ก้าวไปในบุญ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ไปทำบุญอย่างเดียว
แต่ได้กลับมาสามอย่าง

คราวนี้เราก็มาตรวจสอบตัวเองว่า ทานของเราได้ผลสมบูรณ์ไหม เริ่มตั้งแต่ด้านจิตใจว่า เจตนาของเราดีไหม

เจตนานั้นท่านยังแยกออกไปอีกเป็น ๓ คือ

๑. บุพเจตนา เจตนาก่อนให้ คือตั้งแต่ตอนแรก เริ่มต้นก็ตั้งใจดี มีความเลื่อมใส จิตใจเบิกบาน และตั้งใจจริง แข็งแรง มีศรัทธามาก ต่อไป

๒. มุญจนเจตนา ขณะถวายก็จริงใจจริงจัง ตั้งใจทำด้วยความเบิกบานผ่องใส มีปัญญา รู้เข้าใจ

๓. อปราปรเจตนา ถวายไปแล้ว หลังจากนั้น ระลึกขึ้นเมื่อไรจิตใจก็เอิบอิ่มผ่องใสว่า ที่เราทำไปนี้ดีแล้ว ทานนั้นเกิดผลเป็นประโยชน์ เช่น ได้ถวายบำรุงพระศาสนา พระสงฆ์จะได้มีกำลัง แล้วท่านก็จะได้ปฏิบัติศาสนกิจ ช่วยให้พระศาสนาเจริญงอกงามมั่นคง เป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

นึกขึ้นมาเมื่อไร ก็เอิบอิ่มปลื้มใจ ท่านใช้คำว่า “อนุสรณ์ด้วยโสมนัส”

ถ้าโยมอนุสรณ์ด้วยโสมนัสทุกครั้งหลังจากที่ทำบุญไปแล้ว โยมก็ได้บุญทุกครั้งที่อนุสรณ์นั่นแหละ คือระลึกขึ้นมาคราวไหน ก็ได้บุญเพิ่มคราวนั้น

นี่คือเจตนา ๓ กาล ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับ ทายก

ส่วน ปฏิคาหก คือผู้รับ ถ้าเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมต่างๆ มาก ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก เพราะจะได้เกิดประโยชน์มาก

อย่างพระสงฆ์นี้ เมื่อเป็นผู้ทรงศีล ทรงไตรสิกขา ท่านก็สามารถทำให้ทานของเราเกิดผลงอกเงยออกไปกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ช่วยให้ธรรมแผ่ขยายไปในสังคม ให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และดำรงพระศาสนาได้จริง

ส่วน ไทยธรรม คือวัตถุที่ถวาย ก็ให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต สมควรหรือเหมาะสมแก่ผู้รับ และใช้ได้เป็นประโยชน์

นี้เป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่จะใช้พิจารณาตรวจสอบ และต้องพยายามอย่างที่พูดไปแล้วว่า แม้ว่าเราจะไปทำทานอย่างเดียว ก็ต้องให้ได้ทั้งศีล ทั้งภาวนามาด้วย

เมื่อทำได้อย่างนี้ จึงจะเรียกว่าทำบุญกันจริงๆ ชนิดพูดได้เต็มปาก มิฉะนั้นโยมก็จะได้แค่ไปถวายทานเฉยๆ แล้วก็ไปเรียกอ้อมแอ้มว่าทำบุญ

เพราะฉะนั้น ถ้าโยมไปวัดแล้วบอกว่า ฉันไปทำบุญมา ก็จะต้องตรวจดูด้วยว่า เอ..ที่จริง เราได้แค่ทานหรือเปล่า หรือว่าเราได้ครบเป็นบุญเต็มจริงๆ

ถ้าเป็นบุญ ก็คือได้ครบทั้ง ๓ ประการ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.