สัจจธรรมกับจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จริยธรรมต่อสิ่งที่ดำรงรักษาสัจจธรรม

ประการต่อไป ตัวอย่างหนึ่งในการที่มนุษย์พยายามที่จะรักษาสัจจธรรม และพยายามที่จะช่วยให้มนุษย์อื่นๆ เข้าถึงสัจจธรรมกันอยู่ได้เรื่อยๆ ก็คือการรักษาคำสอนของศาสนา โดยที่เรามีความเชื่อว่า พระศาสดาผู้ตั้งศาสนานั้นเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว อย่างในพระพุทธศาสนาก็คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เราถือว่าท่านเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว แล้วก็นำเอาสัจจธรรมที่ท่านเข้าถึงหรือรู้นั้นมาประกาศมาสั่งสอน ดังนั้น สิ่งที่ท่านนำมาประกาศมาสั่งสอนหรือคำสอนของท่าน ก็คือสิ่งที่ชี้บ่งไปหาสัจจธรรม เมื่อเราจะให้คนทั้งหลายในรุ่นต่อๆ ไปได้รู้ว่าสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าได้เข้าถึงนั้นเป็นอย่างไร เราก็เอาคำสอนของพระองค์ คือ พระพุทธพจน์ไปบอก ไปกล่าว ไปให้เขาอ่าน ไปเสนอให้เขาดู หน้าที่ของเราก็คือ ต้องพยายามรักษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศได้ตรัส ได้สั่งสอนไว้ให้ซื่อสัตย์ที่สุด ว่าพระองค์ได้สอนอะไรไว้อย่างไร เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระองค์ที่สืบต่อถ่ายทอดมาถึงเรามีเท่าไร หาหลักฐานมาได้เท่าไร ก็นำมาแสดงเท่านั้น และพยายามรักษาให้คงอยู่ต่อไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และตรงตามเดิมที่สุด การกระทำอย่างนี้เราเรียกว่า สังคายนา สังคายนา คือการรวบรวม ประมวลคำสอนของพระศาสดาไว้อย่างซื่อสัตย์ที่สุด ให้บริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่รู้หรือสืบทราบได้ว่า เป็นคำตรัสคำสอนของพระองค์แท้ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมา ก็อาจจะมีคำสอนข้างนอกเข้าไปปะปน หรือมีผู้สอดแทรกเอาการตีความที่ผิดๆ ใส่เข้าไป ก็จึงต้องมีการประชุมซักซ้อมชำระสะสางกัน แต่มาตอนหลังๆ นี้ มีเค้าว่าบางท่านเริ่มจะเข้าใจเรื่องนี้ผิด โดยเห็นไปว่า สังคายนานี้ หมายความว่า คำสอนในพระไตรปิฎก คงจะมีส่วนที่คลาดเคลื่อนผิดพลาดไปบ้าง เราจะต้องมาช่วยกันแก้ไขปรับปรุงคำสอนในพระไตรปิฎกเสียใหม่ อะไรทำนองนี้ นี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ในการสังคายนานั้น เราจะต้องพยายามตรวจสอบรักษาคำสอนเท่าที่พบเท่าที่หาหลักฐานได้ ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ให้ดีที่สุด ถ้าเราไปวินิจฉัยแล้ว ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและตัดคำสอนบางอย่างทิ้งไป ถ้าทำกันอย่างนี้ สิ่งที่บรรจุเข้าไปในพระไตรปิฎกจะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่จะกลายเป็นคำสอนของคณะบุคคลที่สังคายนาไป เราจะกลายเป็นผู้วินิจฉัยพระพุทธเจ้าไป และคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่เดิมก็จะสูญหายไป ถ้าเข้าใจการสังคายนาเป็นการตัดเติม และเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ต่อไปนานเข้าหลายครั้งเข้า ในพระไตรปิฎกก็จะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นของหลายหัวหลายมือที่ทำสังคายนากันมา และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า กลุ่มคนที่สังคายนานั้นจะกลายเป็นผู้ผูกขาดการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า และผูกขาดการวินิจฉัยด้วย เพราะอะไร เพราะว่าคนที่จะเกิดต่อมาภายหลังที่จะมาศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์นี้ยังจะมีอีกมากมาย วิธีการที่ซื่อสัตย์ก็คือว่า คำสอนเท่าที่มีอยู่ตกทอดมาถึงเราเท่าไร ก็พยายามรักษาไว้ให้ดีที่สุด เมื่อเราหยิบยื่นส่งต่อไปให้เขา เขาก็จะได้เห็นสิ่งนั้นเท่าที่เป็นมาอย่างนั้น หรือรักษากันมาได้เท่านั้น และเขาก็จะมีสิทธิที่จะพิจารณา ซึ่งเขาอาจจะมองเห็น และตีความต่างจากเราก็ได้ แต่ถ้าเราไปตีความเสียแล้วยุติเอาตามคำวินิจฉัยของเรา และทำการตัด เติม เปลี่ยนแปลงลงไป ตัวสิ่งเดิมที่มาถึงเราก็เลยไม่ไปถึงเขา แต่สิ่งที่ไปถึงเขาก็คือสิ่งที่เราตีความใส่ให้ใหม่ แล้วเราก็เป็นผู้ผูกขาดการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นผู้ผูกขาดการวินิจฉัยไป

ฉะนั้น ในการสังคายนานั้น หลักการจึงอยู่ที่การพยายามที่จะนำสิ่งนั้น เท่าที่สืบมา ให้สืบต่อไปอย่างบริสุทธิ์ ให้ได้หลักฐานที่เป็นตัวคำพูดของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ไม่ไปแทรกแซงและไม่ไปวินิจฉัย ไม่ไปปิดกั้นปัญญาของผู้ที่จะเกิดมาภายหลัง แต่การตีความและวินิจฉัยก็มีวิธีการที่จะทำได้ คือ เมื่อเราเห็นเรื่องราวหรือข้อความส่วนใดในคัมภีร์ มีลักษณะที่ไม่น่าจะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราสงสัยว่าส่วนนี้เป็นไปได้ไหม ถ้าระแวงว่าอาจจะถูกดัดแปลงหรือเติมเข้ามา เราก็ทำบันทึก ทำหมายเหตุ ทำเชิงอรรถไว้ว่า ความเห็นของเราเป็นอย่างนี้ และในส่วนที่ตีความเราก็มีสิทธิที่จะพูดว่า มันน่าจะเป็นอย่างนี้โดยเหตุผลอย่างนี้ๆ คนต่อไปภายหน้ามาอ่าน เขาก็จะได้ความตามเป็นจริงว่า อ้อ ของที่ได้รับส่งทอดกันมาถึงเราเป็นอย่างนี้ ทัศนะของกลุ่มคนที่สังคายนาครั้งนั้นๆ ว่าไว้อย่างนี้ ซึ่งเขาอาจจะมีความเห็นต่างไป เขาก็มีสิทธิจะพูดได้อีก และเขาก็จะได้รับประโยชน์จากการตีความของเราด้วย อันนี้ก็เป็นวิธีที่ซื่อสัตย์ในการที่จะปฏิบัติต่อคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่เช่นนั้น ไม่นานเลย คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เหลือไปถึงคนรุ่นหลัง จะไม่อาจรู้ว่าเป็นคำสอนของใคร เพราะโดยการสังคายนาที่ไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง ของเดิมก็หมดไป ของใหม่ก็เข้ามาอยู่แทน เหลืออยู่แต่ชื่อหรือเปลือก ถ้าทำอย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นการกล่าวตู่ คือตู่คำสอนของพระพุทธเจ้าไป ปัจจุบันนี้ ยังมีผู้เข้าใจความหมายของการสังคายนาผิดพลาดไป ก็เลยนำมาพูดด้วยเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมในการที่มนุษย์จะปฏิบัติต่อสัจจธรรม แต่นี่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติต่อสัจจธรรมโดยตรง แต่เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งสัจจธรรม โดยเฉพาะในแนวทางของความเชื่อถือ หรือศาสนานั้นๆ โดยเฉพาะ นี้เป็นการพูดในประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องสัจจธรรม

จริยธรรมต่อสัจจธรรม หรือจริยธรรมต่อสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งสัจจธรรม และต่อสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นสัจจธรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่าทีการแสดงออกเมื่อมีผู้อื่นมาติหรือชมหลักการหรือคำสอนที่เรานับถือว่าเป็นสัจจธรรม วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้จะเห็นได้ใน พุทธดำรัสสอนพระภิกษุในการปฏิบัติตัว เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย ดังความในพรหมชาลสูตร (ที.สี.๙/๑/๓) ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพวกอื่น กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงทำความอาฆาต โทมนัส แค้นใจในคนเหล่านั้น . . . ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคือง น้อยใจ ในคนเหล่านั้น อันตรายก็จะมีแก่เธอทั้งหลายนี่แหละ . . . ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคือง หรือน้อยใจในคนเหล่านั้น เธอทั้งหลายจะรู้ได้หรือว่า คนเหล่านั้นพูด (ถูกต้อง) ดีแล้ว หรือพูดไม่ดี (ไม่ถูกต้อง) . . . ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายก็พึงแก้ให้เห็นว่าไม่จริง ว่านั้นไม่จริงเพราะเหตุดังนี้ นั้นไม่แท้เพราะเหตุดังนี้ ข้อนี้ไม่มีในหมู่พวกเรา ข้อนั้นไม่เป็นจริงในหมู่พวกเรา

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพวกอื่น กล่าวชมเรา กล่าวชมพระธรรม กล่าวชมพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรทำความเพลิดเพลิน ดีใจ เหิมใจในคำชมนั้น . . . ถ้าเธอทั้งหลายเพลิดเพลิน ดีใจ เหิมใจ ในคำชมนั้น อันตรายก็จะมีแก่เธอทั้งหลายนั่นแหละ . . . ในคำที่เขากล่าวชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายก็ควรยอมรับ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า ข้อนั้นจริงเพราะเหตุดังนี้ ข้อนั้นแท้เพราะเหตุดังนี้ ข้อนี้มีอยู่ในหมู่พวกเรา ข้อนี้เป็นจริงในหมู่พวกเรา”

อนึ่ง มีหลักการว่า ชาวพุทธในบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ควรจะศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนพัฒนาตนให้เป็นผู้มีความสามารถที่จะประกาศชี้แจงแสดงอธิบายหลักคำสอนให้ได้ผล เมื่อมีวาทะนอกรีตนอกรอย หรือคำสอนนอกพระธรรมวินัย ก็สามารถกำราบระงับได้ด้วยดี (เช่น ที.ม.๑๐/๑๐๒/๑๓๒) โดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวตู่ จ้วงจาบพระธรรมวินัย หรือมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัย ก็เป็นหน้าที่โดยธรรมของชาวพุทธทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เป็นผู้นำ ซึ่งมีพระอรหันต์เป็นแบบอย่าง ที่จะต้องกระตือรือร้นออกมาชี้แจงแสดงคำสอนที่ถูกต้องและดำเนินการแก้ไข ไม่นิ่งเฉยดูดาย ดังกรณีที่พระมหากัสสปเถระปรารภคำพูดของพระสุภัททะ ที่จะเป็นอันตรายต่อพระธรรมวินัย แล้วชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายทำสังคายนาขึ้น ถ้าพระสงฆ์และชาวพุทธชั้นนำไม่เอาใจใส่ ป้องกันแก้ไขปัญหา และเหตุแห่งความเสื่อมของพระศาสนา พระธรรมวินัยก็จะไม่อาจเจริญมั่นคง หรือหลงเหลือมาจนปัจจุบันนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.