จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?1

การบรรยายธรรมครั้งนี้มีมูลเหตุสืบเนื่องจากการที่ผู้อำนวยการและอาจารย์จากสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มาปรึกษาและขอคำแนะนำจากอาตมาในการเขียนคำอธิบายรายวิชา พุทธศาสนากับการพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์ สาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ ผู้สร้างรายวิชานี้มีความมุ่งหมายโดยต้องการให้นิสิตที่เรียนได้รู้ว่า พุทธศาสนาของเรานั้นสามารถนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลได้อย่างไร และเมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลได้แล้ว จะมีวิธีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้น โดยนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาใช้ได้อย่างไร อาตมามีความเห็นว่าหลักธรรมสำคัญที่ตรงกับเรื่องนี้ก็คือ เรื่องกรรม กับสิกขา

กรรม ก็คือ เรื่องของพฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคล และสิกขา หรือการศึกษา ก็คือการพัฒนาพฤติกรรมนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากทั้งสองอย่าง

ความหมายของกรรม

กรรม เป็นกระบวนการปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ แต่คำว่ากรรมนั้น เมื่อจะพูดให้คนทั่วไปที่เป็นชาวบ้านเข้าใจ ก็ต้องพยายามพูดให้มองเห็นเป็นรูปธรรม และเมื่อไม่มีการศึกษาต่อไปให้ชัดเจนบางทีความหมายก็เขวหรือเพี้ยนไปจนกลายเป็นมองว่า กรรมเหมือนกับเป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นของที่อยู่นอกตัวลอยมา แต่อันที่จริงแล้ว กรรม ก็คือการกระทำ แต่คำว่าการกระทำในที่นี้มีความหมายในทางวิชาการ ไม่ใช่แค่เป็นคำศัพท์สามัญคำหนึ่งเท่านั้น

เริ่มด้วยความหมายง่ายๆ ในระดับที่กว้างที่สุด กรรม หรือการกระทำนั้น หมายถึง การงานอาชีพ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนจะเป็นชาวนาก็เพราะกรรม คนจะเป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม” แล้วก็มีคำขยายความว่า ใครทำนา ไถนา หว่านข้าว เพาะปลูกข้าว คนนั้นก็เป็นชาวนา ใครปกครองบ้านเมือง คนนั้นก็เป็นกษัตริย์ ใครเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน คนนั้นก็เป็นปุโรหิต ใครลักขโมยของผู้อื่นก็เป็นโจร [วาเสฏฐสูตร, ๒๕/๓๘๒] ที่ว่าเป็นโจรเพราะกรรม หรือเป็นอะไรๆ เพราะกรรม มีความหมายที่พระพุทธเจ้าตรัสแท้ๆ อย่างนี้ นี่คือกรรมตามความหมายของคำศัพท์ในระดับ ที่ง่ายๆ กว้างๆ มองเห็นในสังคมทั่วๆ ไป

ส่วน กรรม ในความหมายที่ละเอียดลึกลงไปก็คือ พฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏออกมาภายนอก ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลที่เรียกว่าอาชีพการงานนั้นด้วย และเมื่อเจาะลงไปให้ถึงตัวจริงก็จะเห็นว่าพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้ มาจากเจตจำนง ความคิดนึก ความตั้งจิตคิดหมาย การเลือกตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ถ้าพฤติกรรมเป็นไปโดยไม่มีเจตจำนง ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้น ในทางหลักวิชาแท้ๆ จึงถือว่า กรรม หมายถึง เจตจำนง หรือเจตนา ซึ่งเป็นทั้งที่มาและเป็นแกนของพฤติกรรมทุกอย่าง แต่ทว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลจะปรากฏออกมาที่อาชีพการงาน

ดังนั้นโดยสรุป กรรมในความหมายง่ายๆ ก็คือ การงานอาชีพ แต่อันที่จริงแล้ว กรรม จะต้องครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมการกระทำทั้งหมด และไม่ใช่เฉพาะที่แสดงออกมาทางกายเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทางวาจา และการคิดนึก การคิดปรุงแต่งในใจด้วย ซึ่งเป็นไปด้วยเจตจำนง หรือเจตนา นี้เป็นความหมายของกรรมที่พร้อมสมบูรณ์ในทางพุทธศาสนา

ประเภทของกรรม

จากความหมายของคำว่า กรรม ดังที่กล่าวมาแล้ว ในพุทธศาสนาจึงแบ่งกรรมออกเป็น ๓ ด้าน คือ [๑๓/๖๔]

๑. กายกรรม ได้แก่การกระทำทางกาย ดังเช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้ร่างกายทำกิจกรรมต่างๆ

๒. วจีกรรม ได้แก่การกระทำทางวาจา ดังเช่น การพูด การสื่อสาร การเขียนหนังสือ

๓. มโนกรรม ได้แก่ การกระทำทางใจ ดังเช่น ความคิด ความเชื่อ ความเห็น การยึดถือ

มโนกรรม นี้ในพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมโนกรรมหรือการกระทำทางใจนี้หมายถึง กระบวนการคิดทั้งหมด ตั้งแต่ความคิดนึก การคิดปรุงแต่ง รวมทั้งความเชื่อถือ ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม แนวความคิด ทฤษฎี ลัทธิ อุดมการณ์ทั้งหลาย ซึ่งทางพระใช้คำรวมคำเดียวว่า “ทิฏฐิ” เช่น สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น มโนกรรม คือ ทิฏฐินี้เป็นตัวกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสังคม ตลอดจนอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด ดังเช่นแนวความคิดที่มุ่งจะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวบันดาลอยู่เบื้องหลังพัฒนาการของอารยธรรมตะวันตกที่เป็นมาจนถึงปัจจุบัน

แต่สิ่งที่เป็นแกนกลางร่วมกันของกรรมทั้ง ๓ ประการนี้ก็คือเจตจำนง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” [๒๒/๓๓๔] แปลความได้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม เจตนาในความหมายว่า เจตจำนง ความตั้งจิตคิดหมาย การเลือกตัดสินใจ ว่าจะเอาอย่างไร

ในการกระทำ ในการพูดจาสื่อสารและในความคิดทุกกรณีมีเจตจำนงอยู่ ที่แท้กรรมก็คือตัวเจตจำนงนี้เอง และโลกมนุษย์นั้นถือว่าเป็นโลกแห่งเจตจำนง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นไปในโลกมนุษย์ คือ ในสังคมนั้น เกิดจากและเป็นไปตามเจตจำนงของมนุษย์ทั้งสิ้น เจตจำนงเป็นปัจจัยในระบบของธรรมชาติส่วนที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นผู้รับผิดชอบ

โลกมนุษย์ในระบบของกฎธรรมชาติ

พุทธศาสนาถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เรียกว่าความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และในระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นแยกได้เป็นกฎย่อยๆ เพื่อความสะดวกเป็น ๕ กฎ ดังนี้ [ที.อ.๒/๓๔]

๑. อุตุนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกวัตถุ สิ่งทั้งหลายในโลกของวัตถุเป็นไปตามเหตุปัจจัยด้านกายภาพนี้ เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ฤดูกาล การเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนไปเท่านั้นกำหนดเป็นวันหนึ่ง หมุนไปเท่านี้กำหนดเป็นปีหนึ่ง ความเป็นไปอย่างนี้ถือว่าเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นเหตุปัจจัยที่ไม่มีเจตนา ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในโลกของวัตถุนี้จะมีความสม่ำเสมอค่อนข้างแน่นอน เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนเวียนไปตามกฎธรรมชาติค่อนข้างลงตัวและสม่ำเสมอ

๒. พีชนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ความเจริญเติบโตของต้นไม้ ตั้งแต่มีเมล็ดพืชมาปลูกแล้วก็งอกงามกลายเป็นต้นพืช เมล็ดพืชอะไรก็ออกผลเป็นพืชชนิดนั้น แล้วพืชชนิดนั้นก็จะมีความเป็นไปในชีวิตของมันอย่างนั้นๆ ตลอดจนเรื่องชีวิตของมนุษย์ การเกิดของมนุษย์ การแบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์

๓. จิตนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่นว่าจิตเป็นอย่างไร มีธรรมชาติเป็นอย่างไร มีการเกิดดับ มีการสืบต่ออย่างไร จิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เข้ามาประกอบแล้ว จะมีสภาพเป็นอย่างไร คุณสมบัติอย่างไหนเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ในขณะจิตเดียวกัน ถ้าจิตมีคุณสมบัตินี้เกิดขึ้นจะมีคุณสมบัติอื่นอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง หรือถ้าอันนี้เกิดแล้วอันนั้นเกิดขึ้นด้วยไม่ได้เลย เป็นต้น

๔. กรรมนิยาม คือกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์หรือพูดให้กว้างว่าของสัตว์ทั้งหลาย หมายถึงกฎเกณฑ์แห่งเจตจำนง หรือความเป็นเหตุเป็นผลในด้านพฤติกรรมมนุษย์ ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การกระทำของมนุษย์ก็จึงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาติด้วย ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาก็เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามกฎข้อที่ ๑ คือ อุตุนิยาม แต่ถ้าการกระทำหรือเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากเจตนาก็เข้าในกฎข้อ ๔ คือกรรมนิยามนี้

พฤติกรรมที่ประกอบด้วยเจตนานี้เป็นเหตุปัจจัยส่วนที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง และเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่กำหนดเจตนาหรือกรรมของตนเองขึ้น แล้วเจตจำนงหรือกรรมของตนเองก็มากำหนดชีวิตตลอดจนสังคมมนุษย์เองด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสังคม เราตั้งจิตคิดหมาย มีเจตจำนงทำการอย่างไรแล้ว ตัวเจตจำนงหรือการกระทำต่างๆ นั้นก็ส่งผลกระทบต่อๆ กันออกไปในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งในที่สุดผลเหล่านั้นทั้งหมดก็กระทบถึงตัวเราในฐานะที่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยนั้นด้วย โลกมนุษย์นี้เป็นโลกแห่งเจตจำนง ความเป็นไปในชีวิต การประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ความเป็นไปในสังคม อารยธรรมของมนุษย์ ความเจริญและความเสื่อมต่างๆ เหล่านี้อยู่ในขอบข่ายของกฎแห่งกรรมที่มีลักษณะแตกต่างจากธรรมชาติส่วนอื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นกฎธรรมชาติส่วนหนึ่ง

๕. ธรรมนิยาม คือกฎทั่วไปแห่งความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ธรรมดาของสิ่งต่างๆ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชีวิตมนุษย์มีการเกิดขึ้น แล้วก็มีความตายในที่สุด การที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกฎใหญ่ที่ครอบคลุม

ในบรรดากฎทั้ง ๕ ที่กล่าวมานี้ กรรมนิยาม เป็นกฎข้อเดียวที่เราจะนำมาศึกษา เพราะกฎแห่งกรรมนี้เป็นกฎแห่งเจตจำนง ซึ่งเป็นส่วนพิเศษของมนุษย์ที่ธรรมชาติในโลกฝ่ายวัตถุไม่มี แม้แต่ชีวิตพวกพืชก็ไม่มีกฎนี้ สัตว์อื่นทั้งหลายมีส่วนในกฎนี้บ้างแต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก ไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์มีความพิเศษตรงที่มีเจตจำนงซึ่งเป็นเหมือนหัวหน้าที่นำหรือพาคุณสมบัติต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวมาปรุงแต่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ จัดทำสิ่งทั้งหลายและดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดจนก่อการทำลายได้อย่างมากมายมหาศาล

กฎแห่งกรรม เป็นกฎที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมมนุษย์มากที่สุด โดยที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ที่สร้างกรรมขึ้นมา เมื่อมนุษย์สร้างหรือกำหนดมันแล้วมันก็มาสร้างหรือกำหนดเราด้วย ทำให้ชีวิต สังคม และโลกมนุษย์เป็นไปตามวิถีของมัน เราจึงควรต้องเอาใจใส่กับกฎนี้ให้มาก ส่วนกฎอื่นๆ ก็เป็นไปตามธรรมดา อย่างชีวิตของเรา ร่างกายของเรา ก็เป็นไปตามกฎอุตุนิยาม ต้องขึ้นต่ออุณหภูมิของอากาศ มีเซลล์ที่จะต้องเกิดต้องดับ มีผิวพรรณรูปร่างลักษณะที่เป็นไปตามพีชนิยาม และกระบวนการทำงานของจิตของเราก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของจิตนิยาม กฎพวกนี้เราเพียงแต่รู้ แต่เราไม่ค่อยเกี่ยวข้องเท่าไรนัก จุดที่เราจะต้องเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ เจตนา หรือเจตจำนง ในกฎแห่งกรรมนี้ เพราะเราเป็นเจ้าของเรื่องเลยทีเดียว มันเป็นส่วนของมนุษย์แท้ๆ ที่มนุษย์จะเอามาใช้ประโยชน์หรือจะทำอย่างไรก็ได้ เราจะจัดการกับชีวิตของตนเองอย่างไร ก็อยู่ในแดนของกรรมทั้งนั้น ถ้าเรารู้เรื่องหรือฉลาดในเรื่องกรรมแล้ว เราก็นำกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยเอาเจตจำนงของเราไปจัดสรรเกี่ยวข้องกับกฎอื่น ใช้กฎอื่นให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์เรานี้ได้ทั้งหมด รวมความว่าเรื่องของมนุษย์และความพิเศษของมนุษย์นั้นอยู่ที่เรื่องของกรรม

 

ทิศทางและความเป็นไปของเจตจำนง

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมด้านไหน ตัวแกนของกรรมก็อยู่ที่เจตจำนง เจตจำนงนี้เป็นตัวมุ่งหน้าหรือวิ่งแล่นไป หรืออย่างน้อยก็เป็นตัวกำหนดหรือเลือกว่าจะเอาอันไหนอย่างไร แต่มันจะดำเนินไปอย่างไรก็ต้องมีคุณสมบัติประกอบ ต้องอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ที่เข้ามาร่วม เช่นว่า เจตจำนงนี้มีความโลภเข้ามาเป็นตัวประกอบหรือเป็นตัวบงการ เจตนาหรือความตั้งจิตคิดหมายก็ออกไปในทางที่จะเอาจะเข้าไปหา หรือถ้าเกิดมีโทสะเข้ามาเป็นตัวประกอบเข้ามาควบคุมวิถี เจตจำนงนี้ก็จะคิดหมายออกไปในทางที่จะทิ้งหรือทำลาย แต่ถ้ามีปัญญามาเป็นตัวประกอบ เจตจำนงก็จะปรับพฤติกรรมใหม่ทำให้ตั้งจิตคิดหมายไปในทางของเหตุผล ให้ทำการด้วยความรู้ความเข้าใจ เช่น มองเห็นว่า ถ้าทำไปด้วยความโลภมุ่งจะเอาให้แก่ตัว หรือถ้าคิดไปในทางโกรธจะทำลายกัน จะมีผลไม่ดีมีโทษอย่างนั้นๆ ก็เกิดการปรับพฤติกรรมใหม่ ไม่ทำตามความโลภ และโทสะ แต่ทำไปตามเหตุผลที่มองเห็นด้วยปัญญา

คุณสมบัติที่จะมาประกอบเจตนาหรือเจตจำนงนี้มีมากมาย เมื่อมาถึงตรงนี้ก็เป็นเรื่องกระบวนการของกรรม ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของจิตมาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติทั้งหลายที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความเป็นไปของชีวิตและสังคมมนุษย์นั้นเป็นไปตามกรรมนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่กฎแห่งกรรมหรือกรรมนิยามนั้นก็สัมพันธ์กันกับกฎธรรมชาติอื่นทั้ง ๔ กฎ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องแยกแยะให้ถูกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกฎข้อใด หรือมาจากการผสมผสานโยงกันของกฎต่างๆ ข้อไหนบ้าง อย่างไรก็ตามขอเน้นว่า พุทธศาสนาถือว่ากฎข้อที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คือ กรรมนิยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมนิยามในส่วนที่เกี่ยวกับมโนกรรม

ธรรมชาติของมนุษย์ที่ทำให้ต้องมีการศึกษา

เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ขอให้มองดูตั้งแต่มนุษย์คลอดจากครรภ์มารดาเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลก เมื่อจะมีชีวิต ก็ต้องดำรงชีวิตอยู่ให้รอด แต่การที่จะอยู่รอดด้วยดีนี้จะทำอย่างไร การที่จะอยู่รอดได้ดี ก็คือการที่จะต้องปฏิบัติต่อชีวิตและสิ่งรอบตัวที่ชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง ชีวิตของเราก็อยู่รอดปลอดโปร่ง แต่ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งนั้น ก็จะเกิดความติดขัด คับข้อง หรือบีบคั้น ความบีบคั้น ติดขัด หรือคับข้องนี้ทางพระเรียกว่า ทุกข์ ซึ่งก็คือปัญหาต่อการที่จะอยู่รอด หรือการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยดีนั่นเอง

เมื่อเป็นอย่างนี้ คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายที่ต้องเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง การที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร การที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็เพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ตลอดจนไม่รู้ว่ามันเป็นมาเป็นไปอย่างไร เราทำกับมันอย่างไรแล้วจะเกิดผลอย่างไร ฯลฯ พูดสั้นๆ ก็คือ ไม่รู้ หรือเพราะมี ความไม่รู้ นั่นเอง สรุปว่า ทุกข์ หรือปัญหาเกิดขึ้นแก่ชีวิต เพราะความไม่รู้

เพราะฉะนั้น การที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องให้ผ่านลุล่วงไปได้ ก็ต้องมีความรู้ เช่นต้องรู้ว่ามันคืออะไร เมื่อรู้แล้วก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้ถูกต้อง ก็หมดปัญหา ทุกข์ก็ไม่เกิด หรือถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้ได้ ดับทุกข์ได้ แต่ในความเป็นจริง มนุษย์เกิดขึ้นมายังไม่มีความรู้ดังที่กล่าว มนุษย์เกิดขึ้นมายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ชีวิตของตนเองมนุษย์ก็ไม่รู้จักเลย การอยู่รอดและการมีชีวิตอยู่ด้วยดีของมนุษย์ จึงต้องอาศัยการหาความรู้ แหล่งสำคัญเบื้องต้นของการที่จะได้มาซึ่งความรู้ก็คือการได้รับการฝึกสอนจากมนุษย์อื่น เช่น พ่อแม่ ที่บอกให้รู้ว่าจะทำต่อสิ่งนั้นๆ หรือในเรื่องนั้นๆ อย่างไรๆ เมื่อรู้จักทำแล้วก็รอดก็โล่งไปได้แล้วก็จำไว้ทำต่อๆ ไป ซึ่งตรงนี้มนุษย์จะผิดกับสัตว์อื่นๆ เพราะสัตว์อื่นทั้งหลายจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณซึ่งอยู่ในฝ่ายของพีชนิยาม ได้อาศัยสัญชาตญาณเป็นเครื่องช่วยอย่างมาก เช่นสัตว์หลายอย่างพอเกิดขึ้นมาก็เดินได้ ว่ายน้ำได้ หากินได้ สามารถช่วยตัวเองได้ แต่สำหรับมนุษย์พีชนิยามมีบทบาทน้อยกว่ากรรมนิยาม มนุษย์เมื่อเกิดขึ้นมายังช่วยตัวเองไม่ได้เลย ถ้าถูกทอดทิ้งก็ไม่สามารถอยู่ได้ คือไม่รอด

สาระสำคัญในตอนนี้สรุปเป็นหลักทั่วไปก็คือว่า เริ่มแรกมนุษย์ยังมีความไม่รู้ คือไม่รู้จักอะไร เมื่อไม่รู้จักก็ไม่รู้จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ หรือสถานการณ์นั้นๆ อย่างไรจึงจะผ่านลุล่วงหรือรอดปลอดโปร่งโล่งไปได้ ที่ว่ามีความไม่รู้นี้ ศัพท์วิชาการเรียกว่า อวิชชา และเมื่อไม่สามารถปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ก็เกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้นขึ้นเรียกว่า ทุกข์ เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงคู่กับทุกข์ อวิชชาเป็นมูลเดิมหรือเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ เพราะฉะนั้นธรรมชาติของอวิชชาจึงเป็นสิ่งที่ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต จึงจัดเป็นอกุศล (คำว่าไม่เกื้อกูลในที่นี้ศัพท์วิชาการเรียกว่าอกุศล)

ในเมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วก็จะต้องอยู่ให้รอดต่อไป แต่จะทำอย่างไรในเมื่อยังไม่มีความรู้ อะไรจะเป็นตัวนำพฤติกรรม ถ้ายังไม่มีความรู้มานำ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า มนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่าอายตนะ หรืออินทรีย์ ติดตัวมา สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นตัวนำชีวิตมนุษย์ อายตนะเหล่านี้เป็นทางรับรู้ประสบการณ์ หรือเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล แต่อินทรีย์หรืออายตนะนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ที่ว่านี้อย่างเดียว มันทำหน้าที่ ๒ อย่างที่สำคัญมาก ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ นั่นก็คือ

๑. เป็นทางรับรู้ข้อมูล หรือเป็นทางรับความรู้ คือ รับรู้ประสบการณ์เข้ามาในลักษณะที่เป็นข้อมูล ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจแล้วปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง ถ้ามนุษย์รู้จักประโยชน์ของอายตนะหรืออินทรีย์ในแง่นี้ ก็จะใช้มันในการเรียนรู้ หรือเป็นเครื่องมือ หาความรู้

สำหรับมนุษย์ที่มีการศึกษาหรือมีการพัฒนาอย่างถูกต้อง การใช้อายตนะหรืออินทรีย์ในแง่ของการเรียนรู้หรือเป็นเครื่องมือหาความรู้นี้ จะเป็นพฤติกรรมหลัก ในการดำเนินชีวิต

๒. เป็นทางรับรู้ความรู้สึก หรือเป็นที่รับความรู้สึก กล่าวคือพร้อมกับการรับรู้อย่างแรกนั้น ก็จะมีความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย คล้ายกับว่าสิ่งทั้งหลายเมื่อสัมพันธ์กับ ตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย ของเราแล้ว มันมีคุณสมบัติที่ทำให้เรารู้สึกสบายหรือไม่สบายหรือไม่ก็เฉยๆ ทันที ความรู้สึกนี้เรียกว่า เวทนา เมื่อเรารับรู้จึงไม่ใช่เพียงได้ข้อมูล หรือประสบการณ์เท่านั้น แต่จะมีความรู้สึกสบาย-ไม่สบายเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย เช่น เมื่อตารับรู้คือเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกสบายตา หรือไม่สบายตาเกิดขึ้นด้วย เมื่อหูได้ยินเสียงก็จะมีความรู้สึกสบายหู หรือไม่สบายหูเกิดขึ้นด้วย เป็นต้น ความรู้สึกสบายหรือเอร็ดอร่อย เรียกว่าสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ไม่อร่อย เรียกว่าทุกขเวทนา

การรับรู้ด้านที่เป็นความรู้สึกนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะมาเป็นตัวนำพฤติกรรมในขณะที่คนยังมีความไม่รู้ หรือไม่มีปัญญา กล่าวคือพอมีความรู้สึกสบาย (ได้สุขเวทนา) มนุษย์ก็จะมีปฏิกิริยาในแง่ที่ชอบ หรือจะเอา แต่ถ้ารับรู้แล้วไม่สบาย (เกิดทุกขเวทนา) ก็จะไม่ชอบ จะไม่เอา จะหนีหรือทำลาย ปฏิกิริยานี้เรียกว่า ตัณหา คนที่มองประโยชน์ของอายตนะหรืออินทรีย์แต่ในแง่ของความรู้สึก ก็จะใช้มันในการเสพรส หรือเป็นเครื่องมือหาสิ่งเสพ หรือสิ่งบำเรอมาสนองตัณหานี้

สำหรับมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา หรือขาดการพัฒนาที่ถูกต้อง การใช้อายตนะหรืออินทรีย์เพื่อการเสพรสหรือแส่เสพหาสิ่งบำเรอ จะเป็น พฤติกรรมหลัก ของการดำเนินชีวิต เขาไม่รู้จักหรือไม่สนใจที่จะใช้อายตนะหรืออินทรีย์เหล่านั้นในการเรียนรู้หรือหาความรู้

อีกประการหนึ่ง สำหรับคนที่ยังไม่มีการศึกษาหรือยังไม่ได้มีการพัฒนาเหล่านั้น การรับรู้อย่างที่ ๒ นี้จะมีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบต่อการรับรู้อย่างแรกในหลายรูปแบบด้วย เช่น พอรับรู้และเกิดความรู้สึกพร้อมทั้งปฏิกิริยาที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจแล้ว ความสนใจจะพุ่งมารวมอยู่ที่ความชอบใจและไม่ชอบใจ แล้วคิดปรุงแต่งต่อไปต่างๆ ทำให้การรับรู้ด้านที่ ๑ หยุดหรือขาดตอน ทำให้ไม่รับรู้ความรู้ที่เป็นข้อมูลนั้นต่อไปอีก จึงไม่ได้ความรู้ที่ควรจะรู้ หรือบางทีก็ทำให้สนใจที่จะรับรู้ข้อมูลเฉพาะในแง่ที่สนองความชอบใจหรือไม่ชอบใจ จึงทำให้ได้ความรู้ที่เอนเอียง หรือบิดเบือน หรือเฉพาะจุดเฉพาะแง่ ไม่ตรงตามความเป็นจริง และไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น จึงสรุปให้เห็นชัดได้ว่า

มนุษย์นั้น เมื่อมีการรับรู้ประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกหรือเวทนาเกิดขึ้นด้วย คือ รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ความรู้สึกที่สบายเรียกว่าสุขเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา พอรับรู้เข้ามาและเกิดมีเวทนานี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มนุษย์ที่ยังมีอวิชชาก็จะมีปฏิกิริยาคือ ถ้าเวทนาสุขสบายก็ชอบใจ อยากจะเอา เรียกว่ายินดี ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ ขัดใจ เรียกว่ายินร้าย ปฏิกิริยายินดียินร้ายนี้เรียกรวมว่าตัณหา ความยินดีและยินร้ายนี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทำให้ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา จะเอาอันไหนและอย่างไร ตรงนี้เองเป็นจุดที่มีเจตนาเข้ามาเกี่ยวข้องคือตรงที่มีปฏิกิริยาชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง หมายความว่า การชอบหรือไม่ชอบและจะเอาอย่างไรนั้นมีเจตนาเป็นตัวตัดสินใจเลือก และเจตนาที่ตัดสินใจเลือกนั้นก็จะเลือกไปตามแรงผลักดันของตัณหา ตอนนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการของกรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เป็นอันว่า เมื่อไม่มีความรู้หรือไม่ใช้ความรู้ (ปัญญา) ตัณหาก็จะมาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม คือทำไปตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา การที่ต้องใช้ตัณหาเป็นตัวนำทางพฤติกรรมอย่างนี้ก็เพราะมนุษย์ยังไม่พัฒนา ยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีปัญญา เขาจึงอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหาไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเห็นได้ว่า การกระทำของมนุษย์ส่วนมาก ก็เนื่องมาจากการที่จะหาสุขเวทนา และหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา ซึ่งเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป ที่ไม่มีการศึกษา หรือยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา

ทีนี้ ก็เกิดปัญหาว่า การที่มนุษย์เป็นอยู่โดยใช้ตัณหาเป็นตัวนำนั้นจะทำให้ตนเองอยู่รอดด้วยดีหรือไม่ ถ้าอยู่รอดด้วยดีก็หมดเรื่อง แต่ปรากฏว่ามันไม่ดี เพราะว่าถ้าจะทำอะไรๆ เพียงแค่ตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาหรือหลีกเลี่ยง ทุกขเวทนาเท่านั้น ก็จะเกิดปัญหาหลายขั้นตอน คือ

๑. อันตรายต่อชีวิตของตน ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ

๒. อันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์หรือสังคม

๓. อันตรายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทีนี้ ก็ลองมาดูว่า ถ้าเราเอาตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรม จะเกิดคุณหรือเกิดโทษอย่างไร โดยดูจากปัญหาหรืออันตราย ๓ ประการนี้ เริ่มตั้งแต่ในด้านชีวิตของตนเอง จะเห็นว่าในระดับต้นๆ พฤติกรรมแบบสนองเวทนาจะช่วยได้มาก เช่น มองเห็นอะไรไม่สบายตา มนุษย์ก็จะหลีกเลี่ยงไว้ก่อน เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดทุกขเวทนานั้นเป็นอันตรายต่อสายตาหรือต่อร่างกาย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเห็นแล้วสบายตา สิ่งนั้นก็มักจะเกื้อกูลต่อชีวิต แต่พอเอาเข้าจริงก็ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอนเสมอไป ต่อมาเราจะรู้ว่ามันใช้เป็นหลักไม่ได้จริง ยกตัวอย่าง อะไรก็ตามที่สบายลิ้น คืออร่อย ตามปกติเราก็ถือว่าดี ใช้ได้ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตร่างกายของเรา แต่ที่ว่านั้นไม่จริงเสมอไป เพราะบางอย่างที่อร่อยสบายลิ้นแต่เป็นโทษแก่ชีวิตก็มี ซึ่งตรงนี้เองที่เราเริ่มพบความไม่แน่นอน จะเอาเวทนาและตัณหาเป็นเกณฑ์ตัดสินเด็ดขาดไม่ได้ เราใช้มันเป็นตัวนำทางเบื้องต้นได้บ้างแต่ว่าไม่ปลอดภัย พอมาเจอปัญหาว่าสิ่งที่อร่อยจะเป็นคุณต่อชีวิตจริงหรือไม่ ก็ชักจะไม่แน่เสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วเราจะเอาอะไรเป็นหลักตัดสินว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อชีวิตกันแน่

ถ้าเราใช้ตัณหาซึ่งในที่นี้คือความอยากเสพรสอร่อยเป็นตัวนำ ก็หมายความว่า เราก็ต้องกินตามความอร่อย และเมื่อยังอร่อยก็ต้องกินเรื่อยไป ก็เลยกินจนเต็มที่ แต่ปรากฏว่าการกินตามความอร่อยนี้ ทำให้กินมากเกินไป เลยเกิดอาการอาหารไม่ย่อย หรืออ้วนเกินไปก็เสียสุขภาพ บางคนชอบอาหารจำพวกไขมัน เมื่อกินสนองความอร่อยได้รับไขมันเข้าไปมาก ก็เกิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางทีถึงกับไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หรือเด็กบางคนกินแต่อาหารอร่อยที่ตัวชอบ เช่นกินแต่ขนม กินมากและสิ้นเปลืองเงินมาก แต่กลายเป็นโรคขาดอาหาร แล้วยังเกิดปัญหาทางจิตใจด้วยเนื่องจากมีความขุ่นเคืองคับข้องเมื่อได้อาหารไม่อร่อยอย่างที่อยาก ทำให้จิตใจงุ่นง่านดิ้นรนจะไปหา เมื่อไม่ได้ก็ไม่ยอม เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นตัวอย่างของอันตรายต่อชีวิตของตนเอง ที่เกิดจากการให้ตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรม นอกจากนั้น ในแง่สังคม เมื่อกินสนองตัณหาเพื่อมุ่งความอร่อยแล้ว ก็ทำให้บุคคลมุ่งหาสิ่งอร่อยเพื่อสนองความอยากให้มากที่สุด การหามาเสพสนองความอยากนั้น ไม่มีขอบเขต และไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้เกิดการเบียดเบียนกัน เกิดปัญหาในทางสังคม เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกัน ยิ่งกว่านั้น การที่คนเราบริโภคสนองความอยากอย่างไม่มีขอบเขตก็ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมตามมาอีก รวมความว่าการบริโภคเกิดมีปัญหาขึ้นมาจากการที่ปล่อยให้พฤติกรรมเป็นไปตามแนวทางของตัณหา

เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้จะทำอย่างไร เราจะปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่อไปไม่ได้ มนุษย์จะต้องรู้ว่าอะไรแค่ไหนเป็นคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิตของตนแล้วทำตามความรู้นั้น คือเอาความรู้มาเป็นตัวนำพฤติกรรม เช่นจะบริโภคอาหารก็ไม่ใช่เอาแต่ความอร่อย ที่เป็นสุขเวทนา แต่บริโภคด้วยความรู้ในคุณค่าของอาหารนั้นๆ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มที่จะเข้ามาสู่การพัฒนามนุษย์หรือการศึกษา

แนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาในการพัฒนามนุษย์

เมื่อเกิดปัญหาจากตัณหาก็ทำให้มนุษย์ต้องคิดหาทางออกที่จะแก้ปัญหาให้ถูกต้อง แล้วก็ได้มองเห็นว่า ในการบริโภคนั้น มนุษย์จะต้องรู้ว่าสิ่งนั้นๆ มีคุณค่าต่อชีวิตจริงหรือไม่ อาหารอะไรมีคุณค่าต่อชีวิต และกินแค่ไหนจึงจะพอดีกับความต้องการของชีวิต ไม่ใช่กินไปตามตัณหาที่อยากเสพสุขเวทนาของรสอร่อยเท่านั้น เมื่อรู้คุณค่าของอาหารและความต้องการของชีวิตแล้ว เราจึงจะรู้จักเลือกกินได้ถูกต้องให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ในการศึกษา เราจึงต้องฝึกคนให้พัฒนาปัญญา เริ่มแต่ให้รู้ความมุ่งหมายของการบริโภค ว่าเรากินเพื่ออะไร เช่น ถามปัญหากับตนเองว่า กินเพื่ออะไร เรากินเพื่อสนองความต้องการที่จะได้เสพรสเอร็ดอร่อยหรือ เราควรจะเอาความเอร็ดอร่อยมาเป็นตัวตัดสินการบริโภคอย่างนั้นหรือ หรือแม้กระทั่งที่พัฒนายิ่งไปกว่านั้นอีกในทางลบ คือ เอาการบริโภคมาเป็นเครื่องแข่งขันวัดฐานะกัน เป็นการกินเพื่ออวดโก้ ในการศึกษาก็จะฝึกให้รู้จักพิจารณาว่า การกินเพื่ออวดฐานะกันนี้เป็นวิธีบริโภคที่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เช่นนั้นแล้วเรากินเพื่ออะไร ก็จะได้คำตอบว่า เรากินเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ได้ เพื่อจะดำรงชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยดี ให้มีสุขภาพดี และเพื่อให้เรามีชีวิตที่ผาสุก ตลอดจนที่ทางพระพูดว่าเพื่อเป็นเครื่องเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม หรือเพื่อเกื้อหนุนการบำเพ็ญกิจอันประเสริฐ คือการทำหน้าที่ และทำประโยชน์ต่างๆ

เมื่อมองเห็นวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมานี้ เราก็เริ่มมีตัวตัดสินแล้ว ถึงตอนนี้ ปัญญา เกิดขึ้นแล้ว พฤติกรรมในการบริโภคก็จะเปลี่ยนแปลงไป เราจะมองไปในแง่ที่ว่า กินอะไรแค่ไหนอย่างไรร่างกายจึงจะอยู่ได้สบาย สุขภาพจึงจะดี แข็งแรง ไม่มีโรค กินแค่ไหนจึงจะพอดีกับความต้องการของชีวิตร่างกายของเรา เราจะต้องดูว่าอาหารอะไรมีคุณค่าแก่ชีวิต และมีปริมาณมากเท่าไรจะพอดี นี่คือการใช้ปัญญา ในแง่ทำหน้าที่รู้คุณค่าของอาหาร และรู้ความประสงค์ในการกินในการบริโภค ปัญญานี้จะมาเป็นตัวนำพฤติกรรมตัวใหม่ ปัญญา จะมากำหนดพฤติกรรมแทนตัณหา เมื่อปัญญามานำ เราก็ไม่ต้องทำตามตัณหา เพราะเรามองเห็นคุณค่าที่แท้จริงที่ต้องการแล้ว เราก็ไม่เอาแค่สุขเวทนา แต่เราจะเอาคุณค่าที่แท้จริงนั้น เราก็จึงเปลี่ยนมาปฏิบัติตนตามที่ปัญญาบอก โดยให้ปัญญาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ตัวที่เริ่มต้นก็คือโยนิโสมนสิการ ที่หักเหกระแสความคิดออกจากตัณหา โดยนำเอาปัญญามาใช้กับเรื่องที่เกี่ยวข้อง แล้วทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป

เมื่อปัญญาทำให้รู้ถึงคุณค่าแท้จริงที่ต้องการหรือตัวประโยชน์ที่แท้แล้ว ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง คือ เกิดความอยากประเภทที่ ๒ ที่คู่กับปัญญา ซึ่งอยากจะทำให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงนั้น เป็นความอยากที่อาศัยความรู้คือปัญญาเป็นฐาน ความอยากประเภทที่สองนี้เป็นกุศล คือเกื้อกูลต่อชีวิต เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งตรงข้ามกับความอยากประเภทที่ ๑ ที่เป็นอกุศล ซึ่งไม่เกื้อกูลต่อชีวิต ที่เรียกว่า ตัณหา

ในการศึกษา คนทั่วไปมักแยกไม่ออก ความอยาก ๒ ประเภทนี้ แล้วก็พูดกราดไปว่าความอยากเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ความอยากประเภทที่ ๒ คือ ฉันทะนี้ เป็นความอยากที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม เป็นองค์ธรรมสำคัญมาก ในการที่จะบำเพ็ญไตรสิกขา หรือทำสิ่งต่างๆ จะต้องมีฉันทะ ถ้าขาดฉันทะไปก็สำเร็จได้ยาก แต่ฉันทะต้องอาศัยปัญญา ปัญญา รู้ว่าอะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้จริง ฉันทะ ก็อยากทำให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีปัญญาคือไม่รู้ ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ต่างจากตัณหาที่ไม่ต้องอาศัยปัญญา อะไรถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ถูกใจ ตัณหาก็อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น ตัณหาจึงอยู่ด้วยกันกับอวิชชา แต่พอปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าสิ่งที่ถูกใจนั้นเป็นโทษเป็นอันตรายต่อชีวิตตัณหาก็หายไป ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริง ฉันทะก็เกิดขึ้นในสิ่งนั้น ดังนั้นปัญญาพัฒนาไป ฉันทะก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย ในทางการศึกษา ถ้าจับจุดนี้ไม่ได้ ก็พูดได้เลยว่า การศึกษานั้นพลาด เสียหลักไปแล้วตั้งแต่ต้นทาง จึงยากจะสำเร็จผลด้วยดี

เพื่อให้รู้จักแยกระหว่างความอยาก ๒ ประเภทนี้ อาจให้ความหมายอย่างง่ายๆ ว่า

๑. ตัณหา คือ ความอยากในรสชาติที่เวทนาบอกเสนอ (=ความอยากที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา)

๒. ฉันทะ คือ ความอยากในคุณค่าที่ปัญญาบอกเสนอ (=ความอยากที่เกิดจากการศึกษา)

คนเกิดมา ไม่ต้องมีการศึกษา ไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องพัฒนาเลย ก็มีตัณหา สามารถอยากเสพรสสุขเวทนา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ แต่พฤติกรรมที่เป็นไปตามบงการของตัณหา จะมีผลในทางเพิ่มทุกข์ ก่อปัญหาไม่คุ้มกับความสุขที่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ไม่เป็นอยู่อย่างมืดบอดด้วยอวิชชา และวิ่งพล่านไปด้วยตัณหา เมื่อคนมีการศึกษาได้พัฒนาขึ้น เกิดปัญญารู้ว่าอะไรดีแท้จริง ก็เกิดฉันทะอยากในสิ่งนั้น แล้วทำไปตามฉันทะนั้น ก็ทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็แก้ปัญหานั้นได้ เรียกว่า ไร้ทุกข์ หรือปลอดทุกข์ (นิยมใช้กันมาว่าดับทุกข์)

จากที่กล่าวมา จึงสรุปกระบวนการแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ได้เป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ (ไร้การศึกษา): อวิชชา + ตัณหา -------------→ พฤติกรรมสร้างทุกข์ (ก่อปัญหา)

แบบที่ ๒ (มีการศึกษา): ปัญญา + ฉันทะ --------------→ พฤติกรรมสลายทุกข์ (แก้ปัญหา)

กระบวนการแบบที่สองเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ คือทันทีที่มนุษย์รู้จักคิดเขาก็เริ่มมีการศึกษา และเมื่อนั้นปัญญาก็เกิดขึ้น ตัวแกนสำคัญของการพัฒนาก็คือปัญญา เพราะทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายและรู้ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร แต่พร้อมกับที่ปัญญาเกิดขึ้นนั้นก็มีการปรับตัวเกิดขึ้นทั้งองคาพยพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพครบทั่วองค์รวม คือมิใช่พัฒนาแต่ปัญญา พฤติกรรมก็พัฒนาด้วย พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป แล้วจิตใจก็พัฒนาด้วย คือจิตใจเปลี่ยนไป เช่นเปลี่ยนจากความอยากด้วยตัณหามาเป็นความอยากด้วยฉันทะเป็นต้น และมีความสุขความพอใจอย่างใหม่เกิดขึ้น นั่นคือพอใจเมื่อได้ทำตามที่ปัญญาบอก ได้ทำตามเหตุตามผลที่ดี เกิดความสุขความพอใจด้วยฉันทะ เป็นการพัฒนาจิตใจ เพราะฉะนั้น การพัฒนาจะเป็นไปพร้อมกันทั้ง ๓ ด้าน คือ พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา การพัฒนาทั้ง ๓ อย่างนี้จะต้องอิงอาศัยและเสริมซึ่งกันและกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ในกระบวนการพัฒนามนุษย์

ถึงตอนนี้ เราสามารถให้ความหมายของการศึกษาได้ในระดับหนึ่งว่า การศึกษา คือการพัฒนาคนให้พ้นจากการมีชีวิตภายใต้บงการของตัณหาที่จะดิ้นรนแสวงหาสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา บนฐานของความไม่รู้คืออวิชชา ที่ทำให้เวียนวนอยู่ในตาข่ายของการก่อปัญหาเพิ่มทุกข์ ไปสู่การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้เกิดมีฉันทะ ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความเป็นอิสระไร้ทุกข์ปราศจากปัญหา

ขอสรุปว่า ในพุทธศาสนามีหลักการให้การศึกษามนุษย์ด้วยการฝึกฝนพัฒนาให้รู้จักรับรู้และรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เรียกว่าทำให้ไร้ทุกข์ การศึกษาหรือการพัฒนาคนนี้ ก็ดำเนินไปตามหลักของกรรมนั่นเอง เพราะหลักกรรมถือว่าสิ่งที่เป็นผลจะเกิดขึ้นจากเหตุ คือเป็นกฎแห่งเหตุและผล แต่เป็นกฎเหตุผลในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ ตามหลักกรรมนั้น การกระทำเป็นเหตุ สิ่งที่ต้องการเป็นผล ฉะนั้นผลสำเร็จที่ต้องการจึงเกิดจากการกระทำ ในการกระทำนั้นความพากเพียรพยายามเป็นแรงขับเคลื่อน การที่มนุษย์จะสามารถทำการต่างๆ อันเป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่ผลที่ต้องการได้นั้น มนุษย์จะต้องมีความเพียรพยายามในการกระทำ ผู้ที่เข้าใจหลักกรรมจะหวังผลสำเร็จจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามตามเหตุตามผล

หลักกรรมเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ในการศึกษาหรือพัฒนามนุษย์นั้น เราเอาองค์ประกอบที่ดีซึ่งเป็นกุศลเข้ามา เริ่มแต่เอาปัญญาเข้ามา เอาฉันทะและกุศลอื่นๆ เข้ามา ทำให้กระบวนการของกรรมเป็นกระบวนการของกรรมที่ดีที่เป็นกุศล เมื่อคนมีพฤติกรรมที่เป็นกุศลประกอบด้วยกุศลมีปัญญาและฉันทะเป็นต้น ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือไร้ทุกข์ เป็นการเปลี่ยนจากกระบวนการแห่งอกุศลกรรมที่มีอวิชชาและตัณหาเป็นมูลเหตุนำไปสู่ปัญหาหรือความทุกข์

พุทธศาสนาปฏิเสธความเห็นผิดที่ว่าทุกอย่างเป็นไปเพราะกรรมเก่า แต่ไม่ปฏิเสธเรื่องของกรรมเก่าในความหมายที่ถูกต้องว่า กรรมเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของกรรม คือ เป็นเหตุปัจจัยส่วนที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งส่งผลเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการสะสมกรรม ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรก็เกิดจากการสะสมกรรมของเรานั่นเอง ฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ตาม การสะสมกรรมของเราก็จะส่งผลสืบทอดมาแม้กระทั่งเป็นตัวอิทธิพลชักนำให้คิดนึกในแนวไหน ให้มีบุคลิกภาพอย่างไร ให้เรามีความสามารถในขอบเขตใด ทำอะไรได้แค่ไหน แต่ในกระบวนการของกรรมนั้น กรรมส่วนที่เราต้องเกี่ยวข้องสำคัญมากที่สุด และควรเอาใจใส่มากที่สุด ก็คือ กรรมปัจจุบัน ที่ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรในบัดนี้และต่อจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของเราที่ว่าจะเลือกตัดสินใจ หรือตั้งใจอย่างไร บุคคลใดมีปัญญา ฉลาดในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย รู้อดีตได้ดีด้วย มองเห็นปัจจุบันชัดเจนด้วย เล็งอนาคตได้เก่งด้วย ก็จะยิ่งทำกรรมปัจจุบันได้ผลดี ซึ่งจะส่งผลเป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้าได้มากที่สุด

จากที่กล่าวมานี้จะทำให้มองเห็นภาพทั่วๆ ไปของพฤติกรรม ซึ่งทั้งหมดนั้นก็อยู่ในเรื่องของกรรมนั่นเอง ส่วนเรื่องของจริต ๖ กับบุคคล ๔ ที่เคยถามถึงนั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งก็เกิดจากการสั่งสมกรรมในรูปแบบต่างๆ จริต ๖ เป็นผลจากการสั่งสมคุณสมบัติเฉพาะด้านนั้นๆ จนกลายเป็นแบบแผนนิสัยของจิตใจและพฤติกรรมแต่ละแบบๆ คือสั่งสมให้เกิดความเคยชินของจิตใจที่จะคิดอย่างนั้นๆ และแสดงออกเป็นพฤติกรรมอย่างนั้นๆ ส่วนบุคคล ๔ ประเภท เป็นความแตกต่างที่เกิดจากการสั่งสมกรรมประเภทที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของคน เช่น มีการศึกษาพัฒนาตัวไว้ดี ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาอยู่เสมอๆ มีการสั่งสมสติปัญญาไว้มาก ก็ทำให้เกิดเป็นบุคคลประเภทที่ ๑ คือ อุคฆฏิตัญญู เป็นบุคคลที่รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่งทำให้เขาเกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และฉับไว ในที่นี้ เมื่อเราพูดถึงหลักการทั่วไป หรือหลักใหญ่ เรื่องจริต ๖ [๒๙/๗๒๗; วิสุทฺธิ.๑/๑๒๗] และเรื่องบุคคล ๔ [๒๑/๑๓๓] ก็กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไป

กระบวนการของการศึกษา หรือระบบการพัฒนาบุคคล

กระบวนการที่จะพัฒนาบุคคลนั้นแยกได้เป็น ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการพัฒนา และขั้นตอนในกระบวนการพัฒนา แต่ละขั้นตอนมีหลักการสำคัญดังนี้

๑. ขั้นนำสู่สิกขา คือขั้นก่อนที่จะเข้าสู่ไตรสิกขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขั้นก่อนมรรค เพราะมรรคหรือเรียกให้เต็มว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คือ ไตรสิกขาที่มองในแง่เป็นวิถีชีวิตนั่นเอง หมายความว่า สิกขา คือการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนา มรรค คือวิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตที่ดี ไตรสิกขา เป็นการศึกษาที่ฝึกฝนพัฒนาคน พัฒนาอย่างไร ก็เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้อย่างนั้นนั่นเอง

เมื่อมองในแง่ของมรรค ก็เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง ปัญญาในขั้นนี้เป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือการถือหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นความเชื่อถือที่เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา ทำให้มีการพัฒนาต่อไปได้ ในทางตรงข้าม ถ้ามีความเชื่อมีทิฏฐิที่ผิด ก็จะตัดหนทางการพัฒนาไปเลย เช่น ถ้าเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองแล้วแต่โชค หรือเป็นเพราะการดลบันดาล ความเชื่ออย่างนี้ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ และถ้าเชื่ออย่างนี้แล้วก็ทำให้พัฒนาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปทำไม ดังนั้น ในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาบุคคลเมื่อเริ่มต้นจึงต้องมีปัญญาอยู่บ้าง นั่นคือปัญญาในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้อง

คราวนี้สิ่งที่น่าพิจารณาต่อไป ก็คือว่า สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานหรือเป็นจุดเริ่มให้คนมีการฝึกฝนพัฒนาต่อไปได้นี้ จะเกิดขึ้นในตัวบุคคลได้อย่างไร คือมีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้บุคคลเกิดมีสัมมาทิฏฐิ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการ [๑๒/๔๙๗]

๑. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ

๒. ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

หลักการนี้หมายความว่า การมีสัมมาทิฏฐิอาจจะเริ่มจากปัจจัยภายนอก เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือวัฒนธรรม ซึ่งทำให้บุคคลนั้นได้รับอิทธิพลจากความเชื่อ ความคิดนึก ความเข้าใจ ภูมิธรรมภูมิปัญญา และพฤติกรรมที่ถ่ายทอดต่อกันมา ถ้าสิ่งที่ได้รับจากการแนะนำสั่งสอนถ่ายทอดมานั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง อยู่ในแนวทางของเหตุผล ก็เป็นจุดเริ่มของสัมมาทิฏฐิ ที่จะนำเข้าสู่กระแสการพัฒนาหรือกระบวนการฝึก ในกรณีอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ

ถ้าไม่เช่นนั้น บุคคลอาจจะเข้าสู่กระแสการพัฒนาโดยเกิดปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินั้นด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าสู่กระแสการพัฒนาด้วยปรโตโฆสะ เพราะคนที่มีโยนิโสมนสิการแต่แรกเริ่มนั้นหาได้ยาก

คำว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ คืออาจจะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าปรโตโฆสะนั้นเป็นบุคคลที่ดี เราเรียกว่า กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปรโตโฆสะชนิดที่กลั่นกรองแล้ว และเราได้เลือกสรรที่จะนำมาใช้งานจริงๆ ในการศึกษา ปรโตโฆสะโดยทั่วๆ ไป ก็ได้แก่พ่อแม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ สื่อมวลชน และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในสังคม ถ้าบุคคลและสถาบันเหล่านี้เป็นปรโตโฆสะที่ดี ก็จะนำเด็กไปสู่สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ดีต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนที่พัฒนาดีแล้วจะมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ พึ่งตนเองได้โดยมีอิสรภาพ แต่คุณสมบัตินี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเขารู้จักใช้ปัจจัยภายใน เพราะถ้าเขายังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็คือ การที่ยังต้องพึ่งพา ยังไม่มีอิสรภาพ จึงยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่ปัจจัยภายใน แต่เรานำเอาปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวสื่อในเบื้องต้น เพื่อช่วยชักนำให้คนสามารถใช้โยนิโสมนสิการ จนมีปัจจัยภายในของตัวเขาเอง เมื่อเรารู้หลักนี้แล้ว เราก็นำเอากัลยาณมิตรมาช่วยสร้างโยนิโสมนสิการให้คน นั่นคือเป็นการอาศัยปรโตโฆสะ โดยเฉพาะกัลยาณมิตรเป็นตัวนำให้เข้าถึง โยนิโสมนสิการ

นอกจากปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการแล้ว อันที่จริงยังมีองค์ประกอบแทรกที่มาช่วยหนุนอีก ๕ ตัว ซึ่งอยู่ในกระบวนการฝึกขั้นก่อนที่จะเข้าสู่มรรคด้วย จึงรวมกันมีทั้งหมด ๗ ตัว คือ [๑๙/๑๒๙-๑๓๗]

๑. กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร) ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่ได้กล่าวไปแล้ว

๒. ศีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) คือ ความเป็นผู้มีวินัย หรือชีวิตที่มีระเบียบ หรือมีพฤติกรรมเคยชินที่ดี ซึ่งเกิดจากการใช้วินัยมาฝึกให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี ด้วยการจัดระเบียบชีวิต และจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้มีสภาพซึ่งเอื้อโอกาสต่อการที่จะดำเนินการพัฒนาต่อๆ ไป

๓. ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ) คือ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่ความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามเป็นเลิศ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่แทนตัณหา

๔. อัตตสัมปทา (ความทำตนให้ถึงพร้อม) คือการทำตนให้ถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

๕. ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยหลักการแห่งความเชื่อถือ) คือเชื่อถือในหลักการแห่งเหตุผลหรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมองอะไรก็มองตามเหตุปัจจัย ซึ่งทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ที่คิดหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลา

๖. อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) คือ ความกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา มีสติ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่พลาดโอกาส โดยเฉพาะความมีจิตสำนึกตระหนักในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เห็นคุณค่าของกาลเวลา และรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนทำงานและพัฒนาชีวิตแข่งกับเวลา

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ) การรู้จักมนสิการ หรือรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง ไม่มองอะไรข้ามๆ พร่าๆ คลุมๆ แต่รู้จักคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัย แยกแยะให้เห็นองค์ประกอบ จับแง่ดีมาใช้ประโยชน์ได้ และรู้จักโยงให้เห็นองค์รวมหรือสร้างองค์ความรู้ความคิดใหม่ได้ ทำให้เกิดปัญญาที่เข้าถึงความจริง ได้ประโยชน์ และทำการสำเร็จ สนองความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ได้โดยสมบูรณ์

องค์ประกอบหรือปัจจัยฝึกทั้ง ๗ ตัว ที่กล่าวมานั้น รวมเรียกว่าบุพนิมิตของมรรค เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าถึงการมาของมรรค เป็นจุดเริ่มที่จะนำเข้าสู่มรรค คือวิถีชีวิตที่ดีงามของผู้มีการศึกษา ในการศึกษานั้นเราเอาปัจจัยตัวแรกคือ กัลยาณมิตร มาช่วยชักนำ หรือกระตุ้นให้เกิดปัจจัยตัวอื่น ตั้งแต่ตัวที่ ๒ จนถึงตัวที่ ๗

การที่จะมีกัลยาณมิตรนั้น จัดแยกได้เป็นการพัฒนา ๒ ขั้นตอน ขั้นแรก กัลยาณมิตรนั้นเกิดจากผู้อื่นหรือสังคมจัดให้ ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่เป็นผู้รับและยังมีการพึ่งพามาก แต่เมื่อเด็กพัฒนามากขึ้น ก็จะเข้าสู่ขั้นที่สอง คือเด็กเกิดมีโยนิโสมนสิการ แล้วเขารู้จักเลือกหากัลยาณมิตรเอง โดยที่เขามองเห็นคุณค่าของแบบอย่างหรือแหล่งความรู้ที่ดี เขาจะนิยมแบบอย่างที่ดี รู้จักปรึกษาไต่ถาม เขาจะเลือกสรรหาคนที่จะเข้าไปปรึกษา รู้จักหาแหล่งความรู้ รู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดี รู้จักเลือกชมรายการโทรทัศน์ที่ดีมีประโยชน์ พัฒนาการในขั้นที่เขาเป็นฝ่ายเลือกหาและเข้าหากัลยาณมิตรเองนี้ เป็นความหมายของความมีกัลยาณมิตรที่ต้องการในที่นี้ และเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว เขาจะสามารถทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย ซึ่งเป็นจุดต่อสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามและการพัฒนาสังคม

ถ้าบุคคลมีปัจจัย ๗ ข้อนี้แล้วก็เชื่อมั่นได้เลยว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีงามและกระบวนการศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนขยายของมรรค หรือของไตรสิกขานั้นเอง ที่ยื่นออกมาเชื่อมต่อเพื่อรับหรือดึงเอาคนเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนพัฒนา มันเป็นตัวเร่ง เป็นตัวเสริมประสิทธิภาพ ที่จะนำเข้าสู่ไตรสิกขา และคอยเสริมให้การฝึกในไตรสิกขาได้ผลดี

ในการศึกษา ที่จัดทำกันอย่างเป็นงานเป็นการ เป็นกิจการของสังคมนั้น ปัจจัยข้อที่ ๑ คือความมีกัลยาณมิตร เป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญมาก รัฐหรือสังคมมีหน้าที่จัดสรรและจัดเตรียมบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร เช่น ครูอาจารย์ ถึงกับต้องจัดเป็นองค์กรใหญ่โต ใช้จ่ายงบประมาณมากมาย ถ้าได้กัลยาณมิตรที่ดีมีคุณสมบัติมีความรู้เข้าใจชัดเจนในกระบวนการของการศึกษา และสามารถทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรได้ดี กิจการการศึกษาของสังคมก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี ดังนั้นการสร้างหรือจัดเตรียมกัลยาณมิตรจึงมีความสำคัญยิ่ง และควรจัดเตรียมอย่างถูกต้อง

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขอย้ำไว้ ก็คือ ในการที่จะเข้าไปช่วยบุคคลอื่นเพื่อนำเขาเข้าสู่ไตรสิกขานั้น กัลยาณมิตรจะต้องรู้จักบุคคลเสียก่อนว่า มีลักษณะอย่างไร นั่นก็คือต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เรื่องบุคคล ๔ และ จริต ๖ เป็นต้น เพื่อจะได้ประยุกต์กระบวนการสิกขาให้เหมาะกับบุคคลนั้นๆ ในการปฏิบัติเฉพาะกรณี แม้แต่ในการพัฒนาทางจิตขั้นลึก ที่เรียกว่าการบำเพ็ญกรรมฐาน ก็ยังต้องมีการเรียนรู้เรื่อง จริต ๖ เพื่อการจัดข้อปฏิบัติในการศึกษาให้เหมาะกับตัวบุคคล

ในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกเป็น ๒ แบบคือ ความแตกต่างแนวตั้ง กับความแตกต่างแนวนอน ความแตกต่างแนวตั้งจะเห็นได้ในความรู้ที่เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ (อินทริยปโรปริยัตตญาณ) ซึ่งดูที่ระดับการพัฒนาว่าไปได้แค่ไหนแล้ว เช่น ในเรื่องบุคคล ๔ ประเภท ส่วนความแตกต่างแนวนอนจะเห็นได้ในความรู้ที่เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ความโน้มเอียงความถนัดอัธยาศัย (นานาธิมุตติกญาณ) ซึ่งแม้แต่บุคคลที่พัฒนาแล้วในระดับเดียวกันก็เป็นไปต่างๆ กัน ดังเช่นในเรื่องจริต ๖ เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงรู้ความแตกต่างของบุคคลทั้ง ๒ แบบนั้นแล้วพระองค์จึงทรงสามารถจัดวิธีการสอนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นและสอนอย่างได้ผลดี

๒. ขั้นไตรสิกขา เป็นขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบุคคล โดยใช้หลักไตรสิกขาเต็มระบบ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาบุคคล เราควรมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนี้

ศักยภาพของมนุษย์: ธรรมชาติที่เอื้อต่อการพัฒนา

เมื่อจะให้การศึกษา พุทธศาสนาจะเน้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในจุดที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เช่น ในพุทธคุณ บทหนึ่งว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” [๑๒/๙๕] (แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม)

มีคำตรัสของพระพุทธเจ้ามากมายที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือนพร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกอบรมตนจนถึงที่สุด เช่น

    วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา
    กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ    [๒๕/๓๓]
    อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐยิ่งกว่านั้น
    ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ     [๒๕/๓๓]
    ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ประเสริฐสุดคือคนที่ฝึกแล้ว
    วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส     [๑๖/๗๒๔]
    ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ
    มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ
    . . . . . . . . เทวาปิ นมสฺสนฺติ     [๒๒/๓๑๔]
    พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่เป็นผู้ได้ฝึกตนแล้ว อบรมจิตถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ

ความหมายที่ต้องการในที่นี้ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือต้องฝึก และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการฝึกฝนพัฒนาตนนั้น โดยระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกก็จะไม่ประเสริฐ แต่ถ้าฝึกแล้วจะมีขีดความสามารถสูงสุด เพราะมนุษย์มีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด ใช้คำศัพท์ทางวิชาการสมัยปัจจุบันว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ ก็คือ ปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะนั่นเอง

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือ ความเชื่อในโพธิ เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง ส่วนการที่บุคคลจะแจ้งประจักษ์โพธิได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังเช่นในหลักบุคคล ๔ ประเภท และขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพของเขาตามที่ได้สั่งสมกรรมไว้ ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าคำว่า โพธิ นั้นให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักยภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดนั้นก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา

เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมาทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการพัฒนาที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา สิกขาคือกระบวนการพัฒนามนุษย์ หรือฝึกมนุษย์ให้โพธิปรากฏขึ้น ทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ

ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ดำเนินในแนวทางของโพธิ ชีวิตที่ดีอย่างนี้เรียกว่ามรรค ส่วนวิธีการหรือกระบวนการฝึกมนุษย์ให้มีชีวิตที่ดีเรียกว่าสิกขา เมื่อเราฝึกคนให้มีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ดีหรือวิถีชีวิตที่ดีนั้นก็เป็นมรรค มรรคกับสิกขาก็เลยมีความหมายเกือบจะเหมือนกัน มรรคคือการดำเนินชีวิตที่ดี แต่จะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกที่เรียกว่าเป็นสิกขา เพราะฉะนั้น สิกขาก็คือการฝึกให้มีชีวิตที่ดีที่ดำเนินตามมรรค และมรรคมีองค์ ๘ นั้นก็สรุปลงได้เป็นสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวแกนของการฝึก เป็นอันว่าจะต้องจับแยกและโยงให้ถูกต้องว่า มรรคกับสิกขาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน แต่เป็นคนละแง่กัน เพราะสิกขาเป็นตัวการฝึกหรือการพัฒนามนุษย์ เมื่อฝึกได้ผล จนสิ่งที่ฝึกนั้นกลายเป็นวิถีชีวิตของเขา มันก็กลายเป็นมรรคไป พอมรรคเกิดขึ้นแล้ว ก็พาเข้าถึงจุดหมายของการศึกษาหรือการพัฒนานั้น คืออิสรภาพที่ปลอดทุกข์ปราศปัญหา หรือจะเรียกว่าสันติสุขก็แล้วแต่พอใจ

ไตรสิกขา: หลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์

การฝึกฝนและพัฒนามนุษย์นั้นทางพุทธศาสนาจัดวางเป็นหลักเรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการ และให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

๑. ศีล เป็นเรื่องของการฝึกในด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมเคยชิน เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกศีล ก็คือวินัย วินัยเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ เพราะว่าวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยจัดระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้เหมาะกับการพัฒนาและให้เอื้อโอกาสในการที่จะพัฒนา เมื่อฝึกได้ผลจนคนมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีตามวินัยนั้นแล้วก็เกิดเป็นศีล ดังนั้น โดยสรุปวินัยจะมาในรูปของการฝึกพฤติกรรมเคยชินที่ดี และการจัดสภาพแวดล้อม ที่จะป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี และเอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ การฝึกคนให้คุ้นกับพฤติกรรมที่ดี ตลอดจนการจัดระเบียบระบบทั้งหลายทั้งปวงในสังคมมนุษย์

๒. สมาธิ เป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ทั้งในด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ความแน่วแน่มั่นคง ความมีสติ สมาธิ และในด้านความสุข เช่น ความอิ่มใจ ความร่าเริงเบิกบานใจ ความสดชื่นผ่องใส ความรู้สึกพอใจ พูดสั้นๆ ว่า พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต

๓. ปัญญา เป็นเรื่องของการฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง ตรวจสอบ คิดการต่างๆ สร้างสรรค์ เฉพาะอย่างยิ่งเน้นการรู้ตรงตามความเป็นจริง หรือรู้เห็นตามที่มันเป็น ตลอดจนรู้แจ้งความจริงที่เป็นสากลของสิ่งทั้งปวง จนถึงขั้นรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต ที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ เข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์

หลักทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนประกอบของชีวิตที่ดีงาม เราก็ฝึกคนให้เจริญงอกงามในองค์ประกอบเหล่านี้ และให้องค์ประกอบเหล่านี้นำเขาสู่การเข้าถึงอิสรภาพและสันติสุขที่แท้จริง ตัวการฝึกที่จะให้มีชีวิตที่ดีงามเป็นสิกขา ตัวชีวิตที่ดีงามที่เกิดจากการฝึกนั้นก็เป็นมรรค

การฝึกที่เรียกว่าสิกขา หรือแปลว่าการศึกษานี้ บางทีก็ใช้ศัพท์แทนเป็นคำว่า ภาวนา ซึ่งก็คือเรื่องของสิกขานั่นเอง แต่คำว่าภาวนา แปลว่าทำให้เจริญ ทำให้เป็นทำให้มีขึ้น หรือฝึกอบรม ภาวนาจัดเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. กายภาวนา การพัฒนากาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

๒. ศีลภาวนา การพัฒนาศีล คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม

๓. จิตภาวนา การพัฒนาจิต คือ การทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นในความดีงาม ความเข้มแข็งมั่นคงสงบสุข และเป็นอิสระ

๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา คือ การเสริมสร้าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเหตุผล และการหยั่งรู้ความจริง จนเข้าถึงอิสรภาพ มีชีวิตที่ดีงามปลอดทุกข์ปราศปัญหา

ภาวนา ๔ นี้ จะพูดถึงในหัวข้อต่อไปข้างหน้า

คำศัพท์อีกคำหนึ่งที่ใช้แทนสิกขาได้คือคำว่า ทมะ ซึ่งก็แปลว่า การฝึก ทมะเป็นคำที่มาจากการที่เรามองมนุษย์ โดยเทียบกับสัตว์ทั้งหลายในแง่ของการฝึก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่ง เป็นการฝึกในแง่ของการปราบพยศ ทำให้หมดสัญชาตญาณป่า เป็นแง่ลบ อีกขั้นหนึ่งมองในแง่บวก เป็นการฝึกให้ทำอะไรต่ออะไรได้อย่างพิเศษ หรือที่ดีงามเป็นประโยชน์ ทมะ เป็นการฝึก ถ้าเป็นคนก็เป็นทัมมะ แปลว่า ผู้ที่จะต้อง (ได้รับการ) ฝึก ดังที่ปรากฏในบทพุทธคุณที่ยกมาให้ดูข้างต้น

ปฏิบัติการด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา

ภาวนา มักใช้ในกรณีของการตรวจสอบ คล้ายๆ กับเป็นการวัดผลเพื่อดูว่าด้านต่างๆ ของการพัฒนาชีวิตของคนนั้นได้รับการพัฒนาครบถ้วนไหม ส่วนสิกขา นั้นใช้กับตัวกระบวนการฝึกเอง

ทำไมจึงจัดสิกขาเป็น ๓ (ในเวลาทำการฝึก) และจัดภาวนาเป็น ๔ (ในเวลาวัดผลคนที่ได้รับการฝึก) ที่จัดอย่างนี้ เพราะสัมพันธ์กับตัวความเป็นจริงในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติเอง กล่าวคือ ในเวลาฝึก สิกขาทั้ง ๓ ด้าน จะผสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ด้านที่ ๑ คือ ศีลนั้น ที่จริงมันแยกออกเป็น ๒ ส่วนอยู่ในตัว และการแยกเป็น ๒ ส่วนนี้จะปรากฏชัดอยู่ในภาวนา คือ

๑. ศีล ในส่วนของพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกาย ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ความสัมพันธ์กับวัตถุหรือโลกของวัตถุและธรรมชาติส่วนอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น เรื่องปัจจัย ๔ สิ่งที่เราบริโภคใช้สอยทุกอย่าง และการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อมทั่วๆ ไป

๒. ศีล ในส่วนที่สัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมมนุษย์ด้วยกัน ความเกี่ยวข้องและอยู่ร่วมกันในหมู่มนุษย์ จุดเน้นของศีลในส่วนนี้จะอยู่ที่สังคมมนุษย์คือหมู่มนุษย์ด้วยกัน ดังจะเห็นได้ชัดในหลักศีล ๕ ซึ่งมีแต่เรื่องของการที่เราจะเข้าไปสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ว่าจะอยู่ร่วมกันได้ดีอย่างไร เราควรจะมีพฤติกรรมที่ไม่ละเมิดต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน โดยไม่ทำร้ายชีวิตร่างกาย ไม่ลักขโมย ไม่ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ ไม่ล่วงละเมิดคู่ครอง ไม่ล่วงละเมิดด้วยวาจา ไม่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงน่ากลัว หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยแก่ผู้อื่น ด้วยการดื่มสุราเสพของมึนเมาที่ทำให้ตนเองไม่มีสติ และกลายเป็นตัวคุกคามสังคม

โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงศีลอย่างเช่นศีล ๕ จะเน้นที่การละเว้นจากการเบียดเบียนกันทางสังคม แต่ในความหมายที่กว้าง ศีลจะรวมถึงการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุทางด้านกายภาพทั้งหลายทั้งหมด เช่น เรื่อง ปัจจัย ๔

สำหรับในไตรสิกขา ศีลจะคลุมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุหรือทางกายภาพ และทางสังคม รวมไว้ในข้อเดียวกัน แต่เมื่อจัดเป็นภาวนา นั้น ท่านแยกกันชัดออกเป็น ๒ ข้อ โดยจัดเอาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคมไว้ในข้อศีลภาวนา ส่วนเรื่องของความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในโลกวัตถุ ท่านจัดแยกออกไปเป็นกายภาวนา

เหตุผลที่ว่าทำไมตอนเป็นภาวนาจึงแยก แต่ตอนที่เป็นสิกขาไม่แยก ก็เพราะว่า ในเวลาฝึกหรือในกระบวนการฝึก องค์ทั้ง ๓ อย่างของไตรสิกขา จะประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในศีลที่แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพในโลกวัตถุ และความสัมพันธ์กับมนุษย์ในสังคมนั้น ความสัมพันธ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะเป็นอันใดอันหนึ่งอย่างเดียว ดังนั้นในกระบวนการฝึกของไตรสิกขา ที่มีองค์ประกอบครบทั้งสามอย่างทำงานประสานเป็นอันเดียวกันนั้น เราจึงรวมเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ไปเลยทีเดียว โดยที่ในกรณีหนึ่งๆ ศีลอาจจะเป็นความสัมพันธ์ด้านที่ ๑ (กายภาพ) หรือด้านที่ ๒ (สังคม) ก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในภาวนาจะแยกออกจากกันเป็นคนละข้ออย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ จะได้วัดผลดูจำเพาะทีละอย่างว่า ในด้านกาย ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางวัตถุ เช่นการบริโภคปัจจัย ๔ เป็นอย่างไร ด้านศีล ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างไร ในภาวนานี้เราแยกได้เพราะเป็นการตรวจสอบวัดผลว่าแต่ละด้านได้พัฒนาไปดีแค่ไหน เป็นอันว่า หลักภาวนานิยมใช้ในขั้นตอนของการวัดผล แต่ในขั้นตอนของการฝึกหรือตัวกระบวนการฝึกฝนพัฒนาจะใช้เป็นไตรสิกขา

เนื่องจากภาวนาท่านนิยมใช้ในเชิงการวัดผลของการศึกษาหรือการพัฒนาบุคคล รูปศัพท์ที่พบจึงมักเป็นคำแสดงคุณสมบัติของบุคคล คือแทนที่จะเป็นกายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา ก็เปลี่ยนเป็น [๑๘/๑๙๗; ๒๔/๒๔; ๓๐/๑๔๘]

๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว (มีกายภาวนา) คือ มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางที่เกื้อกูลและได้ผลดี เริ่มแต่รู้จักบริโภคปัจจัย ๔ รู้จักใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการเสพหรือใช้สอยวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีทั้งหลาย ในทางที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ)

๒. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว (มีศีลภาวนา) คือ มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดำรงตนอยู่ในวินัย และอาชีวะที่สุจริต มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เกื้อกูล สร้างสรรค์และส่งเสริมสันติสุข (เสวนา-คบหาเป็น สังคมเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็น ทำเป็น)

๓. ภาวิตจิต มีจิตที่พัฒนาแล้ว (มีจิตภาวนา) คือมีจิตใจที่ฝึกอบรมดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยคุณภาพจิต คือ ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออารี มีมุทิตา ความเคารพอ่อนน้อม ความกตัญญูกตเวที เป็นต้น สมบูรณ์ด้วยสมรรถภาพจิต คือ มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีอุตสาหะวิริยะ รับผิดชอบ มีสติ มีสมาธิ เป็นต้น และสมบูรณ์ด้วยสุขภาพจิต คือ มีจิตใจที่ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น เอิบอิ่ม ผ่องใส และสงบสุข (ตั้งจิตเป็น วางใจเป็น ทำใจเป็น)

๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว (มีปัญญาภาวนา) คือรู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย รู้ัจักแก้ปัญหา และรู้จักจัดทำดำเนินการต่างๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ซึ่งมองดูรู้เข้าใจเหตุผล มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงหรือตามที่มันเป็น ปราศจากอคติ และแรงจูงใจเคลือบแฝง เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส เป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เข้าถึงอิสรภาพ ปลอดทุกข์ปราศปัญหา (คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ดับทุกข์เป็น)

ผู้มีภาวนา ครบทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นภาวิต ทั้ง ๔ ด้านนี้แล้ว โดยสมบูรณ์ เรียกว่า “ภาวิตัตตะ” แปลว่าผู้ได้พัฒนาตนแล้ว ได้แก่พระอรหันต์ เป็นอเสขะ คือผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป

ระบบไตรสิกขาเพื่อให้องค์รวมพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

ได้กล่าวแล้วว่า ในกระบวนการพัฒนาของไตรสิกขานั้น องค์ทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะทำงานประสานโยงส่งผลต่อกัน หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมื่อมองไตรสิกขานี้ โดยภาพรวมที่เป็นระบบใหญ่ของการฝึก ก็จะเห็นองค์ ๓ นั้นเด่นขึ้นมาทีละอย่างตามลำดับ คือช่วงแรกเด่นที่ศีล ก็เป็นขั้นศีล ขั้นที่สองเด่นที่สมาธิ ก็เป็นขั้นสมาธิ ช่วงที่สามเด่นที่ปัญญา ก็เป็นขั้นปัญญา แต่ในทุกขั้นนั้นเอง องค์อีก ๒ อย่างก็ทำงานร่วมอยู่ด้วยโดยตลอด การมองเป็นภาพรวมของระบบใหญ่อย่างนี้ ขอเรียกว่า รอบใหญ่

เมื่อเราไม่มองภาพรวมของรอบใหญ่อย่างนั้น แต่มาดูการทำงานของกระบวนการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนานั้นในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม เราก็จะเห็นองค์ทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นทำงานอยู่ด้วยกันและสัมพันธ์กันตลอดเวลา ขอเรียกการมองการทำงานในช่วงสั้นๆ นี้ว่า รอบเล็ก

ในการฝึกไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แบบรอบเล็กนั้น สามารถเริ่มจากจุดไหนก่อนก็ได้ เช่น ถ้าเรามีความพอใจ จิตแนบสนิทหรือสนิทใจกับพฤติกรรมอย่างใด (สมาธิ) เราก็จะมีความโน้มเอียงไปสู่การทำพฤติกรรมอย่างนั้น (ศีล) หรือถ้าเราพิจารณาเห็นโดยเหตุผลว่า พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งดีกว่า เราเห็นว่าทำอย่างนั้นจะดีกว่า จะเป็นประโยชน์กว่า (ปัญญา) เราก็จะทำพฤติกรรมตามที่เราคิดว่าดีกว่านั้น (ศีล) แต่บางทีอาจจะมีพฤติกรรมเกิดขึ้นก่อน เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ โรงเรียน หรือสถาบันทางสังคม เขาจัดระเบียบความเป็นอยู่คือวางระเบียบวินัยเป็นกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมาแล้ว เราเข้าไปอยู่ในหมู่ในพวกก็ทำตามเขาไป (ศีล) ต่อมา จากความเคยชินในการทำพฤติกรรมอย่างนั้นไปเรื่อย โดยไม่ขัดขืนฝืนใจ เราก็เกิดความพอใจสนิทใจกับพฤติกรรมนั้น (สมาธิ) แล้วบางทีก็เลยมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นระเบียบหรือกฎเกณฑ์กติกาของพฤติกรรมนั้นว่าดีมีประโยชน์ (ปัญญา) พอปัญญาเห็นคุณค่าของพฤติกรรมอย่างนั้นแล้ว ก็ยิ่งทำพฤติกรรมอย่างนั้นหนักแน่นขึ้นอีก (ศีล) แล้วก็ยิ่งมีความสุขความพอใจสนิทใจกับพฤติกรรมนั้นมากขึ้น (สมาธิ) ฯลฯ เพราะเหตุที่มีการโยงส่งผลต่อกันไปมาอย่างนี้ ก็ทำให้เรามีการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมมีผลดียิ่งขึ้นได้อีก

ในการฝึกนี้จะเห็นว่า ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ๓ อย่างนี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่พร้อมหรือไม่ร่วมประสานก็จะทำให้กระบวนการฝึกไม่ได้ผลดี เช่น ในการฝึกระเบียบวินัย ถ้าจิตใจของผู้ถูกฝึกไม่มีความสุข ทำให้เกิดการฝืนใจขึ้น ก็เสียองค์ประกอบ การฝึกนั้นก็มีความโน้มเอียงที่จะได้ผลยาก แต่ถ้าในการฝึกพฤติกรรมนั้นจิตใจของผู้ถูกฝึกมีความพึงพอใจ มีความสุขในการกระทำพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็จะมั่นคง ยิ่งถ้าเขาได้มีปัญญามองเห็นคุณค่าของการฝึกพฤติกรรมนั้นว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า เกื้อกูล เป็นประโยชน์ด้วย ก็จะยิ่งมีความมั่นคงและมั่นใจ พร้อมทั้งมีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้นมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นองค์ทั้ง ๓ อย่างจึงต้องสัมพันธ์กัน

การพัฒนาไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก ที่ควรปฏิบัติให้ได้เป็นประจำ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงโดยไม่ยากเลย ก็คือ การนำไตรสิกขาเข้าสู่การพิจารณาของโยนิโสมนสิการ หรือการโยนิโสมนสิการในไตรสิกขา กล่าวคือ

ในการกระทำทุกครั้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมอะไร หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เราสามารถฝึกฝนพัฒนาตนและสำรวจตรวจสอบตนเอง ตามหลักไตรสิกขานี้ ให้มีการศึกษาครบทั้งสามอย่าง ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา พร้อมกันไปทุกครั้งทุกคราว คือเมื่อทำอะไรก็พิจารณาดูว่า

พฤติกรรมหรือการกระทำของเราครั้งนี้ มีการเบียดเบียน จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครหรือไม่ หรือว่าเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสร้างสรรค์ (ศีล)

ในการกระทำเดียวกันนี้ จิตใจของเราเป็นอย่างไร เราทำด้วยจิตใจที่เห็นแก่ตัว มุ่งร้ายต่อใคร ทำด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ หรือทำด้วยความเมตตา มีความปรารถนาดี ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยสติ มีความเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น และในขณะที่ทำเรามีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร เร่าร้อน กระวนกระวายขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือว่ามีจิตใจที่สงบ ร่าเริง เบิกบาน เป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส (สมาธิ)

การกระทำครั้งนี้ เราทำด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำ มองเห็นเหตุผล รู้เข้าใจหลักเกณฑ์และความมุ่งหมาย มองเห็นผลดีผลเสีย และหนทางแก้ไขปรับปรุงพร้อมดีแล้วหรือไม่ (ปัญญา)

เพราะฉะนั้น คนที่ฉลาดจึงสามารถบำเพ็ญสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาตน และสำรวจตรวจสอบวัดผลการพัฒนาตนได้เสมอตลอดทุกครั้งทุกเวลา เป็นการบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก (คือครบทั้งสามสิกขาในพฤติกรรมเดียวหรือกิจกรรมเดียว) พร้อมกันนั้นก็เจริญไตรสิกขาในระดับรอบใหญ่ (คือค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปทีละส่วน) ไปด้วย ชนิดที่ดูภายนอกก็เหมือนศึกษาไปตามลำดับทีละอย่าง โดยที่การบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็กนี้ก็จะช่วยให้การเจริญไตรสิกขาในระดับรอบใหญ่ก้าวหน้าไปด้วยดี แล้วในทางย้อนกลับการเจริญไตรสิกขาในระดับรอบใหญ่ ก็จะส่งผลให้การบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็กมีความมั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจนเต็มเปี่ยมในที่สุด

ตามที่กล่าวมานี้ต้องการให้มองเห็นความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยซึ่งกันและกันขององค์ประกอบที่เรียกว่าสิกขา ๓ ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาพฤติกรรม เป็นการมองรวมๆ อย่างสัมพันธ์ถึงกันหมดในรอบเล็ก โดยไม่ได้แยกออกเป็นเรื่องๆ แต่ถ้ามองในแง่ของช่วงยาว จุดเน้นจะต่างกันในกระบวนการฝึกนี้ กล่าวคือ เริ่มต้นจุดเน้นจะอยู่ที่ศีล ส่วนสมาธิและปัญญาจะเป็นตัวแทรกเสริมหรือแฝงอยู่ ต่อมาในช่วงที่ ๒ เมื่อศีลมั่นคงดีแล้วก็จะเน้นเรื่องสมาธิ โดยมีศีลเป็นฐานรองรับและปัญญาก็คอยดูแลอยู่ จึงมองเห็นเป็นภาพรวมแบบหยาบๆ ว่า ขั้นแรกฝึกศีล ขั้นที่สองฝึกสมาธิ และขั้นสุดท้ายฝึกปัญญา คนที่จะฝึกปัญญาได้ดีนั้น ด้านศีล ด้านสมาธิ ต้องมั่นคงเป็นฐานอยู่แล้ว

วินัยคือการจัดสรรให้เกิดโอกาสในการพัฒนา

อนึ่ง ขอแทรกว่า ในการฝึกระดับศีล หรือพัฒนาศีลนั้น ตามปกติจะใช้วินัยเป็นเครื่องฝึก แต่เมื่อพูดถึงวินัย หลายคนจะมีภาพในใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เสียผลต่อการศึกษา จึงควรจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาทำความเข้าใจกันสักหน่อย กล่าวคือ เราจะต้องเน้นการมองวินัยในแง่บวก คือวินัยนั้นในความหมายที่ถูกต้องจะไม่เป็นเรื่องของการบังคับ ซึ่งเป็นนัยลบ แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรให้เกิดโอกาสในการพัฒนานั่นเอง

แนวทางที่จะทำให้มองวินัยในทางบวกนั้นมีหลายอย่าง

วินัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเรามีวัตถุประสงค์ที่มุ่งประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม เช่น เราต้องการที่อยู่อาศัยที่เรียบร้อยอยู่สบาย ต้องการโอกาสในการที่จะทำงาน ต้องการความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ ต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เราจึงดำเนินการจัดข้าวของอุปกรณ์ให้เป็นที่เป็นทางไม่เกะกะและใช้สะดวก จัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในบ้าน ในที่ทำงาน ในท้องถนน จัดลำดับการใช้เวลาเป็นต้น เมื่อเราจัดระเบียบดีและพากันปฏิบัติตามระเบียบนั้น เราก็มีเวลาและโอกาส ตลอดจนความคล่องตัวมากขึ้นในการทำงาน และทำการต่างๆ ที่ปรารถนา เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์โดยแท้ของวินัย คือ การจัดสรรโอกาส ให้มนุษย์สามารถทำอะไรๆ ได้สะดวกและมากขึ้น อันเป็นการเอื้อโอกาสต่อการพัฒนา

อนึ่ง วินัยนั้นสัมพันธ์กับจิตสำนึกของมนุษย์ คือจิตสำนึกในการพัฒนาตน ถ้ามนุษย์มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน วินัยก็จะได้ผลและจะเกิดผลดีทางจิตใจด้วย เช่น มีความสมปรารถนา ความภูมิใจ และมีความสุข แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง ก็จะเสี่ยงต่อการฝืนใจ แล้วความทุกข์ก็ตามมา คำว่าจิตสำนึกในที่นี้หมายความว่า เรามองเห็นหรือยึดถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผูกพันกับตนเอง ว่าเราจะต้องฝึกตัว การฝึกตัวเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เพื่อชีวิตที่ดีงามขึ้นเราจำเป็นต้องฝึกตน คือมองเห็นประโยชน์ คุณค่า ความสำคัญของการฝึกที่จะต้องเอาตัวเข้าไปปฏิบัติ เมื่อมีจิตสำนึกอย่างนี้ เขาก็จะมองเห็นว่าการฝึกนั้นเป็นเรื่องที่เราได้ และการฝืนใจจะไม่เกิดขึ้น เมื่อพบสิ่งที่ทำยาก พอนึกว่าเราจะได้ฝึกตัว ความยากนั้นก็กลายเป็นการได้ขึ้นมาทันที เขาจะรู้สึกอิ่มใจที่จะทำสิ่งนั้น ดังนั้นองค์ประกอบทางด้านจิตจึงเข้ามาสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการรักษาวินัยอยู่เรื่อยๆ และปัญญาจะทำให้รู้ว่าวินัยนั้นช่วยจัดสรรโอกาสให้แก่การมีชีวิตที่ดีอย่างไรๆ เมื่อได้เห็นคุณค่าเช่นนั้น ก็ยิ่งเกิดความพอใจ ดังนั้นการฝึกพฤติกรรมจึงมีความสัมพันธ์กับปัญญา ด้วยเหตุนี้ ทางที่ดีก่อนจะวางระเบียบจึงควรต้องชี้แจงให้เห็นเหตุผล ให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของระเบียบหรือกฎเกณฑ์กติกานั้นๆ ก่อน

อีกอย่างหนึ่ง วินัยมีความหมายเป็นกติกาของสังคม คือเป็นข้อตกลงว่า เพื่อการอยู่ดีร่วมกัน ทุกคนจะถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางกันไว้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรๆ อย่างไรๆ ถ้าใครไม่ทำตามหรือล่วงละเมิดจะต้องได้รับโทษอย่างไร ตรงนี้เป็นวินัย ในความหมายของกติกาสังคม คือสิ่งที่หมายรู้ร่วมกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวหรือวางตัวได้ถูกต้อง สำหรับคนที่ยังไม่พัฒนาก็จะรู้สึกว่ากติกาเหล่านี้เป็นเครื่องปิดกั้นบีบคั้นตนเอง แต่สำหรับคนที่พัฒนาแล้วมีปัญญามองเห็นเหตุผลกลับมองว่า กติกาเหล่านั้นเป็นเครื่องช่วยให้เขาทำตัวได้ถูกต้อง มันเป็นเพียงสิ่งหมายรู้ร่วมกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร เพราะถ้าคนมาอยู่ร่วมกันมากๆ แล้วไม่มีกติกา แต่ละคนก็จะอึดอัดขัดข้องทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นวินัยในความหมายหนึ่งจึงเป็นกติกาของสังคมหรือสิ่งหมายรู้ร่วมกันเพื่อช่วยให้ปฏิบัติตัววางตนและทำกิจการต่างๆ ได้ถูกต้อง ดังนั้น วินัยจึงต้องอาศัยปัญญาด้วย และวินัยนั้นจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความถูกต้อง จึงจะสัมฤทธิ์ผลให้เกิดศีลตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับพฤติกรรม

ได้พูดถึงหลักการใหญ่โดยทั่วไปอย่างกว้างๆ มาแล้ว คราวนี้จะพูดจำกัดวงแคบเข้ามา โดยเน้นการพัฒนาในระดับพฤติกรรม จะขอเริ่มด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับการฝึกความรับผิดชอบก่อน แล้วจะพูดถึงข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับพฤติกรรมโดยทั่วไป

ในการฝึกหรือพัฒนาคนให้มีความรับผิดชอบนั้น ถ้าเริ่มจากศีลก็จะเป็นเรื่องของการวางข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ระเบียบ เป็นวินัยขึ้นมา โดยมากจะใช้วินัยนี้เป็นฐานก่อน ทำให้คนที่ไม่มีความรับผิดชอบต้องมีความรับผิดชอบ โดยที่เขาต้องทำตามกฎเกณฑ์กติกานั้น แต่ในขณะนี้ถ้าความสำนึกในจิตของเขายังไม่มี การปฏิบัติของเขาก็ได้แค่พฤติกรรมที่แสดงออกมาในขั้นศีลเท่านั้น ศีลอย่างนี้ยังไม่มั่นคง เพราะไม่ได้เกิดจากจิตสำนึก ไม่มีการพัฒนาด้านจิตมาช่วยหนุน จึงต้องฝึกด้านจิตเข้ามาร่วมด้วย เช่น ให้มีบรรยากาศที่ดีงาม มีความสบายใจ มีความสุขในการทำงานที่ตนรับผิดชอบ และถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็มีปัญญามาช่วยอีกด้วย คือให้เขาเห็นประโยชน์หรือคุณค่าในการที่เขาทำอย่างนั้น ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดชี้แจงอบรมทางด้านความรู้ให้เขาเห็นเหตุผลในการที่จะต้องมีความรับผิดชอบ แต่ในเบื้องต้นของการฝึกจะเริ่มด้วยส่วนที่เป็นรูปธรรมที่เป็นของหยาบมองเห็นง่าย ศีลจึงมาก่อน เพื่อสร้างพฤติกรรมเคยชินไว้ เมื่อพฤติกรรมมีความเคยชินแล้วก็ถือได้ว่าสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่งคือในขั้นของศีล

ในเรื่องศีลนี้มีหลักการอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ต้องมีการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนไหวนั้นก็ต้องเป็นไปในรูปลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเคลื่อนไหวในรูปลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นแล้ว พอจะมีการเคลื่อนไหวเช่นนั้นใหม่อีกเขาก็มักจะดำเนินตามรูปลักษณ์ของการเคลื่อนไหวอย่างนั้นซ้ำอย่างเดิม และเมื่อทำอย่างนั้นต่อๆ ไป การเคลื่อนไหวในรูปลักษณ์นั้นก็จะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน พอเป็นพฤติกรรมเคยชินแล้วก็แก้ไขยาก ถ้าเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปตลอด แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีก็เป็นการเสียหายแก่ชีวิตของเขา เช่นเสียบุคลิกภาพ น่ารังเกียจ เสียความรู้สึกของผู้พบเห็น หรือสร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็จึงเป็นจุดช่วงชิงที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีได้ก่อน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ เรื่องนี้สำคัญมาก การยืนเดินนั่งนอน กิน ดื่ม ฯลฯ เป็นที่จับของพฤติกรรมเคยชินได้ทั้งนั้น ดังนั้น การวางระเบียบวินัยต่างๆ ในความหมายหนึ่งก็คือระบบการสร้างพฤติกรรมเคยชินที่มุ่งให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี และพฤติกรรมเคยชินที่ดีนี่แหละเป็น ศีล ซึ่งแปลว่าพฤติกรรมดีงามที่เป็นปกติของเขา เมื่อคนปฏิบัติตามวินัยแล้ว ความประพฤติอย่างนั้นก็ลงตัวกลายเป็นความเคยชินเป็นปกติของเขาอย่างนั้น เช่นมารยาทในการขับรถ มารยาทของคนเดินถนน เป็นต้น

ดังนั้น จุดสำคัญที่จะต้องตั้งเป็นเป้าหมายอันดับแรกก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กหรือคนที่เข้ามาใหม่ได้พฤติกรรมเคยชินที่ดีติดตัวไป โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพในการฝึกน้อย พอเคยชินอย่างไรก็จะอยู่แค่พฤติกรรมนั้น จะติดจะยึดอยู่กับพฤติกรรมเคยชินนั้น จะแก้ไขปรับใหม่ได้ยากหรือไม่ได้เลย จะพัฒนาเหนือกว่านั้นยาก ต่างจากคนที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง ซึ่งสามารถปรับปรุงตัวเองได้เสมอ ไม่อยู่ในความครอบงำของความเคยชิน แต่คนประเภทนี้มีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง เราจะต้องระลึกไว้ว่าในแง่ของสังคมนั้นเราพูดถึงคนส่วนใหญ่ เรากำลังเอาหลักการนี้มาใช้กับคนส่วนใหญ่ซึ่งชีวิตติดอยู่ในกรอบของพฤติกรรมเคยชิน การพัฒนาในระดับศีลจึงมีความสำคัญมาก เราจึงต้องเน้นเรื่องการสร้างพฤติกรรมเคยชินที่ดี

สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ว่านั้น เมื่อเขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างไรแล้ว ก็จะเกิดการยึดติดว่าอันนี้แหละดี เขาเคยทำมาอย่างนี้ ใครทำอย่างอื่นจะแปลก เขาจะไม่เห็นด้วย คนพวกนี้อาจจะไม่ใช้ปัญญา อาจจะไม่ยอมคิดพิจารณาเลยด้วยซ้ำ เขาเพียงแต่ยึดติดในสิ่งที่ตนเองเคยทำมาเท่านั้น ในเมื่อมนุษย์อยู่ในสภาพอย่างนี้มาก เราจึงต้องใช้หลักธรรมชาติเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ คือชิงสร้างระบบพฤติกรรมเคยชินที่ดีให้สะสมขึ้นมาก่อน เรื่องของแบบแผน ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงาม ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาในรูปของบัญญัติทางสังคมเป็นกฎหมายเป็นต้นนั้น ก็รวมอยู่ในหลักการนี้ ถ้าเราวางระบบให้ดี จนลงตัวติดเป็นพฤติกรรมเคยชินของคนรุ่นหนึ่งได้แล้ว มันก็จะเกิดการสะสมและถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามๆ กันไป แล้วก็จะส่งผลไปที่จิตใจให้เกิดความชื่นชมและยึดถือด้วย เวลาจะประพฤติอย่างนั้นความชื่นชมยึดถือในจิตใจก็จะส่งแรงเสริมเจตจำนงให้เจตนามุ่งไปที่จะทำที่จะประพฤติอย่างนั้น

เป็นอันว่า การฝึกฝนพัฒนาในขั้นศีลเป็นขั้นที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม ถ้าบุคคลเกิดพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีแล้ว การที่จะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือหลักสิกขาแห่งการฝึกฝนพัฒนาคน การปรับปรุงพัฒนาแม้จะทำได้ยาก ก็ถือว่าต้องพยายามทำ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ก็สามารถทำได้โดยใช้หลักไตรสิกขานี่แหละ เพราะไตรสิกขานั้นเมื่อมองในแง่ของการพัฒนา สิ่งที่จะต้องทำอย่างหนึ่งก็คือการแก้ไขปรับปรุงความเคยชิน ด้านหนึ่งนั้นมันเป็นการสร้างพฤติกรรมที่ดี แต่พร้อมกันนี้อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องของการแก้ไขพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีด้วย

ยิ่งกว่านั้นยังก้าวต่อไปสู่การปรับปรุงแม้แต่พฤติกรรมเคยชินที่ดีอยู่แล้ว ให้เป็นไปด้วยจิตใจและปัญญาที่ถูกต้องให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่างเช่น วัฒนธรรมของสังคมที่ถ่ายทอดกันมาด้วยความเคยชินจนเป็นแบบแผนนั้น เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก บางอย่างในวัฒนธรรมนั้น ที่ว่าดีในสมัยหนึ่ง เมื่อผ่านมาถึงอีกสมัยหนึ่ง อาจกลายเป็นไม่ดี หรือบางอย่างที่ดีอาจตกมาถึงปัจจุบันในรูปที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปแล้ว หรือบางอย่างที่ว่าดีอาจเหลืออยู่เพียงรูปแบบภายนอก แต่สาระหรือความหมายที่แท้จริงสูญหายไปแล้ว หรือยิ่งกว่านั้นอาจจะมีความหมายอื่นที่เป็นโทษเข้าไปแทนที่ ดังนี้เป็นต้น

ความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนและโทษเหล่านี้ บางทีเราก็ไม่รู้ จนกระทั่งมีผู้มีสติปัญญามาชี้ให้เห็นจุดเห็นแง่ที่จะปรับปรุงแก้ไข (บางทีสติปัญญาไม่พอดี ก็ชี้ผิดเสียอีก) จึงได้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนากันต่อไป (บางทีผู้ที่ติดก็ต้านอย่างหนัก) เรื่องพฤติกรรมเคยชินของมนุษย์แม้แต่ในระดับสังคม ก็ต้องมีการแก้ไขพัฒนาอยู่เรื่อย ถ้าพูดถึงในระดับบุคคลก็ยิ่งต้องพัฒนากันตลอดเวลา

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนมากมักจะได้แค่พฤติกรรมเคยชิน จะพัฒนาเหนือกว่านั้นไปได้ยาก คนที่พัฒนาตนเองได้ดีก็คือคนที่สามารถอยู่เหนืออำนาจของความเคยชิน คนประเภทนี้จะปรับตัวพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถพิเศษ

พฤติกรรมที่ลงตัวโดยเคยชินอย่างละเอียดอ่อน เรียกว่า วาสนา (แปลว่า การสั่งสมอบรมมา ซึ่งก็คือการสั่งสมพฤติกรรมเคยชินนั่นเอง) ได้แก่ แบบแผนพฤติกรรมที่บุคคลนั้นได้สะสมมากับตนเองจนกลายเป็นลักษณะประจำตัวของเขา เช่น จังหวะท่วงทีในการเดิน การพูด คำติดปาก เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกแตกต่างกัน ถือเป็นวาสนาของแต่ละคน

เมื่อบุคคลมีวาสนาอย่างไร วาสนานั้นก็จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำชีวิตของเขาไปในแนวทางหนึ่งโดยเฉพาะ แม้แต่ความเคยชินทางความคิดที่เป็นพฤติกรรมทางจิต เช่นว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร เป็นต้น ก็เป็นวาสนาเช่นเดียวกัน เมื่อเขามีวาสนาเกี่ยวกับอะไรในทางใด มันก็ชักจูงเขาไปในทางนั้นไปหาสิ่งนั้น วาสนาก็เลยกลายเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเขาไป

นอกจากนั้น วาสนายังเป็นตัวกระทบที่ทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาต่อเขาในรูปใดด้วย เช่นดึงดูดหรือผลักไล่ ทำให้ชอบหรือทำให้เกลียด ในความสัมพันธ์กับคนหมู่มากหรือเป็นปฏิกิริยาเฉพาะตัวกับบางคน ดังจะเห็นได้ในลักษณะการพูดของแต่ละบุคคล บางคนพูดสละสลวยรื่นหู บางคนพูดกระโชกโฮกฮาก บางคนพูดแล้วคนชอบฟัง บางคนพูดแล้วคนรำคาญ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลต่อความเป็นไปในชีวิตของเขาทั้งนั้น

วาสนาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขยาก เพราะเป็นสิ่งที่ลงร่องลึก ผู้ที่ละวาสนาได้หมดมีเพียงบุคคลเดียวคือพระพุทธเจ้า หมายความว่าพฤติกรรมเคยชินหมดไป เพราะพฤติกรรมอยู่ภายใต้การนำของสติปัญญาอย่างเดียว คือทำไปด้วยสติปัญญา ไม่ได้ทำไปโดยความเคยชิน ส่วนพระอริยบุคคลอื่นแม้แต่พระอรหันต์ ก็แก้ไขละได้แต่เฉพาะวาสนาร้ายแรงที่เป็นโทษต่อชีวิตและสังคม ส่วนวาสนาที่ไม่ร้ายแรงก็ยังคงอยู่ เช่นบางท่านพูดจาไม่เพราะหู บางท่านเดินไม่ค่อยชวนดู เป็นต้น รวมความว่า เรื่องของวาสนามีทั้งดีและไม่ดี และวาสนานั้นก็เป็นผลกรรมส่วนหนึ่ง

ในเรื่องกรรมนั้น พอเกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว เจตนาที่เป็นตัวกรรมก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากการอยู่ใต้บงการของตัณหา มาอยู่ใต้การชี้นำของปัญญา จนในที่สุด เจตนาเองก็จะหมดหน้าที่ไปด้วย ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายที่ชีวิตจะเป็นอยู่ด้วยปัญญา นี่คือภาวะที่เรียกว่าสิ้นกรรม เพราะพฤติกรรมไม่ต้องอยู่ในบงการของเจตนาที่มุ่งที่เลือกว่าตัวเราจะเอาอย่างไร แต่เปลี่ยนมาเป็นอยู่และทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ หรือปฏิบัติการด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ปฏิบัติการด้วยความจำนงจงใจ ว่าตัวเราต้องการเอาอย่างนั้นอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม ในระดับของปุถุชนที่ยังไม่พ้นจากพฤติกรรมที่เป็นไปด้วยเจตนา เมื่อมีการศึกษาพัฒนาตนขึ้น ปัญญาก็จะเข้ามาช่วยชี้ทาง ทำให้มีการเลือกตัดสินใจที่ดีงามถูกต้อง ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจและความมีเหตุผลมากขึ้น และทำการต่างๆ ด้วยฉันทะ ที่จะนำไปสู่ความไร้ทุกข์ลดปัญหา ตลอดจนมีอิสรภาพและสันติสุขทั้งในชีวิตและในสังคมมากขึ้นๆ ตามระดับของการพัฒนา

 

1ชื่อเดิมว่า “พุทธศาสนากับการพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์” บรรยาย ณ สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เขาสำโรงดงยาง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๖
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง