ระยะนี้ ได้มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรประถมและมัธยมศึกษาว่าควรจะจัดอย่างไรและมากน้อยเพียงไร
ข้อปรารภ คือ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรชั้นประถมและมัธยมศึกษา และในการปรับปรุงนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาด้วย
มีผู้สังเกตเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางลบ คือมองเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรดังกล่าวให้ลดน้อยลง ทั้งในด้านเนื้อหาและเวลาเรียน
ยิ่งกว่านั้น เมื่อตรวจดูใกล้ชิดเข้ามาอีก โดยมองย้อนหลังต่อไป ก็พบว่าการตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาจากหลักสูตรการศึกษาของชาตินี้ ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ โดยที่ในการปรับปรุงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแต่ละครั้ง วิชาพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะลดน้อยลงไปทุกที เมื่อเทียบหลักสูตรที่ปรับปรุงห่างครั้งกัน จะยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน จนทำให้รู้สึกว่าในหลักสูตรฉบับปัจจุบันนี้ วิชาพระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพที่ใกล้จะหมดสิ้นไป
เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็ได้มีการชักนำและเชิญชวนประชาชนเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ และให้ส่งเสริมการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ให้มีการเรียนการสอนมากขึ้นอย่างเหมาะสมกับที่ควรจะเป็น
ได้มีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงขั้นที่จัดเป็นข่าวใหญ่ได้ข่าวหนึ่ง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความตื่นเต้นของคนทั่วไปต่อข่าวครึกโครมทางศาสนา ที่เกิดขึ้นในระยะใกล้กันนี้แล้ว ก็นับว่าประชาชนได้ให้ความสนใจใส่ใจต่อเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนานี้น้อยเกินไป
เหตุการณ์ร้ายๆ อย่างเรื่องนิกร-อรปวีณา ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะ เป็นเรื่องทางลบ และเป็นเรื่องของผลเบื้องปลาย แต่ปรากฏว่าคนสนใจกันมาก และสนใจแต่เพียงในแง่ที่จะตื่นเต้นและติเตียนกัน มากกว่าจะสนใจในแง่ที่เป็นปัญหาของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันรับผิดชอบ และหาทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องร้ายอย่างนั้นเกิดขึ้นอีก
ส่วนปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตร วิชาพระพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหลักในทางสร้างสรรค์ของสังคม ที่มีผลลึกซึ้งและยาวไกล พร้อมกันนั้นก็เป็นเรื่องของการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานและเป็นรากเหง้าที่ยึดเหนี่ยวสังคมไว้ และทำให้สังคมไทยมีลักษณะที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง แต่คนกลับเอาใจใส่น้อย ไม่มีจิตสำนึกที่จะเห็นความสำคัญ
สำหรับเรื่องสำคัญระดับพื้นฐาน ที่มีส่วนกำหนดอนาคตของชาติ และตัดสินโชคชะตาของสังคมอย่างนี้ ทั้งประชาชนและรัฐบาลควรจะเอาใจใส่ และตั้งใจคิดพิจารณาอย่างจริงจัง
ในที่นี้ จะไม่พูดถึงการกระทำของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ว่าได้ทำอะไรอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จะเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้พูดได้ว่าคนไทยควรเรียนรู้พระพุทธศาสนาให้เพียงพอ
ในทางการศึกษานั้น เมื่อมองโดยภาพรวม พระพุทธศาสนาถูกจัดเป็นวิชาสำหรับเรียนรู้ โดยสถานะหลัก ๒ อย่างคือ ในฐานะที่เป็นระบบจริยธรรมสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ หรือเป็นแหล่งคำสอนจริยธรรมของประชากรแทบทั้งหมดของประเทศ และในฐานะที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมไทย ทั้งในด้านวัตถุธรรมและในด้านนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมมากที่สุดอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของสังคม เป็นมาตรฐานการดำเนินชีวิตสำหรับผู้นับถือ และเป็นสภาพแวดล้อมอันกว้างใหญ่ทางสังคม สำหรับผู้มิได้นับถือ
เหตุผลที่คนไทยเรียนรู้พระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยย่อ ขอตั้งเป็นหัวข้อสำหรับจะได้พิจารณาถกเถียงหรือขยายความกันต่อไป ดังนี้
๑. จริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมที่จะดำรงอยู่อย่างมีสันติสุข และจริยศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมที่จะดำรงอยู่อย่างมีจริยธรรม ข้อนี้เป็นหลักความจริงที่รู้กันอยู่เป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว
โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ได้มีเสียงร่ำร้องแสดงความห่วงกังวลกันมากว่า สังคมมีสภาพเสื่อมโทรมทางจิตใจ ผู้คนห่างเหินจากศีลธรรม จำเป็นจะต้องเร่งรัดการสร้างเสริมจริยธรรมและการพัฒนาทางด้านจิตใจ จริยศึกษาควรจะได้รับการเน้นหนักเป็นพิเศษ
ยิ่งกว่านั้น สภาพความเจริญที่รออยู่ข้างหน้า ในวิถีทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการจริยธรรม และต้องเร่งรัดจริยศึกษาชนิดที่เตรียมรับมือไว้ให้พร้อมมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากสัญญาณภัยในสังคมไทยของเราเอง ที่ปรากฏชัดอยู่แล้ว สภาพความเจริญแบบรุงรังด้วยปัญหา ในประเทศที่นำหน้าซึ่งเรียกกันว่ามีการพัฒนาแล้วในระดับสูงสุด ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน ดังเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาเวลานี้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และขาดแคลนศีลธรรมอย่างหนักหน่วง จนมีเสียงร่ำร้องกันทั่วไปในสังคมอเมริกัน เมื่อพูดถึง สภาพสังคมและการศึกษาในประเทศของตนว่า . . . จริยธรรมในอเมริกาดูเหมือนว่าจะเสื่อมถอยลงถึงจุดตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์1 ในปัจจุบันสังคม (อเมริกัน) ตั้งความคาดหวังจากโรงเรียนให้อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนมากยิ่งกว่ายุคสมัยใดในกาลก่อน2 ในแผ่นดิน(อเมริกา)นี้ กำลังมีภาวะหิวศีลธรรม3
ถ้าเรายังปรารถนาความเจริญ ในวิถีทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม เราก็ควรจะเข้าถึงความเจริญนั้นในสภาพที่ดีกว่า และมีปัญหาน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาไปก่อน ด้วยการจัดการศึกษา โดยเฉพาะจริยศึกษาที่ป้องกันปัญหาและพัฒนาคนได้ตรงจุดตรงเป้า จึงจะนับได้ว่าเป็นมนุษย์ที่ฉลาดรู้จักใช้บทเรียนของคนข้างหน้าให้เป็นประโยชน์ มิใช่เป็นเพียงผู้เดินทื่อ หรือเดินเซ่อ ได้แต่ตามเขาเซื่องๆ
การที่เราเดินตามซ้ำรอยประเทศพัฒนาแล้ว แม้แต่ในเรื่องที่เขาได้ผิดพลาดไปแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงความเจริญอย่างเขาในภาวะที่ดีกว่าเขา (หรืออาจจะถึงในภาวะที่โทรมยิ่งกว่าเขา) สาเหตุสำคัญก็เพราะการไม่รู้จักเก็บรวบรวม ศึกษาและเลือกใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งหลาย เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ความเจริญของเขาอย่างเพียงพอ ขาดสติที่จะทำให้มองรอบด้านด้วยความรู้เท่าทัน หลงชื่นชมมองความเจริญเพียงด้านเดียว จนทำให้สูญเสียอิสรภาพทางปัญญา ได้แต่คอยพึ่งพา ไม่เป็นตัวของตัวเอง
ก่อนจะพูดถึงการศึกษาของไทยต่อไป เราออกไปมองดูโลกกว้าง ให้เห็นสถานการณ์แวดล้อมกันก่อนสักหน่อย โดยเฉพาะความเป็นไปในประเทศผู้นำ ที่เรานับถือว่าเจริญก้าวหน้าที่สุด และในขณะที่มองดูสภาพของเขา ก็ขอให้นึกถึงภาพของสังคมไทยในปัจจุบันเทียบเคียงไปด้วย
ทำไมคนอเมริกันจึงต่อว่าสังคมของตนเอง ว่ามีความตกต่ำทางจริยธรรมถึงจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และกำลังมีภาวะหิวศีลธรรม ข้อมูลและคำเร่งเร้ากระตุ้นเตือนของคนอเมริกันต่อเพื่อนร่วมชาติของเขาเอง ซึ่งปรากฏดาษดื่นในข้อเขียน คำกล่าว และเอกสารรายงานต่างๆ ในปัจจุบัน ดังที่คัดมาให้ดูเล็กน้อย เป็นตัวอย่างต่อไปนี้ อาจเป็นคติเตือนใจหรือทำให้เกิดข้อคิดแก่คนไทย ในการที่จะคิดจัดทำหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขและปรับปรุงส่งเสริมสังคมและการศึกษาในประเทศไทย ตลอดจนทบทวนทิศทางของการพัฒนาประเทศชาติ และท่าทีต่อแม่แบบที่จะถือเอาเป็นตัวอย่างในการพัฒนานั้น โดยกำหนดจริยธรรมในการพัฒนาให้ถูกต้อง
ข้อความตัวอย่างที่คัดมาต่อไปนี้ นอกจากชี้ถึงสภาพปัญหาต่างๆ ที่กำลังเป็นอยู่แล้ว บางส่วนก็แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวต่างๆ ในการหาทางแก้ไขปัญหาของเขาด้วย
คนอเมริกัน โดยเฉพาะนักวิชาการ ตลอดจนองค์กรของรัฐในอเมริกา กล่าวถึงสภาพชีวิตจิตใจ พร้อมทั้งปัญหาสังคมและการศึกษาในประเทศของเขาในทำนองต่อไปนี้4
“จริยธรรมในอเมริกา ดูเหมือนจะเสื่อมลงถึงจุดตกต่ำที่สุดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ . . . การยึดถืออุดมคติเสื่อมหาย ลัทธิถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่เฟื่องฟูขึ้น . . . วิกฤติการณ์แห่งจริยธรรมระบาดทั่วไป คือการถือเอาความเห็นแก่ตัวเป็นหลักการสูงสุดแห่งศีลธรรม . . . เรากำลังมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมสับสน ซึ่งผู้คนหมดความมั่นใจในความผิดชอบชั่วดี . . . ความโลภกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่าเป็นแรงผลักดันการกระทำที่ชอบธรรมเต็มที่ . . .”5
“(เด็กและเยาวชนก่ออาชญากรรมโหดเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องที่เขย่าขวัญของสังคม) . . . อาชญากรรมวัยรุ่นแพร่ระบาดกว้างขวางและเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยมีมาก่อน . . . สถาบันพื้นฐาน คือ บ้าน โรงเรียน และวัด แต่เสาหลักทางศีลธรรมเหล่านี้ กำลังหักโค่นล้มทะลาย”6 “สหรัฐมีอัตราการฆ่ากันตายสูงเป็น ๕๐ เท่าของนิวซีแลนด์ . . . สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นอันมาก”7
“สภาพจิตซึมเศร้าทุกข์ใจทุกชนิด มีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ . . . คนที่ทุกข์ซึมเศร้า มีจำนวนมากขึ้นและเป็นโรคนี้เมื่ออายุน้อยลง . . . ปัจจุบันคนอเมริกันประมาณ ๑๔ ล้านคน เป็นโรคจิตซึมเศร้าแบบยืดเยื้อ ผู้หญิงเป็นโรคนี้ทุกหนึ่งในสี่คน และผู้ชายทุกหนึ่งในสิบคน . . . ในช่วงระหว่างปี ๒๕๒๓-๒๕๒๗ เด็กวัยรุ่นที่ถูกรับเข้าโรงพยาบาลจิตบำบัดของเอกชนมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า ๓๕๐ เปอร์เซ็นต์”8
“ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนคนหนุ่มสาวอเมริกันที่ฆ่าตัวตายได้เพิ่มสูงขึ้นถึง ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์”9 “ในช่วง ๒ ทศวรรษที่แล้ว อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่เด็กและวัยรุ่นได้เพิ่มมากขึ้น ๓ เท่า เวลานี้ การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุนำอันดับ ๓ แห่งการตายของเด็กอายุระหว่าง ๑๕ ถึง ๒๔”10 ”การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นได้เพิ่มขึ้น ๓ เท่า ในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมานี้ . . . มีการจัดตั้ง ‘อัตวินิบาตวิทยา’ ขึ้นมาเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะด้านสาขาหนึ่ง . . . อัตราการฆ่ากันตายในประเทศ (อเมริกา) นี้ก็สูงอยู่แล้ว แต่กระนั้น คนที่ฆ่าตัวตายยังมากกว่าคนที่ฆ่าคนอื่นตาย”11 “วัยรุ่นขั้นโตที่มีอาการไม่ปกติเป็นโรคทางจิตอย่างแรงๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า ๕ เท่าตัว ในช่วงเวลา ๔๐ ปี ที่ผ่านมา . . . การฆ่าตัวตาย เป็นสาเหตุการตายของวัยรุ่น ที่นำหน้ามาเป็นอันดับที่ ๓”12 “ทำไมหนอ ความเครียดเนื่องจากความรู้สึกว่างเปล่า จึงแพร่หลายมากนักในวัฒนธรรมของเรา? เหตุไฉนพวกเราจึงมีความรู้สึกโดดเดี่ยว และอ้างว้างกันมากนัก?”13
“มีรายงานผลการศึกษาในปี ๒๕๒๖ ว่า คนอเมริกันใช้ยาเสพติดมากที่สุด ในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม”14 “ยาเสพติดหลายอย่าง ถูกใช้กันตามสบายในวัฒนธรรมของเราเหมือนอย่างเป็นกาแฟ”15 “นักเรียนมัธยมรุ่น ๒๕๒๘ เกินกว่า ๙ ใน ๑๐ คนเคยดื่มสุรา เกินกว่าครึ่งเคยลองกัญชา . . . ทุกหนึ่งในหกคนเคยเสพโคเคน และทุกหนึ่งใน ๘ คน เคยใช้ยาหลอนประสาท เช่น LSD”16 “คนหนุ่มสาวดื่มเหล้ามากขึ้น ตั้งแต่อายุน้อยลงๆ . . . ขณะนี้เริ่มดื่มกันตั้งแต่อายุ ๑๒ . . . คนหนุ่มสาวตายเพราะอุบัติเหตุที่เนื่องจากดื่มเหล้า ปีหนึ่งๆ ประมาณ ๑ หมื่นคน อุบัติเหตุทางรถยนต์เนื่องจากดื่มสุรา เป็นสาเหตุนำหน้าแห่งการตายของคนอเมริกันที่มีอายุระหว่าง ๑๕ ถึง ๒๔ ปี . . . เด็กนักเรียนมัธยมปีสุดท้ายเกือบ ๑ ใน ๓ บอกว่า เพื่อนของตนส่วนมากหรือทุกคนเมาเหล้าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง . . . จำนวนเด็กดื่มเหล้าที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ ได้เพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่า ในระยะ ๖ ปีที่ล่วงมานี้”17 “ในหมู่นักบริหารขณะนี้ก็เสพโคเคนควบกับดื่มเหล้ากันดื่นเป็นธรรมดามากขึ้น”18
“เด็กหญิงวัยรุ่นในสหรัฐมีท้องทุกหนึ่งใน ๑๐ คนทุกปี . . . ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๒๒ จำนวนเด็กวัยรุ่นที่มีเพศ สัมพันธ์ได้เพิ่มมากขึ้น ๒ ใน ๓ ในบรรดาเด็กอายุ ๑๕-๑๗ ปี ในประเทศนี้ (อเมริกา) ทุกวันนี้ เด็กผู้ชายเกือบครึ่ง และเด็กผู้หญิงเกือบ ๑ ใน ๓ มีเพศสัมพันธ์แล้ว”19 “เด็กสาววัยรุ่นผิวดำที่ยากจน มีอัตราคลอดลูก ๒๓ เปอร์เซ็นต์ . . . อัตราการคลอดบุตรสำหรับเด็กสาววัยรุ่นผิวขาว จากครอบครัวรายได้ต่ำก็สูงเกือบเท่ากันคือ ๒๑ เปอร์เซ็นต์”20
“ปีศาจร้ายแห่งโรคมรณะที่ไม่มีทางรักษา อันมีชื่อว่า เอดส์ . . . ได้ทอดเงามืดทาบทับภูมิทัศน์ทางเพศของประเทศอเมริกาเสียแล้ว”21 “ทุกวันนี้ โรคเอดส์กลายเป็นภัยวิกฤติสำหรับประเทศสหรัฐ ซึ่งจะสังหารชีวิตคนมากมายยิ่งกว่าสงครามหลายๆ ครั้งในสมัยปัจจุบัน อีกเพียง ๔ ปี แต่นี้ไป โรคร้ายนี้จะสังหารชีวิตคนอเมริกันหมดไปมากกว่าสงครามเวียดนามและสงครามเกาหลีรวมกัน . . . ‘เอดส์จะก่อให้เกิดการปฏิวัติทางเพศขนานใหญ่ พอๆ กับครั้งที่เกิดจากยาคุมกำเนิดในช่วงปี ๒๕๐๓-๒๕๑๒”22
“การศึกษาประชาบาลในสหรัฐกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ . . . อัตราเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันในโรงเรียนมัธยมในเมืองจำนวนมาก สูงถึง ๗๐ หรือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ สถิติคนไม่รู้หนังสือในบรรดาผู้ใหญ่ผิวดำ มีประมาณ ๔๔ เปอร์เซ็นต์ เทียบกับสถิติฝ่ายผิวขาวที่มีประมาณ ๑๖ เปอร์เซ็นต์”23 “เยาวชนออกจากโรงเรียนกลางคันถึงล้านคนทุกปี สำหรับเขตในเมืองบางแห่งอัตรานี้สูงเกือบถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ในบรรดาเด็กที่จบชั้นมัธยม ๒.๔ ล้านคน เด็กที่อ่านเขียนไม่ได้ถึงระดับ ม.๒ มีจำนวนมากถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์”24
“ณ วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๖ คณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยความเป็นเลิศในการศึกษา หลังจากได้ประเมินสถานะในปัจจุบันของระบบการศึกษาประชาบาลของประเทศของเรา (อเมริกา) แล้ว ก็ได้ออกคำเตือนภัยว่า ‘ประเทศชาติของเรากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย’
“ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ในเมื่อเด็กนักเรียนของเราออกจากโรงเรียนกลางคันถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และอีก ๑๔ ล้านคนจบชั้นมัธยมออกมาอย่างที่เรียกว่าไม่รู้หนังสือเลย อย่างนี้เราไม่ใช่ ‘ประชาชาติที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย’ เท่านั้นหรอก เราเป็น “ประชาชาติที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ” ทีเดียวแหละ…
“เราจะต้องยอมรับว่า เราเป็นสังคมที่กำลังโทรมและกำลังเสื่อมลง …”25
“สถานะของอเมริกา ที่เป็นมหาอำนาจสูงสุดทางเศรษฐกิจของโลก กำลังตกอยู่ในภยันตราย และโรงเรียนทั้งหลายก็เป็นตัวการที่ต้องรับผิดชอบต่อผลร้ายอันนี้ … พาดหัวข่าวขึ้นหรามาหลายปี มีแต่ข่าวที่น่าเศร้าเกี่ยวกับการศึกษาของอเมริกาว่า “จอนนี่อ่านไม่ออก” … “จอนนี่คิดเลขไม่เป็น” … “จอนนี่เขียนไม่ได้” … อเมริกาได้แต่มองดูความเป็นผู้นำของตนหายหดหมดไป … นักเรียนอเมริกันกำลังกลายเป็นขี้โหล่ไปได้อย่างไร
“คนส่วนใหญ่ ที่จบปริญญาเอกทางวิศวกรรมในสหรัฐเป็นชาวต่างประเทศ … สัปดาห์นี้เองก็ได้เห็นการตั้งข้อหาใหม่ต่อการศึกษาของสหรัฐอีกข้อหาหนึ่ง คือ ในการทดสอบวิชาพีชคณิตประจำปี ๒๕๒๕ ที่สมาคมนานาชาติเพื่อการวัดสัมฤทธิผลทางการศึกษาได้จัดขึ้น ก็ได้มีข้อมูลใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียน ม.๖ หลายพันคน จากประเทศที่คัดเลือกมาทำคะแนนได้แค่ไหนกันบ้าง (ปรากฏผลว่า) ฮ่องกงได้ที่หนึ่ง เฉียดหน้าญี่ปุ่นไปนิดเดียว สหรัฐมาเป็นที่ ๑๔ ในจำนวน ๑๕ ประเทศ ได้แค่นำหน้าประเทศไทย
“ด้วยตารางเรียนปีละ ๑๘๐ วัน สหรัฐเป็นประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศใหญ่เพียงไม่กี่ประเทศ ที่มีเวลาเข้าชั้นเรียนเสียไปเปล่าตั้งครึ่งปี โรงเรียนญี่ปุ่นเรียนเกินกว่า ๒๔๐ วัน ยังบวกครึ่งวันอีกทุกเสาร์ด้วย … ระหว่างช่วงอายุ ๖ ถึง ๑๘ ปี เด็กอเมริกันเฉลี่ยแล้วดูทีวี ๑๕,๐๐๐ ชั่วโมง เท่ากับว่าดูทีวีมากกว่าเวลาเรียนในโรงเรียนถึง ๒,๐๐๐ ชั่วโมง …
“ทั่วทั้งโลก แม้แต่ในญี่ปุ่น เสียงปืนสัญญาณได้ดังขึ้นแล้ว บอกให้รู้ถึงการเริ่มแข่งขันในการที่จะยกเครื่องระบบการศึกษากันใหม่…”
“นักปฏิรูปของญี่ปุ่นครวญคร่ำรำพันว่า ประเทศของเขาเป็น ‘ผืนแผ่นดินรกร้างทางการศึกษา’ ซึ่งตกอยู่ใน ‘ภาวะอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว’… ‘ตลอดเวลานับได้ ๑๐๐ ปี มาแล้ว พวกเราได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อจะตามให้ทันประเทศตะวันตกในด้านการศึกษา’… ‘ครั้นถึงบัดนี้ เมื่อเราทำการสำเร็จลุถึงเป้าหมายแล้ว เรากลับมาอับจน ไม่รู้จุดหมายปลายทางใหม่ที่จะเดินต่อไป”26
“ประการแรก เมื่อเทียบกับคู่แข่งในประเทศแถบอาเซียและยุโรป นักเรียนอเมริกันก็ปรากฏตัวเด่นออกมา ในแง่ที่ว่าช่างได้เรียนน้อยเสียนี่กระไร ประการที่สอง เมื่อเทียบกับนักเรียนในอาเซียและยุโรป นักเรียนอเมริกันก็ปรากฏตัวเด่นออกมาในแง่ที่ว่าช่างทำคะแนนได้แย่มากๆ เสียนี่กระไร …. (ดูภาคผนวก)
“วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ให้ความสำคัญเพียงเล็กน้อยแก่เรื่องคุณลักษณะประจำตัวบุคคล และความถนัดที่มีมาเดิมตามธรรมชาติ แต่ไปเน้นย้ำให้ความสำคัญสูงสุดแก่ … “วิถีแห่งความพากเพียรเด็ดเดี่ยว” อันนี้แหละ คือคำท้าทายของญี่ปุ่นที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจ …
“การหยั่งเสียงประชาชน เมื่อปี ๒๕๓๒ แสดงผลออกมาว่า ประชาชนเกือบครึ่งต่อครึ่ง ในประเทศ (อเมริกา) นี้เห็นคล้อยกับความคิดว่า สหรัฐอเมริกากำลัง ‘เสื่อม’… เมื่อโรเจอร์ ปอร์เตอร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ และมหาดไทย ตีตราการศึกษาของอเมริกาว่า ‘น่าเศร้า ไม่เร้าแรงใจ’ นั้น ความรู้สึกท้อแท้สูญสิ้นกำลังใจต่ออนาคตของเรา ได้ทำให้พวกเราหมดแรงความอยากที่จะรับคำท้าทาย มีแต่เสียงพูดกันว่า สิ้นยุคของอเมริกาแล้ว มหาอำนาจล่มสลาย . . .
“ไม่มีสิ่งใดจะสลักสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ในยุคหลังสงครามเย็นนี้ ยิ่งไปกว่าการให้การศึกษาแก่ลูกหลานของเรา … โลกกำลังหดแคบเข้า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รอแต่ให้ถึงเวลาเท่านั้น”27
“เมื่อชั่วอายุคนหนึ่งล่วงแล้ว โรงเรียนประชาบาลในอเมริกาได้เริ่มสลัดตัวผละออกไปจากบทบาทที่เป็นผู้ให้การศึกษาทางศีลธรรม โรงเรียนทั้งหลายพากันกลัวจะถูกกล่าวหาว่า เอาศาสนามายัดเยียดใส่ให้นักเรียน หรือยัดใส่ความเชื่อให้เด็ก ก็เลยพากันยึดอยู่กับเนื้อหาวิชาการ ปล่อยภาระให้การสอนศีลธรรมเป็นเรื่องของพ่อแม่และชุมชน …
“แต่มาถึงวันนี้ ผู้นำ(ของประเทศ) ตั้งแต่ประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกน ลงมาจนถึงนายกเทศมนตรีมาริโอ โมโม ต่างพากันส่งเสียงร้องบอกโรงเรียนทั้งหลาย ให้เอาใจใส่ในการพัฒนาศีลธรรมของนักเรียนให้มากขึ้น … การฟื้นฟูจริยศึกษาครั้งนี้ … (บิลล์ โฮนิกให้เหตุผลว่า) ‘มิใช่ว่าเด็กทุกคนจะเป็นคนเก่งได้ แต่เด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นคนดี’
“เน้นที่ความประพฤติ ไม่ใช่ที่ทฤษฎี ถึงแม้จะเกิดมีแนววิธีสอนจริยศึกษาขึ้นมาใหม่ๆ แต่ในที่สุด นักการศึกษาและชุมชนส่วนมากในปัจจุบัน ก็พากันหันไปหาการพัฒนาคุณธรรมแบบพื้นเดิม … ด้วยการสอนตรงๆ … และระบบวินัยที่สอดคล้องต่อเนื่องและบังคับใช้อย่างมั่นคงจริงจัง … การที่เด็กนักเรียนประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไรในชีวิตประจำวันมีความสำคัญมากกว่าความสามารถของเด็กในการคิดหาเหตุผลมาแก้ปัญหาทางศีลธรรม …
“หลังจากชั่วอายุคนที่เป็นรุ่นของความขัดแย้งและสับสนผ่านพ้นไปแล้ว โรงเรียนทั้งหลายก็ได้หันกลับมาให้ความสนใจกับสาระแห่งชีวิตในด้านศีลธรรมของเด็กและเยาวชนที่ตนรับผิดชอบกันใหม่อีก ราคาของการปล่อยปละละเลยนั้นแพงเหลือทน… เขาฝันถึงคนรุ่น(ใหม่) ที่มีศีลธรรมว่า “เราคงจะได้เห็นวัตถุนิยมและความโลภลดน้อยลง…”
“ในขณะที่แรงหนุนจริยศึกษาเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนทั้งหลายก็จะมาเข้าร่วมขบวนการมากขึ้น พวกเขาไม่มีทางเลือก(อย่างอื่น) ‘ในแผ่นดิน(อเมริกา)นี้ กำลังมีภาวะหิวศีลธรรม”28
“สัญญาณของการตื่นตัวใหม่ได้แพร่สะพรั่งแล้ว ที่ศูนย์วิทยากรจริยธรรม ปีนี้งบประมาณได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า . . . วิชาจริยธรรมกลายเป็นกิจการที่เติบใหญ่ขยายตัว . . . ชั่วเวลา ๖ ปี ชั้นเรียนวิชาจริยธรรมที่คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มจาก ๒๕ คน เป็น ๑๖๐ คน . . . ‘เราสรุปได้ว่า ได้มีความก้าวหน้าและความสนใจในจริยธรรมมากกว่าครั้งใดที่เคยมีมา แต่กระนั้นก็ใช่ว่าเราจะใกล้เป้าเข้าไปเลยก็หาไม่ . . . (เอาเถิด) หลังจากเวลาผ่านไป คนทั้งหลายก็ได้รู้ตระหนักว่า ยังมีอะไรบางอย่าง (ที่จำเป็น) สำหรับชีวิตมากไปกว่านี้ (คือมิใช่มีแค่วัตถุบำรุงบำเรอความสุขสำราญเท่านั้น--ผู้แปล)”29
๒. พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งแห่งคำสอนและระบบจริยธรรมที่ซึมซ่านแผ่ไปทั่ว และหยั่งรากฝังลึกลงแล้วในพื้นฐานของสังคมไทย แม้ว่าปัจจุบันในระดับพื้นผิว จะมองเห็นว่าผู้คนห่างเหินจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีปัจจัยแปลกใหม่จากภายนอกเข้ามาปะปนส่งผลอยู่มาก แต่ระบบศีลธรรมตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ก็ยังสืบต่ออยู่อย่างแน่นหนา ในรากฐานทางวัฒนธรรมของไทย
การสอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หรือการนำพระพุทธศาสนามาใช้ในการสอนจริยศึกษา เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกลมกลืนกับรากฐานทางวัฒนธรรม และพื้นเพทางจิตใจของคนไทย เป็นจริยธรรมที่กลมกลืนบนพื้นฐานที่ต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ ซึ่งทำให้พร้อมที่จะทำงานได้ง่ายฉับไวกว่าและเบาแรงกว่าการกระทำด้วยวิธีอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธการสอนพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์ในทางจริยธรรม
ในทางตรงข้าม การนำระบบจริยธรรมอย่างอื่นเข้ามาใช้ในการศึกษาของชาติ นอกจากจะต้องหนักแรงเหนื่อยปัญญา ในการคิดหาหรือจัดตั้งระบบจริยธรรมนั้นขึ้นโดยใช่เหตุและโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังจะทำให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างยิ่งตามมา คือ สภาพต่อไม่ติดกับพื้นฐานเดิม เนื่องจากความไม่สืบทอดต่อเนื่องในทางวัฒนธรรม ดังที่เป็นปัญหาเด่นทั่วไปในการพัฒนาสังคมไทยด้านต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งไม่ควรจะมาเพิ่มปัญหาอย่างนั้นขึ้นในด้านการพัฒนาจริยธรรมนี้อีก การกระทำเช่นนั้น จะนำไปสู่ความแปลกแยกขัดแย้งทางจริยธรรม ซึ่งนำไปสู่ความไม่สัมฤทธิ์ผลของการสอนจริยธรรมในที่สุด
หากเห็นว่า จริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนามีข้อเสียหาย ก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคมไทย จึงไม่ควรนำพระพุทธศาสนามาใช้ในการสอนจริยธรรม และควรยกเลิกการสอนศีลธรรมตามหลักพุทธศาสนา ออกจากจริยศึกษาของชาติ ถ้าเห็นว่าเป็นอย่างนั้น ก็ควรยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาถกเถียงกัน ให้มองเห็นโทษหรือผลร้ายนั้นอย่างชัดเจน จากนั้นก็จะต้องกำหนดวิธีการ และวางมาตรการที่หนักแน่นจริงจัง ในการที่จะกวาดล้างระบบจริยธรรมของพระพุทธศาสนาออกจากรากฐานทางวัฒนธรรมไทย มิฉะนั้น การจัดสอนจริยธรรมอย่างใหม่ อาจจะกลายเป็นการงุบงิบกันทำ ในท่ามกลางสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ที่ไม่สอดคล้องและไม่รู้ตระหนักที่จะร่วมมือได้ งานปลูกฝังจริยธรรมก็จะดำเนินไปอย่างพร่ามัวสับสน ซึ่งนอกจากจะไม่สำเร็จผลแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่ามีผลดี
๓. การปลูกฝังจริยธรรมต้องดำเนินไปอย่างมีกระบวนการและเป็นระบบ โดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งสัจธรรมที่รองรับเป็นพื้นฐาน การที่สังคมไทยยอมรับพระพุทธศาสนาและนับถือสืบต่อกันมา ก็เพราะมีความเชื่อในพระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า ว่าได้ทรงค้นพบสัจธรรมและทรงสั่งสอนระบบจริยธรรม ที่ถูกต้องจริงแท้ตรงตามสัจธรรมนั้น จึงเห็นชอบและพอใจที่จะนำเอาหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม หรือระบบการปลูกฝังจริยธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้เป็นระบบชีวิตทางศีลธรรมของตน
พูดนัยหนึ่งว่า ชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนาก็คือเชื่อในระบบจริยศึกษาแบบพุทธ ดังนั้น ชาวพุทธจึงควรและมีสิทธิที่จะเรียนจริยธรรม ด้วยจริยศึกษาแบบพุทธ การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ คือช่วยกันค้นหาให้พบและจัดจริยศึกษาแบบพุทธให้แก่ผู้เรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชน การนำเอาจริยธรรมสากลมาให้นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกเรียน มองในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับการบังคับหรือใช้กลวิธีชักจูงให้นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกเปลี่ยนศาสนาจากพุทธศาสนามานับถือศาสนาที่เรียกว่าจริยธรรมสากลแทน อาจจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของชาวพุทธเหล่านั้นไปก็ได้ เมื่อจัดไป แทนที่จะได้ผลดี ก็จะกลายเป็นเสียทั้งคู่ ไม่ได้ผลเลยทั้งสองทาง
จริยธรรมที่นักวิชาการจัดรูป หรือค้นคว้าหามาใหม่ จะเรียกว่าจริยธรรมสากลหรืออะไรก็ตาม อาจจะเกิดขึ้นหรือได้มาเพียงจากการมาพบปะถกเถียงกัน ในการประชุมเพียงบางครั้งบางคราว ชั่วเวลาสั้นๆ ของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จับเลือกๆ เอาหัวข้อจริยธรรมจากผลงานของนักปราชญ์และพระศาสดาต่างๆ มาลงรายการเป็นบัญชีไว้ หรือเอามาผสมผสานกัน โดยที่แต่ละท่านมิใช่เป็นผู้ที่ได้หยั่งรู้ธรรม และมิได้อุทิศตนให้แก่งานทางจริยธรรมอย่างเป็นชีวิตจิตใจ อาจจะกลายเป็นการตั้งระบบจริยธรรมใหม่ หรือตั้งศาสนาใหม่ของผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น
จริยธรรมอย่างนั้นจึงเสี่ยงต่อการที่จะเป็นจริยธรรมแบบเก็บเล็กผสมน้อย หรือสิ่งละอันพันละน้อย ที่เกิดจากการเก็บเลือกผสมผสาน โดยกลุ่มคนที่ไม่รู้จริง และไม่ได้คิดจริงทำจริงในเรื่องจริยธรรม ซึ่งนอกจากจะแปลกแยกจากระบบจริยธรรม ที่มีอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทยแล้ว ก็ไม่เป็นจริยธรรมที่เป็นระบบซึ่งจะทำให้มีการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นกระบวนการ จึงน่าจะหวังความสัมฤทธิ์ผลได้ยาก
ถ้าสังคมไทยยอมรับจริยธรรม ตามระบบที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ และพระพุทธศาสนาก็มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งหาได้ง่ายในสังคมไทย การจัดหาจริยธรรมสากลเป็นเรื่องวุ่นวายที่จะต้องมาตั้งต้นกันใหม่ กลายเป็นการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก จะทำไปเพื่อเหตุผลอันใด
๔. ความคิดและความพยายามที่จะสร้างจริยธรรมสากล เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษแห่ง ค.ศ. ๑๘๘๐ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๐) และพัฒนาอย่างค่อนข้างเต็มรูป ก่อน ค.ศ. ๑๙๔๐ (ราว พ.ศ. ๒๔๘๐) และได้ถูกนำมาใช้เป็นระบบวิธีทางจริยศึกษา ในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นเวลายาวนาน
สภาพปัญหาทางจิตใจ และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมอเมริกันในปัจจุบัน ย่อมถือเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ระบบจริยศึกษาแบบจริยธรรมสากลนั้น ถ้าแม้มิได้เป็นเหตุให้สังคมอเมริกันประสบความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม อย่างน้อยมันก็มิได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจริยธรรม หรือในการที่จะช่วยให้สังคมอเมริกันมีจริยธรรมและสภาพจิตใจที่ดีขึ้น หรือแม้แต่จะรักษาสถานภาพทางจริยธรรมให้คงอยู่ในระดับเดิมได้
เดิมที ในสังคมอเมริกันนั้นเอง ก่อนสงครามกลางเมือง (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๐๘) การสอนจริยธรรมในระบบการศึกษาของชาติ ก็ใช้หลักคำสอนของศาสนาโดยจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือการรับรองจากทางฝ่ายศาสนาด้วย
แต่ต่อมา เนื่องจากประชากรอเมริกันซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลายชาติอพยพเข้ามา มีความแตกต่างกันมากในด้านความเชื่อถือทางศาสนา แม้ว่าพลเมืองส่วนใหญ่จะนับถือคริสตศาสนา แต่ก็แยกกันเป็นคนละนิกาย คือ โรมันคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์ ซึ่งไม่อาจจะเรียนวิชาศาสนาอย่างเดียวกันได้ เช่น ตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับไหน
และยิ่งกว่านั้น ในนิกายที่เป็นฝ่ายข้างมากเอง คือ โปรเตสแตนต์ (ที่ว่าเป็นข้างมากก็เพียงประมาณร้อยละ ๖๐) ก็สอนต่างกันในเรื่องเดียวกัน ทำให้ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง จนบางพวกก็แยกไปตั้งโรงเรียนสอนศาสนาของตนต่างหากออกไป จนในที่สุดจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างจริยธรรมสากลหรือจริยธรรมที่ยอมรับร่วมกันได้ขึ้นมาดังกล่าวข้างต้น30
สังคมไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ไม่ได้มีปัญหาแตกแยกกันอย่างในสังคมอเมริกัน แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เป็นความแตกต่างในระดับของพัฒนาการทางจิตปัญญา ส่วนหลักความเชื่อและหลักคำสอนทั่วไปลงตัวเป็นแบบเดียวกัน จึงน่าจะใช้ความได้เปรียบคือความมีเอกภาพทางศาสนานี้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งในแง่การศึกษาและในแง่สังคม คือฉวยโอกาสเอาพุทธศาสนา ที่ประชาชนแทบทั้งหมดนับถือเป็นอย่างเดียวกันนั้น เป็นช่องทางจัดจริยศึกษาได้พร้อมทีเดียวทั่วสังคมทั้งหมดในทันที พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างรักษาเอกภาพของสังคม หรือความสามัคคีของคนในชาติไปด้วยในตัว
ถ้าไม่ทำอย่างนี้ แต่ไปทำตามอย่างการศึกษาของอเมริกัน จะกลายเป็นว่า ทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญหา แต่กลับไปทำตามอย่างคนที่เขามีปัญหา และทั้งที่ตนมีโอกาสดี กลับไม่ใช้โอกาสนั้น จะเรียกว่าเป็นปฏิบัติการที่ฉลาดได้อย่างไร
ในการศึกษาของอเมริกัน เขาจัดสอนจริยธรรมสากล เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าการศึกษาของไทยทำอย่างนั้นจะมีผลในทางตรงข้าม คือ แทนที่จะเป็นการฉวยโอกาสเสริมสามัคคีด้วยเอกภาพที่มีอยู่แล้ว ก็กลับกลายเป็นการวางรากฐานที่จะนำไปสู่ความแตกแยก นับว่าเป็นการสูญเสียทีเดียวสองชั้น
๕. ในเมื่อพระพุทธศาสนาเป็นระบบจริยธรรมและเป็นแหล่งแห่งคำสอนจริยธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ เชื่อและใช้กันในสังคมไทยทั่วไป ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว และเป็นระบบจริยธรรมที่ฝังลึกอยู่ในรากฐานของวัฒนธรรมไทย ทั้งสอดคล้องกับพื้นฐานและเป็นของแพร่หลายดาษดื่น มีอยู่แล้ว หาได้ง่าย พูดกันง่าย เข้าใจกันง่าย การสอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หรือการใช้พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการสอนจริยธรรม จึงเป็นเรื่องที่พร้อม และควรจะนึกถึงโดยสามัญสำนึกอย่างเป็นไปเองในทันทีที่คิดจะจัดดำเนินการจริยศึกษา
ในสภาพของสังคม และวัฒนธรรมไทยที่เป็นอย่างนี้ การไม่สอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หรือไม่ใช้พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการสอนจริยธรรม และนำจริยธรรมระบบอื่นเข้ามาสอนแทน จะควรกระทำก็ต่อเมื่อมีเหตุผล ๒ อย่างต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
๑) คนไทยส่วนใหญ่ ที่นับถือพระพุทธศาสนานั้น แตกแยกแบ่งเป็นกลุ่มเป็นนิกายย่อยๆ หลายคณะหลายพวก ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องหลักความเชื่อและคำสอน เหมือนอย่างในกรณีของผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา
๒) ความเชื่อและคำสอนจริยธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนา มีความบกพร่องเสียหาย จะก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม
สำหรับเหตุผลข้อ ๑) เห็นได้ชัดดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สังคมไทยมิได้เป็นอย่างนั้น แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม คือ พุทธศาสนาในประเทศไทย มีเอกภาพมาก ถึงขั้นที่อาจพูดได้ว่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ส่วนในข้อ ๒) ถ้าเห็นว่าหลักจริยธรรมที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม ก็ควรจะหยิบยกปัญหาขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงจัง ให้เห็นชัดเจนลงไปทีเดียว จะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ ถ้าพิจารณากันแล้วเห็นชัดว่า มีผลร้ายอย่างนั้น ก็จะต้องรีบวางมาตรการที่หนักแน่นจริงจังในการกวาดล้างจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนา ออกไปจากสังคมไทย และให้คนไทยเลิกนับถือพระพุทธศาสนา คือจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลแน่นอนชัดเจน ไม่ใช่ว่า ทั้งที่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังยึดถือจริยธรรมตามแบบของพุทธศาสนา แต่ระบบการศึกษาของทางการนำจริยธรรมแบบอื่นเข้ามาสอนแบบอ้อมแอ้มแอบแฝง หรืองุบงิบกันทำ ซึ่งจะเป็นการก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคมซ้ำซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก กล่าวคือ
๑) ผู้เรียนที่ได้รับจริยศึกษาตามระบบจริยธรรมของรัฐ จะเกิดความแปลกแยกกับสังคมและวัฒนธรรมของตน มีชีวิตที่ไม่ประสานกลมกลืน เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของตนไม่สนิท
๒) ระบบจริยธรรมที่สอนในโรงเรียน กับระบบจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานแวดล้อมอยู่ในสังคม จะเกิดความขัดแย้งกัน เช่น โรงเรียนสอนจริยธรรมอย่างหนึ่ง สถาบันศาสนามีวัดและพระสงฆ์เป็นต้น ก็สอนไปอีกอย่างหนึ่ง จะทำให้เกิดความสับสน และเสียผลไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย
๓) จริยธรรมที่เสียหายก่อผลร้าย แทนที่จะได้รับการควบคุมดูแลหรือแก้ไขขัดเกลาด้วยการนำเข้ามาจัดสอนโดยกลั่นกรองเลือกเฟ้นเน้นย้ำ ในลักษณะและแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ ก็กลายเป็นถูกปล่อยให้ล่องลอยเคว้งคว้างและถูกถ่ายทอดต่อกันเรื่อยเปื่อยไป เป็นอิสระเสรีที่จะก่อความเสียหายทำให้เกิดผลร้ายแก่ชีวิตและสังคมได้เรื่อยไป และอย่างเต็มที่
รวมความว่า จริยธรรมตามหลักพุทธศาสนา จึงจะต่อติดกับจริยธรรมในวัฒนธรรมเดิมของไทย ซึ่งเป็นจริยธรรมระบบเดียวกัน ไม่เป็นจริยธรรมที่จะแปลกแยกกันได้ ดังนั้น ถ้ามีปัญหาจะต้องแก้ไข ก็จะต้องเข้าไปปรับปรุงในระบบจริยธรรม ที่มีอยู่แล้วนั้น ไม่ใช่ว่า ทั้งๆ ที่อันเก่าก็ยังปล่อยค้างไว้ให้คงอยู่ กลับไปเอาอันใหม่เข้ามา ทำให้ขัดแย้งวุ่นวายสับสน เลยพลอยเสียผลไปด้วยกัน
นักการศึกษาและนักวิชาการบางท่าน อาจจะยังข้องใจและยังติดใจอยู่กับคำกล่าวที่ว่า จริยธรรมบางอย่างของพระพุทธศาสนา เช่น สันโดษ และหลักกรรม เป็นต้น เป็นสาเหตุขัดขวางการพัฒนาประเทศชาติ หรืออาจจะถึงกับเชื่ออย่างนั้นด้วยตนเองทีเดียว แต่ก็ไม่กล้าที่จะยกขึ้นมาอ้าง จึงได้แต่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา
ท่าทีและการปฏิบัติด้วยท่าทีเช่นนี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาซึ่งเป็นกิจการที่กำหนดชะตากรรมของสังคม และสำหรับผู้ทำงานในระดับที่รับผิดชอบต่อชีวิตและสังคมส่วนรวมระดับชาตินี้ ควรจะทำการด้วยความชัดเจน มองเห็นเหตุผล ผ่านกระบวนการแก้ความสงสัยข้องใจแล้วอย่างดีที่สุด ถ้ายังข้องใจมีปมสงสัยจะต้องยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเปิดเผยให้เห็นชัดเจน ว่าเป็นอย่างไร แล้วปฏิบัติด้วยความชัดเจนอย่างนั้น
อนึ่ง ในการยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาถกเถียงกันนั้น ทางฝ่ายที่เรียกว่าอยู่ข้างพระพุทธศาสนา ก็ควรจะมีท่าทีแห่งการรับฟัง และพูดจาถกเถียงกันตามแนวทางของเหตุผลอย่างแท้จริง ในบรรยากาศแห่งความหวังดีต่อกัน และตกลงกันด้วยความแจ่มแจ้งในเหตุผลและความจริง ไม่ควรจะอยู่ และทำงานรับผิดชอบชะตากรรมของสังคมกันภายใต้ความเคลือบแคลงหรือมืดมัว ซึ่งจะทำให้ชะตากรรมของสังคมพลอยมืดมัวไปด้วย
เมื่อมองในแง่ความรับผิดชอบของการศึกษา เรื่องที่เป็นปัญหาอย่างนี้ กลับเป็นกรณีที่วงการการศึกษาจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติและสังคม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาหลีกเลี่ยงหรืออ้ำอึ้งกันอยู่ และในการแก้ปัญหา นักการศึกษาและนักวิชาการนั่นแหละจะต้องเป็นผู้ที่หาความแจ่มแจ้งชัดเจนก่อนคนอื่นๆ และก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหานั้น
ในเรื่องนี้ สาเหตุที่เป็นไปได้มีหลายอย่าง เช่น ประชาชนจำนวนมาก หรือแม้แต่พระสงฆ์ผู้สั่งสอน ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาเพียงพอ อาจเชื่อสืบๆ กันมา และปฏิบัติต่อๆ ตามๆ กันมาด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว หรือบกพร่องจากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา
ในกรณีที่เป็นเช่นนี้ ถ้านักการศึกษาหรือนักวิชาการวินิจฉัย หรือประเมินค่าของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปตามความเชื่อและการปฏิบัติของประชาชนหรือผู้สอนที่กล่าวนั้น ก็จะกลายเป็นว่า นักการศึกษาและนักวิชาการเป็นเพียงผู้เล่าเรียนคำสอนของพระพุทธศาสนาจากชาวบ้านที่ขาดการศึกษาอีกต่อหนึ่ง คือมีความรู้พระพุทธศาสนาด้อยกว่าชาวบ้านเหล่านั้น แทนที่จะเป็นผู้นำ ซึ่งมีความรู้ถูกต้องถ่องแท้ดีกว่าชาวบ้าน สามารถที่จะให้การศึกษาแก่ชาวบ้าน เพื่อมาช่วยแก้ไขปรับความรู้ความเข้าใจของชาวบ้าน ให้ตรงและสมบูรณ์ตามหลักคำสอนที่แท้จริง ท่าทีและการปฏิบัติของนักการศึกษาและนักวิชาการที่เป็นอย่างนี้ ก็เหมือนกับคนที่วินิจฉัยความหมายหรือประเมินค่าของระบอบประชาธิปไตย โดยถือตามความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรมต่อประชาธิปไตยของชาวบ้านในประเทศไทย เท่าที่ได้เป็นมาจนถึงอย่างที่เป็นกันอยู่นี้
ถ้าชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจ เชื่อถือและปฏิบัติบกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่การศึกษาใช้วิธีหลีกเลี่ยงเสีย ไม่เกี่ยวข้องด้วย ก็เท่ากับว่าชุมชนถูกทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมอย่างไร้ที่พึ่ง ปัญหาของสังคมถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับความเอาใจใส่แก้ไข นั่นก็คือการศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตน
๖. แม้ไม่มองในแง่ว่าเป็นศาสนา การศึกษาพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไทย คือพระพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องรู้ ในฐานะที่เป็นสถาบันสังคม เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ใหญ่กว้างครอบคลุม เป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทย และเป็นมรดกของชนชาติไทย
เมื่อมองกว้างๆ อย่างนี้ การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การเรียนรู้สิ่งที่คนที่อยู่ในสังคมไทยควรจะต้องรู้อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นการรู้จักเรื่องราวของประเทศของตนหรือสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมของตน เป็นสิ่งที่พลเมืองส่วนใหญ่ ถึงประมาณร้อยละ ๙๕ นับถือกันอยู่ มีขนบธรรมเนียมประเพณี ที่จะต้องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน มีสถานที่คือวัดวาอารามมากมายกระจายอยู่ทั่วไป ตลอดจนถ้อยคำพูดจาภาษาที่ใช้อันจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแล้ว การอยู่การไปในสังคมไทยก็ไม่คล่องตัว แม้แต่การติดต่อสื่อสารก็ติดขัดจำกัดตัว
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของการศึกษา ที่จะต้องจัดให้คนไทยได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ถ้าคนไทยไม่รู้จักพระพุทธศาสนาทั้งในด้านเนื้อหาและสถาบัน ก็คงจะต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของการศึกษาของชาติ
ในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมที่เก่าแก่มาก ซึ่งพูดได้ว่ามีมาเคียงคู่กับชนชาติไทย เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจึงปะปนอยู่ทั่วตลอดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างแยกกันไม่ออก ถ้าจะรู้ประวัติศาสตร์ไทยให้ชัด ก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไปด้วย
ในฐานะที่เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทย คำสอนความเชื่อและการปฏิบัติที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาได้ซึมซ่านอยู่ทั่วไป และฝังลึกเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นในศิลปวัฒนธรรมทุกด้าน ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี ภาษา และวรรณคดี การที่จะรู้เรื่องไทยหรือไทยคดี และการที่จะอยู่จะปฏิบัติตัวในสังคมไทยส่วนใหญ่ให้เป็นไปด้วยดี จึงหลีกเลี่ยงไม่ไหวที่จะต้องรู้อะไรๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ในฐานะที่เป็นมรดกของชนชาติไทย เนื่องจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั่นแหละ พระพุทธศาสนาจึงได้กลายเป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญของภูมิธรรมภูมิปัญญาที่สะสมสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นสมบัติของชนชาติไทย เป็นหลักอ้างที่ทำให้เกิดความภูมิใจในความเป็นไทย และเป็นเอกลักษณ์ของชาติของตน การศึกษาพระพุทธศาสนาจึงเป็นส่วนร่วมของคนไทยแต่ละคน ในการที่จะช่วยกันสืบทอดมรดกของชาติ และดำรงรักษาเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพลเมือง
ในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ฐานะนี้ก็เนื่องกันกับฐานะก่อนๆ นั่นเอง โดยเฉพาะการที่เป็นสถาบันสังคมอันใหญ่ และเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ปรากฏในทุกส่วนของวัฒนธรรมไทย พระพุทธศาสนาจึงกลายเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่คนแม้ต่างชาติทุกคนที่เข้ามาในสังคมไทย หรือติดต่อเกี่ยวข้องกับสังคมไทยจะต้องได้สัมผัส และรู้สึกว่าความเป็นไปต่างๆ ในสภาพแวดล้อมอันนี้มักมีผลแผ่คลุมมาถึงตัวเขา และกิจการงานของเขาด้วย
ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาก็คือการศึกษาสภาพแวดล้อมทางสังคมของไทย ซึ่งเป็นประโยชน์และในหลายกรณีก็ถึงกับจำเป็น สำหรับการที่จะเป็นอยู่และทำงานให้ได้ดี คือ เพื่อดำเนินชีวิตอยู่อย่างประสานกลมกลืนและทำงานดำเนินกิจการต่างๆ ให้ได้ผลในสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ คนต่างชาติ เช่นชาวตะวันตกที่จะเข้ามาอยู่และเข้ามาทำงานกับคนไทยในประเทศไทย ถ้ามีการเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการที่จะมาอยู่ และทำงานให้ได้ผล จึงถือการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับคนไทยและสังคมไทย เพื่อจะให้เขามาอยู่ได้อย่างดี และทำงานได้ผล ไม่ว่าจะในแง่ที่ว่ารู้จักชีวิตจิตใจของคนไทยแล้ว ทำให้การทำงานของเขาเองได้ผลแก่ตัวเขา หรือในแง่ที่ว่ามาทำงานให้แก่สังคมไทย เพื่อประโยชน์แก่คนไทย จึงต้องรู้จักเข้าใจคนที่เขาจะมาทำงานให้ เพื่อให้ทำงานได้ผลตรงจุดที่จะเป็นประโยชน์แก่คนไทย และสังคมไทยอย่างแท้จริง
ดังนั้น คนไทยเราด้วยกันเอง แม้จะนับถือต่างศาสนา ถ้าไม่รู้สึกถือสาในเรื่องศาสนา ก็จะเห็นความสำคัญของการที่จะศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนา อย่างน้อยในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมนี้ เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมทำงานร่วมกับคนไทยส่วนใหญ่ และทำงานเพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นอย่างนี้ อย่างได้ผลดี
โดยนัยนี้ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา จึงไม่จำต้องพรรณนาว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสักเพียงไร ในการที่เขาจะรู้จักประเทศชาติและสังคมของตน ในการที่เขาจะมีส่วนร่วมสืบทอดมรดกรักษาเอกลักษณ์แห่งชาติของตน ในการที่เขาจะรู้จักสังคมและชุมชนที่เขาจะไปอยู่ร่วมทำงานร่วม และทำงานให้ และในการที่จะปฏิบัติตัวและปฏิบัติต่อสังคมไทยอย่างถูกต้องโดยทั่วไป
การจัดการศึกษาของไทย ในความหมายหนึ่ง ก็คือ การเตรียมคนไทยรุ่นใหม่ให้พร้อมที่จะมาอยู่ร่วมในสังคมไทย และมาช่วยพัฒนาสังคมไทย
ถ้าจัดการศึกษานั้นไม่ถูกต้อง โดยละเลยสิ่งที่คนไทยควรจะต้องรู้ ทำให้เขาไม่รู้จักและปฏิบัติตัวไม่ถูกแม้ต่อพระพุทธศาสนา ที่ตัวเขาเองแจ้งว่านับถือ การศึกษานั้นก็กลายเป็นเหมือนการจัดเตรียมคนไทยสำหรับให้ไปอยู่ในสังคมอื่น แล้วฝืนมาอยู่ในสังคมไทยอย่างแปลกแยกต่อกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบทเรียนที่เราได้รับกันอยู่แล้วในปัจจุบัน อันจะไม่เป็นผลดีทั้งแก่ชีวิตของตัวเขาเอง และแก่สังคมไทย
จึงน่าจะต้องยอมรับว่าการศึกษาในยุคปัจจุบันของไทย มีความผิดพลาดในส่วนนี้ ซึ่งควรจะเร่งแก้ไข
๗. ความล้มเหลวด้านหนึ่งของการศึกษาในสังคมไทย ก็คือ การที่ไม่สามารถสร้างผู้นำและคนชั้นนำ ผู้มีความพร้อมและความสามารถ ที่ประชาชนมีศรัทธาเชื่อถือและสามารถมานำประชาชนไปได้อย่างแท้จริง
ในด้านวิชาการและระบบแบบแผนสมัยใหม่ ที่เป็นความเจริญอย่างตะวันตกนั้น เป็นที่แน่นอนชัดเจนว่า การศึกษาของชาติได้ผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถ เก่งกว่าชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปอย่างมากมาย ทำให้เรามีความพร้อมในด้านหนึ่งที่จะพัฒนาสังคม
แต่นั่นเป็นเพียงด้านหนึ่ง ซึ่งแค่นั้นหาพอไม่ เพราะในขณะเดียวกันนั้นเอง ก็เป็นที่แน่นอนชัดเจนเช่นเดียวกันว่า การศึกษาของเราได้ผลิตคนที่ห่างเหินแปลกแยกจากสังคมไทย ไม่รู้จักสังคมไทย ไม่รู้เรื่องราวของไทย ไม่รู้เข้าใจความคิดจิตใจของชาวบ้านที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของไทย
คนที่เป็นผลผลิตของการศึกษาอย่างนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว มาดำเนินชีวิตอยู่ร่วมในชุมชนไทย และทำงานให้แก่สังคมไทยในท่ามกลางคนไทย เขาต้องมาเรียนรู้เรื่องของไทย เช่น วัฒนธรรมไทย และพระพุทธศาสนาตามคติไทยต่อจากชาวบ้าน เขาพูดจาสื่อสารกับชาวบ้านไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ทำให้ต้องสงวนท่าทีและแยกตัวอยู่ต่างหากดำเนินชีวิตและสื่อสารด้วยภาษาที่พิเศษออกไปอย่างเป็นคนต่างชั้นต่างระดับ
ในขณะที่ความเชื่อถือและความรู้ความเข้าใจต่างๆ ของชาวบ้านทั่วไป ผู้ขาดการศึกษาและถือสืบๆ กันมา ได้เลอะเลือนเคลื่อนคลาดไป และขาดทิศทางในการที่จะนำมาประสานใช้ให้เกิดประโยชน์ บางทีบางส่วนก็ถึงกับกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางขัดถ่วงการพัฒนา จำเป็นจะต้องได้รับการชำระสะสางแก้ไขปรับปรุง หรือพื้นฟูขึ้นใหม่ แต่ผู้สำเร็จการศึกษาอย่างสมัยใหม่เหล่านี้ ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะมานำประชาชนในการแก้ไขปรับปรุง หรือฟื้นฟูอะไรได้ เพราะตนมีความรู้ด้อยกว่าคนที่ถูกเรียกว่า ไม่มีการศึกษา ต้องเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นต่อจากชาวบ้านด้วยซ้ำไป แม้แต่จะพูดจาสื่อสารกัน ก็ยังไม่ค่อยจะราบรื่นสะดวกดาย เหมือนมีฉากหรือกำแพงกั้น เข้าไม่ถึงกัน จะไปนำให้เขาตามได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้สังคมไทยจึงขาดประโยชน์ที่จะพึงได้จากการศึกษาสมัยใหม่ เหมือนกับว่าการศึกษาของชาติไทย มิใช่เป็นการศึกษาสำหรับสังคมไทย คือมิใช่เป็นการศึกษาสำหรับสนองความต้องการ และสำหรับนำทางสังคมไทย เป็นการศึกษาที่เตรียมคนไว้สำหรับด้านเดียว คือสำหรับให้เป็นผู้พร้อมที่จะตาม และคอยรับเอาความเจริญจากประเทศพัฒนาแล้วในภายนอก ไม่ใช่เป็นการศึกษาสำหรับเตรียมคนไว้ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย ในขณะที่คนไทยสนใจอยากจะตามรับบริโภคความเจริญจากภายนอก การศึกษาแบบนี้ก็ได้สนองความต้องการแบบตามใจที่จะให้เป็นอย่างนั้น โดยให้หันไปหาคนข้างนอก แต่การศึกษานั้นไม่ได้เตรียมคนข้างใน ที่จะให้รู้เท่าทันคนข้างนอก และปรับปรุงตัวเองตั้งแต่ข้างในออกไป พูดสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาสำหรับตามคนข้างนอก ไม่ใช่การศึกษาสำหรับนำคนข้างใน
ถ้าการศึกษาจะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนไทย ให้พร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย และให้สังคมไทยสามารถพัฒนาตนขึ้นไปจนเป็นผู้นำในประชาคมโลกได้ การศึกษาจะต้องจับหลักของตนเองให้ได้ พร้อมกับที่ศึกษาผู้อื่นอย่างรู้เท่าทัน จะต้องรู้เข้าใจสภาพทั้งของตนและของผู้อื่นในปัจจุบัน โดยหยั่งรู้ลึกลงไปตลอดถึงเหตุปัจจัยทั้งหลายในอดีตที่ทำให้มาเป็นอย่างนั้น เพื่อให้สามารถโยงขึ้นมาสู่การคิดวางแผนสำหรับอนาคตอย่างได้ผลดี
การศึกษาจะต้องกล้าเผชิญหน้าความจริง ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ อยู่ในกระบวนการสืบทอดต่อเนื่องของสังคมไทย ไม่ว่าโดยฐานะที่เป็นสถาบันสังคมอันกว้างใหญ่ก็ดี โดยเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยก็ดี โดยเป็นสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมสังคมไทยก็ดี โดยเป็นมรดกและเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยก็ดี โดยเป็นระบบจริยธรรมที่สังคมไทยได้ยอมรับถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานกันมาก็ดี การศึกษาจะต้องจัดดำเนินการให้คนไทยได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ที่เป็นองค์ความรู้ และในแง่ที่เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตและสังคม
คนที่ต้องการทำลายสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐาน คนที่ต้องการครอบงำสังคมไทย ตลอดจนคนที่ต้องการติดต่อกับสังคมไทยอย่างได้ผล พากันศึกษาคติไทยที่โยงกันกับพระพุทธศาสนามากเท่าใด การศึกษาของไทยก็ควรจัดให้คนไทยได้เล่าเรียนรู้จักพระพุทธศาสนามากเท่านั้น หรือมากกว่านั้น
ทรัพยากรทางวัตถุของประเทศชาติ เมื่อนำออกมาใช้ ก็นับวันแต่จะสูญสิ้นหมดไป และมักจะกลายเป็นเพียงสิ่งแลกเปลี่ยน เพื่อสนองรับใช้ความต้องการของประเทศชาติอื่นที่เขาได้เปรียบอยู่แล้วหรือฉลาดกว่า แต่ทรัพยากรทางนามธรรม คือภูมิธรรมภูมิปัญญาของตนที่มีอยู่ ถ้ารู้จักนำมาใช้นำมาพัฒนา ก็จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ชนิดที่สามารถยกระดับ หรือยกสถานะของตนขึ้นสู่ความเป็นชนชาติชั้นนำได้ ถ้าการศึกษาของไทยทำได้เพียงแค่พัฒนาคนให้สามารถขุดค้นทรัพยากรทางวัตถุออกมาใช้ได้อย่างเดียว ไม่ทำให้เขารู้จักคุณค่าของทรัพยากรทางนามธรรมที่ตนมีอยู่ และไม่สามารถนำมาใช้นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ การศึกษานั้น อาจกลายเป็นการศึกษาสำหรับสร้างความหายนะแก่สังคมไทย
๘. พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ต่างจากศาสนาทั่วไป จนบางทีผู้ที่มองความหมายจากแง่ของศาสนาอื่นๆ ไม่ถือว่าเป็นศาสนา หรือมิฉะนั้นก็ถือกันว่า เป็นศาสนาแห่งปัญญา เพราะไม่บังคับศรัทธา แต่ถือปัญญาเป็นสำคัญ กล่าวคือ ให้เสรีภาพทางความคิด ไม่เรียกร้องและไม่บังคับความเชื่อ ไม่กำหนดข้อปฏิบัติที่บังคับแก่ศาสนิกชน แต่ให้พิจารณาเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง
การปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงต้องอาศัยการศึกษา เพราะในเมื่อไม่กำหนดข้อบังคับในสิ่งที่ต้องเชื่อและต้องปฏิบัติอย่างตายตัวแล้ว ถ้าไม่ศึกษาให้รู้เข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริง ก็มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดความเคลื่อนคลาดผิดเพี้ยนในความเชื่อและการปฏิบัติ เมื่อเชื่อผิดพลาดและปฏิบัติคลาดเคลื่อนไป นอกจากจะเป็นผลเสียหายในทางศาสนาแล้ว ก็ทำให้เกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ การศึกษาหรือสิกขาจึงเป็นเนื้อตัวของชีวิตในทางพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้ระบบจริยธรรมดำเนินไปได้ ผู้นำหรือผู้บริหารกิจการพระพุทธศาสนาจึงต้องเอาใจใส่ ถือเป็นหน้าที่หลักสำคัญที่สุด ที่จะต้องเอื้ออำนวยจัดให้มีการศึกษาแก่พุทธบริษัททั้งปวง
ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา และความเชื่อถือปฏิบัติที่ถูกต้องขึ้นต่อการศึกษาเช่นนี้ ไม่ว่าสถาบันพุทธศาสนาจะเอาใจใส่จัดการศึกษาให้แก่ศาสนิกชนของตนหรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา รัฐที่เป็นประชาธิปไตย และมีความรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของประชาชน และต่อความเสื่อม ความเจริญของสังคม จะต้องเอาใจใส่ขวนขวายเอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพุทธศาสนิกชนนั้นได้มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาให้ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะว่า ความเป็นพุทธศาสนิกชนของประชากรส่วนใหญ่เหล่านั้น อยู่ในตัวบุคคลผู้เดียวกันกับที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย แยกจากกันไม่ออก
ถ้าพลเมืองผู้นั้นในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อถือและปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น เชื่อถือสิ่งเหลวไหล มีความหลงงมงาย มีพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ผลร้ายก็ย่อมตกแก่สังคมไทยนั่นเอง การให้การศึกษาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็คือการพัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศไทย
เพราะฉะนั้น ผู้บริหารรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ถึงแม้จะไม่ห่วงใยเลยว่า พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมไปอย่างไร แต่ก็จำเป็นต้องจัดให้ประชาชนศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคมไทย
อนึ่ง ในกรณีที่นำเอาระบบจริยธรรมอย่างอื่นเข้ามาสอนในระบบการศึกษาของชาติ นอกจากความแปลกแยกขัดแย้งไม่กลมกลืนจะเกิดขึ้นแล้ว ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเชื่อถือและการปฏิบัติที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่างๆ ที่มีอยู่โดยอาศัยชื่อว่าเป็นพุทธศาสนา ก็จะลอยตัวออกไปอยู่นอกเขตความรับผิดชอบของการศึกษา จะเคว้งคว้างหาผู้รับผิดชอบจัดการไม่ได้ เพราะไม่มีข้อกำหนดบังคับศรัทธา หรือข้อกำหนดการปฏิบัติใดๆ ที่องค์กรพุทธศาสนาจะยกไปอ้างบังคับเขาอย่างในศาสนาอื่นได้ และความเชื่อถือปฏิบัติผิดพลาดเสียหายเหล่านั้น ก็จะถูกปล่อยให้ถ่ายทอดสืบต่อขยายตัวออกไปได้โดยเสรี ก่อพิษก่อภัยแก่สังคมไทยกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
(ประสบการณ์ทางการศึกษาในประเทศไทยเองก็ดี ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ดี ได้ชี้บอกว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์ เท่าที่จัดกันมาแล้ว ไม่มีกำลังพอที่จะแก้ปัญหาทำนองนี้ได้ ดังที่เห็นกันอยู่ว่า คนในสังคมสมัยใหม่เอาแต่วัตถุเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตจากวิทยาศาสตร์ แต่ความคิดจิตใจไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็ขาดความมั่นใจไม่ซึมซาบในวิทยาศาสตร์ ความเชื่อถือและการปฏิบัติที่เหลวไหลสวนทางกับวิทยาศาสตร์ก็ยังคงดาษดื่น และยังแถมเอาเทคโนโลยีไปรับใช้ความเชื่อถือและการปฏิบัติเหล่านั้นด้วย ยิ่งในยุคต่อไปนี้ ที่วิทยาศาสตร์ได้เสื่อมเสียฐานะนิยมลงไปมาก การแก้ปัญหาด้วยการมุ่งส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวจะยิ่งไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ)
และในสภาพเช่นนี้ ผู้ที่จะได้รับความกระเทือนประสบผลร้ายมากที่สุด ก็คือสังคมไทย หาใช่พระพุทธศาสนาไม่
๙. ข่าวร้ายต่างๆ ในวงการพุทธศาสนาของไทย เกี่ยวกับภิกษุบางรูปประพฤติเสียหาย ละเมิด ตลอดจนลบล้างบิดเบือนพระธรรมวินัย ปรากฏชัดเจน เป็นเหตุการณ์ใหญ่อื้อฉาวติดต่อกันมาเรื่อยๆ ตลอดเวลาเกือบ ๒ ปี แทบไม่ขาดตอนเลย นับถอยหลังตั้งแต่กรณีนิกร-อรปวีณา ที่เป็นเรื่องใหญ่ล่าสุด ย้อนกลับลงไปจนถึงกรณีโพธิรักษ์ และกรณีเครื่องราชฯ โดยเจ้าคุณอุดมฯ เป็นเครื่องสะท้อนสภาพความเสื่อมโทรมทั้งของสถาบันพุทธศาสนาและสังคมไทย เมื่อมองผ่านๆ ภาพที่เห็นในขั้นแรกก็คืออาการหมักหมมปัญหาในวงการพุทธศาสนาที่เพียบล้นจนโผล่ทะลักออกมา แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป ก็จะเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณอันตราย ที่ชี้บ่งถึงสภาพความเสื่อมโทรมของสังคมไทยทั้งหมดโดยส่วนรวม ที่จะต้องรีบเร่งฟื้นฟูแก้ไข กล่าวคือ
ก) ในด้านภูมิธรรม ตามปกติของสังคมไทย วัดเป็นศูนย์กลางของการสั่งสอนอบรมศีลธรรมจรรยา พระภิกษุได้รับความเคารพนับถือ ในฐานะผู้ทรงศีลมีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นครูของประชาชน ถ้าเรายอมรับว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นชุมชนที่มีจริยธรรมมากที่สุดในสังคมไทย เหตุการณ์อื้อฉาวที่กล่าวข้างต้นก็เป็นเครื่องเตือนใจคนไทย ให้สำนึกว่า สภาพจริยธรรมในสังคมไทยได้ตกต่ำเป็นอย่างยิ่งแล้ว เพราะว่าแม้แต่พระสงฆ์ที่ถือกันว่าอยู่ในสถานะที่จะได้รับการฝึกฝนอบรมทางจริยธรรมอย่างดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็อยู่ในกรอบแห่งระบบการควบคุมทางสังคม ให้มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ก็ยังทรามลงไปได้ถึงเพียงนี้ สภาพตกต่ำเสื่อมโทรมทางจริยธรรมของคนไทยทั่วๆ ไปในสังคมวงกว้าง จะฟอนเฟะหรือเลวร้ายมากสักเพียงไหน
ข) ในด้านภูมิปัญญา การที่ภิกษุผู้มีพฤติกรรมในทางหลอกลวง ประพฤติคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย เผยแพร่สั่งสอนในเรื่องเหลวไหลงมงาย และลัทธินอกพระพุทธศาสนา ตลอดจนบิดเบือนกล่าวตู่พุทธพจน์ลบล้างพุทธบัญญัติ แต่กลับได้รับความนิยมนับถือมากมายกว้างขวาง รุ่งเรืองด้วยบริษัทบริวาร กว่าจะล่วงรู้กันถึงความผิดเรื่องก็เลวร้ายความเสียหายก็ถึงขั้นรุนแรงแล้ว อย่างที่เป็นมานี้ สภาพเช่นนี้เป็นเครื่องฟ้องอย่างชัดเจน ถึงการที่ประชาชนหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา และขาดความพินิจพิจารณาหรือขาดวิจารณญาณที่จะรู้เท่าทันและวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
สภาพตกต่ำเสื่อมโทรมทั้งทางภูมิธรรม และภูมิปัญญาอย่างที่กล่าวมานี้ น่าจะเพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นเตือนปลุกเร้าผู้บริหาร ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายพระศาสนา บุคคลผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดถึงคนไทยทุกคน ให้เกิดความสำนึกตื่นตัวขึ้นมาเร่งรีบแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดและส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่การเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและหลักคำสอนที่ถูกต้องแท้จริง อย่างน้อยให้มีภูมิปัญญาเพียงพอที่จะรู้จักแยกได้ว่าอะไรเป็นพุทธศาสนา อะไรไม่ใช่ และในแง่ของการฝึกฝนอบรมทางจริยธรรม เพื่อยกระดับภูมิธรรมให้สูงขึ้นไป อย่างน้อยพอที่จะเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าสามารถมีส่วนร่วมในการดำรงรักษาสังคมให้เป็นปกติสุข
๑๐. จริยศึกษาของรัฐใน ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีแนวโน้มที่จะหันเหไปในทิศทางของจริยธรรมสากล ประจวบกับในช่วงหลังนี้ แนวความคิดแบบบูรณาการได้เฟื่องฟูขึ้น ก็จึงได้นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลนั้นมาประสานเข้ากับแนวความคิดแบบบูรณาการ โดยให้บูรณาการการสอนจริยธรรมเข้าในวิชาต่างๆ ทุกวิชา หรือให้ครูแต่ละคนสอนจริยธรรมบูรณาการเข้าในวิชาของตน สอดคล้องกับหลักในอุดมคติที่ถือว่าครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา
ไม่ต้องพูดถึงว่า การสอนแบบบูรณาการอย่างที่กล่าวนั้นจะยังเป็นเพียงเสียงร่ำร้อง และความหวังทางวิชาการ โดยที่การปฏิบัติที่เป็นจริงยังห่างไกลจากหลักการที่เป็นอุดมคติมากเพียงไร แม้แต่สมมติว่าครูทั้งหลายจะปฏิบัติตามหลักการสอนแบบบูรณาการได้แล้ว คือสมมติว่าครูทุกคนเอาใจใส่ และสามารถสอนจริยศึกษาโดยบูรณาการเข้าในวิชาของตนๆ ได้แล้ว สมมติว่าทำได้จริงอย่างนั้นแล้ว (ซึ่งที่จริงยังไม่เป็น) ก็หาใช่ว่าจะได้มีการบูรณาการทางการศึกษาแล้วอย่างถูกต้องเพียงพอ ตามความหมายที่แท้จริงไม่
การบูรณาการด้วยการสอนจริยธรรม เข้าในวิชาทุกวิชานั้น เป็นเพียงแง่หนึ่งด้านหนึ่งของบูรณาการ เป็นการบูรณาการในขอบเขตที่แคบจำเพาะส่วนหนึ่งเท่านั้น คือเป็นเพียงการบูรณาการ ในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือในห้องเรียนเท่านั้น แต่การบูรณาการที่สำคัญๆ ในความหมายที่กว้างกว่าและเป็นขั้นตอนที่ใหญ่กว่า ได้ถูกมองข้ามและขาดหายไป ในการจัดจริยศึกษาตามแนวคิดแบบจริยธรรมสากลนั้น
บูรณาการสำคัญขั้นตอนใหญ่ที่ขาดหายไป คือ
๑) บูรณาการองค์จริยธรรมเข้าในระบบจริยธรรม หมายถึง การบูรณาการจริยธรรมเฉพาะอย่าง เข้าในระบบจริยธรรมที่เป็นองค์รวม หรือบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมเข้าในชีวิตจริง
จริยธรรมเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตนั้นเป็นระบบของความสัมพันธ์ หรือการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย และปฏิบัติต่อกันกับชีวิตอื่นๆ จริยธรรมแต่ละอย่างหรือแต่ละข้อจึงสัมพันธ์กันและโยงไปหาจริยธรรมข้ออื่นๆ ในระบบที่เป็นองค์รวมนั้น
ระบบจริยธรรมก็คือ ระบบของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั่นเอง ดังนั้น เมื่อสอนจริยธรรมโดยสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ โดยสัมพันธ์กับระบบของมัน หรือสอนโดยให้เห็นความสัมพันธ์กันกับจริยธรรมข้ออื่นๆ ในระบบ ผู้เรียนก็จะมองเห็นภาพรวมของระบบความสัมพันธ์ หรือการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ทำให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผล และเห็นคุณค่าของจริยธรรมอย่างแท้จริง และทำให้บูรณาการจริยธรรมเข้าในระบบการดำเนินชีวิตได้ง่าย
ยกตัวอย่าง เช่น การไม่ทำลายชีวิตหรือไม่ฆ่าไม่ทำร้ายผู้อื่น เป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี และให้สังคมมีความสงบสุข การอยู่ร่วมกันด้วยดีของมนุษย์นั้น เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ที่ถูกต้องต่อกัน ซึ่งมนุษย์จะต้องไม่เบียดเบียนกัน ไม่ละเมิดต่อกันทั้งในด้านชีวิตร่างกาย ในด้านทรัพย์สิน ในด้านคู่ครอง ในด้านการกล่าววาจาต่อกัน และมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวควบคุมตัวได้ ซึ่งจะเป็นหลักประกันขั้นต้นที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกไว้วางใจหรือปลอดภัยว่า บุคคลนั้นจะไม่ทำการละเมิดหรือเบียดเบียนในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว
การไม่ฆ่าไม่ทำร้ายกันเป็นเพียงข้อปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในระบบความสัมพันธ์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดีมีความสงบสุข ด้วยเหตุนี้ การสอนจริยธรรมที่จะให้เข้าใจชัดเจนและได้ผลดีในทางปฏิบัติ จึงต้องสอนจริยธรรมข้อนั้นๆ โดยโยงถึงระบบการดำเนินชีวิตดีงามที่เป็นองค์รวมทั้งหมดด้วย เริ่มตั้งแต่ให้ได้มโนทัศน์รวมแห่งการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน หรือไม่ละเมิดต่อกัน ไม่ใช่เพ่งมองแคบๆ อยู่แค่การไม่ฆ่าฟันทำร้าย โดยเห็นเป็นพฤติกรรมเฉพาะอย่างโดดเดี่ยวขาดลอยจากระบบการดำเนินชีวิตที่เป็นองค์รวม ซึ่งเมื่อสอนไปแล้ว ผู้เรียนอาจจะได้แค่เรียนรู้และจำไว้ว่าจะต้องไม่ทำอย่างนั้นๆ
อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมพื้นฐานซึ่งเป็นท่าทีที่ถูกต้องดีงามของจิตใจต่อคนอื่น แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบของความสัมพันธ์ ซึ่งการมีท่าทีที่ถูกต้องสมบูรณ์จะไม่เพียงแค่มีเมตตาเท่านั้น กล่าวคือ
เมื่อผู้อื่นอยู่ดีเป็นปกติ เราจึงควรมีท่าทีแห่งความรักหรือปรารถนาดี ที่เรียกว่า เมตตา
แต่เมื่อผู้อื่นประสบปัญหามีความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็ต้องมีท่าทีแห่งความสงสารคิดการที่จะช่วยเหลือ ซึ่งเรียกว่า กรุณา
ครั้นผู้อื่นประสบความสำเร็จ แก้ปัญหาได้ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น มีความเจริญก้าวหน้า เราก็ต้องมีท่าทีแห่งความพลอยยินดี ส่งเสริมกำลังใจ ให้ความสนับสนุน ที่เรียกว่า มุทิตา
แต่เมื่อถึงเวลา ถึงโอกาสหรือถึงสถานการณ์ที่ผู้อื่นนั้นควรจะต้องรับผิดชอบตนเอง หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ของแต่ละคนหรือแต่ละฝ่าย เราก็จะต้องมีท่าทีแห่งการวางใจเป็นกลาง คอยมองดูและรอได้ โดยพร้อมที่จะปฏิบัติไปตามความชอบธรรมและเป็นธรรม ที่เรียกว่า อุเบกขา
การสอนเมตตาให้ถูกต้องและได้ผลดี จึงต้องสอนให้สัมพันธ์โยงกับระบบของมัน คือบูรณาการเข้าในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงามได้ ซึ่งผู้เรียนจะเข้าใจชัดเจนซาบซึ้ง มองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของคุณธรรมและจริยธรรมนั้นๆ ภายในระบบของมัน และปฏิบัติได้ถูกต้อง แต่ถ้าสอนเมตตาอย่างโดดเดี่ยวขาดลอย นอกจากจะเกิดความไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งในด้านความเข้าใจแล้ว ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ และการที่จะปฏิบัติเคลื่อนคลาดไขว้เขวอีกด้วย
นอกจากนี้ ระบบแห่งท่าทีที่ถูกต้องดีงามของจิตใจภายในตัวบุคคลนี้ ยังโยงสัมพันธ์กับระบบแห่งปฏิบัติการต่อกันในสังคมอีกด้วย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั้นแสดงออกสู่การปฏิบัติในทางสังคม ด้วยการให้และเผื่อแผ่แบ่งปัน การพูดจาแนะนำให้ความรู้ให้ความอบอุ่นและกำลังใจ การช่วยเหลือสละแรงงานทำประโยชน์ให้ และการทำตัวให้เข้ากัน ร่วมอยู่ร่วมทำงานกันได้ ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ดังนี้เป็นต้น
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า พระพุทธศาสนามักสอนหลักธรรมต่างๆ โดยจัดเป็นชุดๆ มีจำนวนข้อต่างๆ กัน ตั้งแต่ข้อเดียวไปจนถึงเกิน ๑๐ ข้อ เพราะจริยธรรมเป็นระบบของการดำเนินชีวิตที่ดีงามดังกล่าวแล้ว หลักธรรมชุดหนึ่งๆ หรือหมวดหนึ่งๆ ก็คือ ระบบจริยธรรมที่เป็นองค์รวมหนึ่งๆ ซึ่งองค์ธรรมหรือข้อธรรมย่อยในหมวดนั้น มีความสัมพันธ์กันในเชิงความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัยบ้าง ในเชิงองค์ประกอบที่แยกย่อยออกไปซึ่งจะต้องมีให้ครบถ้วน จึงจะเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์บ้าง ในเชิงแง่ด้านต่างๆ ของปฏิบัติการที่จะต้องให้มาประสานกลมกลืนกันบ้าง ในเชิงที่ให้เป็นส่วนเติมเต็มแก่กันบ้าง ในเชิงของการปฏิบัติที่ครบวงจรบ้าง ในเชิงการมองหรือสำรวจความจริงอย่างทั่วตลอดและรอบด้านบ้าง
การไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติหรือไม่ให้การศึกษาให้ถูกต้องตามความสัมพันธ์ในเชิงระบบ และการมองไม่เห็นภาพเต็มขององค์รวม จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนไม่สมบูรณ์ และการปฏิบัติที่เคลื่อนคลาด หรือไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น เมื่อสอนจริยธรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ท่านจึงสอนหลักธรรมชุดที่เรียกว่า เบญจศีล หรือ ศีล ๕ ให้เห็นภาพรวมของระบบการอยู่ร่วม โดยไม่เบียดเบียนหรือไม่ละเมิดต่อกัน ไม่สอนเฉพาะอย่างกระจัดกระจาย นอกจากในกรณีจะเน้นย้ำเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้ที่มองเห็นภาพรวมอยู่แล้ว หรือก่อนที่จะนำโยงเข้าสู่ระบบต่อไป
และในทำนองเดียวกันนั้นเอง ท่านจึงสอนหลักเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างสัมพันธ์ประสานเสริมกัน ในองค์รวมที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ ไม่แยกออกมาสอนเฉพาะอย่างพลัดพรายกันไป จนบางอย่างถูกลืมเหมือนจะหายไปเลย และส่วนที่อยู่ก็กลายเป็นพร่าๆ คลุมเครือ เพราะขาดตัวเทียบเคียงและไม่ได้ภาพรวม ซึ่งนำไปสู่ผลรวมสุดท้ายคือความเข้าใจและการปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน เคลื่อนคลาด ตลอดจนแม้กระทั่งก่อผลเสียหายแก่ชีวิตและสังคม
การจัดหลักสูตรจริยธรรมในปัจจุบัน ที่หันไปทางจริยธรรมสากลนั้น ทำไปทำมาจะกลายเป็นการเลือกเก็บเอาหัวข้อ จริยธรรมจำเพาะแต่ละอย่างๆ มาสอนนักเรียน โดยนำมาจัดเรียงเป็นรายการเหมือนดังบัญชีสินค้า ซึ่งหัวข้อจริยธรรมต่างๆ ในบัญชีไม่มีความสัมพันธ์กัน ไม่เป็นระบบ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้จัดเตรียมให้สอนอย่างเป็นระบบ หัวข้อจริยธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ถูกเก็บแยกออกมาจากระบบของมัน เหมือนเป็นชิ้นส่วนแต่ละอัน แล้วนำมาสอนเป็นแต่ละอย่างๆ จำเพาะเรื่อง กระจัดกระจาย โดดเดี่ยว หรืออาจจะถึงกับเคว้งคว้างขาดลอย ยากที่จะบูรณาการเข้าในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรืออย่างน้อยก็เป็นระบบที่บกพร่องเว้าแหว่งไม่สมดุล ทำให้ไม่สมบูรณ์ และไม่ได้ผลดี
หลักการที่เรียกว่าจริยธรรมสากล (ในประเทศต้นตำรับเอง ก็ยังไม่มีการยอมรับคำนี้) นั้น เมื่อแรกเกิดในประเทศอเมริกา สาเหตุเริ่มต้นก็มาจากการหาทางแก้ปัญหาความแตกแยกในหมู่ชาวคริสต์เอง ที่แบ่งกันเป็นนิกายต่างๆ ซึ่งตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้โรงเรียนสอนศาสนาคริสต์และหลักศีลธรรมของคริสต์ตามแบบของใคร จนกระทั่งต้องไปตั้งโรงเรียนสอนศาสนาและศีลธรรมของตนต่างหากกัน จึงมีการพยายามจัดตั้งหลักคำสอนศีลธรรมที่เป็นกลางๆ ขึ้นมาสำหรับใช้ในโรงเรียน ไม่ให้ขัดกับนิกายไหนๆ
ต่อมาความคิด และความเพียรพยายามด้านนี้ก็มีความเป็นวิชาการมากขึ้น แล้วก็ได้พัฒนาเข้าประสานกับความคิดทางปรัชญา โดยที่จอห์น ดิวอี้ ได้เป็นบุคคลสำคัญในยุคหลังที่คิดแก้ปัญหาความแตกแยกของนิกายศาสนาให้ได้อย่างถาวร ถึงกับพัฒนาหลักศีลธรรมจรรยาตามแนวปรัชญาปฏิบัตินิยมขึ้นมา เป็นฐานรองรับหลักการที่เหมือนตั้งศาสนาขึ้นใหม่ให้เป็นของกลางร่วมกันของอเมริกา ทำนองว่าเป็นศาสนาประชาธิปไตย ซึ่งบางทีก็เรียกว่าศาสนาประชาราษฎร์ (civil religion) เท่ากับว่า คนอเมริกันก็มองจริยธรรมสากลนี้ว่าเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่งเหมือนกัน31
จริยธรรมสากลนั้น เกิดขึ้นในยุคที่อเมริกากำลังพุ่งแล่นไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ เป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ซึ่งเป็นความเจริญตามแนวความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน จริยธรรมจึงถูกมองเป็นข้อปฏิบัติย่อยๆ แต่ละเรื่องแต่ละอย่าง ที่จะเลือกเอามาสั่งสอนปลูกฝังเป็นข้อๆ โดยไม่รู้ตระหนักถึงความสัมพันธ์กันของจริยธรรมต่างๆ ซึ่งจะต้องปลูกฝังด้วยการบูรณาการในระบบของการดำเนินชีวิต
จนกระทั่งไม่นานนี้เอง แนวความคิดแบบบูรณาการได้เริ่มเฟื่องฟูเด่นขึ้น ในวงการการศึกษาก็จึงมีการนำเอาหลักการแบบจริยธรรมสากลนั้นเข้ามาประสานกับแนวความคิดและปฏิบัติการเชิงบูรณาการด้วย แต่ก็ดูจะเน้นกันเพียงแค่การบูรณาการในขอบเขตความหมายที่แคบๆ คือในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน ในแง่ที่จะบูรณาการเข้าในวิชาทุกวิชา หรือให้ครูทุกคนบูรณาการจริยธรรมเข้าในวิชาของตนๆ ทุกวิชาเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเรื่องนี้มีความขัดกันเองอยู่ในตัว กล่าวคือ ในขณะที่หลักจริยธรรมสากลมีสาระสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน ที่ตรงข้ามกับความคิดแบบบูรณาการ คือเมื่อว่าโดยพื้นฐานหรือสาระสำคัญแล้ว จริยธรรมสากลเป็นตัวทำลายบูรณาการ แต่เรากลับไปเอาหลักจริยธรรมสากลนั้นมาใช้กับหลักการแบบบูรณาการ จึงมีลักษณะที่เป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่สอดคล้องกลมกลืน และลงท้ายก็คือไม่สมบูรณ์และไม่ได้ผลดี
(จริงอยู่ ในสมัยเดียวกับจอห์น ดิวอี้ แนวคิดแบบองค์รวมได้เริ่มปรากฏเด่นขึ้นบ้างแล้ว แต่อยู่ในวงของวิชาจิตวิทยา ได้แก่จิตวิทยาเกสตอลท์ แม้จะมีการพยายามแสดงแนวคิดนี้ในแง่ของวิชาการอื่นๆ ด้วย ก็ยังมีเพียงประปรายและไม่เป็นที่สนใจกว้างออกไป และที่สำคัญก็คือยังไม่มาเชื่อมโยงกับเรื่องของบูรณาการ จอห์น ดิวอี้เสียอีกที่ได้แสดงความคิดและเสนอการปฏิบัติแบบบูรณาการบางอย่าง เช่น การบูรณาการโรงเรียนเข้ากับสังคม การบูรณาการปัจเจกชนเข้ากับกลุ่ม การบูรณาการเด็กเข้ากับหลักสูตร เป็นต้น แต่ก็เป็นความคิด และการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะของกาลเทศะเป็นสำคัญ มิใช่เป็นแนวคิดพื้นฐานที่จะให้ภาพรวมของสัจธรรม นอกจากนั้น นักการศึกษาและนักวิชาการต่อๆ มาก็ไม่ได้ให้ความสังเกตและความสนใจพิเศษกับความคิดของเขาในเรื่องนี้)
๒) การบูรณาการคนเข้าในชุมชน หรือบูรณาการบุคคลเข้าในสังคม
ผู้ที่ติดตามข่าวทางการศึกษาจะทราบว่า ในประเทศอเมริกา ได้มีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกผิว เป็นเรื่องใหญ่โต ตลอดมา วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ที่สำคัญก็คือการที่จะบูรณาการคนผิวดำเข้าในสังคมอเมริกัน เช่น เมื่อ ๑๐ กว่าปีมานี้ ก็มีการใช้วิธีที่เรียกว่า busing คือใช้รถบัสบรรทุกนักเรียนผิวดำไปเรียนร่วมกับนักเรียนผิวขาว และบรรทุกนักเรียนผิวขาวไปเรียนร่วมกับนักเรียนผิวดำ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและต่อต้านอย่างรุนแรง มีการขัดขวางใช้กำลังต่อสู้กันเป็นข่าวอยู่นาน
ในสังคมไทยเราไม่มีปัญหาอย่างนั้น แต่เราก็มีเรื่องที่ต้องทำในประเภทเดียวกันนั้น คือการบูรณาการคนรุ่นใหม่เข้าในสังคมไทย และในปัจจุบันเราก็มีปัญหานี้มากขึ้น แม้ว่าปัญหาจะไม่ออกมาในรูปที่รุนแรง แต่ก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และการพัฒนาสังคมไม่น้อย
ในเมื่อจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมไทย และกลายเป็นเนื้อหาของวัฒนธรรมไทยไปแล้ว เช่นในด้านภาษาเป็นต้น ถ้าเด็กนักเรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักไม่เข้าใจจริยธรรมตามแบบของพระพุทธศาสนานั้น หรือเรียนตามแบบจริยธรรมอย่างอื่น ก็จะเกิดปัญหาที่ไม่อาจบูรณาการตัวเองเข้าในสังคมไทย หรือเข้าไม่ได้สนิท อาจจะเกิดความแปลกแยกกับสังคมของตน จะอยู่ร่วม ทำงานร่วม และทำงานให้แก่สังคมของตนไม่ได้ผลดี เพราะแปลกแยกกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ยิ่งกว่านั้น เขาจะไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมไทยก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์แก่เขา เช่น ได้ยินถ้อยคำที่เขาใช้กันในชุมชนของตนเองว่า บุญ บาป กรรม กรุณา สติ สังฆทาน ศีล ภาวนา ก็ไม่เข้าใจ สิ่งเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่ไร้ประโยชน์สำหรับเขา เขาไม่สามารถเอาไปใช้สื่อสารกับคนอื่นในชุมชน ไม่สามารถเอาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาตนเอง หรือใช้ประโยชน์ในชีวิตของตน ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดและถ้อยคำเหล่านั้น ตลอดจนกลายเป็นเหมือนคนพวกอื่นนอกชุมชน และนอกสังคมนั้น อย่างน้อยก็มีความอึดอัดที่จะอยู่ร่วมในชุมชนของตน และผลต่อสังคมส่วนรวมคือสภาพต่อไม่ติดและไม่กลมกลืนกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม
๓) การบูรณาการสถาบันการศึกษาเข้าในระบบจริยศึกษาของชุมชน หรือบูรณาการจริยศึกษาของโรงเรียนเข้าในระบบจริยศึกษาของชุมชน
การศึกษาไม่ใช่เป็นงานผูกขาดของโรงเรียนแต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะจริยศึกษายิ่งเป็นภารกิจที่ชุมชน หรือสังคมทุกส่วนจะต้องร่วมมือประสานงานกัน และเป็นการศึกษาส่วนที่องค์ประกอบอื่นๆ ของชุมชนจะร่วมมือหรือเสริมต่อรับช่วงส่งต่อกันได้ดีที่สุด
ในชุมชนหนึ่งๆ ถ้าโรงเรียนกับบ้านและวัดรู้กันและร่วมมือกัน เช่น โรงเรียนสั่งสอนแนะนำหรือพูดถึงอะไร บ้านและวัด ก็เสริมขยายเน้นย้ำในเรื่องนั้นได้ บ้านและวัด แนะนำเอ่ยอ้างพูดอะไร เด็กไปโรงเรียนก็ถามเพิ่มเติมได้ หรือโรงเรียนก็อาจเอามาชี้แจงเสริมขยายย้ำเน้นได้ โดยที่ทั้งโรงเรียน วัด และบ้าน มีส่วนร่วมอยู่ในระบบจริยศึกษาอย่างกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
แต่ถ้าโรงเรียนใช้ระบบจริยธรรมที่แตกต่างออกไป ใช้คำศัพท์ถ้อยคำคนละอย่าง นอกจากบ้านและวัดหรือชุมชนส่วนอื่นทั้งหมดจะช่วยเหลือร่วมมือเสริมต่ออะไรไม่ได้ และเด็กจะไม่สามารถรับเอาประโยชน์ที่พึงได้ จากสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนแล้ว โรงเรียนก็จะทำงานของตนไปแต่ลำพังผู้เดียวโดดเดี่ยวแปลกแยกจากชุมชน เข้ากับชุมชนไม่ได้ หรืออาจถึงกับขัดแย้งกัน ผลสุดท้ายก็คือจริยศึกษาที่ล้มเหลว มองในวงกว้างก็คือ สภาพที่การศึกษาในโรงเรียน กับวิถีชีวิตของชุมชนนอกโรงเรียน ไม่กลมกลืนและไม่เกื้อกูลกัน โรงเรียนไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และไม่ไปด้วยกันกับชุมชน ไม่ต้องพูดถึงการที่จะเป็นผู้นำของชุมชน
ยิ่งกว่านั้น เมื่อโรงเรียนอยู่ในระบบจริยศึกษาเดียวกับชุมชน พูดจาด้วยคำศัพท์เดียวกับชุมชน โรงเรียนจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวนำและเป็นตัวเร่งเร้า ในการปรับปรุงส่งเสริมจริยธรรมของชุมชนทั้งหมด หรือเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ด้วย เช่นโรงเรียนอาจยกประเด็นทางจริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ให้ชุมชนเอาใจใส่พิจารณา และปรับความเข้าใจตลอดจนปรับพฤติกรรมเป็นต้น แต่ถ้าถือจริยธรรมต่างระบบต่างถ้อยคำกัน สื่อสารกันไม่ได้แล้ว โอกาสที่จะทำประโยชน์นี้ก็ย่อมหมดไป
๑๑. ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐให้แยกอาณาจักรกับศาสนจักรขาดออกจากกัน และไม่ให้มีการสอนจริยธรรมตามหลักศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ให้สอนจริยธรรมที่เป็นกลางๆ อย่างที่เรียกว่าศาสนาประชาราษฎร์ เนื่องจากศาสนาคริสต์ต่างนิกายกันตกลงกันไม่ได้ดังกล่าวแล้ว หันไปมองดูประเทศที่พัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตกอีกประเทศหนึ่ง ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือกันว่าเป็นแม่แบบแห่งระบอบประชาธิปไตย กลับถือศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษหรือแองกลิคาน (Church of England) เป็นศาสนาประจำชาติ หรือศาสนาของราชการ และตรากฎหมายบังคับ ให้โรงเรียนต้องจัดสอนวิชาศาสนาให้นักเรียนต้องได้เรียนวิชาศาสนาคริสต์ทั่วทุกคน
อาจพูดสั้นๆ ว่า ในประเทศอเมริกา วิชาบังคับที่แท้มีวิชาเดียว คือ วิชาการปกครองของประเทศอเมริกา แต่ในประเทศอังกฤษ วิชาบังคับแท้จริงมีวิชาเดียว คือวิชาศาสนาคริสต์
ในประเทศอังกฤษ พระราชบัญญัติการศึกษา ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) กำหนดให้การเรียนวิชาศาสนา เป็นการศึกษาบังคับสำหรับนักเรียนทุกคน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๑ รัฐได้ออกกฎหมายใหม่ เรียกว่าพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา ค.ศ. ๑๙๘๘ กฎหมายใหม่นี้ ได้กำหนดหลักสูตรพื้นฐานขึ้นมา (basic curriculum) โดยจัดแยกเป็น ๒ ส่วน คือ การศึกษาวิชาศาสนา (religious education) ที่มีมาแต่เก่าก่อนนั้นส่วนหนึ่ง กับส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่เรียกว่า หลักสูตรแห่งชาติ (National Curriculum) ซึ่งประกอบด้วยวิชาสามัญต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น32
มีข้อแตกต่างที่ควรสังเกตก็คือ วิชาทั้งหลายในส่วนที่สองที่เรียกว่าหลักสูตรแห่งชาตินั้น บังคับเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีอายุในเกณฑ์บังคับเท่านั้น แต่วิชาศาสนาซึ่งเป็นส่วนแรก เป็นวิชาบังคับสำหรับนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะมีอายุอยู่ในเกณฑ์บังคับหรือไม่ และในส่วนของวิชาศาสนานี้ กฎหมายใหม่ได้สำทับให้การเล่าเรียนและการปฏิบัติศาสนาคริสต์เป็นไปอย่างหนักแน่นมากขึ้น ในขณะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเรียนศาสนาอื่นได้ด้วย (คงเป็นเพราะปัจจุบันนี้ ในประเทศอังกฤษมีคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น)
การศึกษาวิชาศาสนาตามกฎหมายปัจจุบันของอังกฤษ มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างอื่นอีก คือ
ในด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ศาสนา และวัฒนธรรมนั้น ประเทศอังกฤษมีลักษณะคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย มากกว่าประเทศอเมริกาอย่างแน่นอน ผู้บริหารประเทศและผู้บริหารการศึกษาของไทย จึงน่าจะได้ศึกษาพิจารณาหาคติ จากการจัดการศึกษาของประเทศอังกฤษบ้าง ไม่ควรมองที่จะเอาอย่างแต่อเมริกาสถานเดียว
การบังคับไม่ยอมให้นักเรียนซึ่งมีศาสนาอยู่แล้ว ได้เล่าเรียนทำความรู้จักศาสนาที่ตนนับถือ ก็เป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่ง เว้นแต่จะมีเหตุผลขัดข้อง ทำให้ไม่อาจทำได้อย่างในประเทศอเมริกา ส่วนการบังคับให้นักเรียนที่นับถือศาสนาต่างออกไป ต้องเรียนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ โดยไม่ยอมให้เขาได้มีโอกาสเรียนศาสนาที่เขานับถือ ก็เป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง
ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง พอดีๆ ก็คือ ให้นักเรียนทั้งหลายได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถือ และให้การศึกษาศาสนานั้น เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาคุณภาพประชากร ถ้าประชากรทั้งหมด หรือส่วนใหญ่แทบทั้งหมด นับถือศาสนาเดียวกันตามหลักคำสอนเดียวกันอยู่แล้ว รัฐก็เข้ารับภาระจัดการศึกษาศาสนา สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น โดยถือเป็นกิจของประเทศชาติ แต่พร้อมกันนั้นก็เอื้ออำนวยให้คนส่วนน้อยมีโอกาสที่จะได้เล่าเรียนศาสนาของตนๆ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (เช่น รัฐจะช่วยเอาธุระมากน้อยแค่ไหน ก็พิจารณาตามจำนวนผู้นับถือ เป็นต้น)
๑๒. จริยธรรมสากลนั้น ก็ดังได้เคยกล่าวถึงข้างต้นแล้วว่า ยังมิใช่เป็นคำเรียกชื่อที่ยอมรับกันเป็นทางการ ยังมิใช่เป็นคำที่ใช้กันมาก แม้แต่ในประเทศที่เป็นต้นแหล่งของแนวความคิดแบบนี้เอง จะมีใช้บ้างก็เป็นเพียงคำพูดในเชิงพรรณนาลักษณะอย่างประปราย (เช่นพูดถึง universal creed บ้าง universal values บ้าง)
ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นคิดในการสรรหาจริยธรรมที่เป็นกลางๆ อย่างนี้ เมื่อความคิดและการดำเนินการในเรื่องนี้ ได้ดำเนินมาระยะหนึ่ง พอมีเนื้อหาและหลักปรัชญาชัดเจนขึ้น ก็ได้มีผู้เสนอใช้ชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า ศาสนาประชาราษฎร์ (civil religion) ดังได้เคยกล่าวถึงแล้วข้างต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้โรงเรียนสอนจริยธรรมที่เป็นกลางๆ หรือศาสนาประชาราษฎร์นี้ โดยไม่ให้สอนศาสนาหรือลัทธินิกายอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ เนื่องจากศาสนาคริสต์ที่แบ่งแยกกันเป็นต่างนิกายตกลงกันไม่ได้ว่าจะสอนศาสนาคริสต์นั้นในแบบของใครและอย่างไร ความคิดนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นหลักการ คือการที่จะป้องกันไม่ให้มีการยัดเยียดหรือยัดใส่ความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งหรือที่เป็นรูปสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งลงในสมองของเด็ก (indoctrination) ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีโอกาสใช้ความคิดพิจารณาและตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง
เมื่อถึงขั้นนี้การไม่สอนศาสนาแบบใดแบบหนึ่งในโรงเรียน นอกจากเป็นเพราะเหตุผลเกี่ยวกับความแตกแยกในทางศาสนาแล้ว ก็กลายเป็นเหตุผลในทางปรัชญาการศึกษา และเป็นเรื่องของหลักการทางการศึกษาไปทีเดียว ประเทศอเมริกาได้ยึดมั่นในหลักการข้อนี้เป็นสำคัญอย่างมาก โดยถือเป็นหลักการของการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย และยึดเอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นที่ยืนยัน
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นแตกต่าง และการขัดแย้งถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า จะสอนหรือไม่สอนศาสนาอะไรและอย่างไร ก็ได้ดำเนินไปในสังคมอเมริกันอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพราะพื้นเดิมก่อนการแตกแยกที่ทำให้สหรัฐต้องเลิกสอนศาสนานิกายหนึ่งใดในโรงเรียนนั้น การศึกษาของอเมริกันตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศ ก็ถือการสอนศาสนาและศีลธรรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง
แม้เมื่อกำหนดไม่ให้สอนศาสนาในโรงเรียนเป็นทางการแล้ว สังคมอเมริกันก็ยังต้องการให้เด็กเรียนรู้ศาสนาของตน ทั้งเพื่อประโยชน์ในทางจริยธรรม และในแง่การสืบทอดมรดกและความมีชีวิตจิตใจแบบอเมริกัน นอกจากการไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่ตั้งขึ้นต่างหากแล้ว ก็มีการพยายามจัดสอนในรูปลักษณะอื่นๆ ซึ่งได้ปรากฏออกมาเป็นปัญหาให้สังคมและศาลได้ถกเถียงวินิจฉัยกันอยู่เรื่อยๆ เช่น จะไม่สอนศาสนาในอาคารโรงเรียน แต่จะสอนบนพื้นที่ในบริเวณโรงเรียนได้หรือไม่ จะสอนในตัวอาคารโรงเรียน แต่ไม่สอนในเวลาเรียนได้หรือไม่
บางทีรัฐบาลรัฐใช้อำนาจบริหาร กำหนดให้มีการสอนศาสนาและศีลธรรมในโรงเรียนในรัฐของตน บางทีก็ออกกฎหมายบังคับให้ถือข้อปฏิบัติทางศาสนาบางอย่าง เช่น การอ่านไบเบิลประจำวัน หรือคิดทำบทสวดอ้อนวอนพระเจ้าที่เป็นกลาง ให้พวกที่นับถือศาสนาเทวนิยมต่างศาสนากันใช้ร่วมกันได้ แต่แล้วก็มีผู้ทำเป็นคดีขึ้นศาล ศาลตัดสินให้รัฐแพ้ไปก็มี ดังนี้ เป็นต้น33
แม้แต่คำว่า "ศาสนา" (religion) ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็มีปัญหามาตลอดว่าหมายถึงอะไร แค่ไหน ก่อนโน้น (ราว พ.ศ. ๒๔๔๓) ศาลอเมริกันวินิจฉัยให้คำจำกัดความว่า ศาสนา หมายถึงการบูชาเทพสูงสุด และต่อมายังไขความว่า หมายถึงการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ รวมไปถึงการที่จะต้องเคารพเชื่อฟังเทพเจ้าสูงสุดนั้นด้วย ศาลอเมริกันจำกัดความและไขความอย่างนี้ เพราะคนอเมริกันสมัยนั้นรู้จักแต่ศาสนาแบบศรัทธาต่อเทพเจ้าหรือต่อบรมเทพเท่านั้น หารู้จักศาสนาในความหมายอย่างที่ชาวพุทธเข้าใจไม่ เมื่อเขาจำกัดความหมายอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็ไม่เข้าข่ายที่จะเป็นศาสนาตามบัญญัติของเขา
ต่อมาเมื่ออเมริกันติดต่อกับคนชาติอื่น โดยเฉพาะทางอาเซียมากนั้น และมีคนทางอาเซียเข้าไปในอเมริกามากขึ้น เรื่องนี้ก็เลยเป็นปัญหาอีก ราวๆ พ.ศ. ๒๔๙๐ ศาลอเมริกันก็ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความคำว่า "ศาสนา" ใหม่อีก โดยหาทางพูดให้คลุมถึงพระพุทธศาสนาเป็นต้นด้วย แต่เมื่อขยายความหมายออกไปอย่างนั้นแล้ว ปัญหาใหม่ๆ ในแง่อื่นๆ ก็ตามเข้ามาอีก ชักจะเกิดความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น เช่น ดีไม่ดี ไปๆ มาๆ การปฏิบัติตามคำจำกัดความนั้นก็จะไปขัดแย้งกับตัวหลักการเสียเอง เช่นกลายเป็นการไปปิดกั้นการแสวงปัญญาของผู้เรียนเสียอีก เป็นต้น
ยิ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ที่คนอเมริกันกำลังตื่นตระหนกกันว่า สังคมของตนมีความเสื่อมโทรมทางจิตใจและตกต่ำทางจริยธรรมมาก จึงเรียกร้องกันใหญ่ให้เอาศีลธรรมกลับมา เสียงเรียกร้องให้สอนศาสนาและศีลธรรม ตามหลักศาสนาก็มากขึ้น ความขัดแย้งถกเถียงกันในเรื่องนี้ก็จึงหนาหูขึ้นอีก เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ คนอเมริกันมีความคิดเห็นแยกเป็น ๒ พวก คือ
๑) พวกยืนหยัดแยก (Separatists) เห็นว่าจะต้องรักษาวิธีปฏิบัติที่ทำกันมาในระบบการศึกษาของอเมริกันไว้ให้มั่น โดยหลีกเลี่ยงอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ไม่ให้มีการสอนศาสนา จะต้องไม่ยอมให้พวกเคร่งคำสอนเดิมเข้ามาครอบงำ แต่พึงสังเกตว่า คำว่า "ศาสนา" ของพวกยืนหยัดแยกนี้ หมายถึง ศาสนาเทวนิยม คือศาสนาที่นับถือเทพเจ้า
๒) พวกเคร่งคำสอนเดิม (Fundamentalists) อ้างว่า วิธีปฏิบัติในระบบการศึกษาที่ทำกันอยู่นี้ เป็นการกีดกันศาสนาเทวนิยม โดยไปส่งเสริมศาสนาแบบมนุษยนิยมที่ไม่นับถือพระเจ้า จึงจะต้องนำศาสนาคริสต์ตามแบบแผนเข้ามาสอน
แต่เวลานี้ ยังมีฝ่ายที่ ๓ ขึ้นมาอีก พวกนี้บอกว่า การศึกษาของอเมริกันที่รัฐจัดอยู่นี้ เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง คือ ในขณะที่รัฐกีดกันศาสนาอื่นๆ ออกไปไม่ให้สอนในโรงเรียนนั้น รัฐกลับดำเนินการจัดสอนและบังคับให้นักเรียนเรียนศาสนาหนึ่งศาสนาเดียวโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า "ศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา" (American Civil Religion) ซึ่งเป็นปฏิบัติการยัดเยียดลัทธิ หรือยัดใส่ความเชื่อแก่เด็ก (indoctrination) โรงเรียนอเมริกันไม่ได้ตั้งตนเป็นกลางในทางศาสนาเลย แต่กำลังกำหนดให้เรียนเพียงศาสนาหนึ่งเดียว
ฝ่ายที่ ๓ นี้ พูดต่อไปอีกว่า ศาสนาหนึ่งเดียว คือ ศาสนาประชาราษฎร์อเมริกันนี้ มีองค์ประกอบอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่ ลัทธิคลั่งวิทยาศาสตร์ (Scientism) ซึ่งหลงใหลในอานุภาพของวิทยาศาสตร์จนเลยเถิด เกินความเป็นจริง ทำให้การแสวงหาสัจธรรมเกิดความคับแคบไม่สมบูรณ์ ลัทธิชาตินิยมอเมริกัน (American Nationalism) ซึ่งมุ่งแต่จะทำเด็กให้เป็นอเมริกันอย่างเดียว จนเกิดความคับแคบในหลายเรื่อง เช่นกลายเป็นการยัดเยียดลัทธิการเมือง ให้รู้แต่ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ไม่รู้จักประชาธิปไตยแบบอื่นซึ่งก็มีอยู่ และศาสนาคริสต์ (Christianity) ซึ่งทำให้เด็กมีความรู้เรื่องศาสนาอย่างคับแคบ จำกัดอยู่แค่เรื่องราวของศาสนาคริสต์ เช่น การฉลองวันสำคัญต่างๆ ฝ่ายที่ ๓ นี้เสนอให้เป็นกลางทางศาสนาอย่างแท้จริง โดยสอนศาสนาต่างๆ ให้เด็กรู้จักแล้วคิดพิจารณาเลือกสัจธรรมเอาเอง
ประเทศอเมริกา อาจจะเก่งกาจชำนิชำนาญในเรื่องต่างๆ มากมายหลายอย่าง แต่ในเรื่องศาสนาและจริยธรรมนี้อเมริกายังสับสนวุ่นวายมาก และในบางแง่ก็อาจเรียกได้ว่ายังเตาะแตะๆ อยู่ จะถือเป็นตัวอย่างได้ก็คงเฉพาะในแง่ที่เป็นบทเรียน แต่จะเป็นแบบอย่างหาได้ไม่
ในเรื่องนี้ ประเทศไทยมีสภาพและประสบการณ์แตกต่างจากอเมริกามาก ศาสนาที่นับถือก็มีลักษณะและหลักการพื้นฐานต่างกันไปคนละทิศคนละทาง จนรัฐธรรมนูญอเมริกัน โดยทางศาลสมัยก่อนมองไม่เห็นพุทธศาสนาอยู่ในคำว่าศาสนา
อีกประการหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็ถือหลักคำสอนลงกันได้เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียว ไม่แตกแยกไปคนละทางอย่างในอเมริกา
และในประการสำคัญ การสอนพุทธศาสนาโดยหลักการก็ไม่อาจจะเป็นการยัดเยียดลัทธิ หรือการยัดใส่ความเชื่อขึ้นมาได้ เพราะดังเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่เป็นศาสนาที่บังคับศรัทธา แต่ตรงข้าม เป็นศาสนาแห่งปัญญา ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญขั้นพื้นฐานทีเดียวว่า จะต้องสอนโดยให้ผู้เรียนหรือผู้ฟังรู้จักคิดพิจารณา ใช้วิจารณญาณวินิจฉัย ตรวจสอบ ชั่งตรอง และตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง
การสอนศาสนาแบบยัดเยียด ย่อมขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา ถ้าใครได้สอนพระพุทธศาสนามาด้วยวิธียัดเยียดลัทธิหรือยัดใส่ความเชื่อ ก็เป็นความผิดพลาดในการสอนของผู้นั้นหรือคนเหล่านั้นเอง ซึ่งจะต้องไปหาทางปรับปรุงคุณภาพของผู้สอนและแก้ไขปรับปรุงวิธีสอนกันเอง เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นปัญหากัน ไม่ใช่เรื่องของตัววิชาพระพุทธศาสนา จะเหมาคลุมเอาไม่ได้ ต้องแยกให้ถูกต้อง
ที่จริงน่าจะคิดในทางตรงข้ามว่า เรานี้โชคดีที่หลักการของพระพุทธศาสนาเอื้ออำนวยอยู่แล้ว ที่จะสอนแบบพัฒนาปัญญา เรายืนอยู่บนฐานที่ดีกว่าและพร้อมกว่าอยู่แล้ว ควรจะเดินหน้าโดยฉวยโอกาสพัฒนาครูและวิธีสอนขึ้นมาให้สอดคล้องรับกันไปเลย
๑๓. ในทางการศึกษา มีการย้ำกันมากว่า ไม่ให้สอนแบบยัดเยียด แต่มักจะไม่พูดกันให้ชัดแจ้งถึงแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เลยบางทีจะกลายเป็นเพียงการพูดตามๆ กันไป และทำให้มีการปฏิบัติผิดพลาด กลายเป็นเกิดผลเสียหายไปก็ได้
การยัดเยียดนั้น ตรงข้ามกับการตามใจ ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยกันทั้งสองอย่าง การยัดเยียดก็เป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่ง การตามใจ คือ ทำตามใจผู้เรียน หรือปล่อยให้ผู้เรียนทำตามใจตนเอง ก็เป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง การยัดเยียดเป็นการกระทำความรุนแรงโดยฝ่ายผู้สอน แต่การปล่อยตามใจชอบ ก็เป็นการหนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีพฤติกรรมรุนแรง การยัดเยียดมักมีลักษณะเป็นการทำตามใจตนเองอย่างหนึ่ง ในขณะที่การทำตามใจชอบก็มักมีลักษณะเป็นการกระทำต่อผู้อื่นโดยอาการยัดเยียด นอกจากนั้น การยัดเยียดก็ดี การปล่อยตามใจก็ดี เป็นการทำข้างเดียว ไม่เป็นการร่วมมือหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติต่อกัน
ทางสายกลาง หรือการกระทำที่พอดีๆ ก็คือ การให้ได้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ ให้ได้คิดในสิ่งที่ควรคิด แต่ให้รู้จักนำเสนอในลักษณะที่น่าสนใจท้าทาย และรู้จักกระตุ้นเร้าให้เกิดความสนใจ ชักนำให้รู้จักเรียนรู้ รู้จักคิดพิจารณา เพื่อจะตัดสินใจเลือกได้ด้วยปัญญาที่มีสติสุขุมรอบคอบ มองเห็นเหตุผล และคุณโทษ ชั่งตรองถึงประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น อย่างน้อยไม่ให้เป็นการเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาข้อมูล และฝึกฝนความรู้จักคิด พร้อมทั้งพัฒนาชีวิตเคียงกันไปทุกด้าน ให้การเรียนเป็นกิจกรรมร่วมกันที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนทั้งสองฝ่ายร่วมมือประสานงานมีบทบาทแสดงต่อกัน
ถ้าร่างกายของเด็กไม่ต้องการ หรืออาหารที่เด็กรับประทานพออิ่มอยู่แล้ว ก็ยังขืนเอามาให้กินหรือให้กินเพิ่มเข้าไปอีก ก็เป็นสุดโต่งในทางยัดเยียด เมื่อเด็กจะลองเสพเฮโรอีน หรือเด็กท้องเดินแต่ไม่ยอมกินยา ถ้าปล่อยแล้วแต่เด็ก ก็เป็นสุดโต่งในทางตามใจ
แต่ถ้าอาหารนั้นเด็กควรจะรับประทาน เพราะร่างกายต้องการ หรือยานั้นเด็กควรจะกิน เพราะบำบัดโรคที่กำลังเป็น การให้เด็กรับประทานอาหารหรือกินยานั้น ไม่เป็นการยัดเยียด ถึงแม้เด็กจะไม่อยากกิน ก็ไม่ควรตามใจ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กกินโดยไม่ฝืนและไม่ขืนใจ เช่นด้วยการปรุงแต่งให้น่ากินชวนรับประทาน หรือพูดจูงใจให้เด็กเกิดความยินดี หรือชี้แจงคุณประโยชน์ให้เด็กเห็นชอบด้วยเหตุผล แล้วยอมทำด้วยความเต็มใจ หรือจะทำด้วยวิธีอื่นใด ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ด้วยดี ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเป็นทางสายกลาง ซึ่งแล้วแต่ใครจะหาจุดพอดีได้อย่างไร
การยัดเยียดมี ๒ อย่าง คือ ยัดเยียดเนื้อหา กับ ยัดเยียดความคิด การยัดเยียดเนื้อหา มักมาด้วยกันกับการเรียนแบบท่องจำ คือเอามาสอนให้จำเข้าไปๆ ไม่รู้จักคิดหรือคิดไม่เป็น ส่วนการยัดเยียดความคิด ก็เป็นเรื่องของการยัดเยียดลัทธิหรือยัดใส่ความเชื่อ (indoctrination) อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสคิดพิจารณาเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง นำไปสู่ผลเสียคือไม่รู้จักคิด หรือคิดไม่เป็น ปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพ และขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย
การยัดเยียดเนื้อหาก็ตาม การยัดเยียดความคิดก็ตาม มักเป็นปัญหาเนื่องจากการสอน ถ้ารู้จักสอนหรือสอนเป็น มีการสอนที่ดีได้ผล จะสามารถทำให้ผู้เรียนรู้จักคิดหรือคิดเป็น และเมื่อสอนได้อย่างนั้น เนื้อหาที่มีแม้มาก แต่ถ้าไม่เกินไปจนกลายเป็นแออัดหรือเต็มล้น และไม่เน้นว่าจะต้องจำ เนื้อหานั้นก็จะกลายเป็นข้อมูลของความคิด ที่จะเอาไปคิดสร้างสรรค์ได้มากและเลือกใช้ได้มาก ส่งเสริมความรู้จักคิดหรือคิดเป็นให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันนี้ในวงการการศึกษา มีการติเตียนการเรียนด้วยวิธีจำกันบ่อยมาก จนบางครั้งก็กลายเป็นสุดโต่งไปเหมือนจะไม่ให้ต้องจำอะไรเลย เอาแต่จะให้รู้จักคิดหรือคิดเป็นอย่างเดียว
แท้จริงนั้น การเรียนจำที่พึงรังเกียจ หมายถึงการสักแต่ว่าจำ หรือจำโดยไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจความหมาย อย่างที่เรียกว่าจำอย่างนกแก้วนกขุนทอง จำสิ่งที่ไม่ควรจำ จำเลอะเทอะเปรอะๆ ไป และจำไว้อย่างนั้นเอง ไม่รู้จักเอาสิ่งที่จำมาใช้ประโยชน์ คือไม่เชื่อมโยงกับความรู้จักคิด หรือไม่มีความรู้จักคิดควบคู่อยู่ด้วยนั่นเอง เรียกสั้นๆ ว่าไม่รู้จักจำ หรือจำไม่เป็น แต่ถ้ารู้จักจำ หรือจำเป็นแล้ว ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษา ในการพัฒนา และดำเนินชีวิตมาก เพราะเป็นคู่กันกับความรู้จักคิด เรียกว่า รู้จักคิด รู้จักจำ คนที่มีทั้งรู้จักคิดและรู้จักจำ ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่รู้จักคิดอย่างเดียวหรือรู้จักจำอย่างเดียว
ความรู้จักจำหรือจำเป็นนั้นมีลักษณะที่สำคัญคือ
๑) จำสิ่งที่ควรจำ หรือรู้จักเลือกจำสิ่งที่เป็นประโยชน์
๒) จำรู้เรื่อง คือ จำอย่างเข้าใจความหมาย รู้เข้าใจเรื่องที่จำ
๓) จำโดยโยงกับการคิดหรือการใช้งาน โดยมีความรู้จักคิดอยู่ด้วย เพื่อจะเอาข้อมูลของความจำไปใช้อย่างฉลาด
คนที่รู้จักคิดหรือคิดเป็น ยิ่งจำได้มาก เขาจะยิ่งดีใจ เพราะเมื่อพบเนื้อหามาก ก็ได้ข้อมูลของความคิดไว้มาก เท่ากับว่าเขาได้หรือมีข้อมูลมากๆ ที่จะเอาไปคิดสร้างสรรค์หรือเลือกใช้ได้เต็มที่ ถึงแม้สมัยนี้เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลจะเจริญมาก มีเครื่องบันทึกเสียงและคอมพิวเตอร์ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากมายและแม่นยำ แต่ความจำก็ยังจำเป็นและเป็นประโยชน์มากสำหรับคน มิใช่ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะทำงานภาคความจำให้เราได้ทั้งหมด การปฏิบัติที่ฉลาดต่อเรื่องนี้ในสมัยนี้ จึงอยู่ที่การรู้จักจัดสรรแบ่งงานว่าอะไรเราจะจำเอง อะไรจะให้คอมพิวเตอร์จำ
ส่วนในด้านการยัดเยียดความคิด นักการศึกษาบางท่านระแวงการยัดเยียดลัทธิหรือยัดใส่ความเชื่อ (indoctrination) มาก จนกระทั่งจะไม่ยอมให้สอนลัทธิศาสนา ความเชื่อถือ ตลอดจนคุณธรรมตามแนวความคิดทุกอย่างเท่าที่มีตกทอดมาจากอดีต เพราะกลัวจะเป็นการสร้างอุปาทาน (value) จึงจะให้ตั้งต้นกันใหม่ทั้งหมด โดยจะให้นักเรียนสร้างระบบอุปาทาน (value system) ของตนขึ้นเอง หรือไม่มีอุปาทานเลย ด้วยการคิดอย่างอิสระเสรีและตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ในการเรียนการสอนให้มีแต่การมีส่วนร่วมแสดงออกต่อกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเท่านั้น โดยครูนำเสนอปัญหาขึ้นมา เช่นถามว่า
การทำแท้ง การสังหารยิวของพวกนาซี การลองเสพเฮโรอีน การหลอกลวง ดีหรือไม่ การที่คนตายเพราะระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ มีค่าเท่ากับการตายเพราะอุบัติเหตุรถชนกันหรือไม่ ในคราวแห้งแล้งอดอยากไม่มีอะไรจะกินแล้ว เอาเด็กมาฆ่ากินดีไหม หรือคำถามในทำนองว่า ถ้าระเบิดนิวเคลียร์ลง คนทั้งประเทศจะตายหมด มีที่หลบภัยจุได้ ๖ คน มีคนสมัคร ๑๐ คน มาจากเพศ ผิว ฐานะ อาชีพต่างๆ ถ้าท่านเป็นรัฐบาล จะเลือกคนไว้สืบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ จะเอาใครไว้บ้าง ฯลฯ แล้วให้เด็กแสดงความคิดเห็นว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไหนถูกต้อง หรือจะเอาอย่างไร
ครูเพียงแต่ดำเนินรายการ และช่วยให้เด็กเข้าถึงข้อสรุปของตนเอง ครูไม่สอนหลักจริยธรรมใดๆ ให้ (แต่ในทางปฏิบัติที่ครูต้องร่วมถกเถียง มักหนีไม่พ้นที่ครูจะแสดงความเห็นไปตามหลักจริยธรรมที่ตนยึดถือ เช่น เมื่อเด็กตอบว่า การลองเสพเฮโรอีน เป็นสิ่งที่ควรทำ การโกงไม่เสียหาย ครูทั่วไปจะจนปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงการอ้างจริยธรรมที่ยึดถืออยู่แล้ว) ในที่นี้จะไม่วิจารณ์ว่าการสอนแบบนี้ได้ผลหรือไม่ แต่น่าจะพิจารณาในหลักการ
แท้จริงนั้น การสอนหลักจริยธรรมตามคำสอนของศาสนาหรือวัฒนธรรมที่สืบกันมา ตลอดจนความคิดของปราชญ์ในอดีต ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการยัดเยียดใส่ลัทธิความเชื่อ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่อยู่ที่การสอน คือรู้จักสอนหรือสอนเป็นหรือไม่ และใช้วิธีสอนอย่างไร ถ้าสอนเป็น นอกจากจะได้ผลทางจริยธรรมโดยตรงแล้ว จะเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการได้ข้อมูลความคิด การฝึกความรู้จักคิด ได้พัฒนาการทั้งทางจิตและปัญญา แต่ในทางตรงข้าม การไม่สอนจะเสียผลทางการศึกษาเป็นอย่างมาก
ในแง่ผลเสียหาย เมื่อไม่สอนคุณธรรมและจริยธรรมของระบบที่มีอยู่ก่อนแล้ว
๑) เป็นการปิดกั้นสติปัญญาของเด็ก หรือปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาปัญญาของผู้เรียน ในการศึกษา ผู้เรียนควรได้รับข้อมูล ทั้งในด้านความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนอย่างกว้างขวาง คำสอนทางศาสนาและจริยธรรม ก็คือข้อมูลทั้งด้านความรู้และความคิดจากคนอื่นนอกห้องเรียน นักเรียนที่รู้จักคิด ย่อมไม่ต้องการจำกัดตัวอยู่แค่การฟังความคิดเห็นภายในห้องเรียน จากครูและเพื่อนนักเรียนเท่านั้น ทั้งนี้มิใช่ว่าจะไม่เชื่อถือครู ที่จริงก็เคารพเชื่อถือครูอยู่ แต่เชื่อว่า คนอื่นๆ ที่ตายไปแล้วมากมาย ที่เป็นปราชญ์ก็มาก เป็นศาสดาก็มี ท่านเหล่านี้ย่อมมีความรู้และความคิดเห็นที่ดีๆ ควรจะรับฟัง เมื่อมีเวลาจำกัด ก็เลือกเอาข้อมูลจากคนที่ยอมรับกันว่ายอดเยี่ยมที่สุด เป็นจุดเริ่มต้น ควรจะได้รับฟังข้อมูลจากท่านเหล่านี้เป็นบุคคลที่ ๓ หรือฝ่ายที่ ๓ เพิ่มจากครูและนักเรียนในห้องเรียนที่แคบนิดเดียว เป็นการเปิดหูเปิดตาออกไปสู่โลกกว้าง และยืดขยายออกไปในกาลเวลานานไกล เพื่อเก็บเอาประโยชน์มาบำรุงสติปัญญาให้มากและให้ดีที่สุด
๒) เป็นการปฏิบัติผิดหลักการและแบบแผนของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน โดยที่สมาชิกของสังคมทุกคนควรมีสิทธิและโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ในการสอนแบบไม่ได้สอนคำสอนในศาสนาและวัฒนธรรมนั้น คนที่ตายไปแล้วซึ่งคำพูดคำสอนของท่านมีบทบาทอยู่ในสังคม ถูกปิดโอกาสไม่ให้พูดจาชี้แจงอะไรเลย ครูควรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางช่วยนำเอาข้อมูลคำสอน และความคิดของท่านมาบอกกล่าวแก่ผู้เรียน ในการปฏิบัติเช่นนี้ครูมิใช่เอาคำสอนของท่านมากำหนดบังคับให้เชื่อตาม แต่นำมาบอกให้เป็นฐานสำหรับการคิดพิจารณา จึงไม่เป็นการยัดเยียดใส่ให้
๓) ไม่ว่าในหลักสูตรจะมีวิชาศีลธรรมหรือไม่ ไม่ว่าครูจะสอนจริยธรรมตามหลักศาสนาหรือไม่ โรงเรียนก็กำลังสอนจริยธรรมอย่างเงียบๆ หรือโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่จริยธรรมที่โรงเรียนสอนเงียบนี้ มักเป็นจริยธรรมทางฝ่ายลบ เช่นเป็นที่ถ่ายทอดค่านิยมที่ไม่ดีต่างๆ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในสังคม เช่น ค่านิยมบริโภค ค่านิยมฟุ้งเฟ้ออวดโก้ การเรียนเพื่อมุ่งหารายได้ ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขัน เอาดีคนเดียวเป็นต้น ตลอดจนความเชื่อและคำสอนทั้งทางศาสนา ทางไสยศาสตร์ และทางจริยธรรม ที่รับฟังรับถ่ายทอดมาอย่างคลาดเคลื่อนเว้าแหว่ง
นักเรียนย่อมถูกชักจูงหรือถูกซึมแทรกโดยค่านิยมเป็นต้นเหล่านี้อยู่แล้ว จากเพื่อนบ้าง จากบรรยากาศในโรงเรียน และสภาพแวดล้อมในสังคม ตลอดจนสื่อมวลชนบ้าง การที่จะให้ห้องเรียนจริยธรรมมีแต่นักเรียนกับครูเท่านั้น จะให้เป็นกลางทางอุปาทาน (values-neutral) หรือปลอดอุปาทาน (value free) จึงไม่อาจเป็นจริง เพราะมีฝ่ายที่ ๓ เข้ามาร่วมแสดงบทบาทอยู่ด้วยแล้วเงียบๆ และฝ่ายที่ ๓ นั้นถูกปล่อยให้มีโอกาสเต็มที่ที่จะครอบงำความคิดและการตัดสินใจของนักเรียนเสียด้วย จึงควรเปิดโอกาสให้นักปราชญ์และพระศาสดาเข้ามาพูดบ้าง
ในทางตรงข้าม การสอนจริยธรรมตามหลักศาสนา ถ้าสอนให้ถูกต้องตามหลักปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ จะบังเกิดคุณประโยชน์ในทางการศึกษา นอกเหนือจากคุณค่าทางจริยธรรมโดยตรง อีกหลายประการ ดังนี้
๑) ในการสอนที่ถูกต้อง คำสอนทางจริยธรรมหรือหลักธรรมของพระพุทธศาสนาจะถูกนำเสนอ ในฐานะที่เป็นข้อมูลของความคิดทางจริยธรรม ซึ่งช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ความคิด เป็นฐานสำหรับการคิดพิจารณาต่อไป
๒) สามารถเก็บเกี่ยวเอาผลิตผล แห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของคนในอดีตมากมาย ที่สะสมกันมาตลอดเวลายาวนาน นำมาปูเป็นพื้นฐานให้แก่ตนภายในเวลาชั่วนิดเดียว เหมือนขึ้นยืนบนกองอิฐแห่งปัญญาของอารยธรรมมนุษย์ เข้าถึงจุดสุดยอดหรือส่วนที่ดีที่สุดแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษย์เท่าที่มีมาแล้วทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องมาเริ่มตั้งต้นกันใหม่
๓) การศึกษาหลักธรรมอย่างถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือการรู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผล และรู้จักตรวจสอบชั่งตรอง เลือกตัดสินใจ ทำให้มีการฝึกความรู้จักคิด พร้อมกันไปกับการฝึกฝนทางจริยธรรมทั่วๆ ไป ให้เกิดการพัฒนาชีวิตอย่างรอบด้าน ผู้เรียนอย่างถูกต้อง จะไม่จมลงใต้กองคำสอน แต่จะพ้นเลยขึ้นไป โดยเข้าถึงอิสรภาพในระดับต่างๆ ตามลำดับทุกขั้นตอน
ขณะนี้ ในประเทศอเมริกา นอกจากพวกที่เรียกร้องให้สอนจริยธรรมตามหลักศาสนาพื้นเดิมแล้ว ก็มีการสอนจริยธรรมแนวใหม่ ๒ แบบ กำลังแพร่หลายอยู่เป็นคู่แข่งกัน คือ ขบวนการสางอุปาทาน (the values clarification movement) มี Sidney Simon เป็นผู้นำ กับขบวนการพัฒนาศีลธรรมแนวปัญญา (the cognitive moral development movement) ซึ่งมี Lawrence Kohlberg เป็นหัวหน้า34 ทั้งสองขบวนการนี้ เป็นความพยายามตามประเพณีของสังคมอเมริกันที่จะหลีกเลี่ยงการสอนศาสนาโดยตรง และทำตามหลักการที่จะไม่ยัดเยียดใส่ลัทธิความเชื่อ หลังจากเริ่มกันมาได้ไม่กี่ปี ขบวนการที่ ๑ เริ่มถูกวิจารณ์มากขึ้นๆ ว่าไม่ได้ผล หรือทำให้เกิดผลเสียหาย ไม่บรรลุจุดหมายในการพัฒนาจริยธรรม ในที่นี้ขอให้พิจารณาขบวนการทั้งสองนี้ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การสอนจริยธรรมแบบชำระอุปาทานนี้ ถ้านำมาประยุกต์ใช้ก็เป็นประโยชน์ คือเอามาใช้เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการสอน โดยให้นักเรียนคิดพิจารณา พร้อมทั้งถกเถียงกับครูเพียงลำพัง ๒ ฝ่าย แล้วเลือกตัดสินใจเองก่อน
จากนั้นครูจึงเป็นสื่อพาฝ่ายที่สาม คือ หลักศาสนาและวัฒนธรรมมาเล่าทัศนะ หรือปรีชาญาณของคนเก่าก่อน ให้ผู้เรียนได้รู้และพิจารณาว่า เรื่องอย่างนั้น ท่านผู้มีชีวิตอยู่ในอดีตได้เคยคิดกันมาแล้ว และว่าไว้อย่างไร ซึ่งผู้เรียนจะได้ข้อมูล และข้อพิจารณาเพิ่มเข้ามาจากความรู้ตามระบบของท่าน แล้วใช้ความคิดอิสระของตนพิจารณาต่อไปอีก เป็นการฝึกฝนความรู้จักคิด และเสริมปัญญา ได้ประโยชน์ครบถ้วนทุกข้อ
แต่ก็จะต้องระวังอุปสรรคใหญ่ คือ พอสรุปมติของตนเองในขั้นต้นแล้ว ผู้เรียนอาจจะติดอยู่กับอุปาทานของตัวเอง หมดอิสรภาพ ไม่อาจเดินหน้าพัฒนาตนเองได้ต่อไป
ก่อนจะผ่านเรื่องการยัดเยียดนี้ไป ขอตั้งข้อสังเกตเป็นเครื่องเตือนสติไว้ว่า การกระทำที่เป็นการยัดเยียดหรือไม่นั้น ว่าโดยทั่วไปแล้วอยู่ที่วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่จัดให้เรียนมากกว่าจะอยู่ที่เนื้อหาของวิชาที่จัดให้เรียน เฉพาะอย่างยิ่งก็อยู่ที่การสอนและวิธีสอนนั่นเอง (การยัดเยียดในกรณีนี้เป็นคนละอย่างกับการจัดใส่เนื้อหาให้มากเกินไป จนเกินกำลังที่จะรับได้ ซึ่งเป็นความยัดเยียด ในความหมายว่าแออัดยัดเยียด ไม่ใช่ความหมายที่กำลังพิจารณาในที่นี้)
คนส่วนมากพูดถึงการยัดเยียด โดยมองไปที่ตัววิชาหรือสิ่งที่จัดให้เรียน แล้วโดยไม่รู้ตัวก็กลายเป็นการสร้างภาพสำเร็จให้แก่วิชาต่างๆ แต่ละอย่างว่า วิชานั้นเป็นเนื้อหาที่ยัดเยียด วิชานี้ไม่เป็นการยัดเยียด ตัวอย่างที่เด่นในยุคที่ผ่านมา (สำหรับคนส่วนมาก รวมถึงขณะนี้ด้วย) ก็คือวิชาวิทยาศาสตร์
เรามีความเชื่อสืบๆ กันมา จนกลายเป็นความยึดถือโดยไม่รู้ตัวว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง และวิธีหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการอย่างเดียวที่จะนำไปสู่การรู้ถึงสัจธรรม ความรู้อย่างอื่นและวิธีการอย่างอื่น ที่ไม่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เราถือว่าผิดหมด ถ้ากำหนดให้เรียนเนื้อหาวิชาเหล่านั้น เราถือว่าเป็นการยัดเยียด แล้วเราก็กำหนดให้นักเรียนเรียนเนื้อหาความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ และวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีความรู้สึกระแวงแม้แต่น้อยว่า จะมีใครว่าการจัดให้เรียนอย่างนี้ เป็นการผูกขาดยัดเยียด ได้แต่มองว่า นี่แหละคือความจริงแท้ และวิธีการที่จะให้เข้าถึงความจริงแท้นั้น
แต่ครั้นมาถึงขณะนี้ ในวงการวิทยาศาสตร์เอง ได้มีการตระหนักรู้กันมากขึ้นว่า วิธีหาความรู้และมองความจริงแบบวิทยาศาสตร์อย่างที่ยอมรับกันมานั้น มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรียนกันมาก็ไม่ใช่เป็นความจริงแท้ วิทยาศาสตร์แผนใหม่ เริ่มมองความจริงและวิธีการหาความรู้ต่างออกไปจากที่เคยเชื่อและยึดถือกันมา พอมาถึงขั้นนี้ ก็เริ่มมีผู้ตั้งข้อกล่าวหาว่า การจัดหลักสูตรและการเรียนวิทยาศาสตร์เท่าที่ผ่านมานี้ เป็นการยัดเยียด หลักสูตรการศึกษาของอเมริกันถูกกล่าวหาว่า เป็นการยัดเยียดความรู้ และความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ เป็นการปฏิบัติแบบผูกขาดยัดเยียด
พอถึงตอนนี้ ก็กลายเป็นการมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางความคิด และการแสวงหาความจริง ซึ่งทำให้ต้องสงสัยว่า เราจะมองความจริงและใช้วิธีแสวงหาความจริงกันอย่างไรจึงจะถูกต้อง ทางสายกลางหรือความพอดีอยู่ที่ไหน คำตอบอย่างหนึ่งก็คือ ในด้านหนึ่ง เนื้อหาหรือข้อมูลอะไรที่ควรรู้ก็ต้องจัดให้ได้เรียนรู้ แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง ก็ให้มีการศึกษาเนื้อหาหรือข้อมูลเหล่านั้นด้วยวิธีการแห่งปัญญา ตามหลักโยนิโสมนสิการ คือเปิดโอกาสให้ใช้ความคิดพิจารณา มิใช่สักแต่ว่าให้เชื่อตามๆ ไป
๑๔. อีกด้านหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ควรพูดไว้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ในโอกาสที่จำกัดนี้ถึงจะต้องรวบรัด ก็น่าจะเอ่ยอ้างไว้บ้าง แม้จะนิดหน่อยก็ยังดี นี้ก็คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นความรู้ หรือเป็นเรื่องของวิชาการ และการศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ
สำหรับประเทศไทยและสังคมไทย เราพูดได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสามัญ ที่คนไทยคุ้นเคยจนเฉยชิน เหมือนปลาคุ้นชินกับน้ำที่มันแหวกว่ายอยู่ วัตถุ สถานที่ เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นของดาษดื่น ชินหูชินตาจนไม่รู้สึกสังเกต
ถ้าว่าตามที่ควรจะเป็น คนไทยก็ควรจะมีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา สามารถพูดเล่าหรือตอบคำถามทั่วๆ ไป เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้อย่างพร้อมทันที ในฐานะเป็นเรื่องราวของตนเองที่ห้อมล้อมอยู่รอบตัว แต่ปรากฏว่า ในสมัยปัจจุบันที่คนไทยหันไปสนใจวัฒนธรรม และสิ่งบริโภคสมัยใหม่จากสังคมอื่นภายนอก คนไทยน้อยคนจะเล่าเรื่องและตอบคำถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาได้แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายๆ
มองในแง่หนึ่ง ก็เป็นเรื่องน่าอายที่คนของเราไม่รู้จักตัวเอง และเรื่องราวของตน การศึกษาจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะให้คนไทยรู้เรื่องพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นเรื่องของตนเองนี้อย่างเพียงพอตามที่ควรจะเป็น
เมื่อชาวต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย เขาย่อมถามถึงสิ่งที่เขาพบเห็น โดยเฉพาะสิ่งที่แปลกหูแปลกตาแก่เขา คำถามของเขาจึงเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เมื่อคนไทยตอบเขาไม่ได้หรืออธิบายผิดๆ ถูกๆ บางครั้งก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ประเทศชาติ และความจริงก็ปรากฏว่าคนไทยส่วนมากตอบไม่ได้ หรืออธิบายผิดๆ การศึกษาน่าจะถือเรื่องนี้เป็นข้อบกพร่องสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะต้องแก้ไข
เมื่อนักศึกษาหรือนักเรียนไทย ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก มักถูกถามหรือถูกเชิญให้พูด ให้ปาฐกถา หรือบรรยายเกี่ยวกับประเทศไทยและพระพุทธศาสนาของไทย และก็ปรากฏว่า นักศึกษาและนักเรียนไทยไม่ค่อยมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยหรือสังคมไทย ในอันที่จะแสดงออกให้เป็นการเชิดชูเกียรติแห่งประเทศชาติและสังคมของตนได้
อย่างไรก็ดี ความสนใจของคนตะวันตก โดยปกติก็เป็นเพียงการที่ได้เห็นคนอื่นมาจากต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม แล้วก็เลยซักถาม ขอฟังด้วยความอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมที่ต่าง หรือแปลกไปจากของเขาเท่านั้น แต่สำหรับเรื่องของพระพุทธศาสนานี้ มิใช่เป็นเพียงเท่านั้น
ในระยะหลายทศวรรษมาแล้ว ชาวตะวันตกได้มีความสนใจในพระพุทธศาสนากันมาก และเมื่อเวลาผ่านมายิ่งใกล้ปัจจุบัน ความสนใจนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย
การที่ชาวตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่สนใจเพียงในฐานะเรื่องราวของประเทศชาติ และวัฒนธรรมที่แปลกแตกต่างจากเขาเท่านั้น แต่สนใจในแง่ของระบบความคิดคำสอนและการปฏิบัติ ที่จะช่วยให้คำตอบแก้ปัญหาในสังคมของเขา ในเรื่องที่เขายังติดตันอยู่หรือหาคำตอบไม่ได้ เช่น ปัญหาชีวิตจิตใจที่โถมทับสังคมของเขาเพิ่มหนักขึ้นๆ มาตลอดเวลายาวนาน อย่างน้อยเขาก็หวังว่า หลักความคิดและการปฏิบัติบางอย่างในพระพุทธศาสนา อาจจะเป็นส่วนเติมเต็มให้แก่ระบบความคิดและการดำเนินชีวิตของเขา
ยิ่งมาในช่วงเวลาปัจจุบันที่ใกล้ที่สุดนี้ สังคมตะวันตกได้มาถึงจุดวิกฤตในทางปัญญา เกิดความรู้สึกแพร่ไปมากขึ้นว่า วิชาการต่างๆ ของตะวันตกมาถึงจุดติดตันไม่สามารถแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมได้ ไม่สามารถนำมนุษยชาติไปสู่สวัสดิภาพและสันติสุข แต่ตรงข้ามอาจจะพาไปสู่หายนภาพ แม้แต่ความรู้และความคิดทางวิทยาศาสตร์ ก็กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ดังที่ได้เกิดความตื่นตัวกันมากขึ้นในวงวิชาการ ที่จะแสวงหาคำตอบและทางออกใหม่ๆ
ในการแสวงคำตอบและทางออกใหม่ๆ นี้ ตะวันตกได้หันมาหาตะวันออกมากทีเดียว ด้วยเหตุนั้น ในระยะใกล้ๆ นี้ พระพุทธศาสนาจึงยิ่งได้รับความสนใจจากวงวิชาการตะวันตกมากขึ้น ดังที่การศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนาขยายตัวมากขึ้นในประเทศตะวันตก มีกลุ่มมีองค์กรเกี่ยวกับการศึกษาบ้าง ปฏิบัติบ้าง เพิ่มมากขึ้น เช่นที่มีความสนใจศึกษาทดลองกันมากในวงการจิตวิทยายุคนี้ หรือดังที่นักวิทยาศาสตร์บางพวกหันมาอธิบายหลักความรู้ และแนวคิดพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ โดยประสานกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาตะวันออกอื่นๆ
ไม่ว่าจะมองในแง่ที่เป็นเรื่องของตังเองอย่างพื้นๆ สามัญที่ตนควรจะต้องรู้ ก็ดี
จะมองในแง่เป็นสมบัติที่มีค่าที่เราได้รับสืบทอดมาเปล่าๆ ได้มาเองทันที ซึ่งมีอยู่แล้ว พร้อมที่จะใช้ได้ ซึ่งเราควรจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็ดี
จะมองในแง่ความทันต่อความเคลื่อนไหวก้าวหน้า ในวงวิชาการ ก็ดี
จะมองในแง่เป็นสิ่งที่เรามีอยู่เป็นพิเศษ ซึ่งคนอื่นกำลังปรารถนา และเรามีโอกาสดีกว่าได้เปรียบกว่า ที่จะทำตนและสังคมของตน ให้ดีกว่าเหนือกว่าเขาได้บ้างอย่างน้อยในแง่หนึ่งนั้น ก็ดี
จะมองในแง่เป็นภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ตนมีต่างหากจากของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีอะไรที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษยชาติ และที่จะทำให้สามารถเป็นผู้นำเขาบ้างสักด้านหนึ่งในประชาคมโลก แทนที่จะเป็นผู้คอยตามและรับจากเขาร่ำไป ก็ดี
แต่ละอย่างๆ นั้น ก็พอเพียงที่จะเป็นเหตุผล ให้คนไทยควรจะต้องเรียนรู้พระพุทธศาสนา
โยงต่อจากแง่ของวิชาการนั้น มองให้กว้างออกไปอีก พระพุทธศาสนาได้เป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของโลก โดยเป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่างๆ มากมายในซีกโลกตะวันออก เช่น ในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี แม้ตลอดจนอินโดนีเซีย และเปอร์เซีย ทั้งยังโยงไปถึงกรีกและโรมัน ที่เป็นแหล่งอารยธรรมของตะวันตกด้วย ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา นอกจากทำให้รู้เข้าใจตัวเองและพื้นฐานตนเองของสังคมไทยแล้ว ยังเชื่อมโยงออกไปให้เข้าใจสังคมและชีวิตจิตใจของชนชาติต่างๆ ในฝ่ายตะวันออกได้ง่ายขึ้นด้วย ตลอดจนเป็นฐานเทียบเคียงให้เข้าใจสังคมและชีวิตจิตใจของตะวันตกที่ต่างออกไป พร้อมทั้งมองเห็นสายสัมพันธ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่แล่นร้อยเป็นเหตุปัจจัยกันอยู่ในอารยธรรมของมนุษยชาติ
การมีความรู้ความเข้าใจมองเห็นกว้างไกล ได้ภาพรวมแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด เป็นคุณสมบัติที่พึงต้องการอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ผู้มีคุณภาพที่จะดำรงตนอยู่ในสังคมมนุษย์ยุคต่อไป ที่โลกนี้กำลังแคบลงจนกลายเป็นชุมชนเดียวกัน การศึกษาพระพุทธศาสนาในวงกว้างกินวงถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ด้วย
การศึกษาที่จะรับมือกับความเจริญของโลกในยุคที่กำลังมาถึงข้างหน้า จะต้องมองไกลออกไปให้ครอบคลุมถึงจุดหมายของการศึกษาในระดับของการสร้างสรรค์คนให้เป็นสมาชิกที่ดีมีคุณภาพ ผู้สามารถช่วยสร้างสรรค์พัฒนามนุษยชาติได้ด้วย การศึกษาที่มนุษยชาติต้องการจึงได้แก่ การศึกษาเรื่องราวที่มีฐานโยงกว้างไกลทั้งในด้านกาละและเทศะ ดังเช่น การศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งสนองจุดมุ่งหมายเช่นว่านี้สำหรับสังคมไทย
๑๕. จากข้อมูลและเหตุผลเท่าที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนๆ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ขอเพิ่มเติมหรือขอทบทวนเป็นพิเศษ คือ
ก) จริยศึกษาในประเทศอเมริกา ในแง่ของความคิดและการดำเนินการ มีความขัดแย้งสับสนมากสืบเนื่องจากภูมิหลังที่มีปัญหาอยู่แล้ว และในแง่ของผล ก็ค่อนข้างจะล้มเหลว หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่อาจจะเป็นแบบอย่างได้ สังคมไทยจึงไม่ควรจะรับเอามาทำตาม แต่ควรจะเป็นบทเรียน ที่สำหรับรู้เท่าทันและสังวร
ในทางตรงข้าม เรื่องจริยศึกษานี้ ประเทศไทยมีภูมิหลังที่เรียบร้อยราบรื่น และมีฐานทางหลักการที่เอื้อ มั่นคง และพร้อมดีกว่า สามารถจะเป็นผู้นำได้ อีกทั้งในวงกว้าง ก็เป็นที่ยอมรับกันมากว่า โลกซีกตะวันออกนี้ มีความเจริญทางวัฒนธรรมด้านจิตใจดีกว่าโลกตะวันตก สังคมไทยจึงควรจะตื่นตัวปลุกจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและผู้ให้ขึ้นมา อย่างน้อยก็ควรจะรักษาความเป็นผู้นำทางด้านจริยศึกษา และการพัฒนาจิตใจไว้ให้ได้
โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ที่ชาวตะวันตกหันมาสนใจ พระพุทธศาสนา และวิธีแก้ปัญหาทางจิตใจตามแนวตะวันออกกันมาก และมากขึ้น สังคมไทยน่าจะสำนึกตนที่จะให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อสมบัติของตนที่คนอื่นเขาปรารถนา เร่งพื้นฟูส่งเสริม ให้คุณค่าที่มีอยู่แล้วปรากฏเด่นชัดขึ้นมาดำรงตนในฐานะผู้มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง แล้วแสดงบทบาทของความเป็นผู้นำและผู้ให้อย่างน้อยในสถานะหนึ่งนี้
ในเรื่องนี้ รัฐโดยรัฐบาลจะต้องเอาใจใส่และเอาจริงเอาจัง โดยถือหรือตั้งเป็นนโยบายใหญ่ที่จะส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ที่เป็นแหล่งแห่งจริยศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และจริยธรรมของสังคม ในแง่ของการวางพื้นฐานและกำหนดทิศทางที่ถูกต้องในการพัฒนาประเทศชาติในยุคต่อไป และในแง่ของการเชิดชูส่งเสริมสิ่งที่เชิดหน้าชูตาประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฐานะเป็นผู้นำได้สถานะหนึ่งในประชาคมโลก
ข) มีอุดมคติที่ตั้งกันไว้ว่า ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา และมีหลักการว่า ให้ครูทุกคนสอนจริยศึกษาด้วยการบูรณาการจริยธรรมเข้าในทุกวิชาที่ตนสอน ถ้าทำได้อย่างนั้นก็เป็นการดี แต่สภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน ปรากฏว่ายังห่างไกลจากการที่จะเป็นจริงขึ้นมาได้ อีกทั้งวิธีการที่จะปฏิบัติให้บรรลุผลเข้าถึงอุดมคตินั้น ก็ยังไม่ได้จัดทำ คงมีแต่วิชาพระพุทธศาสนาและจริยธรรม ที่เป็นวิชาเฉพาะของจริยศึกษาอยู่ต่างหาก ซึ่งหนักไปทางด้านเนื้อหาอย่างเดียว
เนื่องจากมีอุดมคติว่า ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา และต้องสอนจริยธรรมกลมกลืนเข้าในทุกวิชา ที่ครูแต่ละคนสอน ดังนั้นการมีวิชาทางจริยธรรมเป็นเนื้อหาเฉพาะอยู่ต่างหาก จึงไม่ถูกต้องตามหลักการและอุดมคติ ผู้บริหารการศึกษาบางท่านจึงว่า ควรจะตัดทอนวิชาเฉพาะทางจริยศึกษานั้นเสีย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นไปตามอุดมคติ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อุดมคติก็ยังอยู่ห่างไกล วิธีการที่จะนำไปสู่อุดมคตินั้นก็ยังไม่มี การที่จะตัดทอนสิ่งที่มีอยู่แล้วบ้างนั้นเสีย น่าจะไม่เป็นการถูกต้อง จะกลายเป็นว่า ขณะที่เรือก็ยังไม่ได้ มีดและไม้ที่จะทำเรือก็ยังไม่มี แพเก่าที่ใช้อยู่นี้ก็ยังจะรื้อทิ้งเสียอีก จะสูญหมดไม่มีอะไรเหลือ
ทางที่ดีน่าจะใช้ทุนเดิม หรือของที่มีอยู่บ้างแล้วนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้น เอาวิชาศาสนาและจริยธรรมที่เป็นวิชาเฉพาะนี่แหละ เป็นที่ปฏิบัติการหรือดำเนินวิธีการที่จะให้บรรลุอุดมคติ โดยหันมาเน้นการสร้างเสริมเร่งรัดคุณภาพของครูจริยศึกษา ทั้งคัดเลือกสรรหาและให้การศึกษาอย่างพิเศษ ให้เป็นครูระดับสุดยอด มีคุณภาพเหนือกว่าครูอื่นทั่วไปทุกวิชา ทั้งในด้านวิชาการ อุดมการณ์ และคุณธรรมของความเป็นครู แล้วฝึกฝนให้เป็นผู้สามารถในการสอนตามวิธี ๒ ประการ
(๑) เป็นผู้นำในการสอนแบบให้รู้จักคิดหรือคิดเป็น รู้จักสอนพระพุทธศาสนาตามหลักการของการเป็นกัลยาณมิตร ผู้ชักนำนักเรียนให้เกิดโยนิโสมนสิการ ด้วยการสอนจริยธรรมแบบนำเสนอข้อมูล สู่การคิดพิจารณา และการที่จะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
(๒) สามารถในการสอนแบบบูรณาการ เป็นตัวอย่างแก่ครูที่สอนวิชาอื่นๆ เพื่อให้เป็นผู้นำทางที่บุกเบิกเข้าไปในการสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ
สองอย่างนี้เป็นคุณสมบัติแกนกลาง สำหรับครูผู้สอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา และพร้อมกันนั้น ก็เป็นหนทางที่จะนำไปสู่อุดมคติแห่งการที่จะให้ครูทุกคน เป็นครูจริยศึกษา
ในทางกลับตรงข้ามจากนี้ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถแม้แต่ที่จะผลิตครูเฉพาะที่สอนจริยศึกษา ให้สามารถสอนแบบบูรณาการได้ การที่จะให้ครูผู้สอนวิชาอื่นๆ ทั่วไป เป็นครูจริยศึกษาหรือสามารถบูรณาการจริยศึกษาเข้าในการสอนวิชาของตนๆ ได้นั้น คงจะเป็นความหวังอันเลื่อนลอยอันอย่าพึงหมาย
เมื่อมีครูจริยศึกษา ที่มีคุณสมบัติถูกต้องไว้เป็นพื้นอย่างนี้แล้ว ในระหว่างนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเตรียมฝึกครูทุกคนให้เป็นครูจริยศึกษา เพื่อให้บรรลุอุดมคติที่ว่า จะให้ครูทุกคนสามารถสอนพระพุทธศาสนา และจริยธรรมด้วยการบูรณาการเข้าในทุกวิชา ก็สามารถทำได้ และก็จะไม่มีช่องว่างให้ใครกล่าวหาได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้แต่เพ้อฝันถึงอุดมคติ เอาแต่รอคอยให้ผลเกิดขึ้นเอง โดยไม่ทำอะไรที่จะให้เป็นไปอย่างฝัน
ถ้ายอมรับกันว่า ปัญหาอยู่ที่การขาดครูผู้สามารถ จึงไม่อาจไปพ้นจากการสอนแบบท่องจำ สู่การสอนให้คิดเป็น และจึงติดตันอยู่กับการสอนจริยศึกษาเป็นวิชาแยกเฉพาะ ไม่สามารถบูรณาการเข้าในทุกวิชาและทุกกิจกรรม ถ้าปัญหาเป็นอย่างนั้น ก็คือสภาพที่ท้าทายให้รัฐต้องวางนโยบายที่จะเน้นการสร้างครูจริยศึกษาที่สามารถ และการทำได้หรือไม่ในเรื่องนี้ ก็คือเครื่องประกาศความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการ ในการที่จะรับผิดชอบงานการศึกษาของประเทศชาติสืบต่อไป
ค) ปรากฏเป็นข่าวออกมาว่า ทางการกระทรวงศึกษาธิการได้ตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาออกจากหลักสูตรประถมและมัธยมศึกษา โดยปรารภเหตุผลว่าเป็นการปรับปรุงเพื่อให้เนื้อหาวิชาเหมาะสม และให้การเรียนการสอนได้ผลดีขึ้น เหตุผลในส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะไม่สืบสาว แต่ควรเสนอข้อคิดข้อสังเกตบางอย่างไว้ประกอบการพิจารณา เพื่อประโยชน์ในกาลข้างหน้า
(๑) ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิชาศีลธรรม หรือจริยธรรมก็คือ เป็นวิชาที่มักใช้การท่องจำ ไม่ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักคิดหรือคิดเป็น และไม่ทำให้เกิดการปฏิบัติในชีวิตจริง ในเมื่อวิชาศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้จัดตามเนื้อหาของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา จึงมีข้อพิจารณาว่าปัญหาในเรื่องนี้อยู่ที่ไหน จะเป็นเพราะว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องเรียนด้วยการท่องจำ ไม่เอื้อต่อการใช้ความคิดพิจารณา หรือเป็นเพราะครูผู้สอนไม่สามารถสอนด้วยวิธีฝึกให้รู้จักคิดพิจารณา หรือคร้านที่จะทำดังนั้น จึงต้องใช้วิธีให้นักเรียนท่องจำ
จากข้อพิจารณาที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนๆ แสดงอยู่แล้วว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามุ่งให้คนใช้ปัญญา รู้จักคิดพิจารณา ไม่บังคับศรัทธา ดังนั้น การที่วิชาพุทธศาสนากลายเป็นวิชาท่องจำ จึงไม่ควรจะเป็นเพราะหลักธรรม แต่ควรจะเป็นเพราะครูเองใช้วิธีท่องจำ หรืออาจเป็นเพราะการเลือกเนื้อหาที่นำไปกำหนดในหลักสูตร
(๒) เนื่องจากเนื้อหาวิชาและการสอนไม่ได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ ในการปรับปรุงหลักสูตรจึงได้มีการตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาให้น้อยลง
ถ้าการตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนา ทางการได้กระทำด้วยเหตุผลนี้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ชอบด้วยหลักการ และไม่เป็นการแก้ที่สาเหตุ โดยหลักการก็คือ ถ้าวิชานั้นเป็นสิ่งที่นักเรียนควรจะได้เรียน ก็ต้องจัดไว้ในหลักสูตรให้เด็กได้เรียน มิใช่ว่าวิชานั้นที่จัดอยู่ขณะนี้สอนได้ไม่ดี ก็เลยเอาวิชานั้นออกไปเสียเลย ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น วิชาภาษาไทย โดยหลักการเป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องเรียน แต่ผู้มีอำนาจเห็นว่าหลักสูตรที่จัดไว้เนื้อหาวิชาไม่ดี และครูก็สอนไม่ได้ผล ก็เลยตัดวิชาภาษาไทยออกไปเลย ไม่ให้เด็กเรียน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง จะต้องคงตามหลักการไว้ แล้วไปแก้ที่สาเหตุ เมื่อสาเหตุเป็นเพราะจัดเนื้อหาหลักสูตรไว้ไม่ดี และครูสอนไม่ได้ผล ก็ต้องเอาวิชาไว้ แต่ปรับปรุงเนื้อหาวิชาเสียใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงวิธีสอนและคุณภาพของครูผู้สอน
(๓) ได้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะจัดสอนจริยศึกษาตามแนวจริยธรรมสากล จึงได้ตัดทอนเนื้อหาวิชาที่เป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรงออกไป แล้วกำหนดหลักสูตรแบบจริยธรรมสากลแทน โดยจะให้เรียนพระพุทธศาสนาแบบอิงอาศัยหลักจริยธรรมสากลนั้น
เรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมสากล ได้เล่า และวิเคราะห์ไว้ข้างต้นแล้วว่ามีปัญหาอย่างไร ทั้งในแง่ของตัวจริยธรรมสากลเอง และในแง่ที่จะนำเอาจริยธรรมสากลนั้นเข้ามาสอนในสังคมไทย (กับทั้งยังพูดไว้ยืดยาวในภาค ๒ ด้วย) จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีก แต่จะขอเปรียบเทียบระหว่างการนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา กับการนำเอาจริยธรรมสากลมากำหนดไว้ในหลักสูตรว่า อย่างไหนจะเป็นปัญหาขัดข้องยุ่งยากกว่ากัน
พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งคำสอนจริยธรรม ที่มีระบบจริยธรรม พร้อมทั้งเนื้อหาที่วางเป็นหลักไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ดังนั้นเนื้อหาจริยธรรมจึงมีอยู่พร้อมแล้ว ถ้าจะมีปัญหา ก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะเลือกเอาเนื้อหาส่วนไหนมาใช้ และเมื่อได้เนื้อหามาแล้ว แต่มีปัญหาว่าผู้สอนยังสอนไม่เป็น
ส่วนจริยธรรมที่จะจัดขึ้นใหม่ตามหลักจริยธรรมสากล นอกจากมีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกเนื้อหามากำหนด และปัญหาเกี่ยวกับการสอนและผู้สอนแล้ว ยังมีปัญหาพื้นฐานเพิ่มซ้อนเข้ามาอีก คือ ไม่มีแหล่งชัดเจนที่จะไปเลือกเอาเนื้อหาจริยธรรมมาใช้ เพราะจริยธรรมสากลยังมิใช่เป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์ แต่เป็นหัวข้อคุณธรรมและความประพฤติที่นักปราชญ์ หรือนักวิชาการบางท่านไปเลือกสรรคัดเอามาจากระบบจริยธรรมที่มีอยู่ก่อนแล้ว และกำหนดวางไว้เฉพาะเท่าที่จะเอามาใช้งานของท่านในถิ่นและยุคสมัยนั้นๆ มาถึงปัจจุบันนี้ จริยธรรมสากลก็เป็นเพียงหลักการทั่วไปในความหมายกว้างๆ ว่าเป็นจริยธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของศาสนาหนึ่งศาสนาใดโดยเฉพาะ ส่วนจะมีหัวข้ออะไรบ้าง ก็สุดแต่นักวิชาการหรือผู้ทำงานในคราวนั้นๆ จะไปพิจารณาคิดสรรหา ตกลงกันเก็บมาจัดเรียงใหม่เอาเอง ตามวัตถุประสงค์เฉพาะในกรณีนั้นๆ ซึ่งต่อไปอาจจะต้องบอกบ่งกันว่าเป็นจริยธรรมสากลของคนนั้นคนนี้ หรือของคณะนั้นคณะนี้
๑๖. สถาบันพุทธศาสนา และบุคคลที่รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็จะต้องไม่มัวแต่โทษรัฐและผู้บริหารการศึกษาของชาติแต่ฝ่ายเดียว แต่จะต้องยอมรับความจริงว่า เท่าที่ผ่านมานี้ วงการศาสนศึกษาก็ได้มีความบกพร่องย่อหย่อน ได้เอาใจใส่ให้ความสำคัญต่อศาสนกิจด้านการศึกษาน้อยเกินไป และมิได้ปรับปรุงระบบการศึกษาในความรับผิดชอบของตนให้ได้ผลสมสมัยทันเหตุการณ์ ชนิดต่อติดโยงกันได้กับพื้นฐานจากอดีต โดยเฉพาะไม่ได้สอดส่องติดตามดูการศึกษาพระพุทธศาสนาในหมู่กุลบุตรกุลธิดาของประชาชน ที่รัฐรวบโอนไปรับผิดชอบนั้น ว่าได้ผลดีหรือไม่เพียงไร ไม่ได้เหลือบแลทำสิ่งนี้ไว้ในสายตา และไม่ได้แสวงหาหนทางหรือวิธีการ ที่จะเข้าไปร่วมมือประสานงานกับรัฐ หรือเร้าเตือนรัฐให้ระลึกเกิดความสำนึกและตื่นตัวในเรื่องนี้
เมื่อเป็นดังที่กล่าวมา จึงถึงเวลาแล้วที่สถาบันพระพุทธศาสนาและชาวพุทธผู้มีความรับผิดชอบ จะต้องหันมาทบทวนสำรวจตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนแห่งกิจการของตน พร้อมทั้งมองกว้างออกไปถึงสภาพความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปในสังคม และสภาพการจัดการศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนาและศีลธรรมจรรยาในระบบการศึกษาของชาติ จะต้องยอมรับว่า ความผิดพลาดบกพร่องที่เกิดขึ้นนี้ ผู้มีหน้าที่บริหารการพระศาสนาก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วย การละเลยการศึกษาพระพุทธศาสนา เกิดจากความประมาทและความโทรมทรามเสื่อมถอย ในวงการพระศาสนาเป็นปัจจัยด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีโอกาสใช้สติปัญญาไตร่ตรองพิจารณาอย่างเพียงพอ มองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงเวลาวิกฤตจะมาถึงแล้วเช่นนี้ ก็ยังไม่สายเกินไป ที่สถาบันพระพุทธศาสนาและผู้นำชาวพุทธจะลุกขึ้นมา เร่งรัดปรับปรุงการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ได้ผล ทั้งในส่วนการศึกษาของวัดวาอาราม และในส่วนการศึกษาสำหรับพลเมืองไทยในสังคมใหญ่ที่ล้อมรอบตน ซึ่งล้วนเป็นบริษัทของพระพุทธเจ้า และมีส่วนเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาอย่างเท่าเทียมเสมอเหมือนกัน
เมื่อพูดอย่างรวบรัด รัฐควรจัดหลักสูตรการศึกษาให้คนไทยส่วนใหญ่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลสำคัญ ๓ ประการ คือ
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับคนไทย และสังคมไทยในแง่ด้านต่างๆ มากหลาย คนไทยควรศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่ด้านต่างๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วนตามฐานะต่างๆ ดังนี้
การศึกษาพระพุทธศาสนานั้น อาจจัดแยกออกได้เป็น ๒ หมวดใหญ่ คือ
๑. การศึกษาภาคเนื้อหา ได้แก่ ข้อมูลความรู้ หรือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งคนไทยและพุทธศาสนิกชนควรจะต้องรู้ตามสมควรแก่ฐานะของตน และเพื่อความเป็นชาวพุทธที่ดี เช่น พุทธประวัติ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
๒. การศึกษาภาคปฏิบัติการ ได้แก่ การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งพร้อมที่จะอยู่ร่วมด้วยดีและมีส่วนในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะรู้จักนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของท้องถิ่นและยุคสมัยนั้นๆ ได้
การศึกษาภาคเนื้อหา เป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นในขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าหยุดอยู่เพียงนั้น ก็จะไม่เป็นการศึกษาที่แท้จริง เพราะจะไม่เกิดการฝึกฝนพัฒนาแก่ชีวิตของบุคคล และไม่สำเร็จประโยชน์แก่สังคม เมื่อศึกษาภาคเนื้อหาข้อมูลพอสมควรแล้ว จะต้องเน้นภาคปฏิบัติการในการฝึกฝนพัฒนา ให้รู้จักปฏิบัติต่อประสบการณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้ไว้ไปใช้ประโยชน์ โดยให้รู้จักคิดเป็น พูดเป็นหรือสื่อสารเป็น ทำเป็นผลิตเป็น และแก้ปัญหาเป็นด้วย
การศึกษาภาคปฏิบัติการนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ
- พัฒนาความสามารถที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนในภาคเนื้อหามาใช้ให้เกิดผลจริง
- เป็นการเรียนโดยยกเอาวัตถุประสงค์หรือปัญหาเป็นตัวตั้ง เช่น ตั้งหัวข้อว่า "เรียนอย่างไรจึงจะได้ผลดี?" "ทำอย่างไรครอบครัวของเราจึงจะมีความสุข?" "ชุมชนของเราจะพัฒนาได้อย่างไร?" "สังคมอุตสาหกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร?" "รับฟังข่าวสารอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์?" "ท้องถิ่นนี้ชอบเล่นการพนัน จะแก้ปัญหาอย่างไร?" ฯลฯ
- กระบวนการเรียนการสอนเน้นวิธีบูรณาการ แต่แทนที่จะบูรณาการพระพุทธศาสนา หรือจริยธรรมเข้าในวิชาต่างๆ กลับเอาวิชาอื่นๆ ทุกวิชามาบูรณาการเข้า โดยมีวิชาพระพุทธศาสนาหรือจริยศึกษาเป็นสนาม และเอาธรรมเป็นแกนของการบูรณาการ
การเรียนการสอนตามหลักการนี้จะสำเร็จผลได้ จะต้องมีวิธีสอนที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งต้องได้ครูที่มีความรู้ความสามารถมีคุณภาพสูง เพราะการที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ ทุกวิชาเข้าด้วยกัน โดยมีจริยธรรมเป็นแกนในสนามรวมแห่งพระพุทธศาสนาหรือจริยศึกษานั้น มิใช่เป็นงานที่ครูไหนๆ ก็ทำได้ จึงต้องมีการเน้นย้ำในเรื่องการฝึกหัดและพัฒนาครู ซึ่งโยงไปถึงการที่รัฐจะต้องมีนโยบายส่งเสริมยกระดับ และยกฐานะครู พร้อมไปด้วยกันกับการให้ความสำคัญแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา ในเรื่องนี้ บางที พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๓๑ ของอังกฤษ อาจมีแง่คิดหรือข้อเตือนสติอะไรบางอย่าง ที่เราควรจะพิจารณาอยู่บ้าง ท้ายที่สุดสิ่งหนึ่งที่พึงย้ำไว้ ก็คือ รัฐจะต้องตกลงที่จะพยายามส่งเสริมให้ระบบการคัดเลือกคน ในทางการศึกษาออกผลมาในรูปที่ว่า ผู้ที่เป็นยอดคนจึงมาเป็นครู และผู้ที่เป็นยอดครู จึงมาเป็นครูสอนพระพุทธศาสนาหรือครูจริยศึกษา
หนังสือเรื่อง "ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?” นี้ ได้เขียนขึ้นด้วยความตั้งใจจะให้เป็นบทความ สำหรับลงในหนังสือพิมพ์ กะว่าจะให้มีความยาวสัก ๒-๓ หน้า แต่เมื่อเขียนไปๆ เรื่องก็ยืดขยายออกไปทุกที และหัวข้อก็เพิ่มมากขึ้นด้วย จนในที่สุดก็กลายเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ดังที่ปรากฏอยู่นี้
เนื่องจากความตั้งใจเบื้องแรก จะให้เป็นเพียงบทความสั้นๆ เมื่อกลายเป็นเรื่องที่ยาวออกไป ก็จึงมีความไม่สมบูรณ์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ ประการที่หนึ่ง หัวข้อต้นๆ เขียนไว้รวบรัด จึงสั้นกว่าหัวข้อหลังๆ ไม่ค่อยจะสมส่วนกัน ประการที่สอง เนื้อความบางตอนในหัวข้อหลังๆ ซ้ำกับในหัวข้อต้นๆ บ้าง เพราะสาระบางอย่างที่เขียนไว้รวบรัดในหัวข้อต้นๆ เมื่อนึกขึ้นมาขณะเขียนหัวข้อหลังๆ ที่มีเรื่องโยงกัน เห็นว่ามีอะไรบางอย่างพูดไว้สั้นไปก็เขียนเพิ่มไว้อีกในที่นั้นๆ ประการที่สาม ไม่ได้บอกแหล่งที่มาหรือเอกสารอ้างอิงไว้ให้สมบูรณ์ตามแบบแผน
ระหว่างเขียนยังไม่จบ ต้องละวางไปทำเรื่องอื่นที่เร่งด่วน ประจวบพอดีใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธ.ค. ๒๕๓๓ ท่านพระเถรานุเถระที่เคยร่วมงานที่มหาจุฬาฯ คิดกันว่าจะพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ถวายเป็นมุทิตาสักการะ แด่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ในโอกาสที่ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ และตกลงว่าจะพิมพ์เรื่อง "ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?" นี้ ทั้งที่เขียนยังไม่จบบริบูรณ์ และเวลาก็กระชั้นมาก ก็จำเป็นต้องพิมพ์ออกมา แม้จะได้เขียนเพิ่มขึ้นอีกบ้าง แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ไม่อาจเขียนได้ทันเพราะหมดเวลา จึงต้องส่งเรื่องเข้าโรงพิมพ์เท่าที่เสร็จ เท่าไรก็เท่านั้น ดังที่ปรากฏอยู่นี้
ขออนุโมทนา พระมหาอินศร จินตาปฺโ ที่ได้ช่วยพิมพ์ต้นแบบหนังสือนี้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ให้สำเร็จเรียบร้อย ทันส่งโรงพิมพ์ได้ในเวลาที่จำกัดยิ่ง ทำให้สามารถน้อมถวายหนังสือเป็นมุทิตาสักการะ ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาได้สมตามความประสงค์ของคณะผู้จัดพิมพ์
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๒๔ พ.ย. ๒๕๓๓
ได้กล่าวแล้วว่า ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากล มีต้นกำเนิดจากการหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง แบ่งพวก เข้ากันไม่ได้ ระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างกันในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะก็คือความขัดแย้งระหว่างคริสต์ศาสนิกชนด้วยกันที่แบ่งออกเป็นสองนิกายใหญ่ ได้แก่ โปรเตสแตนต์ และคาทอลิก และที่แยกย่อยจากนิกายใหญ่นั้นออกไปเป็นนิกายย่อยอีกมากมาย ซึ่งถือคำสอนต่างกัน ปฏิบัติพิธีกรรมต่างกัน ใช้บทสวดต่างกัน ตลอดจนแม้แต่ต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลคนละฉบับ
รัฐและผู้บริหารการศึกษาของอเมริกาได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ด้วยวิธีประนีประนอม โดยหาทางจัดจริยศึกษาหรือจัดการสอนหลักศีลธรรม ชนิดที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง บรรจุแต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมอันจะเป็นที่ยอมรับของผู้นับถือคริสต์ศาสนานานานิกาย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ยุติลงโดยเรียบร้อย ปัญหาความขัดแย้งน้อยใหญ่ก็ยังคงยืดเยื้อเรื้อรังเรื่อยมาเกือบตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
ต่อมาเมื่อเวลาผ่านล่วงไปเกือบ ๑๐๐ ปี นับแต่เริ่มเกิดความขัดแย้งกันรุนแรง มาถึงช่วงปี ๒๔๒๓–๒๔๓๒ ความคิดแก้ปัญหาก็ได้ก้าวขยายออกไปนอกวงแห่งจริยธรรมของศาสนา แล้วก็มีการเสนอหลักศีลธรรมสามัญของชาวโลกที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนา ซึ่ง “เป็นผลแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ เป็นที่ยอมรับของปวงอารยชน อันปรัชญาเมธีทุกเชื้อชาติสั่งสอนลงกัน และเป็นที่ยืนยันโดยลัทธิที่ทรงภูมิปัญญาทั้งปวง”35 ผลผลิตของความพยายามในช่วงนี้ ได้ปรากฏออกมาเป็นประมวลหลักศีลธรรม หรือหลักธรรมจริยา (Morality Codes) ซึ่งโรงเรียนทั้งหลาย พากันยอมรับไปใช้ ถือว่าเป็นจริยธรรมที่เป็นสากลมากขึ้น
การพยายามแก้ปัญหายังคงดำเนินต่อมา บุคคลสำคัญที่ได้สร้างความก้าวหน้าต่อไปอีกในเรื่องนี้ คือ จอห์น ดิวอี ซึ่งได้คิดหาทางที่จะยุติปัญหาความแบ่งแยกระหว่าง (นิกาย) ศาสนาให้จบสิ้นลงเสียที และให้ความคิดลงลึกได้เนื้อหาสาระเป็นหลักการทางปรัชญา มิใช่เป็นเพียงการรวบรวมกฏเกณฑ์ข้อปฏิบัติทางศีลธรรมมาประมวลกันไว้เท่านั้น แนวความคิดของเขาออกมาในรูปของการใช้ปรัชญาปฏิบัตินิยมเป็นฐากสร้างศาสนาประชาธิปไตยที่เป็นของกลางร่วมกันสำหรับชาติอเมริกัน อันได้มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดศาสนาประชาราษฎร์ (civil religion) ที่ถือได้ว่าเป็นหลักศาสนาส่วนรวมของชาติอเมริกันมาจนบัดนี้ แม้จะไม่ได้กำหนดชื่อเป็นทางการ ก็เป็นที่เข้าใจกันในวงวิชาการอย่างนั้น
ศาสนาประชาราษฎร์นั้น มีหลักการที่ให้เป็นกลาง ไม่เข้ากับศาสนาลัทธินิกายใด คือใช้เป็นของส่วนรวม เรียกว่าเป็นสากล แต่แท้ที่จริงก็เป็นศาสนาสำหรับชาติอเมริกันเท่านั้น ซึ่งถ้าเรียกให้เต็มก็ต้องเป็นศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกัน (The American Civil Religion)36 ครั้นมาถึงปัจจุบันศาสนาประชาราษฎร์นี้ก็ถูกคนอเมริกันเอง อย่างน้อยบางกลุ่มบางส่วน มองว่าเป็นเพียงหลักลัทธิแบบหนึ่งที่สอนโดยหลบเลี่ยงไม่ออกตัวมาโจ่งแจ้งเท่านั้นบ้าง ว่าเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่งขึ้นมาต่างหากจากศาสนาที่มีอยู่แล้วบ้าง หมายความว่าไม่เป็นสากลนั่นเอง
ในเชิงปฏิบัติการ จริยศึกษาในสหรัฐอเมริกายังมีความเปลี่ยนแปลงอีกต่อๆ มา โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะต้องกล่าวไว้ ก็คือ เมื่อรัสเซียส่งยานอวกาศสปุตนิค (Sputnik) ขึ้นไปสำเร็จในปี ๒๕๐๑ ทำให้รัฐบาลและชาวอเมริกันตกตะลึง ถึงกับสูญเสียความมั่นใจในความเป็นเลิศแห่งการศึกษาของชาติของตน ในช่วงนั้นสหรัฐได้ตรารัฐบัญญัติการศึกษาเพื่อการป้องกันประเทศ (The National Defense Education Act) ขึ้นมา ให้โรงเรียนหันไปเน้นการศึกษาด้านเทคนิค มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ หลักสูตรตัดเรื่องศาสนาออกไป และให้ถือว่าเรื่องศาสนาและศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล
แม้ว่าศาสนาและศีลธรรมจะหลุดออกจากชั้นเรียน แต่เบื้องแรก ความเข้มแข็งของประเพณีและระบบท้องถิ่นก็ช่วยตรึงไว้ได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มแห่งความเหินห่างจากศาสนาและศีลธรรมได้ถูกซ้ำเติมด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ครูสับสนและสูญเสียความมั่นใจต่อบทบาทและอำนาจทางศีลธรรมของตน ระบบสั่งงานแบบราชการเข้ามาแทนที่ระบบความนับถือคุณธรรมตามประเพณี โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นช่องทางให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการที่จะเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าในสังคม แต่พร้อมกันนั้นก็มีปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสผุดโผล่อย่างรุนแรง เริ่มแต่ปัญหาการแบ่งผิว ปัญหาสิทธิของราษฎร ปัญหาสิทธิของเด็ก ปัญหาสิทธิสตรี กระหนาบด้วยความเสียหน้าเสียเกียรติภูมิทางจริยธรรม ในกรณีสงครามเวียดนาม จนถึงคดีวอเตอร์เกต มาตรฐานตัดสินในทางสังคมเปลี่ยนจากกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมมาเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับของกฎหมาย
ความตระหนกตกใจ พร้อมทั้งความสูญเสียกำลังใจครั้งใหญ่เกิดขึ้นแก่สังคมอเมริกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งล่าสุด ในระยะใกล้ๆ คือ ช่วง ๗-๘ ปีนี้ เมื่อสภาพความเสื่อมโทรมต่างๆ ปรากฏชัดออกมาหลายเรื่องหลายด้าน ตัวอย่างหลักฐานที่เด่นชัด คือ คำเตือนของคณะกรรมธิการแห่งชาติว่าด้วยความเป็นเลิศในการศึกษา ที่ออกมาเมื่อต้นปี ๒๕๒๖ ว่า ‘ชาติของเราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย’ (Our nation is at risk.)37 หมายถึงว่าการศึกษาของประเทศอเมริกาเสื่อมโทรมจะต้องแก้ไขปรับปรุงเป็นการใหญ่
สังคมอเมริกันกล่าวโทษระบบการศึกษาของชาติของตนกันอย่างมากมายว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมโทรมทั้งหลาย เท่ากับว่าตั้งแต่ยุคสปุตนิคมา การศึกษาของอเมริกามิได้ดีขึ้นเลย กลับยิ่งทรุดลงด้วยซ้ำ และความเสื่อมถอยครั้งนี้ เป็นไปทั้งในด้านภูมิธรรม และภูมิปัญญา หรือทั้งด้านจริยธรรม และด้านวิชาการ
ในด้านจริยธรรม สภาพจิตใจและสังคมเป็นเครื่องฟ้องอย่างชัดเจน ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมวัยรุ่น การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น การตั้งครรภ์ของเด็กหญิงวัยรุ่น โรคจิตวัยรุ่น ตลอดจนการหนีโรงเรียน การออกจากโรงเรียนกลางคัน ที่มีสถิติสูงมากและสูงขึ้นอย่างน่ากลัว เป็นสัญญาณอันตรายที่เตือนถึงความหายนะของสังคม ซึ่งมีปมปัญหาซ้อนอยู่เบื้องหลังและลึกลงไปอีก เช่น ความสลายของสถาบันครอบครัวและความเสื่อมประสิทธิภาพของสถาบันศาสนาเป็นต้น
ในด้านวิชาการ หรือภูมิปัญญา การสำรวจสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ที่ก้าวหน้า พบแต่สภาพการศึกษาของอเมริกาที่ตกต่ำ ด้อยและร่นถอยไปอยู่ข้างหลัง เมื่อมีการทดสอบความรู้นักเรียนนานาชาติ เด็กอเมริกันตกไปอยู่อันดับท้ายๆ หรือท้ายสุด (น่าสังเกตว่ามักจะมีไทยเป็นประเทศเดียวที่อยู่ต่อท้ายอเมริกัน) และในระดับกิจการระหว่างประเทศอเมริกาก็กำลังสูญเสียความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ
แม้จะไม่เทียบกับคนอื่น เอาแค่เทียบกับตัวเอง ผลการทดสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test) ก็แสดงผลต่อเนื่องมาหลายปีว่า ในแง่วิชาการหรือด้านสมอง เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ๆ ทำคะแนนได้ต่ำลงๆ กว่ารุ่นก่อนๆ พร้อมทั้งยังพ่วงปัญหาด้านจริยธรรมเสื่อมลงเข้ามาด้วย คือเกิดมีนักเรียนทุจริตในการทดสอบ SAT นั้น
ในแง่ของการแข่งขัน คราวนี้คู่แข่งที่ทำให้อเมริกาเสียขวัญ ไม่ใช่โซเวียตอย่างคราวสปุตนิคโน้นแล้ว แต่กลายเป็นญี่ปุ่น คนอเมริกันถกเถียงกันว่า จะแก้ปัญหาการศึกษาของตนอย่างไร จึงจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในโลกไว้ได้ เช่นว่า ปีการศึกษาของโรงเรียนอเมริกัน มี ๑๘๐ วัน แต่ของญี่ปุ่นมี ๒๔๐ วัน อเมริกันควรจะเพิ่มจำนวนวันเพื่อยืดเวลาเรียนในปีการศึกษาหนึ่งๆ ให้มากขึ้นหรือไม่
ส่วนอีกด้านหนึ่งคือจริยธรรมในด้านนี้ ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นจะไม่ดีไปกว่าอเมริกามากนัก หรืออาจจะกำลังเดินลงไปหาปัญหาทางจริยธรรมที่หนักมากขึ้นร่วมในทางเดียวกับอเมริกา แต่เฉพาะสำหรับอเมริกานั้นได้เกิดความตื่นตัวขึ้นทั่วไป และมีเสียงเรียกร้องกันมากมาย ทั้งทางรัฐและเอกชน ตั้งแต่ผู้นำของชาติ จนถึงคนในครอบครัว ให้โรงเรียนเอาใจใส่สั่งสอนอบรมศีลธรรมหรือจริยธรรมแก่นักเรียน
โดยนัยนี้ วิชาศีลธรรมหรือจริยศึกษา ก็กำลังกลับฟื้นคืนชีพใหม่ และกลับเข้าสู่ประตูโรงเรียนอีก มีการถกเถียงกันประปรายว่าจะใช้จริยธรรมระบบไหน จะสอนศีลธรรมด้วยวิธีใด ทฤษฎีจริยศึกษาและวิธีให้การศึกษาศีลธรรมแบบต่างๆ ถูกยกขึ้นมาพิจารณาและนำเสนอหรือถกเถียงกัน
แม้ว่านักการศึกษา โรงเรียน และชุมชนส่วนมากจะหันกลับไปหาจริยศึกษาแบบพื้นประเพณีเดิม รวมทั้งการศึกษาวิชาศาสนา แต่ก็มีกระบวนวิธีจริยศึกษาแบบสมัยใหม่ ที่ได้รับความนิยม และขึ้นหน้าขึ้นตาพอสมควร อย่างน้อยก็ในแง่ที่เอามาทดลองกันดู ได้แก่ ขบวนการสางอุปาทาน (Values Clarification) กับขบวนการพัฒนาศีลธรรม (Moral Development) ดังที่ได้เคยพูดถึงมาแล้วข้างต้นในภาคหนึ่ง
นี้คือความเป็นไปโดยสังเขปและสภาพคร่าวๆ ของจริยศึกษาในอเมริกา ที่ถือกันว่าเป็นผู้นำของโลกในปัจจุบันความเคลื่อนไหวในทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จะมีผลเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่พึงตามดูกันต่อไป แต่ในที่นี้ สิ่งที่ต้องการให้พิจารณา ก็คือชะตากรรมของจริยธรรมสากล
เมื่อสืบค้นให้ลึกลงไปถึงรากฐาน ก็จะเห็นสาเหตุใหญ่ของความเป็นมาที่ไม่ราบรื่นของจริยธรรมสากลในประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องของภูมิหลังทางศาสนาและวัฒนธรรมทั้งหมดของประเทศตะวันตก
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา สังคมตะวันตกไม่เคยรู้จักระบบจริยธรรมหรือหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม ที่เป็นไปตามหลักการแห่งเหตุและผล หรือหลักความเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เรียกว่ากฎธรรมชาติ แต่จริยธรรมหรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เป็นบัญญัติทางศาสนา ในความหมายที่ว่า เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับจากเบื้องบน อย่างที่เรียกว่า เทวบัญชา หรือเทวโองการ ซึ่งมนุษย์หรือศาสนิกจะต้องเชื่อฟังอย่างเด็ดขาดตายตัว ไม่มีทางโต้แย้ง หรือแม้แต่ตั้งข้อสงสัย หากผู้ใดละเมิดหรือฝ่าฝืน ก็จะต้องถูกตัดสินลงโทษจากเบื้องบนนั้น ส่วนผู้ใดเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ก็จะได้รับรางวัล เช่นส่งไปสวรรค์ เป็นผลตอบแทน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนนับถือลัทธิหรือนิกายศาสนาต่างกัน ยึดถือในข้อปฏิบัติที่เป็นข้อบัญญัติทางศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ละฝ่ายก็จะต้องให้ฝ่ายอื่นถือตามอย่างตนอย่างไม่มีทางยืดหยุ่นได้ จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทกัน และข้อนี้แหละจึงเป็นเหตุให้ประเทศประชาธิปไตยหาทางออก โดยพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีแสวงหาหรือจัดสร้างจริยธรรมชนิดที่เป็นกลางๆ ที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ และบางครั้งก็พยายามเรียกในทำนองว่าเป็นจริยธรรมสากล แล้วไปๆ มาๆ จริยธรรมแบบกลางนั้นก็จะกลายเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่งขึ้นมาเสียเอง ซึ่งเมื่อทางการฝ่ายการศึกษายอมรับ ก็มีผลเป็นการขับไล่หรือกีดกันลัทธิศาสนาต่างๆ ออกจากวงการการศึกษา พร้อมทั้งเกิดความขัดแย้งกับองค์กรทางศาสนาและประชาชนที่เชื่อถือในคำสอนของศาสนานั้นๆ
นอกจากทำให้เกิดปัญหาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ประเพณีการถือจริยธรรมตามบัญญัติจากเบื้องบนของศาสนาแบบเทวบัญชานั้น ก็ส่งผลย้อนกลับในทางลบต่อจริยธรรมเอง กล่าวคือ คนในยุคใหม่ที่ชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์ พากันมองว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของบทบัญญัติทางศาสนา ที่กำหนดกันขึ้นเอง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องของความเชื่อเหลวไหลงมงายไปก็มี ดังนั้น คนสมัยใหม่เหล่านี้ จึงขาดความซาบซึ้งในคุณค่าและความสำคัญของจริยธรรม แล้วก็ไม่ใส่ใจในเรื่องจริยธรรม
ในเวลาเดียวกันและในทางกลับกัน เพราะเหตุที่มีภาพและความเข้าใจต่อจริยธรรมแบบนี้ วิทยาศาสตร์ก็เลยมองศาสนาและจริยธรรมเป็นเรื่องของคุณค่าที่เลื่อนลอย ซึ่งมนุษย์คิดนึกกำหนดกันขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องจริยธรรมตามวิธีวิทยาศาสตร์ แล้วท่าทีหรือทัศนคตินี้ก็กลายเป็นฉากกั้นวิทยาศาสตร์นั่นเอง ไม่ให้เข้าถึงความจริงที่ครอบคลุม คือกลายเป็นจุดบกพร่องในตัวของวิทยาศาสตร์เอง ที่ไม่สามารถแสดงธรรมชาติของโลกและชีวิตให้สมบูรณ์ หรือช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้ เพราะโดยที่แท้แล้วสรรพสิ่ง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ย่อมรวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกัน การรู้ไม่ทั่วถึงความจริงของส่วนหนึ่ง ย่อมทำให้ความรู้ในความจริงของอีกส่วนหนึ่งบกพร่องไปด้วย
นอกจากนั้น ความยึดถือในวิทยาศาสตร์ ยังได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความจริงด้านอื่นของธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์มองข้ามไปอีกด้วย เพราะคนจำนวนมาก ที่ยึดมั่นในวิทยาศาสตร์ ได้ยึดถือเลยไปถึงว่าความจริงตามแบบแผนของวิทยาศาสตร์อย่างที่ถือกันมาเท่านั้น จึงจะเป็นสัจธรรม เลยเป็นเหตุปิดกั้นการค้นคว้าหาความจริงด้านอื่นหรือระดับอื่นนั้นเสีย
จริยธรรม หรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่แท้จริงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย คือเป็นความจริงตามธรรมชาติ หมายความว่า จริยธรรมที่แท้จริงตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมเองด้วย แต่เพราะเป็นความจริงที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นธรรมชาติส่วนที่มีวิวัฒนาการสูงสุด ละเอียดซับซ้อนที่สุด และจริยธรรมนี้ก็เป็นธรรมชาติส่วนที่ประณีตหรือสุดยอดแห่งการแสดงออกของมนุษย์ด้วย ความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในทางจริยธรรมจึงมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอย่างยิ่ง เป็นการประสานของระบบปัจจยาการ หรือกฎแห่งความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย ทั้งของธรรมชาติฝ่ายกายภาพ ธรรมชาติด้านชีววิทยา ธรรมชาติฝ่ายจิต และธรรมชาติด้านเจตน์จำนงเสรี แต่รวมแล้วก็อยู่ภายในระบบแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติทั้งหมด
จริยธรรมที่มีความเป็นจริงอยู่ในธรรมชาติ คือเป็นไปตามกฎแห่งปัจจยาการนี้ จึงจะเป็นจริยธรรมที่สากล คือถูกต้องใช้ได้ทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย หรือไม่จำกัดด้วยกาละและเทศะ หมายความว่า ความเป็นสากลของจริยธรรม อยู่ที่ความเป็นจริง (ตามธรรมดาของธรรมชาติ)
อย่างไรก็ตาม จริยธรรมสากลอย่างที่เข้าใจกันอยู่หรือตามความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีกำเนิดในประเทศตะวันตก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มิใช่เป็นจริยธรรมสากลในความหมายของความเป็นจริงอย่างที่เพิ่งกล่าวมานี้
จะเห็นได้จากเหตุผลและความเป็นมาของจริยธรรมแบบนั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า จริยธรรมสากลของตะวันตกเกิดขึ้นจากการคิดหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลัทธิและนิกายศาสนาต่างๆ มีลักษณะเป็นการตัดส่วนที่แตกต่างออกไป คงไว้แต่ส่วนที่เหมือนกันหรือไปกันได้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ความเป็นสากลของจริยธรรมแบบนี้ จึงอยู่ที่ความเป็นกลาง ไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นจริง
ว่าโดยวิธีการ การที่จะจัดสรรหรือสร้างจริยธรรมแบบนี้ ก็ต้องใช้การเก็บรวบรวมหัวข้อจริยธรรมที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีเหมือนๆ กัน หรือยอมรับกันได้ เอามาประมวลเข้าไว้เป็นหลักการที่จะใช้ร่วมกัน ในกรณีที่ลัทธิหรือนิกายศาสนาหน่วยใดหน่วยหนึ่ง มีคำสอนที่ลึกซึ้งเป็นความจริงแท้หยั่งถึงสัจธรรม คำสอนหรือหลักการเช่นนั้นก็จะต้องถูกตัดทิ้งไป เพื่อเห็นแก่การยอมรับร่วมกัน คำสอน หลักการ และข้อปฏิบัติต่างๆ ที่จริยธรรมสากลแบบนี้จะรวบรวมมาได้ ก็คือสิ่งที่เป็นพื้นๆ ง่ายๆ อย่างสามัญทั่วๆ ไป ถ้ามองในความหมายนี้ จริยธรรมสากลก็จะกลายเป็นจริยธรรมที่ด้อยคุณภาพที่สุด
อาจจะมีคำแย้งขึ้นว่า ในการแสวงหาหรือประมวล สร้างจริยธรรมสากลนั้น ก็ได้มองในแง่ความจริงหรือความถูกต้องแน่นอนด้วย ดังหลักเกณฑ์ที่เคยยกมาอ้างในหนังสือนี้เองว่าเป็นจริยธรรมที่ “เป็นผลแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ เป็นที่ยอมรับของปวงอารยชน อันปรัชญาเมธีทุกเชื้อชาติสั่งสอนลงกัน และเป็นที่ยืนยันโดยลัทธิที่ทรงภูมิปัญญาทั้งปวง”38
คำแย้งนี้ตอบได้ง่ายๆ ว่า แม้ผู้คิดหาจริยธรรมสากลนั้นจะมองในแง่ความเป็นจริงอยู่ด้วย แต่การหาความจริงนั้นก็เป็นเพียงเครื่องเสริมหรือเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ความคิดหลักก็คือ การหาคำสอนที่เป็นกลางๆ แม้ในคำที่ยกมาอ้างนั้นก็เห็นได้ชัดว่า แม้แต่การมองความจริง ก็มองในแง่ของความเป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์และสังคมหรือมนุษย์ที่เจริญแล้วในกาละและเทศะที่กว้างขวางที่สุด ไม่ใช่มองในแง่ที่เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ หรือเป็นความจริงตามระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ที่มันจะต้องเป็นของมันอย่างนั้น พูดสั้นๆ ว่า ไม่ได้มองจริยธรรมโดยสัมพันธ์กับสัจธรรม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตะวันตกมองความจริงทางจริยธรรมเพียงแค่นั้น ก็เพราะมองจริยธรรมบนพื้นฐานแห่งภูมิหลังของตน ที่จริยธรรมมาจากบัญญัติทางศาสนาแบบเทวบัญชา และเห็นว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของคุณค่าที่หมู่มนุษย์คิดกำหนดกันขึ้นมา อย่างที่กล่าวแล้ว ก็เลยจับความจริงเพียงแค่ในระดับการยอมรับหรือเห็นร่วมกันของสังคมที่เจริญแล้ว หรือของมนุษย์ที่เชื่อว่ามีสติปัญญาสูง แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่สืบค้นหาความจริงให้ลึกลงไปอีกถึงรากฐานทางสัจธรรม ที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
คำว่าจริยธรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือ มีเนื้อหาสาระปะปนกันอยู่หลายระดับ อย่างน้อยก็แยกได้ว่ามีทั้งจริยธรรมแท้ๆ และสิ่งที่เป็นเพียงบัญญัติธรรม ความสับสนขั้นแรก ก็คือการมองจริยธรรมเป็นบัญญัติธรรมไปหมด
แต่ว่าที่จริง แม้แต่สิ่งที่เป็นเพียงระบบคุณค่าหรือค่านิยม ที่จิตใจมนุษย์กำหนดและสังคมบัญญัติขึ้น ซึ่งเป็นเพียงบัญญัติธรรม ก็มีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย โยงลงไปถึงความจริงที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือมีรากฐานอยู่ในกฎธรรมชาติด้วย มนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ หรือรู้จักโลกและชีวิตได้โดยสมบูรณ์ ถ้ายังไม่สามารถแยกแยะเจาะแจงหยั่งลงไปให้ถึงความจริงแห่งความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในธรรมชาติระดับนี้
วิทยาศาสตร์แบบที่สืบๆ กันมา หรือวิทยาศาสตร์ตามแบบแผนประเพณีที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นระบบวิธีหาความรู้ที่แยบคาย และทำให้มนุษย์ก้าวหน้าในการเข้าหาความจริงของธรรมชาติไปได้ไกลมาก แต่ต้องกลายเป็นศาสตร์ที่แสดงความจริงในขอบเขตจำกัด ก็เพราะมองข้ามแดนความรู้ระดับนี้ไปเสีย ไม่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่โยงความจริงทุกด้านให้ถึงกันทั้งหมด
แม้จะมีศาสตร์เฉพาะบางสาขาที่ถือว่าทำการศึกษาเรื่องราวในขอบเขตของตนด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น จิตวิทยา และสังคมวิทยาเป็นต้น และศาสตร์เหล่านั้นก็มีหน้าที่ศึกษาเรื่องจริยธรรมด้วย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะศาสตร์เหล่านี้ ก็มองจริยธรรมด้วยท่าทีแห่งความรู้สึกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของคุณค่า และเป็นบัญญัติของสังคมอย่างที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น ศาสตร์เหล่านี้ยังเป็นการศึกษาแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางอีกด้วย จึงศึกษาจริยธรรมเฉพาะในแง่ด้านที่เกี่ยวข้องกับตน ในเมื่อจริยธรรมเป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยขององค์ประกอบต่างๆ ที่โยงส่งทอดกันหลายระดับหลายด้าน การศึกษาเฉพาะแง่เฉพาะด้านย่อมไม่อาจแสดงความจริงแท้ คือความรู้ที่ทั่วตลอดของเรื่องนั้นได้
ยิ่งกว่านั้น ศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมและสังคมเหล่านี้ ยังถูกวิทยาศาสตร์ฝ่ายกายภาพมองว่าเป็นศาสตร์ชั้นรองอีกด้วย เมื่อมีท่าทีเช่นนี้ การที่จะร่วมมือกันในการสืบค้นความรู้หาความจริงก็ไม่เต็มที่ กลายเป็นการสร้างเครื่องกีดขวางตนเองในการเข้าถึงสัจธรรม เพราะความจริงขั้นสุดท้ายที่สมบูรณ์ เป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่ทุกส่วนของธรรมชาติหรือองค์ประกอบทุกด้านของโลกและชีวิตเชื่อมโยงส่งทอดอิทธิพลถึงกัน
วัฒนธรรมตะวันตกนั้น นอกจากมองจริยธรรมด้วยท่าทีว่าเป็นเพียงระบบคุณค่าและเป็นบัญญัติของสังคมแล้ว ก็มักมองความหมายของจริยธรรมหรือศีลธรรมในขอบเขตที่แคบว่าเป็นพฤติกรรมทางด้านสังคม หรือเน้นความหมายในระดับสังคมเท่านั้น ไม่หยั่งลึกลงไปถึงเนื้อหาและคุณภาพในระดับความคิดจิตใจ หรือจิตใจและปัญญา ถ้าสำรวจดูพจนานุกรมและสารานุกรมทั้งหลาย ตลอดจนคำจำกัดความของจริยธรรมที่นักปราชญ์ตะวันตกกล่าวไว้ จะเห็นว่า ต่างก็ให้ความหมายไปในเชิงสังคมแทบทั้งสิ้น เช่นว่า จริยธรรม คือ “การงดเว้นการกระทำที่ก่อผลเสียหายต่อสังคมและประกอบกรรมที่เกื้อกูลต่อสังคม”39 หรือว่าเป็น “การกระทำที่สอดคล้องกับมาตรฐานแห่งพฤติกรรมที่ถูกต้องตามที่สังคมได้กำหนดไว้”40
ความต้องการให้โรงเรียนสอนศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน กับการที่เด็กนักเรียนมาจากครอบครัวซึ่งนับถือนิกายศาสนาต่างๆ ที่สอนหลักศีลธรรมไม่เหมือนกัน เป็นสภาพขัดแย้งและเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเรื่อยมาในสังคมอเมริกัน การหาทางออกด้วยการเก็บรวบรวมหลักจริยธรรมที่เป็นกลางๆ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้ถึงจุดที่พอจะลงตัวครั้งหนึ่ง เมื่อโรงเรียนทั้งหลายพากันเริ่มใช้ “ประมวลหลักศีลธรรม” (morality codes) ที่สถาบันธรรมจรรยาศึกษา (Character Education Institute) ซึ่งตั้งขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ได้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดขึ้น
แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นก้าวใหม่ก็ได้เริ่มขึ้นอีก ในเมื่อจอห์น ดิวอี มองเห็นว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ควรจะทำให้เรียบร้อยได้ผลดียิ่งกว่านั้น คือ ไม่ใช่ทำได้แค่เก็บเอากฎเกณฑ์ทางศีลธรรมจากที่นั่นที่นี่มารวมกันไว้ แต่ควรจะมีหลักปรัชญาเป็นแกน
ดังนั้นจริยธรรมสากลในสังคมอเมริกัน จึงได้พัฒนาครั้งสำคัญขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งตามแนวความคิดของจอห์น ดิวอี คราวนี้ จริยธรรมสากล พ้นจากลักษณะที่เป็นกลางๆ อย่างค่อนข้างเลื่อนลอย มาสู่ความมีหลักการอย่างเป็นตัวของตัวเอง คือมีเป้าหมายที่จะเสริมศรัทธาในหลักการแห่งประชาธิปไตย แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ก็กลายเป็นการทำให้จริยธรรมสากลนั้นมีลักษณะที่แคบเข้าด้วย โดยมีความหมายผูกพันกับระบบประชาธิปไตย และสังคมอเมริกันโดยเฉพาะอย่างชัดเจน ซึ่งในที่สุดก็มีผู้ตั้งชื่อเฉพาะให้ว่าเป็นศาสนาประชาราษฎร์ หรือ ศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา (the civil religion หรือ The American Civil Religion)
ถึงตอนนี้ จริยธรรมสากลก็เหมือนจะกลายเป็นศาสนาเฉพาะขึ้นมาอีกศาสนาหนึ่ง (มีผู้ที่กล่าวว่าอย่างนี้ ในประเทศอเมริกาเอง41) โดยมีความจำกัดเฉพาะทั้งในแง่ของหลักการคือเป็นศาสนาประชาธิปไตย และในแง่ของประเทศหรือสังคมที่มุ่งให้ได้รับประโยชน์ คือเป็นศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา เมื่อถึงขั้นนี้ คนในประเทศอื่น ที่ต้องการตามอย่างในการที่จะมีจริยธรรมสากล ก็ต้องหยุดอยู่แค่หลักการแห่งการสร้างจริยธรรมสากล ด้วยการเก็บรวบรวมหลักจริยธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วๆ ไป ชนิดที่เหมือนๆ กัน มาประมวลเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นวิธีการพื้นฐานในเรื่องนี้
เมื่อไม่นานมานี้ มีบุคคลสำคัญในวงการจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่ง ได้ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลของตะวันตกก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง บุคคลท่านนี้คือ ลอเรนซ์ โกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg, 1927-1987) โกลเบอร์ก ได้เสนอทฤษฎีพัฒนาจริยธรรม หรือพัฒนาการทางศีลธรรม (moral development) ซึ่งทำให้จริยธรรมสากลได้ปรากฏตัวขึ้นมาอีกอย่างมีฐานะอันสำคัญ กล่าวคือทฤษฎีนี้ถือว่า การพิจารณาวินิจฉัยในทางจริยธรรมโดยถือความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล (universal ethical principle) เป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นสูงสุด
โกลเบอร์กถือว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นพัฒนาการทางปัญญา ซึ่งแสดงออกในการคิดหาเหตุผลและทำการตัดสินใจทางจริยธรรม จริยศึกษาจึงหมายถึงการช่วยเอื้ออำนวยโอกาสให้เด็กพัฒนาตนเอง ในการคิดหาเหตุผล และตัดสินใจในทางจริยธรรมสูงขึ้นไปตามระดับขั้นตอนของพัฒนาการนี้ โกลเบอร์กจัดลำดับพัฒนาการทางจริยธรรมนี้เป็น ๓ ระดับ และซอยแต่ละระดับเป็น ๒ ขั้น รวมทั้งหมดเป็นพัฒนาการ ๖ ขั้น4243 คือ
๑. ระดับก่อนบัญญัติ (ถือดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยอมรับกฎศีลธรรมตามคำของผู้ใหญ่หรือคนที่โตกว่า)
ขั้นที่ ๑ ถือการลงโทษและการเชื่อฟังเป็นหลัก (คำนึงถึงผลตอบสนองทางร่างกาย ยึดถือ และทำดีเว้นชั่ว ตามคำสั่งของผู้ใหญ่ เพราะกลัวถูกลงโทษ และอยากได้รางวัล)
ขั้นที่ ๒ ถือความที่กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือสนองประโยชน์ตนเป็นหลัก (ยึดถือกฎศีลธรรมในลักษณะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ตนได้รับผลตอบแทนตรงกับการกระทำในการทำดีและเว้นชั่ว)
๒. ระดับบัญญัติ (ถือดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยอมรับกฎศีลธรรมตามกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม)
ขั้นที่ ๓ ถือการยอมรับและการทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้อื่นเป็นหลัก (คิดและเลือกที่จะเว้นชั่วทำดี ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสบายใจ พึงพอใจ โดยที่ตนเองได้ความยอมรับว่าเป็นเด็กดี)
ขั้นที่ ๔ ถือการรักษากฎระเบียบเพื่อธำรงสังคมเป็นหลัก (คิดและเลือกที่จะเว้นชั่วทำดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานของสังคม โดยถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเคารพกติกา เพื่อธำรงความเรียบร้อยของสังคม)
๓. ระดับเหนือบัญญัติ (ถือว่าจริยธรรมที่แท้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม แต่อยู่ที่ความดีงามถูกต้อง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบัญญัตินั้น)
ขั้นที่ ๕ ถือกฎเกณฑ์ในฐานะสัญญาประชาคมเป็นหลัก (รู้ตระหนักว่ากฎเกณฑ์ที่บัญญัติกันไว้เป็นเพียงเครื่องมือจัดสรรสังคมให้บรรลุความสงบเรียบร้อยและประโยชน์สุข จะต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยวิจารณญาณ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และประโยชน์สุขของสังคมนั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่อาจนำไปสู่การแก้ไขกฎเกณฑ์ของสังคมได้ และทำให้คนที่ดีมีปัญญาวางข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันได้ แม้ในกรณีที่ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้)
ขั้นที่ ๖ ถือจริยธรรมสากลเป็นหลัก (แยกได้ชัดระหว่างตัวจริยธรรมที่แท้กับกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม เช่นกฎหมาย เป็นต้น ความถูกต้องชอบธรรม เป็นไปตามหลักจริยธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถใช้วิจารณญาณพิจารณาปฏิบัติให้ถูกต้องในแต่ละสถานการณ์หรือเป็นเรื่องๆ เป็นกรณีๆ ไป)
ขั้นทั้ง ๖ นี้ ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดพัฒนาการทางจริยธรรมของเด็ก (รวมทั้งคนทั่วไป) แต่ขั้นที่ ๖ เป็นขั้นที่น้อยคนเหลือเกินจะก้าวไปถึง และโกลเบอร์กได้ตัดออกจากการใช้วัด เพราะเขาไม่พบตัวอย่างในกลุ่มคนที่ใช้ทดลอง
ทฤษฎีของโกลเบอร์กนี้ ช่วยขยายความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลของตะวันตกออกไป โดยมีแง่ที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งเป็นข้อสำคัญ ๒ อย่างคือ
๑. มีการแยกได้ ระหว่างกฎเกณฑ์ความประพฤติที่เป็นบัญญัติของสังคม กับตัวจริยธรรมที่แท้ที่เป็นนามธรรมซึ่งจะต้องเข้าใจด้วยปัญญา หรือพูดง่ายๆ ว่าระหว่างบัญญัติธรรม กับจริยธรรมที่เขาเรียกว่าจริยธรรมสากล
๒. มองพัฒนาการและปฏิบัติการทางจริยธรรม เป็นระบบและกระบวนการ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยระหว่างพฤติกรรมภายนอกกับองค์ประกอบภายใน (ซึ่งในที่นี้ได้แก่ปัญญา) ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าการมีพฤติกรรมตามมาตรฐานของสังคมด้วยการยึดถือเคร่งครัดตามบัญญัติของสังคมนั้นๆ
อีกอย่างหนึ่ง มีท่าทีคล้ายกับว่าโกลเบอร์กได้ช่วยให้จริยธรรมสากล มิใช่เป็นสากลเพียงในความหมายว่าเป็นหลักความประพฤติที่เป็นกลางๆ เท่านั้น แต่ช่วยให้ความเป็นสากลนั้นโน้มเข้ามาสู่ความหมายในแง่ที่เป็นความจริงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ คือขั้นถือหลักจริยธรรมสากล ซึ่งเป็นขั้นสำคัญที่โกลเบอร์กเองก็ถือว่าสูงสุด เมื่อจัดวางเป็นหลักลงไว้แล้ว ก็ควรจะได้รับการเน้นย้ำ ควรจะถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดจริยศึกษาเพื่อพัฒนาการของเด็ก แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น กลับถูกตัดออกไปเสีย โดยเจ้าตัวโกลเบอร์กเองเป็นผู้ลดออกไป กลายเป็นเหลือพัฒนาการ ๕ ขั้น ทำให้จริยธรรมยังมีความหมายจำกัดอยู่แค่บัญญัติธรรม หรือกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดกันขึ้นมาเหมือนอย่างเดิม แม้จะมีขั้นที่ ๕ ที่แสดงให้เห็นจุดแยก แต่ก็ยังไม่ชัดมากพอที่จะแสดงความหมายในแง่ของจริยธรรมแท้ที่เป็นความจริง
เหตุที่เป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นเพราะโกลเบอร์กเองก็ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับพัฒนาการในขั้นที่ ๖ นี้ เฉพาะอย่างยิ่งไม่ชัดเจนว่าจริยธรรมสากลคืออะไรกันแน่ ที่ว่าสากลในแง่ที่เป็นความจริง ก็ไม่มีอะไรบ่งชัดออกมา เพียงแต่มีทีท่าว่าจะก้าวออกมาจากความหมายในแง่ที่เป็นกลางๆ เท่านั้น เมื่อออกมาแล้วก็เคว้งคว้างลอยอยู่ จริยธรรมสากลที่วินิจฉัยด้วยปัญญานั้น ถ้ายึดความจริงเป็นหลัก ความจริงนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นความจริงตามระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ตามกฎธรรมชาติหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น ความไม่ชัดเจนนี้เปิดช่องให้บางคนตีความว่า ขั้นที่ ๖ นั้นเป็นการวินิจฉัยเลือกตัดสินใจตามความคิดเห็นของตนเอง
อนึ่ง นักวิจารณ์บางท่านให้เหตุผลว่า โกลเบอร์กมองปัญหาจริยธรรมโดยเจาะจงลงไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เด่นในสังคมอุตสาหกรรมของตะวันตกเท่านั้น แนวคิดของโกลเบอร์กจึงมีลักษณะแคบเกินไปและไม่เพียงพอที่จะเป็นความหมายของจริยธรรม
ยิ่งถ้าพิจารณาจากตัวอย่างคำตอบปัญหาจริยธรรมจากสถานการณ์สมมติ ที่โกลเบอร์กถือว่าเป็นคำตอบของผู้มีพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ ด้วยแล้ว ความหวังที่จะได้เห็นจริยธรรมสากลของปราชญ์ตะวันตกในความหมายที่เป็นความจริงโดยสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ก็ดูจะยิ่งเลือนลางห่างไกลออกไป
ตัวอย่างปัญหาจริยธรรมจากสถานการณ์สมมตินั้นมีว่า หญิงหนึ่งป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แพทย์ที่รักษาบอกกับสามีของหญิงนั้นว่า มียาซึ่งค้นพบใหม่ที่จะรักษาโรคนั้นได้ แต่แพงมาก และยิ่งแพงขึ้นไปอีกในเมื่อผู้ขายเอากำไรมากถึง ๑๐ เท่า จากราคาต้นทุน ๒๐๐ ดอลล่าร์ เป็น ๒,๐๐๐ ดอลล่าร์ สามีของคนเจ็บพยายามหาเงินอย่างสุดความสามารถก็ได้เพียง ๑,๐๐๐ ดอลล่าร์ จึงขอร้องให้ผู้ขายยาลดราคาให้ ผู้ขายไม่ยอม ในที่สุดสามีของหญิงนั้นตัดสินใจขโมยยามารักษาภรรยา
จากคำตอบต่างๆ ของผู้รับการทดสอบ พร้อมทั้งเหตุผลที่ประกอบกับคำตอบเหล่านั้น โกลเบอร์กได้จัดบุคคลที่ให้คำตอบต่อไปนี้ ว่าเป็นผู้มีพัฒนาการทางจริยธรรมในขั้นที่ ๖ คือ: การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการรักษาชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง
การที่โกลเบอร์กจัดคำตอบนี้เป็นพัฒนาการขั้นที่ ๖ แสดงว่า โกลเบอร์กก็ยังมองจริยธรรมว่าเป็นเพียงคุณค่าที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง มิใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่มีความจริงอยู่ตามสภาพของมัน คือ ไม่มีฐานแห่งความจริงหรือจุดกำหนด ความจริงอยู่ต่างหากจากความคิดของมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มีส่วนร่วมในฐานะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของความคิดของมนุษย์ที่จะตีค่า และประเมินเปรียบเทียบเอาเอง
คำตอบที่โกลเบอร์กจัดเป็นขั้นที่ ๖ นี้ มีความพิเศษที่ก้าวหน้าออกไป (ที่จริงอาจไม่ใช่ความพิเศษ หรือก้าวหน้าเลย แต่เป็นเพียงความแตกต่าง) จากคำตอบของคนอื่นในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เพียงแค่ว่า ได้ย้ายเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมจากบัญญัติของสังคม มาสู่วิจารณญาณของบุคคล หรือจากการถือตามกฎเกณฑ์ของสังคม มาเป็นการถือตามความคิดเห็นอิสระของตนเอง ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครึ่งๆ กลางๆ ที่คลุมเครือและเสี่ยงอันตราย เพราะไม่มีหลักที่อ้างอิงสำหรับวิจารณญาณหรือความคิดเห็นส่วนตัวของบุคคล นอกจากการเปรียบเทียบระหว่างคุณค่ากับคุณค่า
หลักการที่โกลเบอร์กวางไว้ดูเป็นหลักฐานดี แต่ตัวอย่างที่เขายกมา (ถ้าเป็นของเขาจริงดังตำราว่า) ทำให้หลักการนั้นสูญเสียความถูกต้อง และกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ
ความก้าวหน้าที่ถูกต้องในการที่จะเป็นจริยธรรมสากล คือ การก้าวย้ายจากบัญญัติของสังคมไปสู่ตัวความถูกต้องดีงามแท้จริงที่พิจารณาเห็นด้วยวิจารณญาณ หมายความว่า เป็นการเดินหน้าต่อจากการถือเคร่งตามบัญญัติของสังคม แล้วก้าวเลยเข้าไปให้ถึงตัวจริยธรรมแห่งความถูกต้องดีงามที่แท้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งบัญญัติของสังคมนั้น และซึ่งบัญญัติของสังคมนั้นช่วยให้เข้าถึงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จึงจะต้องเข้าถึงด้วยวิจารณญาณ (ในที่นี้ หมายถึงปัญญาที่ถ่องแท้บริสุทธิ์ใจและเป็นอิสระ) ซึ่งเป็นที่รองรับยืนยันและวินิจฉัยความถูกต้องของบัญญัติของสังคมนั้นอีกทีหนึ่ง โดยที่วิจารณญาณนั้นเป็นตัวการที่ให้กำเนิดแก่บัญญัติที่ดีที่สุดของสังคม และคอยตรวจตราดูแลแก้ไขปรับปรุงบัญญัติของสังคมที่ยังบกพร่องให้ถูกต้องสมบูรณ์ ตลอดจนสอดส่องควบคุมให้มีการใช้บัญญัติของสังคมนั้นอย่างสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์แห่งจริยธรรมที่แท้จริง
บุคคลผู้ให้คำตอบที่โกลเบอร์กจัดเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๖ นี้ ไม่มีวิจารณญาณเพียงพอที่จะแยกแยะองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ในระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผลตามกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกรณีนี้แล้ววินิจฉัยให้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงนั้นได้ เช่นว่า
ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาทางจริยธรรมนั้น มีองค์ประกอบและปัจจัยมากหลายสัมพันธ์ปะปนกันอยู่ เขาแยกไม่ออกว่า ส่วนใดเป็นสภาวะ คือความจริงตามสภาพ ส่วนใดเป็นคุณค่า อะไรเป็นความจริงที่อยู่เบื้องหลังคุณค่า และสภาพความจริงกับคุณค่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร และในจำพวกที่เป็นคุณค่านั้น คุณค่าใดเป็นคุณภาพของสภาวะนั้นๆ คุณค่าใดเป็นคุณค่าที่ขึ้นต่อตัวของเขาเอง ซึ่งแล้วแต่จิตใจของเขาจะกำหนดเลือก และคุณค่าใดที่จะเกิดจากการตัดสินใจเลือกและกระทำการของเขา อันจะเป็นปัจจัยส่งผลโยงต่อๆ ออกไปยังองค์ประกอบต่างส่วนต่างประเภทที่เกี่ยวข้องในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยทั้งหมด
เขาแยกไม่ออกว่า ในบรรดาองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น ส่วนใดเป็นองค์ประกอบในระดับจิตใจ ส่วนใดเป็นองค์ประกอบในระดับพฤติกรรม ส่วนใดเป็นองค์ประกอบในระดับสังคม และไม่รู้ว่าองค์ประกอบเหล่านั้น สัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างไร มีผลเชื่อมโยงต่อทอดกันออกไปอย่างไร
เขาแยกไม่ออกว่า ส่วนใดแค่ไหนเป็นสภาพความจริงตามกฎธรรมชาติที่เขาไม่ควรเข้าไปแทรกแซงบิดเบือน ส่วนใดแค่ไหนเป็นหลักการกลางทางสังคมที่เหตุผลส่วนตัวของบุคคลไม่อาจหักล้าง ส่วนใดแค่ไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขาที่จะเลือกตัดสินใจ และไม่รู้แม้กระทั่งว่า จริยธรรมในความหมายแบบตะวันตกนั้น จะทำหน้าที่ ณ ตำแหน่งไหนหรือจุดใด
พูดสั้นๆ ว่า เขาไม่เข้าใจถึงสัจธรรมในจริยธรรม และจริยธรรมที่วางอยู่บนฐานของสัจธรรม เขายังไม่สามารถโยงจริยธรรมไปถึงสัจธรรมให้เห็นว่าพฤติกรรมทางจริยธรรมมีความสอดคล้องเชิงเหตุปัจจัยอย่างไร
คำตอบข้างต้นที่ว่า “การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการรักษาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง” ดังนี้ แสดงถึงการมีความสับสนในทางความคิด ซึ่งแทนที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี กลับจะทำให้เกิดความพร่ามัวในการปฏิบัติต่อปัญหาจริยธรรมมากขึ้น จึงไม่น่าจะจัดเป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ ซึ่งเป็นขั้นที่สูงสุดได้เลย
คำตอบที่ใกล้เคียงกับคำตอบข้างต้นนั้นมากที่สุด แต่เป็นคำตอบที่แสดงถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาที่สูงกว่า จะเป็นไปในทำนองนี้ว่า “การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ตัวเขาควรกระทำ เพราะเป็นการรักษาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการที่เขาจะยอมสละตัวลงยอมรับโทษ”
เหตุผลในการให้คำตอบนี้ แม้จะมองอย่างพื้นๆ ที่สุด ก็มีหลายอย่าง เช่น เป็นการให้ความยุติธรรมแก่คนอื่นๆ ที่ต่างก็ย่อมหาเหตุผลเข้าข้างตัวมาอ้างให้เห็นว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นการใช้สิทธิแห่งการตัดสินใจทางจริยธรรมในขอบเขตความรับผิดชอบของตน พร้อมทั้งเป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วย
ที่สำคัญยิ่งก็คือ เป็นการยอมรับขีดจำกัดความสามารถของบุคคลนั้นในการที่ไม่สามารถทำการให้ได้ผลดีโดยสมบูรณ์ครบทุกด้านหรือมากด้านที่สุดยิ่งไปกว่านั้น เป็นการแสดงความซื่อตรงเปิดเผยและไม่ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาตน แต่กลับเป็นการกระตุ้นเตือนตัวบุคคลนั้นเองก็ตาม บุคคลอื่นๆ ก็ตาม ให้เพียรพยายามพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถทำความดีอย่างได้ผลดีทั่วทุกด้าน โดยสมบูรณ์ยิ่งกว่านั้นในโอกาสอื่นต่อๆ ไป เช่น พัฒนาความสามารถในการพูดจาใช้เหตุผลชักจูงให้คนขายยาเห็นชอบด้วยที่จะลดราคายา พร้อมทั้งช่วยให้คนขายยานั้นมีคุณธรรม คือเมตตากรุณามากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานั้นยังเป็นเหตุผลเพียงในระดับของจริยธรรมเชิงคุณค่าเท่านั้น เหตุผลที่สำคัญจะต้องลงไปถึงระดับของสภาพความเป็นจริงหรือสัจธรรมด้วย ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่จะวิเคราะห์ลงลึกละเอียดในเรื่องนี้ จึงจะกล่าวถึงข้อพิจารณาทั่วๆ ไปไว้เท่านั้น
เคยกล่าวแล้วว่า ในวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งไม่เคยรู้จักจริยธรรมตามหลักเหตุผลในกฎธรรมชาติมาก่อนนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นแล้ว ปฏิกิริยาต่อจริยธรรมแบบเทวบัญชาที่มีมาในภูมิหลังของตนเอง ได้ทำให้คนสมัยใหม่มองจริยธรรม ตลอดจนความดี-ความชั่ว ความถูก-ความผิดที่เนื่องอยู่กับจริยธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดกำหนดกันขึ้นเอง เป็นเพียงบัญญัติของสังคมเท่านั้น คือไม่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ หรือไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงของสมมติเท่านั้นเอง
คนเหล่านี้จะยกตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ มาอ้างว่า สิ่งหนึ่งหรือการกระทำอย่างหนึ่งที่ถือกันในสังคมถิ่นหนึ่งหรือยุคสมัยหนึ่งว่าเป็นความดี แต่สิ่งนั้นหรือการกระทำอย่างนั้นเองในสังคมอีกถิ่นหนึ่งหรืออีกยุคสมัยหนึ่งกลับถือว่าเป็นความชั่ว ในทางกลับกัน สิ่งที่ถือกันในสังคมถิ่นนี้ยุคนี้ว่าเป็นความชั่ว กลับเป็นที่ยอมรับในสังคมอีกถิ่นหนึ่งหรืออีกยุคหนึ่งว่าเป็นความดีงาม
จะเห็นว่า ตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ ที่คนเหล่านี้ยกมาอ้างล้วนเป็นจริงอย่างนั้นแทบทั้งสิ้น แต่พร้อมกันนั้นเอง คนเหล่านี้ก็ได้ถูกหลักฐานหรือตัวอย่างที่เป็นจริงเหล่านั้นเองหลอกหรือบังตาไว้ไม่ให้เห็นความจริงที่ซ้อนอยู่ในนั้นอีกชั้นหนึ่ง
จุดพลาดของคนเหล่านี้ก็คือ ความไม่สามารถแยกระหว่างบัญญัติธรรม คือกฎเกณฑ์ที่สังคมบัญญัติหรือกำหนดขึ้น กับจริยธรรม คือตัวความดีความงามที่มนุษย์ต้องการเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมของเขานั้น
มนุษย์กำหนดวางบัญญัติธรรม เช่นกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นมา ก็เพื่อเป็นหลักประกันที่จะให้จริยธรรมเกิดมีหรือดำรงอยู่ในสังคมของเขา
กฎเกณฑ์ กติกา ธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับการต้อนรับแขก การค้าขาย ชีวิตครอบครัว ฯลฯ ในสังคมมากหลาย ต่างถิ่นต่างกาล อาจแตกต่างกันมาก จนบางทีถึงตรงข้ามกันก็มี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นบัญญัติธรรม และบัญญัติธรรมทั้งหมดนั้น มนุษย์กำหนดกันขึ้นก็เพื่อมุ่งประสงค์จริยธรรมอย่างเดียวกัน คือต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบราบรื่น การไม่เบียดเบียนข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกัน ความมีไมตรี การอยู่ร่วมกันด้วยดี และความเป็นธรรมต่อกัน เป็นต้น
ความแตกต่างหลากหลายของบัญญัติธรรมนั้น นอกจากเป็นเพราะปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเกี่ยวด้วยกาลเทศะแล้ว ก็ย่อมสืบเนื่องมาจากขีดขั้นแห่งสติปัญญา และความสุจริตของมนุษย์ที่จัดวางหรือกำหนดบัญญัติธรรมเหล่านั้นขึ้น
ด้วยเหตุนี้ บัญญัติธรรมทั้งหลายของสังคมต่างถิ่นต่างสมัย จึงมีประสิทธิภาพไม่เท่ากันหรือไม่เหมือนกันในการที่จะช่วยให้เกิดจริยธรรมและดำรงรักษาจริยธรรมไว้ในสังคมนั้น บางทีในบางสังคม บัญญัติธรรมอาจวางกันผิดพลาดถึงกับกลายเป็นให้ผลตรงข้าม กลับเป็นการทำลายจริยธรรมไปก็มี และด้วยเหตุทั้งหมดนั้น บัญญัติธรรมจึงมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแก้ไขตามกาลเทศะ
ถึงแม้บัญญัติธรรมจะแตกต่างหลากหลายแปลกกันไปได้มากอย่างนี้ ผู้มีปัญญาก็มิได้มองว่าบัญญัติธรรมเหล่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดกันขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย เป็นของเล่นสนุก หรือบัญญัติวางตามชอบใจ แต่เขามองว่าบัญญัติธรรมเหล่านั้นเป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ในการที่จะประดิษฐานจริยธรรมในชีวิตและสังคมของตน แต่ความเพียรพยายามนั้นจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ก็เป็นไปตามวิสัยแห่งปัญญาของสังคมนั้น ตลอดจนความสุจริตหรือทุจริตของกลุ่มชนที่มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายให้จัดวางบัญญัติธรรมสำหรับสังคมนั้น
การที่ว่าบัญญัติธรรมนั้นๆ จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและดำรงรักษาจริยธรรมไว้ได้สำเร็จจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่ามันมีความสอดคล้องและสมบูรณ์ที่จะให้เกิดผลตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมชาติแค่ไหนเพียงไร พูดสั้นๆ ว่าจะต้องเป็นไปตามระบบและกระบวนการของความจริงแห่งสัจธรรม ถ้าบัญญัติธรรมที่วางกันไว้ ทำให้เกิดองค์ประกอบและปัจจัยสัมพันธ์สืบทอดกันพรั่งพร้อมที่จะให้เกิดผลพอดีที่จะเกิดมีจริยธรรมที่ประสงค์ บัญญัติธรรมนั้นก็นำให้เข้าถึงจริยธรรมที่ต้องการได้ โดยนัยนี้ สัจธรรมจึงเป็นฐานรองรับจริยธรรมอีกชั้นหนึ่ง
ลึกลงไปอีก ในแง่สภาพความเป็นจริง ความดี-ความชั่ว ที่เป็นแกนของจริยธรรมนั้น เป็นสภาวธรรม หรือเป็นสิ่งที่มีสภาวะของมันอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติด้วย หรือพูดง่ายๆ ว่า มันเป็นธรรมชาติที่เป็นไปตามธรรมดา ซึ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ภายในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติทั้งหมด มิใช่สิ่งสมมติที่มนุษย์จะมองข้ามความสำคัญหรือเล่นสนุกได้ตามชอบใจ
ยกตัวอย่าง เช่น ความโกรธ และเมตตา เป็นสภาวธรรม หรือสภาพความจริงที่เป็นนามธรรม เมื่อความโกรธหรือเมตตาเกิดขึ้นแก่ใครคนหนึ่ง จิตใจของเขาย่อมมีสภาพและอาการต่างออกไปคนละอย่าง พร้อมทั้งผลต่อเนื่องในทางสร้างเสริมหรือทำลายก็ตามมา เช่น ความชุ่มฉ่ำเยือกเย็น ความสงบผ่องใส และผ่อนคลาย หรือความเร่าร้อนกระวนกระวาย ความกระสับกระส่าย ความขุ่นมัวเศร้าหมองและคับเครียด ผลกระทบหรือเสริมแรงนี้ ปรากฏทั้งต่อคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจ สภาพความจริงนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ประจักษ์แก่บุคคลผู้นั้นอย่างนั้น โดยที่เขาไม่จำเป็นจะต้องได้เรียนรู้ หรือจดจำมาหรือแม้แต่เรียกชื่อมันว่าเป็นความดีหรือความชั่ว
มิใช่เฉพาะในด้านจิตใจเท่านั้น เนื่องจากความสัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกันระหว่างกายกับจิต ความโกรธและเมตตานั้นก็มีผลต่อสภาพและความเป็นไปของร่างกายด้วย เริ่มแต่มีสารเคมีที่หลั่งออกมาในสมองคนละอย่าง การหายใจหยาบแรงหรือผ่อนสงบต่างกัน โลหิตฉีดแรงหรือราบรื่นไม่เหมือนกัน อย่างหนึ่งให้เกิดความเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ แต่อีกอย่างหนึ่งทำให้กล้ามเนื้อสงบผ่อนคลาย การเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกายแตกต่างกัน แล้วมีผลระยะยาวต่อสุขภาพ ผิวพรรณ ความแก่ช้าแก่เร็ว เป็นต้น ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพ ซึ่งมีผลส่งทอดโยงต่อไปถึงโชคชะตาของชีวิต
ความโกรธและเมตตานี้เป็นเพียงตัวอย่าง แม้นามธรรมอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพความจริง ซึ่งมีผลโดยตัวของมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับการที่จะมีชื่อเรียกว่าเป็นความดี-ความชั่วหรือไม่ แต่ในระบบจริยธรรมที่สากลตามกฎธรรมชาติ เราถือเอาสภาพความจริงนี้เป็นหลัก แล้วจึงเรียกชื่อว่าดี-ชั่ว ไปตามสภาพความจริงหรือตามสภาวธรรมนั้นๆ มิใช่ดีหรือชั่ว เพราะตกลงว่ากันเอาเองหรือมีใครสั่งบังคับให้เรียกอย่างนั้น
นอกจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสภาพความจริงของความดี-ความชั่ว ถึงกับหลงว่าเป็นเรื่องสมมติหรือกำหนดเอาเองแล้ว คนที่เจริญมาในอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ยังมักมีความสับสนคลุมเครือเกี่ยวกับความเป็นเหตุปัจจัยในทางจริยธรรมด้วย โดยที่คนเหล่านั้นมักชื่นชมวิทยาศาสตร์ แต่ไม่นำเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้กับสภาพความจริงทางจริยธรรม เพราะติดกับความเชื่อถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของระบบคุณค่าเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น คนสมัยใหม่นี้จำนวนมากจะพูดว่า ความโลภ หรือตัณหา ที่อยากรวยอยากมีทรัพย์สินเงินทองของใช้ของบริโภคมาก เป็นเหตุให้คนขยันทำงาน หมั่นเพียรทำมาหาเลี้ยงชีพ (แล้วก็เลยทำให้เกิดการผลิต เศรษฐกิจเจริญเติบโต ขยายตัว ทำให้ประเทศชาติพัฒนา)
ความคิดอย่างนี้ ขาดความประณีตในการมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ทำให้จับเหตุปัจจัยผิด หรือสับสนคลุมเครือในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล เป็นความผิดพลาดทางปัญญา หรือจุดอ่อนทางปัญญาที่ก่อความล้มเหลวในการพัฒนา หรือทำให้เกิดการพัฒนาที่ผิดทาง
ความโลภอยากได้ทรัพย์ ย่อมไม่ใช่เป็นเหตุของการเพียรพยายามทำงาน แต่ความโลภอยากได้ทรัพย์ เป็นเหตุของการพยายามหาทางให้ได้ทรัพย์นั้นมา
การพยายามหาทางให้ได้ทรัพย์นั้น อาจทำด้วยการขยันทำงาน หรือด้วยการไปเอาทรัพย์มา เช่นด้วยการแย่งชิงลักขโมยก็ได้ นี่คือ มีทางเลือกหรือความเป็นไปได้ในส่วนผล ๒ อย่าง
แต่ถ้ามองให้แม่นยำตรงตามกระบวนการของเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงแล้ว จะเห็นชัดว่า การวางลำดับว่าความโลภอยากได้ทรัพย์ เป็นเหตุของการไปเอาทรัพย์มาแม้ด้วยการแย่งชิงหรือลักขโมย เป็นปัจจยาการหรือปัจจัยสัมพันธ์ ที่มีความเป็นเหตุเป็นผลถ่องแท้เที่ยงตรงมากกว่าการพูดว่า ความโลภอยากได้ทรัพย์เป็นเหตุของการขยันทำงาน
ว่าที่จริง ความโลภอยากได้ทรัพย์ มิได้มีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยโดยตรงกับความขยันทำงานเลยด้วยซ้ำ หมายความว่า ความโลภอยากได้ทรัพย์ ไม่ใช่เป็นเหตุของความขยันทำงานแต่อย่างใดเลย แต่การที่สองอย่างนี้ถูกจับมาเข้าลำดับกันในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ก็เพราะมนุษย์ถูกหลอกด้วยปัจจัยที่แทรกเข้ามาในระหว่างที่ละไว้ในฐานเป็นที่เข้าใจ และมนุษย์หลงลืมปัจจัยนั้นไป แล้วทำให้มองข้ามปัจจัยนั้นไปพร้อมทั้งทำให้เกิดความผิดพลาดทางปัญญาในการมองเหตุปัจจัยไปโดยไม่รู้ตัว
ปัจจัยที่ถูกมองข้ามไปโดยไม่รู้ตัวนั้น ก็คือตัวแทรกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบัญญัติของสังคมแท้ๆ หมายความว่ามนุษย์ถูกหลอกโดยวัฒนธรรมที่ตนเองสร้างขึ้นมา แล้วก็หลงติดจนทำให้มองภาพกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติผิดพลาดไป ปัจจัยตัวแทรกทางวัฒนธรรมนี้ มนุษย์สร้างหรือสมมติขึ้นในลักษณะที่เป็นเงื่อนไข เงื่อนไขนี้เอง เป็นตัวเชื่อมโยงความโลภอยากได้ทรัพย์ให้เข้ามาต่อกับความขยันทำงานโดยเป็นตัวบังคับ ว่าจะต้องทำงานและต้องทำให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเท่านี้ จึงจะไปเอาทรัพย์ที่ต้องการมาได้ (เท่านั้นเท่านี้)
เพราะฉะนั้น ความขยันทำงานอันเป็นผลที่ต้องการ จึงเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยเงื่อนไขที่แทรกเข้ามาในระหว่างนั้น นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บัญญัติธรรม หรือกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้น เข้ามาปะปนกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ สังคมที่ฉลาดรู้เท่าทัน จับจุดนี้ได้ถูก แล้วจัดการกับตัวแทรกที่เป็นเงื่อนไขนี้ให้ได้ผลดี จึงจะสามารถเชื่อมโยง ทำให้สมาชิกในสังคมของตนก้าวจากการอยากได้ทรัพย์ไปสู่การขยันทำงาน และทำการพัฒนาให้สำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม ในสังคมบางแห่ง ตัวแทรกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเงื่อนไขนี้ อาจเกิดจากการสั่งสมสืบทอดกันมา และเป็นไปอยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้
ส่วนสังคมใดไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ ไม่รู้ตระหนัก และไม่จัดการกับตัวแทรกทางวัฒนธรรมที่เป็นเงื่อนไขนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดี ก็จะประสบภาวะเสี่ยงอันตราย ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ คือกระตุ้นให้คนโลภอยากได้ทรัพย์หรืออยากร่ำรวย แล้วคนก็พากันขยันขันแข็งในการหาทรัพย์เอาทรัพย์มาให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แล้วแต่ว่าวิธีนั้นๆ จะให้ได้มากได้ไว โดยไม่ต้องลำบากชักช้าผ่านตัวแทรกที่เป็นเงื่อนไข ในสังคมเช่นนี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่างานก็จะไม่เดิน และความทุจริตก็จะระบาดทั่ว อย่างน้อยก็เต็มไปด้วยการกู้หนี้ยืมสิน
ตัวแทรกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบัญญัติธรรม ที่ถูกนำมากำหนดเป็นเงื่อนไข ก็คือการวางกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับ หรือข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งทางสังคม ซึ่งเชื่อมโยงหรือผูกมัดการได้ทรัพย์เอาไว้กับการทำงาน และในบัญญัตินั้นก็พยายามสร้างแรงจูงใจทำนองว่าถ้าทำงานได้มากได้ดี ก็จะได้ทรัพย์มากหรือได้เพิ่มมาก
เมื่อมีตัวแทรกที่เป็นเงื่อนไขเข้ามาเชื่อมอย่างนี้แล้ว กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยจึงต่อเต็มครบลำดับ กลายเป็นว่า: ความโลภอยากได้ทรัพย์ + ข้อกำหนดหรือข้อตกลงว่าจะได้ทรัพย์ต่อเมื่อทำงาน --> จึงเป็นเหตุให้ขยันทำงานเพื่อจะได้ทรัพย์
แต่เงื่อนไขของมนุษย์จะเชื่อมต่อเข้าในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติไม่สำเร็จ ถ้าไม่ทำให้เป็นไปตามหลักของความเป็นเหตุปัจจัย คือ ต้องทำให้เงื่อนไขนั้นกลายเป็นเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ แต่เงื่อนไขไม่ใช่เหตุปัจจัย จึงต้องเอาธรรมชาติมาช่วยอีก
มนุษย์มีธรรมชาติส่วนที่ยืดหยุ่นปรุงแต่งไปได้ต่างๆ มากที่สุดคือจิตใจ จึงใช้การปรุงแต่งทางจิตใจมาช่วย อย่างน้อยให้จิตใจยอมรับเงื่อนไขนั้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการมีปัจจัยเสริมที่เป็นเครื่องพยุงและเหนี่ยวรั้ง เช่น เกียรติยศชื่อเสียง ความมีหน้ามีตา การได้รับความนิยมสรรเสริญ เป็นต้น และจัดลำดับความคิดไปตามกระบวนเหตุปัจจัยเทียมที่มนุษย์ตกลงกันจัดวางไว้ คืออยากได้ทรัพย์ ก็ต้องขยันทำงาน แล้วจะเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์
ในแง่หนึ่งมนุษย์ก็อยู่ด้วยการหลอกตัวเองในทางความคิดนี้จนกลายเป็นความเคยชินของจิต ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และในอีกแง่หนึ่ง กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเอาปัจจัยเกี่ยวกับการปรุงแต่งของจิตใจเพิ่มเข้าไปอย่างที่มนุษย์เองก็มักไม่รู้ตัวว่าตนตกอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยเสริมนี้ด้วย
เมื่อมีปัจจัยซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งมนุษย์เองก็ไม่ค่อยรู้ตัวตระหนักต่อปัจจัยนั้นด้วย การปฏิบัติจัดการกับกระบวนการหรือกิจการของมนุษย์ในเรื่องนี้ก็จึงเป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่โตมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และศาสตร์หรือวิชาการต่างๆ ที่จะศึกษาและจัดการ
ในกรณีที่จิตใจไม่ยอมรับเงื่อนไขข้างต้น สังคมมนุษย์ก็ยังมีเงื่อนไขด้านลบ ซึ่งเป็นเรื่องของบัญญัติทางสังคมเช่นเดียวกัน เข้ามาช่วยผลักดันให้มนุษย์ต้องทำงานตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้ทรัพย์ เงื่อนไขด้านลบนั้นก็ได้แก่ กฎเกณฑ์ข้อบังคับของสังคม เช่น กฎหมายเป็นต้น ที่ห้ามการหาหรือเอาทรัพย์โดยทางลัดหรือโดยวิธีการอันทุจริตต่างๆ ด้วยการขู่ว่าจะลงโทษ
เงื่อนไขทั้งในทางบวก ที่กำหนดให้ต้องทำงานจึงจะได้ทรัพย์ และเงื่อนไขในทางลบที่ปิดกั้นการหาทรัพย์โดยทางลัดหรือทุจริต ก็มาช่วยกันบีบบังคับมนุษย์ให้ต้องทำงานเพื่อให้ได้ทรัพย์ แต่ในกรณีเช่นนี้ เมื่อไม่มีปัจจัยด้านจิตใจคือการที่ใจยอมรับเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยง ความขยันซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านจิตใจก็ต้องลดหายไป
แต่ไม่ใช่แค่นั้น ปัจจัยด้านจิตใจได้มีอยู่แต่เริ่มแรกแล้ว ณ จุดตั้งต้นของกระบวนการ นั่นก็คือความโลภหรืออยากได้ เมื่อความโลภทรัพย์ไม่ได้รับการตอบสนองโดยตรง แต่มีเงื่อนไขมาบีบบังคับโดยใจไม่ได้ยอมรับ ความโลภนั้นก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิกิริยา คือทำให้เกิดความฝืนใจในการที่ต้องจำใจทำงาน ยิ่งมีความโลภแทรกมากเท่าใด ความฝืนจิตจำใจหรือความกดดันก็ยิ่งแรงมากขึ้นเท่านั้น
กระบวนการของเหตุปัจจัยในกรณีนี้จึงออกมาในรูปที่ว่า: ความโลภอยากได้ทรัพย์ + เงื่อนไขว่าจะได้ทรัพย์ต่อเมื่อทำงาน --> เป็นเหตุให้ฝืนใจทำงาน
แม้ในกรณีที่ใจยอมรับ และจิตเกิดความเคยชิน (ในการหลอกตัวเอง) ด้วยวิธีการทางวัฒนธรรม ทำให้โลภอยากได้ทรัพย์มากๆ จึงขยันทำงานให้ดีๆ มากๆ แต่กระบวนแห่งเหตุปัจจัยตามธรรมชาติก็ไม่เป็นไปโดยสอดคล้องตามนั้น จึงมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะเหตุปัจจัยที่ทำไม่ตรงกับผลที่ต้องการ กล่าวคือ
เมื่อทำงานด้วยความโลภอยากได้ทรัพย์ การทำงานเป็นเหตุให้เกิดผลคืองานสำเร็จ (รวมทั้งความดีงามเป็นเลิศของชิ้นงานนั้น ตลอดจนประโยชน์สุขของสังคมที่จะเกิดจากงานนั้น) แต่ผลที่ผู้ทำงานต้องการได้แก่ทรัพย์หรือเงินทอง หาใช่ความสำเร็จของงานไม่ เขาต้องการเงินไม่ใช่ต้องการงาน เขาอยากได้เงิน แต่ต้องทำงาน เพราะฉะนั้น มือเขาทำงานแต่ใจเขาอยากได้เงิน จิตใจของเขาก็ไม่แล่นไปในงาน ไม่ซาบซึ้ง ไม่เกิดความพอใจในงาน ไม่เกิดปีติคือความอิ่มใจและความสุขเมื่อเห็นงานก้าวหน้าไปในแต่ละขั้นตอนตามลำดับ
ความสุขของเขาไม่ใช่อยู่ที่มองเห็นความดีงามและคุณประโยชน์ที่เกิดจากความสำเร็จของงาน แต่อยู่ที่ความคิดส่งต่อตามระบบเงื่อนไข ที่จะได้สิ่งล่อใจหรือเหยื่อล่อคือเงิน ปีติและสุขจึงไม่มาโดยตรงกับตัวงาน เป็นความหักเหในกระบวนการของเหตุปัจจัย เป็นเหมือนการเล่นตลกกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ
เมื่อมนุษย์เล่นตลกกับกระบวนการของธรรมชาติ ก็คือหลอกตัวเองนั่นเอง แต่ไม่ว่ามนุษย์จะทำอย่างไรก็ตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติก็ทำงานของมันไปตามปกติอย่างซื่อตรง ความขัดแย้งไม่สอดคล้องกลมกลืนก็สะสมนอนเป็นพื้นอยู่ภายใน วัฒนธรรมที่มนุษย์ปรุงแต่งจัดสรรขึ้นก็เป็นได้เพียงเครื่องแต่งรสที่เคลือบพอกอยู่ภายนอก และเป็นช่องระบายแรงกดดันให้ผ่อนออกไปบ้าง เมื่อระบายไม่ทันหรือระบายไม่ได้ และรสชาดที่เคลือบพอกจางลงหรือชินชาหรือล่อไม่ไหว ความขัดแย้งและแรงกดดันภายในก็ส่งผลออกมา เกิดอาการที่เป็นปัญหาของชีวิตและสังคม เช่นความรู้สึกแปลกแยก ความเบื่อหน่าย ความเครียด โรคจิตประสาทต่างๆ ที่แพร่ระบาดในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งบั่นทอนทั้งสุขภาพจิตสุขภาพกาย และความสงบสุขของสังคม ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพวกที่ฝืนใจทำงาน หรือพวกที่ย้อมใจทำงานก็ตาม ก็ต้องประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ต่างแต่เพียงช้ากว่ากัน และต่างรูปแบบ
ความขัดแย้งที่ว่ามานี้มิใช่เป็นปัญหาในชีวิตจิตใจของคนเท่านั้น แต่ออกมาแสดงบทบาทเป็นความขัดแย้งแย่งประโยชน์กันระหว่างบุคคลกับสังคมด้วย กล่าวคือ ถ้าเงื่อนไขของสังคมคือบัญญัติกฎเกณฑ์วัฒนธรรมและระบบการควบคุมต่างๆ เข้มแข็งรัดกุม งานก็เจริญก้าวหน้าเผล็ดผลอุดมสมบูรณ์ แต่ความกดดันและปัญหาภายในชีวิตจิตใจของบุคคลจะสะสมรุนแรง ในทางตรงข้าม เมื่อใดระบบเงื่อนไขของสังคมหย่อนลง หรือเข้มแข็งไม่พอ ไม่รัดกุม คุมไม่อยู่ บุคคลจำนวนมากก็จะหันออกไปใช้โอกาสหาทรัพย์ทางลัด ทำให้เกิดการทุจริตและอาชญากรรมแพร่หลาย เป็นปัญหาแก่สังคม และพร้อมกันนั้น งานการที่เป็นเครื่องพัฒนาและสร้างความรุ่งเรืองแก่สังคม ก็ไม่ก้าวหน้าด้วยดี
ทางแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ได้ผลดีทั้งแก่ชีวิตจิตใจของบุคคล และผลประโยชน์ของสังคม ก็คือการจับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติให้ได้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของมันในแนวทางที่จะให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของเรา
เป็นที่แน่นอนว่า ความโลภทรัพย์ หรืออยากได้เงิน ย่อมเป็นเหตุให้คนหาเงิน ไม่ใช่เป็นเหตุให้คนทำงาน และเมื่อนำเอาระบบเงื่อนไขเข้ามาใช้ ก็กลายเป็นเครื่องบีบคั้นว่า อยากได้เงิน แต่ต้องทำงาน จึงจะให้เอาเงิน เมื่อต้องจำใจทำงาน ทั้งจิตใจของบุคคลก็ไม่สุขสบาย ทั้งงานของสังคมก็ไม่ได้ผลดี ทางแก้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อต้องการได้งาน ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของการทำงานขึ้นมา เหตุปัจจัยของการทำงานก็คือความอยากทำงาน ความอยากได้เงิน ไม่เป็นเหตุของการทำงาน แต่ความอยากทำงาน ย่อมเป็นเหตุของการทำงานอย่างแน่นอน
ความอยากทำงานนี้เรียกสั้นที่สุดว่า ฉันทะ แปลว่า ความอยากทำ (ต่างจากโลภะ ที่แปลว่าความอยากได้ หรืออยากเอา) หมายถึง ความรักความพอใจในงาน ความรักงานเพราะมองเห็นคุณค่าของมันที่จะนำมาซึ่งความดีงามและประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม
เมื่อมีเหตุปัจจัยตัวตรงของการทำงานนี้แล้ว กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติก็ทำงานตรงไปตรงมาอย่างราบรื่น เป็นความประสานกลมกลืนทั้งในตัวกระบวนการเอง ความประสานกลมกลืนในจิตใจของบุคคลที่ทำงาน และความประสานกลมกลืนระหว่างความต้องการของบุคคลกับความต้องการของสังคม กฎธรรมชาติก็ส่งทอดความเป็นเหตุเป็นผลจนถึงที่สุด โดยไม่มีตัวขัดขวางแทรกแซง บุคคลก็ได้ปีติและความสุขในการทำงาน และทำงานด้วยทั้งจิตทั้งใจเต็มเรี่ยวแรง สังคมก็ได้ผลที่เป็นความสำเร็จของงานอันนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ พร้อมนั้นปัญหาต่างๆ ทั้งด้านจิตใจและสังคมก็จางหายหรือลดซาไปเอง
กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในกรณีเช่นนี้ ก็จะมาในรูปที่ว่า : ความรักงาน/อยากทำงาน --> ความขยันทำงาน --> ความสำเร็จของงาน (--> ปีติสุขในใจบุคคล + ความรุ่งเรืองของสังคม)
สำหรับปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งเราต้องยอมรับความโลภของเขาตามความเป็นจริงในขอบเขตหนึ่ง คือ เท่าที่จะควบคุมได้ ไม่ให้ก่อความทุจริตหรือพฤติกรรมที่บั่นรอนสังคม การปฏิบัติตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ ก็คือ การสร้างจุดต่อเชื่อมที่จะถ่ายทอดความโลภทรัพย์หรืออยากได้เงินให้มาเป็นปัจจัยแก่ความอยากทำงาน ซึ่งเป็นจุดย้ำที่สำคัญ คือจะต้องให้เกิดความรักงานหรืออยากทำงานให้ได้ เพราะนี่เป็นหัวใจของความสำเร็จ และนี่ก็คือการทำให้โลภะเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ (ตามหลักทั่วไปว่า อาศัยอกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล) หรือถ้าสามารถพอ ก็ให้เปลี่ยนจากโลภะมาเป็นฉันทะโดยตรงเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะทำอย่างไหนก็ตาม สองอย่างนี่แหละคือภารกิจของการศึกษา การศึกษามีหน้าที่พัฒนาคน และการพัฒนาคนในส่วนที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นโครงสร้างของชีวิตและสังคมนั้น ก็คือ พัฒนาการในการทำงาน การศึกษาจะต้องช่วยให้บุคคลถ่ายเทโลภะของตนออกไปเป็นโลภะ โดยรู้จักทำโลภะให้เป็นปัจจัยแก่ฉันทะ หรือเปลี่ยนแปรจากโลภะไปเป็นฉันทะ แต่ถ้าผู้รับผิดชอบการศึกษายังหลงผิดอยู่ว่า ความโลภทรัพย์จะเป็นเหตุให้คนขยันทำงาน ความสับสนคลุมเครือทางปัญญานี้ ก็จะทำให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือพัฒนามิจฉาชีพ พร้อมทั้งนำชีวิตและสังคมไปสู่ปัญหาและความพินาศ
ในวัฒนธรรมตะวันตกยุคอดีต ตลอดระยะที่สร้างสรรค์รากฐานของความเจริญที่สืบทอดมาถึงยุคปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า คนในสังคมตะวันตกนั้นได้สะสมคุณสมบัติสำคัญสำหรับการทำงาน คือความรักงาน นิสัยการทำงาน ความขยันอดทน และอดออมในการทำงานเป็นต้น ที่เรียกรวมๆ ว่า จริยธรรมในการทำงาน (work ethic) และอันนี้เองเป็นเหตุปัจจัยที่เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จในการสร้างสรรค์อารยธรรมของตะวันตก ถ้าพูดอย่างภาษากระบวนการก็คือ มีระบบวิธีที่ได้ผล ในการถ่ายเทหรือแปรโลภะมาเป็นฉันทะ
เพราะเหตุที่เป็นวัฒนธรรม จึงเป็นเหมือนสภาพของปลาที่อยู่ในน้ำ หรือนกที่อยู่ในอากาศ ซึ่งไม่รู้ตระหนักต่อน้ำและอากาศที่อยู่รอบตัวและตนเองอาศัยเป็นอยู่ ฉะนั้น ฝรั่งจำนวนมากก็ไม่รู้ตัวถึงเหตุปัจจัยในตัวเองที่มาในวัฒนธรรมของตน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของนิสัยการทำงานนี้ บางทีก็เลยมองข้ามหรือลืมนึกถึง แล้วบางครั้งหลายคนก็พูดออกมาว่า ความโลภทรัพย์/อยากได้เงินหรือสิ่งบำเรอความสุข เป็นเหตุให้คนขยันทำงาน คนที่ฟังฉาบฉวย เชื่อทื่อๆ ตามนั้น ไม่มองลึกลงไปให้เห็นปัจจัยตัวจริงที่อยู่ในตัวเขา และในวัฒนธรรมของเขา นำเอาหลักที่ผิวเผินนั้นเข้ามาใช้ในสังคมของตน แทนที่จะเป็นการสร้างความเจริญงอกงามก็เลยกลายเป็นสร้างปัญหาและความเสื่อม
ยิ่งในปัจจุบัน ฝรั่งกำลังเปลี่ยนจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการผลิต มาเป็นวัฒนธรรมบริโภค ความสับสนพร่ามัว และความไม่รู้จักตัวเองก็จะมีมากขึ้น ผู้ที่มองเยี่ยงอย่างความเจริญของตะวันตก จะต้องไม่หลงติดอยู่แค่กาบและกาก แต่จะต้องใช้โยนิโสมนสิการให้มากเพื่อเข้าให้ถึงเนื้อตัวแก่นแท้ แกนใน โดยเฉพาะเหตุปัจจัยที่เป็นรากฐานของเขา
คนที่มองตามความเจริญของฝรั่ง (และของชาติที่พัฒนาสูงแล้วทั้งหลาย) เมื่อจะทำการอย่างมีความรับผิดชอบ จะต้องศึกษาสืบค้นให้รู้เท่าทันเขา ต้องให้รู้ดีกว่าเขาในเรื่องของตัวเขาเอง บางอย่างที่เขาไม่รู้ตัว และต้องรู้เลยต่อไปถึงหนทางที่จะหลีกพ้นปัญหาที่ฝรั่งต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน เพราะฝรั่งและประเทศที่พัฒนาอย่างสูงแล้วทั้งหลายในขณะนี้ มองในแง่หนึ่งก็คือ ตัวแบบของการสร้างปัญหาและความเสื่อมของมนุษยชาติในปัจจุบัน44
เรื่องความเจริญและความเสื่อมของฝรั่งนี้ อาจยกเอามาเป็นตัวอย่างสำหรับการมองความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในทางจริยธรรมระดับสังคม
ฝรั่งบางคน เมื่อมีใครถามถึงแรงจูงใจที่จะทำให้คนขยันหมั่นเพียร ทำการงาน สร้างตัวสร้างฐานะของตน ตลอดจนสร้างความมั่งคั่งเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคม ก็อาจจะตอบโดยไม่ได้ตั้งสติพิจารณา และไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งว่า ความโลภหรือตัณหาเป็นแรงจูงใจให้คนเพียรพยายามสร้างความสำเร็จเช่นนั้น แต่เมื่อผู้ถามโยงคำถามนั้นเข้าไปหาประวัติการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศตะวันตกที่รุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตลอดยุคอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน เขาอาจจะหยุดคิด ตั้งท่าทีใหม่ และเปลี่ยนคำตอบ
พวกฝรั่งที่เติบโตมาในวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของความเป็นนักผลิต มักถือตัวและมีความภูมิใจว่า บรรพชนของพวกเขาได้พัฒนาอุตสาหกรรมมาได้สำเร็จ และสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ อันพรั่งพร้อมด้วยวัตถุและเทคโนโลยีมาได้อย่างที่ปรากฏอยู่นี้ ก็เพราะมีความยึดถือหนักแน่นในจริยธรรมแห่งการทำงาน ที่พวกเขาเรียกว่า work ethic (เดิมทีเรียกว่า the Protestant ethic) และได้ปลูกฝังอบรมถ่ายทอดการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมนี้สืบต่อกันมาจนฝังลึกติดแน่นอยู่ในชีวิตจิตใจ กลายเป็นลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของคน และเป็นวัฒนธรรมของสังคมของเขา
จริยธรรมแห่งการทำงานมีหลักการสำคัญว่า การทำงานหนักหรือความขยันงาน และความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน เป็นคุณธรรม และเป็นหลักที่พิสูจน์ความเป็นคนมีศีลธรรม คนมีศีลธรรมจะถือว่างานเป็นหลักของชีวิต และความสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นเป้าหมายของชีวิตนั้น คนจะต้องรู้จักบังคับควบคุมตนเอง ไม่ยอมตามใจกิเลส ไม่ยอมตามใจความอยาก ไม่ยอมแสวงหาความสุขสำราญ แต่ต้องตั้งใจทำงานให้มากที่สุด ด้วยความขยันหมั่นเพียร ประหยัด อดออม กระเหม็ดกระแหม่ ส่วนผลได้ที่เกิดจากการทำงานนั้น จะต้องสะสมเก็บออมเอามาใช้เป็นทุนในการผลิต และสร้างสมโภคทรัพย์ต่อไป โดยอยู่อย่างขัดเกลาตนและมักน้อยสันโดษแบบชาวบ้าน (worldly asceticism) ไม่เอาทรัพย์ไปใช้ในการแสวงหาความสะดวกสบาย
ฝรั่งถือมาว่า จริยธรรมแห่งการทำงานนี้แหละ ที่ได้ทำให้ลัทธิทุนนิยม และระบบอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกเจริญก้าวหน้ามาอย่างประสบความสำเร็จดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และจากนี้ก็จะเห็นว่า ทั้งตามทฤษฎีและตามประวัติในเชิงปฏิบัติ หลักฐานยืนยันชัดว่า ความโลภหรือตัณหา มิใช่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจริญพัฒนาแก่สังคมตะวันตก แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ ก็คือคุณธรรมที่ตรงข้ามกับโลภะหรือตัณหาทั้งสิ้น กล่าวคือ ความประหยัด อดออม มักน้อย สันโดษ ที่พ่วงมากับความเพียรพยายามและขยันอดทน
ประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกนั้น เต็มไปด้วยการดิ้นรนต่อสู้กับภัยและอำนาจที่บีบคั้นกดขี่ ทั้งภัยธรรมชาติที่บีบคั้นความดำรงอยู่ด้านกาย และการใช้อำนาจบังคับศรัทธาบีบคั้นปัญญา การบีบคั้นนั้นทำให้เขารู้จักดิ้นรนต่อสู้จนเกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและทางวิชาการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยเทคโนโลยี
ทางด้านวัตถุ หรือปัจจัยยังชีพ ในระยะแรกฝรั่งดิ้นรนต่อสู้สร้างสรรค์อุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขเอาชนะความขาดแคลน และพร้อมกับอุตสาหกรรมนั้น วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าควบคู่กันมา โดยทำหน้าที่เป็นตัวหนุนหล่อเลี้ยง หรือรับใช้ให้เป้าหมายของอุตสาหกรรมลุความสำเร็จ ระหว่างนั้นเอง แนวความคิดใหม่ได้เกิดขึ้นเบื้องหลังการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ คือ ความเชื่อว่า ความสำเร็จของมนุษย์ หมายถึงการพิชิตธรรมชาติ ด้วยการรู้ความลับของธรรมชาติแล้วนำความรู้นั้นมาจัดการจัดสรรธรรมชาติให้สนองรับใช้ความต้องการของมนุษย์ ความคิด ความเชื่อนี้ได้เข้าประสานกับแนวความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อๆ มา คือ ความเชื่อว่า ความสุขสมบูรณ์ของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรออย่างพรั่งพร้อม
หลักจริยธรรมที่ยึดถือปฏิบัติ พร้อมทั้งแนวความคิดและความเชื่อที่กล่าวมานี้ ฝรั่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่อารยธรรมตะวันตก ดังที่มนุษย์ได้เสวยผลความรุ่งเรืองพรั่งพร้อมสะดวกสบายกันสืบมาจนปัจจุบัน แต่อีกด้านหนึ่งเบื้องหลังความเจริญก้าวหน้านี้ มนุษย์ยุคปัจจุบันก็ได้เริ่มรู้ตัวแล้วว่า โลกมนุษย์กำลังประสบภยันตรายและปัญหาที่ร้ายแรงมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากวิธีสร้างความเจริญก้าวหน้าในยุคอุตสาหกรรมตามแบบของตะวันตก ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
และระหว่างเวลาเดียวกันนี้เอง อีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอันซับซ้อนทั้งในสังคมและธรรมชาติ สังคมตะวันตกก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่แฝงซ่อนความเสื่อมไว้เบื้องหลังสภาพความเจริญรุ่งเรืองของตะวันตก ก็คือ ความเสื่อมลงของจริยธรรมแห่งการทำงาน สังคมอเมริกันได้เปลี่ยนจากความเป็นสังคมของนักผลิตไปเป็นสังคมของนักบริโภค
งานวิจัยของ D.J. Cherrington เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ แสดงผลว่า จริยธรรมแห่งการทำงานในสังคมอเมริกัน เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ คนทำงานชาวอเมริกันที่เชื่อในจริยธรรมแห่งการทำงานปัจจุบันลดเหลือเพียง ๑ ใน ๓ ส่วน และปรากฏผลด้วยว่า คนที่ยังเชื่อมั่นในจริยธรรมแห่งการทำงานเป็นผู้สร้างผลผลิตได้มากกว่า และมีความพอใจในการทำงานมากกว่า45
ภาพอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็คือ การที่สังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้นำและเป็นตัวแทนความเจริญก้าวหน้าของสังคมตะวันตก ได้พบคู่แข่งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทางว่ากำลังจะแซงล้ำหน้าอเมริกา ในความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่นี้
เหตุปัจจัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่น่าศึกษา และแน่นอนว่าเหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ลักษณะทางด้านจริยธรรมของคนและสังคมญี่ปุ่น ซึ่งสะสมมาอย่างยาวนานในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น อันปรากฏในจิตใจและบุคลิกภาพของคนญี่ปุ่น และระบบการร่วมอยู่ร่วมทำงานในสังคม ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ปรารถนาจะทำการด้วยปัญญาควรจะได้ศึกษาสืบค้นวิเคราะห์ออกมา อย่างน้อยปัจจัยตัวหนึ่งทางจริยธรรมของชาวญี่ปุ่นที่พอจะมองเห็นกันอยู่ ก็คือ ความมีชาตินิยมอย่างแรงกล้า ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า จะต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น
ในอเมริกา ถึงแม้ว่าจริยธรรมแห่งการทำงานจะเสื่อมลง แต่แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และความเชื่อว่าความสุขสมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม ทั้งสองอย่างนี้ก็ยังคงแพร่หลายเป็นพื้นฐานอยู่ในสังคมอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังติดในความเชื่อและความคิดอย่างนั้น ชาวอเมริกันก็รู้ตัวแล้วว่าตนไม่สามารถวิ่งแล่นหรือเดินหน้าไปตามความเชื่อและแนวความคิดนั้นอย่างปราศจากความยับยั้งอีกต่อไปได้ เพราะความเชื่อและแนวความคิดแบบนั้นนั่นเอง ที่ได้พาโลกทั้งหมด ทั้งโลกมนุษย์และโลกแห่งธรรมชาติมาเผชิญกับปัญหาร้ายแรงขั้นที่แทบอับจนในปัจจุบัน คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย เพราะถูกมนุษย์เอาเปรียบเบียดเบียนทำลาย และปัญหาการพัฒนาไม่สมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจ ที่ทำให้สังคมที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เต็มไปด้วยปัญหาจิตใจและปัญหาสังคมที่สืบเนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจ
มนุษย์ในประเทศพัฒนาเหล่านั้นรู้ตัวว่า ถ้าขืนก้าวต่อไปในทิศทางนั้น ธรรมชาติแวดล้อมที่เสียหาย และจิตใจที่เสื่อมโทรม จะส่งผลย้อนกลับมาทำลายมนุษย์ ให้มนุษย์นั้นเองต้องถึงความพินาศ
มองอีกด้านหนึ่ง แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และความเชื่อว่ามนุษย์จะสุขแท้เมื่อมีวัตถุพร้อมนั้น ถ้าไม่มีจริยธรรมแห่งการทำงานมารับช่วงต่อในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย การเร่งรัดสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างที่เคยทำมาในสมัยก่อน ก็ย่อมไม่อาจเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ลางแห่งความเสื่อมถอย หรือความพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งก็ย่อมปรากฏขึ้นมาเป็นธรรมดา
พร้อมกันนั้น ก็มีข้อสังเกตด้วยว่า ในกรณีที่มีปัจจัยหลายอย่างสัมพันธ์ส่งผลสืบทอดต่อกันอยู่นี้ ปัจจัยที่เป็นตัวจริยธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ฝืนใจรักษาไว้ได้ยาก (คือจริยธรรมแห่งการทำงาน) แต่เป็นการง่ายที่จะปล่อยตัวไหลลงไปตามกระแสของปัจจัยที่เป็นกิเลส คือ โลภะ (ความอยากมีสุขแท้ด้วยการมีวัตถุพร้อม) และโทสะ (ความต้องการที่จะพิชิตธรรมชาติ) และมนุษย์ก็ดูเหมือนจะเต็มใจบำรุงเลี้ยงกิเลสรวมทั้งความเห็นผิดนั้นไว้ แม้ว่ามันจะเป็นตัวการนำมนุษย์มาสู่ภาวะที่เสี่ยงต่อภัยแห่งความพินาศ (ถ้าไม่มีจริยธรรมช่วยคุมและจัดช่องทางให้)
เท่าที่กล่าวมานี้ มิใช่จะมุ่งให้เห็นว่า ปัจจัยตัวนั้นดีตัวนี้เลว อย่างจำเพาะลงไป เช่น จริยธรรมแห่งการทำงานของฝรั่งก็ดี ลัทธิชาตินิยมแรงกล้าของญี่ปุ่นก็ดี แม้จะเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า แต่ปัจจัยเหล่านี้ ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ความมุ่งหมายของสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือ ต้องการให้รู้จักมองสิ่งที่เรียกว่าความเจริญและความเสื่อมนั้นๆ ตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย ให้รู้จักคิดค้นสืบสาวหาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทั่วถึง ให้รู้หน้าที่และส่วนร่วมของปัจจัยหรือองค์ประกอบแต่ละอย่าง ให้รู้ข้อดีข้อเสียของปัจจัยแต่ละอย่างนั้นๆ และให้รู้จักมองในแง่ของระบบและกระบวนการที่มีปัจจัยหลากหลายสัมพันธ์กันอยู่ ซึ่งความบกพร่องเสียหายอาจเกิดจากความขาดแคลนปัจจัยอื่นบางอย่างที่จะมาช่วยทำให้เกิดความสมดุล หรือปิดช่องโหว่ในระบบหรือกระบวนการนั้น ไม่ใช่มองแบบดิ่งด้านเดียว หรือเหมารวมไปเลย
อย่างน้อยก็จะได้ไม่พูดออกมาง่ายเกินไปว่า ความโลภหรือตัณหาจะทำให้มนุษย์ทำการสร้างสรรค์พัฒนาได้สำเร็จหรือเจริญรุดหน้า ในขณะที่โลภะหรือตัณหานั้นแหละเป็นตัวการขั้นรากฐานที่นำมนุษย์มาเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของยุคปัจจุบัน คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย และปัญหาจิตใจที่พ่วงโยงปัญหาสังคมตามติดมา
การพูดตื้นๆ ว่า ความโลภหรือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดการสร้างสรรค์พัฒนา เป็นตัวอย่างของท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายแบบดิ่งด้านเดียว หรือแบบเหมารวม แสดงถึงภาวะทางปัญญาที่ขาดการพัฒนาความคิดเชิงระบบและปัจจัยสัมพันธ์ ภาวะทางจิตที่ขาดความใส่ใจรับผิดชอบและความมีสติรอบคอบ ตลอดจนภาวะทางพฤติกรรมที่ขาดนิสัยเก็บรวบรวมตามหาประมวลกรองจัดระเบียบข้อมูล
สิ่งที่เรียกว่าเป็นความเจริญของฝรั่งที่เป็นมาแล้วก็ดี ของญี่ปุ่นที่กำลังแซงขึ้นมาก็ดี แท้จริงแล้วก็มีทั้งส่วนดี และส่วนเสีย ทั้งส่วนที่เจริญ และส่วนที่เสื่อมอยู่พร้อมกัน ส่วนที่เสียและเสื่อมที่ปนอยู่กับส่วนที่ดีและเจริญนั้น ปัจจุบันนี้ก็ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนพอสมควร จะเห็นหรือไม่เห็น ก็อยู่ที่ว่าจะเอาใจใส่ที่จะมองดูหรือไม่ คือ ถ้าไม่สักว่าปิดหูหลับตาเดินตามเขาไป ก็ย่อมรู้และเห็น เพราะแม้แต่ตัวเขาเองก็บ่นจะแย่อยู่แล้ว
คนที่มีปัญญาเป็นของตัวเอง ถ้ารู้จักดู รู้จักแยก รู้จักทำให้เป็น เมื่ออยากจะเจริญให้ดี ก็มีแต่ได้ประโยชน์จากเขา ถึงจะเจริญ ก็ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบฝรั่ง ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบญี่ปุ่น เพื่อไปซ้ำเติมปัญหาให้กับตัว และให้แก่โลกมนุษย์ ถ้าตั้งใจจริง ไม่มักง่าย ใช้ปัญญาตรวจตราอย่างไม่ประมาท ก็สามารถเจริญในรูปแบบที่ต่างออกไป ชนิดที่ละล้างส่วนที่เป็นโทษของตน และเลือกร่อนเอาส่วนที่เป็นคุณของผู้อื่นมาได้ โดยมีทิศทางใหม่ของตน ทำได้อย่างนี้ จึงจะนับว่าเป็นความเจริญที่แท้จริงได้ คือมีอะไรดีใหม่ๆ ให้แก่โลก ที่จะเป็นความก้าวหน้าในประวัติแห่งวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เพื่อเข้าถึงความดีงามอันอุดมยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
ถ้าไม่สามารถขึ้นไปสู่ฐานะแห่งความเป็นผู้นำเขาได้ ก็อย่าให้ถึงกับต้องถูกฝรั่งตราหน้าเอาได้ว่า อย่าว่าแต่จะมานำเขาเลย แม้แต่จะตามก็ยังตามเขาไม่ทัน และอย่าว่าแต่จะตามให้ทันเลย แม้ที่ตามอยู่นั้นก็ตามเขาอย่างไม่รู้เท่าทัน
ได้กล่าวแล้วว่า ทฤษฎีของโกลเบอร์กได้ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของตะวันตกก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ การย้ำถึงความสำคัญของปัญญาในฐานะเป็นปัจจัยเอกของกระบวนการพัฒนาทางจริยธรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการมองว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความเป็นเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ และภายในระบบเหตุปัจจัยนี้ องค์ประกอบภายในของบุคคล คือปัญญา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางจริยธรรมนั้น การพัฒนาจริยธรรมไม่ใช่เป็นเพียงการทำให้เด็กยึดถือตามกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่กำหนดวางเป็นบัญญัติของสังคมไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เห็นว่า ความคิดเชิงระบบของโกลเบอร์กยังไม่ชัดเจนทีเดียวนัก และโกลเบอร์กมองปัจจัยในกระบวนการพัฒนาจริยธรรมนั้นจำกัดแคบเกินไป โดยเห็นปัจจัยอย่างเดียวและทางเดียว คือ เห็นแต่ปัญญาอย่างเดียวและเป็นปัจจัยข้างเดียว พูดให้ถึงฐานก็คือ โกลเบอร์กยังมองไม่เห็นว่าการพัฒนาจริยธรรม เป็นองค์รวมแห่งระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแก่กันหลายอย่างหลายด้าน และยังมองความหมายของจริยธรรมเป็นเพียงพฤติกรรมทางสังคมที่ถูกต้องดีงาม ไม่มองเห็นว่าจริยธรรมคือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงามทั้งหมด
องค์ประกอบสำคัญที่โกลเบอร์กไม่พูดถึง ซึ่งเป็นปัจจัยในการพัฒนาจริยธรรมด้วย ก็คือ องค์ประกอบด้านจิตใจ (ภาษาไทยปัจจุบันเรียกว่าด้านอารมณ์) สภาพจิตใจ ทั้งคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต เช่น ความสุขสดชื่นร่าเริงเบิกบานใจ หรือความทุกข์ความเศร้าหม่นหมองคับแค้นใจ ความสนใจ พอใจ ความอดทน ความมีสติ ไม่ประมาท เป็นต้น โดยเฉพาะการฝึกความเข้มแข็งของจิตใจ ที่จะทำได้ตามเหตุผลที่มองเห็นด้วยปัญญา และความเข้มแข็งทางจริยธรรม ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมทางจริยธรรม ทั้งโดยตรง และโดยส่งผลผ่านทางปัญญา
คนที่มีความสุขย่อมมองสถานการณ์ที่เป็นปัญหาด้วยความคิดอย่างหนึ่ง ส่วนคนที่ถูกความทุกข์ครอบงำ เช่นมีความผิดหวัง หรือคับแค้นใจ ก็อาจจะถูกสภาพจิตใจเช่นนั้นหันเหให้มองและคิดต่อสถานการณ์นั้นไปอีกอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาจริยธรรม จะมองแต่ในด้านที่จะพัฒนาความคิดเหตุผลอย่างเดียว ไม่เพียงพอ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากจริยธรรมบางครั้งก็คือ ปฏิบัติการในการระบายทุกข์ในจิตใจของบุคคล
พระพุทธศาสนามองการพัฒนาจริยธรรมว่าเป็นการปฏิบัติต่อองค์รวมแห่งระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แม้ว่าปัญญาจะเป็นปัจจัยเอก โดยเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย แต่ก็ต้องมองความสัมพันธ์ทั้งระบบว่า การควบคุมพฤติกรรมภายนอกด้วยวินัยและการทำเป็นนิสัยก็ดี การฝึกอบรมจิตใจก็ดี การฝึกความคิดและใช้ปัญญาก็ดี ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการพัฒนาจริยธรรม และปัจจัยแต่ละอย่างก็ส่งผลมีอิทธิพลหนุนเสริมต่อกันให้ต่างก็พัฒนาไปด้วยกัน และผลรวมการพัฒนาขององค์ประกอบเหล่านี้ นั่นแหละคือการพัฒนาจริยธรรม
ในวงการการศึกษา และจิตวิทยาการศึกษาของตะวันตก ได้มีความนิยมจัดแบ่งขอบเขตที่การศึกษาจะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือแบ่งชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุคคลออกเป็นด้านๆ หรือเป็นแดนๆ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ เช่นที่นิยมแบ่งพัฒนาการของบุคคล เป็น ๔ ด้าน คือ
หรือแบ่งคล้ายๆ กันอย่างนี้เป็น ๔ เหมือนกัน คือ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางปัญญา พัฒนาการทางบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
หรืออย่างที่เบนจามิน เอส. บลูม (Benjamin S. Bloom) แบ่งเป็น ๓ แดน คือ
ปรากฏว่า การแบ่งด้านแบ่งแดนอย่างนี้ มีความใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการจำแนกที่มีอยู่ก่อนนานแล้วในพระพุทธศาสนา ถ้าดูเพียงแค่ตามตัวอักษรก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย กับการที่พระพุทธศาสนาจำแนกภาวนา คือการพัฒนาเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ กายภาวนา (การพัฒนากาย) ศีลภาวนา (การพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสภาพแวดล้อม) จิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) และปัญญาภาวนา (การพัฒนาปัญญา) และจำแนกการศึกษาหรือสิกขาเป็น ๓ ส่วนคือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ และปัญญา แต่เมื่อตรวจดูเนื้อหาสาระก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ในแง่ของขอบเขตและจุดที่เน้นย้ำ
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การแบ่งแยกในวงการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตกมุ่งประโยชน์ในแง่ของการใช้เป็นขอบเขต เป็นด้านเป็นแดน สำหรับทำการสังเกต ตรวจสอบ วัดผล ประเมินผลในทางการศึกษาเป็นสำคัญ และไม่ได้เน้นมากในแง่ของความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันระหว่างด้านหรือแดนเหล่านั้นในกระบวนการของการศึกษา
แต่ในทางพระพุทธศาสนา ด้านแดนหรือส่วนจำแนกเหล่านี้ นอกจากเป็นเครื่องตรวจสอบหรือวัดผลการศึกษาแล้ว สาระสำคัญอยู่ที่การเอามาใช้เป็นองค์ประกอบ และขั้นตอนในกระบวนการของการศึกษาหรือพัฒนาคน หรือพูดให้ตรงแท้ว่า เป็นส่วนต่างๆ ของกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาคนนั้นทีเดียว และจุดเน้นที่นับว่าเป็นหัวใจของระบบทีเดียวก็คือ ความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยเป็นปัจจัยต่อกัน ระหว่างส่วนต่างๆ ของการศึกษาเหล่านั้น
ข้อที่น่าสังเกตมากทีเดียวก็คือ ในวงการศึกษาสมัยใหม่ พัฒนาการ ๔ ด้าน และพิสัย ๓ แดนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องในระดับของการศึกษาทั้งหมดเป็นส่วนรวม ซึ่งจริยศึกษาจะต้องแบ่งแยกย่อยออกมาจากส่วนรวมนั้นอีกทีหนึ่ง แต่ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าพัฒนาการ ๔ ด้าน และพิสัย ๓ แดนก็ตาม หรือภาวนา ๔ และสิกขา ๓ ก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งสิ้น หรือว่าจริยศึกษาครอบคลุมส่วนแบ่งจำแนกเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่า ในความหมายของพระพุทธศาสนา จริยธรรมคือการดำเนินชีวิตทั้งหมด การศึกษาก็คือการฝึกฝนพัฒนาให้คนดำเนินชีวิตได้อย่างดีงาม ดังนั้น การศึกษา ก็เพื่อจริยะ และจริยะ ก็จึงเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด
กล่าวโดยสรุป ถ้ามองจริยธรรมสากลในความหมายของพระพุทธศาสนา ความเป็นสากลนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นกลาง แต่อยู่ที่ความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นความเป็นกลางที่แท้จริง จริยธรรมดังกล่าวนี้ แตกต่างจากจริยธรรมอย่างที่เข้าใจกันในตะวันตก โดยสาระสำคัญ ๓ ประการคือ
๑) จริยธรรมนั้น เป็นหลักความจริง ที่เป็นไปตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่เป็นกฎธรรมชาติ คือเป็นไปโดยสอดคล้องกับสัจธรรม มีสัจธรรมเป็นรากฐาน และแยกออกได้จากบัญญัติธรรมที่เป็นข้อกำหนดของสังคม
๒) การพัฒนาจริยธรรม หรือจริยศึกษา เป็นกระบวนการที่องค์ประกอบหรือส่วนย่อยต่างๆ ของการศึกษา ต่างก็พัฒนาขึ้นโดยเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ภายในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ซึ่งส่งผลประสานกลมกลืนกันเป็นการพัฒนาขององค์รวม
๓) การพัฒนาจริยธรรม หรือจริยศึกษา มิใช่มีความหมายแคบเป็นเพียงเรื่องของพฤติกรรมทางสังคม แต่เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตทั้งหมด และมิใช่เป็นส่วนย่อยที่แยกออกมาต่างหาก เป็นหน่วยหนึ่งหรือด้านหนึ่งของการศึกษา แต่เป็นส่วนที่แทรกประสานกลมกลืนอยู่กับทุกด้านของการศึกษา ไม่ใช่เป็นเหมือนกับข้าวอย่างหนึ่งที่แยกอยู่ในจานหนึ่งต่างหากบนโต๊ะอาหาร แต่เป็นเหมือนช้อนส้อม (หรือให้ชัดกว่านั้นก็เหมือนมือที่ถือช้อนนั่นเอง) ที่จัดสรรให้อาหารทุกจานบนโต๊ะนั้นเป็นไปในอาการที่จะสัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ของการกินอาหาร
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมตะวันตกได้เป็นที่นิยมยอมรับกันทั่วไปและได้แพร่ขยายอิทธิพลออกไปครอบงำความคิดของคนสมัยใหม่ทั่วทั้งโลก จนกระทั่งความเป็นของตะวันตกมีความหมายอย่างเดียวกับความเป็นสากล คือถ้าเป็นสิ่งที่มาจากตะวันตก ก็กลายเป็นสากล
ว่าเฉพาะในเรื่องจริยธรรมหรือศีลธรรม อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ก็ได้เข้าครอบงำเช่นเดียวกัน คนทั่วไปได้นำเอาภาพและความหมายของจริยธรรมอย่างที่เข้าใจกันในตะวันตก มาสวมใส่ให้แก่จริยธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงถูกมองในความหมายอย่างเดียวกับจริยธรรมที่สืบๆ กันมาในสังคมตะวันตก
ประจวบกับว่า ในประเทศพุทธศาสนาเอง กระแสการศึกษาพระพุทธศาสนาได้อ่อนกำลังลงอย่างมาก พุทธศาสนิกชนเองจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในวงล้อมของความเชื่อถือที่สืบทอดกันมาจากศาสนาเก่าก่อนและศาสนาอื่นๆ ทั่วไป ก็มีความเข้าใจเลือนลาง ไม่สามารถแยกระบบจริยธรรมของพระพุทธศาสนาออกจากสายความคิดแบบอื่นได้ชัดเจน เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกท่วมท้นเข้ามา จริยธรรมของพระพุทธศาสนาจึงถูกเหมารวมเข้าไปอยู่ในภาพจริยธรรมแบบตะวันตกด้วย
ถึงเวลาที่จะต้องให้รู้ความจริงว่า จริยธรรมมิใช่มีแต่ในความหมายที่เข้าใจกันตามแบบของวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น และควรจะศึกษาให้ถ่องแท้ว่า จริยธรรมในความหมายของพระพุทธศาสนา แตกต่างจากจริยธรรมในความหมายของตะวันตกอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่ง ควรจะได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากระบบจริยธรรมสากลแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่แล้ว มิใช่ตามเขาเข้าไปร่วมหลงวนเวียนอยู่กับการหาทางออกของจริยธรรมแบบตะวันตก ที่พยายามคลำหาความเป็นสากล แต่ยังไม่สามารถถอนตนให้พ้นออกไปได้จากอิทธิพลที่ครอบงำแห่งวัฒนธรรมของตน
แม้ว่าตะวันตกจะผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่ค่านิยมแห่งยุคสมัยที่ยังค้างอยู่ จะผลักดันให้เขาก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งการแสวงหาระบบจริยธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แม้ว่าตะวันตกจะยังติดร่องคารางเก่า แต่ความใฝ่รู้ที่เขามีอยู่เป็นพื้นฐาน คงจะพาเขาออกมาพบกับจริยธรรมสากลแห่งความเป็นจริง ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจธรรมได้ต่อไป
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เราจะคอยตามหรือคอยรอเขาในเรื่องนี้ ในเมื่อแท้ที่จริง เราควรจะนำเขา หรืออย่างน้อยก็เอื้อประโยชน์แก่เขาได้ ในการที่จะก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางแห่งการแสวงหานั้น
หากยังใฝ่ปรารถนาจริยธรรมที่มีชื่อว่าเป็นสากล ก็ต้องเข้าถึงความเป็นสากลที่แท้ นั่นคือ ความเป็นสากลซึ่งอยู่ที่ความเป็นจริง ไม่ใช่สากลเพียงเพราะความเป็นกลาง หรือถ้ายังติดใจจะมีจริยธรรมที่เป็นกลาง ก็ต้องก้าวต่อไปให้ข้ามพ้นความเป็นกลางเทียม ที่คอยประนีประนอมอยู่กึ่งทางระหว่างมนุษย์ฝ่ายต่างๆ อย่างไม่มีจุดยืนของตนเอง และเข้าให้ถึงจริยธรรมแห่งความเป็นกลางที่แท้ ซึ่งมีจุดยืนที่แน่นอน คือสัจธรรม เป็นจริยธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความจริง มีสัจธรรมเป็นรากฐาน รวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ตามกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
I disagree. When 25 percent of our students are dropping out and 14 million more are graduating functionally illiterate, we are not "a nation at risk," we are "a nation in crisis.". . .
87 percent of pregnant teenagers are high school dropouts.
Who's to blame for America's sky-high dropout rate, now over 25 percent? . . . The problem is not the dropouts. The problem is a dysfunctional education system that produces dropouts. . . . We must accept that we are an aging and declining society that requires rededication and commitment to support the full development of all our youth socially, culturally, educationally, economically, and spiritually. (Byron N. Kusinawa, "A Nation in Crisis: The Dropout Dilemma," NEA Today, January 1988, pp. 61-65).
Headlines have bannered the sad news about American education for years: "Johnny Can't Read" . . . "Johnny Can't Count". . . "Johnny Can't Write." . . .
. . . Students in the U.S. now enter the job market with inferior skills. Once the unquestioned champion in industrial research, America is watching its lead dwindle. . . . how American students are falling behind.
When Japanese teenagers finish the 12th grade, they have the equivalent of three to four more years of school than U.S. high-school graduates . . . half of them know as much as the average U.S. college graduate . . .
. . . Most people who get Ph.D.'s in engineering in the U.S. are foreigners. . . .
Nine of 10 Japanese get high-school diplomas. But nearly a quarter of America's teenagers drop out . . .
. . . this week sees still another indictment of U.S. education: New details on how thousands of 12th graders in selected countries did on a 1982 algebra test given by the International Association for Evaluation of Educational Achievement. Hong Kong ranked first, barely ahead of Japan. The U.S. finished 14th among the 15 countries, just ahead of Thailand,. . .
. . . With a 180-day schedule, the U.S. is one of the few major countries with classrooms idle over half the year. Japanese schools operate more than 240 days, including half-days on Saturdays.
. . . Between the ages of 6 and 18, American children on average watch 15,000 hours of television. That's 2,000 hours more than time spent in school.
. . . Japanese teachers hold as much social status as engineers. . . . they still earn 2.4 times the nation's per capita income. By contrast, American teachers make only 1.7 times the U.S. figure . . .
Around the world, even in Japan, the starting gun has sounded in a race to overhaul education systems, . . .
Japanese reformers moan that their country is "an educational waste-land" in a state of desolation.". . . "For 100 years, we worked hard to catch up with the West in education," . . . "Now that we've accomplished that aim, we're at a loss, lacking a new goal." ("The Brain Battle," U.S. News & World Report, January 19, 1987, pp. 58-64).
AS TO THE FIRST: CONSIDER A LIST . . . of the varying number of days in a standard school year. . . .
Japan | 243 | New Zealand | 190 |
West Germany | 226-240 | Nigeria | 190 |
South Korea | 220 | British Columbia | 185 |
Israel | 216 | France | 185 |
Luxembourg | 216 | Ontario | 185 |
Soviet Union | 211 | Ireland | 184 |
Netherlands | 200 | New Brunswick | 182 |
Scotland | 200 | Quebec | 180 |
Thailand | 200 | Spain | 180 |
Hong Kong | 195 | Sweden | 180 |
England/Wales | 192 | United States | 180 |
Hungary | 192 | French Belgium | 175 |
Swaziland | 191 | Flemish Belgium | 160 |
Finland | 190 |
. . . Americans have a deviant propensity to work less than almost anyone else.
(AS TO THE SECOND . . . )
When the IEA* conducted its most recent mathematics assessment, in 1981-1982, the results were disheartening for Americans. In an eighth-grade match-up, among twenty school systems surveyed, the American students ranked tenth in arithmetic, twelfth in algebra, and sixteenth in geometry. Japan, our principal economic competitor, finished first in all three of these categories. In an intimation of the economic times that might lie ahead, Hungarian students finished ahead of Americans in all three categories. Even Thailand, until recently considered a Third World country rather than a member of the thriving Pacific rim, saw its students finish ahead of the Americans in geometry. . . . consider a representative portion of the results for the three subjects:
Student Achievement by Subject Area
(U.S. 12th-Grade Equivalent)
Advanced Algebra Functions/Calculus/Geometry
1. Hong Kong | 1. Hong Kong | 1. Hong Kong |
2. Japan | 2. Japan | 2. Japan |
3. Finland | 3. England/Wales | 3. England/Wales |
4. England/Wales | 4. Finland | 4. Sweden |
5. Flemish Belgium | 5. Sweden | 5. Finland |
6. Israel | 6. New Zealand | 6. New Zealand |
7. Sweden | 7. Flemish Belgium | 7. Flemish Belgium |
8. Ontario | 8. Ontario | 8. Scotland |
9. New Zealand | 9. Israel | 9. Ontario |
10. French Belgium | 10. French Belgium | 10. French Belgium |
11. Scotland | 11. Scotland | 11. Israel |
12. Brit. Columbia | 12. United States | 12. United States |
13. Hungary | 13. Thailand | 13. Hungary |
14. United States | 14. Hungary | 14. Brit. Columbia |
15. Thailand | 15. Brit. Columbia | 15. Thailand |
In an alternative effort to measure the performance of elites, the IEA calculated the average achievement score of the top one percent of the twelfth-graders in each country. The United States came out as the lowest of any country for which data were available. In other words, our most able students scored lower in algebra than their top-notch peers in any other country. . . .
The United States faces a time-in-school deficit every bit as serious as the trade deficit and the balance-of-payments problem: each year, American children receive hundreds of hours less schooling than many of their European or Asian mates, and the resulting harm promises to be cumulative and lasting. . . .
A belief in innate traits and personal aptitudes could be said, after all, merely to mimic the individualistic strain in American culture. People might be different, and some might be stronger intellectually than others, but who cared in a country where success could come through grit and hard work? . . .
In present-day American culture observers like Harold Stevenson and Merry White, a professor of sociology at Boston University, see a terrible inversion at work. . . .
"Compared to the Asians we interviewed, Americans placed more emphasis on differences in innate ability as the basis for variations in achievement. . . .
If aptitude rather than effort is seen as the key to achievement, the result will be to undermine the work ethic, at least as it applies to education. Time spent in a classroom will not seem very important.
As Stevenson indicates, among those who disagree with Americans on the relative importance of effort are none other than the Japanese. Their culture puts little stock in the notion of traits and aptitudes, placing paramount emphasis instead on what White calls "the path of pure endeavor." Here is a Japanese challenge more profound than economic competition. . . .
THE GOOD NEWS IN 1990 IS THAT AMERICAN complacency is giving way; these days everybody talks about the hardworking Asians and the buoyant Europeans. The bad news is that the newest emotions are American discouragement, defensiveness, and paranoia. Polling in 1989 showed nearly half the public in this country subscribing to the notion that the United States is in "decline." . . .
One staple of conversation among American parents is the supposed association between the rigors of Japanese education and suicide among Japanese youths. . . .
In 1975 the suicide rates in Japan . . . were all higher than the U.S. rates. But by 1984 the Japanese numbers . . . had gone down and the American numbers had more or less held steady, with the result that the American suicide rates were higher for all three age groups. . . .
While the payoff for hard work is great in terms of student achievement, the side effects generate controversy and soul-searching among the Japanese public. . . . suggests two general truths about education in present-day Japan: first, things are very far from perfect, and second, the system is not unyielding but subject to pressure and criticism--and presumably improvement as well. . . .
When Roger Porter, a presidential aide for economic and domestic policy, labels American education "depressing and uninspiring," dismay at our prospect dampens our appetite for meeting the challenge. The end-of-the-American-century, fall-of-a-great-power talk has gone too far. . ..
Nothing is more critical to national security in the post-Cold War era than schooling our children, . . . The world is shrinking. Change is inevitable. It is only a matter of time. (Michael J. Barrett, "The Case for More School Days," The Atlantic Monthly, November 1990, pp. 78-106).
Today, leaders from Ronald Reagan to Mario Cuomo have been calling for schools to pay more attention to students' moral development. . . . this renaissance of moral education . . . "Not every child is going to be smart, but every child has the potential to be good." . . .
A stress on conduct, not theory. Despite the advent of new approaches to moral education, most educators and communities today, however, eventually center on the traditional model of character development. . . . through direct instruction . . . and a consistent and firmly enforced system of discipline. . . . How students act from day to day is more important than their ability to reason through a moral problem. . ..
After a generation of dissension and confusion, schools have turned their attention back to the moral fiber of their young charges. The high costs of neglect have become unbearable. Cortland's Tom Lickona describes his dream of a moral generation: "We'd see less materialism and greed, which are the driving forces behind the public scandals. . . ."
As support for moral education grows, more schools will join the movement. They have no choice. "There is a hunger for morality in the land," . . . (Eleanor Smith, "The New Moral Classroom," Psychology Today, May 1989, pp. 32-36).
I disagree. When 25 percent of our students are dropping out and 14 million more are graduating functionally illiterate, we are not "a nation at risk," we are "a nation in crisis.". . .
87 percent of pregnant teenagers are high school dropouts.
Who's to blame for America's sky-high dropout rate, now over 25 percent? . . . The problem is not the dropouts. The problem is a dysfunctional education system that produces dropouts. . . . We must accept that we are an aging and declining society that requires rededication and commitment to support the full development of all our youth socially, culturally, educationally, economically, and spiritually. (Byron N. Kusinawa, "A Nation in Crisis: The Dropout Dilemma," NEA Today, January 1988, pp. 61-65).
(ต้นฉบับหนังสือระบุไว้ว่า "ดู ตัวอย่างการถูกอ้าง ที่เชิงอรรถ 23 ในภาค ๑" -- ผู้จัดทำเว็บไซต์)
และดูแหล่งความคิดเดิม ใน
Max Weber. The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism. New York: Scribner, 1958.