วันนี้ คุณพ่อคุณแม่ พร้อมทั้งญาติมิตร ท่านที่เคารพนับถือได้มาร่วมทำบุญกับคู่บ่าวสาว ในโอกาสงานมงคลสมรส
การทำบุญวันนี้เป็นการทำบุญในการแต่งงาน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งจะให้บุญ คือความดีนี้ เป็นเครื่องส่งเสริมเชิดชูชีวิตสมรสสืบต่อไป การทำบุญอย่างนี้จัดเป็นธรรมมงคล ในมงคลที่มี ๒ อย่าง
มงคลที่เรารู้จักกันทั่วไปนั้น เรียกว่า “พิธีมงคล” คือมงคลในด้านกิจกรรม เราจัดกิจกรรมที่เรียกว่าพิธีมงคลนี้ เพื่อให้การสมรสเป็นที่รับรู้กันในทางสังคม เป็นรูปธรรมที่มองเห็น เมื่อได้ทำถูกต้องแล้ว เราก็สบายใจว่าระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณีของสังคมมีมาอย่างไร เราก็ได้ปฏิบัติตามนั้นแล้ว พร้อมกันนั้นก็จะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นเครื่องระลึกต่อไปภายหน้า
เมื่อเราได้ปฏิบัติโดยถูกต้องดีแล้ว ก็จะเป็นความประทับใจที่ยั่งยืน ระลึกถึงเมื่อใด ก็ทั้งสุขใจ และเตือนใจ คือทั้งระลึกถึงด้วยความสุข มีความปีติ อิ่มใจเป็นต้น และเป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นความสำคัญของชีวิตแต่งงาน ที่เราจะต้องพยายามดำรงรักษาให้มีความสุข และเจริญมั่นคง นี้คือด้านที่เรียกว่า พิธีมงคล
แต่ยังมีมงคลอีกด้านหนึ่ง คือ “ธรรมมงคล” แปลว่ามงคลที่เกิดจากธรรม เป็นมงคลด้านนามธรรม เป็นเรื่องของความดีงาม และความรู้ความเข้าใจ แยกเป็น
๑.ความดี คือคุณสมบัติในจิตใจ คุณธรรม ความรู้สึกต่อกัน และ
๒.ความรู้ความเข้าใจ เช่น ความเข้าใจต่อความมุ่งหมายของชีวิตสมรส เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ถ้ามีและปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว ก็จะเป็นธรรมมงคล จะเป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตสมรสมีความสุขอย่างแท้จริง
มงคลด้านธรรมมงคลนี้สำคัญอย่างยิ่ง นอกจากประกอบพิธีมงคลแล้วเราจะต้องมีธรรมมงคล
พิธีมงคลนั้น เราปฏิบัติจบสิ้นในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ธรรมมงคลนั้นอยู่คู่กับชีวิตเรา เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติตลอดไป
ธรรมมงคล หรือมงคลเกิดจากธรรม ทั้งด้านความรู้ความเข้าใจ และความดีงาม คุณสมบัติต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับชีวิตสมรส ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อให้เราประพฤติปฏิบัติในเรื่องนี้ ก็มีมากมาย
เริ่มแรก เรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การแต่งงานนี้ ในแง่หนึ่งเป็นการเริ่มต้น ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลสองคนได้มามีชีวิตร่วมกัน
นอกจากมีชีวิตร่วมกันแล้ว ก็มีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย โบราณถือว่าเป็นการเริ่มต้นมีชีวิตเป็นผู้ใหญ่ เป็นหลักเป็นฐาน ก่อนนี้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยดูแลรับผิดชอบ แต่ต่อไปนี้จะต้องรับผิดชอบตัวเอง
แม้แต่ในด้านธรรมะสำคัญสำหรับชีวิตร่วมกัน หลักความประพฤติของบิดามารดาที่เรียกว่า "พรหมวิหาร ๔" ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็บอกวิธีปฏิบัติไว้ว่า พอลูกแต่งงานแล้ว พ่อแม่จะใช้หลัก ๓ ข้อแรกน้อยลง และเปลี่ยนมาเน้นในข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา เพราะถือว่าลูกจะต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเองแล้ว และถือว่ามีความสามารถที่จะรับผิดชอบชีวิตของตนได้
แต่ก่อนนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเลี้ยง คอยเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขและช่วยแก้ไขปัญหาให้ ตลอดจนต้องคอยส่งเสริมในการเล่าเรียนศึกษา เป็นต้น แต่ต่อไปนี้จะให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง พ่อแม่จึงหันมาหนักในข้ออุเบกขา
อุเบกขา หมายความว่า วางใจเป็นกลางคอยดูอยู่ ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ก็ไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง เพราะว่าชีวิตของคู่แต่งงานตอนนี้เขาต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว พ่อแม่จะเข้ามาแทรกแซงวุ่นวาย ก็กลายเป็นเสีย
นี้ก็หมายความว่า แม้แต่ความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ ก็ยังเปลี่ยนไป
การรับผิดชอบตัวเองนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ความหมายของการสมรส
ความหมายของชีวิตสมรสนั้น ก็มองได้หลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ก็คือ ความรัก
ความรัก นี้เป็นคำที่สืบเนื่องต่อมาจากคุณพ่อคุณแม่ ก่อนที่เราจะมีชีวิตครอบครัวนั้น มีคนที่เป็นศูนย์กลางสำคัญที่ให้ความรักแก่เรา คือคุณพ่อคุณแม่ และความรักของคุณพ่อคุณแม่นี่แหละที่ทำให้เรามีความสุข
ถ้าเราจะมีความสุข ก็จะต้องมีความรัก แต่ความรักนั้นมีความหมายอย่างไร จะเข้าใจความหมายของความรัก ก็ดูที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้มีความรักที่แท้
ความรักของคุณพ่อคุณแม่นั้น มีความหมายว่า อยากให้ลูกเป็นสุข และอยากเห็นลูกมีความสุข
ทีนี้ ความรักแบบนี้ เป็นคุณธรรม ซึ่งช่วยผดุงรักษา ทำให้โลกร่มเย็นเป็นสุข
ถ้าคนเรามีความรักแบบนี้ คืออยากให้คนอื่นเป็นสุข เราก็จะต้องพยายามทำให้เขาเป็นสุข คือ พออยากให้เขาเป็นสุข ก็อยากเห็นเขาเป็นสุข เมื่อเขายังไม่เป็นสุข ก็อยากทำให้เป็นสุข พอเห็นเขาเป็นสุข หรือทำให้เขาเป็นสุขได้สมใจเรา เราก็มีความสุขไปด้วย
ความสุขแบบนี้ เรียกว่าความสุขร่วมกัน คือสุขทั้งสองฝ่าย ลูกก็เป็นสุข พ่อแม่ก็เป็นสุข
ความสุขของคุณพ่อคุณแม่นั้น บางทีก็เหมือนกับมาฝากไว้กับลูก ถ้าลูกไม่สุข ยังมีทุกข์ พ่อแม่ก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย อันนี้เป็นความรักที่เรียกว่า เมตตา ในระดับของปุถุชน
แต่เราจะต้องทำความรู้จักว่า ที่จริงความรักนั้นยังมีอีกแบบหนึ่ง หมายความว่า รวมแล้ว ความรักมี ๒ ประเภท
ความรักอีกประเภทหนึ่งคือ ความถูกใจ พอใจ อยากได้เขามาเพื่อทำให้ตัวเราเป็นสุข
เพื่อให้ชัด ก็ต้องแยกกับความรักแบบแรกที่พูดไปแล้ว จึงขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า
ความรักแบบที่หนึ่งอย่างของคุณพ่อคุณแม่ คือ รัก-อยากให้เขาเป็นสุข
ส่วนความรักแบบที่สอง คือ รัก-อยากได้เขามาทำให้เราเป็นสุข
ความรักแบบอยากได้เขามาเพื่อให้เราเป็นสุขนี้ เป็นความรักที่ต้องระวัง
ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่พัฒนาความรักแบบที่อยากให้เขาเป็นสุขขึ้นมาในใจของเราด้วย ความรักแบบอยากได้เขามาเพื่อให้เราเป็นสุขนี่ จะทำให้เกิดปัญหา เพราะเป็นความรักประเภทที่พูดง่ายๆ ว่ายังมีความเห็นแก่ตัว
ถ้าเรามีความรักประเภทนี้อย่างเดียว ต่อไปก็จะเป็นทางมาของความขัดแย้งและปัญหา เช่นจะมีการเรียกร้อง และเอาแต่ใจตัว
เพราะฉะนั้น คนที่จะมีชีวิตรับผิดชอบในการสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญงอกงาม จะต้องพัฒนาความรักแบบที่เป็นคุณธรรม คือความอยากให้เขาเป็นสุขขึ้นมาให้ได้
ถ้าเป็นคนที่มีคุณธรรม มีจิตใจดีงาม ความรักประเภทนี้จะมีเป็นพื้นใจอยู่เองแล้ว ทีนี้ พอมีความรักประเภทที่สองแบบถูกใจพอใจขึ้นมา ก็จะไปหนุนความรักที่อยากให้เขาเป็นสุขนั้นให้เกิดเพิ่มขึ้น ทำให้ความรักสองอย่างนั้นไปด้วยกัน และจะเป็นเครื่องช่วยดำรงรักษาให้ชีวิตที่มีความรับผิดชอบร่วมกันนี้อยู่ยั่งยืนไปได้ด้วยดี
เป็นอันว่า เรื่องชีวิตสมรสหรือการแต่งงานนี้ เราไม่มองแค่เพียงว่าเป็นการที่ได้มาสนองความใฝ่ปรารถนาความสุขของตนเอง แต่ต้องมองในแง่ของการที่ได้มาร่วมกันทำการสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่นมองว่า เรามาช่วยกันสร้างสรรค์ชีวิตที่อยู่ร่วมกันนี้ให้เกิดความเจริญงอกงามมั่นคงยิ่งขึ้นไป หรือมองแม้กระทั่งว่า เรามีจุดหมายที่ดีงามของชีวิต เรามีจุดหมายเพื่อสังคม การแต่งงานก็เท่ากับว่าได้กำลังมาเพิ่มเป็นสองคน
แต่ก่อนนั้น เราทำคนเดียว เรามีกำลังน้อย ก็ทำได้จำกัด พอเรามีสองคน เรารวมแรงรวมกำลังกัน ก็ทำได้มากขึ้น
ถ้าอย่างนี้ ก็เรียกว่า การแต่งงานนั้นเป็นการรวมกำลังมาทำการสร้างสรรค์ แล้วก็ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายที่จะทำต่อไป
อีกอย่างหนึ่ง การแต่งงานนี้ เป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตของตนเองด้วย หมายความว่า คนเราแต่ละคนนี้ มีหน้าที่ต้องทำชีวิตของตนให้ดีงามยิ่งขึ้น ในการที่จะอยู่ในโลกให้ประสบความสำเร็จ พฤติกรรมกายวาจาของเราก็ต้องพัฒนา จิตใจของเรา เช่น ความเพียร ความอดทน ความรับผิดชอบ ความมีสติ ความมีสมาธิ ความเข้มแข็งต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องพัฒนา และปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถในการคิดพิจารณา วิเคราะห์ แยกแยะ เป็นต้น ก็ต้องพัฒนา
การมามีชีวิตแต่งงาน และได้รับผิดชอบครอบครัว โดยรับผิดชอบตั้งแต่ชีวิตของตนเอง และร่วมกันสร้างสรรค์ต่างๆ นี้ ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาคุณสมบัติที่กล่าวมาทั้งหมด
ถ้าเรามองชีวิตแต่งงานอย่างนี้ ก็จะมีความหมายมากขึ้น คือไม่ใช่มองแค่ว่าเราจะได้มีความสุขสมปรารถนาของตนหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าเรามองจำกัดแค่นั้นก็จะเป็นปัญหา
ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่สังคมมีปัญหามาก รวมทั้งปัญหาในแง่ความสับสนไม่ลงตัวด้วย คือมีความคิดใหม่ๆ ซึ่งยังถกเถียงกันมาก
แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนนี่ ก็เป็นเรื่องที่วุ่นพอสมควรว่าอะไรแค่ไหน และถ้าไม่ตั้งท่าทีให้ถูก อาจจะแทรกเข้ามาเป็นปัญหากับคู่ครองหรือในครอบครัวได้ด้วย
สิทธิมนุษยชนนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องของการมองที่เน้นในเรื่องของตัวเอง ซึ่งทําให้เรามีความโน้มเอียงที่จะคอยระวังไม่ให้คนอื่นมาล่วงล้ำสิทธิของเรา ตรงนี้ต้องระวัง จะต้องให้หมายถึงการมองผู้อื่นด้วยว่าเขามีสิทธิอะไร ที่เราไม่ควรไปก้าวก่ายแทรกแซง
แต่เรื่องสิทธิทั้งหมดนี้ มักจะเป็นการมองที่ค่อนไปในทางลบ คือ คอยดูว่าใครมีสิทธิแค่ไหน ถ้ามองไปที่คนอื่น เราก็ดูว่าเขามีสิทธิแค่นั้นแล้วก็พอ ได้แค่นั้นก็จบ เลิก ส่วนในแง่ของตัวเองก็คอยระวังคนอื่นว่าอย่ามารุกล้ำสิทธิของฉัน หรือว่าฉันมีสิทธินะ ฉันก็จะเรียกร้องเอาให้ได้อย่างนั้นๆ
เรื่องนี้ ในแง่ดีก็เป็นหลักประกันให้มนุษย์มีสังคมที่ไม่เดือดร้อนเกินไป แต่ค่อนข้างแห้งแล้ง จะไม่ค่อยมีน้ำใจ ไม่ค่อยมีความสุข
ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกเพียงเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิ ก็คงยุ่ง คือ พ่อแม่ก็คอยดูว่า เออ ลูกของเรามีสิทธิที่จะได้อะไรบ้าง แล้วก็ทำให้แค่นั้นตามสิทธิ ถ้าพ่อแม่ทำอย่างนี้ ก็คงจะไม่ได้ชีวิตครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุขแน่
แต่ที่อยู่กันมาในสังคมไทยของเรา พ่อแม่ไม่ได้คำนึงเกี่ยงงอนในเรื่องสิทธิ แต่พ่อแม่ทำให้ลูกด้วยความรัก ที่อยากให้ลูกเป็นสุข แม้ตัวเองจะลำบาก จะทุกข์ พ่อแม่ก็ยอม
ถ้ายิ่งมีความรักมาก แม้แต่การที่ตัวเองต้องเสียสละหรือเป็นทุกข์ลำบากในการทำเพื่อลูก พ่อแม่ก็เป็นสุข เป็นสุขเพราะเห็นลูกเป็นสุข หรือเพราะอยากทำให้ลูกเป็นสุข
เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับคนมีจิตใจที่รักเพื่อนมนุษย์ เมื่อมีความรักต่อคนอื่น อยากเห็นคนอื่นเป็นสุข ก็ทำเพื่อคนอื่นได้
พ่อแม่ และคนที่รักเพื่อนมนุษย์น้น แม้ว่าบางครั้งจะทำให้ตัวเองลำบาก หรือต้องเสียสละมากเหลือเกิน ก็ไม่ได้รู้สึก เพราะเขามีความสุขที่จะทำอย่างนั้น อันนี้ก็กลายเป็นเรื่องของคุณธรรม
สิทธิมนุษยชนนี้เป็นหลักประกันเบื้องต้นอย่างที่ว่า เพื่อเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่า เออ คนเรานี้ทุกคนถ้าเขาจะมีชีวิตที่ดี ก็อย่าทำให้เขาเดือดร้อน ต้องให้เขามีให้เขาได้ตามสิทธิมนุษยชนนั้น
แต่ถ้าทำกันแค่ตามสิทธินั้น ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าจะอยู่กันด้วยความแห้งแล้ง
ถ้าในครอบครัวปฏิบัติต่อกันแค่คอยทำตามสิทธิ และระวังสิทธิ ไม่ช้าความรัก ความสดชื่น ร่มเย็น หรืออบอุ่น ก็จะหมดไป อย่างที่ว่าอยู่กันอย่างแห้งแล้ง
เวลานี้ ในสังคมที่พัฒนามากแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะในอเมริกา แม้แต่พ่อแม่กับลูกก็เริ่มจะอยู่แบบระวังสิทธิกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย ซึ่งแม้จะเป็นด้านหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงในสังคม แต่เราจะอยู่แค่นั้นไม่ได้
สมัยที่ในอเมริกากำลังเริ่มพูดเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชายกันมากสักสิบกว่าปีมานี่ เคยอ่านหนังสือฝรั่งเล่าว่า คู่แต่งงานคู่หนึ่ง เขาตกลงกันได้แล้ว เขามาเขียนอวด เขาบอกว่า เราได้พิจารณากันว่า เรามีลูกนี่ เราสองคนฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะแบ่งหน้าที่กันอย่างไรให้เท่ากันเพื่อความเสมอภาค ก็ตกลงว่าจะผลัดกันซักผ้าอ้อมให้ลูกคนละห้าวัน เจ็ดวัน ผลัดกันเลี้ยงคนละห้าวัน เจ็ดวัน หมายความว่าทำงานเลี้ยงลูกให้เสมอกัน
ในเรื่องนี้ เขาก็พอใจว่า เขาทั้งสองได้ตกลงกันสำเร็จ เป็นความเสมอภาค
เราอ่านแล้วก็มาคิดว่า อ้อ นี่เขามองเรื่องสิทธิความเสมอภาคจนกระทั่งลืมจุดหมายของการเลี้ยงลูกหรืออย่างไร เพราะการเลี้ยงลูกนี่จุดหมายควรจะอยู่ที่ลูก คือมุ่งเพื่อให้ชีวิตของลูกดีงามมีความสุข ควรจะมาพิจารณาตกลงกันในแง่ที่ว่าเพื่อให้ลูกของเราเจริญเติบโตอย่างดีนี่ เราควรจะทำอย่างไร ควรจะเน้นไปที่นั่นมากกว่า
เช่นพิจารณาว่า เออ ลูกของเราต้องการอะไร ต้องการแม่แค่ไหน ต้องการพ่อแค่ไหน แล้วทำอย่างไรจะเลี้ยงให้ลูกเป็นสุข ให้เขาเจริญเติบโตอย่างดี
ไม่ใช่จะมาตกลงแบ่งกันว่า ฉันเป็นฝ่ายชาย ฉันเป็นฝ่ายหญิง มีสิทธิเท่ากัน ก็มาแบ่งกัน พอดีเท่ากัน แล้วก็จบ เลยมองข้ามจุดหมายของการเลี้ยงลูก แล้วก็มองข้ามลูกไปด้วย คือมัวแต่คิดถึงสิทธิส่วนตัวซะ
เรื่องนี้ ถ้ามองไปอีกทีก็คือการที่คนเริ่มจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น แทนที่จะทำเพื่อจุดหมายที่ดีงามบางอย่าง แล้วก็ทำได้โดยตัวเองก็มีความสุขด้วย
อย่างที่พระสอนไว้ให้มีการศึกษาพัฒนาตัวเองนั้น ก็เป็นการพัฒนาไปสู่ความหมดตัว
"หมดตัว" นั้นมีความหมาย ๒ อย่าง หมดตัวในแง่หนึ่งก็คือ หมดทรัพย์ เงินทองไม่มีเหลือ ไม่มีจะใช้ อย่างนี้ก็หมดตัว
แต่หมดตัวอีกอย่างหนึ่ง หมายความว่า หมดความยึดถือในตัวตน
จุดหมายของการพัฒนาชีวิตของคนเราในทางพระศาสนานั้น มุ่งให้พัฒนาไปจนกระทั่งหมดความเห็นแก่ตัว และหมดความยึดถือในตัวตน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์อย่างพระพุทธเจ้าจึงทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ โดยไม่มีอะไรจะต้องเอาเพื่อตัวเอง
แต่ที่จริงก็คือ ตัวเองนั้นมีความสมบูรณ์ มีความสุข มีชีวิตที่เต็มเปี่ยมแล้ว จึงไม่ต้องคำนึงถึงตัวเอง ท่านเรียกว่า ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองต่อไป จึงสามารถเดินทางไป จาริกไป นอนกลางดินกินกลางทรายอย่างไรก็ได้
นึกถึงแต่ว่า เออ คนนั้นมีความทุกข์อันนี้ คนนั้นควรจะได้ประโยชน์นี้ ควรจะได้รู้หลักธรรมนี้ คิดแล้วก็เดินทางไปเพื่อช่วยเขา ไปสอนเขา และเมื่อทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเสียสิทธิเสียอะไร และก็มีความสุขที่จะทำอย่างนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น การคำนึงในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ ถ้ามากไป อาจจะเป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่งก็ได้ ซึ่งมนุษย์จะต้องระวัง คือต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง คล้ายๆ ว่ามันเป็นหลักประกันของสังคมในขั้นเบื้องต้นหรือพื้นฐาน แต่มันไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของสังคมที่ดี
สังคมที่ดีจะต้องเจริญงอกงามสูงขึ้นไปกว่านั้น คือ อยู่กันไม่ใช่เพียงแค่รักษาสิทธิ แต่ให้ได้เหนือกว่านั้น คือให้เป็นสังคมของความดีงามและคุณธรรม แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะละทิ้งมัน เราก็ต้องมีไว้ด้วย
อย่างที่ว่าแล้ว สิทธิมนุษยชนนี้มีไว้เป็นหลักประกันพื้นฐาน จะได้มีขีดขั้น เหมือนเป็นเกณฑ์อย่างต่ำ เช่น เมื่อคนหนึ่งรัก ทำให้ทุกอย่าง ยอมเสียสละเต็มที่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีแต่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีน้ำใจเลย ไม่เห็นอกเห็นใจ ปล่อยให้เขาคับแค้นทุกข์ยาก ถ้าอย่างนี้ สิทธิมนุษยชนก็จะช่วย คือเอาไว้ป้องกันคนที่ไม่มีอารยธรรม
แต่คนที่มีอารยธรรม จะก้าวเลยขั้นของการเรียกร้องสิทธิ ไปถึงขั้นให้ความสุขแก่กัน
ที่พูดนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องมาประสานกับเรื่องความหมายของความรักอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเรามีแต่ความรักประเภทที่ว่าอยากได้เพื่อให้ตัวเองเป็นสุข ก็จะต้องพูดกันมากในเรื่องสิทธิ ว่าการได้ตามสิทธิของเขา กับสิทธิของเรา จะเสมอภาคกันไหม ซึ่งเมื่อมองในแง่หนึ่งก็จะเป็นไปเพื่อการเกี่ยง การแก่งแย่ง การเพ่งจ้องระแวง แล้วก็มีความขัดแย้งกันได้ง่าย
แต่ถ้าเมื่อไรใจเรามีความรักอีกประเภทหนึ่ง คือความอยากให้เขาเป็นสุข ตอนนี้เราไม่คำนึงถึงตัวเองแล้ว มีแต่คิดว่า ทำอย่างไรเขาจะเป็นสุขได้ เราก็จะพยายามทำเพื่ออย่างนั้น
ถ้าอย่างนี้ ก็จะได้ความมีน้ำใจ และความสดชื่น มีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ ก็แห้งแล้งแน่นอน
การที่แต่งงาน มาเป็นคู่ครองกันนั้น แน่ชัดอยู่แล้วว่า ไม่ใช่เป็นความคิดที่จะเกี่ยงจะแย่ง แต่เป็นความตั้งใจ และเป็นความเต็มใจที่จะมาร่วมกัน ร่วมแรงกัน ร่วมมือ ร่วมใจกัน จะมาให้แก่กัน
ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของการที่จะดำเนินชีวิตให้เจริญงอกงาม โดยเฉพาะในชีวิตสมรส จะต้องมีความรักประเภทที่เราเรียกเป็นคุณธรรมคือเมตตา หรือความรักชนิดที่อยากให้เขาเป็นสุขนี้ มาเป็นหลักใหญ่ อย่างน้อยก็ต้องพัฒนาไปสู่ความรักประเภทนี้ ให้มีความรักประเภทนี้เข้ามาเป็นส่วนร่วม หรือเป็นส่วนที่ให้เกิดดุลยภาพ แล้วก็ก้าวไปสู่การพัฒนาในคุณธรรมหรือความรักประเภทนี้ให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อคนเรามีความรักต่อคนใกล้ชิดชนิดที่อยากให้เขาเป็นสุขแล้ว ต่อไปความรักอย่างนี้ก็สามารถพัฒนาขยายกว้างออกไปต่อเพื่อนมนุษย์อื่นๆ ด้วย คืออยากให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข แล้วก็สามารถทำเพื่อผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น
คนเราไม่ควรติดอยู่แค่การทำเพื่อให้ตัวเองเป็นสุข แต่ควรคิดกว้างออกไปว่า ทำอย่างไรจะให้ผู้อื่นเป็นสุขได้ คนที่คิดด้วยความรักอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นคนที่มีความสุขกว้างออกไปด้วย
ถ้าใครคิดแต่เพียงว่าจะทำให้ตัวเองเป็นสุข เขาก็จะได้แค่ว่าเมื่อตัวเองได้ตามต้องการก็มีความสุข ความสุขก็แคบจำกัดอยู่แค่นั้น เมื่อไรจะต้องทำเพื่อผู้อื่น หรือจะต้องให้อะไรออกไปจากตัว ก็จะเป็นการสูญเสีย และเป็นทุกข์
แต่คนที่แผ่ขยายความรักนี้กว้างออกไป อยากให้คนโน้นคนนี้เป็นสุข พอทำให้คนนั้นคนนี้เป็นสุข แม้แต่ให้แก่เขาที่ตามปกติเราเรียกว่าเป็นการสูญเสีย มันก็กลายเป็นการทำให้ตัวเองเป็นสุขไปด้วย
เพราะฉะนั้น ยิ่งความรักขยายกว้างออกไป ก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นคนที่สุขได้ง่าย สุขได้มาก สุขได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาความสุขของตัวเองไปด้วย
เป็นอันว่า เรื่องของชีวิตสมรสนี้ ต้องพัฒนาความรักให้มีครบทั้ง ๒ประเภท
ขอย้ำอีกครั้งว่า ความรักประเภทที่หนึ่งที่เป็นพื้นฐาน ก็คือความถูกใจพอใจ อยากได้เขามาเพื่อให้เราเป็นสุข
ส่วนความรักประเภทที่สองที่เป็นคุณธรรม คือความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข และอยากทำให้เขาเป็นสุข ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่
ความรักประเภทนี้ เรียกว่าเป็นความรักแท้ ถ้าพัฒนาขยายออกไป ก็จะช่วยให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น ในชีวิตสมรส ความรักทั้งสองประเภทนี้จะต้องก้าวต่อกันมาให้พร้อม
การเข้าสู่ชีวิตสมรสนั้น ในความหมายหนึ่งก็คือ การที่จะฝึกหรือพัฒนาตัวเราให้ก้าวหน้าไปในความรักที่สูงขึ้นด้วย
เมื่อใดเราสามารถทำให้เกิดความรักที่เป็นคุณธรรมนี้ มันก็จะมาช่วยให้ชีวิตสมรสก้าวต่อไปสู่ความดีงามที่เป็นการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น
การแต่งงานนี้มิใช่เป็นเพียงมามีชีวิตคู่ครองเท่านั้น แต่หมายถึงการได้มารวมกำลังกันในการทำการสร้างสรรค์
อะไรที่เป็นจุดหมายที่ดีงามของชีวิตของเรา ที่เราควรจะตั้งขึ้น แม้แต่เป็นการรวมกำลังกันทำเพื่อสังคม ตลอดจนเพื่อมนุษยชาติที่กว้างออกไป ตอนนี้เราก็มีกำลังเพิ่มขึ้นแล้ว
พร้อมกันนั้น ก็เป็นโอกาส หรือเป็นเวทีที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเองด้วย เพราะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่สองคนขึ้นไปนั้น จะต้องฝึกต้องพัฒนาตัวเอง จึงจะอยู่กันได้ดี มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย
เพราะฉะนั้น วันนี้ก็จะขอพูดถึงธรรมที่เป็นหลักในการมีชีวิตครองเรือนสักชุดหนึ่ง เอาชุดที่เป็นหลักธรรมง่ายๆ เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” แปลว่าธรรมะสำหรับการครองเรือน หรือการอยู่เป็นชาวบ้านนั่นเอง ซึ่งมี ๔ ข้อด้วยกัน
ข้อที่ ๑. เป็นหลักง่ายๆ เรียกว่า “สัจจะ” สัจจะ ก็คือความจริงนั่นเอง ความจริงนี่เป็นรากฐานของชีวิตที่อยู่ร่วมกัน คนเราอยู่ร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน
สัจจะเริ่มที่ไหน ก็เริ่มที่ความจริงใจ คือมีความจริงใจต่อกัน แล้วก็ซื่อสัตย์ต่อกัน มีความรักที่แท้ต่อกัน
ตอนนี้เริ่มจากในใจ พอมีความจริงใจต่อกันแล้ว ก็ออกมาทางวาจา ก็พูดจริง แล้วก็ออกมาทางการกระทำ คือ ทำจริงตามที่พูด
สัจจะนี้จะทำให้ไม่ต้องหวาดระแวงกัน พอเริ่มต้น ถ้าเสียข้อนี้แล้ว ทุกอย่างก็เรรวนง่อนแง่นหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบสัจจะว่าเป็นเหมือนรากแก้วของชีวิตสมรส เพราะถ้าไม่มีสัจจะเมื่อไร หรือเริ่มระแวงในสัจจะความจริงใจต่อกันเมื่อไร ชีวิตคู่ก็เริ่มง่อนแง่นทันที เสียความมั่นคง
เพราะฉะนั้น สัจจะจึงเป็นตัวรักษาฐาน ทำให้เกิดความมั่นคง ต้องมีไว้เป็นอันดับที่หนึ่ง คือ สัจจะ ความจริง
ข้อที่ ๒ คนที่มาอยู่ร่วมกัน จะต้องมีการปรับตัว เพราะว่า คนเรา เมื่อมาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ เริ่มตั้งแต่อยู่กับผู้อื่น ย่อมพบความผิดแผกแตกต่างเป็นธรรมดา
แม้แต่สถานที่ เราขึ้นบ้านใหม่ หรือมาอยู่ในบ้านใหม่ ก็ต้องมีความแปลกที่ และจะต้องปรับตัวเข้ากับสถานที่นั้น ถ้าพบบุคคลคนใหม่ ก็ต้องมีการปรับตัวเข้ากับบุคคลนั้น
แม้แต่คนที่เรียกว่าเก่า อยู่มานานนักหนา บางทีก็ยังมีอะไรที่ยังแปลกตาเราอยู่ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ตัวเราเองบางทีก็ยังแปลกตัวเลย เพราะตัวเราเองก็มีความเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้น เราจะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลง หรือความแปลกใหม่ที่เราจะต้องปรับตัว
ความสามารถของคนอย่างหนึ่ง พิสูจน์ได้ด้วยการรู้จักปรับตัว การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นนี้ไม่ใช่เพียงเพื่ออยู่กันด้วยดีเท่านั้น แต่เป็นการทดสอบตัวเองด้วยว่า เรามีความสามารถแค่ไหนในการที่จะอยู่ด้วยดีในโลกนี้
การศึกษา คือการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาตนเองนั้น ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง เมื่อปรับตัวแล้ว ก็ปรับปรุงต่อไป คนไหนปรับตัวไม่ได้ ก็ยากที่จะอยู่ไปด้วยดีในโลกนี้ เมื่อพัฒนาตนเองได้ ก็มาปรับตัวให้ดี
ในการมาอยู่กับคนอื่น ก็ต้องปรับตัวแล้วก็ปรับใจเข้าหากัน และการปรับตัวปรับใจนั้น ต้องใช้ความเข้าใจ ไม่ใช้แค่อารมณ์ ไม่ใช้เพียงความรู้สึก คือต้องพยายามเข้าใจเขาบวกกับความเห็นใจ ถ้าเข้าใจก็ดีแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจก็พยายามเข้าใจโดยใช้วิธีการแห่งปัญญา เช่น พูดจากัน โดยไม่ใช้อารมณ์ ไม่วู่วาม
ธรรมข้อที่ ๒ นี้ คือหลักที่เรียกว่า “ทมะ”
ทมะ นั้น ปรับตัวแล้วก็ปรับปรุงตนด้วย หมายความว่า อะไรที่อาจจะบกพร่อง ขาดไป เกินไป ก็ปรับจัดทำให้เกิดความพอดี โดยใช้ปัญญา หรือว่าอะไรถูกต้อง อะไรเหมาะสม อะไรพอดี ก็ปรับตัวให้ได้อย่างนั้น ก็จะทำให้อยู่กันได้ด้วยดี
อันนี้เป็นเรื่องของการปรับตัว ทั้งปรับตัวเข้ากับสถานที่สิ่งแวดล้อม ปรับตัวเข้ากับญาติพี่น้อง ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่าย ปรับตัวเข้ากับการงานอะไรต่างๆ
พอปรับตัวได้ดี ก็เดินหน้าไปในการปรับปรุงตนเอง พัฒนายิ่งขึ้นไป ตอนนี้ ชีวิตก็จะก้าวหน้าเจริญงอกงาม หลักทมะข้อที่สองนี้แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ “ฝึก” นั่นเอง
คนเรานี้จะมีชีวิตเจริญงอกงามได้ ต้องมีการฝึกตน คนไหนไม่ฝึก ก็เจริญยาก
เพราะฉะนั้น คนที่เจริญ ก็จะเอาอะไรต่ออะไรมาเป็นเครื่องฝึกตนหมด เจอสถานการณ์ใหม่ พบอะไรใหม่ๆ ก็มองว่าจะได้โอกาสฝึกตน เจอทุกข์ เจอปัญหา ก็คือแบบฝึกหัดในการฝึกตัวนั่นเอง
จะเห็นว่า คนเราที่จะเก่ง ก็ต้องมีแบบฝึกหัด นักเรียนที่มีความสามารถ คือคนที่ขยันทำแบบฝึกหัด ชีวิตคนที่เจริญงอกงาม ก็เพราะเป็นคนที่รู้จักทำแบบฝึกหัด
คนเก่งนั้น มีลักษณะที่ว่า เจอปัญหาไม่ย่อท้อ เจอเรื่องที่ต้องทำไม่ถอย มองเป็นแบบฝึกหัด เอามาฝึกตัวเองให้หมด ซึ่งจะทำให้มีจิตใจที่ดีด้วย คือมีสุขภาพจิตดี
ถ้าใครไม่ได้เตรียมใจไว้ในการฝึกอย่างนี้ พอเจออะไรยาก เจออะไรต้องทำ เจอปัญหา ใจก็ท้อ ก็ถอย เลยเป็นทุกข์ไปหมด ใจไม่ดี เสียสุขภาพจิต แล้วก็ทำไม่ได้ผลด้วย เพราะมัวแต่ทุกข์ ใจย่อท้อ ก็ต้องฝืนใจทำ ไม่เต็มใจ ใจก็ไม่ดี งานก็ไม่เดิน
แต่ถ้ามองสถานการณ์ที่ประสบเป็นแบบฝึกหัด และเป็นโอกาสในการฝึกตน พอเจออะไรยาก ก็ดีใจว่า เออ ได้แบบฝึกหัดอีกแล้ว เจอปัญหา เจออะไรต่ออะไร ใจก็พร้อม ก็เลยมีสุขภาพจิตดี แล้วก็ทำให้ได้ผลดีแก่ชีวิต คือมีความเจริญงอกงาม ได้ฝึกตนยิ่งขึ้นไป ก็พัฒนาไปเรื่อย
เพราะฉะนั้น ข้อที่สองนี้จึงเป็นหลักสำคัญ ทั้งสำหรับชีวิตระหว่างคู่ครอง และชีวิตที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นกว้างขวางออกไป นี่คือข้อที่สอง “ทมะ - การฝึกตน"
ข้อที่ ๓. ในการฝึกตนให้เจริญก้าวหน้าบุกฝ่าไปในชีวิตนี้ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าย่อมต้องเจออุปสรรค เจอความทุกข์ยากลำบาก แม้แต่มรสุมชีวิต จึงต้องมีคุณธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ “ความอดทน” ที่พระเรียกว่า “ขันติ”
ความอดทนนี่ หมายถึงความเข้มแข็ง ความฮึดอึดสู้ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปข้างหน้า
ความอดทนนี้มี ๒ แบบ คือ อดทนแบบตั้งรับ กับอดทนแบบบุกฝ่าไปข้างหน้า
อดทนแบบตั้งรับ หมายความว่า ในโอกาสที่สมควร เราต้องมีความสามารถที่จะตั้งรับ เปรียบเหมือนแผ่นดิน คือแผ่นดินนี้ใครจะทิ้งของดีของเสียลงมา ฉันรับได้หมด ไม่ร้องโอดครวญเลย นี้เป็นความอดทนแบบที่หนึ่ง คือตั้งรับได้อย่างผืนแผ่นดิน
ส่วนความอดทนอีกแบบหนึ่ง ท่านเปรียบเหมือนอย่างช้างศึก คือ ช้างศึกนั้นมีจุดหมายที่จะรบให้สำเร็จ จึงบุกฝ่าไปในสงคราม เขาจะยิงลูกศร เกาทัณฑ์ อาวุธอะไรต่างๆ มา ก็ไม่ย่อท้อ ทนต่อความเจ็บ เป็นต้น บุกฝ่าไปข้างหน้าให้งานสำเร็จให้ได้ อันนี้เรียกว่า อดทนแบบช้างศึก
เราต้องมีขันติ คือความอดทนทั้งสองแบบนี้ จึงจะเดินไปในชีวิตได้
เหมือนกับของที่นำมาใช้ทำสิ่งต่างๆ แม้แต่บ้านเรือน เราจะใช้ไม้ ก็ใช้ไม้ที่แข็งแรงทนทาน ทนน้ำ ทนแดด ทนฝน เป็นต้น คนเรานี้ก็ต้องมีความเข้มแข็ง สามารถอดทนได้
ความอดทนของคนนี้ แสดงในลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น ในการงาน เมื่อทำการงาน ก็ต้องมีความลำบากตรากตรำบ้าง บางทีจะต้องทนแดด ทนฝน ทนต่องานหนัก หรือในเวลาที่งานยังไม่เสร็จจะต้องทำให้เสร็จ ก็ต้องอดทนพยายามสู้ทำต่อไป เป็นความเข้มแข็งที่จะทำให้งานลุล่วงไปได้
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา คือทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางร่างกาย เช่นยามเจ็บไข้ ก็อดทนไปตามเหตุผล หมายความว่า ไม่วู่วาม ไม่โวยวาย พยายามรักษาแก้ไขปัญหาไปตามเหตุผล แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ ถ้าทิ้งไว้ท่านเรียกว่าประมาท ต้องทำ แต่ไม่ใช่วู่วาม โวยวาย ซึ่งจะกลายเป็นว่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่โดยไม่สมควร
๓. ทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ เช่น ทนต่อถ้อยคำ อาการกิริยาของผู้อื่นที่ล่วงเกิน
ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นไกล คนอยู่ใกล้ชิดกันที่สุด คือคู่ครองกัน ก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ คนหนึ่งพูดมา อาจจะไม่ได้ตั้งใจเลย นึกไม่ถึงว่าจะไปกระทบใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการเคลื่อนไหว กิริยาอาการก็กระทบใจได้
ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีความอดทน ก็จะเกิดเรื่อง เรียกว่าวู่วามไปตามอารมณ์ ฉะนั้นจึงต้องแก้ไขโดยมีความอดทน เข้มแข็ง ตั้งรับไว้ได้ก่อน ไม่เอาอารมณ์ขึ้นมาเป็นใหญ่ แล้วก็ใช้ปัญญาเอาข้อที่ ๒ มาใช้ในการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เรื่องสงบเรียบร้อยลงไปด้วยดี
นี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทน ซึ่งต้องใช้มากอยู่เสมอ
ข้อที่ ๔. “จาคะ” แปลว่า ความเสียสละ พูดในเชิงบวกว่า ความมีน้ำใจ
ถ้าพูดว่าเสียสละ จะให้ความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งบางทีรู้สึกเหมือนว่าต้องเสีย แต่ถ้าพูดในทางบวกเป็นน้ำใจ ก็รื่นดีหน่อย
สำหรับคู่ครอง ธรรมข้อนี้เป็นอย่างไร ก็เช่นว่า พร้อมที่จะเสียสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้
อย่างบางทีฝ่ายหนึ่งมีธุระ มีเรื่องที่จะต้องขอให้เราช่วยเหลือ ถ้าเราตามใจตัวเอง จะเอาแต่ความสุขของตัว เราก็ไม่ร่วมมือ แต่ถ้าเรามีน้ำใจ เราก็พร้อมที่จะเสียสละความสุขของตัวเองออกไปช่วยเขา นี่ก็คล้ายกับอยากเห็นเขาเป็นสุขนั่นเอง
จาคะนี้ก็มากับความรักที่แท้นั่นแหละ ได้แก่ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข พอนึกว่าอยากให้เขาเป็นสุขก็ทำเพื่อเขาได้ เพราะอยากให้เขาเป็นสุข แต่ถ้ามีเพียงความรักแบบที่อยากให้ฉันเป็นสุข ฉันก็ไม่อยากทำให้คุณ ก็เสียสละไม่ได้ ก็คือไม่มีน้ำใจ
ถ้าเรามีน้ำใจ คือมีจาคะนี้เป็นหลักยืนอยู่ เมื่อเราอยากให้เขาเป็นสุข บางทีก็ทำให้ลืมที่จะคิดถึงความสุขของตัวเอง เพราะความสุขของตัวเองเหมือนกับว่าไปฝากไว้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่ออยากให้เขาเป็นสุข เราก็ต้องรอว่าให้เขาเป็นสุขแล้วเราจึงจะเป็นสุขด้วย ก็ต้องไปทำให้เขาเป็นสุข แล้วเราจึงจะเป็นสุขด้วย แล้วก็พร้อมที่จะทำเพื่อเขา
บางทีเขาอาจจะเจ็บไข้ แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เราก็นอนเฝ้าดูแล ต้องยอมอดหลับอดนอน ก็เสียความสุขของเรา แต่ถ้าเราอยากให้เขาเป็นสุข เราก็ทำได้ เพราะเราอยากเห็นเขาเป็นสุข เพราะเราฝากความสุขไว้กับเขา รอให้เขาเป็นสุขเมื่อไร เราก็สุขด้วย
ข้อนี้เรียกว่าจาคะ คือความเสียสละ ได้แก่การที่ยอมเสียสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อความสุขของเขา
คนที่คิดอย่างนี้ จะมีน้ำใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะมีความซาบซึ้ง แล้วก็จะทำให้เกิดความสดชื่น ไม่แห้งแล้ง ไม่มัวแย่งความสุขกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ามีน้ำใจ คือเมื่ออยากให้เขาเป็นสุข ก็ยอมทำเพื่อเขาได้
เหมือนพ่อแม่ที่เสียสละเพื่อลูก อย่างได้ขนมมา ลูกตอนเล็กๆ ขอเอาหมด แม่ก็ยอมอด เพราะอยากให้ลูกเป็นสุข ก็ยอมได้ ให้ลูกทั้งหมดเลย
ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรักแบบที่ว่าอยากให้ลูกเป็นสุขนี้ พ่อแม่ก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็ให้แค่ตามสิทธิของเขา เธอมีสิทธิเท่านี้ ฉันก็ทำให้แค่นี้นะ เกินสิทธิฉันไม่ให้ แกไปฟ้องเอา
ถ้าเอาตามสิทธิ ก็ต้องคอยจดกันละ ฝ่ายนั้นเขามีสิทธิแค่ไหน เรามีสิทธิแค่ไหน อย่าล้ำเส้นกันนะ ชีวิตอย่างนี้แย่
เพราะฉะนั้น อย่าเอาแค่นั้นเลย เราต้องมีเรื่องคุณธรรม มีเมตตา มีความรักความปรารถนาดีอย่างที่ว่าไปแล้วนั้น
คุณธรรม ๔ อย่างนี้ขอทวนอีกครั้ง คือ
๑. สัจจะ ความจริง จริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน จริงวาจา จริงทำตามที่พูด
๒. ทมะ การรู้จักปรับตัวและปรับปรุงตน แล้วก็พัฒนา ทำให้เจริญก้าวหน้า ให้งอกงามยิ่งขึ้น
๓. ขันติ ความอดทน หมายถึงความเข้มแข็งทนทานที่จะรับสถานการณ์ต่างๆ และที่จะบุกฝ่าไปเพื่อความเจริญงอกงามให้ถึงจุดหมาย คือ คำนึงถึงจุดหมาย เรื่องจุกจิก ไม่ถือสาเก็บมาเป็นสาระ
ถ้าไม่มีขันติ ก็จะเที่ยวเก็บเรื่องเล็กเรื่องน้อยมาคิดวุ่นวายไปหมด แต่คนที่เขามีใจอยู่กับจุดหมาย เขาทำแต่เรื่องที่เกี่ยวกับจุดหมายนั้น อะไรไม่เกี่ยวกับจุดหมาย เป็นเรื่องจุกๆ จิกๆ เขาไม่ถือเป็นอารมณ์ ก็ทำงานได้สำเร็จ
๔. จาคะ ความมีน้ำใจ ยอมเสียสละความสุขของตนเองเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ เริ่มจากคู่ครอง แล้วขยายออกไปจนกระทั่งมีน้ำใจเผื่อแผ่ ช่วยเหลือ บำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั่วทั้งหมด
คุณธรรม ๔ อย่างนี้ เรียกว่า ฆราวาสธรรม คือธรรมสำหรับการครองเรือน ซึ่งจะทำให้ชีวิตคู่ครองเจริญมั่นคงและมีความสุข
นอกจากมีความสุขในครอบครัวแล้ว ก็จะแผ่ความสุขไปให้แก่สังคม เป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ เพราะเรามองว่า ครอบครัวนี้ไม่ใช่แค่ชีวิตของคนภายในเริ่มแต่สามีภรรยา แล้วก็ไม่ใช่รวมทั้งลูกเท่านั้น แต่ครอบครัวนี้เป็นสังคมย่อย หรือเป็นฐานของสังคมทั้งหมด
สังคมทั้งหมดมาจากครอบครัว ถ้าแต่ละครอบครัวดีแล้ว สังคมของเราก็จะดี เมื่อมองในแง่นี้ครอบครัวจึงสำคัญมาก
เราต้องการให้สังคมประเทศชาติของเราเจริญมั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข ก็ทำได้โดยทำครอบครัวแต่ละครอบครัวนี้ให้ดี
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นนักเรื่องหน้าที่ของพ่อบ้าน แม่บ้าน โดยเฉพาะเมื่อเป็นบิดา มารดา เพราะเป็นผู้ที่จะสร้างโลก คือสังคมมนุษย์ทุกระดับ ต้องมี "พรหมวิหาร" คือ ธรรมประจำใจของพระพรหม
พระพรหมในศาสนาพราหมณ์นั้น เขาถือว่าเป็นผู้สร้างโลก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าไม่ต้องไปรอพระพรหม ที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก คนนี่แหละเป็นผู้สร้างโลก แล้วโดยเฉพาะคนที่สำคัญ ก็คือบิดามารดาเป็นผู้สร้างโลก เพราะโลกจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่จุดเริ่มตั้งแต่สร้างครอบครัวให้ดี ถ้าสร้างครอบครัวดีแล้วเราจะได้สังคมที่ดี แล้วโลกนี้จะร่มเย็นเป็นสุข
โลกของมนุษย์ ก็คือสังคมมนุษย์นี่เอง และโลกคือสังคมมนุษย์นั้น ก็เกิดจากการสร้างของมนุษย์เอง
มนุษย์ที่ดี ก็จะสร้างโลกที่ดี สร้างสังคมที่ดี สังคมที่ดีก็มาจากครอบครัวที่ดี เพราะฉะนั้น จึงต้องมองให้ถึงความหมายนี้ด้วย
การเริ่มชีวิตสมรส ก็คือการเริ่มต้นทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์โลกนี้ ซึ่งเป็นการเริ่มความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญ คือการที่จะต้องสร้างครอบครัวที่ดีงาม มีความสุขความมั่นคงขึ้นให้ได้ เหมือนกับมันท้าทายเราอยู่ในบัดนี้แล้วว่า ทั้งสองคนนี้จะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ
เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า การสมรสนี้ไม่ใช่เป็นการมามีชีวิตคู่ครองเท่านั้น แต่หมายถึงการได้มารวมกำลังกันในการทำการสร้างสรรค์ เช่น สร้างสังคม เป็นต้น หรือเราอาจจะมีจุดหมายที่ดีงามอื่นๆ เราก็มารวมกำลังร่วมกันทำ
ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จิตใจของเราจะมองกว้าง มองไกล ไม่ใช่มองกันอยู่แค่ชีวิตของสองคน แล้วก็อาจจะมัวเกี่ยงกันว่า ใครจะได้แค่ไหน ใครจะเสียเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย อย่ามัวคิดเลย
ควรคิดแต่ว่า ทำอย่างไรเราสองคนจะมารวมกำลังกันทำการสร้างสรรค์เพื่อจุดหมายที่ดี เพื่อชีวิต เพื่อสังคม
ในการมองไปข้างหน้าแล้วมารวมกำลังกันสร้างสรรค์อย่างที่ว่านั้น ระหว่างนี้เราก็พัฒนาชีวิตของเราไป เพื่อให้มีความสามารถที่จะทำการสร้างสรรค์นั้น เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นอยู่ได้และดำเนินไปด้วยดี ตามหลักการที่ทางพระบอกเราว่าชีวิตคือการศึกษา
ทำไมชีวิตจึงเป็นการศึกษา เรื่องนี้เห็นได้ง่าย การที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้นี้ เราต้องพบเห็นประสบการณ์ใหม่ ตาเราก็เห็นสิ่งใหม่ หูเราก็ได้ยินสิ่งใหม่ เราเดินไปเจอสิ่งใหม่ ไปในสถานที่ใหม่ พบสถานการณ์ใหม่ ชีวิตของคนเราก็อย่างนี้
เมื่อเราพบเห็นสิ่งใหม่ หรือเจอสถานการณ์ใหม่ เราก็ต้องคิดหาทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นและสถานการณ์นั้นให้ถูกต้อง ให้ได้ผล ไม่ให้ติดขัด ให้ผ่านลุล่วงไปได้ เราจึงต้องเรียนรู้มัน ต้องคิดที่จะปฏิบัติต่อมัน หาทางแก้ไขปัญหา แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตของเราดำเนินไปด้วยดี การทำอย่างนี้เรียกว่าการศึกษาทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เราเป็นอยู่ได้นี้ ต้องศึกษาตลอดเวลา
ตามที่ว่ามานี้ ชีวิตของเรา ที่จะดีจะประเสริฐได้ ก็ด้วยการศึกษาหรือการฝึกนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงมีคติที่พูดกันในสังคมไทยตลอดมาว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ”
แต่คำพูดของเรานี้ เป็นคำที่พูดรวบรัดง่ายๆ เราตัดข้อความอีกตอนหนึ่งที่สำคัญทิ้งไป คือ คำเต็มต้องพูดว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก” ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่
มนุษย์นี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมา ทางพระไม่ได้ยอมให้เลยว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะมนุษย์ที่ไม่ฝึก จะแย่ที่สุด มนุษย์ที่ไม่มีการฝึกนั้น เป็นสัตว์ที่แย่ที่สุด ด้อยกว่าสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อันนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น จึงมีพุทธพจน์ว่า “ทนฺโต เสฏโ มนุสฺเสสุ” แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด หรือผู้ที่ฝึกแล้ว จึงประเสริฐ “ฝึก” ก็คือ ศึกษา พัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น
มนุษย์เรานั้น เป็นสัตว์ที่ว่า ถ้าไม่ฝึก ไม่ศึกษาแล้ว อยู่ไม่รอด ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เราเอาดีได้ด้วยการฝึก ด้วยการศึกษาเรียนรู้
แม้แต่จะนั่ง จะยืน จะเดิน รับประทานอาหารนี่ มนุษย์ต้องเรียนทั้งนั้น ต้องฝึกทั้งนั้น ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ฉะนั้นจึงพูดว่ามนุษย์นี้ฝึกได้ และต้องฝึก
เมื่อเราอยู่ในโลกไป ถ้าเราฝึก เราก็สามารถเป็นสัตว์ที่ประเสริฐจริงๆ เป็นมหาบุรุษก็ได้ เป็นนักประดิษฐ์ค้นคว้า เป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้
เพราะฉะนั้น มนุษย์นี้จะได้แค่ไหน ก็อยู่ที่การฝึกตัวเอง
การมีชีวิตคู่ครอง และมีครอบครัวนี้ เป็นชีวิตที่เรารับผิดชอบตัวเอง จึงเป็นเวลาส่วนสำคัญที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตน
จึงบอกว่า ต้องมองเรื่องของการแต่งงานนี้ ไม่ใช่แค่การมีชีวิตคู่ครอง แต่หมายถึงการมารวมกำลังกันทำการสร้างสรรค์
เราอาจจะตั้งจุดหมายอะไรก็ตามที่ดีงามขึ้น แล้วก็มารวมกำลังกันทำสิ่งนั้น ใจของเราก็จะมองกว้าง และมองไกลออกไป แล้วเราจะไม่มัวถือสาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีใจที่จะมาเพ่งจ้องตั้งแง่กัน
พร้อมกันนั้น เราก็มีคุณธรรม คือความรักที่อยากให้กันและกันเป็นสุข
จากนั้นก็ขยายกว้างออกไป อยากให้คนอื่นเป็นสุข อยากให้เพื่อนมนุษย์ อยากให้คนทั้งโลกเป็นสุข เราทำได้กระทั่งเพื่อโลก เพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด
แล้วก็ใช้ครอบครัวนั้นเป็นโอกาส หรือจะว่าเป็นสนามฝึกก็ได้ ในการที่จะพัฒนาตัวเองให้ชีวิตของเราดีงาม เมื่อชีวิตของเราดีงาม ฝึกตัวเองขึ้นไป เราก็ยิ่งทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำการสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น หลักการเหล่านี้เอื้อต่อกัน
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคุณธรรม ซึ่งรวมแล้วก็มาอยู่ที่หลักฆราวาสธรรม ๔ ประการ ที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้น อันควรจะประพฤติปฏิบัติให้ได้
ขอลงท้ายด้วยการเปรียบเทียบว่า การแต่งงานนี้ เหมือนกับสองคนมาร่วมกันปลูกต้นไม้ขึ้นต้นหนึ่ง ต้นไม้นี้ คือ ต้นไม้มงคลสมรส หรือ ต้นไม้วิวาหมงคล ซึ่งเราปลูกด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เจริญเติบโตงอกงาม
คุณสมบัติของต้นไม้ที่ดี ที่เจริญงอกงามนี้ มี ๔ อย่าง
ข้อที่ ๑ คือ มีรากแก้วที่แข็งแรง ต้นไม้จะดำรงอยู่ได้และเจริญได้ ก็ต้องมีรากที่แข็งแรง
ข้อที่หนึ่งนี้ เปรียบได้กับสัจจะ คือความจริงนั่นเอง เพราะถ้าขาดสัจจะ ขาดความจริง เริ่มจากความจริงใจแล้ว ทุกอย่างก็จะง่อนแง่นไปหมด อะไรๆ ก็โลเล เดินหน้าไปไม่ได้
ข้อที่ ๒ คือ ต้นไม้นี้มีศักยภาพแห่งความเจริญงอกงาม ที่จะเติบโตขึ้นไปจนกระทั่งเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์
ข้อนี้ได้แก่ ทมะ เพราะศักยภาพที่จะเจริญงอกงาม ก็คือความรู้จักหรือความสามารถในการปรับตัว แล้วก็ปรับปรุงพัฒนาตนเอง
ข้อที่ ๓ คือ มีความแข็งแรงทนทานที่จะดำรงทรงตัวอยู่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมซึ่งบางทีไม่เอื้อ เช่น อากาศร้อนหนาว ลมพายุ ตลอดจนวัชพืช พวกสัตว์ที่มากัดมาแทะ หนอนที่มาชอนไช หรือเพลี้ยที่มาจับต้น
ข้อนี้คือ ต้องมี ขันติ ความแข็งแรง ทนทาน ถ้ามีคุณสมบัติข้อนี้ จะสู้ได้หมด ไม่ว่ามรสุมอะไรมา จะเป็นมรสุมสังคม หรือมรสุมชีวิตมา ก็สู้ได้
ข้อที่ ๔ มีน้ำหล่อเลี้ยงบริบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้สดชื่น แข็งแรง เขียวขจี มีใบพรั่งพร้อม มีดอก มีผลดกสะพรั่ง อันเป็นความสมบูรณ์ของต้นไม้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผลดีแก่ต้นไม้เอง คือต้นไม้สมบูรณ์งดงามแล้ว คนอื่นมาเห็นก็พลอยสบายใจด้วย
คนทั้งหลายเดินมาเห็นต้นไม้ต้นนี้ใบเขียวสะพรั่ง ดอกก็สวยงาม ผลก็มี เขาก็ชื่นใจ คนเห็นก็สดชื่น เหมือนครอบครัวที่มีความสุข คนอื่นเห็น ก็พลอยสบายใจ มีความสุขไปด้วย เป็นที่เชิดชูแก่ชุมชนและสังคม
ยิ่งกว่านั้น คนที่ไปมาก็ยังได้อาศัย เมื่อต้นไม้นี้แข็งแรง ใบสะพรั่งดี คนเดินทางมาเหนื่อย ร้อนแดด ก็ได้เข้ามานั่งพักใต้ร่มไม้ แล้วยังมีดอกให้ชื่นชม และมีผลซึ่งถ้าเขาหิวขึ้นมา ก็ได้อาศัย ได้กินผลไม้นั้นอีก ได้เผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่น และแก่สังคม นี่แหละคือลักษณะของต้นไม้ที่เจริญงอกงามสมบูรณ์
ข้อที่สี่นี้ ก็คือ จาคะ ความมีน้ำใจ ความรู้จักเสียสละ การเห็นแก่ความสุขของผู้อื่น เริ่มตั้งแต่คู่ครอง ไปจนถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด
ถ้าต้นไม้มีลักษณะครบตามที่ว่านี้ ก็จะเป็นต้นไม้ที่ดี ที่สมบูรณ์ เป็นอุดมคติ
การแต่งงาน ก็คือการเริ่มปลูกต้นไม้ต้นนี้ ซึ่งเราจะต้องร่วมกันดูแลรักษาและบำรุงให้เจริญงอกงาม ให้มีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ให้ได้
แล้วต่อนั้นไป ต้นไม้นี้ก็จะเป็นส่วนร่วมของสังคมที่ดี ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสุข ตั้งแต่ความสุขในครอบครัว และแผ่ความสุขออกไปให้แก่ผู้อื่นในสังคมได้เป็นอย่างดี
ในโอกาสมงคลวันนี้ ขออวยชัยให้พรแก่คู่บ่าวสาว ขอมอบธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เป็นธรรมมงคล เพื่อให้การประกอบพิธีมงคลนี้ได้มงคลครบทั้งสองประการ ทั้งพิธีมงคล และธรรมมงคล
บัดนี้ คู่สมรสก็จะรู้สึกว่า วันนี้เราได้ทำการมงคลที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
แต่ดังได้กล่าวว่า ธรรมมงคลนี้ มิใช่แค่เฉพาะหน้า แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น ธรรมมงคลจึงไม่จบแค่วันนี้
ส่วนพิธีมงคล แม้จะจบไป ก็อยู่ในความระลึกแห่งความทรงจำ และจะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจว่าเราจะต้องสร้างธรรมมงคลกันสืบต่อไป
ในนามของพระสงฆ์ ขอตั้งจิตประกอบด้วยเมตตาธรรมร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ และท่านผู้ใหญ่ ญาติมิตร ผู้หวังดีปรารถนาดีทุกท่าน อวยชัยให้พรแก่คู่บ่าวสาว
ขอคุณพระรัตนตรัยอภิบาลรักษาให้ทั้งสองเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคี ที่จะดำเนินชีวิต ทำกิจการต่างๆ ให้ก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย
จงมีชีวิตที่อบอุ่น ผาสุก มั่นคง ยั่งยืน พร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ ประการดังได้กล่าวมา และงอกงามก้าวหน้า สามารถเผื่อแผ่ความสุข ความร่มเย็นให้แก่สังคมนี้กว้างขวางออกไป
ขอให้มีความเจริญวัฒนาในสรรพมงคล ยังประโยชน์แก่ชีวิตของตน ของครอบครัว ของสังคม และมวลมนุษย์ให้สำเร็จ และงอกงามมีความสุขเพิ่มพูนภิญโญตลอดกาลทุกเมื่อ