สืบสานวัฒนธรรมไทย: บนฐานแห่งการศึกษาที่แท้

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลักษณะสำคัญบางประการของวัฒนธรรม

ในที่นี้มีข้อพึงระลึกที่สำคัญอยู่ ๒ - ๓ ประการ ที่จะขอนำมากล่าวเน้นไว้ด้วย

ก. วัฒนธรรมเป็นรูปแบบที่สื่อสารสำหรับคนหมู่ใหญ่

ได้กล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องรูปแบบ และรูปแบบนั้นเป็นรูปแบบที่ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นวิถีชีวิตของสังคมเลยทีเดียว คือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันนี้ อยู่กันอย่างไร มีรูปแบบปรากฏในการเป็นอยู่ของตนอย่างไร เราเรียกว่าเป็น วัฒนธรรม

วัฒนธรรมนั้นเป็นรูปแบบที่สื่อสาระ โดยมีลักษณะพิเศษที่ว่าสื่อสาระหรือเนื้อหานั้นกับคนหมู่ใหญ่ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการให้พระเทศน์ให้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์ เราจึงต้องจัดเป็นพิธีขึ้น ดังที่เรามีพิธีแสดงพระธรรมเทศนา แต่ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลต่อบุคคล เมื่อผู้ใดต้องการเนื้อหาสาระคือ ธรรม ก็ไปหาพระไปพบท่านก็จบ แต่สำหรับคนหมู่ใหญ่เมื่อเราต้องการให้เนื้อหาสาระคือตัวธรรมนี้ไปถึงประชาชนเราก็จัดเป็นพิธีกรรมขึ้น

พิธีกรรมคือรูปแบบนั้นต้องการสื่อสาระคือธรรม แก่ประชาชน ให้คนหมู่ใหญ่ได้รับประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่คำนึงถึงสาระที่เป็นตัวเหตุผลให้เรามีพิธีกรรมนั้น เราก็ไม่นึกว่าเราจัดพิธีกรรมคือเทศน์เพื่ออะไร เราก็ไม่นึกถึงเป้าหมายที่จะให้ประชาชนส่วนใหญ่มาได้รับประโยชน์ เราก็เพียงแต่รักษารูปแบบพิธีโดยจัดให้มีพิธีเทศน์ขึ้นมา แล้วก็ไปพิถีพิถันเน้นกันในเรื่องรูปแบบที่จุกจิกหยุมหยิม ว่าต้องทำอย่างนี้ๆ แต่เสร็จแล้วมีคนมาฟังแค่คนสองคนแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ฉะนั้นจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ที่เราจัดพิธีกรรมขึ้นมาอย่างนี้ ก็เพื่อเอารูปแบบหรือวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสาระไปถึงคนหมู่ใหญ่

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของประเพณีต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม จะสำเร็จก็ต่อเมื่อมันเป็นเครื่องสื่อสาระหรือเนื้อหาอย่างได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ของวัฒนธรรม โดยเฉพาะก็คือให้ถึงคนหมู่ใหญ่นั้นถ้าเนื้อหาไม่มีรูปแบบช่วย คือ สัจธรรมและจริยธรรม ไม่มีวัฒนธรรมมาช่วย คนหมู่ใหญ่ก็จะไม่สามารถเข้าถึงตัวสาระ และก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ว่า

พิธีกรรมที่จัดในการแสดงธรรม อาจจะไม่ใช่พิธีแสดงพระธรรมเทศนาอย่างสมัยก่อน แต่อาจจะเป็นการจัดพิธีแบบสมัยใหม่ เช่น เป็นการแสดงปาฐกถาธรรม ในศาลาหรือในหอประชุมเป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมทั้งนั้น คือเป็นรูปแบบที่จะสื่อสาระไปถึงคนหมู่ใหญ่ ถ้าเราไม่มีรูปแบบเหล่านี้ เนื้อหาที่มีอยู่แม้จะเป็นประโยชน์ก็เข้าไม่ถึงคนหมู่ใหญ่ คนหมู่ใหญ่ก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสัจธรรมและจริยธรรมนั้น เพราะไม่มีวัฒนธรรมมาเป็นตัวเอื้อ ถ้าเราจัดวัฒนธรรมให้ลงตัวดี เป็นวัฒนธรรมที่ได้ผลดีแล้ว ธรรมหรือตัวเนื้อหาสาระนั้นก็ออกมาเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมากได้ เรื่องของวัฒนธรรมก็มีความสำคัญอย่างนี้

กิจกรรมต่างๆ ในปัจจุบันนี้ เช่นอย่างการโฆษณา ก็เป็นวัฒนธรรม แต่เป็นแบบสมัยใหม่ คือเขาต้องการให้เรื่องของสินค้าที่เขาต้องการขายนี้ไปถึงประชาชน และให้คนเกิดความนิยมอยากจะซื้อ เขาจึงจัดทำการโฆษณาขึ้นมา การโฆษณาเป็นพิธีกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมปัจจุบัน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทุนนิยมแบบบริโภคนิยม อย่างนี้เป็นต้น วัฒนธรรมจึงปรากฏในรูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนมีวัตถุประสงค์ที่เป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ในการสื่อสาระหรือเนื้อหาที่ต้องการแก่ประชาชนหรือชุมชนหรือสังคมนั้น วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบเหล่านี้จะประกอบด้วยเจตนาอยู่เบื้องหลัง เจตนานั้นอาจจะประกอบด้วยปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ และกุศลจิตที่ปรารถนาดีต่อประชาชน เช่นจัดให้มีการเทศน์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรม เป็นความประสงค์ดีมีเมตตาธรรม หรืออาจจะจัดตามแบบพิธีโฆษณาเพื่อสนองความโลภ โดยที่เจตนาเบื้องหลังก็คือการมุ่งผลประโยชน์ก็ได้ เจตนาที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่กล่าวมาแล้วด้วย

ข. วัฒนธรรมจะดีต้องพร้อมทั้งสาระและรูปแบบ

ตกลงว่า เนื้อหาถ้าไม่มีรูปแบบช่วย หรือว่าสัจธรรมและจริยธรรม ถ้าไม่มีวัฒนธรรมช่วย คนหมู่ใหญ่ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสัจธรรมและจริยธรรม ที่เป็นเนื้อหาสาระนั้น และในทางตรงกันข้าม ถ้ารูปแบบนั้น ไม่มีสาระหรือมีแต่ไม่สื่อสาระอย่างได้ผล ก็ไม่ได้ประโยชน์อีกเช่นเดียวกัน นอกจากจะสื่อประโยชน์ไปถึงประชาชนไม่สำเร็จแล้ว บางทีเมื่อไม่มีเนื้อหาสาระครองที่อยู่ ก็เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไป เช่นพิธีกรรมต่างๆ ที่เห็นๆ กันอยู่ เมื่อไม่คำนึงถึงตัวสัจธรรมและจริยธรรม นานๆ ไป พิธีกรรมนั้นก็ไขว้เขวเคลื่อนคลาดจนอาจจะออกนอกลู่นอกทางผิดธรรมผิดวินัยไปก็ได้

ที่พูดมานี้ คือความสัมพันธ์ระหว่างสัจธรรมและจริยธรรมที่เป็นเนื้อหาสาระด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือวัฒนธรรมที่ปรากฏภายนอก ข้อพึงระลึกที่กล่าวมาแล้วประการหนึ่ง ก็คือ วัฒนธรรมนั้นต้องมีทั้งสาระ และมีรูปแบบที่นำมาใช้ได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของกาลเทศะ อันนี้เป็นเพียงการเน้น

ถ้าเราสามารถรักษาวัฒนธรรมที่บรรจุไว้ซึ่งเนื้อหาสาระที่ต้องการได้จริง เราก็จะเป็นผู้ที่ยืนอยู่ในหลักการของตน เรียกว่าเป็นผู้มีจุดยืน ถ้าวัฒนธรรมของเรามีจุดยืนบนหลักการที่มั่นคงอย่างนี้ ก็เท่ากับมีแกนเป็นศูนย์กลางแล้ว เราจะไม่หวั่นไหว จากจุดยืนคือหลักที่มั่นคงนั้น เราก็สามารถยื่นมือขยายศักยวิสัยของเราแผ่ออกไปโอบอุ้มเอาถิ่นแดนกว้างไกล เข้ามาอยู่ในแวดวงแห่งวัฒนธรรมของเรา นั่นก็คือการที่วัฒนธรรมแผ่ความนิยมออกไปถึงชุมชนอื่นสังคมอื่น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สังคมของเราแทนที่จะเป็นฝ่ายแผ่ขยายหลักการจากจุดยืนของเราออกไป เรากลับเป็นฝ่ายตั้งรับ กลายเป็นว่ามีวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมที่เขามีหลักการที่มั่นคงกว่า หรืออย่างน้อยมีลักษณะที่ชวนนิยมมากกว่า แล้วเขาก็แผ่อิทธิพลออกจนกระทั่งบุกเข้ามาในสังคมของเราอย่างมากมาย เราเป็นฝ่ายถูกบุก เป็นฝ่ายรับแทนที่จะเป็นผู้รุกออกไป

ถ้าเรามีวัฒนธรรมที่ดีที่มั่นคง มีเนื้อหาสาระ มีสัจธรรมและจริยธรรม ที่เรามั่นใจจริงๆ และสามารถจัดรูปแบบวัฒนธรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและกาลสมัยได้เป็นอย่างดีแล้ว จากจุดยืนของเรานี้เราจะสามารถขยายอิทธิพลแห่งวัฒนธรรมของตนเอง ให้กว้างไกลออกไปได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีความมั่นคงและมีความสามารถอย่างนั้น เราก็ไม่ควรจะยินดีในการขยายอิทธิพลแห่งวัฒนธรรมของตนออกไปโอบเอาผู้อื่นเข้ามาอยู่ในวงล้อมของตน อย่างที่วัฒนธรรมแข็งๆ มักจะทำกัน แต่เราควรจะก้าวหน้าต่อไปอีกสู่ขั้นของความเป็นผู้ให้ คือเผื่อแผ่คุณค่าความดีงามในวัฒนธรรมของตนให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ โดยมองตนเองในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่ทำแบบรวมศูนย์เข้าหาตัวเอง แนวความคิดแบบนี้จึงจะสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาที่ให้ทำการเพื่อประโยชน์สุขแห่งพหูชน และเพื่อเอื้อเกื้อกูลแก่โลก (คติแห่ง พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย)

เป็นอันว่าต้องมีรูปแบบที่จะใช้สื่อให้เข้ากับสภาพที่เป็นจริง ให้คนได้ประโยชน์จากเนื้อหาสาระได้จริง

ค. วัฒนธรรมมีความต่อเนื่องเป็นกระแส

ต่อจากนี้ก็มาถึงข้อสังเกตที่สำคัญคือ วัฒนธรรมนี้เป็นกระแส

คำว่าเป็นกระแส ก็คือเป็นสิ่งที่มีการสั่งสมถ่ายทอดแล้วก็ต่อเนื่องไป ไม่หยุดนิ่งตายอยู่กับที่ ถ้ามองในแง่ของกาลเวลา มันจะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากอดีตมาถึงปัจจุบันแล้วก็เป็นฐานที่จะต่อไปสู่อนาคต อันนี้เป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของวัฒนธรรม ที่มีเรื่องของกาลเวลา ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ปัจจุบันเป็นจุดที่ตั้ง แต่มันจะไม่ขาดตอน เพราะมันเป็นกระแส จึงจะขาดหรือหยุดอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ถ้าอยู่กับอดีตอย่างเดียว ไม่มาถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมนั้นก็ตาย ถ้าหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่สามารถจะสืบสานสู่อนาคต วัฒนธรรมนั้นก็ไม่งอกงาม เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีความสืบเนื่อง คือ ต่อจากอดีต และเป็นฐานสู่อนาคต โดยดำรงอยู่ในปัจจุบันอย่างมีคุณค่า มีความหมาย มีประโยชน์ จุดสำคัญจะต้องระวังไม่ให้วัฒนธรรมนั้นหยุดอยู่ในลักษณะเป็นของนิ่งตายอยู่กับที่

เวลานี้บางทีเรามองวัฒนธรรมในลักษณะที่มีความเข้าใจไม่ค่อยถูกต้อง สายตาของคนในสังคมไทยจำนวนมากมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องของเก่า เป็นของโบราณ หรือเป็นของคนสมัยก่อน ถ้ามองอย่างนี้ก็เป็นอันตราย เป็นความผิดพลาดในทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะต้องตั้งอยู่อย่างมั่นคงในปัจจุบัน แต่บนฐานที่โยงมาจากอดีต ถ้ามีการตัดแยกไปเป็นเก่ากับใหม่ ก็แสดงว่าวัฒนธรรมนั้นเริ่มเป็นปัญหาแล้ว เก่ากับใหม่จะต้องมีการสืบทอดต่อกันอย่างดี ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจ เพื่อจะทำให้เก่าที่สืบทอดมานั้น เป็นประโยชน์แก่ปัจจุบัน และมีทางที่จะเจริญงอกงามไปสู่อนาคต

บางทีเราปฏิบัติต่อวัฒนธรรมด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ โดยพยายามทำให้มันเป็นของเก่าและทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นของเก่า ถ้าอย่างนั้นคนจะรู้สึกว่ามันไม่เข้ากับชีวิตของเขา เขาจะรู้สึกว่าวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับชีวิตของเขา แต่เป็นเพียงเรื่องของคนเก่า ในสมัยโบราณโน้น แล้วทำไมเขาจะต้องทำตามด้วย เขาจะทำได้อย่างเดียวก็คือด้วยการยึดถือมั่น ว่าอันนี้เป็นมรดกของเรา ช่วยกันรักษาไว้หน่อย แต่เขาจะไม่ซาบซึ้ง และก็จะไม่ได้ผลจริงจัง ก็เลยต้องตั้งอกตั้งใจคอยปลุกกันไว้ด้วยการให้ยึดไว้ให้ถือมั่นไว้ แต่ไม่มีผลอย่างเป็นไปเอง ที่จะลื่นไหลไปในกระแสที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นจะต้องระวังให้วัฒนธรรมมีความหมายเป็นกระแสให้ได้ โดยให้มีความสืบทอด เฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ปรากฏในปัจจุบัน จะต้องมีความหมายที่สื่อกับคนในยุคสมัยนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า ส่วนแห่งวัฒนธรรมที่เป็นของเก่า ซึ่งจะไม่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก็มีอยู่ ส่วนที่เป็นของเก่านี้หลายอย่างก็มีคุณค่ามาก ซึ่งจะต้องจารึกไว้หรือรักษาไว้ ในกรณีนี้การรักษาไว้จะมีความหมายต่างจากที่กล่าวข้างต้น คือเรารักษาไว้ในฐานะมรดกที่มีค่าน่าภูมิใจ โดยมีความชัดเจนแน่นอนลงไป ไม่มีความขัดขืนที่จะให้คงอยู่ในปัจจุบัน ข้อสำคัญคือจะต้องมีความชัดเจนกับตัวเองว่า อะไรที่ถือเป็นของเก่าในอดีตที่เราภูมิใจ อะไรที่จะสืบทอด และอะไรที่จะสร้างสรรค์ต่อไป ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่เป็นอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.