เป็นอันว่า เมื่อมองให้ดีแล้ว วินัยนั้น ถ้าจัดให้ถูก รู้จักตั้งให้ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจะพัฒนาขึ้นมาเป็นของแท้ของจริง
เมื่อสังคมประชาธิปไตยต้องการให้มีโอกาสในการสร้างสรรค์อะไรด้านใด วินัยก็จัดการให้เกิดโอกาสอย่างนั้นขึ้นมา แล้วมอบให้เสรีภาพเอาไปใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างนั้น จึงทำให้ชีวิตและสังคมมีทางเจริญงอกงามสมความปรารถนา
อย่างคนที่มีวินัยในตัวเอง เขาก็เหมือนกับตั้งกติกาขึ้นมาจัดสรรชีวิตของเขา ตั้งแต่จัดเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวัน จัดระเบียบทุกอย่างของเขา เสร็จแล้วก็เป็นโอกาสซิ เพราะเขาทำอะไรได้เยอะ คนที่จัดสรรเวลาเป็นนี่ วันหนึ่งๆ ใช้เวลาได้ประโยชน์มากมาย
ส่วนอีกคนหนึ่งไม่มีวินัย วันหนึ่งๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่าว่าแต่วันหนึ่งเลย ปีหนึ่งก็ยังไม่ได้เรื่อง
เพราะฉะนั้น วินัยจึงมีประโยชน์มาก จำไว้เลยว่า วินัยเป็นตัวจัดสรรให้เกิดโอกาส อย่าไปคิดว่าวินัยเป็นตัวจำกัดปิดกั้น
แต่ถ้าวินัยเป็นตัวปิดกั้นขึ้นมาจริง ก็เป็นเพราะคนไม่พัฒนา หรือเป็นเพราะว่ามีวินัยที่ผิด พอรู้เข้าใจจัดตั้งและใช้วินัยถูก ก็เกิดโอกาส แล้วมาประสานกับเสรีภาพ สังคมก็เจริญงอกงามไปลิ่วเลย
เวลานี้ คนมักจะคิดอะไรชั้นเดียว มองแค่ตัวจะได้ จะเอา จะเสพ จะบริโภค ถ้าอย่างนี้ ชีวิต-สังคม-ประชาธิปไตย ก็มีแต่จม ไม่ไปไหน
เพราะฉะนั้น จะต้องใช้สติปัญญามาคิดทบทวนกันใหม่ วันนี้จึงมาพูดเรื่องนี้
ขอย้ำว่า สังคมนี้กำลังจะไปกันใหญ่ มองตื้นๆ ชั้นเดียว ด้านเดียว จะเอาแต่สิทธิเสรีภาพ หลวงลุงอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง ทุกวันก็ได้ยินแต่เรื่องอ้างสิทธิเสรีภาพกันแบบนี้ ไม่พูดกันในทางที่สร้างสรรค์ วินัยที่ยอมรับกันว่าคนไทยแย่อยู่แล้ว ก็ยิ่งทรุด
แล้วมาถึงเด็กสมัยนี้ ก็ใช้เสรีภาพกันแบบจะเอาตามชอบใจตัว กลายเป็นว่า ด้านหนึ่งก็มั่วสุมหมกมุ่น อีกด้านหนึ่งก็ขัดแย้งแก่งแย่งตีกันยิงกันฟันแทง บ้านเมืองยุ่งอยู่กับอบายมุขและอาชญากรรม
คุณภาพคนมีแต่เสื่อมด้อย สภาพการศึกษาพร่อง ก็ฟ้อง ภาวะสังคมขาดวินัย ก็ซ้ำ
เมื่อใดคนรู้ตัวตระหนักขึ้นมาว่า จะต้องพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ก็จะเห็นคุณค่าของวินัยว่า มันสร้างโอกาสที่จะทำการพัฒนานั้น แล้วก็จะมีทางพัฒนาวินัย
ที่จริง เด็กเดี๋ยวนี้ ที่ดีอยู่เงียบๆ ก็เยอะ แต่บางทีผู้ใหญ่ก็มองผิด คือ เด็กหลายคนต้องการสร้างสรรค์ และเขาก็อยากมีวินัย
แต่แล้วผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ ก็ไปพูดปิดกั้นเสียว่าจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็ก
ก็รู้กันอยู่แล้วว่า เด็กจำพวกที่ไปมั่วสุมตีรันฟันแทงทำร้ายกันมีเยอะ ทีนี้ ในหมู่เด็กเงียบที่อยากมีวินัยอยากพัฒนาชีวิตและสังคมนั้น เด็กหลายคนก็เป็นคนอ่อนหรือใจอ่อน พอเพื่อนมาบอกมาชวน ก็มักจะกลัวหรือเกรงใจเพื่อน บางทีก็หวาดกังวล แกก็อยากจะมีข้อวินัยเอาไว้อ้างบ้าง ถ้ามีกฎกติกา เด็กพวกนี้ก็จะได้เกราะไว้ช่วยกันตัว
สมัยก่อนโน้น สังคมมีพ่อแม่เป็นหลัก เวลาไปไหน ถ้าเพื่อนจะชวนไปไม่ดี เด็กก็อ้างว่าไม่ได้นะ เดี๋ยวแม่ดุ นี่ก็ได้ข้ออ้างแล้ว
คือ เด็กนั้นเกรงใจเด็กด้วยกัน ถ้าไม่มีข้ออ้างหรือที่อ้างอิง แกก็ต้องยอมตามเพื่อน
ลองเทียบกันดู ก็เห็นๆ ว่า เด็กสมัยก่อน เมื่อตัวเองไม่แข็งพอ ก็มีที่อ้างอิงที่จะออกเสียงพูดขึ้นมาได้ว่า คุณพ่อจะดุเอา คุณแม่จะดุเอา ถ้าแรงนักก็ว่าจะด่าเอาจะตีเอา ก็เป็นตัวยับยั้งได้ แล้วก็เป็นหลักที่ตัวจะยึดไว้ ไม่ต้องตามเขาไป
แต่เด็กสมัยนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นที่อ้างอิงได้ไหม อ้างคุณพ่อคุณแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้วใช่ไหม แล้วเด็กจะอ้างอิงอะไร ก็เคว้งคว้าง ต้องยอมไปตามพวกตามหมู่ หรือตามเด็กที่แข็งกว่า กลายเป็น สังคมไร้หลัก เหลือแต่ตอ
แล้วยุคนี้จะทำอย่างไร นี่แหละจึงว่า ถึงจะไม่มีคนที่เป็นหลัก แต่ถ้ามีกฎกติกามาช่วยเป็นวินัยให้ เด็กดีที่เงียบ ก็จะได้มีหลักที่ยึดไว้อ้างอิง
อย่าไปนึกว่า เด็กทุกคนต้องการทำตามใจตัว เด็กหลายคนต้องการจะมีกติกา พอมีให้แล้ว เขาจะได้เอาไปอ้างกับเพื่อน
เพื่อนจะมาชวนไปทางเสีย เขาก็บอกว่า เดี๋ยวๆ กฎกติกาข้อนี้มีอยู่ว่าอย่างนี้นะ จะเป็นกติกาในบ้าน ในครอบครัว ในโรงเรียนอะไรก็แล้วแต่ เราต้องให้เด็กรู้จักเอาไปอ้าง เด็กก็กลายเป็นพวกเดียวกับวินัยหรือกฎกติกานั้นไป
ขอย้ำไว้ อย่าไปนึกว่าเด็กมองกฎกติกาไม่ดีว่ามากดบังคับเขา แล้วไม่ชอบกฎกติกาไปหมด เด็กที่ชอบ มีอยู่ และต้องการเอาไปใช้ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณา และต้องคิดหลายแง่หลายชั้น
อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่า คนเดี๋ยวนี้มักมองอะไรแง่เดียว และมองแคบอยู่แค่ความรู้สึก กับเรื่องจะกินเสพบริโภค
พูดถึงเสรีภาพ ก็จะกินเสพบริโภค แสดงความรู้สึกได้อย่างใจชอบ พูดถึงวินัยก็เป็นการปิดกั้นไม่ให้กินเสพบริโภคได้ตามชอบใจ มองไปอย่างนี้ ก็เลยไม่ได้หลักในการที่จะพัฒนาชีวิตและสังคม
เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาคนให้รู้จักศึกษาว่า ในสังคมนั้น หลักการต่างๆ เช่นเสรีภาพนี้ เขามีไว้เพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคมให้ดีงามสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่ติดจมอยู่แค่เสพบริโภคเท่านั้น เราอย่ามองแค่นี้
พระพุทธศาสนาบอกว่า สิ่งเสพบริโภคและเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องวัตถุทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของปัจจัย แปลว่าเป็นเครื่องเกื้อหนุน เป็นเงื่อนไข เป็นที่อาศัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย เราอย่าจบแค่นี้
อย่าคิดว่า เราไปเรียน ไปทำงาน ทำอะไรๆ เพื่อจะได้มีเงินทองทรัพย์สมบัติ แล้วก็กินเสพบริโภค คือจบ แต่ปัจจัย ๔ เรื่องวัตถุ เรื่องเศรษฐกิจนี้ เรามีไว้ให้พร้อมให้เพียงพอแล้ว มันจะเป็นฐาน เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ให้เราก้าวขึ้นไปสู่ความดีงามที่สูงขึ้นไป
สังคมจะเจริญก้าวหน้าได้ ต้องมีเศรษฐกิจดี แต่ไม่ใช่จบแค่นั้น ไม่ใช่จบที่ว่ามีเศรษฐกิจดีแล้ว จึงพอ แต่ต้องมีเศรษฐกิจดี ให้พอที่จะใช้เป็นฐาน ในการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามทางจิตใจ ทางปัญญา ทางวัฒนธรรมอะไรต่างๆ ต่อไป
ต้องอย่างนี้ สังคมจึงจะดี มีอารยธรรมได้
ถ้าจบที่กินเสพบริโภค มันก็ไม่ไปไหน ก็อยู่แค่ลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็แย่งชิงกัน ทะเลาะวิวาทเข่นฆ่ากัน วนเวียนอยู่แค่นั้น แล้วก็เสื่อม