จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จัดระเบียบสังคม
ตามคตินิยมแห่งสังฆะ1

เจริญพร ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้ง ข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ

วันนี้ อาตมภาพในนามของคณะสงฆ์วัดญาณเวศกวัน ขออนุโมทนาที่ท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกรมการศาสนา ได้มาทำบุญถวายสังฆทานที่วัดนี้

สังฆทาน เตือนใจให้นึกถึงคติที่ถือส่วนรวมเป็นใหญ่

การถวายสังฆทานนั้น เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันมา ถือว่าได้บุญมาก และมีความสำคัญทั้งในแง่ของพระพุทธศาสนา และในแง่วัฒนธรรมประเพณี

ในแง่วัฒนธรรมประเพณีนั้น ก็เป็นเรื่องที่สืบต่อกันมาในสังคมของเรา โดยเกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง หมายความว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา

การที่เรานิยมกันว่า การถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้ผลมาก ก็เพราะมีพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้น มีผลมากกว่าถวายแก่บุคคล

ตามหลักธรรม จำแนกทานเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. ทานที่ถวายแก่สงฆ์ ซึ่งในพระไตรปิฎกแท้ๆ เรียกว่า “สังฆคตา ทักขิณา” แปลว่า ของถวายที่ไปในสงฆ์ หรือทานที่ถวายอุทิศสงฆ์ (สงฺฆํ อุทฺทิสฺส ทานํ) แต่เรามาเรียกกันสั้นๆ ภายหลังว่า สังฆทาน

๒. ทานที่ถวายจำเพาะบุคคล เช่นถวายแก่ภิกษุ ก ภิกษุ ข เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน หรือเรียกตามภาษาของพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสเองว่า ปาฏิปุคคลิกา ทักขิณา

พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกไว้ว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้นมีหลายอย่าง ตั้งต้นแต่ทานที่ถวายแก่สงฆ์ครบทั้งสองฝ่าย คือทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี่เรียกว่าสังฆทานที่ครบถ้วนสมบูรณ์

รองลงมา คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เหลือแต่สงฆ์สองฝ่าย มีภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

ต่อจากนั้นก็อาจจะเป็นภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว เป็นต้น จนกระทั่งแม้แต่ทานที่ญาติโยมแจ้งแก่สงฆ์ว่าขอให้จัดพระภิกษุจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนของสงฆ์มารับ ก็เป็นสังฆทาน

ส่วนทานที่ถวายเป็นปาฏิปุคคลิก คือจำเพาะบุคคลนั้น ก็ตั้งแต่ถวายแด่พระพุทธเจ้า ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายแก่พระอรหันตสาวก ตลอดจนทานที่ให้แก่คนทั่วไป แม้แต่ให้แก่คนที่ไม่มีศีล จนกระทั่งให้แก่สัตว์เดรัจฉาน ก็เรียกว่าเป็นทานที่ให้จำเพาะบุคคล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีทานจำเพาะบุคคลอันใดที่จะมีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์ ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญทานที่ถวายแก่สงฆ์ คือส่วนรวม

คำว่า “สงฆ์” นั้นแปลว่า หมู่ หรือชุมชน หมู่หรือชุมชนที่จะเป็นสงฆ์ ก็คือหมู่หรือชุมชนที่มีการจัดตั้งวางระบบระเบียบเป็นอย่างดี มีอุดมคติ มีจุดมุ่งหมาย ว่าจะอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ เพื่อประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม อย่างพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็คือชุมชนที่อยู่ร่วมกันเพื่อเจริญไตรสิกขา เพื่อจะได้ฝึกฝนตนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงเคารพธรรม และเมื่อสงฆ์(ที่พระองค์ตั้งขึ้น) เจริญใหญ่ขึ้น ก็ทรงเคารพสงฆ์ด้วย (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑/๒๕) คือ ทรงให้ความสำคัญแก่ส่วนรวม ถือส่วนรวมเป็นใหญ่ มุ่งที่ประโยชน์ส่วนรวม

ชาวพุทธนับถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่นำเราให้เข้าถึงธรรม ชาวพุทธถือธรรมเป็นใหญ่เป็นมาตรฐานสูงสุด ชาวพุทธเคารพสงฆ์มุ่งทำนุบำรุงสงฆ์ส่วนรวมที่ดำรงรักษาหลักการและวิถีชีวิตแห่งธรรมวินัยสืบมา

พระพุทธศาสนานี้มิใช่ดำรงอยู่ได้ด้วยบุคคล แต่ต้องอาศัยสงฆ์ คือส่วนรวมทั้งหมด ชาวพุทธเราถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จึงนิยมถวายสังฆทานกันสืบมา

รื้อฟื้นความหมายที่แท้ของสังฆะขึ้นมา
ก็กอบกู้พระพุทธศาสนาให้กลับรุ่งเรืองมั่นคงได้

แต่น่าเสียดายว่า เวลาผ่านมานานๆ ความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไป ก็ชักแคบและคลาดเคลื่อน หรือเพี้ยนไป เวลานี้

๑. พูดถึงพระสงฆ์ ก็มักเข้าใจแค่ว่าเป็นพระภิกษุแต่ละรูปๆ แยกไม่ออกระหว่างพระภิกษุกับพระสงฆ์

๒. ถวายสังฆทาน ก็มองอยู่แค่ตัวพิธี ไม่เห็นความหมาย ซึ่งมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนรวมเพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่

พระภิกษุแต่ละรูปแต่ละองค์ แม้แต่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นบุคคลเท่านั้น จะมีความหมายเป็นสงฆ์ได้ต่อเมื่อสงฆ์จัดท่านมาเป็นตัวแทน หรือเรามองท่านในฐานะเป็นตัวแทนที่สื่อโยงความคิดจิตใจของเราไปสู่สงฆ์ส่วนรวม

ผู้ถวายสังฆทานจะต้องมีเจตนาที่ตั้งใจว่า สิ่งของซึ่งเราถวายแก่พระภิกษุที่มานั่งประชุมอยู่นี้ เป็นการถวายในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยกันดำรงพระศาสนาไว้ และช่วยกันนำหลักธรรมคำสั่งสอนมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ถ้าทำใจอย่างนี้ จิตใจก็จะกว้างขวาง และทำให้เกิดความอิ่มใจ มีปีติ และความสุขว่า การที่ได้ถวายทานนี้ เป็นการถวายเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งหมด เราได้มีส่วนร่วมช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ และพระพุทธศาสนานี้เมื่อดำรงอยู่ ก็จะได้ช่วยให้ธรรมคงอยู่ในสังคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก

ทั้งนี้ เป็นไปตามคติของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระศาสนานี้ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน ก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

สรุปว่า คนไทยจะต้องรื้อฟื้นความคิดความเข้าใจและจิตสำนึกเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่สำคัญ ๒ อย่าง และเรื่องสังฆทานอีก ๑ รวมเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ต้องเข้าใจคำ “พระสงฆ์” ว่าหมายถึงสงฆ์ส่วนรวม ที่รักษาสืบทอดธรรม และดำรงวิถีชีวิตแห่งวินัย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงจัดวางไว้ จนมาถึงพวกเรา

๒. ต้องระลึกอยู่เสมอถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ให้เคารพสงฆ์ เห็นแก่ความดีงามและประโยชน์สุขของส่วนรวม ซึ่งเป็นที่อาศัยและเกื้อหนุนให้เราแต่ละบุคคลสามารถพัฒนาชีวิตของตนให้ดีงามมีความสุขยิ่งขึ้นไป

๓. ต้องถวายสังฆทานโดยมองเห็นความหมายว่า เป็นการที่เราได้ร่วมทำนุบำรุงสงฆ์นั้นให้ดำรงอยู่ด้วยดี เพื่ออำนวยธรรมและประโยชน์สุขแก่บุคคลทั้งหลายสืบต่อไปอย่างยั่งยืนนาน

นี้คือหลักการในเรื่องสังฆทาน เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ผู้ที่ถวายสังฆทานก็จะมีความเข้าใจ และความตั้งใจที่ถูกต้อง คือทั้งทำด้วยปัญญา และทำด้วยจิตใจที่มีความโปร่งโล่งกว้างขวางเอิบอิ่มเบิกบานผ่องใสอย่างแท้จริง คือได้ทั้งจิตใจดีงาม และได้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลสมบูรณ์

ทำไปแล้วก็รู้ว่า ผลนี้จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เราได้มีส่วนร่วมเกื้อหนุนให้สงฆ์ดำรงธรรมไว้ด้วยดีเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

เมื่อพูดถึงหรือนึกถึง สงฆ์ก็ดี สังฆทานก็ดี ก็ขอให้ชาวพุทธระลึกถึงหลักการเคารพโดยเห็นความสำคัญของส่วนรวม ถือความดีงามและประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่อย่างอิงอาศัยกันกับความดีงามและประโยชน์สุขของแต่ละบุคคล ดังกล่าวมานี้

สังคมจะอยู่ดีและก้าวไปได้ ต้องมีคำที่จะสื่อ
ให้รวมใจ และมุ่งสู่จุดหมาย

สังฆทานที่เราปฏิบัติโดยนิยมอย่างนี้ ก็เป็นไปตามคติการทำบุญนั่นเอง คือสังฆทานเป็นการถวายแก่สงฆ์ส่วนรวม จึงเป็นบุญมาก

คำว่า “บุญ” นั้น แปลกันง่ายๆ ว่า ความดี แต่หมายถึงความดีที่ทำแล้ว ช่วยให้ชีวิตของเราเจริญเพิ่มพูนขึ้นด้วยคุณสมบัติต่างๆ คือทำให้คุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลายเจริญเพิ่มพูนขึ้นในตัวเรา

คำว่าบุญนี้เป็นศัพท์ที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา แล้วก็กลายมาเป็นคำสำคัญในสังคมไทยของเรา

ในวัฒนธรรมประเพณีไทยนั้น คำว่า บุญนี้ กล่าวได้ว่าเป็นคำศูนย์กลางของชีวิตชาวพุทธ อาจจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นคำที่ใหญ่ที่สุด

คำว่า “บุญ” นี้พอพูดขึ้นมา ก็จะสื่อถึงจิตใจได้ลึกซึ้งกว้างขวาง และมีความหมายครอบคลุมไปหมด ทั้งในแง่บุคคล และในแง่สังคม

ในแง่บุคคล คือในแง่ส่วนตัวของแต่ละคน คำว่าบุญเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้จิตใจของเราอยู่กับความดีงาม และทำให้มีจุดมุ่งหมายว่า เราจะทำสิ่งที่ดีงาม และทำชีวิตของเราให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

ในแง่สังคม เมื่อพูดคำว่า บุญ ขึ้นมา ชาวพุทธจะมีใจร่วมและรวมกัน พร้อมที่จะมาทำกิจกรรมร่วมกัน งานของส่วนรวมอะไรที่เป็นเรื่องดีงาม เราเรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศล คนไทยก็จะขมีขมันมาทำด้วยความชื่นบานสามัคคี

เรื่องนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องเก่าๆ ไว้ เช่น คนในหมู่บ้านนึกถึงการที่จะมาสร้างบ่อน้ำ มาทำถนนหนทาง แม้แต่มาจัดมาปัดกวาดสถานที่ให้เรียบร้อยสะอาด งดงาม จัดแต่งสวน เป็นต้น ให้ชุมชนนั้นอยู่ด้วยความเรียบร้อยสงบสุข เขาก็เรียกว่ามาทำบุญกัน

พอพูดว่า “ทำบุญ” จิตใจคนจะมีเป้าหมาย และเกิดพลังที่จะมาทำร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคี ฉะนั้น คำว่าบุญจึงเป็นคำที่สำคัญมาก เรียกว่าเป็นคำสื่อใจที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทย ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงองค์เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็จะมีคำว่าบุญนี้ เป็นคำสื่อร่วมกัน พูดขึ้นมาแล้วก็รู้กัน เข้าถึงจิตใจอย่างลึกซึ้ง เป็นจุดรวมใจ

เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้สังคมของเรา เหมือนกับว่าไม่มีคำอะไรที่เป็นสื่อใจ ให้ร่วมและรวมเป็นอันเดียวกัน อันแสดงถึงจุดหมายหรืออุดมคติของสังคม

คำว่าบุญเอง เดี๋ยวนี้ความหมายก็เลือนลางจางคลายหรือหดแคบลงไป เวลาพูดออกมา ก็ไม่สื่อความหมายที่เข้มแข็งและซึ้งใจเหมือนในสมัยก่อน

ถ้าจะให้สังคมของเราเจริญเฟื่องฟูขึ้น ก็น่าจะต้องฟื้นฟูคำว่าบุญขึ้นมา พร้อมทั้งความหมายที่ถูกต้อง

มิฉะนั้น ก็จะต้องหาคำอะไรใหม่คำใดคำหนึ่ง ที่จะให้สังคมนี้มีคำสื่อความหมายที่ลึกซึ้ง ที่ให้รู้สึกว่าจิตใจมีสิ่งยึดเหนี่ยว ที่จะทำความดี ทำให้สังคมนี้ มีจุดรวมและจุดหมายที่จะประสานพลัง ให้เกิดความสามัคคี และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อมุ่งหน้าไป

ถ้าไม่มีคำสื่อที่ว่านี้ คนไทยก็จะอยู่กันอย่างเคว้งคว้างเลื่อนลอย ทำอะไรๆ เอาแค่ตัวเองจะได้จะสบาย และกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง สังคมไทยจะเจริญงอกงามฟื้นตัวได้ยาก

แต่อันที่จริง พื้นฐานของเราก็มีอยู่แล้ว คือคำว่าบุญนี้เอง ซึ่งถ้าฟื้นฟูขึ้นมาได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก และคำว่าบุญนั้น มีความหมายที่โยงทั้งวัตถุและนามธรรม โยงทั้งบุคคลและสังคม

ในแง่สังคม ก็อย่างที่กล่าวมาแล้ว บุญเป็นความดีที่เกื้อหนุนทั้งชีวิตและสังคม นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า เวลาทำความดี ถ้าทำด้วยตน ก็ได้ประโยชน์ ได้บุญส่วนหนึ่ง ยิ่งชวนกันมาทำก็ยิ่งได้บุญมากขึ้น เราทำความดีแล้วชวนคนอื่นให้ทำด้วยนี่ ได้ผลเป็นอย่างมาก มีอานิสงส์กว้างขวางออกไป

ในแง่ที่เกี่ยวกับวัตถุและนามธรรม บุญนั้น ก็ตรัสจำแนกไว้ว่ามี ทาน ศีล และภาวนา

เหนือการป้องกัน และแก้ปัญหา
วิธีเยี่ยมยอดดีกว่า คือสยบปัญหาด้วยงานสร้างสรรค์

ดังที่กล่าวแล้วว่า หลักเรื่องบุญนี้ โยงกับหลักเรื่องสงฆ์หรือสังฆะ คือเรื่องของส่วนรวม หรือชุมชน คือหมู่ชนที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างมีระบบระเบียบ มีจุดมุ่งหมายเพื่อความดีงาม บุญจะดำเนินไปได้ด้วยดีและเจริญเฟื่องฟูในสังคมที่จัดตั้งวางไว้อย่างดีนี้

สังคมที่ดีมีหลักสำคัญพื้นฐาน คือความเป็นสงฆ์นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยวินัย ถ้าไม่มีวินัยก็ไม่มีสังฆะ เพราะจะต้องมีการจัดตั้งวางระบบระเบียบ

วินัย คือการจัดระเบียบชุมชนหรือสังคมนั้น มีความหมายพื้นฐาน ๒ ด้าน

๑. ด้านลบ (ปิดช่อง) คือการจัดตั้งระบบระเบียบกติกาสังคม และมาตรการต่างๆ ที่เป็นเครื่องปิดกั้นมิให้มีช่องโหว่ ที่จะทำให้กิเลสและความชั่วร้ายกำเริบลุกลาม หมายความว่า อะไรที่จะเป็นช่องเปิดทางเปิดโอกาสให้ความชั่วขยายตัวแพร่กระจายมากขึ้น ก็ปิดกั้นเสีย เช่นพวกอบายมุข และอาชญากรรมต่างๆ

๒. ด้านบวก (เปิดโอกาส) คือการจัดสรร เอื้ออำนวยโอกาสให้คนทำความดี พัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม ส่งเสริมการสร้างสรรค์ต่างๆ

วินัยด้านลบ นอกจากต้องปิดกั้นโอกาสที่จะเป็นช่องทางลุกลามของความชั่วร้ายเบียดเบียนกัน และความลุ่มหลงมัวเมาต่างๆ ไม่ให้มีอาชญากรรม ที่ละเมิดศีล ๕ และให้สังคมพ้นจากอบายมุขแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ทางธรรมเน้นด้วย คือ การรักษาความเป็นธรรม ไม่ให้มีอคติ คือการเสียความเป็นธรรมโดยมีความลำเอียงต่างๆ ทั้งลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะหลงไม่รู้เรื่อง และลำเอียงเพราะกลัว

การรักษาความเป็นธรรม โดยมีความเสมอหน้าเสมอภาคนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเสียความเป็นธรรม สังคมก็จะรักษาระเบียบไว้ไม่ได้ เอกภาพและความมั่นคงก็จะต้องกลายเป็นความร้าวฉานและสั่นคลอน

วินัยด้านบวกก็เป็นเรื่องสำคัญมาก การจัดโอกาสสนับสนุนส่งเสริมให้คนทำความดีกันนี้จะต้องเน้นมาก เมื่อมีเรื่องดีๆ ที่คนมีใจรักอยากทำ และเราส่งเสริมให้โอกาสคนสร้างสรรค์ทำความดีนั้น เขาจะลืมทำความชั่วไปเอง

การแก้ปัญหามากมายนั้น แก้โดยไม่ต้องแก้ คือแก้โดยให้มีสิ่งดีที่จะทำ เมื่อมีสิ่งที่อยากทำขึ้นมา คนก็มายุ่งอยู่กับการทำการสร้างสรรค์ความดี สิ่งที่เลวร้ายอะไรก็ถูกลืมละเลิกและหมดไปเอง

อย่างเรื่องเด็กตีกันอะไรต่างๆ นี้ บางทีเป็นเพราะเขาว่าง ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีดีที่จะทำ เลยเอาเวลานั้นไปใช้ในทางชั่วร้ายเสียหาย มองกันไปมองกันมา ก็ขัดหูขัดตากัน เลยชกต่อยตีกัน แต่ถ้ามีอะไรที่จะต้องร่วมกันทำขึ้นมาแล้ว เขาก็จะเอาพลังมาทำงาน แล้วก็เกิดความรักความสามัคคี ความชั่วก็หายไปเอง

เหมือนเปลี่ยนคู่ต่อสู้จากคนด้วยกัน ให้เขามาสู้กับงาน หรือสู้กับปัญหาร่วมกัน

ฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่า ในการแก้ปัญหานั้น ต้องเน้นการแก้ปัญหาแบบไม่ต้องแก้ คือการแก้ปัญหาโดยให้มีสิ่งดีงามหรืองานสร้างสรรค์ที่จะต้องทำ แม้ว่าอาจจะยากสักหน่อยที่จะหาอะไรมาให้เขาทำที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์

แม้แต่สังคมส่วนรวมก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีอะไรซึ่งเป็นเรื่องดีงามสร้างสรรค์ที่จะทำขึ้นมาแล้ว คนก็จะห่างเหินจากความชั่วไปเอง

แต่ถ้ามัวปล่อยให้คนว่าง ไม่มีอะไรจะทำ เดี๋ยวก็ถูกล่อเร้าชักจูงไปในทางเสียหาย ความชั่วก็จะลุกลามระบาดไป

ฉะนั้น วินัยจึงมีทั้งด้านลบและด้านบวก ด้านลบก็ไว้ป้องกันคนที่มีนิสัยไม่ดี ไม่มีการฝึกอบรมเลย ซึ่งเป็นการจำเป็นที่จะต้องปิดช่องทำกรอบกัน ไม่ให้มีโอกาสทำการร้าย ปิดกั้นไว้ ไม่ให้มีช่องโหว่ให้เกิดการทำความชั่ว แต่จะต้องมาเน้นเรื่องการจัดสรรโอกาสที่จะทำความดี ทำให้วินัยนี้มีความหมายที่แท้จริง

จัดระเบียบสังคมได้ผลดี
เมื่อมีการจัดสรรเศรษฐกิจไปด้วย

“วินัย” นั้น แปลว่าการนำไปให้วิเศษ หมายความว่า คนเรานี้ตามปกติก็เป็นปุถุชนยังมีกิเลสหนา เราจึงมีวิธีการจัด เช่น การฝึก การศึกษา เพื่อทำให้คนดีขึ้น นำเขาไปสู่คุณสมบัติ หรือภาวะที่วิเศษขึ้นไป นี่คือวินัย

ฉะนั้น วินัยจึงมีความหมายเป็นการฝึก โดยเฉพาะเป็นเรื่องของสงฆ์ เป็นเรื่องของชีวิตส่วนรวมหรือสังคมทั้งหมด

เมื่อวินัยได้ผล คนก็มีศีล หมายความว่า ศีลคือการที่คนตั้งอยู่ในวินัย เริ่มด้วยมีศีล ๕ ซึ่งทำให้สังคมมั่นคงปลอดภัย อาชญากรรมแทบไม่มีเหลือ คนสามารถดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกคล่องตัว ไม่ติดขัดหวาดกลัว

วินัยที่จะกำกับให้สังคมมีระเบียบและสงบเรียบร้อยมั่นคงอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก ก็คือ ระบบการปฏิบัติหน้าที่ต่อกันของคนที่อยู่ในสถานะต่างๆ ให้ถูกต้องตามสถานะแห่งความสัมพันธ์ต่อกัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลักทิศ ๖ คือ การปฏิบัติต่อกันระหว่าง บิดามารดา-บุตรธิดา ครูอาจารย์-ศิษย์ สามี-ภรรยา เพื่อน-เพื่อน คนงาน-นายงาน พระสงฆ์-ชาวบ้าน

ถ้าประชาชนปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้อง แม้แต่เพียงแค่ในครอบครัว ที่ทำให้บ้านมีความสุข สังคมก็แทบจะหมดปัญหา จะมีแต่ความผาสุกสามัคคี และความมั่นคงที่ท่านเรียกว่าความสวัสดี

แต่สังคมที่สงบเรียบร้อยนั้นจะดำรงอยู่ด้วยดีได้ ก็ต้องทำทานควบคู่ไปด้วย พร้อมกับการใช้วินัยเพื่อทำให้คนมีศีล

ทานก็คือการแบ่งปัน จัดสรรอำนวยวัตถุปัจจัยทรัพย์สินเงินทองเครื่องยังชีพ เพื่อให้มีเศรษฐกิจพอเพียง

ทานจะช่วยเสริมวินัยด้านลบ ช่วยให้คนที่ด้อยกำลัง ด้อยโอกาส ไม่ต้องละเมิดศีล ๕ หรือละเมิดวินัย เพราะถูกบีบคั้นด้วยความขาดแคลนยากไร้หรือความจำเป็นของชีวิต ในขณะที่วินัยด้านบวกช่วยให้คนที่แม้จะมั่งมี ก็ไม่ก่อความชั่วร้ายเพราะความมัวเมา และเอาทานมาส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการให้ทุนส่งเสริมสนับสนุนคนทำความดี

ทานเป็นการทำบุญข้อที่หนึ่ง ทานนี้มาพยุงศีลไว้ เพราะมนุษย์จะอยู่ดีสงบไม่ได้ถ้าขาดปัจจัยสี่เป็นจุดเริ่มต้น ฉะนั้นจึงต้องมีอาหารเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แต่มนุษย์ในสังคมนี้ มีกำลัง มีความสามารถ มีโอกาส ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน

ถ้าแต่ละคนต่างก็คิดจะเอา จะได้อย่างเดียว คนที่ไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถ ด้อยโอกาส ก็จะอยู่ได้ด้วยความยากแค้นลำบาก ทำให้มีการแย่งชิงเบียดเบียนกันมาก สังคมก็ไม่มีความสงบสุข

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นด้วยข้อปฏิบัติเบื้องแรกคือให้มีการให้ ว่าท่านทั้งหลายอย่าคิดแต่จะเอาจะได้อย่างเดียวนะ ต้องมีการให้คู่ไปด้วย จะได้มีชีวิตและสังคมที่มีความสมดุล

เมื่อมีการให้ก็จะได้ไปปิดช่องอีกในแง่ที่ว่า ความชั่วร้ายจำนวนมากเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีทาง เช่นทำมาหากิน เกิดความยากไร้ ทำให้เสียภูมิต้านทานในการที่จะดำรงตนในความดี หรือในภาวะปกติคือศีล ก็เลยต้องไปละเมิดก่อการเบียดเบียนกัน เช่น มีการลักขโมยเป็นต้น

ฉะนั้น ท่านจึงให้มีทานมาช่วยค้ำจุนสังคมไว้ เป็นการปิดช่องที่จะทำให้เกิดความชั่วร้าย การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ทานนี้ก็ต้องเป็นทานที่เกิดจากการพินิจพิจารณา รู้จักพิจารณาแล้วจึงให้ ที่เรียกว่าวิไจยทาน

มิฉะนั้น ก็อาจจะกลายเป็นทานที่ไปส่งเสริมให้คนเกียจคร้านเป็นต้น หรือให้แก่คนทำการร้าย ซึ่งช่วยให้เขามีกำลัง แล้วยิ่งทำการร้ายได้มากขึ้น เมื่อมีวิไจยทาน ก็เป็นทานที่ให้ด้วยพิจารณา จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา

ทานนี้เป็นข้อแรก ในหลักการยึดเหนี่ยวประสานสังคม ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ หมายความว่า นอกจากทาน คือการให้การแบ่งปันแล้ว ก็ต้องมีการช่วยเหลือกันด้วยวาจา ที่เรียกว่า ปิยวาจา การช่วยเหลือกันด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ ที่เรียกว่า อัตถจริยา และการมีความเสมอภาค เอาตัวเข้าสมาน ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน ที่เรียกว่า สมานัตตตา ด้วย จึงจะเป็นหลักประกันให้สังคมมั่นคงมีเอกภาพและสงบสุขอย่างแท้จริง

สำหรับคนที่อยากได้ ต้องเอาระบบเงื่อนไขมาผลักดัน
สำหรับคนที่อยากทำ ต้องหนุนให้เขานำศักยภาพออกมาใช้

ทานนี้ สำหรับงานระดับบริหารบ้านเมือง หรือจัดการสังคม มีคำเฉพาะคำหนึ่ง เรียกว่า “ธนานุประทาน” ซึ่งเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้ปกครองแผ่นดิน เรียกว่าเป็นจักรวรรดิวัตร

ธนานุประทาน ก็คือการจัดสรรแบ่งปันอำนวยทรัพย์สินรายได้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงคนยากไร้ขาดแคลน ให้ประชาชนทั่วทุกคนมีทางได้ทรัพย์สินเงินทองและเป็นอยู่ได้ หรือจัดการมิให้มีคนจนยากไร้ทรัพย์ไม่มีเงินทองหมดทางทำมาหากิน

การจัดสรรแบ่งปันที่สำคัญ ก็คือ การให้มีอาชีพการงาน ที่เป็นสัมมาอาชีวะ

ในเรื่องนี้ ก็ต้องรู้ว่า คนเรานี้ แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะความอยากหรือความต้องการได้ ๒ พวก ทั้งนี้ต้องรู้จักความอยาก หรือความต้องการ ๒ ประเภทก่อน คือ

๑. ความอยากหรือความต้องการเสพบริโภคบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวเองให้มีความสุข เรียกว่า ตัณหา เมื่ออยากเสพบริโภคบำเรอความสุขของตัว ก็ตามมาด้วยความโลภ คืออยากได้เพื่อตัว หรือเห็นแก่ได้

๒. ความอยากหรือความต้องการรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ อยากให้สิ่งนั้นๆ อยู่ในภาวะที่ดีงาม น่าชื่นชมสมบูรณ์ของมัน อยากทำทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องให้อยู่ในภาวะที่ดีที่สมบูรณ์ที่ควรจะเป็นของมัน พูดสั้นๆ ว่า อยากเห็นมันดี และอยากทำให้มันดี เรียกว่าฉันทะ เป็นความต้องการเพื่อสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่ความอยากเพื่อตัว ซึ่งถ้าไปเกี่ยวข้องกับคนหรือสัตว์ทั้งหลาย ก็กลายเป็นเมตตากรุณา คืออยากให้เขาดีงามมีความสุข พ้นทุกข์พ้นภัย

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนเข้าป่าไปเจอกระรอก คนที่มองกระรอกด้วยตัณหาและโลภะ ก็คิดว่าทำอย่างไรจะได้กระรอกตัวนั้นไปลงหม้อแกงทำกับข้าวกินให้อร่อย แต่คนที่มองกระรอกด้วยฉันทะและเมตตากรุณา ก็สบายตาสุขใจที่ได้เห็นสัตว์น้อยงดงามน่ารัก อยากให้มันมีร่างกายสมบูรณ์แคล่วคล่องน่าชื่นชมทำป่าล้อมรอบให้รื่นรมย์ต่อไป

คนทั่วไป ย่อมมีความอยากทั้งสองอย่างนี้ แต่มีอย่างหนึ่งมากอย่างหนึ่งน้อย ไม่เท่ากัน จึงแบ่งคนได้ตามน้ำหนักว่ามีอย่างไหนมาก ได้มนุษย์ ๒ พวก คือ

พวกที่ ๑ มนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปส่วนใหญ่ ยังหนาแน่นด้วยตัณหา และโลภะ ลักษณะทั่วไปของคนเหล่านี้ คือ อยากได้ อยากเอา แต่ไม่อยากทำ ซึ่งมีทางที่จะก่อให้เกิดผลร้ายเสียหายมากมาย ตั้งแต่เกียจคร้าน ไปจนถึงข่มเหงเบียดเบียนแย่งชิงกัน

พวกที่ ๒ มนุษย์ที่มีการศึกษา(ที่แท้จริง) จะหนักไปทางฉันทะ ลักษณะทั่วไปของคนประเภทนี้ คือ อยากค้นคว้าหาความรู้ อยากทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ให้ดี และหาทางแก้ไขปรับปรุงทำสิ่งต่างๆ ให้ดีงามสมบูรณ์

มนุษย์พวกที่ ๒ นี้ มีจำนวนน้อย แต่คนพวกนี้แหละที่เป็นผู้สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามของอารยธรรม ความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมทางจิตใจและทางปัญญา

เมื่อจะจัดการสังคม ก็ต้องบริหารคน ๒ พวกนี้ให้ถูกทาง ซึ่งนอกจากจะให้เขามีรายได้เลี้ยงชีวิตตัวเองแล้ว ก็ให้การงานของเขานำความดีงามความสุขความเจริญมาให้แก่ชีวิตร่วมกันของสังคมด้วย

คนพวกที่ ๑ อยากได้ แต่ไม่อยากทำ ก็อยากได้โดยไม่ต้องทำ ถ้าเป็นไปได้ หรือถ้าโอกาสเปิดให้ ก็จะหาทางได้โดยไม่ต้องทำ หรือทำให้น้อยที่สุด และให้ได้มากที่สุด จึงแสดงออกโดยอาการต่างๆ ตั้งแต่รอเขาให้ คอยขอเอา หวังลาภลอย (เช่นการพนัน) คอยผลดลบันดาล (เช่น เซ่นสรวงอ้อนวอน ลุ่มหลงเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) ลักขโมย ทุจริต โกงเขา ตลอดจนถ้ามีกำลังก็แย่งชิงข่มเหงกอบโกย

สำหรับคนพวกที่ ๑ ซึ่งหนักด้านตัณหาและโลภะนั้น ผู้บริหารสังคมต้องจัดสรรการงานอาชีพ โดยจัดตั้งระบบเงื่อนไข ที่บังคับให้ “ต้องทำ จึงจะได้” หรือ “จะได้ต่อเมื่อทำ” โดยมีกฎหมายหรือกติกาสังคมที่ศักดิ์สิทธิ์รัดกุม เพื่อให้มั่นใจแน่นอนว่า ต้องทำจึงจะได้ และให้ทุกคนมีอาชีพการงานภายใต้ระบบเงื่อนไขนี้ทั่วกัน

อีกขั้นหนึ่ง ภายใต้ระบบเงื่อนไขนั้น ผู้บริหารสังคมจะกำหนดเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรทำให้มาก ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความดีงามและประโยชน์สุขร่วมกัน แล้วกำกับว่า “ยิ่งทำมาก ยิ่งได้มาก” เพื่อผันความโลภมาสู่ผลดีแก่ส่วนรวม พร้อมทั้งวางเงื่อนไขที่จะแบ่งปันลาภที่เขาได้มากจากการโลภมากนั้นออกมา เพื่อเอามาใช้ทำประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม กระจายออกไป

พร้อมกันนี้ ก็จัดให้มีระบบการศึกษาอบรมพัฒนาคนเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อให้ละลดตัณหาและโลภะลงไป โดยทำให้ฉันทะและเมตตากรุณา (ตลอดจนมุทิตา) พัฒนาขึ้นมาแทน

สำหรับคนพวกที่ ๒ ที่หนักในความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือมีฉันทะนั้น ผู้บริหารสังคมมีหน้าที่ต้องสืบค้นเฟ้นหา และเอาใจใส่จัดการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เขาทำการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ต้องห่วงกังวลอะไร เพราะนี่คือสาระของการมีอารยธรรม

ปัจจัยแวดล้อมคือสังคมดี ปัจจัยหนุนคือเศรษฐกิจดี
ต้องมีจุดหมายทางจิตใจและปัญญามาต่อ

เมื่อมีทาน ก็ช่วยให้สังคมอยู่กันได้ด้วยดี แต่เมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมคือด้านเศรษฐกิจดี ก็ต้องจัดสรรสังคมอีกระดับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของศีลอีก คือนอกจากการที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนข่มเหงกัน และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันแล้ว ก็ให้มีช่องทางที่จะใช้ทรัพยากรและโอกาสในการสร้างสรรค์และพัฒนาชีวิตยิ่งขึ้นไป คือ ถึงจะมีด้านเศรษฐกิจและสังคมดีแล้ว ก็ยังไม่พอ

ทั้งนี้ เพราะว่า ถ้ามนุษย์มีเศรษฐกิจดี มีวัตถุพรั่งพร้อม ก็อาจจะเกิดความหลงระเริงมัวเมา เช่น สังคมที่เอาวัตถุเป็นจุดหมาย หรือเอาความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย พอมีวัตถุเสพบริโภคมาก ก็เลยเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา สังคมก็เสื่อมอีก

ฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึง ให้มองความพรั่งพร้อมทางวัตถุหรือเรื่องเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย ไม่ให้ถือเป็นจุดหมาย ดังจะเห็นว่าคำเรียกวัตถุเสพบริโภค ตลอดจนทรัพย์สินเงินทอง ในพระพุทธศาสนาเราใช้คำว่า “ปัจจัย”

คำว่า “ปัจจัย” นี้ จะต้องเป็นเครื่องเตือนใจพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอว่า วัตถุหรือด้านเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัยนะ เป็นเครื่องเกื้อหนุนนะ ไม่ใช่เป็นจุดหมาย คือเราต้องอาศัยมัน ไม่มีไม่ได้ ไม่มีแล้วสังคมก็เดือดร้อน และก้าวไปสู่คุณความดีเบื้องสูงไม่ได้ แต่เราไม่จบแค่นั้น เราอาศัยวัตถุพรั่งพร้อมหรือเศรษฐกิจดีเป็นปัจจัยแล้ว มันก็มาเป็นฐานหนุนให้เราก้าวไปสู่คุณความดีที่สูงขึ้นไป

ถึงตอนนี้ก็ก้าวไปสู่เรื่องของจิตใจและปัญญา อย่างน้อยก็ต้องมีการศึกษาที่ฝึกให้คนมีจิตสำนึกต่อสังคม มีจิตใจและความเข้าใจที่คำนึงถึง หรือเห็นแก่ความดีงามและประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม หรือการมีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งต้องทำคู่เคียงกันไปกับการจัดสรรเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบสังคม

ด้านจิตใจและปัญญาเป็นเรื่องของการพัฒนาชีวิตในขั้นสูง เรียกว่า “ภาวนา” แยกเป็น จิตตภาวนา คือพัฒนาจิตใจ และปัญญาภาวนา คือพัฒนาปัญญา

เริ่มด้วยเรื่องศิลปวัฒนธรรม การค้นคว้าแสวงหาความรู้ ส่งเสริมวิทยาการต่างๆ กิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญา กิจกรรมในการบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมส่งเสริมความรักความสามัคคีระหว่างกลุ่มระหว่างถิ่น ส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพและความสุขทางสังคม รวมทั้งการเดินทางเยี่ยมเยือน แสดงน้ำใจต่อกัน การส่งเสริมความรักและการมีความสุขกับธรรมชาติแวดล้อม ตลอดไปจนถึงเรื่องสมถะ และวิปัสสนา ซึ่งจะต้องก้าวต่อไป โดยอาศัยฐานทางเศรษฐกิจ และการจัดสังคมให้เรียบร้อย

เมื่อเศรษฐกิจดีสังคมดีแล้ว ก็มีความพร้อม เรียกว่ามีปัจจัยเกื้อหนุน มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย คราวนี้ก็มามุ่งมั่น ที่จะก้าวไปในด้านจิตใจและปัญญา สังคมนั้นก็จะอยู่ดี ซึ่งก็จะกลับมาคุมและนำทางให้เรื่องของเศรษฐกิจและสังคมนี้ ไม่ติดจม และไม่หันเหไปในทางเสียหาย

สังคมใดที่ไม่มีครบตามนี้ แม้จะมีเศรษฐกิจดี และสังคมเรียบร้อย ไม่ช้าก็เสื่อม เพราะคนจะลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุเป็นต้น สังคมอย่างนี้เรียกว่ามีความเห็นผิด มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะไปมองเอาวัตถุ หรือความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัว

สังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมบริโภคนิยมนี้ ก็บอกอยู่ในตัวว่าจะเอาวัตถุเสพบริโภคเป็นจุดหมาย ซึ่งเป็นลางเป็นนิมิตบอกว่าจะเสื่อม เพราะถ้าคนมัวเมาลุ่มหลงในการเสพบริโภควัตถุ ก็จะเกิดโทษ เกิดความเสื่อมทราม จมลงไป

ถ้าปุญญัง มีปัญญามาคุมและนำหน้า
บุญก็มาครบทั้งทาน ศีล และภาวนา

จะเห็นว่า หลักธรรมเรื่อง บุญ นี้จะทำให้ได้ครบหมด คือเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เราช่วยกันจัดชีวิตสังคมให้ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น ได้ทั้งส่วนตน และส่วนรวม ได้ทั้งด้านวัตถุ และทางจิตใจ หรืออีกนัยหนึ่ง ทั้งทางวัตถุ สังคม จิตใจ และปัญญา

ข้อสุดท้ายคือเรื่องปัญญา ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด สังคมใดมีจุดหมายทางปัญญา ก็จะก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ จนกระทั่งทำชีวิตนี้ให้หลุดพ้นจากปัญหา หลุดพ้นจากความทุกข์ การแก้ปัญหาทั้งหมดก็แก้ได้ด้วยปัญญานี้เอง

เครื่องหมายนำหน้าที่สื่อไปถึงปัญญา ก็คือ การรู้จักคิด หรือความคิดแยบคาย ที่เรียกทางธรรมว่า โยนิโสมนสิการ

ความคิดนั้นเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างข้อมูลความรู้ กับความเห็นความเข้าใจ ความคิดแยบคายทำให้รู้จักหาความรู้ และทำให้สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์

ความคิดสำคัญที่เป็นหลัก คือ การคิดหาความรู้ กับการคิดเพื่อเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ หรือคิดให้ได้ความรู้ กับคิดใช้ความรู้

คนมีความรู้ แต่ไม่รู้จักคิด ก็ไม่สามารถทำความรู้ให้เป็นประโยชน์ แต่คนที่คิดโดยไม่มีความรู้และไม่หาความรู้ ก็จะเป็นเพียงความคิดที่เพ้อฝันเลื่อนลอย

เมื่อคิดเพ้อฝันเลื่อนลอยแล้วมาแสดงความเห็น ก็จะเป็นความเห็นที่เหลวไหล ไร้สาระ ว่าไปแค่ตามชอบใจ-ไม่ชอบใจของตัว

โดยนัยนี้ กระบวนการพัฒนาปัญญาจึงมีการใฝ่แสวงหาความรู้เป็นเบื้องต้น มีการฝึกคิดเป็นท่ามกลาง และมีการรู้จักแสดงความเห็นเป็นปริโยสาน (ในหลายกรณีที่สำคัญ ต้องมีการปฏิบัติ ทดสอบ หรือทดลองมาเป็นเครื่องยืนยัน)

ดังนั้น ความใฝ่รู้และการรู้จักแสวงหาความรู้จึงเป็นบุพนิมิตแห่งพัฒนาการทางปัญญา ในสังคมใด คนขาดความใฝ่รู้ ไม่รักการสืบค้นหาความรู้ จะหาความเจริญงอกงามทางปัญญาได้ยาก จะเต็มไปด้วยความคิดเพ้อฝันเลื่อนลอย และการแสดงความเห็นเพียงแค่สนองความชอบใจ-ไม่ชอบใจของตนเอง

เพื่อให้มีการพัฒนาปัญญา จึงต้องมีคติว่า การแสดงความเห็นต้องคู่กับการหาความรู้ และเมื่อมีความรู้ ต้องฝึกความคิดให้แยบคาย

เมื่อเป็นอย่างนี้ การจัดระเบียบสังคม จะลงลึกและได้ผลระยะยาว จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องจัดระบบการศึกษาให้เกิดปัญญาที่แท้จริง

เวลานี้ รัฐบาลเดินหน้าในนโยบายจัดระเบียบสังคม ประชาชนก็พากันแซ่ซ้องสาธุการ เพราะสังคมของเราถูกปล่อยให้จมลงในหลุมอบายมุข จนจะฟอนเฟะ มีแต่ความย่อหย่อนอ่อนแอมัวเมาประมาท เมื่อมีการจัดระเบียบสังคมอย่างแข็งขันจริงจัง ก็หวังว่าสังคมไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาตั้งหลักได้ เพื่อจะเดินหน้าสู่ความงอกงามรุ่งเรืองต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระเบียบสังคมจะยืนยงยั่งยืนได้ ย่อมต้องอาศัยประชาชนเป็นคนที่พัฒนา มีคุณภาพดี โดยมีการศึกษาที่ถูกต้อง และเมื่อสังคมร่มเย็นปลอดภัย พ่อแม่ก็อยากเห็นลูกหลานเป็นคนดี มีปัญญา อยู่เป็นสุข ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยมีการศึกษาที่จัดไว้อย่างถูกต้อง ดังนั้น การจัดระเบียบสังคม จึงต้องโยงไปถึงการจัดการศึกษา

บัดนี้ การจัดระเบียบสังคม กำลังมาเข้าคู่กับการปฏิรูปการศึกษา ทำให้เกิดความหวังว่า ถ้าสองอย่างนี้ประสานกันดี ก็จะพลิกฟื้นสังคมไทย ให้ตั้งตัวขึ้นมา และก้าวหน้าไปได้

สังคมใดคนไร้ปัญญาหรือเบาปัญญา สังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยปัญหา แก้ปัญหาไม่ได้ หรือยิ่งทำปัญหาให้ซับซ้อนสับสน ปัญหานั้นคู่กับปัญญา ปัญหามาเพราะปัญญาไม่มี เมื่อปัญญามาปัญหาก็หมดไป

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงได้จัดปัญญาเป็นธรรมข้อสูงสุด และด้วยเหตุนี้ บุญทั้งหลายจึงไปจบที่ปัญญา

บุญนี้ ภาษาพระใช้คำว่า ปุญฺ และใน ปุญฺ นี้ ปุญฺ ที่สูงสุดเรียกว่าปัญญา เวลาพูดแยกกันก็กลายเป็นคำคู่ เรียกว่า ปุญฺํ กับ ปญฺา

ปุญญังที่ทำอย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราพัฒนาปัญญา และปัญญาที่พัฒนาก็ยิ่งทำให้เราก้าวหน้าในการสร้างปุญญัง

ปุญญัง กับ ปัญญา สองอย่างนี้ต้องให้มีคู่กัน ถ้าเรามีปุญญัง คือความดี แล้วมีปัญญาด้วย อย่างน้อยก็จะทำความดีที่เป็นคุณประโยชน์แท้ ไม่ทำอย่างหลงใหลงมงาย จึงงอกงามแน่

แต่ที่จริงปัญญาก็คือส่วนหนึ่งของบุญนั่นแหละ แต่เป็นส่วนยอดของบุญ ที่คอยคุม ชี้นำ และบอกทางให้ทำบุญอย่างอื่นได้ถูกต้องและก้าวหน้าไป ก็เลยแยกเอามาพูดเป็นพิเศษ

เมื่อเรามาช่วยกันทำบุญต่างๆ ด้วยปัญญาที่เจริญยิ่งขึ้น ปัญญาก็ยิ่งช่วยให้เราทำบุญได้ก้าวหน้าพัฒนามากขึ้น ดังนั้น ก็จะได้พร้อมหมด ทั้งทาน ศีล และภาวนา

เฉพาะภาวนาก็ได้ทั้งจิตใจและได้ทั้งปัญญา คือจะทำความดีอะไร ก็ทำด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบผ่องใส และทำด้วยความรู้ความเข้าใจ มองเห็นผลว่าจะเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างไร ยิ่งมีปัญญาเห็นผลดีมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งอิ่มเอิบผ่องใสมากเท่านั้น

อย่างญาติโยมมาทำบุญนี่ พอมองเห็นว่า อ้อ ทานที่เราทำนี้ จะช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ ช่วยให้พระสงฆ์มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ ท่านจะได้สามารถเล่าเรียนพระธรรมวินัย นำธรรมไปเผยแผ่สั่งสอนประชาชน ประชาชนได้ฟังธรรมแล้ว ตั้งตนอยู่ในธรรม สังคมก็จะมีความสงบสุข เมื่อมองอย่างนี้ ก็เห็นว่าทานที่ถวาย มีประโยชน์กว้างขวางเหลือเกิน จิตใจก็อิ่มเอิบผ่องใส ยิ่งได้บุญยิ่งใหญ่

เมื่อปฏิบัติถูกต้อง บุญ ๓ อย่าง ทั้งหมดนี้จึงไปด้วยกัน รวมความก็คือ เมื่อญาติโยมทำบุญ ก็ได้ทั้งทาน ศีล ภาวนา ไม่ใช่ถวายแต่ทานอย่างเดียว

เมื่อรู้เข้าใจทำบุญให้ก้าวไปในหลักพระพุทธศาสนา
ก็จะพัฒนาวัฒนธรรมให้ยิ่งเจริญงอกงาม

เหมือนอย่างวันนี้ ท่านรัฐมนตรีได้นำสังฆทานมาถวาย ก็ได้ปรารภทานเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นทานที่ดีที่สุดคือทานเพื่อสงฆ์ เพื่อส่วนรวม จากนั้น ด้วยอาศัยทานนี้ ก็ได้รักษาศีลด้วย โดยการกระทำที่เป็นนิมิตหมายคือได้สมาทาน-รับศีล แต่ที่จริงก็ดำรงในศีลอยู่แล้ว เพราะเมื่อมาในที่ประชุมนี้ก็ไม่เบียดเบียนใคร ได้สำรวมกิริยาวาจา และยังได้รักษาวัฒนธรรมประเพณี มีวินัย นี้ก็คือศีล

การมาทำบุญอย่างนี้ ช่วยให้วัฒนธรรมของสังคมดำเนินต่อไป ให้สังคมมีระเบียบเรียบร้อยงดงาม ซึ่งเป็นส่วนของศีล จึงได้บำเพ็ญศีลไปด้วย

พร้อมกันนั้น เมื่อถวายทานนี้ จิตใจก็มีความสงบ ด้วยบรรยากาศแวดล้อมก็ตาม ด้วยจิตใจที่มีศรัทธาในพระศาสนาก็ตาม คือในพระรัตนตรัย และในบุญกุศล จิตใจเบิกบานผ่องใส พร้อมทั้งมีความปรารถนาดี มีเมตตาธรรม จิตใจดีงาม พร้อมกับที่มีปัญญารู้เข้าใจมองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ จึงได้ครบหมด

บุญเริ่มจากการถวายทานอย่างเดียว แต่ได้พร้อมหมด ทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญที่สมบูรณ์

คนไทยก้าวไปในการทำบุญด้วยปัญญามากเท่าใด ก็สื่อออกมาสู่ความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมไทยมากเท่านั้น

วันนี้ อาตมภาพขออนุโมทนา ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งท่านอธิบดีกรมวิชาการ ท่านรองอธิบดีกรมการศาสนา ข้าราชการผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้มาเยี่ยมวัด และมาทำบุญถวายสังฆทาน ซึ่งถือว่าถวายแก่พระสงฆ์วัดนี้ในฐานะตัวแทนของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่จะทำหน้าที่ดำรงพระธรรมวินัย และเผยแพร่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป

ขอคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศล ที่ได้บำเพ็ญแล้ว จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกท่าน พร้อมทั้งประชาชนชาวไทยและชาวโลกทั้งหมด เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีพรั่งพร้อม ที่จะดำเนินชีวิตและกิจการให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้น แก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ และแก่ชาวโลกทั้งหมด ร่มเย็นงอกงามในธรรม ตลอดกาลทุกเมื่อ

สนทนาต่อท้าย

 

เมื่อทำให้ด้วยเมตตา ปรารถนาสุขแก่เขา
ใจเราไม่ต้องฝืน เสียสละก็กลายเป็นสดชื่น คือน้ำใจ

เรื่องเกี่ยวกับธรรมนี่ เด็กๆ สมัยนี้หลายส่วนแกรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องห่างตัว ความสนใจยังไม่มากเท่าที่ควร คงต้องใช้เวลาหน่อย ก็ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรีที่มีความตั้งใจดี งานนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องเด็กและเยาวชนของเรา ยิ่งสถานการณ์ของประเทศและของโลกเป็นอย่างนี้ด้วย ก็ยิ่งต้องเตรียมให้พร้อมโดยใช้กำลังความเพียรพยายามมากเป็นพิเศษ

อาตมภาพเองนั้น รู้สึกว่าเด็กไทยและคนไทยทั้งหมด เวลานี้อ่อนแอมาก และตั้งอยู่ในความประมาท ทีนี้ การที่จะลุกขึ้นมาได้ก็ต้องมีความเข้มแข็ง และการที่จะมีความเข้มแข็งก็ต้องมีอะไรที่เป็นหลักให้ เหมือนกับคนที่จะลุกขึ้นมา ควรจะมีอะไรช่วยให้ยึดเพื่อตั้งหลักขึ้นมาได้

ถ้าไม่มีอะไรช่วยยึดเป็นหลัก เขาก็ตั้งตัวไม่ค่อยได้ พอมีสิ่งล่อเร้านิดหนึ่งก็เขวไป เขวมา แต่ถ้ามีอะไรมาช่วยตั้งเป็นหลักให้ยึดได้ ก็พอจะไหว เรื่องนี้คงต้องอาศัยเวลาระยะยาว แต่ต้องตั้งเป้าหมายกันให้ชัด

การที่อาตมภาพยกเรื่องบุญขึ้นมาก็เพราะเป็นคำเก่าของเรา ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้จะเลือนลางแคบลงหรือเพี้ยนไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังพอสื่อกันได้ ยังพูดกันรู้เรื่องอยู่ ถ้าเราพื้นฟูความหมายให้ชัดขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก เพราะคำนี้ โยงได้ทุกส่วนของสังคม อย่างที่ว่าแล้ว ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาถึงชาวบ้านรู้กันหมด เป็นแต่เพียงว่า เดี๋ยวนี้ความหมายจางเลือนและเพี้ยนไป

ถ้าเราสามารถฟื้นขึ้นมา ก็จะเป็นจุดที่สื่อใจถึงกันได้หมด แล้วก็รวมใจได้ ทำให้เกิดพลังขึ้นมา

อย่างชาวบ้านนี่ พอบอกว่าไปทำบุญ ก็ชื่นใจ เต็มใจ และเกิดกำลังใจทันทีด้วย จิตใจก็สบาย เบิกบานผ่องใส ทำด้วยความสุข และมีคุณค่าที่ทำให้สังคมดีได้

เวลานี้ กิจกรรมของคนสมัยปัจจุบัน เป็นประเภทที่ค่อนข้างแห้งแล้ง บางทีก็ฝืนใจ ทำกันไปอย่างนั้น เวลาจะไปทำงานส่วนรวมก็รู้สึกว่าฝืนใจ ต้องเสียสละ

คำว่า “เสียสละ” นี้ มีความหมายเชิงลบอยู่ด้วย ถ้าคิดไม่ดีก็ฝืนใจเลย มันต้องเสียสละ แต่ทางธรรมฝึกคนให้ทำความดีโดยไม่ต้องรู้สึกเสียสละ แต่ให้เป็นธรรมชาติเลย

หมายความว่า คนไทยเรานี้ได้ฝึกความเสียสละมามากจนกลายเป็นน้ำใจ เมื่อเป็นน้ำใจ ก็กลายเป็นคำบวก ความรู้สึกในทางลบไม่มีแล้ว เสียสละนี่ยังรู้สึกฝืน คนไทยเราบอกว่า มีน้ำใจ ก็กลายเป็นเต็มใจ

คำว่า น้ำใจ ก็คือเสียสละนั่นเอง แต่เป็นการเสียสละที่มีความหมายเป็นบวกไปแล้ว ใจเราพร้อม โดยมีเมตตา ที่จะทำเพื่อผู้อื่น ทำให้เขามีความสุข โดยที่ใจเราก็มีความสุขด้วย

น้ำใจคือความเจริญพัฒนาขั้นสูงของคำว่าเสียสละ มาช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรเราจะให้น้ำใจนี้เกิดขึ้นมา พอเป็นน้ำใจมันก็เป็นบุญชัดเจน เมื่อเป็นบุญแล้วมันก็อิ่ม ไม่ว่าจะทำอะไร จิตใจก็สบาย มีกำลัง

ทำอย่างไรจะให้เด็กของเราได้ก้าวขึ้นมาในบุญ แต่ต้องเป็นบุญในความหมายที่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ก็เป็นแง่ความหมายที่อาศัยพื้นฐานวัฒนธรรมของเรา ซึ่งโยงไปหาหลักแห่งพระพุทธศาสนา

รมช. และคณะ ก็เป็นความพยายามที่จะใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิม แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราคงจะต้องพยายามทำให้เป็นการรวมพลังกันทั้งประเทศ ทุกโรงเรียนก็คงจะต้องทำให้เป็นนโยบายลงไปให้ถึงทุกโรงเรียน ให้รวมพลังกันทั้งในระดับผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน และเด็กในโรงเรียน ให้ร่วมกันสวดมนต์ อาจจะไม่ใช่เวลาเดียวกัน คงจะเป็นไปตามความสะดวกของแต่ละโรงเรียน ถ้าวันพระใดตรงกับเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นวันศุกร์ที่เขาจะสวดมนต์กัน

ในส่วนของศาสนาอื่นนั้นก็มีวันสำคัญในแต่อาทิตย์อยู่แล้ว เช่น วันอาทิตย์ชาวคริสต์จะไปโบสถ์ ส่วนชาวอิสลามก็จะละหมาดกันอยู่แล้ว ในส่วนของศาสนาพุทธนั้น ถ้ากำหนดให้วันพระเป็นวันสัญลักษณ์แห่งการทำความดีพร้อมกันทั้งประเทศ น่าจะเป็นการรวมพลังที่เริ่มต้นด้วยจิตใจ แล้วก็จะเชื่อมโยงกับพระบรมราโชวาทที่ว่าด้วยฆราวาสธรรม ดังที่ท่านที่ปรึกษาสุนัยได้ไปค้นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระกระแสรับสั่งมา

พระธรรมปิฎก ฆราวาสธรรม ๔ ตรัสมาหลายปีแล้วนี่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นธรรมสำหรับญาติโยมต้องใช้ทุกระดับ

เรื่องสวดมนต์ในโรงเรียนนั้น สมัย ๕๐ ปีก่อนโน้น ใช้วันเรียนวันสุดท้ายของสัปดาห์ และในชั่วโมงสุดท้าย นักเรียนทั้งโรงเรียนประชุมสวดมนต์กัน และเป็นโอกาสให้ครูพูดกับนักเรียนทั้งโรงเรียนด้วย

รมช. และคณะ ปัญหาใหญ่เรื่องจริยธรรมตัวหนึ่ง คือเราหาสิ่งที่จะเป็นพันธะทางจริยธรรม (moral obligation) ไม่ได้ เลยหยุดตรงนี้ เหมือนอย่างที่ท่านว่าพอทำปุ๊บมันรู้สึกต้องเสียสละ ทำความดีเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหาเงินหาทองนี้เรื่องง่าย มันมีผลตอบแทนทางวัตถุธรรมชัดเจน สมัยก่อนนี้เราใช้ความเชื่อในแต่ละศาสนา ถ้าเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าก็จะเป็นตัว moral obligaiton ทำดีได้ไปสวรรค์ แต่พอความเชื่อตรงนี้หายไปจากสังคม ทุกวันนี้ต้องพยายามสร้างสิ่งที่จะเป็นพันธะทางจริยธรรมขึ้นมา เป็นเรื่องยากตรงนี้

พระธรรมปิฎก เราอาจจะรอด้านศรัทธากันมากไป โดยไม่ได้ใช้วิธีสร้างศรัทธาที่ถูกต้อง การสร้างศรัทธาที่แท้นั้นต้องอาศัยปัญญา พุทธศาสนาเน้นปัญญา โดยอาศัยศรัทธาเป็นจุดเริ่ม แต่ศรัทธาก็ต้องมีปัญญาประกอบมาตั้งแต่ต้น จริยธรรมที่แท้ต้องเป็นไปตามหลักความสมดุล ท่านเรียกว่าต้องให้อินทรีย์เสมอกัน ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุล

ถ้าศรัทธามากไปไม่มีปัญญาก็งมงาย เหลวไหล แล้วก็รุนแรง อาจจะถึงกับยกพวกยกทัพไปฆ่ากัน เพราะความเชื่อ ศรัทธาจึงต้องมีปัญญาคุม

ปัญญาไม่มีศรัทธาก็จับจด เรื่องนี้ก็รู้ เรื่องนั้นก็รู้ รู้นิดรู้หน่อยก็หยุด ไม่เอาจริงเอาจังสักเรื่อง พอมีศรัทธาเชื่อว่าเรื่องนี้ดี จะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เป็นประโยชน์แท้จริง พอเกิดศรัทธาขึ้นมาแล้วก็จะตั้งใจเรียนรู้ศึกษาจริงจัง ฉะนั้นท่านจึงว่าต้องให้ปัญญากับศรัทธาคู่กัน

ทีนี้ การที่เราจะให้เด็กก้าวไป ศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่ศรัทธานั้นต้องประกอบด้วยปัญญา ซึ่งที่จริงศรัทธาของชาวพุทธก็เริ่มด้วยปัญญาอยู่แล้ว คือศรัทธากับปัญญานั้นอาศัยกันตั้งแต่ต้น เพราะปัญญามองเห็นว่าสิ่งนี้มีเหตุผลดีงามเป็นประโยชน์จึงเริ่มเชื่อเกิดศรัทธา เมื่อศรัทธาเชื่อแล้วก็เลยยิ่งศึกษาเรียนรู้ พอยิ่งเรียนรู้ยิ่งเข้าใจเห็นประโยชน์ขึ้นมาก็ยิ่งศรัทธาแน่นแฟ้นขึ้น ก็หนุนกันขึ้นไปอย่างนี้

ด้วยเหตุนี้ ศรัทธาของชาวพุทธจึงต้องมีการชี้แจงตั้งแต่เริ่มต้น ว่าสิ่งนั้นเรื่องนั้นเป็นความจริง มีเหตุผล มีคุณค่า จะเป็นประโยชน์เกิดขึ้นแก่ชีวิตอย่างไร และแก่สังคมส่วนรวมอย่างไร ให้เขาเกิดศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นสัทธาญาณสัมปยุต เมื่อศรัทธาประกอบด้วยปัญญาก็เข้าทางของธรรมะ

ท่านให้ระวังเรื่องนี้ คือต้องให้มีความสมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา แล้วในที่สุดศรัทธาที่หนุนให้กำลังแก่การเรียนรู้ก็จะนำไปสู่ปัญญาที่แท้จริง จนกระทั่งเลยขั้นศรัทธา คือถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่ต้องอาศัยศรัทธาต่อไป

ทำอย่างไรจะให้เด็กของเราได้ปัญญาขั้นต้นที่จะเกิดมีศรัทธา ครูอาจารย์ก็ต้องมีปัญญาซิ จะให้เด็กเกิดศรัทธาที่แท้ที่มีปัญญานี่ ครูไม่รู้ ครูไม่มีปัญญา แล้วจะไปชี้แจงให้เด็กเข้าใจ ให้เด็กเกิดศรัทธาได้อย่างไร เมื่อไม่มีศรัทธาที่มีปัญญาเป็นฐานก็ต้องศรัทธาแบบบังคับ หรือศรัทธาแบบงมงาย ศรัทธาแบบสักแต่ว่าเชื่อ

ฉะนั้นเราจึงต้องพัฒนาคุณภาพครู ให้ครูมีปัญญามีความรู้เข้าใจที่จะสามารถโน้มจิตใจของเด็กให้เกิดความเชื่อจากความรู้ความสามารถและความดีงามของครูเอง ถ้าเด็กมองเห็นว่าครูเป็นคนดีมีปัญญาความสามารถ เขาเชื่อ มีศรัทธาเลื่อมใสในตัวครู พอครูพูดอะไรใจเขาก็โน้มที่จะเชื่ออยู่แล้ว ครูที่มีความสามารถมีปัญญารู้เข้าใจเรื่องนั้นสิ่งนั้นชัดเจนมาแนะนำว่าสิ่งนี้เป็นความจริงอย่างนี้นะ เป็นประโยชน์อย่างนี้ มีคุณค่าอย่างนี้ เด็กก็เห็นด้วยและเกิดศรัทธาขึ้นมาก็ทำ

นี่แหละ ทำอย่างไรเราจึงจะให้ได้ศรัทธาแบบที่ถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรที่มีคุณภาพ ใช่ไหม ต้องมีครูอาจารย์ที่เป็นคนดีมีปัญญาความสามารถ เพราะฉะนั้นก็เลยมาถึงปัญหาเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู

รมช. และคณะ อันนี้ขอพูดเรื่องนอกนะคะ เรื่องการพัฒนาคุณภาพครูนี้ ดิฉันต้องกราบเรียนพระคุณเจ้าว่า ดร.นิเชตก็อยากจะมากราบวันนี้ แต่ว่ามีภาระกระทันหันที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วเมื่อวานนี้ท่านได้เอาหนังสือมาให้ดิฉันเล่มหนึ่ง เรื่อง บุญบารมีที่จะกู้แผ่นดินไทย ซึ่งกรมวิชาการได้พิมพ์ แล้วดิฉันก็ได้เอาติดรถมาด้วย ตรงกับที่พระคุณเจ้าเทศน์วันนี้ ซึ่งดิฉันดีใจมากๆ เพราะว่าดิฉันรู้สึกว่าบุญที่เราพูดถึงว่า ทาน ศีล ภาวนา นี้ยังขยายความอีกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้ทั้งนั้น

ดิฉันเคยจำได้ว่ามี ทาน ศีล ภาวนา วาจาอ่อนน้อม ถ่อมตนรับใช้ เฉลี่ยให้ความดี มีใจอนุโมทนา ใฝ่หาฟังธรรม นำไปปฏิบัติไม่เว้น แล้วก็ ปรับความเห็นให้ตรง อันนี้ดิฉันคิดว่าเราสามารถที่จะเผยแพร่ให้เป็นพฤติกรรม ให้เป็นรูปธรรมได้ นอกจากจะพูดว่า ทาน ศีล ภาวนา เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเป็นสิ่งที่ต้องมีการวางพื้นฐาน และดิฉันเข้าใจว่า ความอ่อนโยนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราใส่อะไรเข้าไปได้ไม่ยาก ถูกต้องไหมคะ

พระธรรมปิฎก ใช่ เพราะว่าตัวอปจายนมัยนี้ เป็นบุญในข้อที่ว่า ไม่เย่อหยิ่งและไม่ดูถูกคนอื่น มีความสุภาพอ่อนโยน พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น และพร้อมที่จะน้อมรับสิ่งที่ดีงามเข้ามาประพฤติปฏิบัติ จึงโยงกันไป ถ้าเราได้บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้มาเป็นหลัก และสร้างให้เป็นคุณสมบัติในตัวคน คือในตัวเด็ก ก็กลายเป็นการศึกษานั่นเอง เพราะว่าเรื่องบุญนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปุฺเมว โส สิกฺเขยฺย พึงศึกษาบุญ หมายความว่าการศึกษาบุญเป็นหน้าที่ของเรา และการศึกษาบุญก็คือการฝึกให้ความดีเหล่านี้เกิดขึ้นมาในชีวิตของเรา และกลายเป็นคุณสมบัติขึ้นมาในตัวเรา เมื่อบุญต่างๆ เข้ามาเป็นคุณสมบัติในตัวเรา ชีวิตของเราก็เป็นชีวิตที่มีคุณภาพดี บุญจึงเป็นเรื่องของการศึกษานั่นเอง

รมช. และคณะ เมื่อกี้ท่านรัฐมนตรี หันมาบอกดิฉันว่าจะถวายท่านให้ทราบเรื่องของครูนะคะ แต่เราก็คิดว่าในเรื่องของการบูรณาการวิชาการศาสนาและวัฒนธรรมนั้น ในเรื่องศาสนา เราต้องกราบขอความเมตตาจากพระที่ท่านได้เคยเป็นพระวิทยากร ที่ท่านสามารถจะสอน และเล่านิทานชาดกได้ อะไรทำนองนี้นะคะ ให้ท่านกรุณามาสอนในโรงเรียนของเราให้มากขึ้น

ก็จะมี ๒ อย่างคือ ท่านมีความสามารถของท่านอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งก็จะถวายความรู้ท่าน เพื่อให้อยู่ในท้องถิ่นของท่านเอง โดยเป็นความสมัครใจที่ว่าท่านจะเมตตาช่วยเราในเรื่องการสอนพระพุทธศาสนา เพราะว่าสมณสารูปเป็นสิ่งที่เด็กประทับใจมากกว่าที่จะเห็นครูแต่งน้ำเงินขาวหรืออะไรทุกวันอย่างนี้

พระธรรมปิฎก พระมีหน้าที่ให้ธรรมะ โยมก็มีหน้าที่คู่กับพระ ทั้งสองฝ่ายพระพุทธเจ้าตรัสว่า อัญโญญญนิสสิตา คืออาศัยซึ่งกันและกัน อาศัยอย่างไร คือโยมถวายอามิสทานได้แก่ปัจจัย ๔ เพื่อว่าพระจะได้ไม่ต้องกังวลด้านวัตถุ และจะได้ตั้งใจทำงานของตัวเอง คือศึกษาเล่าเรียน และเผยแผ่ธรรมะไปปฏิบัติไป ทางฝ่ายพระก็มีหน้าที่ต่อโยมได้แก่ธรรมทาน คือให้ธรรมะ ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องทำทานด้วยกันทั้งคู่

ทีนี้พระให้ธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ ให้โดยพูด กับให้โดยไม่ต้องพูด ให้ธรรมโดยพูด ก็คือ เมื่อมีความรู้เข้าใจแล้วก็นำมาแนะนำสั่งสอน ให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ก็หมายความว่า ปรากฏตัวที่ไหนก็ทำให้ใจโยมผ่องใสที่นั่น และน้อมจิตใจคนที่พบเห็นไปสู่ความดีงาม เมื่อโยมใจผ่องใสจิตใจดี ก็เป็นธรรมะทันที ดังนั้นในสังคมไทยนี้ วัฒนธรรมของเราจึงเน้นว่าให้พระเป็นเครื่องหมายของความดีงามและความไม่มีภัย

ขั้นต้นที่สุด เจอพระที่ไหนต้องรู้สึกไม่มีภัยอันตราย เช่นไปในป่าในที่เปลี่ยว พอเห็นพระก็โล่งใจสบาย อย่างนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง พอเห็นอาการกิริยาที่สงบสำรวมมีสมณสัญญา ญาติโยมก็จิตใจเบิกบานผ่องใส เรียกว่าได้ธรรมะขึ้นมาในใจโดยพระยังไม่ต้องพูด

การที่เรามีพิธีกรรมอะไรต่างๆ ก็เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ คือพิธีกรรมนั้นเป็นวิธีการ (พิธี มาจาก วิธี นั่นเอง) ที่ช่วยนัดหมายและจัดเตรียมให้ญาติโยมได้พบกับพระสงฆ์ แล้วท่านจะได้ให้ธรรมใน ๒ แบบที่ว่านั้น คือทั้งให้ธรรมโดยพูด เช่น พระที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้ใหญ่จะได้สั่งสอนแสดงธรรม และพระอื่นๆ ก็ได้ปรากฏตัวในอาการของสมณะ แม้พระไม่ได้พูดอะไร เพียงปรากฏตัวขึ้นมาญาติโยมก็มีจิตใจสบาย

แม้แต่ตื่นเช้า เห็นพระเดินมาบิณฑบาต สมัยก่อนเดินเป็นแถวเลย โยมทำบุญตักบาตร เช้าพระเดินลัดท้องทุ่งนามา สีจีวรตัดกับสีแดดยามรุ่งอรุณ จิตใจโยมก็ปลาบปลื้ม เรียกว่าเริ่มต้นวันด้วยความมีจิตใจผ่องใส อย่างนี้คือพระให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด

หน้าที่ของพระก็คือให้ธรรมะ เราจะต้องทำให้พระมีคุณสมบัติที่จะให้ธรรมได้ หมายความว่าต้องพัฒนาคุณภาพพระด้วยการศึกษา เรื่องนี้สำคัญมาก

ที่ท่านรัฐมนตรีพูดเรื่องการทำทะเบียนพระที่มีความสามารถในการสอนนั้น เรื่องการใช้สื่อเวลานี้เป็นปัญหามาก ได้ยินกันมาหลายปีแล้ว ญาติโยมติเตียนว่า พระเผยแผ่ออกวิทยุเป็นโทษเสียมาก เช่น ไปเรี่ยไร ไปพูดเรื่องเสียหายไม่ควรพูด ถ้าเราปล่อยปละละเลยก็คือสังคมตกอยู่ในความประมาท

อาตมภาพก็เลยขอโอกาสพูดเรื่องนี้ด้วยว่าจะมีทางแก้ไขอย่างไร ให้การจัดเรื่องสื่อของเราเกิดประโยชน์แท้จริง ให้พระที่ออกวิทยุเข้าสู่แนวทางของการให้ธรรมะแก่ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ไปหาผลประโยชน์ ไม่ใช่ไปพูดเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ชักชวนประชาชนในทางลุ่มหลง

การที่จะแก้ได้ก็คือการที่เราจะต้องมีการจัดระบบ ไม่ให้ทำกันเรื่อยเปื่อย ไม่ให้เขาพูดล้อเล่นได้ว่า นี่คือเสรีภาพแบบไทยๆ ทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ เหมือนเรื่องร้านเหล้าเปิดถึงเมื่อไรก็ได้ เด็กอายุเท่าไรก็เข้าร้านสุราซื้อเหล้าได้ พระองค์ไหนจะพูดอะไรทางวิทยุก็ได้ เสรีภาพเมืองไทยเหลือล้นกว่าประเทศไหนๆ

เป็นข้อที่ดีถ้าหากจะมีการทำทะเบียนพระ แต่เราจะต้องมีวิธีการ และมาตรการที่ดีจริงๆ ให้ได้พระมีคุณภาพมาทำงาน อย่างมั่นใจ ซึ่งจะทำให้เรามีที่อ้างอิง เวลาเกิดปัญหาความต้องการขึ้นมาก็หาพระทำงานได้ทันที ไม่ใช่ไม่รู้ว่าจะไปเอาที่ไหน อันนี้เป็นความคิดที่จะช่วยได้มาก แต่ทำอย่างไรเราจะได้อย่างกว้างขวาง ก็คงจะต้องมีการประสานงานกันกับหน่วยงานทางพระศาสนา เช่นอย่างมหาวิทยาลัยสงฆ์อะไรอย่างนี้ ว่าจะหาบุคลากรที่มีคุณภาพได้อย่างไร แล้วก็ประสานไปถึงเรื่องสื่อ

ปัจจุบันในการศึกษานี้สื่อมีอิทธิพลมาก บางทีมีอิทธิพลมากกว่าโรงเรียนอีก สื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนบางทียิ่งกว่าโรงเรียน ทีนี้ถ้าสื่อทำผิดก็เลยกลายเป็นมิจฉาสิกขา เป็นการศึกษาที่ผิด ก็คือไม่ใช่การศึกษา ก็ยิ่งทำให้สังคมตกต่ำลง เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาใจใส่เรื่องสื่อด้วย คือจะต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรจะจัดระบบสื่อในแง่ของการศึกษานี้ให้ได้ผลจริงๆ ซึ่งก็โยงมาหาเรื่องพระและเรื่องพระศาสนา

เคยพูดอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยเรานี้ พุทธศาสนิกชนตามสถิติบอกว่า ๙๕% นี่เป็นสถิติรวม แต่จังหวัดทั้งหลายในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ส่วนมากเป็นพุทธจะแทบ ๑๐๐% เลยใช่ไหม

ที่น่าเสียดายก็คือว่าคนไทยรวมทั้งเด็กๆ ที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธ บอกว่านับถือพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร ชาวพุทธเชื่ออย่างไร และปฏิบัติอย่างไร

เมื่อไม่มีความรู้ ก็มีความเชื่อผิดๆ และประพฤติปฏิบัติผิด แล้วคนที่ชื่อว่าเป็นชาวพุทธแต่ไม่รู้จักพุทธศาสนาและเชื่อผิดๆ ประพฤติปฏิบัติผิดจากหลักพุทธศาสนาเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม

ฉะนั้น วิธีหนึ่งที่ตรงที่สุดในการแก้ปัญหาสังคมไทยก็คือ ทำให้คนที่ชื่อว่าเป็นพุทธ แต่ไม่รู้พุทธ ซึ่งเป็นพลเมืองแทบทั้งหมดของประเทศนี้ ให้รู้ศาสนาของตัวเองเสีย ให้รู้ให้ถูก เชื่อให้ถูก ปฏิบัติให้ถูก มันก็เป็นการแก้ปัญหาสังคมไทยทันทีในตัวเลย ตรงไปตรงมาที่สุด อันนี้แค่นี้เราจะทำได้ไหม

หมายความว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ตรงไปตรงมา เธอเป็นชาวพุทธใช่ไหม เธอบอกว่านับถือพุทธศาสนาแล้วทำไมเธอไม่รู้จักพุทธศาสนา เชื่อก็ไม่ถูก ปฏิบัติก็ไม่ถูก เราก็ทำให้เธอรู้เข้าใจ เชื่อถูก ปฏิบัติถูก ก็แก้ปัญหาได้เลย เรื่องนี้น่าจะได้ทำ อันนี้ตรงไปตรงมา แทนที่จะไปหาอันโน้นอันนี้ มัวอ้อมค้อมกันไปมา

รมช. และคณะ ดังนั้นก็คงจะต้องมีเรื่องที่ทางฝ่ายฆราวาส และฝ่ายสงฆ์ช่วยกันทำ ก็คือเรื่องของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาของสื่อที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นซึ่งเขาช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วก็ค่อนข้างที่จะหลงทางในเวลานี้ มีเรื่องที่คงต้องกราบขอความเห็นจากพระคุณเจ้า ก็คือ แนวทางที่จะพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้เป็นผู้นำทางปัญญา

พระธรรมปิฎก เรื่องนี้ก็สำคัญ อย่างน้อยผู้บริหารจะต้องมีความภูมิใจในสังคมไทย และภูมิใจในวัฒนธรรมไทยบ้าง ขณะนี้คนไทยสูญเสียอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ ไม่มีความภูมิใจในพื้นฐานของสังคมของตัวเอง ขาดลอยจากรากฐานของสังคม ก็เลยกลายเป็นคนเคว้งคว้าง จะเอื้อมไปเอาฝรั่งก็เอาไม่ถึง เอามาไม่ได้จริง ของตัวเองก็หลุดลอยไป ก็เลยเสียทั้งคู่ สังคมก็เลยเคว้งคว้างกันใหญ่ พอผู้ใหญ่เคว้งคว้าง เด็กก็เคว้งคว้างด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องมีความมั่นคง

ความมั่นคงนั้นเกิดจากความมั่นใจ คนเราถ้าไม่มีความมั่นใจมันก็มั่นคงไม่ได้ ทีนี้ความมั่นใจก็เกิดจากความรู้เข้าใจ ให้มีความเชื่อมั่นจากการเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวมี ถ้าเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวมี ว่าวัฒนธรรมไทย และสังคมไทยเรามีดีอะไร เมื่อเรามองเห็นคุณค่าก็เกิดความมั่นใจทันที พอเกิดความมั่นใจ ทิศทางก็เกิดทันที ความเข้มแข็งก็เกิดขึ้น พอเป้าหมายปรากฏขึ้นมา ก็เดินหน้าได้เลย

เวลานี้คนของเราอ่อนแอ เพราะเหตุหนึ่งคือเราขาดความมั่นใจในตัวเอง สืบเนื่องจากการไม่รู้จักคุณค่าของพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฉะนั้นจะต้องฟื้นให้ได้ ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องพัฒนาคุณภาพของผู้บริหารให้เป็นผู้นำที่มีความรู้และความมั่นใจนี้

ทีนี้จะทำอย่างไรให้คนของเราได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ที่เป็นรากฐานของสังคมไทย อันนี้ก็ต้องเกิดจากปัญญา อยู่ๆ เขาจะมาเห็นคุณค่าได้อย่างไร เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจก็ต้องทำให้มีปัญญารู้เข้าใจ ซึ่งจะต้องมีการศึกษากันจริงจัง และให้ความรู้กันอย่างเพียงพอ

ถึงตอนนี้ก็เลยต้องขอโอกาสพูดถึงตัวเอง เวลานี้งานอย่างหนึ่งก็คือพยายามที่จะชี้

๑. ให้รู้เข้าใจตัวเอง

๒. ให้รู้เขา โดยเฉพาะว่าฝรั่งเป็นมาอย่างไร มีรากฐานมาอย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ในปัจจุบัน

ต้องเข้าใจเขาให้ชัด พอเข้าใจเขาชัดรู้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรู้เหตุผลที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นปัจจุบันนี้ จะมองเขาออก พอมองเขาออกก็จะเห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นมาด้วย

แต่เวลานี้คนไทยเลื่อนลอย มองอะไรก็เห็นแค่ผิวเผิน มองเห็นสังคมฝรั่งก็เห็นแต่ผล ไม่ได้เห็นเหตุ เห็นผลก็คือมองติดอยู่แค่ความเจริญอย่างที่เขาเป็นปัจจุบัน ว่าเขามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างนั้นๆ พอเห็นความเจริญที่เป็นผลก็อยากจะได้ อยากจะรับ ก็ได้แต่รับ ได้แต่บริโภค ได้แต่ตามเขาไป

ทีนี้ถ้าเรามีการศึกษา ก็คือไม่ดูแค่ผล แต่ค้นคว้าสืบสาวดูเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีผลอย่างนี้ ศึกษาให้เข้าใจสังคมอเมริกันเป็นต้น ว่าเขาสร้างเหตุปัจจัยมาอย่างไร พอเข้าใจแล้วก็โยงมาหาความเข้าใจตนเองได้ ฉะนั้นตอนนี้คิดว่าต้องทำอย่างสำนวนเก่าว่า ต้องรู้เขา-รู้เรา แต่ความหมายหนึ่งของการรู้เขารู้เราคือ ไม่ใช่รู้แค่มองเห็นข้างนอก ต้องลึกลงไปถึงรู้เหตุปัจจัยกันเลย

การรู้เหตุปัจจัยนี้สำคัญ แต่สังคมไทยเรามักไม่มองไปที่ตัวเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องเหตุปัจจัย เราจะเอาแค่ผล เวลามองฝรั่งก็ดูว่าเขามีผลอะไรให้เราบริโภคบ้าง ก็จะรับผลนั้น แล้วก็ชื่นชมวนอยู่กับเรื่องผลที่ปรากฏขึ้นมา ไม่พยายามรู้เหตุ แล้วก็ไม่ทำเหตุด้วย จึงได้แค่

๑. รู้เห็นผล

๒. รับและเสวยผล

ต้องเปลี่ยนเป็น ๒ อย่าง ที่ตรงข้าม คือ ต้องรู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำเหตุปัจจัย ตรงทำเหตุปัจจัยนี้แหละจะสำเร็จ เหมือนอย่างที่พูดบ่อยๆ ว่า คนไทยมองความเจริญของฝรั่งด้วยความชื่นชมตื่นเต้นว่าอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง เราเห็นฝรั่งเจริญและอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง

แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือ เรามองความเจริญนั้นอย่างไร การมองแบบหนึ่ง คือ มองความเจริญแบบนักบริโภค หมายความว่าฝรั่งมีกินมีใช้ มีบริโภคอะไร ถ้าฉันมีกินมีใช้ มีบริโภคอย่างนั้น ฉันก็เจริญอย่างฝรั่ง อย่างนี้เรียกว่า มองความเจริญอย่างนักบริโภค

การมองอีกแบบหนึ่ง คือ มองความเจริญแบบนักผลิตนักสร้างสรรค์ ดูว่าที่ฝรั่งเจริญนั้นเขาทำอะไรได้ ฉันจะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ถ้ามองความเจริญของฝรั่งอย่างนี้ประเทศไทยก้าวไปได้ แต่เด็กไทยตอนนี้ไม่มีหรอกที่มองอย่างนี้ แทบหาไม่ได้เลย ถ้าเด็กไทยคิดว่าฝรั่งทำอะไรได้ ญี่ปุ่นทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้น ถ้าเมื่อไรเด็กไทยมีความคิดอย่างนี้ ไม่กี่ปี เอาแค่ ๕ ปีเท่านั้นแหละ เมืองไทยไปลิบเลย

เวลานี้มองแค่ว่า ฝรั่งมีกินมีใช้มีอะไรบริโภค ฉันจะมีอย่างนั้น พอมีแล้วก็รู้สึกโก้ภูมิใจ มาอวดกันว่า ฉันเป็นเหมือนฝรั่งแล้ว แต่เปล่า ไม่เหมือนหรอก ไม่มีทางหรอก มันต้องทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ญี่ปุ่นทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้น หรือทำให้ดีกว่านั้นอีก อย่างนี้ละก็ไทยไปได้

ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งอาจารย์ทุกท่าน ที่ได้มีความตั้งใจดีต่อประเทศชาติ สังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อาตมภาพอนุโมทนาอย่างยิ่งเลยว่า เราจะต้องช่วยกันฟื้นสังคมให้ได้ ซึ่งเราจะต้องมีจิตใจที่มุ่งสู่เป้าหมาย และมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง แล้วก็มีความเข้มแข็งในตัวเอง โดยมองเห็นด้วยปัญญาว่า อันนี้ถูกต้องดีงามแท้ ให้ความมั่นใจเกิดขึ้น และมีพลังที่จะเดินหน้ากันต่อไป ขอให้ทุกท่าน ดำเนินภารกิจเพื่อความมุ่งหมายนี้ให้สำเร็จด้วยดีทุกท่าน ขออนุโมทนา

1ธรรมกถา ของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) แสดงในโอกาสที่ ดร.สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ มาทำบุญถวายสังฆทานที่วัดญาณเวศกวัน เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๔
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง