สถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงในสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความหมายของธรรมศาสตร์

ในที่นี้มีแง่ที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์นั้นอาตมภาพเข้าใจว่า ตามความหมายเดิมซึ่งมีมูลรากมาจากภาษาสันสกฤต ก็คงหมายถึงวิชากฎหมายเป็นสำคัญ เพราะคำว่าธรรมศาสตร์นั้น เป็นคำที่มีใช้ในวิชาทางสังคมศาสตร์สมัยโบราณ หมายถึงวิชากฎหมาย ความข้อนี้แสดงความหมายว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ตั้งขึ้นโดยยึดเอาวิชากฎหมายเป็นหลัก และแต่เดิมนั้นยังมีคำว่า “และการเมือง” ต่อเข้าไปด้วย แสดงว่าต้องมีการเน้นในเรื่องวิชาการเมืองหรือวิชารัฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิชานี้จะเป็นวิชาธรรมศาสตร์ คือ กฎหมาย และวิชารัฐศาสตร์หรือวิชาการเมืองก็ตาม ทั้งสองอย่างนั้นก็อยู่ในขอบเขตของวิชาสังคมศาสตร์ด้วยกัน

บัดนี้ ขอบข่ายของวิชาการที่ศึกษากันอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้ขยายกว้างขวางออกไปมีมากมายหลายอย่าง มีทั้งด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราจะมาคิดถึงความหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในบัดนี้ อาตมภาพเห็นว่า เราอาจจะก้าวล้ำออกไปจากความหมายของคำว่าธรรมศาสตร์ที่หมายถึงกฎหมายก็ได้ โดยเราอาจจะตีความหมายของวิชาธรรมศาสตร์ให้กว้างขวางออกไปอีก และอาจถือได้ว่าเป็นความหมายเดิมแท้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่แปลว่ากฎหมายด้วยซ้ำ

เพราะว่าตามรูปศัพท์แท้ๆ ธรรมศาสตร์นั้นก็ได้แก่วิชาการที่ว่าด้วยธรรม และวิชาการที่ว่าด้วยการแสวงหาวิธีการในการที่จะดำรงรักษาธรรมนั่นเอง การตีความอย่างนี้เป็นการให้ความหมายที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมหมดซึ่งวิชาการทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้หรือมหาวิทยาลัยแห่งไหน เพราะคำว่า "ธรรม" ย่อมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมคืออะไร ธรรมก็คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม วิชาการต่างๆ ที่ศึกษากันอยู่ในโลกนี้ มีวิชาไหนบ้างที่จะแสวงหานอกเหนือไปจากนี้ คือ แสวงหาสิ่งที่นอกเหนือไปจากความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หรือนอกเหนือไปจากการแสวงวิธีการที่จะยังความจริง ความถูกต้อง ความดีงามให้เกิดมีขึ้น และดำรงรักษาไว้ซึ่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าวิชาการทุกอย่างเท่าที่ศึกษากันอยู่นั้น รวมอยู่ในธรรมศาสตร์ได้ทั้งสิ้น

เมื่อแปลความหมายโดยนัยนี้ คำว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จึงมีความหมายได้ถึงแหล่งวิชาการทุกอย่างทุกสาขาที่มีศึกษากัน จะบรรจุไว้แล้วในบัดนี้หรือจะมีบรรจุต่อไปในกาลข้างหน้า ก็รวมได้ในความหมายนี้ทั้งหมด คือ วิชาการว่าด้วยธรรม และวิธีการในอันที่จะยังธรรมให้เกิดมีและดำรงรักษาไว้ซึ่งธรรมนั้น

ยกตัวอย่าง แม้วิชากฎหมายหรือวิชาธรรมศาสตร์เดิมนั่นเอง ก็เป็นวิชาที่เกิดมีขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะแสวงหาวิธีการในการที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งธรรมเป็นสำคัญ คือต้องการที่จะดำรงธรรมหรือความเป็นธรรม ความถูกต้อง และความดีงามไว้ในสังคม จะดำรงไว้ได้อย่างไร ก็โดยออกมาในรูปของกฎหมาย ระเบียบของสังคม เท่าที่คิดได้ว่าเป็นวิธีการที่จะดำรงรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น แม้ผู้ที่ได้ตั้งชื่อของวิชากฎหมายเดิม ก็คงได้คำนึงถึงความหมายของธรรมศาสตร์ในแง่นี้ด้วย จึงเรียกวิชากฎหมายว่าวิชา “ธรรมศาสตร์”

เป็นอันว่าคำว่า "ธรรมศาสตร์” นี้มีความหมายกว้าง กินความได้ถึงวิชาการทุกสาขา จึงเป็นการเหมาะสมที่จะเรียกมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ข้อสำคัญก็คือในบัดนี้เราได้ตกลงกันว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่สถาปนาธรรมศาสตร์ คือ สถาปนาวิชาการที่จะให้รู้ให้เข้าใจเรื่องความจริง ความถูกต้องดีงาม และวิธีการที่จะสร้างสรรค์ดำรงรักษาธรรมนั้นไว้ ปัญหาจึงตามมาว่าจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร นี่แหละ คือภารกิจซึ่งยังคงมีอยู่ตลอดเวลา คือการที่มหาวิทยาลัยจะพยายามสถาปนาธรรมศาสตร์นี้ให้เกิดมีขึ้นแก่นักศึกษาทั้งหลาย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.