การพัฒนาจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การพัฒนาจริยธรรม1

ขออำนวยพร ท่านรองอธิบดีผู้เป็นประธาน ขอเจริญพร ท่านนักการศึกษาผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคล ที่ได้มาพบปะกับท่านผู้มาร่วมประชุมในที่นี้ ซึ่งดังที่ได้ทักทายไว้ในเบื้องต้นว่า ท่านเป็นนักการศึกษา เป็นผู้ให้การศึกษาโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง แก่สังคมนี้ จึงเป็นผู้มีความรับผิดชอบอย่างสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศชาติ

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาพบปะกับที่ประชุมซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก เป็นที่ประชุมเล็กๆ แต่แม้จะเล็ก ก็มีความสำคัญอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า มีความรับผิดชอบสูง ทีนี้ ในเมื่อเป็นที่ประชุมเล็กๆ ก็นึกว่ามาคุยกันแบบสบายๆ

- ๑ -
สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

หัวข้อที่ท่านนิมนต์มาพูดในวันนี้ ตั้งเป็นคำถามว่า จะพัฒนาบุคคลให้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างไร อาตมภาพมีข้อสังเกตในเบื้องต้นนิดหน่อยว่า ในช่วงหลังๆ สักสิบกว่าปีมานี้ มีการประชุม มีการสัมมนาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง คุณธรรมและจริยธรรม บ่อยครั้ง ในกระทรวงศึกษาธิการเอง กรมกองต่างๆ ก็มีการจัดเรื่องนี้กันมาก กว้างออกไปในวงการศึกษาด้วยกัน คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ก็ดี ทบวงมหาวิทยาลัย ก็ดี ตลอดจนหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง เช่น ก.พ. ในวงกว้างทั่วๆ ไป ก็มีการประชุม มีการสัมมนาในเรื่องจริยธรรมกันมาก

อันนี้เป็นข้อสังเกต เกี่ยวกับสภาวการณ์ที่ได้มีขึ้นในระยะสิบกว่าปีมานี้ ถ้าหวนหลังไปก่อนหน้านั้น รู้สึกว่า จะไม่ค่อยมีการสนใจในเรื่องจริยธรรมกันมากเท่าไร

เหตุใด ในปัจจุบัน ปัญหาจริยธรรมจึงแก้ไขได้ยาก?

ข้อสังเกตนี้ก็ไปสัมพันธ์กับสภาพของบ้านเมือง การที่เราให้ความสำคัญ หรือสนใจต่อเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมมากขึ้น ก็เนื่องจากว่าในสังคมนี้หรือในประเทศชาตินี้ เราได้ประสบปัญหาในทางจริยธรรมและคุณธรรม หรือเรียกศัพท์อย่างเก่าๆ ว่าปัญหาทางศีลธรรมเพิ่มขึ้น

ในยุคก่อนนั้น เรากำลังมุ่งไปในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ให้พ้นจากสภาพด้อยพัฒนา หรือแม้ภายหลังเราจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เราก็จะทำให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เรามุ่งมั่นดำเนินงานต่างๆ ที่เรียกว่าการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาในสมัยก่อนนั้นได้มุ่งไปทางด้านวัตถุมาก

เมื่อเราดำเนินงานกันมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นกาลเวลาที่ผ่านไปมากพอสมควรแล้ว ประเทศชาติสังคมก็ควรจะพัฒนาไปได้ไกลพอสมควร การที่พัฒนานั้นก็หมายความว่าปัญหาต่างๆ ก็ควรจะลดลง แต่ตามสภาพที่มองเห็น เรารู้สึกว่าไม่ค่อยจะสมหวัง เพราะปรากฏว่า ประเทศของเราก็ยังมีปัญหามากมาย สังคมนี้ยังไม่พ้นจากข้อบกพร่องที่ประสบอยู่ตั้งแต่เดิม แล้วก็ยังมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาอีกมากมายเหลือเกิน ทำให้ต้องมาคิดทบทวนกันว่า นี่มันอะไรกัน

โดยเฉพาะในเรื่องศีลธรรมนี้ ก็เกิดความรู้สึกว่า ประชาชนมีความเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในตอนหลังๆ นี้ การพัฒนาประเทศชาติจึงชักจะให้ความสนใจ หันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน และพัฒนาจิตใจมากขึ้น หันมาสนใจปัญหาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น จนทำให้มีข้อสังเกต ดังที่ได้ว่าไว้เมื่อกี้นี้

ในเมื่อได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนี้แล้ว มันก็โยงต่อไปถึงว่า สภาพเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องฟ้อง หรือเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัว กล่าวคือ การที่เราไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาเรื่องนี้กันมานาน แล้วกลับหันมาสนใจอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อปัญหามันปรากฏชัดขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้มองเห็นได้ตามหลักสามัญว่า คนที่โดยพื้นเดิมของตนเองไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนั้น ย่อมจะสนใจขึ้นมาก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องสนใจ เพราะเรื่องนั้นเกิดเป็นปัญหา กระทบกระเทือนตนเองอย่างรุนแรง จนทนไม่ได้ที่จะไม่สนใจ หรือไม่ก็เป็นเพราะเรื่องนั้นเกิดความวิปริตผิดแปลกไปเด่นชัดมากเหลือเกิน จนกระทั่งแม้แต่คนที่ไม่เอาใจใส่หรือไม่เคยเหลียวแล ก็ต้องมองเห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมายความว่า คนที่ไม่สนใจเรื่องนี้จะสนใจขึ้นก็ต่อเมื่อปัญหานี่มันรุนแรง เมื่อรุนแรงก็หมายความว่าปัญหานั้นมันได้มีกำลังมากขึ้นแล้ว ถ้าเรียกว่าเป็นกระแสก็เป็นกระแสที่หนัก ไหลมาอย่างรุนแรงและท่วมท้น ถ้าเป็นน้ำหลาก น้ำท่วม มันก็ไหลมาจนบ่านองไปหมดแล้ว ถ้าเป็นไฟไหม้ก็ไหม้ลุกลามใหญ่โตแดงฉานทั่วไปหมด หรือถ้าเป็นร่างกายของเราก็เหมือนกับว่าโรคร้ายได้เข้ามากัดกร่อนเบียดเบียนเสียโทรมไปหมด เป็นไปเสียมากแล้ว เราจึงได้เห็นชัด

ในเมื่อเห็นชัดเอาเมื่อมันมากแล้ว ในเมื่อมารู้ตัวเอาเมื่อมันรุนแรงไปเสียไกลแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ว่ามันต้องยากที่จะแก้ไข คนที่จะแก้ไขก็ตื่นช้า แล้วโรคหรือว่าปัญหานั้นมันก็แรงแล้ว ฉะนั้น กระแสที่แรงนั้นกว่าจะกั้นหยุดยั้งหรือทานได้ มันจะต้องไหลอย่างหนักหน่วงไปอีกนาน การที่จะแก้ไขให้เสร็จสิ้นไปง่ายๆ เป็นไปได้ยาก อันนี้เราต้องยอมรับความจริงเป็นเบื้องต้นก่อน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางคุณธรรมจริยธรรมนั้น จะต้องยอมรับความจริงไว้แต่ต้นๆ ว่า มันเป็นเรื่องที่ยาก

โดยปกติ การอบรมปลูกฝังจริยธรรมก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมาเข้ากับสภาพอย่างนี้ที่ว่า เราได้ปล่อยให้ปัญหามันปรากฏชัดรุนแรงแล้ว จึงมาสนใจ ก็เลยยิ่งเป็นเรื่องยากกันใหญ่

นี่เป็นประการที่หนึ่ง ที่เราจะต้องยอมรับความยากไว้แต่ต้น จะได้ไม่ท้อใจว่า เอ! ทำไมแก้ไขไม่เห็นค่อยสำเร็จ เราประชุม เราสัมมนา เราพยายามจัดหลักสูตรจริยศึกษาอะไรกันมา ตั้งหลายปีแล้วก็ไม่เห็นก้าวหน้าไปเท่าไร ปัญหาก็ยังมีเรื่อย เพราะเราปล่อยให้กระแสมันแรงไปตั้งไกล มันไหลมาท่วมท้นแล้ว จะไปแก้กันให้รวดเร็วได้อย่างไร มันต้องใช้เวลานานแน่นอน

อีกประการหนึ่ง มันก็ฟ้องไปในตัวพร้อมกันนั้นว่า การที่กระแสอย่างนี้จะรุนแรงขึ้นได้ ก็เพราะเราได้ปล่อยปละละเลยในเรื่องระบบการควบคุมดูแล ไม่ได้ใส่ใจจัดสรรระบบควบคุมทางจริยธรรมต่างๆ

รวมไปถึงสถาบันที่มีหน้าที่ในทางศีลธรรมจริยธรรมด้วย ก็เป็นเครื่องฟ้องว่า สถาบันอะไรต่างๆ เหล่านั้น หรือระบบทั้งหมดได้ย่อหย่อนอ่อนแอไป ขาดความเอาใจใส่ แม้แต่วัดวาอารามก็คงจะมีความอ่อนกำลังในเรื่องนี้ด้วย จึงได้ปรากฏผลออกมาอย่างนี้

ในเมื่อระบบการควบคุมมันอ่อนกำลัง และเราไม่ได้เอาใจใส่ดูแลระบบนั้น ปล่อยปละละเลยกันมา มันก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม ก็กลายเป็นว่า เราจะต้องไปรื้อฟื้นระบบการควบคุม ระบบที่จะมารักษาดูแล เป็นเครื่องประคับประคองจริยธรรมของสังคมนี้ขึ้นมาอีก นี้ก็คือความไม่พร้อมอีกสถานหนึ่ง

เฉพาะตัวปัญหาเอง ที่รุนแรง ก็ยากอยู่แล้ว ระบบที่จะรับผิดชอบช่วยในทางจริยธรรมก็อ่อนโทรมเสียอีก จะต้องกลับไปหาทางช่วยเสริมกำลังให้สถาบัน และระบบทั้งหมดนั้นเข้มแข็งขึ้นมา จึงเป็นเรื่องที่ยากซ้ำสอง

นอกจากนั้น ที่ว่ามานี้ยังเป็นการพูดเฉพาะในแง่สถานการณ์เท่านั้น ถ้าว่าให้ลึกลงไป สังคมปัจจุบันมีค่านิยมทางวัตถุสูง การมีค่านิยมทางวัตถุสูง ย่อมหนุนให้เกิดปัญหาจริยธรรมได้ง่าย และเป็นแรงต้านให้การแก้ไขปัญหาจริยธรรมเป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความจริง การที่จะบ่นอะไรต่ออะไรกันไป ก็บ่นได้ แต่จะต้องเข้าใจสภาพพื้นเพว่า อะไรเป็นตัวปัญหา สภาพที่เป็นปัญหาคืออะไร เพราะอะไร

มองปัญหาจริยธรรม
โดยสัมพันธ์กับความต้องการของบุคคลและสังคม

ในการพูดนี้ ทางท่านผู้จัดดำเนินการได้พูดเกริ่นคล้ายๆ เสนอแนะว่า นอกจากจะพูดเรื่องว่าจะทำให้บุคคลมีคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างไรแล้วก็ขอให้พูดในหัวข้อแทรกเข้ามาด้วยว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร แสดงว่าท่านมองเรื่องจริยธรรมของบุคคลนี้โดยสัมพันธ์กับสังคม คือไม่ได้มองบุคคลเป็นส่วนต่างหากจากสังคม มองบุคคลในฐานะเป็นส่วนประกอบของสังคม แล้วก็มองถึงการที่จะแก้ไขปัญหาของบุคคลนี้ โดยสัมพันธ์พร้อมกันไปกับการแก้ปัญหาของสังคมด้วย จึงได้ตั้งปัญหาขึ้นมาว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร

ก่อนที่เราจะทราบว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร เราคงจะต้องพูดกันบ้างว่า สังคมของเราที่เป็นอยู่นี้ มันไม่พึงประสงค์อย่างไร การที่เราปรารภขึ้นมาอย่างนี้ เราคงจะมีความรู้สึกอยู่บ้าง คล้ายๆ กับว่า ขณะนี้สังคมของเราไม่ค่อยเป็นที่น่าสบายใจ ไม่เป็นที่พึงประสงค์ ก็จึงอยากจะหาสังคมที่พึงประสงค์

เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร ก็ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้สังคมของเราเป็นอย่างไร มันจึงไม่พึงประสงค์ ก็คือ ต้องรู้สภาพที่เป็นอยู่ ต้องรู้ปัญหาสังคมของเรา และลักษณะต่างๆ ของปัญหา แล้วเราจึงจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ ตลอดกระทั่งว่า จะต้องรู้ความต้องการที่แท้จริงของสังคมของเราด้วย ทั้งนี้ เพราะว่าเราอาจจะพูดถึงสังคมที่พึงประสงค์ชนิดที่เป็นอุดมคติ แต่ก็ไม่แน่ว่าสังคมที่พึงประสงค์ที่เป็นอุดมคตินั้น เข้ากับความต้องการที่แท้จริงของสังคมของเราหรือไม่

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ความต้องการของสังคมนี้ได้

เมื่อรู้ความต้องการของสังคมแล้ว ก็รู้ละเอียดเข้ามา ย่อยเข้ามา ถึงความต้องการของบุคคลในสังคมอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราก็จะมาพิจารณารายละเอียดของปัญหา โดยสัมพันธ์กับความต้องการของสังคมและความต้องการของบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้น นี้ก็เป็นเรื่องทางจริยธรรมที่สำคัญด้วยเหมือนกัน

หมายความว่า เรื่องปัญหาทางจริยธรรมนี้ มันมาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องความต้องการของสังคม และความต้องการของบุคคลในสังคม คือ พูดในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ จะเป็นไปในทำนองว่า สังคมของเราและบุคคลในสังคมนั้น มีความต้องการในทิศทางหนึ่ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในการปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการ หรือทำให้สำเร็จตามความต้องการนั้น ปฏิบัติไม่ถูก เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องในการสนองความต้องการของตนเอง หรือของสังคมของตน ก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา

ถ้าเราจับเจ้าตัวความต้องการนี้ไม่ได้ ก็เรียกว่าไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อไม่เข้าใจตัวเอง ก็เรียกว่าศึกษาปัญหาไม่ถูกที่ จับไม่ถูกจุด ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เป็นอันว่า เรื่องเหล่านี้โยงกันไปหมด เรื่องบุคคล เรื่องสังคม เรื่องปัญหาของสังคมที่เป็นรายละเอียด ที่ไปสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม และทิศทางเดินของสังคมนั้น

ปัญหาจริยธรรมในสังคมไทย

ทีนี้ รายละเอียดของปัญหาในทางจริยธรรมนั้น เราสามารถพูดกันได้มากมาย อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้แล้วว่า เบื้องต้นนี้เราจะต้องเข้าใจสภาพของสังคมของเรา ต้องรู้ปัญหาที่เราประสบหรือพบก่อน แต่ก็ได้ย้ำไว้ว่า ถ้าเราจะพิจารณารายละเอียดของปัญหาเหล่านั้น เป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างไป มันก็เลื่อนลอย เราจะต้องจับเอามาโยงกับสังคมทั้งหมด โดยสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม เพราะว่าถ้าเราจะพูดกันแต่ในแง่ของรายละเอียดของปัญหาทางจริยธรรมของสังคมนี้ ก็เป็นเรื่องไม่รู้จักจบสิ้น

เราอาจจะพรรณนาได้ว่า สังคมของไทยเราปัจจุบันนี้มีปัญหามากมายเหลือเกิน เช่น ยกตัวอย่างว่า มีอาชญากรรมมาก อาชญากรรมอย่างง่ายที่สุดก็คือ ฆาตกรรมหรือการฆ่ากันตาย เมืองไทยนี้มีชื่อเสียงมากในเรื่องการฆ่ากันตาย มากขนาดเข้าสถิติโลก

การที่จะพูดว่า มีการฆ่ากันตายมากขนาดไหน ก็ต้องเทียบตามอัตราส่วนของประชากร เมื่อคิดตามอัตราส่วนของประชากรแล้ว ดูเหมือนว่าประเทศไทยนี้จะมีการฆ่ากันตายเป็นอันดับสองของโลก เท่าที่ได้ยินมานี้ เป็นที่น่าสงสัย เคยมีคนพูดว่า เอ! สังคมพุทธนี่ เป็นสังคมแห่งความเมตตากรุณา คนไทยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนา แต่ว่าทำไมสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ฆ่ากันตายมากเหลือเกิน เหมือนกับว่าเป็นสังคมที่มีความโหดร้ายมาก อันนี้เป็นข้อสงสัยที่ได้ตั้งขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา

อีกตัวอย่างหนึ่ง สังคมไทยปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่มีความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมาก มีลักษณะนิสัยหรือค่านิยมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งพูดกันบ่อยมากเหมือนกันว่า ค่านิยมชอบบริโภค ไม่ชอบผลิต การที่ชอบบริโภคไม่ชอบผลิตนี้ก็เป็นการไปสนับสนุนนิสัยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แน่นอน เพราะว่าคนที่ชอบบริโภคก็ย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่จะบริโภค ใช้จ่ายมากมาย เพื่อให้มีสิ่งที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวให้มากที่สุด ไม่รู้จักสิ้นสุด

ทีนี้ เมื่อมุ่งมั่นไปในทางที่จะบริโภคก็ไม่ทำการผลิต เมื่อไม่ทำการผลิต การพัฒนาประเทศก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าในการพัฒนาประเทศนี้ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการที่จะต้องผลิต และการที่จะผลิตนั้นก็คือต้องมีการทำงาน เมื่อทำงานจึงจะเกิดผลผลิตขึ้นมาได้ เมื่อคนของเราไม่ชอบผลิต ก็ไม่ชอบทำงาน แต่ชอบบริโภค ชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แล้วก็ตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ เช่นหนี้สินในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว จนกระทั่งในระดับประเทศ เดี๋ยวนี้ประเทศไทยของเรา ก็เป็นประเทศที่มีหนี้สินมากมายเหลือเกิน ท่วมท้นตัวจนกระทั่งว่า ต่อไปลูกหลานจะใช้กันไหวหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ถ้าจะพรรณนาต่อไปอีก ก็อย่างที่ท่านรองอธิบดีพูดในตอนต้นว่า ปัญหาของเราอย่างหนึ่งก็คือว่า คนของเรานี้ไม่ค่อยจะสนใจประโยชน์ส่วนรวม ไม่ค่อยรักประเทศชาติ ความรักประเทศชาตินั้น แสดงออกมาอย่างหนึ่งก็คือ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แต่คนของเรายังมีความเห็นแก่ตัวมาก

นอกจากนี้ ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาพัวพันก็คือว่า คนของเรานี้มีนิสัยที่ทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ ทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะไม่ค่อยสำเร็จ ต้องทำงานเอาตัวคนเดียว การเอาเด่นเอาหน้าเป็นลักษณะที่ปรากฏชัดมาก

เรื่องที่ว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะเป็นปัญหาที่ปรากฏออกมาภายนอกเท่านั้น แต่มันเป็นทั้งปัญหาและเป็นเหตุของปัญหาไปด้วยในตัว สิ่งที่พูดมานี้ เช่นว่าการชอบบริโภค ไม่ชอบผลิตนี่ มันเป็นทั้งปัญหาและก็เป็นทั้งตัวเหตุของปัญหา เป็นตัวเหตุซึ่งสำคัญ เช่นเดียวกับเรื่องการทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้

อันนี้ก็เป็นเหตุของปัญหาต่อๆ ไป อีกมากมายหลายประการ แล้วก็สัมพันธ์โยงกันไปโยงกันมา เช่นว่า เมื่อชอบเอาดีเอาเด่นคนเดียว มันก็ไปสอดคล้องกับค่านิยมในสังคมของเราที่คนชอบโก้เก๋ ทำอะไรก็ต้องการความโก้เก๋ จะมีอะไรมีวัตถุสิ่งของไว้ ก็เพื่ออวดโก้ อวดมั่งอวดมี อวดฐานะกัน เมื่อแข่งขันกันในเรื่องการอวดโก้ มันก็ไปสนับสนุนนิสัยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเข้ามาอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมุ่งไปในทางนี้ มันก็ไปสนับสนุนค่านิยมในการบริโภค และการชอบฟุ้งเฟ้อนั้น ก็ไปสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยชอบสนุกสนานรื่นเริง คนไทยจะมีอะไร ก็มุ่งการสนุกสนานรื่นเริง การที่ชอบสนุกสนานรื่นเริงนั้น ก็ย่อมไม่สนับสนุนให้คนทำงาน ทำให้ไม่อยากทำงาน แต่ชอบสนุก ก็ย่อมชอบบริโภค เมื่อชอบบริโภค ก็ชอบฟุ้งเฟ้อ ฯลฯ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏออกมาชัด ก็คือเรื่องการขาดระเบียบวินัย ซึ่งก็พูดกันมาก ขาดระเบียบวินัยตั้งแต่ในท้องถนนไปเลย ชีวิตประจำวันของเราไม่ค่อยจะมีระเบียบวินัย นอกจากนั้น การรักษาความสะอาด ก็มาสัมพันธ์กับเรื่องระเบียบวินัย เพราะเมื่อไม่มีระเบียบวินัย ชอบทิ้งๆ ขว้างๆ สิ่งของเศษขยะอะไรกันอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง ก็ทำให้เกิดความสกปรก ลักษณะที่ขาดระเบียบวินัยนี้ก็มีทั่วไป แพร่หลายกว้างขวาง

ต่อไปก็คือการขาดความรับผิดชอบ เรื่องนี้ก็เป็นลักษณะที่พูดกันมากเหมือนกัน ว่าเด็กของเราไม่ค่อยมีความรับผิดชอบในชีวิต ในการงาน และต่อสังคม

ต่อไปอีกก็คือปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งก็อาจไปสัมพันธ์กับเรื่องชอบบริโภคไม่ชอบผลิตด้วย เพราะว่าเมื่อชอบบริโภคมากก็ฟุ่มเฟือยมาก ฟุ่มเฟือยมากก็ต้องหาทรัพย์สินเงินทองมาก เมื่อไม่ได้โดยทางที่ถูกต้อง ก็ต้องได้มาในทางไม่สุจริต

สุดท้ายก็คือ ประเทศไทยปัจจุบันนี้มีอบายมุขมาก อบายมุขมาก ก็ไปสัมพันธ์กับเรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอีกนั่นแหละ ก็รวมๆ คลุมๆ กันอยู่นี่ พันกันไปหมด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอบายมุขแพร่หลายในด้านต่างๆ มากเหลือเกิน การติดยาเสพติดก็ระบาดทั่วไป โดยเฉพาะการที่เด็กวัยรุ่นมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ จะทำให้สังคมทรุดโทรมมาก

ถ้าจับเอามาพิจารณา ตามหลักทางศีลธรรม โดยเอาศีลห้าเป็นเกณฑ์วัด ก็จะเห็นว่า ประเทศไทยของเรานี่ เป็นประเทศที่ปัจจุบันขาดศีลห้ามาก จนแทบจะพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้ศีล ถ้าพูดออกมาอย่างนี้ก็แย่หน่อย แต่ก็เถียงเขายาก เพราะว่า ตั้งแต่ข้อที่หนึ่ง เว้นปาณาติบาต ก็บอกได้ว่าประเทศไทยฆ่ากันตายมากแทบจะที่สุดในโลก ศีลข้อเว้นปาณาก็ไปแล้ว

ในข้อปาณานี่ต้องพูดถึงสัตว์มนุษย์ก่อน คำว่าสัตว์ในภาษาบาลีมีความหมายกว้าง คือมิใช่หมายถึงเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน ความจริงคำว่า “สัตว์” ในภาษาบาลี พอพูดขึ้นมาก็หมายถึง “มนุษย์” ก่อนอื่นเลย แล้วจึงจะไปถึงสัตว์อย่างอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ลำดับที่หนึ่ง อันดับแรก แต่เป็นสัตว์ที่ต่อมาได้เรียกกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ว่ากันไปตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ เพราะไม่ค่อยจะมีศีลเสียแล้ว

เป็นอันว่า ศีลข้อที่หนึ่งก็แล้งไปแล้วจากสังคมไทย ข้อที่สอง “อทินนา” อาชญากรรมด้านที่เกี่ยวกับการลักขโมยอะไรต่างๆ ตลอดจนกระทั่งการคอร์รัปชั่น ก็แพร่หลาย ส่วนสามข้อท้าย คือ “กาเม, มุสา, สุรา” ก็ระบาดทั่วไปหมด แปลว่า ปัญหาสังคมของเรานี่พรรณนากันไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น ถ้ามัวมาพูดเรื่องรายละเอียดปัญหาจริยธรรมก็คงไม่ต้องทำอะไรอื่น ก็ได้แต่พูดถึงปัญหากันอยู่นี่เอง

ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้มีผลในทางปฏิบัติขึ้นมาได้ ก็อย่างที่บอกแล้วเมื่อกี้ว่า ต้องจับหลักให้ได้แล้วก็โยงเข้ามาสู่การแก้ปัญหา อันนี้จะทำให้แคบเข้ามา กล่าวคือ จะต้องมองปัญหาศีลธรรมโดยสัมพันธ์กับสภาพสังคมทั้งหมด แล้วจึงจะเห็นทางแก้ไขได้ดีขึ้น

สภาพที่ชี้บ่งถึงความต้องการของสังคมไทย

สภาพสังคม และลักษณะสังคมไทยของเรานี่เป็นอย่างไร อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้ว่า การเข้าใจลักษณะสังคมของเราหรือสภาพสังคมของเรา ก็รวมไปถึงเข้าใจความต้องการของสังคมด้วย

เริ่มแรกเราลองมาดูหน้าของสังคมไทยว่า หน้าตาของเราเป็นอย่างไร หน้าตานี้ก็บอกถึงสภาพและลักษณะ

หน้าตาของสังคมไทยนั้น แสดงออกได้สองด้าน หน้าตาด้านแรกที่เห็นชัดๆ ก็คือ สังคมของเรามีชื่ออยู่แล้วว่าเป็นสังคมที่กำลังพัฒนา นี่แหละหน้าตาด้านที่หนึ่งของสังคมไทย คือเป็นสังคมที่กำลังพัฒนา

อย่างไรก็ดี สังคมที่กำลังพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาเหมือนกันทีเดียว คนเราเกิดมา แม้แต่พี่น้องครอบครัวเดียวกันก็มีหน้าตาไม่เหมือนกัน เรียกชื่อว่าเป็นเด็กชายนั่น เด็กหญิงนี่ สมมติว่าเราแบ่งโลกทั้งโลกนี้เป็นประเทศพัฒนา กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา ครอบครัวของพวกกำลังพัฒนานี่ ก็อาจจะเป็นครอบครัวหนึ่ง เป็นสังคมที่อยู่ในประเภทเดียวกัน แต่ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกันหรอก แต่ละสังคมที่แม้กำลังพัฒนาด้วยกัน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน ก็มีลักษณะหน้าตา มีสภาพไม่เหมือนกัน เหมือนกับเด็กท้องเดียวกันหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับกันไว้ก่อนว่า หน้าตาที่ไม่เหมือนกันนี่มันก็มีอะไรคล้ายๆ คลึงๆ กันอยู่บ้าง ทีนี้ เราจะพูดถึงเฉพาะหน้าตาของสังคมที่กำลังพัฒนา ที่ได้ชื่อว่าประเทศไทย

พูดอย่างกว้างๆ หน้าตาของสังคมไทยในลักษณะด้านที่หนึ่งนั้น เป็นอาการของสังคมที่กำลังพัฒนา ที่กำลังมีปัญหาต่างๆ ซึ่งจะต้องแก้ไข มีความต้องการที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า สร้างความสมบูรณ์พูนสุข สร้างความมั่นคงทางวัตถุ เร่งรัดความเจริญทางอุตสาหกรรม ทางเทคโนโลยีที่ยังล้าหลังเขาอยู่ อันนี้เป็นลักษณะอาการอย่างหนึ่งที่ว่าเป็นสังคมที่กำลังพัฒนาและไม่ทันเขา ก็เลยจะต้องมาเร่งพัฒนาด้านเหล่านี้ขึ้นไป

ที่ทำอย่างนี้ เพราะอะไร ก็เพราะเรามองในด้านลบ เห็นว่าประเทศมีปัญหามาก เช่น ปัญหาความยากจนขาดแคลน ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงเรื่องการขาดอาชีพ การว่างงานอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่รวมๆ กันอยู่ ปัญหาของสังคมที่กำลังพัฒนานี้พรรณนาไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น

ลักษณะสังคมที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นหน้าตาของเราด้านหนึ่งนั้น ก็คือสภาพที่มีปัญหา ดังได้พรรณนากันมาแล้วนั้นแหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข แต่โดยมากเราจะมองกันไปในแง่ที่ว่า เป็นเรื่องของการที่จะทำให้เจริญทันสมัยขึ้นมา มีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์พูนสุข และก็เพ่งไปทางอุตสาหกรรม ไปทางเทคโนโลยีอะไรพวกนั้น เป็นเรื่องที่ว่าเราล้าหลังเขา และพยายามเร่งตัวเองขึ้นไป

อันนี้นับว่าเป็นความต้องการด้านที่หนึ่ง คือความต้องการที่จะแก้ไข ที่จะกำจัดปัญหาเพื่อทำตัวเองให้พ้นไปจากความด้อยพัฒนา คือกำลังพัฒนาตัวเองขึ้นไป หรือแสดงอาการว่ากำลังพยายามทำให้พัฒนาขึ้นไป

เมื่อพัฒนาไป ถ้าทำไม่ถูกต้อง เกิดการปฏิบัติผิดพลาดในการพัฒนานี้ แทนที่จะออกผลให้การพัฒนาสำเร็จ ก็จะเกิดเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมา

นี้คือหน้าตาด้านที่หนึ่งของสังคมไทย ได้แก่ หน้าตาของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีลักษณะความต้องการที่จะแก้ไข ปัญหาของประเทศ ที่กำลังพัฒนา เพื่อจะให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ต่อไป หน้าตาด้านที่สอง ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกัน ก็คือ ในการที่เราจะพัฒนาตัวเองนี้ เราก็ตามหรือมองดูประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เรามองดูว่า อ้อ! ประเทศที่เขาเจริญก้าวหน้า เขาพัฒนาแล้วเป็นอย่างไร เราก็หันไปนิยม หันไปเอาเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราจะมองเห็นภาพว่า ประเทศไทยของเรา หรือสังคมไทย ตลอดจนคนในสังคมนี้ มีความนิยม และมองประเทศที่เจริญ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง เราเห็นประเทศไหนที่เจริญมากๆ เราก็จะเอาประเทศนั้นเป็นแบบอย่าง อย่างสังคมไทยนี้เท่าที่เป็นมาจะมองไปที่สังคมอเมริกันมาก

ลักษณะนี้ก็คือ หน้าตาด้านที่สองของสังคมไทย ได้แก่ การนิยมคอยตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วนี่ เราตามถูกไหม ถ้าเราตามถูกเราก็ได้ความพัฒนานั้น ถ้าเราตามไม่ถูกเราก็ได้ปัญหาเพิ่มเข้ามาอีก ทั้งปัญหาในการตามอย่างผิดพลาด และปัญหาของประเทศพัฒนาที่เขามีอยู่แล้ว ซึ่งเราเอาติดเข้ามา ผสมซ้ำเข้ากับปัญหาของตัวเองที่มีอยู่เดิม

ปัญหาของประเทศพัฒนา ที่สังคมไทยตามรับเข้ามา

ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นประเทศที่หมดปัญหา เขาก็มีปัญหาแบบของเขาเหมือนกัน เมื่อเราพัฒนาไปตามอย่างเขา ถ้าหากว่าปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ก็เลยรับเอาปัญหาของเขาเข้ามาด้วย คือ แทนที่จะพัฒนาได้สำเร็จ ก็เลยกลายเป็นว่า ยิ่งพัฒนาไปยิ่งได้รับแต่ส่วนที่ร้ายของเขามา หมายความว่า ส่วนที่ดีของเขาเอามาไม่ได้ เอาแต่ส่วนที่เสื่อมที่เป็นปัญหาของเขา ไม่ได้ความเจริญของเขา หรือไม่ได้เท่าที่ควร

ยกตัวอย่าง แม้แต่ปัญหาเรื่องอบายมุขนี้ ก็ไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นปัญหาเดิมของตัวเอง แต่เป็นปัญหาพอกพูนขึ้นมาจากการที่ไปตามเขาอย่างไม่ถูกต้อง ค่านิยมบริโภค ที่ว่าชอบบริโภคไม่ชอบผลิต ก็มีส่วนที่เกิดจากการตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างผิดพลาด คือไม่ได้ตามเขาในแง่ของการผลิต แต่ตามในแง่ของการชอบบริโภค คือชอบตามเขาในแง่ของการเสพผลของการพัฒนา แต่ไม่ตามเขาในแง่ทำเหตุของการพัฒนา เราตามเก่งในเรื่องเสวยหรือเสพผลของการพัฒนา

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ได้รับผลของการพัฒนาของเขา แต่เราไม่มองที่ตัวแท้ของการพัฒนา หรือแม้แต่กระบวนการพัฒนาของเขา กลับเพ่งมองในแง่ผลที่เขาได้รับจากการพัฒนาแล้ว เราก็ได้แต่ชื่นชมต่อผลของการพัฒนา แล้วเราก็ตามเขาในการเสพผลของการพัฒนา เราก็เลยกลายเป็นผู้บริโภค คอยแต่จะรับเอาผลผลิตสำเร็จรูปแล้วของเขามา แต่ตัวการทำเหตุของการพัฒนา เขามีผลของการพัฒนาอย่างนั้นได้อย่างไร เราไม่ได้ตามและไม่ค่อยจะสนใจศึกษาด้วย จึงไม่ได้ตามอย่างในแง่การทำเหตุของการพัฒนา

เมื่อคอยแต่ตามเสพผล ไม่ตามทำเหตุ ก็เป็นการตามที่ผิดพลาด เพราะเท่ากับว่าคอยอาศัยเขารอให้เขาผลิตให้ ไม่ได้พัฒนาตัวเองเลย ฉะนั้น การพัฒนาก็ต้องไม่สำเร็จผลแน่นอน

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็คือปัญหาทางจิตใจ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนมากคนมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น มีความอ้างว้าง ว้าเหว่ ความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคม นอกจากนั้น การแข่งขันช่วงชิงก็ทำให้เกิดความบีบคั้น ความเครียด ความกระวนกระวายอะไรต่างๆ แล้วแสดงออกมาในอาการที่รุนแรง คือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งตรงข้ามกับการฆ่ากันตาย

ประเทศอเมริกาปัจจุบันนี้ ก็กำลังประสบปัญหานี้อย่างหนัก คือ การที่คนฆ่าตัวตายกันมาก และที่น่าแปลกประหลาดก็คือว่า เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวซึ่งไม่น่าจะฆ่าตัวตายก็มาคิดสั้น ทำลายชีวิตของตนเอง

แต่ก่อนนี้ ประเทศอเมริกามีปัญหาคนแก่ฆ่าตัวตายมากเหลือเกิน เพราะในสังคมที่พัฒนาแล้วแบบนั้น แต่ละคนต้องรับผิดชอบตนเอง ดิ้นรนขวนขวาย ไม่มีเวลาที่จะมาดูแลกัน คนแก่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ถูกทอดทิ้งมาก อ้างว้าง เหงา ว้าเหว่ ไม่มีทางออก อยู่ด้วยความทรมาน ในที่สุดก็ฆ่าตัวตายหนีไป ในระยะก่อนนี้ พวกประเทศฝรั่งที่เจริญด้วยอุตสาหกรรมมากแล้ว มีปัญหานี้มาก คนแก่ฆ่าตัวตายเยอะแยะ

แต่มาถึงปัจจุบัน ปัญหาได้พัฒนามากขึ้น จนออกมาในรูปที่ว่าคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก ปัจจุบันนี้ ประเทศอเมริกากำลังประสบปัญหานี้อย่างหนัก เพราะอัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น ที่สูงขึ้นมาแล้วนั้น เขายังอธิบายไม่ได้ชัดเจน ยังหาเหตุไม่ได้ และไม่ใช่เฉพาะประเทศอเมริกา ในประเทศญี่ปุ่นคนก็ฆ่าตัวตายมาก สถิติสูงอย่างยิ่ง นี้ก็เป็นปัญหาของประเทศพัฒนา

ปรากฏว่า ประเทศไทยก็รับเอาปัญหาแบบนี้ของประเทศพัฒนามาด้วย ปัญหาทางจิตใจของเราก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยของเราตอนระยะหลังๆ นี้ หันมาสนใจปัญหาทางจริยธรรม และเรื่องจิตใจมากขึ้น แม้แต่ในระดับบุคคล ก็เป็นที่สังเกตว่า ปัจจุบันนี้คนสนใจศาสนามากขึ้น หันไปสนใจเรื่องจิตใจ ทำสมาธิ วิปัสสนามากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลาย ไม่เฉพาะในประเทศไทย บางทีกลายเป็นว่า เราเป็นผู้ตามประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

ในประเทศเจริญอย่างอเมริกานี้ เป็นมาหลายปีแล้ว คนจำนวนมากเบื่อหน่ายสังคมที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ คนรุ่นใหม่ พวกวัยรุ่นหนุ่มสาว ปลีกตัวออกจากสังคม ละทิ้งระเบียบแบบแผนของสังคมของตนออกไป บางพวกก็ไปตั้งกลุ่มชนใหม่ของพวกตน เช่น เป็นฮิปปี้ กระแสนั้นเป็นไปรุนแรงในระยะต้น พอตั้งตัวได้ต่อมาก็ปรากฏในรูปของการสนใจศาสนา สนใจปรัชญาตะวันออก สนใจสมาธิ

ปรากฏว่าตอนนี้ ฝรั่งฝังใจกับเรื่องสมาธินี้กันมาก จนกระทั่งว่า บางทีพวกคนตะวันออกที่มีชื่อในเรื่องการปฏิบัติทางจิตใจนี้ เช่นเรื่องโยคะ เรื่องบรมจิตวิญญาณ อะไรพวกนี้ ก็เลยไปหากินกับฝรั่ง ตั้งตัวเป็นอาจารย์ อย่างชาวอินเดียบางคนไปตั้งตัวเป็นฤาษี เป็นฤาษีจริงก็มี เป็นฤาษีหลอกก็มี พอทำตัวเป็นฤาษีไปหน่อย ฝรั่งหนุ่มสาวมาหากันเยอะแยะ ได้เงินได้ทองมากจนกระทั่งเป็นมหาเศรษฐี มีเครื่องบินส่วนตัวใช้ มั่งมีเงินทองหลายสิบหลายร้อยล้าน บางรายถึงกับตั้งเป็นอาณาจักรของตนเองขึ้นมา แล้วไปๆ มาๆ ถูกเนรเทศออกจากประเทศไปก็มี แต่ถ้ายังอยู่ไม่มีปัญหาก็ร่ำรวยกันมากมาย นี่หากินจากฝรั่ง แต่ที่เป็นฤาษีดีก็มีเหมือนกัน

อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสังคม ซึ่งคนไทยเราปัจจุบันนี้ก็มีความสนใจ เรื่องสมาธิ เรื่องวิปัสสนากันไม่ใช่น้อยเลย เข้าใจว่าแม้ในห้องประชุมนี้ก็อาจจะมีบางท่าน หรือหลายท่านที่สนใจทางด้านนี้ ก็เป็นเรื่องทางจิตใจ

รวมความว่า ปัญหาประเภทนี้ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของสังคมซึ่งพัฒนาแล้ว ที่มีความเจริญทางด้านวัตถุมาก แล้วก็มีปัญหาจิตใจตามมา เพราะเจริญทางวัตถุมุ่งไปด้านเดียวไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ได้พัฒนาทางด้านจิตใจไปด้วย ก็เลยปรากฏผลขึ้นมาอย่างนี้

ความต้องการสองด้านของสังคมไทย

เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามา ประเทศไทยของเรา ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนานี้ ก็เลยมีปัญหาทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง ก็คือปัญหาของตัวเองที่ยังไม่พัฒนาแล้วกำลังพัฒนาขึ้นไป ก็ปรากฏปัญหาด้านที่จะต้องกำจัด ความยากจนแร้นแค้น โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น อีกด้านหนึ่ง ก็คือการไปตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็เลยได้ปัญหาอีกแบบหนึ่งมา แล้วก็เลยเป็นที่ประชุมของปัญหาทั้งสองแบบ

แต่รวมความแล้วมันก็เป็นเครื่องแสดงถึงความต้องการของสังคมของเรา กล่าวคือสังคมของเรานั้น

- ด้านหนึ่ง ก็มีความต้องการแบบประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีความขาดแคลนทางวัตถุ และต้องการความเจริญก้าวหน้า มั่งมีศรีสุข ความพรั่งพร้อมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นี่เป็นความต้องการของประเทศของเรา ที่เราจะต้องยอมรับ

- แต่พร้อมกันนั้น เราก็มีปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือปัญหาแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเราไปตามอย่าง ทำให้เรามีความต้องการอีกด้านหนึ่งติดมาด้วย คือ ความต้องการแบบประเทศที่ได้พัฒนาอย่างไม่สมดุล ซึ่งทำให้เกิดความขาดแคลนทางจิต และต้องการที่จะมีความสงบภายใน ความสุขของจิตใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ ความอบอุ่น ความเกื้อกูลกัน ความมีศีลธรรม จึงเป็นความต้องการทั้งสองด้าน

ถ้าเรามองจำกัดเข้ามา แคบเข้ามายังบุคคล ก็จะเห็นว่า บุคคลผู้อยู่ในสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างนี้ ก็จะมีความต้องการของเขา ที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม กล่าวคือ บุคคลที่อยู่ในสังคมนี้จะมีความต้องการที่แยกได้เป็นสองด้านเช่นเดียวกัน

ความต้องการด้านหนึ่งก็คือ ความต้องการความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน การประสบความสำเร็จในชีวิต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสมบูรณ์พูนสุขอะไรต่างๆ ในการอยู่ในสังคมที่แข่งขัน อย่างที่เรียกว่ามีความปลอดภัย มีความมั่นใจในตัวเองพอสมควร อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการดิ้นรนขึ้น ที่เขาศึกษาเล่าเรียนอะไรต่างๆ แข่งขันกันในปัจจุบันนี้ ก็มุ่งไปที่จุดหมายนี้กันมาก เป็นความต้องการของบุคคลที่เราจะต้องยอมรับความจริง

และพร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีความต้องการทางด้านชีวิตจิตใจ ต้องการความอบอุ่น ความไม่อ้างว้างว้าเหว่ ความต้องการเป็นอิสระ ปลอดพ้นจากความเครียด ความกระวนกระวาย ในการดำรงชีวิตประจำวัน ในอาชีพการงานเป็นต้น

คนในสังคมปัจจุบันนี้ มีมากเหลือเกิน ประชากรของประเทศไทยนี่เพิ่มพูนจนกระทั่งมีตั้ง ๕๓ ล้านแล้ว กรุงเทพฯ ก็หนาแน่นมีคนอยู่ ถึง ๕-๖ ล้าน แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งคนมากขึ้น แต่ละคนดูเหมือนว่ายิ่งอ้างว้าง โดดเดี่ยว เดียวดายยิ่งขึ้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ในสมัยที่คนยังน้อยอยู่ เรารู้สึกว่ามีความอบอุ่นมาก มีคนที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยมาก มีคนที่รักใคร่กันมีมิตรไมตรีกันมาก ช่วยเหลือกันได้มาก แต่มาบัดนี้เมื่อคนมากขึ้น เรากลับโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งขึ้น อ้างว้างมากขึ้น ความเป็นอยู่เฉพาะตัว ตัวใครตัวมันมากขึ้น นี้มันเป็นอย่างไร มันกลับกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความต้องการของชีวิตส่วนบุคคลขึ้นด้วย เราต้องยอมรับความจริงว่า บุคคลมีความต้องการทั้งสองอย่าง

การแก้ปัญหาทางจริยธรรมนั้น จำเป็นจะต้องให้สนองความต้องการทั้งของบุคคล และของสังคม ถ้ามันไม่สนองความต้องการแล้ว การแก้ปัญหาก็ยากที่จะสำเร็จ จึงต้องยอมรับความจริง

ถ้าเราไม่รู้จักความต้องการของเขา ไม่ยอมรับความต้องการของคน เราก็จะยืนยันตามที่เรามอง หรือตามมาตรฐานของเราว่า ปัญหาจริยธรรมเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ถูกต้อง มันจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพยายามจะสร้างจริยธรรมขึ้นมา โดยไม่สอดคล้อง ไม่สนองความต้องการ ก็ยากที่จะสำเร็จ

เราจึงต้องเข้าใจความต้องการของทั้งบุคคลในสังคมและของสังคม แล้วก็แก้ปัญหาจริยธรรมนั้น โดยให้สอดคล้องกับความต้องการนี้ แต่เป็นการสนองความต้องการอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นการสนองความต้องการอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดจริยธรรมขึ้นมา

ปัจจุบันนี้ เราพูดได้ในแง่หนึ่งว่า สังคมนี้ก็ดี บุคคลในสังคมนี้ก็ดี ไม่รู้จักความต้องการของตนอย่างถูกต้อง และปฏิบัติผิดในการสนองความต้องการนั้น จึงเกิดปัญหาในทางจริยธรรมขึ้นมา เราจะต้องหาทางให้เขาสนองความต้องการอย่างถูกต้อง

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นส่วนของการพูดทั่วๆ ไป เพื่อให้เข้าใจเรื่องความต้องการของสังคม ลักษณะหน้าตาของสังคม รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งคลุมอยู่ในนั้น จากนี้เราก็จะสามารถก้าวขึ้นไปสู่การพิจารณาเรื่อง วิธีแก้ปัญหาจริยธรรมว่า ทำอย่างไรจะให้บุคคลมีคุณธรรมและจริยธรรมขึ้นมาได้

- ๒ -
หลักการและวิธีการทั่วไป
ในการแก้ปัญหาจริยธรรม

ปัญหาเรื่องทำอย่างไรนี่เป็นเรื่องที่ยาก เป็นขั้นวิธีการ การที่จะเข้าสู่วิธีการได้อย่างถูกต้องก็ต้องรู้หลักการ วิธีการที่ถูกต้องก็มาจากหลักการที่ถูกต้อง ถ้าไม่รู้หลักการ วิธีการก็อาจจะทำผิด วิธีการนี้จะย่อยลงไปจนถึงเทคนิคกลวิธีการปฏิบัติอะไรต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้น จะต้องสัมพันธ์กันไปกับหลักในการแก้ หลักในการแก้นี่อาตมภาพก็จะพูดคลุมๆ ปนกันไปกับวิธีการเลย โดยถือเป็นเรื่องที่โยงกัน อาศัยซึ่งกันและกัน

แก้ไขให้ครบทั้งด้านบวกด้านลบ และให้ลึกถึงสาเหตุ
กำจัดเหตุเดียวได้ ปัญหาหมดไปเป็นพวง

มีข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า หลักและวิธีการในการแก้ปัญหาทางจริยธรรมที่จะทำให้คนมีจริยธรรมนี้ มีแง่ปฏิบัติสองด้านไปพร้อมกัน คือมีด้านลบและด้านบวก

เมื่อเราพูดว่า เราจะทำให้คนมีจริยธรรม เราก็พูดถึงการแก้ปัญหาจริยธรรมไปด้วย จึงมีด้านลบและด้านบวก ด้านลบคือจะต้องกำจัดอะไร ส่วนด้านบวกก็คือจะต้องส่งเสริมอะไร

บางคนพูดหนักไปทางส่งเสริมว่า จะต้องมีจริยธรรมข้อนั้นๆ จะต้องสร้างความมีระเบียบวินัยให้เกิดขึ้น จะต้องทำให้คนมีความขยันหมั่นเพียร จะต้องทำให้คนมีความรับผิดชอบ จะต้องมาช่วยกันส่งเสริมอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของการพูดในแง่บวก

แต่บางคนหันไปสนใจ หรือเน้นในแง่ลบว่า ประเทศเรามีปัญหาอย่างนั้นๆ คนของเรามีปัญหาอย่างนี้ๆ เช่นว่ามีค่านิยมบริโภคมาก ชอบหรูหราฟุ่มเฟือย ชอบอวดโก้อวดฐานะ ชอบเอาดีเอาเด่นคนเดียว ตลอดจนกระทั่งว่า มีการฆ่าฟันกันตายมาก มีความขาดแคลนแร้นแค้น เป็นปัญหาเศรษฐกิจสัมพันธ์ เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องเลิกละกำจัด จริยธรรมจะแก้ไขอย่างไร นี้ก็หนักไปในด้านลบ

ในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง จะหนักไปในด้านเดียว ด้านใดด้านหนึ่งไม่พอ ต้องพูดให้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือต้องมีทั้งบวกและลบ แล้วก็ทั้งบวกและลบนี่มันอยู่ในเรื่องเดียวกัน คือในเรื่องเดียวกันนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ต้องแก้ให้ตรงให้ครบ

แต่คำว่า ด้านบวกและด้านลบ ไม่ใช่มีความหมายเพียงเท่านี้ ยังมีความหมายลึกซึ้งลงไปกว่านี้อีก

เอาตอนแรกก่อน ในการที่จะแก้ปัญหานั้น ตามหลักการของการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ ก็คือ ต้องแก้ที่สาเหตุ สาเหตุนี้มักจะเป็นด้านลบ คือด้านกำจัด เริ่มด้วยรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของปัญหา เราก็จะต้องสืบสาวหาสาเหตุ คือไม่ใช่มัวนึกแต่จะสร้างคุณธรรม จริยธรรมข้อนี้ข้อนั้น

จริงอยู่ การขาดแคลนจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องด้านลบอยู่ในตัวแล้ว เวลาเราพูด เราจะปฏิบัติ เรามักจะเพ่งทางด้านบวก คือด้านว่าจะทำอย่างไรให้คนมีอันนั้นอันนี้ แต่เราลืมมองไปว่า เราได้ค้นหาสาเหตุของมันหรือยังว่า ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้น ทำไมเราจึงขาดแคลนจริยธรรมข้อนั้น ทำไมคนของเราจึงชอบบริโภคไม่ชอบผลิต ทำไมคนของเราจึงขาดระเบียบวินัย ทำไมคนของเราทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ นี้ก็เป็นปัญหาที่เราจะต้องวิเคราะห์ ต้องหาสาเหตุของแต่ละอย่างว่าทำไมคนของเราจึงเป็นอย่างนั้น

บางทีเหตุของปัญหาจริยธรรมหลายๆ อย่างนี้มันอาจจะเป็นเหตุเดียวกันก็ได้ โดยเฉพาะเหตุส่วนหนึ่งนั้น มันก็ปนมาและแฝงอยู่ในพื้นฐานของเรานี่เอง แต่พื้นฐานจิตใจของคนไทยเรานี่ เราเคยศึกษาให้ชัดเจนไหม ตัวเหตุนี่มันจะต้องมาในตัวของคนเราหรือในสังคมของเรา เราก็ต้องศึกษาว่า ลักษณะนิสัยจิตใจของคนไทย พื้นเพของคนไทยเป็นอย่างไร

เราจะคิดแต่เพียงว่า เราจะทำให้คนไทยมีจริยธรรมข้อนี้ เราจะสร้างจริยธรรมข้อนี้ขึ้น เท่านี้ไม่พอ เพราะว่าในพื้นฐานจิตใจของคนไทย อาจจะมีลักษณะ หรือองค์ประกอบบางอย่างเป็นปมหรือเป็นตอ ที่อาจจะขัดขวางหรือคอยต้านให้รับจริยธรรมข้อนั้นไม่ได้ ก็จะปลูกฝังจริยธรรมข้อนั้นไม่สำเร็จ อาจจะต้องกำจัดปมหรือตอนั้นก่อน หรือบางทีอาจจะแก้ได้โดยปรับให้เข้าเหลี่ยมเข้าแง่เข้ามุมกันก่อน ก็จะรับกันและเสริมต่อกันได้ การทำในด้านบวก จึงต้องควบคู่ไปกับการปรับแก้ในด้านลบด้วย

ตัวอย่างสาเหตุของปัญหา ที่แฝงมาในพื้นเพของเราเอง

ขอยกตัวอย่าง จะพูดไปจากสภาพปัญหาที่ปรากฏนี้ เช่นว่า ทำไมคนไทยจึงทำงานเป็นทีมไม่ได้ ปัญหานี้จะสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยของคนไทยอย่างหนึ่ง ขอพูดเป็นข้อเสนอไว้ว่า คนไทยนี้ มีลักษณะเด่นในแง่ของความเป็นผู้มีมานะมาก

คำว่า “มานะ” แปลว่าอะไร หลายท่านอาจจะบอกว่า มานะก็แปลว่า ความเพียรพยายาม เช่นในคำว่า ต้องมีมานะอดทน มีมานะพากเพียร

“มานะ” นี่เรามักจะพูดพร้อมกันไปกับคำว่า “อดทน” บ้าง “พากเพียร” บ้าง แต่ความจริง มานะไม่ได้แปลว่าพากเพียรเลย มานะนั้นแปลว่า “ความถือตัว” ความถือตัวสำคัญตน ความเชิดชูตัวให้เด่น ความเอาเด่น ความต้องการเด่นล้ำเหนือเขา ความต้องการที่จะยิ่งใหญ่ นี้คือความหมายที่แท้จริงของมานะ

แต่ “มานะ” ในภาษาไทย ได้กลายความหมายมาเป็น “ความเพียรพยายาม” เพียรแล้วบางทีก็ไปคู่กับอดทน เป็นมานะอดทน เช่น สอนเด็กๆ บอกว่า เธอต้องมานะอดทน หรือมานะพากเพียร เล่าเรียนหนังสือต่อไปให้สำเร็จ ต่อไปจะได้เก่ง ถ้าเป็นคนเก่าๆ บางทีก็บอกว่า “อ้าวหนู ตั้งหน้าตั้งตา มานะอดทน หรือว่ามานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต”

คำว่า มานะ หรือตัวมานะนี่เราเข้าใจผิดแล้ว กลายไปเป็นความพากเพียร แต่ความหมายที่แท้จริงของมันซึ่งแฝงอยู่ ก็ไปโผล่ออกมาตรงข้างท้ายคือคำพูดที่ว่า จะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นเจ้าคนนายคน นั่นแหละคือตัวมานะ ความหมายที่แท้จริงของมานะไปโผล่ตรงที่ว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือจะได้เป็นเจ้าคนนายคน

คำว่ามานะนี่ เป็นคำที่เอามาใช้ในภาษาไทย สำหรับเป็นเครื่องกระตุ้นคน ให้มีความเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียน และทำการงาน

ทีนี้ ก็มีคำถามว่า ทำไมมานะจึงถูกนำมาใช้จนติดปากและกลายความหมายไปอย่างนี้ ขอวิเคราะห์ว่า เพราะเราได้ใช้มานะเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำ คือเอามานะเป็นแรงจูงใจ จนเป็นนิสัยของคนไทยที่ได้กระตุ้นคนด้วยมานะกันมานานแล้ว เราเอามานะเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้คนทำการงาน เอามานะมาใช้เป็นแรงจูงใจ จนกระทั่งมานะเองได้กลายความหมาย กลายเป็นตัวความพากเพียรไปเลย

ที่จริงมานะไม่ใช่ความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้มีความเพียร กล่าวคือ เพราะต้องการใหญ่โต ต้องการเป็นเจ้าคนนายคน ก็จึงพากเพียร เพียรไป พยายามไป ทำไป เล่าเรียนไป เพื่อจะได้เป็นใหญ่เป็นโตสนองความต้องการของมานะนั้น มานะจึงเป็นแรงจูงใจ พูดตามภาษาวิชาการว่า ใช้มานะเป็นปัจจัยให้เกิดความเพียร หรือมานะเป็นปัจจัยแก่วิริยะ

ทีนี้ การใช้มานะเป็นแรงจูงใจในการเพียรพยายามกระทำการ จะเป็นการงานหรือการเล่าเรียนหนังสือก็ตาม นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเราก็ใช้กันมานานแล้ว แต่จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอพูดว่า มานะนี้น่าจะเป็นลักษณะเด่นในนิสัยของคนไทยอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนไทยก็จึงถือตัวสำคัญ มีความรู้สึกเกี่ยวกับการถือตัวมาก ชอบเอาดีเอาเด่นเฉพาะตัว ตลอดถึงมีการแสดงออกในลักษณะที่ไม่ยอมกัน ไม่ลงให้แก่กัน เมื่อมาทำงานก็เลยทำงานเป็นทีมไม่ได้ เพราะว่า ในเมื่อแต่ละคนถือตัวมากก็ตาม ต้องการเอาดีเอาเด่นคนเดียวก็ตาม มันก็ว่ากันไม่ได้ ไม่ฟังกัน ไม่ยอมกัน

เวลาทำงานร่วมกันเป็นทีมนี้ จะเอาเด่นเฉพาะตัวเอาหน้าเฉพาะตัวไม่ได้ จะต้องให้หมู่คณะเด่น หรือว่ายอมให้คนอื่นที่ควรจะเด่นนั้นเด่นขึ้นมา โดยที่เราต้องยอมให้ โดยมุ่งประโยชน์แก่งานเป็นสำคัญ คือ แล้วแต่ว่างานจะเดินไปดีได้อย่างไร และในการทำงานร่วมกันนั้น จะต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน จะมุ่งแต่เอาชนะกันไม่ได้ ต้องรับฟังคนอื่น แต่เมื่อมีมานะ ก็ทำให้ยอมไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะด้อยลงไป จะแพ้เขา เราแพ้ไม่ได้ ต้องชนะท่าเดียว อะไรทำนองนี้

เมื่อมานะเป็นตัวขับที่เด่นในจิตใจแล้ว มันจะต้องยอมกันไม่ได้ เมื่อยอมกันไม่ได้ ก็ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ก็ยอมให้คนอื่นเด่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น งานก็ไม่สำเร็จ

อีกด้านหนึ่ง มานะก็ต้องการโก้เก๋ เมื่อต้องการโก้เก๋ ก็ไปส่งเสริมค่านิยมชอบบริโภคไม่ชอบผลิต การบริโภคของเรานี้จะสัมพันธ์กับลักษณะนี้ด้วย คือลักษณะของการอวดเด่นอวดโก้

การที่เราบริโภคนี้ บ่อยครั้งไม่ใช่บริโภคเพราะว่าชอบหรือว่าเอร็ดอร่อย บางทีของนั้นไม่ดีหรอก เช่น ของที่มาจากต่างประเทศ ไม่ใช่ว่ามันจะดีวิเศษอะไร แต่มันช่วยให้โก้ มันสนองความรู้สึกโก้หรือเด่นได้ เราจึงเอา จึงชอบไปบริโภคในแง่ของการที่จะได้อวดเด่นอวดโก้ ทั้งที่ของนั้นอาจมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น

บางทียิ่งแพงกลับยิ่งชอบซื้อ เพื่อสนองความอยากอวดโก้ เสริมมานะ ต้องการเด่นนั้นแหละ คือ เพื่อแสดงว่ามีฐานะดี หรือทันสมัยอะไรทำนองนั้น

จะเห็นได้ว่า เจ้าตัวมานะนี้มันแสดงออกได้หลายท่า แม้แต่การขาดระเบียบวินัยของคนไทยก็มีลักษณะอย่างหนึ่งที่ส่อถึงมานะ คือ พ่วงมากับความรู้สึกว่าถ้าฉันทำตามใจตัวเองได้ ก็แสดงว่าฉันนี่เก่งฉันนี่ใหญ่ เช่นอย่างเราจะเดินข้ามถนน ถ้าฉันไม่เดินที่ม้าลาย ก็แสดงว่าฉันแน่ ฉันอยู่เหนือกฎเกณฑ์ได้ ฉันละเมิดกฎหมายได้ ฉันไม่ทำตามกฎของสังคมได้

คนไทยจำนวนมากมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ได้แสดงว่าเก่ง ลักษณะนิสัยนี้แสดงออกทั่วไปหมด แม้แต่ในการติดต่อกับราชการ ชาวบ้านคนไหนไม่ต้องเดินตามสายงาน ไม่ต้องเดินตามระเบียบราชการได้แสดงว่าแน่มาก เก่งมาก ยิ่งใหญ่มาก คุยอวดคนอื่นได้ การที่ไม่ต้องทำตามระเบียบของหมู่คณะได้แสดงว่าเป็นคนเก่ง กลายเป็นดีไป แทนที่จะเอาระเบียบของหมู่คณะเข้าว่า ถ้าทำตามระเบียบก็น่ายกย่อง ถ้าไม่ทำตามระเบียบ เป็นเรื่องน่าละอาย กลับนิยมกันในทางตรงข้าม

เมื่อแต่ละคนถือว่า การที่ฉันทำตามใจชอบได้นี่คือเก่ง คือการที่จะเป็นที่ยอมรับ ยกย่องในสังคม เมื่อเป็นอย่างนี้ การมีระเบียบวินัยก็เป็นไปไม่ได้

นี่เป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ได้ก็ดี ค่านิยมชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิตก็ดี หรือแม้แต่การขาดระเบียบวินัยต่างๆ ก็ดี บางทีมันมาจากสาเหตุตัวเดียวกัน ซึ่งถ้าแก้สาเหตุตัวนั้นแล้ว ก็อาจจะแก้ตัวประกอบอื่นๆ ที่โยงหรืออิงกันอยู่ ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่สืบเนื่องจากมันได้ทั้งหมด หรือแก้ง่ายขึ้น

คนไทยเราชอบแสดงออกอย่างนี้มาก แม้แต่เวลาไปต่างประเทศ คนไทยเราไปในที่ของเขา ประเทศของเขา เขามีระเบียบ มีกฎจราจร คนไทยมักจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราฝ่าฝืนกฎจราจรอันนี้ได้ละ เราเก่ง แล้วบางทีก็ไม่ทำตามระเบียบ ตำรวจฝรั่งก็เผลอได้เหมือนกัน คนไทยเราก็ทำเพื่อแสดงความเก่งนั้น ก็รู้สึกตัวว่าเราแน่ที่ไม่ต้องทำตามกฎจราจร หรือฝ่าฝืนแล้วเขาจับไม่ได้ เราจะไม่มีความรู้สึกละอายในการกระทำอย่างนี้ เพราะเรารู้สึกว่าการทำได้อย่างนั้นเป็นเก่งเป็นโก้ไป นี่ก็เป็นลักษณะที่น่าสังเกต

เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า ในการวิเคราะห์ปัญหานั้น เราจะต้องศึกษาลึกลงไปถึงสภาพพื้นเพจิตใจของเรา และหาสาเหตุที่ในนั้นด้วย บางทีสาเหตุอันเดียวอาจเป็นที่มาของปัญหาได้หลายอย่างเท่าที่เราพบประสบกันอยู่ ซึ่งจะต้องกำจัดสาเหตุอันนี้ให้ได้ นี้เป็นเพียงตัวอย่าง มิใช่หมายความว่ามีตัวเดียว แต่มันเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมาก อาตมาเห็นว่า “มานะ” นี้เป็นตัวการสำคัญ มานะมีบทบาทมากจนกระทั่งว่า คนไทยได้ใช้มานะในความหมายที่ดีไปเสียแล้ว

กิเลสใหญ่ชุดสำคัญ ที่บงการบทบาทของคน

มานะนี้เป็นกิเลสใหญ่ตามหลักพุทธศาสนา อยู่ในกลุ่มที่มีจำนวน ๓ คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ในพระพุทธศาสนานี้ เรามักจัดอะไรๆ เป็นชุดๆ กิเลสอีกชุดหนึ่งก็คือรากเหง้าของอกุศล หรือรากเหง้าของความชั่ว ซึ่งมี ๓ เหมือนกัน คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง เรียกว่าเป็นอกุศลมูล เรามักมองกันแต่กิเลสชุดรากเหง้านี้ ไม่ค่อยมองไปถึงกิเลสชุดที่เป็นตัวกำกับบทบาทของคน ซึ่งก็มี ๓ เหมือนกัน กิเลสตัวกำกับบทบาทของคนชุดที่ว่าก็คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

๑. ตัณหา คือ ความอยาก ความเห็นแก่ตัว ความอยากจะได้ อยากจะเอาเพื่อตัว

๒. มานะ คือ ความต้องการให้ตัวเด่น อยากยิ่งใหญ่ ความสำคัญตน หรือถือตนสำคัญ

๓. ทิฏฐิ คือ ความถือรั้นในความเห็นของตน ยึดติดในความเห็น เอาความเห็นเป็นความจริง

พอเถียงกันไป เวลาหาความรู้หาความจริงก็ไปติดตัวทิฏฐิเสีย ทิฏฐิก็มากั้นความจริง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ เพราะแต่ละคนมาติดทิฏฐิ ยึดในทิฏฐิของตัวเองว่า ทิฏฐิของฉันจะต้องถูก เพราะฉะนั้น การแสวงหาความจริงก็เดินหน้าไปไม่ได้

ในการพากเพียรพยายาม ในการศึกษาเล่าเรียนค้นคว้าหาความรู้ของมนุษย์ และแม้แต่ในการทำงานทำการนี้ เราต้องการที่จะเข้าถึงความจริง แต่คนเราจะไปติดปัญหาก็คือว่า เมื่อค้นคว้าหาความจริงไปถึงตอนหนึ่ง มันจะมีทิฏฐิ มีความคิดเห็นของตัวเกิดขึ้น แล้วคนเราก็มักจะติดในความคิดเห็นนั้น

พอติดทิฏฐิปั๊บ และมีมานะเข้ามาหนุนอีก การค้นคว้าความจริงก็จะหยุด จะต้องให้คนอื่นยอมรับทิฏฐิความคิดเห็นของตัวเอง แล้วต่อจากนั้นไป ตัวความจริงหรือสัจจธรรมก็ไม่สำคัญเท่าทิฏฐิของฉันเสียแล้ว จะต้องให้ทิฏฐิของฉันนี้มันถูก ตัวความจริงจะเป็นอย่างไรก็ช่าง

ตอนแรกนั้นมุ่งหาความจริง แต่ตอนหลังนี่มาติดในทิฏฐิ ติดในความเห็นของตัวเอง กลายเป็นเอาทิฏฐิของตัวเองนี่ มาขัดขวางการเข้าถึงความจริงไปเลย กระบวนการค้นหาความจริงก็เลยสะดุดหยุดลงแค่นั้น

ตกลงว่า กิเลส ๓ อย่างนี้เป็นตัวกำกับบทบาทของมนุษย์ที่สำคัญมาก ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ดี ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงความสุขที่แท้จริง และไม่สามารถเข้าถึงสัจจธรรมได้ เพราะตัณหา มานะ ทิฏฐินี้ เข้ามาครอบงำกำกับบังคับบัญชาการแสดงเสีย ในทางพระท่านเรียกว่าเป็น ปปัญจธรรม แปลว่าสิ่งที่เป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า คือทำให้วกวนวุ่นวาย นัวเนียนุงนังอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทั้งสามอย่างเป็นเรื่องตัวตนทั้งนั้น ตัณหา ก็เห็นแก่ตัว เอาเพื่อตัว มานะ ก็ถือตัว มุ่งให้ตัวเด่น เอาตัวเป็นสำคัญ ทิฏฐิ ก็เอาแต่ความเห็นของตัว ถือรั้น ไม่รับพิจารณาใคร ในเมื่อจะเอาแต่ตัว มุ่งผลประโยชน์ ต้องการให้ตัวเด่นเป็นสำคัญ ติดในทิฏฐิ ก็เลยไปไม่รอด แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ติดคาวนเวียนอยู่นี่เอง

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ที่จริงสำคัญมาก คนไทยเรามักพูดเน้นกันแต่โลภะ โทสะ โมหะ ควรจะหันมาเอาใจใส่ต่อตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้มากขึ้น

มานะนี้ ในเมืองไทยได้ใช้ในความหมายที่เพี้ยนไปจนกระทั่งว่าดึงหรือกู่แทบไม่กลับแล้ว เวลานี้ถ้าพูดว่ามานะ คนไทยเข้าใจเป็นว่าพากเพียรพยายามหมด คู่กับอดทน แต่ที่จริงแล้วมันเป็นตัวกระตุ้นให้พากเพียรพยายามและอดทนต่างหาก

เดี๋ยวนี้เวลาเราพูดถึงเรื่องตัวตน ความเอาตัวเป็นใหญ่นี้ เราไม่พูดถึงมานะ เราต้องไปใช้คำว่า “อัตตา” แทนเสียแล้ว

ที่จริงอัตตานั้นมันเป็นเรื่องสำหรับรู้ คือ เรารู้เข้าใจว่าความจริงไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา เป็นอนัตตา เป็นเรื่องสำหรับรู้ ถ้าเทียบกับปรัชญาปัจจุบัน เขาแยกเป็นด้านเมตาฟิสิกซ์ หรืออภิปรัชญา กับด้านเอธิกซ์ หรือ จริยธรรม อัตตาเป็นเรื่องทางด้านเมตาฟิสิกซ์ (อภิปรัชญา) คือด้านที่แสวงหาสัจจธรรมว่า ความจริงเป็นอย่างไร

ในการศึกษาว่าความจริงเป็นอย่างไร เราจะพูดถึงเรื่อง อัตตา-อนัตตา ให้รู้ว่าความจริงนั้นไม่มีอัตตาชีวิตเกิดจากส่วนประกอบเข้ามาประชุมกัน มันเป็นอนัตตา เป็นเรื่องของความรู้ คือ รู้จักอัตตาว่า โดยแท้จริงแล้ว อัตตาไม่มี เป็นแต่อนัตตา ส่วนด้านของจริยธรรมนี่เป็นเรื่องของมานะ การถือตัวสำคัญตนต่างๆ ถือเกี่ยวกับตัวตนที่เป็นกิเลส นี้เป็นเรื่องของมานะ

ปัจจุบันนี้เราเอามานะไปใช้เพี้ยนแล้ว เราเลยต้องเอาคำว่าอัตตา ซึ่งเป็นเรื่องด้านสัจจธรรม มาใช้ในทางจริยธรรม เป็นการนำไปใช้ผิดทาง เสร็จแล้ว ก็เลยต้องยอมรับกันเลยตามเลยไป เช่นที่ชอบพูดกันว่า คนนี้อัตตาใหญ่ อัตตาแรง ที่จริงนั่นคือมานะแรง ไม่ใช่อัตตาแรง อัตตาเป็นเรื่องสำหรับรู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของจริยธรรม อัตตาไม่มี แล้วจะมาใหญ่ มาแรงได้อย่างไร

จุดมุ่งหมายที่พูดเรื่องนี้ ก็เพื่อให้เราแก้ปัญหาจริยธรรมโดยสืบสาวหาสาเหตุ และสาเหตุที่สำคัญก็มีมาในพื้นเพของเรานี้เอง คือพื้นเพวัฒนธรรมในสังคมของเรา และลักษณะจิตใจของเรา หรือคนของเรา ซึ่งจะต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องมานะไม่สำเร็จ การแก้ปัญหาในเรื่องที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่นการขาดระเบียบวินัยก็แก้ยาก ถ้าเด็กรู้สึกว่าถ้าฉันฝืนระเบียบได้นี่ฉันเก่ง แล้วท่านจะไปแก้ปัญหาทำให้เด็กมีระเบียบวินัยได้อย่างไร

ในทางตรงข้าม คนอีกพวกหนึ่งเขารู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เขารู้สึกว่า ถ้าฉันฝืนระเบียบวินัยนี่เป็นเรื่องที่น่าละอาย ทุกคนจะไม่ให้เกียรติเลย และในบางประเทศ ถ้าใครฝืนระเบียบวินัย สังคมจะประณาม คนทั่วไปจะรู้สึกดูหมิ่นเหยียดหยาม เห็นเป็นคนไม่มีเกียรติ

แต่คนไทยของเรานี่ นอกจากตัวเองจะรู้สึกโก้แล้ว สังคมยังยอมรับด้วย รู้สึกว่าเพื่อนๆ จะชื่นชมยกย่องว่า แหม หมอนี่มันเก่งจริงๆ มันแน่ มันฝืนระเบียบได้ มันไม่ต้องทำตามขั้นตอนก็ได้ มันเก่งจริง เรารู้สึกกันอย่างนั้นจริงๆ ด้วย สังคมของเราเป็นอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็แก้ปัญหาระเบียบวินัยไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรานิยมความโก้แล้วมีค่านิยมชอบบริโภค มันก็เป็นธรรมดา จะไปแก้ได้อย่างไร เรื่องทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่แก้ที่มานะ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวสาเหตุ อันนี้เป็นด้านกำจัดหรือด้านลบ

ใช้กิเลสแก้ไข ถึงจะได้ผล ก็ไม่ปลอดภัย

อาตมาเพียงยกตัวอย่างให้ดูว่า ลักษณะนิสัยคนไทยเรานี้ เด่นในเรื่องมานะมาก และเราได้ใช้คำว่ามานะ จนกระทั่งมันกลายเป็นคำที่มีความหมายดีไป เดี๋ยวนี้มานะเป็นศัพท์ที่ดีในเมืองไทย แต่เป็นกิเลสในพุทธศาสนา เป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง

สังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดคนไว้กับทุกข์ ไว้กับปัญหา ไว้กับวัฏฏสงสาร สังโยชน์มีหลายอย่าง พระอริยบุคคลจะต้องละไปตามลำดับ มานะนี้ก็เป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง แต่เป็นสังโยชน์ระดับสูง ซึ่งมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้ พระอริยบุคคลอื่นๆ ยังละมานะได้ไม่หมด

มานะนี้จะต้องยอมรับว่าเป็นกิเลสที่ลึกซึ้ง มีหลายระดับ มีตั้งแต่หยาบ รุนแรง ไปจนกระทั่งละเอียดอ่อน แม้แต่ความภูมิใจในตนเองน้อยๆ ก็เป็นมานะ เช่น ในเวลาที่เราทำความดีหรือทำอะไรเสร็จแล้วรู้สึกว่ามีความภูมิใจ แต่มานะในระดับนี้ท่านไม่ถือสานัก เพราะเมื่อมองในแง่ของการศึกษา เราต้องยอมรับด้วยว่า กิเลสนี้บางทีก็มีประโยชน์

กิเลสนั้นเป็นพวกอกุศลธรรม อกุศลธรรมหรืออกุศล แปลง่ายๆ ก็คือความชั่ว อกุศลนั้นตรงข้ามกับกุศลคือความดี แต่อกุศลกับกุศลธรรมนี่มันอิงอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กันได้

สังคมไทยเรา จะว่าไปก็มีความฉลาดในแง่หนึ่ง คือรู้จักเอาอกุศลธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ สนับสนุนกุศลธรรม คือเอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล

ตามหลักธรรมนั้น กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทีนี้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ ถ้าเราใช้ถูกก็เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็น ก็ผิด เกิดโทษ ทั้งนี้เราจะต้องยอมรับหลักทั่วไปว่า

๑. ถ้าใช้เป็น ใช้ถูกต้อง ก็มีประโยชน์ แต่

๒. พร้อมกันนั้น แม้จะใช้เป็นใช้ถูก แต่มันจะมีผลข้างเคียงในทางร้ายขึ้นมาด้วย ไม่บริสุทธิ์

การใช้กิเลสแม้แต่ในทางที่ดี ก็ต้องระวัง อย่างมานะนี้จะใช้ในทางที่ดีก็ได้ เช่นใช้เป็นเครื่องสนับสนุนให้มีระเบียบวินัย โดยจับเอาไปสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่น ที่จะช่วยให้เกิดผลอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ตาม เช่นสร้างโดยเร้าให้เกิดความรู้สึกในแง่ว่า ถ้าเราพากันรักษาระเบียบวินัยได้ แสดงว่าพวกเราเก่ง พอทำอย่างนี้ปั๊บมันเปลี่ยนทันทีเลย มานะนี้ กลับกลายเป็นแรงจูงใจให้มีระเบียบวินัยไปแล้ว

การใช้มานะมาเป็นแรงกระตุ้นในการสร้างวินัยนี้ ก็เหมือนในบางประเทศที่เขาคอยกระตุ้นเร้ากันให้มีความรู้สึกว่า ประเทศชาติของเรานี้จะต้องเป็นประเทศที่เก่งที่สุด เป็นประเทศอันดับหนึ่ง ยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ คนของเราจะต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนจะต้องทำได้ทุกอย่าง เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น

ความคิดที่ว่าประเทศของเราแน่มาก นี่ก็เป็นมานะเหมือนกัน แต่เป็นการใช้มานะอีกรูปแบบหนึ่ง คือเอามานะมาใช้สนองความเชื่อที่ว่า ถ้าเรารักษาระเบียบวินัยได้ แสดงว่าประเทศของเรานี่เก่งมาก มานะกลับเป็นตัวแรงผลักแรงกระตุ้น ให้คนรักษาระเบียบวินัย

เราจะเห็นว่า แม้แต่ในกลุ่มชนหรือหมู่คณะย่อยๆ บางทีเขาสามารถรักษาระเบียบวินัย หรือข้อปฏิบัติบางอย่างได้เคร่งครัด เพื่อให้สนองความรู้สึกภูมิใจในตัวเองว่า “ฉันแน่” เพื่อให้คนรู้เห็นว่าฉันนี้เก่ง หรือว่าหมู่คณะของเรานี้เก่ง หมู่คณะของเรานี้เป็นหมู่คณะที่เคร่งครัดที่สุด ทำอะไรได้ดีที่สุด

ที่ว่ามานี้ก็เป็นแง่คิดอย่างหนึ่ง ว่าที่จริงเป็นหลักอย่างหนึ่งทีเดียว คือหลักปัจจัยสัมพันธ์ว่า ธรรมข้อเดียวกัน (จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม) อาจทำให้เกิดผลต่างกันไปได้หลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะใช้อย่างไร คือแล้วแต่ว่าจะเอาไปสัมพันธ์เป็นปัจจัยกัน หรือร่วมกันกับธรรมอื่นข้อใด

ระบบปัจจัยสัมพันธ์แง่หนึ่ง ก็คือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า บูรณาการ เป็นระบบที่สำคัญและถ้าใช้เป็นก็มีประโยชน์มาก ดังนั้น จึงควรเรียนรู้และระลึกถึงระบบปัจจัยสัมพันธ์นี้ไว้ให้ดี อย่างในกรณีนี้ เอามานะไปร่วมสัมพันธ์กับความเชื่อในเสรีภาพส่วนบุคคลแบบหนึ่ง ออกผลมาเป็นความขาดระเบียบวินัยอย่างหนัก แต่เอามานะไปเป็นปัจจัยสัมพันธ์กับความเชื่อในชาตินิยมแบบหนึ่ง ออกผลมาเป็นความมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ดังนี้เป็นต้น

เป็นอันว่า มานะตัวเดียวกันใช้เป็นเรื่องเก่งเฉพาะตัวว่า เราแน่มากที่ทำได้อย่างนั้นตามใจเรา ทำได้ตามใจคือเก่งมาก หรือทำได้ตามใจคือไทยแท้ อันนี้ก็ไปสนองความต้องการเก่งเฉพาะตัว แล้วก็กลายเป็นว่า ถ้าไม่เป็นไปตามระเบียบวินัยได้ คือเก่ง แต่อีกพวกหนึ่งเอามานะไปใช้ในแง่ว่า ทำได้ตามระเบียบวินัยคือเราแน่ เรานี่เก่ง ก็กลับตรงข้ามกัน รวมความก็คือเป็นการเอากิเลสมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ หรือในทางที่เป็นโทษ แต่ก็เป็นเพียงการพูดว่าใช้ได้ เป็นประโยชน์ ซึ่งในทางที่ถูกต้องดีงามแท้จริงแล้วไม่ควรใช้

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว การใช้อกุศลเป็นตัวเร้าให้ทำความดีนั้น ถึงจะใช้ได้ผล แต่ก็จะมีผลข้างเคียงที่เป็นโทษ เช่นใช้มานะกระตุ้นให้เพียรพยายามทำดี จะใช้ได้ผลมาก เพราะกิเลสมักจะทำให้การกระทำมีกำลังแรงมาก (ถ้าไม่ถึงกับรุนแรง) แต่ก็จะเกิดผลเสียพ่วงมา เช่นทำให้ลำพอง ทำให้ยกตนข่มผู้อื่น หรือทำให้คิดถึงแต่ความสำเร็จของตัว โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดความเสียหายหรือทุกข์ร้อนแก่ใคร เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่าเป็นความสำเร็จจากแรงกิเลส ไม่ใช่เกิดจากเหตุผลที่เห็นด้วยปัญญา

ในหลายกรณี การทำดีด้วยแรงกิเลสอย่างนี้ แม้ว่าตัวการกระทำ หรือสิ่งที่กระทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ผู้ที่ทำความดีอย่างนั้น กลับได้ชื่อว่าเป็นคนชั่ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกคนที่ทำความดีด้วยความรู้สึกยกตนข่มผู้อื่น ว่าเป็นอสัตบุรุษ

การใช้อกุศลธรรม เป็นแรงกระตุ้นกุศลธรรมนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ดีจริง เราจึงควรจะพูดกันต่อไปว่า ในวิธีการที่ถูกต้องที่บริสุทธิ์นั้น ควรใช้อะไรเป็นแรงกระตุ้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อต่อไป ตอนนี้ก็พูดพอเป็นตัวอย่าง

สรุปประเด็นอีกครั้งหนึ่งว่า ในแง่หนึ่งของการแก้ปัญหานั้น ต้องสืบสาวหาสาเหตุให้ได้ บางที ถ้าแก้สาเหตุของปัญหาได้ตัวเดียว ก็แก้ปัญหาได้ตั้งหลายอย่าง และถ้าไม่แก้ที่สาเหตุอันนี้อันเดียว จะไปแก้อย่างไร ก็ไม่สำเร็จ จะไปส่งเสริมอย่างไร ก็ไม่สำเร็จ ไปไม่รอด

สร้างจริยธรรมตัวนำขึ้นข้อเดียว
จริยธรรมอื่นพ่วงมาเป็นพรวน

คราวนี้ ประการที่สอง เป็นด้านบวก เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงสาเหตุของปัญหา ซึ่งเป็นการหนักไปในด้านลบหรือด้านสิ่งที่ต้องกำจัด คราวนี้ก็ถึงด้านเสริมสร้างเป็นด้านบวก

ในด้านบวกนี้ สิ่งสำคัญคือจะต้องจับให้ถูกที่ เพราะว่า หัวข้อจริยธรรมหรือองค์ประกอบของจริยธรรมและคุณธรรมต่างๆ นั้นมีมากมายเหลือเกิน แจกแจงกันไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด พูดกันไม่หวาดไม่ไหว เรามักจะบอกว่า คนไทยจะต้องมีจริยธรรมข้อนั้นข้อนี้ การส่งเสริมจริยธรรมข้อนี้จะทำอย่างไร เรามักจะระบุชี้กันเป็นข้อๆ วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ นอกจากจะไม่สัมพันธ์กับปัญหาแล้ว แม้แต่ในแง่การเสริมสร้างก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

การที่จะคิดเสริมสร้างจริยธรรมกันทีละข้อ แต่ละข้อเป็นบัญชีเหมือนอย่างรายการสินค้าว่า จริยธรรมข้อหนึ่ง เรื่องนั้น มีวิธีการที่จะส่งเสริมอย่างไร สอง จริยธรรมข้อนี้ มีวิธีการสร้างและส่งเสริมอย่างไร ว่ากันเป็นข้อๆ แล้วก็หาทางส่งเสริมกันเป็นข้อๆ นั้น เป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ

ชีวิตมนุษย์นั้นเกิดจากองค์ประกอบ ที่ประสานรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสัมพันธ์โยงถึงกันหมด การพูดแยกเป็นรายข้อนั้นควรทำเพียงเพื่อความสะดวก เพราะการที่จะเข้าใจองค์รวมให้ชัดเจน ก็ต้องรู้จักองค์ประกอบทั้งหลายว่ามีอะไรบ้าง แต่ในเวลาปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเป็นต้น จะต้องมองเห็นองค์ประกอบเหล่านั้น โยงสัมพันธ์กันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ไปแยกเป็นรายข้อ แล้วสร้างเสริมขึ้นทีละอย่างๆ ซึ่งก็ย่อมได้ผลบ้าง แต่นิดๆ หน่อยๆ ฉาบฉวยผิวเผิน

ไม่ว่าในการแก้ปัญหา หรือในการสร้างเสริมก็เช่นเดียวกัน จะต้องจับจุดให้ถูก คือ จับจริยธรรมตัวแกนหรือจริยธรรมตัวนำของเรื่องนั้นให้ได้ เมื่อจับตัวนำหรือตัวแกนอันเดียวถูกต้องแล้ว ก็ส่งเสริมอันนั้นอันเดียว แล้วโยงทั่วไปหมด ก็จะแก้ปัญหาทีเดียวได้หลายอย่าง

เป็นอันว่า ในการแก้ปัญหาจริยธรรมนั้น จะต้องจับหาจุดประสานของมันให้ได้ คือจับตัวแกนหรือตัวนำแล้วอันอื่นก็พ่วงมาด้วย ไม่ใช่ว่ามาเองด้วยทันที แต่จะต้องรู้เข้าใจว่า ถ้าเราทำอย่างนั้น อะไรจะพ่วงมาบ้าง แล้วตั้งใจชักนำให้มันพ่วงมาด้วย

ตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่ามีนิสัยรักงานตัวเดียว เมื่อทำงานอะไรก็มีความรักในงานนั้น อยากจะทำพอเราอยากจะทำขึ้นมานี่ จะมีอะไรตามมาบ้าง ความขยันหมั่นเพียรจะตามมาเอง

นอกจากความขยัน ความมีระเบียบวินัยจะตามมา มีระเบียบวินัยเพราะว่าการงานนั้นมีระเบียบมีขั้นมีตอนของมัน เมื่อทำงานแล้ว การทำงานจะฝึกตัวเขาให้มีระเบียบวินัยไปเอง ระเบียบวินัยก็จะเกิดขึ้น

ความอดทนก็จะตามมาด้วย เพราะขั้นตอนของการทำงานนั้นแหละจะฝึกเขาว่า เมื่อทำขั้นนี้เสร็จแล้ว จะต้องรอถึงขั้นนั้นจึงจะทำอย่างนั้นได้ ถ้าทำอันนั้นตรงนั้นแล้วจะต้องรออีกเท่านั้นจึงจะมีผลสำเร็จ จึงเป็นการฝึกความอดทนไปด้วยพร้อมในตัวเลย

การรู้จักขั้นตอนของงาน ความฉลาดจัดเจนในการจัดการ และความตรงต่อเวลาเป็นต้น ก็ตามมาด้วย บางทีมาก่อนเวลาด้วยซ้ำ เพราะรักงาน อยากจะทำงาน ทำให้กระตือรือร้น ตั้งหน้าตั้งตาคอยจะทำงาน จะยิ่งกว่าตรงเวลาเสียอีก จะทำจนเกินเวลาด้วยซ้ำ

แม้แต่จิตใจก็มีความสบาย วิ่งแล่น ไม่ขัดไม่ขืน ไม่ฝืนใจทำ สมาธิก็เกิดขึ้น จิตใจมั่นคงเข้มแข็ง สงบ อยู่กับงาน มีความแน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอันว่า สมาธิเกิดขึ้นเพราะความรักงาน แล้วทำงานไปเพราะความรักงานนั้น มีความสุขอยู่กับงาน ก็ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องอื่นๆ อารมณ์ที่เข้ามากระทบกระแทกก็ไม่คำนึงมากนัก มีสุขภาพจิตดี แม้แต่ปัญหาเรื่องจิตใจก็สร่างซา พลอยดีขึ้นมาหมด

ตกลงว่า ถ้าจับจุดอันเดียวได้ถูกแล้ว ฝึกในเรื่องนั้นขึ้น ตัวอื่นก็พ่วงมาด้วย คือหาตัวนำหรือแกนของจริยธรรมในเรื่องนั้นๆ ให้ได้ แล้วใช้ตัวนั้นในการฝึกให้จริยธรรมข้ออื่นพ่วงมาด้วยกัน ข้อสำคัญก็คือ จะต้องจับให้ถูกนั่นเอง นี้เป็นด้านเสริมสร้าง

- ๓ -
ระบบจริยธรรมที่ครบวงจร

ตัวอย่างที่ ๑: เสรีภาพในการแสดงออก

การแสดงออกอย่างเสรี ต้องมีองค์ประกอบครบชุด

ต่อไปขอพูดผ่านไปถึงว่า การฝึกและการใช้จริยธรรมต้องเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร

ปัจจุบันนี้เขานิยมใช้คำว่า “ครบวงจร” อะไรๆ ก็ต้องครบวงจร พูดกันมากเหลือเกิน อีกคำหนึ่งก็คือ “บูรณาการ” ชักเข้ามามาก

ที่จริง จริยธรรมก็เป็นเรื่องแบบเดียวกันนั้นแหละ ต้องครบวงจรเหมือนกัน จริยธรรมก็ต้องเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร ถ้าไม่ครบวงจรก็เกิดผลเสีย จริยธรรมที่ครบวงจรนี่จะยกตัวอย่าง เพราะถ้าจะอธิบายก็กินเวลามาก ต้องมีตัวอย่างจึงจะเห็นง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การแสดงออกโดยเสรี เดี๋ยวนี้เป็นยุคประชาธิปไตย แม้แต่ในวงการศึกษาก็ถือว่าจะต้องฝึกฝนประชาธิปไตย การมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงออกอย่างเสรี เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย และก็เป็นองค์ประกอบทางจริยธรรมด้วย เรื่องนี้จะมาสัมพันธ์กับการปฏิบัติจริยธรรมให้ครบวงจรอย่างไร

ที่ว่าต้องครบวงจรก็เพราะว่า จริยธรรมแต่ละข้อย่อมมีความสัมพันธ์กับข้ออื่น โดยมีจุดมุ่งหมายและมีการรับส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น ดังนั้น จริยธรรมทุกข้อจะต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร หรือเพื่อผลอะไร

การแสดงออกอย่างเสรี หรือเสรีภาพในการแสดงออก มีจุดมุ่งหมายอย่างไร อันนี้มีเรื่องที่จะต้องพูดกันหลายแง่หลายมุม

แง่หนึ่งก็คือเอาด้านความสัมพันธ์ก่อน แล้วมันจะโยงไปถึงความมุ่งหมาย เราจะเห็นว่า การแสดงออกโดยเสรีนี่ มันคู่กันกับการรับฟังผู้อื่นใช่ไหม คือ เมื่อเราแสดงออกโดยเสรี เช่นแสดงความคิดเห็นของเราออกไป เราก็ต้องยอมให้คนอื่นเขาแสดงความคิดเห็นโดยเสรี คือยอมรับฟังเขาด้วย

แต่ตัวแกน หรือสาระสำคัญของการแสดงออกโดยเสรี และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนั้น คืออะไร คือการแสวงปัญญา ต้องการรู้ความจริง หาความถูกต้อง มองเห็นเหตุผล ถูกไหม

เมื่อแสดงออกโดยเสรี แต่ละคนมีความคิดเห็น ก็จะได้สามารถใช้ความคิดเห็นของตน เอามาช่วยประกอบในการที่จะร่วมกันคิดพิจารณา ให้ถึงความรู้ที่ถูกต้อง กล่าวคือ ต่างคนต่างก็คิดหาเหตุผลที่ถูกต้องเท่าที่สามารถและนำมาแสดงออก เมื่อนำมาแสดงออกแล้วก็เป็นการแลกเปลี่ยนกัน คนอื่นเขาก็มีความคิดเห็นของเขา ก็มาพูดให้เราฟังบ้าง แลกเปลี่ยนกันไปกันมาก็เข้าถึงปัญญา เข้าถึงสัจจธรรม ได้ความรู้จริง เกิดความรู้แจ้งขึ้นมา ได้สิ่งที่ถูกต้อง ที่จะใช้ปฏิบัติให้บรรลุความมุ่งหมาย

โดยนัยนี้ เสรีภาพในการแสดงออก ก็คู่กันกับการรับฟังผู้อื่น และมีการแสวงปัญญาเป็นฐาน ฉะนั้น ถ้าจะฝึกการแสดงออกโดยเสรี ก็ต้องฝึกการรับฟังผู้อื่นด้วย และต้องโยงไปหาการใฝ่รู้ความจริง จะฝึกแต่การแสดงออกโดยเสรีอย่างเดียวไม่ได้

นอกจากการรับฟังผู้อื่น โดยมีความใฝ่รู้เป็นฐานร่วมแล้ว การแสดงออกอย่างเสรีสัมพันธ์กับอะไรอีก สังคมที่มีการแสดงออกโดยเสรีที่ดำเนินไปอย่างถูกต้อง จะเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัยมาก อย่างเช่น อเมริกาก็เป็นประเทศที่มีการแสดงออกโดยเสรี แต่ในประเทศนี้ สังคมก็จะต้องมีระเบียบวินัยค่อนข้างดีด้วย คนจะต้องมีการฝึกตนในเรื่องระเบียบวินัย จะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา ดังนั้น พร้อมกันไปกับที่เขาแสดงออกโดยเสรีนั้น ก็จะมีตัวคุม กล่าวคือระเบียบวินัยนี้

ระเบียบวินัย หรือกฎเกณฑ์ของสังคม เป็นเครื่องควบคุมกำกับยับยั้งชั่งใจให้อยู่ในกรอบ ทำให้การแสดงออกโดยเสรี อยู่ในขอบเขตที่ถือว่าพอดี ระเบียบวินัยนี้รวมไปถึงกฎเกณฑ์ของสังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในสังคมด้วย

นอกจากนี้ ในสังคมที่มีการแสดงออกโดยเสรีนั้นปรากฏว่า ยังต้องเป็นสังคมที่แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบตัวเองมากด้วย คือเมื่อตัวเองแสดงออกโดยเสรี ตัวเองก็จะต้องรับผิดชอบต่อการแสดงออกของตนนั้นมากด้วย นอกจากรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์ของสังคมแล้วก็รับผิดชอบต่อบุคคลอื่น และต่อสิทธิของคนอื่นด้วย เช่นอย่างในสังคมอเมริกันนั้น พร้อมกับที่แสดงออกโดยเสรี ก็มีสิทธิที่จะถูกซูได้ง่ายๆ ด้วย อยากเสรีอย่างฝรั่ง แต่จะให้เหมือนฝรั่งจริงก็ไม่เอา

ในสังคมอเมริกันนั้น คำว่า “ซู” (sue) คือการเรียกร้องค่าเสียหาย นี่ใช้กันมากเหลือเกิน ถ้าไปละเมิดสิทธิของคนอื่นปั๊บนี่ ถูกซูทันที เพราะฉะนั้น เขาแสดงออกโดยเสรีจริง แต่ก็มีตัวคุมมากเหลือเกิน คุมทั้งในทางสังคม และคุมทั้งระหว่างบุคคลด้วยกัน โดยเฉพาะด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี้ ถูกคุมอย่างหนักเลย ถ้าไปละเมิดเขาปุ๊บ เขาก็ซูปั๊บ แต่ในเมืองไทยเราไม่เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่าง เช่นอาชีพแพทย์ คนไทยเราใช้ระบบจริยธรรมทางจิตใจมาก มีการเคารพนับถือกัน ให้เกียรติแพทย์ แพทย์จะรักษาก็ต้องมีน้ำใจ เพราะว่าคนไข้เขามีน้ำใจ มีความเคารพนับถือ แพทย์ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางจิตใจ มีความเมตตากรุณาต่อคนไข้ รักษาด้วยความเอาใจใส่ โดยมุ่งประโยชน์แก่คนไข้ มีความเมตตากรุณา ต้องการรักษาให้เขาหาย จึงจะไปด้วยกันได้กับน้ำใจของคนไข้ที่มีความเคารพนับถือ

แต่ถ้าไปตามอย่างสังคมแบบประเทศอเมริกา ความเคารพกันและน้ำใจต่อกันนั้นจะค่อยๆ หมดไป คนไข้ก็ไม่มีความรู้สึกเคารพแพทย์ ไม่ได้นับถือบูชา คิดแต่เพียงว่าจะต้องมอบเงินแค่นี้ไปๆ เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ที่จะแลกเปลี่ยนซื้อขายบริการกัน แพทย์ก็อาจจะมีความรู้สึกแบบธุรกิจ คือมองว่าฉันจะได้เงิน ฉันจึงรักษาคุณ เพราะฉะนั้นฉันจะรักษาให้ ก็เพราะคุณมาซื้อบริการ แต่อย่าพลาดนะ ฝ่ายคนไข้ก็คอยดูอยู่ ถ้าหมอพลาดนิดหนึ่งฉันซู ฟ้องเรียกค่าเสียหายเลย เมื่อไม่มีน้ำใจแล้วมันก็เป็นธุรกิจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ทีนี้ สังคมไทยปัจจุบันนี่กำลังอยู่ระหว่างครึ่งๆ กลางๆ ในแง่หนึ่ง สังคมของเรามาตามประเพณีเดิมในแบบมีน้ำใจ คนไข้มีความเคารพนับถือหมอ หมอเป็นคนประเภทหนึ่งในสังคมที่ได้รับเกียรติมาก อยู่ในกลุ่มพระ ครู แพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเคารพนับถืออย่างสูง เพราะฉะนั้น หมอจะไปที่ไหนเขาก็มีความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณอยู่แล้ว หมอรักษาไป คนไข้ต้องไปกราบไหว้ มีความเคารพซาบซึ้งบุญคุณ ทางฝ่ายแพทย์ ก็ต้องมีเมตตากรุณาตอบแทนดังที่ว่าเมื่อกี้

ทีนี้ เมื่อสังคมเปลี่ยนมาในลักษณะธุรกิจ มันก็กลายเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน ด้วยทรัพย์สินเงินทอง คนไข้ก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องนึกถึงบุญคุณของแพทย์ หรือนึกถึงบ้าง ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย ข้อสำคัญคือให้ค่าตอบแทนไปก็แล้วกัน ฉันจ้าง คุณก็รีบไปรักษานะ และรักษาฉันให้ถูกต้องนะ ถ้าเธอรักษาผิดพลาดไปฉันจะซูเธอ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะฉะนั้น ก็เลยมีการฟ้องกันบ่อยๆ

แพทย์บางทีก็ทำดีตั้งใจรักษา เพราะว่าต้องระวังตัวที่จะไม่ให้ผิดพลาด กลัวว่าคนไข้เขาจ้องจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ใช่ตั้งใจรักษาให้ดี เพราะมีเมตตากรุณาปรารถนาดีต่อคนไข้ ฉะนั้น แพทย์บางคนถึงจะรวย แต่ถ้าไม่ระวังตัวให้ดี บางทีถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายรายเดียวเท่านั้น ชดใช้ชั่วชีวิตไม่พอ นี้เป็นเรื่องสำคัญ

การแสดงออกอย่างเสรีของฝรั่ง ที่เป็นต้นตำรับ จะต้องเป็นไปด้วยความระวังตัวในทุกอย่าง ไม่ให้เป็นการล่วงละเมิดสิทธิ หรือทำความเสียหายแก่ผู้อื่น มิฉะนั้น การใช้เสรีภาพจะกลายเป็นการใช้โอกาสตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตนหรือทำตามใจอยากของตัว

แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างครอบครัวก็ต้องระวังตัวทั้งนั้น เด็กบ้านนี้ไปบ้านโน้น ไปกินอาหารของเขา แล้วท้องเสีย บางทีพ่อแม่บ้านนี้ซู ฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้านนั้น อย่างนี้เมืองไทยเราทำไหม เราอยู่บ้านนี้ไปเยี่ยมเพื่อนอยู่อีกเมืองหนึ่ง ไปพักในบ้านเขา เวลาจะออกจากบ้านทั้งๆ ที่เป็นเพื่อน ก็เขียนบิลให้กัน ช่วยค่าใช้จ่าย อาตมาไปเห็นด้วยตาตนเอง เมืองไทยเราทำไหมอย่างนั้น

การแสดงออกอย่างเสรี คือความเหลวไหล
ถ้าไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย

เรื่องตัวอย่างในประเทศอเมริกาที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องของระเบียบที่ไม่เป็นทางการของสังคม เป็น tradition เป็นธรรมเนียมประเพณี แต่มันก็มีสาระที่บ่งชัดอยู่ในตัว คือ การที่จริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีอยู่ หรือเกิดขึ้นได้ โดยจะต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับองค์ประกอบทางจริยธรรมอย่างอื่นๆ สมมุติว่า เราจะนำเอาการแสดงออกอย่างเสรีเข้ามาจากอเมริกานี่ เราได้นำเอาองค์ประกอบอื่นที่สัมพันธ์กับมันเข้ามาพร้อมด้วยหรือไม่ ทั้งตัวคุมคู่ดุล คือการรับฟังผู้อื่น และตัวคุมจุดหมาย คือการใฝ่แสวงปัญญานี้เป็นอย่างน้อยที่สุด

โดยเฉพาะอย่างที่สอง เป็นแกนสำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานสำคัญกว่าอย่างอื่น คือในการที่คนใดคนหนึ่งแสดงออกโดยเสรีนั้น เขามีความใฝ่แสวงสัจจธรรมหรือใฝ่แสวงปัญญาอยู่หรือเปล่า หรือเป็นเพียงการแสดงออกโดยเสรีแบบเลื่อนลอยครึ่งๆ กลางๆ

ถ้าแสดงออกเสรีโดยเลื่อนลอย มันก็อาจจะกลายมาเป็นเครื่องสนองมานะ ที่เป็นตัวพื้นฐานนิสัยของคนไทยคนเดิม แล้วจะกลายเป็นตัวร้ายที่สุดเลย เมื่อนำเอามาแล้วแทนที่จะดี กลับยิ่งร้าย การแสดงออกเสรีนั้นแทนที่จะเป็นตัวสร้างเสริมประชาธิปไตย ก็จะกลับกลายเป็นเครื่องทำลายประชาธิปไตย ฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้เอาสาระ คือการใฝ่แสวงปัญญา ความใฝ่รู้ความจริง หรือความต้องการเหตุผลมาด้วย การแสดงออกโดยเสรีก็จะกลายเป็นตัวสนองมานะ ดังเช่นที่ว่าเมื่อกี้ คือ ต้องการอวดเด่น แสดงออกโดยเสรี เพื่อให้เห็นว่าฉันแน่เท่านั้นเอง และก็จะต้องเอาชนะให้ได้ ยอมใครไม่ได้ ผลที่สุดการแสดงออกโดยเสรีอย่างนี้ ไม่มีทางส่งเสริมประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ

การเสาะแสวงปัญญา ก็มาคู่กับการยอมรับฟังผู้อื่นอย่างที่กล่าวแล้ว นี่เป็นตัวประกอบที่ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีตัวประกอบหรือตัวควบคุมอื่นที่จะมาช่วยอีก เช่นระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ของสังคม tradition คือประเพณี หรือธรรมเนียมของสังคม อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ว่า จะละเมิดกันไม่ได้ ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่นสูง เพราะเหตุที่ว่าต้องคอยระวังตัว

ฉะนั้น การแสดงออกโดยเสรีก็ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบด้วยอย่างสูง เพราะจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ด้วยเหตุว่า ถ้าละเมิดเขาแล้วตัวเองจะต้องถูกซู จะถูกเรียกค่าเสียหายได้ง่ายที่สุด แต่คนไทยเรานำหลักการแสดงออกโดยเสรีมาใช้นี่เป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ เหลือเกิน

แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ในสังคมของฝรั่งนั้น พ่อแม่กับลูกมีความสัมพันธ์ไม่เหมือนคนไทย ในสังคมอเมริกันนี่ พอลูกโตหน่อย พอวัยรุ่น อายุ ๑๗, ๑๘ พ่อแม่อาจจะบอกว่า เออ แกออกจากบ้านได้ ถึงเวลาที่แกจะดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาเงินหาทองได้แล้ว ไปหาเงินหาทองรับผิดชอบตัวเอง

แต่พ่อแม่เมืองไทยเป็นอย่างไร เป็นลูกแหง่อยู่จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ยังตามกันแจ พ่อแม่ตามดูแลเอาใจใส่ ลูกยังมาตามขอเงินขอทองพ่อแม่ได้อยู่ เป็นอย่างนี้ แต่มันก็มีแง่ดี ตามประเพณีของเรา คนแก่ได้รับความเคารพนับถือเอาใจใส่ ลูกมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กันจนกระทั่งแก่เฒ่า เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าลูกก็ไม่ทิ้ง มันก็ดีไปทางหนึ่ง แต่ละระบบก็มีข้อดีและข้อเสียของตนเอง

อย่างเมืองฝรั่ง คนแก่ว้าเหว่มาก ลูกจะไปเอาใจใส่อะไรล่ะ เพราะฉันโตฉันก็เลี้ยงดูตัวเอง ตั้งแต่อายุ ๑๗, ๑๘ ฉันก็ออกจากบ้านไปหางานหาการทำ แม้แต่เรียนหนังสือ ในระบบฝรั่ง พ่อแม่มีเงิน ไม่ใช่ไม่มีเงินนะ แต่ลูกก็ไปหางานทำเพื่อเอาเงินมาเสียค่าเทอมของตนเอง จริงอยู่พ่อแม่ก็ยังช่วยบ้าง แต่การรับผิดชอบตัวเองของลูกนี่สูง ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ก็จะต้องหัดที่จะให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง ฉะนั้น การแสดงออกโดยเสรีนี้ก็เป็นการฝึกฝนเตรียมไว้ ในการที่ตัวเขาจะต้องไปรับผิดชอบดิ้นรนต่อสู้ชีวิตของเขาเอง จะต้องเป็นผู้ใหญ่ รู้จักรับผิดชอบพึ่งพาตนเองได้

การแสดงออกโดยเสรีอย่างนั้น ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของระบบชีวิตที่ว่าจะต้องดิ้นรน รับผิดชอบตนเอง ทีนี้ฝ่ายคนไทยเรา นำเอามาไม่ครบกระบวนการ ไม่ครบวงจร เอามาใช้เฉพาะตัวการแสดงออกล้วนๆ ลอยๆ ก็เกิดปัญหาขึ้น เอาการแสดงออกเสรีมาปล่อยเข้าในระบบการเลี้ยงดูแบบตามใจลูก พ่อแม่ตามใจลูกหมด ลูกแสดงออกโดยเสรี ก็กลายเป็นลูกบังเกิดเกล้า เดี๋ยวนี้พูดกันบ่อย หมายความว่า ลูกจะเรียกร้องอย่างไร ก็ต้องตามใจใช่ไหม ลูกที่แสดงออกโดยเสรีแล้วนี่ ต่อไปก็เรียกร้องกันเรื่อย

เมื่อแสดงออกเสรี โดยไม่ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบ ก็มีการแสดงออกเสรีแบบตามใจตัวเอง โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่อใคร ยิ่งมีแต่คนที่รอจะตามใจอยู่แล้วก็เลยเป็นการแสดงออกเสรีแบบตามใจตัวเองชนิดไม่มีเหตุผล โตขึ้นก็ติดความเคยตัวนี้ไป ต่างคนต่างเป็นอย่างนี้ ก็เลยคุมกันไม่อยู่ ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะการแสดงออกเสรี ไม่มาพร้อมกันกับองค์ประกอบอย่างอื่นๆ ของมัน นี้คือตัวอย่างอันหนึ่งของจริยธรรมที่ไม่ครบวงจร

ในระบบจริยธรรมที่ครบวงจร การแสดงออกโดยเสรีนั้น จะเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริง โดยจะต้องเป็นพฤติกรรมแห่งการใฝ่แสวงปัญญา หรือแสวงหาสัจจธรรม ต้องการเข้าถึงความรู้จริง

เราให้มีการแสดงออกโดยเสรี เพื่อว่าคนจะได้ฝึกหัดใช้ความคิดและเหตุผล และจะได้มาแลกเปลี่ยนเสริมต่อความคิดเห็นของกันและกัน เอาภูมิปัญญามาช่วยเสริมกัน เป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์ประกอบ ในกระบวนการที่จะเข้าสู่การรู้แจ้งสัจจธรรม และเป็นการดึงเอาศักยภาพของบุคคลแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ หรือเปิดช่องทางให้ศักยภาพของบุคคลแต่ละคนนั้นหลั่งไหลออกมารวมกัน เป็นกระแสแห่งพลังปัญญาธรรม ที่จะแก้ปัญหา หรือทำการสร้างสรรค์ให้สำเร็จผล ตามหลักการแห่งประชาธิปไตย

หากปราศจากความมุ่งหมายเช่นนี้ การแสดงออกเสรีก็เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์ และจะเฉออกไปสู่ทางแห่งการก่อโทษ

การแสดงออกโดยเสรีที่แท้ ย่อมเป็นอย่างนี้ เป็นอันว่า พื้นฐานและสาระอันนี้จะต้องหยิบขึ้นมาให้ได้ คือจะต้องฝึกการแสวงปัญญา ทำความใฝ่รู้ให้เกิดขึ้น พร้อมกันไปกับการรับฟังผู้อื่น ฝึกไปด้วยกัน

ฝึกเนื้อแท้ในใจ คือการใฝ่แสวงปัญญา และฝึกภายนอก คือการรับฟังผู้อื่น นอกจากนั้นก็ต้องฝึกความมีระเบียบวินัย คุมการแสดงออกให้อยู่ในขอบเขตแห่งกฎเกณฑ์ของสังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ตลอดจนความรับผิดชอบต่อตัวเอง อย่างนี้จึงจะเป็นจริยธรรมที่ครบวงจร

แต่หันมาดู ปฏิบัติการทางจริยธรรมในปัจจุบัน มีการฝึกอย่างรายการสินค้า ยกเอามาเป็นอย่างๆ ว่า ข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ มีวิธีการผลิตอย่างนี้ เป็นข้อๆ ไป โดยไม่สัมพันธ์ ไม่โยงกัน ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของจริยธรรม จึงยากที่จะได้ผลดี

ตัวอย่างที่ ๒: สันโดษ

เมื่อใช้พลาด สันโดษเพื่อขยัน
กลายเป็นหนุนความเกียจคร้าน

ต่อไปอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ สันโดษ สันโดษนี่มันขาดวงจรไปเสียนานแล้ว สันโดษเราแปลกันว่า ความพอใจตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่ตัวมี สันโดษแล้วเป็นอย่างไร สันโดษแล้วก็จะได้มีความสุข เพราะว่าถ้าเราพอใจในสิ่งที่เรามีแล้ว เราก็ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ก็มีความสุขได้ นี่ก็ถูก ก็มีความจริง แต่อย่างนั้นเป็นความมุ่งหมายของสันโดษหรือเปล่า

ที่จริง การมีความสุข เป็นผลพลอยได้ของสันโดษ สันโดษทำให้มีความสุขได้ ถูกต้อง แต่มันครบวงจรหรือยัง

ในแง่หนึ่ง สันโดษนี้ป้องกันความโลภ คือไม่ให้โลภของผู้อื่น ให้มั่นอยู่ที่ของตัวเอง ให้พอใจในสิ่งที่ตัวมี ที่เป็นสมบัติของตัวเอง ซึ่งจะมีความหมายไปถึงว่า มีความพอใจในสิ่งที่เป็นของๆ ตน ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตน และโดยชอบธรรม สันโดษนี้จึงป้องกันความโลภและการทุจริต คือ ต้องได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเอง และโดยชอบธรรม ไม่ใช่ไปลักของเขามา ไม่ได้ไปละเมิดคนอื่นมา ไม่ได้ไปเอาของใครมา

พอว่าอย่างนี้ ความหมายก็กว้างขึ้น และไปสัมพันธ์กับเรื่องอื่น สัมพันธ์ในแง่ที่ว่า เมื่อสันโดษ พอใจในของของตน แต่การที่จะได้เป็นของตัวเอง ก็ต้องได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเอง ต้องทำเอาเอง โดยชอบธรรม โดยสุจริต คราวนี้ความหมายเริ่มกว้างขึ้น แต่ก็ยังไม่ครบวงจร

จะให้ครบวงจรอย่างไร ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า สันโดษเพื่ออะไร จริงอยู่ที่ว่า ถ้าสันโดษแล้วก็มีความสุข แต่บอกแล้วว่า ความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ของสันโดษเท่านั้น ตัวความมุ่งหมายของสันโดษยังไม่มา

ความสันโดษมีความมุ่งหมายอะไร สันโดษเพื่ออะไร คนที่ไม่สันโดษย่อมมุ่งแต่จะแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง เมื่อมุ่งแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง จิตใจก็กระวนกระวาย นี้เป็นผลด้านหนึ่ง แล้วอีกด้านหนึ่ง ก็คือด้านการใช้เวลาและแรงงาน เขาก็ต้องทุ่มเทอุทิศเวลาและแรงงานไป ในการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอตัวเองเหล่านั้น แรงงานและเวลาจะหมดเปลืองไปกับการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอ จนไม่เป็นอันทำกิจหน้าที่

สันโดษนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนเน้นเป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ เพราะว่าชีวิตของพระสงฆ์นี้มีหลักการเบื้องต้นว่าเป็นคนที่ชาวบ้านเลี้ยง จึงต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่ายแล้วก็จึงควรจะอยู่ง่าย อยู่ง่ายก็หมายความว่า มีวัตถุแต่เพียงพอประมาณ เท่าที่จำเป็นหรือเท่าที่เป็นสัปปายะ นี่ก็คือการที่จะต้องสันโดษ

เหตุผลที่พระสงฆ์ต้องสันโดษนั้น นอกจากเพื่อทำตัวให้เขาเลี้ยงง่ายแล้ว ที่สำคัญยิ่งและสัมพันธ์กับการเป็นผู้เลี้ยงง่ายนั้นเอง ก็คือ จะได้ตัดความวุ่นวายกังวลในการแสวงหาวัตถุ และจะได้มุ่งมั่นทำกิจหน้าที่หรืองานของพระสงฆ์ได้เต็มที่ คือ จะได้เอาเวลาและแรงงานของตัวเอง ไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ของสมณะ ไม่ต้องมากังวลวุ่นวายกับการแสวงหาปัจจัยสี่ ไม่ต้องคิดว่าจะหาอาหารเอร็ดอร่อยฉันได้อย่างไร ไม่ต้องคิดเดือดร้อน กับการจะหาจีวรสวยๆ งามๆ มาห่ม หรือหาที่อยู่อาศัยที่หรูหรา อะไรต่างๆ ซึ่งจะทำให้ต้องแสวงหาวัตถุปัจจัยวุ่นวาย จะได้เอาเวลาและแรงงานนั้นไปใช้ทำหน้าที่การงานของสมณะ จะไปบำเพ็ญสมาธิ หรือจะไปเทศนาสั่งสอนประชาชน ก็มีเวลาอุทิศให้กับเรื่องเหล่านั้นได้เต็มที่

พร้อมกันนั้น สันโดษนี่ก็จะไปสนับสนุนความเพียรพยายาม สอดคล้องกับหลักทั่วไปที่สันโดษนี้มักจะมาคู่กับความเพียร

ขอให้ท่านสังเกตว่า ในหลักพระพุทธศาสนานั้น ธรรมะต่างๆ มักจะมาเป็นคู่กัน หรือ มาเป็นชุด เช่น ศรัทธามาก็จะให้มีปัญญาควบ ถ้าสันโดษมาความเพียรก็มักมาด้วย เพราะอะไร เพราะเมื่อสันโดษในเรื่องการบำรุงบำเรอตัวเองแล้ว ก็จะได้เอาเวลาและแรงงานที่สงวนไว้นั้น ไปใช้ในการเพียรพยายามทำกิจหน้าที่ของตน

สันโดษนั้น นำมาใช้กับฆราวาสได้ในแง่นี้ด้วย คือทำให้ไม่มัวเมา ไม่มัวหลงเพลิดเพลินกับการบำรุงบำเรอตัวเอง จะได้มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานของตนอย่างเต็มที่ ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่รู้จักพอ มุ่งแต่จะหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเองแล้ว ก็จะไม่รักงาน จิตใจจะคอยใฝ่แสวงหาแต่สิ่งบำรุงบำเรอนั้น

เมื่อไม่รักงานแล้ว การทำงานก็จะเป็นเรื่องจำใจ เป็นเพียงเงื่อนไขเพื่อจะให้ได้สิ่งเสพหาความสุขหรือบำรุงความสุข ไม่ใช่เป็นตัวสิ่งที่เราอยากจะทำ ทีนี้ ถ้าเกิดว่าเราจะได้สิ่งบำเรอสุขนั้นโดยไม่ต้องทำงาน เราก็จะเอาทางนั้นใช่ไหม เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน

คนที่ไม่สันโดษ มุ่งความบำรุงบำเรอตนเองนี้ ใจจะไม่มุ่งไปที่ผลของงาน เขาไม่อยากทำงานเลยด้วยซ้ำ แต่ที่ทำงาน ก็เพื่อเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุขเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเขาจะได้สิ่งบำเรอสุขโดยไม่ต้องทำงานเลย เขาก็จะเอาทางนั้น เขาอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำงาน และอาจทำโดยทางลัด เพื่อให้ได้สิ่งบำรุงบำเรอหรือวัตถุนั้นมา ทำให้เกิดการทุจริตขึ้น

ในสังคมที่คนไม่สันโดษ มุ่งหาสิ่งบำเรอสุขโดยไม่ต้องเพียรทำงานแบบนี้ ก็ต้องมีการควบคุมกันอย่างแจทีเดียว จะต้องสร้างระบบควบคุมกันขึ้นมาหลายๆ ชั้น เพื่อจะให้มั่นใจว่า คนจะทำตามเงื่อนไข คือทำงานเพื่อจะให้ผลงานเกิดขึ้น ก่อนที่เขาจะได้เครื่องบำรุงบำเรอ มิฉะนั้นแล้วเขาจะหลีกเลี่ยงการทำงาน เพื่อจะได้เครื่องบำรุงบำเรอนั้นโดยทางลัด

โดยนัยนี้ สันโดษจึงต้องครบวงจร คือต้องทำให้คนเอาเวลาและแรงงาน มาอุทิศให้แก่การเพียรพยายามทำกิจหน้าที่และสิ่งที่ดีงาม ให้บรรลุผลสำเร็จโดยถูกต้อง

บางทีคนของเรานี้สันโดษจริง แต่ไม่ครบวงจร แล้วก็เกิดโทษขึ้นมา สันโดษเลยกลายเป็นตัวหนุนความเกียจคร้านไปเสีย คนที่สันโดษแบบนี้จะคิดว่า เอาละเราอยู่แค่นี้ก็มีความสุข สบายแล้ว พอแล้ว ก็เลยไม่ต้องทำอะไร เขาคิดถึงสันโดษเพียงเพื่อมีความสุข คิดเพียงเท่านี้ ไม่คิดโยงต่อไปถึงกิจหน้าที่และความดีงามที่จะต้องทำว่า เมื่อเราสบาย ว่างจากความวุ่น มีโอกาสดีอย่างนี้แล้ว ควรจะทำอะไร วัตถุประสงค์ของสันโดษก็เลยหายไป ไม่ครบวงจร ก็เลยเกียจคร้านไปเลย อยู่ไปวันๆ

แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำไมสันโดษแล้ว ชอบบริโภคด้วย ก็ขัดกัน เขาว่าคนไทยสันโดษ แต่อีกด้านหนึ่งก็ว่าคนไทยมีค่านิยมชอบบริโภค การชอบบริโภคไม่แสดงว่าสันโดษเลย มันเป็นข้อขัดแย้งในทางจริยธรรมไปแล้ว ถ้าคนไทยสันโดษ ก็ต้องไม่มีค่านิยมบริโภค ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภค ก็ต้องชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่สันโดษ จะต้องมาตรวจสอบกันใหม่ว่าคนไทยเป็นอย่างไรแน่

ตัวอย่างที่ ๓: ปลงอนิจจังได้ สบายใจ

ทีนี้ อีกตัวอย่างหนึ่ง ของจริยธรรมที่ครบวงจร คือ คนไทยนี้มีลักษณะจิตใจอย่างหนึ่งที่ดี ซึ่งชาวต่างประเทศมาแล้วจะสังเกตเห็นได้ง่าย คือ เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส วางใจปลงใจกับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย เคยมีฝรั่งเข้ามาแล้ว เขามาตั้งข้อสังเกตกับอาตมาว่า งานศพในประเทศของเขานั้นเศร้าจริงๆ ฝรั่งไปงานศพแล้วเศร้าสลดหดหู่ เครียดมาก จิตใจไม่สบายเลย แต่มาถึงเมืองไทยนี่ โอ้โฮ งานศพสนุกสนาน มีลิเก ละคร หนัง และคนที่มาในงานก็สนุก หน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องตีหน้าเศร้าอย่างฝรั่ง ฝรั่งไปงานศพแล้วเครียด ทำให้ไม่มีความสุข จะเศร้าจริงหรือเศร้าไม่จริง ก็ต้องทำเศร้าไว้ก่อน แต่คนไทยเราไม่เป็นไร ยิ้มแย้มแจ่มใสได้ เขาก็เลยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลก

ไม่เฉพาะเรื่องนี้ แม้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป คนไทยของเราก็มีลักษณะจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ยึดติดถือมั่นอะไรมากมาย มีความสุขได้ง่าย

การที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากหลักธรรมข้อหนึ่ง คือ “อนิจจัง” คนไทยนี้สอนกันให้รู้จักอนิจจัง ให้รู้เท่าทันคติธรรมดา มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งหลาย เมื่อเกิดความพินาศแตกสลาย ความพลัดพรากจากกัน เป็นต้น ก็ทำใจได้ง่าย สามารถปลงใจได้ว่านี้เป็นอนิจจัง เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย ที่มีความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป คนไทยเราพอรู้เท่าทันแล้วก็ปลงอนิจจัง เมื่อปลงอนิจจังได้ก็มีความสุขอย่างหนึ่ง จิตใจก็สบาย อย่างน้อยก็สร่างโศก คลายเศร้า หายทุกข์หรือทุกข์น้อยลง

การปลงอนิจจังได้นี้ ก็เป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดผลเสีย คือ สำหรับคนเราทั่วๆ ไป ที่เป็นมนุษย์ธรรมดานี่ การที่จะดิ้นรนขวนขวายทำอะไรต่างๆ มันมักจะต้องมาจากการที่มีอะไรบีบคั้น เช่นว่ามีทุกข์มีภัย โดยมากก็ทุกข์กับภัย เมื่อมีทุกข์หรือภัยอันตรายเกิดขึ้น ก็ต้องดิ้นรนขวนขวายพยายามต่อสู้หรือตระเตรียมการต่างๆ เพื่อจะป้องกันหรือแก้ไขตัวให้พ้นจากภัยอันตราย

บางทีภัยมาถึงตัวแล้วจึงดิ้นรนก็มี ภัยยังไม่มาก็ไม่ดิ้น เอาไว้เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นบีบคั้นแล้วจึงดิ้นรน เช่นจะไม่มีกินอยู่แล้ว จึงพยายามออกไปหากิน ที่จริงภัยก็ทุกข์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น รวมแล้วทุกข์นี่แหละเป็นตัวบีบคั้นทำให้ดิ้นรน

คนธรรมดานี้ ถ้าไม่มีจริยธรรม ก็จะต้องใช้สิ่งบีบคั้นคือภัยหรือทุกข์ มาขับดันให้ดิ้นรนขวนขวายภัยอันตรายนี้รวมไปถึงความกลัวด้วย คือ การบังคับกัน ทำให้เกิดความกลัว ความกลัวต่อเจ้านาย ความกลัวต่อการเสียยศอำนาจตำแหน่งอะไรต่างๆ เป็นตัวบีบ ทำให้คนต้องดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามทำการต่างๆ นี่เป็นวิสัยของมนุษย์ธรรมดา ต้องถูกทุกข์ภัย เช่นความเดือดร้อน ความกลัวเข้ามาบีบคั้น แล้วจึงทำการต่างๆ

แต่ทีนี้พอมีความสุขสบาย คนเราจะเป็นอย่างไร ก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะหยุดเฉยนิ่ง ไม่ต้องทำอะไร ก็สบายแล้ว จะไปทำทำไม

ทีนี้ในท่ามกลางภัยอันตรายที่ไม่รุนแรง ถ้าคนคิดปลงอนิจจังได้ว่าสิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นธรรมดา ก็ปลงใจได้ เสร็จแล้วสบายใจ ก็หยุดนิ่งเฉย ปล่อย แล้วแต่มันจะเป็นไป ไม่ทำอะไรเลย

เพราะเหตุนี้ คนไทยจึงถูกติเตียนอย่างหนึ่ง แล้วก็เลยลามปามต่อว่าพระพุทธศาสนาด้วยว่า พุทธศาสนานี่สอนเรื่องอนิจจัง เป็นต้น ทำให้คนไทยเป็นคนเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้นขวนขวาย เพราะได้แต่ปลงใจว่า สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นเช่นนี้แหละ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ปัญหาที่ควรแก้ไขก็ไม่แก้ สิ่งที่ควรเร่งรัดจัดทำก็ไม่ทำ ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไป ชีวิตของตนเองก็ปล่อย สังคมก็ปล่อย ปัญหาอะไรต่างๆ เกิดขึ้นก็ปล่อย สาเหตุก็คือการที่ปลงอนิจจังได้ ก็สบายเสียแล้ว ก็เลยพอใจในความสุขสบายนั้น เข้ากับธรรมดาของมนุษย์ที่ว่า สบายแล้ว ไม่ถูกทุกข์ภัยบีบคั้น ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ถ้าทำอย่างนี้ เรียกว่าไม่ครบวงจร

ไม่ใช่แค่ใจสบาย ต้องให้กิจสำเร็จ

การรู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นปัญญา ก็ดีในตัวอยู่แล้ว เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ทำให้จิตใจสบาย ก็ดี แต่ประการที่สามทำให้อยู่นิ่งเฉยหรือเฉื่อยชา ข้อนี้ไม่ดีแล้ว จะต้องมาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง

หลักการเปลี่ยนแปลง หรือความเป็นอนิจจังที่ไม่เที่ยง สอนว่าสิ่งทั้งหลายเกิดมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป เกิดแล้วก็ดับ มีความเสื่อมความเจริญแล้วก็แตกสลายไปตามธรรมดาของมัน

แต่ที่ว่ามันไม่เที่ยง มีความเสื่อมความเจริญ และความเกิดความสลายไป ตามธรรมดาของมันน่ะ ธรรมดาคืออะไร ธรรมดานั้นก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่า ที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ที่มันเสื่อมก็เสื่อมตามเหตุปัจจัย เพราะเหตุปัจจัยทำให้มันเสื่อม แล้วมันจะเจริญได้ ก็เพราะแก้ไขไม่ให้มีเหตุปัจจัยของความเสื่อม แต่ให้มีเหตุปัจจัยของความเจริญเข้ามาแทน

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนต่อไปว่า เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงความเสื่อม เราก็ต้องป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม ถ้าเราต้องการความเจริญ ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญขึ้นมา

โดยนัยนี้ หลักอนิจจังก็จะทำให้เราก้าวขึ้นมาสู่พัฒนาการขั้นที่สอง คือ ขั้นที่ทำการด้วยความรู้ ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ คือไม่ใช่ว่า เพราะถูกทุกข์บีบคั้นแล้วฉันจึงทำ แต่ให้เปลี่ยนเป็นว่า แม้ไม่ได้ถูกทุกข์ภัย ความกลัว หรือความเดือดร้อนบีบบังคับ ก็ทำ และเป็นการทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ คือรู้เข้าใจเหตุปัจจัย รู้ว่าเมื่อต้องการความเจริญอย่างนี้ และหลีกเลี่ยงความเสื่อมอย่างนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงละเลิกเหตุปัจจัยอย่างนั้น จะต้องเสริมสร้างเหตุปัจจัยอย่างนี้ แล้วแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม และสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องอนิจจังพร้อมไปกับความไม่ประมาท

ขอให้ดูพุทธพจน์เมื่อจะปรินิพพาน เป็นพุทธโอวาทที่เรียกว่าปัจฉิมโอวาท หรือปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนน่าจะถือเป็นสำคัญที่สุด แต่มักจะมองข้ามไป

เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนั้น ได้ตรัสปัจฉิมวาจาว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” นี่พุทธพจน์สุดท้าย พุทธศาสนิกชนควรจะถือเป็นสำคัญอย่างยิ่ง การปฏิบัติตามหลักอนิจจัง มาครบวงจรที่นี่ ตามพุทธพจน์นี้ ที่มี ๒ ตอน คือ

ตอนที่หนึ่งว่า “วยธมฺมา สงฺขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา นี้คือหลักอนิจจังสอนว่า สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ถ้าจับเอาแค่นี้ก็อาจจะสบายปลงได้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาอย่างนั้น ก็มีความสุข

แต่พระพุทธเจ้ายังตรัสตอนที่ ๒ ต่อไปอีกว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า (เพราะฉะนั้น) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หมายความว่าจงรีบเว้นการที่ควรเว้น และเร่งทำการที่ควรทำ ตามเหตุปัจจัย หรือท่านแปลแบบขยายความว่า จงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

เมื่อสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าเราประมาท เหตุปัจจัยของความเสื่อมหรือสิ่งที่เป็นโทษก็จะเข้ามาหรือได้โอกาส แล้วเราก็จะเสื่อมหรือประสบโทษ เพราะฉะนั้น เราจะต้องระมัดระวังไม่ให้เหตุปัจจัยของความเสื่อมเข้ามา

พร้อมกันนั้น เมื่อเราต้องการประโยชน์หรือความเจริญ เราก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญหรือประโยชน์โดยไม่ประมาท จะปล่อยปละละเลยเพิกเฉยอยู่ไม่ได้ อยู่นิ่งไม่ได้

ความไม่ประมาท คือ ความไม่อยู่นิ่งเฉย แต่กระตือรือร้นเร่งรัดทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อม เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ

พร้อมกันกับหลักนี้ ความรู้เท่าทันและปลงใจได้ที่พูดแล้วข้างต้น ก็เข้ามาประสาน ทำให้เรากำจัดแก้ไขป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยจิตใจที่มีความสุข อย่างพร้อมกันไป นี้คือการปฏิบัติที่ครบวงจร

เมื่อมองตามหลักนี้ จะเห็นการดำเนินชีวิตของคนในโลกนี้เป็น ๓ พวก คือ

- พวกหนึ่งปลงใจได้ ก็สบาย เสื่อมก็ช่างมัน ปล่อยตามเรื่อง ก็มีความสุข แต่เสื่อม

- อีกพวกหนึ่ง ถูกภัยอันตราย ถูกความกลัวบีบคั้นจึงทำ พวกนี้ก็ทำด้วยความทุกข์ หรือเจริญแต่ทุกข์

- แต่ทางพุทธศาสนานั้น ให้ทำไปด้วย และมีความสุขด้วย เป็นพวกที่สาม ซึ่งมีการปฏิบัติที่ครบวงจร เพราะรู้อนิจจัง และปฏิบัติต่ออนิจจังในทางที่ถูกต้อง คือรู้อนิจจังตามธรรมดาสังขารแล้ว มีความไม่ประมาท

เมื่อทำให้ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติจริยธรรมในเรื่องอนิจจัง ก็ครบวงจร ถ้าจะแยกเป็นส่วนๆ ตอนๆ ก็คือ

ประการที่หนึ่ง รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง (ปัญญา)

ประการที่สอง ปลงใจได้ จิตไม่หวั่นไหว มีความสุข (จิตใจเป็นอิสระ หรือวิมุตติ)

ประการที่สาม รู้ว่าความไม่เที่ยงแล้วเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงศึกษาสืบสาวเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ (โยนิโสมนสิการ) แล้วเร่งขวนขวาย ทำการต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยงละกำจัดเหตุปัจจัยของความเสื่อม และสร้างเสริมทำเหตุปัจจัยของความเจริญ (ไม่ประมาท = อัปปมาท) แก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ให้สำเร็จ

นี่เป็นตัวอย่าง การปฏิบัติจริยธรรมต้องครบวงจร ต้องรู้ความสัมพันธ์ระหว่างข้อธรรมว่า ข้อธรรมทั้งหลายรับช่วงส่งต่อกัน ให้ข้อไหนสืบทอดไปข้อไหนๆ และนำไปสู่ผลอย่างไร เป้าหมายเป็นอย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีปัญหา

แก้ไของค์ประกอบทุกด้านให้ครบ

ทีนี้ อีกหัวข้อหนึ่งที่ยังคงค้างอยู่ก็คือ การฝึกฝนในทางจริยธรรมนี้ ต้องทำที่องค์ประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วนด้วย คราวนี้ เราจึงต้องมาพูดถึงเรื่ององค์ประกอบต่างๆ ในการฝึกฝนหรือปฏิบัติการในทางจริยธรรมว่า องค์ประกอบเหล่านี้มีอะไรบ้าง

ที่จริง องค์ประกอบในการฝึกฝนทางจริยธรรม ก็คือองค์ประกอบในการศึกษานั่นเอง เพราะว่า จริยธรรมนั้น ว่าที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด หรือแทรกอยู่ในทุกส่วนของการศึกษา แทบจะเป็นตัวการศึกษาเลยทีเดียว

จริยะในทางพุทธศาสนานั้น แปลว่าการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั้นคือ จริยธรรม ทีนี้ เราจะฝึกฝนคนอย่างไรให้รู้จักการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง นี้ก็เป็นจริยศึกษา องค์ประกอบต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในจริยศึกษานี้ ขอแบ่งออกเป็นสองด้าน คือ องค์ประกอบภายนอก กับองค์ประกอบภายใน

องค์ประกอบภายนอก ก็คือสิ่งที่แวดล้อมตัวบุคคลนั้นอยู่ หรือ องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งมีทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ทางฝ่ายรูปธรรมนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้ว ปัญหาทั่วๆ ไป สถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สภาพเศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น ที่เป็นอยู่นี้ ล้วนมีอิทธิพลต่อจริยธรรมของบุคคลทั้งสิ้น

องค์ประกอบภายนอก ที่เป็นสภาพแวดล้อม เช่น สื่อมวลชนเป็นต้นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่า ตัวบุคคลนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นไปตามองค์ประกอบภายนอกที่มาหล่อหลอม พูดอีกนัยหนึ่งว่า สภาพแวดล้อมนั้นมาหล่อหลอมคน สังคมมีอิทธิพลในการหล่อหลอมคนได้มาก อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้ว

ฉะนั้น ในการแก้ปัญหาทางจริยธรรมด้านหนึ่ง ต้องแก้ที่องค์ประกอบภายนอกด้วย จะละทิ้งไม่ได้ หมายความว่า องค์ประกอบที่อยู่ภายนอกนั้น เราก็ต้องแก้ปัญหา หรือเกี่ยวข้องจัดการด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไของค์ประกอบบางอย่าง ก็อาจจะเกินวิสัยของเรา จึงต้องหาทางเชื่อมโยงร่วมมือประสานกัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาทางจริยธรรม จึงต้องมีการร่วมมือกันของบุคคลในสถาบันต่างๆ หรือทั้งระบบ

ที่ว่านี้รวมไปถึงบุคคลที่เป็นตัวอย่างด้วย เช่น ถ้าผู้ใหญ่ประพฤติไม่ดี ก็เป็นธรรมดาที่ว่า จะมีแนวโน้มให้เด็กประพฤติในทางที่ไม่ดีด้วย แต่ถ้าเรามีตัวอย่างในทางสังคมที่ดี ผู้ใหญ่ประพฤติดีงาม ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอิทธิพลต่อเด็ก ในการที่จะประพฤติดีงามด้วย

เดี๋ยวนี้องค์ประกอบบางอย่าง เราแก้ไขได้ง่ายกว่า ก็ต้องรีบแก้ไข หรือบางอย่างต้องเน้น เราก็ต้องเน้นกัน เช่นสื่อมวลชนนี้ เป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลมากในฝ่ายภายนอก เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เราจะต้องพยายามแก้ไข และส่งเสริมให้ถูกต้อง

พร้อมกันนั้น องค์ประกอบทางด้านสภาพแวดล้อมหรือองค์ประกอบภายนอก ทางฝ่ายรูปธรรมนี้ ก็โยงไปถึงฝ่ายนามธรรมด้วย สภาพแวดล้อมในฝ่ายนามธรรมนี้ ก็เช่นค่านิยม

ค่านิยมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมชอบบริโภค ค่านิยมชอบโก้ หรือชอบอะไรก็ออกมาจากคน เมื่อแต่ละคนเป็นอย่างใด ก็ออกมาทางสังคมเป็นอย่างนั้น และกลายเป็นค่านิยมทางสังคม แล้วก็กลับไปมีอิทธิพลต่อคน ทำให้คนซึ่งอยากได้รับเกียรติ ได้รับความยกย่องในทางสังคม ได้รับการยอมรับจากสังคม พากันประพฤติให้สอดคล้องกับแนวลักษณะค่านิยมของสังคมนั้น

ถ้าสังคมมีค่านิยมผิดพลาด การปฏิบัติที่เป็นจริยธรรมก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่กลับจะเกิดปัญหาทางจริยธรรมขึ้น

เป็นอันว่า องค์ประกอบภายนอก มีทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเราจะต้องแก้ไขส่งเสริม ทั้งด้านสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และโยงมาอีกด้านหนึ่งถึงค่านิยม ซึ่งเป็นนามธรรมอย่างที่กล่าวแล้ว จะขอพูดเพียงว่าให้เราคำนึงใส่ใจ แต่จะคำนึงกันอย่างไรนั้นก็เป็นส่วนรายละเอียด จะขอข้ามไปก่อน

การศึกษาที่ถูกต้อง มองให้ตลอดสาย
พัฒนาไปให้จบกระบวน

ต่อไปก็องค์ประกอบด้านที่สอง คือ องค์ประกอบภายใน หรือ ปัจจัยภายในของตัวบุคคล องค์ประกอบภายในตัวบุคคล หรือ ปัจจัยภายใน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาและเป็นพื้นฐานของตัวจริยธรรมนี่ จะต้องจับให้ได้ และจะต้องสร้างให้มีขึ้นในคน มิฉะนั้นแล้ว การฝึกฝนทางจริยธรรมจะสำเร็จได้ยาก ตัวปัจจัยภายในที่เป็นหลักอยู่นี่ ในที่นี้มีสามอย่าง

ประการที่หนึ่ง จิตสำนึกในการศึกษา เราให้การศึกษา แต่คนมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือไม่ ถ้าคนไม่มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว ยากที่การศึกษาจะสำเร็จผล หรือการศึกษาที่ไม่สร้างจิตสำนึกในการศึกษาก็ยากที่จะสำเร็จผลได้

จิตสำนึกในการศึกษาคืออะไร การศึกษา คืออะไรล่ะ ถ้ารู้ความหมายและเห็นคุณค่าของการศึกษาแล้วจิตสำนึกในการศึกษาก็จะตามมา

การศึกษาคืออะไร การศึกษานี้พูดกันง่ายๆ หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาคน เราอาจจะบอกว่าพัฒนาด้านกาย พัฒนาด้านอารมณ์ พัฒนาด้านสังคม พัฒนาด้านปัญญา รวมเป็นสี่ด้าน ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเราก็มีศัพท์เรียกว่า กายภาวนา ฝึกอบรมด้านกาย ศีลภาวนา ฝึกอบรมด้านศีล (ทางสังคม ในการเป็นอยู่ร่วมกัน) จิตภาวนา ฝึกอบรมด้านอารมณ์ก็คือด้านจิต แล้วก็ปัญญาภาวนา ฝึกอบรมด้านปัญญา

การศึกษานั้น หมายถึง การฝึกฝนพัฒนาคน เพื่อให้มีความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ แต่คนเรานี้มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตนไหม จิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตัวเองจะต้องมีขึ้น เรียกว่าเป็นจิตสำนึกในการศึกษา คือต้องมีความใฝ่ที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไป ใฝ่ที่จะพัฒนา คือต้องการให้ตนเอง มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น มีชีวิตจิตใจที่เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

การใฝ่ศึกษาคือการใฝ่ฝึกฝนตนเอง ความสำนึกที่จะทำตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าเขามีจิตสำนึกอันนี้ รักที่จะฝึกฝนตัวเอง ทำตัวให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะมีความรักดี ใฝ่ดีเกิดขึ้น แล้วก็เกิดความพร้อมที่จะรับและพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักจริยธรรม แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการศึกษานี้เป็นตัวนำ ไม่ต้องการที่จะพัฒนาตัวเองแล้ว เขาจะไปพัฒนาตัวทำไม จะไปรับปฏิบัติข้อปฏิบัติต่างๆ ทำไม

จิตสำนึกในการศึกษา ที่ว่าเป็นความใฝ่ที่จะฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ทำชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นนี้ โยงไปถึงการใฝ่รู้หรือความต้องการที่จะเรียนรู้ เพราะฉะนั้น คนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา ต้องการฝึกฝนพัฒนาตน ก็จะใฝ่เรียนรู้ และมีจิตใจที่มองอะไรด้วยความรู้สึกที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ

แต่ปัญหามีว่า คนของเรานี้มีการมองโลกด้วยความรู้สึกที่จะเรียนรู้หรือไม่ มีเจตคติหรืออะไรทำนองนี้ในทางที่จะเรียนรู้ไหม ถ้าเป็นคนที่มีจิตสำนึกในทางการศึกษา ก็จะมีลักษณะจิตใจที่มองอะไรๆ ในลักษณะของการเรียนรู้

เป็นธรรมดาว่า คนทุกคนย่อมจะมีทัศนคติ หรือท่าทีต่อสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นคนที่ไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการศึกษา ก็จะมีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ในลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ ตามปกติจิตของคนทั่วไปที่ไม่มีการศึกษา เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ (ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอารมณ์ ปัจจุบันเรียกว่าประสบการณ์) คือ มีประสบการณ์ที่เราต้องเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามากระทบ ก็จะมีปฏิกิริยา คือ ชอบหรือชัง ภาษาพระเรียกว่า ยินดียินร้าย พออารมณ์เข้ามา ถ้าถูกใจก็ชอบทันที ถ้าไม่ถูกใจ ก็ชัง ไม่ชอบ หรือยินร้าย สภาพจิตของคนทั่วไป จะเป็นอย่างนี้เสมอ เพราะฉะนั้น คนทั่วไปจึงรับรู้ต่ออารมณ์ หรือประสบการณ์ในลักษณะของการที่ชอบหรือไม่ชอบ ยินดีหรือยินร้าย

ในการรับรู้แบบนี้ จะไม่มีการพัฒนาตัวเองเกิดขึ้น จะมีแต่ปัญหา คือถ้าเป็นเรื่องชังหรือยินร้ายก็จะโกรธ เกลียด ขัดแย้งกัน ถ้าชอบก็ไปสนับสนุนความเห็นแก่ตัว ทำให้มองแต่ในแง่ที่จะเอามาให้แก่ตัว มุ่งที่จะเอาผลประโยชน์ ทั้งยินดีและยินร้ายนี้ไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง

แต่พอเปลี่ยนมา เป็นคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา การรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ หรือท่าทีในการเกี่ยวข้องกับประสบการณ์จะเปลี่ยนไป คือจะมีลักษณะที่มองในแง่ของการเรียนรู้ว่า ได้อะไรเพื่อมาฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนให้ดีขึ้นบ้าง

โดยนัยนี้ การที่จะฝึกฝนพัฒนาตนจึงคลุมไปในตัวเองถึงการที่จะต้องเรียนรู้ เราจะเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมจากสิ่งที่เข้ามา ซึ่งเราได้ประสบทุกอย่าง เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง พบเห็นสถานการณ์อันใดก็ตามคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษาจะได้เรียนรู้ว่า อันนี้มีอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนบ้าง แล้วนำมาฝึกฝนพัฒนาตนเอง ปรับปรุงชีวิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

จิตสำนึกในการศึกษา จะเปลี่ยนแปลงลักษณะจิตใจ และท่าทีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จากลักษณะท่าทีสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือประสบการณ์ในแบบชอบชัง มาสู่การเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็คือ แก่นของการศึกษา ซึ่งสร้างขึ้นด้วยจิตสำนึกในการศึกษานี้ ซึ่งทำให้มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้

ถ้าคนเรามองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ ไม่ว่าประสบการณ์นั้น ตามปกติจะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดีก็ตาม ก็จะไม่เกิดปฏิกิริยาที่กระทบต่อตนเองในทางที่เป็นปัญหา คนพวกนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะได้เรียนรู้เสมอ สิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็ได้เรียนรู้ในแง่ดีมีประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษไม่ดี ก็ได้เรียนรู้ในแง่ที่ว่า อันนี้เป็นโทษอย่างไร เกิดความรู้ความเข้าใจ แทนที่จะเกิดปัญหา ก็จะเกิดปัญญา ไม่ว่าในแง่ลบที่ว่าจะไม่ทำตามอย่างนี้ หรือในแง่บวกที่จะเอามาใช้ประยุกต์ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาจะได้ประโยชน์ทั้งนั้น

การมองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ นี่คือลักษณะจิตใจที่ใฝ่รู้หรือมีการศึกษา นี่เป็นการพูดอย่างสั้นๆ เราจะต้องสร้างองค์อันนี้ขึ้นมา พอสร้างอันนี้ได้ คนก็พร้อมที่จะฝึกฝนปฏิบัติในเรื่องจริยธรรมทุกอย่าง

ประการที่สอง ก็โยงมาถึงแรงจูงใจ จิตสำนึกในทางการศึกษาหรือการใฝ่เรียนรู้นี้โยงมาถึงแรงจูงใจในทางจริยธรรมด้วย แรงจูงใจทางจริยธรรมนี้ เป็นตัวส่งเสริมการพัฒนา เพราะว่า พอใฝ่เรียนรู้ ก็ต้องการเอามาฝึกฝนพัฒนาตัวเอง การที่จะพัฒนาตัวเองให้เกิดความดีงามขึ้นก็ต้องการปัญญาหรือความรู้ ตัวแรงจูงใจนี้ก็คือใฝ่ดีและใฝ่รู้ หรือใฝ่ความดีงามและใฝ่ความรู้

ความใฝ่รู้และใฝ่ดีนี้ ทางพระเรียกอย่างเดียวว่าใฝ่ธรรม แต่เดี๋ยวนี้คำว่าใฝ่ธรรมอาจจะมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ ใฝ่ธรรมนี้เรียกว่า ฉันทะ คือตัวแรงจูงใจนี้เรียกว่า ฉันทะ เป็นคู่ตรงข้าม หรือเป็นปฏิปักษ์กับตัณหา คือ ถ้าเป็นคนมีลักษณะจิตใจ ที่สนองตอบต่อประสบการณ์แบบชอบชัง ก็จะมีแรงจูงใจแบบตัณหา คือแสวงหาสิ่งที่บำเรอความสุขส่วนตัว(ชอบ) พร้อมกันนั้นก็เกิดความขัดใจต่อสิ่งที่ไม่ชอบ และดิ้นรนเพื่อจะออกไปจากสิ่งที่ขัดใจ(ชัง) ปฏิกิริยาแบบนี้เรียกว่าแรงจูงใจแบบตัณหา

ทีนี้ พอมีการศึกษาขึ้นมา ท่าทีของจิตใจก็เปลี่ยนไป เลิกสนองตอบต่อประสบการณ์แบบชอบชัง เมื่อท่าทีแบบชอบชังหายไป ก็เปิดโอกาสให้การสนองตอบต่อประสบการณ์แบบการเรียนรู้เกิดขึ้น คือ เปลี่ยนมาเป็นการรับรู้ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ซึ่งก็จะมาด้วยกันกับแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่แสวงความรู้ ซึ่งต้องการทำชีวิตของตนให้ดีงามขึ้น เมื่อใฝ่ความดีงามและใฝ่แสวงความรู้จริง หรือใฝ่ปัญญา ก็กลายมาเป็นฉันทะ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงข้ามกับตัณหา

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านต้องการให้สร้างแรงจูงใจที่เรียกว่า ฉันทะ นี้ขึ้นมา ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่อง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่ว่ามาแล้วได้ ไม่ต้องใช้กิเลสเหล่านั้นเป็นแรงจูงใจอีกต่อไป

ถ้าคนมีฉันทะ มีความใฝ่ดี ใฝ่ต้องการให้ชีวิตพัฒนา ตลอดจนใฝ่ดีต่อสังคม ต้องการให้สังคมดีงาม ให้คนในสังคมมีความสุข อยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อย มีความสงบ ต้องการให้สังคมนี้มีความสะอาด มีระเบียบวินัย ต้องการเสริมสร้างความดีงามต่างๆ ให้เกิดขึ้น ก็จะทำให้คนศึกษาเล่าเรียน และทำอาชีพการงานด้วยแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่ผลที่ดีงาม

แต่ถ้าไม่มีฉันทะ เราก็ต้องไปกระตุ้นที่กิเลส เช่นกระตุ้นมานะว่า เธอจงตั้งใจเรียนไปนะ ศึกษาต่อไปนะ จะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน หรือกระตุ้นตัณหาว่า เธอตั้งใจเรียนเพียรศึกษาเข้านะ ต่อไปจะได้มีเงินทองมากร่ำรวยเป็นเศรษฐี แรงจูงใจนั้นก็ทำให้เพียรพยายามเรียนได้เหมือนกัน

ลักษณะอาการที่ปรากฏออกมา ก็เป็นความเพียรพยามเหมือนกัน แต่คนหนึ่งเพียรพยายามด้วยตัณหามานะ ต้องการที่จะไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว ที่จะไปเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ส่วนอีกคนหนึ่งเรียนด้วยแรงจูงใจคือฉันทะ เพื่อจะพัฒนาชีวิตของตนเองให้เป็นชีวิตที่ดีงาม เพื่อจะพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ดีงามมีความสงบสุข ให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสะอาด มีความเรียบร้อยอะไรต่างๆ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้แรงจูงใจอย่างไหน

ถ้าจะให้เป็นแรงจูงใจในการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งถูกต้องตามจริยธรรม ก็ต้องเปลี่ยนจากการใช้ตัณหา มานะ มาเป็นฉันทะ

ถ้าเราจับหลักนี้ไม่ถูก ไปเข้าใจเป็นว่า คนจะพัฒนาประเทศได้ต้องมีความอยากได้สิ่งบริโภคมากๆ ก็จะไปกระตุ้นตัณหาขึ้นมา แล้วก็ได้ผลคือคนจำใจทำงานเพราะเป็นเงื่อนไข เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมาหาซื้อสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวเอง ผลที่สุดเป็นอย่างไร ก็เกิดการหลีกเลี่ยงงาน และหาผลประโยชน์ทางลัดขึ้นมา เช่นด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ชาวบ้านมีสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทันสมัย บริโภคฟุ่มเฟือย แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น กลับเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ประเทศชาติมีปัญหารุงรัง สังคมเสื่อมโทรมลง ความยากจนมากยิ่งขึ้น

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ถ้าสำรวจตัวเองด้วยใจเป็นกลาง เราอาจจะพบว่า สังคมไทยของเรานี้ สมัยก่อนชอบใช้แรงจูงใจแบบมานะ เป็นตัวกระตุ้นผลักดันคนให้เพียรพยายามสร้างสรรค์ ครั้นมาถึงปัจจุบันแทนที่จะเปลี่ยนจากมานะ หันไปใช้ฉันทะ ก็กลับไปใช้แรงจูงใจแบบตัณหา เป็นตัวผลักดันจะให้คนทำการพัฒนา เลยวนอยู่ในวงจรของอวิชชานั่นเอง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา แสดงถึงการแก้ปัญหาผิดและพัฒนาพลาด เพราะไปใช้แรงจูงใจแบบตัณหาและมานะ แทนที่จะกระตุ้นฉันทะนี้ขึ้น เป็นอันว่า จะต้องเปลี่ยนจากแรงจูงใจแบบตัณหามานะ ให้มาเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่ดีที่เรียกว่าฉันทะ

การศึกษาต้องตลอดสาย จึงจะพาคนให้พึ่งตนเองได้

ประการที่สามก็คือ ตัวที่เรียกว่าความรู้จักคิด คิดเป็น คิดแยบคาย หรือโยนิโสมนสิการ อันนี้ก็เป็นหลักสำคัญ ความรู้จักคิด หรือคิดเป็นนี่ เป็นตัวที่ช่วยคนในทุกกรณี คนที่จะพึ่งตัวเองได้ในการศึกษาที่แท้จริง จะต้องมีความรู้จักคิด หรือคิดเป็น มิฉะนั้นก็จะต้องอาศัยคนอื่นเรื่อยไป เพราะคนที่ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่รู้จักคิดเอง ก็ต้องอาศัยศรัทธา ซึ่งจะต้องให้คนอื่นคอยบอกว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร ทีนี้ถ้าขาดศรัทธาปุ๊บ ก็กลายเป็นคนเลื่อนลอยไปเลย

ตามหลักพุทธศาสนานั้น ท่านให้มีศรัทธาต่อสิ่งที่ดี เพื่อชักนำให้คิดถูกต้อง รู้จักคิด และเพื่อเชื่อมโยงให้ได้ความรู้คือปัญญา ในการที่จะได้ปัญญานั้น ตนเองต้องรู้จักคิด หรือคิดเองเป็นด้วย

การที่คิดเป็นนั้น ก็กลับไปเชื่อมโยงกับจิตสำนึกในการศึกษาและความใฝ่รู้อีก เพราะการที่จะมองสิ่งต่างๆ เป็นการเรียนรู้นั้น ก็ต้องมีความรู้จักคิด หรือคิดเป็น จะมองอะไร ก็ต้องมองเป็น คนเราจะเรียนรู้อะไรได้ก็ต้องมองเป็นคิดเป็น

คนสองคนมองเห็นประสบการณ์อันหนึ่ง หรือประสบสถานการณ์อันเดียวกัน คนหนึ่งมองไปแล้วคิดไปอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งมองแล้วคิดไปอีกอย่างหนึ่ง คนหนึ่งมองแล้วคิดไปเกิดปัญหา ก่อความยุ่งยากเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่น อีกคนหนึ่งมองไปแล้วได้ปัญญา เอามาใช้สร้างสรรค์ชีวิตและพัฒนาสังคมได้

เหมือนอย่างนิทานในธรรมบทที่ว่า คนใช้ของเศรษฐีไปเจอหนูตายตัวหนึ่ง เจ้าคนรับใช้คนนี้มีโยนิโสมนสิการ คิดได้ว่า หนูตัวนี้ ถ้าเอาไปทำอย่างนั้นๆ แล้วก็คงจะได้เงินขึ้นมา ปรากฏว่า คนรับใช้เศรษฐีคนนี้ แกเอาหนูตายตัวนั้นไปทำตามวิธีการที่คิดไว้ จนกระทั่งตนเองกลายเป็นเศรษฐีในที่สุด แต่อีกคนหนึ่งมามองเห็นหนูตายนี้ เป็นเพียงสิ่งที่จะเน่าเหม็น น่าเกลียด ชิงชัง มีจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองในตอนนั้น แล้วก็จบกัน ไม่มีโยนิโสมนสิการ มีแต่ความขุ่นเคืองขัดใจไม่สบาย

การศึกษาสอนคนให้รู้จักคิด ให้คิดเป็นในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้คิดได้มองเห็นความหมายกว้างขวาง คิดเรื่องเดียวกันแต่ได้หลายแง่หลายมุม คิดในทางที่ให้เกิดประโยชน์ขึ้น รู้จักคิดศึกษาหาเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากภาพที่มองเห็น แยกแยะออกไป สืบสาวหาเหตุปัจจัยได้ รู้ว่าความเสื่อมความเจริญที่เกิดขึ้น จนกระทั่งปรากฏผลอย่างนี้ มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร แล้วเอาเหตุปัจจัยที่รู้นั้นไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาได้ ทำการสร้างสรรค์ และจัดสรรสิ่งทั้งหลายหรือกิจการต่างๆ ได้ ความคิดอย่างนี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง เป็นสิ่งซึ่งจะต้องฝึกฝนสร้างขึ้นในคน

โยนิโสมนสิการนี้ เมื่อใช้ในทางจริยธรรม ก็มีประโยชน์มากมาย อย่างที่ว่าไปเห็นสิ่งของอย่างเดียวกัน คนหนึ่งโกรธ คนหนึ่งสงสาร ไปเห็นคนคนหนึ่งหน้าบึ้งมา คนที่ไม่มีโยนิโสมนสิการก็คิดปรุงแต่งเอาว่า ไอ้นี่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อเราแล้ว ก็โกรธทันที แกบึ้งได้ฉันก็บึ้งได้ โมโหกลับไปก็จบ หรือไม่ก็เกิดการขัดแย้งอาจจะเกิดปัญหารุนแรงยิ่งกว่านั้น

แต่อีกคนหนึ่งมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาได้หลายแง่หลายมุม แง่หนึ่งก็คือ พิจารณาว่าตาคนนี้คงมีปัญหา มีอารมณ์ค้างจากบ้าน มีปัญหาครอบครัว หรือถูกพ่อแม่ดุมา เอ ไม่ได้แล้ว เราจะต้องช่วย เกิดความกรุณา เห็นคนหน้าบึ้งแล้วสงสาร จิตใจตัวเองก็ดี สบาย แจ่มใส แล้วก็แก้ปัญหาสังคมได้ด้วย นี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ

สามอย่างนี้ เป็นตัวแกนองค์ประกอบภายในของการศึกษาที่สำคัญ การศึกษา การปลูกฝังจริยธรรม จะต้องจับตัวแกน หรือตัวหลักเหล่านี้ให้ได้ ถ้าจับไม่ได้ การปลูกฝังจริยธรรมทำไม่ถูกเรื่อง ก็ยากที่จะสำเร็จผล

ประโยชน์ของรายการหัวข้อจริยธรรม

มาสู่ข้อสุดท้าย คือว่า เรามีจริยธรรมเป็นข้อย่อยๆ มากมาย พระพุทธเจ้าสอนไว้หลากหลาย เดี๋ยวก็บอกว่า ธรรมมีอุปการะมากสอง คือ สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เดี๋ยวก็บอกว่า ธรรมเป็นโลกบาล ธรรมคุ้มครองโลกสองอย่าง คือ หิริ ความละอายแก่ใจ ละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว ฯลฯ ธรรมหมวดสาม หมวดสี่ ฯลฯ เยอะแยะมากมาย เรียนกันเป็นรายการสินค้าเลย

จริยธรรมแบบนี้ มีประโยชน์อย่างไร? มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ใฝ่จริยธรรมอยู่แล้ว เขาต้องการรู้ทิศทาง รู้รายละเอียดของการปฏิบัติ แล้วจะได้มีเครื่องช่วย มีอุปกรณ์ มีเสบียงเตรียมไว้พร้อม เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เหมือนกับคนที่จะเข้าไปซื้อสินค้า ตอนต้นต้องมีแรงจูงใจ หรือใฝ่ซื้อสินค้าอยู่แล้ว เมื่อได้รายการสินค้ามา เขาก็เลือกที่จะใช้ เลือกที่จะซื้อ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเขา หรือสนองประโยชน์ของเขาได้

จริยธรรมที่เป็นข้อๆ เป็นองค์ประกอบต่างๆ ก็คล้ายๆ กันนี้แหละ เป็นของสำหรับคนที่มีความใฝ่ศึกษา มีความพร้อมทางจริยธรรมอยู่แล้ว ที่จะได้เลือกเอารายการจริยธรรมเหล่านี้ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

นอกจากนั้น เราจะต้องรู้ว่า รายการจริยธรรมต่างๆ ซึ่งนำมาเสนอตามที่สั่งสอนนั้น จะมีคุณค่าอย่างที่กล่าวไว้ ก็ต้องทำให้คนมีพื้นฐาน พร้อมที่จะปฏิบัติจริยธรรมเหล่านั้นก่อน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะมองจริยธรรมได้ในทางที่ถูกต้อง จริยศึกษาก็จะพาการศึกษาให้ดำเนินไปสู่จุดหมายได้

วันนี้ อาตมภาพก็ได้พูดมาเป็นเวลาเกินสมควรแล้ว ไม่ใช่แค่สมควร ก็ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้มีความอดทนรับฟังกันตลอดมา และขอตั้งใจอำนวยพร ขอให้ทุกท่านจงได้ประสบความสำเร็จในการที่จะช่วยกันสร้างสรรค์หลักสูตรคุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมประเทศชาติสืบไป และเพื่อการนี้ ก็ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพ พลานามัยที่สุขสมบูรณ์ มีชีวิตส่วนตนที่ร่มเย็นเป็นสุข และบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้สังคมของเรา ให้ประเทศชาติของเรานี้ บรรลุถึงความสมบูรณ์พูนสุขในทางที่ดีงามสืบต่อไป

1คำบรรยาย ในการสัมมนาทางวิชาการ จัดโดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน ที่จังหวัดนครปฐม ๒๑ กันยายน ๒๕๓๐
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง