้อนี้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างนี้ๆ ปัญญาก็จะเห็นชัดผลปฏิบัติ รู้ประจักษ์ทางที่ถูกหรือผิดพลาด แล้วก็เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ทำให้ปฏิบัติได้ครบถ้วน  ครบ เต็ม ได้ผลจริง เพราะฉะนั้น หลักธรรมหมวดนี้ จึงได้ชื่อว่า ปัญญาวุฒิธรรม ดังที่อาตมภาพได้แสดงมา

วันนี้ ก็คิดว่า แสดงธรรมเรื่องปัญญาวุฒิธรรมแต่เพียงย่นย่อ พอได้ใจความ ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาโยม เจริญพร

อยู่กับปัจจุบัน9

วันนี้ จะพูดเรื่องหลักธรรมหรือคำสอนที่มักเข้าใจผิดกันสักข้อหนึ่ง ในช่วงที่แล้วมานี้ ก็ได้พูดเจาะจงเกี่ยวกับธรรมที่มักจะเข้าใจกันผิดมาหลายเรื่อง แต่ยังไม่จบ วันนี้จึงเอามาต่ออีกสักเรื่องหนึ่ง

ในพระพุทธศาสนามีคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งว่า ให้เราอยู่กับปัจจุบัน ดังเช่นในคาถาภัทเทกรัตตสูตรว่า

อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ
ปจฺจุปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ

แปลว่า ไม่พึงหวนละห้อยความหลัง ไม่พึงเพ้อหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดเป็นปัจจุบันต่อหน้า ให้มองดูให้รู้ชัดเจน หรือให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดในสิ่งนั้นๆ

นี่ก็เป็นคาถาหนึ่ง และยังมีที่อื่นอีก เช่นมีผู้ไปถามพระองค์หนึ่งที่อยู่ในป่าว่า

“เอ้อ ท่านฉันอาหารมื้อเดียว อยู่ในป่าอย่างนี้ ไม่มีเรื่องบันเทิงอะไร ทำไมดูหน้าตาสดใส”

พระท่านก็ตอบว่า

“ผู้ถึงธรรมแล้ว ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่เพ้อหวังถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ผิวพรรณจึงผ่องใส” ดังนี้เป็นต้น

คำสอนที่ยกมานี้แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ให้จิตใจอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้า ก็เลยมีผู้ที่นำไปเป็นข้อว่ากล่าวติเตียนพระพุทธศาสนา คือ

ในแง่ดีก็ยอมรับว่า การอยู่กับปัจจุบันนี้ทำให้เรามีใจสบายเป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีเศร้า

แต่ถ้าอยู่กับปัจจุบัน ไม่เอาเรื่องกับอดีตและอนาคต โดยเฉพาะอนาคต ก็จะทำให้เป็นคนที่ไม่รู้จักวางแผน จะมีชีวิตแบบอยู่ไปเรื่อยๆ ไปๆ มาๆ จะกลายเป็นคนที่อยู่ไปวันๆ เอาแต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่ต้องคิดถึงการข้างหน้า อะไรจะเป็นอย่างไร ก็ช่างมัน ถ้าอย่างนี้ก็จะทำให้ชีวิตไม่เจริญก้าวหน้า ทั้งชีวิตของตัว ทั้งครอบครัว และสังคมจะเป็นอย่างไรก็ไม่เอาเรื่องเอาราว

ข้อสงสัยนี้จะว่าอย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ

ก่อนตอบ ขอติงไว้ให้ได้สติที่มากับปัญญาว่า เมื่อจะติจะว่าอะไร ควรศึกษาสอบสวนสืบค้นเรื่องนั้นให้รู้ชัดเจนก่อน

ในพระพุทธศาสนา เรื่องนี้แยกเป็น ๒ ด้าน คือ เรื่องอดีตและอนาคต ที่เป็นด้านจิตใจ เกี่ยวกับอารมณ์ หรือความรู้สึก อย่างหนึ่ง และเรื่องอดีตและอนาคตทางด้านปัญญา เกี่ยวกับการใช้ความคิดพิจารณา อย่างหนึ่ง

ที่ท่านไม่ให้หวนละห้อยอดีต ไม่ให้เพ้อหวังอนาคตนั้น บอกชัดว่า เป็นเรื่องทางด้านความรู้สีึกหรือที่ภาษาไทยเรียกว่าอารมณ์ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางด้านปัญญา เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจแล้ว ท่านมีแต่ให้เอามาพิจารณา

พระพุทธเจ้าสอนหลักธรรมว่าด้วยเหตุปัจจัย ซี่งเป็นเรื่องของความเป็นไปสืบต่อเนื่องกัน ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อเราพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่ามีเหตุปัจจัยอย่างไร เราก็ต้องสืบสาวย้อนหลังไปในอดีต นี่ก็แสดงชัดว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาว่าด้วยเหตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตด้วย

อีกด้านหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักธรรมเรื่องความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนั้นเป็นเรื่องของการที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต และความไม่ประมาทนี้เป็นหลักธรรมที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา

นอกจากนั้นยังมีคำสอนในพระพุทธศาสนามากมาย ที่เตือนให้ระวังภัยในอนาคต แม้แต่ในเรื่องความเป็นไปของตัวพุทธศาสนาเอง พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องอนาคตไว้เป็นพระสูตร

ยกตัวอย่างเรื่องอนาคตภัย หรือภัยในอนาคต พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า ในกาลภายหน้า พระภิกษุทั้งหลาย ไม่ได้พัฒนากาย ไม่ได้พัฒนาศีล ไม่ได้พัฒนาจิต ไม่ได้พัฒนาปัญญา ต่อมาพระเหล่านี้ เจริญขึ้น เป็นผู้ใหญ่ เป็นพระเถระ ตัวเองไม่ได้พัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา ก็ไปเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้การอุปสมบท แล้วก็เป็นผู้สั่งสอนผู้อื่น ตัวเองก็ไม่ได้พัฒนา เป็นอย่างนั้นแล้ว ลูกศิษย์ก็เป็นไปตาม จึงไม่ได้พัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา

เมื่อลูกศิษย์ไม่ได้พัฒนาอย่างนั้น ก็ฝึกสอนลูกศิษย์ให้พัฒนาไม่ได้ และเป็นตัวอย่างของลูกศิษย์รุ่นต่อไปอีก ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อม พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า อันนี้เป็นภัยที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ให้ระวังไว้ และรีบป้องกันเสีย ดังนี้เป็นต้น

คำสอนอย่างนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าตรัสเตือนให้ระวังเกี่ยวกับเรื่องอนาคต ให้รู้จักวางแผน ให้รู้จักเตรียมการต่างๆ

อนึ่งพระพุทธเจ้าทรงมี ญาณ ที่เกี่ยวกับอดีตและอนาคต เช่น อตีตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต อนาคตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต หรือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในปางก่อน จุตูปปาตญาณ ญาณหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายที่ได้เป็นมาแล้ว นี่ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอดีต และอนาคต

โดยสรุป จึงแยกได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องทางด้านปัญญาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เกี่ยวข้องกับอดีต และอนาคต เต็มที่เลย แต่ในด้านจิตใจที่เป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ที่จะมีความเศร้าหมอง ขุ่นมัวใจ อะไรต่างๆ ท่านไม่ให้ไหวไปตาม

เป็นอันว่าแยกได้ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดไปว่า พระพุทธศาสนาไม่เอาเรื่องอดีต อนาคต ทำให้มีผู้นำไปติเตียน เพราะเข้าใจผิด และบางทีชาวพุทธเองก็ปฏิบัติผิดด้วย โดยที่ไปทำให้เขาเข้าใจอย่างนั้น เขาก็เลยนำมาติเตียน

สรุปความว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยตรัสสอนว่า ให้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติทางด้านจิตใจ คือด้านความรู้สึก ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน

การที่ให้ใจอยู่กับปัจจุบันนั้น ก็เพื่อให้เราอยู่กับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นไปอยู่ ซึ่งเป็นของจริง แล้วก็ไม่ทำจิตใจให้ขุ่นมัวเศร้าหมองไปกับสิ่งที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ อันนั้นเป็นด้านความรู้สึกในจิตใจ

แต่ในส่วนปัญญาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้หมดทุกกาล คือ ใช้อดีตโดยเอามาพิจารณา เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรบกพร่อง อะไรหย่อนไป เหตุปัจจัยในอดีตเป็นอย่างไร แล้วก็วางแผนเตรียมการเพื่ออนาคต โดยจัดการป้องกันแก้ไข และสร้างสรรค์ปรับปรุงให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

ที่ว่ามานี้ เป็นหลักการอันสำคัญ ถ้าจับจุดไม่ได้ ก็อาจเข้าใจผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดก็กลายเป็นว่า คำสอนเรื่องอยู่กับปัจจุบัน ทำให้คนตกอยู่ในความประมาท

การตกอยู่ในความประมาทก็คือ เอาเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า อะไรยังไม่มาถึง ก็ไม่เอาใจใส่ อะไรข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน อยู่ไปวันหนึ่งๆ

ดังที่ได้มีผู้ที่พูดอย่างนี้ เช่น หนังสือฝรั่งและนักวิชาการไทยสมัยใหม่บางคนเขียนเป็นเอกสารว่า คนในภาคอีสานของไทยเรานี้ อยู่ไปวันหนึ่งๆ ไม่เอาใจใส่อนาคต ก็อยู่สบายดีเหมือนกัน มีความสุข ใจสบาย แต่ไม่คิดการณ์ข้างหน้าเลย

ฝรั่งและนักวิชาการไทยที่ว่านั้นบอกว่า ลักษณะนิสัยและการมีชีวิตแบบนี้ มีสาเหตุมาจากคำสอนในพุทธศาสนา แล้วก็เลยทำให้คนไทยไม่เจริญ ไม่รู้จักปรับปรุงแก้ไข ไม่พัฒนา

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็แสดงว่าคนไทยเรานำพระพุทธศาสนามาใช้ครึ่งๆ กลางๆ คือไม่ครบถ้วน ไม่ตรงหลัก

พระพุทธศาสนายากตรงนี้แหละ คือเป็นศาสนาที่ต้องใช้ปัญญา จึงเกิดความยากขึ้นว่า ทำอย่างไรจะให้ชาวพุทธได้ความเข้าใจที่ครบถ้วน และปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะปรากฏว่า ในเมืองไทย ในหมู่ชาวพุทธนี้ มีการปฏิบัติชนิดที่ได้ครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้เยอะไปหมด

เรื่องการปฏิบัติต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตนี้ ก็เป็นอันให้รู้จักแยกแยะไดัชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาสอนเราให้ ใจอยู่กับปัจจุบัน แต่ให้ ปัญญาถึงทันทั่วทุกกาล ทะลุตลอดทั้งย้อนไปในอดีต และทะลวงโล่งไปในอนาคต

ที่ว่าใจอยู่กับปัจจุบัน คือใจนั้นเป็นเรื่องของจิตและความรู้สึก ด้านนี้ไม่ให้มัวโหยหาอดีตหวนละห้อยความหลัง และไม่ให้มัวฝันเพ้อละเมอไปในความหวังข้างหน้าเลื่อนลอยไปในอนาคต แต่ให้ใจนั้นอยู่กับความเป็นจริงที่จะต้องอยู่ต้องทำจริงๆ ในปัจจุบัน ส่วนปัญญาต้องรู้ย้อนอดีตเช่นสืบสาวเหตุปัจจัยได้ทั่วตลอด และหยั่งถึงอนาคตที่เหตุปัจจัยจะส่งทอดสืบต่อไป เพื่อจะได้จัดการกับปัจจุบันให้เกิดผลดีที่สุด

อาตมภาพเคยยกหลักธรรมข้ออื่นๆ มาพูดไปแล้ว เช่นเรื่อง อนิจจัง เราก็ปฏิบัติได้ครึ่งๆ กลางๆ โดยมากจะใช้อนิจจังสำหรับ "ปลง" คือปลงว่า อะไรต่ออะไรมันก็ไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไป เจริญแล้ว มันก็ต้องเสื่อม เป็นธรรมดาของมัน เพราะฉะนั้นก็ต้องปล่อยไปตามธรรมดา ก็เลยไม่คิดแก้ไข ไม่ปรับปรุง ได้แต่ปลงอนิจจัง ก็สบายใจ มันก็มีความสุขดีเหมือนกัน แต่ไม่ได้แก้ไขอะไรให้ดีขึ้น

ที่จริง หลักอนิจจัง พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สองขั้น

ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้รู้ความจริง จะได้ไม่เอาความปรารถนาของตัวไปดึงดันกับมัน ให้เกิดความทุกข์ แต่ให้รู้ด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัยว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมดาอย่างนั้น มันไม่ขึ้นต่อความปรารถนาของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราต้องรู้ทัน อย่าไปทุกข์ร้อนกับมันมาก

ขั้นที่สอง ต่อจากนั้นท่านก็บอกว่า เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ เราจึงต้องจัดการตามเหตุปัจจัย เริ่มต้นเราก็ศึกษาเหตุปัจจัยให้รู้ว่า เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เสื่อม จะได้ป้องกันกำจัดแก้ไข เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เกิดความเจริญ เราเรียนรู้ศึกษาแล้ว จะได้เตรียมไว้ จะได้สร้างขึ้นมา

เมื่อปฏิบัติถูกต้อง ก็ได้สองขั้น คือ

หนึ่ง ก็ใจสบาย คลายทุกข์ได้ จิตใจไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นสุขง่าย

สอง ก็ทำการป้องกันภัยอันตรายความเสียหาย แก้ไขปัญหา และปรับปรุงพัฒนาได้สำเร็จด้วย

ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือ อนิจจังนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อให้ไม่ประมาท เมื่อสอนทีไรพระพุทธเจ้าก็จะทรงเน้นว่า อนิจจัง รู้ว่าไม่เที่ยงแล้ว ก็อย่านอนใจนะ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้น อย่านอนใจ ต้องรีบเร่งใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อันนี้คือหลักไม่ประมาท

หลักไม่ประมาทนี้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด และใช้เป็นเครื่องรักษาตัวไม่ให้ปฏิบัติผิดพลาดต่อธรรมได้มากมาย เพราะธรรมต่างๆ นั้น เวลาเข้าใจผิด และปฏิบัติผิด มักจะทำให้เกิดความประมาททันที

ถ้าปฏิบัติธรรมใดแล้ว เกิดความประมาท ก็แสดงว่าได้ปฏิบัติผิดพลาดไปแล้ว

ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นหลักพระพุทธศาสนาข้อที่สำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำไว้มากมาย เช่นว่า

“ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย คนไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว”

อีกแห่งหนึ่งมีคำสอนว่า ความไม่ประมาทนี้เป็นหลักธรรมใหญ่ เหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่อยู่บนบกนั้น ไม่มีรอยเท้าใดเกินรอยเท้าช้าง จับลงได้ในรอยเท้าช้างทุกชนิด ฉันใด ธรรมทุกข้อที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็รวมลงในหลักความไม่ประมาท ฉันนั้น

หมายความว่า ธรรมเหล่านั้น จะเกิดผลเป็นประโยชน์ ก็ต่อเมื่อไม่ประมาท ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมนั้นจะดีอย่างไร ก็ไม่ได้ใช้ เมื่อไม่ได้ใช้ ก็ไม่มีประโยชน์เลย เหมือนนอนหลับอยู่ในคัมภีร์

ธรรมทุกข้อ ถ้ามีความประมาท ก็เหมือนนอนหลับอยู่ในคัมภีร์ มันดีอย่างไร ก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่ประมาทแล้ว เราก็ได้ใช้ธรรมทุกอย่าง เรารู้แค่ไหน ก็ได้ใช้หมดทุกอย่างแค่นั้น

ไม่ประมาทก็คือ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่นอนใจ กระตือรือร้น ขวนขวาย เร่งรัดจัดทำ

เรื่องนึกถึงอนิจจัง แล้วให้ไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสย้ำไว้ ถึงกับเป็นปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้าย ในตอนที่จะปรินิพพานว่า

วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

พุทธดำรัสนี้แสดงชัดว่า เมื่อตรัสถึงความไม่เที่ยงแล้ว ก็ตรัสต่อด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น เพราะไม่เที่ยง จึงต้องไม่ประมาท

สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่นิ่ง ชีวิตเราก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้องก็ตาม ล้วนเปลี่ยนแปลงไปทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาเคลื่อนคล้อยไป สิ่งทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลง จึงอย่านิ่งนอนใจ แต่จงเร่งขวนขวาย ทำเวลาให้เป็นประโยชน์ ให้มีค่ามากที่สุด

นี้คือหลักความไม่ประมาท ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่อง เรื่องอยู่กับปัจจุบันก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติต่อหลักธรรมเรื่องอยู่กับปัจจุบันแล้วทำให้เกิดความประมาท ก็แสดงว่าปฏิบัติผิดแล้ว เพราะถ้าปฏิบัติถูก จะต้องไม่ประมาท

ฉะนั้น จึงต้องเอาความไม่ประมาทมาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัย จะได้ป้องกันความเสื่อมเสียหาย ความผิดพลาด ในการปฏิบัติธรรม

ถ้าปฏิบัติธรรมไม่ถูกหลัก ก็ไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ ธรรมนั้นไม่สอดคล้องกัน ไม่สัมพันธ์กันไปสู่จุดหมาย ภาษาโบราณพูดว่า ไม่ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม พอแปลอย่างนี้ก็เลยไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าอะไร ที่จริงก็คือ ปฏิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องกัน เช่นรับช่วง ส่งต่อกัน เต็มระบบ ครบกระบวน ที่จะนำไปสู่จุดหมาย

เอาละ ไม่ต้องลงลึกไปในหลักมากมาย อย่างน้อย เอาแค่ คำพระที่สอนเตือนใจในชีวิตประจำวันนี่แหละ

ขอให้รู้เข้าใจอนุสาสนีว่าด้วยอนาคตภัยที่ยกมาให้ดู ต่อไปนี้ ก็จะปฏิบัติต่ออดีต ถึงปัจจุบัน ยันอนาคตได้ด้วยดี ดังพุทธคาถาที่ตรัสไว้ เมื่อทรงปรารภการต่อเรือทะเลลำใหญ่ของหัวหน้าช่างไม้บัณฑิต เพื่อเตรียมพร้อมในการหนีภัยน้ำทะเลที่คลื่นใหญ่จะซัดมากวาดล้างเกาะ ดังนี้

อนาคตํ ปฏิกยิราถ กิจฺจํ
มา มํ กิจฺจํ กิจฺจกาเล พฺยเธสิ

เตรียมกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ก่อน อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า

วันนี้ อาตมาพูดเรื่องหลักธรรมเกี่ยวกับการอยู่กับปัจจุบันมา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้

บันทึกงานฟื้นหนังสือขึ้นใหม่

(๙ เมษายน ๒๕๖๐)

ในมงคลวารมีอายุเต็ม ๙๐ ปี ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ อาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล ประสงค์จะพิมพ์หนังสือธรรมแจก ๒ เล่ม คือ พัฒนาปัญญา กับ ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน โดยมีเหตุผลว่าเป็นหนังสือสอนธรรมะพื้นๆ ง่ายๆ และมีนิทานด้วย ซึ่งท่านเองก็ได้ใช้สอนนักเรียน

กุศลฉันทะของอาจารย์นัฏกรที่ระบุจะพิมพ์หนังสือง่ายๆ พื้นๆ นี้ ทำให้เกิดหนังสือที่เหมือนกับมีขึ้นใหม่ ๒ เล่ม

ที่จริง หนังสือ ๒ เล่มนี้มีมานานนักแล้ว เล่มแรก คือ พัฒนาปัญญา พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ (๓๐ ปีแล้ว) เล่มหลังพิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๗ จากหนังสือเดิมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ (๔๑ ปีล่วงแล้ว) ทำไมจึงกลายเป็นเหมือนของใหม่ ควรบันทึกเรื่องราวไว้

๑. ว่าถึงเล่มหลัง คือ ธรรมนูญชีวิต ก่อน อาจารย์นัฏกรมิใช่จะพิมพ์ ธรรมนูญชีวิต ฉบับเต็ม อย่างที่ยังพิมพ์กันอยู่เรื่อยๆ ตามปกติ แต่จะพิมพ์ ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน ที่เล็กกว่า

ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน นี้มีจุดเริ่มจากอาจารย์นัฏกรนี่เอง คือ ในปี ๒๕๔๗ เมื่อครั้งอาจารย์นัฏกรเป็นกรรมการของโครงการธรรมะสู่ชนบท ตอนที่พระสงฆ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะจาริกไปปฏิบัติศาสนกิจเผยแผ่ธรรมในชนบทประจำปี หลังจำพรรษา ย่างเข้าฤดูหนาว อาจารย์นัฏกรประสงค์จะร่วมส่งเสริมศาสนกิจ โดยถวายหนังสือธรรมเพื่อนำไปแจกเป็นธรรมทาน ดังที่เคยปฏิบัติในปีที่ผ่านมา ก็คิดว่าจะพิมพ์หนังสือ ธรรมนูญชีวิต ถวาย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นัฏกรอยากจะพิมพ์หนังสือนั้นเฉพาะเนื้อหาส่วนที่เหมาะกับชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะในชนบท จึงคัดเลือกออกมา ๑๕ บท จำนวน ๕๖ หน้า จากฉบับเต็มเดิม ๒๒ บท ๘๕ หน้า แล้วมาเล่าแจ้งแก่อาตมาๆ ก็ได้แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำสำนวนบางแห่งให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น และให้ชื่อว่า ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน เหมือนมีหนังสือใหม่ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน จะพิมพ์มาอีกกี่ครั้งก็จำไม่ได้ ที่พบได้ใกล้ตัวทราบแค่ว่า ถึงขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๘ คือใน ๒ เดือน มีผู้ขอพิมพ์ ๑๑ ครั้ง ต่อมาก็ลืมๆ ไป ถึงบัดนี้น้อยคนนักจะรู้จักหนังสือเล่มนี้ เมื่ออาจารย์นัฏกรตกลงจะพิมพ์หนังสือนี้ใหม่คราวนี้ ก็หาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไม่ได้แล้ว จนกระทั่งเมื่อไปกิจที่วัดญาณเวศกวัน อาตมาไปหาพบได้เล่มหนังสือจากกุฏิที่เคยอยู่ที่นั่น ก็นำติดไปดู

เมื่อไม่มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำอย่างไรจะมีต้นฉบับที่จะใช้พิมพ์ โดยไม่ต้องพิมพ์ข้อมูลขึ้นมาใหม่ ถึงตอนนี้ พระเกตุญาโณได้ช่วยจัดมาให้ โดยนำ .pdf file ต้นแบบของ ธรรมนูญชีวิต ฉบับเต็มปกติ ซึ่งมีใช้อยู่ มาถ่ายแปลงข้อมูลลงใน .docx file แล้วตรวจเทียบกับข้อมูลในเล่มหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน ที่ได้จากกุฏิดังว่านั้น เมื่อตัดทอนและแก้ให้ตรงกับในเล่มหนังสือเก่านั้นแล้ว คราวนี้ตัด “วินัยชาวพุทธ” ออกไปด้วย ตามความประสงค์ของ อ.นัฏกร) ก็ส่งข้อมูลดิบนั้น ให้แก่อาตมาๆ ก็ตรวจจัดปรับ-ทำรูปเล่มใหม่ โดยแก้ไขปรับปรุงบ้างเล็กๆ น้อยๆ เสร็จเป็น ธรรมนูญชีวิต ฉบับชาวบ้าน เล่มใหม่ ๔๕ หน้า (เล่มเก่า ๕๖ หน้า, ฉบับเต็มปกติ ๘๓ หน้า) ดูทั่วๆ ไป คงจะน่าอ่านและอ่านง่ายขึ้นกว่าของเดิม

๒. ส่วนเล่มแรก คือ พัฒนาปัญญา เป็นหนังสือรวมเรื่องเล่า จัดเป็นชุดที่ ๒ (มี ๘ เรื่อง) ในหนังสือชุด “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” (ชุดที่ ๑ ชื่อว่า เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ) พิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๓๑ บรรจุเรื่องที่เล่าแก่คณะโยมผู้ถวายภัตเพลประจำวัน ระหว่างเขียนเพิ่มเติมเนื้อความใน พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ เมื่อปี ๒๕๒๘

เท่าที่สืบสอบหลักฐานได้ พบว่าในเดือน มิ.ย. ๒๕๔๕ มีการพิมพ์เป็นครั้งที่ ๑๒ แต่มาถึงขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ถูกลืมไปแล้ว เมื่ออาจารย์นัฏกรขอพิมพ์คราวนี้ หาข้อมูลฉบับต้นแบบในคอมพิวเตอร์ไม่พบแล้ว อาตมาจึงสืบค้นได้ข้อมูลใน .doc file (ปี ๒๕๔๕) ที่คุณวีระ สันติบูรณ์ ช่วยแปลงมาจากข้อมูลเดิมในระบบ Macintosh ที่พระมงคลธีรคุณช่วยพิมพ์ไว้ครั้งดั้งเดิม จึงนำมาตรวจ จัด ขัดเกลา ปรับแก้ เพิ่มเติม จนเสร็จ

หนังสือ พัฒนาปัญญา เล่มนี้ เรียกว่าเป็นฉบับฟื้นใหม่ เพราะนอกจากตรวจจัดขัดเกลาปรับแก้ทำรูปเล่มให้อ่านง่ายหรือน่าอ่านขึ้นแล้ว เรื่องทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ได้ตั้งชื่อใหม่ กับทั้งตั้งชื่อเรื่องย่อยๆ ให้เด่นขึ้นมา และบางแห่งก็ได้เขียนอธิบายธรรมเพิ่มเติมด้วย

ยิ่งกว่านั้น ระหว่างจัดทำอยู่ ได้รับแจ้งต่อๆ มาว่า อ.นัฏกร ประสงค์จะได้เรื่อง “อยู่กับปัจจุบัน” ท้ายเล่มหนังสือ กฐินสองที่สายใจธรรม (๑๓ พ.ย. ๒๕๓๗) มาพิมพ์รวมไว้ด้วย อาตมาจึงได้ตามหาข้อมูลดิบมาตรวจจัดขัดเกลาเข้าลำดับเป็นเรื่องสุดท้าย รวมแล้วก็เป็นอันว่า ได้ทำให้หนังสือ พัฒนาปัญญา เล่มนี้ เป็นฉบับฟื้นใหม่ แก้ไข เพิ่มเติม และแปรรูปโฉมไปมากทีเดียว

ก็เป็นอันว่า ควรอนุโมทนาอาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล ที่ได้ทำให้เกิดหนังสือฟื้นใหม่ ๒ เล่มที่เล่าเรื่องมานี้ อันน่าจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ศึกษาธรรมได้พอสมควร

อนุโมทนา

ผู้สูงอายุเข้มแข็ง แผ่แรงใจให้สดใสไปทั่ว

เวลาผ่านไปๆ ตามธรรมดาของมัน แต่ปรากฏแก่คนจำนวนมากว่ารวดเร็วยิ่งนัก เมื่อวัดญาณเวศกวันเริ่มต้นใน พ.ศ. ๒๕๓๒ อาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล มีอายุ ๖๒ ปี รู้สึกกันว่าเดี๋ยวเดียวก็มาถึงขณะนี้ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งในวันที่ ๒ พฤษภาคม อาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล ก็จะมีอายุเต็ม ๙๐ ปี

ท่านเจ้าของมงคลวาร ปรารภวันที่จะมีอายุเต็ม ๙๐ ปีนั้นแล้ว ก็ถือเป็นโอกาสที่จะทำบุญด้วยธรรมทาน โดยแจ้งว่าจะพิมพ์หนังสือธรรมแจกให้เจริญธรรมเจริญปัญญากันอีก

มีเสียงพูดว่า ผู้สูงอายุ ที่เรียกง่ายๆ ว่าคนแก่ ไม่น้อย ชอบกักกันอันใจของตนไว้กับความคิดปรุงแต่งต่างๆ นั่นก็ห่วง นี่ก็กังวล มีแต่เรื่องบ่นกระปอดกระแปดมากมายไม่รู้จบ พาให้เสียสุขภาพ ออดแอดอ่อนแอลงไปๆ เหมือนจะกลายเป็นคนกะปลกกะเปลี้ย

บางท่านไม่เป็นอย่างนั้น ก็บ่นมากอีกเหมือนกัน แต่ตรงข้ามกับเมื่อกี้ คือมักแสดงอาการว่ามีอารมณ์ไม่ดี ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด จนมีลักษณะเป็นคนหงุดหงิดกระวนกระวาย หรือกระสับกระส่าย

ทีนี้ อาจารย์นัฏกร อาชะวะมูล ถ้านับอายุ ก็เข้าเกณฑ์เป็นผู้สูงอายุแน่นอน แต่ถ้าตามตาเห็น คนทั่วไปจะไม่นึกว่าท่านเป็นคนสูงอายุ จะเห็นแต่ว่า อาจารย์นัฏกรนั้นทำงานอยู่เรื่อย ทำโน่นให้ที่นั่น ทำนั่นให้ที่นี่ มีอาการร่าเริง แจ่มใส กระตือรือร้น กระวีกระวาด กระฉับกระเฉง โดยมีใจเปิดโล่งมองออกไปที่งานการโน่นนั่น อันน่าจะทำ คิดไปทำงานนี้งานนั้น จะไปช่วยเหลือที่นั่นที่โน่น จนมีลักษณะเป็นคนกระปรี้กระเปร่า ทำโน่นไป ทำนี่มา เวลาผ่านไป กลายเป็นนักบำเพ็ญประโยชน์ ตามหลักอัตถจริยา

นานนักแล้ว อาจารย์นัฏกร อาชะวะมูล ได้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ในวงงานการศึกษาเผยแผ่ธรรมและกิจการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เท่าที่พอทราบ ตั้งแต่ยังอยู่ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เป็นอาสาสมัครสอนใน ร.ร. พุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดวชิรธรรมปทีป เขียนบทความอิงธรรม ลงในวารสารธรรมปทีป ของวัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ก และเป็นอาสาสมัครสอนภาษาไทย ที่ ร.ร. ของศูนย์วัฒนธรรมไทย แห่งนครนิวยอร์ก ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๖ ครั้นกลับมาเมืองไทยแล้ว เริ่มแต่ปี ๒๕๓๖ นั้น ก็ได้ร่วมในคณะของโยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ ไปวัดญาณเวศกวัน จัดภัตถวายเลี้ยงพระสงฆ์เป็นประจำ

ไม่เพียงแค่ในถิ่นใกล้และที่ประจำ แต่อาจารย์นัฏกร ออกไปไกลๆ ไปในถิ่นบ้านนอก ชนบท นำสิ่งของไปเกื้อหนุนวัดขาดแคลนที่พระเณรเล่าเรียนปริยัติ พิมพ์หนังสือพระไปแจกเป็นธรรมทานประจำปี ทำงานวุฒิอาสาธนาคารสมอง งานดาบสอาสา เป็นกรรมการโครงการธรรมะสู่ชนบท ไปที่โน้นที่นั้น ทำนั่นทำนี่ ไม่หยุด และก็เอาจริงเอาจังในการพิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทาน ประจำทุกปีต่อเนื่องอยู่นาน

เรื่องเป็นมาอย่างนี้ จนในช่วงหลายปีมาถึงขณะนี้ มีอายุ ๙๐ ปีแล้ว ได้เป็นอาจารย์ประจำของโรงเรียนพระดาบสมานาน ทำงานที่ใช้เรี่ยวแรงกำลังมาก ทั้งพูดจาสั่งสอนตั้งแต่เช้าจนเย็น บนอาคารหลายชั้น ที่ต้องเดินขึ้นลงบันไดอยู่เป็นประจำ ไม่รู้จักท้อถอย ไม่ยอมแพ้แก่ความเหน็ดเหนื่อย ผู้ร่วมงานขอให้ย้ายไปที่ตึกมีลิฟต์ ก็ไม่ไป ว่าตัวยังไหว ก็ให้โอกาสแก่ท่านผู้อื่น

ทั้งอยู่กับงานและอายุปานนี้ ใครเห็นก็ว่าคล่องแคล่วแข็งแรงมาก ดูขณะนี้เหมือนอายุสัก ๕๐-๖๐ ปี ถือได้ว่าเป็นกำลังใจให้แก่บรรดาท่านผู้สูงอายุได้อย่างดีว่า ถึงจะมีอายุ ๙๐ ปี ถ้าบริหารกายบริหารใจให้ถูกทาง ก็ไม่ต้องเป็นคนแก่คนเฒ่า แต่กระปรี้กระเปร่า พาใจที่ร่าเริงสดใสออกไปแผ่ขยายกุศลและความสุขได้อีกกว้างไกล

หนังสือธรรมที่จะพิมพ์แจกในมงคลวาร มีอายุเต็ม ๙๐ ปีนี้ อาจารย์นัฏกรระบุชื่อไว้ว่า คือ พัฒนาปัญญา กับ ธรรมนูญชีวิต ซึ่งตกลงว่าจะพิมพ์ ฉบับชาวบ้าน ที่เล็กกว่าฉบับเต็มตามปกติ ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลว่าเป็นหนังสือสอนธรรมะพื้นๆ ง่ายๆ และมีนิทานด้วย ซึ่งท่านเองก็ได้ใช้สอนนักเรียน

กุศลฉันทะของอาจารย์นัฏกรที่จะพิมพ์หนังสือง่ายๆ พื้นๆ นี้ ทำให้เกิดหนังสือที่เหมือนกับมีขึ้นใหม่ ๒ เล่ม ซึ่งหวังได้ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ศึกษาและผู้สอนธรรมได้พอสมควร

(ที่จริง หนังสือ ๒ เล่มนี้มีมานานนักแล้ว ทำไมจึงกลายเป็นเหมือนของใหม่ ควรบันทึกเรื่องราวไว้ แต่เป็นเรื่องยืดยาว จึงเขียนแยกไว้ต่างหากต่อท้ายคำอนุโมทนานี้)

อาตมาเคยพูดไว้นานแล้วว่า แม้จะมีวัยล่วงผ่านมาถึงอย่างนี้ อาจารย์นัฏกร อาซะวะบูล ก็มีสุขภาพดี มีกำลังร่างกายแข็งแรง ดังเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ใกล้ชิดทั้งหลายและผู้รู้เห็นทั่วไป ถือได้โดยธรรมว่าเป็นความมีบุญอย่างหนึ่ง

แต่มิใช่เพียงมีร่างกายดีที่แข็งแรงเท่านั้น ท่านเจ้าของมงคลวารนี้ยังเป็นผู้มีกำลังจิตใจเข้มแข็งด้วย และมิใช่เข้มแข็งอย่างไร้จุดหมาย แต่ท่านเข้มแข็งในกิจการงานบุญกุศล ในการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ดังที่ได้เอาใจใส่ขวนขวายในงานสาธารณสงเคราะห์ทั้งหลายเรื่อยมา

การดำเนินชีวิตในวิถีดังที่ว่ามานี้ ยกขึ้นตั้งเป็นคติเชิงแบบอย่างเพื่อประโยชน์สืบต่อไปได้ว่า

ด้วยใจที่ร่าเริงสดใส ขอให้ชวนกันพา กายที่มีพลังกุศลค้ำจุน ออกไปทำงานบุญทั้งหลายขยายออกไปให้กว้างขวาง ให้บุญของตนเป็นทุนก่อคุณประโยชน์แก่ผู้คนอื่นอีกมากมาย แผ่ขยายกุศลและความสุขออกไปให้กว้างไกล

ขออนุโมทนาอาจารย์นัฏกร อาชะวะบูล เจ้าของมงคลวาร อายุ ๙๐ ปี ในการบำเพ็ญธรรมทานครั้งใหม่นี้ ด้วยแรงใจที่มุ่งจะร่วมทำงานเผยแผ่ธรรม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชน อันจะมีผลส่งต่อไปให้เกิดความสงบเรียบร้อยเจริญมั่นคงของประเทศชาติ และสันติสุขของโลก

ขอคุณพระรัตนตรัยอภิบาลอวยชัยให้ท่านเจ้าของมงคลวาร อายุ ๙๐ ปี และญาติมิตร ศิษย์ทั้งหลาย ตลอดถึงประชาราษฎร์ทุกถิ่นทั่วไทย เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีพลังพรั่งพร้อมที่จะช่วยกันสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้สุขเกษม และร่มเย็นงอกงามยืนยาวสืบไป

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต)
๙ เมษายน ๒๕๖๐

1เล่าเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๘ (ในชุดที่ ๒ ของ “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” ซึ่งเป็นธรรมกถาในการอนุโมทนา คณะโยมผู้ถวายภัตประจำทุกเพล ระหว่างเขียนเพ่ิมเติม บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ ในหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ ตั้งแต่เข้าพรรษา ถึงขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๙)
2เล่าเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๘
3เล่าเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๘
4เล่าเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๘
5เล่าเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๘
6เล่าเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๘
7เล่าเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘
8เล่าเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๘
9พูดแก่โยมญาติมิตร หลังทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิ ภาคค่ำ วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๗ พิมพ์เป็นเรื่องสุดท้าย ในหนังสือ กฐินสองที่สายใจธรรม ๑๓ พ.ย. ๒๕๓๗
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง