คติจตุคามรามเทพ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เทพดี คนดี บรรจบกันที่ธรรม

เมื่อกี้นี้ท่านว่า โดยเฉลี่ยเทวดามีคุณธรรมสูงกว่าคน ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เทวดาที่แย่กว่าคนก็มีใช่ไหม? แล้วถ้าเจอเทวดาที่ไม่ดี เราจะทำอย่างไร?

ก็แน่ละซิ เทวดาร้ายมีเยอะแยะไป บ้างก็ขี้โกรธ ถืออำนาจ ใครทำอะไรกระทบกระทั่งนิดหน่อย ก็จะเอาตาย อย่าง พระภูมิบางบ้าน เด็กไปทำอะไรเข้า ทั้งที่ไม่ประสีประสา ก็ไม่อภัย แต่มาทำให้เจ็บป่วย เทพบางองค์ก็ดุนัก อะไรๆ ก็จะหักคอ กลายเป็นว่าเทวดามารังแกคน

ถ้าเทวดานั้นเป็นชาวพุทธ เป็นผู้รู้จักธรรม ก็ประพฤติปฏิบัติตามธรรม เรื่องร้ายก็ไม่มี แต่ถ้าเจอเทพร้าย ปัญหาจะเกิด เรารู้หลัก ก็เอาหลักนั้นมาใช้ อย่างที่บอกแล้วว่า “ไม่ว่าเทพว่าคน ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ... เอาธรรมเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ตัดสิน”

เพราะฉะนั้น ถ้าคนกับเทวดามีเรื่องขัดแย้งกัน ขาวพุทธมีทางออก ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อเทวดา ถ้าคนทำถูก ถ้าการกระทำของเราชอบธรรม เรายืนอยู่ในหลัก เทวดาต้องยอม

ขอยกตัวอย่าง เอาเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เคยพูดถึงแล้วนั่นแหละ เรื่องมีว่า ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์เสด็จบ่อย เพราะท่านมีศรัทธามาก ถึงแม้พระพุทธเจ้าไม่เสด็จ ก็มีพระสงฆ์ได้รับนิมนต์ไปรับบาตรอะไรทำนองนั้น

ทีนี้ เทวดาที่อยู่บนซุ้มประตูบ้านท่านเศรษฐีนั้น ยังไม่ได้นับถือพระและชอบอยู่สบายๆ เวลามีพระไปที่บ้านผ่านซุ้มประตู ในฐานะที่พระสงฆ์เป็นผู้มีศีล เทวดาซึ่งอยู่บนซุ้มประตูก็ต้องลงมา เป็นการแสดงความเคารพ เทวดาต้องลงมาบ่อยๆ ก็เกิดความไม่พอใจ

เทวดาขัดเคืองขึ้นมา ก็คิดว่า ทำอย่างไรจะให้พระไม่มาบ้านนี้อีก พอดีตอนนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญมาก ก็ยากจนลง เทวดาเลยได้โอกาส วันหนึ่งก็ไปปรากฏตัวแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็พรรณนาต่างๆ ว่า “ท่านเป็นผู้มีศรัทธา ทำความดีช่วยเหลือผู้คน แต่เวลานี้ท่านจนลง นี่ก็เป็นเพราะพุทธศาสนา เนื่องจากท่านใช้ทรัพย์ไปบำรุงพระสงฆ์และทำบุญต่างๆ จนจวนจะหมด นี่ถ้าท่านตั้งตัวให้ดี ก็จะร่ำรวยยิ่งขึ้นไป ข้าพเจ้าก็อยากจะช่วย แต่ทำอย่างไรท่านจะไม่ใช้จ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองแบบนี้อีก ถ้าท่านเลิกใช้จ่ายแบบนี้ ข้าพเจ้ามีวิธีช่วยท่าน ข้าพเจ้ารู้ขุมทรัพย์ จะบอกขุมทรัพย์ให้”

ฝ่ายเศรษฐีเป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย ได้อุปถัมภ์พระศาสนา แจกทานสงเคราะห์คนยากไร้ หมดเท่าไรก็ไม่เสียดาย พอได้ยินเทวดาว่าอย่างนี้ ก็คิดว่า เทวดานี่ชวนเราผิดทางเสียแล้ว ก็จึงบอกว่า “นี่ท่านพูดชวนออกนอกลู่นอกทาง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าบ้าน ไม่อยากให้ท่านอยู่ที่นี่อีกต่อไป”

อันนี้เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเจ้าบ้าน คติโบราณอันนี้ คนไทยไม่ค่อยรู้ เจ้าบ้านมีสิทธิ์ ถ้าเขาไม่ให้อยู่ เทวดาก็ไม่สามารถอยู่ได้

ฝ่ายเทวดาถูกเศรษฐีไล่ไม่ให้อยู่ เดือดร้อน ก็เลยไปหาพระอินทร์ ขอให้ช่วย พระอินทร์บอกว่า “ข้าพเจ้าก็ช่วยไม่ได้ แต่จะแนะอุบายให้อย่างหนึ่ง เอาอย่างนี้สิ ท่านไปพูดกับเขา บอกว่า ท่านเศรษฐีทำบุญทำกุศล ช่วยเหลือผู้คน ทำสังคมสงเคราะห์มากมายนี่ดี มีประโยชน์มาก ข้าพเจ้าสนับสนุน เมื่อท่านจนลง ข้าพเจ้าจะบอกขุมทรัพย์ให้ ท่านจะได้มีเงินมาทำบุญทำกุศลมากๆ”

เทวดาเลยใช้วิธีใหม่ มาปรากฏตัวกับเศรษฐี แล้วพูดอีกแบบหนึ่ง เศรษฐีเลยยอมให้อยู่

นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทวดา ตามคติแต่โบราณที่สืบมาในพระพุทธศาสนา คตินี้ก็คือ เทวดาอาจจะเหนือกว่ามนุษย์ แต่ไม่เหนือกว่าธรรม ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด ถ้ามนุษย์ถูกตามธรรมแล้ว ธรรมก็เป็นตัวตัดสิน เทวดาจะต้องยอม

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ได้เปลี่ยนความยึดถือที่ว่าเทพสูงสุด มาเป็นถือธรรมสูงสุด มีเรื่องในคัมภีร์หลายเรื่องเกี่ยวกับเทวดาและมนุษย์ขัดกัน ท่านสอนคติไว้เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่ว่า ต้องเอาธรรมตัดสิน ถ้ามนุษย์ถูก เทวดาก็อยู่ไม่ได้ ต้องแพ้ไปทุกที

ทั้งที่เรื่องทำนองนี้ปรากฏในคัมภีร์หลายที่ มนุษย์จะมีเรื่องขัดแย้งกับเทวดาอย่างไร ก็ต้องยุติด้วยธรรม ถ้าเทวดาผิดธรรม เทวดาต้องไป ท่านพยายามสอนให้มนุษย์หันออกจากทิศทางของลัทธิหวังพึ่งเทวดา ที่มัวอ้อนวอนขอให้เทวดาดลบันดาล ให้หันมายึดถือธรรมเป็นใหญ่ แต่ชาวพุทธก็ไม่สนใจศึกษาคติพระพุทธศาสนาในเรื่องให้ถือธรรมเป็นใหญ่นี้

 

เอาละ พวกเทวดาไม่ดี ก็ว่าไปตามธรรม แต่น่าจะโทษเทวดาดีอย่าง ‘จตุคามรามเทพ’ ที่รักษาพระธาตุด้วย เพราะท่านมีเมตตากรุณาคอยจะช่วยเหลือคน ก็เลยทำให้คนคอยหวังพึ่งชอบรอให้ท่านมาช่วย

แล้วจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้มแข็ง รู้จักคิดทำอะไรด้วยตัวเองให้จริงจังชนิดที่ว่าให้มันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวกันไปเลย?

ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า พระกับญาติโยมต้องเข้าใจและจับให้ถูกจุด ถ้าญาติโยมไม่จับจุด พระก็ต้องชี้จุดให้จับ คือ ต้องมาเน้นกันในแง่ที่ว่า เทพองค์นั้นท่านเป็นชาวพุทธที่ดี ท่านมีศรัทธามาทำหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ท่านมาบำเพ็ญความดีของท่าน นับเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ชาวพุทธควรจะปฏิบัติตัวอย่างนี้ๆ เราก็ควรบำเพ็ญความดีอย่างเทพองค์นี้ ควรเอาท่านเป็นตัวอย่างในการที่จะพยายามทำความดีอย่างท่าน ไม่ใช่ว่าท่านทำความดี แต่เราจะคอยฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์จากการทำความดีของท่าน

ควรเอาเทพที่ดีมาช่วยประกันใจตัวให้มั่นคงไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัว และปลุกใจตัวให้มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะทำการดีงามให้สำเร็จ ร่วมขบวนกับเทพนั้นในการบำเพ็ญความดี ตลอดจนบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ไม่ใช่ว่า เห็นท่านศักดิ์สิทธิ์แบบใจดี ก็ได้แต่หวังผลที่ตัวจะฉกฉวยเอา จากการขอให้ท่านมาบันดาลอะไรๆ ให้

รวมแล้วก็คือ มีความรู้เข้าใจ และจัดปรับการปฏิบัติให้เข้ามาในทิศทางที่ถูก เป็น ๒ ขั้น

๑. รู้เข้าใจและโยงเข้าหาหลักการได้ คือรู้จักสิ่งที่ตนนับถือนั้นว่าเป็นใคร คืออะไร และเข้าใจคติแต่เดิมมา ซึ่งตรงกับที่ตำนานบอกว่า จตุคามรามเทพเป็นเทวดาพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุ ให้ท่านเป็นพลังปกปักและปลุกให้เราเข้มแข็ง มั่นใจในการทำการที่ดี

๒. ปฏิบัติตัวตามวิธีที่จะให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากเรื่องนี้ คือทำความดีอย่างท่าน จตุคามรามเทพบำเพ็ญบารมีตามหลักพุทธศาสน์อย่างไร ก็เอามาเผยแพร่บอกกัน เพื่อให้เป็นการนับถืออย่างมีสาระ

ไม่ใช่ว่า นับถือบูชานักหนา แต่ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังบูชาใคร ท่านมาจากไหน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.