การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ
ทำอย่างไรจะให้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย

ในการแข่งอำนาจระหว่าง ๒ ค่ายในสงครามเย็นนั้น ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ เวลานี้ก็ถือว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดีที่สุด พอดีประชาธิปไตยที่ชนะเป็นประชาธิปไตยแบบ "ตลาดเสรี" หรือ "ทุนนิยม" จึงทำให้หลายคนหลงผิดไปว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเป็นทุนนิยมไปด้วย ทั้งนี้พฤติกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ถือตัวเป็นผู้นำ ก็ชวนให้คนอื่นมองอย่างนั้นด้วย

ประธานาธิบดีคลินตัน ในพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้พูดแสดงความภูมิใจแทนชนชาติอเมริกันทั้งหมดว่า เวลานี้ American Idea คือแนวความคิดหรือภูมิปัญญาของอเมริกันได้เป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลก แนวความคิดนี้ก็คือ "ประชาธิปไตย" กับระบบเศรษฐกิจแบบ "ตลาดเสรี" เขาใช้คำว่า democracy and free-market economy เขาแสดง ความภูมิใจของคนอเมริกัน ในขณะที่แท้ที่จริง สังคมอเมริกันกำลังบอบช้ำ และมีความวิตกกังวลในความเสื่อมสลายของตนเป็นอย่างยิ่ง เราจึงมองคำแสดงความภูมิใจของประธานาธิบดีของอเมริกานี้ได้ ๒ อย่าง คือ ภูมิใจจริง กับอีกอย่างหนึ่งเป็นการปลอบใจคนของตนเอง หมายความว่า ในขณะที่คนอเมริกันกำลังใจเสียเต็มที ประธานาธิบดีก็มาพูดปลอบใจว่า หลักการของเรานี้ดีนะ คนอื่นเขายอมรับไปทั่วโลก

ที่จริง free-market economy (เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี) ก็คือ capitalism (ลัทธิทุนนิยม) นั่นเอง ในตอนหลังอเมริกันแสดงอาการที่เหมือนจะผนวก ๒ อย่างนี้ให้เป็นอันเดียวกัน จนมีคำใหม่ออกมาเรียกว่า free-market democracy แปลว่า "ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี" ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบทุนนิยม คนที่ไม่ทันพิจารณา อาจจะหลงผิดคิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จะต้องแยกให้ถูก ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เป็นระบบผลประโยชน์ เราจะต้องแยกมันออกจากระบอบประชาธิปไตย

เราอาจจะยอมรับว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ในด้านเศรษฐกิจเราอาจจะหาระบบเศรษฐกิจอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เราสงสัยว่าจะไม่สามารถพัฒนาคนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีได้

ดังเป็นที่รู้กันว่า ประชาธิปไตยเองก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะประชาธิปไตยในโลก แม้แต่ของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด ที่จะพามนุษยชาติไปสู่ความอยู่ดีมีสุขนั้น ช่วยให้เกิดสันติสุขและอิสรภาพอย่างแท้จริงหรือเปล่า อย่างเช่นประชาธิปไตยแบบอเมริกันก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า เป็นประชาธิปไตยที่ดีหรือไม่ เหมือนกับในด้านการจัดการศึกษาของเขา ที่เราไม่จำเป็นต้องไปยอมรับ เราต้องศึกษาวิเคราะห์ด้วยสติปัญญาให้เห็นข้อดีข้อเสียก่อน

ถ้าเรามองสังคมอเมริกันด้วยปัญญา และเอาใจใส่วิเคราะห์ ตรวจตรา เราจะมองเห็นสภาพที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้น สังคมประชาธิปไตยของอเมริกันนั้น เจ้าตัวกำลังร้องทุกข์ว่า กำลังเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจะไปรอดหรือไม่เขาก็ไม่แน่ใจเสียแล้ว ทั้งปัญหาความแบ่งแยกเชื้อชาติและรังเกียจผิวที่ลึกและแรงจนคติเบ้าหลอมแตกพังไปแล้ว ทั้งปัญหาความผุกร่อนของสังคมแทบทุกด้าน ตั้งแต่ครอบครัวแตก และสิ่งเสพติด ทั้งปัญหาการใช้กฎหมายในทางที่ผิด เราจึงต้องตรวจดูประชาธิปไตยของเขาว่าเป็นสิ่งที่เราควรนำมาใช้ได้แค่ไหนเพียงใด

อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องเน้นก็คือ เวลาพูดถึงประชาธิปไตย เรามักจะพูดถึง "รูปแบบ" และคนก็มักจะสนใจในเรื่องของรูปแบบกันมาก รูปแบบ ก็คือตัวระบอบ เช่น การจัดองค์กรที่ใช้อำนาจของประชาธิปไตยเป็น ๓ ส่วน คือ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ และจะต้องมีการเลือกตั้ง ตลอดจนอะไรต่างๆ ที่เป็นกลไกของระบอบนี้ แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ตัวมันก็คือ "เนื้อหาสาระ" การที่มีรูปแบบก็เพื่อจะให้เนื้อหาสาระมีผลในทางปฏิบัติ คือเพื่อที่จะสื่อสาระออกมาเท่านั้นเอง ถ้าหากไม่มีเนื้อหาสาระ รูปแบบก็จะไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับเรามีแก้วน้ำเพื่ออะไร ก็เพื่อจะบรรจุและเก็บน้ำไว้ได้และกินน้ำได้สะดวก ถ้าไม่มีน้ำ แก้วน้ำก็ไม่มีความหมาย ประชาธิปไตยแม้จะมีระบอบรูปแบบดีอย่างไร ถ้าไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นเวลาเราพัฒนาคนให้เป็นประชาธิปไตย อย่าลืมให้ความสำคัญที่จุดเน้น คือ เนื้อหาสาระ

ว่าที่จริง รูปแบบต่างๆ เช่น รัฐสภา ครม. ศาล การเลือกตั้ง เป็นต้น ถ้าจะพูดกันให้ชัดต้องบอกว่าเป็นเพียง "เครื่องมือของประชาธิปไตย" เท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวประชาธิปไตย ตัวประชาธิปไตยก็คือวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันและช่วยกันจัดสรรความเป็นอยู่ให้เป็นไปด้วยดี เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ตัวแท้ของประชาธิปไตยอยู่ที่การช่วยกันคิด ช่วยกันทำ นำเอาสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนออกมาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ร่วมกันให้เป็นสุขและเจริญงอกงาม ถ้าไม่มีตัวแท้หรือเนื้อแท้ของประชาธิปไตยนี้ รูปแบบต่างๆ ที่ว่าเป็นเครื่องมือทั้งหลายก็หมดความหมาย

ปัญหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยเวลานี้เริ่มต้นตั้งแต่ว่า "ประชาชนต้องการประชาธิปไตยหรือไม่?" ถ้าประชาชนต้องการการมีชีวิตอยู่ร่วมกันแบบช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ โดยนำเอาสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ ด้วยการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นต้น ก็เรียกว่า ประชาชนต้องการประชาธิปไตย แต่ถ้าประชาชนไม่ต้องการวิถีชีวิตอย่างนี้ แม้ว่าเขาจะต้องการการเลือกตั้งเป็นต้น ก็ไม่เรียกว่าเขาต้องการประชาธิปไตย และในกรณีเช่นนั้น เครื่องมือของประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น อาจจะถูกนำไปใช้เพื่อสนองความมุ่งหมายอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยก็ได้

เพราะฉะนั้น ในสังคมไทยเวลานี้ สิ่งที่การศึกษาจะต้องทำ ซึ่งเป็นปัญหาง่ายๆ ที่แก้ไขได้ยาก คือ การทำให้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย

แม้แต่ความหมายของหลักการต่างๆ ของประชาธิปไตย เช่น ความหมายของเสรีภาพ เดี๋ยวนี้ก็ยังยุ่งกันอยู่ โดยเฉพาะความหมายของ "เสรีภาพ" ซึ่งคนจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นการทำอะไรได้ตามชอบใจ ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยเวลานี้ ก็มีเสรีภาพมากกว่าประเทศอเมริกามากมาย ลองไปดูเถิด ในประเทศอเมริกา เสรีภาพถูกจำกัดด้วยวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยทุกคนถือสิทธิส่วนตัวเป็นสำคัญ ถ้ามีการล่วงละเมิดกันนิดหน่อยก็ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นต้องระวังตัวมากในสังคมอเมริกัน ในสังคมไทยยังยืดหยุ่นและมีเสรีภาพมากกว่า

ขอบเขตหรือข้อจำกัดของเสรีภาพอีกอย่างหนึ่งคือกฎเกณฑ์ ประชาธิปไตยของสังคมที่พัฒนาแล้วอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ทั้งนั้น เช่น สังคมอเมริกันมีกฎเกณฑ์มากมายเหลือเกิน ในสังคมไทยเรายังไม่มีกฎเกณฑ์มากเพียงนั้น เรายังทำอะไรได้ตามชอบใจเยอะ คนไทยเราสบายมาก จะสร้างบ้านตรงไหน จะทาสีอะไรก็ได้ ในประเทศอเมริกาทำได้ที่ไหน ทำไม่ได้สักอย่าง จะสร้างบ้านก็ต้องดูกฎหมาย ต้องปรึกษาทนายความ จะสร้างรูปร่างอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามแบบที่จำกัดไว้ จะมีเนื้อที่เท่าไร มีสนามแค่ไหน แม้แต่สีทาบ้านก็ต้องถูกจำกัดอีก มีกฎเกณฑ์ไปทุกอย่าง แม้แต่จะปรับปรุงบ้านหรือซ่อมแซม เช่น เกิดท่อน้ำประปาเสีย เกิดไฟเสีย ทำตามใจตัวไม่ได้สักอย่าง เสรีภาพถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ทำได้เท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย แต่กฎหมายของเขาจำกัดขอบเขตการกระทำของบุคคลอย่างยุบยิบ นี่คือเสรีภาพแบบอเมริกัน ซึ่งถือกติกาของสังคม ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ต้องเคารพกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง จนมีคติที่เขาภูมิใจว่าเป็นสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย (the rule of the law)

แม้กระนั้นก็ตาม เสรีภาพแบบอเมริกันนี้เพียงพอที่จะรักษาสังคมให้อยู่ดีมีสันติสุขหรือไม่ เวลานี้เสรีภาพแบบอเมริกัน เกิดภาวะที่เรรวนผันผวนปรวนแปรถึงกับเกิดโทษก็มี เด็กนักเรียนแม้แต่ชั้นประถมถือเสรีภาพเอาปืนไปโรงเรียน ภาพเด็กนักเรียนพกปืนไปโรงเรียนกลายเป็นเรื่องสามัญ สถิติเด็กอายุ ๑๔-๑๗ ปี ฆ่ากันตายเพิ่ม ๑๒๔ เปอร์เซนต์ ในช่วง ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๔) ในทางการเมืองมีการคร่ำครวญว่า การเมืองของอเมริกาได้เปลี่ยนจากการเมืองของผู้ทำหน้าที่พลเมือง (civic politics) ไปเป็นการเมืองของนักเรียกร้อง (claimant politics)

ยิ่งกว่านั้น คนหันไปหาผลประโยชน์จากกฎหมาย กลไกที่เคยนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ขณะนี้ถูกนำมาใช้หาประโยชน์ ยกตัวอย่าง เช่น นักกฎหมายเปิดบริการพิเศษขึ้นมา มีการเขียนป้ายบอกว่า ทนายความรับให้บริการทางกฎหมายฟรี ดูแล้วใจบุญเหลือเกิน ช่วยเหลือสังคม แต่ที่เขาว่าจะให้บริการนี้คืออย่างไร หมายความว่า ถ้าคุณมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน เขายินดีรับปรึกษาตั้งคดีให้ จะได้ฟ้องกัน อยู่กับเพื่อนบ้านแล้วมีเรื่องกระทบกระทั่งกันนิดๆ หน่อยๆ พอหาแง่ได้ ใครอยากหาผลประโยชน์ก็ไปหาทนายความ ทนายก็จะตั้งคดีให้ แล้วเอาไปขึ้นศาลฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน ที่ว่าไม่เอาค่าบริการก็คือว่า ตอนฟ้องตั้งคดีและว่าความไม่เอาค่าทนาย แต่ถ้าฟ้องกันตัดสินว่าชนะได้เงินมาจะต้องแบ่งกับทนายคนละครึ่ง ถ้าแพ้ก็แล้วกันไป นี่แหละคือบริการ ผลก็คือเพื่อนบ้านหวาดระแวงกัน อยู่ไม่เป็นสุข บริการสังคมแบบนี้ดีหรือเปล่า

สังคมอเมริกันจะมีปัญหาแบบนี้มากขึ้น นี่คือการที่กลไกของประชาธิปไตย ที่เคยเป็นเครื่องสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม กลับมาถูกมนุษย์ใช้ในทางที่เป็นโทษ กลายเป็นเครื่องทำลายสังคม โดยเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของบุคคล เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูให้ดีว่า ในการธำรงรักษาสังคมนั้น อะไรแน่ที่เป็นตัวธำรงรักษา อะไรเป็นองค์ประกอบที่แท้จริงของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยตั้งอยู่ด้วยอะไร เมื่อก่อนนี้อเมริกาเจริญด้วยประชาธิปไตย แต่เดี๋ยวนี้ทำไมเรรวน ตัวเหตุปัจจัยอยู่ที่ไหนแน่ อย่าไปติดแค่รูปแบบ ถ้ามองไม่ชัดไม่ลึกเราอาจจะหลงและสับสนไขว้เขว อาจจะจับเอามาได้แต่ความเสื่อมก็ได้ เวลานี้เมื่อคนอเมริกันหันมาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์กันแล้ว มนุษย์ก็ระแวงกัน เพื่อนบ้านก็ระแวงกัน หมอก็ระแวงคนไข้มากขึ้น ก็อยู่กันไม่เป็นสุข สังคมอย่างนี้จะมีความสุขได้อย่างไร นับเป็นเหตุอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมสลายของสังคม

หันกลับมาที่ความเข้าใจความหมายของ "เสรีภาพ" ถ้าเรามองเข้ามาที่ตัวบุคคลโดยเน้นในแง่ผลประโยชน์ของบุคคล เสรีภาพ ก็กลายเป็นการที่เราจะทำอะไรได้ตามชอบใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเรา กลายเป็นเสรีภาพในทางที่จะเอา ซึ่งทำให้แบ่งแยกและแก่งแย่งกัน แล้วก็ต้องมีข้อจำกัดด้วยการที่ไม่ให้ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่เสรีภาพในประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น เป็นเสรีภาพแบบสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสังคม ซึ่งเป็นไปในเชิงให้และทำให้เกิดความสามัคคี

ในความหมายที่แท้จริง "เสรีภาพ" คือ ช่องทางที่จะทำให้ศักยภาพของบุคคลได้ออกมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่สังคม ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพ คนไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ศักยภาพที่เขามี หรือสติปัญญาความสามารถที่เขามีอยู่ ก็ไม่มีโอกาสที่จะออกมาช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขของส่วนรวมได้ ความหมายของเสรีภาพที่แท้จริงอยู่ที่นี่ สังคมประชาธิปไตยดีงามประเสริฐ ก็ตรงที่ว่า เป็นสังคมที่นำเอาศักยภาพของคนที่อยู่ในสังคมนั้นมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ในแง่นี้จะเรียกคนว่าเป็นทรัพยากรก็ได้ ถ้าเราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ดีที่สุด ก็จะต้องเข้าใจแม้แต่ความหมายของเสรีภาพให้ถูกต้อง เพราะเมื่อพัฒนาเสรีภาพอย่างถูกต้อง เสรีภาพก็กลายเป็นช่องทางที่จะนำเอาศักยภาพที่มีในบุคคลนั้นมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขร่วมกันของสังคม ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ และเราจึงต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เวลานี้เราใช้เสรีภาพในความหมายไหน เสรีภาพที่ผิดก็จะมุ่งไปในด้านเพื่อตัวเอง และแบ่งแยกแย่งชิงกับผู้อื่น แต่เสรีภาพที่แท้จริงนั้นมุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและความดีงามของสังคมเพื่อผลดีที่จะได้รับร่วมกัน โดยนำเอาความรู้ความสามารถความดีงามของตนๆ มาให้ มาเสริมกัน นี่คือตัวประชาธิปไตย

ทีนี้ลองมาดูความหมายของหลักการแห่งประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่ง คือคำว่า "เสมอภาค" ความเสมอภาคมีความหมาย ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ความเสมอภาคของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งมองความเสมอภาคในความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่งว่า เขาได้ห้าร้อย ฉันก็ต้องได้ห้าร้อย เขาได้ห้าหมื่น ฉันก็ต้องได้ห้าหมื่น เขาได้แค่ไหน เราก็ต้องได้แค่นั้นเหมือนกัน คุณเอาได้ ฉันก็ต้องเอาได้ เป็นความเสมอภาคในการที่จะได้จะเอา

แบบที่ ๒ ความเสมอภาคของมนุษย์ในระบบสังคมประชาธิปไตยแท้ที่พึงปรารถนา ซึ่งมองความเสมอภาคในความหมายแบบร่วมสร้างสรรค์ร่วมแก้ปัญหา คือการมีโอกาสเท่าเทียมกัน ที่จะนำเอาศักยภาพของแต่ละบุคคลมาร่วมกันแก้ปัญหาและทำการเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน เช่น เสมอกันในสุขและทุกข์ (ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมเผชิญปัญหา) ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ปฏิบัติต่อกันโดยชอบธรรมเสมอหน้า เพื่อจุดหมายของประชาธิปไตยคือการสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม มีความสุขร่วมกัน เป็นความเสมอภาคที่เน้นในเชิงให้

เมื่อประชาชนมองความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคในเชิงให้และร่วมสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันแล้ว ความหมายนั้นก็จะกลมกลืนสอดคล้องกับหลักการข้อที่ ๓ ของประชาธิปไตย คือ "ภราดรภาพ" (fraternity) ที่แปลว่า ความเป็นพี่เป็นน้องกัน ซึ่งหมายถึงความสมัครสมานสามัคคี แต่ถ้ามองความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคแบบมุ่งได้มุ่งเอาและแบ่งแยกแก่งแย่งกัน ภราดรภาพก็เกิดขึ้นไม่ได้ น่าสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ เมื่อคนพูดถึงประชาธิปไตยก็พูดถึงแต่เสรีภาพและความเสมอภาค ไม่พูดถึงภราดรภาพกันเลย แม้แต่ในสังคมอเมริกันเอง คติเบ้าหลอม (melting pot) ที่อาจถือเป็นคำแทนของภราดรภาพก็กำลังสลายไป ประชาธิปไตยจึงเข้าสู่วิถีแห่งความระส่ำระสายไปทั่ว

การศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้คนมองความหมายของหลักการต่างๆ เปลี่ยนไปหมด แม้แต่ความหมายของ "สิทธิ" ก็มี ๒ แบบ คือ สิทธิที่จะได้จะเอา คนส่วนมากจะมองในแง่สิทธิที่จะได้จะเอา แต่สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ค่อยมอง แม้จะฟังคล้ายเป็นของแปลก แต่มันเป็นจริง คือสิทธิที่จะให้ ในการศึกษาประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง จะมองเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดขึ้น ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร ขอให้ศึกษา "สาระ" กันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่าตันอยู่แค่รูปแบบที่เป็นเครื่องมือของประชาธิปไตยแล้วเข้าไม่ถึงตัวแท้ของประชาธิปไตย

การปกครองประชาธิปไตยในความหมายที่พูดกันว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน นั้น ก็หมายความว่า ประชาชนจะปกครองตัวเอง ประชาชนที่จะปกครองตัวเอง ให้เกิดประชาธิปไตยที่ดีนั้น แต่ละคนที่มีส่วนร่วมในการปกครองประชาธิปไตยจะต้องปกครองตัวเองได้ การศึกษาจะต้องรับผิดชอบภารกิจนี้ คือ เพื่อให้สังคมมีประชาธิปไตยที่มั่นคงยั่งยืน จะต้องพัฒนาคนแต่ละคนให้ปกครองตัวเองให้ได้ เมื่อแต่ละคนปกครองตัวเองได้แล้ว เขาก็สามารถร่วมกันปกครองตามหลักการของประชาธิปไตยได้ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาบุคคลให้ปกครองตัวเองได้ ประชาธิปไตยที่ดีย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีความสามารถที่จะปกครองตนเอง

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยที่น่าพิจารณา คือ ความหมายที่ซ่อนอยู่ในวาทะของประธานาธิบดีลินคอล์น ซึ่งพูดถึงประชาธิปไตย ว่าเป็น "การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" ความหมายที่ซ่อนอยู่นั้นคืออะไร คนโดยมากไปติดอยู่แค่ความหมายที่ว่าประชาชนปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน นึกว่าประชาธิปไตยจบแค่นั้น ความจริงวาทะนั้นชี้นัยต่อไปว่า มีประชาธิปไตยที่ดี กับประชาธิปไตยที่เลว หมายความว่า ประชาธิปไตยมีคุณภาพต่างกัน คือ มีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง เป็นประชาธิปไตยที่ดี กับประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่ำ เป็นประชาธิปไตยที่เลว และการที่ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพดีหรือเลวนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน

เพราะฉะนั้น เราก็ขยายต่อคำพูดของลินคอล์นออกไปให้เต็มความอย่างนี้ว่า "ประชาธิปไตยที่ดี คือ การปกครองของประชาชนที่ดี โดยประชาชนที่ดี เพื่อประชาชนที่ดี" มิฉะนั้นก็จะเป็นไปในทางตรงข้าม คือ ประชาธิปไตยที่เลว ได้แก่ การปกครองของประชาชนที่เลว โดยประชาชนที่เลว เพื่อประชาชนที่เลว

ถ้าการศึกษาไม่สามารถพัฒนาให้คนเข้าถึงเนื้อหาสาระประชาธิปไตย ก็จะเอียงสุดไปข้างหนึ่ง คือ ในเมื่อมนุษย์ไม่สามารถอยู่กันด้วยดีด้วยสติปัญญาและคุณธรรม กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาสังคม ซึ่งมีความหมายสำหรับมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ว่าเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่า สังคมจะเอาอย่างไร เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราจะจัดสรรสังคมให้อยู่ด้วยดีอย่างไร กฎเกณฑ์เหล่านั้นก็จะมีความหมายเป็นเครื่องบีบบังคับคน และในขณะที่คนแก่งแย่งผลประโยชน์เพื่อตัวเองมากขึ้น พร้อมกับมีการใช้เสรีภาพในทางได้และเอาอย่างรุนแรงจนเสียดุล ก็จะต้องสร้างกฎเกณฑ์มากขึ้นๆ แล้ว "กฎ" ก็จะกลายเป็น "กด" ซึ่งคอยกดดันบีบคั้นคนในสังคม ประชาธิปไตยซึ่งเหลือแต่รูปแบบก็จะเข้าสภาพนี้ และจะกลายเป็นเผด็จการอีกแบบหนึ่งนั่นเอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจะสำเร็จได้แท้จริงจึงอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นภารกิจที่การศึกษาจะต้องทำให้ได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.