หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชื่อแรกของพระพุทธศาสนาคือธรรมวินัย

ชื่อแรกที่ควรจะยกมากล่าวก็คือคำว่า ‘ธรรมวินัย’ ธรรมวินัยนี้เรียกว่าเป็นชื่อดั้งเดิมชื่อหนึ่งของพระพุทธศาสนา และมีความสำคัญมากจนกระทั่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานก็ได้ตรัสว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา ซึ่งบอกแจ้งให้ทราบว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว หรือตามพุทธดำรัสว่า ในเวลาที่เราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย นี้เป็นเครื่องแสดงถึงความสำคัญของชื่อเรียกพระพุทธศาสนาคือ ชื่อว่าธรรมวินัยนี้ ถึงขั้นเป็นองค์ศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และในระหว่างที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น เราก็เรียกพุทธศาสนาว่า ‘ธรรมวินัย’ เป็นคำที่ใช้เรียกกันเรื่อยมา และคำว่าธรรมวินัยนี้ จะปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่ง ชื่อเรียกนี้แสดงลักษณะที่สำคัญให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๒ อย่าง คือ ธรรมกับวินัย ถ้าหากว่าเรามองพระพุทธศาสนาแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ธรรมอย่างเดียวหรือวินัยอย่างเดียว ก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นการมองที่ไม่ครบหรือว่าจับตัวพุทธศาสนาได้ไม่ครบถ้วน เป็นภาพพระพุทธศาสนาที่ไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม คำว่าธรรมวินัยนี้ ในสมัยปัจจุบันเราก็พูดถึงเหมือนกัน แต่เมื่อพูดถึงนั้นเรามักรู้สึกว่าเป็นเรื่องของพระ แม้แต่คำที่ใช้เดิมในพุทธกาลเองหรือในพระไตรปิฎก ก็มักจะพูดในเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่นว่า ออกบวชในธรรมวินัย บรรพชาในธรรมวินัย ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าธรรมวินัยที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น มีในลักษณะที่เป็นเรื่องของผู้บวชแล้ว

ธรรมนั้นเป็นคำสอน เป็นหลักการทั่วไปที่เห็นได้ง่ายว่าเป็นกลางๆ จะเป็นพระหรือเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ย่อมจะต้องได้เรียนรู้ สามารถจะได้รับฟังเหมือนกัน ส่วนวินัยนั้นที่จะวางไว้เต็มรูปบริบูรณ์ก็คือวินัยของพระสงฆ์ เพราะว่าคณะสงฆ์เป็นชุมชนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งขึ้นเอง เมื่อได้ทรงตั้งขึ้นเอง ก็ทรงวางระเบียบแบบแผนไว้ให้ครบถ้วน สำหรับการที่จะดำรงชุมชนหรือสงฆ์นั้นไว้

สำหรับวินัยฝ่ายฆราวาสนั้น เรามองไม่ค่อยเห็น แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าไม่มี เมื่อกล่าวถึงพระอริยบุคคล เช่น พูดถึงพระโสดาบัน ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติว่ามีความรู้ เข้าใจ หรือเข้าถึงธรรมวินัยเหมือนกัน เช่น อย่างในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงอุบาสิกาผู้เป็นคหปตานี ชื่อว่า ‘กุลมาดา’ ก็กล่าวถึงท่านผู้นี้ ว่ามีคุณสมบัติ ธมฺมวินเย โอคาธปฺปตฺตา เป็นผู้ได้ที่หยั่งในธรรมวินัยแล้ว นี่เป็นลักษณะของอริยบุคคล และในสิงคาลกสูตร อรรถกถาก็กล่าวว่า สิงคาลกสูตรนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นคิหิวินัย คือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ หรืออย่างในมงคลสูตร ก็จะมีมงคลบทหนึ่งบอกว่า วินโย จ สุสิกฺขิโต วินัยที่ได้ศึกษาเป็นอย่างดีแล้ว อรรถกถาก็จะอธิบายว่า วินัยมี ๒ อย่าง อาคาริยวินัย วินัยสำหรับชาวบ้าน อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับอนาคาริก คือผู้ที่บวชแล้ว หรือพระสงฆ์

สำหรับวินัยฝ่ายฆราวาส หรือผู้ครองเรือนนั้น ท่านบอกว่า ได้แก่ การงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ หรืออย่างที่มีบ่อยมากในพระไตรปิฎกก็คำว่า อริยสฺส วินเย ในอริยวินัยหรือในวินัยของอริยชน คำวินัยเป็นอันว่ามีกล่าวถึงอยู่เสมอ และก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ด้วย แต่เรามักจะมองไปที่พระ วินัยของคฤหัสถ์นั้น กล่าวได้ว่าไม่ได้มองเห็นชัดเจนออกมาว่าคืออย่างไร มีอะไรบ้างที่แน่นอน มีแต่ข้อเสนอของพระอรรถกถาจารย์ที่ท่านให้เอาสิงคาลกสูตร โดยบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้มุ่งให้เป็นคิหิวินัย หรือในอรรถกถามงคลสูตรที่ว่า งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ เป็นอาคาริยวินัยอะไรอย่างนี้ แม้แต่วินัยของพระเองเราก็มักจะมองกันแคบๆ เมื่อพูดถึงวินัยมักจะมองในรูปของระเบียบความประพฤติส่วนตัวของพระสงฆ์ พระสงฆ์ประพฤติเคร่งครัดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเรามองดูให้ดีแล้ว ที่จริงวินัยของพระสงฆ์มีความหมายกว้างมาก วินัยที่เราพูดกันส่วนมากนั้น มักจะได้แก่วินัยที่มีอยู่ในปาฏิโมกข์ ที่โดยมากเป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระ

แต่ยังมีวินัยอีกส่วนหนึ่ง ที่ท่านเรียกว่า นอกปาฏิโมกข์และมีอยู่มากมาย เป็นเรื่องที่กำหนดระบบแบบแผนกิจการต่างๆ ในชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ว่าเมื่อบวชเข้ามาแล้วจะต้องให้การศึกษาอบรมอย่างไรบ้าง เรื่องปัจจัย ๔ จะมีระเบียบการจัดสรรแบ่งปันอย่างไร ผู้ที่รับผิดชอบในกิจการของพระสงฆ์มีวิธีการแต่งตั้งกันอย่างไร กิจการส่วนรวมของพระสงฆ์มีวิธีดำเนินการอย่างไร เมื่อมีคดีเกิดขึ้นมีเรื่องราวเกิดขึ้น มีโจทก์มีจำเลยในสงฆ์ คือพระภิกษุนี่แหละ จะต้องดำเนินคดีอย่างไร จะต้องลงโทษกันอย่างไร ความสัมพันธ์กับชาวบ้านจะต้องทำอย่างไร เรื่องราวที่อาจจะเกิดกับชาวบ้านจะดำเนินการอย่างไร ดังนี้เป็นต้น วินัยกำหนดไว้ทั้งนั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.