ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิทยาศาสตร์กับเบื้องหลังความเจริญของเทคโนโลยี

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีก็ต้องพูดถึงวิทยาศาสตร์เป็นธรรมดา เป็นของคู่กัน เพราะว่าสองอย่างนี้เจริญควบคู่มาด้วยกัน บางทีเราพูดว่าเทคโนโลยีเจริญมาเพราะวิทยาศาสตร์ เพราะเทคโนโลยีอาศัยวิทยาศาสตร์ และบางทีเราถึงกับให้ความหมายว่า เทคโนโลยี คือการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์หรือนำมาใช้ประโยชน์ แต่เทคโนโลยีนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบที่เข้าใจกันในความหมายแบบแคบๆ ที่จริงเทคโนโลยีเกิดก่อนยุควิทยาศาสตร์ แต่เป็นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ พอถึงยุควิทยาศาสตร์เจริญ เทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราให้ความหมายวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความรู้ในธรรมชาติแบบกว้างๆ แล้ว เทคโนโลยีก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์อยู่ดี อย่างไรก็ตาม เรามักจะให้ความหมายวิทยาศาสตร์ในขอบเขตที่จำกัดเป็นวิชาการอย่างที่เข้าใจกันทุกวันนี้ ถ้าอย่างนี้วิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นฐานของเทคโนโลยีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีได้พัฒนามา โดยเฉพาะในเเบบปัจจุบัน

ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างก็เป็นปัจจัยแก่ความก้าวหน้าของกันและกัน หมายความว่า วิทยาศาสตร์เจริญก็ทำให้เทคโนโลยีก้าวหน้า เทคโนโลยีก้าวหน้าก็ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญยิ่งขึ้น ที่ว่าเทคโนโลยีอาศัยวิทยาศาสตร์ เราเห็นได้ง่าย ชัดมาก เพราะเราต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์เทคโนโลยี แต่ที่ว่าเทคโนโลยีทำให้วิทยาศาสตร์เจริญหรือมีโอกาสเจริญนั้นบางทีเรามองไม่เห็น อย่างเช่นความรู้ทางดาราศาสตร์จะเจริญได้แค่ไหนถ้าใช้ตาเปล่า ความรู้ก็แคบ ต่อมาเราประดิษฐ์กล้องดูดาวได้ กล้องดูดาวนั้นเป็นเทคโนโลยี พอได้เทคโนโลยีนี้ความรู้ทางดาราศาสตร์ก็ขยายกว้างขวางออกไป ดังนั้นความรู้ทางเทคโนโลยีก็เป็นตัวเอื้อให้วิทยาศาสตร์เจริญเช่นเดียวกัน หรืออย่างในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็เป็นความหวังของนักวิทยาศาสตร์ว่าจะช่วยให้ศึกษาค้นพบความจริงของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อย่างปัจจุบันนี้บางคนกำลังศึกษาว่าจิตคืออะไร คอมพิวเตอร์จะเป็นตัวเทียบของจิตใจได้หรือไม่ เทคโนโลยีจะพัฒนาไปถึงจุดที่มี mind หรือมี consciousness คือมีจิตได้หรือเปล่า บางทีเถียงกันถึงกับเขียนตำราเป็นเล่มๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ รวมความว่าเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยเพิ่มความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ด้วย เป็นปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน

จุดที่อยากเน้นคือในเวลาที่เราเจริญๆ ไปโดยมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากมายนั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องสังเกตก็คือ สิ่งที่เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นในอารยธรรมตะวันตก ก็คือ แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ฝรั่งภูมิใจมากที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศตะวันตกล้ำหน้ากว่าชาติตะวันออก ก็เพราะแนวความคิดในการที่จะพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาตินี้

แต่ก่อนนี้ ในประวัติของวิชาวิทยาศาสตร์นักวิชาการบอกว่า ตะวันออกเจริญกว่าตะวันตกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ในประเทศจีนและอินเดียเมื่อสมัยย้อนไปเป็นพันๆ ปี แต่ต่อมาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมตะวันตกก็เจริญเลยหน้าตะวันออกไป ซึ่งเขามีความภูมิใจว่าเป็นเพราะเขามีความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้เห็นได้ชัดในอารยธรรมตะวันตก นักวิชาการตะวันตกได้ค้นคว้ารวบรวมไว้เป็นบทๆ เลย อย่างเช่นในหนังสือ ‘A Green History of the World’ นาย Ponting ได้ประมวลแนวความคิดของปราชญ์ตะวันตกมาทั้งหมด ตั้งแต่โสคราติส เพลโต อริสโตเติล และไม่เฉพาะนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ แม้แต่นักจิตวิทยา กวี และนักประวัติศาสตร์ก็มีความคิดอย่างเดียวกันหมด ซึ่งมีหลักฐานยืนยันให้เห็น ดังเช่น Descartes ซึ่งเป็นนักปรัชญาสำคัญ และถือกันว่าเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ด้วย แล้วก็ยังมีซิกมันด์ฟรอยด์ และฟรานซิส เบคอน เป็นต้น ซึ่งได้กล่าวคำพูดหรือวาทะไว้ว่ามนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ บางคนพูดถึงขนาดที่ว่าต่อไปเมื่อมนุษย์เจริญขึ้นด้วยอาศัยวิทยาศาสตร์ เราจะจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เหมือนดังขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือที่จะปั้นเป็นอะไรก็ได้ นี่คือความหวังของตะวันตกซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีมาตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว แม้แต่ศาสนาในตะวันตกก็ถูกวิจารณ์ว่า มีแนวคิดแบบเดียวกันอย่างนั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.