สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การรักษาฐานะของสถาบันพุทธศาสนา1

ศาสนาอย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ เป็นผลอย่างหนึ่งแห่งความพยายามของมนุษย์ ที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตบางอย่างของตน ซึ่งมีทั้งปัญหาเฉพาะบุคคล และปัญหาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ที่เรียกว่าปัญหาทางสังคม ในเมื่อศาสนาเกิดจากความพยายามของมนุษย์ ศาสนาจึงเป็นเรื่องของมนุษย์จะเกิดขึ้น เสื่อม หรือสูญสิ้นไป สุดแต่มนุษย์บันดาล โดยเฉพาะในทางสังคม ในฐานะที่ศาสนาเป็นสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่ง ศาสนาจะมีความสำคัญ ได้รับความยอมรับนับถือจากหมู่มนุษย์เพียงไร ก็อยู่ที่ว่า ศาสนายังมีประโยชน์ช่วยสนองความต้องการของมนุษย์ ในการแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้เพียงใด และมนุษย์ยังมองเห็นความจำเป็นของศาสนาอยู่เพียงใด ข้อนี้หมายความว่า การดำรงอยู่ เจริญขึ้น เสื่อมลง หรือสิ้นไปของศาสนา ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่มีต่อสังคมเป็นสำคัญ

สายตาสามัญของมนุษย์ มองเห็นศาสนาในรูปของสิ่งที่เป็นตัวแทนหรือเครื่องหมาย ที่ชัดที่สุด คือนักบวชหรือพระสงฆ์ และศาสนสถาน เช่น วัด โบสถ์ วิหาร สถูปเจดีย์ ที่ห้อมล้อมนักบวชหรือพระสงฆ์อยู่ ดังนั้น ความเป็นไปของศาสนาใดศาสนาหนึ่งในสายตาสามัญของมนุษย์ ก็คือความเป็นไปของนักบวชหรือพระสงฆ์ และวัตถุสถานที่เกี่ยวข้องในศาสนานั้นนั่นเอง

ในสมัยโบราณ เมื่อมนุษย์มีสติปัญญายังไม่เจริญ รู้ความจริงเกี่ยวกับความเป็นไปและความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายภายในธรรมชาติน้อย นักบวชซึ่งเป็นมนุษย์ประเภทที่มีความรู้และสติปัญญาสูงสุดในบรรดาคนเหล่านั้น ก็ได้พยายามค้นคิดและช่วยให้มนุษย์ในยุคสมัยนั้น ได้รู้จักความจริงที่ซ่อนเร้นในธรรมชาติ และเหนือธรรมชาติทั้งหลาย ตามกำลังสติปัญญาของตน ทำให้มนุษย์รู้จักกับสิ่งที่ตนมองไม่เห็น ซึ่งมีอำนาจเหนือตน และรู้วิธีปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น แล้วนักบวชเหล่านั้นก็รับเป็นผู้ทำการต่างๆ ที่เรียกว่าพิธีกรรม เป็นสื่อติดต่อกับสิ่งที่มองไม่เห็นทั้งหลาย เพื่อช่วยสนองความต้องการของมนุษย์สมัยนั้น พิธีกรรมเหล่านี้มีความสำคัญดุจชีวิตจิตใจของมนุษย์เหล่านั้น นักบวช ซึ่งเป็นคนพวกเดียวที่ทำพิธีกรรมเหล่านั้นได้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเขา เป็นที่เคารพบูชาของเขา ศาสนาจึงกลายเป็นส่วนสำคัญแห่งชีวิตของมนุษย์เหล่านั้น ในสมัยเช่นนี้ ความสามารถในการประกอบพิธีกรรมก็นับว่ามีประโยชน์มากเพียงพอแล้ว เพราะมนุษย์มีสติปัญญาที่ต้องการและทำได้เพียงเท่านั้น

เมื่อมนุษย์มีสติปัญญาเจริญมากขึ้น ความหมายของบุคคล และสิ่งทั้งหลายที่เป็นส่วนประกอบของศาสนา ก็เจริญก้าวหน้าไปด้วย บางอย่างก็มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น สุดแต่จะสนองความต้องการของมนุษย์ ชักจูงมนุษย์ให้พ้นจากปัญหาได้มากขึ้นเพียงไร และเท่าที่ผู้ค้นคิดทางศาสนานั้นจะมีสติปัญญารู้ได้ จนถึงขั้นที่เป็นพุทธศาสนา ซึ่งความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างในศาสนาเปลี่ยนแปลงไปเกือบทั้งหมด นักบวชคือพระสงฆ์ มิใช่เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อติดต่อกับสิ่งที่มองไม่เห็น เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ โดยการทำพิธีกรรม แต่หมายถึงผู้เดินทางลัดในการปฏิบัติธรรมคำสอนทางศาสนา มิได้เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจเบื้องบนเหนือธรรมชาติ แต่กลายเป็นการแสดงกฎธรรมชาติและความเจริญแห่งชีวิต อย่างธรรมดาเท่านั้น ศาสดามิใช่ตัวแทนของอำนาจเบื้องบน หรือผู้บันดาลความรอดพ้นแก่มนุษย์ผู้เชื่อฟัง แต่หมายถึงผู้ค้นพบความจริงแห่งธรรมชาติ และทำหน้าที่เป็นครูช่วยชี้ทางเดินแก่ผู้อื่นเท่านั้น พิธีกรรมมิได้หมายถึงเครื่องมือสื่อสารระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่กลายเป็นวิธีดำเนินการเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนของสังคม และเป็นอุบายสร้างความประณีตงดงาม ทางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม ในขณะเดียวกัน มนุษย์ผู้มีความเจริญทางสติปัญญาอยู่ในระดับต่างๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนา และกระทำกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา โดยแทรกความรู้สึกและความเข้าใจของตนเข้าไปในสิ่งเหล่านั้น ตามภูมิความรู้และสติปัญญาของตนๆ และต่างได้ใช้ศาสนา เป็นเครื่องสนองความต้องการของตน ได้รับประโยชน์จากศาสนาไปตามระดับจิตใจและสติปัญญาของตน บางครั้งพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำทางพระพุทธศาสนาเอง ก็ได้ชักนำองค์ประกอบทางศาสนา กลับลงมาสู่ความหมายเก่าๆ และกระทำการต่างๆ ตามใจมนุษย์เหล่านั้น เพื่อประโยชน์ของตนบ้าง ของคนอื่นๆ บ้างตามเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความหมายแห่งองค์ประกอบต่างๆ ของศาสนาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่พระพุทธศาสนาก็ยังมีหน้าที่หลักเหมือนอย่างศาสนาทั้งหลาย คือแก้ไขปัญหาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งในด้านส่วนเฉพาะบุคคลและหน้าที่ต่อสังคม

ความเป็นมาในอดีตได้แสดงให้เห็นว่า สมัยใดพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนและเป็นเครื่องปรากฏของพระพุทธศาสนา ดำรงมั่นในสมณปฏิบัติ ทั้งในส่วนอัตตัตถปฏิปทา และในส่วนสมณกิจอนุเคราะห์ชนหมู่มาก สามารถบำเพ็ญประโยชน์สนองความต้องการโดยธรรมแก่สังคมด้วยเมตตาธรรมตามหน้าที่ สมัยนั้นสังคมก็มองเห็นความจำเป็นของพระศาสนา พระสงฆ์ก็ได้รับความเคารพเทิดทูนบูชา พระศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง เป็นส่วนประกอบอันขาดไม่ได้ของสังคม แต่สมัยใดพระสงฆ์ปฏิบัติเคลื่อนคลาด ไม่สามารถชักนำสังคมไปสู่ความสงบสุขและความเจริญโดยธรรมได้ สมัยนั้นฐานะของพระสงฆ์ก็เสื่อมโทรมลง ศรัทธาในพระศาสนาก็เสื่อมถอย สังคมก็ไม่เห็นความสำคัญของพระศาสนา และเป็นโอกาสแก่ชนมิจฉาทิฏฐิผู้มุ่งร้าย ทำลายพระศาสนาลงได้ ในบางถิ่นถึงหมดสิ้นไปจากแผ่นดินก็มี

เฉพาะในประเทศไทยแต่อดีต พระสงฆ์ได้บำเพ็ญสมณกิจเพื่อประโยชน์แก่สังคมอย่างมากมาย จนทำให้วัดวาอารามซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันศาสนานั้น กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางทางสังคม เป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของชุมชนทุกขนาด เช่น แม้สร้างหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นใหม่ก็ต้องสร้างวัดขึ้นด้วย เป็นต้น กล่าวได้ว่าวัดทำหน้าที่เป็นสถาบันสังคมครบทุกแบบ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สภา สโมสร ที่พักแรมคนเดินทาง สถานบันเทิง พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างของชุมชน พระสงฆ์มีฐานะเป็นผู้นำทั้งทางจิตใจและทางสังคม ได้รับความเคารพนับถือและบูชา เป็นที่เชื่อถือสูงสุด ความจริงในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และมีหลักฐานที่ยังให้เห็นผลสืบมาแม้ถึงปัจจุบัน

อนึ่ง ในขณะที่พระศาสนามีความหมายต่อสังคมเป็นอย่างมาก พระสงฆ์เป็นที่เคารพบูชาและเป็นเหมือนผู้ถือประทีปส่องทางชีวิตของประชาชน วัดเป็นศูนย์รวมชีวิตจิตใจของชุมชนเช่นนี้ ประชาชนมองเห็นวัดวาอารามเป็นสมบัติร่วมกันของเขาทุกคน และมีความสำนึกในคุณของพระศาสนา จึงแสดงออกซึ่งศรัทธา และความจรรโลงใจเหล่านี้ ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ไว้ที่วัด และพยายามสร้างให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะทำได้ พากเพียรประดิษฐ์ตกแต่งจนเกิดเป็นศิลปวัตถุขึ้นจำนวนมากมาย เหลือเป็นประจักษ์พยานมาจนบัดนี้ก็ไม่น้อย ศิลปวัตถุทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากจิตใจอันบริสุทธิ์เปี่ยมด้วยศรัทธาปสาทะ มิใช่เป็นการค้า มิได้มุ่งผลอามิสตอบแทน เป็นผลงานแห่งความพากเพียรของบรรพบุรุษชาวไทย ถือได้ว่าเป็นสมบัติส่วนกลางของชีวิต เป็นสมบัติของพระศาสนา ศิลปวัตถุทั้งหลายเหล่านี้ ครั้นตกทอดมาถึงปัจจุบัน ก็ได้เป็นส่วนสำคัญแห่งวัฒนธรรมของชาติ เป็นเครื่องแสดงถึงระดับความเจริญของชาติและพระศาสนา แสดงถึงความเป็นชาติอิสระ ความมีสิ่งสร้างสรรค์อันเป็นของตนเอง เป็นสิ่งที่สามารถให้เกิดความภาคภูมิใจ และเป็นพยานที่สามารถนำไปแสดงแก่ผู้อื่นได้โดยชอบธรรมว่า ชาติไทยและพระพุทธศาสนาของไทยได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วเพียงใด และทั้งเป็นหลักฐานสำหรับสืบถึงประวัติความเป็นมาของชาติ ของพระศาสนา และประวัติของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ด้วย ปราศจากศิลปวัตถุเหล่านี้แล้ว แม้มีตึกรามวัตถุและความเจริญก้าวหน้าอย่างปัจจุบันมากมาย ก็ไม่สามารถนำไปอวดแก่ใครได้ ด้วยเป็นของทำตามเขา และยังตามหลังเขาอยู่ด้วยซ้ำ มองในแง่เศรษฐกิจ อาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้ใช้ประโยชน์อะไรมิได้ ตั้งอยู่เกะกะ และต้องสิ้นเปลืองเงินทองบูรณะรักษา แต่ความจริง สิ่งเหล่านี้ นอกจากมีคุณค่าทางวัฒนธรรมทางจิตใจแล้ว มองในแง่เศรษฐกิจเผินๆ ก็เห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เองเป็นที่มาสำคัญของรายได้ของชาติ ทำให้ประเทศได้เงินทองจากชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอันมาก โดยไม่ต้องออกแรงอะไร เพียงมีไว้ให้เขาดู ปราศจากสิ่งเหล่านี้จะมีอะไรให้เขาชม เพราะตึกรามบ้านช่อง ความเจริญอย่างสมัยใหม่ บ้านเมืองเขาก็มีอยู่แล้ว และมีดีกว่าก็มาก

ปัจจุบัน เรายังมีความรู้สึกกันทั่วไปว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมากยิ่งกว่าในดินแดนใด ได้เป็นถึงศาสนาประจำชาติ เป็นดินแดนแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ เต็มไปด้วยวัดวาอาราม มีประชาชนเป็นพุทธศาสนิกเกินกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่การที่จะถือเอาภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นเครื่องตัดสินแน่นอนว่าใครจะเจริญกว่าใครนั้นย่อมไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน ก็ด้วยอาศัยตระเตรียมตัวมานานในอดีต ผู้ที่เจริญรุ่งเรืองแล้วนี้ แม้ว่ากำลังเสื่อมอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจมองเห็นว่ายังรุ่งเรืองกว่าผู้อื่น ที่กำลังเพิ่งเจริญขึ้น ต่อในอนาคตดอกผลจึงจะปรากฏให้เห็นชัดว่าใครเจริญกว่าใคร เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และเป็นเครื่องส่องถึงอนาคต ความเจริญที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องนับว่าเป็นผลแห่งการกระทำในอดีต ส่วนปัจจุบันเองจะส่งผลให้เห็นในอนาคต เราพอจะคาดหมายถึงอนาคตได้ ด้วยการพิจารณาสภาพการณ์และการกระทำในปัจจุบันนี้ ว่าเป็นอยู่อย่างไร เราจะต้องยอมรับว่าความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบัน เป็นผลแห่งความพากเพียรของบรรพบุรุษในอดีตมาเป็นเวลายาวนาน และเป็นพยานแสดงว่าพระพุทธศาสนาได้เคยเจริญรุ่งเรืองแล้วในอดีต แต่ในอนาคต พุทธศาสนาจะเป็นอย่างไรนั้น ก็พึงพิจารณาดูสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นว่า พระสงฆ์มีความสำคัญ มีความหมายต่อสังคมในขณะนี้เพียงใด พระสงฆ์ที่ว่ามานั้นมีฐานะเป็นผู้นำทางจิตใจและทางสังคม ได้รับความเคารพเชื่อถือเทิดทูนหรือไม่ ประชาชนที่เคารพบูชาพระสงฆ์และพระศาสนา เป็นคนรุ่นเก่าที่กำลังจะหมดสิ้นไป หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นอนาคตของชาติและศาสนา ในกาลข้างหน้าวัดวาอารามยังเป็นศูนย์รวมจิตใจ และศูนย์กลางแห่งกิจกรรมของชุมชนอยู่แค่ไหน พุทธศาสนิกที่มีเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์นั้น ตัวเศษของ ๙๐ กำลังลดลงหรือเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ความจริง หากใช้ความคิดเล็กน้อยก็จะมองเห็นว่า ความที่พูดกันไปว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทยนั้น เป็นคำที่กล่าวกันขึ้นอย่างผิวเผิน โดยกำหนดเอาจากภาพวัดวาอารามสวยงาม จำนวนพระสงฆ์มากมาย การแสดงออกซึ่งศรัทธาปสาทะของคนรุ่นเก่าๆ และประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งพูดได้ว่าเป็นผลแห่งความพากเพียรของบรรพบุรุษในอดีตทั้งสิ้น เป็นคำพูดที่ขาดพื้นฐานอันหนักแน่น หากจะดูสภาพที่แท้จริงแล้วน่าจะต้องพิจารณาว่า ขณะนี้พระสงฆ์และวัดวาอารามมีฐานะและบทบาทอย่างไร ในการทำหน้าที่สนองความต้องการของสังคม

ปัจจุบัน พุทธศาสนิกฝ่ายคฤหัสถ์ประเภทที่เรียกกันว่าปัญญาชน กำลังปรารภและแสดงความเป็นห่วงสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนา ทั้งทางคำพูดและข้อเขียนกว้างขวางมากขึ้นจนหมดความจำเป็นที่จะต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ปรึกษากันจำเพาะ ข้อปรารภนั้นก็คือว่า พระศาสนา ซึ่งหมายถึงพระสงฆ์และวัดกำลังสูญสิ้นบทบาท ฐานะ และความหมายออกไปจากสังคมมากขึ้นทุกขณะ บางอย่างก็หมดไปแล้ว บางอย่างก็กำลังจะหมดไปโดยเฉพาะในสังคมนคร วัดมิได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกต่อไป ไม่เป็นสถานศึกษาสำหรับกุลบุตรอีกต่อไป นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างกระท่อนกระแท่นเท่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องมาพิจารณาว่าคำพูดของปัญญาชนเหล่านี้น่าเชื่อหรือไม่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนพอจะมองเห็นได้ด้วยตนเอง คำของปัญญาชนเหล่านั้น เป็นเพียงข้อสะกิดและเตือนไม่ให้ชาวพุทธมัวหลงภูมิใจ อย่างว่างเปล่า ในภาพวัดวาอารามอันสวยงาม และจำนวนอันมากมายของพระสงฆ์ แท้จริง อย่าว่าแต่ภารกิจอันกว้างขวางอย่างอื่นเลย แม้แต่หน้าที่หลักเบื้องต้น คือการเผยแพร่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนก็มองเห็นแล้วว่า พระสงฆ์ได้หมดความหมายไปจากหน้าที่นี้แล้วเป็นอันมาก คงมีคนเฒ่าคนแก่จำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่คอยฟังพระสงฆ์เทศนา การเทศนาแทบจะกลายเป็นเพียงส่วนของพิธีกรรม ช่วยให้พิธีการสมบูรณ์เท่านั้น ทั่วประเทศมีพระสงฆ์เพียง ๒-๓ ปี หรือพอนับองค์ได้เท่านั้นที่ปัญญาชนรับฟังคำสอน แม้พระธรรมหรือคำสอนในศาสนาจะเป็นสัจธรรม เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ แต่พระสงฆ์ทั่วไป ก็ไม่มีความรู้วิชาการทั่วไปที่ปัญญาชนเขารู้กัน พอเป็นสื่อถ่ายทอดแสดงพระธรรมให้เขาเข้าใจได้ เราจึงเห็นภาพในสมัยนี้ว่า นักศึกษาสมัยใหม่ฟังธรรมและเชื่อถือคำสอนทางศาสนา ที่ปัญญาชนฝ่ายคฤหัสถ์บางท่านแสดง ยิ่งกว่าที่จะฟังจากพระสงฆ์ กล่าวได้ว่าคฤหัสถ์หรืออุบาสกเหล่านี้ กำลังช่วยรับภาระในการเผยแพร่ธรรมไปจากพระสงฆ์มากขึ้น ปัจจุบันนี้หากจะมีคนรุ่นใหม่เช่นนักศึกษา มีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องพุทธศาสนา และมีความเชื่อความเลื่อมใสเกิดขึ้นบ้าง ก็ต้องยอมรับว่า นั่นเป็นผลงานของปัญญาชนฝ่ายคฤหัสถ์เหล่านั้น นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาไว้

ในขณะที่สภาวการณ์ต่างๆ กำลังอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า ปัญญาชนเหล่านั้น มากท่านมีความบกพร่องในด้านความรู้พื้นฐานบางอย่างทางพระพุทธศาสนา แต่ที่สามารถเข้าใจและแสดงพระพุทธศาสนาออกให้เป็นที่เชื่อถือได้ ก็เพราะอาศัยความรู้ในวิชาการสมัยใหม่มาเป็นสื่อนำความเข้าใจ และมักเข้าใจมุ่งหนักไปด้านใดด้านหนึ่งไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เช่นเดียวกับที่พระสงฆ์ส่วนมากไม่สามารถเข้าใจ และมองเห็นค่าแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนาบางประการ เพราะขาดความรู้วิชาการสมัยใหม่มาเป็นสื่อเปรียบเทียบให้เด่นขึ้น นอกจากนี้ ปัญญาชนคฤหัสถ์เหล่านั้น ก็ขาดคุณลักษณะโดยภาวะที่จะทำหน้าที่เผยแพร่สั่งสอน และไม่สามารถอุทิศเวลาให้แก่งานนี้ได้โดยตรงตามความสมควร จึงน่าจะต้องช่วยกันปรับปรุง ส่งเสริมพระสงฆ์รุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ ไม่เฉพาะหน้าที่ในการเผยแพร่สั่งสอนธรรมเท่านั้น แต่รวมทั้งการฟื้นฟูฐานะทางสังคมอย่างอื่นๆ ด้วย ขณะนี้ปรากฏว่า พุทธบริษัทบางส่วนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ตระหนักในเรื่องนี้ กำลังเร่งรัดปรับปรุงตัวก็มีอยู่

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ฐานะบางอย่างกำลังเสื่อมสูญไป และขณะที่พุทธบริษัทกำลังพยายามฟื้นฟูฐานะบางอย่างของวัดและพระสงฆ์อยู่นั้น ยังมีฐานะอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์จะพึงรักษาไว้ได้โดยง่าย ฐานะนี้คือ การที่วัดวาอารามเป็นศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมของชาติ เพราะเป็นแหล่งที่เกิดของศิลปกรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสมบัติส่วนกลาง ของชาติและศาสนา ฐานะนี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ ซึ่งพระสงฆ์ปัจจุบันจะได้มาเองโดยไม่ต้องลงทุนอะไร นอกจากการบำรุงและรักษา หรือเมื่อไม่สามารถบำรุง จะเพียงรักษาไว้อย่างเดียวก็ยังเป็นการดี เวลานี้มีท่านที่รู้ค่าแห่งศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก พากันหวั่นเกรงว่าศิลปกรรมต่างๆ ได้ถูกทำลายและกำลังถูกทำลายไปเรื่อยๆ โดยผู้หวังประโยชน์ส่วนตัวบ้าง โดยผู้หวังดีแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลงมือซ่อมแซมผิดหลักวิชาบ้าง หรือรื้อของเก่าสร้างใหม่บ้าง เป็นเหตุให้สมบัติของชาติและพระศาสนาซึ่งเกิดขึ้นมาได้ยาก ใช้เวลาสร้างยาวนาน ต้องถูกทำลายลงไปในชั่วเวลาอันสั้นเป็นจำนวนมาก จริงอยู่ การซ่อมแซมและการก่อสร้างของใหม่ ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นและควรทำอย่างยิ่ง แต่ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมและวัตถุโบราณอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว น่าจะต้องพินิจพิจารณาก่อนโดยรอบคอบ หากตนเองไม่มีความรู้ก็น่าจะได้ปรึกษาหารือท่านผู้รู้ก่อน เพื่อว่าการกระทำนั้นจักไม่เป็นเหตุให้เกิดวิปฏิสารคือความเดือดร้อนใจในภายหลัง ว่าตนได้กลายเป็นผู้ย่ำยีจิตใจและศรัทธาของบรรพบุรุษ นำเอาของใหม่ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อการค้า ปราศจากคุณค่าในทางจิตใจ มาลบล้างหลู่เกียรติของบรรพบุรุษเหล่านั้น เป็นผู้ทำลายสมบัติส่วนกลางและวัฒนธรรมของชาติและทำลายประวัติของพระศาสนา ซึ่งไม่มีเอกชนผู้ใดมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะทำลายได้เลย

โดยปกติ พระสงฆ์ในฐานะตัวแทนของสถาบันศาสนาย่อมมีความรู้สึกผิดชอบต่อสมบัติของพระศาสนา เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าหากพระสงฆ์จะได้ทำการอันใด ที่เป็นการทำลายศิลปกรรมอันเป็นสมบัติของชาติและพระศาสนาลงไปแล้ว การกระทำนั้นก็น่าจะเป็นด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจเป็นเหตุ เพราะในปัจจุบัน พระสงฆ์ไม่มีโอกาสเรียนรู้วิชาการต่างๆ ทั่วๆ ไปเหมือนในสมัยโบราณ เช่นอย่าง การช่าง และศิลป เป็นต้น เพราะการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ในปัจจุบัน แม้ว่าจะได้จัดเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมา ก็เป็นการเรียนวิชาในวงแคบอย่างยิ่ง ความจริง วิชาการอย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ และการดำรงพระศาสนายังมีอีกมากมาย ในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์ต้องเรียนรู้แม้แต่การตัดเย็บย้อมจีวร บางท่านก็ชำนาญการก่อสร้าง มีตัวอย่างประจักษ์อยู่ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ เคยได้รับมอบหมายจากพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้ควบคุมนวกรรมคือการก่อสร้างเป็นต้น ในสมัยปัจจุบันมีวิชาหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ แต่ทั้งที่รู้อยู่ว่าจำเป็นและต้องใช้อยู่ ก็มักทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น และทำเสมือนว่าเป็นเรื่องนอกรีตนอกรอย ไม่ยอมให้พระสงฆ์เรียน ปล่อยให้ใฝ่หากันเอาเอง แต่ครั้นมีผู้เรียนรู้มาแล้ว ก็จับมาใช้งาน พระเถระผู้ใหญ่บางรูปที่มีความรู้ชำนาญในวิชาก่อสร้างเป็นต้น ได้นำความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์แก่พระศาสนาอยู่เสมอ และก็ได้รับความเคารพนับถือ เป็นที่พึ่งอาศัยของหมู่คณะเป็นอันมาก โดยเหตุนี้แทนที่จะทำไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยไปตามเรื่องตามราวซึ่งก็ควบคุมไม่ได้ด้วย และแทนที่จะคอยจับพระมาใช้งาน โดยไม่รับรู้ว่าได้เรียนมาอย่างไร ควรจะยอมรับความจริงว่า วิชาการอย่างใดจำเป็น มีประโยชน์แก่พระศาสนาในแง่ใด แล้วกำหนดให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนกันจริงจัง และได้ผลดีกว่า เพราะตราบใดที่ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อประโยชน์แก่กิจการศาสนา มิใช่เพื่อเป็นอาชีพหรือเพื่อยึดติดอยู่ และไม่ผิดวินัยแล้ว ก็ย่อมเป็นการเล่าเรียนที่สมควรแก่พระสงฆ์ ตัวอย่างในด้านศิลปนี้ อย่างน้อยก็ควรให้พระสงฆ์ได้เรียนรู้คุณค่าของศิลป และรู้หลักการคุ้มครองรักษาศิลปวัตถุ เป็นต้น เพื่อจะได้สามารถรักษาวัดและสมบัติพระศาสนาไว้ได้บ้าง แม้ในขณะที่ยังมิได้จัดให้มีการศึกษาอย่างจริงจัง หากท่านผู้รู้ซึ่งหวังประโยชน์แก่พระศาสนา จะแนะนำ เผยแพร่ความรู้แก่พระสงฆ์บ้างตามโอกาส เช่นทางสื่อมวลชนต่างๆ เป็นการให้การศึกษาโดยทางอ้อม ก็คงจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง

อนึ่ง การรักษาฐานะของวัดวาอารามให้เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมนั้น มิใช่แต่เพียงเก็บรักษาศิลปกรรม ศิลปวัตถุเหล่านั้นไว้ได้เท่านั้น แต่ยังต้องจัดสภาพแวดล้อมในวัดทั้งหมดให้สมกันด้วย เช่น การปฏิบัติต่อศิลปวัตถุและศิลปกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม การจัดตั้งไว้ในที่อันควร การไม่ทำให้รกรุงรังด้วยวัตถุแปลกปลอม เช่น ภาพการค้า การโฆษณา ซึ่งเสมือนเป็นการดูหมิ่นศาสนสถาน ตลอดจนการสร้างบรรยากาศของวัดให้ร่มรื่นสงบสมชื่อเป็นอารามจริงๆ สามารถทำให้ประชาชนที่เข้ามา สามารถอุทานเสมือนในสมัยพุทธกาลได้ว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ” เมื่อทำได้อย่างนี้ ถึงจะไม่สามารถช่วยทำประโยชน์อย่างอื่นแก่เขา วัดก็ยังเกิดมีคุณค่าพิเศษ มีความหมายต่อสังคม

ฐานะของวัดที่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมประจำชาติ และฐานะของพระสงฆ์ที่เป็นผู้บำรุงรักษาวัฒนธรรมของชาติไว้ได้นั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีค่าสูง ควรแก่การเคารพนับถืออย่างหนึ่ง นับว่ามีความสำคัญสำหรับประเทศชาติ และพระศาสนาอย่างมากเพราะเป็นการช่วยให้สมบัติของชาติดำรงอยู่ และมีเครื่องแสดงความเป็นชาติ แต่น่าเป็นห่วงว่า ถ้าพระสงฆ์ปล่อยให้ฐานะนี้หมดไปอีก และไม่สามารถฟื้นฟูฐานะอย่างอื่นที่กำลังจะหมดไปให้กลับคืนมาได้แล้วไซร้ ถึงเวลานั้น พระธรรมก็คงกลับคืนไปสู่ธรรมชาติตามเดิม ส่วนพระสงฆ์ก็คงเหลือฐานะอยู่อย่างเดียวคือความเป็นเจ้าหน้าที่ประกอบพิธีกรรม เหมือนอย่างศาสนาสมัยโบราณ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเลย เพราะในสมัยที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญามาถึงเพียงนี้แล้ว พิธีกรรมหาได้มีความหมาย คุณค่าและความสำคัญต่อสังคม เสมอเหมือนอย่างในสมัยโบราณไม่ จึงเป็นเรื่องที่พุทธบริษัท ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ไม่ควรประมาท ควรช่วยกันแก้ไขปรับปรุงก่อนที่จะสายเกินแก้

1หมายเหตุ:
พิมพ์ครั้งแรก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๒.
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรัชญาการศึกษาไทย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๘.
พิมพ์ครั้งที่ ๓ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ๒๕๒๗.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.